ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดระนอง (ลายอินทนิล สินธุ์แร่นอง)
 
Back    21/12/2022, 11:29    2,645  

หมวดหมู่

เครื่องแต่งกาย


ประเภท

ผ้า


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

         

           จังหวัดระนอง โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง ได้ดำเนินโครงการประกวดลายผ้าประจำจังหวัดระนอง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ (โดยมีกิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าประจำจังหวัดระนองที่มีความร่วมสมัย ที่แสดงถึงอัตลักษณ์เมืองระนอง ทั้งนี้ลวดลายผ้าที่ชนะเลิศจากการประกวดจะนำไปต่อยอดโดยการผลิตเป็นผืนผ้า และตัดเย็บสำหรับสวมใส่ เพื่อเป็นการรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยลายประจำจังหวัดระนอง สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางในจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำหนังสือ "ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล" ผ่านระบบ Zoom Meeting ในวันศุกร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๕ โดยกำหนดให้จังหวัดทั้งที่มีลายผ้าประจำจังหวัดแล้ว และยังไม่มีลายผ้าประจำจังหวัด ได้ดำเนินการจัดทำลายผ้าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๕ เพื่อทางกระทรวงวัฒนธรรมจะได้รวบรวมส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยได้พิจารณาพัฒณาต่อยอดในระดับประเทศ
           ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง ได้จัดทำผลิตภัณฑ์ลายผ้าจังหวัดระนอง จำนวน ๔ ลาย ประกอบด้วย

(๑) ลายชิโนโปรตุกีส
(๒) ลายดอกอินทนิล
(๓) ลายชิโนโปรตุกีส ผสมอินทนิล
(๔) ลายดอกพลับพลึงธารผสมชิโนโปรตุกีส

            และผู้ออกแบบลายผ้าได้นำเสนอลายผ้าเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมอีกจำนวน ๓  ลาย ได้แก่

(๑) ลายพลับพลึงธาร
(๒) ลายชิโนโปรตุกีสผสมพลับพลึงธารและประแจจีน
(๓) ลายชิโนโปรตุกีสผสมอินทนิลร้อยเถาวัลย์

              รวมผลิตภัณฑ์ลายผ้าจังหวัดระนอง ทั้งสิ้น ๗ ลาย แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัดในการจัดทำลายผ้าประจำจังหวัดระนอง ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนดของกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนองจึงขอปรับเปลี่ยนโครงการประกวดลายผ้าประจำจังหวัดระนองเป็นการพิจารณาคัดเลือกลายผ้าประจำจังหวัดระนอง ตามลายผ้าจำนวน ๗ ลาย
            ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกลายผ้าจังหวัดระนองได้พิจารณาลายผ้า จำนวน ๗ ลาย โดยนายดำรงค์ศักดิ์ ฝอยทอง ผู้ออกแบบลายผ้าได้อธิบายถึง
แรงบันดาลใจและองค์ประกอบของลายผ้าแต่ละลายให้คณะกรรมการทราบ โดยกล่าวถึงแรงบันดาลใจและองค์ประกอบของลายผ้าแต่ละลาย ดังนี้

(๑) ลายชิโนโปรตุกีส ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดชายฝั่งอันดามัน และมีการเลือกรูปแบบลายปูนปั้นลายโบราณตึกหลังคาหลังเก่าของหลวงพจน์
(๒) ลายอินทนิล ได้รับแรงบันดาลใจจากต้นไม้ประจำจังหวัดระนอง และเลียนแบบเถาลายของตันไม้อินทนิล
(๓) ลายชิโนโปรตุกีส ผสมอินทนิล ได้รับแรงบันดาลใจจากต้นไม้ประจำจังหวัดระนอง และออกแบบตามเถาลายของตันไม้อินทนิล
(๔ ) ลายดอกพลับพลึงธาร ผสมชิโนโปรตุกีส ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง และออกแบบจากดอกไม้โกมาซุม
(๕) ลายดอกพลับพลึงธาร ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง
(๖) ลายชิโนโปรตุกีสผสมพลับพลึงธารและประแจจีน ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง และเลียนแบบจากตึกทรงชิโนโปรตุกีสเลียน        แบบลายประแจจีนโยราณแสดงถึงความเป็นมงคล
(๗) ลายชิโนโปรตุกีสผสมอินทนิลร้อยเถาวัลย์ ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง และเลียนแบบจากตึกทรงชิโนโปรตุกีสแล้วร้อยด้วยพืชพันธุ์ไม้ที่อุดมสมบูรณ์

               คณะกรรมการได้ลงมติพิจารณาคัดเลือกลายผ้าอินทนิล เป็นลายผ้าประจำจังหวัดระนอง โดยมีมติตั้งชื่อลายผ้าตามลักษณะและแรงยันดาลใจในการออกแบยลายผ้า เพื่อให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของจังหวัดระนอง และได้ลงมติตั้งชื่อลายผ้าว่า "อินทนิล สินธุ์แร่นอง"
 


ประกาศจังหวัดระนอง

            ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดระนอง ลายอินทนิล สินธุแร่นอง มีสัญลักษณ์และความหมายซึ่งประกอบด้วยอินทนิล ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด สื่อความหมายด้วยช่อใบ เสมือนลมหายใจของคนระนอง โอบล้อมด้วยความจงรักภักดี ผ่านตัวอักษร "ร" ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ส่วนลวดลายต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่บนผืนผ้าแสดงถึงความอุดผสมบูรณ์ของทรัพย์ในดินสินในน้ำ รวมความเป็นสิริมงคลต่อผู้สวมใส่รักระนอง ร่ำรวย รายรื่น มีความสุข จังหวัดระนองได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดระนอง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยมีการพิจารณาคัดเลือกลายผ้าประจำจังวัดระนอง ที่มีความร่วมสมัยที่แสดงถึงอัตลักษณ์เมืองระนองซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกลาย "อินทนิล สินธุ์แร่นอง" เป็นลายผ้า
ประจำจังหวัดระนอง


