เพลงเรือแหลมโพธิ์
 
Back    29/11/2018, 10:56    25,568  

หมวดหมู่

เพลง


ประเภท

ร้อง


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : http://plernpitp.blogspot.com/2008/09/blog-post_15.html

       สงขลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่สืบทอดประเพณีลาก (ชัก) พระมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งมีทั้งการลาก (ชัก) พระทางบกและลาก (ชัก) พระทางน้ำ  ซึ่งชักลากเรือบุษบกพระไปตามแม่น้ำลำคลองบางทีก็ออกสู่ทะเล  การลาก (ชัก) พระทางน้ำนี้เองเป็นต้นกำเนิดของการเล่นเพลงเรือในภาคใต้ของไทย อาทิ เพลงเรือแหลมโพธิ์  ประเพณีลาก (ชัก) พระทางน้ำของชุมชนแหลมโพธิ์ เป็นประเพณีและมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมายังลูกหลานรุ่นต่อรุ่น จากการศึกษาวิจัยโดยการสัมภาษณ์ผู้รู้และปราชญ์ชุมชน  ตลอดถึงผู้นำในการขับร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพ่อเพลง ได้เล่าถึงประวัติของเพลงเรือแหลมโพธิ์ไว้ว่า "เพลงเรือแหลมโพธิ์ ก็คือเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่งของจังหวัดสงขลา เดิมเรียกว่า “เพลงยาว” หรือเพลงเรือ หรือเพลงเรือยาว  โดยเฉพาะคำว่า “เพลงเรือยาว” ใช้เรียกเพลงดังกล่าวที่เนื้อร้องมีความยาว ในขณะที่เพลงชนิดเดียวกันนี้มีเนื้อร้องขนาดสั้นเรียกว่า “เพลงเรือบก”แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเพลงเรือแหลมโพธิ์เกิดขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อกันว่าการชักพระทางน้ำเป็นต้นกำเนิดของเพลงเรือแหลมโพธิ์ที่มีมานานไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าการคมนาคมในสมัยก่อนผู้คนนิยมสัญจรกันทางน้ำ และเมื่อมีประเพณีลาก (ชัก) พระ ก็จะนำเรือพระหรือเรือพนมพระที่ทำขึ้นมาประดิษฐ์ไว้ในเรือแล้วไปยังจุดหมายคือแหลมโพธิ์ ซึ่งมีระยะทางที่ยาวไกลกว่า ๕ กิโลเมตร โดยจะพายเรือไปเรื่อย ๆ  ตามลำคลอง จนทำให้ชาวบ้านเกิดความเหนื่อยและเบื่อหน่าย จึงทำให้เกิดเพลงเรือขี้นเพื่อช่วยผ่อนคลายในการชัก (ลาก) เรือพระต่อไป โดยการร้องเพลงเรือจะมีการร้องแก้กันไปมา มีจังหวะจากเครื่องดนตรี และการรำของชาวบ้านในขบวน จึงเกิดเป็นความสนุกสนานขึ้น สร้างความสุขและลดความเหนื่อยจากการลากพระลงไปได้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงมีการใช้คำว่า “เพลงเรือแหลมโพธิ์” ทั้งนี้เพราะพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของประเพณีการเล่นเพลงพื้นบ้านชนิดนี้อยู่ที่บ้านแหลมโพธิ์ เพราะเมื่อถึงฤดูออกพรรษาแล้วชุมชนต่าง คือบางโหนด หัวควาย ท่าแซ คลองแห บ้านหาร บางนำ บางกล่ำ คูเต่า แม่ทอม ท่านางหอม ท่าเมรุ บางทิง บางหยี โคกขี้เหล็ก ควนโส ปากรอ ปากจ่า บางเหรียง ปากบางภูมี ทำนบ สทิงหม้อ เกาะยอ ซึ่งเป็นชุมชนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา ก็จะชัก (ลาก) เรือพระหรือเรือพนมพระจากวัดมาสู่จุดหมายที่นัดพบคือบริเวณแหลมโพธิ์ ในยุคต่อมาก็เริ่มมีการร้องและเล่นบนบกด้วย เพลงเรือแหลมโพธิ์จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่พื้นที่ เช่น ตำบลแม่ทอมจะเรียกว่า "เพลงเรือ" ตำบลคูเต่าเรียก "เพลงยาว" หรือ "เพลงเรือยาว" อำเภอบางกล่ำจะเรียกว่า "เพลงยาว" โดยคำว่า "เพลงยาว" ถือได้ว่าเป็นคำที่ใช้เรียกที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเป็นคำที่ตัดมาจากคำว่า "เพลงเรือยาว" เพราะแต่เดิมเรือที่ใช้ชักพระและเล่นเพลงนั้น มักจะเป็นเรือยาวแทบทั้งสิ้น “เรือยาวเป็นเรือสำหรับพวกผู้ชาย ส่วนเรือสำหรับพวกผู้หญิงนั้นเรียกเรือเพรียว” เรือเหล่านี้มักเป็นของวัด หนึ่งวัดจะมีเรือหลายลำ อย่างวัดอู่ตะเภาและวัดคูเต่ามีมากถึงวัดละ ๗-๘ ลำ แต่เมื่อมีการตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้น ความจำเป็นในการใช้เรือก็น้อยลง ส่งผลให้เรือเหล่านี้ถูกขายไป เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือเช่นเดียวกันกับเพลงเรือที่มีเล่นในภาคกลางของประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเพณีราษฎร์  แต่ความน่าสนใจศึกษาเฉพาะกรณีของเพลงเรือแหลมโพธิ์อยู่ที่เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่มีที่ใดเหมือน หากว่าเพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพียงเพลงที่เล่นกันในเรือว่าโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวแล้ว เพลงเรือแหลมโพธิ์ก็คงจะแตกต่างจากเพลงเรือของภาคกลางดังกล่าวแล้ว เพราะมีพื้นที่เล่นและภาษาในเพลงที่เป็นภาษาถิ่นเท่านั้น โดยที่เพลงเรือแหลมโพธิ์ มีลักษณะเป็นแบบกลอน ๔ วรรคหนึ่งจะมี ๔ คำ โดยที่จังหวะจะเป็น ๒-๒-๒-๒ ไม่จำกัดความยาว เพียงวรรคเดียวก็สามารถร้องเล่นได้ แต่ละเพลงจะมีคำรับที่เรียกว่า “สร้อย” กับมีคำส่งด้วย ผู้เล่นเพลงประกอบด้วยแม่เพลง ๑ คน กับลูกคู่ซึ่งไม่จำกัดจำนวน แม่เพลงมีหน้าที่ขึ้นเพลงแต่ละวรรค ลูกคู่มีหน้าที่รับเพลงที่แม่เพลงร้องนำแบบวรรคต่อวรรค เพลงแต่ละวรรคร้องได้อย่างน้อย ๓ เที่ยว จนกว่าจบเพลงหรือเลิกรากันไปเอง การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่มีพิธีกรรมหรือใช้ในพิธีกรรมใด นอกจากร้องเพื่อความสนุกสนาน หยอกเย้า เสียดสี อันเป็นการสะท้อนภาพสังคม  เพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่มีทำนอง ร้องเป็นภาษาพูดปกติที่มีจังหวะลื่นไหลลงตัว ไม่มีการไหว้ครูทั้งก่อนและหลังเล่น ไม่มีเครื่องดนตรีใด ๆ ประกอบ เล่นทั้งในเรือและบนบก เล่นบนบก ผู้เล่นจะแบกไม้พายเรือเสมือนเป็นสัญลักษณ์ แต่งตัวตามปกติหรือนัดแต่งเพื่อแสดงความเป็นหมู่พวกก็ได้ บางครั้งการเล่นเพลงอาจมีการแสดงประกอบเข้ากับเนื้อเพลงที่ภายหลังเรียกว่า “แฟนซี”  เพลงเรือแหลมโพธิ์เล่นจริงเฉพาะวันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ร่วมกับการชัก (ลาก) พระทางน้ำ

