ภาพจาก : ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดภูเก็ต : ปะการังและท้องทะเล (The Coral reef and Sea of Phuket) , 2565
ผ้าบาติกมีต้นกำเนิด ณ จุดใดของโลกไม่มีใครบอกได้ชัดเจนมากนัก และได้เดินทางผ่านหมู่เกาะน้อยใหญ่ของชวา ข้ามน้ำ ข้ามทะเลเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต ทำให้ผู้หลงไหลในเสน่ห์แห่งสีสันที่สวยสดและลายเส้นเทียนที่พลิ้วไหวอ่อนหวานของบาติก ในจังหวัดภูเก็ตนั้นได้มีการผลิตผ้าบาติกกันมาอย่างยาวนาน โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ วิทยาลัยครูภูเก็ต (มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต) ได้เปิดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาจนขยายเป็นวงกว้างมาถึงปัจจุบัน โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เป็นลวดลายที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวของภูเก็ต โดยเฉพาะท้องทะเลที่เป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาได้ชื่นชมความงดงามของท้องทะเล จึงได้ออกแบบลวดลายท้องทะเลไว้บนผ้าบาติกและก็เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวตลอดมา เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมผ้าไทยและสิ่งทอท้องถิ่น ที่เกือบสูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง พร้อมยกระดับผ้าไทยให้มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงในเวที่โลก ตลอดถึงการสร้างอาชีพและรายได้ซึ่งและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น จังหวัดภูเก็ตโดยคณะกรรมการคัดเลือกลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ได้พิจารณาคัดเลือกลายผ้า "ปะการังและท้องทะเล" ให้เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดภูเก็ต โดยใช้ลวดลายจากท้องทะเลของภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสวยงามทางทะเลระดับโลก นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ตได้ชื่นชอบการดำน้ำ เพื่อชมความงามของท้องทะเล ประกอบกับการผลิตผ้าบาติกลายปะการังและท้องทะเล ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
การการผลิตผ้าบาติกของจังหวัดภูเก็ต เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดย อาจารย์ชูชาติ ระวิจันทร์ (ที่ทุกคนเรียกขานกันว่าลุงชู) ซึ่งเป็นอาจารย์ของวิทยาลัยครูภูเก็ต (มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต) ท่านได้ผลักดันให้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสำหรับนักศึกษาศิลปะ ซึ่งเป็นจุดประกายของ "บาติกภูเก็ต" ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยทำให้จังหวัดภูเก็ตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องของบาติก และท่านได้ผลักดันให้มีศูนย์ปฏิบัติการบาติก ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางที่จะสืบทอดเจตนารมย์การทำผ้าบาติกของจังหวัดภูเก็ต โดยท่านได้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับงานศิลปแขนงนี้มาก่อนแล้ว จากนั้นได้เริ่มต้นศึกษาเรียนรู้และทดลองทำด้วยการนำเอาธรรมชาติรอบ ๆ ตัว ตั้งแต่ต้นไม้ ใบหญ้า ปะการัง และท้องทะเล แล้วนำมาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าขาว การเริ่มต้นด้วยการลองผิดลองถูกเพื่อศึกษาเทคนิคและข้อจำกัดของบาติก