ซัมเป็ง
 
Back    26/11/2018, 11:13    34,236  

หมวดหมู่

การละเล่น


ประเภท

เต้น


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : https://sites.google.com/site/foodandcultureofthesouth/hnang-talung/sam-peng

    วิถีชีวิตของชาวภาคใต้ตอนล่างเป็นวัฒนธรรมลักษณะผสมผสานของวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วยวัฒนธรรมฮินดู วัฒนธรรมชวา-มลายู และวัฒนธรรมมุสลิม ปรากฏให้เห็นตามบริบททางวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปะการแสดงในแนวนาฏยศิลป์พื้นบ้าน อันถือได้ว่ามีความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งไม่เหมือนกับภาคอื่น ๆ ของไทย ศิลปะการแสดงลีลาท่ารำประกอบจังหวะดนตรีมลายูถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ เรียกว่า “จอแฆะ” ในบรรดา “จอแฆะ” นั้น “ซัมเป็ง” ถือว่าเป็น “จอแฆะ”ระดับคลาสสิคอย่างหนึ่ง (ไพบูลย์ ดวงจันทร์, ๒๕๒๓ อ้างถึงใน ทิลฎา คงพัฒน์, ๒๕๕๓) ศิลปะการละเล่นซัมเป็งเป็นการเต้นรำพื้นบ้านที่นิยมกันในหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายมลายู จากงานวิจัยพบว่าซัมเป็งแพร่เข้ามายังแหลมมลายูและนิยมเล่นกันเฉพาะในวังของเจ้าเมืองและบ้านขุนนางเท่านั้น ใฃ้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือบุคคลสำคัญ การเต้นซัมเป็งผู้แสดงที่เป็นผู้หญิงจะแต่งกายให้สวยงาม แต่งหน้าทาปากแต่งผม พร้อมเครื่องประดับศีรษะสวยงาม และนุ่งผ้ากาเอนบือเละ (ผ้าถุง) ยาวจรดเท้าลาดลายปาเต๊ะ สวมเสื้อกูรงคือเสื้อเข้ารูปยาวคลุมสะโพก คอกลมติดผ่าหน้ากว้างพอสวมศีรษะได้ (หรือผ่าหน้าตลอดติดกระดุมทอง) แขนยาวทรงกระบอกมีผ้าผืนใหญ่บางคลุมไหล่ใส่เครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน กำไร ต่างหู เข็มขัด ฯลฯ อย่างสวยงาม การต้อนรับแขกคนสำคัญที่มาเยือนท้องถิ่นด้วยซัมเป็งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นเกียรติอย่างสูง ในการสร้างสรรค์ระบำพื้นบ้านภาคใต้ตอนล่างหลาย ๆ ประเภท จะได้รับท่าทางที่มีพื้นฐานมาจากท่ารำของซัมเป็งทั้งนั้น ซึ่งถือได้ว่าซัมเป็งเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ที่นำไปใช้ในการสร้างสรรค์ระบำพื้นบ้านของภาคใต้ อาทิ ระบำแกแนะ อูแด ระบำ ตารีวาบูแล เป็นต้น

