โนราโรงครู (Nora Rong Khru)
 
Back    14/02/2020, 16:14    54,594  

หมวดหมู่

การแสดง


ประเภท

การรำ


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจาก : ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้, 2547, 41

       ศิลปะการแสดงประเภทโนราเป็นการละเล่นที่เก่าแก่ของภาคใต้  นอกจากจะแสดงเพื่อความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจแล้ว  ยังแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า  “โนราโรงครู”  หรือ  “โนราลงครู”  อีกด้วย  พิธีกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายในการจัดคือ เพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา  อันเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครู  เพื่อทำพิธีแก้บนหรือแก้เหมฺรย  หรือเพื่อทำพิธียอมรับการเป็นศิลปินโนราคนใหม่ที่สมบูรณ์ที่เรียกว่าพิธี “ครอบเทริด” หรือ “ผูกผ้าใหญ่” หรือ “แต่งพอก”  และเพื่อประกอบพิธีเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เช่น เหยียบเสน ตัดจุก ตัดผมผีช่อ ผูกผ้าปล่อย ในบาทพื้นที่ยังมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ เช่น โนราโรงครูที่วัดท่าแค ตำบลท่าแค  อำเภอเมือง  จังหวัดพัทลุง  จัดเพื่อให้ครูหมอตายายโนราทั้งหมดมาร่วมชุมนุนกัน เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่าบ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนราเป็นที่สถิตพำนักของครูโนรา และพิธีโนราโรงครูที่วัดท่าคุระ (วัดเจ้าแม่อยู่หัว) ตำบลชุมพล  อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา จัดขึ้นในงาน  “ตายายย่าน”  มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้บนและแสดงกตัญญูกตเวทีต่อ  “เจ้าแม่อยู่หัว”  (นางเลือดขาว) ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีประวัติเกี่ยวข้องกับโนราและมีการสร้างรูปเคารพประดิษฐ์ไว้ที่วัดท่าคุระ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2537, 156)


ภาพจาก : ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้, 2547, 42

         ประเพณีการรำโนราโรงครูเป็นการละเล่นประเภทหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งนอกเหนือจากแสดงเพื่อความบันเทิงที่กล่่าวแล้ว ประเพณีนี้ยังเป็นพิธีกรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นการผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์และความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดา รวมไปถึงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ที่การไม่ได้คือการเข้าทรงถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงคุณธรรมด้านคารวธรรม ที่เหล่าลูกหลานต้องเคารพนับถือครูบาอาจารย์ กตัญญูรู้คุณมีเมตตาธรรม และช่วยคลี่คลายปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจซึ่งมีส่วนสำคัญในการสืบทอดและรักษามรดกวัฒนธรรมด้าศิลปะการเล่นโนราเอาไว้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
              โนราโรงครูคงมีมาพร้อมกับการกำเนิดโนราซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าเกิดครั้งยุคศรีวิชัย  ในตำนานโนราในเขตพัทลุงกล่าวถึงการรำโนราโรงครูว่า เมื่อนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศไปติดอยู่เกาะกะชัง  (จากหลักฐานน่าจะเป็นบ้านเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์) นางได้อาศัยอยู่กับตาพราหมณ์ ยายจันทร์ ครั้นพระยาสายฟ้าฟาดผู้เป็นพระบิดาให้รับนางคืนกลับเมือง นางได้รำโนราถวายเทวดาและตายายทั้งสอง เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อตายายที่ได้ช่วยเหลือ การรำโนราถวายเทวดาและบูชาตายายของนางนวลทองสำลีครั้งนั้น ถือว่าเป็นการรำโนราโรงครูครั้งแรก แต่ความเชื่อทางฝั่งอำเภอระโนดซึ่งผู้รู้อย่างโนราวัด จันทร์เรือง แห่งตำบลพังยาง  อำเภอระโนด เล่าว่าการรำโนราโรงครูครั้งแรกเป็นการรำของอจิตกุมาร ซึ่งเป็นบุตรนางนวลทองสำลี ตอนเข้าเฝ้าพระยาสายฟ้าฟาดผู้เป็นตา ในพิธีรับขวัญที่ได้พลัดพรายกันตอนถูกนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศลอยแพ โดยตั้งพิธีโรงครูมีเครื่องสิบสองและของกินต่าง ๆ จัดพิธี ๓ วัน ๓ คืน เล่ากันว่าครั้งนั้นพระยาสายฟ้าฟาดได้ประทานเครื่องต้นให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา  เปลี่ยนชื่อนางนวลทองสำลีเป็นศรีมาลา  และเปลี่ยนชื่ออจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. ๒๕๓๗, ๑๕๖-๑๕๗)     

     ประเภทของโนราโรงครู
    
         โนราโรงครูมี  ๒ ประเภท คือโนราโรงครูใหญ่และโนราโรงครูเล็ก  โนราโรงครูใหญ่เป็นพิธีที่จัดเต็มรูปปรกติจัด ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องจัดตามวาระ เช่น ทุกปี ทุก ๓ ปี หรือทุก ๕ ปี แล้วแต่จะกำหนด  การำเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมการนานใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง ตั้งแต่การปลูกสร้างโรง การติดต่อคณะโนรา การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ และการเตรียมอาหารเพื่อจัดเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ส่วนโนราโรงครูเล็กคือการำโรงครูอย่างย่นย่อใช้เวลารำเพียง ๑ คืน  กับ ๑ วันเท่านั้น ปกติจะเข้าโรงครูในตอนเย็นของวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี การรำโนราโรงครูเล็กมีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับการรำโนราโรงครูใหญ่ แต่ไม่อาจทำพิธีให้ใหญ่โตเท่ากับการรำโนราโรงครูใหญ่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องเวลาความไม่พร้อมในด้านอื่น ๆ  ดังนั้นเมื่อถึงวาระที่ต้องทำการบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนราตามที่ได้ตกลงไว้ เช่น ถึงวาระ ๓ ปี ๕ ปี จึงได้ทำพิธีอย่างย่นย่อเสียก่อนสักครั้งหนึ่ง  เพื่อมิให้ผิดสัญญาต่อครูหมดโนรา การทำพิธีอย่างย่นย่อเช่นนี้เรียกว่า “การรำโรงครูเล็ก”  หรือ “การค้ำครู” หรือ “โรงแก้บนค้ำครู” แต่พิธีกรรมบางอย่างที่ถือว่าสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่จะจัดในพิธีโรงครูใหญ่เท่านั้น
           ในการจัดพิธีทั้งโรงครูใหญ่และโรงครูเล็กนั้นต่างก็มีองค์ประกอบในการรำที่สำคัญเช่นเดียวกัน ที่พิเศษออกไปได้แก่โนราใหญ่หรือนายโรงโนรา ซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีต้องผ่านพิธีครอบเทริดมาแล้ว และรอบรู้ในพิธีกรรมอย่างดีระยะเวลาที่จัดพิธีนิยมทำกันในฤดูแล้ง ในแถบจังหวัดตรังมักทำในราวเดือนยี่ถึงเดือนสาม  แถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราชและสงขลา มักทำในเดือนหกถึงเดือนเก้า โดยไม่จำกัดวันขึ้นหรือวันแรม และจะเริ่มพิธีหรือเข้าโรงครูวันแรกในวันพุธไปสิ้นสุดพิธีในวันศุกร์  แต่ถ้าวันศุกร์เป็นวันพระโนราบางคณะจะส่งครูวันเสาร์เป็นวันสุดท้าย โรงพิธีสร้างแบบดั้งเดิมมีขนาด ๙x๑๑ ศอก มีเสา ๖ เสา ไม่ยกพื้นโดยแบ่งออกเป็น ๓  ตอน คือเสาตอนหน้าและตอนหลังมีตอนละ ๓ เสา ส่วนตอนกลางมี ๒ เสา โดยไม่มีเสากลาง หน้าโรงหันไปทางทิศเหนือหรือใต้เรียกว่า “ลอยหวัน” (ลอยตามตะวัน) ไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เพราะเป็นการ “ขวางหวัน” (ขวางตะวัน) ตามความเชื่อของโนราว่าเป็นอัปมงคล หลังคานะทำเป็นรูปหน้าจั่ว มุงจาก ตรงกลางจั่วครอบด้วยกระแชง แต่ถ้าไม่มีกระแชงก็ใช้ใบเตยแทนการที่ต้องครอบกระแชงบนหลังคาจั่วนั้น มีนัยว่าเพื่อระลึกถึงนางนวลทองสำลีตอนถูกลอยแพไปในทะเลก็ได้เพราะนางอาศัยกระแชงเป็นเครื่องมุงแพ ชาวบ้านบางแห่งยังเชื่อว่าโรงพิธีจะมีผีนางโอกะแชงรักษาเสาโรงทั้ง ๖ ต้น และรักษากระแชงมุงหลังคาโรงทั้งด้านซ้ายขวาเรียกว่า “นางโอกะแชงสองตอน” ด้านหลังของโรงพิธีทำเป็นเพิงพักของคณะโนรา ด้านขวาหรือด้านซ้ายของโรงทำเป็นศาลสูงระดับสายตาสำหรับเป็นที่วางเครื่องบูชา เรียกว่า “ศาล” หรือ “พาไล” พื้นโรงปูด้วย “สาดคล้ำ” (เสื่อสานด้วยคล้า) แล้วปูทับด้วยเสื่อกระจูด วางหมอนปูผ้าขาวทับเรียกว่า “สาดหมอน” บนหมอนวางไม้แตระและไม้กระดานหรือเทียนติดเชิงเรียกว่า “เทียนครู” หรือ “เทียนกาศครู” โรงพิธีอาจจะตกแต่งด้วยผ้า กระดาษสี  ธงชายและสิ่งของอื่น ๆ อีกก็ได้

