การแข่งขันดีดมะม่วงหิมพานต์
 
Back    09/02/2022, 16:00    433  

หมวดหมู่

การละเล่น


ประเภท

อื่น ๆ


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจาก : รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 24

       การแข่งขันดีดมะม่วงหิมพานต์ (ยึติบูเตแตแร) ภาษามลายูเรียกว่ายึติบูเตแตแร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของตําบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จะมีต้นมะม่วงหิมพานต์ (หัวครก) ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณคันนา ชายป่า และบริเวณริมถนน หรือริมทางเดินทางระหว่างชุมชน  ซึ่งต้นมะม่วงหิมพานต์นั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ยอดอ่อนใช้รับประทานกับน้ำบูดู ผลอ่อนใช้เป็นส่วนผสมในการทําอาหาร และเม็ดใช้รับประทาน ฤดูกาลออกผลผลิตของมะม่วงหิมพานต์ บรรดาเด็ก ๆ ที่ต้องการหารายได้เสริมก็จะเก็บเม็ดมะม่วงหินพานต์ขายให้กับพ่อค้า หรือเก็บสะสมไว้คั่วหรือเผาเม็ดกินกัน ดังนั้นเด็ก ๆ ในชุมชนนิยมเก็บสะสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นของตนเอง จึงมีการคิดเกมเล่นเพื่อความสนุกสนาน โดยผู้ชนะจะมีเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไว้ขายต่อไปอุปกรณ์และกฎกติกาการเล่น มีดังนี้คือ

๑. หลุมเกม ซึ่งต้องขุดหลุมดินให้กว้างและมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร ส่วนความลึกให้พอประมาณ
๒. พื้นดิน ต้องเลือกบริเวณพื้นที่ดินราบเสมอกัน
๓. เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (หัวครก) ซึ่งผู้เล่นทุกคนต้องมีเป็นของตนเองมากพอสมควร
๔. ผู้เล่น ซึ่งเล่นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จํานวนผู้เล่นไม่ควรจะเกิน ๔ คน
๕. จัดเรียงลําดับผู้เล่นก่อนหลัง โดยวิธีการ ลาลาตีตําบ่องหรือภาษาใต้ว่าวันตูซั่ม

       วิธีการเล่นเกม

๑. จํานวนผู้เล่นทั้ง ๔ คน นั่งล้อมรอบหลุมดินคนละทิศ และผู้เล่นแต่ละคนต้องสร้างอาณาเขตพื้นที่ของตนเองเพื่อสะดวกในการเล่น
๒. กําหนดการลงเม็ดมะม่วงหิมพานต์จํานวนเท่ากันครั้งละ ๕–๑๐ เม็ด ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในการเล่น
๓. วิธีการเล่นคือนําเม็ดมะม่วงหิมพานต์กองกลางรวมกันในหลุมผู้เล่นจะใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้ตักเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากหลุมให้หมดในครั้งเดียวมาไว้ในอาณาเขตพื้นที่ของตนเอง แต่ถ้าบังเอิญมีเม็ดเหลืออยู่ในหลุมผู้เล่นคนนั้นก็จะไม่ได้เล่นต่อ ต้องให้คนลําดับถัดไปได้เล่น
๔. ถ้าตักเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากหลุมได้หมดลงบนพื้นดินด้านหน้าของตนเอง (เทคนิคการตักขึ้นอยู่แต่ละบุคคล) แต่โดยทั่วไปคือตักให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์กระจายออกไม่ให้ติดกัน เพื่อสะดวกในการดีดเม็ดให้ลงหลุม ถ้าหว่านไม่ดีมีเม็ดติดกันจะลําบากในการดีด
๕. ผู้เล่นที่เหลือต้องชี้ให้ดีดเม็ดมะม่วงที่ดีดยากที่สุด เช่น เม็ดอยู่ติดกันหรือเม็ดที่มีเมล็ดอื่น ๆกีดขวางอยู่ หรือเลือกชี้เม็ดอยู่ไกลจากหลุมเพื่อป้องกันมิให้ผู้เล่นดีดเม็ดลงหลุมได้
๖. ผู้เล่นดีดเม็ดที่ชี้ลงหลุมได้ ต่อไปก็จะดีดเม็ดไหนก็ได้ไปเรื่อย ๆ จนหมด ถ้าดีดเม็ดไหนไม่ลงหลุมจะต้องหยุดเล่นทันที จะได้เฉพาะเม็ดที่ดีดลงหลุมมาเป็นของตนเอง ส่วนเม็ดที่เหลือผู้อื่นก็จะเล่นต่อไปจนหมด แล้วก็จะเริ่มเกมใหม่ด้วยการลงเม็ดมะม่วงหิมพานต์เท่า ๆ กันอีก

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
การแข่งขันดีดมะม่วงหิมพานต์
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


บรรณานุกรม

ประสิทธิ์ รัตนมณี. (2561). รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
        มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024