โนราโกลน (Nora Klon)
 
Back    23/08/2018, 15:40    17,723  

หมวดหมู่

การแสดง


ประเภท

การรำ


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพสืบค้นจาก :  http://oknation.nationtv.tv/blog/tamtawan/2015/07/05/entry-1/comment

       โนราโกลนเป็นการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ ที่คิดค้นขึ้นจากการล้อเลียน โนรา (มโนราห์) จริง ทั้งการรำ การร้อง การแต่งกาย แต่จะมีลักษณะหยาบ ๆ ไม่อ่อนหวาน นุ่มนวล เหมือนโนรา (มโนราห์) จริง เพียงแต่บอกให้รู้พอเห็นเค้าของโนรา (มโนราห์)  จึงเรียกว่า "โนราโกลน" โนราโกลนนั้นเกิดขึ้นหลังนโนรา (มโนราห์) การรำ การร้อง การแต่งกายจะเลียนแบบนโนรา (มโนราห์) ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย เช่น เทริด พานโครงหรือรอบอก, บ่าซ้าย-ขวา, ปีกหน้า-ปีกหลังหรือหางหงส์ เป็นต้น แต่จะประดิษฐ์ขี้นด้วยวัสดุธรรมชาติและหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น เทริดทำด้วยจง (จงเป็นเครื่องมือที่ใส่กุ้งหรือปลาทำจากไม้ไผ่) นำมากันก้นให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทรงสูงปากกว้างเป็นวงกลมและมีหลายขนาด เอามาสรวมหัวแทนเทริด) หางหงส์ทำด้วยกาบตาล ลูกปัดทำด้วยเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ สร้อยคอทำด้วยเปลือกหอยโข่ง ปั้นเหน่ง ทับทรวงทำด้วยกระดองเต่า ปากทาสีดำ หรือแต่งใบหน้าให้ดูขำขัน ส่วนท่ารำก็ทำได้เหมือนท่ารำของโนรา (มโนราห์) จริง แต่จะเป็นท่ารำที่หยาบ ๆ เก้ง ๆ ก้าง ๆ  พลิกแพลงให้เป็นท่ารำที่พิสดารออกไป รวมทั้งบทร้องก็มีลักษณคล้าย ๆ กัน เช่น การประกาศถึงครู เพลงหน้าแตระ (เป็นกรับคู่ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก) บทผันหน้า บทสีโต บทกำพรัด บทพราน เป็นต้น  (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้, ๒๕๔๒ : ๓๙๐๔)

       คำว่าโนราโกลนประกอบด้วยคำ ๒ คำคือ โนราและโกลน คำว่า "โนรา" หมายถึงโนราหรือมโนห์รา (เขียนเป็นมโนราหรือมโนราห์) เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายเกือบทุกจังหวัดของภาคใต้ ส่วนคำว่า "โกลน" มีความหมายว่า “ไม่เสร็จ ไม่สมบูรณ์” ซึ่งบางแห่งเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนราดิบ"ซึ่งหมายถึงการแสดงโนราที่ไม่ได้ใช้นักแสดงที่ผ่านการฝึกฝนมโนราห์หรือผ่านการครอบเทริดตามขนบธรรมเนียมของมโนราห์ ไม่ว่าการประดิษฐ์ท่ารำ การร้อง การแต่งตัว จะเลียนแบบมโนราห์จริงเกือบทุกอย่าง ในด้านเนื้อหาสาระการแสดงโนราโกลนส่วนมากจะนำเรื่องราวในวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันมาผูกเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้ดูตลกขบขัน ท่ารำก็หยาบ ๆ เก้งก้าง พลิกแพลงให้พิสดารออกไปเพื่อสร้างความขบขัน ทั้งนี้การแสดงโนราโกลนบางแห่งยังมีบทร้อง บทกาศถึงครู บทหน้าม่าน บทผันหน้า บทสีโต บทกำพรัด บทออกพรานด้วย ส่วนเครื่องดนตรีก็คล้าย ๆ แต่อาจไม่เยอะเท่าโนราจริง บางคณะอาจไม่มีเลยแต่ใช้ปากทำเสียงดนตรีก็มี


ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้อง

รูปแบบการแสดงของโนราโกลน

       ๑. สถานที่ ฉาก และเวที

          สถานที่ในการแสดง ส่วนใหญ่ใช้ลานกว้าง ๆ ทำเวทียกพื้นสูง ประมาณ ๑ เมตรแสดงในที่โล่ง ซึ่งผู้ชมสามารถร่วมสนุกสนานได้เต็มที่ ส่วนฉากในการแสดง ใช้ฉากผ้าม่านการวาดอย่างสวยงาม มีการเขียนชื่อคณะไว้เพื่อประชาสัมพันธ์คณะฉากที่ใช้ไม่มีการเปลี่ยนใช้เหมือนกันทุกงานฉาก เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่สำคัญของโนราโกลนที่จะบ่งบอกชื่อคณะและเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เวทีดูงามตาและเด่นขึ้น อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์คณะโนราอีกด้วย เนื้อหาสาระของการแสดงเนื้อหาสาระของการแสดงโนราโกลนมากเป็นเรื่องราวของการล้อเลียนโนรา (มโนราห์) จริง  โดยนำเรื่องราวในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันมาผูกเรื่องราวให้ดูตลกขบขัน  

       ๒. ลักษณะการแสดง

     การแสดงโนราโกลน ใช้ผู้ชายล้วนประมาณ ๓–๕ คน เริ่มด้วยหัวหน้าคณะทำพิธีเบิกโรงก่อนแสดงเพื่อขอเจ้าที่ หรือขออนุญาตเจ้าที่ในการเบิกโรง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ คือหมาก พลู ๓ คำ เทียน ๑ เล่ม เงิน ๙ บาท พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายจากนั้น ก็เป็นบทกาศครู และแสดงตามเนื้อเรื่อง
       ๓. โอกาสในการแสดง
           การแสดงโนราโกลนในอดีตจะแสดงในงานแก้บน, งานวัด, งานฝังลูกนิมิต หรืองานอื่น ๆ แล้วแต่ความต้องการของเจ้าภาพ แต่ส่วนใหญ่แล้วนิยมแสดงแก้บน ในปัจจุบันการแสดงโนราโกลนจะมีไม่บ่อยนักเพราะมีสิ่งบันเทิงอื่น ๆ เข้ามาแทนที่ การแสดงส่วนมากจะเป็นการรับเชิญไปสาธิตของหน่วยงานราชการเป็นหลัก 

        ๔. จารีตประเพณีและพิธีกรรม
           โนราโกลนนั้นจะมีจารีตประเพณี และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติ เช่น การไหว้ครู ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ๙ ของทุกปี หัวหน้าคณะโนราโกลนจะเป็นเจ้าพิธีเอง เวลาทำพิธีจะมีการเอ่ยถึงบรมครูต่าง ๆ ของโนราโกลน ในการประกอบพิธีจะต้องเตรียมข้าวข้องไว้ประกอบด้วย ไก่ เหล้าขาว ขนมแดง และขนมโค เป็นต้น

       ๕. เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีหลักที่ใช้ในการแสดงมีลักษณะเหมือนกับการแสดงของมโนราห์จริงทุกประการประกอบด้วยเครื่องดนตรี ๖ ชิ้น คือ

         ๑) ทับหรือโทน เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญในการให้จังหวะ และควบคุมการเปลี่ยนแปลงจังหวะ
        ๒) กลอง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เสริมจังหวะและล้อเสียงทับ
        ๓) ปี่ เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไฟเราะและสำคัญมากในการเสริมเสียงสะกดใจผู้ชม
        ๔) โหม่ง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการขับบท
        ๕) ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ตีเสริมแต่งและเน้นจังหวะ
        ๖) แตระหรือแกระ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ

ทับหรือโทน (ภาพสืบค้นจาก : https://sites.google.com/site/aungang16/)

กลอง (ภาพสืบค้นจาก : https://sites.google.com/site/aungang16/)

