สืบเนื่องจากชาวสตูลในสมัยอดีตนั้นได้รับอิทธิพลด้านการแต่งกายจากเชื้อชาติมลายู ชาวจีน ชาวเปอร์เซีย อินโดนีเชีย และประเทศจากทวีปยุโรป โดยเฉพาะการแต่งกายจะใช้ผ้าลายใบไม้ ดอกไม้ตามธรรมชาติ ที่มีความหลากหลายรูปแบบและสีสัน มานุ่งหรือสวมใส่ เป็นผ้าถุงลายดาวน์บูดิงฟอสซิลสตูลเกิดจากการนำลายดาวน์บูดิงมาผสมผสานกับลายฟอสซิลหอยในพื้นที่จังหวัดสตูล ลายดาวน์บูดิงที่ปรากฏบนผืนผ้าเป็นลวดลายคล้ายซุ้มดอกไม้โบราณชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยโดยสำนักงานประวัติศาสตร์ประเทศมาเลเซียได้สันนิษฐานว่าดอกไม้ที่ปรากฏบนผืนผ้า คือดาวน์บูดิง (Daun Buding) (ดอกบูดิง) มาจากภาษามลายูหรือดาวน์บูดี (Daun Budy) (ดอกบูดี) มาจากภาษาอินโดนีเซีย ดอกไม้ชนิดนี้พบมากในคาบสมุทรมลายมีลักษณะคล้ายดอกสายหยุด ดอกมีสีเหลือง กลิ่นหอม ใบมีลักษณะเป็นรูปหอก ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม ประเทศในแถบคาบสมุทรมลายูนิยมนำดอกไม้ชนิดนี้มาทำเป็นซุ้มดอกไม้เพื่อใช้ในพิธีต้อนรับบ่าวสาวในงานแต่งงาน จึงกล่าวได้ว่าดอกไม้ชนิดนี้ถือเป็นดอกไม้มงคลของชาวมลายูโบราณ ส่วนลายฟอสซิลเป็นการนำลายฟอสซิลในอุทยานธรณีสตูลซึ่งได้รับประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ ๕ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยยูเนสโก ทางกลุ่มผ้าปันหยาบาติกจึงได้นำลวดลายดาวน์บูดิงและฟอสซิลหอยในมหายุคพาลีโอโซอิก (อายุประมาณ ๒๙๙-๕๔๒ ล้านปี) มาผสมผสานเป็นลวดลายผ้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดสตูล ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงคัดเลือกผ้าบาเต๊ะลายโบราณของกลุ่มปันหยาบาติกมาตัดเย็บสำหรับฉลองพระองค์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้ผ้าบาเต๊ะลายโบราณให้เป็นที่นิยมขึ้นมาใหม่จังหวัดสตูล ได้คัดเลือกผ้าบาเต๊ะโบราณลาย "ดาวน์บูดิงฟอสซิลสตูล" เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดสตูล ประกอบการจัดทำหนังสือและจัดงาน "ภาษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล" ปี ๒๕๖๕ ของกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง "ผ้าไทย" พร้อมทั้งยกระดับผ้าไทย ให้มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงในเวทีโลก ผ้าบาติกที่นิยมทำกันอยู่ในจังหวัดสตูล มีอยู่ ๒ ลาย คือ
๑. ลายดาวน์บูดิง เป็นลวดลายคล้ายซุ้มดอกไม้โบราณชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย โดยสำนักงานประวัติศาสตร์ประเทศมาเลเซีย ได้สันนิษฐานว่า ดอกไม้ที่ปรากฏบนผืนผ้า คือ ดาวน์บูดิง (Daun Buding) (ดอกบูดิง) มาจากภาษามลายู หรือดาวน์บูดี (Daun Budy) (ดอกบูดี) มาจากภาษาอินโดนีเซีย ดอกไม้ชนิดนี้พบมากในคาบสมุทรมลายู มีลักษณะคล้ายดอกสายหยุด ดอกมีสีเหลือง กลิ่นหอม ใบมีลักษณะเป็นรูปหอก ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม ประเทศในแถบคาบสมุทรมลายนิยมนำดอกไม้ชนิดนี้มาทำเป็นซุ้มดอกไม้เพื่อใช้ในพิธีต้อนรับบ่าวสาวในงานแต่งงานจึงกล่าวได้ว่าดอกไม้ชนิดนี้ถือเป็นดอกไม้มงคลของชาวมลายูโบราณ
ลายดาวน์บูดิง
ภาพจาก : อัตลักษณ์ผ้าถิ่น ศิลป์สตูล "ดาวน์บูดิงฟอสซิลสตูล" ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดสตูล, 2565
๒. ลายฟอสซิล เป็นลายฟอสซิลหอยแบรคิโอพอตในมหายุคพาลีโอโซอิก (อายุประมาณ ๒๙๙-๕๔๒ ล้านปี ที่มีในอุทยานธรณีสตูล ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ ๕ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยลายฟอสซิลสามารถปรับเปลี่ยนเป็นลายฟอสซิลอื่น ๆ ได้
ลายฟอสซิล
ภาพจาก : อัตลักษณ์ผ้าถิ่น ศิลป์สตูล "ดาวน์บูดิงฟอสซิลสตูล" ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดสตูล, 2565
ผ้าลายดาวน์บูดิงฟอสซิลสตูล มีกรรมวิธีผลิตโดยใช้และย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดินเทอราโรซ่า ซึ่งเป็นดินในยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) พบในพื้นที่อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล สีจากเปลือกต้นโกงกาง เป็นต้น เมื่อได้ผ้าย้อมดินแล้วจึงนำมาขึ้นลายด้วยการบล็อกแล้วแต้มสี
ดินเทอราโรซ่า
เทคนิคการพิมพ์ลาย
จังหวัดสตูล มีผู้แทนกลุ่มทอผ้า กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล ได้ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผลิตผ้าบาติกภายในจังหวัดสตูล จำนวน ๔ กลุ่ม เพื่อดำเนินการผลิตผ้าบาติก ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดสตูล ประกอบด้วย
