เกมยาง
 
Back    09/02/2022, 17:00    2,055  

หมวดหมู่

การละเล่น


ประเภท

อื่น ๆ


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจาก : https://www.1000tipsit.com/wp-content/uploads/2016/11/maxresdefault-1.jpg

       การเล่นเกมยางมีหลากหลายวิธีในการเล่นเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน การแข่งขันมีแพ้มีชนะ วิธีคิดเกมการเล่นเกมยาง เป็นการถ่ายถอดทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นที่มีการปรับเปลี่ยนแปลงกฎกติกา ไปตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยส่วนเหตุผลการเล่นเกมเกมยางนั้นมีว่าสมัยก่อนยังไม่มีสิ่งบันเทิงอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์ โทรศัพท์  ยางเส้นซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้มีอยู่ในชุมชนแต่เป็นสิ่งประดิษฐ์มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่เข้ามาสู่ชุมชนและเป็นสิ่งของที่มีราคามีการซื้อขายกัน ทําให้เด็ก ๆ ใน อดีตจะนิยมสะสมยางเส้นด้วยการร้อยเป็นพวงยาว ๆ ซึ่งจะได้รับความชื่นชมจากเด็กคนอื่น ๆ ที่ไม่มี ทำให้มีการซื้อขายระหว่างกัน ต่อมาก็นํายางมาคิดค้นเกมต่าง ๆ ขึ้นโดยใช้ยางเป็นอุปกรณ์ในการเล่น  การเล่นเกมยางจะไม่มีช่วงฤดูกาลในการเล่น เพราะยางเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ทุกฤดูกาล เล่นได้ทุกสถานที่ทุกเวลา โดยจะเล่นเป็นทีม เล่นรายบุคคลก็ได้ แต่เด็ก ๆ ที่จะเล่นเกมเกี่ยวกับยางนั้นก็เพียงมีกลุ่มเด็กเริ่มคิดเล่นเกมยางขึ้นในชุมชน เด็ก ๆ ในชุมชนจะเริ่มรวมกลุ่มเล่นตามกันไป การเล่นเกมยางจะมีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยแต่ที่นิยมมีอยู่จำนวน ๕ แบบ ประกอบด้วย
       
แบบที่ ๑ ยิงยางบนคานหรือบนราว


รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 27

    เกมยางแบบที่ ๑ ยิงยางบนคานหรือบนราว มีอุปกรณ์และกฎกติกาการเล่นคือ

๑. ไม้ง่าม เป็นไม้ ๒ ท่อน ทำเป็นเสาในการปักลงในดิน ขนาดศูนย์กลาง ๐.๒ มิลลิเมตร ขนาดความยาวประมาณ ๕ นิ้ว นิยมใช้ไม้ไผ่ ต่อมานิยมใช้ไม้เสียบลูกชิ้น ปลายไม้จะมีการบากให้เป็นร่องเล็กน้อย
๒. ไม้คาน หรือไม้ราวอีก ๑ ท่อน มีขนาดเท่ากัน ใช้สําหรับร้อยยางของผู้เล่นเกมทุกคนเข้าไปในไม้คานแล้ว นําไปวางไว้บนไม้ง่าม
๓. ยางเส้น สําหรับใช้ลงเป็นกองกลางจํานวนเท่า ๆ กัน สําหรับการแข่งขันตามกฎกติกาได้ตั้งรวมกัน
๔. ยางลูกเกยหรือยางลูกโก เป็นยางอีก ๑ เส้น ใช้สําหรับยิงยางบนราว
๕. สถานที่เล่น เป็นพื้นดินหรือพื้นปูนมีบริเวณที่ว่างกว้างพอประมาณ
 ๖. จัดเรียงลําดับผู้เล่นก่อนหลังวิธีวันตูชั่มหรือเป่า ยิ้ง ฉุบ

