โนรา (Nohra)
 
Back    20/04/2018, 16:15    219,439  

หมวดหมู่

การแสดง


ประเภท

การแสดง


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจากโนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

              โนรา (Nohra) หรือ มโนราห์  (Manohra)  ศิลปะการละเล่นอีกอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้ ซึ่งมีมาแต่โบราณและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย โนราเป็นการเล่นที่นิยมกันมากทั่วภาคใต้ไม่ว่างานเทศกาล นักขัตฤกษ์หรืองานมงคลต่าง ๆ ก็มักจะมีโนรามาแสดงด้วยเสมอ โนราเป็นการแสดงทํานองเดียวกับละครชาตรีที่เล่นกันแพร่หลายในภาคกลาง ที่กล่าวว่าเหมือนกันก็คือมีการร่ายรํา มีบทร้อง บทเจรจา และการแสดงเป็นท่องเรื่องมีพระเอกนางเอก  โนราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่นิยมเล่นสับ ทอดกันมายาวนานไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ปี หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นการการร่ายรําและรับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกเล่นรับส่งตลอดการแสดง ผู้รำโนราสวมครื่องแต่งกายที่ทําด้วยลูกปัดหลากสี มีสวมปีกหางคล้ายนก สวมเทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวทําด้วยโลหะ บทร้องกลอนสดมักโดยใช้ปฏิภาณไหวพริบสรรหาคํามาให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำ และเครื่องแต่งกาย การแสดงโนราเป็นที่นิยมและถือปฏิบัติแพร่หลายในชุมชนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา อีกทั้งแพร่กระจายความนิยมไปตลอดสองฟากฝั่งของคาบสมุทรอินโดจีน ส่วนทางภาคใต้ตอนล่างมีคณะโนราสองภาษาที่ยังคงแสดงอยู่ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ เลยไปถึงตอนเหนือของสหพันธรัฐมาเลเซียได้แก่ กลันตัน เกดาห์ ปะลิส และปีนัง 
              โนราหรือมโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงที่นิยมทั่วไปของชาวภาคใต้ เราสามารถพบการแสดงโนราได้ในงานทั่วไปทั้งงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานทําบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทอดผ้าป่าสามัคคี เป็นต้น และงานอวมงคล เช่น งานศพ และนอกจากนี้แล้วยังสามารถจําแนกโอกาสที่แสดงที่ได้เป็น ๒ ลักษณะ ตามลักษณะของงานที่ร่วมแสดง คือแสดงเพื่อความบันเทิงทั่วไปและแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมของโนราโดยเฉพาะ นอกจากนี้โนราที่ใช้แสดงเพื่อความบันเทิงทั่วไปแบ่งได้ ๒ ลักษณะคือ

๑. การแสดงโนราโรงเดียว คือการแสดงของโนราคณะเดียวไม่ได้มีการแข่งประชันแข่งขัน การแสดงจึงเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วตามลําดับ
๒. การแสดงโนราแข่ง หรือการแสดงประชันโรง เป็นการประชันของโนรา ๒ คณะ เพื่อเอาแพ้ชนะโดยใช้เกณฑ์ตัดสินจากผู้ชมหน้าโรง ว่าคณะไหนผู้ชมมากกว่าคณะนั้นจะชนะ การแสดงลักษณะดังกล่าวจึงเกิดความสนุกสนานเร้าใจ น่าติดตามชม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกลเม็ดในการแสดงของแต่ละคน ในการเรียกผู้ชมให้มาอยู่หน้าโรง ของคณะตนเองให้มากที่สุด

