ภาษาของชาวไทยภาคใต้
 
Back    10/10/2022, 11:22    55,224  

หมวดหมู่

ภาษาท้องถิ่น


ประเภท/รูปแบบเนื้อหา

ร้อยแก้ว


ผู้แต่ง/เจ้าของผลงาน
ฉันทัส ทองช่วย

เนื้อหา

      
ภาพจาก : https://quizizz.com/admin/quiz/5c0008a23d94f8001ab49f42/quizizz-

          ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้คือกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงพื้นที่ตอนล่างของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะบริเวณระหว่างบ้านน้ำตก ตําบลห้วยยาง อําเภอทับสะแก กับบ้านกรูด ตําบลชัยเกษม อําเภอบางสะพาน ส่วนทางภาคใต้ตอนล่าง มีการใช้ภาษาไทยถิ่นใต้มีอาณาเขตครอบไปประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในรัฐกลันตันที่บ้านตะหวา ยุงเกา บางหญิง บ่อเสม็ด โคกสยา บ้านใน ลําจิ ยามู เขาดิน กูลิม อาเระห์ มาลัย โคกกอ บางแซะ ตะโหนง ท่าซอง และซึเมระ ในรัฐไทรบุรีที่บ้านปาดังแซรา คลองใหญ่ ประดู่ นาข่า ลําเย็น ลําป่า บ้านขนุน ทุ่งควาย ปลายระไม ไม้สน จันทน์หอม กาไหล คลองช้าง สระหลวง บ้านทาส บ้านวัด ทุ่งสยาม และในรัฐปะลิสที่บ้านปลักสาม ทุ่งปัตตานี ยาหวี ควนมุดสัง ควนขนุน บ้านโคก มะนัด และตันหญี ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่อาศัยติดแผ่นดินมาแต่เดิม ถ้อยคําที่ใช้บางคําเก่าร่วมสมัยสุโขทัย เช่น

… หลวก (ศิลาจารึกหลักที่ ๑) ซึ่งแปลว่าฉลาด, มีความสามารถหรือเชี่ยวชาญทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ” เช่น หลวกในการรําโนรา หรือหลวกในการทําครกตําข้าว เป็นต้น
… ผ้าผึ้ง (ไตรภูมิพระร่วง) คือผ้าเช็ดหน้า
    คำทั้ง ๒ คํานี้เป็นคําที่ใช้กันแพร่หลายในภาษาไทยถิ่นบ้านมาลัย (ปีไหล) อําเภอปาเจาะ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐกลันตัน

            การแบ่งกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้
      
เนื่องจากกลุ่มชนผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อันยาวเหยียดของแหลมไทยจดเขตแดนของประเทศมาเลเซีย ทําให้วัฒนธรรมการใช้ภาษาของกลุ่มชนแตกต่างกัน รวมทั้งผลการศึกษาค้นคว้าลักษณะเฉพาะของภาษาไทยถิ่นใต้ แต่ละถิ่นช่วยบ่งชี้ถึงความแตกต่างทําให้เราสามารถแบ่งกลุ่มภาษาไทยถิ่นได้อย่างกว้าง ๆ แต่ครอบคลุมเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยถิ่นนี้ได้เป็น ๓ กลุ่มคือ

๑. กลุ่มภาคใต้ตอนเหนือ และเขตพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนล่าง) ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต และพื้นที่ใน อําเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
๒ กลุ่มภาคใต้ตอนกลางและเขตพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันในจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช (ยกเว้นอําเภอขนอม) และสงขลาบางอําเภอคือ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และอําเภอสิงหนคร
๓ กลุ่มภาคใต้ตอนล่าง-มาเลเซีย ได้แก่ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจังหวัดสงขลา (ยกเว้นระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และอําเภอสิงหนคร) สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตลอดไปจนถึงภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันอยู่ในประเทศมาเลเซีย ภาษาถิ่นใต้กลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มย่อยคือ
๒.๓.๑ กลุ่ม ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้-ไทรบุรีและปะลิส
๒.๓.๒ กลุ่มตากใบ-กลันตัน

 