ภาพจาก : สนิท บุญฤทธิ์, 2532

ธรรมเนียมการเล่นและร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์
       การละเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เรือกระบวนชักพระทุกลำหรือทุกกระบวนจะต้องมีการเล่นเพลงเรือมาด้วย เรื่องนี้ ภิญโญ  จิตต์ธรรม (๒๕๑๙) กล่าวถึงประเพณีชักพระทั่ว ๆ  ไปและได้กล่าวถึงการเล่นเพลงเรือไว้แต่ไม่ชัดเจนว่า  ในค้นวันขึ้น  ๑๔-๑๕  ค่ำ  เดือน  ๑๑  พวกเรือพายเรือหรือเพลงเหล่านี้ก็จะออกซ้อมพาย  ซ้อมความเร็ว  เมื่อเหนื่อยมากแล้วบางทีก็จะพายช้า ๆ  พร้อมทั้งร้องเพลงเรือไปด้วย”  ซึ่งนั่นก็หมายความว่าในการชักพระทางน้ำจะมีการร้องเพลงเรือเล่นด้วย  แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นที่ ตามที่ได้การศึกษาข้อมูลของนักวิจัยพบว่าชุมชนของ  ๓  อำเภอ บริเวณริมทะเลสาบสงขลาคืออำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่และอำเภอรัตภูมิ มีการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์กัน  โดยเฉพาะตำบลคูเต่า  ตำบลแม่ทอม และตำบลบางกล่ำ  อำเภอหาดใหญ่ พบว่าเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์กันมากที่สุด แต่อย่างไรก็พอสรุปได้ว่าชุมชนที่ชักพระมายังแหลมโพธิ์เท่าที่เคยมีมาคือเขตอำเภอหาดใหญ่ ได้แก่บางโหนด หัวควาย ท่าแซ คลองแห บ้านหาร บางนำ บางกล่ำ คูเต่า แม่ทอม ท่านางหอม ท่าเมรุ บางทิง บางหยี และโคกขี้เหล็ก เขตอำเภอรัตภูมิ ได้แก่ควนโส ปากรอ ปากจ่า บางเหรียง และปากบางภูมี ส่วนเขตอำเภอเมืองสงขลา ได้แก่ทำนบ สทิงหม้อ และเกาะยอ ส่วนธรรมเนียมนิยมในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นเพลงเรือแหลมโพธิ์น่าสนใจไม่แพ้เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ  เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนภาพสะท้อนความเป็นพื้นบ้านในแง่มุมต่าง ๆ  ที่เราได้สัมผัสถึงถึงแก่นแท้ของวิถีและอัตลักษณ์ของชุมชน ธรรมเนียมนิยมของการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์สามารถกล่าวได้เป็น ๓ ประการ ดังนี้คือ
๑. วันเล่น เพลงเรือแหลมโพธิ์จะเล่นจริง ๆ ก็เฉพาะในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันชัก (ลาก) พระเพียงวันเดียวเท่านั้  หมดวันก็สิ้นสุดการเล่นกันในรอบปี  ส่วนก่อนหน้าวันชักพระจะมีซ้อมเล่นกันทั่วไป 
๒. สถานที่เล่น การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นมีจุดที่นัดพบกันจุดสำคัญคือแหลมโพธิ์อันเป็นจุดหมายปลายทางที่เรือพระทุกลำมาหยุดพัก เพื่อถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ที่มากับเรือพระแล้วประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  ที่แหลมโพธิ์จึงเป็นสถานที่ที่เพลงเรือทุกลำและจากทุกแห่งในวันนั้นจะต้องขึ้นไปพบกันร้องเล่นเพลงเรือ จนกระทั่งเสร็จพิธีพระ อัญเชิญเสด็จพระกลับวัดเรือพระบางวัดอาจไม่กลับวัดเลยทีเดียวก็จะพากันไปต่อที่หาดหอย ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งปากครองอู่ตะเภาทางทิศตะวันตกของแหลมโพธิ์ไม่ไกลมากนัก ที่หาดหอยจึงเป็นสถานที่เล่นเพลงเรืออีกแห่งหนึ่งที่รองลงไปจากที่แหลมโพธิ์ 
๓. วิธีเล่น   ธรรมเนียมนิยมที่เกี่ยวกับวิธีเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นี้มีหลายประการด้วยกันคือ
    ก) เพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่เป็นเพลงปฏิพากย์ ไม่มีการเล่นโต้ตอบกันระหว่างคณะ 

    ข) เพลงเรือแหลมโพธิ์ที่เล่นในเรือ ซึ่งก็เป็นเรือยาวชักเรือพระนั่นเอง เรือยาวลำใหญ่ ๆ จุผีพายได้ถึง ๒๕ คน แต่ที่ไม่เป็นเรือยาวซึ่งมีผีพายแค่ ๔-๕ คนก็มี การเล่นในเรือนี้เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มชักลากเรือรพระออกจากหน้าวัดจนถึงแหลมโพธิ์ เรือพระวัดใดอยู่ใกล้แหลมโพธิ์ก็มีเวลาอยู่ในเรือน้อยกว่าเรือพระที่วัดอยู่ไกล แล้วจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่การเล่นเพลงจะขึ้นไปเล่นบนบกด้วย นั่นคือเมื่อชักพระมาถึงแหลมโพธิ์แล้ว ช่วงเวลาที่จะเสร็จถวายภัตตาหารเพลพระและพิธีทางศาสนา เป็นช่วงที่เพลงเรือทุกคณะจะขึ้นมาเล่นสนุกกับบนแหลมโพธิ์ เป็นช่วงการเล่นเพลงที่สนุกไปอีกแบบหนึ่งไม่แพ้การเล่นในเรือ 
    ค) ไม่มีเครื่องดนตรีใด ๆ ประกอบการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ ไม่มีฉิ่ง กรับ หรือเครื่องให้จังหวะ ไม่มีแม้แต่เสียงปรบมือ มีก็แต่เสียงพายที่จ้ำลงในน้ำพร้อม ๆ กันเท่านั้น เพลงที่ร้องจะเล่าถึงประวัติของชุมชนหรือชมความงามของสิ่งที่พบเจอ จะเข้ากับจังหวะการพายเรือซึ่งจะพายเป็นจังหวะช้า ๆ ส่วนเพลงเสียดสีสังคม เพลงสะท้องสภาพสังคม หรือเพลงสนุกตลกขบขัน ก็จะลงจังหวะพายเร็ว ๆ  ทำให้เกิดความสนุกสนานคึกคัก 
    ง) การเริ่มเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ก็ไม่ต้องไหว้ครู จะเริ่มต้นเพลงตรงไหนอย่างไรก็ได้ ในจำนวน ๕๕ เพลงที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งพบเพียงเพลงเดียวที่ขึ้นต้นเหมือนกับการไหว้ครู คือเพลงชักพระเกี้ยวสาวของแม่เพลงคือนายไข่ สุขสวัสดิ์ เท่านั้น ซึ่งจะขึ้นต้นกลอนแรกของเพลงต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า…  

มือข้าทั้งสองยกประคองขึ้นตั้ง 
ยกขึ้นเหนือเศียรรั้งตั้งความวันทา 
ไหว้พระพุทธพระธรรมได้จำกายา 
ทุกค่ำเวลาวันทาชุลี    

                          

ที่มา : สนิท บุญฤทธิ์. ๒๕๓๒, ๑๐ 

วิธีการแต่งเนื้อเพลงและการขับร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์

     การแต่งเนื้อเพลงและการขับร้องเพลงร้องเรือแหลมโพธิ์ แม่เพลงจะเป็นแต่งขึ้นเอง ดังเนื้อร้องที่ว่าในการเริ่มต้นเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์  มีธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งคือการขึ้นต้น.. “ขึ้นข้อ...” ในความว่า “ขึ้นข้อต่อกล่าว” ซึ่งพบมากที่สุด เช่น …
ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องราวลากพระ    (เพลงกล่อมเรือลากพระ) 
ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องสาวสมัย           (เพลงสาวสมัย) 
ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องเท้าแก้แลน       (เพลงเท้าแก้แลน)           