ปี่ (ภาพสืบค้นจาก : https://ploysupatta.wordpress.com/เสน่ห์ภาคใต้/เครื่องดนตรีพื้นบ้านภา/)

โหม่ง (ภาพสืบค้นจาก : https://sites.google.com/site/aungang16/)

ฉิ่ง  (ภาพสืบค้นจาก : https://sites.google.com/site/aungang16/)

แตระหรือแกระ (ภาพสืบค้นจาก : https://sites.google.com/site/aungang16/)

       ปัจจุบันได้มีการนำเอาเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาผสมโรงเพื่อให้เกิดความสนุกสนานและเข้ากับกระแสความนิยมของ ผู้ชม ได้แก่คีย์บอร์ดและกลองชุด เครื่องดนตรีดังกล่าวนอกจากจะถูกนำมาแสดง ให้เข้ากับทำนองมโนราห์แล้ว บางครั้งยังได้เพิ่มการร้องเพลงสมัยใหม่อีกด้วย

       ๖. เครื่องแต่งกาย

          เครื่องแต่งกายของโนราโกลนในสมัยก่อนนิยมใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น จง (จงเป็นเครื่องมือที่ใส่กุ้งหรือปลาทำจากไม้ไผ่) มาประดิษฐ์เป็นเทริด หางหงส์ทำด้วยกาบตาล ลูกปัดทำด้วยเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ สร้อยคอทำด้วยเปลือกหอยโข่ง ปั้นเหน่ง ทับทรวงทำด้วยกระดองเต่า ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นมาออกแบบให้ขำขันพอดูออกว่าคือโนรา (มโนราห์) จะไม่เน้นความสวยงาม แต่ด้วยวัสดุดังกล่าวมักมีเสื่อมสลายและมีอายุการใช้งานที่สั้นเมื่อแสดงเสร็จก็ต้องทิ้ง ต่อมานายชูหัวหน้าโนราโกลนคณะสามสลึงตำลึงทอง ได้ออกแบบพัฒนาเครื่องแต่งกายจากวัสดุที่ค่อนข้างคงทนแต่ก็หาง่ายในท้องถิ่น และสามารถใช้งานได้หลาย ๆ ครั้ง ประกอบด้วย

           ๑) เทริด ทำจากไม้และใบเตยสานให้เป็นเทริด โดยมียอดเทริดหลายแบบแล้วแต่ จะสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่จะเน้นให้ตลกไม่เอาสวยงาม  

           ๒) พานโครงหรือรอบอก ทำมาจากหลอดกาแฟ เปลือกหอย ฝาเบียร์ และฝาโซดา

           ๓) ครอบบ่าซ้าย-ขวา  ในอดีตจะใช้ลูกไม้ป่าที่หาได้ในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำจากหลอดกาแฟ, เปลือกหอย หรือฝาเบียร์ 

        ๔) ปีกหน้า-ปีกหลังหรือหางหงส์ แต่ก่อนจะใช้หนังควายมาทำเป็นปีกหรือหาง แต่ปัจจุบันหนังควายมีราคาแพง จึงนิยมทำจากท่อพีวีซีหรือยางรถยนต์มาทำคล้ายปีกเชิดงอนแต่จะเป็นรูปอะไรก็ได้ ซึ่งมีเปลือกหอยและลูกไม้ทำเป็นลูกกลม ๆ ห้อยเป็นดอกดวงรายให้ดูคล้ายขนของก้นนก

           ๕) หน้าผ้า ใช้ผ้าสีสดต่าง ๆ คาดห้อยชายแครง ในอดีตนิยมให้กิ่งไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น

           ๖) ผ้ายาว เป็นผ้านุ่งทับชายและรั้งไปเหน็บไว้ข้างหลัง ใส่คล้าย ๆ กับนุ่งกระโจงเบน จะใช้ผ้าผืนหรือผ้าขาวม้าก็ได้

        ๗)  อื่น ๆ  เช่น กำไลแขน เล็บ และปิ้งคอ โดยกำไลแขนและเล็บ ใช้วัสดุเดียวกับมโนราห์ แต่เล็บจะมีการทำสีเพิ่มให้มีสีสัน ส่วนปิ้งคอเพิ่งมาประดิษฐ์เพิ่มในภายหลังโดยใช้สวมทับห้อยคอคล้ายสร้อย แต่จะประดิษฐ์จี้ให้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ในอดีตไม่มีการใส่ปิ้งคอ แต่เกิดจากชาวบ้านเป็นคนนำของกำนัล เช่น เหล้าเถื่อน ขนมจาก หรือข้าวต้มใบพ้อ มาทำเป็นสร้อยแขวนคอให้นักแสดง เมื่อรู้สึกชอบใจจึงกลายเป็นเครื่องแต่งกายโนราโกลนจนถึงปัจจุบัน

        ๗. ท่ารำและบทร้อง

           ท่ารำและบทร้องของโนราโกลนโดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้มีการกำหนดท่ารำตายตัวแต่จะใช้ท่าทางและความถนัดของนักแสดงแต่ละคน ต่อมาโนราโกลนคณะสามสลึงตำลึงทอง ซึ่งมีนายชูเป็นหัวหน้าคณะได้พลิกแพลงท่ารำของมโนราห์ให้พิสดารออกไป เพื่อให้ดูขบขันโดยมีลักษณะเก้งก้าง แต่ก็มีลักษณะหยาบ ๆ  ท่ารำประกอบด้วย

          ๑) ท่าออกม่าน ผู้แสดงจะต้องนั่งชันเข่า ตั้งวงคล้ายโอบกอดของใหญ่ พร้อมลุกขึ้น แล้วเอามือทั้งสองมาประกบกัน ปลายนิ้วชี้ลงล่าง แล้วเริ่มก้าวย่างสามขุมเป็นวงกลมรอบเวที

          ๒) ท่ารำสอด การตั้งวงรำคล้ายมโนราห์จริง แต่จะเป็นการพลิกเอาฝ่ามือเข้าด้านใน สลับออกไปข้างนอก แล้วเอาหัวแม่มือ และข้อมือหลักลงล่าง

       ๓) ท่าเต้งตุ้ง เป็นการโค้งคำนับหนึ่งครั้งแล้วก็เอามือข้างหนึ่งไปข้างหลังอีกมือไว้ ข้างหน้าระดับเอว ก้มตัวเล็กน้อยพร้อมเดินวงตามจังหวะดนตรี บ้างก็เปลี่ยนมือทำท่ารำ สอดไปเรื่อย ๆ

         ๔) ท่านวยนาด ผู้แสดงจะเดินส่ายสะโพกเข้ากับจังหวะดนตรี โดยที่มือขวาแนบกับหน้าอก ส่วนมือซ้ายตวัดแกว่งไปมาอยู่บริเวณข้างลำตัว

         ๕) ท่าเขาควาย การล้อท่ารำมโนราห์จริง แต่จะยกมือทั้งสองข้างเสมอไหล่ และพับศอกคล้าย ๆ กับเขาควาย แล้วงอเข่ารำวนไปมาโดยมีการสลับข้อมือไปมา

       สำหรับบทร้องของโนราโกลนนั้นจะนิยมร้องบทคล้ายมโนราห์จริง ซึ่งจะมีบทกาศครู บทหน้าม่าน บทสรรเสริญครู คล้าย ๆ มโนราห์จริง แต่จะมีการว่ากลอนสี่ บทหน้าแตระ บทผันหน้าและบทพราน ที่แต่งขึ้นมาเอง ตามความถนัดของนักแสดง และกาลเทศะของงาน ที่รับไปแสดง ในอดีตรูปแบบการแสดงของโนราโกลนไม่ได้มีพิธีรีตอง แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าภาพ เมื่อเจ้าภาพเรียกใช้ไปแสดง มักใช้วิธีบอกปากไม่มีขันหมากและไม่ต้องตกลง “ค่าราด” เหมือนการว่าจ้างการแสดงมโนราห์จริง แต่ผู้ชมจะเป็นคนรวบรวมให้ออกค่าให้ แม้จะได้ไม่มากแต่ก็พออยู่ได้หากแสดงดีก็จะแสดงไปเรื่อย ๆ บางครั้งกินเวลาข้ามคืน แต่ปัจจุบันเนื่องจากระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด และงานแสดงส่วนใหญ่ของโนราโกลนโดยเฉพาะคณะสามสลึงตำลึงทอง จะเป็นการแสดงแบบสาธิตหรือการแสดงในเวทีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ผู้จัดขอมา ทั้งที่จังหวัดหรือส่วนกลาง หัวหน้าคณะคือนายชูได้พัฒนาขั้นตอนการแสดงให้มีแบบแผนและสามารถควบคุมเวลาการแสดงได้ โดยมีขั้นตอนของการแสดงประกอบด้วยการไหว้ครู โหมโรง กาศครู การร่ายรำและบอกลา บทร้องของโนราโกลนจะร้องด้วยกลอนสดจึงยากแก่การจดจำได้ทั้งหมด ซึ่งบทร้องอาจมีทั้งที่หยาบโลนและใช้ศาสตร์แห่งสรรพลี้หวน (คำผวน) บ้าง ตลกขบขันบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้รับชมเกิดความสนุกสนานเท่านั้น

ตัวอย่างบทร้องของโนราโกลน

       บทกาศครู  บทครูสอน

                     สำนวนที่  ๑

“ลงเอยลงโรง ไม้กลวงเป็นโพรงโค่นง่าย
ข้างต้นทำฟืนได้  ข้างปลายทำงอนไถ”

                 สำนวนที่  ๒

“ครูเอยครูสอน  ล้างพร้าเสียก่อนต่อเฉียงหนุน”
“ครูเอยครูสอน กินของหวานก่อนกินของคาว”
“คุณเอยคุณครู คลิงลูกนูตามหัวนา”
“ครูสอนให้แก้ชายพก ครูสอนให้ยกสองขา”

 

       เพลงหน้าแตร้

                   สำนวนที่  ๑

“ยามเอยยามรุ่ง                    เมียนอนในมุ้งพอแค่นได้
ยามเอยยามเที่ยง                 ยอดขี้เหล็กแกงเลียงพอแค่นได้
ยามเอยยามค่ำ                     แกงไก่เหนียวดำพอแค่นได้
ยามเอยยามดึก                     ปลุกเมียให้รู้สึกพอแค่นได้”

               สำนวนที่  ๒

“ยามเอยยามรุ่ง                    อาทิตย์พวยพุ่งหว่างเขาวัว
ยามเอยยามเที่ยง                 นางน้องนั่งเคียงบนหลังวัว
ยามเอยยามค่ำ                     น้ำค้างตกต่ำหว่างเขาวัว
ยามเอยยามดึก                     นั่งนึกนอนนึกถึงแม่วัว”

       บทผันหน้า

                   สำนวนที่  ๑

“ผันหน้าไปหัวนอน                               ทั้งหามทั้งคอนลุงศรีจันทร์
ผันหน้าไปปล้าตีน                  ทั้งเจ๊กทั้งจีนลุงศรีจันทร์
ผันหน้าไปปล้าออก                              ทั้งเฉ็งทั้งฉอกลุงศรีจันทร์
ผันหน้าไปปล้าออก                              ทั้งต่อยทั้งชกลุงศรีจันทร์

                สำนวนที่  ๒

“ผันหน้าไปข้างนอก                              แลเห็นหนอกวัวเหมีย
อ้ายผู้มันยืนเลีย                                    อีเหมียมันได้แรง”

                 สำนวนที่  ๓

“ผันหน้าไปอีสาน                  หันวานไหนดี”

       บทกำพรัด

                     สำนวนที่  ๑  (โนราไชยแก้ว  โนรารัก  โนราไข่บ้าเดิด)

“ผมโนราชัย                                           ลูกศิษย์ไข่บ้าเดิด
ผมโนรารัก                                             คนรำรับเทริด
ลูกศิษย์ไข่บ้าเดิด                                  จะรำลองแล
ไหว้หนุมไหว้สาว                   ไหว้เฒ่าไหว้แก่
คราวพ่อคราวแม่ มาแลโรงไข่”

                 สำนวนที่  ๒  (โนราผุด  โนราหุด  โนราพุ่มแชง)

“นั่งคิดติดขัด                                          ไม่มีกำพรัดจิว่า
ผินผันหันหน้า                                        ชมโนราผุด
แต่งตัวยั่วสาว                                        จงทำมงกุฎ
โนราเฉยโนราหุด                   โนราผุดพุ่มแชง”

        บทพราน  กลอนไม่สัมผัส

“ฉันมาแต่วา                                          ไม่กินข้าวที
เดินหนนรถไฟ                                           ลูกหินทั้งเพ
ฉันมาวัดนี้                                              ไม่รู้จักใคร
ขอพร้าวอ่อนสักลูก                               ที่น้ำหวานหวาน”

 


 

 


จุดเด่น/เอกลักษณ์

คณะโนราโกลน

        การแสดงโนราโกลนในอดีตมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภาคใต้ แต่ในปัจจุบันนี้เหลือเพียงไม่กี่คณะแล้ว 

              คณะโนราโกลนที่มีชื่อเสียงในอดีตแต่ปัจจุบันเลิกแสดงไปแล้วประกอบด้วย

                ๑. คณะบ้านโพธิ์ ตั้งอยู่ในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีนายผุดเป็นนายโรง สมาชิกในคณะประกอบด้วยนายหุด นายพุ่มแชง  (มือทับพุ่มเทวา)  นายเฉย และนายฉาย ในอดีตโนราโกลนคณะบ้านโพนี้โด่งดังมาก 

                ๒. คณะสิบสาวเก้ายน ตั้งอยู่ที่บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โนราโกลนคณะนี้มีผู้หญิงล้วน สมาชิกในคณะมี ๑๐ คน เหตุที่ตั้งชื่อคณะว่า “สิบสาวเก้ายน” ก็เพราะผู้เล่นฟันหักหมดแล้ว ๙ คน  ต้องกินหมากด้วยตะบันหรือบอกยน ที่ฟันยังครบเคี้ยวหมากได้มีเพียงคนเดียว คณะสิบสาวเก้ายนได้ประดิษฐ์เสื่อกระจูดซึ่งเป็นสินค้าหลักของบ้าทะเลน้อย ทำเป็นเครื่องประดับร่างกาย 

              ๓. คณะโนราไข่บ้าเดิด ตั้งอยู่ที่บ้านเขาพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง  ผู้ร่วมคณะมีโนราไชยแก้ว โนรารัก โดยร่วมเอาโนราโกลนบ้านแพรกหา ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเขาพนมวังก์ของโนราไข่บ้าเดิดมาร่วมคณะด้วย และในบางครั้งครูอาจารย์ที่อยู่ในอำเภอควนขนุน ที่มีอารมณ์สุนทรีในบทกลอนก็จะร่วมกันร้องรำทำเพลงแบบโนราโกลนด้วย เช่น ครูเทศน์  สุวรรณเกศา, ครูนุช  เรืองจันทร์, และครูไสว  ณ พัทลุง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ความสนุกสนานและบันเทิงแก่ชาวบ้าน จนชาวบ้านยกให้เป็นโนราโกลนกิตติมศักดิ์ไปในที่สุด

              ๔. คณะโนราโกลนที่บ้านปากสระ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นคณะโนราโกลนที่มีชื่อเสียงของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เคยมาแข่งขันประชันโรงกับโนราโกลนบ้านโพธิ์แล้วหลายครั้ง

        ๕. คณะโนราโกลนบ้านท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ก่อตั้งโดยนายชม ยิ้มย่อง นายชม ยิ้มย่อง เป็นบุตรนายแย้ม นางแป้น ยิ้มย่อง เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓  จบการศึกษาชั้น ป. ๔ จากโรงเรียนวัดท่าหิน เมื่ออายุได้ ๘ ปีได้เริ่มหัดรำโนราไปพลางเรียนหนังสือไปพลาง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้ฝึกรำอย่างจริงจังกับน้าที่บ้านภูมี อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา หัดอยู่ประมาณ ๓ เดือน ก็สามารถรำท่าพื้นฐานได้ จากนั้นจึงกลับมาตั้งคณะปลูกโรงฝึกซ้อมขึ้นที่บ้านท่าหิน และได้ออกแสดงในที่สุด นายชมหรือโนราโกลนท่าหิน  ได้ประชันกับโนราที่มีชื่อเสียงในสมัยเดียวกันหลายคณะ เช่น  ประชันกับโนราเติมที่วัดทะเลปัง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง ที่วัดควนเพ็ง อำเภอรัตภูมิ  และวัดคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ประชันกับโนราเลื่อน ทะเลน้อย ที่เกาะยวน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ประชันกับโนราเปลื้องที่วัดป่าขาดและวัดม่วงงาม อำเภอเมือง (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสิงหนคร)  จังหวัดสงขลา ประชันกับโนราแปลกขาว ที่วัดยะหา จังหวัดปัตตานี  และประชันกับโนราเทพที่วัดคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นต้น คณะโนราโกลนท่าหินเที่ยวแสดงจนเป็นที่ชื่นชมของเจ้าเมืองสงขลา ๆ จึงได้มอบม่านให้เป็นรางวัล ลักษณะม่านเป็นรูปธงชาติไทยและรับคณะโนราโกลนท่าหินไว้เป็นโนราของหลวง เมื่อเจ้าเรียกใช้ไปแสดงก็ใช้วิธีบอกปาก (ไหว้วาน) โดยไม่มีขันหมากและไม่ต้องตกลง “ค่าราด”  หรือค่าจ้างแสดง นายชม ยิ้มย่อง แสดงโนราอยู่ ประมาณ ๑๕ ปี สามารถรำได้เกือบทุกกระบวนท่า แต่ไม่ผ่านพิธีครอบเทริด ไม่ได้ตัดจุกและไม่ได้แสดง ๓ วัด ๓ บ้าน จึงเป็นโนราที่ไม่สมบูรณ์เรียกว่า “โนราดิบ” หรือ “โนราโกลน”

               ๖. คณะไข่นวน ชวนสนุก มีมาก่อนเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ที่หมู่บ้านหนองหว้า ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

        คณะโนราโกลนที่ยังทำการแสดงอยู่และมีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบัน (๒๕๖๑) ประกอบด้วย

           ๑. คณะสามสลึงตำลึงทอง บ้านนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง มีนายชู พรหมมี เป็นหัวหน้าคณะคณะสามสลึงตำลึงทองปัจจุบันเป็นคณะโนราโกลนคณะเดียวที่หลงเหลืออยู่ในจังหวัดตรัง มีนายชู พรหมมี อายุ ๗๒ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๕๕ หมู่ ๘8 ตำาบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นหัวหน้าคณะ เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๒ จากการรวมตัวของของนายชู นายตุด นายปลอด นายพิน และคนอื่น ๆ ในคณะ ร่วมกันคิดค้นการละเล่นจำอวดล้อเลียนการแสดงมโนราห์ จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการแสดงดังกล่าวตอนอายุ ๙ ปี ในวัดพิกุลทอง จังหวัดพัทลุง แล้วรู้สึกประทับใจ จนเมื่ออายุ ๒๐ ปีซึ่งในขณะนั้นนายชูได้อยู่ในวงกลองยาวจากการฝั่งใจจากโนราโกลนในวัยเด็กมาสร้างสรรค์   คณะโนราโกลนขึ้นร่วมกับเพื่อน ๆ ตามความชอบของตน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเพลิดเพลิน ให้กับชาวบ้านหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานทั้งวัน การแสดงเน้นมุขตลกที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ภายใต้การแสดงที่ไร้ซึ่งกรอบเวลา รูปแบบ และพิธีกรรม เริ่มแรกการแสดงโนราโกลนของนายชู เป็นเพียงการแสดงเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น มิได้ยึดเป็นอาชีพแต่พอผู้คนเริ่มให้ความสนใจและมีการรับการแสดงไปเล่นทั้งงานมงคลและงานอวมงคล ทำให้คณะของนายชูกลายเป็นที่รู้จัก นายชูจึงได้ยึดการแสดงโนราโกลนเป็นอาชีพ ซึ่งรับแสดงในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะแถวอำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอกงหราจังหวัด พัทลุง เรียกว่ามีงานแสดงแทบทุกคืนก็ว่าได้  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๔๙ การแสดงโนราโกลนของคณะนายชูกฌได้ซบเซาลง อันเนื่องจากผู้แสดงบางคนได้เสียชีวิตไปบ้าง ตลอดถึงปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การต้องหยุดการแสดงไประยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อทางราชการและผู้นำชุมชนต้องการให้กลับมาแสดง เพื่อที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมการแสดงโนราโกลนไว้ กอรปกับนายชู ต้องการจะรื้อฟื้นโนราโกลนขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยได้ปรึกษากับสมัครพรรคพวกและญาติ ๆ เพื่อฝึกซ้อมและเริ่มแสดง โดยในระยะแรกต้องไปร่วมการแสดงเป็นจำอวดให้กับคณะมโนราห์จิต เนื่องจากความไม่พร้อมของเครื่องดนตรี จึงต้องไปพึ่งพาเครื่องดนตรีจากคณะโนราจิต แต่ต่อมาเกิดปัญหาเรื่องเวลาการแสดงที่ตรงกัน นายชูจึงได้สร้างเครื่องดนตรีเป็นของตนเอง และแยกแสดงออกมาเป็นะคณะของตน ในปัจจุบันโนราโกลนคณะสามสลึงตำลึงทอง มีสมาชิกทั้งหมด ๑๗ คน ประกอบด้วย

       ๑. นายชู พรหมมี

       ๒. นายชะลอ พรหมมี

       ๓. นายพิน เกื้อด้วง

       ๔. นายไชรัตน์ นวลนิ่ม

       ๕. นายสุด รอดภัย 

       ๖. นายรอน รอดภัย

       ๗. นายสมบูรณ์ สุขรัตน์ 

       ๘.นายไสว ชุ่มชื่น

      ๙. นายมนตรี นวลนิ่ม

      ๑๐. นายบุญรินทร์ ชัยเพชร

      ๑๑. นายสินชัย พรหมมี

      ๑๒. นายหมี ทองชุม

      ๑๓. นายธีรภัทร อ่อนน้อม    

      ๑๔. นายศิริวัฒน์ อ่อนน้อม

      ๑๕. นายปฏิภาณ พรหมมี    

      ๑๖. นายปฏิภาณ คงแก้ว

     ๑๗. นายธนวัฒน์ รอดภัย

ภาพสืบค้นจาก :  http://www.tnews.co.th/contents/361333


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โนราโกลน (Nora Klon)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

"คลาสสิก..ตรัง” อีกหนึ่งเส้นทางของการมาเยือน. (2558). สืบค้นวันที่ 7 ก.ย.61, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/tamtawan/2015/07/05/entry-1/comment

สมศักดิ์ ขุนพล. (2560). โนราโกลนเมืองตรัง : การรื้อสร้างความหมายในสังคมหลังสมัยใหม่, สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์, 17(1) มกราคม-มิถุนายนม, 6-17.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 14. (2542). กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ฮือฮาโนราห์โกลน!! แห่ชมศิลปินเยาวชนแสดงมโนราห์โกลนในงานนิทรรศการหุ่นเปรต-หวังสืบสานเป็นศิลปะการแสดงอีกแขนงหนึ่งของภาคใต้ไม่ให้สูญหาย. (2560). 

           สืบค้นวันที่ 7 ก.ย.61, จาก http://www.tnews.co.th/contents/361333


ข้อมูลเพิ่มเติม


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025