หนังสือบุด
 
Back    07/11/2018, 09:57    30,803  

หมวดหมู่

คําภีร์


ประเภท/รูปแบบเนื้อหา

สิ่งพิมพ์


เนื้อหา

ภาพจาก : https://www.nakhononline.com/2772/

    หนังสือบุดเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ของภาคใต้ที่บันทึกสรรพวิทยาการต่าง ๆ ไว้ก่อนที่การพิมพ์จะแพร่หลายอย่างเช่นปัจจุบัน หนังสือบุดหรือคัมภีร์บุดเป็นวรรณกรรมที่มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยกระดาษข่อยแผ่นยาว ๆ หน้าแคบ พับทางขวางทบกลับไปกลับมาคล้ายผ้าจีบ มีทั้งชนิดกระดาษขาวและกระดาษดำ  ซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามภูมิภาคอื่น ๆ เช่น  สมุดข่อย, สมุดไทย เป็นต้น หนังสือบุดถือเป็นวรรณกรรมประเภทท้องถิ่นของภาคใต้ที่เป็นขุมทรัพย์ทางสติปัญญา และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรแก่การศึกษาเรียนรู้ตลอดถึงการอนุรักษ์สืบสานเอาไว้ให้อยู่คู่ชาติไทย หนังสือบุดนับเป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่งที่ใช้บันทึกความรู้ของคนไทยในสมัยก่อน โดยที่คำว่า “บุด” ในภาษาถิ่นใต้มีที่มาจากรากคำภาษาสันสกฤตคือคำว่า “ปุสตก” และภาษาบาลีว่า “โปตถก” ซึ่งหมายถึงคัมภีร์ใบลาน, ผ้า, เปลือกไม้ และรูปปั้น  หรือคำว่า ”ปุฎ” หมายถึงการพับ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังสือบุดคือเป็นหนังสือพับ (ในภาษาถิ่นใต้จะออกเสียงคำว่า “สมุด” เป็น “มุด”  จึงอาจกลายเป็นบุดในเวลาต่อมา)   (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้, ๒๕๔๒ : ๘๓๒๘-๘๓๓๗) โดยในหนังสือบุดเอกสารจะเป็นตัวเขียนที่เขียนขึ้นหรือจารขึ้น เพราะสมัยโบราณก่อนการใช้สมุดแบบฝรั่ง การบันทึกเรื่องราวที่ใช้ตัวอักษรจะใช้วิธี "จาร" หรือจารึกหรือบันทึกลงในสมุดข่อย หรือ ใบลานซึ่งส่วนมากล้วนแต่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวใต้ในอดีต และหากพิจารณาหนังสือบุดในมุมมองของวิชาการจดหมายเหตุ (Archival science) จะเห็นได้ว่าหนังสือบุดถือเป็นเอกสารจดหมายเหตุ (Archival records) หรือเอกสารประวัติศาสตร์ (Historical records) ประเภทหนึ่ง เพราะเนื่องจากเป็นเอกสารที่คนในยุคโบราณได้ทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต เช่น เป็นคู่มือการประกอบอาชีพ หรือใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีขึ้นบ้านใหม่หรือที่เกี่ยวกับพิธีศพ ตลอดถึงใช้เป็นแหล่งอ้างอิงหรือใช้เพื่อให้คติชีวิตและเพื่อความจรรโลงใจ ซึ่งเรื่องราวอาจจะเป็นนิทาน, สุภาษิต, คำสอน, ความเชื่อ, ฤกษ์ยามโหราศาสตร์ คำสอนในศาสนา, ไสยศาสตร์, เวทมนต์คาถา, ตำรายา, ประเพณี, พงศาวดาร, ตำนาน, บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ยกตัวอย่าง เช่น วรรณคดีทางศาสนามหาชาดก กายนคร คำกาพย์, วรรณคดีคำสอน เช่น กฤษณาสอนน้อง สุภาษิตร้อยแปด สุภาษิตสอนหญิง วรรณคดีพิธีกรรม เช่น บททำขวัญนาค บททำขวัญเรือ บททำขวัญข้าว วรรณคดีตำนานว่าด้วยความเป็นมาของศาสนสถานที่สำคัญ ๆ เช่น ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานการสร้างพระปรางค์เมืองหงสา วรรณคดีนิทาน ที่รู้จักกันแพร่หลายในภาคใต้ เช่น เรื่องพระสุธนมโนห์รา นางสิบสอง นกกระจาบ สุบิน นายดั่น และวันคาร วรรณคดีนิราศ เช่น นิราศเกาะสมุย นิราศถ้ำเขาเงิน นิราศพัทลุง นิราศเสือขบ เป็นต้น 

