เพลงบอก
 
Back    23/04/2018, 15:14    63,265  

หมวดหมู่

การละเล่น


ประเภท

การขับร้อง


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : http://www.trueplookpanya.com/welcome.html?code=404

      เพลงบอกเป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ จัดเป็นปฏิภาณกวีคือผู้ทอกเพลงบอกจะต้องใช้ไหวพริบและปฏิภาณ  ซึ่งการใช้คารมที่ออกมาเป็นบทกลอนเพื่อชมสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือโต้ตอบกัน เพลงบอกจะเล่นและร้องกันอย่างแพร่หลายในบริเวณจังหวัดภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง ซึ่งบทกลอนของเพลงบอกจะมีความโดดเด่นทางด้านฉันทลักษณ์มาก ซึ่งนักวิชาการกล่าวกันว่ามีความแตกต่างจากเพลงพื้นบ้านภาคใต้อื่น ๆ และไม่ตรงกับบทร้อยกรองไทยประเภทใดเลย (ภัทราดี ภูชฎาภิรมณ์, ๒๕๕๔, หน้า ๕๙) ซึ่งจะนิยมเล่นกันในวันตรุษสงกรานต์ เพื่อเป็นการป่าวประกาศให้ชาวบ้านได้รู้โดยทั่วกันว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว หรือใช้เป็นการบอกเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ เช่น บอกงานบุญกุศล เพราะในสมัยโบราณคนที่รู้หนังสืออ่านออกเขียนได้มีน้อย เอกสารการพิมพ์ก็ไม่แพร่หลายมากนัก รายละเอียดเกี่ยวกับการขึ้นปีใหม่หรือเปลี่ยนศักราช หรือการประกาศสงกรานต์ประจำปี เพลงบอกคือการสื่อสารที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง เพลงบอกจึงเป็นการบอกข่าวของชาวบ้านไปทุกละแวกให้ทราบว่าใกล้ถึงปีใหม่แล้ว หรือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ เช่น บอกข่าวเชิญไปทำบุญตามเหตุการณ์ ต่าง ๆ เรียกได้ว่าเพลงบอกเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมทางจิตใจอย่างหนึ่งของชาวใต้ ซึ่งคู่กับชาวบ้านมานานตั้งแต่โบราณ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน                  
        จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีนักเล่นเพลงบอกมากที่สุด ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนได้รับสมญานามว่าเมืองเพลงบอก นอกจากมีนักเล่นเพลงบอกเป็นจำนวนมากแล้ว นักเล่นเพลงบอกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมชมชอบว่ามีฝีปากคมคายเป็นที่ดีเยี่ยมส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  เพลงบอกเป็นการละเล่นประเภทการขับร้องที่ต้องใช้สำเนียงภาษาถิ่นใต้ในการร้องบท ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ได้เล่าว่าเพลงบอกนั้นมีมานานแล้ว ถ้าพิจารณาจากชื่อเรียกเพลงบอกหมายถึงการบอกกล่าวข่าวสารต่าง ๆ ให้ชาวบ้านได้รับรู้ แต่แทนที่จะพูดหรือป่าวประกาศเป็นร้อยแก้ว ผู้ประกาศข่าวหรือแม่เพลง จะกล่าวเป็นทำนองบทร้อยกรอง และมีลูกคู่คอยรับและส่งตามคำร้องของแม่เพลง ส่วนอีกประการหนึ่งเพลงบอกอาจจะมาจากกระบอกไม้ไผ่ ที่ในครั้งอดีตเวลาแม่เพลงนำข่าวสารไปบอกกับชาวบ้าน ก็จะเอาสารออกมาจากกระบอกไม้ไผ่แล้วบอกให้ชาวบ้านทราบ หรือเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จะมีนักเลงกลอนชาวบ้าน เที่ยวตระเวนไปแทบทุกครัวเรือนหรือที่ ๆ ชาวบ้านมาชุมนุมกันมาก ๆ อาทิ วัด เพื่อขับร้องกลอนบอกสงกรานต์ตามคำทำนายของโหรหลวง เพราะฉะนั้นเพลงชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า "เพลงบอก" สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ (๒๕๒๙) กล่าวว่าเพลงบอกเป็นเพลงพื้นเมืองที่นิยมเล่นแพร่หลายที่สุดในสมัยก่อนเมื่อถึงหน้าสงกรานต์ยังไม่มีปฏิทินบอกสงกรานต์แพร่หลายอย่างปัจจุบัน จะมีแม่เพลงนำรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์ออกป่าวประกาศแก่ชาวบ้าน โดยร้องเป็นเพลงพื้นบ้านและมีลูกคู่รับเป็นทำนองเฉพาะจึงมีชื่อเรียกว่าเพลงบอก
 
       สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2558) ได้กล่าวว่าเพลงบอกนั้นประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือคำว่า “เพลง”  กับคำว่า “บอก”  เพลงหมายถึงสำเนียงขับร้อง, ทำนองดนตรี หรือชื่อการร้องแก้กัน ส่วนบอกหมายถึงพูดให้รู้หรือเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้นเพลงบอกเพลงเล่าเรื่องหรือเล่าเป็นเพลง,พูดเป็นเพลง เพลงบอกเป็นเพลงพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมสูงสุดและมีการแพร่กระจายทั่วทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ตลอดไปจนถึงคนไทยในประเทศมาเลเซีย 