กำเนิดและพัฒนาการซัมเป็ง
     ซัมเป็งเกิดขึ้นในราชสำนักของสุลต่านหรือบ้านของขุนนาง เพราะประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมจะไม่นิยมให้ผู้หญิงเข้าสังคมกับผู้ชายโดยประเจิดประเจ้อ การจับคู่เต้นระหว่างชายกับหญิงจะมีเกิดขึ้นได้ผู้นั้นต้องเป็นบริวารของสุลต่านหรือของขุนนางผู้ใหญ่ การเต้นซัมเป็งจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ชายและ หญิงได้มีโอกาสพบกัน ต่อมาการเข้มงวดในเรื่องประเพณีก็ค่อย ๆ ลดลงทำให้การเต้นซัมเป็งก็แพร่หลายออกไปสู่สังคมและสามัญชน ซึ่งก็เป็นที่นิยมแต่ก็อยู่ไม่นานนัก การละเล่นซัมเป็งก็ค่อย ๆ จางหายไปด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ อาทิ ขาดการสนับสนุนและการสืบทอด ทำให้การละเล่นประเภทซัมเป็งได้หายไปจากสังคมภาคใต้ ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถ (รัชกาลที่ ๙) เสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ได้ฟื้นฟูและส่งเสริมการเต้นซัมเป็งขึ้นเพื่อถวายทอดพระเนตร หลังจากนั้นการเต้นซัมเป็งก็กลับมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอีกครั้งหนึ่ง ซัมเปงเป็นนาฏศิลป์แบบหนึ่งของชาวไทยมุสลิมทางชายแดนภาคใต้ของไทย มีลีลาการเต้นคล้ายคลึงกับการเต้นรองเง็ง มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นการเต้นที่ได้นำเอาลีลาการเต้นระบำแบบชาวสเปนมาผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมืองในแหลมมลายู เช่นเดียวกับการเต้นรองเง็ง โดยจุดกำเนิดและพัฒนาการของซัมเปงเกิดขึ้นได้  ๓  ลักษณะคือ

๑. เกิดขึ้นจากการรับวัฒนธรรมจากพ่อค้าชาวสเปนเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับบรรดาหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะเมืองปัตตานีเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งอาจเป็นศูนย์กลางในการรับวัฒนธรรมใหม่จากชาวสเปน  แล้วเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองเดิม จึงก่อให้เกิดการแสดงออกทางด้านศิลปะการเต้นรำในลีลาใหม่ที่เรียกว่า “การเต้นรำแบบสเปน”  แล้วค่อย ๆ เรียกเพี้ยนไปเป็น “ซัมเป็ง”
๒. สเปนเป็นชาติตะวันตกชาติหนึ่งที่นิยมล่าเมืองขึ้นโดยมายึดครองดินแดนในเอเชียเป็นเวลายาวนาน  โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งสเปนพยายามสถาปนาให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีชาวพื้นเมืองเดิมนับถือศาสนาอิสลาม ให้หันมานับถือศาสนาคริสต์เพื่อเป็นตัวแทนของสเปนในภูมิภาคนี้ ด้วยเหตุนี้สเปนจึงนำเอาประเพณีวัฒนธรรม  และศิลปะการแสดงตามแบบฉบับของสเปน และด้วยเหตุที่ชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ได้มีการติดต่อค้าข้ายกับชาวพื้นเมืองมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามจึงทำให้นาฏศิลป์การเต้นซัมเปงซึมซาบเข้ามาในดินแดนมลายู
 ๓. การเต้นซัมเปงอาจเป็นศิลปะในราชสำนักของบรรดาสุลต่านตามหัวเมืองมลายูมาก่อน   โดยที่ราชสำนักได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของชาวสเปนมาจากกลุ่มพ่อค้าอาหรับที่เคยค้าขายกับสเปนโดยตรงและบรรดาพ่อค้าอาหรับเหล่านี้  ได้นำเอาศิลปะการเต้นระบำของชาวสเปนเข้ามาเผยแพร่แล้วเกิดการผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมืองกลายมาเป็นซัมเปงที่ถ่ายทอดสืบกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 
              
การเต้นซัมเป็งเป็นนาฏยศิลป์ของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง เกิดขึ้นครั้งแรกที่ จังหวัดนราธิวาส อันเนื่องจากพื้นที่ของนราธิวาสมีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ทำให้รับอิทธิพลการแสดงของมาเลเซียที่เรียกว่า “ซาปิน” ซึ่งเป็นการเต้นที่มีลีลา จังหวะและใช้การแตะเท้า เมื่อคนไทยรับมาก็มีการประยุกต์และเรียกว่า “ซัมเป็ง” และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในจังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาก็กระจายแพร่หลายไปถึงปัตตานี และยะลา จากการศึกษาพบว่าพัฒนาการของการเต้นซัมเป็งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก อาทิ การย่อตัวและแตะเท้า ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นเตะเท้าอย่างเดียว หรือเพลงที่ใช้ในการแสดงนั้นจากที่ใช้เพลงช้าในในอดีตก็พัฒนามาใช้เพลงที่มีจังหวะเร็วขึ้นเมื่อใช้เพลงที่มีจังหวะเร็วขึ้นการแสดงก็ได้มีการ พัฒนาเรื่องของท่าทางในการแสดงโดยปรับท่าทางของดอกให้เข้ากับเพลง และปัจจุบันยังมีการปรับท่าทางให้เข้ากับผู้ชมในท้องถิ่นให้ดูแล้วสนุกสนาน