หนังสือบุดของภาคใต้

       หนังสือบุดของภาคใต้มีปรากฎอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ  และมีหลายขนาดด้วยกันซึ่งแต่ละขนาดจะสัมพันธ์กับเนื้อหาที่เขียน  เช่น  ถ้าใช้บันทึกวรรณกรรมประเภทศาสนาจะเป็นหนังสือพระมาลัย  โดยจะบันทึกอักษรขอมบาลีหรือขอมไทย  มีความกว้างประมาณ  ๑๕-๒๐ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร  สำหรับนิทานชาดก, นิทานประโลมโลก, ตำนาน, พงศาวดาร หรือตำราดูลักษณะเรือ จะเป็นหนังสือบุดขนาดกลางที่มีขนาดกว้างประมาณ ๑๐-๑๓ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๓๔-๔๐ เซนติเมตร ส่วนประเภทของตำรายาหรือคาถาอาคมจะนิยมบันทึกลงหนังสือบุดขนาดเล็กสุด หนังสือบุดที่ปรากฎในภาคใต้จากการสำรวจข้อมูลของนักวิจัยและผู้รู้่ปรากฎว่ามีดังนี้

       ๑. จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          หนังสือบุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่พบจะทำด้วยกระดาษย่านหรือเถากฤษณา หรือปริหนา หรือปริศนา (ชาวบ้านเรียกย่านกรีดหนา หรือปรีดหนา) ซึ่งพับเป็นชั้น ๆ ลักษณะของตัวอักษรที่ใช้บันทึกมักเอนไปข้างหลัง หรือทางขวาประมาณ ๓๐-๔๐ องศา ที่เขียนด้วยตัวตรงนั้นพอจะมีอยู่บ้างแต่น้อยกว่าการเขียนเอนไปข้างหลัง มักจะใช้บันทึกเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น วรรณกรรมท้องถิ่นจากหนังสือบุดเรื่องพระแสงสุรีฉาย ซึ่งมีอายุประมาณ ๑๐๐ กว่าปี แต่งขึ้นขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๓๘) โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึงฤาษีตนหนึ่งได้พบทารกน้อยนอนอยู่ใกล้แม่น้ำ จึงเก็บมาเลี้ยงและตั้งชื่อว่าอุบลวันนา เพราะว่านางถือกำเนิดมาจากดอกบัว ฤาษีและพระแสงสุรีฉายซึ่งเป็นศิษย์จึงช่วยกันเลี้ยงดูนาง พอนางอายุได้ ๑๔ ปี ฤาษีจึงให้นางอภิเษกกับพระแสงสุรีฉาย แล้วเนรมิตปราสาทให้ทั้งสองครองคู่กัน ทุกวันทั้งสองจะออกหาผลไม้ให้พระฤาษีทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งพระแสงสุรีฉายออกเที่ยวป่าองค์เดียวและเกิดหลงป่า หาทางกลับไม่ได้จนค่ำก็พบช้างป่ามากมาย พระแสงสุรีฉายจึงแผงสรออกไป ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกใจหนีไปหมด เหลือแต่พญาช้างเผือกตัวเดียว พญาช้างเผือกเห็นพระแสงสุรีฉายจึงเกิดความรักใคร่และถามพระสุรีฉายว่าทำไมมาเดินป่าองค์เดียวพระแสงสุรีฉายตอบว่าตนหลงป่าให้พญาช้างสารช่วยบอกทางกลับให้ที พญาช้างจึงให้พระแสงสุรีขี่หลังแล้วพาหายไป ขณะที่นั่งบนหลังพญาช้างพระแสงสุรีฉายได้กลิ่นหอมของดอกไม้ จึงถามพญาช้างว่ากลิ่นอะไร พญาช้างตอบว่าเป็นกลิ่นของนางแสงแก้วธิดาของยักษ์วิจิตราชมีสิริโฉมงดงามมากพระแสงสุรีฉายต้องการจะเห็นโฉมของนางจึงให้พญาช้างพาไป พญาช้างบอกว่าบิดาของนางดุร้ายมาก พระแสงสุรีฉายบอกว่าไม่กลัว พญาช้างจึงพาพระแสงสุรีฉายเหาะลงมาเมืองยักษ์พระแสงสุรีฉาย จึงได้ลักลอบเข้าในห้องของนางแสงแก้วและได้นางแสงแก้วเป็นมเหสีอีกองค์หนึ่ง จนกระทั่งพ่อของนางแสงแก้วทราบเรื่อง จึงต่อสู้กับพระสุรีฉายแต่สู้ไม่ได้จึงต้องยอมรับพระแสงสุรีฉาย หลังจากนั้นพระแสงสุรีฉายและนางแสงแก้วได้เดินทางกลับมายัง อาศรมฤาษีและเล่าความจริงให้นางอุบลวันนาฟัง พักอยู่กับฤาษี ๑๕ วัน พระแสงสุรีฉายจึงลาฤาษีกลับเมืองและพานางแสงแก้วและนางอุบลวันนากลับไปด้วย ....