ภาพจาก : https://library.stou.ac.th/odi/songkran-music/index.html

การละเล่นเพลงบอก
 
       ในอดีตการละเล่นเพลงบอกนิยมเล่นเพื่อป่าวประกาศข่าวต่าง ๆ แก่ชาวบ้าน  เช่น บอกรายละเอียดเกี่ยวกับงานสงกรานต์  ภายหลังจึงมีการเล่นเพื่อความครึกครื้นหรือร้องโต้ประชันเพื่ออวดฝีปากกัน  เพลงบอกคณะหนึ่ง ๆ จะมีแม่เพลง ๑ คน ลูกคู่ ๒-๓ คน กลอนที่ใช้ในเพลงบอกจะเป็นกลอนด้น ซึ่งต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ รูปแบบค่อนข้างซับซ้อน ยืดหยุ่นได้ทั้งสัมผัสและจำนวนคำ  ความนิยมในการเล่นเพลงบอกเดิมเชื่อว่าเป็นการเล่นที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์เป็นหลััก ในตำนานนางสงกรานต์ที่เล่าว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล โดยบ้านของเศรษฐีคนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีที่ไม่มีบุตร จนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร แต่แม้ว่าเศรษฐีจะตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่าสามปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร กระทั่งวันหนึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษเศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอไปถึงก็ได้นำข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐีจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานเทพบุตรให้องค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าเทพบุตรก็คลอดออกมา เศรษฐีจึงตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า "ธรรมบาลกุมาร" และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัยเวลาผ่านไป ธรรมบาลกุมารโตขึ้นได้เรียนรู้ภาษานก และเมื่ออายุเจ็ดขวบก็ได้เรียนไตรเภทจบ ธรรมบาลกุมาลจึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่งท้าวกบิลพรหมได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่าถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ซึ่งปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ "ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน" เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้นธรรมบาลกุมารก็จนปัญญาไม่สามารถตอบได้ จึงได้ขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก ๗ วัน จนกระทั่งล่วงเข้าวันที่ ๖ ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่าหากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม แต่นับเป็นโชคดีที่ธรรมบาลกุมาร ซึ่งสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นตาลนั้นมีนกอินทรี ๒ ตัว ผัวเมียเกาะทำรังอยู่ ธรรมบาลกุมารจึงได้ยินนกสองตัวผัวเมียสนทนากัน โดยนางนกอินทรีถามสามีว่าพรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีได้ตอบนางนกเมียไปว่าเราจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่าเพราะตอบปัญหาไม่ได้ นางนกเมียจึงถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไรและคำตอบคืออะไร นกผู้สามีก็เล่าให้นางนกผู้เมียฟังว่าตอนเช้าราศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยงราศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นราศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน เมื่อธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็ดีใจ กระทั่งวันรุ่งขึ้นวันที่ ๗ ธรรมบาลกุมารได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมพ่ายแพ้ต่อธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ตามคำท้าไว้แต่ปัญหาก็คือ พระเศียรของพระองค์หากตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นอย่างเช่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้โลก แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง ด้วยเหตุนี้ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง ๗ ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นางทุงษะผู้เป็นธิดาองค์โต เป็นผู้เริ่มต้น ซึ่งนางทุงษะก็เชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที จากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นว่า ๑ ปี เวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง ๗ ก็จะทรงพาหนะของตนผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ ทำเช่นนี้ทุก ๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง ๗ ปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น นัยก็คือพระอาทิตย์ เพราะกบิลหมายถึงสีแดง คือเป็นการนำเอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและรายละเอียดเกี่ยวกับวันสงกรานต์มาบอกให้ ชาวบ้านได้ทราบเพราะแต่ก่อนนี้ความรู้อ่านออกเขียนได้มีน้อย เพลงบอกจึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสนใจเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม การทำนา ทำไร่ ซึ่งต้องพึ่งพาธรรมชาติ ดังนั้นการทราบรายละเอียดของฝน การให้น้ำของนาค การทราบชื่อนางสงกรานต์ จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการทราบ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการประกอบอาชีพของตน นอกจากการเล่นเพลงบอกในวันสงกรานต์แล้ว ในเวลาต่อมีการนำเอาเพลงบอกไปเล่นในงานอื่น ๆ ด้วย เช่น งานประจำปี งานบวชนาค งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ และงานบุญอื่น ๆ ตามความประสงค์ของเจ้าภาพ เพลงบอกจึงกลายเป็นการละเล่นพื้นถิ่นของภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ตอนกลาง แต่จะเล่นกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดนครศรีธรรมราชมานานกว่า ๒๐๐ กว่าปี โดยจะเล่นกันประมาณปลายปีประมาณเดือน ๔ หรือย่างเข้าเดือน ๕ ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวนาภาคใต้ส่วนใหญ่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉางเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนพลบค่ำตามละแวกบ้านจะได้ยินเสียงเพลงบอกแทบทุกบ้าน คณะเพลงบอกจะออกตระเวณตามบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูรับ แม่เพลงก็จะขับกล่อมเพลงบอก โดยเนื้อความตอนแรกมักจะเป็นบทไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และกล่าวขมเชยเจ้าของบ้าน แล้วเจ้าของบ้านจะเชิญขึ้นบนเรือน ยกเอาหมากพลู บุหรี่ หรือบางที่ก็นำเหล้ายาปลาปิ้งออกมาเลี้ยง เจ้าของบ้านบางคนอาจลองภูมิรู้ของเพลงบอกบอกโดยถามถึงเรื่องราวทั่ว ๆ ไป เช่น หลักธรรมคำสอน ความเป็นมาของวันสงกรานต์ แม่เพลงก็จะขับเป็นเพลงบอกเล่าให้ฟัง และก่อนจะอำลากลับไปบ้านอื่น ๆ คณะเพลงบอกจะขับเพลงบอกให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม และคณะเพลงบอกก็จะตระเวนกันต่อไปจนตลอดรุ่งจึงจะเลิก รายได้จากการเล่นเพลงบอกสงกรานต์นิยมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งจะถวายวัด อีกส่วนหนึ่งแบ่งปันกันในคณะสำหรับเที่ยวและเล่นการพนันในงานสงกรานต์ซึ่งเรียกว่า "เล่นว่าง" ในวันสงกรานต์เพลงบอกนอกจากทำหน้าที่ให้ข่าวสารแล้ว ตามขนมธรรมเนียมประเพณีเด็กหรือผู้เยาว์ยังนิยมเอาน้ำไปสรงพระพุทธรูป ก็จะมีการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือด้วย ในการขับร้องเพลงบอกในบทหนึ่งจะมีจำนวนวรรคอยู่ ๔ วรรค ในวรรคหนึ่ง ๆ จะมีจำนวนคำที่ไม่ค่อยแน่นอนนัก  การขับเพลงบอกนั้นเมื่อแม่เพลงบอกร้องจบวรรคแรก ลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่งโดยรับว่า "ว่าเอ้ว่าเห้" พร้อม ๆ กับต้องคอยตีฉิ่งให้เข้าจังหวะกับแม่เพลง แต่เดิมการร้องเพลงบทใช้การปรบมือ หรือการใช้กระบอกไม้ไผ่กระทุ้งให้เกิดเสียงเป็นจังหวะประกอบการร้องบท เครื่องดนตรีที่เพลงบอกใช้และสืบทอดมาถึงปัจจุบันคือฉิ่ง ๑ คู่ (หรืออาจมีกรับ ๑ คู่ก็ได้) การขับเพลงบอกจะแต่งเป็นบทกลอน ซึ่งมีฉันทลักษณ์เป็นแบบฉบับของตนเอง ส่วนมากกลอนหนึ่งบทจะประกอบด้วย ๔ วรรค ๓ วรรคแรกจะมีวรรคละ ๖ คำ ส่วนวรรคสุดท้ายจะมี ๔ คำ เพลงบอกจะต้องมีลูกคู่คอยร้องรับ ซึ่งเพลงบอกคณะหนึ่ง ๆ จะมีลูกคู่อย่างน้อย ๒ คน หรือมากสุดไม่เกิน ๖ คน

