ภาพจาก : http://jddjlfldance.blogspot.com/2016/05/blog-post_30.html
วรรคดีสุภาษิตคำสอน หมายถึงวรรณคดีที่แต่งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้เป็นคติเตือนใจผู้คนในสังคม เนื้อหาส่วนใหญ่สอนเรื่องการวางตัว การอยู่ร่วมกันในสังคม วรรณคดีประเภทนี้พบได้ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ จากเอกสารทางวรรณกรรมคำสอนของภาคใต้ ปรากฏว่าส่วนมากหลักคำสอนมีส่วนคล่ายกับวรรณกรรมคำสอนของภาคกลาง หลักการแต่งเป็นแบบร้อยกรอง โดยผู้แต่งต่างก็นิยมเลือกเฟ้นเอาภาษิตโบราณ คติชาวบ้าน และคำสอนจากแหล่งต่าง ๆ มาประมวลไว้ด้วยกัน เช่น ถ้าเป็นคำสอนคนทั่วไปก็จะสอนให้มีวาจาสุภาพ ให้คิดก่อนพูด ไม่ดูถูกผู้ที่อ่อนแอกว่า มีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร มีความจงรักภักดีต่อเจ้านาย หรือสอนเรื่องการเลือกคู่หากเป็นผู้หญิงก็สอนให้มีความอ่อนโยน พูดจาอ่อนหวาน ซื่อสัตย์ต่อสามี คอยปรนนิบัติสามีให้มีความสุข ขยันหมั่นเพียรในการทำงานบ้าน ไปไหนก็ให้นึกถึงบุตรและสามี ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติของสามี หากสอนบุคคลทั่วไป เน้นสอนให้ประหยัดอดออม ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต กตัญญูรู้คุณ ไม่คบคนพาล สุภาพเรียบร้อย ขยันหมั่นเพียร รู้จักประมาณตน ละอบายมุข ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีไมตรีต่อผู้อื่น รู้เท่าทันคนและโลก รู้จักเอาตัวรอด มีสุขอนามัยที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต อ่อนน้อมถ่อมตน และใจบุญสุนทาน หากสอนผู้ชายเน้นสอนให้บวชเรียนเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา สนใจศึกษาเล่าเรียน และเลือกคู่ครองที่ดี หากบวชเป็นสามเณรก็ให้เป็นสามเณรที่ดี และหากรับราชการก็ให้เป็นข้าราชการที่ดี ถ้าเป็นคำสอนสำหรับชนชั้นสูงก็จะสอนให้มีความยุติธรรม ถ้าเป็นกษัตริย์ต้องมีทศพิธราชธรรม มีความหนักแน่น ไม่ดื่มสุรา ไม่รังแกผู้ที่มีฐานะต่ำกว่า รักษาวาจาสัตย์ ไม่แสดงความขึ้งเคียดให้ปรากฏ จะเห็นว่าคำสอนต่าง ๆ ในวรรณคดีคำสอนเป็นสิ่งที่สังคมสมัยนั้นคาดหวัง เพราะหากมีการประพฤติปฏิบัติได้ตามคำสอนดังกล่าว สังคมโดยรวมก็จะทำให้สังคมมีความสงบสุขและน่าอยู่ขึ้น
วรรณคดีคำสอนของภาคใต้ ส่วนมากที่มีจะมีความคล้ายคลึงกับวรรณคดีคำสอนของภาคกลาง เช่น ลักษณะเมียเจ็ดสถาน สุภาษิตสอนหญิงคำกาพย์ กฤษณาสอนน้อง สวัสดิรักษาคำกาพย์ สุภาษิตพระร่วงคำกาพย์ พาลีสอนน้อง สุภาษิตร้อยแปด และลุงสอนหลาน ซึ่งจะสังเกตว่าการให้คติธรรมคำสอนในวรรณคดีคำสอนเหล่านั้น นอกจากสอนโดยตรงแล้วยังใช้วิธีการเปรียบเทียบอย่างแยบคาย โดยมักจะเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำธาร ภูเขา พืช สัตว์ วรรณกรรมคำสอนภาคใต้ในอดีตมีทั้งที่เป็นลายลักษณ์และมุขปาฐะนั้น การศึกษาศึกษาวิจัยพบว่าวรรณกรรมประเภทลายลักษณ์นั้นแต่งเป็นวรรณกรรมคำสอนโดยตรงคือแต่งเป็นคำสอนตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานของพระสงฆ์ ขุนนางหรือนักปราชญ์ราชบัณฑิต ส่วนวรรณกรรมมุขปาฐะจะเป็นประเภทนิทาน เพลงพื้นบ้าน หนังตะลุง โนรา ซึ่งแต่งหรือถ่ายทอดโดยชาวบ้านหรือประชาชนทั่ว ๆ ไป โดยมุ่งเน้นไปที่ความบันเทิงเป็นสำคัญ แค่ที่เหมือนกันคือมีคำสอนหรือคติเตือนใจมาแทรกไว้ ครั้นล่วงมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมาก็เกิดปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่น่าสนใจ เมื่อกลุ่มชาวบ้านสนใจแต่งวรรณกรรมคำสอนและเผยแพร่ในรูปแบบสิ่งพิมพ์กันเป็นจำนวนมาก วรรณกรรมคำสอนกลุ่มนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย จากที่เคยเรียบเรียงในรูปแบบที่เป็นสุภาษิตหรือคำสอนที่เป็นร้อยกรองเพียงอย่างเดียว ก็จะแต่งเป็นร้อยกรองรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ นิราศ นวนิยาย และนิทานคำสอน วรรณกรรมคำสอนกลุ่มนี้นิยมแต่งด้วยกลอนสุภาพ และกลอนเพลงยาวที่ไม่เคร่งครัดกับฉันทลักษณ์มากนักแต่จะนิยมเล่นสัมผัสในแพรวพราว ตามแบบบทกลอนของสุนทรภู่ นอกจากนี้ก็นิยมใช้ถ้อยคำสำนวนที่เข้าใจง่าย คือเป็นถ้อยคำสำนวนที่พบในประจำวัน ผู้อ่านไม่ต้องตีความเหมือนวรรณกรรมคำสอนอื่น ๆ ในสมัยโบราณ ผลงานส่วนใหญ่เป็นของนักเขียนระดับชาวบ้านในบริเวณแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ที่มีวิถีชีวิตอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งรับรู้ความเป็นไปของท้องถิ่นเป็นอย่างดี