            การใช้ภาษาของกลุ่มชนต่างกลุ่มต่างวัฒนธรรม
   
วัฒนธรรมการใช้ภาษาของกลุ่มชนแต่ละกลุ่มมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างเป็นตัวหล่อหลอม เช่น เผ่าพันธุ์ของกลุ่มชน (ไทย จีน มลายู ชาวเล ซาไกและมอญ) ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ความคิด ความเชื่อ การละเล่น การศึกษาอบรม อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย การแต่งกาย การประกอบอาชีพ และสภาพภูมิศาสตร์ เป็นต้น เราอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวมามีส่วนทําให้การใช้ภาษาของชาวไทยถิ่นชุมพร ภูเก็ต พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสมีลักษณะแตกต่างกันได้ เช่น

- ภาษาไทยถิ่นชุมพร มีการใช้ถ้อยคําร่วมกับภาษาไทยถิ่นกลางอย่างเด่นชัด เพราะมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดภาคกลางมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
- ภาษาไทยถิ่นภูเก็ต มีคําจากภาษาจีนใช้มากเนื่องจากเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนชาวจีนมาเป็นเวลานาน
- ภาษาไทยถิ่นพัทลุง มีถ้อยคําที่เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาไทยถิ่นใต้ค่อนข้างจะบริสุทธิ์กว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้เพราะเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในใจกลางของภูมิภาค มีประวัติศาสตร์การพัฒนาตนเองมายาวนาน ทำให้มีภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเจือปนน้อยมาก
- ภาษาไทยถิ่นยะลา มีลักษณะของภาษาเป็นแบบการประสมประสานของภาษาไทยถิ่นใต้หลายถิ่น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชนอพยพเข้าไปอาศัยปะปนกันอยู่มาก
- ภาษาไทยถิ่นปัตตานี้มีลักษณะเป็นภาษาลูกผสมระหว่างภาษาไทยถิ่นใต้กับภาษามลายูถิ่นปัตตานีอย่างเด่นชัด เพราะชาวไทยจังหวัดนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู
- ภาษาไทยถิ่นนราธิวาสนับได้ว่ามีลักษณะการใช้ภาษาที่แตกต่างจากภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มอื่น ๆ อย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นภาษาไทยถิ่นกลุ่มตากใบ ซึ่งมีลักษณะของภาษาแตกต่างจากภาษาไทยถิ่นใต้ กลุ่มอื่น ๆ ทั้งทางด้านสําเนียงพูด การออกเสียงพยัญชนะบางเสียง สระบางเสียง และวรรณยุกต์ การใช้คํา การสร้างคํา และลักษณะการเรียงลําดับของคําเป็นวลีและประโยคบางลักษณะ นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากภาษามลายูค่อนข้างมาก เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐกลันตัน และเปรัค

             สําเนียงและลีลาการพูด
          สําเนียงและลีลาการพูดของชาวไทยถิ่นใต้ส่วนใหญ่ มีลักษณะห้าวและห้วนสั้น ขาดหางเสียง ที่จะช่วยเสริมให้ฟังได้ไพเราะเป็นเหตุให้ชาวต่างถิ่นรู้สึกว่าคนไทยถิ่นใต้มีนิสัยโผงผาง และหยาบกระด้างและไม่ค่อยมีสัมมาคารวะ ทั้ง ๆ ที่ลักษณะดังกล่าวนี้มิได้เป็นเจตนาของผู้พูดหรือผู้ใช้ภาษาแต่อย่างใด ลักษณะการใช้คำในภาษาถิ่นใต้สามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้

