คณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา
 
Back    11/01/2021, 15:08    5,826  

หมวดหมู่

การแสดง


ประเภท

อื่น ๆ


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ขอขอบคุณภาพจาก : https://www.facebook.com/norapensee/photos/?ref=page_internal

         โนราเพ็ญศรี ยอดระบำ คือบรมครูโนราหญิงระดับแนวหน้าของภาคใต้ เจ้าของสมยานามคือ ราชินีกลอนสดแห่งเมืองศรีปราชญ์ โนราเพ็ญศรี ยอดระบำท่านเป็นลูกศิษย์ของโนราเจริญและโนราถาวร มีผลงานเทปซีดีมากที่สุดในศิลปินโนราปักษ์ใ้ต้ มีผลงานละครทีวีเรื่องน้ำตาโนราห์ช่องโชว์ใต้ เป็นโนราหนึ่งเดียวในภาคใต้ที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยทางไปแสดงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา เป็นคณะโนราที่สืบเชื้อสายโนราจากโนราสุวรรณ คชเสนา ซึ่งเป็นตาเล่นโนราเป็นตัวพราน
           โนราเพ็ญศรี หมื่นพันธ์ เกิดวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่อําเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อนายเอี่ยม หมื่นพันธ์ซู มารดาชื่อนางขึ้น หมื่นพันธ์ชู มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน คือสัญญา ชะอ้อน เพ็ญศรี สายใจ และสมชาย โนราเพ็ญศรีเรียนจบระดับประถมศึกษา ต่อมาโนราเพ็ญศรี สมรสกับนายสมนึก ขลิบแย้ม มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือฟาริดา สุกใส และธนายุทธ สุกใส ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ อายุได้ ๑๒ ปี โนราเพ็ญศรีเริ่มหัดโนรากับครูชื่อถาวร เม่งห้อง และครูเจริญ ชัยฤกษ์ เมื่อเริ่มฝึกหัดรําโนรา มีความตั้งใจจริงที่จะสืบสานศิลปะการแสดงโนราตลอดไป ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โนราเพ็ญศรีได้ทําพิธีรับมอบครอบมือและไหว้ครู โนราที่บ้านของครูถาวร เม่งห้อง มีชุดโนรา ๑ ชุด เทริด ๑ ยอด พร้อมหมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เริ่มออกแสดงโนราครั้งแรกที่บ้านปากดวด รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่ได้ออกแสดง และตั้งใจว่าจะสืบทอดศิลปะการแสดงโนราตลอดไป ขณะที่อายุได้ ๓๗ ปี ได้ตั้งคณะโนราเป็นของตนเองชื่อคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา โนราเพ็ญศรียอดระบํามีความสามารถในการรําแบบ โบราณและการว่ากลอนสดได้อย่างดีเยี่ยม มีปฏิภาณไหวพริบเน้นการเล่นกลอนสดและการเล่นมุตโต ตามความถนัดโดยศึกษาปฏิบัติเองด้วยความสามารถของโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา ทำให้ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษา ตามสถานศึกษาต่าง ๆ เช่น โรงเรียนวัดขรัวช่วย โรงเรียนบ้านต้นจันทน์ และฝึกรําโนราให้กับนักเรียนโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ ปัจจุบันโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๕๗/๒ หมู่ที่ ๗ ตําบลเสาวภา อําเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเริ่มแระมีความตั้งใจว่าจะให้ลูกสาวคือฟาริดา สุกใส และหลานชายคือสิทธิโชค เพ็งเรือง เป็นผู้สืบทอดการรําโนราของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา แต่ปัจจุบันจากคำบอกเล่าของท่านว่า ลูกหลานต่างก็แยกย้ายไปประกอบอาชีพกันหมดแล้วเหลืออยู่ก็แค่ลูกศิษย์คือจิรเดช เพ็งรัตน์ (โนรามอส ยอดระบํา) และอดุลย์ ภูเขียว (โนราดักดูด) เป็นผู้สืบทอดการรำมโนราห์ เพราะมโนราห์ ๒ ท่านนี้ได้ฝึกรำมโนรามาตั้ งแต่เยาว์วัยและมาช่วยร่วมบริหารจัดกาคณะจนถึงปัจจุบันนี้ ด้
วยความสามารถในการร้องกลอนโนรา ที่หาผู้ใดเทียบได้ทำให้ท่านได้รับการว่าจ้างจากห้างเทปต่าง ๆ ให้ร้องกลอนโนราบันทึกเทปและซีดีออกจําหน่ายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชื่อเสียงของโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา อยู่ในใจของชาวใต้ตลอดมา

