โนราโรงครูนั้นไม่มีปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่เมื่อใด ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะโนราโรงครูวัดท่าแค ตําบลท่าแค อําเภอเมือง จังหวัดพัทลุง การจัดงานโนราโรงครูวัดท่าแคถือกําเนิดมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงการจัดโนราโรงครู อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ด้วยเหตุที่วัดท่าแคแห่งนี้มีหลักพ่อขุนศรีศรัทธาหรือเขื่อนขุนทา ปรมาจารย์โนราซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ผู้ก่อให้เกิดโนราโรงครูวัดท่าแค จึงทรงสร้างรูปปั้นขุนศรีศรัทธาและพรานบุญ บริเวณศาลาเขื่อนขุนทา เพื่อประดิษฐานรูปปั้นเป็นอนุสรณ์ของขุนศรีศรัทธา และจากความเชื่อที่ว่าขุนศรีศรัทธาเป็นครูคนแรก จึงจัดให้มีโนราโรงครูขึ้นที่วัดท่าแค โดยมีโนราแปลก (แปลก ชนะบาล) เป็นครูโนราอาวุโสของบ้านท่าแค และจังหวัดพัทลุงเป็นผู้นําสําคัญและเป็นเจ้าพิธีกรรมในรุ่นแรก โดยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงได้กําหนดให้วันพุธ สัปดาห์ที่ ๒ ของเดือน ๖ มีการจัดพิธีไหว้ครูโนราและรําโนราโรงครูถวาย ชาวบ้านที่เชื่อว่าตนเองมีตายายโนรา ก็จะมาเข้าร่วมชุมนุมกันอย่างคับคั่ง โนราใหม่จากทั่วสารทิศที่ต้องการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่หรือแต่งพอก ก็จะเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนั้นยังมีการแก้เหมฺย (แก้บน) การรําคล้องหงส์ และรำแทงเข้
เครื่องแต่งกายของโนราโรงครูของวัดท่าแค ซึ่งประกอบด้วยสิ่งสําคัญต่อไปนี้คือ
๑. เทริด |
๒. เครื่องลูกปัด |
๓. ปีกนกแอ่น |
๔. ซับทรวงหรือทับทรวง |
๕. ปีก (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหางหรือหางหงส์) |
๖. ผ้านุ่ง |
๗. เพลาหรือเหน็บเพลาหรือหนับเพลา |
๘. หน้าผ้า (ลักษณะเดียวกับชายไหวถ้าเป็นของโนราใหญ่) |
๙. ผ้าห้อย |
๑๐. กําไล ต้นแขนและปลายแขน |
๑๑. กําไล (ทําด้วยทองเหลือง ทําเป็นวงแหวน ช้สวมมือ และเท้าข้างละหลาย ๆ วง) |
๑๒. เล็บ |
๑๓. หน้าพราน (เป็นหน้ากากสําหรับตัวพรานหรือตัวตลก) |
๑๔. หน้าทาสี (หน้าผู้หญิงมักทาสีขาว) |
การสืบทอดบทบาทเจ้าพิธีกรรมของโนราโรงครูวัดท่าแค
โนราโรงครูของวัดท่าแค่มีแต่โบราณตั้งแต่สมัยรุ่นอาจารย์ของอาจารย์ ตั้งแต่โนราช่วย มาโนราปั่น แต่ที่ปรากฏชัดเจนและทํากันทุกปีคือในยุคของโนราแปลก โนราสมพงศ์ และโนราเกรียงเดช (รุ่นที่ ๓) ซึ่งเป็นผู้สืบทอดเจ้าพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแคในปัจจุบัน นายโรงโนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ เจ้าพิธีโนราโรงครูท่าแคในยุคปัจจุบัน มีอายุเพียง ๒๙ ปี แต่ต้องรับหน้าที่สําคัญคือการสืบทอดเจ้าพิธีโนราใหญ่ในพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแค โดยสืบทอดจากรุ่นปู่คือโนราแปลกท่าแค (แปลก ชนะบาล) บรมครูโนราใหญ่แห่งท่าแค ต่อมาถึงรุ่นน้าโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง (สมพงษ์ ชนะบาล) เรียกได้ว่าทั้งจิตวิญญาณและเลือดเนื้อเชื้อไขของเกรียงเดชจึง