พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช (Khunphanthraksrachdech)
 
Back    23/04/2018, 14:03    73,662  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

ภาพจาก : http://carshowsociety.com/menu877-46.html#.W6RajGgza70

 

ชาติภูมิ    

       พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีนามเดิมว่าบุตร พันธรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ดังนั้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ ๑ ได้ ๑ วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ ๒ และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ ๓ เป็นอันว่าท่านเข้าโรงเรียนได้เพียง ๓ วัน ได้เลื่อนชั้นถึง ๓ ครั้ง เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ ๒ เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบท่านจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง (ปัจจุบันคือตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีครูเพิ่ม ณ นคร เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3  (ชั้นสูงสุด) ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ และได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบจมราชูทิศ) พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดต้องออกจากโรงเรียนมาพักรักษาตัวประมาณปีกว่า เมื่อหายเป็นปกติจึงคิดกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิม แต่ปรากฏว่าเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนด้วยกันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และปีที่ ๓ กันหมดแล้ว ท่านจึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ โดยไปพักอยู่กับท่านพระปลัดพลับ บุณยเกียรติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลวงน้าที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน) ท่านเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ได้เลขประจำตัว บ.บ. ๑๔๓๐ ขณะเรียนที่โรงเรียนนี้ท่านได้เรียนวิชามวย, ยูโด และยิมนาสติกด้วย จนมีความชำนาญในเชิงมวย ท่านสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ จนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงน้า (พระปลัดพลับ) ตั้งใจจะให้เรียนแพทย์ แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับมาถึงที่พักห้องพักโดนโจรงัดและเอาของไปหมด ทำให้ท่านเปลี่ยนใจมาเรียนตำรวจ เพราะต้องการจะปราบโจรผู้ร้าย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ (The Crocodile Creek Royal Police Cadet Academy) จังหวัดนครปฐม ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย เรียนอยู่ ๕ ปี สำเร็จหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๗๒

ประวัติการทำงาน

   หลังจากจบการศึกษาแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา เป็นนักเรียนทำการอยู่ ๖ เดือน ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง ที่พัทลุงนี่เองท่านได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงราชการและคนทั่วไปเพราะมีฝีมือการปราบปรามที่เฉียบขาด โดยการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญ ๆ เช่น เสื้อกลับ ดำทอง แห่งเมื องตรัง หรือเสือกลับ ๓๐๐  (เป็นฉายาเพราะมีรางวัลนำจับ ๓๐๐ บาท, เสือสังหรือเสือพุ่ม แห่งเมืิองลุง เสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง หลังจากนั้นต่อมาอีก ๑ ปี ท่านก็ได้ปราบผู้ร้ายสำคัญอื่น ๆ อีก ๑๖ คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น ด้วยความดีความชอบท่านจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช" และในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุได้ ๓๓ ปี ได้รับเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจโท ท่านเล่าว่า "สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มีนายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นเจ้าพระยาศรีสุรเสนาไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรี พลตำรวจเผือก ชูด้วง ได้รับแต่งตั้งเป็นบตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัลนำจับ ๔๐๐ บาท  และในปีนี้ได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ ๑ พรรษา จึงลาสิกขาออกมา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ย้ายไปเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายได้หลายราย เช่ย เสือสา เสือเอิบ เป็นต้น ต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา ได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายที่สำคัญ ๆ คือ เสือโน้ม ทำให้ได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ที่นี้ได้ปะทะกับโจรร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าเป็นขุนพันธรักษ์ราชเดช

ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=AcooCpUDZS4

 