รูปแบบการแสดง
   การเต้นซัมเป็งของแต่ละจังหวัดในภาคใต้นั้นมีข้อแตกต่างของท่าทางในการแสดงเพียงเล็กน้อย คือท่าทางของมือ โดยที่ปัตตานีจะม้วนออก นราธิวาสจะเป็นลักษณะม้วนเข้า ส่วนท่าทางของเท้าเป็นแบบเดียวกัน รูปแบบและองค์ประกอบของซัมเป็งมีรูปแบบที่มีแบบแผน และ มีขั้นตอนในการเต้น ซึ่งผู้เต้นจะต้องมีสมาธิในการเต้นตลอดเวลา เนื่องจากต้องเต้นเป็นกลุ่มหาก ผู้ใดเกิดผิดพลาดขบวนการหรือขั้นตอนการแสดงก็จะผิดพลาดกันทั้งกลุ่ม สำหรับแบบแผนในการเต้นมีดังนี้ คือในการเต้นมีผู้เต้น ๔ คน หรือ ๒ คู่ ซึ่งจะเรียกว่า ๑ ดอก ซึ่งในการเต้นจะเต้นกี่ดอกก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเต้นกี่ดอกก็ตามจะเต้นและแปรแถวกันเฉพาะในดอกของตนเท่านั้น ในการเต้นซัมเป็งต้องมีองค์ประกอบคือ

นักแสดง
เครื่องดนตรี หรือเสียงดนตรี
การแต่งกาย
ท่าเต้น
  • นักแสดง 
    การแสดงจะเริ่มเมื่อดนตรีดังขึ้น คู่ชายหญิงก็จะออกไปแสดงลีลาการเต้นพร้อมกันทั้งหมด และจะเปลี่ยนท่าไปตามทำนองของดนตรีอย่างสวยงามตามลำดับท่า และในท่าสุดท้ายดนตรีจะรัวเร็ว ผู้แสดงจะเต้นสะบัดปลายเท้าเร็วมากและเมื่อใกล้จะจบเพลงทำนองเพลงเร็วขึ้น จบการแสดงโดยผู้เต้นจะหยุดเต้นลงพร้อมกันเมื่อเวลาเพลงจบพอดี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้เปลี่ยนรูปแบบการแสดงโดยมีการแปรแถวที่หลายรูปแบบ อาทิ แถวหน้ากระดาน  แถวตอน  แถววงกลมแยกเดี่ยว  แถววงกลมแยกคู่  แถววงกลมสลับเข้า–ออก  โดยการเคลื่อนที่จากจุดเดิมตลอดจนจบเพลง และคิดประดิษฐ์ท่าเต้น เพิ่มเติมขึ้นอีก ๔-๕  การแสดงจะเริ่มเมื่อดนตรีเริ่มบรรเลงคู่ชายหญิงก็จะออกไปแสดงลีลาการเต้นพร้อมกันทั้งหมด และจะเปลี่ยนท่าเต้นและแปรแถวไปตามทำนองของดนตรี ผู้แสดงซัมเปงในสมัยแรกเริ่มใช้ผู้ชายล้วน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการแสดงเพื่อเผยแพร่ศาสนาของชาวอาหรับในมลายู   ต่อมาเมื่อการแสดงเริ่มแพร่หลายในมลายู ผู้หญิงเริ่มเข้าร่วมการแสดงจนกลายเป็นการเต้นคู่ชาย-หญิงโดยมากมักแสดงในวัง การแสดงซัมเปงที่นิยมแสดงในจังหวัดนราธิวาส ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยตั้งแต่ ๓๐–๕๐ ปี  มีอาชีพเป็นพ่อค้า ข้าราชการ และแม่บ้าน  แต่ปัจจุบันนักแสดงส่วนใหญ่จะเป็นเป็นครู อาจารย์ หรือนักเรียนนักศึกษา จากสถาบันหรือสถานศึกษาต่าง ๆ รวมตัวกันเมื่อมีการแสดง และจะมีทั้งผู้หญิงล้วนหรือผู้ชายคู่ผู้หญิง ส่วนจำนวนคู่ในการแสดงนิยมเล่นตั้งแต่ ๒–๔ คู่
  • เครื่องดนตรีหรือเสียงดนตรี  
    ในปัจจุบันเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเต้นซัมเปงได้นำเอาเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในการเต้นรองเง็งมาใช้ ซึ่งประกอบด้วยไวโอลิน รำมะนาใหญ่ รำมะนาเล็ก ฆ้อง แมนโดลิน และแอคคอร์เดียน แต่เครื่องดนตรีหลัก ๆ มี ๓ ชนิดคือ

