การทอผ้าพื้นเมืองในจังหวัดปัตตานีมีมานานแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นเมืองท่ที่สำคัญสมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานวัฒนธรรมที่ปรากฏมีอยู่ในวรรณคดีเรื่อง "ดาหลา" ในพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุณฑลเมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อย่างตอนที่อิเหนาปลอมตัวเป็นดาหลาหลังไปเล่นหนังให้ท้าวดาหาดู อิเหนาได้นุ่งผ้าจวนตานีผืนในแต่ละคืนที่เล่นหนังไม่ซ้ำกัน
จึงยกตรามาเข้าที่สรง | ชำระองค์ด้วยชลใสศรี |
แล้วทรงสำอางกลิ่นทั้งอินทรีย์ | แล้วทรงผ้าตานีม่วงล่องจวนทอง |
และในเสภาขุนช้างขุนแผน
ผ้ายกตานีนุ่ง | พุ่งทอง |
สอดส่อง | ชับสี ดูสดใส |
กรองนอก | ดอกฉลุ ลงละไม |
เส้นไหม | ย้อมป้อง เป็นมันวับ |
ผ้าจวนตานีหรือผ้ายกตานีเป็นผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมแบบหนึ่งของปัตตานี เดิมนิยมใช้ในชนชั้นสูงทั้งนี้เพราะเป็นผ้าที่มีราคาแพง ต่อมาได้สูญหายไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปัตตานี ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ผ้าจวนตานีมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับผ้าทอของกลันตัน คล้ายผ้าปูมของชาวกัมพูชา ชาวชวา (บาหลี) แตกต่างกันตรงที่ลวดลายเท่านั้น เพราะผ้าจวนตานีเป็นแพรเพลาะชนิดหนึ่งทอด้วยไหม ลวดลายของผ้าจวนตานีปรากฏในเอกสารเรื่องราวผ้าเก่า ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเป็นลายคดกริช มีลวดลายเป็นริ้วคดกริชไปตามทางยาวของผืนผ้า เอกลักษณ์ของผ้าจวนตานีจะสังเกตได้ตรงเชิงผ้าด้านซ้ายขวา มีลักษณะเป็นลวดลายของผ้ามัดหมี่ ในปัจจุบันได้มีการทอผ้าพื้นเมืองสืบทอดจากผ้าเก่าที่มีอายุร่วม ๑๐๐ ปี ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์คือมีล่องหรือลวดลายตามชายผ้าหรือที่ริมผ้า สำหรับถิ่นกำเนิดของผ้าจวนตานียังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน จึงไม่สามารถบอกความเป็นมาได้แน่ชัด มีเพียงชื่อที่ปรากฏอยู่ตามเอกสารต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี เพราะการที่เมืองปัตตานีเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นตลาดกลางในการซื้อขายและส่งถ่ายสินค้าจากต่างแดน เมืองท่าปัตตานีในยุคนั้นจึงพลุกพล่านไปด้วยนักเดินเรือ อาจกล่าวได้ว่าเมืองท่าปัตตานีเป็นตลาดกลางของการซื้อขายสินค้าประเภทผ้าไหมแพรพรรณและผ้าจากต่างแดนชนิดต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งจําหน่ายวัตถุดิบสําหรับใช้ในการทอผ้า ได้แก่ ฝ่ายและไหมดิบ และเป็นแหล่งใหญ่ที่รวมช่างทอผ้าฝีมือดีไว้มากมายเช่นกัน จากการที่มีความรู้และมีพื้นฐานในฝีมือการทอผ้าที่อยู่ในระดับดีมาก่อน บวกกับเทคนิคการทอผ้าชั้นสูงที่ช่างทอผ้าเมืองปัตตานี ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อค้าผ้าหรือช่างทอผ้าชาวต่างชาติ โดยตรงที่ได้เข้ามาค้าขายติดต่อสัมพันธ์กับปัตตานีมาแต่ครั้งโบราณ เป็นปัจจัยที่ทําให้ช่างทอผ้ามีฝีมือสูงและผ้าที่ทอได้มีคุณภาพเยี่ยมเป็นที่เลื่องลือจนเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว แม้กระทั่งในราชสํานักของกรุงสยามทั้งในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ในชื่อของ “ผ้าจวนตานี” จากหลักฐานทางเอกสารโบราณที่ชาวต่างชาติหลายชาติได้บันทึกเอาไว้ ทําให้ทราบว่าเมืองปัตตานีแห่งนี้ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวจีน อินเดีย และอาหรับ ทั้งในด้านการค้าและวัฒนธรรมอารยธรรมมาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่ครั้งอาณาจักรลังกาสุกะมาจนกระทั่งถึงยุคสมัยของเมืองปัตตานีดารุสลัม ทั้งจีน อินเดีย และอาหรับ เป็นชาติที่มีช่างฝีมือในการทอผ้าชั้นสูงมีฝีมือเป็นเลิศอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ช่างเหล่านี้ได้ทําการทอผ้าชั้นสูงประเภทต่าง ๆ ทั้งผ้าไหมแพรพรรณ ผ้ายก ดิ้นเงินดิ้นทอง ส่งเป็นสินค้าออกไปทั่วภูมิภาคเอเชียและยุโรป มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากการที่ปัตตานีได้เคยติดต่อกับชาติเหล่านี้มาเป็นเวลาช้านานจึง มีความเป็นไปได้ที่จะที่จะกล่าวว่าชนชาติดังกล่าวอาจจะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคในการทอผ้าชั้นสูงบางประการ ให้แก่ช่างทอผ้าเมืองปัตตานีโดยตรง ตลอดถึงช่างทอผ้าเมืองปัตตานีอาจจะได้รับการถ่ายทอดเทคนิคการทอผ้าชั้นสูงจากอินเดียและอาหรับ โดยผ่านช่างทอผ้าชาวชวา สุมาตรา และช่างทอผ้าชาวมาลายูตามหัวเมืองต่าง ๆ บริเวณปลายแหลมมลายูอัน ได้แก่ ยะโฮร์ ปาหัง ตรังกานู และกลันตัน แล้วจึงเข้ามาสู่เมืองปัตตานีในที่สุด ทําให้ผ้าจวนตานีที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของช่างทอผ้าพื้นเมืองของเมืองปัตตานี มีลักษณะของการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ กับเทคนิคการทอผ้าของท้องถิ่นดั้งเดิม อาทิ การได้รับอิทธิพลจากผ้าปโตลาของอินเดีย ในด้านของรูปแบบลวดลายและสีสันทําให้ผ้าจวนตานีหรือลีมาจวน จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับผ้าไหมสีมาของอินเดีย โดยมีลักษณะของการทําเป็นลวดลายร่อง (แถบ) ทั้งแนวตั้งและแนวนอนเต็มตลอดทั้งผืน โดยที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความผูกพันกับการใช้ผ้าทั้งในชีวิตประจำวันและขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จากการเก็บข้อมูลภาคสนามของจุรัตน์ บัวแก้ว และคณะ (๒๕๔๓ : ๘๑-๑๙๐) พบว่าผ้าที่ใช้ในวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมมีหลายชนิด เช่น ผ้าพื้น ผ้าการะดูวอ ผ้าการะตีฆอ ผ้าการะป๊ะห์ ผ้ายกตานี (ชอแก๊ะ) ผ้าปลางิน (ปลางิง) ผ้ายาวา (ปาเต๊ะ) ผ้าบือแฆ ผ้าสะมารินดา และผ้าจวนตานีหรือลีมาจวน เป็นต้น