ขอขอบคุณภาพจาก : https://www.facebook.com/norapensee/photos/?ref=page_internal


ความเชื่อ

ความเชื่อในการแสดงโนรา
     
ความเชื่อในการแสดงโนราของคณะเพ็ญศรี ยอดระบํา มีดังต่อไปนี้

๑. ความเชื่อในเรื่องครูบาอาจารย์และบรรพบุรุษที่สืบ ทอดอย่างเคร่งครัด ก่อนที่จะออกแสดงต้องไหว้ครู หากเพิกเฉยอาจจะให้โทษหรือลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ เป็นต้น
๒. ความเชื่อในเรื่องพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ คือผู้ที่จะเป็นนักแสดงที่พร้อมทั้งคุณสมบัติวัยวุฒิ และมีความสามารถในการรําโนราจะต้องผ่านพิธีกรรมโนราโรงครู และมีครูหมอโนราหรือตายายโนราผู้ที่เป็นนายโรง หรือโนราใหญ่จะสามารถประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ส่งผลให้เกิดคณะโนราใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
๓. เรื่องพระภูมิเจ้าที่ คณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา มีความเชื่อในเรื่องพระภูมิเจ้าที่ โดยเมื่อเดินทางไปถึงสถานที่แสดงจะไหว้บอกกล่าวเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายขอให้คุ้มครองและขออนุญาตใช้สถานที่แสดง
๔. การไหว้ครู ก่อนเริ่มการแสดงหัวหน้าคณะและผู้แสดงจะไหว้ครู เพื่อระลึกถึงครูโนราที่ได้สั่งสอนมาและขอให้การแสดงประสบผลสําเร็จเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม

จุดเด่น/เอกลักษณ์


ขอขอบคุณภาพจาก : https://www.facebook.com/norapensee/photos/?ref=page_internal

           คณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา มีอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่นดังนี้

๑. การแสดงของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา เป็นการรําแบบโบราณ
๒. ท่ารําของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา เป็นท่ารํา ประสมท่า โดยโนราเพ็ญศรีได้ปรับปรุงท่ารําที่ได้เรียนรู้จากครูและศึกษาด้วยคตนเองเป็นกระบวนการรําประสมท่าของตนเอง
๓. การว่ากลอนสดของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา ถือ ได้ว่าเป็นผู้มีน้ำเสียงดี มีปฏิภาณไหวพริบ คํากลอนไพเราะคมคาย มีเนื้อหาสาระกินใจ สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสร้างความชื่นชมให้กับคนดูเป็นอย่างมาก