๑. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก มีนางสาวกอบกุล โชติสกุล เป็นประธานกลุ่ม ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๖๓ หมู่ที่ ๒ ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล โทรศัพท์ ๐๙๗-๑๑๐๑๓๑๔ ซึ่งทางกลุ่มเป็นผู้ผลิตผ้ามัดย้อมที่ใช้สีจากดินหินปูนผุในหมู่บ้านชุมชน สีจากกาบมะพร้าว ซึ่งให้สีธรรมชาติดูสบายตาพร้อมเพิ่มสีสันบนผืนผ้าด้วยลวดลายฟอสซิล ที่เรียกความสนใจให้แก่ลูกค้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลวดลายฟอสซิลหอยหรือแอมโมไนท์ เมื่อพิมพ์ลายออกมาแล้วดูสวย และแปลกตาเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้มีการริเริ่มการใช้สีจากดินในท้องถิ่นลวดลายโบราณอย่างแอมโมไนท์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บนผืนผ้าพันคอ หมวก และผืนผ้าตัดเย็บ และถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดสตูล ที่มักซื้อเป็นของฝากหรือของกำนัลให้แก่กัน |
๒. กลุ่มควนขันบาติก มีนางสาวพรพรรณ รักนิยม เป็นประธานกลุ่ม ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๘๑ หมู่ที่ ๔ ตำบลควนขัน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล โทรศัพท์ ๑๘๔-๗๑๓๘๔๗๖ ทางกลุ่มได้ผลิตผ้าบาติกและได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งคนทั่วไปจะนำใช้สำหรับตัดเสื้อ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีการทำ เป็นงานจิตรกรรมลงในตัวผ้าทำให้เกิดเสน่ห์ของผ้าบาติกและไม่เหมือนใคร เพราะจะใช้เทคนิคในการระบายสร้างพื้นผิวให้มีความสวยงามแปลกตา นอกเหนือไปจากการระบายสีด้วยพู่กัน โดยการใช้เกลือเพื่อต้องการให้พื้นผิวเป็นลายหยดน้ำ ดูแล้วงดงามสวยตระการตายิ่งขึ้น |
๓. กลุ่มสตูลบาติก มีนายวิทวัส แซ่ย่อง เป็นประธานกลุ่ม ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๓๒/๑๘ ถนนศุลกานุกูล ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล โทรศัพท์ ๐๖๕-๕๒๓๔๕๖๒ กลุ่มนี้ได้ผลิตผ้าบาติกซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจของลูกหลานที่เกิดและโตที่นี่มีความรัก ความผูกพันกับจังหวัดสตูล โดยนำเอาคำขวัญของสตูลที่ว่า "สงบ สะอาด ปลอดภัย" นำมาสู่แนวคิดนำเสนอเสน่ห์ ความงดงามของธรรมชาติวาดลวดลายอัตลักษณ์ เล ป่า ฟ้าสตูล บนผืนผ้าบาติก โดยใช้สีจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ผลไม้ ผืนดิน ฯลฯ ก่อให้เกิดผืนผ้าที่มีเสน่ห์อัตลักษณ์ กลิ่นอายอันดามันเสน่ห์สตูล เมื่อนำมาตัดเย็บด้วยความประณีต ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษ์ณ์ จึงเกิดผ้า "สตูลบาติก" ที่งดงามและทรงคุณค่า |
๔. กลุ่ม Yozama บาติก แฮนด์เพ้นท์ มีนางสาวซมา โย๊ะหมาด เป็นประธานกลุ่ม ตั้งอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลมะนัง หมู่ที่ ๗ ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล โทรศัพท์ ๐๘๑-๖๗๘๓๗๑๓ ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกของกลุ่มนี้เกิดจากนางสาวชมา โย๊ะหมาด ครูโรงเรียนอนุบาลมะนัง จังหวัดสตูล ได้ทำการสอนการทำผ้าบาติก ให้กับกลุ่มนักเรียนที่สนใจในการทำผ้าบาติก ซึ่งนักเรียนได้ทำและได้พัฒนาจากรูปดอกไม้ ใบไม้ ต้นไม้ ต่อยอดเป็นรูปฟอสซิล ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับอุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ สร้างชื่อเสียง สร้างผลิตภัณฑ์ ที่นักท่องเที่ยวสนใจ นักเรียนสามารถต่อยอดเป็นอาชีพ ได้เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ นอกจากลวดลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่อำเภอมะนัง การผสมผสานกับลวดลายฟอสซิลชนิดต่าง ๆในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลแล้ว ยังมีผลงานชิ้นเอก ซึ่งเป็นลวดลายพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารี รัตนราชกัญญาทรงพระราชทาน "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" เป็นอักษรตัว S ๑๐ ชั้น มีรูปหัวใจนำมาผสมผสานกับลายฟอสซิลทำให้ได้ผ้าผืนใหม่ทรงคุณค่าตัดเย็บอย่างประณีตเป็นชุดทำงานดีไซน์เก๋เพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงาน |
ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัด. (2565, 22 ธันวาคม). อัตลักษณ์ผ้าถิ่น ศิลป์สตูล "ดาวน์บูดิงฟอสซิลสตูล" ลายผ้าเอกลักษณ์
ประจำจังหวัดสตูล. https://drive.google.com/file/d/17omEmV0x2yj1370YD0B9Ew38IcPePF7m/view