ภาพจาก : http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=23337.0

ประเภทของเพลงบอก
       การขับร้องเพลงบอกที่นิยมเล่นกันสามารถแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้คือ
         เพลงบอกบอกสงกรานต์
         เพลงบอกบอกสงกรานต์ถือเป็นการละเล่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของเพลงบอก จะเล่นกันราว ๆ ประมาณปลายเดือน ๔ หรือย่างเข้าเดือน ๕ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนาทางภาคใต้ใต้ส่วนใหญ่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉางเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนพลบค่ำตามละแวกบ้านจะได้ยินเสียงเพลงบอกแทบทุกบ้านของจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะเพลงบอกจะออกตระเวณตามบ้านใกล้เรือนเคียง โดยมีบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้านนั้น ๆ เป็นคนนำทางคอยไปปลุกเจ้าของบ้านให้เปิดประตูรับเจ้าของบ้านจะเปิดประตูรับ ก็ต่อเมื่อเขาแน่ใจว่าคนที่มานั้นเป็นผู้ซึ่งเขารู้จักดี ทั้งนี้เพราะว่าบางทีก็มีการสวมรอยของผู้ร้ายมาทำทีเป็นเพลงบอก แล้วเข้าปล้นบ้านก็มี เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูรับแม่เพลงก็จะขับกล่อมเพลงบอกขึ้นในทันที เนื้อความตอนแรกมักจะเป็นบทไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวขมเชยเจ้าของบ้านตามสมควร ต่อจากนั้นเจ้าของบ้านก็จะเชิญขึ้นบนเรือน

       เพลงบอกบอกข่าวทั่ว ๆ ไป
        เพลงบอกบอกข่าวทั่ว ๆ ไป ในการว่าเพลงบอกนอกจากเพลงบอกจะบอกสงกรานต์อันถือเป็นสัญลักษณ์เฉพาะแล้วยังบอกข่าวคราวทั่ว ๆ ไปด้วย เช่น บอกบุญเรี่ยไรในงานบุญงานกุศล ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งและเชิญชวนให้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียง ตลอดจนโฆษณาสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น ข่าวที่ใช้เพลงบอกจะเข้าถึงและได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าการสื่อสารธรรมดา เพราะท่วงท่าทำนองลีลาจังหวะ ถ้อยคำ และน้ำเสียง ชวนให้เกิดความหรรษาไปด้วย โดยเป็นการว่าเพลงบอกเพื่อประกาศข่าวสาร เช่น งานบุญตามเทศกาลต่่าง ๆ โดยเพื่อพ่อเพลงและลูกคู่มาถึงชานบ้านก็จะยกเอาหมากพลู บุหรี่ หรือบางที่ก็นำเหล้ายาปลาปิ้งออกมาเลี้ยง หรือหยิบยื่นให้เป็นเสบียง เป็นยาแก้หนาวในขณะที่ออกตระเวนว่าเพลงบอก เจ้าของบ้านบางคนอาจลองภูมิรู้ของเพลงบอกบอกโดยถามถึงเรื่องราวทั่ว ๆ ไป เช่น หลักธรรมคำสอน ความเป็นมาของวันสงกรานต์ แม่เพลงก็จะขับเป็นเพลงบอกเล่าให้ฟังหากตอบถูกเจ้าของบ้านก็จะตกรางวัลให้ แต่ถ้าบอกไม่ได้ก็อาจเคราะห์ร้ายถูกเจ้าของบ้านเชิญให้ลงจากบ้านก็เป็นได้ แต่ส่วนใหญ่เจ้าของบ้านก็ไม่ถึงกับไล่คณะเพลงบอก เพราะอยากจ่ายรางวัล จึงมักมีรางวัลติดไม้ติดมือกลับไปเสมอ ก่อนจะอำลากลับไปบ้านอื่น ๆ คณะเพลงบอกจะขับเพลงบอกให้ศีลให้พรตามธรรมเนียมของไทยเรา ต่อจากนั้นคณะเพลงบอกก็จะตระเวนกันต่อไปจนตลอดรุ่งจึงจะเลิก แต่ส่วนใหญ่กฌมักจะไปเมามายอยู่ที่ใดที่หนึ่งรายได้จากการเล่นเพลงบอกสงกรานต์ นิยมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายวัด อีกส่วนหนึ่งแบ่งปันกันในคณะสำหรับเที่ยวและเล่นการพนันในงานสงกรานต์ซึ่งเรียกว่า " เล่นว่าง"