ผ้าจวนตานีนั้นภาษาถิ่นเรียกว่า "ลีมาจวน" หรือ "ลีมาจูวา" เป็นผ้ามัดหมี่โบราณประเภทผ้าปูมที่ทอในเมืองปัตตานีในอดีต โดยได้รับอิทธิพลจากผ้าปโตลาของอินเดีย ทั้งในด้านรูปแบบ ลวดลาย และสีสัน ผ่านทางชวา บาหลี และเขมร สันนิษฐานว่าอาจรับเทคนิดการทอผ้าไหมลีม มาจากอินเดีย ชวา บาหลี และเชมร ที่เข้ามาผสมผสานกับเทคนิคการทอผ้าของท้องถิ่นที่มีอยู่ดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้ผ้าไหมลีมาจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับผ้าไหมลีมาของอินเดีย อินโดนีเชีย และมาเลเซีย ซึ่งก็รับอิทธิพลมาจากผ้าปโตลาของอินเดียเช่นกัน ในอดีตผ้าไหมลีมานี้เคยมีการทอในเมืองปัตตานีแต่ได้สูญหายไปโดยไม่ทราบเหตุผล จากหลักฐานยังพบว่าผ้าไหมลีมาบางผืนมีลวดลายล่องทั้งแนวตั้งงและแนวนอนเต็มตลอดทั้งผืน ทำให้สันนิษฐานว่าผ้านี้คือผ้าจวนตานีหรือลีมาจวน ทั้งนี้เพราะชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัดตานีลงไปจนถึงรัฐต่าง ๆ ในประเทศมาเลเชียที่อยู่ด้านชายฝั่งตะวันออกจะเรียกว่าไหมลีมา ผ้าจวนตานีมีรากศัพท์จากภาษามลายูว่า "จูวา-ตานี" มีความหมายว่า "ร่อง" หรือ "ทาง" เป็นผ้าที่มีการซื้อขายกันตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชื่อเรียกมีหลายคำตามลักษณะผ้าหรือวิธีการผลิต เช่น ผ้าล่องจวน ผ้าลีมาร์ ช่างทอผ้าชาวปัตตานีรุ่นเก่า ๆ เรียกผ้าดังกล่าวว่า "จูวา" ซึ่ง จูวา หมายถึงลวดลายที่ปรากฏอยู่บริเวณชายผ้าทั้ง ๒ ด้าน หากลวดลายวางเป็นแนวอยู่ในช่องขนาน มีลักษณะเป็นร่องริ้วก็เรียกว่า "ล่องจูวา" ลายของจูวาส่วนอื่นเป็นลายที่ใช้กรรมวิธีมัดหมี่ รูปแบบของลายจูวามีหลากหลายลักษณะ ผ้าที่เป็นลายจูวาเต็มตลอดทั้งผืนเรียกกันว่า "ผ้าลีมาร์" จัดว่าเป็นผ้าชั้นสูงต้องใช้ความประณีตและมีราคาแพง สำหรับกรณีที่เอาลายจูวาไปทำเป็นลายผ้าที่ตำแหน่งสะโพก (ปาต๊ะ) ก็จะเรียกว่าผ้า "ปาต๊ะจูวา" หากเป็นโสร่งก็เรียกว่า "ผ้าโสร่งปาต๊ะจูวา"
สมบูรณ์ ธนะสุข และพิชัย แก้วขาว (๒๕๔๑) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องผ้าโบราณที่พบในเมืองปัตตานีพบว่า ผ้าโบราณของเมืองปัตตานีมีหลากหลายแบบ ทั้งกรรมวิธีการทอ เทคนิคพิเศษหรือวิธีการผลิตลวดลาย และวัสดุหรือเส้นใยที่นำมาใช้ทอ สรุปพอสังเขปดังนี้เรียกชื่อตามกรรมวิธีการทอ ได้แก่
๑. ผ้าการะดูวอ เป็นผ้าทอแบบสองตะกอ เป็นผ้าที่ใช้กันทั่วไปในพื้นบ้านภาคใต้ วิธีการทอใช้การสอดสานของเส้นด้ายที่เป็นเส้นยืนกับเส้นขวางสลับกัน คล้ายลายจักสานลายหนึ่งหรือลายขัด คือยกหนึ่งข่มหนึ่งตลอดผืน เป็นการทอที่ง่ายที่สุด ตัวอย่างเช่น ผ้าขาวที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ |
๒. ผ้าการะตีมอ เป็นผ้าแบบสามตะกอ เนื้อผ้าจะมีเส้นด้ายในแนวเฉียงเพิ่มอีก ๑ แนวเนื้อผ้าจะปรากฏคล้ายสานนูนบนเนื้อผ้า ขึ้นเป็นแนวเฉียง ผ้ามีความหนาและมีน้ำหนักมากขึ้น |
๓. ผ้าการะปะห์ เป็นผ้าทอแบบสี่ตะกอ เนื้อผ้าจะเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือลายแบบฟันปลาตลอดทั้งผืน สามารถสร้างเป็นลวดลายแปลก ๆ ได้หลายแบบ ลักษณะที่ปรากฏจะเป็นลายนูนในเนื้อผ้า ผืนผ้าจะมีความหนามากขึ้น |
๔. ผ้าซอแก๊ะ หรือผ้าของเก็ต เทียบได้กับผ้ายก หรือผ้าทอยก ผ้าชนิดนี้มีทั้งยกด้วยฝ้ายไหม ดิ้นเงินและดิ้นทอง ผ้าโบราณที่พบมีวิธีการทอทั้ง ๓ แบบ คือ วิธียกที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป และรวมทั้งวิธีจกและบิด ผ้าชอแก๊ะปัตตานีที่ทอยกด้วยวิธีจก ส่วนใหญ่จะใช้ดิ้นคู่ ส่วนการบิดนั้นใช้เป็นขอบคั่นแนวของล่องจูวา หรือล่องจวนเป็นส่วนใหญ่ ลายของผ้าขอแก๊ะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ลายลูกพริกไทย ลายลูกหวาย หรือลายเกล็ดพิมเสน เป็นต้น |
จวนตานีหนึ่งในภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้า ที่รังสรรค์ขึ้นมาด้วยความประณีต ลวดลาย สีสัน และเทคนิค ที่ปรากฏบนผืนผ้าแต่ละผืนนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพทางสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่และสอดแทรกคติความเชื่อของผู้คนในอดีตของปัตตานี โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาถือเป็นยุคทองทางด้านการค้าและพาณิชย์นาวี ปัตตานีรัฐท่าเรือที่มีความสำคัญทางด้านการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย โดยมีพ่อค้าจากนานาประเทศเข้ามาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างเนืองแน่น สินค้าที่สำคัญในการนำเข้าและส่งออก ได้แก่ ไม้จันทน์ พริกไทย หนังกวาง ชันเกลือ ข้าว ดีบุก อาหารแห้ง ไหมดิบ ผ้าไหม ผ้าอินเดียผ้าลินิน ผ้าซอแก๊ะ และผ้าจวนตานี สำหรับผ้าจวนตานีและผ้าซอแก๊ะนั้น ถือเป็นผ้าที่ได้รับความนิยมและใช้สอยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนักและผู้มีฐานะดี โดยที่ผ้าจวนตานีจัดเป็นผ้าทอที่มีคุณภาพ มีการออกแบบลวดลายและให้สีสันที่แปลกตา รูปลักษณ์ของผ้าเป็นแบบที่ใช้กันในหมู่ชวา-มลายู จึงเป็นเหตุให้ผ้าจวนตานีกลายเป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่จดจำได้ง่ายแก่ผู้ที่พบเห็น นอกจากนี้ยังอาจกล่าวได้ว่าจากฝีมือการทอผ้าที่มีคุณภาพของช่างทอผ้าของปัตตานีในอดีต ทําให้ผ้าของปัตตานีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในทั่วกรุงสยาม จากการออกแบบลวดลายและการให้สีสันทําให้ผ้าทอของปัตตานีไม่เหมือนผ้าจากแหล่งอื่น ๆ ของประเทศไทยในสมัยนั้น ผ้าจวนตานีเป็นผ้าที่ช่างทอผ้าท้องถิ่นทอขึ้นมาในลักษณะทั้งที่เป็นผ้าเป็นผ้าพื้นและผ้าตา เพื่อใช้ในการนุ่งห่มประจําวัน โดยสามารถใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้เมื่อมีพิธีการต่าง ๆ เช่น การนุ่งห่มเมื่อเขารวมขบวนแห่ เป็นต้น