       ๒. จังหวัดพัทลุง

           หนังสือบุดจังหวัดพัทลุงมีอยู่จำนวนมาก เพราะจากการศึกษาวิจัยของธนัญญา พูลสง, วิศปัตย์ ชัยช่วย และจุฑารัตน์ ช่างทอง (๒๕๕๙).... พบว่าหนังสือบุดมีการจัดเก็บอยู่ในแหล่งสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมในจังหวัดพัทลุงคือที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนสตรีพัทลุง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และที่พิพิธภัณฑ์ของชาติ วัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง แต่พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด และสามารถจำแนกประเภทตามลักษณะเนื้อหาของหนังสือบุดได้ ๗ ประเภท คือวรรณกรรมประเภทศาสนา, วรรณกรรมประเภทนิทาน, วรรณกรรมประเภทตำรา, หนังสือบุดความเชื่อ, วรรณกรรมประเภทกฏหมาย, วรรณกรรมประเภทความเชื่อ, วรรณกรรมประเภทภาษิตและคำสอน, วรรณกรรมประเภทอื่น ๆ จากการศึกษาวิจัยหนังสือพบว่าลักษณะเนื้อหาของหนังสือบุดในจังหวัดพัทลุงประกอบด้วย.......

         ๒.๑ หนังสือบุดตำรายา มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรค อาการสาเหตุของการเจ็บป่วยและสูตรยาที่ใช้รักษาแต่ละโรค มีลักษณะโครงสร้างเนื้อหาที่เหมือนกัน คือ ส่วนผสมของยา ปริมาณ และปรากฏชื่อโรคอยู่บริเวณมุมขอบซ้ายของเล่ม เขียนในแนวตั้ง หรือบอกชื่อโรคก่อนจะบอกส่วนผสมของตัวยา ส่วนตำรายาในแต่ละเล่มมักจะซ้ำ ๆ กัน แบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ คือ

                    ก) ตำรารักษาไข้ โดยเฉพาะทั้งที่รักษาตามธาตุ ตามเดือน และประกอบด้วยไข้ประเภทต่าง ๆ ทั้งไข้ตัวร้อน ไข้ร้อนใน

                    ข) ตำรารักษาโรคเลือด เช่น โรคเลือดระดูมาผิดปกติ ยาขับรก ยาขับเลือด เลือดเป็นหนอง             

                   ค) ตำราโรคลม ประกอบด้วยโรคลม ๖ จำพวก พิษลม โรคอาการจุกเสียด โรคท้องอืดท้องเฟ้อ และโรคหอบ

                   ง) ตำรายารักษาโรคเกี่ยวกับเด็ก เป็นยารักษาโรคทั่วไปที่นิยมเกิดกับเด็กโตโดยเฉพาะ

                  ฉ) ตำรายาเกี่ยวกับโรคทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เป็นกันมาก เช่น โรคริดสีดวง โรคจุกเสียด โรคแน่นหน้าอก โรคปวดหัว ปวดท้อง และวิงเวียน