มีเชื้อสายโนราเต็มร้อย ในวัยเด็กจนถึงวันที่มารับหน้าที่โนราใหญ่เจ้าพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแค ชีวิตของเกรียงเดชนั้น บางเรื่องก็เป็นโจทย์ที่ไม่อาจหาคําตอบได้ เป็นที่น่าแปลกใจว่าในขณะที่ตอนนั้นพ่อแม่มีลูกมาแล้ว ๗ คน แต่พ่อแม่ก็ยังตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรชายจากครูหมอโนราอีกหนึ่งคน ซึ่งถ้าหากได้ดังหวังจะให้ลูกคนนี้เป็นผู้สืบทอดโนราต่อจากปู่และน้า และในขณะนั้นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นที่น่าประหลาดใจ คือตอนนั้นลูกชาย ๒ คน ซึ่งเป็นพี่ชายของเกรียงเดชก็ทําหน้าที่รําโนราอยู่ด้วยแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงอาจเป็นข้อสงสัยสําหรับบุคคลภายนอก แต่เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้นที่ไม่มีข้อสงสัยหรือข้อแม้ใด ๆ ในวัยเด็กนั้นเด็กชายเกรียงเดชเติบโตและวิ่งเล่น คลุกคลีอยู่มากับโรงโนราปู่ (โนราแปลก) ไปแสดงที่ไหนเด็กชายเกรียงเดชก็ติดสอบห้อยตามไปด้วยทุกครั้ง จนกระทั่งซึมซับกลายเป็นความรักและอยากจะเป็นโนรา แต่อย่างไรผู้เป็นปู่ก็ไม่ถ่ายทอดวิชาให้ด้วยเพราะท่านเองก็รําเป็นโดยไม่มีใครสอน
พิธีกรรมและขั้นตอนของโนราโรงครูวัดท่าแค
ลักษณะของการรําโนราโรงครูวัดท่าแคโดยเริ่มจากการทําโรง โรงที่ถูกต้องจะต้องเป็นเรือนไม้ ภายในโรงโนราแบบดั้งเดิม เป็นเรือนเครื่องผูกขนาด ๙x๑๑ ศอก มีเสา ๖ เสา ไม่ยกพื้น ไม่ตอกตะปูในการก่อสร้าง หันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ หลังคาเป็นรูปหน้าจั่ว มุงจาก ครอบกระแซงหรือใบเตยไว้ตรงกลางจั่ว ด้านซ้ายหรือด้านขวาทําเป็นชั้นสูงระดับสายตา เพื่อวางเครื่องบูชาเรียกว่าศาลหรือพาไล ด้านหลังของโรงพิธีทําเป็นเพิงพักของคณะโนรา การประกอบพิธีกรรมจะกระทำในวันพุธสัปดาห์ที่ ๒ เดือน ๖ ของทุกปี โดยใช้วัดท่าแคเป็นสถานที่จัดงาน ใช้เวลา ๓ วัน ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
- วันที่ ๑ (วันพุธ) โนราเข้าโรงทําพิธีไหว้ภูมิโรง พิธีตั้งบ้านตั้งเมืองโดยจะเริ่มพิธีในเวลา ๑๕.๐๐ น. มีการไหว้ภูมิโรงและเมื่อถึงเวลาโนราเข้าโรง ก็จะทําน้ำมนต์หน้าเขอ (คาน) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ตามสายฉบับของโนราแปลกมีการดับสาดดับหมอน (จัดวางเสื่อและหมอน) ทางฝั่งตะวันตกหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อเป็นการแสดงการทักทายเจ้าที่เจ้าทางก่อนเข้าโรงโนรา การทําน้ำมนต์เพื่อประพรมเครื่องดนตรีและโรงโนราถือว่าสำคัญเพราะจะได้ขับไล่ของไม่ดีต่าง ๆ ออกไป ตลอดถึงการตั้งเครื่องตั้งของจัดโรง พอเวลาโพล์เพล์ (เวลานกเข้ารัง) โนราใหญ่ก็จะเริ่มเบิกโรง การเบิกโรงเป็นการบูชาเครื่องดนตรี ประกาศขอขานเจ้าที่เจ้าทาง เครื่องดนตรียัดอาคมซึ่งเป็นความเชื่อกันว่าจะทําให้เครื่องดนตรีมีเสียงดังกังวาน ได้ยินถึงไหนคนรักถึงนั่น เสร็จก็จะเป็นพิธีเบิกโรง เริ่มโหมโรงโนราใหญ่บอกกล่าวกาศครู เริ่มด้วยการขานเอว่าโดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ขานเอว่ากันว่าเป็นการรําพึงรําพันของนางนวลทองสําลีที่ถูกลอยแพ เมื่อกาศครูเสร็จแล้วจะเป็นการเชิญครู ชุมนุมครู เสร็จแล้วจะเป็นพิธีการตั้งบ้านตั้งเมือง โนราใหญ่ก็จะทําการตั้งบ้านตั้งเมือง เสร็จจากพิธีการตั้งบ้านตั้งเมืองก็จะเป็นการกราบครูเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อเชิญเขามาแล้วก็ต้องกราบ ครู และยังรวมถึงความเป็นสิริมงคลของตัวเรา (ผู้รําโนรา) อีกด้วย เป็นอันเสร็จพิธีกรรม จากนั้นจึงต่อด้วยภาคบันเทิงไปจนถึงเวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น. |
- วันที่ ๒ (วันพฤหัสบดี) พิธีเชิญครู (กาศครู) พิธีบวงสรวงครู พิธีแห่ผ้าผูกต้นโพธิ์ รําถวายศาล พิธีรําแก้เหมย (แก้บน) การเหยียบเสน ออกพราน ๑๒ คําพลัดแต่งพอก ตอนเช้าดวงตะวันทอสีทองเวลาประมาณตีห้าครึ่ง ผู้ทําหน้าที่เป็นโนราใหญ่ต้องทําการชุมนุมครู ซึ่งเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อนที่จะเป็นการปลุกผู้ทําหน้าที่แม่ครัวมาทํากับข้าวให้กับโนราได้กิน แต่ทั้งนี้ก็ยังแฝงด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์คือเราชุมนุมครู เพื่อเป็นการบอกกล่าวแก่ดวงวิญญาณของครูอาจารย์ให้รู้ว่าวันนี้ยังคงมีพิธีการ ให้ครูหมอโนราและเทวดาที่ได้อัญเชิญมาอยู่ประจําโรงโนราอีก โดยจะจัดเครื่องเซ่นไหว้ถวายข้าวถวายของและกราบครูอีกเหมือนเดิม เมื่อถึงเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. จึงเริ่มพิธีการโหมโรงอีกครั้งหนึ่ง กราบครูตามลําดับ ชุมนุมครูและถวายข้าวถวายของสําหรับมื้อเที่ยง อย่าให้พ้นเวลาพระฉันเพล คนที่เอาของมาเช่นไหว้เขาจะมากันในวันนี้มีพร้อมทั้งของคาวของหวานต่าง ๆ มีพร้อมหมด คนที่แก้บนด้วยหัวหมูก็จะนํามาในวันนี้ถือว่าเป็นการส่งให้กับพ่อแม่ ตายาย ครูหมอ ให้เขาเหล่านั้นได้รับได้กิน กราบเช่นครูหมอเสร็จสิ้นก็เป็นการกราบครูเช่นเดิม เสร็จพิธีกรรมช่วงนี้ก็จะเป็นการรําถวายศาล การรําถวายศาลคือการรําด้วยโนราผู้ชายจำนวนหนึ่งคน เป็นการแสดงให้เห็นว่าได้เลี้ยงข้าวปลาอาหารคาวหวานแล้ว ยังมีการแสดงความบันเทิงให้ได้ดูอีกด้วย ก่อนโนราใหญ่จะออกโรงจะให้โนราผู้ชายรําถวายหนึ่งคน เสร็จแล้วจะเริ่มท่อง ๑๒ คําพลัดไปจนถึงบทสุดท้าย สําหรับในวันนี้พิธีการสําคัญคือการแต่งพอก การแต่งพอกจะเป็นลักษณะของเครื่องแต่งกายที่แปลกจากปกติ โดยจะสังเกตได้จากพอกข้างหลังเย็บเป็นชั้น ๆ และมีผ้าเช็ดหน้ามัดเป็นลูก ๆ เรียกว่าผ้าล้อมพอก พอกนี้หมายถึงการพอกพูนโภคสมบัติ เป็นสมบัติของตาหลวงโนราในสมัยก่อน โนราสมัยก่อนเขารําแบบเดินโรงสมบัติไม่มีที่เก็บ ก็จะเย็บใส่ไว้ในพอกเพื่อเป็นการหลบสายตาของโจรหรือของบรรดาคนที่คิดไม่ดีต่อโนรา เป็นการเอาผ้าล้อมไว้ไม่ให้มีใครมองเห็นได้ จนกลายมาเป็นความเชื่อในปัจจุบันที่เชื่อกันว่าเป็นการพอกพูนโภคสมบัติ เงินที่ใส่ไว้ในพอกก็จะนําไปทําขวัญถุง ลูกพอกที่ได้ม้วนไว้ดึงยังไงก็ไม่ออก หมายความถึงเข้ามาแล้วเก็บมาแล้ว มีความเหนียวแน่น การแต่งพอกจะมีผ้าข้างหน้าที่เรียกว่าผ้างวงช้าง ผ้าผืนนี้ใครได้เอาไปใช้หมายถึงเป็นผู้มีบุญบารมี และมีบริวารที่ดี นั่นคือความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา เสร็จพิธีกรรมของวันพฤหัสบดี ก็จะมาต่อช่วงกลางคืนเป็นการรําโนราปกติ พิธีการแก้บนคนที่จะออกพรานรําถวาย พิธีเหยียบเสนก็จะทํากันในวันพฤหัสบดี ถ้าคนเยอะจนทำไม่ทันพิธีในวันพฤหัสบดีที่ยังสามารถทําได้ในวันศุกร์ตามความเชื่อ การเหยียบเสนคือการรักษารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เสนเป็นลักษณะพิเศษลักษณะ คล้ายปานแดงที่นูนขึ้นมา ซึ่งเชื่อกันไปหาหมอทางโรงพยาบาลรักษาไม่ได้หรือรักษาไม่หาย จึงใช้วิธีโดยการให้โนราใหญ่เป็นคนเหยียบ ในพิธีการเหยียบเสนก็จะต้องมีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ หญ้าคา หญ้าขัดมอญ ในบอน รวงข้าว ใบมีด เข็มด้าย เงินทอง พร้อมด้วยน้ำที่ใช้ทําน้ำมนต์ในการรักษาสิ่งเหล่านี้ เชื่อกันเป็นการดลบันดาลของครูหมอโนรา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่มีความผูกพันกับโนรา และยังอาศัยความมีตบะของโนราใหญ่ในการรักษา กิจกรรมต่าง ๆ จะดําเนินไปจนถึงเวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น. การเหยียบเสนเป็นการบําบัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งจะกระทําโดยโนราใหญ่ที่ผ่านพิธีกรรมและกระทําพร้อมกับการร่ายรําโนราโรงครู สะท้อนถึงความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อพิธีกรรม จากพิธีกรรมดังกล่าวเชื่อกันว่าจะทําให้เสนค่อย ๆ หายไป ถ้ายังไม่หายก็ให้ทําซ้ำจนครบ ๓ ครั้ง เสนจะค่อย ๆ หายไปในที่สุด |
- วันที่ ๓ (วันศุกร์) เชิญตายายเข้าทรงในร่างทรง พิธีรําแก้บน พิธีตัดเหมรย การเหยียบเสน แก้บน ออกพราน รําคล้องหงส์ จับบทสิบสอง รําแทงเข้ พิธีบูชาตายาย โดยจะเริ่มเวลา ๐๓.๐๐ น. โนราลงโรง โนรากาศครู โนราเชิญครู พิธีเซ่นไหว้ครูหมอ และอาจมีพิธีแก้บน และพิธีเหยียบเสนต่อ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นหมดแล้ว ก็จะเป็นการเริ่มบทคล้องหงส์ การละเล่นคล้องหงส์เสร็จก็จะเป็นการแทงเข้ จากนั้นจะเป็นการบูชาวิญญาณครูหมอโนรา โนราโรงครูวัดทําแคจะไม่มีการทําพิธีตัดเหมรย (พิธีส่งวิญญาณครูหมอโนรา) เนื่องจากเชื่อถือกันว่าวัดท่าแคเป็นที่อยู่ของครูหมอโนรา หากทําพิธีตัดเหมฺรย เมื่อเสร็จพิธีเท่ากับทําพิธีตัดขาดจากครู พิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแคจึงสิ้นสุดหลังจากทําพิธีแทงเข้ ในวันที่ ๓ ซึ่งเป็นวันศุกร์ จากนั้นก็เป็นอันเสร็จ พิธีโนราโรงครูวัดท่าแค สําหรับการรําคล้องหงส์ในพิธีเข้าโรงครูเป็นไปเพื่อให้พิธีสมบูรณ์ สําหรับการรําคล้องหงส์ใช้ผู้รําจํานวน ๘ คน โดยมีโนราใหญ่เป็นพญาหงส์ และโนราอื่น ๆ จํานวน ๖ คนเป็นเหล่าหงส์ โดยผู้เป็นนายพราน ๑ คน สําหรับการรําคล้องหงส์จะมีการสมมติท้องเรื่องเป็นสระอโนดาต ร้องบททํานองกลอนพญาหงส์ในขณะที่หงส์กําลังร้องกลอนบททํานองพญาหงส์ ผู้รับบทบาทเป็นนายพรานจะออกมาต้อม ๆ มอง ๆ เพื่อจะเลือกคล้องพญาหงส์ นายพรานไล่คล้องได้พญาหงส์ พญาหงส์ใช้สติปัญญาจนสามารถหลุดพ้นจากบ่วง เป็นการจบการรําคล้องหงส์ โดยเชื่อกันว่าการรําคล้องหงส์ในโรงครูทั้งตัวพญาหงส์ คือโนราใหญ่และผู้แสดงเป็นพรานมีครูโนราเข้าทรงด้วย หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมของโนราโรงครูวัดท่าแคแล้ว จะมีเงินที่ได้รับจากการบูชาครูหมอโนรา สําหรับเงินที่ได้จากการบูชาครูหมอโนราเป็นหน้าที่ของโนราใหญ่ที่จะนําไปทําบุญและให้ทาน เมื่อเสร็จพิธีกรรมโนราโรงครูก็จะต้องไปวัดนําปิ่นโตไปถวายพระ เพื่อที่เราจะได้ทําบุญถึงครูอาจารย์บรรพบุรุษและให้พระท่านได้ส่งถึงบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธิกรรม |
อัตลักษณ์ที่ปรากฏในพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแค
โนราโรงครูวัดท่าแคมีความอัตลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากโนราโรงครูที่อื่น ๆ และมีความเคร่งครัดถือธรรมเนียมการดําเนินตามพิธีกรรมดั้งเดิม เช่น พิธีกรรมของการตั้งบ้านตั้งเมืองก็เชื่อกันว่าเป็นการสร้างบ้านสร้างเมือง ทําให้โรงโนราที่เป็นเพียงโรงโนราธรรมดากลายเป็นมณฑลพิธี ที่สามารถประกอบพิธีกรรมได้เหมือนการสร้างโบสถ์ก็ต้องสวดคาถาทําพิธีปลุกเสกในโบสถ์ ปลุกเสกสวดคาถาพิธีกรรมของโนราก็ต้องทําในโรงโนรา จึงต้องทําโรงโนราให้เป็นมณฑลพิธี โรงโนรานั้นจะต้องไม่มีการตอกตะปูให้ความแข็งแรงของโรงโนราด้วยการผูกมัด มีการดําเนินการตามพิธีการต่าง ๆ ตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่ตัดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งออก มีพิธีการเชิญครู (กาศครู) พิธีบวงสรวงครู พิธีแห่ผ้าผูกต้นโพธิ์ รําถวายศาล พิธีรําแก้บน การเหยียบเสน ออกพราน รํา ๑๒ คําพลัด เชิญตายายเข้าทรงในร่างทรง มีการรําคล้องหงส์ รําแทงเข้ และการบูชาวิญญาณครูหมอโนรา สิ่งเหล่านี้ทําเพื่อบูชาวิญญาณครูหมอโนราหรือบรรพบุรุษ เมื่อถึงเวลาของท่านท่านก็จะมาประทับทรง เพื่อเป็นการแสดงให้รู้ถึงการมีอยู่จริง ยังมีวิญญาณครูหมอโนรา วิญญาณของพรรพบุรุษที่มาเข้าทรงและรักษาคนหรือที่มีการมาทําพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีความสําคัญหรือเป็นการแสดงออกว่าได้มีวิญญาณของครูหมอโนราต่าง ๆ ได้มาแสดงจุดกําเนิดของโนรา วิญญาณบางส่วนมาจากการเชิญโดยที่โนราที่ได้กล่าวเชิญด้วยบทกลอน เชิญให้มาประทับทรงท่านเหล่านั้นก็มา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างอธิบายได้ยากในโลกของปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องของไสยศาสตร์หรือจิตวิทยา รวมถึงเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่ทําให้บางคนมีอาการแบบนั้น (อาการเข้าทรง) บางคนมีวิญญาณของครู หมอโนรามาทรงเต็มตัวทําให้ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ สําหรับบางคนก็มาเพียงแอบในร่าง ยังมีความเป็นจริตตัวตน ของเราอยู่หรือบางคนก็เพียงแค่อาศัยในการผ่านร่างไม่ได้ทําให้ลืมตัว แต่มาอยู่เพื่อเป็นการแสดงถึงการมีอยู่ของวิญญาณครูหมอโนรา แสดงให้เห็นว่าวันนี้ท่านเหล่านั้นได้มาถึงแล้ว
เมทิกา พ่วงแส. (2550). การสืบทอดและการดํารงอยู่ของโนราโรงครูวัดท่าแค ตําบลท่าแค อําเภอเมือง จังหวัดพัทลุง.
วารสารวิขาการและวิจัย มทร.พระนคร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 4 (1) 1-17.