ภาพสืบค้นจาก : https://goo.gl/GteZfe
บทเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงกล่อมลูก (อังกฤษเรียกว่า Mother Goose อเมริกาเรียกว่า Lullaby) ของภาคใต้ซึ่งสำเนียงเป็นภาษาถิ่นใต้ ที่คนส่วนมากรู้จักจะว่ามากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะเพลงกล่อมเด็กภาคใต้มีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุด ความเป็นมาของเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงกล่อมลูก เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และค่านิยมของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ในทุกชาติทุกภาษาบนโลกใบนี้ซึ่งก็จะมีบทเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเพลงกล่อมลูกหรือเพลงกล่อมเด็ก มีวิวัฒนาการของเพลงมาจากการเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอนในลักษณะคำกลอนหรือเป็นเพลงกล่อม ซึ่งจะเป็นกลอนชาวบ้านไม่มีแบบแผนแน่นอนจะมีเพียงแต่สัมผัสคล้องจอง ถ้อยคำที่ใช้ในบางครั้งอาจจะไม่มีความหมายเนื้อเรื่องก็จะเป็นเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรัก ความห่วงใยที่ปรากฎในบทเพลง สำหรับเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงกล่อมลูกภาคใต้นั้นมีทั้งเพลงร้องเรือที่เรียกว่าเพลงร้องเรือ ก็เพราะว่าลักษณะของการใช้ผ้าผูกเปลในเด็กมีรูปร่างคล้ายเรือ บางที่ก็เรียกเพลงช้าน้อยหรือช้าน้อง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทใดก็ตาม ผู้ร้องต้องใช้ไหวพริบและปฏิภาณในการร้อง และมักขึ้นต้นเพลงด้วยคำว่า “ฮาเอ้อ” หรือคำว่า “เหอ” แทรกอยู่ในบทเพลงทั้งนั้น สำหรับจุดประสงค์ก็เพื่อแสดงออกทางอารมณ์และกล่อมให้เด็กหลับ และไม่ร้องไห้กวนโยเย ตลอดถึงเพื่อความเพลินเพลิด บทเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงกล่อมลูกของภาคใต้ ในแต่ละท้องถิ่นจะเรียกแตกต่างกันออกไป อาทิ เพลงร้องเรือ ร้องกันอยู่ในแถบจังหวัดพัทลุง ตรัง หรือนครศรีธรรมราชบางส่วน เช่น อำเภอปากพนัง ส่วนที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จะเรียกว่าเพลงช้าน้อยหรือช้าน้อง ส่วนในหมู่คนไทยมุสลิมจะเรียกเป็นภาษายาวีว่า "อูเละ ตีโด" คำว่า อูเละ หมายถึง การร้องขับกล่อม ส่วนคำว่า ตีโด หมายถึงนอนหลับ รวมความแล้วหมายถึงการร้องขับกล่อมให้นอนหลับ แต่พอขึ้นมาที่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เรียกเพลงน้องนอน ในที่นี้จะขอนำบทเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงกล่อมลูกของภาคใต้ ในประเภทการชมธรรมชาติ ชมนก และชมไม้ ที่เกี่ยวกับนก มานำเสนอไว้พอเป็นสังเขป ดังต่อไป
ภาพสืบค้นจาก : https://women.mthai.com/momandchildren/mom-child/77683.html
เพลงนกเขา ฮาเอ้อ นกเขาเหอ เกาะราวไม้หว้า คนทำนาล่า พลอยฟ้าพลอยฝน โกรธนักหมันไม่ได้ เดือนอ้ายแค่แล้วพ่อหน้ามน โทษฟ้าโทษฝน โกรธคนทำนา เอ้อเหอล่า เพลงนกเขาเตินได้แต่เช้านั่งโยนกุก ฮาเฮอ เห่อเฮ่อ นกเขา เหอ เตินได้แต่เช้านั่งโยนกุก ตัวเดียวเกียวไม้พุก ขันถ่อล่อชายได้ทุกวัน วันนี้ไปไหนนางเนื้อเกลี้ยง ที่ไม่ได้ยินเสียงนกเขาขัน ขันถ้อล้อชายได้ทุกวัน ขันให้พี่ชายฟัง เหอ เหอะ เสียง |
เพลงนกแอน (นกนางแอ่น) “…ฮาเหอ นกแอนเหอ บินสูงบินแสน ทำรังเกาะเสเกาะห้า ตีแม่มันเสียให้ตาย เอารังไปขาย เป็นสินค้า ทำรังเกาะเสเกาะห้า สินค้านางนก..เหอ แอน” |
เพลงนกแอน (นกนางแอ่น) ฮาเฮอ เห่อเฮ่อ นกเขา เหอ เตินได้แต่เช้านั่งโยนกุก ตัวเดียวเกียวไม้พุก ขันถ่อล่อชายได้ทุกวัน วันนี้ไปไหนนางเนื้อเกลี้ยง ที่ไม่ได้ยินเสียงนกเขาขัน ขันถ้อล้อชายได้ทุกวัน ขันให้พี่ชายฟัง เหอ เหอะ เสียง |
นกนางแอน ฮา เอ คือน้องเอย คือนางนกแอน บินสูงสุดแสน อ้อนแอ้นเอวกลม ใครเห็นน่ารัก ใครเห็นน่าชม อ้อนแอ้นเอวกลม น่าชมนางนกแอน เอย.