 

     องค์ประกอบและรูปแบบในการแสดง
           องค์ประกอบและรูปแบบในการแสดงโนราโรงครู ประกอบด้วยการรำคือ การรำพื้นฐาน การรำขั้นสูง และการรำประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ได้แก่ รำสิบสองท่า รำสิบสองบท รำคล้องหงส์และแทงเข้ ส่วนการร้องใช้รูปแบบการร้องรับของผู้รำและนักดนตรีคือ การร้องรับไม่ใช้ท่ารำ การร้องรับประกอบท่ารำได้แก่ ร้องรับบทกาดครู ร้องรับประกอบการรำทุกประเภท การแสดงเป็นเรื่องเป็นรูปแบบของการแสดงละครจากวรรณกรรมพื้นบ้านเฉพาะตอนสำคัญต่อเนื่องกัน ๑๒ เรื่อง และเลือกเรื่องมาแสดงเต็มรูปแบบของพิธีกรรมอีก ๒ เรื่อง เพื่อสร้างความศรัทธาในพิธีกรรมให้มากยิ่งขึ้น การบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรม มีรูปแบบของจังหวะที่ใช้ประกอบพิธีกรรมแต่ละขั้นตอนโดยเฉพาะได้แก่ การเซ่นของสังเวยและประทับทรงใช้เพลงเชิด การเชิญวิญญาณใช้จังหวะเชิญตายาย การร่ายรำประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใช้เพลงโค ปัจจุบันโนราโรงครูยังคงมีการสืบสานอย่างเคร่งครัดในหลายจังหวัด เช่น สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มคณะมโนรายังประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู รักษาจารีตขนบธรรมเนียมการแสดงและพิธีกรรมอย่างต่อเนื่อง


ภาพจาก : ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้, 2547, 42


ความเชื่อ

            

       โนราโรงครูและพิธีกรรมในโนราโรงครู เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการมารวมกลุ่มกันเพื่อประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อและความศรัทธาร่วมกัน การที่สมาชิกของสังคมมีความเชื่อทางศาสนาเหมือนกัน มีผลทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นภายในสังคม พิธีกรรมทางความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับชุมชนคือพิธีกรรมโนราโรงครู จะมีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้ชาวบ้านต่างมีความรู้สึกร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำมาซึ่งความเป็นเอกภาพและสัมพันธภาพในสังคม เป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมหรือการจัดระบบเครือญาติของชาวบ้านภาคใต้ โดยอาศัยความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านด้านความเชื่อที่มีส่วนในการสร้างพลังชุมชนและความมั่นคงในชุมชน นอกจากนี้การได้มากระทำกิจกรรมร่วมกันในพิธีกรรมโนราโรงครู ตั้งแต่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับตายาย กินเลี้ยง รื่นเริงสนุกสนานด้วยกัน เป็นเหตุให้มีการรวมญาติมิตรที่อาศัยอยู่ห่างไกลได้กลับมาพร้อมกันอีกครั้ง การได้กลับมาพบกันทำกิจกรรมร่วมกันมีเป้าหมายอันเดียวกัน ก่อให้เกิดเอกภาพและสัมพันธภาพในสังคม ขณะเดียวกันความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้ก็ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง หล่อหลอมเชื่อมโยงเป็นระบบที่มีโครงสร้างสัมพันธ์กับระบบอื่นของสังคม กล่าวได้ว่านี่คือลักษณะเด่นของสังคมไทยและวัฒนธรรมไทยที่อาศัยประเพณีและพิธีกรรมทางความเชื่อในการรวมกลุ่มและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคม
         นอกจากนี้พิธีกรรมโนราโรงครูยังส่งผลต่อการปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมแก่คณะโนรา ลูกหลาน ตายายโนราและชาวบ้านทั่วไป เป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในความกตัญญูรู้คุณต่อครูบาอาจารย์ บิดามารดา พ่อแม่ตายาย ทั้งที่ล่วงลับแล้วและยังมีชีวิตอยู่ บุคคลที่ถูกเลือกเป็นคนทรงครูหมอโนรา จะต้องประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีเมตตากรุณา มีความซื่อสัตย์ ไม่ผิดลูกเมียผู้อื่น ตัดขาดจากอบายมุขทั้งปวง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ได้รับการยอมรับจากครูหมอโนราและยังจะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ การปฏิบัติตนดังกล่าวนอกจากจะเป็นการควบคุมตนเองแล้วยังเป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้านทำให้ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากชาวบ้านในสังคมนั้นด้วยผู้สืบเชื่อสายโนราเชื่อว่าบูรพาจารย์โนราและบรรพบุรุษของโนรา ที่ล่วงลับไปแล้วหรือที่เรียกว่าครูหมอโนราเหล่านั้น ยังมีความผูกพันกับลูกหลานและผู้มีเชื้อสายโนรา หากลูกหลานเพิกเฉยไม่เคารพบูชาไม่เซ่นไหว้ ก็จะได้รับการลงโทษจากครูหมอโนราด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำให้เจ็บป่วยจะแก้ได้ด้วยการบนบวงสรวง อนึ่ง ถ้าจะให้ครูหมอโนราช่วยเหลือในกิจบางอย่างก็ทำได้โดยการบนบานหรือบวงสรวงเช่นกัน จากความเชื่อนี้จึงทำให้เกิดพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งในพิธีนี้มีการเชิญครูหมอโนราเข้าทรงรับเครื่องสังเวยและมีการรำถวายครู ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าการบนและการแก้บนครูหมอโนราจะทำให้ตนเองได้รับความช่วยเหลือในสิ่งที่ปรารถนา และพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ การบนและการแก้บนมีทั้งเกิดจากความต้องการให้ครูหมอโนราช่วยเหลือ และบนเพราะถูกครูหมอโนราลงโทษด้วยสาเหตุต่าง ๆ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าการบนและการแก้บนครูหมอโนราจะทำให้ตนเอง ได้รับความช่วยเหลือในสิ่งที่ปรารถนาและพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ การบนและการแก้บนมีทั้งเกิดจากความต้องการให้ครูหมอโนราช่วยเหลือ และบนเพราะถูกครูหมอโนราลงโทษด้วยสาเหตุต่าง ๆ 
เมื่อถึงเวลาที่โนราแสดงประกอบพิธีเชิญครูหรือบรรพบุรุษของโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับการเซ่นไหว้ รับของแก้บน ครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่แก่ผู้แสดงโนรารุนใ่หม่ และประกอบกอบพิธีกรรมอื่นๆ ตามความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโนรา เช่น ตัดจุก เหยียบเสน เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโนราและผู้มีเชื้อสายโนาราเชื่อว่า ครูหมอโนารา ซึ่งหมายถึงครูต้นของโนราและบรรพบุรุษโนราที่ล่วงลับไปแล้ว ยังห่วงใยและผูกพันกับลูกหลานและงานศิลปะ ลูกหลานก็ยังคงเคารพเซ่นไหว้วิญญาณเหล่านี้ บางครั้งก็บนบานขอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันวิญญาณดังหล่าวก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับลูกหลานเนื่องจากทำพิธีไหว้ไม่ถูกต้องหรือละเลยไม่นับถือจึงต้องมีการบนบานทำพิธีไหว้ครูหรือเข้าโรงครูแก้บน ส่วนชาวบ้านทั่วไปนั้นได้บนบานขอความช่วยเหลือจากครูหมอโนราในเรื่องต่างๆ เช่น ขอให้หายจากอาการเจ็บป่วย ขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร ขอให้สอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ เป็นต้น 
     โนราโรงครูเป็นการแสดงโนราประกอบพิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ในวิถีของคนภาคใต้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการแสดง ๓ ประการ คือ เพื่อเป็นการเคารพบูชาและแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อแก้บนหรือแก้เหมฺรย และเพื่อทำพิธีครอบครูโนราและรักษาโรคต่าง ๆ การแสดงโนราโรงครูนั้น เมื่อเจ้าภาพเรียกหาไปแสดงจะมีการจัดเตรียม ‘ขันหมาก” ซึ่งประกอบด้วยหมากพูล ๓ คำ ไปมอบให้หัวหน้าคณะ ถ้าโนรารับขันหมากไว้แสดงว่ารับจะไปแสดงเรียกว่า "ติดขันหมาก”

    ขั้นตอนประกอบพิธีกรรม
             ยกเครื่อง 
         เมื่อคณะโนรามีกำหนดแน่นอนแล้วว่าจะไปแสดงที่ใด ก็จะเตรียมสิ่งของเครื่องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ให้พร้อม ก่อนเดินทางนายโรงหรือหัวหน้าคณะพร้อมทั้งลูกคู่และผู้แสดงทุกคน จะต้องนำเครื่องดนตรีมารวมกันบนบ้านของนายโรงเพื่อทำพิธียกเครื่อง ผู้ทำพิธีอาจเป็นนายโรงหรือหมอเฒ่าประจำคณะ ผู้ทำพิธีจะบริกรรมคาถาพร้อมกับการบรรเลงของลูกคู่การบรรเลงดนตรีจะเริ่มด้ายการเป่าปี่ตามด้วยการตีกลอง ต่อด้วยทับ โหม่งฉิ่ง ตามลำดับ การทำพิธีผู้ทำต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถือว่าเป็นทิศมงคลดนตรีจะบรรเลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะบริกรรมคาถาเสร็จ

            เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์
 
            การแต่งกายของโนราในการประกอบพิธีโนราโรงครูอาจจะแตกต่างกันบ้าง โดยเฉพาะบูรพาจารย์ทางโนราอย่างท่านโนรายก ซึ่งท่านจะนุ่งผ้าที่เป็นผ้าไทยเสมอ และที่พิเศษก็คือจะมีผ้าขาวทำเป็นงวงช้างห้อยอยู่ด้านหน้า ส่วนเครื่องแต่งการอื่น ๆ จะคล้าย ๆ กัน ซึ่งประกอบด้วย

๑. เทริด
๒. เครื่องลูกปัด ใช้ตกแต่งลำตัวท่อนบน ประกอบด้วย สายบ่า สายพาดหรือสังวาลย์ สายคอ พานโครง รอบอก หรือสายรัดโพก ปิ้งคอ
๓. ทับทรวง เป็นแผ่นเงินรูปคล้ายขนมเปียกปูนใช้แขวนกับสายคอห้อยอยู่ระดับทรวงอก
๔. ปีกนกแอ่น เป็นแผ่นเงินรูปคล้ายนกนางแอ่นกางปีก ใช้แขวนกับสายสังวาลย์ บริเวณชายโครง
๕. ปีก หรือ "หางหงส์” นิยมทำด้วยเขาควายหรือหนังสัตว์ มีลักษณะคล้ายปีกนก ส่วนปลายงอนเชิดร้อยด้วยลูกปัดเป็นระย้าห้อยสวยงาม
๖. เหน็บเพลา หรือสนับเพลา เป็นกางเกงขาทรงกระบอกยาวประมาณครึ่งน่องใช้สวมแล้วนุ่งผ้าทับ
๗. ผ้านุ่ง เป็นผ้ายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้าใชนุ่งทับสนับเพลาให้กระชับดึงชายผ้าไปเหน็บไว้ข้างหลังคล้ายนุ่งโจงกระเบนแต่รั้งชายให้ห้องลง
๘. สายรัด ทำด้วยด้ายขาว ๓ เส้น เผือกันเป็น ๓ เกลี่ยว ใช้คาดเอวรัดผ้านุ่งให้แน่น
๙. หน้าผ้า ใช้สำหรับคาดห้อยไว้ด้านหน้า
๑๐. ผ้าห้อยหน้า ใช้ผูกหรือเหน็บห้อยทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของหน้าผ้า
๑๑. กำไล กำไลต้นแขน กำไลปลายแขน กำไลมือ(ใช้สวมมือและเท้าข้างละหลายๆ วง)
๑๒. ปิเหน่ง หรือปั้นเหน่ง(หัวเข็มขัด)
๑๓. เล็บ ใช้สำหรับสวมนิ้วข้างละ ๔ นิ้ว (ยกเว้นหัวแม่มือ)

๑๔ลูกพอก สำหรับโนราใหญ่ที่แต่งพอก ลูกพอกประกอบด้วยผ้าเพดานบนศาลหรือพาไล ผ้าเพดานใหญ่ในโรงพิธี ที่วางเทิด เสื่อหมอน เครื่องเชี่ยนพิธี หม้อน้ำมนต์ ไม้หวาย มีดหมอ บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่หรือบายศรีท้องโรง ดอกไม้ธูปเทียน หอกแทงจระเข้ หยวกกล้วยทำรูปจระเข้ ใบชิงหรือกระแชง ขันลงหิน หน้าพรานชายหญิง เทริด ย่าม ธนู เชือกคล้องหงส์ เครื่องแต่งตัวโนรา หญ้าคา หญ้าครุน ใบเฉียงพร้า ใบหมวกผู้ เงินเหรียญ รวงข้าว มีดโกน หินลับมีด พระขรรค์ หนังสือ (เสือ) หนังหมี สำหรับที่วางน้ำมนต์อาจจะทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นตะกร้าทรงสูงเรียกว่า "ตรอม”

          เครื่องบูชา


ภาพจาก : โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563


          เครื่องบูชาในการประกอบพิธีมี ๓ ส่วน คือเครื่องบูชาถวายครูบนศาล เครื่องบูชาที่ห้องโรง (ที่พื้นกลางโรง) และเครื่องบูชาในห้องของครูหมอบนเรือนพัก เครื่องบูชาบนศาลประกอบด้วยหมาก ๙ คำ เทียน ๙  เล่ม เครื่องเชี่ยน ๑ สำรับ กล้วย ๓ หวี อ้อย ๓ ท่อน ขนมในพิธีวันสารทเดือน ๑๐ หรือวันชิงเปรตได้แก่ ข้าวพอง ลา ขนมบ้า ขนมเบซำ ขนมเทียน ๓ สำรับ ข้าวสารพร้อมหมากพลู เทียน จัดลงในภาชนะที่สานด้วยกระจูดหรือเตยขนาดเล็กเรียกว่า “สอบนั่ง” หรือ “สอบราด” ๓ สำรับ มะพร้าว ๓ ลูก เครื่องคาวหวาน (ชาวใต้เรียกที่หรือเท่)  จำนวน  ๑๒ สำรับหรือที่ ๑๒ เสื่อ ๑ ผืน หมอน ๑ ใบ ผ้าขาว ๑ ผืน ผ้านุ่งห่มชาย ๑ ชุด ผ้านุ่งห่มหญิง ๑ ชุด บายศรีปากชาม ๑ ปาก หน้าพรานชาย หน้าพรานหญิงที่เรียกว่า “หัวอีทาสี” อย่างละหน้าเป็นอย่างน้อย เทริดตามจำนวนปีที่กำหนดว่าให้ทำพิธีครั้งหนึ่ง เช่น ถ้าทำพิธี ๗ ปีต่อครั้งก็ใช้เทริด ๗ ยอด ถ้าหาเทริดได้ไม่ครบก็ใช้ใบเตยทำเป็นรูปเทริดแทนได้ ที่เพดานศาลหรือพาไลผูกผ้าดาดเพดาน ใส่หมากพลู ๑ คำ ดอกไม้ ๓ ดอก เทียน ๑ เล่ม ข้าวตอก ๓ เม็ด บนศาลหรือพาไลใต้ผ้าดาดเพดานปูผ้าขาวบนหมอนวางหัวพราน หัวทาสี ปักเทียนไว้ที่หน้าพรานมีไม้แตระวางไว้ หน้าเทียนวางเครื่องเชี่ยนหม้อน้ำมนตร์ เทริด บายศรีและเครื่องสังเวยที่เป็นของแห้งใส่สำรับวางไว้ตลอด  ๓ วัน ส่วนอาหารคาวหวานและที่หรือเท่ ๑๒ ต้องเปลี่ยนทุกวัน ทุกสำรับต้องปักเทียนเอาไว้ตลอด  นอกจากนี้ยังมี “ราด” คือเงินกำนลมี ๓ บาท หรือ ๑๒ บาท  ส่วนเครื่องบูชาที่ท้องโรงประกอบด้วยธูปเทียน ๙ ชุดติดไม้เป็นแพวางบนหมอน ซึ่งวางไว้กลางโรงและบายศรีท้องโรง ๑ สำรับ ส่วนเครื่องบูชาในห้องของครูหมอบนเรือนพักจัดไว้เช่นเดี่ยวกับเครื่องเซ่นทั่วไป     

        ระยะเวลา
      ระยะเวลาที่จัดพิธีนิยมทำกันในฤดูแล้ง ในแถบจังหวัดตรังมักทำในราวเดือนยี่ถึงเดือนสาม  แถบจังหวัดพัทลุง  นครศรีธรรมราช  และสงขลา  มักทำในเดือนหกถึงเดือนเก้า  โดยไม่จำกัดวันขึ้นวันแรม  และจะเริ่มพิธีหรือเข้าโรงครูวันแรกในวันพุธ  ไปสิ้นสุดพิธีในวันศุกร์  แต่ถ้าวันศุกร์เป็นวันพระ  โนราบางคณะจะส่งครูวันเสาร์เป็นวันสุดท้าย ในงานประเพณีตายายย่าน เป็นงานประจำปีของชาววัดคุระ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ทุกปีจะต้องมีการรำโนราโรงครู ต่อเนื่องกัน ๓ วัน ๓ คืน เริ่มวันพุธไปสิ้นสุดวันศุกร์ แต่งานประเพณีตายายย่านจะเสร็จสิ้นตอนบ่ายวันพฤหัสบดี        
     