        เพลงบอกประชัน
     การละเล่นเพลงบอกเพื่อการประชันเป็นการว่าเพลงอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม ในสมัยก่อนการประชันเพลงบอกส่วนมากจะจัดขึ้นภายในวัด โดยมีแม่เพลงบอกนั่งร้องขับบทกันที่ศาลากลางวัด แม่เพลงผู้อวุโสจะเป็นผู้แสดงฝีปากก่อน ซึ่งจะเริ่มร้องด้วยบทไหว้ครู สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บุคคลสำคัญ และเจ้าบ้านผ่านเมือง เมื่อแม่เพลงร้องจบ ฝ่ายตรงข้ามจะเริ่มร้องบทไหว้ครูเช่นเดียวกัน
        การประชันเพลงบอกจะมีหลักเกณฑ์หรือกติกาในการตัดสินว่าเพลงบอกคณะนี้ดีหรือด้อยอย่างไร โดยจะดูบทกลอนว่าถูกต้องตามฉัทลักษณ์หรือไม่ และว่าถูกต้องตามแบบของกลอนเพลงบอกหรือไม่ นอกจากนี้ยังสังเกตจากการเลือกสรรคำมาใช้ เช่น ดูคำศัพท์ สำนวนโวหาร ว่ามีความคมคาย กว้างแคบ หรือใช้ได้เพียงไร พิจารณาดูเชาว์ปัญญาความรอบรู้ และปฏิภาณไหวพริบของแม่เพลง การนำเสนอความคิดเห็นที่แยบคาย แปลกใหม่ ดูท่วงทำนอง ลีลาจังหวะ สุ้มเสียง และการร้องรับของลูกคู่ ซึ่งจะมีค่านิยมที่ปรากฏในเพลงบอกที่เด่น ๆ มีอยู่ ๒ ประการ คือการเคารพยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเคารพยกย่องครูอาจารย์ นอกจากนี้ในบทกลอนเพลงบอกยังสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่และการละเล่นต่าง ๆ ของชาวภาคใต้ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองการปกครองอีกด้วย ในการประชันหรือโต้เพลงบอกนิยมยกพื้นเวทีสูงขึ้นกว่าพื้นปรกติเพื่อให้ผู้ชมเห็นได้ชัดเจน คู่โต้พร้อมลูกคู่นั่งฝ่ายละฟากเวที มีผู้อาวุโสนั่งกลางเป็นประธาน แต่เดิมการโต้ไม่กำหนดหัวข้อหรือญัตติและเวลา เรื่องที่โต้แล้วแต่ใครจะหยิบอะไรขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเชิงเปรียบเทียบ เช่น ถ้าฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องชนไก่หรือวัวชน อีกฝ่ายก็ต้องว่าเรื่องนั้นด้วย และต่างพยายามนำเรื่องไก่ชน วัวชน มาเปรียบเทียบกับคน โดยเฉพาะแม่เพลงทั้ง ๒ คน จะต้องว่าในทำนองข่มกัน บางครั้งอาจว่าเกี่ยวกับธรรมะและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ การประชันครั้งสำคัญ ๆ ก่อนประชันต่างฝ่ายต้องสืบประวัติ ตลอดจนชั้นเชิงความสามารถของฝ่ายตรงข้ามอย่างละเอียด เพื่อจะได้หาทางกล่าวโจมตีและกล่าวแก้ได้ทันควัน การโต้เพลงบอกต้องอาศัยไหวพริบความฉับไวเข้าแข่งกัน ในการตัดสินแพ้ชนะใช้เสียงของผู้ชมผู้ฟังเป็นหลัก โดยฟังจากเสียงโห่ฝ่ายใดโห่สิ้นเสียงก็เป็นฝ่ายชนะ หรือไม่ก็โต้กันจนจนฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ไปเลย การโต้เพลงบอกในปัจจุบันต่างไปจากสมัยโบราณเป็นอันมาก เพราะมีการกำหนดหัวเรื่องหรือญัตติให้โต้กัน โดยมีฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน มีการกำหนดเวลาและกติกากำหนดไว้ชัดเจนในการโต้ ตลอดถึงมีกรรมการตัดสินเช่นเดียวกับการโต้วาทีโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะทำให้เพลงบอกคณะที่เตรียมตัวมาดีกว่าได้เปรียบ แต่การโต้เพลงบอกจะไม่สนุกและไม่เห็นไหวพริบปฏิภาณของเพลงบอกได้เด่นชัดดั่งเช่นในอดีต

       เพลงบอกร้องชา
   
   เพลงบอกร้องชาเป็นการร้องบูชาหรือชมเชยสิ่งชองหรือบุคคลที่ควรชมเชยหรือบูชา เช่น ชาขวัญข้าว ชาประธาตุ ชาเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ ชาผู้อาวุโสและครูอาจารย์ เป็นต้น การร้องชาแม่เพลงจะสรรหาแต่สิ่งดีงาม สวยงามขึ้นมากล่าว เพื่อให้สิ่งของหรือผู้ที่ถูกชาเกิดความมีคุณค่า รู้สึกอิ่มเอมใจ การชาพบได้บ่อยในงานบุญ โดยเพลงบอกจะชาผู้ทำบุญว่าเป็นผู้สูงส่งด้วยคุณธรรมต่าง ๆ

การขับร้องเพลงบอก
   เนตร ชลารัตน์ ๑ นักเล่นเพลงบอกอาวุโสยืนยันว่าเพลงบอกเป็นชื่อเรียกตามลักษณะการบอกกล่าวกันในวันสงกรานต์แน่นอน ทั้งนี้เพราะแต่ก่อนหาปฏิทินที่บอกสงกรานต์ได้ยาก เพลงบอกจึงนำรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์ไปขับร้องบอกกล่าวแก่ชาวบ้าน บทกลอนเพลงบอกดัดแปลงมาจากคำร้องประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะสั้น ๆ เรียกว่า “เพลงเห่” บ้าง “กลอนแปดบท” บ้าง เช่น

รักเมียเสียนายจะคลายยศ  รักกระบือเสียสวนควรจะอดผล
รักนวลเสียงานป่วยการตน            รักชนเสียชื่อคือคนร้าย
รักดื้อเสียดายคงจะวายชีพ            ไม่ช้านานเท่าใดไวฉิบหาย
ท่านผู้ฟังหลังหน้าปรึกษาดู            จะว่าไว้ให้เห็นเป็นครูลาย