        สําหรับประวัติความเป็นมาของโนรานั้นเกิดขึ้นบริเวณแหลมมลายูมาแต่ครั้งสมัยตามพรลิงค์หรือสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ ซึ่งเป็นช่วงที่เมืองสทิงพระมีความเจริญสูงสุด เนื่องจากเกิดชุมชนกระจายอยู่หนาแน่นตลอดแถบชายฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ชุมพร ไชยา ลงมาถึงกลันตัน ตรังกานู และเมืองต่าง ๆ ที่มีการติดต่อค้าขายเดินเรือตามชายฝั่งทะเล ไปจนถึงเกาะสุมตรา เนื่องจากสมัยก่อนต่างเป็นรัฐอิสระไม่มีเขตแดนกั้น ผู้คนต่างนับถือศาสนาเดียวกันและมีเชื้อสายเดียวกัน ทําให้ศิลปะการแสดงมีการถ่ายทอดได้ง่าย ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะระบุให้แน่ชัดว่ามโนราดั้งเดิมเกิดขึ้นจากเมืองใด แต่จากตํานานมโนราห์ชาตรีกล่าวถึงการกําเนิดมโนราห์ว่า มโนราห์เกิดที่เมืองพัทลุงโบราณ (กรุงสทิงพาราณสี) ละครมโนราห์เป็นการแสดงประจําราชสํานักมาก่อน ต่อมาจึงแพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป ส่วน แหล่งกําเนิดน่าจะเป็นกลุ่มเมือง ๑๒ นักษัตร ตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์ ต่อมาจึงได้แพร่หลายมากขึ้นสู่ภาคกลางและกลายเป็นละครชาตรี สําหรับตํานานการกําเนิดมโนราห์ซึ่งจากคําบอกเล่าของผู้รู้หลายท่าน กล่าวถึงตํานานการเกิดมโนราห์แตกต่างกันออกไป แต่ตํานานที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุด คือตํานานการกําเนิดมโนราห์จากคําบอกเล่าของขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา) ความว่า… พระยาสายฟ้าฟาด มีพระมเหสีพระนามว่า พระนางศรีมาลา และมีบุตรด้วยกันพระองค์หนึ่ง นามว่านางนวลทองสําลี วันหนึ่งพระธิดาองค์ดังกล่าวทรงพระสุบิน ว่ามีเทพธิดามาร่ายรําให้ดู จํานวน ๑๒ ท่า โดยมีเครื่องดนตรีประโคม ได้แก่กลอง ทับ โหม่ง นิ่ง ปี และแตระ จากนั้นพระนางจึงรับสั่งให้ทํา เครื่องดนตรีเพื่อใช้ประโคมตามพระสุบิน และพระนางได้นําท่าร่ายรําที่เห็นในพระสุบินมาร่ายรํา ภายในปราสาทได้อย่างงดงาม จนเป็นที่ครึกครื้นและเป็นที่แปลกใจกับบรรดานางกํานัล อยู่มาวันหนึ่ง นางกํานัลได้เก็บดอกบัวที่อยู่ในสระหน้าพระราชวังมาให้พระนางเสวย จึงทําให้พระนางทรงครรภ์ ในขณะนั้นพระนางก็ยังคงร่ายรําอยู่เป็นปกติ จนพระยาสายฟ้าฟาดทราบ จึงตามไปทอดพระเนตรพระธิดาของพระองค์ ขณะนั้นเองพระองค์ได้สังเกตเห็นครรภ์ของพระธิดา จึงได้สอบถามกับพระนางว่าเหตุใดนางจึงทรงครรภ์ได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีชายคนใดสามารถเข้ามาในเขตพระราชฐานได้เลย เหตุที่พระนางทรงครรภ์นั้นเป็นเพราะเสวยดอกบัวในสระหน้าพระราชวังเข้าไป แต่พระราชบิดาไม่ทรงเชื่อและคิดว่าพระนางได้ทําเรื่องบัดสีขึ้น จึงมีรับสั่งให้ทหารต่อแพและจับพระนางพร้อมด้วยนางกํานัล ๓๐ คน พร้อมเสบียงลอยแพไปพร้อม ๆ กัน พระนางทรงโศกเศร้ากับการกระทําของพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างทางเกิดลมพัดแรงได้พัดแพของพระนางไปติดที่เกาะชัง (ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุิ์ จังหวัดสงขลา) และในเวลาไม่นานพระนางได้ประสูติพระโอรสและทรงสอนรํามโนราห์ให้กับพระโอรส จนเกิดความเชี่ยวชาญ และได้ทรงเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้กับพระโอรสทราบ จากนั้นพระโอรสได้ โดยสารเรือไปยังเมืองของพระอัยกา เมื่อไปถึงเมืองพระโอรสทรงร่ายรําและเมื่อพระอัยกาทรง ทราบเรื่องดังกล่าว จึงปลอมตัวเพื่อไปดูมโนราห์และสังเกตเห็นใบหน้าของพระโอรสที่เหมือนกับพระธิดาของพระองค์ เมื่อทราบถามจนแน่ใจแล้วว่าเป็นพระราชนัดดาจึงรับสั่งให้เข้าวัง จากนั้น พระยาสายฟ้าฟาด รับสั่งให้ทหารเดินทางไปรับพระธิดาของพระองค์กลับ แต่พระนางไม่ยอมกลับเพราะยังโศกเศร้าเสียใจกับการกระทําของพระบิดา ทหารจึงจับพระนางมัดขึ้นเรือมา แต่เรือไม่ทันที่ออกจากปากน้ำปรากฏว่ามีจระเข้ว่ายน้ำมาขวางอยู่ ทหารจึงต้องทําพิธีปราบจระเข้ จากนั้นจึงพาพระนางและนางกํานัลกลับมาถึงพระราชวังอย่างปลอดภัย พระราชบิดาได้จัดงานเพื่อรับขวัญ โดยจัดให้มีมหรสพ ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งมหรสพที่ใช้แสดงนั้นมีการรํามโนราห์อยู่ด้วย พระยาสายฟ้าฟาดทรงพระราชทานเครื่องทรง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเครื่องทรงของกษัตริย์ และได้พระราชทาน บรรดาศักดิ์ให้พระราชนัดดา ผู้ซึ่งเป็นบุตรของนางนวลทองสําลีเป็นขุนศรีศรัทธา และได้พระราชทานเครื่องต้นอันได้แก่ เทริด กําไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาล พาดเฉียงทั้ง ๒ ข้าง ปีกนก นางแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ จากตํานานดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโนราก็เป็นเชื้อพระวงศ์ อีกทั้งขุนศรีศรัทธาได้สอนรําโนราให้กับคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดนาฏศิลป์การรําโนราจนมีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ มโนราห์หรือโนรานับเป็นวัฒนธรรมของไทยประเภทที่ ๓ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 
           โนราเป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ โดยเป็นการละเล่นที่ผสมระหว่างการร้อง การรำ บางครั้งมีการเล่นเป็นเรื่องราว และสะท้อนถึงความเชื่อและพิธีกรรม โดยสรุปสันนิษฐานว่า
โนรา มีพัฒนาการมาจาก ๓  แหล่งด้วยกัน คือ

๑. พัฒนาการหรือมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอินเดีย โดยพัฒนาการจากการเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่เกิดขึ้นในราชสำนักภาคใต้ และพอจะเชื่อได้ว่า โนรานั้นเป็นนาฏกรรมของราชสำนักและของท้าวพระยามหากษัตริย์ในภาคใต้มาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย เห็นได้จากชื่อสถานที่ ชื่อบุคคลที่เอ่ยถึงในตำนานและบทไหว้ครูต่าง ๆ
๒. เป็นวัฒนธรรมของคนภาคใต้ดั้งเดิม โดยคาดว่าโนรา เกิดขึ้นระหว่างช่วงปี ๑๙๕๘-๒๐๕๑ ในพื้นที่เมืองพัทลุงเดิม คืออำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดยเป็นการแสดงที่มีอยู่ในราชสำนักเดิม ด้วยการอ้างถึงตำนานโนราที่เชื่อมโยงกับตำนานเจ้าเมืองพัทลุงในโบราณกาล
๓. เป็นวัฒนธรรมภาคกลางที่ขยายมาสู่ภาคใต้ โดยเชื่อว่าโนราเดิมอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และเรียกว่าชาตรี และเป็นการละเล่นของภาคใต้ที่มีมาก่อนชื่อโนรา ซึ่งชื่อชาตรีเป็นชื่อที่ชาวบางกอก (กรุงเทพฯ-ธนบุรี) สมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือก่อนหน้านั้นไม่นานเรียกการแสดงชนิดนี้

         


ภาพโนราในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในรูปจะมีรูปโนราและรูปนายพราน
(ภาพจาก : https://historynora.blogspot.com/)


ภาพจาก : พรรัตน์ ดำรุง และโลเวล สการ์, 2563. 85

             เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โนราได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และถูกเสนอชื่อขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ หลังจากที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานาน และนิยมอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ให้เป็นรายการตัวแทน มรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เป็นอันดับที่ ๓ รองจากโขน (ปี 2561) และ นวดไทย (ปี 2562)  ปัจจุบันจากการศึกษาค้นคว้าของผู้รู้พอจะทราบว่ามีคณะโนราอาชีพในประเทศไทยอยู่จำนวนถึง ๓๘๗ คณะ โดย ๗๐% กระจุกตัวอยู่มากบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการสืบทอดศิลปะทั้งด้านการแสดง ช่างฝีมือ ดนตรี และพิธีกรรม จากรุ่นสู่รุ่นผ่านสายตระกูลโนรา ชุมชน วัด และเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทุกระดับทั่วภาคใต้                    


ความเชื่อ

                ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรา
                
“โนรา” นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ด้านความบันเทิงแล้ว ยังมีบทบาทหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการดำรงอยู่และวิถีผูกพันอย่างลึกซึ้งกับชีวิตและสังคมชาวภาคใต้ โดยเฉพาะชุมชนบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมอย่างเข้มข้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้เป็นโนราผู้มีเชื้อสายโนรา ลูกหลานตายายโนรา คนทรงครูหมอโนรา รวมทั้งชาวบ้านโดยทั่วไป
                    ๑. 
ความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา
                        