|
เพลงนกจอก (นกกระจอก) ฮาเฮอ เห่อเฮ่อ นกจอก เหอ คาบดอกทองหลาง ข้างเรินอีสีนาง โนรามาขออีเพ็งจันทร์ ขอเหนียวสักถ้วย น้ำเทะสักขัน โนรามาขออีเพ็งจันทร์ เหนียวหมันมัน เห่อ เหอะ เทะ |
เพลงนกเขียวนกเขียวเหอ เกาะเรียวไม้พุก พ่อแม่อยูหนุก โลกไปใช้นาย ฝนตกฟ้าร้อง พ่อแม่เขาอยูหนุกบาย โลกไปใช้นาย นั่งกินแต่น้ำตา |
เพลงนกเขาคล้า ฮา เอ คือน้องเอย คือนางนกเขาคล้า พลัดบ้านเมืองมา มากินแต่ลูกเถาคัน ไม้ไผ่ไหรเลย ค้อมมาหากัน มากินแต่ลูกเถาคัน ทั้งขันทั้งคู กรุกกรู เอ |
เพลงสาลิกาเจ้าเล่ห์ คือน้องเอย คือสาลิกาปีกเขียว บินมาตัวเดียว กินน้ำในหนองมังเคร ค่ำนี้นอนไหน นะสาลิกาเจ้าเล่ห์ กินน้ำในหนองมังเคร ค่ำนี้จะนอนไหนเอย. |
เพลงนางนกเปล้า คือน้องเอย คือนางนกเปล้า พี่ไม่ได้ดักเจ้า พี่ดักนางนกเขา เหตุไรนกเปล้า บินมาเข้าบ่วงเรา พี่ดักนางนกเขา นกเปล้ามาพลอยตาย เอย. |
เพลงนางนกคุ้ม คือน้องเอย คือนางนกคุ้น หยาแฝดเข้ากลุ่ม พ่อจะทุ่มลูกเสีย พ่อจะทุ่มทั้งลูก พ่อจะทุ่มทั้งเมีย พ่อจะทุ่มลูกเสีย พ่อจะไปมีเสียใหม่เอย. |
เพลงนกยูงทอง คือน้องเอย คือนางนกยูงทอง เที่ยวบินลอยล่อง จับต้นพระไทร เที่ยววนหาคู่ ไม่ชอบน้ำใจ จับต้นพระไทร ใจน้องเหมือนเวเปล เอย. |
เพลงนกขมิ้น คือน้องเอย คือนางนกขมิ้น น้องรู้อยู่สิ้น ว่าพี่เณรไปได้เมียอื่น ทิ้งเสียผ้าพับ ไปรับเอาผ้าคืน พี่เณรไปได้เมียอื่น เชิญเถิดพ่อร้อยชั่งเอย. |
เพลงนกการะเวก คือน้องเอย คือนางนกการะเวก บินสูงสุดเมฆ เขียนเลขอักษร หัวปีกลายลาย เอาไว้ทำหมอน เขียนเลขอักษร หัวหมอนนางนกการะเวกเอย. |
เพลงนกอินทรีย์ คือน้องเอย คือนางนกอินทรีย์ ปีกหางยาวรี นางนกอินทรีย์คาบช้างสารใหญ่ พือปีกขึ้นบิน แผ่นดินสะเทือนทั้งไพร นกอินทรีย์คาบช้างสารใหญ่ สำหรับท่านผู้มีบุญเอย. |
เพลงนกเหิ้มขี้ไถ ฮา เอ คือน้องเอย คือนางนกเหิ้นขี้ไถ อยู่เรือนเพื่อนใคร พูดจาหลอแหล ได้ไหรสักหีด ยกไว้ให้หม่อมแม่ พูดจาหลอแหล หม่อมแม่ใช้คนเดียว เอย. |
เพลงนกกระยาง ฮา เอ นกยางเอย บินมาแต่ทางเหนือ มาเกาะหัวเรือ หมายจะกินกุ้งสด ตัวเจ้าเป็นสีขาว พ่อขายาวยืนรันทด หมายจะกินกุ้งสด อดแล้วนกกระยาง เอย. |
