คณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทองเป็นคณะโนราที่สืบเชื้อสายโนรามาจากโนราหมึก เมืองตรัง โนราถวิลหรือนางถวิล จําปาทอง เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ที่บ้านเลขที่ ๑๒๕ หมู่ ๙ ตําบลปากพูน อําเภอปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อนายวาด สังข์ทอง มารดาชื่อนางเสาะ สังข์ทอง อาชีพทํานา โนราถวิลเป็นบุตรีคนโต ในจํานวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน ได้แก่ถวิล ระเหม ยุโสม ไหวหยะ ปีดา ปราโมทย์ สมโชค วาสนา อาริยา เนื่องจากครอบครัวนับถือศาสนาอิสลาม พี่น้องทั้งหมดไม่มีใครรําโนราเลย มีเพียงโนราถวิล เพียงคนเดียว โนราถวิลแต่งงานเมื่ออายุ ๑๘ ปี กับบุญช่วย จําปาทอง อาชีพรําโนราแสดงเป็นพราน มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือศักดิ์ชาย สายพิณ และจริยา บุตรสาวทั้งสองสามารถโนราได้ดี และออกร่วมแสดงกับคณะของมารดาเสมอ โนราถวิลเริ่มฝึกรําโนราเมื่ออายุ ๗ ปี สาเหตุเพราะถูก ครูหมอโนรา มีอาการเจ็บป่วยบ่อย ๆ ต้องให้รําโนราจึงจะหายจากอาการป่วย บิดานําไปฝากให้ฝึกรําโนรากับโนราหมึก ซึ่งโนราถวิล ฝึกรําโนรากับโนราหมึกพร้อมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ๑๑ คน คือโนราจําเนียร โนราวันดี โนรากุศล โนราถวิล (สระทอง) โนราสมพง โนราสุณี โนราจารี โนราแพ้ว โนรานกน้อย โนราละมัย โนราถวิลได้ออกร่วมกับโนราหมึกจนมีชื่อเสียงโด่งดัง โนราหมึกจึงเปลี่ยนชื่อคณะเป็นคณะโนราสิบสองสาวนครศรี ส.หมึก เพราะเป็นคณะที่มีโนราผู้หญิงถึง ๑๒ คน โนราถวิลได้ออกแสดงและฝึกกับโนราหมึกจนมีความผูกพันเกิดความรักและชอบการรําโนรา เมื่อโนราหมึกถูกงูกัดเสียชีวิต โนราถวิลและเพื่อนๆ ได้แยกย้ายกันออกไป บางคนตั้งคณะโนราเอง บางคนไปอยู่กับคณะโนราอื่น บางคนแต่งงานมีครอบครัว ส่วนโนราถวิลออกจากคณะโนราหมึกได้มาอยู่กับคณะโนรายก ชูบัว (ศิลปินแห่งชาติ) แล้วได้ฝึกรํากับโนรายกเพิ่มเติม ลีลาท่ารําของโนราถวิลส่วนใหญ่จดจํามาจากท่ารําของโนรายก อยู่กับคณะโนรายกได้ 6 ปี โนราเดิมได้ขอตัวไปจากโนรายกและร่วมแสดงกับคณะโนราเติมเรื่อยมา ต่อมาได้แต่งงานกับบุญช่วย จําปาทองหรือพระบุญช่วย พรานประจําคณะโนราเติมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และแสดงอยู่กับคณะโนราเติมเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โนราหนูวิน-หนูวาด เลิกเล่นโนราหลังจากโนราเติมสามีเสียชีวิต และได้ยกอุปกรณ์บางอย่างรวมทั้งเครื่องดนตรีบางส่วนให้กับโนราถวิลและสามีออกตั้งคณะเป็นของตนเอง โดยใช้ชื่อคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง โดยโนราถวิลนําชื่อของลูกสาวไปตั้งเป็นชื่อคณะด้วยเนื่องจากบุตรสาวได้เรียนวิชาเอกนาฏศิลป์ที่วิทยาลัยครูสงขลา และได้ฝึกรําโนราเพิ่มเติมกับอาจารย์สาโรช นาคะวิโรจน์ บุตรสาวคนเล็กเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง และออกแสดงควบคู่กับการเรียนซึ่งมีลักษณะการแสดงแบบสมัยใหม่ มีวงดนตรีลูกทุ่งมีหางเครื่อง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ พระองค์เฉลิมพล ทิฆัมพร ได้เสด็จทอดพระเนตรการแสดงของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง พร้อมตรัสว่าขอให้เลิกเล่นวงดนตรีลูกทุ่งแล้วหันกลับมาแสดงโนราแบบโบราณ โนราถวิลและสามีจึงเปลี่ยนการแสดงจากโนราแบบสมัยใหม่มาเป็นโนราแบบโบราณ ตามพระประสงค์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
โนราถวิลเป็นโนราที่มีรูปร่างหน้าตาดี ตามเชื้อสายอิสลามและมีความสามารถโดดเด่นทั้งการรําโนราและร้องกลอน โดยเฉพาะลีลาการรําที่นิ่มนวลตามแบบโนรายก ทําให้โนราถวิลประสบความสําเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดังสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ โนราถวิลและสามีได้ร่วมกันพัฒนาการแสดงของคณะ และเข้าร่วมแข่งขันรําโนราจนได้รับรางวัล เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับรางวัลมโนห์ราดีเด่น ในงานมหกรรมชิงแชมป์โนราภาคใต้ที่จังหวัดพัทลุง ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แสดงดีเด่นได้รับรางวัลชนะเลิศชิงถ้วยรางวัลนายชวน หลีกภัย ปี พ.ศ.2536 รางวัลชนะเลิศเครื่องดนตรีไพเราะชนะเลิศทําบท ชนะเลิศลูกคู่แต่งกายเรียบร้อยและรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันศิลปะพื้นบ้านที่เทศบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ความเชื่อในการแสดงราของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีดังนี้
๑. ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอโนราหรือตายายโนรา โดยปฏิบัติตามคําสอนของครูหมอโนราอย่างเคร่งครัดและรักษาคําพูดและมีความซื่อสัตย์อยู่เสมอ |
๒. เชื่อในครูหมอโนราทุกองค์ เคารพบูชาครูโนราก่อนขึ้นโรงโนราหรือออกแสดงโดยการกล่าวคาถา |
๓. เชื่อในเรื่องพิธีเหยียบเสน เสนเป็นเนื้องอกนูนขึ้นจากระดับผิวหนังเป็นแผ่น มีความเชื่อกันว่าเสนเกิดจากครูหมอโนราทําเครื่องหมายไว้ เพื่อให้เด็กที่เป็นเสนนั้นเป็นโนราต่อไป การทำให้เสนหายไปจากร่างกายต้องให้ในราใหญ่ทําพิธีเหยียบเสนพร้อมบริกรรมคาถาและเสนนั้นจะค่อย ๆ แห้งและหายไปในที่สุด |
๔. ไม่แสดงโนราในงานแต่งงาน |
๕. ไม่แสดงโนราแก้บนในวันที่ตรงกับวันพระ |
คณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ดังนี้
๑. การแสดงของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง เป็นการรําแบบโบราณต้องปฏิบัติตามรูปแบบขั้นตอนการแสดงตามแบบโบราณ |
๒. ท่ารําของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง เป็นการรําที่ประสมท่าโดยได้รับการสืบทอดจากครูโนรา ๓ ท่าน คือโนราหมึก เมืองตรัง โนรายก ชูบัว และโนราเติม โดยที่โนราถวิลนํามาผสมผสานจนกลายเป็นกระบวนการรําประสมท่าเฉพาะของตนเองและมีท่ารําบางท่าที่ได้ดัดแปลงมาจากท่ารํานาฏศิลป์ไทยสอดแทรกไว้ในกระบวนการรําประสมท่าด้วยท่ารําของกระบวนการรํา แต่ละขั้นตอนจะใช้ท่าโค้งคํานับเป็นท่าจบอันเป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ อย่างหนึ่งของโนราถวิลที่มีความแตกต่างไปจากโนราทั่วไป คือสามารถปรับเปลี่ยนท่ารําให้สอดคล้องกับเวลาโอกาสและความพร้อมของคนดูและผู้รำ |