       วิธีการเล่นเกม

๑. กําหนดผู้เข้าร่วมเล่นเกม จํานวนเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับกติกาตั้งไว้ว่าจํานวนกี่คน เล่นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่เกมยิงยางบนคานนิยมเล่นในกลุ่มเด็กผู้ชายเป็นส่วนใหญ่
๒. กําหนดกติกาการลงยางแต่ละคนจํานวนเท่าไร เช่น คนละ ๒๐ เส้น ซึ่งผู้เล่นเกมจะลงเท่ากันทุกคน โดยนํายางกองกลางทั้งหมดมาแขวนรวมกัน
๓. เส้นการแข่งขัน คือเส้นกําหนดระยะที่ยืนยิงยางบนคาน มีความห่างเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับกติกา เช่น ๑.๕๐ เมตร
๔. เริ่มการแข่งขัน โดยผู้เล่นที่ได้ยิงเป็นลำดับที่ ๑ (ตัดสินจาก“ลาลาตี้ตําป็องหรือวันตูซั่ม) มีสิทธิ์ได้ยิงก่อน โดยคนแรกที่ยิงยางเส้นที่แขวนอยู่บนคานร่วงลงมาก็ได้รับจํานวนยางเส้นนั้นไป
๕. ถ้าหากยิงไม่โดนยางบนคานหรือยิงโดนยางบนคานร่วงมาไม่หมด ถึงคิวของผู้เล่นคนต่อไปมายิงยางบนคาน จนหมดรอบการยิงของทุกคน
๖. การเล่นเกมยิงยางบนคาน จะสลับเวียนกันยิงไปเรื่อย ๆ จนกว่ายางบนคานจะตกลงมาหมด จากนั้นก็เริ่มลงเส้นยางแล้วเล่นเกมใหม่ต่อไป

       แบบที่ ๒ ยิงยางบนคานหรือบนราว


รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 28


       เกมยางแบบที่ ๒ ยิงยางบนคานหรือบนราว นี้มีวิธีการเล่นทุกอย่างเหมือนกันกับแบบที่ ๑ จะแตกต่างก็เพียงอุปกรณ์การเล่นเท่านั้น จากที่ใช้ไม้คานหรือไม้ราว เปลี่ยนมาใช้ยางเส้นทําเป็นไม้คานแทน
       
อุปกรณ์และกฎกติกาการเล่นเกม

๑. ไม้เสาหลัก ๒ ท่อน เป็นไม้ไผ่เหลาหรือไม้เสียบลูกชิ้นก็ได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๒ มิลลิเมตร ขนาดความยาวประมาณ ๕ นิ้ว ปักลงในดินให้มีความห่างพอประมาณ
๒. ยางราว ๑ เส้น เป็นยางที่ใช้ทําเป็นราวด้วยการขึงระหว่างไม้เสาหลักทั้ง ๒ อัน
๓. ยางเส้น ที่สําหรับใช้เป็นกองกลางในการแข่งขันเกม
๔. ยางลูกเกยหรือยางลูกโก ๑ เส้น ใช้สําหรับการยิงยางบนราว
๕. สถานที่เล่น ต้องเป็นพื้นที่ดินหรือพื้นปูนที่มีพื้นที่ว่างกว้างพอประมาณ
๖. ลําดับผู้เล่นจะจัดเรียงลําดับผู้เล่นก่อนหลังจะใช้การตัดสินแบบ วันตูซั่ม (ซุ้ม)

       วิธีการเล่นเกม

๑. ผู้เข้าร่วมเล่นเกม จะมีจํานวนเท่าไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับกติกาตั้งไว้ว่าจํานวนกี่คน เล่นได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่เกมยิงยางบนราวนี้นิยมเล่นในกลุ่มเด็กผู้ชายเท่านั้น
๒. กําหนดกติกาการลงยางแต่ละคนจํานวนเท่าไร เช่น คนละ ๒๐  เส้น ทุกคนที่เข้าร่วมก็จะลงเท่ากันทุกคน โดยนํายางกองกลางทั้งหมดมาตั้งไว้รวมไว้บนราว
๓. ระยะเส้นทางการแข่งขัน จะกําหนดระยะเส้นที่ยืนยิงยางบนราว ให้มีความห่างเท่าไหร่ ซึ่งขึ้นอยู่กับกติกาที่ร่วมกัน เช่น ๑.๕๐ เมตร
๔. วิธีการแข่งขัน โดยผู้เล่นที่ได้ยิงเป็นลำดับที่ 1 โดยใช้วิธีวันตูซั่ม (ซุ้ม) ผู้ชนะจะมีสิทธิ์ได้ยิงก่อน ซึ่งถ้าผู้เล่นยิงยางเส้นบนราวร่วงลงมาก็ได้รับจํานวนยางเส้นนั้นไป
๕. ถ้าหากยิงไม่โดนยางบนราวหรือยิ่งโดนยางบนราวร่วงมาไม่หมด ถึงคิวของผู้เล่นคนต่อไปมายิงยางบนราว เล่นกันจนหมดรอบการยิงทุกคน
๖. การเล่นเกมยิงยางบนราวจะสลับเวียนกันยิงไปเรื่อยๆ จนกว่ายางบนราวจะตกลงมาหมด จากนั้นก็เริ่มลงเส้นยางแล้วเล่นเกมใหม่ต่อไป