      
        โรงพิธี 


ภาพจาก : โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

       โรงพิธีสร้างแบบดั้งเดิมมีขนาด ๙x๑๑ ศอก มี ๖ เสา ไม่ยกพื้นโดยแบ่งออกเป็น ๓ ตอน เสาตอนหน้าและตอนหลังมีตอนละ ๓ เสา ส่วนตอนกลางมี ๒ เสา แต่จะไม่มีเสากลาง หน้าโรงหันไปทางทิศเหนือหรือใต้ที่เรียกว่าการลอยหวัน (ลอยตามดวงอาทิตย์) จะไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เพราะเป็นการขวางหวัน  (ขวางดวงอาทิตย์) ซึ่งเป็นความเชื่อของโนราว่าเป็นอัปมงคล หลังคาทำเป็นรูปหน้าจั่ว มุงจาก ตรงกลางจั่วครอบด้วยกระแชง้าไม่มีกระแชงก็ใช้ใบเตยแทนการที่ต้องครอบกระแชงบนหลังคาจั่วนัยว่าเพื่อระลึกถึงนางนวลทองสำลีตอนถูกลอยแพไปในทะเลก็ได้อาศัยกระแชงเป็นเครื่องมุงแพ  ชาวบ้านบางแห่งยังเชื่อว่าโรงพิธีจะมีีผีนางโอกะแชงรักษาเสาโรงทั้ง ๖ ต้น และรักษากระแชงมุงหลังคาโรงทั้งด้านซ้ายขวาเรียกว่า  “นางโอกะแชงสองตอน” ด้านหลังของโรงพิธีทำเป็นเพิงพักของคณะโนรา  ด้านขวา หรือด้านซ้ายของโรงทำเป็นศาลสูงระดับสายตาสำหรับเป็นที่วางเครื่องบูชาเรียกว่า “ศาล” หรือ “พาไล” พื้นโรงปูด้วย “สาดคล้า” (เสื่อสานด้วยคล้า) แล้วปูทับด้วยเสื่อกระจูดวางหมอนปูผ้าขาวทับเรียกว่า “สาดหมอน” บนหมอนวางไม้แตระและไม้กระดานหรือเทียนติดเชิงเรียกว่า “เทียนครู” หรือ “เทียนกาศครู” โรงพิธีอาจจะตกแต่งด้วยผ้า กระดาษสี ธงชายและสิ่งของอื่น ๆ

      พิธีกรรม


ภาพจาก : โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

             เมื่อถึงคราวที่ศิลปินโนราจะต้องบูชาครูหมอ โดยการทำพิธี “ลงครู” หรือ “รำโนราโรงครู”  พิธีกรรมนี้จะต้องเชิญครูหมอมารับเครื่องเซ่นไหว้ในโรงพิธี (ที่เรียกกันว่าโรงครู) โดยการตั้งเครื่องบูชาและจัดคนทรงให้ถูกถ้วนตามธรรมเนียมนิยม ครูหมอบางท่านก็เข้าทรงในร่างคนทรงโดยง่ายแถมบางท่านก็มาเข้าทรงก่อนกำหนดทำเอาเจ้าภาพวิ่งกันโกลาหล แต่คูรหมอบางท่านกลับตรงกันข้ามเพราะแม้จะได้ทำพิธีเชิญนานสักเท่าไดก็ไม่ยอมรับคำเชิญ จนเจ้าภาพอ่อนใจคนทรงอ่อนแรงแทบจะเทสำรับเครื่องเซ่นพลีทิ้งเสียแล้วครูหมอจึงยอมมาลงครู หมอโนราห์จะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่คนอยู่นอกวงการค่อนข้างจะไม่ค่อยเชื่อ เห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหลหรือแสร้งทำกันเสียมากกว่า แต่สำหรับคนในวงการโนราหรือเชื้อสายโนราแล้วจะมีความเชื่อถือกันมาก ชาวปักษ์ใต้ที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอของศิลปินโนรายังฝังแน่นในเรื่องนี้  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่เรามักจะเห็นชาวปักษ์ใต้รุ่นเก่าหรือชาวชนบทปักษ์ใต้เล่น หรือรับโนรามาเล่นแก้บนอยู่บ่อย ๆ (ฉัตรชัย  ศุกระกาญจน์. ๒๕๒๓, ๑๘๔–๑๘๕) 
       
พิธีกรรมโนราโรงครูทั้งโรงครูใหญ่และโรงครูเล็กมีธรรมเนียมอย่างเดียวกัน แต่รายละเอียดของพิธีกรรมบางอย่าง เช่น รำคล้องสงห์ รำแทงเข้ (จระเข้) ครอบเทริด จะทำกันในโนราโรงครูใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้โนราโรงครูในแต่ละพื้นที่อาจจะมีข้อแตกต่างกันบ้าง พิธีกรรมต่าง ๆ เช่นการตัดจุก เหยียบเสน ตัดผมผีช่อ การรำถีบหัวควาย จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพและผู้เกี่ยวข้อง สำหรับโนราโรงครูใหญ่ซึ่งทำ ๓ วัน มีขั้นตอนการจัดพิธีกรรมดังนี้
       วันแรก พอพลบค่ำที่เรียกว่า “เวลานกชุมรัง” คณะโนราจะเข้าโรง เจ้าภาพนำหมากพลูไปรอรับโนราที่หน้าบ้าน คณะโนราจะขนอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าโรงพร้อมกับประโคมเครื่องดนตรีเอาฤกษ์เรียกว่า “ตั้งเครื่อง” แล้วทำพิธี “เบิกโรง” เพื่อเชิญครูหมอโนราให้มาชุมนุมในโรง พิธีเริ่มจากเอาพานดอกไม้ธูปเทียน ๒ พาน พานแรกวางไว้เป็นพานครู พานที่ ๒ เอาเทียน ๓ เล่ม หมาก ๓ คำ ค่ากำนล ๓ บาท หรือ ๑๒ บาท เล็บสำหรับสวมนิ้วมือ ๓ อัน กำไลมือ ๓ วง จัดใส่พานจุดเทียน ๓ เล่มพร้อมกับเทียนใหญ่ที่เรียกว่า “เทียนครู” นำเทียน ๓ เล่มไปปักไว้ที่กลอง ๑ เล่ม พร้อมกับหมากพลู ๑ คำ อีก ๒ เล่ม ปักไว้ที่ทับใบละ ๒ เล่ม หมากพลูใบละ ๑ คำ จุดเทียนที่เครื่องสังเวยบนหน้าพราน หน้าทาสี บนยอดเทริด โนราใหญ่ผู้ร่วมพิธียกพานหมากจุดเทียนอีก ๑ เล่ม จับสายสิญจน์ที่ต่อจากเพดานหิ้งบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนราบนบ้านเจ้าภาพมายังโรงโนรา ตั้งนะโม ๓ จบกล่าวชุมนุมเทวดา กล่าวชุมนุมครู ทำพิธีซัดหมาก เอาหมากคำแรกซึ่งวางไว้ที่กลอง ไปเหน็บหลังคาโรงเพื่อบูชาเทวดา หมากคำที่ ๒  ซึ่งวางไว้ที่ทับใบแรกไปสอดไว้ใต้เสื่อเพื่อบูชานางธรณี หมากคำที่ ๓ วางไว้ที่ทับใบที่ ๒ พร้อมกับเทียน ๑ เล่ม นำมาสอดเข้าไปในกำไลมือก่อน ๓ รอบ แล้วจึงซัดเข้าไปในทับ ตีทับรัว ลูกคู่จะตีดนตรีอื่น ๆ ขึ้นพร้อมกันเป็นเสร็จพิธี 
           ต่อมาโนราก็จะลงโรงคือการประโคมดนตรีอย่างเดียวประมาณ ๑๒ เพลง จบแล้วทำพิธีร้องกาศครู เพื่ออธิษฐานคารวะครู โดยมีบทร้อง ๔ บท คือ “บทขานเอ”  “บทร่ายแตระ” “บทเพลงโทน”  ดังตัวอย่าง...

บทขานเอ

รื่นเหอรื่นรื่น 
จะไหว้นางธรณีผึ่งแผน
เอาหลังมาพิงเป็นแท่น
รองตีนมนุษย์ทั้งหลาย
ตีนซ้ายรองหญิง 
ยังเล่าตีนขวารองชาย
นาคเจ้าฤาสาย
ขานให้โนเนโนไน
ขานมาชาต้อง    

ทำนองเสมือนวัวชักไถ

 บทหน้าแตระ

ฤกษ์งามยามดี                                                     
ปานี้ชอบยามพระเวลา
ชอบฤกษ์ร้องเชิญ                                                               
ตำเหนินราชครูถ้วนหน้า
ราชครูของน้อง                                                                   
ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา
ราชครูของข้า                                                                      
มาแล้วพ่ออย่าพ้นไป

บทร่ายแตระ

ลูกกาศราชครูเท่านั้นแล้ว                                 
ผ่องแผ้วเป็นเพลงพระคาถา
ลูกไหว้นางหงส์กรงพาลี                                                  
ไหว้นางธรณีเมขลา
ไหว้บริถิวราชา                                                                   
ภูมาหาลาภมหาชัย
ลูกไหว้แม่โภควดี                                                                 
ธรณีเนื้อเย็นได้เป็นใหญ่

บทเพลงโทน

หัตถ์ทั้งสองประคองตั้ง                                     
ยกขึ้นเหนือเศียรรัง               
ดังดอกปทุมา
หัตถ์ทั้งสองประคองเศียร                                                 
นั่งไหว้เวียนแต่ซ้าย                
ย้ายไปหาขวา
ไหว้มุนีนาถพระศาสนา                                                       
พุทธังธัมมังสังฆา                   
ไหว้อาจารย์   
ไหว้คุณศีลาพระบารมี                                                       
เวลาป่าฉะนี้                              
ไหว้พระคุณท่าน