๓. การว่ากลอนของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง นิยมใช้กลอนพูดกับกลอนสด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถและปฏิภาณไหวพริบซึ่งส่วนมากนิยมใช้กลอนผูก เพราะเป็นคํากลอนที่มีความไพเราะคมคาย มีเนื้อหาสาระลึกซึ้งกินใจสอดคล้องกับเหตุการณ์ สามารถสร้างความประทับใจให้กับคนดูได้อย่างดี |
องค์ประกอบการแสดง (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
คณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีองค์ประกอบการแสดงดังนี้
๑. โรงโนราและฉาก โรงโนราและฉากของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีลักษณะการปลูกสร้างโรงเป็นเวทียกพื้นปูกระดาน เป็นเวทีสําเร็จรูปใช้การเช่าสําหรับการแสดงโนรา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๙ เมตร สูงประมาณ ๑-๑.๕๐ เมตร มุงหลังคาเป็นเพิงหมาแหงนหรือหลังคาราบ มุงด้วยผ้าใบมีม่านกั้นระหว่างพื้นที่ว่างสําหรับแสดงด้านหน้า กับพื้นที่ด้านหลังสําหรับเป็นที่พักและที่แต่งตัวของโนรา ส่วนฉากของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง เป็นฉากขนาดใหญ่วาดเป็นภาพวิว มีภูเขา ท้องทุ่ง บ้านที่อยู่อาศัย ด้านบนมีป้ายชื่อคณะ ด้านซ้าย-ขวาของเวทีมีหลืบ เพื่อให้ผู้แสดงเข้าออกด้านบนมีระบายบน ๒ แถว |
๒. ลักษณะการแสดงและเรื่องที่แสดง ลักษณะการแสดงและเรื่องที่แสดงของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง เป็นการแสดงโนราตามแบบโบราณ เน้นการแสดงด้านการดํารงเอกลักษณ์ของโนราเป็นสําคัญ การแสดงจะเริ่มแสดงเวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น. และเลิกเวลาประมาณ ๐๑.๓๐ น. รวมแล้วใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ ชั่วโมง |
ลําดับการแสดง (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
๑. โหมโรง |
๒. กาศครู เป็นการเชิญครูโดยการขับร้องบทไหว้ครู สดุดีคุณครู และผู้มีพระคุณทั้งปวง การกล่าวถึงครูเป็นไปด้วยความคารวะนอบน้อม สํานึกในบุญคุณมีทั้งความอบอุ่นและความยําเกรง ผู้ขับบทกาศครูจะเป็นนายโรงคือโนราบุญช่วย |
๓. โนราขับบทกําพรัดหน้าม่าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นโนราที่กําลังจะออกมาแสดงเป็นคนขับร้อง หรือบางครั้งอาจจะเป็นโนราคนอื่นก็ได้ ส่วนใหญ่บทจะมีลักษณะเป็นการบรรยายบรรยากาศการแต่งตัวของโนราก่อนออกรำ หรือเป็นบทชมธรรมชาติหรือให้คดีหรือคําสอน |