“ครูหมอโนรา” คือบูรพาจารย์หรือครูต้นโนรา และบรรพบุรุษโนราที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งเรียกว่า “ตายายโนรา” หรือ “ครูหมอตายาย” ครูหมอโนรามีหลายองค์ดังปรากฏในตำนานโนรา บทกาศครู และบทร้องกลอนของโนรา เช่น ตาหลวงคง จอมเฒ่าหน้าทอง แม่ศรีมาลา พระเทพสิงหร เป็นต้น แต่มีครูหมอโนราที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญที่เรียกว่า “พระราชครู” มี ๑๒ องค์ แบ่งเป็นฝ่ายชาย ๖ องค์ ฝ่ายหญิง ๖ องค์ ได้แก่ พระเทพสิงหร ขุนศรีศรัทธา พระม่วงทอง หม่อมรอง พะยาสายฟ้าฟาด พรานบุญ แม่ศรีมาลา แม่นวลทองสำลี แม่แขนอ่อนฝ่ายขวา แม่แขนอ่อนฝ่ายซ้าย แม่ศรีดอกไม้ แม่คิ้วเหิน
                   ๒. 
ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์
                       
ไสยศาสตร์ที่เกี่ยวกับโนรา ได้แก่ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง ความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถา โดยเฉพาะการรำโนราโรงครู ผู้ที่เป็นโนราใหญ่หรือหัวหน้าคณะจะต้องมีเวทมนตร์คาถาเพื่อป้องกันเสียดจัญไร ป้องกันวิญญาณร้ายที่จะเข้ามาในพิธีโนราโรงครู ป้องกันคุณไสยที่จะได้รับจากบุคคลอื่น การประกอบพิธีกรรมบางอย่างในโนราโรงครูจะต้องใช้เวทมนตร์คาถาประกอบ เช่น พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ พิธีผูกผ้าปล่อย พิธีแก้บน พิธีเหยียบเสน พิธีตัดจุก พิธีตัดผมผีช่อ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเชื่อในเรื่องอำนาจเร้นลับของโนรา ความเชื่อเรื่องโรงพิธี ความเชื่อในเรื่องเครื่องดนตรีว่ามีความขลังศักดิ์สิทธิ์มีครูรักษาจะลบหลู่หรือข้ามกรายไม่ได้ เป็นต้น
                    ๓. ความเชื่อเรื่องการแก้บน
                        
ชาวบ้านและคณะโนรามีความเชื่อในเรื่องการบนและการแบนที่เกี่ยวข้องกับโนรา โดยเชื่อว่าสามารถ บนบานขอความช่วยเหลือจากครูหมอโนราในเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่ครูหมอโนราจะไม่รับช่วยเหลือหรือรับบนในเรื่องที่ผิดศีลธรรมจารีตประเพณี เช่น เรื่องชู้สาว การลักขโมย การมุ่งร้ายต่อผู้อื่น เป็นต้น ความเชื่อเรื่องการบนและการแก้บนเป็นความเชื่อที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านและลูกหลานตายายโนราทั้งทางร่างกายและจิตใจ ชาวบ้านและลูกหลานตายายโนราหลายคนต้องตั้งหิ้งบูชาครูหมอโนรา ต้องมีการบวงสรวงเซ่นไหว้ ต้องจัดให้มีการรำโนราโรงครู มีการสืบทอดการรำโนรา เป็นคนทรงครูหมอโนรา ในทางกลับกันชาวบ้านและลูกหลานตายายโนราเชื่อว่าตนเองได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือจากครูหมอโนราในสิ่งที่บนบานของความช่วยเหลือ จึงทำให้ความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา การรำโนราโรงครู และศิลปะการร่ายรำโนรายังคงอยู่ในชุมชนบริเวณลุ่มทะเลสายสงขลาและพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้จนถึงปัจจุบัน
                      ๔. 
ความเชื่อเรื่องการเหยียบเสน
                          
เสนเป็นเนื้องอกนูนจากระดับผิวหนังเป็นแผ่น ถ้ามีสีแดง เรียก “เสนทอง” ถ้ามีสีดำเรียก “เสนดำ” ไม่ทำให้เจ็บปวดหรือมีอันตราย แต่ถ้างอกบนบางส่วนของร่างกาย เช่น บนใบหน้าจะดูน่าเกลียด ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าเสนเกิดจากการกระทำของผีที่เรียกว่า “ผีโอกะแชง” ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าเสาโรงโนรา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำเครื่องหมายของครูหมอโนราเพื่อต้องการเอาเด็กคนนั้นเป็นโนราโดยผ่านทางผีโอกะแชง เสนไม่สามารถรักษาให้หายได้นอกจากให้โนราทำพิธีเหยียบเสนให้ในวันโนราเข้าโรงครู
                      ๕. 
ความเชื่อเรื่องการรักษาอาการป่วยไข้
                          
ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอโนราและพิธีกรรมในโนราโรงครูสามารถรักษาอาการป่วยไข้บางอย่างได้ ซึ่งอาการป่วยไข้นั้นมาจากสาเหตุ ๒  ประการ คืออาการป่วยไข้อันเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย และโรคภัยต่าง ๆ การรักษาเบื้องต้น คือ การบนบานขอความช่วยเหลือจากครูหมอโนราที่ตนเคารพนับถือให้หายป่วยจากโรคนั้น ๆ แล้วจะแก้บนเมื่อหายเป็นปกติ อาการป่วยไข้อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการกระทำหรือการลงโทษของครูหมอโนรา ที่มาจากความต้องการของครูหมอโนราที่ต้องการให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือลูกหลานตายายโนราเป็นผู้สืบทอดการรำโนรา เป็นคนทรงครูหมอโนรา โดยเฉพาะผู้มีเชื้อสายโนราหรือเป็นลูกหลานตายายโนรามักจะเกิดอาการป่วยไข้ต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง เจ็บหน้าอก ปวดบวม ผอมแห้งแรงน้อย จะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการของโนราเท่านนั้นจึงจะหาย และผู้ป่วยเมื่อหายแล้วก็จะต้องทำตามความต้องการของครูหมอโนรา
                   