     ส่วนคำขึ้นต้นด้วย “ขึ้นข้อ...” อย่างอื่นก็ยังมีอีก เช่น “ขึ้นข้ออธิบาย” และ “ขึ้นข้อต่อไป” และมีบ้างครั้งก็ขึ้นต้นด้วยถ้อยความอื่นที่มีความหมายทำนอง “ขึ้นข้อ....”  คือคำว่า “ยกข้อ....”  เช่น   ยกข้อต่อกล่าวไอ้สาวขายหม้อ (เพลงสาวขายหม้อ) 
ยกข้อขึ้นข้อถึงหมอเมืองนอก              (เพลงฉีดยา) 
ยกข้อต่อกลอนเป็นสุนทรเพลงยาว    (เพลงชมสาว) 
ยกข้อตั้งข้อขอนาระพัน                         (เพลงพันทอง)

                            

ภาพจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/kahlao/2010/07/26/entry-2

          อย่างไรก็ตามการขึ้นต้นวรรคแรกด้วยคำดังกล่าวมาแล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเคร่งครัดมากนัก เป็นแต่เพียงเป็นสิ่งที่พึงสังเกตไว้เท่านั้น  เพลงส่วนใหญ่ที่ขึ้นต้นด้วยความอย่างอื่นตามใจผู้แต่งเพลงมีเป็นอันมาก และอีกประการหนึ่งเพลงเรือแหลมโพธิ์ จากแม่เพลงหมู่ที่ ๓ ตำบลแม่ทอม พบว่าเพลงของนายไข่ สุขสวัสดิ์ แม่เพลงต้องตั้ง ….. “อีโหย้..” ๓ ครั้ง คือ“โห่ ๓ ลา” ก่อนที่จะเริ่มต้นเพลง ซึ่งลูกคู่จะรับว่า...ฮิ้ว เช่น
    “อีโหย้...” (ลูกคู่รับ) “ฮิ้ว”
    “อีโหย้...” (ลูกคู่รับ) “ฮิ้ว”
    “อีโหย้...” (ลูกคู่รับ)  “ฮิ้ว”
                                                                       

      ในขณะที่เพลงของนายบุญข ช่วยชูสกุลแม่เพลงจากหมู่ที่ ๓ บ้านแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า นายเชือน แก้วประกอบ และนายพัน โสภิกุล จะใช้ “อีโหย้” ต่อเมื่อจบเพลงเท่านั้น ในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์บางเพลงโดยเฉพาะเพลงทำนองเสียดสีและตลกขบขัน  ในคณะมักจะแต่งชุดทำนองแฟนซีหรือชุดตลกขบขันประกอบการเล่นเพลงด้วยการแต่งทำนองแฟนซีหรือชุดตลกขบขันประกอบการเล่นเพลงนี้ บางทีแม่เพลงแต่งเสียเองบางทีลูกคู่คนหนึ่งคนใดแต่ง ก็มีเหมือนกันที่เอาคนอื่นที่ไม่ใช่ทั้งแม่เพลงและลูกคู่เข้ามาแต่งประกอบ และบางทีก็เอาสัตว์ มาเข้าฉากประกอบเพลงดูเป็นการทรมานสัตว์ไปก็มี ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนาน เพลงเรือแหลมโพธิ์มีลักษณะเป็น กลอน ๔ วรรคหนึ่งมี ๔ คำ จังหวะ ๒-๒-๒-๒ ไม่จำกัดความยาว เพียงวรรคเดียวก็สามารถร้องเล่นได้ แต่ละเพลง มี คำรับ ที่เรียกว่า สร้อย กับมี คำส่ง ด้วย ผู้เล่นเพลงประกอบด้วย แม่เพลง ๑ คน กับ ลูกคู่ ไม่จำกัดจำนวน แม่เพลงมีหน้าที่ขึ้นเพลงแต่ละวรรค ลูกคู่มีหน้าที่รับเพลงที่แม่เพลงร้องนำแบบวรรคต่อวรรค เพลงแต่ละวรรคร้องได้อย่างน้อย ๓ เที่ยว จนกว่าจบเพลงหรือเลิกรากันไปเอง การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่มีพิธีกรรมหรือใช้ในพิธีกรรมใด นอกจากร้องเพื่อความสนุกสนาน หยอกเย้า เสียดสี อันเป็นการสะท้อนภาพสังคม การแต่งเพลงนิยมกันว่าต้องแต่งเล่นกันปีต่อปี แต่งเล่นแล้วก็แล้วกันไปปีใหม่ก็แต่งใหม่ เนื่องจากนักแต่งเพลงหรือแม่เพลงเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในทางกลอนอยู่แล้วเห็นอะไรก็สามารถว่าออกมาเป็นกลอนคล้องจองกันได้หมด ข้อมูลที่จะเอามาแต่งก็จะเปลี่ยนไปหรือมาใหม่ทุกปี ไม่ว่าจะเป็นความงามของเรือพระ ความน่ารักน่าชังของหญิงสาวหรือเหตุการณ์ความเป็นไปในสังคมเหล่านี้ล้วนทำให้ไม่จำเป็นต้องเอาของเก่ามาเล่นใหม่อีกเพระเพลงใหม่ย่อมจะทันเหตุการณ์กว่าเรียกร้องความสนใจได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามเหตุผลสำคัญของการเปลี่ยนเพลงเล่นใหม่ในทุกปีนั้นอยู่ที่ความยึดถือกันมาที่ว่า  “คนที่เอาเพลงเก่ามาเล่นนั้นเป็นคนไร้ความสามารถและด้อยปัญญา”แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การเปลี่ยนเพลงใหม่ทุกปีเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เกิดเพลงใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามกาลเวลาและจะดียิ่งขึ้น ถ้าเพลงเหล่านั้นได้ถูกเก็บรักษาไว้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลาดังที่เป็นอยู่ด้วย 

รูปแบบกลอนเพลงเรือแหลมโพธิ์ 
      เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นกลอน ๔ เหมือนกลอน ๔ โนรา หรือกลอน ๔ หนังตะลุงต่างกับบ้างตรงสัมผัสส่งสัมผัสรับเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากจะเอากลอนเพลงเรือแหลมโพธิ์มาขับบทกลอนของมโนราห์ หรือขับหนังตะลุงก็ย่อมทำได้ ในลักษณะเดียวกัน หากจะเอากลอน ๔ โนราหรือกลอน ๔ หนังตะลุงมาร้องเป็นเพลงเรือแหลมโพธิ์ก็ย่อมทำได้อย่างแนบเนียนเช่นกัน เพลงเรือแหลมโพธิ์ ที่จริงก็คือกลอน ๔ ปกติทั่วไปนั่นเอง เพียงแต่เพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นรวบวรรคสดับกับวรรครับของกลอน ๔ มาเป็นกลอนแรก ๑ กลอน และรวบวรรครองกับวรรคส่งมาเป็นกลอนหลังอีก ๑ กลอน เป็นกลอนเพลงเรือแหลมโพธิ์ ๑ บท ซึ่งเท่ากับ ๒ กลอน เช่น

ขึ้นข้อต่อกล่าว:
เรื่องสาวแปดสี่    ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องสาวแปดสี่ 
แต่งตัวสวยดี       เข้าทีตามยุค  แต่งตัวสวยดีเข้าทีตามยุค

         การส่งสัมผัสระหว่างบทก็เช่นเดียวกับกลอน ๔ หรือกลอนทั่วไปคือมีตัวส่งตัวรับแต่เมื่อไปเข้ารูปแบบเพลงเรือแหลมโพธิ์แล้วทำให้ดูเหมือนว่ากลอนเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นคำท้ายกลอนสัมผัสกันเป็นคู่ ๆ แต่ที่จริงแล้วจะมีสัมผัสเหมือนกลอน ๔ ทุกประการ เช่น       
บท ๑ :  ขึ้นข้อต่อกล่าว  เรื่องสาวแปดสี่   ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องสาวแปดสี่
             แต่งตัวสวยดี   เข้าทีตามยุค  แต่งตัวสวยดีเข้าทีตามยุค
บท ๒ : เดินไปทางไหน  มีแต่เรื่องหนุก  เดินไปทางไหนมีแต่เรื่องหนุก
            เป็นไปตามยุค  สมัยนิยม  เป็นไปตามยุคสมัยนิยม

        มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งในการเริ่มต้นขึ้นเพลงเรือแหลมโพธิ์ก็คือจะต้องขึ้นต้นด้วยกลอนแรกหรือกลอนหลังก็ได้  เช่น ขึ้นต้นด้วยกลอนแรก  จากเพลง  “ชมเรือพระ”  ของนายสังข์  ไชยพูล....
           