    ๑. มอรูวัส (กลองรำมะนาขนาดเล็ก) จะใช้เป็นเครื่องตีขัดจังหวะการเต้นและสร้างความสนุกเร้าใจ
    ๒. ซอสามสาย (แต่มี ๒ สาย เรียกรือบะ Rebab หรือคาบุส ใช้เป็นตัวนำให้ทำนองเพลงที่ไพเราะอ่อนหวาน ยุคปัจจุบันมีการใช้ไวโอลิน และกีร์ต้าร์เข้ามาแทน
    ๓. ฆ้องหรือฆง เป็นเครื่องให้จังหวะในการเต้นรำประสานกับกลอง
     

                  

ภาพจาก : https://sites.google.com/site/silpkarsaedngwathnthrrm/silp-wathnthrrm/sam-peng

  • เครื่องแต่งกาย 
    เครื่องแต่งกายในการการแสดงเต้นซัมเปงนั้น ยังคงยึดแบบแผนการแต่งกายมาจากวิถีชีวิตของคนไทยมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือผู้ชายสวมเสื้อตือโละบือลางอ กางเกงขายาว ทรงหลวม สวมทับด้วยผ้าซาเลนดัง สวมหมวกซะตางันและมีผ้าคาดเอว ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อบานง ผ้านุ่งสไบ สร้อยคอ ต่างหูกำ ไลข้อมือ เกล้าผมแบบมวยใต้และมีดอกไม้ประดับศีรษะ ในอดีตการแต่งกายจะแต่งแบบพื้นเมืองและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในการดำรงชีพโดยยึดความแบบเรียบง่ายเป็นคือ ผู้ชายสวมเสื้อคอจีนทรงหลวมแขนยาว นุ่งกางเกงขายาว มีผ้าสลีแนสวมทับเสื้อและกางเกงเหนือเข่า สวมหมวกซอเกาะสีดำ ผู้หญิงสวมเสื้อลูกไม้เข้ารูปคอวี แขนยาว ผ่าอก ผ้านุ่งใช้ผ้าปาเต๊ะ ใช้ผ้าสไบคล้องคอสีตัดกับชุด สำหรับการแต่งกายในปัจจุบันจะแต่งแบบพื้นเมืองโดยพัฒนาแบบจากราชสำนักมลายูชาย–หญิง และใช้ผ้าสอดดิ้นเงิน–ทอง ลวดลายสวยงามมีสีสันสดใส ลักษณะการตัดเย็บมักใช้ผ้าแบบเดียวกันทั้งชุดผู้ชายและผู้หญิง สำหรับหมวกผู้ชายนำผ้าชนิดเดียวกับชุดจับจีบ ตัดเย็บเป็นหมวกคล้ายชะตางันของเจ้าบ่าว ส่วนผ้าสไบของผู้หญิงมีการปรับเปลี่ยนจากคล้องคอเป็นพาดไหล่ โดยมากมักให้ปลายผ้าด้านหนึ่งด้านใดพาดที่ไหล่ส่วนปลายมาอีกข้างคล้องที่แขนเพื่อเป็นวางท่วงท่าของมืออย่างสง่างาม มีการสวมเครื่องประดับได้แก่ สร้อยคอ ต่างหู ปิ่นดอกซัมเปง ดอกไม้ไหว หรือดอกไม้สด ดอกไม้ปลอมทัดผม สำหรับการแต่งกายของผู้เต้นซัมเป็ง หลักมีดังนี้