อุดม หนูทอง (2528) กล่าวว่าวรรณกรรมภาคใต้มีเนื้อหาพ้อง กับวรรณกรรมภาคกลางมากที่สุด และพบว่าการถ่ายเทวัฒนธรรมภาคกลางกับภาคใต้ มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัตนโกสินทร์มีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากกวีภาคใต้หลายท่าน (ส่วนมากเป็นพระสงฆ์) ได้มาศึกษาในเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) แล้วกลับไปแต่งวรรณกรรมในภาคใต้ เช่น พระอุดมปิฎก มีการวิจัยพบว่าความคิดความเชื่อในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในวรรณกรรมคำสอนภาคใต้ มีเข้มข้นมากกว่าวรรณกรรมคำสอนภาคกลาง อย่างเช่น เรื่องอัษฏาพานรคำกาพย์ กวีชาวใต้จะเน้นปลูกฝังความคิดความเชื่อในพระพุทธศาสนาให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น สอนให้รักษาศีลห้า รู้จักทำบุญให้ทาน ละอกุศลกรรมเพื่อจะได้ไม่ตกนรกและไปสวรรค์ ซึ่งทำให้เชื่อว่าคนใต้มีความคิดความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์เป็นอย่างมาก เนื้อหาในวรรณกรรมคำสอนภาคใต้ฉบับตัวเขียน ที่มีเนื้อหาเฉพาะในสังคมภาคใต้เท่าที่พบในขณะนี้คือสุภาษิตคำกาพย์ สุภาษิตสอนหญิงคำกาพย์ คำสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ กฤษณาสอนน้อง ภาษิตลุงสอนหลาน และธรรมะสอนใจชายหญิง อย่างไรก็ตามมีเพียงเรื่องภาษิตลุงสอนหลาน ที่แสดงลักษณะเด่นอย่างน่าสนใจ และชาวบ้านจดจำกันได้เพราะผู้แต่งใช้ภาษาถิ่นทำให้เข้าใจได้ ซึ่งต่างจากเรื่องอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาไทยโบราณ เช่น เรื่องภาษิตลุงสอนหลาน เนื้อเรื่องกล่าวถึงวิถีชีวิตชาวสงขลา ที่มีอาชีพปาดตาล ทำหม้อ และบูชาผีตายาย แต่ก็เน้นสอนให้ละอบายมุขด้วย
วัฒนธรรมของภาคใต้มักจะมีสุภาษิตคำสอนลูกหลานที่เป็นผู้หญิง อย่างเช่น หลับลืมหวัน ซึ่งมีความหมายถึงหลับจนตะวันโด่งก็ยังไม่ตื่น การหลับจนตะวันโด่งแล้วยังไม่ตื่น ทางภาคใต้เขาเรียกหลับลืมหวัน ซึ่งคำว่า ”หวัน” นั้นหมายถึงดวงตะวันหรือดวงอาทิตย์นั่นเอง หรือนอนกินเมืองหรือนอนรับขี้คร้านเพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดีไม่ควรปฏิบัติหรือในเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงชาน้อง ทางภาคใต้ก็มีคำสอนลูกหลานผู้หญิงด้วยเรื่องการนอนตื่นสายไว้คือ
อา เอ้อ..... ไก่เถื่อนเหอ ขันเทือนทั้งบ้าน โลกสาวขี้คร้าน นอนให้แม่ปลุก ฉวยได้ด้ามขวาน แยงวานดังพรุก นอนให้แม่ปลุก โลกสาวขี้คร้าน เหอ |
ซึ่งแปลเป็นภาษาที่คนทั่วไปพูดกันคือไก่ป่าตื่นขันแล้ว ส่วนลูกสาวยังนอนไม่ตื่น ทำให้แม่ต้องมาปลุกโดยใช้ด้ามขวานทิ่มเข้าไปในทวารเพื่อให้ตื่น
ภาพจาก : http://jddjlfldance.blogspot.com/2016/05/blog-post_30.html
สังคมไทยโดยเฉพาะสังคมภาคใต้ในอดีต มีคตินิยมเกี่ยวกับจารีตทางเพศที่เคร่งครัด ดังจะเห็นได้จากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในสถาบันครอบครัว ผ่านทางเพลงกล่อมเด็ก สุภาษิตสอนหญิง แม้แต่การละเล่นพื้นบ้าน ต่างสอนจรรยามารยาทชาย-หญิงทั้งสิ้น เช่น หนังตะลุง แม้ว่าตัวละครของหนังตะลุงจะทำจากหนังวัวหนังควาย แต่เมื่อนายหนังสวมวิญญาณของพระเอก นางเอก บนโรงหนังตะลุงจะไม่ยอมให้พระเอกนางเอกหนังวัวหนังควายเหล่านั้น ได้เสียกันบนพื้นดิน พื้นทราย ถึงจะประสบพบรักกันกลางป่ากลางเขา ก็มักจะดลบันดาลให้พบขนำร้างอยู่เสมอ เพราะนายหนังมีความเชื่อทางจารีตนิยมว่าการได้เสียกันกลางดินกลางทราย หรือมีเพศสัมพันธ์กัน โดยหลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสัมผัสพื้นหญ้าหรือแตะดิน แตะทราย เป็นการสมสู่ของเดรัจฉาน ลูกที่มาเกิดก็จะเป็นเดรัจฉานด้วย หรือตำนานนางโนราซึ่งจะพบว่านางโนราถูกลอยแพ เพราะท้องไม่มีพ่อ คนใต้จึงมีคตินิยมจารีตทางเพศที่เคร่งครัดกว่าคนภาคอื่นมาแต่โบราณ ดังจะเห็นได้จากการที่ลูกสาวหนีตามผู้ชายซึ่งไม่ผ่านการสู่ขอตามประเพณี ญาติที่เป็นผู้ชายจะโกรธแค้นถึงกับตามฆ่าตามล้างกันเลย เพราะในยุคก่อนผู้ใดก็ตามไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย หากมีเรื่องมัวหมองเกี่ยวกับจารีตทางเพศ จะถูกปฏิเสธและประณามจากสังคม โดยการสั่งสอนไม่ให้ลูกหลานคบค้าสมาคมด้วย และจะสอนลูกสอนหลานไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง
เนื้อหาคำสอนในสุภาษิตสอนหญิง
สุภาษิตสอนหญิง ถือเป็นสุภาษิตไทยที่แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดกลอนแปดสุภาพ ซึ่งจะมีกี่บทก็ได้ตามที่ผู้แต่งการ โดยเนื้อหาของสุภาษิตสอนสตรีเป็นหลักประพฤติในการปฎิบัติตนของสตรีตามค่านิยมของสังคมไทยดั้งเดิม ซึ่งเป็นคำสอนที่ใช้ได้กับสตรีทุกชนชั้น มีทั้งข้อห้ามข้อควรปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการวางตัว กิริยามารยาท การพูดจา การแต่งกาย การเลือกคู่ครอง การดูแลบ้านเรือน เช่น อย่าทอดทิ้งพ่อแม่ อย่าเล่นการพนัน ห้ามดื่มสุราหรือสูบฝิ่น ห้ามคบชู้สู่ชายเป็นหญิงสองใจ ส่วนที่เป็นข้อปฏิบัติก็เช่น การวางตัว กิริยามารยาท การพูดจา การแต่งกาย การเลือกคู่ครอง การปฏิบัติต่อสามี ความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อสามี การรักนวลสงวนตัว การดูแลบ้านเรือน และการใช้จ่ายเงิน เป็นต้น