มาถึงลำทรงเรือขององค์พระพุทธ 
           ยอดเหมือนมงกุฎผุดผ่องต้องตา 
           ชั้นสบสมทรงเหมือนหงส์ร่อนรา
           ธงข้างธงม้าล้อมหน้าล้อมหลัง 
           มีเบาะมีอานม่านแกวกแหวกบัง
           แลแลเหมือนวังของท้าวเจ้าเมือง
           ข้างบนระยับประดับเขียวเหลือง
           แลดูรุ่งเรืองส่งแสงแทงตา 
                 

            ขึ้นต้นด้วยกลอนหลัง จากเพลง  “น้ำเหม็นในคลอง”  ของนายวร  ชูสกุล....
            
เมืองเราฉงนน้ำฝนมีกรด 
            ทำนาทุกแห่งน้ำแห้งกันหมด
            น้ำฝนมีกรดปลาเน่าหัวเปื่อย 
            เหนื่อยทั้งวัวควายหญิงชายก็เหนื่อย
            ปลาเน่าข้าวเปื่อยผู้เหนื่อยอดกิน
            น้ำฝนบกพร่องน้ำคลองก็หมิน

            รูปแบบเพลงเรือแหลมโพธิ์ดังกล่าวเป็นรูปแบบปกติ แต่บางครั้งก็พบว่ามีวรรคพิเศษนำมาข้างหน้าก่อนเพื่อเสริมความกลอนจริงในเพลงบางเพลงอาจมาทำเช่นนี้กับเฉพาะบางกลอนเท่านั้นและบางเพลง เช่น  เพลง “สังหรี” ของนายเชือน แก้วประกอบ จะมีวรรคพิเศษนี้นำทุกกลอนตลอดเพลงคือ
            “งามแล้ว สวยแล้ว”         “น้องนั้นแหล้ สาวนั้นแหล้
            “หรอยจ้าน หรอยจ้าน”   “จริงแล้วแหล้  แน่แล้วนาย”

             แต่ในบางครั้งก็อาจจะเป็นจังหวะหน้า ๒ คำ จังหวะหลัง ๓ คำ เช่น “หายแน่ หายแน่นอน”  หรือไม่ก็จะมีเสียงกระทุ้งระหว่างวรรคก็ได้เช่น “แลต๊ะ อึ๊ น่าหรอย” หรือ “อย่าแค็กบ่าวเหอ อย่าแค็ก” คำว่า อึ๊หรือบ่าวเหอ ล้วนแต่เป็นเสียงกระทุ้งให้คำรับเผ็ดมันมีรสชาติเข้มข้นทั้งนั้น        คำสำหรับคุมจังหวะในเพลงร้องเรือแหลมโพธ์นั้น ที่สำคัญหรือหลัก ๆ มีอยู่ ๒ คำคือ “คำรับ”และ”คำส่ง” ในแต่ละเพลงเมื่อใช้คำใดแล้วก็ต้องใช้คำนั้นจนจบเพลง คำรับนั้นจะเป็นตัวกำหนดแนวของเพลงว่าจะไปทางใด บางทีอาจมีความสำคัญพอ ๆ กับเนื้อเพลงด้วยเพราะต้องถึงเนื้อเพลงว่าจะไปในแนวนั้น ๆ แต่ถ้าคำรับไม่สอดคล้องก็จะปลุกอารมณ์ทั้งผู้เล่นและผู้ฟังไม่ได้ ในการส่งจังหวะคำรับนั้นผู้เล่นจะต้องรู้ว่าบทกลอนนั้นจะเน้นไปในแนวทางใด เช่น 
- ประเภททีเล่นทีจริงหรือเน้นความสนุกสนาน
   
น้องนั่นแหล้ สาวนั่นแหล้ (น้องนั่นแหละ สาวนั่นแหละ)
   ได้เล่า ได้เล่า (ได้อีก ได้อีก)
   ทิ่มกันมั่ง แทงกันมั่ง
   แลต๊ะ อึ๊ น่าหรอย (ดูซิ ฮึ น่าหร่อย)
- ประเภทชมความงาม (อย่างจริงใจ)
  งามแล้ว สวยแล้ว
  ดังจริง ดังจริงจริง
  เออโถก เออโถก (เออถูก เออถูก)
  จริงแล้วแหล้ แน่แล้วาย
  กูเสียใจ อึ๊ กูก็เสียใจ
- ประเภทสนับสนุน
   
ดังจริง ดังจริงจริง
   เออโถก เออโถก (เออถูก เออถูก)
   จริงแล้วแหล้ แน่แล้วนาย
   กูเสียใจ อึ๊ กูก็เสียใจ                
- ประเภทถาม
  
โถกม่ายน้อง จริงม่ายน้อง
  จริงเฮอ เออแหล้ (จริงรึ เออซิ) 

- ประเภทต่อว่าหรือเสียดสี
  
อย่าแค็ก บ่าวเหอ อย่าแค็ (หมายถึงอย่าซ่า หนุ่มเอ๋ย อย่าซ่า)
  ข้าวกะแพง เคยกะแพง (หมายถึงข้าวก็แพง กะปิก็แพง)
                                                             
         
ส่วนคำส่งนั้นเป็นคำที่ใช้ส่งเพลงจะมีความยาวเท่ากับครึ่งวรรค หรือครึ่งของคำรับหรือ ๒ คำ ใช้ประสมกับเพลง ๒ คำหลังของวรรคหน้า ซึ่งมักลงท้ายด้วยคำว่า “เหอ” (เอ๋ย) และมักใช้คู่คำต่อไปนี้คือ “เพื่อนเหอ” “น้องเหอ” และ “พี่เหอ” แต่จะใช้คู่คำอื่นก็ได้แต่ที่นิยมใช้คู่ ๓ คำมีการใช้มากที่สุด คำส่งนี้ในเพลงเดียวกันอาจเปลี่ยนกันใช้ได้แล้วแต่เสียงนำลูกคู่จะนำไปอย่างไร

ผู้เล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ 

            ผู้เล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์คณะหนึ่ง ๆ อาจเล่นได้ตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป โดยแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายคือ แม่เพลงกับลูกคู่ 
            