ย้ายกลับพัทลุง

           ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทางจังหวัดพัทลุงมีโจรผู้ร้ายกำเริบชุกชุมขึ้นอีก ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงขุนพันธ์รักษ์ราชเดช นายตำรวจมือปราบ เพราะได้เห็นฝีมือมาแล้วจึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจโดยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพัทลุงขอตัวท่านกลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย ทางกรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ท่านจึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่ง ได้ปราบปรามเสือร้ายที่สำคัญ ๆ สิ้นชื่อไปหลายคน ผู้ร้ายบางรายก็หนีออกนอกเขตพัทลุงไปอยู่เสียที่อื่น นอกจากงานด้านปราบปราม ซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัดและสร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นพิเศษแล้ว ท่านยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไปเมื่อกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้น ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศ เป็นพันตำรวจโทในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านอยู่พัทลุงได้ ๒ ปีเศษ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่ง หน้าที่มากมาย ในด้านชีวิตครอบครัวท่านมีภรรยา ๒ คนคือนางเฉลา พันธรักษราชเดช และนางสมสมัย พันธรักษราชเดช มีบุตรด้วยกัน ๑๒ คน ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และใกล้เคียงต่างเคารพรัก ยกย่องนับถือท่านเป็นอย่างมากด้วยเหตุที่ท่านเป็นนายตำรวจที่มีใจเด็ดเดี่ยว และเก่งกล้าด้านคาถาอาคม ปราบโจรผู้ร้ายที่ไม่เคยมีผู้ใดปราบได้จนสยบราบคาบ ครั้งหนึ่งเคยมีคำขวัญอันคมคายของกรมตำรวจอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" นี่เป็นถ้อยคำที่เกิดขึ้นในยุคอัศวินแหวนเพชรเฟื้อง ในสมัยของท่านอธิบดีฯ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ปกครองกรมตำรวจ วีรบุรุษผู้สร้างเกียรติประวัติให้กรมตำรวจนั้นมีอยู่มากมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่ในยุคสมัยที่ท่านอธิบดีกรมตำรวจหลวงอดุลย์เดชจรัสนั้นนามของ "ขุนพันธรักษ์ราชเดช" ระบือลือลั่นสุดยอดแผ่นดินด้ามขวานทอง แม้ท่านขุนพันธ์จะปลดเกษียณราชการไปนานปี แล้วก็ตามแต่ชื่อของท่านยังอยู่ในความทรงจำของกรมตำรวจและประชาชนทั่วไป นั่นเป็นเพราะผลงานอันน่าอัศจรรย์ของท่านกลายเป็นผลงานอันยากยิ่ง ที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ควรค่าแก่การบันทึกและจดไว้ในประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนเมืองใต้และคนของแผ่นดิน พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นราษฏรสุดท้ายของประเทศไทยที่ได้รับพระราชทานทินนามว่าขุน ท่านถึงแก่อนิจกรรมด้ายโรคชรา ในวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ เวลา ๒๓.๒๗ น. ที่บ้านเลขที่ ๗๖๔/๕ ซอยราชเดช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ ๑๐๓ ปี 

สวมชุดเต็มยศ

ภาพจาก : https://sites.google.com/site/exguitarhora/prawati-khxng-phl-t-t-khun-phanth-raks-rach-dech

 

พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดชกับพ่อท่านคล้าย

ภาพจาก : https://www.thairath.co.th/content/663811

ภาพจาก : http://www.phenkhao.com/contents/381452

ดาบแดงของขุนพันธรักษ์ราชเดชเชื่อกันว่าเป็นดาบตกทอดมาจากพระยาพิชัยดาบหัก

ภาพจาก : http://www.phenkhao.com/contents/38145


ผลงานสำคัญ

ภาพจาก : http://carshowsociety.com/menu877-46.html#.W6RajGgza70

ขุนพันธรักษ์ราชเดชในฐานะตำรวจมือปราบ                        

       พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช  อดีตนายตำรวจชื่อดังของวงการตำรวจไทย ซึ่งท่านมีชื่อเสียงเป็นอันมากในการปราบโจรร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยเกือบทุกภาค เช่น ภาคใต้ที่พัทลุงปราบเสือกลับ เสือสังหรือเสือพุ่ม ที่นราธิวาสปราบผู้ร้ายทางการเมืองมีหัวหน้าโจรชื่อ “อะเวสะดอตาเละ” จนท่านได้ฉายาว่าจากชาวไทยมุสลิมว่า “รายอกะจิ” ซึ่งแปลว่าอัศวินพริกขี้หนู ที่ภาคกลางปราบเสือฝ้าย, เสือย่อง, เสือผ่อน, เสือครึ้ม, เสือปลั่ง, เสือใบ, เสืออ้วน, เสือดำ, เสือไหว และเสือมเหศวร จากผลงานที่ท่านสามารถปราบโจรร้ายต่าง ๆ ได้มากมาย จึงได้รับฉายามากมาย เช่น นายพลตำรวจหนังเหนียวผู้จับเสือมือเปล่า, นายพลตำรวจหนวดเขี้ยว, ขุนพันธ์ดาบแดง (เชื่อกันว่าเป็นดาบที่ตกทอดมาจากพระยาพิชัยดาบหัก ฝักดาบมีถุงผ้าสีแดงห่อหุ้ม ตัวดาบมีความคมกล้ายิ่งนัก), รายอกะจิ (อัศวินพริกขี้หนู), ตลอดถึงจอมขมังเวทย์ ฯลฯ ชีวิตของพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นชีวิตที่มีค่าของแผ่นดินเมืองใต้และเมืองไทย ลมหายใจของท่านเคยโลดแล่นอยู่ท่ามกลางหมู่โจรผู้ร้าย ไม่เฉพาะแต่ผู้ร้ายในภาคใต้เท่านั้น แต่ที่ไหนประชาชนเดือดร้อนจากโจรผู้ร้ายชุกชุม ตำรวจคนอื่นปราบปรามไม่สำเร็จ กรมตำรวจจะต้องส่งตัวท่านไปปราบปราม ครั้งหนึ่งตอนที่ท่านเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ ท่านเคยเดินทางมาตรวจสืบราชการลับที่เกาะสมุย ท่านชอบดูมวยวันนั้นท่านไปยืนดูมวยอยู่ข้างเวที บังเอิญถอยหลังไปเหยียบเท้านางพล้อยเข้าโดยไม่ตั้งใจ ป้าพล้อยแกเป็นคนปากจัดใครแตะเป็นด่าไม่ไว้หน้า แกก็ด่าท่านท่านก็วางเฉยไม่โต้ตอบอะไรมีคนรู้จักกันเข้าไปเตือนสติป้าพล้อยว่า "คนที่ป้าด่าอยู่นั้นรู้มั๊ยว่าเป็นใคร...นั่นแหละขุนพันธ์ฯ" พอได้ยินชื่อขุนพันธ์ฯเท่านั้น ป้าพล้อยแกเงียบเป็นเป่าสากรีบก้มหน้างุด ๆ เดินมุดผู้คนหนีไปโดยไม่เหลียวหลังมาอีกเลย คำบอกเล่าสั้น ๆ นี้ทำให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีตบะสูง เพียงได้ยินว่าเป็นขุนพันธ์ฯ เท่านั้น ใคร ๆ ก็ขยาดทั้งนั้นเพราะรู้กิตติศัพท์ของท่านมาก่อนนั่นเอง ในสมัยที่ท่านกลับมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่ากันว่าตอนนั้นมีเสือใหญ่อยู่ ๑๐ ตัว ในจำนวนเสือร้าย ๑๐ ตัวนั้น มีเสือข่อย เสือจ้อย เสือหวน ฯลฯ รวมอยู่ด้วย เสือทั้ง ๑๐ คนนั้น ล้วนเคยเป็นศิษย์หลวงพ่อช่วย เมืองนครศรีธรรมราช ผู้ซึ่งเป็นพระมีวิชาเก่งกล้าทางไสยศาสตร์หรือกฤตยาคม ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่เรียนวิชากับหลวงพ่อช่วย เมื่อท่านกลับมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญระดับภาค ท่านมีประกาศิตสั่งให้ผู้ร้ายทั้ง ๑๐ คนนั้นเลิกประพฤติเยี่ยงโจร ให้กลับใจเลิกเป็นเสือเสียโดยให้บวชเป็นพระภิกษุ ถ้าหากไม่ทำตามคำขอร้องนั้น ท่านก็จะยิงทิ้งทุกคนเล่ากันว่าประกาศิตของท่าน ทำให้เสือร้ายส่วนใหญ่ปฏิบัติตามแต่โดยดี มีเพียงเสือข่อยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมทำตามคำของท่าน เสือข่อยไม่ยอมเลือกทางเดินที่ขุนพันธ์ฯ เลือกให้ซ้ำร้ายยิ่งท้าทายอำนาจของกฎหมายบ้านเมือง ด้วยความเชื่อว่าตนนั้นเป็นศิษย์หลวงพ่อช่วย ผู้เรืองวิชาอาคมแก่กล้าเป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกับขุนพันธ์ฯ จึงคิดว่าขุนพันธ์จะยกเว้นไว้สักคนหนึ่ง แต่ปรากฏว่าท่านทำตามที่พูดว่ากันว่าท่านยิงทิ้ง เมื่อจับเสือข่อยได้แต่ยิงไม่เข้าท่านจึงสั่งให้ลูกน้องฆ่าด้วยศูลแทงสวนทวารจนถึงแก่ความตาย  ในส่วนการปราบเสือสังหรือเสือพุ่มนั้น ท่านเล่าว่า