       องค์ประกอบการแสดง 

๑. โรงโนราและฉาก
    - โรงโนราหรือเวทีโนราคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา เป็น เวทีสําเร็จรูปสามารถเคลื่อนย้ายได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นเวทีต่างระดับ ความกว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ยกพื้นสูงจากดินประมาณ ๑ เมตร หลังคาเป็นรูปเพิงหมาแหงน แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนด้านหน้าสําหรับแสดง ด้านหลังสําหรับนักแสดงพักและแต่งกาย ด้านหน้าเปิดโล่ง ๓ ทิศ
     - ฉากคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา มีฉากขนาดใหญ่วาดเป็นภาพวิว ด้านบนมีป้ายชื่อคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา ด้านซ้าย-ขวาของเวที มีหลืบเพื่อให้ผู้แสดงเข้าออกด้านบนมีระบายบน ๒ แถว
๒. ลักษณะการแสดงและเรื่องที่แสดง
    ลักษณะการแสดงของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา เป็นการแสดงโนราตามแบบโบราณและนํามาประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เริ่มแสดงเวลาประมาณ ๒๐.๐๐-๐๑.๐๐ น. มีลําดับขั้นตอนดังนี้
๑) ตั้งเครื่องและโหมโรง
๒) ไหว้ครู ก่อนเริ่มการแสดงจะไหว้ครูเพื่อระลึกถึงครู และขอให้การแสดงประสบผลสําเร็จ
๓) กาศครู เป็นการเชิญโดยการขับร้องบทไหว้ครู สดุดีคุณครูและผู้มีพระคุณทั้งปวง เนื้อหาของบทกาศครูเกี่ยวกับผู้สอนและครูอันเป็นครูผู้ให้กําเนิดโนรา การกาศครูมีทั้งความขลัง ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ที่แฝงอยู่ เป็นการกล่าวถึงครูด้วยความเคารพสํานึกในบุญคุณมีทั้งความอบอุ่นและยําเกรง
๔) โนราขับบทหน้าม่าน โนราผู้ขับร้องกลอนในม่านก่อนออก เป็นโนราที่กําลังจะออกเป็นผู้ขับร้องหรือโนราท่านอื่น (ซึ่งอาจจะเชิญมา) ร้องแทนได้ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการชมธรรมชาติหรือให้คติสอนใจ
๕) พรานออกแสดง พรานจะออกโชว์ลีลาท่ารําของพราน และร้องกลอน ลีลาท่ารําโดยเฉพาะของพรานจะแฝงไว้ด้วยท่าทางมีตลกเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แล้วว่ากลอนเนื้อหาจะมีคํากลอนที่สนุกสนาน มีนักแสดงโนราอีกคนมาร้องกลอนโต้ตอบกัน ซึ่งต้องมีไหวพริบปฏิภาณทางกลอน เพื่อสร้างความประทับใจให้เจ้าภาพและผู้ชม
๖) ผู้แสดงออกแสดง หลังจากขับบทหน้าม่านแล้วผู้แสดงจะออกมาเป็นกลุ่มเป็นชุด ประมาณ ๖-๘ คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้แสดงรุ่นเยาว์ ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์ในการรํามากนัก โดยมากจะเป็นการรําประสมท่า เป็นท่ารําในบทประถม บทครูสอนหรือในบทสอนรําผู้แสดงจะร้องบทเองโดยมีลูกคู่ตีเครื่องจังหวะ
๗) นายโรงหรือโนราใหญ่ออกแสดงคือโนราเพ็ญศรี ยอดระบําออกมาอวดท่ารําเล็กน้อยและอวดการรําทําบท รําคําพรัด แล้วต่อด้วยการเล่นกลอนสตคนเดียว หรือบางครั้งอาจโต้ตอบกันระหว่างผู้แสดงเรียกว่าโยนกลอนหรือต่อกลอน ช่วงนี้อาจจะใช้เวลาประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง
๘) แสดงเรื่องสั้น ๆ โดยตัดตอนใดตอนหนึ่งของนิยายมา เล่นแบบละคร มีเพียงตัวละครหลัก ๒ ตัว และอาจมีตัวประกอบอีก ๑-๒ ตัว
๙) กล่าวบทลาโรง นายโรงจะว่ากลอนสี่แล้วต่อด้วยกลอนหก เพื่อขอบคุณเจ้าภาพและลาผู้ชม

         เครื่องแต่งกาย
             
เครื่องแต่งกายของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา ประกอบด้วย