(ก) แม่เพลงคือผู้บอกกลอนมีหน้าที่ร้องกลอนนำให้ลูกคู่ร้องรับตาม แต่ก่อนนี้เคยใช้คำว่า “หัวเพลง” ปัจจุบันไม่ค่อยพบการใช้ แม่เพลงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ทั้งนี้เพราะผู้หญิงมีความละอายมากกว่า ผู้ชายโดยธรรมชาติและโดยประเพณีนิยมที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงแสดงออกในที่สาธารณะแบบนั้น หรืออีกประการหนึ่งผู้ชายได้มีโอกาสบวชเรียน ได้รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษามากกว่าผู้หญิงก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชายก็ยังคงเรียกว่าแม่เพลงเหมือนกันทั้งนั้น แม่เพลงจะต้องมีคุณสมบัติที่เป็นนักกลอนคือมีความจำดี รักสนุก ความคิดเฉียบคมปฏิภาณว่องไวต่อสิ่งกระทบ และมีความรู้ประสบการณ์อย่างกว้างขวาง  สนใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบด้าน โดยเฉพาะสังคมที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งอยู่ แม่เพลงจำนวนไม่น้อยจึงเป็นนักแต่งเพลงด้วย 
            (ข) ลูกคู่คือผู้ร้องรับตามแม่เพลง คอยจังหวะ คอยกระทุ้งกระแทกเสียงให้เพลงได้จังหวะพอเหมาะ ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมกันทั้งแม่เพลง ลูกคู่ และผู้ฟัง การที่ลูกคู่คอยทำให้เกิดอารมณ์ร่วมกันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แม่เพลงบอกกลอนได้ลื่นไหลดีลูกคู่ไม่จำเป็นต้องว่ากลอนได้ แต่ต้องรู้ว่าจะรับกลอนอย่างไร เช่น บางทีแม่เพลงว่ากลอนเกินคำ ลูกคู่ต้องรู้ว่าจะตัดคำที่เกินตรงไหนจึงจะทำให้รับได้จังหวะพอดี ได้ความกระจ่างชัดอย่างรวดเร็วเป็นอัตโนมัติบางทีลูกคู่ก็ต้องสามารถแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นให้แม่เพลงได้เมื่อแม่เพลงติดกลอน  อาจจะโดยร้องรับเพลงตอนส่งซ้ำ เพื่อไม่ให้กลอนขาดเสียจังหวะ  ให้เวลาจนแม่เพลงขึ้นเพลงกลอนต่อไปได้ ทั้งหมดล้วนแต่ลูกคู่จะต้องสร้างสมประสบการณ์เอาเองทั้งสิ้น 
เพลงเรือคณะหนึ่ง ๆ อาจมีผู้เล่นจำนวนมากเท่าจำนวนฝีพายเรือยาวที่พายนั่นเอง เพราะเรือยาวบางลำอาจมีฝีพายถึง  ๒๕  คน  นั่นก็หมายความว่าเพลงเรือแหลมโพธิ์คณะนั้นอาจมีถึง  ๒๕  คนเช่นกัน

วีธีเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ 
   
          การเริ่มเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นบางครั้งก็จะตั้ง “อีโหย้” ก่อน ๓  ครั้งแล้วเริ่มเล่นสำหรับการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นไม่มีทำนองการร้องที่ชัดเจนเหมือนกลอนประเภทอื่น ซึ่งจะว่ากลอนสามด้วยสำเนียงพูดภาษาถิ่น การร้องนั้นร้องทีละกลอนไปตามลำดับ กลอนหนึ่ง ๆ จะทยอยและรับ-ส่งกันถึง ๓  เที่ยวประกอบด้วย 

         ก) เที่ยวที่ ๑  เป็นเที่ยวร้อง-รับ เป็นเที่ยวที่แม่เพลงต้องบอกเพลงให้จบทั้งกลอน ก่อนบอกเพลงแม่เพลงต้องบอกให้ลูกคู่รู้ทั่วกันเสียก่อนว่าเพลงนี้จะรับอย่างไร เช่นเพลงที่จะต้องรับด้วย “งามแล้ว สวยแล้ว” เมื่อแม่เพลงร้องจบกลอน ลูกคู่ก็จะรับกลอนพร้อมกันทันทีโดยตัดกลอนวรรคหน้า ๔ คำออก ร้องคำรับแทนกลอนวรรคหน้า ๔ คำที่ตัดไปแล้วตามด้วยกลอนวรรคหลัง ซึ่งเป็นการร้องรับของแม่เพลงและลูกคู่เที่ยวที่  ๑ เช่น บทกลอนที่ว่า.. “ขึ้นข้อต่อกล่าว เรื่องสาวสมัย”แม่เพลงและลูกคู่ก็จะร้องและรับกันดังนี้
   แม่เพลง  : ขึ้นข้อต่อกล่าว  เรื่องสาวสมัย
   ลูกคู่ :  งามแล้ว   สวยแล้ว   เรื่องสาวสมัย

        ข) เที่ยวที่ ๒ เป็นเที่ยวรอง เที่ยวนี้แม่เพลงกับลูกคู่จะแบ่งเพลงในกลอนที่ว่า “ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องสาวสมัย” ร้องกันคนละวรรค โดยแม่เพลงร้องวรรคหน้าก่อนแล้วลูกคู่จะร้องวรรคกลังตามติดทันที ดังนี้
   แม่เพลง : ขึ้นข้อต่อกล่าว

  ลูกคู่ :  เรื่องสาวสมัย

        ค) เที่ยวที่ ๓  เป็นเที่ยวส่ง แม่เพลงจะต้องแบ่งเพลงวรรคหน้าที่ร้องในเที่ยวที่ ๒ เป็น ๒ จังหวะ (จังหวะละ ๒ คำ) แล้วแทนที่จังหวะแรก (๒ คำ) ด้วยคำส่ง ซึ่งอาจจะเป็น “เพื่อนเหอ” “น้องเหอ” หรือ “พี่เหอ” แล้วตามด้วยกลอนจังหวะหลัง (๒ คำ) ลูกคู่ก็จะร้องกลอนวรรคหลังเช่นเดียวกับที่ร้องในเที่ยวที่ ๒ ตามติดทันที ดังนี้
   แม่เพลง :  เพื่อนเหอต่อกล่าว
   ลูกคู่  :  เรื่องสาวสมัย

   เมื่อแม่เพลงกับลูกคู่ร้องรับ-ส่งกันครบ ๓ เที่ยว ก็ถือว่าร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์จบไป ๑ กลอน แม่เพลงก็จะขึ้นกลอนต่อไป เช่น  เพลงนี้มีคำรับว่า “งามแล้ว สแล้ว” ซึ่งแม่เพลงและลูกคู่จะร้องรับ-ส่งกันดังนี้

กลอนที่ ๑  แม่เพลง : มาถึงลำทรงเรือขององค์พระพุทธ
                     ลูกคู่  :  งามแล้ว สวยแล้ว ขององค์พระพุทธ

                 แม่เพลง : มาถึงลำทรง
                     ลูกคู่  : ขององค์พระพุทธ

                 แม่เพลง เพื่อนเหอ ลำทรง
                     ลูกคู่  : ขององค์พระพุทธ
 กลอนที่ ๒ แม่เพลง : ยอดเหมือนมงกฏ ผุดผ่องต้องตา
                    ลูกคู่  : งามแล้ว สวยแล้ว ผุดผ่องต้องตา
                    แม่เพลง : ยอดเหมือนมงกฏ
                    ลูกคู่ : ผุดผ่องต้องตา
                    แม่เพลง : เพื่อนเหอ มงกฎ
                    ลูกคู่ : ผุดผ่องต้องตา
 กลอนที่ ๓  แม่เพลง : ชั้นสบสมทรง เหมือนหงส์ร่อนรา
                     ลูกคู่  :  งามแล้ว สวยแล้ว เหมือนหงส์ร่อนรา

                 แม่เพลง : ชั้นสบสมทรง
                     ลูกคู่  : เหมือนหงส์ร่อนรา

                 แม่เพลง เพื่อนเหอ  สมทรง
                     ลูกคู่  : เหมือนหงส์ร่อนรา
 กลอนที่ ๔ แม่เพลง : ธงช้างธงม้า ล้อมหน้าล้อมหลัง
                    ลูกคู่  : งามแล้ว สวยแล้ว ล้อมหน้าล้อมหลัง
                    แม่เพลง : ยอดเหมือนมงกฏ
                    ลูกคู่ : ล้อมหน้าล้อมหลัง
                    แม่เพลง : เพื่อนเหอ ธงม้า
                    ลูกคู่ : ล้อมหน้าล้อมหลัง
 กลอนที่ ๕ แม่เพลง : มีเบาะมีอาน ม่านแกวกแหวกบัง
                    ลูกคู่  : งามแล้ว สวยแล้ว ม่านแกวกแหวกบัง
                    แม่เพลง : มีเบาะมีอาน
                    ลูกคู่ : ม่านแกวกแหวกบัง