และต่อจากนั้นยังกล่าวถึงลักษณะไม่พึงประสงค์ของผู้หญิงแบบ ต่าง ๆ เช่น ละทิ้งพ่อแม่ ชอบแต่งตัว ติดการพนัน สูบฝิ่นกินเหล้า เป็นต้น ผู้หญิงเหล่านี้จะประสบแต่หายนะ ซึ่งคำสอนต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของสตรี จากงานวิจัยของชลินจ์ จีนนุ่น (2556) ได้กล่าวว่าคำสอนในสุภาษิตสอนหญิงซึ่งปริวรรตโดยนายเทพ บุณยประสาท ครูใหญ่โรงเรียนพัทลุง ต่อมาร้านอุดมพานิชกิจ จังหวัดพัทลุง และโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญนำไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ การนำหลักคำสอนดั้งเดิมมาแต่งขึ้นใหม่และตั้งชื่อใหม่วรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล่มเล็ก” โดยที่นำหลักคำสอนดั้งเดิมมาแต่งขึ้นใหม่และใช้ชื่อใหม่ ใช้สอนผู้หญิงเน้นสอนให้รักนวลสงวนตัว มีกิริยามารยาท เป็นแม่ศรีเรือน รู้จักเลือกคู่ครอง เป็นแม่และเมียที่ดี โดยจะเน้นน้ำให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว ไม่หมกมุ่นเรื่องกามโลกีย์ เอาใจใส่การบ้านการเรือน และเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ตลอดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิง แม้ว่าวรรณกรรมคำสอนกลุ่มนี้ยังสอนให้ผู้หญิงครองตัวดี สนใจบ้านงานเรือนและรู้จักปรนนิบัติสามีเหมือนวรรณกรรมคำสอนสมัยโบราณ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของผู้หญิงตามสภาพสังคมด้วย ผู้แต่งจึงผลิตคำสอนส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่สอดรับกับบริบทสังคมและการเมืองสมัยที่แต่ง เช่น สอนให้คล่องแคล่วและปราดเปรียวในการใช้ชีวิต กล้าคิดกล้าตัดสินใจเรื่องคู่ครอง ให้มีบทบาทด้านเศรษฐกิจและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เช่น รีบแต่งงานใหม่เพื่อเพิ่มพลเมืองของประเทศ ซึ่งผู้แต่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากนโยบายสร้างชาติสมัยรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่สนับสนุนให้เพิ่มพลเมืองไว้ป้องกันประเทศ การเพิ่มพลเมืองนี้จึงต้องอาศัยบทบาทของผู้หญิงเป็นสำคัญ ดังตัวอย่าง
ถึงรูปชั่วตัวดำครั้นทำถูก | จะเกิดลูกหลานหลายสบายใหญ่ |
จะได้เพิ่มพลเมืองประเทศไทย | ศิวิไลวัฒนาสถาพร |
เนื้อหาของสุภาษิตร้อยแปดของภาคใต้มีเนื้อหาตามเรื่องราวเป็นการชี้แนะในประเด็นต่าง ๆ เช่น การคบคนจะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ ไม่เป็นคนหูเบา ฟังคนพูดด้วยเหตุด้วยผล โดยเปรียบเทียบไว้ดังนี้
คบเพื่อนให้พึงรู้ | เพื่อนที่ดูเสมือนมาร |
ยกตนแล้วข่มท่าน | พวกคนพาลหมายว่าดี |
หางเต่ายาวแล้วสั้น | หางแลนนั้นว่ายาวรี |
วัดกันค่ากันดี | ไม่เสียทีกันเท่าใด |
ช้างเถื่อนย่อมจับได้ | วัวควายร้ายย่อมได้ไถ |
เสือหมีอยู่ในไพร | ย่อมจับได้ใส่กรงขัง |
ชี้แนะว่าอย่ารนหาอันตรายด้วยความประมาท โดยเปรียบเทียบดังนี้
อย่าคลำหางเสือผอม | ราชสีห์ย่อมขามเกรง |
เจ้านายของเราเอง | อย่าลวนลามอุเบกษา |
เสือผอมกวางโจนเข้า | เสือโคร่งเล่าวิ่งวางมา |
ตบต้องคอมฤคา | จึงรู้ว่าฤทธิ์เสือมี |
งูเห่าเท่าไม้ม้วน | อย่าได้ควรยุดหางตี |
เพลิงน้อยเท่าแมลงหวี่ | เผาได้สิ้นทั้งนคร |
ภาพจาก: http://jddjlfldance.blogspot.com/2016/05/blog-post_30.html
“หญิงดี” ในสุภาษิตสอนหญิงภาคใต้
จากผลงานวิจัยของพัชลินจ์ จีนนุ่น (2560) ได้ให้ความหมายของคำว่า “หญิงดี” หมายถึงหญิงที่มีคุณสมบัติทางกายดี คือรู้จักสำรวมอิริยาบถด้านต่าง ๆ ทั้งในขณะเดินนอนหรือนั่ง มีคุณสมบัติทางวาจาดีคือพูดจาไพเราะอ่อนหวาน พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และรู้จักพูด และมีคุณสมบัติทางใจดี เช่น มีความเพียร รู้จักใช้ปัญญา ใจบุญสุนทานและกตัญญู คุณสมบัติที่แสดงถึงการเป็น “หญิงดี” ในที่กล่าวนี้ผู้วิจัยได้สังเคราะห์ขึ้นจากเรื่องสุภาษิตสอนหญิงสำนวนต่าง ๆ ในภาคใต้โดยศึกษาจากวรรณกรรมต่าง ๆ และพบคุณสมบัติของผู้หญิงด้านต่าง ๆ ในประเด็นดังต่อไปนี้
๑. คุณสมบัติทางกาย
คุณสมบัติทางกาย หมายถึงการสำรวมอิริยาบถหรือการแสดงออกทางกายในด้านต่าง ๆ ทั้งการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม การกระทำ เป็นต้น เป็นลักษณะประจำตัวของบุคคล ดังรายละเอียดต่อไปนี้
๑.๑ การเดิน “หญิงดี” ต้องมีกายที่สำรวมในขณะที่เดิน ไม่เดินกระทืบแผ่นดิน เพราะสะท้อนถึงกิริยาที่ต่ำทรามอย่างยิ่ง เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “หญิงใดเดินทืบธรณี ครือดังบัดสี ที่เดาธรณีอัตรา” ไม่เดินลูบอวัยวะ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “อย่าลูบแก้มคาง อย่าสางผมเผ้าเจ้าเอย” ไม่เดินทัดดอกไม้ เสยผม หรือเอาแต่เดินเกี้ยวผู้ชาย เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า
|
|