                      พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรา
                    
พิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโนรา คือพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งเป็นพิธีกรรมในการนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งยังมีการจัดพิธีกรรมและแนวปฏิบัติรองรับอย่างเข้มข้น ณ หมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ โนราโรงครู หมายถึง โนราที่แสดงเพื่อประกอบพิธีเชิญครู หรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธีเพื่อรับการเซ่นสังเวย เพื่อรับของแก้บน และเพื่อครอบเทริด หรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่ ด้วยเหตุที่ต้องทำการเชิญครูมาเข้าทรงหรือมา “ลง” ยังโรงพิธีจึงเรียกพิธีกรรมนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “โนราลงครู” โนราโรงครู เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ มีความมุ่งหมายในการจัดที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
                      ๑. เพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา อันเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณต่อครูของตน
                      ๒. เพื่อทำพิธีแก้บนและทำพิธีอื่น ๆ
                      ๓. เพื่อทำพิธีครอบเทริด หรือพิธีผูกผ้าใหญ่ หรือพิธีแต่งพอก นอกจากนั้นบางพื้นที่ยังมีความมุ่งหมายเฉพาะบางอย่างด้วย เช่น โรงราโรงครูใหญ่วัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นการจัดเพื่อให้ครูหมอโนราหรือตายายดนราทั้งหมดมาร่วมชุมนุมกัน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าบ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา เป็นที่สถิตของครูโนรา
                    
โนราโรงครูมี ๒ ชนิด คือโนราโรงครูใหญ่ กับโนราโรงครูเล็ก แต่รายละเอียดของพิธีกรรมบางอย่าง เช่น รำคล้องหงส์ รำแทงเข้ (จระเข้) ครอบเทริด จะทำกันในโนราโรงครูใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้โนราโรงครูในแต่ละพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ สำหรับโนราโรงครูใหญ่จะต้องกระทำกัน ๓ วัน


จุดเด่น/เอกลักษณ์

คณะของมโนราห์
         
มโนราห์คณะหนึ่ง ๆ มีจํานวนประมาณ ๑๔-๒๐ คน (ตัว) มโนราห์สมัยก่อนมีตัวเพียง ๓ คน คือตัวนายโรงหรือโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ๑ คน นางหรือนางรํา ๑ คน และตัวตลกหรือพรานอีก ๑ คน (ถ้าเล่นเป็นเรื่องก็มักตัดตอนของเรื่องที่มีตัวสําคัญไม่เกิน ๓ ตัวมาเล่นเฉพาะตอนนั้น ๆ โดยใช้ตัวพรานเป็นตัวพระ ตัวนายโรงเป็นตัวนางหรือสลับกัน ถ้ามีตัวตลกด้วย ตัวนายโรงเป็นตัวพระ ตัวนางรําเป็นตัวนาง ตัวตลกก็แสดงบทตลก เป็นต้น) สมัยต่อมาเพิ่มตัวนาง (นางรํา) เป็น ๓-๕ คน (นางรํานั้นจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ (แต่เดิมมักเป็นชายแต่ในปัจจุบันมักเป็นผู้หญิงมากกว่า) นอกจากนี้คณะของมโนราห์จะมีนักดนตรีหรือลูกคู่ ประมาณ ๕-๗ คน มีตัวตลกประจําโรงเรียกว่าพราน มีตัวตลกหญิงเรียกว่าทาสี (มักใช้ผู้ชายแสดงและมักทําหน้าที่อื่นด้วยเพราะบททาสีมีน้อย) ทั้งพรานและทาสีจะสวมหน้ากาก นอกจากนี้จะมี หมอประจําโรง (หมอทางไสยศาสตร์) บางคณะอาจมีนางรํารุ่นจิ๋วเรียกว่า “หัวจุกโนรา” และอาจมีผู้สูงอายุที่หลงชอบและติดตามไปกับคณะโนราเป็นประจําเรียกว่า “ตาเสือโนรา” มักทําหน้าที่ช่วยควบคุมดูแลนางรําและข้าวของหรือบางคนเกิดหลงชอบหัวจุกโนรา จึงติดตามไปยอมอาสาปรนนิบัติทุกอย่างเรียกอาการเช่นนี้ว่า "บ้าหัวจุกโนรา” ในการขนย้ายเครื่องโนราไปแสดงไกล ๆ จะมีหีบสําหรับใส่เทริดของโนรา และเครื่องใช้บางอย่างที่ถือว่าเป็นของขลัง เช่น หน้าพราน (หัวพราน) เรียกหีบนั้นว่า “ชุม” มักมีผู้ทําหน้าที่แบกหามชุมเป็นประจําโดยเฉพาะเรียกว่า “คนคอนชุมโนรา” 
         
ชื่อคณะของโนรามักเรียกตามชื่อของนายโรง เช่น โนราวัน (คณะของโนรามีนายวัน เป็นนายโรง) บางครั้งเอาชื่อบ้านที่อยู่มาประกอบ เช่น โนราเติมเมืองตรัง โนราแปลกท่าแค เป็นต้น ถ้านายโรงเป็นพี่น้องกัน ๒ คน มักนําชื่อทั้ง ๒ มาตั้งเป็นชื่อคณะ เช่น โนราพิณพัน (พี่ชื่อพิณน้องชื่อพัน) โนราหนูวินวาด โนราประดับสังวาลย์ หรือบางคณะก็ได้รั คําเติมสร้อยตามหลัง เพราะมีลักษณะเด่นพิเศษ เช่น โนราทุ่มเทวา (ชื่อพุ่มร่ายรําอ่อนงามราวกับเทวดาเหาะลอยมา) เป็นต้น

  โรงแสดง
            
โรงมโนราห์หรือเวทีการแสดง แต่เดิมปลูกแบบไม่ยกพื้นโดยใช้ไม้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นยกพื้นสูงโดยใช้โครงเหล็ก ทั้่งนี้เพื่อความสะดวดและความบันเทิงของผู้ชมการแสดงมโนราห์แต่เดิมโรงหนึ่งใช้คนแสดงรวมทั้งนักคนตรีประมาณ ๑๔-๑๕ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีจํานวนเพิ่มขึ้น สําหรับเวทีที่ใช้ในการแสดงมักเป็นโรงชั่วคราวมีหลังคาเป็นเพิงหมาแหงน ยกพื้นสูงจากดินพอประมาณหรือไม่ยกพื้น ที่สําคัญต้องมีเสากลางหนึ่งต้น ถือเป็นเสามหาชัย เป็นที่สําหรับพระวิสสุกรรมประทับเวลาแสดงมโนราห์ ส่วนบริเวณด้านข้างปล่อยโล่งทั้งสี่ด้าน แต่ในสมัยหลัง ๆ มีการกั้นฝามิดชิด และไม่มีฉากกั้นสําหรับแสดง นักแสดงกลางเวทีโล่ง ๆ

   เครื่องแต่งกาย
         
เครื่องแต่งกายของโนราประกอบด้วยสิ่งสําคัญต่อไปนี้คือ


ภาพจากโนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

๑. เทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง (โบราณไม่นิยม ห้นางรําใช้) ทําเป็นรูปมงกุฎอย่างเตี้ยมีกรอบหน้ามีด้ายมงคลประกอบ