     
       กลอนแปดบทเฟื่องฟูอยู่ทางเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว ศิลปินที่มีชื่อเสียงตามที่เล่าสืบต่อกันมาได้แก่นายเรือง นาใน จนผู้คนเรียกว่า “นายเรืองแปดบท” นายเรืองมีชีวิตอยู่ราวสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาขุนประดิษฐ์ได้ดัดแปลงกลอนแปดบทขึ้นเป็นกลอนเพลงบอก เรียกติดปากกันในครั้งนั้นว่า “เพลงบอกขุนประดิษฐ์” นักกลอนเพลงบอกที่มีชื่อในระยะแรกได้แก่นายควาย นายสุขปราชญ์ นายช่วย เสมาชัย ขุนเสกและนายแตง เป็นต้น แต่ลักษณะกลอนในระยะแรกคงจะลักลั่นกันอยู่มากและคงไม่ไพเราะนัก ล่วงมาถึงสมัย พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตฺนธชฺเถระ) ซึ่งเป็นสหชาติกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช จึงได้ดัดแปลงจัดระเบียบกฎเกณฑ์ของกลอนเพลงบอกขึ้นเป็นแบบแผน กลอนเพลงบอกที่เขียนครั้งแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาลาประดู่หกซึ่งเป็นศาลาหน้าจวนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพลงบอกคณะหนึ่งจะมีแม่เพลง ๑ คน และลูกคู่อีก ๔-๖ คน อาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่าก็ได้ เครื่องดนตรีจะมีเพียงอย่างเดียวคือฉิ่ง การร้องจะใช้ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ โดยร้องด้นเป็นกลอนสดแท้ ๆ ใช้ปฏิภาณร้องไปตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พบเห็น แต่ถ้าร้องในโอกาสพิเศษอื่น ๆ มักจะเตรียมตัวโดยประพันธ์เรื่องไว้ก่อนไปร้องก็มี สำหรับดนตรีประกอบบางคราวก็อาจมีเพิ่มได้ เช่น ขลุ่ย ปี่ ทับ กรับ ก็ได้ สำหรับวิธีการขับ (ว่า) เพลงบอก เมื่อแม่เพลงบอกร้องจบวรรคแรกลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่งโดยรับว่า "ว่าเอ้ว่าเห้" พร้อม ๆ กับต้องคอยตีฉิ่งให้เข้ากับจังหวะ ถ้าหากแม่เพลงว่าวรรคแรกซ้ำอีก ลูกคู่ก็จะรับว่า "ว่าทอยช้าฉ้าเอ้" และเมื่อแม่เพลงว่าไปจนจบบทแล้ว ลูกคู่จะต้องรับวรรคสุดท้ายอีกครั้ง ในเพลงบอกบทหนึ่ง ๆ มีจำนวนวรรคอยู่ ๔ วรรค วรรคหนึ่ง ๆ มีจำนวนคำไม่ค่อยแน่นอน บางทีขาดบางที่เกินไปบ้าง และสัมผัสก็ไม่เคร่งครัดนัก  การนอกสัมผัสใน เช่น

ครั้นได้มิตรชนิดดี                                                 ผูกไมตรีไว้ในแน่น
อย่าคลอนแคลนลอดลักลั่น                                ทำเป็นหักหุน
เมื่อข้าวของเงินทองเฟือ                                      หยิบแผ่เผื่อแจกเจือจุน
กับหมั่นหมุนเอาใจคอ                                           กันให้พอดี

   
        ในสมัยอนเมื่อใกล้ถึงเทศกาลต่าง ๆ คณะเพลงบอกต่างก็เตรียมฝึกซ้อม หาลูกคู่ และคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อประกวดกัน หลังจากทำบุญเสร็จตกบ่ายคณะเพลงบอกจะไปว่าเพลงบอก ตามบ้านผู้ที่ตนเคารพนับถือหรือผู้ที่ตนรู้จักคุ้นเคย ความนิยมแบบนี้ปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก ยังมีเหลืออยู่ในบางท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วเพลงบอกในปัจจุบันมักจะว่าประชันกันตามงานวัด งานทำบุญบ้าน งานนักขัตฤกษ์ หรือกล่าวบอกบุญหาให้ผู้คนมาร่วมบริจาคเงิน หรือวัสดุ ในงานบุญของวัดต่าง ๆ นักเล่นเพลงบอกโดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการยกย่องกันทั่วไปว่ามีคารมคมคาย มีชื่อเสียงติดปากชาวบ้านมาจนกระทั่งปัจจุบันหลาย ๆ ท่าน อาทิ ปรีชาควาย สุขปราชญ์ ปานบอด รอดหลอ เจ้าคุณรัตนธัชมุนี (ม่วง) พระครูวินัยธร ชูปราชญ์
เพลงบอกเนตร ชลารัตน์ และเพลงบอกสร้อย เสียงเสนาะ เป็นต้น

ปรมาจารย์เพลงบอกปานบอด
(
ภาพจาก : http://www.prapayneethai.com/เพลงบอก)

       สำหรับวิธีการขับเพลงบอก เมื่อแม่เพลงร้องจบวรรคแรกลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่งโดยรับว่า "ว่าเอ้ว่าเห้" พร้อม ๆ กับจะต้องคอยตีฉิ่งให้เข้ากับจังหวะ ถ้าหากแม่เพลงว่าวรรคแรกซ้ำอีก ลูกคู่ก็จะรับว่า "ว่าทอยช้าฉ้าเหอ" และเมื่อแม่เพลงว่าไปจนจบบทแล้ว ลูกคู่จะต้องรับวรรคสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง เช่น บทตัวอย่างกลอนเพลงบอกประชัน ตอนที่เพลงบอกปานบอด จากอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โต้ตอบกับเพลงบอกรุ่ง จากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แสดงถึงความสามารถในเชิงเพลงบอกดังเช่นตัวอย่างตอนหนึ่งจากการประชันเพลงบอก..... 

รุ่ง:  กูไม่เป็นเวสสันดร (รับ)) เพราะจะเดือดร้อนที่สุด กูจะเป็นนายเจตบุตรที่ร่างกายมันคับขัน (รับ)  คอยยิงพุงชูชก (รับ) ที่สกปรกเสียครัน ถือเกณฑ์ขวางไว้ ไม่ให้มึงเข้าไป (รับ)
ปาน:  ดีแล้วนายเจตบุตร (รับ) เป็นผู้วิสุทธิ์สามารถ เป็นบ่าวพระยาเจตราชที่เขาตั้งให้เป็นใหญ่ (รับ) ถือธนูหน้าไม้ (รับ) คอยทำลายคนเข้าไป เขาตั้งให้เป็นใหญ่ คอยเฝ้าอยู่ปากประตูป่า (รับ) คนอื่นอื่นมีชื่อเสียง (รับ) เขาได้เลี้ยงวัวควายแต่นายเจตบุตรรุ่ง นาย เขาใช้ให้เลี้ยงหมา (รับ
รุ่ง :   ปานนี้เปรียบเหมือนกับชูชก           มันแสนสกปรกเหลือประมาณ
  อ้ายเรื่องหัวไม้ขอทาน                    แล้วใครจะปานกับมัน
  เปิดคนที่ขี้ขอ                                     ยิ่งคนเขายอว่าสำคัญ
  แล้วตัวมันยิ่งกินยอ                         เห็นว่าคนพอใจ
  พัทลุงหรือสงขลา                             ตลอดมาถึงนคร
  ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อน                  แล้วคนอื่นไม่พักไขว่
ปาน : จริงแหละรุ่งปานเหมือนชูชก           แต่ปานจะยกรุ่งเป็นพระเวสสันดร 
  ครั้งชูชกเข้าไปวอน                           แล้วรุ่งให้ไม่เหลือไหร่
  ถึงลูกเมียยังไม่แน่                            ครั่งพอปานแวะเข้าไป
  บางทีสิ่งไรที่รัก                                ใคร่ก็รุ่งต้องให้มา
รุ่ง :  เราไม่เป็นพระเวสสันดร                 เพราะจะเดือนร้อนในที่สุด
  เราจะเป็นนายเจตบุตร                    ที่มันเลิศเป็นนักหนา
  ได้รับคำสั่งท้าวเจตราษฏร์            เหมือนหมายมาดที่เป็นมา
  คอยรักษาอยู่ประตูป่า                    ถ้ามึงมาเวลาใด
  เราจะคอยยิงด้วยธนูหน้าไม้         ให้ชูชกมันวายชีวิต
  น้ารุ่งยกกลอนขึ้นประดิษฐ์            เห็นว่าไม่ผิดไหร่
ปาน : จริงแหละรุ่งตนเป็นเจตบุตร          เป็นคนประเสริฐสุดงามวิไล
  ถ้าเมื่อชูชกเข้าไป                              ต้องม้วยซึ่งชีวา
  แต่คนอื่นอื่นเขาเลี้ยงวัว                 บางคนก็เลี้ยงควาย
  แต่เจตบุตรรุ่งนาย                          ทำไมถึงเลี้ยงหมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