- การใช้คําที่ห้วนและสั้นเป็นนิสัยเป็นเหตุให้เกิดการตัดพยางค์ของคําหลายพยางค์ที่รับอิทธิพลมาจากภาษากลางหรือภาษาของชนกลุ่มอื่น ให้มีลักษณะเป็นคําที่มีพยางค์น้อยลง บางลักษณะมีการรวบพยางค์ให้สั้นเข้า ทําให้การออกเสียงคําแตกต่างไปจากคําเดิม เช่น
- นาฬิกา                                   เป็น           นากา
ทะเล                                       เป็น            เล
ตลาด                                     เป็น            หลาด
- ไข้สันนิบาต                          เป็น            ไข้สาดบาด
สมประดี                                เป็น            สับเดะ (ความรู้สึกตัว)
ลมสลาตัน                            เป็น             ลมหลาตัน
ติมา (คําภาษามลายู)         เป็น             หมา (ภาชนะอย่างหนึ่งใช้ตักน้ำ)
             การพูดที่ขาดหางเสียงทําให้ไม่ค่อยนิยมใช้คําลงท้ายที่แสดงความสุภาพ เช่น จ๊ะ จ๋า จ๊ะ คะ ค่ะ ขา ครับ แต่อย่างไรก็ตามคําเรียกและคําขานรับซึ่งเกี่ยวข้องกับคําลงท้ายที่ใช้กันอยู่เฉพาะถิ่นในภาษาไทยถิ่นใต้ก็ปรากฏที่ใช้เป็นบางคํา เช่น อ้ายไหรหา หมายถึงอะไรนะ ทําปรือเหลาหมายถึง ทําอย่างไรล่ะ
- คําขานรับที่นิยมใช้กันแพร่หลายได้แก่ คําว่า “เออ” “งื้อ” (ฮื้อ) “เอ้อ” ใช้เป็นคําขานรับเมื่อพูดกับผู้ที่มีฐานะต่ำกว่าหรือเสมอกัน ถ้าเป็นผู้ที่อาวุโสกว่าหรือมีฐานะสูงกว่ามักใช้คําว่า “ผม” “ผ่ม” “ผ้ม” “ฉาน” “ฉ่าน” และ “ฉ้าน” ซึ่งมีความหมายคือผม, ฉาน ใช้เมื่อแสดงความสงสัยต้องการซักถามให้เข้าใจชัดเจนผม, ฉ่าน ใช้เมื่อแสดงการรับทราบหรือตกลงใจ ผ้ม, ฉ้าน ใช้เป็นคําขานรับเมื่อได้ยินผู้ที่อาวุโสกว่า เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ฯลฯ เรียกหา หรือแสดงการตกลงใจด้วยความมั่นใจ
- ค่านิยมเกี่ยวกับการใช้ภาษาเมื่อชาวไทยถิ่นใต้พบปะทักทายกันจะนิยมใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ เพื่อแสดงถึงความเป็นกันเองและความเป็นพวกเดียวกัน แต่จะไม่ชอบให้คนภาคอื่น ซึ่งยังไม่สนิทสนมกันมากพอมาพูดภาษาไทยถิ่นใต้กับตนโดยถือว่าเป็นการล้อเลียนและดูถูกกัน การใช้ภาษาของชาวภาคใต้ถือว่าถ้อยคําส่วนใหญ่ยกเว้นคําดุด่าเป็นคําสุภาพ สามารถนํามาใช้ได้เกือบทุกกาลเทศะ และกับบุคคลแทบทุกชั้น เช่น การใช้คําสรรพนามที่ใช้ในการพูดมีเพียงไม่กี่คํา เช่น คําว่า “แก” อาจใช้แทนบิดามารดา ครูอาจารย์ และผู้ที่เคารพยกย่องทั่ว ๆ ไป ส่วนคําว่า “เติ้น” (ตน) หรือ “ตั้ว” (ตัว) ใช้แทนสรรพนามบุรุษที่ ๒ ที่ภาษากลางใช้คำว่าคุณหรือท่าน และใช้คําว่า “ต้น” เป็นคําสรรพนามแทนพระสงฆ์ทั่ว ๆ ไป สำหรับคําที่ชาวไทยถิ่นใต้นิยมใช้ประกอบการสนทนามากเป็นกรณีพิเศษ คือคําอุทานประเภทแสดงความดีใจ ความพึงพอใจ ความแปลกใจ และความฉงน ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจตรงไปตรงมา เช่น
“วะ”  แสดงความดีใจ เช่น วะพ็อบกันเล่าหรือพ็อบกันเล่าวะ ซึ่งหมายถึง “ดีใจมากที่พบกันอีก”
“อ้ายหยา” แสดงความพึงพอใจ เช่น เพื่อนที่รักกันมากซื้อเสื้อที่ถูกใจเป็นพิเศษมาฝากคนรับก็มักจะอุทานว่า “อ้ายหยาสวยจัง”
“หา” หรือ “ฮะ” แสดงความแปลกใจหรือฉงนสงสัยเกี่ยวกับเรื่องหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่คิดฝันหรือมีความรู้สึกขัดแย้งหรือมีความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็น อยากทราบข้อเท็จจริง เช่น หาเกิดเรืองไหร หมายถึงเกิดเรื่องอะไร 

           ความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ภาษา
            ชาวไทยถิ่นใต้ส่วนใหญ่จะให้ความสําคัญกับความหมายของคํา ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตโดยเฉพาะการตั้งชื่อบุคคล มักใช้คําไทยที่มีความหมายที่เป็นมงคลแก่เจ้าของชื่อ เช่น ดี ชื่น สด รวย รัก มั่น คง แจ่ม เป็นต้น ตลอดถึงชื่อพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่นํามาปลูกในบริเวณบ้าน ก็มักจะเลือกชื่อพันธุ์ไม้ที่มีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น ไผ่สีสุก (ทําให้เป็นศรีและเป็นสุข) มะยม (ทําให้คนนิยม) ขนุน (ทําให้มีผู้สนับสนุน) กล้วยหอม (ทําให้มีเกียรติยศชื่อเสียง) มะขาม (ทําให้ผู้อื่นเกรงขาม) ยอ (ทําให้คนยกย่องชมเชย) เป็นต้น และในทางตรงกันข้ามคําที่มีความหมายไม่ดีก็จะเชื่อว่าจะนํามาซึ่งความอัปมงคลแก่ตนและครอบครัว เช่น ระกํา จาก เต่าร้าง ไว้ในบริเวณบ้าน ห้ามทําการมงคลในวันดับ (วันสิ้นเดือนทางจันทรคติ) และนอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าสามัญชนไม่ควรตั้งชื่อเลียนเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหรือตั้งชื่อเลียนผู้มีบุญบารมี เพราะจะทําให้จังไหรกินหัว ซึ่งหมายถึงจะเป็นจัญไรแก่ตัวเองและทําให้เป็นอัปมงคลแก่ตนและวงศ์ตระกูล
           
การพูดล้อเลียน
          การล้อเลียนกันด้วยคําพูดถือเป็นการอวดคารมกันระหว่างคู่สนทนา เป็นกิจกรรมการใช้ภาษาเพื่อลับสมอง ลองปัญญา เป็นไปเพื่อความสนุกสนานและไม่ถือโกรธกัน จึงมักพบการพูดล้อเลียนกันระหว่างเพื่อนผู้ชายหรือเพื่อผู้หญิงที่สนิทสนมกันมาก ๆ และเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน มีคําที่ใช้เรียกการพูดล้อเลียนกันอยู่หลายคํา เช่น แหลงทับกัน แหลงเท้งกัน แหลงขบกัน แหลงกัดกัน และแหลงถมกัน เป็นต้น (แหลงมีความหมายตรงกับแถลง หมายถึงการพูด เช่น แหลงข้าหลวง หมายถึงพูดภาษากลาง เป็นต้น) สิ่งที่นํามาพูดล้อเลียนกันนั้นมีหลายอย่าง เช่น บุคลิกภาพส่วนบุคคล ความรู้ความสามารถ การแต่งกาย ญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษ ความลับส่วนบุคคล เป็นต้น คําพูดล้อเลียนมักเป็นโวหารเปรียบเทียบที่คมคายให้ความหมายเชิงสัพยอกหยอกล้อ เช่น