                    แม่เพลง :  เพื่อนเหอ มีอาน
                    ลูกคู่ : ม่านแกวกแหวกบัง
 กลอนที่ ๖  แม่เพลง : แลแลเหมือนวัง ขอท้าวเจ้าเมือง
                     ลูกคู่  :  งามแล้ว สวยแล้ว ของท้าวเจ้าเมือง
                 แม่เพลง : แลแลเหมือนวัง
                     ลูกคู่  : ของท้าวเจ้าเมือง
                 แม่เพลง เพื่อนเหอ  เหมือนวัง
                     ลูกคู่  : ของท้าวเจ้าเมือง
 กลอนที่ ๗ แม่เพลง : ยอดเหมือนมงกฏ ผุดผ่องต้องตา
                    ลูกคู่  : งามแล้ว สวยแล้ว ผุดผ่องต้องตา
                    แม่เพลง : ยอดเหมือนมงกฏ
                    ลูกคู่ : ผุดผ่องต้องตา
                    แม่เพลง : เพื่อนเหอ มงกฎ
                    ลูกคู่ : ผุดผ่องต้องตา                  
                     
        
 อนึ่งในการร้องเที่ยวรองกับเที่ยวส่งนั้นบางครั้งในบรรดาลูกคู่ทั้งหมด อาจมีใครสักคนหนึ่งที่สามารถมีอารมณ์ร่วมสูงทำตัวเป็นผู้นำลูกคู่ รับหน้าที่แทนแม่เพลง หรือเป็นต้นเสียงร่วมกับแม่เพลงใน ๒ เที่ยวหลังนี้ก็ได้  เช่น 

ผู้นำลูกคู่แลแลเหมือนวังขอท้าวเจ้าเมือง
ลูกคู่งามแล้ว สวยแล้ว ของท้าวเจ้าเมือง
ผู้นำลูกคู่ : แลแลเหมือนวัง
ลูกคู่ของท้าวเจ้าเมือง
ผู้นำลูกคู่ : เพื่อนเหอเหมือนวัง
ลูกคู่ของท้าวเจ้าเมือง


         การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นเมื่อเล่นจบเพลงก็จะวนมาเริ่มต้นใหม่ได้ เล่นจนกระทั่งเหน็ดเหนื่อยหยุดกันไปเอง บางเพลงที่แต่งไว้ตั้งใจให้จบแค่นั้นก็จะลงเพลงกลอนสุดท้ายด้วย “อีโหย้” เพื่อให้ลูกคู่รับ “ฮิ้ว” หรือ “เฮ้ว” พร้อมกันแสดงว่าจบ เช่น เพลงชมสาว  ของนายเชือน แก้วประกอบ ที่ว่า...

แม่เพลง :  พวกเราพร้อมพรู ตั้งอีโหย้ โอโหว่าโอ
ลูกคู่ 
 :  เฮ้ว
แม่เพลง : โอโหว่าโอ
ลูกคู่  : เฮ้ว
แม่เพลง  :  โอโหว่าโอ 

 

แก่นแท้ของเพลงเรือแหลมโพธิ์

๑. เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น
๒. ทราบประวัติและศิลปะการตกแต่งเรือพระ
๓. ทราบประเพณีการแต่งกายของชาวบ้านโพธิ์ในอดีต
๔. ทราบสภาพทางสังคมท้องถิ่นในเรื่องชีวิตประจําวันความเชื่อทางไสยศาสตร์และทางเศรษฐกิจ

จุดเด่น/เอกลักษณ์

                                                                             ภาพจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/kahlao/2010/07/26/entry-2

คุณค่าที่สะท้อนชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม

         เพลงเรือแหลมโพธิ์จัดเป็นเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสงขลา ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว มีพื้นที่การเล่นอยู่บริเวณรอบลุ่มทะเลสาบสงขลามานับ ๑๐๐ ปี เพลงเรือแหลมโพธิ์ปกติจะมีเนื้อหาที่บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม โดยเฉพาะสังคมท้องถิ่นเอาไว้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ทัศนะ และอารมณ์ขัน ทำให้มองเห็นภาพชีวิตของชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมพื้นบ้านชนิดนี้ได้ดีศูนย์กลางการเล่นอยู่ที่บริเวณแหลมโพธิ์ ซึ่งเป็นแหลมเล็ก ๆ ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา พื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ อยู่ทางตอนเหนือของหมู่ที่ ๓ บ้านแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเพลงที่พวกฝีพายเรือยาวร้องเล่นในเรือร่วมกับประเพณีชักพระ เพื่อชักลากเรือบุษบกพระไปสู่จุดหมายในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดสงขลาเพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงพื้นบ้าน มีบทร้องเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านไว้มากมาย โดยปรากฏให้เห็นเด่นชัดในบทร้องต่าง ๆ ว่าสังคมย่อมอยู่คู่วัฒนธรรมเสมอ ขณะเดียวกันสังคมจะเกิดขึ้นเองอย่างลอย ๆ โดยปราศจากสังคมย่อมไม่ได้เช่นเดียวกัน การร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ ได้สะท้อนชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมได้หลาย ๆ ด้าน อาทิ เช่น

                    ๑. ด้านประเพณี อันเนื่องจากเพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลง ที่ชาวบ้านใช้เล่นกันในวันชักพระโดยตรง ดังนั้นเนื้อหาของเพลงเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงประเพณีชัก (ลาก) พระ ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์มีความผูกพันและมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีชักพระเป็นอย่างดี ในเพลงได้สะท้อนรายละเอียดถึงขนบนิยม ความเชื่อและสารัตถะด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับประเพณีชักพระไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น

                     เพลงอนุรักษ์ของเก่า

                   เดือนสิบเอ็ดแรมต่ำหนึ่งหมันถึงมาแล้ว   เรือพระตั้งแถวล้วนมาชุมนุม
                       ชาวพุทธสุดหวงทำพวงต้มแขวน   จำกันได้แม่นวันออกพรรษา

                   เอานมพระมาสมโภชเพื่อโฆษณา  ให้ชาวประชามานมัสการ
                       ได้มาชมศิลป์ต่างถิ่นมาประกวด  ดูช่างสวยสดงดงามต่างกัน
                       นมเล็กนมใหญ่ดูไสวเฉิดฉัน   รูปทรงองค์อันดูต่างกันเพริดพริ้ง
                       พระน้ำดูไปตามชายหลิง  พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ
                       ผมว่ามานานเดี๋ยวรำคาญกันหนัก  ให้ทุกคนประจักษ์อนุรักษ์ของเก่า

               

             ๒. ด้านการเมืองและการปกครอง ในบทร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์มีเนื้อหาที่สะท้อนถึงการเมืองการปกครอง คือด้านกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายใหม่ ในแง่เป็นเครื่องมือในการสร้างความสนุกสนาน ด้านพัฒนาบ้านเมือง ชี้ให้เห็นถึงการสนับสนุนการพัฒนาบ้านเมืองของรัฐบาล ด้านสิทธิสตรีสะท้อนบทบาทและสิทธิของสตรีในการพัฒนาและด้านการเลือกตั้ง สะท้อนความสนใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของชาวบ้าน  เช่น 

                          เพลงยาวสากล

                         เรียนท่านทั้งหลายเจ้านายทั้งหมด   ท่านผู้มียศปรากฏเสียนัก
                         เป็นที่พึงพักหลักประชาชน                 เฉพาะตำบลทางคนสัญจร
                         เห็นนานแสนนานทางผ่านไปมา        หาดใหญ่ของข้าเห็นช้างไปชัง
                         คงจะล้าหลังฉันหวังพึ่งบุญ               ถึงฤดูแล้วมีแต่อองฝุ่น
                         ท่านน่าการุณอองฝุ่นหมดไป            ตอแรกปีไหนหมดไปสักที
                         ท่านพัฒนาฉันชมว่าดี                         ถนนมากมีเป็นที่สัญจร
                        ไม่ได้เดือดร้อนในดอนไปมา                พ่อค้าแม่ขามากมายหนักหนา
                        หลับหูหลับตาฝ่าฝ่นอองดน                นักเรียนเปื้อนสิ้นจากถิ่นมาไกล

