คณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง
 
Back    06/01/2021, 16:06    5,303  

หมวดหมู่

การแสดง


ประเภท

อื่น ๆ


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : https://mgronline.com/south/detail/9580000021099

       คณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง หัวหน้าคณะคือนายสมพงษ์ ชนะบาล เป็นบุตรของนายเพื่อม ชนะบาล และนางพ่อน ชนะบาล อยู่บ้านเลขที่ ๑๒๕ หมู่ที่ ๑๒ ตําบลท่าแค อําเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โนราสมพงษ์สืบเชื้อสายการแสดงโนรามาจากโนราแปลกท่าแค ซึ่งในวัยเด็กอายุได้ ๕ ขวบได้ดูน้ารำโนราและมีแรงบันดาลใจทําให้เกิดความชอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โนราสมพงษ์ได้เริ่มรําโนรา นอกจากนั้นผู้ที่ฝึกรําให้มีโนราเลื่อนบ้านเขาเจียก และโนราคล้ายโคกชะงาย และต่อมาครอบครัวก็ได้เริ่มทําธุรกิจการแสดงโนรา อายุได้ ๑๕ ปี เริ่มท่องคาถาอาคมและจําได้อย่างแม่นยํา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โนราแปลกท่าแคได้เสียชีวิตลง โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ทําหน้าที่หัวหน้าคณะแทนและได้ทําพิธีตัดเหมรย หมายถึงผู้สืบทอดการแสดงโนราและทําหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมของโนราในคณะทั้งหมด ในการถ่ายทอดความรู้ที่จะเป็นผู้สืบสานของคณะโนราสมพงษ์ เริ่มแรกตั้งใจจะให้นายเกรียงเดช ปาณรงค์ ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวขณะนั้นมีอายุ ๒๕ ปี กําลังศึกษาคณะวิศวกรรมโยธา ปีที่ ๒ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้สืบสาน 
     ประสบการณ์เกี่ยวกับการแสดงโนราและเป็นผู้ควบคุมคณะของโนราสมพงษ์ ยึดการแสดงแบบโบราณ โนราสมพงษ์ มีปฏิภาณไหวพริบในการแสดง โดยเฉพาะการว่ากลอน โนราสมพงษ์น้อย มีความเก่งและมีความสามารถในการทําพิธีกรรมโนราโรงครูเป็นอย่างมาก จะด้วยเหตุเนื่องมาจากโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง มีบ้านที่พักอาศัยเป็นคนพื้นที่ในตําบลท่าแค และที่นี้มีโรงครูขุนศรีศรัทธา ซึ่งเรียกว่าโรงครูขุนทาเพราะเชื่อว่าวัดท่าแคเป็นที่อยู่ของขุนศรีศรัทธา และครูโนราคนอื่น ๆ โดยนิยมทําพิธีกรรมโรงครูเพื่อรําถวายครูโนรา ที่เคารพนับถือในช่วงเดือน ๖ ถึงเดือน ๘ คือเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ในช่วงเดือนดังกล่าวจะมีคนมาจองรับประกอบพิธีกรรมโรงครูไว้ข้ามปีแทบจะไม่มีวันหยุด โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง มีน้ำเสียงในการร้องกลอนได้อย่างดีเยี่ยม ทําให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เคยได้รับเชิญให้ไปร้องกลอนโนราและแต่งกลอนโนราในหัวข้อรณรงค์โรคเอดส์ รณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โลกร้อน เกี่ยวกับสุขภาพ การขับขี่พาหนะ ความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ ให้กับสํานักงานสาธารณสุข จังหวัดพัทลุง และหน่วยงานราชการในจังหวัดพัทลุงที่ร้องขอ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้
       ต่อมาคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ยึดรูปแบบการแสดงแบบประยุกต์ได้ดําเนินการบริหารคณะจนประสบผลสําเร็จมีชื่อเสียงขึ้นมา โดยปรับเปลี่ยนการแสดงออกเป็น ๒ช่วง คือช่วงที่ ๑ แสดงโนราแบบโบราณ โดยโนราสมพงษ์เป็นผู้ดูแล ช่วงที่ ๒ เล่นดนตรีลูกทุ่งและเต้นหางเครื่องหรือแดนเซอร์ประกอบเพลงลูกทุ่ง ควบคุมและฝึกซ้อมโดยนางเพลินพิศ รักขุนส่อง ซึ่งเป็นหลานสาว หลังจากนั้นคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ก็มีมีชื่อเสียงขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่เดือนได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันมหกรรมชิงแชมป์มโนราภาคใต้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ 
        โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่งหรือนายสมพงษ์ ชนะบาล ตลอดบนเส้นทางงานศิลปินมโนารห์เกือบ ๕๐ ปี ที่สืบทอดศิลปะการแสดงจนนับครั้งไม่ถ้วน จนเป็นที่รู้จักกันดีในภาคใต้ ถือเป็นปูชนียบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่อง  โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว เมื่อวันที่  ๒๐
 ก.พ. ๒๕๕๘  หลังป่วยมานานนับเดือน สิริอายุได้ ๖๐ ปี