       

ภาพจาก : https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-silpkar-saedng/phelng-bxk

เครื่องดนตรี
          
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการขับร้องเพลงบอกแต่เดิมนั้นมี ๒ ชนิดคือ

๑. ฉิ่ง จํานวน ๑ คู่ โดยจะต้องเลือกฉิ่งที่มีเสียงดี คือเสียงต้องกังวาน และปลายเสียงจะต้องไม่ขาด ฉิ่งที่มีเสียงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ผสมทองเหลือง เพลงบอกบางคณะจะให้ช่างทองเหลืองทําฉิ่งให้โดยเฉพาะ
๒. กรับ จํานวน ๑ คู่ กรับที่ใช้ควรทําด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะขาม ไม้เคี่ยม ไม้หลุมพอ ไม้ขนุน หรือแก่นไม้ขี้เหล็กก็ได้ เหตุที่ต้องเลือกไม้เนื้อแข็งมาใช้ก็เพราะคงทน แข็งแรงและเสียงดังไพเราะดี

        ต่อมาสมัยหนึ่งแม่เพลงบอกนิยมถือพัดด้ามจั่วหรือพัดจีนด้วย พัดด้ามจิ๋วที่แม่เพลงถือเป็นพัดกระดาษ คลี่กางพับเก็บได้ง่ายและรวดเร็ว จุดประสงค์ของการถือพัดชนิดนี้ก็เพื่อให้ดูมีสง่า มีความภูมิฐานสมกับเป็นแม่เพลง และแม่เพลงจะใช้พัดดังกล่าวทํา จังหวะหรือบางคราวก็พัดวีแก้ร้อนหรือถือแก้ขวยเขิน (ซึ่งบางคนถือว่าพัดด้ามจิ้วเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้ประกอบการขับร้องเพลงบอก เพราะถือว่าแม่เพลงใช้พัดดังกล่าวทําจังหวะ ในการขับร้องเพลงบอกไปด้วย) ในปัจจุบันนี้กรับและพัดด้ามจิ๋วได้เลิกใช้ประกอบการขับร้องเพลงบอก จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบได้ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการขับร้องเพลงบอกจึงเหลือ อยู่เพียงนิ่ง ๑ คู่ เพื่อให้จังหวะเท่านั้น

แม่เพลงและลูกคู่
       เพลงบอกคณะหนึ่ง ๆ ใช้ผู้เล่นไม่มาก คือมีแม่เพลงเพียง ๑ คน กับลูกคู่อีก ๒ คน เป็นอย่างน้อย และอย่างมากที่สุดจํานวนลูกคู่จะไม่เกิน ๔ คน แต่ที่แม่เพลงนิยมกันมากคือลูกคู่ ๓ คน
        
ก. แม่เพลงบอก
       
    แม่เพลงบอกซึ่งเล่นเพลงบอกอยู่โดยทั่ว ๆ ไปนั้นจะแบ่งเป็น ๒ พวก คือ

 -  เพลงบอกไม่มีครู  เพลงบอกประเภทนี้เรียกว่า “เพลงบอกหัดเอง” คือเมื่อมีใจชอบก็พยายามศึกษาหรือฝึกฝนด้วยตัวเอง ตลอดถึงไปฟังไปดูเพลงบอกที่มีชื่อเสียงเขาขับบท แล้วจดจําเอาท่วงทํานองมาหัดว่า และเมื่ออยู่ว่าง ๆ ก็พยายามหาหนังสือต่าง ๆ มาศึกษาหาความรู้ เพื่อให้แตกฉานในเรื่องต่าง ๆ และหัดแต่งกลอนเพลงบอก จนในที่สุดก็สามารถออกโรงได้ แต่น่าสังเกตว่าแม่เพลงบอกที่ฝึกหัดเองนั้นมักจะ เป็นเพลงบอกที่เอาดีได้ยาก ที่มีชื่อเสียงถึงขนาดเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมีน้อยเต็มที่
- เพลงบอกมีครู  แม่เพลงบอกประเภทที่สองนี้ เรียกว่า “เพลงบอกศิษย์มีครู” แม่เพลงบอก ประเภทนี้พวกนี้ เมื่อสนใจหรือชอบที่จะเล่นเพลงบอก นอกจากจะหัดว่าหรือหัดขับบทเพลงบอกด้วยตัวเองแล้ว ก็จะไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ของแม่เพลงบอกที่มีชื่อเสียงคนใดคนหนึ่ง เพื่อขอศึกษากลอนเพลงบอก และความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเพลงบอก ตลอดจนกลเม็ดและไหวพริบต่าง ๆ บางทีก็ติดตามผู้เป็นครูไปเป็นลูกคู่ เพื่อที่จะได้มีประสบการณ์กว้างไกลยิ่งขึ้น แม่เพลงบอกประเภทศิษย์มีครูมักจะมีหลักเกณฑ์ในการขับบทเพลงบอกที่ถูกต้อง และมักจะได้รับความนิยมจากผู้ดู ผู้ฟัง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางทั่วไป กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือมักจะประสบผลสําเร็จถึง ขนาดยึดเอาการเล่นเพลงบอกเป็นอาชีพได้