๑) สนับเพลา
๒) ผ้านุ่ง
๓) รัดสะโพก
๔) ผ้าห้อยหน้า
๕) หางหงส์
๖) ปั้นเหน่ง
๖) ปั้นเหน่ง
๗) พานโครงหรือรัดอก
๘) คลุมไหล่
๙) ปิ้งคอ
๑๐) สังวาล
๑๑) ปีกนกนางแอ่น
๑๒) ทับทรวง
๑๓) กําไลต้นแขน
๑๔) กําไลปลายแขน
๑๔) กําไลปลายแขน
๑๕) กําไลข้อเท้า
๑๖) เทริด
๑๗) เล็บ

          เครื่องดนตรี 
             เครื่องดนตรีคณะโนราเพ็ญศรียอดระบํา เป็นดนตรีพื้นบ้านประกอบด้วย

๑) กลอง
๒) ทับ
๓) โหม่ง
๔) นิ่ง
๕) ปี่
๖) แตระ
๗) ออร์แกนไฟฟ้า

          แสง สี เสียง 
         แสง สี เสียงของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา ประกอบด้วยไฟส่องโรงโนรา และไฟประดับโรงโนรา ประกอบด้วยสปอร์ตไลท์ส่องด้านหน้าเวทีเพื่อให้โรงโนรามีความสว่างมากขึ้น ไฟที่ใช้แขวน ประดับหน้าโรงและด้านข้างไฟราง มีหลอดไฟนีออนหลอดยาวบรรจุในรางจํานวน ๔ แผง วางส่องหน้าเวทีซึ่งอยู่บนเวที ไฟฟอร์โล่สํา
หรับส่องเฉพาะตัว เครื่องเสียง
ประกอบด้วยลําโพง มิกเซอร์ ไมโครโฟน ซึ่งเครื่องเสียงเหล่านี้จะเช่าสําหรับการแสดงในแต่ละครั้ง ประกอบด้วยแอมพาว์เวอร์ มีชุดปรับเสียงคอสโอเวอร์ มีคอมเพรสเซอร์และมิกเซอร์ มีตู้ลําโพง ๒ ข้าง แยกเป็นตู้เบสและตู้เสียงแหลม

         นักแสดง 
          นักแสดงโนราคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา มีประมาณ ๓๐ คน ประกอบด้วย

๑) นายโรง ทําหน้าที่รับผิดชอบควบคุมกิจการภายในคณะโนรา และเป็นผู้รับงาน กําหนดตารางเวลา ติดต่อโนรารุ่นใหญ่ รุ่นเด็กมาร่วมแสดง มีความสามารถเฉพาะตัวรําเก่ง
๒) ลูกคู่ ทําหน้าที่เล่นดนตรี มีประมาณ ๖ คน เล่นดนตรีเช่น ทับ กลอง ปี โหม่ง นิ่ง และแตระ
๓) นักแสดง การรําโนราแบบโบราณมีนักแสดง ๒ กลุ่ม ประมาณ ๒๕ คน ได้แก่นักแสดงรุ่นเยาว์และนักแสดงรุ่นใหญ่ นักแสดงรุ่นเยาว์เป็นผู้แสดงที่มีอายุน้อย โดยมากจะออกรําในชุดแรกมีประมาณ ๘-๑๐ คน อายุประมาณ ๑๗-๓๐ ปี นักแสดงรุ่นใหญ่ ประมาณ ๔-๕ คน อายุประมาณ ๓๒-๕๐ ปี บางครั้งก็มีผู้แสดงรับเชิญที่มีชื่อเสียงในการขับบท ทําบท จากคณะอื่นซึ่งจะทําให้เป็นที่สนใจของเจ้าภาพและผู้ชม 
๔) พราน เป็นตัวตลกและบอกเรื่องประจําโรงคณะโนรา เพ็ญศรี ยอดระบําใช้พรานที่มีอายุน้อยซึ่งต่างกับโนราคณะอื่น คือมีอายุ ๑๔ ปีเท่านั้น (หลานของโนรา เพ็ญศรี) ออกมาแสดงทําบทกับนักแสดงตลอดถึงว่ากลอนโต้ตอบกันและนําเข้าเรื่อง ที่จะแสดงการออกพรานส่วนใหญ่จะร่ายรําในลีลาเฉพาะของพราน เนื้อหาที่ว่ากลอนจะมีทั้งความสนุกและมีสาระ 