ภาพจาก : https://www.facebook.com/มโนราห์สมพงษ์น้อยดาวรุ่ง-460379351367840/photos/?ref=page_internal


ความเชื่อ

ความเชื่อในการแสดงโนรา
         
ความเชื่อในการแสดงโนราของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง มีดังนี้

๑. ความเชื่อเรื่องตายายโนรา
    โนราคณะสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เชื่อว่าตายายโนราคือครูต้นแบบของโนราและครูโนราที่ตายไปแล้ว บางครั้งเรียกว่าครูหมอตายาย โดยเชื่อว่าตายายโนรามีความผูกพันกับลูกหลานที่มีเชื้อสายโนรา หากลูกหลานที่มีเชื้อสายโนราไม่เคารพบูชาตายาย โนราอาจจะให้โทษด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง ป่วยกระเสาะ กระแสะ ต้องทําทิ้งบูชาตายายโนราอาการจะหายเป็นปกติ
๒. ความเชื่อเรื่องการเหยียบเสน
     โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เชื่อว่าเสนไม่สามารถรักษาให้ หายได้ นอกจากให้โนราทําพิธีเหยียบเสนให้ในวันโนราเข้าโรงครู เสนเป็นเนื้อที่งอกที่ออกขึ้นมาจากระดับผิวหนังเป็นแผ่นสีแดงๆ โดยจะทํากันก่อนโนรารําคล้องหงส์ ซึ่งพ่อแม่จะต้องเตรียมเครื่องประกอบพิธีมาให้โนราใหญ่ได้แก่ ขันน้ำพลู หมาก ดอกไม้ ธูปเทียน หินลับมีด มีดโกน เครื่องทอง เงินเหรียญ เครื่องเงิน หญ้าเข็ดมอน หญ้าคา รวงข้าวและเงิน ๓๒ บาท โนราใหญ่จะเอาเป็นสิ่งของต่าง ๆ ที่เตรียมมาใส่ลงขันทําพิธีจุดธูปเทียนบูชาตายาย โนราลงอักขระที่หัวแม่เท้าของโนราใหญ่ แล้วท่าเฆี่ยนพรายโดยถือกริชแล้วเอาหัวแม่เท้าของโนราใหญ่ไปแตะตรงที่เป็นเสนแล้ว เอาหัวแม่เท้าไปจุ่มลงในขัน จากนั้นยกหัวแม่เท้าขึ้นรมควันแล้วใช้หัวแม่เท้าไปเหยียบเบา ๆ ตรงที่เป็นเสนโดยหันหลังให้ผู้ที่เป็นเสน ว่าคาถากํากับโดยโนราใหญ่ในร่างทรงก็จะเอากริชไปแตะตรง ที่เป็นเสนพร้อมกับว่าคาถาทําเช่นนี้ ๓ ครั้ง เสร็จแล้วเอามีดโกน หินลับ มีดและของอื่น ๆ ในขันน้ำไปแตะตัวผู้ที่เป็นเสนจนครบทุกอย่าง เป็นอันเสร็จพิธีการเหยียบเสน โนราคณะสมพงษ์น้อยเชื่อว่าเสนจะค่อย ๆ จางหายไปถ้าไม่หายก็จะมาทำซ้ำอีกให้ครบ ๓ ครั้ง เสนจะจางหายไปในที่สุด
๓. ความเชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่
     โนราคณะสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เชื่อว่าสถานที่ต่าง ๆ ย่อมมีเทวดารักษา คุ้มครอง เช่น ผีเจ้าเรือน เจ้าที่นา เจ้าที่สวน เพราะฉะนั้นต้องบูชาเพื่อประโยชน์สุขของตน ไปแสดงที่ใดต้องมีการไหว้พระภูมิเจ้าที่ไม่ให้ใครมากล้ำกรายจนกว่าคณะโนราจะแสดงเสร็จ