            แม่เพลงบอกจะเก่งหรือมีชื่อเสียงได้นั้น นอกจากจะมีความสําคัญอยู่ที่มีครูหรือไม่มีครูแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่มีความสําคัญอีกหลายประการคือ

๑. ต้องศึกษากลอนเพลงบอกให้รู้อย่างละเอียดลึกซึ้ง จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าแตกฉานจริง ๆ มิใช่รู้เพียงง ๆ ปลาๆ เท่านั้น โดยเฉพาะฉันทลักษณ์ของกลอนชนิดนี้ต้องแม่นยํา และต้องรู้จักท่วงทํานองอย่างดีด้วย
๒. มีความสนใจในงานร้อยกรองประเภทอื่น ๆ งานร้อยกรองที่ว่านี้ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และกลบทต่าง ๆ นั่นเอง ทั้งนี้เพราะว่าท่วงทํานองของกลอนและกลบทนํามาใช้ในการแต่งกลอนเพลงบอกได้มาก และสิ่งสําคัญที่สุดที่ได้จากการสนใจบทร้อยกรองประเภทอื่น ๆ ก็คือ ช่วยให้แม่เพลงบอกรู้จักเลือกสรรใช้คําให้ได้คําที่มีเสียงเสนาะและมีความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ
๓. มีความสนใจในการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตัวเองอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา วรรณคดี และความรู้เกี่ยวกับสภาพทั่วไปของสังคมชาวบ้านในชนบทตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนเรื่องทั่ว ๆ ไปอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น ปลากัด ไก่ชน วัวชน ไฟ โป นิทาน พื้นบ้าน วรรณกรรมพื้นบ้าน ตํารายาพื้นบ้าน เป็นต้น ต้องรอบรู้อย่างละเอียดด้วย นอกจากนี้ข้อธรรมะต่าง ๆ และคัมภีร์ชาดกต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยอย่างสําคัญที่จะทําให้ความคิดของแม่ เพลงบอกคมคายและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
๔. มีความสนใจและรู้จักบันทึก จดจํา ถ้อยคํา สํานวน ภาษิต และสุภาษิตต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ เพราะถ้อยคํา สํานวน ภาษิต และสุภาษิตที่คมคาย จะช่วยให้แม่เพลงบอกผูกคํากลอนขึ้นมาได้แหลมคมและมีความลุ่มลึก ทั้งความคิดของแม่เพลงจะไม่จํากัดอยู่ในกรอบแคบ ๆ 

        ข. ลูกคู่เพลงบอก
            
การร้องรับเพลงบอกนั้นเป็นหน้าที่ของลูกคู่ ซึ่งลูกคู่ของเพลงบอกคณะหนึ่ง ๆ นั้นมีอย่างน้อยที่สุด ๒ คน และอย่างมากที่สุดไม่ควรเกิน ๔ คน นอกจากจะมีหน้าที่รองรับแล้ว ลูกคู่จะต้องคอยตีฉิ่ง และกรับให้เข้ากับจังหวะการร้องและการรับด้วย ลูกคู่ที่นักเล่นเพลงบอกถือว่าเป็นดีที่สุดคือ ๓ คน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเสียงที่รับนั้นจะพร้อมเพรียงประสานกันดีประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือเสียงที่รับจะไม่เบาจนเกินไปและดังจนเกินไป ลูกคู่นั้นจะต้องเป็นลูกคู่ขาประจํา ไม่ใช่จะเป็นใครเข้ามาประสมโรงก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็ เพราะว่าลูกคู่ที่รับอยู่ประจําจะรู้ว่าแม่เพลงมีท่วงทํานองการร้องเฉพาะตัวเป็นอย่างไร เมื่อรับจะได้มีช่วงจังหวะที่ดีไม่ขัดเขิน และในบางคราวเมื่อแม่เพลงใช้คําเกินหรือขาดหรือไม่กลมกลืนกัน ลูกคู่ก็อาจจะตัดคําหรือเพิ่มคําหรือเปลี่ยนแปลงคําเสียเล็กน้อยในตอนที่รับ ก็จะทําให้การร้องและการรับเพลงบอกมีความไพเราะยิ่งขึ้น ลูกคู่ของเพลงบอกมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

- ประเภทที่ ๑ คือเป็นลูกคู่โดยตรง เป็นลูกคู่ที่มีหน้าที่รับแต่เพียงอย่างเดียว
- ประเภทที่ ๒ คือผู้ที่มาเป็นศิษย์ฝึกหัดเพลงบอก ลูกคู่ประเภทที่สองนั้น นอกจากจะมีหน้าที่รับเพลงบอกแล้ว ในบางคราวที่แม่เพลงบอกร้องติดต่อกันนาน ๆ เสียงอาจ จะแหบแห้งหรืออาจจะเหน็ดเหนื่อย ก็อาจจะให้ลูกคู่ที่เป็นศิษย์ร้องแทนก็มี การร้องแทนของลูกคู่ที่เป็นลูกศิษย์นั้น นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยของแม่เพลงแล้ว ยังได้ ประโยชน์อีก ๒ ประการ คือ เป็นการให้ลูกศิษย์ได้ลองแสดงคารมและท่วงทํานองของตัวเองบ้าง จะได้เกิดความเคยชิน และในช่วงที่หยุดพักจะช่วยให้แม่เพลงมีเวลาคิดเอามุขเด็ด ๆ หรือคํากลอนที่มีความคิดและถ้อยคําคมคายไว้เสนอให้ผู้ฟังในช่วงต่อไปอีกด้วย

           ส่วนการรับเพลงบอกนั้นมีแบบฉบับที่แน่นอนตายตัว กล่าวคือเมื่อแม่เพลงร้องจบ วรรคแรก ลูกคู่จะรับว่า “ว่าเอ้ว่าเห” แล้วซ้ำข้อความที่แม่เพลงร้อง ๓ พยางค์สุดท้ายถ้าแม่เพลงร้องซ้ําวรรคแรกอีกครั้งหนึ่ง ลูกคู่ก็จะต้องรับว่า “ทอยช่าฉ้าเอ” หรือ “ทอยช่าฉ้าเหอ" แล้วซ้ําข้อความ ๒ พยางค์สุดท้าย ต่อจากนั้นแม่เพลงก็จะร้องวรรคที่สอง วรรคที่สาม และเมื่อร้องวรรคที่สี่หรือวรรคสุดท้ายจบลง ลูกคู่ก็จะรับโดยซ้ําวรรคสุดท้าย แล้วย้อนกลับไปซ้ํา ข้อความในวรรคที่สามและวรรคสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง ลูกคู่จะรับเช่นนี้ทุก ๆ บทที่แม่เพลงร้อง