ครุฑยักษ์ปักษามาพยาบาล                                               
ศรัตรูหมู่มาร                            
ขอให้หลบหลีกหนี
ไหว้จักรวรรดิฟ้าครอบ                                                     
ไปทั่วทุกชั้นขั้นขอบ                   
รอบพระโลกี

        โนราบางคณะเมื่อกล่าวบทกาศครูจบแล้ว โนราใหญ่จะร้องบทที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาและขั้นตอนการจัดพิธีกรรมโนราโรงครูเรียกว่า “บทบาลีหน้าศาล”  จากนั้นร้องเชิญครู โนราใหญ่และผู้เข้าร่วมพิธีจะพร้อมกันกราบครูแล้วโนราใหญ่รำ “ถวายครู” คือร่ายรำด้วยบทต่าง ๆ ของโนรา เพื่อบูชาครูและ “จับบทตั้งเมือง”  (โนราบางคณะจะจับบทตั้งเมืองในเข้าวันพฤหัสบดี) ซึ่งกล่าวถึงการจับจองพื้นที่โรงโนราเป็นกรรมสิทธิ์ โดยมีตำนานว่าเมื่อครั้งขุนศรีศรัทธารำโนราถวายพระสายฟ้าฟาด พระองค์ได้ประทานเครื่องต้นให้เป็นเครื่องแต่งตัวและประทานแผ่นดินให้ตั้งโรง ซึ่งเปรียบเทียบเสมือนว่าเป็นเมือง ๆ หนึ่งของโนรา โดยเหตุดังกล่าวโนรารำโรงครูที่ไหนจะต้องร้องบททำพิธีตั้งเมืองทุกครั้ง พิธีจะใช้ขันทองเหลืองใบใหญ่ที่เรียกว่า “แม่ขัน” คว่ำลงกลางโรงเอาผ้าขาวปูทับใต้ขันมีข้าว ๓ รวง ใบเฉียงพร้า ใบหมากผู้  หญ้าคา หญ้าเข็ดมอน มัดเข้าด้วยกัน แล้วเอามีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ ๑ อัน และเทียนชัยใส่รวมเอาไว้ โดยโนราใหญ่จะใช้เท้าขวาเหยียบขันแล้วรำบทต่าง ๆ ตั้งแต่บทครูสอน บทสอนรำ และบทตั้งเมือง ดังตัวอย่างบทตั้งเมืองตอนหนึ่งว่า...

บทตั้งเมือง

พ่อตั้งสิ้นตั้งสุด                                                               
ตั้งพวกมนุษย์ไว้ใต้หล้า 
ตั้งหญิงคนชายคน                                                         
ได้เป็นพืชเป็นผลสืบต่อมา

ได้ตั้งนางเอื้อยเป็นเจ้าเท่                                                
เสร็จแล้วตั้งนางเอเป็นเจ้านา
พ่อตั้งนายคงเป็นเจ้าแดน                                              
ตั้งนายไกรพลแสนเฝ้ารักษา
พ่อตั้งอาทิตย์ดวงพระจันทร์                                         
ตั้งปีตั้งเดือนตั้งคืนวันถัดกันมา          
ไหว้ท้าวอาทิตย์โคจร                                                       
ได้ตั้งเมืองอุดรบิญจา
เขอเมืองของพระองค์                                                     
นับได้ห้าพันวา
ตรงนี้แปเมืองราชา                                                          
นับไว้ได้ห้าโยชน์ปลาย
พวกจีนไทยแขก                                                                
จ่ายแจกไปทั่วพาวาย
ตั้งร้านค้าขาย                                                                    
ร้องถวายพระพรแจ้วแจ้ว

 


ภาพจาก : โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

          หลังจากรำบทตั้งเมืองแล้วก็ถือว่าเป็นเสร็จพิธีในวันแรก  คณะโนราจะช่วยกันยกเครื่องสังเวย  เทริด  หน้าพรานหน้าทีสี ฯลฯ  ไปว่างไว้บนศาลหรือพาไล  เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ในวันรุ่งขึ้น  จากนั้นจะเป็นการำทั่วไปของคณะโนราเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมพิธีและชาวบ้าน
           
วันที่สอง พิธีกรรมวันที่สอง  คือวันพฤหัสบดีถือว่าเป็นวันครู เป็นวันประกอบพิธีใหญ่ มีการเซ่นไหว้ครู แก้บนและจัดพิธีกรรมอื่น ๆ ในวันนี้เริ่มพิธีตั้งแต่ลงโรง กาศครู เชิญครูเช่นเดียวกับวันแรก แล้วเชิญครูหมอโนรามาเข้าทรงถือเทียนลุกขึ้นร่ายรำตามเสียงเชิดของดนตรี ตรวจดูเครื่องสังเวยบนศาลจากนั้นลูกหลานจะเข้าไปกราบไหว้สอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ขอลาภขอพร แล้วนัดแนะกับครูหมอโนราในเรื่องวันเวลาที่จะรำโรงครูในโอกาสต่อไป สำหรับการรับเครื่องสังเวย แล้วจะเอาเทียนนั้นจ่อเข้าปากหรืออมควันเทียนเรียกว่า “เสวยดอกไม้ไฟ” เมื่อถึงเวลาจะออกจากร่างทรงดนตรีจะทำเพลงเชิด คนทรงจะสะบัดตัวอย่างแรง แล้วทุกอย่างกลับสู่อาการปรกติ  เรียกว่า “บัดทรง” ในวันนี้หากมีผู้มาขอทำพิธีครอบเทริด โนราใหญ่และผู้ช่วยอีกสองคนจะแต่งตัวเป็นพิเศษเรียกว่า “แต่งพอก” ผู้เข้ารับการครอบเทริดก็จะต้องแต่งพอกด้วย แต่ยังไม่ต้องสวมเทริด การแต่งพอกจะนุ่งสนับเพลา แล้วนุ่งผ้าลายตามแบบโนราเอาผ้าขาวมาผืนหนึ่งพับเข้าเป็นชั้น ๆ ตามจำนวนเทริดที่ตั้งบนพาไลและจัดขนมพองลาให้ครบตามจำนวนชั้นผ้าที่พับ เพื่อเซ่นไหว้ครูด้วยผ้าขาวแต่ละชั้นจะใส่หมาก ๑ คำ เทียน ๑ เล่ม เงิน ๑ บาท เมื่อพับและบรรจุแล้วก็นำมาพันไว้รอยสะเอว แล้วเอาผ้าลายมาคลุมไว้ข้างหลังโดยมีผ้ารัด และมีพอกห้อยสะเอวข้างละอัน พอกนี้ใช้ฝ้าเช็ดหน้าห่อหมาก ๑ คำ เทียน ๑ เล่ม เงิน ๑ บาท ผูกเป็นช่อไว้ จากนั้นจึงนุ่งผ้าลาย  แล้วใส่ผ้าห้อยหน้า หางหงส์ เครื่องลูกปัดและสวมเทริดเพื่อทำพิธีต่อไป สำหรับพิธีกรรมในวันที่สองนี้มีหลายอย่างได้แก่
          ๑. การเซ่นไหว้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา หลังจากร้องบทเชิญครูแล้ว เจ้าภาพ ชาวบ้าน หรือลูกหลานตายายโนราที่บนบานและสัญญาเอาไว้ว่าจะแก้บนด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นของคาวหวาน วัตถุเครื่องใช้หรือเครื่องแต่งตัวโนรา ก็จะนำมาส่งมอบให้กับโนราใหญ่พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียนและเงินทำบุญที่เรียกว่า “เงินชาตายาย” ตามที่ได้บนเอาไว้ หรือตามกำลังศรัทธา จากนั้นจุดเทียนที่เครื่องสังเวย เทียนบนยอดเทริด เทียนบนศาลหรือพาไลเทียนครูที่ท้องโรง เทียนเครื่องสังเวยและเทียนหน้าหิ้งบูชาครูหมอโนราบนบ้านเจ้าภาพ โนราใหญ่และผู้ร่วมพิธียกพานดอกไม้ธูปเทียนขึ้นบูชา จับสายสิญจน์พร้อมกัน โนราใหญ่กล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย กล่าวชุมนุมเทวดา กล่าวชุมนุมครูหมอ กล่าวคำแก้บน เซ่นไหว้และเชื้อเชิญครูหมอโนรามารับเครื่องสังเวยและอวยพรแก่ลูกหลาน โนราใหญ่กล่าวคำอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา แล้วนำเอาหมากพลูมาบริกรรมคาถามอบให้ผู้มาแก้บนทุกคน ๆ ละ ๑ คำ นำไปกินเพื่อความเป็นสิริมงคลเรียกหมากนี้ว่า "หมากจุกอก” เสร็จพิธีเซ่นไหว้และแก้บนด้วยสิ่งของแล้วโนราทั่วไปจะรำถวายครู
        ๒. การรำสอดเครื่อง สอดกำไลและพิธีตัดจุก หลังจากโนราทั่วไปรำถวายครูแล้วก็จะ “รำสอดกำไล” หรือ “สอดไหมฺร” เพื่อรับศิษย์เข้าฝึกการรำโนรา  โดยผู้ปกครองจะนำบุตรหลานพร้อมพานดอกไม้ธูปเทียนและเงิน ๑๒ บาท ไปกราบครูโนรา โนราใหญ่รับมอบเครื่องบูชาแล้วสอบถามเพื่อยืนยันความสมัครใจและคำยินยอมจากผู้ปกครอง จากนั้นนำกำไลมาสวมมือให้ประมาณ ๓ วง แล้วจับมือทั้งสองของเด็กยกขึ้นตั้งวง เพื่อเอาเคล็ดในการรำ ส่วนการรำสอดเครื่องหรือที่เรียกว่า “จำผ้า” ผู้เข้าพิธีต้องจัดพานดอกไม้ธูปเทียนและเงิน ๑๒ บาท ไปกราบครูโนราเมื่อได้รับการยืนยันถึงความสมัครใจแล้ว โนราใหญ่จะรดน้ำมนตร์ เสกเป่าด้วยคาถาแล้วมอบเครื่องแต่งตัวโนราที่เรียกว่า “เครื่องต้น” ให้ผุ้เข้าทำพิธีไปแต่งตัวแล้วออกมารำถวายครู โดยรำบทครูสอน บทสอนรำ ตามเวลาอันสมควรเป็นเสร็จพิธี จากนั้นจึงทำพิธีตัดจุก โดยผู้ปกครองนำพานดอกไม้ธูปเทียน เงิน ๑๒ บาท มามอบให้โนราใหญ่พร้อมกับตัวเด็ก คณะโนราจะให้เด็กนั่งลงบนผ้าขาว โนราใหญ่และครูหมอโนราองค์สำคัญ ๆ ในร่างทรง เช่น พระม่วงทอง ขุนศรีศรัทธา ทำพิธีร่ายรำถือไม้หวายเฆี่ยนพรายและกริช พร้อมกับนำน้ำมนตร์มาประพรมที่ศีรษะเด็กเอามือจับที่จุกของเด็ก บริกรรมคาถา ดนตรีเชิด จากนั้นจึงใช้กริชตัดจุกของเด็กพอเป็นพิธีเสร็จแล้วประพรมน้ำมนตร์อีกครั้ง ส่งตัวเด็กให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองพาเด็กไปตัดหรือโกนผมจริงต่อไป
             ๓. พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ ทำหลังจากพิธีตัดจุกแล้ว หากผู้เข้าพิธียังไม่เคยตัดจุก จะตัองทำพิธีตัดจุกก่อนและต้องมีอายุครบ ๒๒ ปี เป็นโสด  หากแต่งงานมาแล้วต้องทำใบหย่าร้างโดยสมมุติกับภรรยาเพื่อมิให้ “ปราชิก” ผิดกฎสำหรับโนราไม่ได้ ในอดีตเมื่อครอบเทริดแล้วต้องไปรำ “สามวัดสามบ้าน” แล้วจึงมาเข้าพิธีอุปสมบทจึงจะถือว่าเป็นโนราโดยสมบูรณ์แต่ในปัจจุบันสามารถอุปสมบทได้