           ผู้แสดงชาย 
           ๑. กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวคอปิดติดกระดุม ๓ เม็ด เรียกว่าจือโระบรางอ
           ๒. ผ้านุ่งทับกางเกงสั้นเหนือเข่าเรียกว่าผ้าซอแกะ
           ๓. เข็มขัดทับกางเกงและผ้าวอแกเรียกว่าเปินแนะ
           ๔. หมวก ตัดเย็บด้วยผ้าเรียกว่าซะตางัน
           ๕. สวมรองเท้าหุ้มส้นสีดำ

           ผู้แสดงหญิง
           ๑. นุ่งผ้ายาวกรอมเท้า จีบหน้านาง
           ๒. สวมเสื้อเข้ารูป แขนกระบอก ตัวยาวคลุมสะโพก เรียกว่า ปันดง หรือปันนัง
           ๓. คลุมผ้าสะไบ เรียกว่ากาเฮงสะบา
           ๔. สวมรองเท้าหุ้มส้นสีดำ

  • ท่าเต้น 
    การเต้นซัมเป็งของแต่ละจังหวัดในภาคใต้นั้นมีข้อแตกต่างของท่าทางในการแสดงเพียงเล็กน้อย คือท่าทางของมือโดยที่ปัตตานีจะม้วนออก ส่วนนราธิวาสจะเป็นลักษณะม้วนเข้า ส่วนท่าทางของเท้าเป็นแบบเดียวกัน รูปแบบและองค์ประกอบของซัมเป็งมีรูปแบบที่มีแบบแผน และ มีขั้นตอนในการเต้น ซึ่งผู้เต้นจะต้องมีสมาธิในการเต้นตลอดเวลาเนื่องจากต้องเต้นเป็นกลุ่มหาก ผู้ใดเกิดผิดพลาดขบวนการหรือขั้นตอนการแสดงก็จะผิดพลาดกันทั้งกลุ่ม สำหรับแบบแผนในการเต้นมีดังนี้ คือในการเต้นมีผู้เต้น ๔ คน หรือ ๒ คู่ ซึ่งจะเรียกว่า ๑ ดอก ซึ่งในการเต้นจะเต้นกี่ดอกก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเต้นกี่ดอกก็ตามจะเต้นและแปรแถวกันเฉพาะในดอกของตนเท่านั้น ท่าเต้นของซัมเป็ง ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอนคือ

    ขั้นตอนที่ ๑
    -  ท่าออกเมื่อออกมาถึงกลางเวทีโค้ง ทำความเคารพผู้ชม หรือภาษามลายูถิ่น หมายถึงการซาลาม

    ท่าเตรียมหรือท่าเบสิก (ท่าพื้นฐาน)
    ท่าเข้าดอก (การแปรแถวให้มีลักษณะเป็นกลีบดอกไม้)
    ขั้นตอนที่ ๒
    ท่ารำวง
    - ท่าแดเจ๊าะ
    -
    ท่าโปรยดอกไม้
    -
      ท่าเกล็ดปลายาว
    -
    ท่าเกล็ดปลาสั้น
    -
    ท่ารองเง็ง
    -
    ท่าดอกรัก
    ขั้นตอนที่ ๓
    - ท่าแปรแถว (จากเต้นเป็นดอกแปรแถว เป็นแถวหน้ากระดาน)
    -
    ท่าแปดปิด (สไลด์ปิด)
    - ซาลามจบ

              ในการเต้นซัมเป็งนั้นก่อนจะเปลี่ยนท่าแต่ละท่าจะมีท่าพื้นฐาน ซึ่งใช้เป็นท่าเชื่อมก่อนจะเปลี่ยนท่าทุกครั้ง ซึ่งมีวิธีการคือชาย-หญิงจะยืนเข้าคู่ชุดละ ๔ คน  (ชายยืนทางขวามือของหญิง) แล้วสวนแถวกับคู่ไป–กลับ ประกอบด้วย 