       เสือสังนี้มีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมาก มาอยู่ในความปกครองของกำนันตำบลป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นแล้วยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูเสือสัง จึงทำให้เป็นการยากที่จะปราบได้ แต่ท่านก็สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มีนายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นจเรตำรวจคือพระยาศรีสุรเสนาไปตรวจราชการตำรวจที่เมืองพัทลุงพอดีและได้ทราบว่าผู้ปราบเสือสังคือว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ เลยได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรี พลตำรวจเผือก ชูด้วง เป็นสิบตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัล ๔๐๐ บาท

การลงอักขระและการสักยันต์ของท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช

       ในการปราบโจรครั้งแรกคือการปราบเสือกลับ ๑ ในตำนานโจรผู้สำเร็จวิชากำบังกาย กำบังสิ่งของได้ (การปราบเสือกลับในครั้งนั้นทำให้ท่านต้องกลายเป็นศิษย์สำนักเขาอ้อ) จากคำบอกเล่าของบุตรชายคนที่ ๙ ของพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช คือคุณณสรรค์หรือคุณหนุ่ยได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า "ตอนที่พ่อเรียนวิชากำบังกายนั้นคุณพ่อเรียนกับอาจารย์ทอง ท่านถามกับอาจารย์ทองว่า “ผมเรียนขนาดนี้สามารถจับเสือกลับได้หรือยัง” อาจารย์ทองตอบว่า “ได้แล้ว” จากนั้นคุณพ่อจึงออกไปไล่ตามจับ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจับเสือกลับได้ ไล่ล่ามาเป็น ๑๐ ปี ก็ไม่มีใครเคยเห็นเสือกลับ เพราะเขา “หายตัวได้” เนื่องจากมีวิชากำบังตัว คุณพ่อตามจับอยู่หลายปีจนกระทั่งวันหนึ่งช่วงประมาณตี ๒ ได้มีสายตำรวจพาพ่อมาที่บ้านของเสือกลับ โดยมีนายตำรวจนายอื่นอีกรวมกัน ๕-๖ คน จากนั้นคุณพ่อก็มาซุ่มดูอยู่พร้อมกระซิบบอกว่า “เสือกลับนุ่งโสร่ง” ท่านบอกกับลูกน้องให้เตรียมพร้อมเพราะเห็นเสือกลับยืนอยู่หน้าบ้าน แต่เพียงแค่อึดใจเดียวเสือกลับเดินเข้าไปในบ้าน ปรากฏว่าไม่เห็นตัวแล้ว! ตึก...ตึก! เสียงตอกรั้วคอกควายดังออกมาจากหลังบ้านท่่านหันไปบอกผู้ติดตามอีกครั้ง“ไอ้กลับทำคอกควายอยู่หลังบ้าน” ท่านคลานนำอย่างเงียบเชียบที่สุดค่อย ๆ ออกไปด้านนอกซึ่งมีต้นไม้พุ่มไม้เข้าใกล้ได้ประมาณ ๕-๖ วา จึงเห็นตัว แต่ที่แปลกคือ คนที่เห็นเสือกลับ มีเพียง ๒ คนเท่านั้น คือคุณพ่อ และสายของตำรวจที่นำทาง ทางนั้นท่านก็ให้สัญญาณคนตามหลังมาให้หมอบค่อย ๆ คลานไปเรื่อย ๆ ผ่านพุ่มไม้ด้านนอก คุณพ่อเล่าว่าตั้งใจว่าจะคลานเข้าไปในระยะ ๒ วา จากนั้นก็จะกระโจนเข้าตะครุบแต่ปรากฏว่าเสือกลับได้หันหลังกลับมาเดินกลับเข้าใกล้ ๆ แต่แล้วก็กลับตัวทันทีตำรวจที่ตามไปด้วยดันมือไวกดเปรี้ยง! (ทั้งที่สั่งแล้วว่าห้ามยิงแล้ว) กระสุนออกมาจากตำรวจติดตามกระสุนพุ่งเข้าที่สะบักแต่กระสุนเจาะเนื้อตัวไม่เข้านาทีนั้นท่านก็ไม่รอช้าวิ่งตามเสือกลับไปเสือกลับวิ่งหนีท่านวิ่งตาม เสือกลับวิ่งแล้วก็หกล้มจากนั้นก็ลุกขึ้นวิ่งไปคลองซึ่งน้ำสูงแค่หัวเข่า แต่ก็มีตลิ่งสูงเสือกลับพยายามปีนตลิ่งหนี "เปรี้ยง!" เสียงปืนดังมาจากด้านหลังอีกครั้ง คราวนี้กระสุนพุ่งไม่ตรงเป้าแต่ก็ทำให้เสือกลับเสียจังหวะตกลงมาจากตลิ่งที่กำลังปีกำลังปีน คุณพ่อพร้อมกับผู้ติดตามวิ่งตามเข้าไป ปรากฏว่า เสือกลับ หายไปแล้ว!?" โดยหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้เสือกลับได้หลบหนีไปอยู่ที่จังหวัดตรังซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา ซึ่งคุณพ่อไม่ได้ตามจับเพราะอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง และเสือกลับก็หายสูญไปในที่สุดเสือกลับถือเป็นโจรคนเดียวที่เล็ดลอดมือของยอดตำรวจมือปราบจอมขมังเวทอย่างพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดชไปได้ เพราะทั้งนี้โจรส่วนใหญ่ไม่ตายก็เลือกที่จะมอบตัว" 
       อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมากและทำให้ท่านมีชื่อเสียงก็คือการปราบผู้ร้ายทางการเมืองที่นราธิวาส ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โจรกลุ่มนี้หัวหน้าชื่ออะแวสะดอ ตาเละ เล่ากันว่าเป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพัน เที่ยวปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธเท่านั้น ในที่สุดก็ถูกท่านจับได้ และได้รับการยกย่องจากทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมเป็นอันมาก ได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า "รายอกะจิ" หรือแปลว่า "อัศวินพริกขี้หนู" และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกในปีนั้นเอง คุณณสรรค์หรือคุณหนุ่ยได้เล่าอีกว่า "อะแวสะดอตาเละเป็นไจรที่ไม่มีวิชากำบังกายและเป็นโจรที่แหกคุกออกมา จากนั้นก็หนีขขึ้นไปอยู่บนเขาบูโดและก็ค่อย ๆ ก็แผ่อิทธิพลด้วยการเก็บภาษีจากราษฏร ใครไม่ให้ก็จะใช้กริชแทงลงไปในหลอดลมแล้วค่อย ๆ หมุนลงไปดึงเอาลำไส้ขึ้นมาทำให้ตายอย่างทรมาณ โดยเขาจะส่งลูกน้องลงมาเก็บค่าคุ้มครองเฉพาะชาวจีนและไทยพุทธเท่านั้น อะแวสะดอตาเละนั้นนับถือศาสนาอิสลามแต่แขวนเครื่องรางของหลัง วันไหนอารมณ์ดีเขาจะแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการขึ้นไปนั่งบนครกตำข้าวจากนั้นเขาก็จะกางร่มแล้วให้ลูกน้องชักปืนยิงใส่ ซึ่งกระสุนไม่ได้เข้าไปในรัศมีร่มที่ยิงใส่ของเขาเลย โดยกระสุนจะเบี่ยงเบนไปทิศทางอื่นไม่ว่าจะยิงในระยะไหน โดยเขาได้พกเครื่องรางตับเหล็ก เคราทองแดง ในการตามจับอะแวสะดอนั้น กรมตำรวจได้สั่งให้มีการตั้งทีมขึ้นเพราะที่ผ่านมาไม่มีใครตามจับได้ คุณพ่อผมจึงอาสานำทีมไปจับโดยในทีมจะมีทั้งหมด ๗ คน บางคนก็มีวิชาอาคม บางคนก็ไม่มี แต่ก่อนที่จะออกไปจับนั้นคุณพ่อ จะดูดวงให้กับลูกน้องว่ามีดวงเจ็บหรือตายหรือไม่ บางทีออกไปจับกันแค่ ๒ คน หรือ 3 คนเท่านั้นเพราะคนอื่นไปไม่ได้ เวลาลงพื้นที่จะเป็นคนนำตลอดเพื่อให้ลูกน้องเชื่อใจได้เท่านั้น วันที่ไปจับคือมีสายคนหนึ่งมาบอกว่าอะแวสะดอจะลงจากเขาบูโด ซึ่งสายคนนั้นเป็นกำนันอยู่ที่บูโดแก่แค้นอะแวสะดอมาก เนื่องจากลูกชายแก่ถูกอะแวสะดอฆ่าตายเนื่องจากมีการชักชวนให้เข้าพวกแต่ลูกชายแก่ปฏิเสธกำนันจึงมาเป็นสายให้คุณพ่อช่วงใกล้สว่างเสียงกระรอกเริ่มทักมาแสดงว่ามีคนมา ท่าน (ขุนพันธ์)​ พร้อมกับลูกน้องก็ซุ่มอยู่ทางเดินแต่มีตำรวจมือไวอีกคนดันชักปืนยิง ซึ่งตอนนั้นใช้ปืนคาบศิลาซึ่งต้องใส่ดินปืนใหม่ เพราะยิงได้ทีละนัดเท่านั้น ทำให้อะแวสะดอและลูกน้องวิ่งหนีไปไกล ท่านจึงวิ่งตามไปกอดคอแล้วก็ชกต่อยกันคุณพ่อใช้เท้าเกี่ยวปลายเท้าของอะแวสะดอแต่เขาก็ไม่ล้ม เพราะเขาตัวสูงมากสูงประมาณ ๑๘๐ ซม. ส่วนท่านสูงแค่เพียง ๑๖๔ ซม. เท่านั้น และต่างคนต่างชักกริชของตัวเองออกมาและเชือดคอกันและกัน แต่ก็ไม่เข้า จากนั้นก็ต่อสู้กันกระทั่งล้มลงอะแวสะดออยู่ด้านล่าง ท่านได้ใช้ศอกทั้ง ๒ ข้าง ค้ำไปไหล่ทั้งสองข้างซึ่งคนเป็นมวยเวลาสู้ชั้นเชิงจะแตกต่างกัน คุณพ่อเองเคยเรียนตั้งแต่มัธยมที่กรุงเทพฯ แล้วก็มาเรียนเพิ่มที่ตอนเป็นตำรวจ กระทั่งจับอะแวสะดอได้จากนั้นก็นำไปขังไว้ในห้องขังที่สถานีตำรวจที่ตีนเขาบูโด จากนั้นได้สั่งให้ลูกน้องเฝ้าดูตลอดเวลา ในการขังนั้นต้องจับมัดด้วยผ้าขาวม้า เนื่องจากหากใส่กุญแจมือเขามีวิชาสามารถรูดให้โซ่ตรวนหลุดได้ จึงใช้ผ้าขาวม้ามัดไว้ จนกระทั่งในเวลาต่อมาอะแวสะดอกินยาตาย”