                  ช) ตำรายาที่รวบรวมสูตรยาต่าง ๆ อธิบายสูตรยา ๕ ขนาน ได้แก่ ยาผง ยาต้ม

   การบันทึกตำราการแพทย์พื้นบ้านลงในหนังสือบุดและใบลานนี้มีอยู่อย่างแพร่หลายในภาคใต้ เนื่องจากการดูแลรักษาสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ การบันทึกตำราดังกล่าวทำให้การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บและการคัดลอกตำรายาของสำนักหรือของหมอที่มีชื่อเสียงไปเผยแพร่เท่ากับเป็นการทำกุศลให้แก่เพื่อมนุษย์ ดังนั้นตำรายาที่แพร่หลายอยู่จะมีทั้งเป็นตำราทั้งหมดของสำนักใดสำนักหนึ่งหรือของหมอตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรืออาจจะเป็นตำราเพียงบางส่วนที่ถูกคัดลอกมา แต่บางครั้งก็อาจเป็นตำราที่รวบรวมมาจากหลายสำนักตามความสนใจของคนคัดลอก ตำราการแพทย์พื้นบ้านในส่วนที่จารหรือเขียนด้วยตัวอักษรขอมนี้ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน บางส่วนก็ชำรุดเสียหาย บางส่วนสถาบันทางวิชาการนำไปรวบรวมเก็บรักษาไว้และหาทางแปลออกมาเป็นภาษาไทยปัจจุบัน แต่ก็ยังทำได้ไม่มากนัก การจารตำรายาลงในหนังสือบุดและใบลานด้วยตัวอักษรขอมในพื้นที่ภาคใต้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปลายรัชกาลที่ ๔-๕ เมื่อพัฒนาการการพิมพ์หนังสือขยายตัวมากขึ้น และขยายตัวลงมายังภาคใต้หลังจากที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ไม่นาน ประกอบกับการศึกษาตามแบบกรุงเทพฯ ได้ขยายตัวลงมาในภาคใต้มากขึ้นฃ จึงมีผู้รู้หนังสือไทยมากขึ้นทำให้มีการนำตำราการแพทย์ที่เคยเขียนด้วยตัวหนังสือขอมมาถอดความเป็นภาษาไทยและพิมพ์จำหน่าย โดยการถอดความเป็นภาษาไทยนี้มีทั้งที่ถอดเป็นสำเนียงท้องถิ่นและที่ถอดเป็นสำเนียงภาษาภาคกลาง

          ๒.๒ หนังสือบุดความเชื่อ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้คือ

                  ก) ฤกษ์ยาม มีเนื้อหากล่าวถึงฤกษ์มงคลในการจัดทาพิธีสำคัญ เช่น พิธีการไหว้ศาลพระภูมิ ฤกษ์ยามสาหรับพิธีแต่งงานฤกษ์ยามสาหรับการสร้างบ้าน ฤกษ์ยามในการทาขวัญข้าวและกล่าวถึงฤกษ์ยามที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจาวัน เช่น การดูฤกษ์ยามก่อนการเดินทาง ฤกษ์ยามสาหรับการค้าขาย ฤกษ์ยามการพบสัตว์แต่ละชนิด

                ข) คาถาเวทมนต์ มีเนื้อหากล่าวถึงความเชื่อในการท่องคาถาเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ความขลัง และพบคาถาเสกยันต์เป็นส่วนใหญ่ เช่น คาถาเสกยันต์กันหนู คาถาเสกยันต์กันผีป่า ผีพราย คาถาเสกยันต์กันปู คาถาการลงอาคมและยังมีคาถาเพื่อคุ้มครองตนเอง คาถาเสกยาเพื่อให้หายจากอาการเจ็บป่วยและ

                ค) การดูดวง กล่าวถึง การดูดวงสมพงษ์ของคู่บ่าวสาว การดูดวงตามอักษรชื่อต้น และการดูดวงตามราศี

ภาพจาก : http://www.finearts.go.th/songkhlalibraryhm/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์/book/444.html?tmpl=component&print=1

        ๒.๓ หนังสือบุดไสยศาสตร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้

                ก) ไสยศาสตร์การทาเสน่ห์ยาแฝด กล่าวถึงขั้นตอนการทา การเตรียมของเพื่อทาพิธี และการเสกยันต์ และท่องคาถาเพื่อให้พิธีศักดิ์สิทธิ์และ

               ข) วิธีการและขั้นตอน การประกอบพิธีการทาไสยศาสตร์ เช่น การเขียนชื่อคนลงในยันต์ เสกยันต์แล้วท่องคาถา จากนั้นนาผ้ายันต์ที่ผ่านการทาพิธีแล้วนั้นนำไปไว้ในป่าช้า ๗ วัน หลังจากนั้น ๓ วัน บุคคลที่มีชื่ออยู่ในยันต์ก็จะเสียชีวิต แต่ทั้งนี้ในหนังสือบุดบางเล่มบอกวิธีการแก้คุณไสยไว้ด้วย

          ๒.๔ หนังสือบุดศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทสวดมนต์ที่ใช้สวดในชีวิตประจาวัน เช่น คำอาราธนาศีล บทแผ่เมตตา บทกรวดน้า และคาถาที่พบ คือ คาถาพระทิพมนต์มหาชัย นอกจากนี้ยังปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเล่าของพระพุทธเจ้าเทศนา เช่น คำสอนของศาสนาที่ให้ผู้ฟังได้นำไปปฏิบัติ