๑.  ท่ารำวง เดินแบบสไลด์ครึ่ง เปลี่ยนที่เป็น ๔ ทิศ จนกลับมาอยู่ที่เดิม
๒. ท่าแคเจาะ เป็นท่าที่เดินเข้าวง ๗ จังหวะของท่า Basic นับ ๑ และเข้ามุม ๓ จังหวะ เดินออกถอยเท้าซ้าย เท้าขวา ก้าวไขว้ เท้าซ้าย ก้าวเท้าขวาชิด ก้าวหน้าเท้าซ้าย เตะ เท้าขวาขยั่นเท้าซ้าย วางเท้าขวาลงหน้า (ท่าสไลด์เตะ ๗ จังหวะ)
๓. ท่าเกล็ดปลายาวเดินสวนทีละคู่ สับหว่างตรงกันข้ามสวนไป–กลับ เปลี่ยนคู่ที่ ๒ ไป–กลับ สำหรับคู่ที่ไม่สวน เต้นท่าสไลด์ครึ่ง ๒ ครั้ง หันหน้าออกนอกวงและหมุนกลับหันในวง สวนกับคู่ไป–กลับ
๔. ท่ารองเง็ง เต้นท่ารองเง็งก้าวเท้าขวา ก้าวเท้าซ้าย วางหลังเท้าซ้าย แตะปลายเท้าขวา ข้างเท้าซ้าย วางส้นขวา นับ ๑ จังหวะ ปฏิบัติแบบนี้อีก ๑ ครั้ง นับเป็น ๒ จังหวะ สลับเท้าเป็นเท้าซ้าย
๕. ท่าโปรยดอกไม้เป็นท่านั่งเข้ามุม ๔ คน มือขวากรีดนิ้วกลางโปรยดอกไม้ออกข้างลำตัวตามจังหวะ หยิบดอกไม้ ๔ ครั้ง แล้วยืนขึ้น ถอยกลับที่แล้ว Basic ๑ ครั้ง ปฏิบัติท่าโปรยดอกไม้อีก ๑ ครั้ง แล้ว Basic สวนคู่ไป–กลับ
 ๖. ท่าเกล็ดปลาสั้น สวนไป–กลับ ด้วยท่าเกล็ดปลาสั้นกับคู่ของตัวเอง โดยวิธีการสวนหลังหญิงกับหญิง ชาย กับชาย กลับที่เดิม
๗. ท่าดอกรัก ก้าวเดินเข้าหาคู่ ๒ จังหวะ ม้วนมือกรีดนิ้วระดับหน้าผากหมุนตัวไหล่ขวาชนกับคู่พร้อมกรีดนิ้วนับ ๑ ครั้ง หมุนกลับพร้อมเปลี่ยนมือไหล่ซ้ายชนคู่พร้อมกับเปลี่ยนมือนับ ๓ ครั้ง ก้าวเดินออกแล้ว Basic สวนคู่ไปปฏิบัติท่าดอกรักอีกครั้งแล้วสวนกลับ
๘.  ท่ารับตอนจบก้มศีรษะลงเล็กน้อยโน้มลำตัวลงมือทั้งสองแตะหน้าผากแล้วผายออก ผู้ชายเดินขึ้นแบบสไลด์ครึ่งผู้หญิงเดินลงแบบ สไลด์เตะรวมแถวเป็นแถวเดียวเดินขึ้นและเดิน ลงแบบสไลด์แตะ ๔ ครั้ง เดินลงแบบแตะข้าง ๓ จังหวะ ๔ ครั้ง ยืนชิดเท้าหันหน้าออกทางผู้ชม
๘. ๑. ยืนคู่ชาย-หญิง เซ็ตละ ๔ คน (เรียกว่า ๑ ดอก) เพลงจังหวะที่ ๑ สลามผู้ชม
๘. ๒. ย่ำเท้าอยู่กับที่ ๔ จังหวะใหญ่
 ๘. ๓. เดินขึ้น ๔ จังหวะ
๘. ๔. เดินถอยลง ๔ จังหวะ
๘. ๕. เดินเปิดสไลด์ปิด ๑ ครั้ง
 ๘. ๖. ท่า Basic สไลด์หมุน ๗ จังหวะ ๒ ครั้ง
๘. ๗. ท่า Basic สไลด์เตะ ๗ จังหวะ ๒ ครั้ง
๘. ๘. ท่า Basic สไลด์ครึ่ง ๗ จังหวะ ๒ ครั้ง (ผู้ชายทำท่าสไลด์ครึ่ง, ผู้หญิงทำ ท่าสไลด์หมุน)

