มะโย่งหรือเมาะโย่ง คือศิลปการแสดงทํานองเดียวกับมโนห์รา กล่าวกันว่าการแสดงประเภทนี้เคยแสดงในวังรายาปัตตานีมาไม่ต่ํากว่า ๔๐๐ ปีมาแล้ว โดยใช้ผู้หญิงแสดงทั้งหมด ยกเว้นตัวตลกชาย มูบิน เซปาร์ค เขียนในหนังสือทามัน อินทรา ไว้ตอนหนึ่งว่า... เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๕ ชาวยุโรปชื่อปีเตอร์ ฟลอเรส ได้รับเชิญจากนางพญาตานีหรือรายาปัตตานี สมัยนั้นให้ไปเป็นเกียรติในงานเลี้ยงต้อนรับสุลต่านรัฐปาหัง ในงานนี้ปีเตอร์เล่าว่ามีการละเล่นอย่างหนึ่ง ผู้แสดงเป็นหญิงแต่งกายแปลกและน่าดูมาก ลักษณะการแสดงคล้ายนาฏศิลปชวา... ข้อความดังกล่าวนี้น่าจะหมายถึงมะโย่ง ซึ่งสมัยนั้นมักจัดแสดงในงานเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะ สำหรับเรื่องเล่่าเกี่ยวกับมะโย่งมีหลายตำนานด้วยกัน อาทิ....รายาบรือราสะครองเมืองบรือคะ ท้าวเธอมีพระธิดาพระนามว่าฆานอสุรีและโอรส (ไม่ปรากฏพระนาม) สามารถแปลงกายเป็นสุนัขดํา วันหนึ่งพระธิดาและสุนัขออกประพาสป่า ไปพบบาเตาะหรือคนป่าผู้หนึ่งซึ่งสามารถร้องเพลงไพเราะจับใจ พระธิดาจึงขอเรียนร้องเพลงด้วย เมื่อเรียนครบเจ็ดวันจึงเสด็จกลับวัง อยู่มาไม่นานฆานอสุรีทรงครรภ์กับพระเชษฐาเป็นสาเหตุให้ทั้งคู่ถูกขับไล่ออกจากเมือง ต่อมารายาบรือราสะรับสั่งให้ทหารไปฆ่าสุนัขดําและรับเอาพระธิดาและพระนัดดา วันหนึ่งพระกุมารหรือโอรสฆานอสุรีล้มเจ็บลง รายารับสั่งให้โหรทํานายและรักษาพระนัดดา โหรให้นํากะโหลกสุนัขดํามาทําเป็นซอ กระดูกเป็นด้ามขอ เอ็นเป็นสายซอ และเส้นเกศาฆานอสุรีเป็นสายคันชักขอ เมื่อประกอบเป็นซอเสร็จแล้วโหรจึงให้พระกุมารสีซอ ซอมีเสียงดังว่า "พ่อตายแต่ แม่ยังอยู่” พระกุมารได้ยินดังนั้นก็หายเจ็บไข้ จากนั้นพระกุมารได้ลาพระมารดาไปเรียนสีซอและการร้องรํากับปาเตาะปูเตะ เสียงซอที่มาเคาะสอนนั้นมีเสียงดังออกมาว่า "เปาะโย่ง" พระนัดดาจึงมีพระนามว่า "เปาะโย่ง" มาตั้งแต่บัดนั้น เมื่อเปาะโย่งกลับเมืองบรือคะแล้ว ได้แสดงความสามารถถวายรายอ เปาะโย่งให้คนไปตัดไม้ไผ่มาทํารือแระ (แกระ) ทำกือแน (กลอง) จากไม้ปูตะ (ไม้จิก) พร้อมกับผู้สีซออีกหนึ่งคน เสร็จแล้วเปาะโย่งร่ายรําและร้องเพลงเป็นที่สบอารมณ์ผู้ชมอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้การแสดงประเภทนี้แพร่หลายเป็นลําดับมา... อีกตํานานหนึ่งมีใจความว่า....