          ๒.๕ หนังสือบุดกฎหมาย มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นกฎหมาย, คำพิพากษาคดีความต่าง ๆ ส่วนที่บันทึกในบุดขาวนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับตาราความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ ความหมายศัพท์ ลักษณะของกฎหมาย เช่น กฎหมายอาญา เรื่องการทะเลาะวิวาท เรื่องลูกหนี้ เจ้าหนี้ กำหนดโจทย์และจำเลย กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมและการลงโทษทาสและคนในปกครองในกรณีต่าง ๆ

          ๒.๖ หนังสือบุดประเพณี มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเพณีการทำขวัญข้าว ประเพณีการบวช ประเพณีการปลูกเรือน โดยลักษณะและโครงสร้างของเนื้อหาจะเหมือนกัน คือเริ่มต้นด้วยบทเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ และตามด้วยเนื้อหา

          ๒.๗ หนังสือบุดสุภาษิต มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุภาษิตสอนหญิง ซึ่งกล่าวถึงการครองเรือน การทาหน้าที่ภรรยาที่ดี และสุภาษิตโดยยึดหลักคาสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น สอนไม่ให้โลภมาก สอนไม่ให้คนเห็นแก่ตัว

          ๒.๘ หนังสือบุดตำนาน มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานนางหอมเป็นตำนานกล่าวถึงผู้หญิงมีกลิ่นกายหอมดังดอกพิกุล ลักษณะเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง และมีเนื้อหากล่าวถึงตำนานเมืองพัทลุง เช่น รายนามเจ้าเมือง สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและประเพณี เป็นต้น

          ๒.๙ หนังสือบุดพงศาวดาร มีเนื้อหาเกี่ยวกับการออกศึก และการส่งเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง

       ๓. จังหวัดนครศรีธรรมราช

          หนังสือบุดคัมภีร์บุดของเมืองนครศรีธรรมราช มีมากมายหลายเรื่องและถือเป็นศาสตร์แห่งมนต์เมืองนคร เช่น พระมาลัย, ยันต์ศักดิ์สิทธิ์, ตำราดูฝีดาษ, ไฟสันตา และคาถาและตำรายา ส่วนมากกระดาษของหนังสือบุดเมืองนครฯ นั้น ทำมาจากต้นเปลือกข่อยและเปลือกกฤษณา สำหรับเนื้อหาบางเรื่องจะใช้ภาพจิตรกรรมเป็นสื่อแทนเรื่อง และถือเป็นการแสดงเรื่องราวด้วยภาพโดยตรง เช่น ภาพแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น

ประเภทของหนังสือบุด

       หนังสือบุดจำแนกตามลักษณะของกระดาษที่ใช้ทำสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือหนังสือบุดดำ และหนังสือบุดขาว
    ๑. หนังสือบุดดำ มีเนื้อกระดาษมีสีดำ และจะเขียนด้วยอักษรสีเหลืองหรือสีขาว
เนื้อหาที่เขียนในหนังสือบุดดำจะเป็นวิชามาร มักจะเป็นเรื่องสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไสยเวทย์ มนต์ดำ ตำราพิชัยสงครามและตำราต่าง ๆ การที่บุดดำใช้สีขาว สีเหลือง หรือสีทองเขียนเพราะต้องการให้มีพลังอำนาจหรือมีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งในการเขียนหรือจารถ้าต้องการสีขาวจะใช้ดินสอสีขาวหรือสีขาวจากเปลือกหอยมุก ถ้าต้องการสีเหลืองจะใช้รงหรือหรตาล “รง” หรือ ”ยางรง” เป็นยางของพืชชนิดหนึ่งจะเรียกว่า “รงเหลือง” ถ้าต้องการให้เป็น “รงทอง” จะต้องผสมสีทองลงไป ส่วน “หรตาล” เป็นก้อนหินสีเหลืองใช้ผงหรตาลละลายน้ำแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอนข้น แล้วนำน้ำที่ได้จากการแซ่ฝักส้มป๋อย มาผสมกับตะกอนของหรตาล นำส่วนผสมที่ได้มาผึ่งแดดพอหมาด ๆ แล้วนำไปผสมกับกาวที่ได้จากยางมะขวิดหรือยางกระถิน แล้วจึงนำไปเขียนหรือจาร ส่วนสีทองจะใช้ทองคำเปลว หรือทองอังกฤษ

      ๒. หนังสือบุดขาว มีเนื้อกระดาษมีสีขาว เขียนด้วยตัวอักษรสีดำเนื้อหาที่เขียนในหนังสือบุดขาว จะเป็นวิชาเทพ ซึ่งมีหลากหลาย เช่น วรรณกรรมประโลมโลกหรือวรรณกรรมศาสนา ตำรายา การแพทย์โบราณ เป็นต้น หนังสือบุดขาวจะใช้สีดำโดยใช้หมึกดำหรือสีดำ ซึ่งสมัยก่อนภาคใต้จะนิยมใช้ลูกสมอป่าหรือก็ลูกนน ซึ่งจะมีรสฝาดจัด โดยการเอามาต้มและแช่น้ำจนคายรสฝาดสีดำอมน้ำตาลออกมาและนำมาใช้เป็นหมึกเพื่อเขียนหรือจาร