            วันที่สาม พิธีกรรมในวันที่สาม คือวันศุกร์อันเป็นวันสุดท้ายของพิธี เริ่มพิธีด้วยการลงโรง กาศครู เชิญครู และรำสนุกทั่ว ๆ ไปและรำถวายครูพร้อม ๆ กัน จากนั้นคณะโนราจะรำสิบสองท่า สิบสองเพลงและสิบสองบทครบถ้วน ท่ารำสิบสองท่า เช่น ท่าเทพพนม ท่าเขาควาย ท่าบัวตูม ท่าบัวบาน ท่าบัวแย้ม ท่าขี้หนอน ฯลฯ สิบสองเพลง  เช่น  บทสอนรำ บทประถม บทครูสอน บทนกจอก บทแสงทอง ฯลฯ สิบสองบท เช่น บทพระสุธน บทไชยเชษฐ์ บทลักษราวงศ์ ฯลฯ หลังจากนั้นโนราจะรำประกอบพิธีกรรมและรำทำบทต่าง ๆ ดังนี้
                  ๑. การเหยียบเสน
                เสนเป็นเนื้อที่งอกขึ้นจากระดับผิวหนังเป็นแผ่น  ถ้ามีสีแดงเรียกว่า  “เสนทอง” หรือเสนแดง  ถ้ามีสีดำเรียก  “เสนดำ”  เสนไม่ทำให้เจ็บปวดหรือมีอันตราย  แต่ดูน่าเกลียดถ้าเป็นกับเด็กเสนจะโตขึ้นตามอายุ ชาวภาคใต้เชื่อว่าเสนเกิดจากการกระทำของ “ผีโอกะแชง”  หรือ  “ผีเจ้าเสน”  หรือเกิดจากครูหมอโนราทำเครื่องหมายไว้  เสนรักษาให้หายได้โดยการเหยียบของโนราในพิธีกรรมโนราโรงครู  พิธีนี้ผู้ที่เป็นเสนหรือผู้ปกครองต้องตัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีมามอบให้โนราใหญ่ ได้แก่ ขันน้ำ หรือถาดใส่น้ำ หมากพลู ธูปเทียน  ดอกไม้ มีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ เครื่องทอง เครื่องเงิน หญ้าคา หญ้าเข็ดมอน รวงข้าวและเงินตามกำหนด เช่น ๑๒ บาท จากนั้นโนราใหญ่จะเอาน้ำใส่ขันหรือถาดพร้อมด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ  ทำพิธีจุดธูปเทียน ชุมนุมเทวดา ชุมนุมครูหมอโนรา ลงอักขระขอมที่หัวแม่เท้าของโนราใหญ่ แล้วรำ "ท่าแบบเฆี่ยนพราย' หรือ “ท่าย่างสามขุม” มีโนราหรือครูหมอโนราในร่างทรงรำประกอบโดยถือกริช พระขรรค์ แล้วโนราใหญ่เอาหัวแม่เท้าไปแตะตรงที่เป็นเสน แล้วเอาหัวแม่เท้าไปเหยียบเบา ๆ ตรงที่เป็นเสน โดยหันหลังให้ผู้ที่เป็นเสนโดยว่าคาถากำกับ ในขณะเดียวกันโนราหรือครูหมอโนราในร่างทรงก็จะเอากริช พระขรรค์แตะเสนพร้อมกับบริกรรมคาถา ทำเช่นนี้ ๓ ครั้ง  เสร็จแล้วเอามีดโกน หินลับมีดและของอื่น ๆ ในขันน้ำหรือถาดไปแตะที่ตัวผู้เป็นเสน เป็นอันเสร็จพิธี จากพิธีกรรมดังกล่าวเชื่อว่าเสนจะค่อย ๆ หายไป  ถ้าไม่หายก็ให้ทำซ้ำอีกจนครบ ๓ ครั้ง เสนจะหายไปในที่สุด


ภาพจาก : โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

            ๒. การตัดผมมีช่อ  ผมผีช่อคือผมที่จับตัวกันเป็นกระจุกโดยธรรมชาติเหมือนผูกมัดเอาไว้ ตั้งแต่แรกคลอดชาวบ้านและโนราบางคนเชื่อว่า ผมผีช่อเกิดจากความต้องการของครูหมอโนรา โดยเฉพาะครูหมอโนราฝ่ายอิสลามได้แก่ โต๊ะห้าดำ ยินมู่หมี และลูกสาวของโต๊ะห้าดำคือ จันจุหรี ศรีจุหรา ที่ต้องการให้บุคคลบางคนมาเป็นโนราหรือคนทรงครูหมอโนรา จึงผูกผมเป็นเครื่องหมายเอาไว้ เชื่อว่าถ้าใครตัดผมนี้ออกด้วยตัวเองจะเกิดโทษภัย แต่แก้ได้โดยให้โนราใหญ่ตัดออกให้ในพิธีกรรมโนราโรงครู ผมที่ตัดออกแล้วให้เก็บไว้กับตัวผู้เป็นเจ้าของ เชื่อว่าจะเป็นของขลังสามารถป้องกันอันตรายได้ เวลาตัดโนราใหญ่จะต้องทำพิธีขออนุญาตจากครูหมอโนราหรือตายายโนราเสียก่อน หากไม่อนุญาตแม้จะตัดผมออกแล้วผมก็จะผูกันใหม่อีก ในการทำพิธีผู้เข้าพิธีต้องเตรียมพานดอกไม้ธูปเทียน  เงิน  ๑๒  บาท มามอบให้โนราใหญ่ ทางคณะโนราจะเตรียมกรรไกร มีดหมอหรือพระขรรค์เอาไว้ เริ่มพิธีโดยบริกรรมคาถาผู้เข้าพิธีปูผ้าขาวรองรับผมของตนเอง โนราใหญ่ทำน้ำมนตร์รดหัวผู้เข้าพิธี แล้วรำ “ท่าสามย่าง” หรือ “ท่าย่างสามขุน” ตัดผมที่จับตัวกัน ๓  ครั้งด้วยกรรไกร พระขรรค์หรือมีดหมอ เก้็บผมที่ตัดออกแล้ว ๓ ครั้ง เรียกว่า “สามหยิบ” มอบให้ผู้เข้าพิธีหรือผู้ปกครองไปเก็บรักษาไว้ที่บ้าน เชื่อว่าหลังจากตัดผมผีช่อออกแล้วผมที่งอกขึ้นใหม่จะไม่ผูกกันเป็นกระจุกอีกต่อไป
            ๓. การรำคล้องหงส์ ใช้รำเฉพาะในพิธีครอบเทริดหรือผูกผู้ใหญ่ และพิธีเข้าโรงครูเท่านั้น ใช้ผู้รำ ๙ คน โดยโนราใหญ่เป็น “พญาหสงส์” อีก ๖ คนเป็นหงส์ และผู้รำเป็นพราน ๑ คน สมมุติท้องโรงเป็นสระอโนดาต เหล่านางทั้ง ๗ เล่นสนุกกันอยู่ โดยโนราร้องบทพญาหงส์ บทร้องพญาหงส์ เช่น...

