เขาอกทะลุ เป็นภูเขาหินปูนวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๒๔๕ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๑ กิโลเมตร บนภูเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาชนิด พื้นที่เชิงเขามีประชาชนอยู่อาศัยและใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือมีลำคลองไหลผ่าน เรียกว่าคลองโรงตรวน ไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านบ้านม่วง บ้านควนสมาไปรวมกับคลองอื่น ๆ ที่บ้านห้วยควนเรียกว่า คลองลำปำ ไหลออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ด้านใต้ของภูเขามีคลองตำนานไหลผ่านเขาอกทะลุ บ้านทุ่งไหม้ บ้านควนมะพร้าว บ้านควนแร่ ไปรวมกับคลองที่บ้านหัวควน เส้นทางเหล่านี้อดีตเชื่อว่าเป็นทางคมนาคมของชุมชนโบราณหลายแหล่ง เช่น ชุมชนบ้านม่วง ชุมชนบ้านควนมะพร้าวหรือชุมชนบ้านพญาขัน ชุมชนบ้านควนแร่ ชุมชนบ้านควนสารและชุมชนบ้านลำปำ เป็นต้น เขาอกทะลุเป็นภูเขาที่มีความสำคัญของจังหวัดพัทลุง ในฐานะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเจ้าแม่ดุดี เจ้าแห่งเขาอกทะลุ ชาวเมืองพัทลุงเชื่อถือเปรียบเสมือนเสาหลักเมืองพัทลุง ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงเอาภาพเขาอกทะลุและเจดีย์บนยอดเขาทำเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง เขาอกทะลุยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัด สำหรับตำนานของภูเขาลูกนี้เรื่องเล่าว่านานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่งสามีชื่อนายเมืองเป็นพ่อค้าช้าง มีภรรยาสองคนภรรยาหลวงชื่อนางสินลาลุดี หรือนางดุดี ภรรยาน้อยชื่อนางบุปผาแต่มักทะเลาะตบตีกันเสมอ นายเมืองมีลูกสาวเกิดจากภรรยาหลวงคนหนึ่งชื่อนางยี่สุ่นชื่นชอบการค้าขาย ส่วนภรรยาน้อยมีลูกชายชื่อนายซังกั้ง มีนิสัยเกเร วันหนึ่งนายเมืองเดินทางไปค้าขายช้างต่างถิ่น ลูกสาวออกเรือสำเภาไปเมืองจีน ส่วนลูกชายท่องเที่ยวสนุกกับเพื่อน ทั้งสามไม่ได้กลับบ้าน มีเพียงภรรยาหลวงนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน และภรรยาน้อยกำลังตำข้าว ไม่นานทั้งสองเกิดมีปากเสียง ภรรยาหลวงใช้กระสวยทอผ้าพาดไปที่ศีรษะของภรรยาน้อย ทำให้แผลแตกเลือดไหลโกรก ภรรยาน้อยไม่ปราณีใช้สากตำข้าวแทงและกระทุ้งตรงทรวงอกของภรรยาหลวงจนทะลุ ในที่สุดทั้งสองก็ถึงแก่ความตาย กลายสภาพเป็นภูเขา ภรรยาน้อยกลายเป็นเขาหัวแตก ส่วนภรรยาหลวงกลายเป็นเขาอกทะลุนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาเมื่อนายเมืองเดินทางกลับมาทราบข่าวการตายของภรรยาทั้งสอง ก็ตรอมใจตายกลายเป็นเขาเมือง (เขาชัยบุรี) ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างหมอบ จากนั้นไม่นายนางยี่สุ่นก็เดินทางกลับมาถึงได้ทราบข่าวการตายของบิดามารดาก็ตรอมใจตายเช่นกันแล้วได้กลายเป็น เขาชัยสน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ในท้องที่อำเภอเขาชัยสน ส่วนนายซังกั้งเดินทางกลับมาช้าสุดก็ได้ทราบข่าวการตายของคนในครอบครัว อยู่ต่อก็ตรอมใจตายกลายเป็นเขากัง
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2551). ชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ จังหวัด อำเภอ และสถานที่ บุคคลบางชื่อ. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์.