๔. ความเชื่อเรื่องเครื่องดนตรี
     โนราคณะสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เชื่อว่าเครื่องดนตรีโนราแต่ละชิ้นมีครูหมอตายายจะลบหลู่หรือข้ามกรายไม่ได้ เช่น ทับ ๒ ลูก เมื่อทําพิธีไหว้ครูเบิกโรงจะเอาเทียน ๓ เล่ม หมาก ๓ คํา มาทําพิธี โดยจุดเทียน ๓ เล่ม เล่มหนึ่งนําไปปักไว้ที่กลอง พร้อมหมาก ๑ คํา เมื่อตั้งนะโม ๓ จบ จะกล่าวคําเชิญเทวดาชุมนุมแล้วก็เอาหมากเหน็บไว้ที่โรงโนรา ๑ คํา เพื่อบูชาเทวดาวางไว้ใต้เสื่อปูโรง ๑ คํา เพื่อบูชานางธรณี อีก ๑ คํา ใช้ใส่ในทับแล้วตีทับรัว โดยคณะโนราสมพงษ์น้อยดาวรุ่งเชื่อว่าดนตรีที่ได้ขึ้นครูแล้วจะมีความไพเราะและมีความขลัง
๕. ความเชื่อเรื่องการถือเคล็ด
    โนราคณะสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เชื่อว่าเคล็ดคือการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นวิธีปัดเป่าหรือป้องกันเหตุร้ายที่จะมีมา โดยโนราสมพงษ์น้อยดาวรุ่งเชื่อในเรื่องเคล็ดการปลูกสร้างโรงโนรา จะไม่หันไปทางทิศตะวันตกโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทําให้โนราตกอับ
๖. ความเชื่อเรื่องการแก้บน
    โนราคณะสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เชื่อว่าการบนและการแก้บน โดยให้ตายายโนรา ช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ เช่น บนให้หายจากอาการเจ็บป่วย บนให้สอบเข้าเรียนต่อได้ บนให้พ้นจากการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร บนให้สามารถสอบเข้าทํางานได้ การบนจะบนเองด้วยวาจาหรือให้ในราบนให้ตามความเชื่อว่าโนราหรือครูหมอโนรา เป็นผู้มีญาณสามารถติดต่อกับตายายโนราได้ หากบนด้วยวาจาก็ต้องเตรียมธูปเทียน ดอกไม้ หมากพลู จัดใส่พานบูชา แล้วกล่าวออกชื่อครูหมอโนราหรือตายายโนราที่นับถือ กล่าวขอความช่วยเหลือในสิ่งที่ต้องการและต้องมีคําสัญญาว่าเมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว และแก้บนด้วยอะไรซึ่งการบนกับตายายโนราหรือครูหมอโนราเรียกว่าเหมุรยปาก เพื่อเป็นเคล็ดว่าสัญญาที่เคยให้ไว้กับตายายโนราหรือครูหมอโนราขาดกันแล้ว

จุดเด่น/เอกลักษณ์

       อัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่นของมโนราห์คณะสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง

๑. การแสดงของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง มีกระบวนการรําที่อ่อนช้อย และยึดการแสดงแบบโบราณ การแต่งกายโนราแต่งแบบเครื่องต้นชุดใหญ่และเครื่องต้นชุดเล็ก
๒. การแสดงของคณะโนราสมพงษ์น้อยดาวรุ่ง เป็นการแสดงโนราแบบประยุกต์แบ่งการแสดงออกเป็น ๒ ช่วง คือช่วงที่ ๑ แสดงแบบโบราณ เป็นการแสดงชุดสั้น ๆ เช่น รําแม่บท บทครู สอนบทสอนรํา บทประถมให้ผู้แสดงออกมาแสดงพร้อมกัน และช่วงที่ ๒ เล่นดนตรีลูกทุ่งและเดินหางเครื่องหรือแดนเซอร์ประกอบเพลงลูกทุ่ง
๓. มีนักร้องประจําวงมีแฟนคลับ มีสปอนส์เซอร์อัดเพลง นักร้องประจําวงจําหน่ายเป็นซีดี

       องค์ประกอบการแสดง (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
      
องค์ประกอบการแสดงคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ประกอบด้วย

๑. โรงโนราและฉาก
     ลักษณะของโรงโนราหรือเวทีโนราเป็นแบบสําเร็จรูปนี้ทําด้วยโครงเหล็กมีขนาด ๒๐ เมตร เป็นเวที ๒ ชั้น ด้านหลังมีตัวอักษรเป็นชื่อมโนราห์สมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ด้านซ้ายป้ายไวนิลเป็นรูปนักแสดงโนราแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายลูกปัด สวมเทริด ด้านขวาป้ายไวนิลเป็นรูปนักร้องนําของวง ได้แก่โชคดี ศรีธรรมราช ด้านหน้าเวทีชั้นล่างเป็นแผ่นผ้าชื่อสปอนด์เซอร์สนับสนุนโรงโนราหรือเวทีโนราคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่งใช้วิธีการเช่าสําหรับการแสดงแต่ละครั้ง
๒. ลักษณะการแสดงและเรื่องที่แสดง
     ลักษณะการแสดงของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่งแสดง โนราแบบประยุกต์ มีลําดับขั้นตอน ๒ ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ ๑ เป็นการแสดงโนราแบบโบราณโดยเริ่มแสดง ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐-๒๒.๐๐ น. มีลําดับการแสดงดังนี้
(๑) ตั้งเครื่อง คือการประโคมดนตรีทําเพลงสั้น ๆ เพื่อ ประกาศให้ทราบว่าคณะโนราได้เดินทางมาถึงโรงโนราแล้ว
(๒) โหมโรง คือการประโคมดนตรีล้วน ๆ ก่อนเริ่มการแสดงเพื่อแสดงถึงความพร้อมของคณะโนราและเรียกความสนใจ จากผู้ชมให้มาชมการแสดง
(๓) กาศครู คือการร้องกลอนสรรเสริญครูโนราที่ล่วงลับไปแล้วและอัญเชิญครูให้มาสถิตในโรงโนราช่วยให้ประสบผลสําเร็จและคุ้มครองป้องกันอันตราย ขณะที่กาศครูจะให้นักแสดงและหัวจุกโนราหรือโนราที่ฝึกหัดใหม่ออกมาแต่งตัวกลางโรง
(๔) ปล่อยตัวนักแสดง เป็นการรําชุดสั้น ๆ ได้แก่รําแม่บท บทครูสอน บทสอน บทประถม บทสีโต บทผันหน้าโดยจัดให้นักแสดงออกมาพร้อม ๆ กันครั้งละหลาย ๆ คน แสดงครั้งละ ๒-๓ ชุดเท่านั้น ท่ารําของคณะโนราสมพงษ์น้อยดาวรุ่ง เป็นกระบวนการรําประสมท่าโดยโนราสมพงษ์ได้รับการสืบทอด จากครูโนรา ๓ ท่าน คือโนราแปลกท่าแค โนราเลื่อนเขาเจียก โนราคล้ายโคกชะงาน ทั้ง ๓ ท่านเป็นโนราที่โนราสมพงษ์ฝากตัวเป็นศิษย์ในการฝึกรํา และต่อมาก็ได้ออกแสดงกับคณะโนราแปลกท่าแค โนราสมพงษ์ได้ฝึกลีลาท่ารําแล้วนําท่ารําของครูมาผสมผสานจนกลายเป็นท่ารําประสมท่าของตน ประกอบด้วยการรําออกฉาก รําเทิงตุ้ง รําแม่ท่า รําขาดช้า รํารับระบํา รําเพลงครู รํานาดเร็ว รําเพลงทับ รำท่อโรง และเคล้ามือนั่งพนัก
(๕) โนราใหญ่ออก และโต้กลอนกับนายพราน
(๖) แสดงเรื่อง ๑-๒ ฉาก ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง โดยมากนิยมแสดงเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ นวนิยายมักสอดแทรกคติสอนใจ
ช่วงที่ ๒ เล่นดนตรีลูกทุ่งและเต้นหางเครื่องหรือแดนเซอร์ประกอบเพลงเป็นการต่อเนื่องจากช่วงที่ ๑ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๒ ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐-๒๔.๐๐ น. เป็นลักษณะการแสดงลูกทุ่งเกือบทั้งหมด บางโอกาสอาจแสดงมากกว่า ๒ ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพ นักร้องลูกทุ่งวงคณะโนราสมพงษ์น้อย ได้แก่ โชคดี ศรีธรรมราช โทน อดิศร และเพลินพิศ เพชรยินดี 