มะโย่งเกิดที่เมืองมายอปาเห็ด สมัยรายามูดอแลลอบ้างว่าเกิดที่เมืองแปลหมัง (ปาเล็มบัง) สมัยรายากาซีนาบันฆีตอ ในตํานานกล่าวถึงพระธิดาทั้งเจ็ดองค์ของรายา ขณะประพาสอุทยานที่กอแลตาแมกูนุงสารีหรือสระน้ํา ณ อุทยานเชิงเขา ได้ศึกษาวิชาขับร้องฟ้อนรํากับนายตูระ ซึ่งมีเสียงอันไพเราะจับใจ เสร็จแล้วจึงเสด็จกลับวัง ต่อมารายารับสั่งให้นายตูระและพระธิดาแสดงมะโย่งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยพระธิดาองค์โตแสดงเป็นเปาะโย่ง องค์รองเป็นเมาะโย่ง และธิดาองค์อื่น ๆ แสดงเป็นนางรํา ส่วนนายตูระเองแสดงเป็นพรานหรือเสนาตัวตลก และทําหน้าที่เป็นนายโรง... อีกตํานานมีใจความว่า...มะโย่งมาจากคําว่า "มะฮ์ยัง” หมายถึง แม่โพสพ สมัยโบราณชาวมลายูทําขวัญข้าวในนาอย่างชาวนาไทย บุคคลที่ขาดไม่ได้คือบอมอหรือพ่อหมอ ซึ่งหมายถึงหมอผีผู้ทรงวิญญาณเจ้าแม่ เพื่อขอความสวัสดิมงคล ขณะเดียวกันก็มีการร้องรําบวงสรวงต่อมาภายหลังเป็นการแสดงของชาวบ้านอย่างหนึ่งมะโย่ง.... ในครั้งอดีตศิลปะการแสดงเป็นถึงมะโย่งรายานิยมเล่นกันในชนชั้นสูง โดยใช้สถานที่แสดงในวังหรือบ้านขุนนาง ครั้งหนึ่ง ๆ จะแสดงนานถึง ๔-๗ คืน การแสดงในสมัยนั้นจะไม่มีฉากและม่าน ซึ่งแต่ละคืนจะหยุดการแสดงได้ก็ต่อเมื่อรายารับสั่งให้ยุติ
โรงแสดง
โรงแสดงมะโย่งคล้ายกับโรงแสดงมโนห์รา คือปลูกโรงยกพื้นเตี้ย ๆ ปูด้วยไม้กระดาน ถ้าไม่ยกพื้นดังกล่าวก็ใช้เป็นเสื้อปลาดบนลานดินหรือลานหญ้า ส่วนม่านหรือฉาก เพิ่งมีมาไม่นาน ก่อนหน้านี้มะโย่งจะแต่งกายที่บ้านเจ้าภาพ หรือเสริมสวยกันในโรงแสดง
นักแสดง
คณะมะโย่งแต่ละคณะจะมีจํานวนผู้แสดงไม่น้อยกว่า ๑๐ คน คือทําหน้าที่เป็นตัวพระ ตัวนาง และตัวตลก นอกจากจํานวน ๑๐ คนดังกล่าวก็เป็นนักดนตรี ซึ่งผู้แสดงจะแต่งเครื่องกายคือ
๑. เปาะโย่ง ซึ่งแต่งตัวเป็นฝ่ายชาย จะใช้ผู้หญิงหรือผู้ชายแสดงก็ได้ แต่ควรจะเป็นคนที่มีรูปร่างสูงพอสมควร มีเสียงดีมีนิ้วมือยาว ๆ เพราะต้องโชว์ความงามของนิ้วมือด้วย ตัวพระหรือปะโย่ง นุ่งกางเกงคล้ายสนับเพลาของมโนห์รา แต่ขาบาน มีผ้าโสร่งนุ่งทับบน สูงเลยเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ศีรษะโพกผ้าสะตางันหรือมงกุฎทําด้วยผ้ากํามะหยี่แข็งสีดํา ขอบมงกุฎปักด้วยเหลือบสีทอง สวมเสื้อกํามะหยี่หรือต่วนแขนสั้นรัดตัว เหน็บกริชที่เอว มือถือแซ้ทําด้วยหวายหลายเส้นมัดติดกัน สําหรับใช้ตีเสนา
๒. มะโย่งแต่งกายเป็นผู้หญิงใช้ผู้หญิงแสดง ควรจะเป็นสวย รูปร่างสูงพอสมควร เช่นเดียวกับผู้แสดงเป็นเปาะโย่ง ตัวนางหรือมะโย่งมีจํานวน ๔-๕ คน นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อกะบาย แขนยาว ไม่รัดรูป มีผ้าสะบา (ผ้าสไบ) พาดคล้องคอห้อยชายลงมาแค่สะเอว ผมเกล้ามวย มีดอกไม้ทัดหู และแซมผม