ลักษณะการใช้สอยผ้าจวนตานี
เนื่องจากผ้าจวนตานีเป็นผ้าชั้นสูงมีราคาแพงมาก ผู้ที่เป็นเจ้าของจะหวงแหนและทะนุถนอม ผ้าจึงถูกนํามาใช้เฉพาะงานสําคัญเท่านั้น สุภาพสตรีชาวมุสลิมจะใช้ทําเป็นผ้าสไบพาดไหล่หรือคลุมศีรษะ ใช้เป็นผ้ากระโจมอก สําหรับสุภาพบุรุษจะใช้เป็นผ้านุ่ง ผ้านุ่งปิดทับกางเกงขายาว ใช้เป็นผ้าคลุมศพสําหรับชาวมุสลิมที่มีฐานะ ในกลุ่มชาวไทยพุทธจะนิยมใช้แต่งกายออกงาน ใช้เป็นผ้าพาดเฉวียงบ่าสําหรับสตรีสูงอายุ ใช้เป็นผ้าแต่งตัวให้กับนาค ใช้เป็นผ้าคลุมปากโลงศพ
ภาพการนุ่งห่มผ้าจวนตานีในขบวนแห่บายศรี รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ของชาวเมืองปัตตานี เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้น ณ เมืองปัตตานี (๙ พ.ค. ๒๔๗๒)
การสืบทอดจากภูมิปัญญาผ้าจวนตานี
ลักษณะการสืบทอดความรู้และภูมิปัญญาการทอผ้าจวนตานี ของช่างทอที่ยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดปัตตานี ที่มีความพยายามที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้าจวนตานีไว้ โดยการผลิตผ้าจวนตานีเลียนแบบผ้าจวนตานีแบบดั้งเดิมออกมาจําหน่ายให้เป็นผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี เช่น กลุ่มทอผ้าจวนตานีของนางสาวนัชฎาภรณ์ พรหมสุข ตําบลทรายขาว โดยการรวบรวมชาวบ้านที่มีความต้องการทําอาชีพเสริม มาถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตผ้าจวนตานี โดยการเลียนแบบจากผ้าจวนตานีโบราณที่ยังพอจะหาได้ โดยการลอกลายจากผ้าตัวอย่างลงในกระดาษกราฟ แล้วนําเส้นด้ายพุ่งมามัดเพื่อให้เกิดลวดลาย ตามเทคนิคการมัดหมีซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างลวดลายบนผ้าด้วยการย้อมสีของเส้นด้าย ในส่วนที่ถูกมัดไว้จะไม่ติดสีย้อมสุดท้าย จึงนําเส้นด้ายพุ่งที่ย้อมสีตามลวดลายแล้วมาทอเป็นผ้าต่อไป ผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานีของตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นการทอแบบสืบทอดจากผ้าเก่าที่มีอายุประมาณ ๑๐๐ กว่าปี การสร้างสรรค์ลวดลายในผ้าจวนตานีผ้าจวนตานี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ปรากฏอย่างเด่นชัด คือหัวผ้าสีแดงและล่องจวนที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในผ้าจวนตานีทุกผืน ในอดีตช่างทอปัตตานีมักเรียกผ้าจวนตานีกันว่าผ้า "จูวา" ซึ่งหมายถึงลวดลายล่องจวนหรือร่องริ้วที่กั้นระหว่างตัวผ้ากับหัวผ้า ด้วยรูปแบบ ลวดลาย และเทคนิควิธีการต่างๆ ล้วนเกิดการจากการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ โดยได้รับแรงบันดาลจากสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรม คติความเชื่อ มาสร้างสรรค์เป็นลวดลายอันบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่น
ผ้าจวนตานี ๑ ผืน ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ ๓ ส่วน คือหัวผ้า (เชิงผ้า) ล่องจวน และตัวผ้า ในการสร้างสรรค์ผืนผ้าจวนตานี โดยทั่วไปจะใช้เทคนิคมัดหมี่เป็นกรรมวิธีการสร้างลายโดยนำเชือกกล้วยตานี หรือในปัจจุบันใช้เชือกฟางฉีกเป็นเส้นเล็ก ๆ แล้วมัดเส้นไหม (หมี่) เป็นเปลาะๆ ตามลวดลายที่กำหนดแต่ทว่ายังพบเทคนิควิธีการอื่น ๆ อีก เช่น การจกเป็นลายดอกดวงผสมผสานกับการมัดหมี่โดยการจกก็คือการควัก ขุด คุ้ย โดยผู้ทอจะต้องใช้วิธีการล้วง ดึงเส้นพุ่งพิเศษขึ้น-ลงเพื่อให้เกิดเป็นลวดลาย ดังเช่น ผ้าจวนตานีลายดวงดาว (บินตัง) ผืนนี้เทคนิคการยกถือเป็นวิธีการเพิ่มมิติให้กับตัวผ้าโดยใช้วิธีเก็บตะกอลาย เพื่อจัดแบ่งหรือแยกให้เส้นยืนยกขึ้นหรือข่มลงตามจังหวะลาย วิธีการนี้ต้องอาศัยเชิงช่างชั้นสูงในการถักทอเพื่อให้ผืนผ้ามีความวิจิตรงดงาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่พบได้น้อยในผ้าจวนตานี สำหรับการถักทอผืนผ้าจวนตานีด้วยกรรมวิธีการยกนั้นจะเรียกกันว่า "ผ้ายกตานี" จะใช้ไหมทองในการทอไหมทองชนิดนี้เกิดจากการนำเส้นทองคำแท้หรือเส้นโลหะอย่างอื่น เช่น ทองแดง โดยนำมากะไหล่ทองมาดึงให้เส้นเล็กบางลง แล้วนำไปปั่นหรือพันกับเส้นด้ายโดยใช้ด้ายเป็นแกนเรียกว่า ไหมทองจัดเป็นวัตถุดิบอย่างดีและมีราคาสูง ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินเดีย จีน และมีผลิตขึ้นเองในอาณาจักรพียงเล็กน้อย มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทอยกจึงเป็นที่มาของผ้ายกทอง ซึ่งจัดเป็นผ้าที่มีการทอที่มีความซับซ้อนยุ่งยากเพื่อเพิ่มลวดลายในเนื้อผ้าให้งดงามพิเศษยิ่งขึ้น
ลวดลายของผ้าจวนตานี