                       

                   ๓. ด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพลงเรือแหลมโพธิ์จำนวนมากได้สะท้อนเนื้อหาเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจของชาวบ้าน เช่น 

                            เพลงของแพง

                                ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องราวทั่วไป   ตั้งรัฐบาลใหม่ทำไมของแพง
                           ทุกหนทุกแห่งแจ้งตามราคา      พวกพ่อค้าเศรษฐีไปข้างหน้า
                           พวกเราชาวนาเวทนาเกินไป      รัฐบาลคนเก่าเขาเอาใจใส่
                           ถนนหนทางที่ค้างเมื่อใด            จัดทำให้ใหม่สัญจรไปมา

   

                        ๔. ด้านศาสนา เพลงเรือแหลมโพธิ์ได้กล่าวถึงเรื่องราวของศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธเป็นจำนวนไม่น้อย เห็นถึงรูปการจิตสำนึกทางสังคม ว่ามีความผูกพัน และความเชื่อในศาสนาหลายประเด็น เช่น

                              เพลงชักพระเกี้ยวสาว

                              มือข้าทั้งสองยกประคองขึ้นตั้ง        ยกขึ้นเหนือเศียรรั้งตั้งความวันทา
                              ไหว้พระพุทธพระธรรมได้จำกายา   ทุกค่ำเวลาวันทาชุลี
                              พอถึงวันดีที่จะออกพรรษา               จัดแจงนาวาพร้อมเพรียงเรียงราย
                              ทั้งหญิงทั้งชายจัดไว้พร้อมเสร็จ     ถึงวันเสด็จเสร็จแล้วจึงไป
                              ถึงคืนวันเพ็งเต็มเต่งพระทัย             จัดแจงเป็ดไก่คดห่อไปกิน
                              พอถึงไก่ขันสนั่นเสียสิ้น                     ดับแดงเครื่องกินหมดสิ้นทุกสิ่ง  
                              พอรุ่งหัวเช้าคดข้าวชนะ                    ฉันไม่ลดละหยิบมาใส่ขั้น
                              ส่วนข้าวกินนั้นปั้นไว้คนแห่ง             ทั้งข้าวทั้งแกงแต่งไว้พร้อมเสร็จ
                              ถึงวันเสด็จเสร็จแล้วจึงไป                พระสุริยาชักรถขึ้นมาไรไร

                                                 

                         ๕. ด้านภาษาถิ่น ภาษาถิ่นใต้เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในภาคใต้ทั่วไป มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์จะใช้ภาษาถิ่นใต้เป็นหลัก อีกทั้งเพลงเรือแหลมโพธิ์เกือบทั้งสิ้นมีภาษาท้องถิ่นใต้แฝงอยู่ เช่น

                             เพลงพรหมสามหน้า

                             ยกข้อเทพนมไอ้นี่พรหมสามหน้า    ถูกสาปอินทรามาเป็นก้อนเส้า
                             ยกมือประณมนั่นพรหมท่านท้าว      เชิงกรานก้อนเส้าบ่าวสาวเรียกเตา
                             ตั้งทะให้คนดูไก้คู้หัวเข่า                    
  แยงฟืนเข้าในเตาไฟเราต้องลุก
                             ไม่กี่นาทีไก้นี้ต้องสุก                            แยงไฟให้ลุกจุกหว่างก้อนเส้า


           จะเห็นว่าเพลงบทนี้มีคำว่า ก้อนเส้า หมายถึง ก้อนหินที่นำมาตั้งเป็นเตา มีลักษณะเชิงกราน คือ เตาไฟที่เคลื่อนที่ได้ สำหรับใช้ประกอบอาหาร ต้องใส่ไม้ฟืน คำว่า “แยงฟืนเข้าในเตาไฟ” หมายถึงวา ต้องใส่ไม้ฟืนเข้าไปในเตา และตั้งกระทะบนเตา ภาษาท้องถิ่นใต้ใช้คำว่า “ทะ” แทน กระทะ

                  ๖. ด้านอนามัย ได้สะท้อนเนื้อหาทางด้านอนามัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านโรคเอดส์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเอดส์และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นโรคร้ายซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงต่อสังคมโดยรวมด้วย เช่น 

                            เพลงกรัมม็อกโซน

                           ปีนี้ภาคใต้คนตายกันแย่                       หมอจบปริญญาหมดท่าจะแก้
                           น้ำตาลคลองแหแช่กรัมม็อกโซน        พิษสารเคมีรุ่นนี้โลดโผน
                           ฤทธิ์กรัมม็อกโซนโดนเอาหลายราย  แพทย์ในมอ.ออ.นึกท้อใจหาย
                           เมื่อตอนวันบ่ายคนไข้ได้มา 
             ผู้ป่วยทั้งหลายเข้าได้มาหา

 

                                               

                        ๗. ด้านความเชื่อ ในบทร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ ได้สะท้อนความเชื่อหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ หรือความเชื่อที่ยอมรับและยึดมั่นถือมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นสิ่งเหนือธรรมชาติ มีการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางเป็นที่ยอมรับในสังคม และได้มีการสั่งสม สืบสานสู่ลูกหลาน ความเชื่อด้านเคราะห์กรรม ความเชื่อนี้มุ่งสอนให้คนทำดีว่าสิ่งใดที่กระทำในชาตินี้จะตอบสนองในชาติหน้าความเชื่อการบนบานศาลกล่าว เป็นความเชื่อที่ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจ ในการกระทำการอ่างใดอย่างหนึ่ง และความเชื่อด้านศาสนา เพราะศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้คนนับถือมีความรู้สึกว่ามีที่พึ่งทางจิตใจ มีใจเข้มแข็ง จะช่วยให้สำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา หรือประสบสิ่งที่ดีงาม
                              เพลงผิดศีลข้อห้า

                        ปีนี้ตัวข้าเทวาท่านสาป                       ศีลข้อห้ากล่าวกินเหล้าหมันบาป
                              เทวาท่านสาปเพราะบาปปางก่อน   กินกรัมม็อกโซนเพราะโดนถูกหลอน                             

                     

                                             

                        ๘. ด้านค่านิยมทางสังคม ซึ่งก็คือวัฒนธรรมที่แสดงออก ในเพลงเรือแหลมโพธิ์ ได้กล่าวถึงเรื่องค่านิยมต่าง ๆ คือการแต่งกาย ความแตกต่างของการแต่งกาย การใส่ฟันทอง เพราะในอดีตชาวภาคใต้นิยมการใส่ฟันทอง เพื่อให้เห็นถึงความสวยงามและมีเสน่ห์ ค่านิยมทรงผม เช่น 

                             เพลงสาวสมัย  
                             ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องสาวสมัย       แต่งตัววิไลสวมใส่ฟันทอง         
                             ใส่ข้างละซี่ตรงกลางมีร่อง          ใส่ไว้เป็นช่องสองข้างหน้าฟัน       
                             โอ้แม่พุ่มพวงแต่งตัวอวดกัน       หมุนเปลี่ยนทุกวันให้ทันสมัย
                             หน้าฟันกัลยาลงกาจับหลัก 

         เนื้อหาของเพลงกล่าวถึง ผู้หญิงนิยมสวมใส่ฟันทองกันมาก ถือเป็นค่านิยม อาจจะเป็นการบ่งบอกถึงฐานะทางเศรษฐกิจดี บางคนจะนิยมใส่ตรงร่องฟัน บางคนก็ใส่ตรงน้าฟันเต็ม ๆ

                         ๙. ด้านจริยธรรม เพลงเรือแหลมโพธิ์มักจะเน้นสอนสตรีโดยตรง โดยมุ่งเน้นให้อยู่ในแนวประพฤติปฏิบัติที่ดี ให้คนมีคุณธรรมในจิตใจ จริยธรรมจึงจะเกิดตามมา ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อตัวเองและสังคม เช่น
                              เพลงสึกพระ
                              