๒. เครื่องลูกปัด เครื่องลูกปัดจะร้อยด้วย ลูกปัดสีเป็นลายดอกดวง ใช้สําหรับสวมลําตัวท่อนบน แทนเสื้อ ประกอบด้วยชิ้นสําคัญ ๕ ชิ้น คือบ่าสําหรับสวมทับบนบ่าซ้าย-ขวา รวม ๒ ชิ้น ปิ้งคอสําหรับสวมห้อยคอหน้า-หลัง คล้ายกรองคอรวม ๕ ชิ้น พานอกร้อยลูกปัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้พันรอบตัวตรงระดับอก บางถิ่นเรียกว่า “พานโครง” บางถิ่นเรียกว่า “รอบอก” เครื่องลูกปัดดังกล่าวนี้ใช้เหมือนกันทั้งตัว ยืนเครื่องและตัวนาง แต่มีช่วงหนึ่งที่คณะชาตรีในมณฑลนครศรีธรรมราชใช้อินทรธนู ชับทรวง (ทับทรวง) ปีกเหน่ง แทนเครื่องลูกปัดสําหรับตัวยืนเครื่อง


ปิ้งคอ


บ่า


พานอก พานโครงหรือรอบอก

๓. ปีกนกแอ่นหรือปีกเหน่ง มักทําด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายนกนางแอ่นกําลังกางปีก ใช้สําหรับโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่องสวมติดกับสังวาล อยู่ที่ระดับเหนือสะเอวด้านซ้ายและขวา

 ๔. ซับทรวงหรือทับทรวงหรือตาบ สําหรับสวมห้อยไว้ตรงทรวงอก นิยมทําด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายขนมเปียกปูนสลักเป็นลวดลาย และอาจฝังเพชรพลอยเป็นดอกดวงหรืออาจร้อยด้วยลูกปัด นิยมใช้เฉพาะตัวโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่องตัวนางไม่ใช้ซับทรวง

๕. ปีกหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหางหรือหางหงส์ นิยมทําด้วยเขาควายหรือโลหะเป็นรูปคล้ายปีกนก ๑ คู่ ซ้าย-ขวาประกอบกันปลายปีกเชิดงอนขึ้นและผูกรวมกันไว้ มีพู่ทําด้วยด้ายสีติดไว้เหนือปลายปีก ใช้ลูกปัดร้อยห้อยเป็นดอกดวงตลอด ทั้งข้างซ้ายและขวาให้ดูคล้ายขนของนก ใช้สําหรับสวมคาดทับผ้านุ่งตรงระดับเอว ปล่อยปลายปีกยื่นไปด้านหลังคล้ายหางกินรี

๖. ผ้านุ่ง เป็นผ้ายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า นุ่งทับชายแล้วรั้งไปเหน็บไว้ข้างหลัง ปล่อยปลายชายให้ห้อยลงเช่นเดียวกับหางกระเบน เรียกปลายชายที่พับแล้วห้อยลงนี้ว่า “หางหงส์” (แต่ชาวบ้านส่วนมากเรียกปีกว่าหางหงส์) การนุ่งผ้าของโนราจะรั้งสูงและรัดรูปแน่นกว่านุ่งโจงกระเบน

 ๗. หน้าเพลาหรือเหน็บเพลาหรือหนับเพลา คือสนับเพลาสําหรับสวมแล้วนุ่งผ้าทับปลายขา ใช้ลูกปัดร้อยทับหรือร้อยแล้วทาบ ทําเป็นลวดลายดอกดวง เช่น ลายกรวยเชิง รักร้อย

๘. หน้าผ้า ลักษณะเดียวกับชายไหว ถ้าเป็นของโนราใหญ่หรือนายโรงมักทําด้วยผ้าแล้วร้อยลูกปัด ทาบเป็นลวดลายที่ทําเป็นผ้า ๓ แถบ คล้ายชายไหวล้อมด้วยชายแครงก็มี ถ้าเป็นของนางรําอาจใช้ผ้า พื้นสีต่าง ๆ สําหรับคาดห้อย เช่น เดียวกับชายไหว

๙. ผ้าห้อย คือผ้าสีต่าง ๆ ที่คาดห้อยคล้ายชายแครงแต่อาจมีมากกว่า โดยปกติจะใช้ผ้าที่โปร่งบางสีสด แต่ละผืนจะเหน็บห้อยลงทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของหน้าผ้าโปร่งบางสีสด แต่ละผืนจะเหน็บห้อยลงทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของหน้าผ้า

๑๐. กําไลต้นแขนและปลายแขน เป็นกําไลสวมต้นแขน เพื่อขบรัดกล้ามเนื้อให้ดูทะมัดทะแมงและเพิ่มให้สง่างามยิ่งขึ้น

๑๑. กําไล มักทําด้วยทองเหลือง ทําเป็นวงแหวนใช้สวมมือและเท้าข้างละหลาย ๆ วง เช่น แขนแต่ละข้างอาจสวม ๕-๑๐ วงซ้อนกัน เพื่อเวลาปรับเปลี่ยนท่าจะได้มีเสียงดังเป็นจังหวะเร้าใจยิ่งขึ้น

๑๒. เล็บ เป็นเครื่องสวมนิ้วมือให้โค้งงามคล้ายเล็บกินนรกินรี ทําด้วยทองเหลืองหรือเงินอาจต่อปลายด้วยหวายที่มีลูกปัดร้อยสอดสีไว้พองาม นิยมสวมมือละ ๔ นิ้ว (ยกเว้นหัวแม่มือ) เครื่องแต่งกายโนราตามรายการที่ (๑) ถึงที่ (๑๒) รวมเรียกว่า “เครื่องใหญ่” เป็นเครื่องแต่งกาย ของตัวยืนเครื่องหรือโนราใหญ่ ส่วนเครื่องแต่งกาย ของตัวนางหรือนางรํา เรียกว่า “เครื่องนาง” จะตัด เครื่องแต่งกายออก ๔ อย่าง คือ เทริด (ใช้แถบผ้า สีสดหรือผ้าเช็ดหน้าคาดรัดแทน) กําไลต้นแขน ชับทรวงและปีกนกแอ่น (ปัจจุบันนางรําทุกคนนิยมสวมเทริดด้วย)

๑๓. หน้าพราน เป็นหน้ากากสําหรับตัว “พราน” ซึ่งเป็นตัวตลกใช้ไม้แกะเป็นรูปใบหน้า ไม่มีส่วนที่เป็นคางทําจมูกยื่นยาว ปลายจมูกลุ้ม เล็กน้อย เจาะรูตรงส่วนที่เป็นตาดําให้ผู้สวมมองเห็นได้ถนัด ทาสีแดงทั้งหมดเว้นแต่ส่วนที่เป็นฟันทําด้วยโลหะสีขาวหรือทาสีขาว หรืออาจเลี่ยมฟัน (มีเฉพาะฟันบน) ส่วนบนต่อจากหน้าผากใช้ขนเป็ดหรือห่าน สีขาวติดทาบไว้ต่างผมหงอก