ผ้าจวนตานีมีเอกลักษณ์เฉพาะที่การออกแบบลวดลายและสีสัน โดยมีการทอทั้งจากเส้นไหมและเส้นใยฝ้าย และยกด้วยเส้นเงินหรือเส้นทอง ผ้าจวนตานีจะมีแถบริ้วลวดลายวางเป็นแนวแทรกอยู่ระหว่างผืนผ้าและชายผ้าทั้งสองด้าน มีคำเรียกในภาษาพื้นถิ่นว่าจูวาหรือจวน ซึ่งแปลว่าร่องหรือทาง จึงมีชื่อที่เรียกผ้าชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่าผ้าล่องจวน สีของผืนผ้านิยมใช้สีที่ตัดกันโดยบริเวณท้องผ้าจะใช้สีหลักได้แก่ ม่วง เขียว ฟ้า น้ำตาลส่วนชายผ้าทั่วไปจะใช้เฉดสีแดง โดยผ้าและชายผ้าทั้งสองด้านทอเป็นผืนผ้าเดียวกัน นอกจากการใช้สีที่ตัดกันแล้วพบว่าแต่ละแถบของผ้าจวนตานี โดยทั่วไปจะมี ๕ สี ซึ่งคำว่า "ลีมาร์" ซึ่งเป็นอีกชื่อของผ้าจวนตานีเป็นคำภาษามาลายูหมายถึง "ห้า" (ผ้าจวนตานีอาจทอได้มากกว่าห้าสีแต่หาได้ยาก) จำนวนลวดลายบนผืนผ้าจะมีตั้งแต่ ๕-๗ ลาย เช่น ลายโคม ลายประจำยาม ลายก้านแย่ง ลายตาราง เป็นต้น ซึ่งการทอลวดลายมีทั้งวิธีการทอแบบมัดหมี่ และทอแบบยกสอดดิ้นเสริมในผืนผ้า จึงนับเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ทอยาก มีราคาสูง และใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น
จำนวนลวดลายบนผืนผ้าจะมีตั้งแต่ ๕-๗ ลาย
ลวดลายดาว (โคมทอง)
ลวดลายสานแบบตาข่าย
ลายแถบหรือล่องจวน
ลวดลายตารางหมากรุก
ลักษณะความโดดเด่นของผ้าจวนตานี
ลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของผ้าจวนตานี คือมีสีล่องหรือลวดลายตามชายผ้าหรือที่ริมผ้า ช่างทอผ้าชาวเมืองปัตตานีรุ่นเก่า ๆ เรียกล่องดังกล่าวว่า "จูวา" จูวาหมายถึงลวดลายที่ปรากฏอยู่บริเวณชายผ้าทั้ง ๒ ด้าน หากลวดลายวางเป็นแนวอยู่ในช่องขนาน มีลักษณะเป็นร่องนิ้วเรียกว่า "ล่องจูวา" ลายขวาส่วนอื่นเป็นลายที่ใช้กรรมวิธีมัดหมี่ รูปแบบของลายขวามีหลากหลายลักษณะผ้าที่เป็นลายขวาเต็มผืนเรียกว่า "ผ้าลีมา" เป็นผ้าชั้นสูงต้องใช้ความประณีต มีราคาแพงสําหรับกรณีที่เอาลายจูวาไปทําเป็นลายผ้าที่ตําแหน่งสะโพก (ปาต๊ะ) เรียกว่า "ปาต๊ะจูวา" หากเป็นโสร่งเรียกว่า "ผ้าโสร่งปาต๊ะจูวา" ลักษณะเด่นดังต่อไปนี้
๑.๑ เป็นผ้ายาวหรือผ้าปล่อย คล้ายผ้าขาวม้า ขนาดกว้างประมาณ ๘๐-๘๕ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๒๑๐-๒๒๐ เซนติเมตร องค์ประกอบของผ้าไหมลีมา ได้แก่เชิงผ้า ล่องจวน และตัวผ้า |
๑.๒ วัสดุที่ใช้ในการทอหลักคือเส้นใยไหม แต่ก็มีการใช้เส้นใยฝ้ายแกมไหมในการทอบ้างแต่ไม่มากนัก การใช้เส้นใยผ้ายแกมไหมนี้น่าจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศยุโรป และได้มีการนำเส้นใยเหล่านี้เข้ามาขายในประเทศไทย เส้นใยฝ้ายแกมไหมนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไหมประดิษฐ์และได้รับความนิยมจากช่างทอผ้าเพราะราคาถูกกว่าเส้นใยไหม |
๑.๓ สีของผ้าจวนตานี จากการสำรวจศึกษาวิจัยภาคสนามพบว่า ผ้าจวนตานีส่วนใหญ่มีสีของตัวผ้าเป็นสีเขียว ม่วง น้ำตาลแกมแดง และแดงอิฐ จุดเด่นของผืนผ้าอยู่ที่เชิงผ้าหรือหัวผ้ามักมีสีแดง แต่พบไม่กี่ผืนที่มีเชิงเป็นสีน้ำตาลแกมแดง สีของผ้าจวนตานีเหมือนกับสี่ของผ้าปโตลา นอกจากนี้ตัวผ้ายังมี ๕ สีเหมือนผ้าปโตลา |
๑.๔ เทคนิคการผลิตผ้าจวนตานี คือใช้เทดนิคการทอมัดหมี่หรืออีก๊ะหรืออีกัต ผ้าชนิดนี้มีการผูกมัดเส้นด้ายแล้วนำไปย้อมสี เพื่อทำให้เกิดลวดลาย ตำแหน่งที่ผูกมัดจะไม่คิดสีเกิดเป็นลวดลายสีขาว การทำให้เกิดลวดลายหลากสีขึ้นอยู่กับเทคนิคและจำนวนครั้งในการมัดย้อมเส้นด้าย คำว่า "อีก๊ะ" หมายถึงการมัดเส้นฝ้ายหรือเส้นไหม ในสมัยโบราณเชือกที่ใช้ในการมัดย้อมทำจากกาบกล้วยตานี เนื่องจากมีความเหนียวทนทานกว่ากล้วยพันธุ์อื่น ๆ และพบว่าผ้าอีก๊ะโบราณส่วนใหญ่ใช้เส้นใยไหมเป็นวัสดุในการทอแบบสองตะกอ ส่วนการทอแบบสี่ตะกอมีน้อยมาก เทคนิคการมัดย้อมผ้าไหมลีมา แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ ๑.๔.๑ มัดหมี่ทางเดียวคือการมัดลายที่เส้นพุ่งแล้ว นำไปย้อมสีตามความต้องการก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้า ๑.๔..๒ มัดหมี่สองทาง คือการมัดลายทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ด้วยลายเดียวกันและย้อมสี่เดียวกัน ดังนั้นการที่ผ้าชนิดนี้มีเชิงสีแดงหรือแดงเข้มตัดกับสีของตัวผ้า เนื่องจากช่างทอผ้าจวนตานีใช้เทคนิดพิเศษเพิ่มเข้าไป โดยการมัดย้อมเส้นยืนในตำแหน่งของเชิงผ้าแล้ว จึงทอเส้นพุ่งที่มัดย้อมลายเดียวกับเชิงผ้าให้ตรงกับพื้นที่สีแดงบนเส้นยืน ทำให้เชิงผ้าจวนตานีมีพื้นสีแดงเข้มสวยงาม สะดุดตา เรียกว่ามัดหมี่สองทาง |
๑.๕ ลวดลายของผ้าจวนตานี มีลักษณะเด่นอยู่ที่รูปแบบของลาย คือใช้ล่องจวนทำเป็นลายในตัวผ้า โดยการจัดวางลายของล่องจวนเป็นแถวคล้ายกับแถวของบรรทัด พบทั้งแบบที่วางขวางและวางตามความยาวของผืนผ้า แต่แบบที่วางตามความยาวของผืนผ้านั้นพบน้อยมาก ลายที่พบมากที่สุดได้แก่ลายขอ ตังแพละ (กูย) หมี่ข้อคั่น หมี่คั่น และฝูงกา ส่วนเชิงผ้ามักทอลายคดกริช ประจำยามก้านแย่ง หน่อไม้ และผสมผสาน |
๑.๖ การใช้สอยผ้า ผ้าจวนตานีเป็นผ้าของชนชั้นปกครองและผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากเป็นผ้าที่ทอจากเส้นใยไหมที่มีคุณภาพดี ราคาผ้าจวนตานีจึงแพง จึงมักใช้ในงานพิธีการที่สำคัญ ๆ เท่านั้น กษัตริย์นิยมมอบผ้าจวนตานีเป็นเครื่องบรรณาการ เป็นของพระราชทานแก่ขุนนางและข้าราชการ ให้เป็นของกำนัล เป็นของขวัญในการแต่งงาน ในการแต่งกายของหญิงใช้เป็นผ้านุ่ง สไบพาดไหล่ คลุมไหล่ คลุมศีรษะ และกระโจมอก สำหรับชายใช้เป็นผ้านุ่งแบบปู่ฌอปอตอง หรือเป็นผ้าสลีแน นุ่งปิดทับกางเกงขายาว |
๑. ผ้าการะดูวอหรือผ้าสองตะกอ ((การะ = ตะกอ, ดูวอ = สอง)) เป็นผ้าผืนยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือผ้าปล่อย ซึ่งผ้าแต่ละผืนจะมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ เชิงผ้า ลองจวน และตัวผ้า
ผ้าการะดูวอหรือผ้าสองตะกอ