          

ภาพจาก : https://sites.google.com/site/silpkarsaedngwathnthrrm/silp-wathnthrrm/sam-peng

       ในการแสดงการเต้นซัมเป็งจะเริ่มเมื่อดนตรีดังขึ้นคู่ชายหญิงก็จะออกไปแสดงลีลาการเต้นพร้อมกันทั้งหมด และจะเปลี่ยนท่าไปตามทำนองของดนตรีอย่างสวยงามตามลำดับท่า และในท่าสุดท้ายดนตรีจะรัวเร็ว ผู้แสดงจะเต้นสะบัดปลายเท้าเร็วมากและเมื่อใกล้จะจบเพลงทำนองเพลงเร็วขึ้น จบการแสดงโดยผู้เต้นจะหยุดเต้นลงพร้อมกันเมื่อเวลาเพลงจบพอดี ลักษณะการเต้นรำเป็นการเต้นรำคู่ชายหญิงจะไม่มีการจับมือถูกต้องตัวกัน ต่างเต้นคู่ร่ายรำไปตามจังหวะดนตรี กล่าวกันว่าเดิมนั้นซัมเปงมีการเต้นรำกันเพียงคู่เดียว เป็นท่าที่เต้นหมุนไปรอบ ๆ เรียก “ปูซิปันยัง” ต่อมาภายหลังมีผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำเพิ่มอีกราว ๖ ท่า และเพิ่มคู่เต้นรำมากขึ้น เพื่อให้สนุกมีผู้ร่วมเต้นรำได้มากขึ้น ท่าเต้นรำทั้ง ๖ ท่า คือ

๑. ยาสันบือโต เป็นท่าเต้นแบบเดินไปข้างหน้า
๒. ฮูโนปลาวัน เป็นท่าเต้นแบบถอยหลัง
๓. ซีกูกูราวัง เป็นท่ากางแขนทำนองค้างคาวบิน
๔. ซีซีอีกัน เป็นท่าเต้นย้ายตำแหน่งระหว่างชายหญิงแบบก้างปลา
๕. ปูซิงปันยัง เป็นท่าเต้นหมุนไปรอบ ๆ
 ๖. วีนัส เป็นท่าสบัดปลายเท้ามีจังหวะที่เร็วมาก และการเต้นจบในท่านี้

   
           
การเต้นซัมเปงในอดีตจะเป็นการเต้นคู่ชายหญิงที่ต่างคนต่างเต้นเป็นคู่ ๆ หากแต่เดิมนั้นมีการเต้นเพียงคู่เดียว และท่าของการเต้นมีอยู่ท่าเดียวเท่านั้น คือท่าที่เรียกว่า “ปูซิงปันยัง” ซึ่งเป็นท่าที่หมุนไปรอบ ๆ ต่อมาเพิ่มเติมขึ้นอีก ๕ ท่า รวมทั้งหมดเป็น ๖ ท่าด้วยกัน คือยาลือบือโตเป็นท่าเต้นแบบเดินตรงไปข้างหน้า ฮุโนปลาวันเป็นท่าเต้นถอยหลัง ซีกุกุราวังเป็นท่ากางแขนทำนองค้างคาวบิน ซีซิอิกันเป็นท่าเต้นย้ายตำแหน่งระหว่างชายหญิงแบบก้างปลา ปูซินปันยังเป็นท่าที่เต้นหมุนไปรอบ ๆ ส่วนการเต้นซัมเป็งในปัจจุบันจะมีการนำท่าทางของซัมเป็งมาจัดลำดับท่า และแถวให้สวยงามได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยเพื่อง่ายในการถ่ายทอดและในแต่ละคณะจะมีการเรียบเรียงท่ารำที่แตกต่างกันบ้างแต่ส่วนมากท่ารำการเต้นซัมเป็งจำแนก ได้ ๓ กลุ่มใหญ่ ได้แก่