๑.๒ การหัวเราะ “หญิงดี” ต้องไม่หัวเราะเสียงดังเหมือนผู้ชาย เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “อย่าหัวให้เทียมชาย” และ “เจ้าเอยอย่าหัวเสียงดัง” ไม่หัวเราะจนลืม มีข้อสังเกตว่าการสอนผู้หญิงให้สำรวมกิริยาเวลารู้สึกขบขัน อาจเทียบเคียงได้กับคุณสมบัติของมหาบุรุษ ดังในตำราอลังการศาสตร์ กล่าวถึงการหัวเราะของมหาบุรุษว่าเมื่อรู้สึกขบขันจะยิ้มที่แก้มตาและริมฝีปาก หากเป็นคนปานกลางจะอ้าปาก แต่หากเป็นคนเลวจะมีเสียง (หัวเราะ) | |
๑.๓ การนั่ง “หญิงดี” ต้องไม่นั่งเรียงเป็นหน้ากระดานเมื่อมีแขกมาเยือน หรือนั่งแอบชิดสามี เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “แขกไทไปมา อย่านั่งเรียงหน้า เข้าแนบแอบผัวห่อตัว” เมื่ออยู่ตามลำพังก็ไม่นั่งกอดเข่า นั่งโยกตัว นั่งเท้าแขน นั่งแอ่นตัว นั่งเอามือทูนศีรษะ นั่งห้อยเท้า นั่งหวีผม นั่งแต่งตัว และนั่งกันไรผมบริเวณประตูหรือบันไดบ้าน เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า... |
อย่านั่งเอาบ่าปะห | อย่าโยะย้ายตัว |
เอามือกอดเข่างงงวย | อย่านั่งเท้าแขนแอ่นองค์ |
อย่าทำทระนง | เอามือทูนหัวชั่วแรง |
อย่านั่งยืดเท้าเขาแค่ง | อย่านั่งกลางแปลง |
หวีหัวแต่งตัวถอนไร | ปากประตูแลหัวบันได |
เจ้าอย่าได้ไป | นั่งเล่นห้อยเท้าเจ้าเอย |
๑.๔ การกิน “หญิงดี” ต้องไม่เคี้ยวเสียงดัง ไม่กินมูมมาม ไม่กินอย่างรวดเร็ว ไม่กินตะกละตะกลามเหมือนวานร เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “จะกินอย่ากุบกับ รุบรับเช่นกระบี่ศรี” และไม่กินตามใจปาก เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “อย่ากินตามอยากมากมี” แต่ให้กินแต่พอประมาณ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “กินแต่พอดีดูงาม” และให้กินทีหลังผู้ใหญ่ เช่น บิดามารดา และญาติของตน เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “งามสิ้นกินทีหลัง แล้วร้อยชั่งกวาดครัวไฟ” |
๑.๕ การแสดงออกทางสีหน้าแววตา “หญิงดี” ต้องแสดงสีหน้าและแววตาที่สงบนิ่ง ไม่เล่นหน้าเล่นตา หรือทำตากลอกกลิ้งตาไปมา เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “อย่าทำตาลักลานไขว่” |
๑.๖ การนอน“หญิงดี” ต้องไม่นอนดิ้นหรือนอนเกยออกนอกที่นอนให้ผู้อื่นเห็น เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “บังอรอย่านอนทอดตน ที่หวางกลางคน เกยเนาะเอาะมาหน้าฉาน” |
๑.๗ การทำกิจกรรม “หญิงดี” ต้องไม่ทำเสียงดังโหวกเหวกเมื่ออยู่กับผู้อื่น เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “อย่าประจบเร่คบเพื่อน พูดโวเวเล่นเม่ฉา” ต้องไม่เปลื้องผ้าอาบน้ำ หากลืมน้ำผ้ามาเปลี่ยนก็ให้รดเพียงครึ่งตัว “อย่าอาบน้ำเปลื้องกายา...ครั้นลืมพารดแต่ท่อน” ดังนั้น เมื่ออาบน้ำจึงควรวางผ้านุ่งไว้ใกล้ตัวกันคนอื่นขโมย เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “อย่าควรพาตั้งไกลกร” ครั้นจะนุ่งผ้าต้องไม่นุ่งใต้สะดือ หรือนุ่งพกไซ คือนุ่งไม่เรียบร้อย โดยห่อเป็นก้อน ๆ ไว้ที่บริเวณเอว เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า
|
๑.๘ การแสดงท่าทีต่อเพศตรงข้าม “หญิงดี” ต้องไม่แสดงอาการระริกระรี้เมื่อพบผู้ชายเหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “ชอบใครอย่าดีดิก อย่าริกริกไม่สู้ดี” ต้องไม่แลบลิ้น ยักคิ้ว หรือเปิดผ้าให้ชายเห็น เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า... |
อย่าทำให้เสสรวล | อย่าควรล่อลิ้นให้ชาย |
มันกัดพลัดยากตาย | อย่ามักง่ายจะเกิดเข็ญ |
อย่ามักยักคิ้วหา | อย่าเปิดผ้าให้ชายเห็น |
ร้ายนักมักเกิดเข็ญ | มันจะพาให้เป็นพาล |
๒. คุณสมบัติทางจิตใจ
คุณสมบัติทางจิตใจ หมายถึงการสำรวมจิตใจให้สงบระงับไม่คิดฟุ้งซ่านหรือการแสดงออกทางจิตใจในด้านต่าง ๆ ให้เป็นลักษณะประจำตัวของบุคคล ดังรายละเอียดต่อไปนี้
๒.๑ ทำบุญและบริจาคทาน “หญิงดี” ต้องรู้จักทำบุญและบริจาคเมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า... |
ทำบุญที่วันพระ | พระจตุโลกพบเหมือนกัน |
ลงชื่อบัญชีพลัน | ด้วยแผ่นทองรองกรอบใน |
พาขึ้นไปสวรรค์ | บังคมคัลยื่นหัสสนัย |
พระอินทร์ ธ ดีใจ | ร้องสาธุการแล้วอวยพร |
๒.๒ ละโลภโกรธหลงและเห็นความไม่เที่ยง “หญิงดี” พึงละโลภโกรธหลง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ ให้คำนึงถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งตามกฎไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนา เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า... |
โลโภโทโสแข็งกล้า | โทุกทั่วชนา |
ตัณหามาปิดอกใจ | โมหิริตังนั้นไสย |
ถ้าว่าผู้ใด | ลากไสยได้พ้นทุกขา |
เจ้าเอยจงคิดอนิจจา | ในเพียงแท่นหนา |
อะนัตตาแต่ล้วนสูญเปล่า |