๒. ผ้าการะตีฆอหรือผ้าสามตะกอ เป็นผ้าผืนยาวหรือผ้าปล่อย รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยเชิงผ้า ตัวผ้า ลองจวนคั่นระหว่างเชิงผ้ากับตัวผ้า เทคนิคการทอเป็นแบบสามตะกอ กล่าวคือใช้ตะกอสามชุด เหยียบสลับกันทําให้เส้นยืนสับหว่างกันแล้วสอดเส้นพุ่งผ่านเส้นยืน ผ้าที่ทอด้วยวิธีการแบบนี้จะมองเห็นลายนูนบนเนื้อผ้าขึ้นเป็นแนวเฉียงคล้ายผ้ายีนส์ ผ้ามีความหนาและมีน้ําหนัก มองเห็นลายชัดเพียงด้านเดียว
ผ้าการะตีฆอหรือผ้าสามตะกอ
๓. ผ้าการะปะห์หรือผ้าสี่ตะกอ มีลักษณะเด่นคือเป็นผ้าผืนยาวหรือผ้าปล่อยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยเชิงผ้า ตัวผ้า ลองจวนคั่นระหว่างเชิงผ้ากับตัวผ้า เหมือนกับผ้าการะดูวอและการะตีฆอ แต่ต่างกันที่เทคนิคการทอคือจะมองเห็นลายนูนบนเนื้อผ้า เช่น เป็นลายพันปลาสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ตลอดผืนผ้า สีของผ้าจะสดใส เช่น แดง ชมพู ฟ้า เหลือง เขียว ม่วง เป็นต้น เนื้อผ้าจะหนานิ่มและมีน้ําหนัก ลวดลายมัดหมี่จะชัดเจนกวาผ้าสองตะกอ
ผ้าการะปะห์หรือผ้าสี่ตะกอ
๔. ผ้าซอแกะ ใช้เรียกผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ที่ทอยกดอกด้วยดิ้นเงินและดิ้นทอง มีลักษณะเด่น คือเป็นผ้าผืนยาวหรือผ้าปล่อย เน้นการตกแต่งลาย ด้วยวัสดุชนิดต่าง ๆ
ผ้าซอแกะประเภทยกดอกไหมล้วน
๕. ผ้าแปลก๊ะ เป็นผ้าลายตาหมากรุกหรือลายตาราง สีที่ใช้มีความหลากหลาย ทอขึ้นครั้งแรกที่เมืองปุลิกัตในประเทศอินเดีย ชาวไทยพุทธในภาคใต้เรียกผ้าชนิดนี้ว่าผ้าตาหรือผ้าตาคอกหมู ผ้าแปลก๊ะทุกผืนมักมีสีชมพูและสีแดงเป็นหลัก
ผ้าแปลก๊ะ (มลายูสําเนียงกลางจะเรียกว่าปะไลกั๊ต)
๑. ลักษณะเด่นของผืนผ้าจะอยู่ที่เชิงของผ้า (มลายูจะเรียกว่าหัวผ้า) ซึ่งมีสีแดง เท่าที่พบผ้าจวนตานีจะมีเชิงสีแดงทุกผืน แต่อาจมีบางผืนเป็นสีน้ําตาลแกมแดง ลวดลายที่เชิงผ้าจะมีความสวยงามและเด่นสะดุดตามากกว่าในผืนผ้า ลักษณะลายเชิงผ้าเป็นลวดลายในศิลปะชวา-มลายู หรือคล้ายลายเชิงผ้าของอินเดีย การที่ผ้าชนิดนี้มีเชิงเป็นสีแดงที่ให้สีออกมาค่อนข้างแดง เพราะช่างทอผ้าจะใช้เทคนิคพิเศษ โดยการมัดย้อมเส้นยืนในตําแหน่งของพื้นที่จะใช้เป็นเชิงผ้าให้แล้ว จึงทอเส้นพุ่งที่เป็นลายเชิงผ้าที่มัดย้อมให้พื้นมีสีแดงเช่นเดียวกัน
๒. ลักษณะลวดลายของหมี่จูวาจะอยู่ในรูปทรงของสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเป็นส่วนใหญ่ ที่มีเรียกชื่อส่วนต่าง ๆ ของลวดลาย ดังนี้
- ส่วนลวดลายแรกของงานมัดหมี่บน-ล่าง เรียกว่าเปลือก
- ส่วนลวดลายที่สองของงานมัดหมี่บน-ล่าง เรียกว่าพะนอ
- ส่วนลวดลายตรงกลางของงานมัดหมี่บน-ล่าง เรียกว่าใจ
๓. การใช้สีของผ้าจวนตานี มีสีที่หลากหลายในลักษณะของสีที่ตัดกัน เป็นการใช้สีเขียวของตัวผ้าตัดกับเชิงผ้าสีแดง
แสดงลักษณะการใช้สีติดกัน (เขียว-แดง) ของผ้าจวนตานี
การใช้สีตัดกันระหว่างท้องผ้ากับเชิงผ้า
วัถตถุดิบและส่วนประกอบของการทอผ้าจวนตานี ประกอบด้วย
๑. สีย้อมผ้า
สีที่ใช้ในการย้อมเส้นใยฝ้ายแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สีธรรมชาติและสีวิทยาศาสตร์
- สีธรรมชาติได้จากต้นไม้ เปลือก แก่น ราก และผล เช่น สีแดงได้จากรากยอ สีครามได้จากต้นคราม สีตองอ่อน (กระดังงา) ได้จากรากแถลง (มะพูด) สีดำได้จากผลมะเกลือ สีเหลืองได้จากหัวขมิ้นชัน สีส้ม (แดงเลือดนก) ได้จากเมล็ดของผลสะตี สีม่วงอ่อนได้จากลูกหว้า สีเขียวได้จากใบหูกวาง เปลือกสมอหรือนำสีจากต้นครามมาย้อมทับด้วยสีจากรากแถลง อย่างไรก็ตามสีธรรมชาติมีขั้นตอนในการย้อมที่ยุ่งยากชับช้อนและใช้เวลานาน ต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมาก สีไม่สดใสและไม่คงทน เมื่
- สีวิทยาศาสตร์ สีวิทยาศาสตร์ที่ใช้สำหรับย้อมเส้นใยเซลลูโลส และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ประกอบด้วยสีไดเร็กซ์ (Direct Dyes) สี่รีแอคทีฟ (Reactive Dyes) สีดิสเพิร์ส (Disperse Dyes) และสี่อะโซอิก (Azoic Dyes)
๒. เครื่องมือในการทอผ้าจวนตานี
เครื่องมือในการทอผ้า แบ่งตามลักษณะงานเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับเตรียมด้ายก่อนทอและเครื่องมือในการทอ
- อุปกรณ์ในการเตรียมด้ายก่อนทอ ประกอบด้วย
๑. ไนหรือไนตรอ เป็นเครื่องมือสำหรับกรอเส้นด้ายเข้าหลอด ลักษณะเป็นวงล้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๐ เชนติเมตร ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย ฐานทำด้วยไม้ชนาดกว้าง ๒๐ เชนติเมตร ยาว ๕๐ เซนติเมตร สำหรับตั้งวงล้อและแกนหลอด มีเส้นเชือกเชื่อมโยง เมื่อหมุนวงล้อแกนหลอดจะหมุนตามไปด้วย ปัจจุบันมีการพัฒนาไปใช้โครงหล็ก
๒. ระวิง เป็นเครื่องมือสำหรับเข็นด้าย มีลักษณะเหมือนกังหันลมสองดอก ทำด้วยไม้ไผ่เหลาแบน ๆ ระหว่างกังหันมีแกนและเส้นด้ายเชื่อมโยง ฐานของระวิงทำด้วยไม้กว้าง ๑๓ เซนติเมตร ยาว ๔๕ เซนติเมตร
๓. หลอดค้น เป็นหลอดที่ใช้สำหรับพันด้ายเส้นยืน ทำด้วยไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ตัดเป็นท่อนยาว ๖ นิ้ว เมื่อต้องการกรอด้ายใช้สวมกับแกนของไน แล้วนำไปใส่รางค้นเพื่อทำด้ายเส้นยืน
๔. หลอดพุ่ง คือหลอดที่ใช้พันด้ายเส้นพุ่ง ยาวประมาณ ๗ เชนติเมตร ใช้ใส่ในกระสวยก่อนนำไปทอ
๕. รางค้น เป็นรางสำหรับใส่หลอดค้น เมื่อต้องการค้นด้ายยืน เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๐.๕ เมตร ยาว ๓ เมตร ด้านยาวทั้งสองด้านเจาะรูให้ตรงกันสำหรับสอดแกนที่ทำด้วยไม้ ห่างกันรูละ ๖ เชนติเมตร แกนของรางค้น ๑ ราง บรรจุหลอดค้นได้ ๓๐ หลอด
๖. หลักค้น เป็นหลักที่ใช้คล้องเส้นด้ายที่ได้จากการค้น เพื่อจัดเส้นด้ายให้เป็นระเบียบ
๓. เครื่องมือในการทอ
๓.๑ โครงกี่หรือโครงหูก ประกอบด้วยเสา ๔ ต้น มีราวหูกทั้งสี่ด้านทั้งล่างและบนโครง ที่มีขนาดกว้าง ๑๓๐-๑๔๓ เซนติเมตร ยาว ๒๕๐-๓๐๐ เชนติเมตร