       แบบที่ ๓ เกมยิงยางแบบปักด้วยเสาอันเดียว


รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 30

 

       เกมยางแบบที่ 3 เกมยิงยางแบบปักด้วยเสาอันเดียว มีอุปกรณ์และกฎกติกาการเล่นเกมคือ

๑. ไม้เสาหลัก ๑ ท่อน นิยมใช้ไม้ไผ่หรือไม้เสียบลูกชิ้นขนาดศูนย์กลาง ๐.๒ มิลลิเมตร ขนาดความยาวประมาณ ๓-๔ นิ้ว
๒. ยางรถ ประมาณ ๓-๕ ชิ้น ตัดให้เป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้ว สําหรับเป็นฐานรอง ซึ่งใช้ไม้เสาเสียบลงบนยางรถ
๓. ยางเส้น สําหรับใช้ในการลงเป็นกองกลางใช้ในการแข่งขัน
๔. ยางลูกเกยหรือยางลูกโกจำนวน ๑ เส้น ใช้สําหรับการยิงยางบนราว
๕. สถานที่เล่น บนพื้นที่ดินหรือพื้นปูนที่มีพื้นที่ว่างกว้างพอประมาณ
๖. ลําดับผู้เล่น จัดเรียงลําดับผู้เล่นก่อนหลังใช้การตัดสินจากการวันตูชั่มหรือจีจับ

      วิธีการเล่นการเกม

๑. กําหนดผู้เข้าร่วมเล่นเกม จํานวนเท่าไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับกติกาตั้งไว้ว่าจํานวนกี่คน เล่นได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่แล้วเกมยิงยางเด็กผู้ชายจะเล่นเป็นส่วนใหญ่
๒. กําหนดกติกาการลงยางแต่ละคนจํานวนเท่าไร เช่น คนละ ๒๐0 เส้น ทุกคนที่เข้าร่วมก็จะลงเท่ากันทุกคน โดยนํายางกองกลางทั้งหมดมาตั้งไว้บนราว
๓. ระยะเส้นของการแข่งขันเกม จะกําหนดระยะเส้นที่ยืนยิงยางโดยปักด้วยเสาอันเดียวมีความห่างเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับกติกาตั้งร่วมกันเช่น ๑.๕๐ เมตร
๔. วิธีการแข่งขัน ผู้เล่นที่ได้ยิงเป็นคนที่ ๑ จากกติกามีสิทธิ์ได้ยิงก่อน
๕. ถ้าหากยิงไม่โดนยางในไม้หลักหรือยิงโดนยางในไม้หลักกระเด็นออกมาไม่หมด ก็จะถึงคิวของผู้เล่นคนต่อไป มายิงยางในไม้หลัก จนหมดรอบการยิงของทุกคน
๖. การเล่นเกมยิงยางในไม้หลักจะสลับเวียนกันยิงไปเรื่อย ๆ จนกว่ายางในไม้หลักจะกระเด็นออกมาหมด จากนั้นก็เริ่มลงเส้นยางแล้วเล่นเกมใหม่ต่อไป

       แบบที่ 4 เกมเป่ากบ


รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 30

 

       เกมยางแบบที่ 4 เกมเป่ากบ มีอุปกรณ์และกฎกติกาการเล่นเกมคือ

๑. ยางเส้น สําหรับใช้ในการลงเป็นกองกลางสําหรับใช้ในการแข่งขัน
๒. ยางลูกเกยหรือยางลูกโกจำนวน ๑ เส้น ที่ใช้สําหรับการเป่า
๓. สถานที่เล่น อาจเป็นพื้นไม้หรือพื้นปูนที่มีความเรียบก็ได้
๔. ลําดับผู้เล่น จะจัดเรียงลําดับผู้เล่นก่อนหลัง โดยใช้วิธีวันตูชั่ม