๔. นักแสดงออก หลังจากที่ร้องบทหน้าม่านหรือบทกําพรัดแล้วนักแสดงจะออกมาเป็นกลุ่มเป็นชุดประมาณ ๖-๘ คน การรําชุดแรกจะเป็นการรําประสมท่า คือลักษณะท่ารําแต่ละท่านํามาปฏิบัติต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจบการเป็นชุดนั้น ๆ คณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีลักษณะกระบวนท่ารําเป็นของตนเอง เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดจากครูโนราถึง ๓ ท่าน กระบวนการรําประสมท่าของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง ประกอบด้วยการรําออกฉากรําเท่งตุ้ง รําแม่ท่า รํานาดช้า รำจับระบํา รําเพลงครู รํานาดเร็ว รําเพลงทับ รำท่องโรง รําเคล้ามือนั่งพนัก ต่อด้วยการรำทําบท คือรำบทประถม บทครูสอน บทสอนรํา ขณะที่ผู้แสดงร้องบทไปด้วยหรืออาจจะร้องกลอนโนราต่าง ๆ หรือเล่นกลอนสดได้ตามความถนัดของผู้แสดงแต่ละคน และจบลงด้วยท่าประสมอีกครั้ง |
๕. โนราคนต่อไปออกแสดงหลังจากผู้แสดงออกมารํา และทําบทเรียบร้อยแล้ว โนราคนต่อไปซึ่งมีประสบการณ์ในการแสดงโนรามาระดับหนึ่งจะขับบทหน้าม่านแล้วออกมาประสมท่า ซึ่งถือว่าเป็นการอวดฝีมือในการรํา เพราะโนราจะแสดงความสามารถของตนในการร่ายรําแบบประสมท่าต่าง ๆ ในแบบเฉพาะของตนอวดแก่ผู้ชม เมื่อเสร็จโนราจะร่ายแตระแล้วทําบท เป็นการนําบทกลอนที่แต่งไว้มาร้องให้ถูกทํานองและตีท่ารําตามบทร้องนั้น ๆ ซึ่งเรียกว่ากลอนผูก การทําบทต้องมีปฏิภาณไหวพริบในการตีท่าจากคําร้อง ผู้แสดงจะต้องผ่านการรําทําบทและรําประสมท่ามาอย่างชํานาญ การทําบทอาจรําคนเดียวหรือเรียกให้โนราอื่นมาร่วมแสดงและว่าบทกลอนสี่ กลอนหก จบแล้วเข้าโรงหรือเวที ไปให้ในราคนต่อไปออกมาแสดงในลักษณะเดียวกัน การเรียงลําดับว่าโนราคนใดจะออกก่อนออกหลัง จะเรียงจากโนราที่มีความสามารถน้อย ไปยังโนราที่มีความสามารถมากที่สุดของคณะโนรา คือโนราใหญ่หรือหัวหน้าคณะ บางครั้งเมื่อนักแสดงเป็นชุดเวที จบไปแล้วให้ในราคนต่อไปออกรํา และแสดงทําบทคนเดียวจบแล้ว เข้าเวที ต่อมาให้ในราคนต่อไปออกมาทําบทโดยเรียกให้ในราคนอื่นมาทําด้วยกัน ๒-๓ คน เพื่อเพิ่มความครื้นเครง การทําบทของโนราแบบโบราณของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง นอกจากจะเล่นกลอนผูกแล้ว โนรายังสามารถสอดแทรกบุคคลต่าง ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมในระหว่างการทําบท มุกตลกมีทั้งการเล่าเรื่องขําขัน หยอกเย้าคนดูและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ ในปัจจุบันด้วยอารมณ์ขัน |
๖. นายโรงหรือโนราใหญ่ออกแสดง การแสดงของโนราใหญ่มีลักษณะเดียวกับผู้แสดงรําโดยขับบทหน้าม่านก่อนแล้ว จึงออกโชว์ลีลาการรําเพียงแต่ใช้เวลาแสดงอวดฝีมือในการร้อง และทําตามความถนัดยาวนานกว่าผู้แสดงโดยใช้เวลาประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง การแสดงเน้นการรําและร้อง จากนั้นจะว่ากลอนร่ายหน้าแตระและเรียกผู้แสดงคนอื่นออกมาร่วมแสดงโดยการทําบทหรือโต้ตอบกลอน โดยแต่งกลอนใหม่ให้เข้ากับเหตุการณ์ทันยุคทันสมัย เน้นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ เอดส์ ยาเสพติด คติสอนใจหนุ่มสาว เป็นต้น การว่ากลอนมุตโตคือการขับกลอนสด โดยเนื้อหาเป็นการพูดถึงเจ้าภาพหรือคนดู เมื่อว่ากลอนมุตโตถูกใจเจ้าภาพหรือคนดูถูกใจ จะมีรางวัลเป็นเงินสินน้ำใจให้ผู้แสดง โนราถวิล สายพิณ จําปาทองเป็นโนราคนหนึ่งที่มีความสามารถในการขับกลอนมุตโต ในการแสดงบางครั้งจะเชิญโนราที่มีความสามารถไปร่วมแสดง เพื่อให้เจ้าภาพและคนดูรู้สึกว่าเป็นการดูโนรา ที่คุ้มค่ากว่าเดิมและเป็นการเพิ่มสุนทรียรสในการชม |