๓. เสนา ต้องเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาตลก มีไหวพริบดี พูดจาคมคาย เป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้ชมอย่างมาก ตัวตลกหรือเสนามีจํานวน ๒-๓ คน สมัยก่อนไม่สวมเสื้อ แต่ปัจจุบันแต่งกายอย่างชาวบ้านทั่วไป ใช้ผ้าคาดสะเอวและพาดบ่า มีมีดคลก (บีซาโก-ลก) ด้ามทําด้วยไม้เหน็บสะเอว
๔. นางสนม คือคนใช้ของมะโย่งนั่นเอง ต้องเป็นคนที่รูปร่างหน้าตาตลก แต่ต้องมีไหวพริบดีพูดจาคมคาย
เครื่องแต่งกาย
๑. มงกุฎ นิยม ๒ สี คือสีดําและสีแดง แต่ที่นิยมที่สุดคือสีดํา
๒. เสื้อยืดแขนสั้น
๓. เสื้อลูกปัด (ลา) นิยม ๒ สี คือสีดําและสีแดง เสื้อลูกปัดนี้จะใช้สีเดียวกับมงกุฏ คือถ้ามงกุฎสีดํา เสื้อลูกปัดก็ใช้สีดํา ถ้ามงกุฎสีแดงเสื้อลูกปัดก็สีแดง เสื้อลูกปัดหรือที่เรียกว่าลานั้นมี ๒ ชนิด คือลาตาโก ทําลวดลายเหมือนตาข่ายเหมือนยอ (เครื่องจับปลาชนิดหนึ่งเป็นร่างแหรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ลาผ้าต่วน (ลากาเอนบรือดู) ใช้ผ้าต่วนเมื่อกระทบแสงไฟจะมีสีแวววับสวยงาม
๔. ผ้ารัดสะเอว
๕. กริช
๖. ผ้าทับบนกางเกง
๗. กางเกงขายาว (ผ้าแพร)
๘. กําไลมือและกําไลเท้า (กําไลเท้าจะมีหัวกําไลเป็นรูปตันหยงลูกพิกุล)
๙. ถุงเท้า (อาจจะสวมหรือไม่ก็ได้)
๑๐. เล็บนาง (จางา) ทําด้วยเงิน (เล็บนางนนี้ผู้ที่จะสวมได้ต้องเป็นผู้ที่ครูมะโย่งอนุญาตให้สวมแล้วจึงจะสวมได้ หรือต้องเป็นผู้ที่ได้ทําพิธีไหว้ครูเรียบร้อยแล้ว)
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีในการแสดงมะโย่ง ได้แก่
๑. กลองแขก ๒ ใบ กลองใบใหญ่เรียกว่ากลองแม่ ใบเล็กเรียกว่ากลองลูก
๒. ฆ้องโหม่ง ๒ใบ ฆ้องตัวผู้และตัวเมีย (ฆ้องตัวผู้จะมีเสียงทุ่มกว่าฆ้องตัวเมีย)
๓. ปีชวา ซึ่งเหมือนกับปี่ของมโนห์ราและหนังตะลุง
๔. ซอสามสาย
๕. ไวโอลิน (ยูวาลอ)
๖. ฉิ่ง
๗. ฆ้องคู่ (เหมือนกับฆ้องหม่ง แต่เสียงเล็กกว่าฆ้องโหม่งมาก)
๘. หวายมีด ๙ เส้น เพื่อใช้ตีราชองค์รักษ์ เมื่อกระทําผิดมีความยาวประมาณ ๑ ศอก
๙. กลับคู่ (แซรง) ใช้ตีประกอบ
เพลงร้อง
เพลงมะโย่งมีลีลาทอดเสียงยาวคล้ายเพลงเปอร์เซีย ซึ่งมีอิทธิพลต่อไทยมุสลิมมานานแล้ว ตัวอย่างชื่อทำนองเพลง
๑. ลาฆูบารัต อันโยร์ (เพลงสําหรับประกาศข่าว)
๒. ลายมือจัมโบว์ (เพลงโศก)
๓. ลาฆูมืองูเล็ด (เพลงกล่อมเด็ก)
๔. ลาฆูยูร์ (เพลงแสดงความเบื่อหน่าย)
๕. ลาฆู กีซังฮามัส (เพลงร้องหมู่ขณะทํางานร่วมกัน)
๖. ลาฆูตีมัง-ตีมังวือลู, ลาฆูจาเมาะะมานัส, ลาฆูปานังงารี ( ทั้ง ๓ เพลงนี้ใช้สําหรับบทรักระหว่างนุ่มสาวโดยเฉพาะ)
ทํานองเพลงดังกล่าวนี้ นักแสดงหญิงเป็นผู้ร้อง และมีเพลงเพียง ๒-๓ เพลง เท่านั้นที่ร้องโดยตัวตลก อีกประการหนึ่งผู้ร้องต้องเปล่งเสียงออกมาอย่างเต็มที่ ดนตรีเพียงแค่คลอตาม หลังจากร้องเพลงจบวรรคหนึ่งแล้ว ผู้แสดงอื่น ๆ จะรับพร้อมกัน