ภาพจาก : http://www.addsiam.com/100-เรื่องเมืองไทย/หนังสือใบลาน-คัมภีร์ใบลาน/2.html

ภาษาที่ใช้เขียนหนังสือบุด

      ในการเขียนหรือจารเนื้อหาลงในหนังสือบุดส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอักษรขอม เพราะการเขียนหรือจารหนังสือบุดในระยะเริ่มแรกจะปรากฎเป็นอักษรขอมเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะชาวปักษ์ใต้ในสมัยก่อนจะร่ำเรียนอักษรขอมก่อนอักษรไทย จากการสำรวจพบว่าอักษรและภาษาที่ใช้เขียนมีอยู่ ๓ แบบ คือ
          ๑. อักษรภาษาไทยล้วน ซึ่งจะใช้บันทึกวรรณกรรมทั่ว ๆ ไป เช่น นิทาน ตำนาน พงศาวดาร ส่วนมากจะใช้กับหนังสือบุดขาวโดยเขียนตัวอักษรด้วยสีดำ
          ๒. อักษรขอม โดยแบ่งออกเป็น “ขอมไทย” “ขอมบาลี”

               - ขอมไทย หมายถึงอักษรขอวแต่ถ้อยคำเป็นภาษาไทย

               - ขอมบาลี หมายถึง อักษรขอมแต่ถ้อยคำเป็นภาษาบาลี

                 โดยที่อักษรขอมล้วนนิยมใช้บันทึกกเรื่องราวที่มีความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะใช้หนังสือบุดดำ และเขียนด้วยสีขาวหรือสีรง

          ๓. อักษรขอมแทรกในอักษรไทยเป็นตอน ๆ ส่วนที่เป็นอักษรขอมมักจะเป็นคาถา บทสวดหรืออักษรที่ต้องการความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์
            ในการเขียนหนังสือบุดมีคตินิยมอยู่บางประการ เช่น จะต้องเขียนใต้เส้นบรรทัด ถือเป็นการยกย่องครู การขึ้นต้นเรื่องจะต้องมีคำนมัสการ พระศาสนา บูชาพระรัตนตรัย สรรเสริญผู้มีพระคุณ ลงท้ายด้วยการบอกชื่อผู้เขียน บอกวันเดือนปีที่เขียน และบอกคำอธิษฐาน เป็นต้น หนังสือบุดจึงเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการไว้หลายสาขา คือศาสนา กฎหมาย ตำนานและประวัติศาสตร์ ตำราและแบบเรียน สุภาษิตและวรรณกรรมประโลมโลก เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทลายลักษณ์ จึงเป็นทรัพย์ทางปัญญาของชุมชนและสังคม ให้ประโยชน์ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ภาพประกอบในหนังสือ มีทั้งภาพเขียนสี และภาพลายเส้น ที่ลักษณะเนื้อหาและศิลปะหลากหลายบางเล่มมีความสมบูรณ์ทั้งด้านรูปเล่มและเนื้อหา ตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย บางเล่มชำรุดเป็นบางตอน ข้อความบางตอนบางส่วนขาดหายไป

วัสดุที่ใช้ทำหนังสือบุด

     วัสดุที่ใช้ทำหนังสือบุดนั้นจะแตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่นตามภูมิภาคอื่น ๆ ของไทย เช่น ภาคเหนือจะนิยมใช้เปลือกของต้นสามาทำสมุด จึงมีชื่อเรียกว่า “สมุดกระดาษสา” สำหรับภาคใต้จะใช้ไม้เถาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ย่านกฤษณา” หรือ “ปฤษณา” หรือบางทีก็ใช้หัวของต้นเอาะนก หรือต้นกระดาษ ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายบอน โดยนำมาผสมกับเยื่อไม้อื่น ๆ ทำเป็นกระดาษ ในการจัดรูปเล่มจะทำเป็นลักษณะเป็นพับ ซึ่งจะต้องเป็นขนาดเดียวกัน  พับไปพับมาซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นหรือหลายๆ กลีบ ส่วนบนสุดและล่างสุดของหนังสือบุดแต่ละเล่มจะใช้เป็นปกหน้าและปกหลัง ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากกระดาษชั้นอื่น ๆ คือ มักจะเป็นกระดาษหนาหรือกระดาษขัดมัน  สำหรับการจัดหน้าในหนังสือบุดแตกต่างจากหนังสือประเภทอื่น ๆ คือไม่มีเลขกำกับหน้า เพียงแต่บอกหน้าไว้ ๒ ตอนเท่านั้นคือ "หน้าต้น” กับ “หน้าปลาย” หรือ “ต้นสมุด" กับ "ปลายสมุด" เท่านั้น ผู้อ่านต้องเริ่มอ่านจากหน้าต้นหรือต้นสมุด และจะต้องเปิดอ่านตามรอยพับไปเรื่อย ๆ จนหมดหน้าต้น ซึ่งจะเขียนบอกไว้ว่าให้พลิกไปอ่านหน้าปลายต่อไป ส่วนขนาดของหนังสือบุดที่นิยมใช้ ๓ ขนาด คือ