๗. ออกพราน พรานจะขับบทหน้าม่านแล้วออกมาแสดง หน้าเวทีผู้แสดงเป็นพรานจะมีลีลาท่าทางที่เป็นตัวตลกไปในตัว จากนั้นจะว่ากลอนหรือโต้กลอนกับโนราใหญ่ หลังจากพรานออกมาแล้วในบางครั้งอาจจะเล่นเรื่องก็ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ |
๘. นายโรงลาโรง หลังจากนายโรงทําบทหรือต่อกลอนกับพรานแล้ว นายโรงจะว่ากลอนสี่แล้วต่อด้วยกลอนหกเพื่อขอบคุณเจ้าภาพและลาผู้ชม |
๙. แสดงเรื่อง เรื่องที่แสดงของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง นิยมแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ได้แก่พระสุธนนางมโนห์รา พระรถเสน ขุนช้าง-ขุนแผน สังข์ทอง บางครั้งแสดงนิยายสมัยใหม่ เป็นต้น |
เครื่องแต่งกาย
เครื่องแต่งกายโนราคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง ยุคนี้ถือว่าครบสมบูรณ์ตามแบบเครื่องต้นของโนรา โนราใหญ่จะแต่งกายด้วยชุดเครื่องต้นชุดใหญ่ ประกอบด้วย
๑) สนับเพลา |
๒) ผ้านุ่ง |
๓) รัดสะโพก |
๔) ผ้าห้อยหน้า |
๕) หางหงส์ |
๖) ปั้นเหน่ง |
๗) รัดอกหรือพานโครง |
๘) คลุมไหล่ |
๙) ปิ้งคอ |
๑๐) สังวาล |
๑๑) ปีกนกนางแอ่น |
๑๒) ทับทรวง |
๑๓) กําไลต้นแขน |
๑๔) กําไลปลายแขน |
๑๕) กําไลข้อมือ |
๑๖) เทริด |
๑๗) เล็บ |
ส่วนนักแสดงที่เป็นชุดแต่งกายด้วยชุดเครื่องต้นเล็ก ซึ่งตัดเครื่องประดับบางชิ้นของชุดเครื่องต้นใหญ่ออกไปได้แก่ทับ ทรวง ปีกนกนางแอ่น สังวาล กําไลต้นแขน ลวดลายสีสันของ ลูกปัดมีความหลากหลาย โดยมากนักแสดงจะมีชุดเป็นของตนเอง
เครื่องดนตรี (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
เครื่องดนตรีในการแสดงโนราของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง ประกอบด้วยเครื่องตี ดังนี้
๑) ทับ ทับโนราเป็นทับคู่เป็นเครื่องดนตรีที่สําคัญเพราะ ทําหน้าที่ในการควบคุมจังหวะและเป็นตัวนําในการเปลี่ยนจังหวะและทํานอง คนที่ดีทับจะต้องเป็นผู้รู้เชิงของผู้รํา เพราะทับต้องเปลี่ยนตามผู้รำ |
๒) กลอง เป็นกลองทัดขนาดเล็ก ใบใหญ่กว่ากลองของหนังตะลุงจํานวน ๒ ใบ ทําหน้าที่ในการเสริมจังหวะและล้อเสียงทับ |
๓) โหม่ง คือฆ้องคู่ มีเสียงต่างกันคือเสียงแหลมและเสียงทุ่ม คนที่โหม่งจะตีโหม่งควบคู่กับนิ่งไปด้วย |
๔) ฉิ่ง เป็นเครื่องตีเสริมเพื่อแต่งและเน้นจังหวะ ฉิ่งจะอยู่มุมซ้ายบนของรางโหม่ง คนตีฉิ่งส่วนใหญ่เป็นคนตีโหม่งด้วย โดยมือซ้ายตีฉิ่ง มือขวาตีโหม่งตามจังหวะสอดคล้องกัน |
๕) ปี่ เป็นเครื่องเป่าชิ้นเดียวของวงนิยมใช้ปี่ใน โนราโบราณขาดไม่ได้ |
๖) แตระพวง ทําจากไม้เนื้อแข็งนํามาเจาะรูหัวท้าย ร้อยด้วยเชือก ซ้อนทับที่แกนกลางแตระ ร้อยด้วยโลหะหรือเหล็กแข็ง |