การเตรียมการและวิธีการแสดง
๑. ต้องปลูกโรงขึ้นให้เสร็จก่อนแล้วจุดตะเกียงเจ้าพายุแขวนไว้ตรงกลางโรงหรือถ้ามีไฟฟ้าก็ประดับไว้ตามที่เห็นเหมาะสม ผู้สีซอสามสายจะนั่งตรงกลางด้านทิศตะวันออก
๒. แขวนฆ้องโหม่งไว้ทางมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
๓. ผู้ตีกลองและอื่น ๆ จะอยู่ทางด้านทิศเหนือ
๔. ผู้แสดงเป็นตัวละครอื่น ๆ นั้นจะอยู่เรียงรายทางทิศใต้และตะวันตก
๕. ก่อนลงมือแสดงหัวหน้าโรงต้องเบิกโรงเสียก่อน
๖. ในการเบิกโรงนั้น เปาะโย่งจะเข้าไปนั่งโดยหันหน้าไปยังผู้ที่กําลังมีซอสามสาย มะโย่งทั้ง ๒ คน ไปนั่งขนานเอื้องอยู่ข้างหลังเปาะโย่ง
๗. เปาะโย่งเริ่มรำ มะโย่งทั้ง ๒ รำตามไปด้วย แต่ต้องรําสลับกันคือถ้าเปาะโย่ง รำไปทางขวา มะโย่งจะรำไปทางซ้าย ผู้ที่แสดงเป็นเปาะโย่งจะต้องทําให้ปลายนิ้วมือเสมอกับ หัวไหล่ สายตามองที่ปลายนิ้วเสมอ ช่วงแขนต้องเสมอไหล่ ส่วนมะโย่งจะต้องทําให้ปลายนิ้ว เสมอราวนม สายตามองที่ปลายนิ้วเช่นเดียวกับเปาะโย่ง
ท่ารําเบิกโรง (เปาะโย่งร้องเพลงรําเบิกโรงปลุกยืน)
๑. นั่งกับพื้น เอาเท้าขวาพาดกับเท้าซ้าย ให้มือซ้ายทาบลงบนเท้าขวา มือขวาจับเข่าชวา
๒. ยกมือในท่าไหวแล้วจีบ ครี่จีบออกคว่าลงแล้วยกแขนขึ้นตั้งวงทั้ง ๒ ข้าง ให้อยู่ระดับไหล่ตามองตรงไปข้างหน้า
๓. มือขวาจีบ มือซ้ายยังคงตั้งวงอยู่
๔. มือซ้ายจีบ หันเข้าหาตัว ส่วนมือขวายังคงตั้งวงอยู่
๕. มือซ้ายตั้งวงในระดับไหล่ มือขวาจีบระหว่างอกกับสะเอว
๖. เปลี่ยนมือขวาขึ้นตั้งวง มือซ้ายจีบระหว่างอกกับสะเอว
๗. จีบคว่ำแล้วไปตั้งวงทั้ง ๒ ข้าง ด้านซ้ายแล้วเอนตัวไปทางขวาช้า ๆ แล้วค่อย ๆ โยกตัวไปตั้งตรงพร้อมกับเปลี่ยนมือขวาจากตั้งวงเป็นจีบเข้าหาตัวให้อยู่ต่ำกว่ามือซ้ายเล็กน้อย
๘. เอนตัวไปทางซ้ายตั้งวงไปทางขวา แล้วเปลี่ยนมือซ้ายเป็นจีบหันเข้าหาตัว
๙. นั่งหย่งเท้า วางตะโพกบนชั้นเท้า เข่าแยกออกเล็กน้อยไม่แตะพื้น พร้อมกัน ตั้งวงมือซ้าย มือขวาจีบเข้าหาตัวแล้วเปลี่ยนสลับข้างกัน แล้วค่อย ๆ ยืนขึ้นและรําพรหมสีหน้า
๑๐. ขณะที่ยืนขึ้น มือก็ยังรําสลับกันไป ๓ จังหวะ แล้วยืนตรง มือขวาตั้งวง มือซ้าย ปล่อยลงข้างตัว
๑๑. ปัดเท้าขวาไปข้างหลัง มือขวายังตั้งวงอยู่ มือซ้ายปล่อยห่างจากตัวพร้อมกับเบน ปลายเท้าไปด้วยแล้ววางราบกับพื้น
๑๒. ยกเท้าซ้ายขึ้นเยื้องออกไปข้างหน้า มีอยังตั้งวงอยู่ท่าเดิม แขนซ้ายกางออกและยกขึ้น เล็กน้อย
๑๓. ยกเท้าขวาไปข้างหน้าวางเฉียง ๆ พร้อมกับเปลี่ยนมือซ้ายเป็นตั้งวงมือขวาลดลงในท่าจีบ ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือทับบนนิ้วชี้อีก ๓ นิ้วปล่อยเฉย ๆ