๒.๓ ใช้ปัญญาในการคบหาคน “หญิงดี” ต้องไม่คบคนพาล พวกแรกคือพวกที่ดื่มสุรา หากแต่งงานด้วยจะมีแต่เรื่องทะเลาะวิวาท ถึงขั้นทำร้ายร่างกายภรรยาและญาติพี่น้อง พวกที่สองคือพวกที่เล่นการพนันประเภทไฮโล เพราะมีแต่สร้างหนี้สินสมบัติที่มีอยู่ก็พลอยฉิบหาย แม้แต่บุตรภรรยาก็อาจถูกขายเพื่อใช้หนี้การพนัน บ้างก็กลายเป็นโจรผู้ร้ายเพราะไม่มีเงินเล่นการพนัน การคบคนประเภทนี้มีต่ำทำให้ครอบครัววุ่นวาย พวกที่สามคือพวกที่เล่นการพนันประเภทไก่ชน พวกนี้มีนิสัยเกียจคร้าน ไม่ทำการงานไม่ถือศีลให้ทาน หากอยู่ร่วมกับชายประเภทนี้จะทำให้ครอบครัวพลอยย่อยยับไปด้วย พวกสุดท้ายคือพวกที่เสพยาเสพติด ประเภทฝิ่น พวกนี้เป็นพวกคบโจรผู้ร้าย ไม่สนใจรักษาศีล ให้ทาน มีนิสัยเกียจคร้าน ชอบทะเลาะวิวาท การคบคนประเภทนี้มีแต่อัปมงคล เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า... |
สี่พวกจักแยกย้าย | หนึ่งบ้าใบ้เมาสุรา |
มักเกิดวิวาทา | ชวนร้างอย่าทุบตีเมีย |
พ่อตาและแม่ยาย | มันด่าให้ว่าส่าเสีย |
รบกันแต่ผัวเมีย | มันจะพาไปอบาย |
พวกหนึ่งบ้าด้วยเบี้ย | มักพาเมียให้วุ่นวาย |
ติดหนี้เพื่อนมากมาย | ลูกเมียได้เป็นทาสเขา |
ทรัพย์สินสิ่งใดใด | ย่อยยับไปยังเรือนเปล่า |
หมดแล้วลักล้วงเอา | เขาจับได้เมียพลอยจน |
พวกหนึ่งนั้นเล่าหนา | เป็นคนบ้าเล่าไก่ชน |
ค่ำเช้าเข้าบ่อนบ่น | ไม่พักคิดทำการงาน |
ลูกเมียพลอยย่อยยับ | มันมินับศีลและทาน |
เป็นคนมิจฉาจาร | ใครคบมันไปนรกกัน |
พวกหนึ่งบ้ายาฝิ่น | เผาไฟกินสูบแต่ควัน |
ลูกเมียพลอยสิ้นกัน | ครั้นหมดทรัพย์กลับเป็นโจร |
น้ำจิตคิดมิจฉา | มันคบหาแต่พวกโลน |
คบคิดกันเป็นโจร | ลักได้สูบหัวเม่ฉา |
ยาฝิ่นครั้นสูบนัก | ขี้คร้านนักมักโรยรา |
นอนในไม่ลืมตา | ตื่นขึ้นมารบเมียกิน |
อย่าคบมันเข้ามา | จะโรยราทานและศีล |
เพื่อนคิดแต่จะกิน | ทานและศีลมิได้ทำ |
สี่พวกที่กล่าวมา | บาปแน่นหนาใจดึกดำ |
เพื่อนถือเอาแต่กรรม | อย่าคบมันอัปรมุงคุล |
๒.๔ คบหาคนดี “หญิงดี” พึงสมาคมกับคนดี โดยเฉพาะบัณฑิตหรือนักปราชญ์ย่อมให้คุณแก่ชีวิต ดีกว่าคบคนพาล เพราะการคบคนพาลมีแต่จะได้รับภัยต่าง ๆ นานา เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า |
"คบคนดีเป็นศรีตัว คบคนชั่วอัปปะหรา คบปราชญ์ได้วิชา คบพาลาได้อบาย" |
๓. คุณสมบัติด้านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์
จากการวิจัยของของชลินจ์ จีนนุ่น (2556) พบว่าสุภาษิตสอนหญิงสำนวนต่าง ๆ ต่างก็กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้หญิงด้านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ที่สัมพันธ์กับหลักทิศหก ในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ดังนี้
๓.๑ ผู้หญิงในฐานะภรรยา ตามหลักทิศหก หรือในสิงคาลกสูตร เล่มที่ ๑๑ กล่าวว่าภรรยาที่ดีต้องจัดการงานดี สงเคราะห์คนรอบข้างดี ไม่นอกใจ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ และขยันไม่เกียจคร้าน ดังนี้
|
การงานฝ่ายครัว | ตกแต่งแกงคั่ว |
หุงต้มลวกจี | กับข้าวปลาปลู |
จงรู้ถ้วนถี่ | วิชชาสิ่งนี้ |
เป็นที่เสน่ห์ชาย | ตกแต่งอาหาร |
อย่าได้เกียจคร้าน | สถาพรสัตรี |
ผู้เฒ่ากล่าวกลอน | สั่งสอนไว้นี้ |
หยัดท่าทาสี | มิดีน้องอา |
ครกเบือและสากเบือ | อย่าตั้งเพรื่อตกขี้กลา |
บวยหวักควรรักษา | ไว้ให้ดีตามวิสัย |
อย่าได้อุเบกษา | หาน้ำท่าดับฟืนไฟ |
เสร็จแล้วเจ้าออกไป | ชักประตูหับกำชับครัว |
การจัดการงานดีรวมไปถึงการดูแลทุกข์สุขของสามีด้วย ตั้งแต่ยามกินจนกระทั่งยามนอน กล่าวคือเมื่อสามีจะรับประทานอาหารต้องเตรียมสำรับไว้ให้ในขณะที่สามีรับประทาน ก็ช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนตนเองกินทีหลังเมื่อสามีออกจากบ้านก็ให้เตรียมของกินของใช้ไว้ให้ เมื่อสามีกลับมาต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับอาบน้ำไว้ให้เสร็จสรรพ เมื่อสามีจะนอนผู้ที่เป็นภรรยาควรเตรียมตั้งแต่ทำความสะอาด จัดที่นอนหมอนมุ้งให้เรียบร้อย คอยนวดฟั้น และพูดหวานหู แล้วจึงค่อยนอนทีหลัง แต่ให้นอนต่ำกว่าสามีเพื่อแสดงความเคารพ ต่อมาก็ต้องตื่นก่อนสามีเพื่อเตรียมอาหารและนำสำหรับล้างหน้าให้สามีต่อไปจะกินและจะนอน เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า...
๓.๑.๒ สงเคราะห์คนรอบข้างดีภรรยาที่ดีต้องรู้จักดูแลคนรอบข้าง ให้ได้รับความสุขความสบายด้วย เช่น บิดามารดาของตนเอง ข้าทาสบริวาร เพื่อนบ้าน แขกของสามี เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า... |
แม้นมีน้อยหลวง | อย่าขึ้งหึงหวง |
เคืองเคียดเตรียดตรา | เพราะเจ้าเป็นใหญ่ |
เอาใจภัสดา | แม้นน้อยถอยมา |
อย่าถือท่วงที | หนึ่งท่านผู้มาเรือน |
ถามหาผัวตัวไม่มี | อัชฌาไว้ให้ดี |
เลี้ยงหมากพลูและข้าวปลา |
นอกจากนี้หากบิดามารดาหรือญาติพี่น้องของสามีมาเยี่ยมเยียนก็ให้ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “อีกทั้งพ่อผัวแม่ผัว ดูแลให้ทั่ว อย่าได้ลำเอียงเคืองใจ” และไม่นินทาว่าร้าย เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า....