 


ภาพจาก : https://www.facebook.com/มโนราห์สมพงษ์น้อยดาวรุ่ง-460379351367840/photos/?ref=page_internal

         เครื่องแต่งกาย (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
        
เครื่องแต่งกายของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ประกอบด้วยเครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดง ๒ ช่วงดังนี้

๑) เครื่องแต่งกายที่ใช้ประกอบการแสดงในช่วงที่ ๑ การแสดงโนราแบบโบราณ ได้แก่
(๑) สนับเพลา กางเกงขายาวทรงกระบอกความยาวถึงข้อเท้า เชิงขากางเกงตกแต่งด้วยผ้าสีทําให้สวยงามเด่นชัดขึ้น
(๒) ผ้านุ่ง ผ้ายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นผ้าพื้นหรือลายไทย นั่งทับสนับเพลา วิธีการนุ่งเป็นลักษณะรั้งสูงและรัดรูปแน่นกว่าโจงกระเบน เป็นวิธีการนุ่งสําหรับโนราโดยเฉพาะปล่อยชายให้ห้อยลงม้วนเป็นหางหงส์รั้งไว้ด้านหลังบริเวณสะโพก ปัจจุบันเป็นผ้านุ่งเย็บสําเร็จรูปเพื่อสะดวกในการนุ่ง
(๓) ผ้าห้อยหน้า มีลักษณะเหมือนชายไหว ๓ ชิ้น ปักเป็นลวดลายด้วยเหลื่อมบนหน้าผ้าให้สวยงาม
(๔) ผ้าห้อย ใช้ผ้าสีด่าง ๆ โดยใช้ผ้าแพรโปร่งบางสี สด ๒ สี ห้องคั่นระหว่างผ้าห้อยหน้าด้านซ้ายและด้านขวา
(๕) หางหงส์ ทําด้วยเขาควายผ่าแบ่งครึ่งเหลาให้บางยึดประกอบติดกันบริเวณปลายเขาด้วยฟูกลมทําด้วยไหมสีแดงหางหงส์มีลักษณะโค้งงอนคล้ายปีกนก ขอบล่างร้อยด้วยลูกปัดสี ต่าง ๆ เป็นระย้า ผูกติดบริเวณสะเอวด้านหลังให้หางงอนเชิดขึ้น
(๖) ปั้นเหน่งหรือเข็มขัดเป็นแผ่นเงินรูปวงรี ดุนลายอย่างดี
(๗) รัดอกหรือพานโครง แผงลูกปัดที่ร้อยเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้พันรอบตัวระดับอก
(๘) คลุมไหล่ แผงลูกปัดที่ร้อยเป็นรูปสามเหลี่ยม สําหรับสวมทับบนบ่าซ้ายและบ่าขวาจํานวน ๒ ชิ้น
(๙) ปิ้งคอ แผงลูกปัดร้อยเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กสําหรับสวมปิดด้านหน้าและด้านหลังจํานวน ๒ ชิ้น
(๑๐) สังวาล สร้อย ๒ เส้น ร้อยด้วยลูกปัดสีต่าง ๆ คล้องเฉียงจากบ่าทั้ง ๒ ด้าน ผ่านลงมาบริเวณสะเอว ด้านข้างผูก ติดกับปีกนกนางแอ่น บริเวณหน้าอกไขว้ติดกัน ด้านหลังไขว้ติดกันระดับเดียวกับอก มีแผ่นเงินยึดตรึงไว้เรียกว่าจํายาม
(๑๑) ปีกนกนางแอ่น แผ่นเงินคล้ายปีกนกขนาดเล็ก ดุนลายเป็นเส้นสวยงาม แขวนผูกติดกับสังวาลทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งจะห้อยอยู่ระดับเอว
(๑๒) ทับทรวง แผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือแบบต่าง ๆ ดุนลายสวยงามผูกติดกับสร้อยคอที่สวมด้วยลูกปัด
(๑๓) กําไลต้นแขน ทําด้วยเงินดุนลายอย่างดี สวมรัดกล้ามเนื้อต้นแขนซ้ายจํานวน ๒ วง
(๑๔) กําไลปลายแขน ทําด้วยเงินกุนลายอย่างดี สวมบริเวณปลายแขนซ้าย-ขวา ข้างละ ๕-๑๐ วง
(๑๕) เทริด เครื่องประดับศีรษะ มีลักษณะคล้ายมงกุฎ ยอดเตี้ยโครงสานด้วยไม้ไผ่มีกรอบหน้า
(๑๖) เล็บ ทําด้วยเงินต่อปลายเล็บด้วยหวายมีลักษณะ โค้งสวยงาม ร้อยด้วยลูกปัดหลากสีสอดไว้ สวมมือข้างละ ๔ นิ้ว ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ

๒) เครื่องแต่งกายที่ใช้ประกอบการแสดงในช่วงที่ ๒ เล่นวงดนตรีลูกทุ่งและมีหางเครื่องหรือแดนซ์เซอร์ประกอบเพลงลูกทุ่ง เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัตติกูล เกตุชู ซึ่งเป็นน้องชายของเพลินพิศ รักขุนส่อง ทําหน้าที่เป็นครูผู้ฝึกสอนหางเครื่อง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการแสดงในแต่ละครั้ง รวมถึงการจัดหาชุดใหม่มาใช้ในการแสดงที่มุ่งสร้างความตระการตาและแปลกใหม่ยิ่งขึ้น การแต่งกายแต่งแบบสมัยใหม่ นุ่งสั้นฟิตเปรี้ยะ สวยงาม

         เครื่องดนตรี
       
เครื่องดนตรีของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ใช้สําหรับการแสดงช่วงที่ ๑ ใช้สําหรับการแสดงโนราแบบโบราณ และแสดงช่วงที่ ๒ ใช้สําหรับการเล่นดนตรีลูกทุ่ง ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีดังนี้

๑) เครื่องดนตรีสําหรับการแสดงช่วงที่ ๑ ใช้สําหรับการแสดงโนราแบบโบราณ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตีให้จังหวะ ดังนี้
(๑) กลอง มีลักษณะเหมือนกลองทัดขนาดเล็ก นิยมทําด้วยไม้ขนุนใช้หนังวัวหุ้มตัวกลองด้วยมุดไม้ตอกยึดไว้ให้ตึง มีขาตั้ง ๒ ขา มีไม้ตี ๑ คู่ เป็นเครื่องดนตรีที่เน้นจังหวะเสียงทับ
(๒) ทับ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้มือดี ทําหน้าที่ควบคุมจังหวะและเป็นตัวนําในการเปลี่ยนจังหวะทํานองให้สอดคล้องกับลีลาของผู้รํา ทับโนราเป็นทับคู่มีเสียงต่างกันใบหนึ่งมีเสียงทุ่มเรียกว่า “ลูกเทิง” ใบหนึ่งมีเสียงแหลมเรียกว่า “ลูกฉับ"
(๓) ฆ้องคู่ มีเสียงต่างกันคือเสียงแหลมและเสียงทุ่ม มีความสําคัญในการสร้างเสียงให้ไพเราะและให้จังหวะ
(๔) ฉิ่ง ทําจากทองเหลืองเป็นเครื่องดนตรีเน้นจังหวะและเสริมแต่งจังหวะ
(๕) ปี่ ในการแสดงโนรานิยมปี่ในเป็นเครื่องเป่าชิ้นเดียวของวง มีหน้าที่ในการดําเนินทํานองทําให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก เคลิบเคลิ้ม ปี่ทําด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้หลุมพอแก่นไม้มะม่วง แก่นไม้มะปราง
(๖) แตระพวง เป็นเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะ ทําจากไม้เนื้อแข็ง นํามาเจาะรูหัวท้าย ร้อยด้วยเชือกซ้อนกันที่แก่นกลางแคระ ร้อยด้วยโลหะหรือเหล็กแข็ง
๒) เครื่องดนตรีสําหรับแสดงช่วงที่ ๒ ใช้สําหรับการเล่นดนตรีลูกทุ่ง ประกอบด้วยกลองชุด กีตาร์ กีตาร์เบส คีย์บอร์ด กลองทอมบ้า แซกโซโฟน ทรัมเปต ทรอมโบน ฉิ่ง ฉาบ