- เอาไหรกับคนสมัยเป็นขวีเทศ (ฝีเทศ)” (จะเอาอะไรกับคนสมัยเป็นคุดทะราด)
- คนบ้าไหรโร้มากหวาพระพุทธเจ้า” (คนบ้าอะไรมีความรู้ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า)
- คบไตรกับคนพันธุ์ไก่เภา” (คบทําไมกับคนที่ขี้ขลาดตาขาวคําว่าเภา ตรงกับคําว่าตะเภาในภาษากลางที่หมายถึงไก่พวกหนึ่งตัวอ้วนใหญ่มักมีขนที่แข้งหางสั้น)
- คบไตรกับคนพันธุ์ไก่เภา” (คบทําไมกับคนที่ขี้ขลาดตาขาวคําว่าเภา ตรงกับคําว่าตะเภาในภาษากลางที่หมายถึงไก่พวกหนึ่งตัวอ้วนใหญ่มักมีขนที่แข้งหางสั้น)
- คนอี้ไหรตัวดําเหมือนกองอวน (คนอะไรตัวดําเหมือนกองอวน)
- อยู่เมฺร่อปรือตัวเอียดจังหูเวลาตายไม่พักทําโลงจับยัดใส่รางขีดไฟกะได้(เกิดมาเป็นคนอย่างไรกัน ตัวเล็กจังเวลาตายไม่ต้องทําโลงใส่ (เพราะ) สามารถใช้กล่องไม้ขีดมาทําโลงใส่แทนได้)

           การเล่นคําผวน
         
คําผวนหรือคําหวนคือการพูดให้ผู้ฟังคิดทวนกลับ เพื่อจะได้ทราบความหมายที่แท้จริง คําผวนของชาวไทยถิ่นใต้ส่วนมากมักมีความหมายไปในทางหยาบโลนหรือขบขันหรือล้อเลียนกัน จึงนิยมพูดกันในกลุ่มผู้ที่มีวัยและเพศเดียวกันและถือว่าการพูตผวนคํา เป็นการฝึกสมองลองปัญญาผู้ฟังไปในตัว มีวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้อยู่เรื่องหนึ่ง คือสรรพลี้หวน หรือสรรพลีหวน หรือสรรพบาลีหวน เป็นวรรณกรรมที่ผู้เขียนมีความสามารถในการใช้ภาษาประเภทคําผวนได้ตลอดทั้งเรื่อง โดยแต่งเป็นคําประพันธ์ประเภทกลอนแปดตั้งแต่ต้นจนจบ เอกสารอันอาจนับได้ว่าเป็นตําราคําผวนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความนิยมการเล่นคําผวนของชาวไทยถิ่นใต้ได้เป็นอย่างดี ผู้ที่เคยได้อ่านเรื่องสรรพลี้หวนแล้วได้แสดงความคิดเห็นเชิงประเมินคุณค่าไว้ว่า

“สรรพลี้หวนควรอ่านตามบ้านพัก
      หลังงานหนักเหน็ดเหนื่อยเมื่อสมอง
    เป็นเรื่องสนุกทุกท่านเชิญอ่านลอง
    บทร้อยกรองกลเม็ดเด็ดนักแลฯ”

              ตัวอย่างคำผวน

- ดึงกับแม่ไม้  คือได้กับแม่ถึง
- นอนกับสากี  คือนอนกับสีกา
- อ้ายไหรหา-ยุดปอด คืออะไรเอ่ย-ยอดปุด
- ขี่หัวเทก คือเขกหัวที่
- ขายลา คือขาลาย

                การสร้างคําขึ้นใช้
           การสร้างคําขึ้นใช้ในภาษาไทยถิ่นใต้ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและยึดพื้นฐานทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ของแต่ละท้องถิ่นเป็นสําคัญ จึงทําให้เกิดคําเฉพาะถิ่นที่แตกต่างจากคําของภาษากลาง เช่น