แสง สี เสียง (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
แสง สี เสียงของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีเป็นของตนเองไม่ต้องเสียค่าเช่า ประกอบด้วยไฟแสงจันทร์ ๓ ดวง ใช้แขวนด้านหน้าของเวทีเว้นระยะเป็นช่วง ๆ อยู่ด้านบนหน้าเวที่สูงจากพื้น ไฟรางหน้า เวทีประกอบด้วยหลอดนีออนสีขาวอยู่ในราง รางหนึ่งมีหลายหลอดทั้งหมด ๔ ราง สปอร์ตไลน์ ๒ ดวง อยู่ด้านข้าง ของเวที่ผูกติดกับเสา หันหน้าเข้าหาเวที ส่วนเครื่องเสียงก็มีเป็นของตนเองไม่ต้องเสียค่าเช่า เป็นเครื่องเสียงขนาดกลาง ๒๒๐ วัตต์ ประกอบด้วยเครื่องเสียงแอมเพาว์เวอร์มีชุดปรับเสียง คอสโอเวอร์มี คอมเพสเซอร์ และมิกเซอร์ มีตู้ลําโพง ๒ ข้าง แยกเป็นตู้เบสและตู้เสียงกลางแหลม
นักแสดง (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
การรําโนราแบบโบราณของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีนักแสดง ๒ กลุ่มประกอบด้วยนักแสดงรุ่นเยาว์และนักแสดงรุ่นใหญ่ นักแสดงรุ่นเยาว์เป็นผู้แสดงรําที่มีอายุน้อยเป็นผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนักโดยมากจะออกรำในการแสดงชุดแรก และรําพร้อมกัน ๘-๑๐ คน มีอายุประมาณ ๑๙-๓๕ ปี ส่ววนนักแสดงรุ่นใหญ่เป็นนักแสดงรำ ทำบทที่เก่งกว่ารุ่นเยาว์ ซึ่งมีจํานวนกี่คนก็ได้ขึ้นอยู่กับนายโรงกําหนดโดยทั่ว ๆ ไป ๔-๕ คน มีอายุอยู่ในช่วง ๒๔-๔๕ ปี และบางครั้งมีนักแสดงรับเชิญที่มีชื่อเสียงมาด้วย ส่วนพรานเป็นตัวตลกประจําโรง พรานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ปกติจะสวมหน้าพราน นุ่งโจงกระเบนเป็นแบบผ้ายาว มีผ้าขาวม้า พาดบ่า เป็นผู้ทําให้ผู้ชมขมขัน พรานจะออกมาท้ายบทกับนายโรงและนําเข้าเรื่องหากมีการแสดงเรื่อง
นักแสดงโนราคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีประมาณ ๒๕ คน (ปี ๒๕๕๑) ประกอบด้วย
- นายโรงคณะโนรา ทำหน้าที่เป็นผู้รับงานและกําหนดตารางเวลา ติดต่อโนรารุ่นใหญ่ รุ่นเด็กมาร่วมแสดง มีความสามารถเฉพาะตัว รําเก่งและว่ากลอนดี นายโรงทําหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมกิจการ |
- ลูกคู่ ทําหน้าที่เล่นดนตรีหรือเรียกว่าตีเครื่อง มีลูกคู่ประมาณ ๔-๕ คน (ปี ๒๕๕๑) ซึ่งจะเล่นดนตรี ทับ กลอง ปี โหม่ง นิ่ง และแตระ เครื่องดนตรีที่สําคัญคือทับ เพราะทับทําหน้าที่ควบคุมจังหวะ ต้อง คอยดูผู้แสดงว่าเปลี่ยนท่ารําได้แล้วทับจะเปลี่ยนจังหวะตามผู้รํา |
ค่าแสดง (ค่าราด) (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
คณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีนายบุญช่วย จําปาทอง เป็นผู้จัดการ ซึ่งเป็นสามีของโนราถวิลทําหน้าที่ควบคุมคณะรับงานแสดงและดูแลความเรียบร้อยทั่วไปในคณะโนรา สามารถ ตัดสินใจและแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจการแสดงโนราอยู่รอด การรับงานเจ้าภาพหรือผู้รับเหมาจะมาติดต่อว่าจ้างคณะโนราไปทําการแสดงทางโทรศัพท์ ตกลงในเรื่องค่าใช้จ่ายในการแสดงไว้ล่วงหน้า โดยมากจะไม่มีการวางมัดจําเพราะใช้ความไว้วางใจ หากจะต้องวางมัดจําจะให้มัดจํา ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นของคณะโนรา เช่น การเดินทาง ค่าติดต่อประสานงาน อัตราค่าจ้างคณะโนราจะเป็นผู้ตั้งราคา มีดังนี้ (ปี ๒๕๕๑)