กรรมวิธี/ขั้นตอนการผลิต

          กรรมวิธีและขั้นตอนการพิมพ์ผ้าการพิมพ์ลวดลายจะใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากไม้หรือากทองแดง หรือโลหะชนิดอื่นก็ได้ โดยการใช้แม่พิมพ์จุ่มเทียนที่กำลังร้อนพอเหมาะพิมพ์ลวดลายลงบนผ้า จากนั้นจึงแต้มสีหรือนำไปย้อมต่อไป ลายพิมพ์ที่มีลักษณะพิเศษ คือลักษณะลวดลายซ้ำกัน ความงามของผ้าพิมพ์นี้ขึ้นอยู่กับแม่พิมพ์ที่มีลักษณะของลวดลายที่มีรายละเอียดและขบวนการผลิตที่ประณีต เช่น การพิมพ์ลาย ช่างพิมพ์จะพิมพ์เทียนลงบนผ้า เมื่อนำไปย้อมสภาพของสีและลวดลาย มีความสดใสเหมือนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งช่างจะพยายามทำให้คล้ายกับผ้าเขียนให้มากที่สุด จึงจัดว่าเป็นผ้าชั้ดีและสีก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการพิมพ์เช่นกัน จำนวนครั้งในการย้อมสีก็เป็นส่วนสำคัญในแข่งระดับชั้นของผ้าบาติก 

ความหมายองค์ประกอบของลายผ้า


ภาพจาก : https://drive.google.com/file/d/1-lytFPoePb8hPoFrjSeNUQRvj0Swvo8P/view

๑. แร่ดีบุก เป็นการขยายลายของเม็ดแร่ดีบุก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีในจังทวัดระนอง และสื่อถึงวิถีชีวิตของคนระนองในสมัยก่อ ที่มีอาชีพการทำเหมืองแร่ ที่ยังคงปรากฎร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และองค์หลวงพ่อดีบุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ พระอุโบสถ วัดบ้านหงาว
๒. ใบอินทนิล ๔.๕ และ ๖ แฉก  คือสัญลักษณ์ตันไม้ประจำจังหวัดระนอง ในยุคที่รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖  ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวระนองในยุคสร้างเมือง
๓. ประแจจีน  ลายมหามงคลอีกลวดลายหนึ่งของคนจีน เพราะเป็นที่รวมของมงคล ๘ ชนิด ของพุทธศาสนามหายาน และเป็นสัญลักษณ์สิริมงคลที่แสดงถึงความต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนระนอง ซึ่งมีลวามสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับคนจีนและคนพม่า ที่อาศัยอยู่รวมกันในแต่ละชุมชนที่หลากหลายชาติพันธุ์ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานสืบต่อเนื่องกันมา เป็นการเสริมบารมีให้แก่ผู้สวมใส่
๔. สีพื้นว่างระหว่างลายบนผืนผ้า  คือช่องว่าง รอยต่อของชีวิต ที่มีการหยุดพักสงบนิ่ง ล้ำลึกดุจหัวงน้ำมหาสมุทรใหญ่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิต
๕. ลายเถาวัลย์ ร้อยเรียงต่อเนื่องกับลายประแจจีน สื่อให้เห็นถึงความอุคมสมบูรณ์ของผืนป่า ซึ่งยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน จังหวัดระนองยังคงมีความชุ่มชื้นมีป่ากลางเมืองให้ผู้คนได้พักผ่อนหย่อนใจได้ตลอดทั้งวัน เป็นลักษณะช่อดอกไม้มวลพฤกยา "ดอกมังเคร" คือพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่พบอยู่ทั่วไปในจังหวัดระนอง ในพื้นที่ป่าและรอบเมืองที่สมบูรณ์ "ดอกมังเคร" ในภายาถิ่นเรียก "ตังเก" ต้องการสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนระนองซึ่งประกอยอาชีพประมงเป็นหลัก


       
       


กลุ่ม OTOP / ผู้ประกอบการ

         กลุ่มผู้ผลิตและกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดของลายผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดระนอง มีจำนวนผู้ผลิต/จำหน่าย ๑๒ กลุ่ม/รายกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาด ผู้ผลิตผู้ประกอบการด้านผ้า เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายด้านการตลาดแบบ Offline มีดังนี้

 - ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้า ร่วมจำหน่ายในงานอาบน้ำแร่แลระนอง ประจำปี ๒๕๖๕ โซนวัฒนธรรม กิจกรรมของดีศรีท้องถิ่นและตลาดย้อนยุค จำนวน ๓ ราย มีรายได้รวม ๖๓,๒๗๐ บาท
- จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP การติดตามดูงานและประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๕ ผู้ประกอบการผ้าร่วมจำหน่าย จำนวน ๓ ราย มีรายได้รวม ๓๙.๒๖๐ บาท

              ช่องทางการจำหน่ายด้านการตลาดแบบ Online ประกอบด้วย

- จัดทำ E-book ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้าและลายผ้า และประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระนอง และเว็บไซต์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระนอง
- ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้า ผ้าผืน และชุดแต่งกายจากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นในแฟลตฟอร์มตลาดออนไลน์ OTOP TO DAY

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดระนอง (ลายอินทนิล สินธุ์แร่นอง)
ที่อยู่
จังหวัด
ระนอง


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัด. (2565, 15 ธันวาคม). ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดระนอง : "อินทนิล สินธุ์แร่นอง". 
             https://drive.google.com/file/d/1-lytFPoePb8hPoFrjSeNUQRvj0Swvo8P/view


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024