       ๑. ขนาดธรรมดา  กว้าง ๕๕ เซนติเมตร  ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร   
       ๒. ขนาดพระมาลัย  กว้าง ๙๘ เซนติเมตร  ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร   
       ๓. ขนาดเพลา  กว้าง ๕๕ เซนติเมตร  ยาว ๑๗๕ เซนติเมตร

วิธีเขียนหรือจาร

       ในการเขียนหรือจารหนังสือบุดผู้เขียนจะใช้มือข้างที่ถนัดจับด้ามเหล็กจาร เหมือนกับการจับปากกาดินสอ มืออีกข้างจับใบลานที่สอดไว้กับหมอนรองจาร ในลักษณะหงายมือ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน มือที่จับด้ามเหล็กจารส่วนปลายเหล็กจ่อลงบริเวณที่จารโดยให้ด้ามเหล็กจารพิงกับข้อนิ้วหัวแม่มือ มือที่จับเหล็กจาร ใช้นิ้วหัวแม่มือที่จับใบลานเป็นจุดหมุน จับด้ามเหล็กจารตวัดในลักษณะเล่นข้อ ตวัดเหล็กจาร เพื่อให้เหล็กจารขูดลงไปในเนื้อใบลาน เป็นตัวหนังสือขึ้นมา พอสังเกตเห็นได้แต่ต้องระวังอย่าให้ทะลุอีกด้านหนึ่ง จะจารไปขยับมือ และขยับลานตามหมอนไปเรื่อย ๆ จนหมดหน้าลาน จึงพลิกอีกด้านหนึ่งขึ้นมาจารต่อ

ผู้ผลิตหรือสร้างหนังสือบุด

      ในการทำหนังสือบุดนั้นจะมีผู้สร้างหรือผู้ทำให้เกิดหนังสือบุด หรือผู้สั่งให้เขียน บันทึก หรือผู้ซึ่งเขียนเนื้อหาลงไปในหนังสือบุดเอง จากผลการวิจัยของของธนัญญา พูลสง, วิศปัตย์ ชัยช่วย และจุฑารัตน์ ช่างทอง (๒๕๕๙).... พบว่าหนังสือบุดโดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงส่วนใหญ่ยังสันนิษฐานไม่ได้หรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ปรากฏชื่อผู้สร้าง ซึงปรากฎอยู่ในส่วนต้นของหนังสือบุด ประกอบด้วย

       ๑. ขุนนาง

       ๒. พระสงฆ์หรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน 

       ๓. ประชาชนทั่วไป

ความสำคัญของหนังสือบุด

     หนังสือบุดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) อันเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของบรรพชนชาวไทยภาคใต้ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์และสืบทอดไว้ โดยตัวของหนังสือบุดเองถือเป็นสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นเอกสาร จดหมายเหตุ หรือเอกสารประวัติศาสตร์ ของไทยสมัยโบราณ ที่บันทึกความรู้ภูมิปัญญา หลากหลายสาขาวิชา เช่น วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การแพทย์แผนไทย ไสยศาสตร์ ดาราศาสตร์ ความรู้เหล่านี้จำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้และนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่าหนังสือบุดหรือคัมภีร์บุดมีความสำคัญดังนี้คือ

       ๑. เป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการไว้หลายสาขา คือศาสนา กฎหมาย ตำนานและประวัติศาสตร์ ตำราและแบบเรียน สุภาษิตและวรรณกรรมประโลมโลก
      ๒. เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทลายลักษณ์ จึงเป็นทรัพย์ทางปัญญาของชุมชนและสังคม ให้ประโยชน์ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ภาพประกอบในหนังสือ มีทั้งภาพเขียนสี และภาพลายเส้น ที่ลักษณะเนื้อหาและศิลปะหลากหลาย

       หนังสือบุดเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ของภาคใต้ที่บันทึกสรรพวิทยาการต่าง ๆ ไว้ ยังคงกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้วรรณกรรมเหล่านี้เป็นมรดก ทางภูมิปัญญาของชาติที่กำลังรอเวลาแห่งการเสื่อมสูญ เพราะหากไม่สนใจศึกษากันอย่างจริงจังแล้ว แม้ว่าการศึกษาและวิจัยอาจมีอยู่บ้างก็ยังเป็นส่วนเสี้ยวที่น้อยนิดซึ่งไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดตลอดไปของวรรณกรรมประเภทนี้ แต่สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีคือการเรียนรู้อักษรขอม-บาลีหรือขอม-ไทย หากปัจจุบันขาดผู้รู้ในส่วนนี้ก็ยากที่จะรักษาไว้ได้ แต่ถ้ามีผู้รู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ หนังสือบุดที่จารด้วยอักษรขอม-บาลีก็คงมีโอกาสแพร่หลายไปได้อย่างกว้างขวาง 

     วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุดผลจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ได้ว่าภาคใต้คือคลังวรรณกรรมอันอุดมไปด้วยความหลากหลายด้าเนื้อหาสาระมากมาย เพราะต้นฉบับที่เป็นหนังสือบุดและใบลานซึ่งมีอยู่เป็นอเนกอนันต์นั้นยังมีหลงเหลือให้ศึกษาและเรียนรู็ โดยมีแหล่งเก็บรวบรวมไว้ตามวัดวาอาราม บ้าน ของผู้ใฝ่รู้ ตลอดถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้นฉบับที่คัดลอกลงสมุดอย่างต่างชาติหรือะต้นฉบับทิ่เทคโนโลยีการพิมพ์เผยแพร่เข้ามามีบทบาทได้แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในสังคมภาคใต้ จะเห็นความเป็นพลวัตของผู้สร้าง เนื้อหา สาระ และผู้เสพวรรณกรรมแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเด่นชัด เพราะจากการเลือกสรรวรรณกรรมบางเรื่องมานำเสนอพอเป็นมูลเหตุ ทำให้เห็นบทบาทของวรรณกรรมที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง และสรุปได้ว่าวรรณกรรมภาคใต้เป็นสรรพวิชาหรือศาสตร์สำหรับคนในสังคมเรียนรู้และใช้ประโยชน์ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ สังคมหรือถ่ายโยงความรู้เป็นอาหารใจและอาหารทางปัญญา เป็นแก่นสารที่ แสดงถึงความเป็นหมู่พวกเป็นจารีต หรือแนวทางปฏิบัติของสังคม ตลอดถึงการอธิบายข้อเท็จจริง เป็นการประจานและชี้แนะทางเลือก และนี่คือฐานรากของสังคมภาคใต้ต่อไปให้ยั่งยืน


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
หนังสือบุด
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

การวิเคราะห์คุณลักษณะทางสารสนเทศของหนังสือบุดในจังหวัดพัทลุง. (2559). สืบค้นวันที่ 6 พ.ย. 61, จาก https://tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/

                  article/view/66934

คัมภีร์บุดศาสตร์แห่งมนต์เมืองนคร คัมภีร์โบราณของปักษ์ใต้. ( 2555). สืบค้นวันที่ 6 พ.ย. 61, จาก https://www.nakhononline.com/2772/

ชวน เพชรแก้ว. (2554). วรรณกรรมทักษิณ : หลักฐานสำคัญของภาคใต้ที่ท้าทายการศึกษา, วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 36 (9) (ต.ค-ธ.ค. 2554).

ตำรับตำรายาคนภาคใต้. (2560). สืบค้นวันที่ 6 พ.ย. 61, จาก https://www.hfocus.org/content/2017/07/14186

หนังสือบุด. (2554). สืบค้นวันที่ 6 พ.ย. 61, จาก http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=23312.0

หนังสือบุด. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 17. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

หนังสือบุด. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 6 พ.ย. 61, จาก http://kanchanapisek.or.th/kp8/srt/srt601.html

หนังสือใบลาน คัมภีร์ใบลาน. (2554). สืบค้นวันที่ 6 พ.ย. 61, จาก http://www.addsiam.com/100-เรื่องเมืองไทย/หนังสือใบลาน-คัมภีร์ใบลาน/2.html

หนังสือโบราณของไทย. (2560). สืบค้นวันที่ 6 พ.ย. 61, จาก https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/61810/-cul-


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025