          การบริหารคณะและค่าตอบแทน (ข้อมูลปี ๒๕๖๔)
           การบริหารจัดการและค่าตอบแทนของคณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา มีหัวหน้าคณะในราคือโนราเพ็ญศรี ซึ่งเป็นผู้ติดต่อรับงานแสดง และกำกับดูแลและตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ในคณะ การติดต่อรับงานโดยมากจะใช้วิธีโทรศัพท์ ถ้าเจ้าภาพเป็นคนรู้จักสนิทกันไม่มีการวางมัดจํา นอกจากเจ้าภาพต้องการวางมัดจําเอง หากเจ้าภาพไม่มีความสนิทชิดเชื้อจะมีการวางมัดจําอยู่ประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์  สำหรับค่าตอบแทนให้กับนักแสดงจากคำบอกเล่าของแม่เพ็ญศรี  มีดังนี้

๑. เจ้าของคณะได้รับค่าตอบแทน ๑๐,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ บาท
๒. นักแสดงที่เป็นชุดการแสดงชุดสั้น ๆ ได้ค่าตอบแทน ๕๐๐-๗๐๐ บาท/คน/ครั้ง
๓. นักแสดงที่มีความชํานาญระดับกลาง ได้ค่าตอบแทน ๘๐๐-๑,๐๐๐ บาท/คน/ครั้ง
๔. นักแสดงที่มีความชํานาญในระดับสูง รําด้วยขับบท ทําบท รวมถึงนักแสดงรับเชิญที่มีความสามารถได้ค่าตอบแทน ๑,๕๐๐-๓,๐๐๐ บาท/คน/ครั้ง
๕. นักดนตรี ได้ค่าตอบแทน ๗๐๐-๑,๐๐๐ บาท/คน/ครั้ง
๖. ค่าเช่าเครื่องเสียงและเวที ๗,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท/คืน/ครั้ง

        ขนบนิยมในการแสดงโนรา
             
ขนบนิยมในการแสดงโนราของคณะโนราเพ็ญศรียอด ระบํา ที่นิยมปฏิบัติมีดังนี้ 

๑. โหมโรง ก่อนเริ่มการแสดงมีการประโคมดนตรีทําเพลงสั้น ๆ เพื่อประกาศให้คนทราบว่าการแสดงโนราจะเริ่มแสดงแล้ว
๒. ไหว้ครู ก่อนเริ่มการแสดงโนราเพ็ญศรีจะไหว้ครู เพื่อระลึกถึงครูโนราตายายโนรา ขอให้การแสดงประสบความสําเร็จอย่ามีอุปสรรค ใด ๆ
๓. กาศครู ร้องกลอนสรรเสริญครูโนราที่ล่วงลับไปแล้ว และเชิญครูโนราให้มาสถิตในโรงโนรา เพื่อให้ความคุ้มครองป้องกันอันตราย ขณะที่กาศครูนักแสดงจะเริ่มแต่งตัวสําหรับการแสดง

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
คณะโนราเพ็ญศรี ยอดระบํา
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

บุปผาชาติ อุปถัมภ์นรากร. (2553). ศิลปะการแสดงโนรา : การอนุรักษ์ การพัฒนา และการสืบสาน. นนทบุรี : สัมปชัญญะ.
แม่ครูโนราเพ็ญศรี ยอดระบำ-ราชินีกลอนสด. (2564). สืบค้นจาก, https://www.facebook.com/norapensee/photos/?ref=page_internal

 

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024