อนึ่งเล่าเผ่าพงศ์พ่อแม่ผัว | จงเกรงกลังจงหนักเถิดน้องเอ๋ย |
อย่านินทาว่าร้ายภิปรายเปรย | ที่ไหนเลยเขาจะนับว่าหญิงดี |
๓.๑.๓ ไม่ประพฤตินอกใจ ภรรยาที่ดีต้องไม่นอกใจสามี เหมือนบทกลอนที่ว่า... |
อย่าให้คลาดคาผัวว่า | สิ่งหนึ่งอย่าพึงมา |
เอาจิตออกนอกใจชาย |
ซึ่งกล่าวถึงโทษของหญิงที่นอกใจสามีไว้อย่างรุนแรงว่าจะตกนรก ต้องปีนต้นงิ้วห้อยหัวลงมา ถูกนกตะกรุมและกาปากเหล็กจิกตี ถูกสุนัขกัด ครั้นสิ้นกรรมแล้วก็ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นคนบ้าใบ้ โง่เขลา รูปชั่ว และมีแต่คนเกลียดชัง จึงไม่ควรเป็นหญิงหลายใจ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า...
ขึ้นงิ้วเลือดไหลสก | เอานรกเป็นเหยื่อหมา |
นกตะกรุมกาปากเหล็ก | เจาะวันละเจ็ดคาบตรา |
เกิดขึ้นเป็นเหยื่อหมา | ขึ้นต้นงิ้วเอาหัวลง |
หลายชาติทนเสดสา | ในนรกานั้นโดยจง |
สิ้นกรรมได้คืนคง | เกิดชมพูเป็นเดียรัจฉาน |
กลับชาติเป็นมนุษย์ | เป็นคนโม่ใบ้สาธารณ์ |
๓.๑.๔ ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวงผู้แต่งกล่าวว่าความขยันไม่เกียจคร้านการงานและมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ย่อมถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งด้วยเมื่อจักหูงข้าว เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า... |
ตั้งหม้อแล้วเจ้า | จงเร่งผายผัน |
เอาผักมาเด็ด | ใส่ไฟด้วยพลัน |
บุญหนักนักธรรม์ | จึงจะเป็นผล |
เร่งคิดเร่งอ่าน | เจ้าอย่าขี้คร้าน |
กองการกุศล | การฝ้ายการโหก |
ให้เร่งขวายขวน | ทำศีลใส่ตน |
คนนั้นต่อจะดี |
การสอนผู้หญิงในฐานะภรรยาข้างต้นสอดคล้องกับหลักธรรมอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนาอีกเป็นจำนวนมาก ดังในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย กล่าวถึงหญิงที่จะมีชัยไปถึงโลกหน้าหรือไปสู่สุขติในภพหน้าว่าต้องเชี่ยวชาญในงานบ้านงานเรือน รู้จักดูแลทุกข์สุขของคนในบ้าน ตลอดจนคนใช้ ทำทุกอย่างเพื่อความพอใจของสามี รู้จักทำกิจการต่าง ๆ ในบ้าน ยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีปัญญาในพระสุตตันตปิฎก อังคุตฺตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่มที่ ๒๒ กล่าวถึงการปฏิบัติตนของผู้หญิงต่อสามีที่ไม่แตกต่างกันนัก ดังคำสอนต่อไปนี้
"สตรีผู้เป็นบัณฑิต ย่อมไม่ดูหมิ่นสามี ผู้มีความเพียรขวนขวายเป็นนิตย์ เลี้ยงตนเองทุกเมื่อ ผู้ให้สิ่งที่ต้องการได้ทุกอย่าง ไม่ทำให้สามีขุ่นเคืองด้วยการแสดงความหึงหวง ยกย่องทุกคนที่สามีเคารพเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ปฏิบัติถูกใจสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ สตรีผู้ประพฤติตามใจสามีอย่างนี้ จะเข้าถึงความเป็นเทวดาเหล่ามหาปกายิกา" |
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นตอนที่อนาถปิณฑิกเศรษฐีบิดาของนางจูฬสุภัททาให้โอวาทนางก่อนที่จะไปเป็นลูกสะใภ้ของอุคคะเศรษฐี ๑๐ ประการ คำสอนนี้สอนสอดคล้องกับในสุภาษิตสอนหญิงภาคใต้ ประกอบด้วย
๑. อย่านำความลับ ความไม่ดีในครอบครัวของตนไปเปิดเผยให้ผู้อื่นฟัง |
๔. คุณสมบัติของผู้หญิงในฐานะผู้ปกครองหรือนายจ้าง
นายจ้างที่ดีต้องเอาใจใส่ข้าทาสบริวารตั้งแต่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม การทำงาน ไม่ตีด่าต่อหน้าแขก ให้พูดด้วยถ้อยคำอ่อนหวานเพื่อให้คนเหล่านี้อยู่กับตนนาน ๆ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า...
เลี้ยงควายกินน้ำหญ้า | เลี้ยงคนข้ากินถ้วนถี่ |
เอาใจไว้ให้ดี | ที่จะกินและนุ่งห่ม |
ถ้าไม่มีปัญญา | ทาสและข้าคิดแต่จะส่ง |
คิดหาผ้านุ่งห่ม | ให้พอสมคนแลดู |
แขกไทไปมา | อย่าได้ตีด่า |
ข้าไทลูกหลาน | แม้นว่าผิดพลั้ง |
ยับยั้งฟังการ | ค่อยว่าค่อยขาน |
ถ้อยคำหวานอ่อน |
๕. คุณสมบัติของผู้หญิงในฐานะบุตร
ผู้หญิงในฐานะที่เป็นบุตรจะต้องรู้จักปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยดีคือทำตามคำสอน ไม่ขัดใจ หรือข่มเหง เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า..
อย่าควรข่มเหงแม่ | จริงจริงแหล่เป็นเวรา |
จำเอาคำเราว่า | เกิดมุงคุณเป็นบุญตัว |
ขัดถ้อยคำมารดา | สิ่งนี้หนาเป็นสิ่งชั่ว |
อย่าเอามาใส่ตัว | เป็นกิจของหญิงแพศยา |
หญิงที่กระทำกตัญญูต่อบิดามารดาว่าเมื่อตายไปจะขึ้นสู่สวรรค์อันเป็นดินแดนที่มีแต่ความสุข ได้ฟังแต่เสียงมโหรีขับกล่อม และได้เห็นเหล่าเทวดานางฟ้าที่พากันเต้นรำกันอย่างมีความสุข เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า...