ทอยติหนิ้งช้าเจ้าพญาหสงส์เหอ                     
ปีกเจ้าอ่อนร่อนลงในดงไผ่
แลหน้าแลตาเจ้าดีดี                                            
เหตุไหรไปมีผัวเมืองไกล
ร่อนลงในดงป่าไฝ่                                               
ทอยติหนิ้งติ้งช้าเจ้าพญาหงส์เหอ
         

                                        

           ตอนที่หงส์กำลังร้องกลอนบททำนองพญาหงส์  พรานจะออกมาด้อม ๆ  มอง ๆ  เพื่อเลือกคล้องพญาหงส์ พอจบบทกลอนพรานเข้าจู่โจมไล่คล้องหงส์  ดนตรีเชิด นางหงส์วิ่งหนีเป็นรูป “ยันต์เต่าเลื่อน” (เป็นยันต์ที่เขียนหรือลงอักขระบนรูปตัวเต่าหรือกระดองเต่า เพื่อใช้ป้องกันตัวป้องกันเสนียดจัญไรและให้เกิดโชคลาภ  เมตตากรุณา) นายพรานไล่คล้องได้นางพญาหงส์  นางพญาหงส์ใช้สติปัญญาจนสามารถหลุดจากบ่วงเป็นจบการรำ เชื่อกันว่าการรำคล้องหงส์ในโรงครูทั้งตัวนางพญาหงส์คือโนราใหญ่และผู้แสดงเป็นพรานมีครูโนราเข้าทรงด้วย
          ๔. การรำแทงเข้ (จระเข้) ซึ่งการรำนี้จะรำหลังจากรำคล้องหงส์เสร็จแล้ว  ผู้รำมี ๗  คน โนราใหญ่รำเป็น “นายไกร” “นายไกร” ที่เหลืออีก ๖ คน เป็นสหายของนายไกร อุปกรณ์มีเข้ (จระเข้) ๑ ตัว ทำจากต้นกล้วยพังลา (กล้วยตานี) ต้นโต ๆ ขุดให้ติดเหง้า นำมาแกะสลักส่วนเหง้าให้เป็นหัวเข้ ขาใช้หยวกกล้วยตัดเป็นรูปขาแล้วใช้ไม้เสียบไว้ หางทำด้วยทางมะพร้าว เมื่อเสร็จแล้วใช้ไม้ขนาด ๔ คืบ ๔ อัน ปักเป็นขาหยั่ง เชื่อกันว่าคนที่จะทำตัวจระเข้นั้นจะต้องเป็นผู้มีความรู้ทางเวทย์มนตร์คาถา เพราะหลังจากทำตัวจระเข้เสร็จแล้วจะต้องทำพิธีบรรจุธาตุเรียกวิญญาณไปใส่ เบิกหูเบิกตาเรียกเจตภูตไปใส่ หากทำไม่ถูกต้องก็อาจเป็นเสนียดจัญไรแก่ตนเอง ก่อนนำเข้าพิธีคนทำจระเข้ต้องทำพิธีสังเวยครูด้วยหมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน และเหล้าขาว แล้วนำไปวางข้างโรงโนราด้านตะวันตก ให้จระเข้หันหัวไปทางทิศหรดี หากหันหัวไปทางทิศอีสาน โนราจะไม่แทง บนตัว หัว และหางจระเข้ ติดเทียนไว้ตลอดด้านหน้าโรงที่จะไปแทงเข้ จะต้องเอาหยวกกล้วยพังลา (กล้วยตานี) ๓ ท่อน มาทำเป็นแพเพื่อให้โนราเหยียบก่อนออกไปแทงเข้ นอกจากนี้มีหอก ๗ เล่ม เรียกชื่อต่างกัน เช่น หอกพิชัย กอกระบวย ในตะกง ปานฉนะ เป็นต้น การรำแทงเข้จะเริ่มด้วยโนราใหญ่จุดเทียนตรงบายศรีแลที่ครูแล้วขึ้นบทเพลงโทน (จับบทไกรทอง) เนื้อความเป็นการทำขวัญนายไก และการละเล่นในพิธีทำขวัญ จากนั้นโนราจะเปลี่ยนเรื่องมาจับเรื่องราว ฝ่ายชาละวันว่า เกิดนิมิตฝนประหลาดจึงต้องไปหาอัยกา ให้เป็นผู้ทำนายฝันพระอัยกาได้ทำนายฝันให้ว่าเป็นลางร้ายจะต้องถึงแก่ชีวิต จากนั้นดนตรีทำเพลงเชิด โนราว่าบทสัสดีใหญ่ ร่ายรำด้วยท่ารำองอาจสง่างามแล้วออกจากโรงไปแทงเข้ ก่อนออกจากโรงบริกรรมคาถาแทงเข้ โดยเอาหัวแม่เท้ากดพื้นแล้วกล่าวว่า “พุทฺธํ ระงับจิต ธมฺมํ ระงับใจ สํฆํ สูไป ตัวสูคือท่าน ตัวกูคือพระกาล ธมฺมํ พุทฺธํ อะระหํ สูอย่าอื้อ บรรดาศัตรู เหยียบดิน กินน้ำ หายใจเข้าออกต้องแสงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่ได้ มีญาเตร จาเม ปวิสติ” ต่อจากนั้นโนราออกจากโรงใช้เท้าเหยียบแพหยวกแล้วกล่าวบริกรรมคาถาว่า “นางณีเจ้าขา ตัวยังหรือไม่ สังขาตั้ง โลกังชา นาติ ติโล กาวิทู ข้าพเจ้าจะออกไปอย่าให้มีภัยอันตราย พุทฺธํ ระงับจิต ธมฺมํ ระงับใจ สํฆํ สูไป ตัวสูคือท่าน ตัวกูคือพระกาล อัมมิพุทธัง อะระหัง สูอย่าอื้อ บรรดาศัตรู เหยียบดินกินน้ำ หายใจเข้าออก ต้องแสงอาทิตย์พระจันทร์ ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่ได้ มาอยู่แก่ข้าพเจ้าให้หมด” จากนั้นโนราใหญ่ ผู้รำเป็นสหายนายไกร ครูหมอโนราก็ร่ายรำไปยังตัวจระเข้ แล้วโนราใหญ่กล่าวบริกรรมคาถากำกับว่า “โอมธรณีสาร กูคือผู้ผลาญอุบาทว์ให้ได้แก่เจ้าไพร จังไหรให้ได้แก่นางธรณี สิทธิได้แก่ตัวกู” แล้วจึงใช้หอกแทงเข้ เอาเท้าถีบให้เข้หงายท้องโนราคนอื่น ๆ ก็ใช้หอกแทงเข้ต่อจากโนราใหญ่แล้วว่าบทปลงอนิจจัง กรวดน้ำให้ชาละวันจบแล้วว่าคาถาถอนเสนียดจากเข้เป็นอันจบกระบวนรำ
     



ภาพจาก : โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต, 2563

        การรำแทงเข้ (จระเข้) ใช้รำในพิธีกรรมโรงครูเท่านั้นจะรำหลังจากคล้องหงส์แล้ว โดยโนราใหญ่รำเป็นเมื่อรำแทงเข้แล้วคณะโนรากลับเข้าโรงโนรา จากนั้นโนราใหญ่จึงร้องบท “ชาครูหมอ” หรือ “ชาตายาย” เพื่อเป็นการบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนรา โดยเจ้าภาพ ลูกหลานตายายโนราจะนำเงินมาบูชาครูตามกำลังศรัทธาเรียกว่า “เงินชาครูหมอตายาย” เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนราโนราร้องบทชาครูหมอพร้อมกับขอพรครูหมอโนราหรือตายายโนราให้แก่เจ้าภาพและลูกหลานตายายโนรา ต่อจากบทชาครูหมอตายาย จากนั้นโนราใหญ่จะร้องบท  “ชาครูหมอ”  หรือ  “ชาตายาย”  เป็นการบูชาครูหมอโนรา  ตอนนี้เจ้าภาพลูกหลานตายายโนราจะนำเงินมาบูชาครูตามกำลังศรัทธา  เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอตายายโนรา โนราร้องบทชาครูหมอ  และขอพรให้แก่ลูกหลาน  เช่น...

สุขีสุขี                                               
ร้อยปีอย่ามีความเจ็บไข้
ความชั่วอย่าเข้ามาใกล้                                         
ความไข้ให้ไกลกายา
ลูกหลานยกย่างไปข้างไหน                                   
ตายายตามไปช่วยรักษา
ลูกหลานจะไปทำไร่                                                 
ให้ข้าวงามได้เทียมปลายป่า
เจ้าทองแส้แท้                                                           
ตีแกะตีเคียวไม่เกี่ยวเอา
ข้าวงามได้เทียมภูเขา                                             
ได้เมล็ดเจ็ดเกวียน 

             
          พอจบแล้วโนราใหญ่ร้องบท  “ส่งครู  คือส่วนครูหมอกลับดังตัวอย่าง...