๑. คําที่ใช้เรียกชื่อยานพาหนะในภาษาไทยถิ่นใต้บางถิ่น ใช้คําว่า “ล้อ” เป็นส่วนประกอบหลักของชื่อยานพาหนะ เช่น
“ล้อมู้ตู  คือรถจักรยานยนต์
“ล้อนุ้ย” คือรถเก่ง
“ล้อเล่ง” คือประจำทาง
“ล้อรุน” คือรถเข็น
“ล้อถีบ” คือรถจักรยาน ๒ ล้อ
“ล้องัว (วัว)” คือเกวียน
“ล้อไถ” คือรถแทรกเตอร์ที่ใช้ไถนา
๒. คําที่ใช้เรียกเครื่องมือ เครื่องใช้และเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น
- ก้อตะ หมายถึงหีบบุหรี่ของชาวประมง ทําด้วยไม้มีลิ้นชัก สามารถดึงเข้า-ออกได้ทั้ง ๒ ข้าง
- โคม หมายถึงโคมเคลือบ
- พุ่น คือกะละมัง
- เชียกมือ หมายถึงสายมือ (สร้อยข้อมือ)
- เชียกคอ หมายถึงสายคอ (สร้อยคอ)
- เชียกเอว สายเอว หมายถึงเข็มขัด
- ถุงเสื้อ หมายถึงกระเป๋าเสื้อ
- ถุงหนับเพลา หมายถึงกระเป๋ากางเกง
- ผ้าผึ้ง ผ้านุ้ย โลกผ้า หมายถึงผ้าเช็ดหน้า
- ผ้ารัดพัด ผ้าห่ม หมายถึงผ้าขาวม้า
- จอก หมายถึงแก้วน้ำ
- แว่นฉาย จ๊อก หมายถึงกระจก
- แว่นยาม หมายถึงหน้าปัดนาฬิกา
- โลกยาม หมายถึงลูกตุ้มนาฬิกา
- ยนหมาก หมายถึงตะบันหมาก
- มีดทับ หมายถึงเคียว
๓. คําที่ใช้เรียกชื่อขนมต่าง ๆ
- เจาะหนอย, หนมเท่ดิบ  หมายถึงลอดช่อง
- โลกดูด, ข้าวขวี้ หมายถึงท้อฟฟี่
- ดอดอย ยาหนม หมายถึงกะละแม
- หนมจู้จุน หมายถึงขนมฝักบัว
- หนมค่อม หมายถึงขนมสอดไส้
- หนมปำ หมายถึงขนมถ้วยฟู
- หนมบะป๋าว หมายถึงขนมสาลี่
- หัวหนม หมายถึงหน้าขนม
- หนมเมซำ, เบซำ หมายถึงขนมเจาะหู
- หนมเม็ดข้าว หมายถึงขนมปลากริม
๔. คําที่ใช้เรียกชื่อพืชบางชนิด
“ลอกอ” “แต่งต้น” “กล้วยหลา” “อ้ายตั้ง” หมายถึงมะละกอ
“ย่าหนัด” “มะลิ” “แส้งแส้ว” หมายถึงสับปะรด
“หัวครก” “ยาร่วง” “กาหยู” “กาหยี” “แตแหร” “แล็ดล่อ” หมายถึงมะม่วงหิมพานต์
“แจ็ดหมูน” “แข็ดหมูน” หมายถึงบอระเพ็ด
“ย่าหมู” “ชุมโพ่”หมายถึงฝรั่ง (ผลไม้)
“ชุมโพ่ย่าหวัน” หมายถึงชมพูม่าเหมียว
“แต่งจีน” หมายถึงแตงโม
“โลกสะหวา” “บาซีกู้” “โลกมุดผรัง” หมายถึงละมุด
“เรียนเทศ” หมายถึงทุเรียนแขก
๕. คํายืมจากภาษามลายู
     
การสร้างคําขึ้นใช้ในภาษาไทยถิ่นใต้ส่วนหนึ่งเป็นคําที่รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ เช่น จีน มลายู อังกฤษ เขมร และบาลี-สันสกฤต เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะคํายืมจากภาษามลายู เท่านั้นเพราะมีลักษณะเด่นที่สุด และนับเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้ภาษาไทยถิ่นใต้มีลักษณะของการใช้คําแตกต่างไปจากภาษากลางและภาษาไทยถิ่นอื่น ๆ คํายืมจากภาษามลายูที่ชาวไทยถิ่นใต้รับเข้ามาใช้มีจํานวนมาก   เช่น
“ฆุหนี” “มุหนี” หมายถึงกระสอบป่าน
“ปุงหลู” หมายถึงกํานัน
“ราเย็น” “ยาเย็น” หมายถึงขยัน
“หมา” “กึหมา” “ติหมา” หมายถึงภาชนะตักน้ำอย่างหนึ่ง
“ยามิง” หมายถึงค้ำประกัน
“มูสัง” “มุดสัง” หมายถึงชะมด