และสิ่งที่ท่านค้นพบจากการทดลองคือพบปัญหาอุปสรรคในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้นว่า สีซีด สีตก หรืออื่นๆ แต่ก็ได้ทุ่มเทมากขึ้นเป็นทวีคูณ และความสำเร็จก็เป็นของท่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของธรรมชาติงานชิ้นเล็ก ๆ ที่เกิดจากการค้นคว้าจะถูกนำมาวางไว้ตามมุมต่าง ๆ ของห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้และสนใจที่จะทดลองทำ ต่อมาก็เริ่มต้นศึกษาบาติกอย่างเอาจริงเอาจังทั้งศิษย์และอาจารย์ก็เริ่มต้นขึ้นที่นี่และเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต่อมาท่านได้ผลักดันบาติกให้เป็นหลักสูตรการเรียนสำหรับนักศึกษาภาคศิลปะของวิทยาลัยครูภูเก็ต โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากวิทยาลัย จากนั้นเราก็เริ่มเห็นดอกไม้ใกล้ ๆ ตัว อย่างดอกบัว ดอกลั่นทมเบ่งบาน ประดับเรือนผมของนักศึกษาผู้หญิงแทบทุกคน นี่นับเป็นผลงานในยุคแรกเริ่มของนักศึกษาที่ออกมาในรูปแบบของสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าผูกผม จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ภายในระยะเวลาที่ไม่นานนัก ผลงานภาพนกน้อยสีสวยจับคู่เกาะเกี่ยวอยู่บนเถาวัลย์ไม้เลื้อยสีเขียวเข้มแสดแดงของดอกปักษาสวรรค์ชูช่อล้อลมท้าแสงตะวัน ปีกบางของผีเสื้อโฉบเฉี่ยวโบยบินอย่างอิสระเริงร่าอยู่ท่ามกลางมวลหมู่พันธุ์ไม้ ฝูงปลาหลากสีหลายพันธุ์เวียนว่ายหลบเข้นอยู่ภายใต้โอบกอดของดงปะการังรูปทรงแปลกตา ซึ่งทำให้ลายผ้าบาติกกลายเป็นสิ่งคุ้นชินของนักท่องเที่ยว และผู้คนในภูเก็ต นั่นเป็นเพราะบาติกได้โบกสะบัดออกจากห้องเรียนไปเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบอยู่ตามชายหาดหรือร้านขายสินค้าที่ระลึกและแทบจะทุกพื้นที่ของภูเก็ต โดยผลงานเหล่านี้ได้ถูกนำออกไปโดยนักศึกษาที่ได้รับการสอนของอาจารย์ชูชาติ ระวิจันทร์ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักศึกษาวิทยาลัยครูภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถาบันอื่นทั้งยังแพร่หลายออกไปยังกลุ่มต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจและนำไปประกอบเป็นอาชีพทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ "ผ้าบาติก" จึงกลายเป็นสินค้าชนิดใหม่และ "การเขียนผ้าบาติก" เป็นอาชีพใหม่ของผู้คนบนเกาะภูเก็ตตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วันเวลายังคงเดินทางต่อไปเหมือนกับเส้นเทียนจากปลายจันติ้งของอาจารย์ชูชาติ ระวิจันทร์ ที่ยังคงลื่นไหลอย่างอิสระไปบนผืนผ้าอมกับสีสันหลากเฉดหลายสีที่ยังคงระบายถ่ายทอดจินตนาการไปอย่างไม่สิ้นสุด ลุงชูยังคงคิดค้นเทคนิคและรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราอดแปลกใจไม่ได้ว่าผ้าขาวผืนเดียวสามารถบันทึกเรื่องราวและเทคนิคที่สลับซับซ้อนได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง ขณะเดียวกันบาติกภูเก็ตก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ นั่นเป็นเพราะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และชาวใต้นุ่งผ้าปาต๊ะมาเป็นเวลานาน ลวดลายบนผ้าปาเต๊ะมักเป็นเถาไม้ดอกไม้ใบหญ้าจะมีภาพสัตว์จำนวนน้อยมาก บ้างก็มีเป็นภาพนก แมลงหรือผีเสื้อ ผ้าที่ผลิตจากแหล่งใด ใครเป็นผู้ผลิต หรือซื้อขายที่ตรงไหนจะเป็นสร้อยชื่อผ้าปาเต๊ะเสมือนหนึ่งชื่อบริษัทปาเต๊ะ เป็นชื่อผ้าที่มีกรรมวิธีผลิตด้วยการใช้ขี้ผึ้งกับสีสลับ หรือปิดให้มีลวดลายลงบนผืนผ้าตามที่ต้องการ
ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้นายสิริชัย จันทร์ส่องแสง ปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการ "ร้านชัยบาติก" ซึ่งเป็นลูกศิษย์ อาจารย์ชูชาติ ระวิจันทร์ เป็นผู้ผลิตผ้าบาติกลายปะการังและท้องทะเล สำหรับทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ซึ่งนายสิริชัย เป็นผู้คิดค้นเทคนิคการเขียนลายผ้าบาติกประยุกต์สมัยใหม่ ภายหลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี โดยได้นำความรู้มาพัฒนาและต่อยอดบริหารจัดการทางการตลาด สร้างค่านิยมจากนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชุมชนที่ได้รับการสาธิตทำลวดลายผ้าบาติกให้กับหลายจังหวัด โดยใช้ลวดลายท้องทะเลของภูเก็ต สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ได้ชื่นชอบการดำน้ำเพื่อชมความงามของท้องทะเล จึงได้ศึกษาลวดลายบนผ้าบาติกอย่างจริงจัง และได้ออกแบบลวดลายท้องทะเลบนผ้าบาติกให้กับส่วนราชการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ และต่อมาในปีเดียวกันท่านได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบลวดลายท้องทะเลบนผ้าบาติก ในงานศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ทำให้ลวดลายผ้าบาติกท้องทะเลของจังหวัดภูเก็ต เป็นที่รู้จักมากขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ในการออกแบบและการผลิตผ้าบาติกลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดภูเก็ต (ลายปะการังและท้องทะเล (The Coral reef and Sea of Phuket)) ซึ่งต้องทำด้วยมือ (Handmade) โดยการใช้เทียนวาดเทียนให้มีมิติและลวดลาย ตามด้วยการเขียนเทียนทับสี เปลี่ยนน้ำหนักค่าสีบนเส้น สามารถซ้อนได้หลาย ๆ สี ด้วยกัน มีขั้นตอนการผลิตดังนี้
๑. ใช้ผ้าป่านมัสลินขนาดหน้ากว้าง ๕0 นิ้ว ขึงให้ตึงโดยใช้เทียนยึดกับเฟรมไม้ทุกด้าน |
๒. ออกแบบลวดลาย โดยใช้เทียนเขียน ส่วนที่เป็นจุดหรือเส้นก่อน แล้วระบายสีพื้นตามโทนสีที่กำหนดลวดลาย เช่น แนวปะการัง เส้นสีที่ต้องการให้ระบายสีนั้นไปก่อน เมื่อสีแห้งแล้วจึงเขียนลวดลายลงไป เมื่อเขียนลวดลายบนสีรอบแรกแล้วหากต้องการสร้างระยะความชัดลึกสามารถใช้สีระบายลงไปได้อีกครั้ง |
๓. รอสีแห้ง แล้วจึงนำเทียนมาเขียนทับลงไปอีกครั้งเขียนเทียนพร้อมระบายสีทับกันหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้มีระยะของสีบนเส้นเทียนหลาย ๆ สี |
๔. เมื่อเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว นำไปรีดเพื่อเอาเทียนออกให้หมดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือผ้าก็ได้เพื่อไม่ให้มีคราบน้ำเทียนติดอยู่ที่ผืนผ้า |
๕. รอจนสีแห้ง นำไปหมักด้วยน้ำยาโซเดียมซิลิเกต (เคลือบสี) ทิ้งไว้ ๑๕ ชั่วโมง แล้วจึงนำไปล้างออกเพื่อป้องกันไมให้สีตก |
๖. ต้มด้วยน้ำสบู่ในน้ำที่เดือดจัด เพื่อล้างคราบเทียนที่เขียนลวดลายบนผืนผ้าออก |
๗. ซักด้วยน้ำเปล่า แล้วตากให้แห้ง เป็นการเสร็จขั้นตอนการผลิต |
ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัด. (2565, 15 ธันวาคม). ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดภูเก็ต : ปะการังและท้องทะเล (The Coral reef and Sea of Phuket).
https://drive.google.com/file/d/10xrnEoQNlfjtu6FVwkLmhZ_D-VUPdAJo/view