รวยรวยรินรินหอมกลิ่นหัวหมอน                  ร้อยชั่งบังอรไปวอนพระให้สึก
                              นึกมาน่าหัวอีหญิงชาติชั่วไม่กลัวตกนรก    นัดแนะกันไว้แรกพี่ชายเป็นสก
                              ไม่กลัวตกนรกอีหญิงรากา                            นักแนะกันไว้ให้ชายบวชสักษา
                              พอสึกออกมาหันหน้าไปไกล                           ของเสียของหายชาได้มาใส่

                         

                                                   

                         ๑๐. ด้านนันทนาการและการกีฬา ซึ่งในเพลงเรือแหลมโพธิ์จะกล่าวถึง เช่น กีฬาเล่นว่าว ว่าเป็นการพักผ่อนหย่อนใจตลอดถึงความบันเทิง เพลงเรือแหลมโพธิ์ประเภทนี้มุ่งเน้นความสนุกสนานเป็นหลัก ทำให้บางครั้งผู้เล่นเพลงจึงมีเจตนาใช้คำสองแง่สามง่าม ตามลักษณะทั่วไปของเพลงพื้นบ้านทั่วไป บางครั้งเข้าทำนองลามก แต่ก็เพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก อีกเพลงจำนวนหนึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการละเล่นบางอย่างของชาวใต้อีกด้วย เช่น 

                                  เพลงชักว่าว

                                  พอเสร็จเก็บข้าวชักว่าวกันจัง  ลมพัดวาวาวชักว่าวกันมั่ง
                                  ชักแล่นป่าซังหอจังพ่อถี  ผมอยู่จนเฒ่าชักว่าวทุกปี
                                  พอลมพดรี่ผมนี้ชักจริง   พอลมพัดเพรียวนึกเสียวเส้นเอ็น
                                  ชักว่าวหวันเย็นเส้นเอ็นหมันตึง  เฝ้าชักเฝ้าดึงตึงเอ็นลิ้นปี่
                                  ขึ้นติดลมบนมือฝนพอดี   เลิกชักเถิดพี่ตอนนี้ถึงคราว

                                     

                          ๑๑. ด้านศิลปกรรม เพลงเรือแหลมโพธิ์ได้สะท้อนถึงทางด้านนี้ ทั้งในเรื่องการตกแต่งเรือพระ การวาดลวดลาย การปั้น แกะสลัก หล่อพระ เช่น 

                                 เพลงชมนมพระ

                                 วาดรูปราหูอยู่ที่หุ้มกลอง  เป็นหนกเป็นร่องเป็นช่องเป็นชั้น
                                 ไว้ยอดสูงเยี่ยมเทียมกับกังหัน  เป็นช่อเป็นชั้นเป็นหวั้นเป็นราว
                                 ฝูงชนไม่ละชักกะพระโห่ฉาว 
 หนุ่มหนุ่มบ่าวบ่าวสาวสาวแก่แก่
                                 ศึกศึกซึกซึ้งอื้ออึงเซ็งแซ่   บ้างโห่บ้างแห่แลมาเป็นย่าน

                                             

                         ๑๒. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพลงเรือแหลมโพธิ์สะท้อนด้านการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการชัก (ลาก) พระ ซึ่งนิยมทางบกโดยใช้รถยนต์ลากกันมากขึ้น เพราะสะดวกกว่าทางเรืออย่างเช่นในอดีต เช่น 

                                เพลงกลุ่มแม่บ้านชักพระ
                                
ชักพระออกจากวัดนมัสการ        ฝูงชนแม่บ้านทำงานร่วมกัน
                                วันออกพรรษาสนุกสุขสันต์         ไชโยโห่ลั่นพร้อมกันทั้งหมด  
                                แต่ก่อนลากเรือเดี๋ยวนี้ลากรถ     มาเปลี่ยนปรากฏลากรถจากวัด
                                ลำดับถัดถัดจัดกันเรียงราย        ให้กลุ่มแม่บ้านสมจิตคิดหมาย   

                                           

แนวทางอนุรักษ์และพัฒนาเพลงเรือแหลมโพธิ์

           เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของประเพณีชักพระทางน้ำ ซึ่งประเพณีนี่จะเกิดขึ้นในทางภาคใต้ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ทำให้การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์อยู่คู่กับประเพณีชักพระ เพลงเรือแหลมโพธิ์จึงเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ที่เกิดจากการสั่งสมกันมาเป็นเวลานาน ให้คุณค่าในด้านความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเป็นเครื่องมือทางสังคมด้วย เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของเพลงเรือแหลมโพธิ์ ควรจะมีการอนุรักษ์พัฒนา และส่งเสริมให้เพลงเรือคงอยู่กับท้องถิ่นนี้ตลอดไป โดยการอนุรักษ์พัฒนา และส่งเสริมอย่างถูกวิธี เพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าแก่ท้องถิ่นอยู่ตลอดไป โดยมีวิธีการอนุรักษ์ พัฒนา และส่งเสริม ดังนี้
          ๑. ปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเยาวชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ เผยแพร่เพลงเรือแหลมโพธิ์ให้เป็นเพลงพื้นบ้านที่ยอมรับอย่างกว้างขวางต่อไป เช่น จัดโครงการ แข่งขันร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ เป็นต้น
          ๒. ส่งเสริมให้สถานศึกษาในละแวกนั้นมีหลักสูตรเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เพลงเรือแหลมโพธิ์ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในชุมชน
          ๓. ฟื้นฟูเพลงเรือแหลมโพธิ์ โดยต้องเอาเพลงเรือแหลมโพธิ์มาเชื่อมโยงให้ออกมาเป็นมิติของภูมินิเวศ หรือว่าภูมิการให้มองให้เห็นถึงว่าเป็นสากลให้         ได้เพราะจะทำให้ มองเห็นสะท้อนภาพชีวิต สะท้อนภูมิปัญญา ผูกโยงให้เห็นเป็นภาพ เพื่อเป็นการยกระดับเพลงเรือแหลมโพธิ์ให้เป็น นิยมและ                    แนวทางปฏิบัติในชุมชนนั้นและชุมชนอื่นอีกด้วย
          ๔. จัดชุมชนแหลมโพธิ์เป็นศูนย์กลางของเพลงเรือแหลมโพธิ์        ทั้งในด้านการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน เช่น โรงเรียนชุมชน โดยมีคครูภูมิปปัญญา       ชาวบ้านเป็นผู้ให้ความรู้              

        เพลงเรือแหลมโพธิ์ เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านและจัดเป็นมิติทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชนมานานในอดีต ถึงแม้ว่าจะถูกละเลยไปบ้างในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าสังคมจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนนั้น การอนุรักษ์รักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญ การนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ในการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการล่มสลายของครอบครัว ชุมชนโดยส่วนรวมในที่สุด และยังช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เพลงเรือแหลมโพธิ์
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กำเนิด...เพลงเรือแหลมโพธิ์. (2561). สืบค้นวันที่ 29 พ.ย. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/839- เรื่องราวหาดใหญ่-สงขลา%2B%7C%2Bกำเนิด...เพลงเรือแหลม                 โพธิ์/       
ใต้...หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้.  (2547). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
เพลงเรือแหลมโพธิ์ จังหวัดสงขลา. (2551). สืบค้นวันที่ 29 พ.ย. 61, จาก http://plernpitp.blogspot.com/2008/09/blog-post_15.html
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. (2548). ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ : ว่าด้วยภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ ภาษา ศิลปะ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้านครบเครื่องเรื่องเมือง                   ใต้.  พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
สนิท บุญฤทธิ์. (2532). เพลงเรือแหลมโพธิ์ จังหวัดสงขลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. สงขลา : ฝ่ายศึกษาค้นคว้าและวิจัยวัฒนธรรม ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูสงขลา.


ข้อมูลเพิ่มเติม

 

 

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024