๓.๒ ฟืม เป็นเครื่องตบหรือกระแทกเส้นด้าย ซึ่งสานหรือขัดกันให้แน่นใช้สอดใส่ด้ายยืน เพื่อจัดเส้นด้ายให้ห่างกัน มีลักษณะคล้ายหวี ทำด้วยไม้คลุ้มหรือเหล็ก มีความกว้างเท่ากับหน้าผ้า
๓.๓ เขาหรือตะกอเป็นเชือกที่ร้อยคล้องด้ายยืน เพื่อแบ่งเส้นด้ายเป็นหมวดหมู่ เมื่อยกเขาหรือตะกอขึ้นจะดึงเส้นด้ายยืนเปิดเป็นช่อง สามารถพุ่งกระสวยเข้าไป ทำให้เส้นด้ายขัดกัน
๓.๔ ไม้ตะกอ เป็นไม้ที่ใช้ผูกเชือกตะกอ ทำด้วยไม้เหลาชะโอน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เซนติเมตร ยาว ๑๓๐ เซนติเมตร
๓.๕ ตีนฟีม เป็นไม้ ๒ ชิ้น ผูกเชือกห้อยกับเขาเพื่อใช้เหยียบ ดึงเขาให้รั้งด้ายยืนขึ้นลงสลับกัน เพื่อพุ่งกระสวยเข้าไปในช่อง ทำให้ด้ายขัดกัน
๓.๖ ลูกพันหรือไม้ม้วนหูก เป็นไม้กระดานที่ใช้ม้วนปลายด้านหนึ่งของเส้นด้ายยืน และจัดเรียงเส้นด้ายยื่นให้เป็นระเบียบ ช่วยให้เส้นด้ายในหูกขึงตึง โดยปลายด้านหนึ่งผูกติดหรือพันกับไม้ม้วนผ้า
๓.๗ ไม้ขนัด ทำด้วยไม้แผ่นบาง ๆ หัวท้ายมน สำหรับพุ่งหรือสอดระหว่างเส้นด้าย ทำให้เกิดลวดลายผ้า
๓.๘ กระสวย เป็นไม้สำหรับใส่หลอดด้าย เพื่อพุ่งสอดไปมาระหว่างช่องของเส้นด้ายยืนทำให้เส้นด้ายขัดกันเกิดเป็นเนื้อผ้าขึ้น
๓.๙ ผัง เป็นไม้ที่ใช้ขึงตามความกว้างของริมผ้าที่ทอ เพื่อดึงริมผ้าทั้งสองข้างให้เท่ากัน ให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืม
กี่กระตุกที่ชาวบ้านใช้ในการทอ ในสมัยโบราณใช้กี่กระทบหรือหูก
กระสวยแบบโบราณ
กระสวยที่ใช้กับกี่กระตุก
ผ้าจวนตานี เป็นผ้าที่มีความงดงาม และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่เรียกว่าล่องจวน ปรากฏอยู่ในผืนผ้าทุกผืน ปัจจุบันกำลังได้รับการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่นได้รวมกันทอขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป มีกรรมวิิธีและขั้นตอนการทออยู่ ๓ แบบ คือ
๑. การทอแบบธรรมดา ซึ่งเป็นการทอที่ไม่มีเทคนิคพิเศษ ความสวยงามของผ้าจะอยู่ที่การวางเรียงเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมสีต่าง ๆ ตั้งแต่ ๒ สีขึ้นไป การทอแบบธรรมดานั้นมี ๒ แบบ คือ ทอแบบ ๒ ตะกรอ ซึ่งจะมีการทอแบบลายขัด และการทอแบบ ๔ ตะกรอ จะเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมในผ้า |
๒. การทอแบบมัดหมี่ เป็นการทอที่ต้องมัดด้วยเชือกไนลอน หรือเชือกกล้วยให้เป็นลวดลายต่าง ๆ แล้วนำไปย้อมสีตามต้องการ นำมาทอเป็นผืน ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำในการจัดวางเส้นด้านเข้าฟืม และการพุ่งเส้นด้าย |
๓. การทอแบบยกดอก การทอต้องใช้เทคนิคการคัดเก็บลายด้วยไม้เรียวปลายแหลม ตามลวดลายที่กำหนดจนครบลายคัด ยกเส้นเป็นจังหวะลวดลายเฉพาะแล้วสอดพุ่งไปในแนวนอน ทอกระทบตามลายที่คัดไว้จนเต็มลาย การทอผ้ายกความยาว ๓ หลา ต้องใช้เวลาถึง ๓ เดือน ผ้ายกจึงเป็นผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น |
ขั้นตอนการผลิต
ขั้นตอนการทอผ้าจวนตานี มีขั้นตอนดังนี้
- การฟอกกาวไหม คือการนําเอาสารที่เคลือบเส้นไหมออก เพื่อให้เส้นไหมมีคุณสมบัติของเส้นด้ายที่เหมาะจะเอาไปทอเป็นผ้าได้
- การย้อมสี เป็นการทําให้เส้นด้ายเกิดลวดลายตามต้องการด้วยการย้อมสี การย้อมสีในการทําผ้าจวนตานี จะเป็นการย้อมสีโดยใช้เทคนิคของการมัดหมี่ ที่ในสมัยโบราณช่างทอผ้าพื้นเมืองจะใช้เชือกกล้วยตานี เป็นวัสดุที่ใช้ในการมัดส่วนปัจจุบันจะใช้เชือกฟางแทน การร้อยด้ายและเอ็นเข้าฟันฟีม
- การเก็บตะกอบนคือการใช้เส้นด้ายสอดเข้าช่องของตะกอตามที่กําหนดไว้
- การเก็บตะกอล่าง คือการใช้ไม้ชะนัดสอดเข้าไปที่หน้าฟีมแล้วยึดไว้กับกี่เพื่อป้องกันด้ายตก
- การกรอเส้นด้ายยืนเข้าที่เป็นการกรอเส้นด้ายยืนเข้าที่ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าระวิง
- การค้นด้ายยืน คือการเตรียมเส้นด้ายยืนให้ได้ตามความยาวที่ต้องการ
- การร้อยเส้นด้ายยืนเขาตะกอ
- การนําเส้นด้ายยืนเข้ากี่
- การค้นหมี่ เป็นการเตรียมเส้นด้ายพุ่งให้ได้ตามความยาวตามลายที่ต้องการ การยอมเส้นดายพุงต้องทําการยอมจนครบสีตามต้องการ
- การแกะมัดหมี่ เป็นการแกะเอาเชือกหรือฟางที่มัดเพื่อการเก็บสีไว้ออก
- การระวิงมัดหมี่ตัวผ้า ขั้นตอนนี้เป็นการเตรียมเส้นด้ายพุ่ง
- การทอผ้าคือการนําเอาเส้นด้ายพุ่งที่ผ่านการสร้างลายด้วยเทคนิคมัดหมี่แล้วมาทอให้เป็นผืนผ้า
การใช้เส้นด้ายสอดเข้าช่องของตะกอตามที่กําหนดไว้
การผลิตผ้าจวนตานีในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๓ ได้มีการริเริ่มในการทอผ้าไหมลีมาขึ้นมาอีกครั้ง โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถอดแบบลวดลายอย่างดั้งเดิม และนำไปทดลองสอนทอผ้าไหมลีมาร์แก่วิทยากรต้นแบบ ที่ศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า ผ้าไหมลีมาสวยงามมากสมควรที่จะค้นคว้าทดลองต่อไป ในช่วงเวลาขณะนั้นได้มีการทดลองสอนวิทยากรต้นแบบ สามารถช่วยขยายผลการทอผ้าไหมลีมาออกไปยังหมู่บ้านทรายยาวตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ด้วยน้ำพระทัยจากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริคิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในครั้งนั้นทำให้ผ้าจวนตานีฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มสตรีทอผ้าจวนตานี สร้างการรับรู้เผยแพร่คุณค่าผ้าจวนตานี ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งผลิต ดังนี้