๑๔. หน้าทาสี เป็นหน้ากากของตัวตลก หญิง ทําเป็นหน้าผู้หญิง มักทาสีขาวหรือสีเนื้อ

    เครื่องดนตรี
           
เครื่องดนตรีของโนรา ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตี ให้จังหวะเทียบได้กับเครื่องเบญจดุริยางค์ตามตํารา อินเดีย มีดังนี้

๑. ทับ (โทน) เป็นเครื่องตีที่สําคัญที่สุดเพราะทําหน้าที่คุมจังหวะและเป็นตัวนําในการเปลี่ยนจังหวะทํานอง (แต่จะต้องเปลี่ยนตามผู้รู้ไม่ใช่ผู้ว่า เปลี่ยนจังหวะลีลาตามดนตรี ผู้ทําหน้าที่ตีทับจึงต้องนั่งให้มองเห็นผู้ตลอดเวลาและต้องรู้เชิงของผู้รํา) ทับโนราเป็นทับคู่เสียงต่างกันเล็กน้อย (นิยมใช้คนตีเพียงคนเดียว) ทับใบที่ ๑ เทียบได้ “อาตต์” และทับใบที่ ๒ เทียบได้กับ “วิตต์”

(๒) กลอง เป็นเครื่องกํากับจังหวะที่คอยรับและขัดจังหวะทับที่เรียกว่า ขัดลูกกลอง โนราคณะหนึ่งมีกลอง ๑ ลูก บทบาทของกลอง ใช้บรรเลงประกอบการแสดงในอดีตใช้ตีเพื่อบอกผู้ชมว่าโนรามาแล้ว

(๓) ปี เป็นเครื่องเป่าเครื่องดนตรีให้ทํานองชนิดเดียวในการแสดงโนรา ทําให้การดําเนินดนตรีมีความไพเราะ ใช้บรรเลงเป็นหลักในการรําโนรา เรียกว่า เพลงปี รำยั่วปี นิยมใช้ปี่ในหรือบางคณะอาจใช้ปืนอก ใช้เพียง ๑ เลา 

(๔) โหม่ง เป็นม้องคู่เป็นเครื่องกํากับจังหวะ ๒ ลูก เสียงแหลมเรียกหนวยจี้ เสียงทุ้มเรียกหนวยทุ้มปัจจุบันเรียกโหม่งหล่อ โหม่งมีส่วนสําคัญในการขับร้องเพลงให้ไพเราะ เสียงหวานกังวานอันเกิดจากความกลมกลืนระหว่างเสียงของโนรากับโหม่งเรียกว่าเสียงเข้าโหม่ง

(๕) ฉิ่ง เป็นเครื่องตีเสริมแต่งและเน้นหรือกำกับจังหวะ  มี ๑ คู่ ใช้คู่กับโหม่งโดยผูกติดกันมุมใดมุมหนึ่งของรางโหม่ง เวลาลูกคู่ตีโหม่งจะใช้มือข้างหนึ่งที่ฉิ่งไปด้วย

(๖) แตระหรือแกระ คือกรับ เป็นเครื่องประกอบจังหวะทําจากไม้เนื้อแข็งนํามาเจาะรู หัวท้าย ซ้อนกันประมาณ  ๑๐ อัน ใช้เรียวไม้หรือลวดเหล็กมัดเข้าด้วยกัน ตีให้ปลายกระทบกัน แตระมีความสําคัญ ๒ ประการ คือเป็นครูของตนตรีโนราเวลาทําพิธีสอดเครื่อง ครูจะใช้กําไลสวมผ่านแตระ ให้ไหลไปสวมมือโนราที่เข้าพิธีและเป็นดนตรีหลักในการขับร้องและรับบทกลอน เพลงที่เรียกว่าเพลงร่ายแตระและเพลงหน้านแตระ

              ปัจจุบันนอกจากเครื่องดนตรีตามแบบแผนดังกล่าวแล้ว ยังพบเครื่องดนตรีอื่น ๆ ในการแสดงโรงครู ได้แก่ซอ หรือถ้าเป็นมโนราห์แบบประยุกต์ก็จะมีเครื่องดนตรีแบบสากลที่เป็นเครื่องไฟฟ้า เช่น กีตาร์ กลองชุด คีย์บอร์ด เป็นต้น เสียงเครื่องดนตรีและผู้ขับร้องมีไมโครโฟน มีเครื่องเสียงที่มีลําโพงขนาดใหญ่ทําให้เสียงดังก้องไปทั้งชุมชน

   องค์ประกอบหลักของการแสดง
            
องค์ประกอบหลักของการแสดงมโนราห์ ซึ่งเป็นการแสดงเพื่อให้ความบันเทิงโดยตรงมีดังนี้

(๑) การรํา มโนราห์แต่ละตัวต้องรําอวดความชํานาญและความสามารถเฉพาะตน โดยการประสมท่าต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องและกลมกลืน แต่ละท่ามีความถูกต้องตามแบบฉบับ มีความคล่องแคล่วชํานาญ ที่จะเปลี่ยนลีลาให้เข้ากับจังหวะดนตรีและต้องทําให้สวยงามอ่อนช้อยหรือกระฉับกระเฉงเหมาะแก่กรณี บางคนอาจอวดความสามารถในเชิงรําเฉพาะด้าน เช่น การเล่นแขน การทําให้ตัวอ่อน การทําท่าพลิกแพลง เป็นต้น
(๒) การร้อง มโนราห์แต่ละตัวจะต้องอวด ลีลาการขับร้องบทกลอนในลักษณะต่าง ๆ เช่น เสียงไพเราะดังชัดเจน จังหวะการร้องขับถูกต้องเร้าใจ มีปฏิภาณในการคิดกลอนรวดเร็ว ได้เนื้อหาดี สัมผัสดี มีความสามารถในการร้องโต้ตอบ แก้คําอย่างฉับพลันและคมคาย เป็นต้น
(๓) การทําบท เป็นการอวดความสามารถใน การตีความหมายของบทร้องเป็นท่ารํา ให้คําร้องและท่ารําสัมพันธ์กัน ต้องตีท่าให้พิสดารหลากหลายและครบถ้วนตามคําร้องทุกถ้อยคํา ต้องขับบทร้องและตีท่าว่าให้ประสมกลมกลืนกับจังหวะและลีลาของดนตรี อย่างเหมาะเหม็ง การทําบทจึงเป็นศิลปะสุดยอดของมโนราห์
(๔) การรำเฉพาะอย่าง นอกจากโนราแต่ละคนจะต้องมีความสามารถในการรำ การร้องและการทําบทดังกล่าวแล้ว ยังต้องฝึกการรําเฉพาะอย่าง ให้เกิดความชํานาญเป็นพิเศษด้วย ซึ่งการรำเฉพาะอย่างนี้ อาจใช้แสดงเฉพาะโอกาส เช่น ในพิธีไหว้ครูหรือพิธีแต่งพอกผูกผ้าใหญ่ บางอย่างใช้รําเฉพาะ เมื่อมีการประชันโรง บางอย่างใช้ในโอกาสรำลงครูหรือโรงครู หรือรําแก้บน เป็นต้น การรําเฉพาะอย่าง มีดังนี้
๑) รำบทครูสอน
๒) บทปฐม
๓) รําเพลงทับเพลงโทน
๔) รําเพลงปี
๕) รําเพลงโค
๖) รําขอเทริด
๗) ราเมี่ยนพรายและเหยียบลูกนาว (เหยียบมะนาว)
๘) รําแทงเข้ (แทงจระเข้)
๘) รําคล้องหงส์
๑๐) บทสิบสองหรือสิบสองบท
(๕) การเล่นเป็นเรื่อง โดยปกติโนราไม่เน้นการเล่นเป็นเรื่อง แต่ถ้ามีเวลาแสดงมากพอหลังจากการอวดการการร้องและการทําบทแล้ว อาจแถมด้วยการเล่นเป็นเรื่องให้ดูเพื่อความสนุกสนาน โดยเลือกเรื่องที่รู้ดีกันแล้วบางตอนมาแสดง เลือกเอาแต่ตอนที่ต้องใช้ตัวแสดงน้อย ๆ (๒-๓ คน) ไม่เน้นที่การแต่งตัวตามเรื่อง มักแต่งตามที่แต่งรําอยู่แล้ว แล้วสมมุติเอาว่าใครเล่นเป็นใคร แต่จะเน้นการตลกและการขับบทกลอนแบบโนราให้ได้เนื้อหาตามท้องเรื่องนั้น ๆ