การแต่งกาย
         สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับแม่เพลงและลูกคู่อีกอย่างหนึ่งก็คือ การแต่งกาย การแต่งกายของแม่เพลงและลูกคู่แต่เดิมนั้นนจะแต่งกายอย่างไรนั้นไม่สามารถสืบค้นได้ แต่ในช่วง ๖๐ ถึง ๗๐ ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้เล่าให้ฟังพอสรุปได้ว่าการแต่งกายของนักเลงเพลงบอกนั้น มีอยู่ ๒ แบบ คือ

- แบบที่ ๑ แต่งกายตามสบาย มีเสื้อผ้าอาภรณ์ใส่ในชีวิตประจําวันอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น ไม่ประดิษฐ์ตกแต่งให้ยุ่งยาก เสียเวลา อาจจะนุ่งกางเกงบ้าง ผ้าโสร่งพื้นเมืองบ้าง มีผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือเคียนพุงผืนหนึ่ง เสื้อจะสวมหรือไม่ก็ได้ กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือแต่งกายตามที่ตัวเองมีอยู่นั่นเอง หรือตามที่ชาวบ้านชาวเมืองเขานิยมใช้นั่นเอง การแต่งกายของเพลงบอกแบบตามสบายนี้น่าจะเป็นการแต่งกายแบบเก่า ทั้งนี้เพราะว่าสอดคล้องกับพื้นฐานของการเล่นชนิดนี้ คือเล่นสนุกแบบสมัครเล่น จึงไม่ได้หวังผลอะไรจากการเล่นสนุก เว้นเสียแต่ในบางคราวมีผู้มาหาให้ไปเล่นใน งานใดงานหนึ่ง จึงต้องแต่งกายดี ๆ ให้สวยงามและมีระเบียบแบบแผนขึ้น
- แบบที่ ๒ เป็นแบบแผนขึ้นกว่าแบบแรกเพราะมีเงื่อนไขของผู้ชมและสถานที่ที่แสดงมาเกี่ยวข้อง กล่าวคือเมื่อการเล่นเพลงบอกได้รับความนิยมมากขึ้นก็มี ผู้ไปหาให้ไปว่าในงานต่าง ๆ หรือว่าประชันกันหรือไปว่าที่บ้านเจ้านายในตัวเมือง จึงแต่งกายแบบตามสบายหรือซอมซ่อจนเกินไปไม่ได้ เพลงบอกบางคนจะนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นผ้ายกทอ พื้นเมือง ผ้าม่วง ผ้าไหม หรือผ้าโสร่ง สวมเสื้อสี มีผ้าขาวผ้าพาดบ่าผืนหนึ่ง หรืออาจจะ ใช้ผ้าแพรเพลาะพาดบ่าคลุมไหล่ และมือจะถือพัดด้ามจิ๋วด้วย การแต่งกายแบบที่ ๒ เป็นการแต่งกายที่พัฒนาขึ้นมาตามสภาพสังคมที่นิยมกันในสมัยหลัง ทั้งนี้เพราะมีเงื่อนไขของผู้ชมและสถานที่ที่แสดงมาเกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวแล้ว

จุดเด่น/เอกลักษณ์

        เพลงบอก มีภารกิจหลักตั้งเดิมคือทําหน้าที่สื่อสารมวลชนในการบอกข่าว อาทิวันขึ้นปีใหม่เดิมของไทยว่าปีนั้น ๆ นางสงกรานต์ชื่อใด มีนาคให้น้ํากี่ตัว มีฝนตกลงในโลกที่ห่า โลกแห้งแล้ง น้ําท่วม หรืออุดมสมบูรณ์อย่างไร ฯลฯ เพื่อให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ ได้ตระเตรียมตัวรับสถานการณ์ถูกต้อง แม้เพลงบอกจะไม่มีตํานานโดยตรงอย่างกาหลอ แต่ก็ได้รับรู้เรื่องราวตามลัทธิความเชื่อจากเรื่องราวเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าการละเล่นที่เป็นการแสดงเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงของภาคใต้ส่วนใหญ่นั้น มีที่มาจากลัทธิความเชื่อจากอย่างเดียวกัน แทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของเพลงบอกที่ปรากฏคือ

           ๑. เป็นการใช้ภูมิปัญญาเพื่อประชาสัมพันธ์ประกาศบอกข่าวแก่ชาวบ้าน ในสมัยที่การสื่อสารยังไม่เจริญและไม่มีปฏิทินบอกวัน เดือน ปี เหมือนอย่างในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์และข่าวต่าง ๆ
           ๒. น้ำเสียง ถ้อยคำในการว่าเพลงบอก ให้ความครึกครื้นสนุกสนาน ข่าวที่มากับเพลงบอก จึงได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าบอกข่าวธรรมดา ปัจจุบันเพลงบอกจึงนำมาใช้บอกบุญ โฆษณาสินค้าต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง และเชิญชวนให้คนไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง
           ๓. นักว่ากลอนได้แสดงความสามารถในกลอนปฏิภาณ และศิลปะในการขับกลอน การประชันอวดฝีปากในเชิงกลอน ผู้ว่ากลอนต้องมีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด หลักแหลม ไหวพริบดี และแม่นยำในเชิงกลอน นับเป็นวิธีการพัฒนาความรู้ของชาวบ้านได้อีกวิธีการหนึ่ง

     
       
       


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เพลงบอก
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เพลงบอก. 2556. สืบค้นวันที่ 2 ม.ค. 62, จาก http://www.prapayneethai.com/เพลงบอก
เพลงบอก. (2550). สืบค้นวันที่ 2 ม.ค. 62, จาก http://www.tungsong.com/NakhonSri/Cultures&Games_Nakhonsri/a_เพลงบอก/piang_เพลงบอก.html
เพลงบอก..บอกสงกรานต์. (2557). https://library.stou.ac.th/odi/songkran-music/index.html
ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์. (2554). วัฒนธรรมบันเทิงภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อุดม หนูทอง. (2552). เพลงบอก. สืบค้นวันที่ 2 ม.ค. 62, จาก http://www.laksanathai.com/book3/p236.aspx


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024