๑๔. ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าพร้อมกับหมุนตัวเล็กน้อย เปลี่ยนมือซ้ายจากตั้งวงมาเป็นจีบคว่ำและแขนยังอยู่ในระดับเดิม มือขวาจับขึ้นไปข้างหน้าระดับไหล่ ก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกับหมุนตัวโดยใช้ส้นเท้า
๑๕. มือขวาที่จีบคว่าอยู่ระดับไหล่ ให้เปลี่ยนเป็นท่าตั้งวงแล้วคลี่มือซ้ายออกไปทางซ้าย เฉียงออกห่างจากลําตัวพอสวยงาม
ท่าเดินท่ารำเดินไปด้วย
๑. ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าแล้วยกมือซ้ายขึ้น ตั้งวงในระดับสายตาทั้ง ๒ ข้าง
๒. ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ๑ ก้าว พร้อมกับจรดมือซ้ายลง
๓. ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ๑ ก้าว แล้วยกมือซ้ายขึ้นในท่าเดิม
๔. วาดเท้าขวาไปข้างหลัง พร้อมกับวาดมือขวาไปตามตัว แล้วยกขึ้นมาจีบมือซ้ายยังอยู่ในท่าเดิม
๕. เปลี่ยนเท้าซ้ายไปวางข้างหน้าแล้วยกเท้าขวาขึ้นมา
๖. เอาเท้าซ้ายไปข้างหน้า วาดมือซ้ายไปตั้งจีบที่ชายตะโพก
๗. ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า แล้วคลี่มือซ้ายออกในท่าตั้งวงให้ฝ่ามือหันออก
๘. มือที่ตั้งวงอยู่วาดออกไปใหม่ กํามือหลวม ๆ แล้วจับลงหันหน้ามือเข้าหาตัวเอง
๙. ยืดไหล่ออกให้สง่าแล้วก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ไขว้เท้าขวาไปข้างหลังในท่า เฉียงมือขวาตั้งวง ส่วนมือซ้ายตั้งในระดับไหล่คว่าปลายนิ้วลง
๑๐. ยืนตรงแล้ววาดเท้าขวาไปข้างหลัง เตะเท้าซ้ายไปข้างหน้าวางราบลงกับพื้น แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับวนตัวเล็กน้อย ซึ่งเท้าซ้ายก้าวไปข้างหน้า
๑๑. เอามือขวาวางทาบที่สะเอวมือซ้ายตั้งวง โหย่งตัวเล็กน้อยแล้วก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า พร้อมกับลอยหน้าเล็กน้อย (นาด)
๑๒. หลังจากนั้นก็เริ่มแสดงเนื้อเรื่องต่อไป
เรื่องที่แสดง
เรื่องที่นํามาแสดงมะโล่งนั้นเรื่องที่เป็นต้นเรื่องของมะโย่ง เรื่องแรกคือเรื่องพระราชาหอยโข่ง (ถ้าจะสอนศิษย์ให้แสดงมะโย่งเป็นก็ต้องเริ่มจากเรื่องนี้) ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะนํามาแสดงได้แก่เรื่องเกี่ยวกับจักร ๆ วงศ์ ๆ เหมือนกับมโนห์ราและหนังตะลุง แต่ส่วนมากมักจะเป็นคติสอนใจให้ผู้ดูแล้วได้รับความรู้ในเรื่องความดี ความชั่ว และขณะเดียวกันก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=mDvWR8QZ1Ms
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2524). สมบัติไทยมุสลิมภาคใต้. ปัตตานี : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
รัตนา พันธุ์สุริย์ฉาย. (2538). ยะลาบ้านเรา. ยะลา : สำนักงานจังหวัดยะลา.