บ้างขยับขับเสภา | ตัวและหน้ายักย้ายตาม |
หนุ่มหนุ่มนางงามงาม | ล้วนหมู่นางทิพย์เมืองสวรรค์ |
เล่นรำทำถ้วนถี่ | ต่างมิอาจจะนาระพัน |
ย่อมมีถี่ทุกอัน | วิมานแก้วแวววาวตา |
ส่วนหญิงที่กระทำอกตัญญูต่อบิดามารดา เช่น ชอบข่มเหงและด่าทอว่าเมื่อตายไปจะตกนรกเป็นเวลาช้านาน ต้องกลายเป็นเปรตที่ไร้หูตา มือและเท้า กินเลือดหนองของตนเป็นอาหาร ถูกนำไปเผาในกระทะเหล็ก ตายวันละ ๗ ครั้ง ยมบาลใช้คีมคีบลิ้นออกมา เมื่อเกิดบนโลกมนุษย์ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า...
รูปงามน้ำใจกล้า | อวดตัวว่าดีขยัน |
เรี่ยวแรงมันแข็งขัน | มิย่อท้อแก่มารดา |
หญิงนั้นครั้นตายไป | ตกนรกนานหนักหนา |
เป็นเปรตทนเวทนา | หูและตาบ่ได้ดี |
หลายชาติอยู่ในโทษ | พระเจ้าโปรดยากพ้นที่ |
มือตีนก็ไม่มี | เป็นเปรตกินเลือดหนองตน |
ไฟเผาในทะเหล็ก | ตายได้วันละเจ็ดหน |
ยมบาลท่านทารุณ | เอาคีมคีบลิ้นออกมา |
ใช้กรรมอยู่ในนรก | ถ้วนกำหนดครบชาติตรา |
สิ้นกรรมได้ขึ้นมา | เกิดชมพูเป็นเดียรัจฉาน |
ในคัมภีร์ขุทฺทกนิกายชาตก เล่มที่ ๒๘ กล่าวว่าผู้ที่ทำหน้าที่ของบุตรที่ดีจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่หากอกตัญญูต่อบิดามารดาจะตกนรก ดังในพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่า “ผู้ที่มารดาบิดาเลี้ยงมาโดยยากอย่างนี้ ไม่บำรุงมารดาบิดา ประพฤติผิดในมารดาบิดา ย่อมเข้าถึงนรก"
๖. คุณสมบัติของผู้หญิงในฐานะพุทธศาสนิกชน
การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีคือการแสดงความเคารพและสุภาพเรียบร้อย เมื่ออยู่ต่อหน้าพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ถือว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า...
เคารพนบนอบไหว้ | อัชฌาไว้พระเทศนา |
อย่าให้หมองโรยรา | ผู้มีศีลนินทาหัว |
พระสงฆ์นั่งอย่ายืน | พูดจักเป็นโทษแก่ตัว |
ยำเยงควรเกรงกลัว | ท่านผู้ทรงพระศีลา |
พระฝากศาสนาไว้ | สงฆ์ทั้งหลายอยู่รักษา |
พระเจ้าท้าวลับตา | ไปนิพพานยังแต่สงฆ์ |
เปรียบดุจดังดวงไต้ | พระตามไว้เป็นดวงกลม |
แจ้งจบพบโดยจง | พึงเคารพมีอัชฌา |
การรู้จักปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยกิริยาท่าทีที่ดีงามถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการไปสวรรค์หรือบรรลุธรรมขั้นสูง ดังที่นางอสิตาภุที่นิมนต์อัครสาวกมาถวายอาหาร แล้วฟังธรรมเทศนาด้วยความเลื่อมใสอยู่เป็นนิจ จนได้บรรลุโสดาบันปัตติผลทั้ง ๆ ที่อยู่ในฆราวาสวิสัย ต่อมาได้บวชเป็นภิกษุณีและสำเร็จมรรคผลเป็นพระอรหันต์
๗. คุณสมบัติของผู้หญิงในฐานะสมาชิกหนึ่งของสังคม
สิ่งที่ผู้หญิงควรให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม คือการรู้จักครองใจเพื่อนบ้านเพราะการผูกมิตรกับเพื่อนบ้านช่วยให้เกิดประโยชน์
หลายประการ เช่น สามารถขอความช่วยเหลือยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีธุระต่าง ๆ ผู้แต่งจึงสอนผู้หญิงให้รู้จักแบ่งปันของกินของใช้ให้เพื่อนบ้าน หรือวางตัวเป็นกลางเมื่อบุตรของตนทะเลาะกับบุตรของเพื่อนบ้านเพื่อนบ้านครั้นดีไว้เมื่อเจ็บไข้ได้พึ่งกัน เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า...
ฉุกหุกทุกข์ที่นั่น | วักวานกันได้ง่ายดาย |
ไปไหนได้ของมา | ใดใดหนาอย่าชิดไว้ |
อย่ากินคนเดียวดาย | แจกปันให้เพื่อนตามมี |
รู้กินก็เป็นเนื้อ | รู้ใฝเฝือเป็นไมตรี |
กินได้นานหลายปี | มิรู้อดหมดเลยหนา |
โลภนักลาภมักหาย | มักจะได้ความโกรธา |
ต่ำนักมักแข็งกล้า | พอมัธยมเอาแต่งาม |
ลูกเต้ารบตีกัน | อย่าหุนหันคุกคำราม |
ลูกเราลูกเขาก็ตาม | ลำดับความสอนให้ดี |
มีข้อสังเกตว่าการสอนการปฏิบัติตนของผู้หญิงดังที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับหลักของมาตุคามในพระพุทธศาสนาด้วย ดังในพระสุตตันตปิฎก องฺคุตฺตรนิกาย อฏฺฐกนิปาต เล่มที่ ๒๓ กล่าวว่าหญิงที่ปฏิบัติตามหลักธรรม ๘ ประการ เมื่อตายไปจะไปเกิดเป็นเทวดาเหล่ามหาปกายิกา มีดังต่อไปนี้มารดาบิดาผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังเกื้อกูล อนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู ยกเธอให้สามีใดเธอต้องตื่นก่อนนอนทีหลังสามีนั้น คอยรับใช้ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจเขา พูดคำไพเราะต่อเขา
“หญิงดี” ในสุภาษิตสอนหญิงภาคใต้สรุปจากผลงานวิจัยของ พัชลินจ์ จีนนุ่น (๒๕๖๐) สรุปได้ดังนี้คือจะต้องมีคุณสมบัติด้านกาย วาจา และใจที่ดี ทั้งต้องรู้จักปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยคุณสมบัติที่ผู้แต่งแสดงรายละเอียดมากเป็นพิเศษ คือคุณสมบัติด้านการทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี ทั้งต่อสามี ญาติพี่น้องของสามี แขกของสามี ข้าทาสบริวาร และญาติพี่น้องของตนเอง ส่วนการสอนด้านอื่น ๆ มีปริมาณมากบ้างน้อยบ้างตามความสนใจของผู้แต่ง แต่จะสัมพันธ์กับความคิดความเชื่อในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในเรื่องนรกสวรรค์ การได้เกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย และการกลับชาติมาเกิดจากผลของกรรมที่ได้ทำไว้การกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างเข้มงวด นอกจากเพื่อสั่งสอนผู้หญิงให้รู้วิธีสร้างความสุขความเจริญให้แก่ตนแล้ว ก็น่าจะมีจุดมุ่งหมายอื่นแฝงอยู่ ดังต่อไปนี้