๑) ในกรณีที่ทําการแสดงภายในพื้นที่จังหวัดพัทลุง คืนละ ๑๒๐,๐๐๐-๑๓๐,๐๐๐ บาท |
๒) ในกรณีที่ทําการแสดงนอกพื้นจังหวัดพัทลุง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกลในการเดินทาง คืนละ ๑๕๐,๐๐๐-๑๘๐,๐๐๐ บาท |
ค่าตอบแทนนักแสดง
สำหรับค่าตอบแทนนักแสดง (ปี ๒๕๕๑) นั้นจะได้รับไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับฝีมือผู้แสดงและเครื่องดนตรีที่บรรเลง
๑) กลุ่มนักแสดงฝึกหัดใหม่ คือนักเรียนนักศึกษาที่มีความสนใจและมีใจรักในการรํา ได้ติดตามคณะโนราออกแสดงหาประสบการณ์ เพื่อหารายได้พิเศษเป็นครั้งคราวได้ค่าตอบแทนใน การแสดงประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ บาท/๑ คืน |
๒) กลุ่มนักแสดงที่มีความชํานาญในระดับกลาง คือกลุ่มนักแสดงที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงทางการแสดง นักแสดงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของหัวหน้าคณะโนรา และได้รับการฝึกรําโนรามาตั้งแต่เด็ก ออกแสดงร่วมกับคณะโนราทั่ว ๆ ไป ค่าตอบแทนในการแสดงประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ บาท/๑ คืน |
๓) กลุ่มนักแสดงที่มีความชํานาญในระดับสูง คือนักแสดง ที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงในการแสดง นักแสดงกลุ่มนี้มีความสําคัญมาก ส่วนใหญ่จะเป็นนักแสดงรับเชิญจากคณะโนราอื่น ๆ ให้มาร่วมแสดง นักแสดงกลุ่มนี้รวมทั้งนายโรงและพรานประจําคณะ ได้ค่าตอบแทนประมาณ ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท/๑ คืน |
๔) กลุ่มนักดนตรี เป็นนักดนตรีอาวุโสมีประสบการณ์ เล่นดนตรีมานาน รู้กระบวนการรําและทํานองเพลง นักดนตรีได้รับค่าตอบแทนตามประเภทของเครื่องดนตรี คือปี่ได้ ๔๐๐-๕๐๐ บาท/๑ คืน มือทับ มือโหม่ง ได้ ๓๐๐-๔๐๐ บาท/๑ คืน มือกลอง มือแตระ ได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท/๑ คืน |
๕) ผู้รับเหมาให้เช่าโรงโนราและเวทีพร้อมติดตั้ง คิดราคาประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท/๑ ครั้ง กรณีให้บริการภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง กรณีให้บริการในต่างจังหวัดขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกลในการเดินทาง ราคา ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท/๑ ครั้ง |
๖) ผู้รับเหมาให้เช่ารถบรรทุก คือกลุ่มที่ให้บริการเช่า รถบรรทุกสําหรับขนย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ของคณะโนรา รวมทั้งนักแสดงโดยคิดค่าบริการราคา ๑,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ บาท/๑ คืน โดยไม่รวมค่าน้ำมัน (ส่วนนี้คณะโนราเป็นผู้รับผิดชอบ) |
