สำนวนที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม
 
Back    07/05/2024, 17:27    757  

หมวดหมู่

สำนวน


ประเภท/รูปแบบเนื้อหา


เนื้อหา

                 สำนวนภาษาของแต่ละท้องถิ่นทุกภูมิภาคของไทยนั้น มีความเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในบริบทต่าง ๆ ของสังคม เช่น ความเป็นอยู่หรือประเพณี ความเชื่อ ฤดูกาล แม้กระทั่งนิสัยใจคอของคน ในแต่ละท้องถิ่นก็ยังมีบันทึกเรื่องราวเอาไว้ แม้ในปัจจุบันเรื่องราวเหล่านั้นได้คลี่คลายลงแล้วด้วยกาลเวลาและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ปัจจุบันสำนวนเหล่านี้ได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทางภาษาที่ยังมีคนใช้พูดอยู่จวบปัจจุบัน โดยเฉพาะสำนวนในภาคใต้ที่นิยมพูดกันในสังคมของกลุ่มเกษตรกร จากการวิจัยของประสิทธิ์ บัวงาม (๒๕๔๕) พบว่า สำนวนที่สะท้อนให้เห็นการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง มีดังนี้

๑. พอเดือนหก ฝนตกต้องแช่ซัง
     พอเดือนหก ฝนตกต้องแช่ซัง เป็นสำนวนคล้องจองที่ชาวบ้านตำบลกาะนางคำ กล่าวขึ้นเพื่อต้องการให้ทราบว่า เมื่อย่างเข้าดือนหกประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเข้าฤดูฝน ชาวบ้านโดยทั่วไปจะเริ่มเตรียมตัวเพื่อทำนา สำนวนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่บ่งบอกให้ทราบและเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
๒. นาโคกทำนาหว่าน นาลึกทำนาดำ
     นาโคกทำนาหว่าน นาลึกทำนาดำนาโคก หมายถึงนาที่อยู่ในบริเวณเนินหรือสูงกว่าพื้นที่นาในที่ราบทั่วไป น้ำที่ใช้ในการทำนาจะมีปริมาณน้อยกว่าพื้นที่นาที่อยู่บริเวณที่ราบโดยทั่วไป นาโคกทำนาหว่าน จึงหมายถึงนาโคกให้ทำนาหว่าน เพราะสามารถทำนาหว่านได้ ต้องใช้น้ำในการทำนาหว่านไม่มากเท่ากับการทำนาดำ ส่วนคำว่า นาลึกทำนาดำ หมายถึงนาที่อยู่ในพื้นที่ราบต่ำจะมีน้ำขังอย่างเพียงพอ จึงเหมาะที่จะทำนาดำเพราะต้องอาศัยน้ำที่เพียงพอต่อการทำนาในแต่ละครั้ง
๓.  นางธรณีหันอะไร
      นางธรณีหันอะไร เป็นวรรณกรรมในลักษณะของการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับการทำนา คำว่า "นางธรณี" หมายถึงดิน ส่วนคำว่า "นางธรณีหันอะไร" ต้องการสื่อหรือเปรียบเทียบกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีดินเป็นส่วนผสม ได้แก่ ครกสีข้าว เวลาสีจะต้องใช้มือหมุนให้ครกหมุน เพื่อบดสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวกล้องหรือข้าวสาร
๔. ฟ้าแดงถูกกุ้ง ฟ้ารุ่งถูกปลา
     ฟ้าแดงถูกกุ้ง ฟ้ารุ่งถูกปลา หมายถึงหากวันใดท้องฟ้ามีสีแดง ชาวบ้านจะเชื่อว่าช่วงนั้นจะมีกุ้งชุกชุมและในช่วงตอนย่ำรุ่ง (ฟ้ารุ่ง) จะมีปลาชุกชุม เป็นสำนวนที่ชาวบ้านแต่งไว้อย่างคล้องจอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่ได้จากการสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติอันเกี่ยวข้องกับการทำประมง
๕. ป่าร้าง ช้างนอน
     ป่าร้าง ช้างนอน หมายถึงป่าที่ทึบ เป็นป่าดงดิบ ยังไม่มีชาวบ้านเข้ามาจับจองทำกิน จึงเป็นป้าที่มีช้างอาศัยอยู่
๖. ดูกไก่ไหล่เผือก
     ดูกไก่ไหล่เผือก เป็นสำนวนที่เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค คำว่า "ดูกไก่" หมายถึงต้นกระดูกไก่ ส่วนคำว่า "ไหล่เผือก" หมายถึงหัวไหล่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะฉะนั้นดูกไก่ใหล่เผือก จึงหมายถึงตันกระดูกไก่นำมารักษาผู้ที่มีหัวไหล่หลุดหรือหัก การพูดเพื่อให้เกิดคำคล้องจองดังกล่าว เพื่อให้สามารถจดจำได้ง่ายโดยไม่ต้องเปิดดูตำรายา
๗. วัวหน้าโพขาว หางดอก หนอกพาดผ้า
     วัวหน้าโพขาว หางดอก หนอกพาดผ้า หมายถึงลักษณะของวัวซึ่งมีลักษณะดี นั่นคือ มีหน้าโพขาว หางเป็นลายดอก บริเวณหนอกมีลักษณะเป็นลายพาดผ้า

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
สำนวนที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม
ที่อยู่
จังหวัด
พัทลุง


บรรณานุกรม

ประสิทธิ์ บัวงาม. (2544). รายงานการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมของชาวบ้านตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน
               จังหวัดพัทลุง. สงขลา : คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025