ประการแรก : เป็นการฝึกฝนผู้หญิงชาวใต้ให้ “สมบูรณ์แบบ” ทั้งด้านกาย วาจาและใจตามแบบฉบับของผู้หญิงในพระพุทธศาสนา เช่นมีคุณสมบัติเหมือนนางวิสาขา นางจูฬสุภัททาหรืออื่น ๆ ที่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงตั้งแต่เป็นฆราวาสหรือสำเร็จมรรคผลเป็นพระอรหันต์เนื่องจากยึดหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยเมื่อพิจารณาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้วก็พบว่าไม่ได้ปฏิเสธการฝึกฝนตนของมนุษย์ (ทั้งหญิงและชาย) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ดังพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดา และการทำหน้าที่ขอพระพุทธเจ้า มีพุทธพจน์มากมายที่เน้นฝึกฝนตนของมนุษย์ เพื่อพัฒนาตนจนถึงที่สุด การฝึกฝนด้านต่าง ๆ เริ่มจากระดับศีล สมาธิ และปัญญาซึ่งต้องประสานกันทุกฝ่าย เพื่อให้มีวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม การฝึกศีลจะมองลักษณะที่เด่นด้านอินทรีย์หรือกายวาจา หากเด่นภายในจิตใจจัดเป็นระดับสมาธิ เช่น ความกตัญญู ความเคารพ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเพียร และความพยายามหากเด่นที่ความคิดเรียกว่าระดับปัญญา เป็นการฝึกหรือพัฒนาการเข้าถึงความจริง และคิดการต่าง ๆ ในทางเกื้อกูล ผู้ที่ก้าวผ่านด้านต่าง ๆ ไปได้จะพบกับความสุขในปัจจุบัน การฝึกฝนและจัดระเบียบให้แก่ผู้หญิงช่วยปิดกั้นโอกาสในการทำชั่ว และเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้น คำสอนผู้หญิงด้านต่าง ๆ นี้จึงน่าจะเป็นการสื่อท่าทีหรือสื่อความหมายถึงการสร้างภาพผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบว่าควรจะมีการวางตัวอย่างไรจึงจะเป็นไปตามแบบฉบับผู้หญิงในพระพุทธศาสนา ซึ่งปรีชา ช้างขวัญยืน กล่าวว่าท่าทีของผู้หญิงที่มีต่อศาสนาไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่ต้องพากเพียรปฏิบัติจึงจะเข้าถึง สิ่งที่ควรทำก็คือการเข้าถึงอุดมคติมิใช่อ้างว่าอุดมคติไม่มีจริงในความเป็นจริงมนุษย์ล้วนตั้งเป้าหมายและดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมาย ศาสนามีท่าทีเชื่อมั่นในอุดมคติในทุกระดับอย่างไม่เปลี่ยนแปลงคนดีไม่ว่ายุคสมัยใดย่อมมีความดีเหมือน ๆ กันจะแตกต่างกันว่าเป็นความดีในเรื่องอะไร และมีวิธีที่จะไปถึงความดีนั้นอย่างไร ดีในส่วนปุถุชนหรือนักบวช ท่าที่ที่ยึดถือความดี ความถูกต้อง และเป็นธรรมเป็นท่าทีที่สำคัญของศาสนา ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนด้วยการสั่งสอนและการปฏิบัติ |
ประการที่ ๒ : เป็นการสร้างพลังอำนาจแฝงของผู้หญิงเพื่อสื่อให้เห็นว่าหากผู้หญิงประพฤติปฏิบัติตัวดี โดยเฉพาะ ด้านการรู้จักปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ตั้งแต่การปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวจนถึงคนในสังคมก็จะเป็นพลังอำนาจแฝงอันจะยังประโยชน์ให้แก่สังคมแลประเทศชาติได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการดูแลประเทศชาติ |
ประการที่ ๓ : เป็นการอาศัยความเชื่อทางศาสนาจัดระเบียบผู้หญิงภาคใต้สมัยโบราณในเชิงลึก เนื่องจากในอดีตภาคใต้เป็นเมืองท่าสำคัญที่มีผู้คนหลากหลายเดินทางเข้ามาค้าขาย มารับราชการและแสวงบุญ หากไม่ควบคุมพฤติกรรมของผู้หญิง ย่อมทำให้เกิดความวุ่นวายได้โดยเฉพาะหากเกิดกับผู้ชายที่มีอาชีพรับราชการ ดังที่เอกวิทย์ ณ ถลาง กล่าวถึงการเข้มงวดผู้หญิงในสังคมภาคใต้ที่มีมากกว่าภาคอื่น ๆ ว่าเนื่องจากสังคมภาคใต้กำหนดให้ผู้ชายมีบทบาทในการคบค้ากับผู้คนต่างวัฒนธรรม เป็นไปได้ว่า เมื่อฝ่ายชายเปิดเผยในการคบค้าก็ต้องถ่วงดุลเพื่อรักษาความเป็นตัวของตัวเองทางวัฒนธรรมไว้ ฝ่ายหญิงจึงต้องมีบทบาทค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมและเก็บตัวอย่างไรก็ดี การกำหนดคุณสมบัติของ “หญิงดี”ย่อมมีทั้งการดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ทางสังคม และยุคสมัยที่เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของ “ผู้หญิงดี” ว่าจะให้อยู่ในทิศทางใด |
ภาพจาก : https://www.pstip.com/ผู้หญิงกับสำนวนโบราณ.html
จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย. (2556). ความตกต่ำของ “คตินิยมจารีตทางเพศ” ในสังคมไทย และสังคมภาคใต้ สืบค้นวันที่ 8 พ.ย. 61,
จาก https://mgronline.com/south/detail/9560000027329
พัชลินจ์ จีนนุ่น. (2560). คุณสมบัติของ “หญิงดี” ใน สุภาษิตสอนหญิงภาคใต้ที่สัมพันธ์กับความคิด วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา
(สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ปีที่ 9 ฉบับที่ 17 มกราคม-มิถุนายน 2560.
พัชลินจ์ จีนนุ่น. (2556). วรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล่มเล็ก”: การสืบทอดและสร้างสรรค์ด้านเนื้อหาคำสอน. สืบค้นวันที่ 8 พ.ย. 61,
จาก https://tci-thaijo.org/index.php/sujthai/article/view/8002
สุภาษิตสอนหญิง : คำกาพย์. (2542) สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม 17. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
อุดม หนูทอง. (2528). รายงานการวิจัยวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทคำสอน. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา.