ผ้าไหมพุมเรียง
 
Back    12/11/2020, 11:24    14,834  

หมวดหมู่

เครื่องแต่งกาย


ประเภท

ผ้า


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

          ตําบลพุมเรียงนั้นอยู่ในอําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่สืบต่อศิลปหัตกรรมพื้นบ้านมาเป็นระยะเวลายาวนาน พุมเรียงมีลักษณะของชุมชนที่ผสมผสานระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข อาชีพหลักคือการทําประมงและการทอผ้า กล่าวได้ว่าผ้าไหมพุมเรียงมีลักษณะเด่นเฉพาะของผ้าพุมเรียง ที่ต่างไปจากผ้าไหมของภาคอื่น ๆ นั้นคือการทอยกดอกด้วยไหมและดิ้น เช่น ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลาวเชิง เป็นต้น ลักษณะการทอผ้ายกดอกน้ำมันเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชนมุสลิม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเมืองสงขลา ตามตํานานเมืองสุราษฎร์กล่าวว่า ในปี พ.ศ. ๒๒๒๓ มาระหุมปะแกและพรรคพวกจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงอพยพมาอยู่ในเขตเมืองไชยาและมีบุตรหลานปกครองพื้นที่นี้สืบต่อมา 
        
ผ้าพุมเรียงเป็นผ้าพื้นเมืองของตำบลพุมเรียง ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นของอําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามนโยบายหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของรัฐบาล ตําบลพุมเรียงห่างจากตัวอําเภอไชยาไปประมาณ ๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเรียกว่าแหลมโพธิ์ ซึ่งมีหาดทรายขาวสะอาดและสวยงาม ในอดีตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จประพาสและสร้างศาลาไว้ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาจนถึงทุกวันนี้ การทอผ้าไหมพุมเรียงมีประวัติและพัฒนาการคู่กับการทอผ้าของภาคใต้ จากหนังสือผ้าทอภาคใต้ของอาจารย์รัชนี กัลยาณคุณาวุฒิ (๒๕๓๘ ; ๕๗) ซึ่งได้สืบค้นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ เช่น หินทุบเปลือกไม้ แวดินเผาหรือแม้แต่เพลงกล่อมเด็กในพื้นที่ของตําบลพุมเรียงเอง ก็พูดถึงเรื่องการทอผ้าไว้บาง ชาวไทยมุสลิมที่ตําบลพุมเรียง ส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคนมุสลิมเมืองสงขลา เมืองปัตตานี และเมืองไทรบุรี ที่อพยพเข้ามาที่ตําบลพุมเรียงในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มมลายูที่อพยพมาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนดังกล่าว ทําให้เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมร่วมกับชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทอผ้าที่ชาวไทยมุสลิมนิยมการทอผ้าไหมยกดิ้นเงิน ดิ้นทองหรือยกโหม สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์และสืบทอดสู่ทายาทซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมในปัจจุบัน ผ้าไหมพุมเรียงที่ทอใช้ในชีวิตประจําวันส่วนใหญ่จะทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าพื้น ผ้าตา ผ้าริ้ว และผ้าขาวม้า จะทอเป็นจํานวนมาก โดยใช้ฝ่ายทอเพื่อความทนทาน ส่วนผ้าที่ใช้ในงานและพิธีกรรมต่าง ๆ จะทอด้วยไหมหรือฝ่ายแกมไหมมีลวดลายทอยกดอกสวยงาม ในช่วงแรก ๆ ผ้าที่ทอนี้นุ่งห่มให้เฉพาะเจ้านาย ขุนนาง หรือข้าราชการผู้ใหญ่เท่านั้น สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะชาวเมืองปัตตานีและเมืองไทรบุรี ซึ่งอพยพเข้ามาที่ตําบลพุมเรียงนั้นต้องทํางานให้กับเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ ดังนั้นการทอผ้ายกตอกด้วยไหมจึงมีเฉพาะที่บ้านเจ้าเมือง และบ้านเจ้านายเท่านั้น ผ้าไหมยกดอกพุมเรียงจึงไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ส่งเสริมให้คนไทยใช้ของที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายเน้นให้ใช้ผ้าที่ผลิตขึ้นเอง จึงได้มีการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าขึ้น โดยรัฐบาลได้ส่งหน่วยฝึกฝนอาชีพ เข้าไปในชนบทต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ตําบลพุมเรียงได้นําที่กระตุกมาใช้ในการทอผ้าและเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ การทอผ้าในตําบลพุมเรียงเริ่มซบเซาลงเนื่องจากภัยสงครามและวัสดุที่ใช้ทอผ้า โดยเฉพาะเส้นไหมมีราคาแพงและหาซื้อยาก ประกอบกับความนิยมของชาวบ้านที่เลือกใช้ผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักร ซึ่งได้นําเข้ามาขายจํานวนมากกอรปกับมีราคาถูกและสามารถเลือกซื้อได้สะดวกกว่าการทอผ้าใช้เอง ชาวไทยพุทธส่วนมากจึงเลิกทอผ้าหันประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น รับราชการ หรือค้าขาย ส่วนชาวไทยมุสลิมยังคงประกอบอาชีพทอผ้าสืบต่อกันมา หญิงไทยมุสลิมที่มีอายุประมาณ ๑๑-๕๐ ปี ในตําบลพุมเรียงจะรับจ้างทอผ้าให้กับผู้ประกอบการทอผ้ารายใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยทอผ้าด้วยกกระตุกเพราะจะให้ผลผลิตได้มากกว่าการทอผ้าด้วยหูกแบบโบราณซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก ผ้าไหมพุมเรียงมีทั้งผ้าไหมทอยกดอกด้วยหูกโบราณและที่กระตุก สําหรับหูกซึ่งปัจจุบันเรียกว่าที่พื้นบ้านหรือที่โบราณนั้นมีจํานวนน้อยใช้สําหรับทอผ้าไหมยกดอก ส่วนกี่กระตุกนิยมกันมากเพราะใช้ทอผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมพื้น ผ้าซิ่นไหม ผ้าไหมลายร่อง ผ้าไหมตาหมากรุก ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกชุดฝรั่ง ผ้ายาเฉพาะเซิง ผ้ายกดอกเถมเกสรได้ ผ้ายกดอกเหล่านี้มีทั้งประเภทไหม ๑00 เปอร์เซ็นต์ และไหม ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยกชิ้นเงิน ตื้นทองและไหมลายข้อนตั้งแต่ ๒-๕ สี สลับสี และยังมีผ้าไหมพิมพ์ตอก ผ้าสไบ เป็นต้น ผ้าไหมเหล่านี้นอกจากนําไปตัดเป็นผ้าถุงสําเร็จรูป เสื้อ และกระโปรงแล้ว ยังใช้ทําผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋าถือ กรอบรูป พวงกุญแจ ผ้าคลุมผม ผ้ารองจาน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ เนคไท ดอกไม้ประดิษฐ์  เป็นต้น  จากนโยบายของรัฐบาลในการดําเนินโครงการหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการสร้างงานสร้างรายได้และสํานึกรักบ้านเกิดของตนเอง การทอผ้าพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมที่พุมเรียง อําเภอไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นตามนโยบายดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวพุมเรียงที่ร่วมกันสร้างศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันงดงามควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นมรดกตกทอดให้คนในชุมชนมองเห็นความสําคัญ และเกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษที่สืบทอดการทอผ้าไหม พุมเรียง เคียงคู่กับเมืองไชยามาตราบจนทุกวันนี้


ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้อง

        ผ้าไหมพุมเรียงที่เลื่องลือนั้นมาจากผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงามและคุณภาพดี ทั้งยังเป็นสินค้าพื้นเมืองขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยต้นกำเนิดของการทอผ้าไหมพุมเรียง คือชุมชนชาวมุสลิมในพื้นที่หมู่บ้านพุมเรียง ซึ่งส่วนใหญ่ยึดอาชีพทอผ้าไหมสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หมู่บ้านพุมเรียงเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่ ตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา  ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๗ กิโลเมตร แต่เดิมบริเวณนี้ในสมัยก่อนเป็นแหล่งจอดเรือสินค้าในเส้นทางการค้าข้ามสมุทรตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินเรือสินค้าจากจีนไปยังอินเดียและตะวันออกกลาง ผ้าไหมพุมเรียงเป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ความประณีตและประสบการณ์ในการทอ ที่สำคัญงานแต่ละชิ้นแต่ละผืนจะใช้เวลาทอที่ยาวนานกว่าการทอด้วยวิธีอื่น ผ้าไหมพุมเรียงมีลักษณะเด่นที่ต่างจากผ้าไหมของภาคอื่น ๆ คือการทอยกดอกด้วยไหมและดิ้น โดยมีผ้าทอยกที่มีชื่อเสียงคือผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสรและผ้ายกดอกลายเชิง เป็นต้น เครื่องมือที่ใช้ทอในสมัยก่อนได้แก่หูก จึงเรียกการทอผ้าว่าทอหูก ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของหญิงทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมที่ต้องเตรียมไว้ให้ครอบครัว ผ้าที่ทอในช่วงนั้นแบ่งออกเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและผ้าที่ใช้ในงานและพิธีต่าง ๆ ซึ่งผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ใช้ผ้าฝ้ายทอเพื่อความทนทาน สำหรับผ้าที่ใช้ในงานและพิธีการต่าง ๆ จะทอด้วยไหมหรือผ้าฝ้ายแกมไหม มีลวดลายทอดอกสวยงามใช้นุ่งเข้าเฝ้าหรือนุ่งในงานนักขัตฤกษ์ งานบุญ งานแต่งงานและงานสำคัญต่าง ๆ 
         


จุดเด่น/เอกลักษณ์

           ผ้าไหมทอบ้านพุมเรียงเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชน ที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปหัตถกรรมการทอผ้าของกลุ่มคนไทยมุสลิมในภาคใต้ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีผ้าทอบ้านพุมเรียงสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนเป็นที่ยอมรับว่าผ้าไหมทอจากชุมชนพุมเรียงมีลวดลายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เนื่องจากเกิดจากภูมิปัญญาของคนทอแต่ละคนและแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ผ้าทอบ้านพุมเรียงก็ยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ไม่เปลี่ยนและมีผ้าทอหลากหลายลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นลลายดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกราชวัตร ลายเครือวาล ลายสร้อยแสงจันทร์ แสงจันทร์และดอกมะยม ความโดดเด่นคือผ้ายกพุมเรียงคือผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้สูงกว่าเนื้อผ้า คำว่ายกมาจากลักษณะการทอเส้นด้ายที่เชิดขึ้น เรียกว่า “เส้นยก” สำหรับเส้นด้ายที่จมลงเรียกว่า “เส้นข่ม” แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางถ้าจะให้เกิดลายก็เลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้นทอให้เกิดลวดลายขึ้นจึงเรียกว่า “ผ้ายก” อีกหนึ่งความน่าสนใจของผ้าทอชุมชนบ้านพุมเรียงคือลักษณะการถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการทอผ้าสู่คนรุ่นหลังเป็นวิธีการธรรรมชาติ เป็นความเคยชิน เกิดจากการสังเกต ส่วนมากจะเป็นเด็กผู้หญิงที่จะเริ่มช่วยทางบ้านทอผ้าโดยจะเริ่มหัดทอผ้าตั้งแต่เด็ก ซึ่งเอกลักษณ์ของการทอผ้าคือไม่มีเทคนิคขั้นตอนที่ตายตัว ไม่มีตำราหรือไม่มีบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องอาศัยการสอนจากผู้ใหญ่และการสังเกต เรียนรู้และลงมือทำ ฝึกไปเรื่อย ๆ และถ่ายทอดกันไปเรื่อย ๆ จากรุ่นสู่รุ่น เรียกได้ว่าเป็นการเก็บรักษาวิชาและศิลปะการทอผ้าให้คงอยู่


กรรมวิธี/ขั้นตอนการผลิต

        ผ้าไหมพุมเรียงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของตำบลพุมเรียง ซึ่งได้สืบทอดกันหลายชั่วอายุคน จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าผ้าไหมพุมเรียงเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงามและมีลักษณะเด่นที่ต่างไปจากผ้าไหมอื่น ๆ คือการทอยกดอกด้วยไหม และดิ้น ผ้ายกดอกที่มีชื่อเสียงได้แก่ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง เป็นต้น ชาวไทยมุสลิมตำบลพุมเรียงในปัจจุบันส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากแขกเมืองสงขลา ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเป็นพวกมลายูที่อพยพมาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย บางส่วนอาจมีเชื้อสายแขกปัตตานีและไทรบุรีที่อพยพเข้ามาที่ตำบลพุมเรียงในช่วงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพวกแขกเมืองสงขลาหัวเขาแดง เมืองปัตตานีและไทรบุรีทำให้เกิดการผสมผสาน ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับชาวไทย แต่ส่วนใหญ่พวกแขกเหล่านั้นยังคงรักษาเอกลักษณ์ดังเดิมไว้ โดยเฉพาะการทอผ้าไหมยกดิ้นเงินดิ้นทองหรือยกไหม ซึ่งต่างไปจาการทอผ้าที่ทอโดยคนไทยสมัยนั้น และสิ่งเหล่านั้นได้สืบทอดมาสู่ทายาทที่เป็นชาวไทยมุสลิม หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ นายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทอผ้าเพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าให้กับประชาชนในยุคนั้นได้มีปลัดอำเภอพุมเรียง ชื่อมานิตย์ ไม่ทราบนามสกุล นำครูสอนการทอชื่อหมัด ถิ่นวงศ์ มาสอนการทอผ้าด้วยกี่กระตุกให้กับชาวพุมเรียง โดยนางเมียด เข้ามาเป็นนักเรียนทอผ้าพุมเรียงรุ่นที่ ๑ และในเวลาเดียวกันที่อำเภอไชยาก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนการทอผ้า โดยใช้บริเวณตลาดเช้าของเทศบาลตำบลตลาดไชยาในปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาประชาชนในเขตตลาดไชยาและพุมเรียง บริเวณบ้านหัวเลนก็ได้มีการยึดอาชีพการทอผ้าแทบทุกครัวเรือน โดยมีบุคคลที่เป็นครูแห่งภูมิปัญญาหรืออัจฉริยะการทอผ้าที่เป็นที่ยกย่องและยอมรับของชาวพุมเรียงในยุคต้น ได้แก่ติม๊ะ สบสมัย ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สมัยนายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นยุครุ่งเรืองแก่งการทอผ้ายก โดยเทพ สบสมัย ซึ่งเป็นบุตรของติม๊ะ สบสมัย โดยใช้ชื่อว่า ส. ไหมไทย และสร้างชื่อเสียงเกี่ยวกับการทอผ้ายกดอกเพื่อจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั้งจำหน่ายในเขตพุมเรียงและส่งไปจำหน่ายที่กรุงเทพ ต่อมาในยุคนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิติขจร การทอผ้าเริ่มซบเซาเนื่องจากวัตถุดิบหายากและมีราคาแพง ประกอบกับความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมได้มีการทอผ้าด้วยเครื่องจักร ส่งเข้ามาขายจำนวนมากและมีราคาถูกกว่าการทอใช้เอง ชาวพุทธส่วนมากจึงเลิกทอผ้ารายได้น้อยขณะเดียวกันหญิงชาวไทยพุทธสามารถเลือกอาชีพอื่น ๆ ได้ เช่น รับราชการหรือค้าขาย จึงเลิกทอผ้าไหมไปในที่สุด ปัจจุบันการทอผ้ายกดอกด้วยหูกแบบโบราณในตำบลพุมเรียงปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก ช่างทอผ้ารุ่นใหม่ไม่นิยมทอด้วยหูกแต่จะหัดทอผ้าด้วยที่กระตุกเป็นส่วนใหญ่
           การทอผ้าไหมพุมเรียงแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ผ้าฝ้าย ซึ่งจะทอไว้ในชีวิตประจําวัน ได้แก่ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าพื้น ผ้าตา ผ้าริ้ว ผ้าขาวม้า ซึ่งต้องการความทนทาน ส่วนใหญ่จึงมักใช้ฝ้ายเป็นวัสดุ
๒. ผ้าไหมหรือฝ้ายแกมไหม เป็นผ้าทอยกดอกลวดลายสวยงามใช้มุ่งในงานพิธีต่าง ๆ ผ้าชนิดนี้จะทอเฉพาะผู้สั่งทําเท่านั้น ไม่มีขายในท้องตลาด เป็นผ้าทอยกดอกลวดลายสวยงาม

       จากคำบอกเล่าของคุณนางหวันม๊ะ นุ้ยหมีน ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านพุมเรียง เล่าว่าเนื่องจากในตําบลพุมเรียงไม่มีการปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม การทอผ้าของพุมเรียงจำเป็นจะต้องสั่งซื้อไหมดิบจากจังหวัดอื่น ๆ เช่น เพชรบูรณ์ ขอนแก่น แล้วนํามาสาวเป็นเส้นไหม ส่วนไหมที่ซื้อจากต่างประเทศก็จะซื้อจากญี่ปุ่นและจีน ที่เรียกว่าไหมกวางเจา จากนั้นนํามาย้อมและทอที่ตําบลพุมเรียง เส้นไหมที่ใช้ทอผ้าไหมพุมเรียง แบ่งตามลักษณะและคุณภาพของเส้นไหมได้ ๓ ระดับ คือ

๑. ไหมหนึ่งหรือไหมน้อย เป็นไหมที่มีคุณภาพดีที่สุด ลักษณะของเส้นไหมเล็กละเอียด เป็นนวลสวยงาม ใช้เป็นไหมเส้นยืนในการทอผ้า
๒. ไหมสองหรือไหมกลาง เป็นไหมที่มีคุณภาพรองลงมา เส้นไหมจะมีลักษณะหยาบ เป็นกปุ่มปมบ้างเล็กน้อยเส้นจะโตกว่าไหมหนึ่ง นิยมใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอเนื้อละเอียด
๓. ไหมสามหรือไหมใหญ่ เป็นไหมที่มีคุณภาพต่ําสุด เส้นไหมจะหยาบและเส้นใหญ่กว่าไหมลอง ใช้เป็นเส้นพุ่งเนื้อของผ้าเมื่อทอเสร็จแล้วจะหยาบกว่าผ้าไหมชนิดอื่น

    ในอดีตจากการบอกเล่าและปฏิบัติต่อ ๆ กันมา ผ้าที่ทอในพุมเรียงจะใช้สีย้อมผ้าที่มาจากธรรมชาติซึ่งได้จากพืชและสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ต้นคราม ฝ้าย (สีน้ำเงิน) เปลือกต้นหงอนไก่ (สีแดง) ขมิ้น แก่นขนุน  (สีเหลือง) ผลมะเกลือ (สีดำ) ลูกหว้าหรือเปลือกต้นชงโค (สีม่วง) เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีสย้อมผ้าประเภทสีสังเคราะห์ การย้อมสีไหมจากสีธรรมชาติจึงลดน้อยลง ประกอบกับปัจจุบันผู้ประกอบการทอผ้าในพุมเรียงส่วนมากจะซื้อเส้นไหมที่ย้อมเสร็จแล้วมาทอ เพราะกรรมวิธีและขั้นตอน การย้อมสียุ่งยากและเสียเวลาในการย้อม  สำหรับกลุ่มทอผ้าบ้านพุมเรียง จะย้อมสีไหมด้วยตนเองโดยมีวิธีการย้อมสี คือจะต้องนําไหมดิบมาต้มเพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออกเรียกว่าการฟอกไหม เส้นไหมจะสะอาดเมื่อย้อมสีสีที่ติตเส้นไหมจะไม่ตกหรือลอกง่าย ก่อนทําการฟอกไหมจะต้องนําเส้นไหมไปชั่ง เช่น ถ้าต้องการไหมที่ย้อมเสร็จแล้ว ๑ กิโลกรัม จะต้องมั่งไหมดิบที่จะนําไปฟอก ๑.๕ กิโลกรัม เพราะเส้นไหมดิบเมื่อต้มเสร็จแล้วน้ําหนักจะลดประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ สําหรับน้ําที่ใช้ต้มฟอก ประกอบด้วยสบู่กรดและโซเดียมคาร์บอเนต (Sodium Carbonate) ในอัตราส่วนไหม ๑ กิโลกรัม ต่อสบู่กรด ๑ ก้อน และไขเดียมคาร์บอเนต ๑ ขีด ต้มน้ําจนเดือดเมื่อส่วนผสมละลายหมดแล้วจึงนําเส้นไหมไปต้มฟอก ในน้ําประมาณ ๒๐-๓๐ นาที สบู่กรดและโซเดียมคาร์บอเนต จะฟอกขี้ผึ้งหรือกาวเซอวิชินและฝุ่นละอองที่เกาะเล้นไหมให้หลุดออก ทําให้เส้นไหมขาวอ่อนนุ่มแวววาว หลังจากฟอกเส้นไหมได้ที่แล้ว จึงนําไปซักล้างในน้ําสะอาด อีก ๒-๓ ครั้ง จนเส้นไหมหมดเมือกแล้วบิตไหมพอหมาด ๆ เตรียมนําไปย้อมต่อไป การย้อมสีไหมคือการทําเส้นไหมให้มีสีสันที่แตกต่างไปจากธรรมชาติ โดยนําเส้นไหมที่ฟอกแล้วลงไปต้มในน้ําสีที่เดือด ต้มไปจนกระทั่งเส้นไหมดูดสีจนหมดเหลือน้ําใส ๆ และต้องดูด้วยว่าเส้นไหมทุกเส้นมีสีเรียบเสมอกันจึงจะใช้ได้ สีบางสีสามารถใส่ไหมที่ฟอกแล้วต้มในน้ําสีที่เดือดได้เลย เช่น สีแดง สีบานเย็น สีน้ําเงิน แต่บางสีต้องนําไหมที่ฟอกแล้วไปชุบน้ํา สีที่ยังไม่ได้ต้มเสียก่อนแล้วบิดเส้นไหมพอหมาด ๆ นําน้ําสีนั้นไปต้มให้เดือดจึงใส่เส้นไหมที่ยุบสีแล้วลงไปต้มสีเหล่านี้ ได้แก่ สีเหลือง สีน้ําตาล สีครีม สีชมพู หลังจากที่ต้มให้เส้นไหมดูดสีจนหมด และเส้นไหมทุกเส้นมีสีเรียบเสมอกันแล้ว จึงนําเส้นไหมไปซักในน้ําเย็น ๒-๓ ครั้ง บิดน้ําให้แห้ง ถ้าเป็นเส้นไหมยืนต้องนําไปลงแป้งเสียก่อน หลังจากนั้นก็กระตุกเส้นไหมให้เส้นไหมกระจายไม่พันกัน แล้วจึงนําไปตากแดดอ่อน ๆ ในที่มีลมพัดผ่าน เมื่อเส้นไหมแห้งจะกระตุกให้เส้นไหมกระจายอีกครั้งแล้วจึงม้วนเส้นไหมเป็นขด ๆ เก็บไว้เพื่อทอต่อไป


เทคนิคการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์

         เทคนิคการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมพุมเรียงคือลวดลายผ้า ช่างทอผ้าที่ตําบลพุมเรียงมีแบบลวดลายผ้าที่ใช้เป็นตัวอย่างการเก็บตอก เรียกว่า "ครูผ้า” ซึ่งได้แก่ ผ้าปักด้วยไหม เป็นรูปลวดลายต่างๆ ซึ่งจะใช้เป็นแบบสําหรับทอผ้าดอก เช่น ผ้าปักลาย โคมเพชร ที่นางแม้ะเหรียม หวันมุดา ปักเมื่ออายุ ๑๘ ปี เพื่อเป็นแบบ ผ้าทอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จ ประพาลตําบลพุมเรียง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๗๒ และยังปักลวดลายอื่นๆ ไว้ เป็นแบบ เช่น ลายราชสีห์เข้าถ้ํา ลายกินนร ฉายข้าง ลายครุฑ ลายนกยูง และลายตกแต่งริมผ้าอีกหลายลาย นอกจากนี้ “ครูผ้า” ยังหมายถึงเศษผ้าทอยกดอกที่ช่างทอผ้าทอไว้แต่เติมหรือได้รับจากที่อื่นแล้วรักษาไว้เพื่อเก็บเป็นแบบลายดอกสําหรับทอผ้าครั้งต่อไป ช่างทอผ้าที่ตําบลพุมเรียงมีแบบลวดลายผ้าใช้เป็นตัวอย่างการเก็บดอกเรียกว่า “ครูผ้า” ซึ่งมาจาก ๒ ประเภท คือ

 ๑. จากเศษผ้าทอยกดอกดั้งเดิมที่เก็บรักษาไว้
๒. ประดิษฐ์ขึ้นแล้วมักเป็นลวดลายต่าง ๆ ไว้เป็นต้นแบบทอยกดอก

       ลวดลายผ้าไหมพุมเรียง   
                ลวดลายผ้าไหมพุมเรียงแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ประกอบด้วย

๑. ลายดอกไม้ ได้แก่ ดอกพิกุล ดอกพิกุลคู่ ดอกกุหลาบ ดอกบุหงา ดอกโบตั๋น ดอกเบี้ยวกระแต ดอก แก้ว ดอกมะลิ ดอกก้านแย่ง ก้านในดอก ดอกลอย ดอกจม ลายเครือวัลย์ (เครือเถาว์) เป็นต้น สำหรับลายดอกพิกุลเป็นลวดลายผ้าโบราณที่มีการ ออกแบบสําหรับทอผ้ายกลําพูนในอดีต ซึ่งต่อมาได้ มีการออกแบบลวดลายดอกพิกุลที่หลากหลายขึ้น เช่น พิกุลเครื่อ พกลมขอบ พักลก้านแย่ง พิกุลเข้า ใหญ่ ศึกลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ และทุกลกลม เป็นต้น ซึ่งแต่ละลวดลายจะมีรูปแบบ ที่แตกต่างกัน
๒. ลายสัตว์ ได้แก่พญาครุฑ ราชสีห์เข้าถ้ำ ขี้หนอน (กินนร ) ราชสีห้ ช้าง แมลงวัน นกยูง ปลาตะเพียน หูช้าง ลูกปลา เป็นต้น การทอแบบลายสัตว์ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของความยําเกรง ความหยิ่งผยองความมีศักดิ์ศรี ซึ่งชาวบ้านจะมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จึงได้นําเอาลายเสื้อมาทอเป็นลายของผ้าขึ้น
๓. เบ็ดเตล็ด ได้แก่ราชวัตรโคม หรือราชวัตรดอกใหญ่ ราชวัตรเล็ก (ราชวัตรดอกเล็ก ) ดอกใหญ่ล้อมแมลงวัน โคมเพชรขอเทพ น้ำไหลพุมเรียง ข้าวหลามตัด ยอดแหลม ก้างปลา สหไทย ยกเป็ด เป็นต้น


ลายกระดุมทอง โทนเขียวแดง
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย

           ผ้าไหมบ้านพุมเรียงลายกระดุมทอง โทนสีเขียวแดง ลายเลียนแบบลักษณะดอกกระดุมทอง 


ลายยกเบ็ด โทนเงาส้ม
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย

           ผ้าไหมพุมเรียงลายยกเบ็ด ลักษณะลายเกิดจากการเลียนแบบความงามของดอกไม้จากธรรมชาติผสมกับการจำลองรูปทรงเรขาคณิต ลายยกเบ็ดคล้ายดอกไม้ มีแปดกลีบอยู่ในทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ระหว่างลายจะมีตัวกั้นลาย (พื้นจะเป็นสีเข้ม ตัวลายจะสีอ่อน) 


ลายแสงจันทร์ โทนชมพูเขียวแมลงทับ
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย

          ผ้าไหมพุมเรียงลายแสงจันทร์ ลักษณะลวดลายคล้ายเครื่องประดับสตรีในสมัยโบราณ 


ลายแสงจันทร์ โทนฟ้าชมพู
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย

          ผ้าไหมพุมเรียงลายแสงจันทร์ ลักษณะลวดลายคล้ายเครื่องประดับสตรีในสมัยโบราณ 


ลายดอกจันทร์สีเข้ม โทนน้ำเงิน 
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย

         


ลายดอกจันทร์ สีชมพูเขียวลายขวาง 
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย

        


ลายแสงจันทร์ โทนเหลืองดำ 
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย

           ผ้าไหมพุมเรียงลายแสงจันทร์ ลักษณะลวดลายคล้ายเครื่องประดับสตรีในสมัยโบราณ 


ลายดอกจันทร์ สีชมพูเขียว 
ภาพจาก : วรรม๊ะไหมไทย
      


กลุ่ม OTOP / ผู้ประกอบการ

       กลุ่มทอผ้าบ้านพุมเรียง
      
ก่อตั้งโดยคุณหวันมะ ปุ๋ยหมีน เจ้าของร้านวรรต๊ะไหมไทย หมู่ที่ ๒ บ้านหัวเลน ตําบลพุมเรียง ผู้ได้รับการคัดเลือกผลงานหนึ่งตําบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ดีเด่น กลุ่มผ้าไหมพุมเรียง  คุณหวันมะ ปุ๋ยหมีน เล่าว่าในอําเภอไชยาเด็กหญิงที่ตําบลพุมเรียงจะเริ่มหัดทอผ้าตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสังเกตการทอผ้าของผู้ใหญ่เป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ ด้วยวิธีสังเกตและทดลองปฏิบัติจริง ผู้ใหญ่จะสอนวิธีการทอ การย้อมสีเส้นไหม การเตรียมเส้นไหมสําหรับทอ การก่อ ตะกอ วิธีการและขั้นตอนการทอผ้าเหล่านี้ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยความสามารถในการจดจําจากผู้สอนที่มีความชํานาญและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถรักษาศิลปะการทอผ้าไว้จนถึงปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าบ้านพุมเรียงผ้าทอพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของกลุ่มชาวไทยมุสลิม ที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณอ่าวพุมเรียง แถบบริเวณคลองพุมเรียง หมู่ที่ ๒ บ้านหัวเลน ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ผ้าไหมพุมเรียง
ที่อยู่
จังหวัด
สุราษฎร์ธานี


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

รัชนี กัลยาคุณาวุฒิ. (2538). ผ้าทอภาคใต้. สงขลา : คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 
เอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์, บรรณาธิการ. (2545). สุราษฎร์ธานี เมืองคนดีศรีแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ.

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024