๑.  ท่าออก
๒.  ท่าเบสิคหรือท่าพื้นฐาน
 ๓.  ท่าหลักหรือท่าเข้าดอก

          การเต้นซัมเปงเป็นการเต้นคู่ของชาย-หญิง แต่ไม่ใช่เป็นการพาคู่เต้นแบบลีลาศ    หากแต่ต่างคนต่างเต้นเป็นคู่ ๆ ไปตามจังหวะของดนตรี โดยเมื่อดนตรีดังขึ้นคู่ชายหญิงก็จะออกไปแสดงลีลาการเต้นพร้อมกันทั้งหมดและจะเปลี่ยนท่าไปตามทำนองของดนตรีอย่างสวยงามตามลำดับ และในท่าสุดท้ายดนตรีจะรัวเร็วคึกคะนอง   ผู้เต้นจะเต้นสะบัดปลายเท้าเร็วมากและยิ่งเร็วขึ้นเมื่อใกล้จะจบเพลง และผู้เต้นจะหยุดลงพร้อมกันเมื่อเวลาเพลงจบพอดี ซัมเป็งเป็นการเต้นรำพื้นบ้านที่นิยมกันในหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายมลายู  ซัมเป็งแพร่เข้ามายังแหลมมลายูเป็นการเต้นรำเฉพาะในวังของเจ้าเมือง และบ้านขุนนางเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การแต่งกาย ผู้หญิง แต่งหน้าทาปากแต่งผมพร้อมเครื่องประดับศีรษะสวยงาม นุ่งผ้า “กาเอนบือเละ” (ผ้าถุง) ยาวกรอมเท้าลาดลายปาเต๊ะ สวมเสื้อ “กูรง” คือเสื้อเข้ารูปยาวคลุมสะโพก คอกลมติดผ่าหน้ากว้างพอสวมศีรษะได้ (หรือผ่าหน้าตลอดติดกระดุมทอง) แขนยาวทรงกระบอกมีผ้าผืนใหญ่บางคลุมไหล่ใส่เครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน กำไร ต่างหู เข็มขัด ฯลฯ อย่างสวยงาม 

   

ภาพจาก : https://sites.google.com/site/silpkarsaedngwathnthrrm/silp-wathnthrrm/sam-peng


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ซัมเป็ง
ที่อยู่
จังหวัด
นราธิวาส


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กรีฑา ณ พัทลุง. (ม.ป.ป.). ซัมเป็ง. สืบค้นวันที่ 27 พ.ย. 61, จาก https://sites.google.com/site/silpkarsaedngwathnthrrm/silp-wathnthrrm/sam-peng

กู้เกียรติ มานพ. (2556). การละเล่นพื้นบ้านของไทยภาคใต้. กรุงเทพฯ : บริษัท มีดีคิดส์.

จรรย์สมร ผลบุญ. (ม.ป.ป.). ซัมเปง. สืบค้นวันที่ 27 พ.ย. 61, จาก http://www.tmperformance.org/Detail.php?Id=5

ซัมเปง. (2554). สืบค้นวันที่ 27 พ.ย. 61, จาก http://www.thaigoodview.com/node/93229

ซัมเปง. (2561). สืบค้นวันที่ 27 พ.ย. 61, จาก http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/258-----m-s

ทิลฎา คงพัฒน์. (2553). ซัมเป็ง : แม่แบบในการสร้างสรรค์ ระบำ พื้นบ้านภาคใต้ตอนล่าง, วารสารรูสมิแล, 33 (3) (ต.ค.-ธ.ค. 55 , 9-18.


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024