      วิธีการเล่นการเกม

๑. กําหนดผู้เข้าร่วมเล่นเกม จํานวนเท่าไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับกติกาตั้งไว้ว่าจํานวนกี่คน เล่นได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่เกมยิงยางทุกแบบเด็กผู้ชายจะเล่นเป็นส่วนใหญ่
๒. กําหนดกติกาการลงยางแต่ละคนจํานวนเท่าไร เช่น คนละ ๑๐ เส้น ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมจะต้องยางลงเท่ากัน จากนั้นนํายางมากองกลางทั้งหมดมาวางซ้อนกันเป็นกอง
๓. ผู้เล่นทุกคน จะต้องนํายางลูกเกยหรือยางลูกโกของตนเอง ตั้งวางไว้ข้างหน้าให้มีความห่างจากยางกองกลางเท่า ๆ กัน
๔. วิธีการแข่งขัน ผู้เล่นที่ได้เป่ายางเป็นคนที่แรก ตามกติกา เช่น วันตูซั่ม ผู้ชนะจะมีสิทธิ์ได้เป่าก่อน สมมติว่าคนแรกเป่ายางกองกลางและมียางเส้นที่กระเด็ดออกมาจากองกลาง ผู้เล่นคนที่ ๒ ก็ง่ายที่จะเป่าให้โกหรือยางลูกเกยไปประกบยางเส้นที่กระเด็ดออกมาก็จะได้ยางนั้นทั้งหมด ดั้งนั้นแต่ละคนต้องมีเทคนิคการเป่า ซึ่งจะไม่ให้คนเป่าถัดไปเป่ายางโกประกบกับยางเส้นที่กระเด็ดจาก กองกลางได้ง่าย ๆ  หรือเป่าให้ยางกองกลางกระจายทับยางโก หรือยางลูกเกยของคนอื่น ๆ
๕. การแพ้ชนะในเกม คือใครสามารถเป่ายางโกประกบยางเส้นที่กระเด็ดออกมาจากวงได้ ถือว่าชนะการเล่นก็ได้จํานวนยางกองกลางทั้งหมด จากนั้นก็เริ่มลงยางเส้นแล้วเล่นใหม่ต่อไปใหม่

       แบบที่ ๕ เป่ากบกระจาย


รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 32


        เกมยางแบบที่ ๕ เป่ากบกระจาย อุปกรณ์และกฎกติกาการเล่นเกม มีดังนี้

๑. ยางเส้น สําหรับใช้ในการลงเป็นกองกลางสําหรับใช้ในการแข่งขัน
๒. ยางลูกเกยหรือยางลูกโกจำนวน ๑ เส้นใช้สําหรับการเป่า
๓. สถานที่เล่น จะเป็นพื้นไม้หรือพื้นปูนที่มีความเรียบ
๔. ลําดับผู้เล่น จะจัดเรียงลําดับผู้เล่นก่อนหลัง โดยใช้วิธีวันตูชั่ม

        วิธีการเล่นเกม

๑. กําหนดผู้เข้าร่วมเล่นเกมจํานวนเท่าไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับกติกาตั้งไว้ว่าจํานวนกี่คนเล่นได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
๒. ผู้เล่นที่เป่ายางคนสุดท้ายจากกฎกติกาวันตูชั่ม จะต้องนํายาง โกหรือยางลูกเกยของตนเองวางไว้เป็นคนแรก ผู้เล่นที่เป่าถัดมา วางยางโกหรือยางลูกเกยของตนเองซ้อนทับเรียงตามลําดับการเป่า
๓. กําหนดกติกาการลงยางแต่ละคนจํานวนเท่าไร เช่น คนละ ๑๐ เส้น ซึ่งคนที่เล่นเกรมจะต้องลงเท่า ๆ กัน
๔. นํายางกองกลางทั้งหมดมาวางซ้อนกับโกหรือยางลูกเกยของแต่ละคน ดังนั้นยางโกของทุกคนจะถูกทับด้วยยางกองกลางทั้งหมด
๕. ผู้เล่นที่ได้เป่าเป็นคนแรกจากกติกาวันตูชั่ม มีสิทธิ์ได้เป่าก่อนสมมติว่าคนแรกเป่าเพื่อต้องการให้โก ของตนเองออกจากกอง กลางให้ได้ แต่ถ้าการกระจายของยางในกอง มียาง ๑ เส้นกระเด็ดออกมาและโกของคนที่เป่าถัดไปกระเด็ดมาอยู่ใกล้กัน คนถัดไปก็จะเป่าโกของตนเองประกบยางเส้นนั้นได้ถือว่าชนะในเกมนั้น๗. ผู้เล่นเกมนี้แต่จะคนต้องมีเทคนิคการเป่าแบบมีชั้นเชิง และต้องวางแผนการเป่าให้ดี อย่าให้คนถัดไปเป่าโกประกบยางเส้นที่กระเด็ดออกมาได้
๖. การชนะในเกม ใครที่สามารถเป่าโกของตนเองไปประกบยางเส้นที่กระเด็ดออกมาจากวงได้ถือว่าชนะการเล่น และจะได้จํานวนยางกองกลางทั้งหมด ากนั้นก็เริ่มลงเส้นยางแล้วเล่นใหม่ต่อไป

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เกมยาง
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


บรรณานุกรม

ประสิทธิ์ รัตนมณี. (2561). รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา 
          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024