“กากีลิมา” หมายถึงชานเรือน (ขนาดกว้างประมาณ ๕ ฟุต)
“กัด” “ปุกัด” หมายถึงอวนขนาดเล็กหรือตาข่าย
“กําปง” “มุเก็ม” หมายถึงตําบล
“บิต้น” หมายถึงหมอตําแย
“โตะหนัง” “โต้หนัง” หมายถึงคู่หมั้น (ตุนาหงัน)
“ชันชี่” หมายถึงนัดหมายหรือสัญญา
“ตุหวาก” “หวาก” หมายถึงกะแช่หรือน้ำตาลเมา
“ลาต้า” หมายถึงบ้าจี้
“มายา” หมายถึงปุ๋ย
“บังสา” หมายถึงเผ่าพันธุ์, พรรคพวก (พงศา)

“ย่าหมู” หมายถึงฝรั่ง (ผลไม้) 
 “สักสี” หมายถึงพยาน
“ฮากิม” “อาเก็ม” หมายถึงผู้พิพากษา
“ดูดุย” หมายถึงเพลงกล่อมเด็กทํานองหนึ่ง

“อาเส” หมายถึงภาษี
 “ลอเกาะ” “รอเกาะ” หมายถึงยาสูบ
 “โลกฆี” “แป้งรันฆี” หมายถึง“ส่าเหล้า”
“มาโดย” หมายถึง“เป็นหมัน”
“ยูฆา” หมายถึงเหมือนกัน
“กึหลิง” “ขี้หลิง” หมายถึงแขกฮินดู

 

             วัฒนธรรมการใช้ภาษาประเภทสํานวน
       
สํานวนหมายถึงการแสดงถ้อยคําออกมาเป็นข้อความพิเศษมีลักษณะสอดคล้องกับสภาพวัฒนธรรมของกลุ่มชนนั้น ๆ อย่างชัดเจน สํานวนเป็นคํากล่าวที่กลั่นกรองและมีความหมายหลากหลายลักษณะเป็นเครื่องก่อหรือสร้าง เจตคติ ความเชื่อ จุดหมายปลายทาง ความรู้สึก ความสนใจ ความปรารถนา ทั้งยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงระดับของอุดมคติ ค่านิยมและโลกทรรศน์ของคนในสังคมของภาคใต้ ประกอบด้วย

๑. สํานวนประเภทภาษิต เป็นสํานวนที่มีเจตนาในการอบรมสั่งสอน เช่น 
อย่าเอาฤาษีไว้ใต้แผง  (แผงคือหีบเก็บรูปหนังตะลุง) ความหมายคืออย่าลบหลู่ครูบาอาจารย์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ (ภาคใต้หนังตะลุงถือว่ารูปฤาษีเป็นรูปที่สําคัญที่สุด)
- อย่าบวชผลาญข้าวสุก อย่าบวชหนุกตามเพื่อน (หนุกคือสนุก) ความหมายคืออย่าทําอะไรโดยเห็นแก่ความสนุกสนาน ไม่มีจุดหมายแต่ควรทําให้บรรลุวัตถุประสงค์ในกิจที่จะต้องทํา
อย่าทักอย่าทอ ครูหมอผีเริ่น (ทักทอคือกล่าวคําล่วงเกิน, เริ่นคือเรือน ความหมายคืออย่ากล่าวคําล่วงเกินเจ้าของสถานที่ หรืออย่ากล่าวคําดูถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ
๒. สํานวนเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย เช่น
- โกงเหมือนญิงเหมืองแร่ (โกงคือโอ้อวดหรือหยิ่ง) ความหมายคือวางตัวโอ้อวดเหมือนคนร่ำรวย
- แหลงเหมือนอมขึ้พ็่อน (แหลงคือพูดจา, พ็่อนคือพ่น) ความหมายคือพูดจาหยาบคายไม่น่าฟัง
- ฉาวเหมือนแมงโภ่เข้าไห (ฉาวคือพูดจาดังลั่น, แมงโภ่คือแมลงภู่ ความหมายคือพูดจาดังลั่นเหมือนแมลงภูเขาไหรือส่งเสียงดังฟังไปหมด
๓. สํานวนเกี่ยวกับความรักและการครองเรือน เช่น
- โค่แล้วหม้ายแคล้วกัน (โค่คือคู่, หม้ายแคล้วคือไม่คลาดแคล้ว) ความหมายคือเป็นคู่บุพเพสันนิวาส
- หลํารองชักง่าย หลําใจชักยาก (หลําคือถลำ) ความหมายถือการตัดสินใจใด ๆ จะต้องคิดใคร่ครวญให้รอบคอบ
- พาสวดเหนียวแล่น (สวดคือหวดนึ่งข้าวเหนียว, เหนียวคือข้าวเหนียว, แล่นคือวิ่งหนี) ความหมายคือการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามประเพณี คือคู่สมรสหนีตามกันไป (การเปรียบเทียบว่า “พาสวดเหนียวแล่น” เพราะในงานมงคลสมรสจะมีการเลี้ยงข้าวเหนียวและห่อข้าวเหนียวเป็นของฝากกลับบ้านแก่แขกที่มาร่วมงานด้วย)
๔. สํานวนเกี่ยวกับความเชื่อ เช่น
- มือพับหวายทําให้ตายกะไม่ลือ (มือพับหวายคือลายมือพับหวาย,กะคือก็) ความหมายคือคนที่อาภัพอับวาสนาถึงจะทุ่มเททํากิจการใด ๆ ก็ไม่ค่อยประสบผลสําเร็จ คือไม่ก้าวหน้าไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควรจะเป็น
- แหลงให้เป็นเหมฺรยปาก (แหลงคือพูด, เหมฺรยคือการบนบาน) ความหมายคือดีแต่พูด, ท่าไม่จริงตามที่ได้พูดไว้
- ตีหัวแมว แมวใช้ชาติ (ใช้ชาติคือบันดาลให้ประสบวิบากกรรม ความหมายคือให้มีใจเมตตากรุณาต่อสัตว์ ไม่ให้ทารุณสัตว์
๕. สํานวนเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น
- เมร่อเหมือนโลกว้วโผกคอ (เมร่อคือดื้อรั้นหรือเกเร, โลกคือ ลูก, โผกคือผูก) ความหมายคือดื้อรั้นมาก
- รังทังเหมือนแม่ไก่ผึ้งไข (รังทังคือซุกซนอยู่ไม่เป็นที่, ผึ้งไขคือ เพิ่งสอนไข่หรือไข่เป็นครั้งแรก) ความหมายคือซุกซนมาก, อยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง
๖. สํานวนเสียดสี ประชดประชัน เช่น
- อ้ายยอดทองบ้านาย (อ้ายยอดทองคือตัวตลกหนังตะลุงตัวหนึ่ง,บ้าคือหลงรัก, เกี้ยวพาราสี, นายคือเจ้านายมักเป็นนางเอกในเรื่องของหนังตะลุง) ความหมายคือใฝ่สูงจนเกินศักดิ์, หลงรักอยู่ข้างเดียว, ผู้ชายที่ชอบทําตัวรับใช้ผู้หญิงเพื่อประจบ
- หมาเห่าเรือบิน (เรือบินคือเครื่องบิน) ความหมายคือทําในสิ่งที่ไม่ควรทํา เพราะไม่เป็นผลดีแก่ผู้ทําหรือทําในสิ่งที่หวังผลสําเร็จได้ยาก
- ช้างล่ำหน้าไดแลหม้ายเห็น ไปเห็นเมล็นเท่ไกลใหญ่หวาช้าง (ล่ำคือล่าม,ไดคือบันได, แลคือมอง, หม้ายคือไม่, เมล็นคือเล้น (สัตว์ตระกูลปรสิต), เท่คือที่, หวาคือเกินหรือกว่า) ความหมายคือให้ความสําคัญกับสิ่งที่อยู่ไกลตัวมากกว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ในที่นี้หมายถึงการยอมรับและให้ความสําคัญกับคนต่างถิ่นมากกว่าคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะญาติมิตรหรือพรรคพวกของตนเองหรือการไม่ส่งเสริมยกย่องคนกันเอง

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ภาษาของชาวไทยภาคใต้
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


บรรณานุกรม

ฉันทัส ทองช่วย. (2532). วัฒนธรรมการใช้ภาษาของชาวไทยถิ่นใต้, ใน ที่ระลึกงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 12
           มศว 8 วิทยาเขต ณ มศว สงขลา 11-13 มกราคม 2532 (50-60). สงขลา : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา. 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024