       จากเหตุการณ์การปราบโจรผู้ร้ายที่สำคัญในครั้งนั้น ทำให้ชื่อของขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และหลังจากนั้นท่านได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดในภาคอื่นหลายจังหวัด เช่น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมาและได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายมากมายที่สำคัญคือการปราบเสือโน้มหรืออาจารย์โน้ม ทำให้ได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรีในปีนั้น ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่าผู้ร้ายในเขตจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี ชุกชุมมากขึ้นทุกวันยากแก่การปราบปรามให้สิ้นซาก จึงได้ตั้งกองปราบพิเศษขึ้น โดยคัดเลือกเอาเฉพาะนายตำรวจที่มีฝีมือในการปราบปรามรวมได้ ๑ กองพัน แต่งตั้งให้ พ.ต.ต. สวัสดิ์ กันเขตต์ เป็นผู้อำนวยการกองปราบ และ พ.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นรองผู้อำนวยการ กองปราบพิเศษได้ประชุมนายตำรวจที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อวางแผนกำจัดเสือฝ้ายแต่แผนล้มเหลวผู้ร้ายรู้ตัวเสียก่อน ท่านได้รับคำสั่งด่วนให้สกัดโจรผู้ร้ายที่จะแตกเข้ามาจังหวัดชัยนาท ครั้งนั้นท่านใช้ดาบเป็นอาวุธคู่มือแทนที่จะใช้ปืนยาว คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า "ขุนพันธ์ดาบแดง" ฝีมือของท่านเป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง ๒,๐๐๐ บาท เพื่อไม่ให้ปราบปรามแต่ท่านไม่สนใจคงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีจนปราบปรามได้สำเร็จ ท่านอยู่ชัยนาท ๓ ปี ได้ปราบปรามเสือร้ายต่าง ๆ จนสงบลง จากนั้นได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยาอยู่ที่นี้ได้ประมาณ ๔ เดือนเศษ ก็เกิดโจรผู้ร้ายขึ้นที่กำแพงเพชรอีก ในขณะนั้นเป็นระยะเปลี่ยนถ่ายอธิบดีกรมตำรวจ ทำให้ท่านถูกใส่ร้ายจากเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกันว่าร่วมมือกับโจรผู้ร้าย แต่พล.ร.ต. หลวงสังวรยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นยังคงเชื่อมั่นในตัวท่านว่าเป็นคนดี จึงโทรเลขให้ไปพบด่วน และแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ และที่นี้เองท่านได้ปรับปรุงการทำงานของตำรวจภูธรของเมืองให้มีสมรรถภาพขึ้นโดยได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เสือไกรกับเสือวัน แห่งอำเภอพรานกระต่าย ทำให้ฝีมือการปราบปรามของขุนพันธ์ฯ ยิ่งลือกระฉ่อนไปไกลมากยิ่งขึ้น