ธรรมเนียมนิยมในการแสดง
ธรรมเนียมนิยมในการแสดงโนราของคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง ที่ยึดถือปฏิบัติเป็นระบบที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อความเป็นสิริมงคลในคณะประกอบด้วย
๑. ตั้งเครื่อง เมื่อคณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง เดินทางไปถึงแล้วเข้าภายในโรงโนรา ก่อนทํากิจกรรมอื่น ลูกคู่บรรเลงดนตรี ๑ เพลง เพื่อบอกกล่าวครูหมอโนราให้ทราบว่าคณะโนราได้ เดินทางมาถึงสถานที่แสดงแล้ว |
๒. พิธีเบิกโรงเป็นพิธีการขอที่ตั้งโนราและขอบารมีคุณพระศรีรัตนตรัย เทวดา พระแม่ธรณี ครูหมอโนรา มาช่วยคุ้มกันรักษาและดลบันดาลให้ผู้ชมเกิดความรัก ความนิยมชมชอบ เริ่มด้วยการทําพิธีเบิกโรงนําพรานหรือขันเครื่องเบิกโรง (เครื่องกํานลประกอบด้วย หมาก พลู ๓ คํา เทียน ๓ เล่ม ดอกไม้ ๓ ดอก กําไล ๓ วง เล็บสวมมือ 3 อัน (เล็บโนราที่ใส่ตอนรำ) ๓ อันและเงินจํานวนตามที่โนรากําหนด ออกมานั่งกลางโรงโดยหันหน้าไปทางหน้าโรงและนําเครื่องดนตรีประกอบด้วยกลอง ๑ ใบ ทับ ๒ ใบ โหม่งและนิ่งวางเรียงตามลําดับโดยหันหน้ากลองและหน้าทับไปทางหน้าโรง ผู้ทําพิธีลงอักขระที่เครื่องดนตรี ที่ใบพลูแล้วพับใบพลูครึ่งหนึ่งม้วนเป็นรูปกรวย เอาหมากใส่ในกรวยเรียกว่าจุกอก นําหมากคําที่ ๑ วางบันทับใบที่ ๑ พร้อมปักเทียน ๑ เล่มและวางกําไล ๑ วง เล็บสวมมือ ๑ อัน (เล็บโนราที่ใส่ตอนรำ) ดอกไม้ ๑ ดอก หมากคําที่ ๒ วางบนทับใบที่ ๒ พร้อมปักเทียน ๑ เล่ม และวางกําไล ๑ วง เล็บสวมมือ ๑ อัน (เล็บโนราที่ใส่ตอนรำ) ดอกไม้ ๑ ดอก หมากคําที่ ๓ วางบนกลองพร้อมปักเทียน ๑ เล่ม กําไล ๑ วง เล็บสวมมือ ๑ อัน (เล็บโนราที่ใส่ตอนรำ) ดอกไม้ ๑ ดอก จากนั้นตั้งนโม ๓ จบ แล้วกล่าวคําบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคําชุมนุมเทวดา กล่าวคําชุมนุมครู จบแล้วทําพิธีซัดหมากให้สิ่งที่ไม่ดีออกไป |
๓. โหมโรง คณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทองบรรเลงดนตรีก่อนการแสดงโดยบรรเลงดนตรีล้วน ๆ ในจังหวะและทํานอง ๑๒ เพลง อีกทั้งเตือนให้ผู้ชมได้รู้ว่าใกล้ถึงเวลาแสดงแล้ว |
๔. กาศครู หัวหน้าคณะในราถวิล สายพิณ จําปาทอง ขับร้องบทกลอนเพื่อระลึกถึงครูของโนราและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อขอบารมีคุ้มครอง ช่วยดลบันดาลให้ประสบผลสําเร็จในการแสดง บทกลอนกล่าวถึงพระรัตนตรัย ความเป็นมาของโนรา การขอขมา พระแม่ธรณีแลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่บทขานเอ บทฤกษ์ งามยามดี บทร่ายแตระ |
๕. ไหว้ครู คณะโนราถวิล สายพิณ จําปาทอง มีการไหว้ครูก่อนการแสดง เพื่อเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปก่อนออกแสดง นักแสดงทุกคนยกมือไหว้ครูเพื่อระลึกถึงครูและให้การแสดงผ่านไปด้วยความราบรื่น |
บุปผาชาติ อุปถัมภ์นรากร. (2553). ศิลปะการแสดงโนรา : การอนุรักษ์ การพัฒนา และการสืบสาน. นนทบุรี : สัมปชัญญะ.