๑. กลุ่มทอผ้าตำบลทรายขาว หมู่ที่ ๓ ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ก่อเกิดจากการรวมกลุ่มกันของสมาชิกแต่ละหมู่บ้าน ประมาณ ๑๕ คน มีนางสาวนัชฏาภรณ์ พรหมสุข เป็นประธานกลุ่ม โดยต้องการฟื้นฟูการทอผ้าไหมโบราณที่มีชื่อเสียงของตำบลทรายขาว เนื่องจากผ้าจวนตานีเคยสูญหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยแรกเริ่มได้รับการฝึกทอผ้าจวนตานีจากศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างให้ จากนั้นจึงเริ่มหาวิทยากรมาฝึกอบรมสมาชิกเพิ่มเติม ตั้งแต่การทอผ้าขั้นพื้นฐาน ใช้ระยะเวลาประมาณ ๑ ปี ก็เกิดความชำนาญจึงเริ่มเรียนทอผ้าขั้นสูงขึ้น คือการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี ซึ่งก่อนจะทอผ้าไหมสมาธิกในกลุ่มจะหาผ้าโบราณในตำบลทรายยาว มาแกะลายลงกระดาษกราฟ เพื่อเรียนรู้ลวดลายการทอผ้า หลังจากนั้นก็ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง และได้รับการขึ้นทะเบียน0 TOP ผ้าจวนตานี ที่ทอด้วยเส้นไหมด้วยวิธีการมัดหมี่ใช้ลวดลายดั้งเดิม ทอในรูปแบบของผ้าผืนและผ้าคลุมไหล่ ส่วนสถานที่ตั้งกลุ่มในตำบลทรายยาว ได้รับมอบที่ดินจากเจ้าอาวาสวัดทรายยาวได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาวในการก่อสร้างโรงเรือน และใช้สำหรับเป็นอาคารศูนย์ฝึกอาชีพจนถึงปัจจุบัน
๒. กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรัง ตำบลตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ทอด้วยเส้นใยฝ้ายด้วยวิธีการมัดหมี่ใช้ลวดลายดั้งเดิม กลุ่มทอผ้าบ้านตรังก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๖ ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเยี่ยมราษฎรที่วัดประเวศน์ภูผา (วัดบ้านตรัง) หมู่ที่ ๒ ตำบลตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ทรงเห็นราษฎรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจน จึงได้มีพระราชเสาวนีย์ช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า เป็นการเสริมรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง โดยทรงพระรายทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๓๐,0๐๐ บาท เพื่อก่อสร้างโรงทอผ้า ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สูง ๓ เมตร โดยมีกำลังพลจากค่ายอิงคยุทธบริหาร (ค่ายบ่อทอง) และราษฎรบ้านตรัง สมทบแรงงานในการก่อสร้างนอกจากนี้เจ้าอาวาสวัดประเวศน์ภูผาในขณะนั้น ได้ให้การสนับสนุนสถานที่ก่อสร้าง วัสดุ แรงงานตลอดจนตกแต่งบริเวณโรงทอผ้าจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นายวิโรจน์ ราชรักษ์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในขณะนั้น) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน ๕0,000 บาท เพื่อต่อเติมอาคารกว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๓ เมตร แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๗ และเริ่มรับสมาชิก โดยมีสมาชิกร่วมก่อตั้งครั้งแรก จำนวน ๑๕ คน ดำเนินการทอผ้าส่งสำนักพระราชวัง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับงบประมาณจากโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) เป็นเงิน ๒๐๓,๙๗๒ บาท เพื่อสร้างกี่กระตุกและโรงทอผ้าหลังที่ - พร้อมกับการรับสมาชิกเพิ่ม และได้รับการสนับสนุนกี่กระตุกจำนวน ๑๕ หลัง ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุด จากเรือนจำจังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มทอผ้าได้เข้ารับการฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างไห้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ไปพร้อมกับการได้รับงบประมาณจากโครงการพัฒนาจังหวัด (คพจ.) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จะเห็นได้ว่ากลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรัง มีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภายนอก โดยในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแนภาคใต้ (ศอ.บต.) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ตลอดจนปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับงบประมาณจากโครงการยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี เพื่อขยายและปรับปรุงอาคารเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างงาน สร้างรายได้และความมั่นคงทางอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ราษฎรบ้านตรัง ก็ได้มีการร่วมมือร่วมใจสมทบการติดตั้งระบบไฟฟ้ สร้างอาคารเพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์ และใช้ในการดำเนินงานกลุ่มจนถึงปัจจุบัน ผ้าทอลายจวนตานี หัตถสิลป์บนผืนผ้าไหมประดิษฐ์ที่บอกเล่าเรื่องราว อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านตรังจากอดีตสู่ปัจจุบัน มรดกแห่งภูมิปัญญาด้วยการสืบสานตำนานเส้นสายจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี ผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๔ ดาว ผ้าทอจวนตานี กลุ่มทอผ้าบ้านตรัง จังหวัดปัตตานี โดยนางสาวสิริอร ทับนิล ด้วยการสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้าจวนตานี หัตถศิลป์บนผืนผ้าที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานเส้นสายมี ๕ ลาย ได้แก่ลายกอซัง ลายก้นหอย ลายปักเป้า ลายดอกศรีตรัง และลายโคมไฟ แต่ละลายมีแถบสีคั้นอยู่ ๗ สี ๗ เส้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรัง
ต. กลุ่มทอผ้าบ้านไม้แก่น หมู่ที่ ๑ ตำบลไม้แก่น อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ต่อยอดกิจกรรมการทอผ้ามาจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสารวัน พระราชดำริในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริคิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพราษฎรในการทอผ้า ช่วยสร้างอาชีพและส่งเสริมการจ้างงานให้ราษฎรที่ว่างงาน อันเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้ และยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการการคุ้มครองป้องกันราษฎรให้ยึดถิ่นฐาน และรักษาพื้นที่ทำกินของตนเองไว้โดยไม่ย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการต่อยอดและขยายผลการทอผ้าขาวม้า เพื่อให้สมาชิกสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยจังหวัดปัตตานีได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต เช่น กี่กระตุก เส้นใยฝ้าย และส่งเสริมช่องทางในการตลาด ปัจจุบันได้รับการส่งสริมการพัฒนาผ้าทอลวดลายโบราณ เป็นผ้าสื่ตะกอ ย้อมสีธรรมชาติจากสีที่ได้จากพืชในท้องถิ่นปัตตานี ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ด้วยกิจกรรมเส้นทางหม่อนไหม ไม้แก่นโมเดล ซึ่งทางศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส ได้เข้ามาสนับสนุนในการดำเนินงานรวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ จำนวน ๕ ไร่ จากฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านไม้แก่น มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๗ ราย เป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเส้นไหมของชายแดนภาคใต้ สมาชิกสามารถสร้างรายได้เกิดการเรียนรู้กระบวนการย้อมเส้นใยจากสีธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นถิ่น รวมไปถึงการอนุรักษ์ สืบสานผ้าทอลายโบราณของพื้นที่ให้คงอยู่ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากการพัฒนาผ้าจวนตานีแบบตั้งเดิมด้วยวิธีการทอผ้า ทางสถาบันวัฒนธรรมศึกษาก้ลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พัฒนารูปแบบลายจวนตานีลงบนผ้าบาติกเรียกว่า "ลีมาบาติก" โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานี ซึ่งจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการผ้าโบราณ ณ หอวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ซึ่งผ้าจวนตานีเป็นผ้าทอที่มีลวดลายสวยงามและมีความละเอียดมาก อีกทั้งยังเป็นผ้าทอที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของคนในท้องถิ่น ผู้สร้างสรรค์ได้หยิบยกลายบางช่วง บางตอน ของผ้าจวนตานีแต่ละผืนมาจัดวางองค์ประกอบขึ้นใหม่ ตามจินตนาการและความประทับใจของผู้สร้างสรรค์เอง โดยหยิบเอาลายจากผ้าจวนตานีจำนวน ๓ ผืน มาดัดแปลงลายขึ้นใหม่ให้เหมาะกับการทำพิมพ์ด้วยเหล็ก บางส่วนผ่านการตัดทอน บางส่วนได้เพิ่มเติมขึ้น แต่ภาพรวมของแต่ละลายก็ยังคงมีเค้าโครงลายเดิมอยู่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมไม่มากนัก ใช้วิธีร่างแบบโดยการสเก็ตซ์ภาพบนกระดาษด้วยดินสอ เมื่อได้โครงสร้างของลายแต่ละลายแล้ว ก็นำภาพร่างลายเส้นดินสอไปปรับแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ลายที่คมชัดและมีขนาดที่แน่นอน จากนั้นก็จัดวางองค์ประกอบของผ้าทั้งผืน โดยนำลายที่ออกแบบไว้ทั้งหมดมาจัดวาง องค์ประกอบของผ้าทั้งผืนขึ้นมาใหม่ ขั้นตอนนี้ได้รับการแนะนำจากครูธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ครูช่างศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในการจัดวางลวดลายผ้าแต่ละผืน มืองค์ประกอบของลวดลายที่แตกต่างกันไป เช่น ลายพื้น ลายร่อง ลายขอบผ้า และตีนผ้าหรือชายผ้า โดยยึดโครงสร้างในผืนผ้าตามแบบผ้าลีมาโบราณ จนเกิดเป็นลายผ้าประยุกต์ผื่นใหม่ ที่ได้แรงบันดาลใจและถอดแบบมาจากผ้าทอโบราณ จากนั้นครูธนินทร์ธร รักษาวงศ์ จากกลุ่มดาหลาบาติก นำลายที่ได้มาจัดทำเป็นแม่พิมพ์ทองเหลืองนำไปทดลองพิมพ์และกำหนดสี จนกลายมาเป็นผลงานผ้าบาติก และพัฒนโดยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาจนถึงในปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานี ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ พัฒนาศักยภาพกลุ่มและสมาชิก ต่อยอดการผลิตผ้าจวนตานี การควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน การใช้สีธรรมชาติ พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกลุ่มได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีความร่วมสมัยโดยประยุกต์ใช้ร่วมกับลวดลาย พระราชทานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ควบคู่กันไปกับการผลิตในเชิงอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ คารสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าจวนตานี ให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินปัตตานี ต่อยอดให้เกิดความร่วมสมัย สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
กรมหม่อนไหม. ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์. (ม.ป.ป.) ผ้าจวนตานี. สืบค้น 25 ส.ค. 64, จาก https://qsds.go.th/silkcotton/k_9.phpจุรีรัตน์ บัวแก้ว, อุไร ตันสกุล. (2545). รายงานวิจัยเรื่องการทดลองทอผ้าจวนตานีด้วยเส้นใยฝ้ายและใยสังเคราะห์. ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส กรมหม่อนไหม. (2564). ผ้าโบราณ 'จวนตานี' มรดกประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม. สืบค้น 25 ส.ค. 64 จาก,
https://www.gotoknow.org/posts/445029