ดาบประจำตัว

ปณิธานในการทำงาน

 

 

ขุนพันธรักษ์ราชเดชในฐานะนักวิชาการ

       ท่านกับบุตรชาย (คุณณสรรค พันธรักษราชเดช) นอกจากเกียรติคุณทั้งในและนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าวมาแล้ว ท่านยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึง คือเป็นนักวิชาการที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียนได้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ โดยลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือและวารสารต่าง ๆ มากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านถนัด นอกจากนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งประวัติบุคคล, สถานที่, ตำนานท้องถิ่น, มวย และเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเองอาทิ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในภาคใต้, สองเกลอ, ช้างเผือกงาดำ, หัวล้านนอกครู, ศิษย์เจ้าคุณ, มวยไทย, เชื่อเครื่อง, กรุงชิง เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องกรุงชิงนั้นท่านเล่าว่าเป็นเรื่องที่ท่านเขียนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ ตามพระบรมราชโองการ และต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใน "รูสมิแล" วารสารของมหาวิทยาลัยปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ งานเขียนของท่านส่วนมากจะลงพิมพ์ในสารนครศรีธรรมราช หนังสืองานเดือนสิบวิชชา (วารสารทางวิชาการของวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) รูสมิแล (วารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และหนังสือที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ของโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมทั้งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการบวงสรวงพระธาตุนครศรีธรรมราชอันเป็นที่มาของการสร้างจตุคามรามเทพรุ่นแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ด้วย   


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช (Khunphanthraksrachdech)
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เกจิเมืองสยาม. (2561). ประวัติท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช. สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61, จาก http://zeanpra.blogspot.com/2016/07/blog-post.html
ข่าวดังข้ามเวลา : ขุนพันธ์...มือปราบสะท้านแผ่นดิน. (2561). สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61, จาก https://www.youtube.com/watch?v=AcooCpUDZS4
“ขุนพันธ์” ปลุกผีตายโหงมาร่วมจับ “เสือสาย” ที่ฆ่าลูกน้องตัวเองตาย. (2560). สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61, จาก  https://www.tlcthai.com/horo/เรื่องลึกลับ-                                                               ไสยศาสตร์/40450.html.
คงกระพันกำบังกาย! เรื่องเล่าจากลูกชาย 'ขุนพันธ์' มือปราบขมังเวท. (2559). สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61, จาก https://www.thairath.co.th/content/663811
ดวงมือปราบขมังเวทย์ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช. (2553). สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61, จาก http://www.chatacheevit.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539245956
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (2561). ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์). สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61, จาก https://th.wikipediขุนพันธรักษ์ราชเดช_(บุตร_พันธรักษ์)
วีระ แสงเพชร. (2543). ภูมิปัญญาการปราบปรามของ พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช. กรุงเทพญ ฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช ท.ม.,ต.ช. ณ เมรุชั่วคราววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช วันพฤหัสบดีที่ 22                                             กุมภาพันธ์ 2550. (2550). [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.]


ข้อมูลเพิ่มเติม

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่http://doc.clib.psu.ac.th/public7/south7/221267.pdf

                              : http://doc.clib.psu.ac.th/restrict7/south7/221267/221267.htm

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024