เพลงนกกดตาแดง ฮา เอ ชึ้นต้นมะปราง แลช้างแลลิง ขึ้นต้นมะปริง แลหญงขี่ควาย นกกดตาแดง น้ำแห้งก็ตาย แลหญิงขี่ควาย คำทายข้างบนคือไหร เอย. |
เพลงนกเขาคอลาย ฮาเอ นกเขาเอย บินมาเผาะเผาะ ช่างบินมาเกาะ ที่เรียวหวายชม สร้อยคอลายพร้อย นกน้อยหน้าชม เกาะที่เรียวหวายชม นกเขาน่าชมเอย. |
เพลงนกสาลิกา ซื้อน้องเอย ซื้อสาลิกาปีกเหลือง มาเกาะอยู่ที่ประตูเมือง มาทักกับน้องอยู่แจ้วแจ้ว เมื่อน้องจะออกปากสั่ง พี่ชายหันหลังไปเสียแล้ว มาทักกับน้องอยู่แจ้วแจ้ว พี่แห้วหูฟังเสียงเอย. |
เพลงนกกิ้งโครง ฮาเอ ซื้อน้องเอย ซื้อนางนกกิ้งโครง บินมาเกาะหน้าโรง น้องนึกว่ากา ฉวยไม้ท่อนซัด นกเลยพลัดลงมา น้องนึกว่ากา ตกลงมาเจ็บเอย. |
เพลงนางหงส์ นางหงส์เหอ ไปหยิบแป้งผงมาผัดหน้า ผัดให้ชายบ้า หย่าลูกหย่าเมีย หย่าทั้งถ้วยข้าว เรินเหย้าทุ่มเสีย หย่าลูกหย่าเมีย การไหรนางหงส์ |
เพลงนกเอี้ยง นกเอี้ยงเหอ เที่ยงเที่ยงมากินลูกพลับ แม่นางงามสรรพ ได้ผัวโนรา นางไม่รู้หุงข้าว นางไม่รู้แกงปลา ได้ผัวโนรา ลูกคู่มันมามาก |
เพลงนกคุ่ม นกคุ่มเหอ นกคุ่มตีนเทียน เทียมได้ผัวเหมียน นั่งเขียนแต่เล็บ ไม้ฟืนก็ไม่ต้อง ผักบุ้งชายคลองก็ไม่เก็บ นั่งเขียนแต่เล็บ เก็บของกำนันผัว |
เพลงนกคุ่ม นางนกอี้โง เข้าไข่อยู่ในโพรงเข้ สาวน้อยตาเหล้ ทำ เหน่ลูกดก เจ็ดหมูนดอกแดง มาแกงกับย่านนุมนก ทำเหน่ลูกดก หนักอกทองร้อยชั่ง |
เพลงนกกา กาเหอกา บินมาเกาะไม้เมา แสนชาติโลกาเหลา ชิงผัวเขาไม่ปรานี อีเถ้าเจ้าเพลง วิชาเองกะไม่มี ชิงผัวของเขาไม่ปรานี มีตาแต่พลอยเพื่อน |
ภาพสืบค้นจาก : https://th.theasianparent.com/เพลงกล่อมลูกช่วยให้เด็กผ่อนคลายและบรรเทาความเจ็บปวด/
วันเนาว์ ยูเด็น. (2533). เพลงชาน้อง. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช,
วิไลพร วิไลลักษณ์. (ม.ป.ป.). เพลงกล่อมเด็ก. สืบค้นวันที่ 28 ส.ค.61, จาก http://edltv.thai.net/primary/courses96/55t2thaP06-F85-4page.pdf
เอี่ยม ทองดี. (2546). เพลงกล่อมเด็กภาคใต้. สืบค้นวันที่ 28 ส.ค.61, จาก http://www.stou.ac.th/study/projects/training/text/5/page4-9-50.html