        แสง สี เสียง (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
       
แสง สี เสียงของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นของตนเอง ประกอบด้วย

๑) ไฟสว่างเป็นสปอร์ตไลน์แขวนติดกับเสา อยู่ด้านข้างเวที
๒) ไฟราง ทําจากหลอดนีออนสีต่าง ๆ อยู่ด้านหน้าของ เวทีตลอดหน้าเวทีจะมีไฟรางติดไว้ หันหน้าเข้าหาเวทีประกอบด้วยสีขาว สี เหลือง สีแดง สีเขียว สีม่วง ใช้เวลาแสดงดนตรีลูกทุ่งและมีหาง เครื่องหรือแดนซ์เซอร์เต้นประกอบเพลง
๓) ไฟราว เป็นไฟประดับแขวนไว้ด้านข้าง มีกระบอกสีดําครอบไว้เพื่อให้แสงออกในทิศทางที่ต้องการ สีของหลอดจะมีสี แดง ม่วง เหลือง ฟ้า น้ำเงิน จะติดตั้งกับโครงเหล็กด้านข้างสูงจากพื้นประมาณ ๓-๔ เมตร
๔) เสียง การแสดงของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เป็นการแสดงในเวทีกลางแจ้งเป็นที่โล่ง ต้องใช้เสียงดังมาก ๆ จึงต้องใช้เครื่องเสียงชุดใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องเสียง 10,000 วัดต์ แอมพาว์เวอร์ มีชุดปรับเสียง ติดคอสโอเวอร์มีอีคิว มีคอมเพสเซอร์ มิกเซอร์ มีตู้ลําโพง ๒ ข้างแยกเป็นเสียงเบสและตู้เสียงกลางแหลม

       นักแสดง (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
   
นักแสดงโนราของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ใช้ผู้แสดงจํานวนมากมีสมาชิกประมาณ ๖๐-๗๐ คน แบ่งออกเป็นกลุ่มนักดนตรีพื้นบ้าน กลุ่มนักดนตรีสากล ผู้ควบคุมเสียงและขนย้ายสิ่งของประมาณ ๑๐-๒๐ คน ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด กลุ่มนักแสดง ประกอบด้วยผู้แสดงรําโนรา พราน นักร้องและหางเครื่อง ประมาณ ๓๐-๔๐ คน มีทั้งผู้หญิง ผู้ชายผสมกัน มีอายุตั้งแต่ ๑๕-๒๕ ปี ทุกคนสามารถรําโนราได้ มีความสามารถร้องเพลงและเต้นหางเครื่องประกอบดนตรีลูกทุ่งได้ 

      การบริหารจัดการคณะ (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
    การบริหารจัดการคณะโนรา มีหัวหน้าคณะและผู้จัดการคณะเป็นผู้บริหารจัดการคณะ การติดต่อรับงานการแสดง ควบคุมคณะ ติดต่อผู้แสดงและการ ตัดสินใจ การรับงานโดยมากจะติดต่อทางโทรศัพท์ ไม่มีการทําสัญญาว่าจ้างตกลงในเรื่องราคาการแสดง โดยมากจะไม่มีการวางมัดจําใช้ความไว้วางใจ อัตราค่าจ้างคณะโนราจะเป็นผู้กําหนดราคา ราคาต่ำสุด ตกคืนละ ๓๕,๐๐๐ บาท สูงสุดไม่เกิน ๗๐,๐๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้-ไกล 