    ท่ารํา
          
ท่ารําของมโนราห์ที่เป็นท่าแบบหรือท่าหลัก ๆ นั้น ตามหลักฐานต่่าง ๆ ที่ปรากฎอาาจะไม่ตรงกันนัก เพราะต่างครูต่างตํารากันและเนื่องจากสมัยก่อนมีผู้ประดิษฐ์ท่าเพิ่มเติมกันอยู่เรื่อย ๆ ท่ารำมโนราห์ที่ต่างสายต่างตระกูลและต่างสมัยกันจึงผิดแปลกแตกต่างกัน แม้บางที่ชื่ออย่างเดียวกันบางครูบางตําราก็กําหนดท่ารําต่างกันออกไป ท่ารําที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงรวบรวมไว้จากคําชี้แจงของนายจงภักดี (ขาว) ผู้เคยเล่นละครชาตรี อยู่ที่เมืองตรังในบทพระราชนิพนธ์ตํานานละครอิเหนา นั้นมีอยู้ ๑๒ ท่า ดังนี้

๑. ท่าแม่ลาย หรือท่าแม่ลายกนก
๒. ท่าราหูจับจันทร์ หรือท่าเขาควาย
๓. ท่ากินนร หรือกินนร (ท่าขี้หนอน)
๔. ท่าจับระบํา
๕. ท่าลงฉาก
๖. ท่าฉากน้อย
๗. ท่าผาลา (ผาหลา)
๘. ท่าบัวตูม
๙. ท่าบัวบาน
๑๐. ท่าบัวคลี่
๑๑. ท่าบัวแย้ม
๑๒. ท่าแมงมุมชักใย



ภาพจาก : รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ด้านศิลปะการแสดง, 2550, 185-186

 

       ในหนังสือศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต (2563) มีดังนี้

๑. ท่าขุนศรัทธา
๒. ท่าครู
๓. ท่าเขาควาย
๔. ท่าจีบหน้า
๕. ท่าย่างสามขุม
๖. ท่าขี้หนอน
๗. ท่าเหาะเหิน
๘. ท่าลงฉากน้อย
๙. ท่าจับระบำ
๑๐. ท่าพรหมสี่หน้า
๑๑. ท่าจัดหว่างอก
๑๒. ท่าแมงมุมชักใย


ภาพจากโนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

             ท่ารำเหล่านี้สืบได้ว่าเป็นท่าที่เรียกต่างกันออกไปก็มีแตกต่อเป็นท่าย่อย ๆ ออกไปก็มี เช่น ท่าแม่ลาย บางตําราเรียกท่าเทพพนม (คือแม่ของลายไทย) แตกต่อเป็นท่าเครือวัลย์บ้าง เป็นท่าพรหมสี่หน้าบ้างหรือท่าลงฉาก บางครูแตกย่อยเป็นท่าดอดสร้อย เป็นต้น แต่ท่ารําหลักของโนรายังปรากฏในบทครูสอน บทสอนรําและบทท่าปฐม ซึ่งบทเหล่านี้จะประกอบด้วยท่าต่าง ๆ แตกต่างกันไป และเมื่อต่างครูต่างประดิษฐ์ท่ารําของชื่อท่านั้น ๆ ก็จะผิดแปลกกัน เช่น ท่าแมงมุมชักใย บางครูยืนใช้มือเลียนท่าแมงมุมชักใย บางครูรําแบบตัวอ่อนแอ่นหลังแล้วม้วนตัว ลอดใต้ขา เป็นต้น

   เพลงการร้องและการรับ
           เพลงของมโนราห์ที่บรรเลงประกอบบทร้อง จะมีจังหวะลีลาแตกต่างกันไปตามลักษณะของบทร้อง และลีลาการขับร้องของลูกคู่ เช่น เพลงประกอบ กลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด กลอนทอย แต่ละอย่างจะมีจังหวะลีลาและการรับของลูกคู่แตกต่าง กัน ส่วนเพลงที่ประกอบการร้องบทไหว้ครู (กาศครู) ก็มีจังหวะลีลาและการรับต่างกัน มีเพลงขานเอ เพลงหน้าแตระ เพลงทับ เพลงโทน เนื่องจากดนตรีมโนราห์ถือเอาจังหวะสําคัญ กว่าทํานอง จึงเรียกหน้าพาทย์ว่า “หน้าทับ” และ เรียกจังหวะการที่ทับว่า ฉับทับ”

   ลําดับการแสดง
           การแสดงมโนราห์ที่เป็นงานบันเทิงทั่ว ๆ ไป แต่ ละครั้งแต่ละคณะจะมีลําดับการแสดงที่เป็นขนบนิยม ดังนี้