ตัดว่าร้องส่ง                                                           
ทุกองค์พระเทวดา              
แรกเข้าเชิญมา                                                       
ถึงเวลาร้องส่งให้พ่อไป
ไปหน้าให้มีลาภ                                                       
ลูกอยู่หลังให้มีชัย
เชิญไปพ่อไป                                                           
ส่งเทียมทางสองแพรก
แพรกหนึ่งไปไทย                                                   
แพรกหนึ่งไปแขก
ถึงทางสองแพรก                                                 
แยกไปเถิดพระเทวดา

        เมื่อรำแทงเข้แล้วคณะโนรากลับเข้าโรงโนรา จากนั้นโนราใหญ่จึงร้องบท “ชาครูหมอ” หรือ “ชาตายาย”  เพื่อเป็นการบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนรา โดยเจ้าภาพ ลูกหลานตายายโนราจะนำเงินมาบูชาครูตามกำลังศรัทธาเรียกว่า “เงินชาครูหมอตายาย” เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา โนราร้องบทชาครูหมอพร้อมกับขอพรครูหมอโนราหรือตายายโนราให้แก่เจ้าภาพและลูกหลานตายายโนรา ต่อจากบทชาครูหมอตายาย และลูกหลานได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนราแล้ว โนราใหญ่จะร้องบท “ส่งครู” เพื่อส่งครูหมอโนราหรือตายายโนรากลับ ดังตัวอย่างบทร้องตอนหนึ่งว่า...

บทส่งครูหมอ

ฤกษ์งามยามดี ป่านี้ชอบยามตามพระเอสา                                 
ซ้ายแล้วแหละพุ่มพัว เราหย่อนวัวละน้องให้กินหญ้า
มันซ้ายแล้วแหละเพื่อนอา เรามาหย่อนมาให้กินน้ำ                     
ว่าซ้ายแล้วสาระแท้ เรามาแต่งแง่ให้งามงาม
วัวออกกินหญ้าม้ากินน้ำ ชอบไปด้วยยามพระเวลา                   
ฤกษ์งามยามดี ป่านนี้ได้งามต้องตามพระเวลา
ขวัญเหอ ได้ฤกษ์ร้องส่ง ทุกองค์ราชครูข้าถ้วนหน้า                   
เพราะวันก่อนลูกเชิญมา เมื่อถึงเวลาจะเชิญให้พ่อไป
กลับขึ้นสู่เคหา ลูกหลานจะได้พึ่งพาและอาศัย                             
ไม่ว่าองค์น้อยองค์ใหญ่ กลับไปเย้าเยพระเคหาส์
เพราะว่าพิธีไม่มีบกพร่อง ถูกต้องตามวันที่สัญญา...                 
ขอให้พ่อเป็นธงชัย ได้กับพวกเราเหล่าโนรา
         

        เสร็จจากส่งครูหมอโนราหรือตายายโนราแล้วโนราใหญ่ ก็จะทำพิธี “ตัดเหฺมฺรย” (ตัดทานบท) ซึ่งเป็นพิธีตัดเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นไหว้ตายายให้ขาดแยกจากกันเป็นเคล็ดว่า “เหฺมฺรย” หรือพันธะสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ครูหมอโนราได้ขาดกันแล้ว สิ่งที่โนราใหญ่ตัดได้แก่ บายศรีท้องโรง เชือกมัดขื่อโรงจากบนศาล หรือพาไล ๓ ตับ เชือกผูกผ้าหรือเพดานศาลหรือพาไล ๑ มุมแล้วห่อเหฺมฺรย ขึงวางอยู่บนศาลหรือพาไล วิธีตัดเหฺมฺรยโนราใหญ่จะถือมีดหมอ ๑ เล่ม เทียน ๑ เล่ม หมากพลู ๑ คำ ไว้ในมือขวาแล้วรำท่าตัดเหฺมฺรย โดยตัดแต่ละอย่างตามที่กล่าวมาแล้วไปตามลำดับ ขณะที่ตัดจะว่าคาถากำกับไปด้วยเสร็จแล้วเก็บเครื่องบนศาลหรือพาไลไปวางไว้นอกโรงทำพิธีพลิกสาดพลิกหมอน รำบนสาดแล้วถอดเทริดออกเป็นอันเสร็จพิธีการรำโนราโรงครู แต่หากเจ้าภาพบนครูหมอว่าจะแก้บนด้วยหัวควายโนราใหญ่ก็จะทำพิธีแก้บนให้เรียกว่า “รำถีบหัวควาย” การรำถีบหัวความนี้เชื่อกันว่าเพื่อบูชา “ทวดเกาะ” คำว่า “เกาะ” หมายถึงสถานที่อันเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ทวดงู ทวดเสือ เป็นต้น แต่บางแห่งเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมเพื่อบูชา “ผีแชง” ซึ่งเป็นผีจำนวนหนึ่งที่มีหน้าที่ประจำเสาและเฝ้าโรงโนรา ผู้แก้บนจะนำหัวควายที่ฆ่าแล้วมาต้มหรือย่างให้สุก จัดถาดเพื่อวางหัวควาย โดยมีผ้าขาวปูรองในถาดแล้วนำไปตั้งไว้บนศาลหรือพาไลในวันพฤหัสบดี วันศุกร์เอาหัวควายลงมาวางไว้ที่พื้นโรงผูกติดกับเสาโรง ที่อยู่ใกล้ศาลหรือพาไล หลังจากโนราใหญ่ทำบทคล้องหงส์และแทงเข้แล้ว ก็ขึ้นไปเซ่นไหว้ครูหมอโนราบนศาลหรือพาไลพร้อมด้วยตัวแทนเจ้าภาพ ส่วนคนอื่นจับด้วยสายสิญจน์ที่ต่อลงมาจากศาลหรือพาไล เสร็จแล้วดึงสายสิญจน์ไปพันที่เขาควายและจุดเทียนบนหัวควาย โนราใหญ่จับบท “ทรพี” จบบทแล้วบริกรรมคาถา รำท่าย่างสามขุม ใช้มีดหมอหรือดาบฟันที่หัวควายเพื่อตัดด้ายสายสิญจน์ แล้วจึงใช้เท้าถีบหัวควายให้ออกไปนอกโรงเป็นเสร็จพิธี การรำถีบหัวควายอาจมีพิธีผิดแผกกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น  เช่น  บางแห่งใช้วิธีฟันด้วยมีดพร้าแทนการใช้เท้าถีบ               


จุดเด่น/เอกลักษณ์

         ประเพณีการรำโนราโรงครู มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน  ทั้งนี้เพราะโนราโรงครูเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อที่เป็นความเชื่อทางพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน  อันหมายถึงความเชื่อในหลักคำสั่งสอนของพุทธศาสนา ซึ่งผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์และความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์หรือผีสางเทวดา อันรวมไปถึงการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การเข้าทรง  และพิธีกรรมทางความเชื่ออื่น ๆ  ความเชื่อและพิธีกรรมโนราโรงครูจึงมีบทบาทและหน้าที่ต่อปัจเจกบุคคล และต่อสังคมส่วนรวม  ตามลักษณะของพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน  เพราะศาสนาจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ของปัจเจกบุคคลและต่อสังคมส่วนรวม  ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมมนุษย์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ  ปากท้อง ความจัดแย้ง  การอบรมสั่งสอนสมาชิกใหม่  ความลี้ลับและอำนาจเหนือธรรมชาติ  ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ การติดต่อสื่อสารกัน การแสดงออกและการพักผ่อนหย่อนใจ จากความสำคัญในบทบาทและหน้าที่โนราโรงครู จึงพบว่าประเพณีรำโนราโรงครูมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดการำโนราความเชื่อเรื่องการแก้บน  มีส่วนสำคัญให้จัดพิธีกรรมโนราโรงครูและการสร้างโนราสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย การช่วยเหลือชาวบ้านในการรักษาอาการป่วยไข้และสามารถบนบานศาลกล่าวขอความช่วยเหลือจากครูหมอโนรา ล้วนอาศัยพิธีกรรมโนราโรงครูเป็นสำคัญ ความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับโนรา การปฏิบัติตัวของโนรา คนทรงครูหมอโนราและลูกหลานตายายโนรา ได้ส่งผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลและสังคมสามารถที่จะสร้างเอกภาพและสัมพันธภาพในสังคม เพราะมีความรู้สึกเป็นหมู่พวกเดียวกันมีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องเดียวกัน จึงเป็นที่มาของความเข้าอกเข้าใจ  ความรักสามัคคีและความมั่นคงในสังคมให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ประเพณีการรำโนราโรงครูและความเชื่อเกี่ยวกับโนรา มีส่วนในการสร้างและส่งเสริมอาชีพแก่ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้รำโนรา ลูกคู่โนรา คนทรงครูหมอโนรา สามารถมีรายได้ส่วนหนึ่งมาเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างดี บางคนกลายเป็นศิลปินโนรามีชื่อเสียง สามารถตั้งเป็นคณะออกรับงานการแสดงอยู่ในปัจจุบันนี้             
 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โนราโรงครู
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. (2523). ชีวิตไทยปักษ์ใต้ ชุดที่ 4. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.
ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. (2547). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
โนราโรงครู. (2555). สืบค้นวันที่ 10 มี.ค. 63 , จาก ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/129-nora

พรทิพย์ มหันตมรรค. (2544). ศึกษาชีวประวัติและผลงานด้านโนราของโนรายก ชูบัว. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2537). ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.
สุธี เทพสุริวงศ์และเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ. (2547). การรวบรวใภูมิปัญญาพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : สถบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลา                                    นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.   


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024