       ค่าตอบแทน (ข้อมูลปี ๒๕๕๑)
       ค่าตอบแทนที่จัดสรรให้กับนักแสดง ดังนี้

๑) ผู้แสดงที่รำเป็นชุดสั้น ๆ และเต้นหางเครื่องหรือแดนซ์เซอร์ประกอบเพลง ได้ค่าตอบแทน ๓๐๐-๕๐๐ บาท/๑ คืน
๒)ผู้แสดงที่เป็นโนรารับเชิญ ได้ค่าตอบแทน ๑,๐๐๐ บาท/๑ คืน
๓) ผู้ที่แสดงที่จําเป็นชุดสั้น ๆ เต้นหางเครื่องและเป็นนักร้องลูกทุ่งด้วย ได้ค่าตอบแทน ๕๐๐-๖๐๐ บาท/๑ คืน
๔) ผู้ที่เป็นนักร้อง ได้ค่าตอบแทน ๗๐๐ บาท/๑ คืน
๕) นักดนตรีพื้นเมือง ได้ค่าตอบแทน ๔๐๐ บาท/๑ คืน
๖) นักดนตรีมือปี่ ได้ค่าตอบแทน ๕๐๐ บาท/๑ คืน
๗) นักดนตรีสากล ได้ค่าตอบแทน ๕๐๐-๗๐๐ บาท/๑ คืน

         ขนบธรรมเนียบนิยมในการแสดงโนรา
        
ขนบธรรมเนียมนิยมในการแสดงโนราของคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ที่ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมา ประกอบด้วย

๑. การตั้งเครื่อง
    เมื่อคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง เดินทางไปถึงโรงโนราที่กําหนดไว้แล้ว ก่อนทํากิจกรรมอื่นนักแสดงโนราทุกคนจะเข้าโรง โนรา ลูกคู่บรรเลงเพลง ๑ เพลง ยกเว้นคนเป่าปี่เป็นอันเสร็จพิธีตั้งเครื่อง
๒. โหมโรง
     ก่อนการแสดงคณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง จะบรรเลงดนตรีพื้นเมือง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมให้มาชมการแสดงและเป็นการเตือนว่าการแสดงโนราจะเริ่มทําการแสดงแล้ว
๓. กาศครู
    คณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง จะกาศครูเพื่อเป็นการระลึกถึงครูโนราที่ล่วงลับไปแล้ว และเชิญครูหมอโนราให้มาสถิตอยู่ที่โรงโนรา ช่วยให้ประสบผลสําเร็จและคุ้มครองป้องกันอันตราย โดยการร้องกลอนประกอบดนตรี ทํานองร่ายแตระ ทํานองหน้าแตระ ทํานองเพลงทับ เพลงโทน แล้วแต่เวลาจะเอื้ออํานวยให้
๔. ไหว้ครู
     ก่อนเริ่มการนักแสดงและหัวหน้าคณะจะไหว้ครูเพื่อระลึกถึงครูโนราและขอให้การแสดงประสบผลสําเร็จและเป็นที่ชื่นชอบของ ผู้ชม

         


ภาพจาก : https://www.facebook.com/มโนราห์สมพงษ์น้อยดาวรุ่ง-460379351367840/photos/?ref=page_internal


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
คณะโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง
ที่อยู่
จังหวัด
พัทลุง


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

บุปผาชาติ อุปถัมภ์นรากร. (2553). ศิลปะการแสดงโนรา : การอนุรักษ์ การพัฒนา และการสืบสาน. นนทบุรี : สัมปชัญญะ.
มโนราห์สมพงษ์น้อยดาวรุ่ง. (2564). สืบค้นวันที่ 12 ม.ค. 64, จาก https://www.facebook.com/มโนราห์สมพงษ์น้อยดาวรุ่ง-460379351367840/photos/?ref=page_internal


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024