๑. ตั้งเครื่อง
      การตั้งเครื่อง คือการประโคมดนตรี เป็นเทคนิควิธีการอย่างหนึ่งของนายโรงโนรา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเครื่องดนตรี และยังเป็นการตรวจสอบว่ามีเครื่องดนตรีครบหรือไม่ เนื่องจากคณะโนราในสมัยก่อนเวลาเปิดการแสดงที่ไหนจะต้องเดินเท้าและแบบหาม สัมภาระรวมทั้งเครื่องดนตรีและเกรงว่าในระหว่างการเดินทางเครื่องดนตรีจะหล่นหาย จึงต้องมีการตั้งเครื่อง อีกอย่างหนึ่งคือการ
ขอที่ทาง เมื่อเข้าโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว
๒. โหมโรง
     การโหมโรง คือการประโคมดนตรีอีกช่วงหนึ่ง เพื่อเป็นการแสดงฝีมือของนักดนตรี ในการเล่นประสมวงได้อย่างไพเราะและประสานกันด้วยดี แต่ทั้งนี้แล้วการโหมโรงมีจุดประสงค์ เพื่อเตือนให้ทราบว่าขณะนี้โนราใกล้จะถึงเวลาทําการแสดงแล้วและยังเป็นการเตือนให้นายโรงเตรียมตัวที่จะกาศครูในช่วงต่อไป
     
(๓) กาศครู หรือเชิญครู
      การกาศครูหรือเชิญครู คือการขับร้องบทกลอนเพื่อสรรเสริญพระคุณครู การกาศโรงนั้นจะร้องโดยนายโรงโนราหรือโนราใหญ่ ซึ่งเนื้อหาสาระของบทกลอนจะกล่าวถึงการ ระลึกครูบาอาจารย์ ประวัติความเป็นมาความเป็นมาของโนรา ทั้งยังเป็นการขอสถานที่แสดงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตลอดจนพระแม่ธรณีที่ให้สถานที่ในการการปลูกโรงด้วย
(๔) ปล่อยตัวนางรําออก (อาจมี ๒-๕ คน) แต่ละตัวจะมีขั้นตอน ดังนี้
๔.๑ เกี่ยวม่านหรือขับหน้าม่าน คือการขับร้องบทกลอนอยู่ในม่านกั้น โดยไม่ให้เห็นตัวแต่จะใช้มือดันม่านตรงทางแหวกออก เพื่อเร้าใจให้ผู้ชมสนใจและเป็นสัญญาณว่าตัวแสดงกําลังจะออกมา โดยปกติตัวที่จะออกเป็นผู้ต้องขับบทเกี้ยวม่านเอง แต่บางครั้งอาจใช้คนอื่นร้องขับแทน บทที่ร้องมักบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของหญิงสาว วัยกําดัดหรือชมธรรมชาติหรือกล่าวถึงคติโลกคติธรรมต่าง ๆ
๔.๒ ออกร่ายรำแสดงความชำนาญและความสามารถในเชิงรำเฉพาะตัว
๔.๓ นั่งพนักหรือเก้าอี้ว่าบทร่ายแตระ แล้วทำบท (ร้องบทและตีท่ารำตามบทนั้น ๆ) "สีโต ผันหน้า" ถ้าเป็นคนรำคนที่ ๒ หรือ ๓ อาจเรียกตัวอื่น ๆ มาร่วมทำบทเป็น ๒ หรือ ๓ คนก็ได้ หรืออาจทำบทธรรมชาติ ชมปูชนียสถาน ฯลฯ เพลงที่นิยมใช้ประกอบการทำบททำนองหนึ่ง คือเพลงทับเพลงโทน
๔.๔ ว่ากลอน เป็นการแสดงความสามารถเชิงบทกลอน (ไม่เน้นการรำ) ถ้าว่ากลอนที่แต่งไว้ก่อนเรียกว่า "ว่าคำพรัด" ถ้าเป็นผู้มีปฏิญาณมักว่ากลอนสดเรียกว่า "ว่ามุดโต" โดยว่าเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ เหตุการณ์เฉพาะหน้า การว่ากลอนสดอาจว่าคนเดียวหรือว่า ๒-๓ คนสลับวรรค สลับคำกลอนกันโดยฉับพลัน เรียกการร้องโต้ตอบกันว่า "โยนกลอน"
๔.๕ รำอวดมืออีกครั้งแล้วเข้าโรง
       
(๕) ออกพราน คือออกตัวตลก มีการแสดงท่าเดินพราน นาดพราน ขับบทพราน พูดตลก เกริ่นให้คอยชมนายโรงแล้วเข้าโรง 
(๖) ออกตัวนายโรงหรือโนราใหญ่ นายโรงจะอวดท่ารำและการขับบทกลอนเป็นพิเศษให้สมแก่ฐานะที่เป็นนายโรงในกรณีที่เป็นการแสดงประชันโรง โนราใหญ่จะทำพิธีเฆี่ยนพราย และเหยียบลูกนาว เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนานคู่ต่อสู้และเป็นกำลังใจแก่ผู้ร่วมคณะของตน
(๗) ออกพรานอีกครั้ง เพื่อบอกว่าต่อไปจะเล่นเป็นเรื่องและจะเล่นเรื่องอะไร
(๘) เล่นเป็นเรื่อง เรื่องที่นิยมแสดงได้กล่าวแล้วว่าโนราไม่นิยมที่จะเล่นเป็นเรื่อง คงเล่นเป็นของแถมเมื่อมีเวลามากพอ เรื่องที่นำมาเล่นจึงมักใช้เรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว ระยะแรกๆ พบว่าเรื่องที่นิยมแสดงมี ๒ เรื่อง คือเรื่องพระรถและเรื่องพระสุธน ต่อมาได้เพิ่มเป็น ๑๒ เรื่อง เรื่องที่เพิ่ม เช่น สังข์ทอง สินนุราช ไกรทอง เป็นต้น ปัจจุบันมโนราห์บางคณะนำเอานวนิยายสมัยใหม่มาแสดงเน้นการเดินเรื่องแบบละครพูดจนแทบจะไม่มีการรำและการร้องบท บางคณะมีการจัดฉาก เปลี่ยนฉากใช้แสงสีประกอบให้ทันยุคสมัย จนแทบจะไม่หลงเหลือเอกลักษณ์ของมโนราห์โบราณให้เห็นเลยก็มี

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โนรา (Nohra)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


บรรณานุกรม

พรรัตน์ ดำรุง และโลเวล สการ์. (2563) ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต. กรุงเทพฯ : กลุ่มสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
มโนราห์. (ม.ป.ป.). สืบค้น 11 พ.ย. 64, จาก https://sites.google.com/site/mnorahnoei/home
เรื่องเล่าจาก “โนรา” จุดเชื่อมวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน. (2564). สืบค้น 23 เม.ย. 67 จาก, https://www.bangkokbiznews.com/social/978097.
สถาพร ศรีสัจจัง, บรรณาธิการ. (2544). โนรา : นาฏลักษณ์แห่งปักษ์ใต้. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา.


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024