หนังตะลุง (Shadow play)
 
Back    13/03/2018, 09:48    257,789  

หมวดหมู่

การแสดง


ประเภท

ร้อง


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้, 2544

            มหรสพการแสดงเงาจำพวกหนังตะลุงนี้ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติเคยปรากฏแพร่หลายมาทั้งในแถบประเทศยุโรปและเอเชีย มีหลักฐานปรากฏเมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะเหนืออียิปต์ ได้จัดให้มีการแสดงหนัง (หรือการละเล่นที่คล้ายกัน) เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะและประกาศเกียรติคุณของพระองค์ และเชื่อว่ามหรสพการแสดงเงานี้มีแพร่หลายในประเทศอียิปต์มาแต่ก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำ ในประเทศอินเดียพวกพราหมณ์แสดงหนังที่เรียกกันว่า "ฉายานาฏกะ" เรื่องมหากาพย์รามายณะเพื่อบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษ ส่วนในประเทศจีน มีการแสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกแห่งจักรพรรดิ์ยวนตี่ (พ.ศ. ๔๑๑-๔๙๕) เมื่อพระนางวายชนม์ ต่อมาการแสดงหนังตะลุงได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และไทย และสันนิษฐานว่าหนังใหญ่คงเกิดขึ้นก่อนหนังตะลุง ซึ่งได้ต้นแบบมาจากอินเดีย โดยรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ (หนังตะลุงจะออกรูปฤๅษี พระอิศวรก่อนทำการแสดง) หนังใหญ่จะแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอคนเชิดหนังใหญ่จึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วย เชื่อกันว่าหนังใหญ่มีอยู่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีหลักฐานอ้างอิงว่ามีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูหรือพระโหราธิบดี และมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนัง (หนังใหญ่) อันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ต่อมาหนังภาคใต้หรือหนังตะลุง ได้รับอิทธิพลของหนังชวาเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการในการทำรูปหนัง ขึ้นมาและแตกต่างจากรูปหนังใหญ่ ซึ่งเป็นแผ่นเดียวกันทั้งตัว เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ แต่รูปหนังชวาเคลื่อนไหวมือและปากได้ ส่วนใหญ่รูปหนังจะเคลื่อนไหวมือได้เพียงข้างเดียว ยกเว้นรูปกากหรือตัวตลก และรูปนางบางตัว ที่สามารถขยับมือได้ทั้งสองข้าง รูปหนังชวามีใบหน้าที่ผิดไปจากคนจริง และหนังตะลุงก็รับแนวคิดนี้มาปรับใช้กับรูปตัวตลก เช่น แกะรูปหนูนุ้ยให้หน้าคล้ายวัว เท่งหน้าคล้ายนกกระฮัง เป็นต้น
  
          หนังตะลุงเป็นมหรสพพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้เป็น ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวใต้มาแต่โบราณกาล โดยใช้บทพากษ์และบทกลอนในการแสดง แต่เดิมนิยมเล่นในงานสมโภชหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของชุมชนหรือหมู่บ้านเท่านั้น ต่อไปได้รับความนิยมของผู้คนจึงรับไปแสดงกันในงานประเพณี งานวัดหรืองานศพ หนังตะลุงนอกจากจะให้ความสนุกสนาน และครึกครื้น แล้วยังสะท้อนค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวใต้ที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องที่แสดงอีกด้วย สมัยก่อนแสดงเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก ต่อมานายหนังได้เลือกเรื่องอื่น ๆ  ในวรรณคดีไทยหรือชาดก เช่น ไกรทอง ไชยเชษฐ์ แก้วหน้าม้า เป็นต้น ในการแสดงจะทำรูปหนังจากแผ่นหนังสัตว์ต่าง ๆ เช่น หนังวัว หนังควาย หนังเก้ง หรือหนังเสือ (รูปฤษี)  เป็นต้น โดยการเอาหนังมาแช่ในน้ำสัมแล้วเอามาขูดให้บางใสแล้วขึงให้ตึง และนำมาวาดรูปและตัดเป็นพระ นาง ยักษ์ หรือตัวตลกต่าง ๆ   ต่อจากนั้นระบายสี แล้วใช้ตับคีบสำหรับถือหรือปักที่หน้าจอ ใส่มือและไม้ผูกติดกับมือสำหรับเชิดต่อไป 
 
         หนังตะลุง หรือที่ชาวปักษ์ใต้เรียกว่า “หนัง” หรือ “หนังลุง” หรือ “หนังควน” สันนิษฐานว่าการมหรสพที่เรียกว่าหนังตะลุงได้มีแพร่หลายขึ้นที่เมืองพัทลุงก่อนที่อื่น คนทั่วไปจึงเรียกหนังที่มาจากจังหวัดพัทลุงว่า “หนังพัทลุง” หรือ “หนังพัดลุง” จนเป็นหนังลุงในภาษาปักษ์ใต้ และเป็น “หนังตะลุง” ในภาษากลางซึ่งกร่อนมาจาก  “หนังพัทลุง” ในภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง พัทลุง และชุมพร จะมีการแสดงหนังตะลุงค่อนข้างบ่อย ด้วยเป็นสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีการจัดงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ก็มักจะมีหนังตะลุงมาแสดงอยู่ด้วยเสมอ

 


ความเชื่อ

ภาพจาก : http://redemption.demotoday.net/Wikicontent/home/blog_detail/1104

          หนังตะลุงนั้นนอกจากจะเป็นสิ่งที่สร้างความบันเทิงและสุนทรีย์แล้ว ยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับหนังตะลุงมีอยู่มาก ในอดีตถือว่าไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่นายหนังต้องเรียนรู้ การที่จะแสดงหนังได้ดีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีความรอบรู้ไสยศาสตร์ด้วย แต่ปัจจุบันนี้ความเชื่อทางไสยศาสตร์เริ่มคลี่คลายลงไม่มีการยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สําหรับความเชื่อทางไสยศาสตร์ของหนังตะลุงมีดังต่อไปนี้

๑. การปลูกโรงหนังตะลุง จะไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออก คือถือกันว่าถ้าหันไปทางทิศตะวันตกชื่อเสียงจะตก ถ้าหันไปทางทิศตะวันออกจะเป็นการแข่งกับแสงอาทิตย์และพระจันทร์ ถือเป็นอัปมงคล  หนังจะไม่ยอมเล่น แต่ปัจจุบันความเชื่อเช่นนี้เสื่อมคลายลงไปเป็นอันมาก
๒. หยวกที่ใช้ปักตัวหนัง มักจะเจาะแล้วฝังหมากฝังพลูไว้ข้างใน เพื่อป้องกันการถูกระทำทางไสยศาสตร์  และเพื่อผูกใจคนดู
๓. หนังตะลุงแต่ละโรง มักจะมีหมอไสยศาสตร์คอยทำพิธีเพื่อป้องกันการถูกกระทำต่าง ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นการประชันด้วยแล้วถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
๔. รูปหนังที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น รูปฤาษี รูปพระอิศวรทรงโค รูปเทวดา หนังตะลุงจะต้องนับถืออย่างมั่นคง  และรูปเหล่านี้มักจะทำจากหนังสัตว์ที่ตายอย่างพิสดาร เช่น ฟ้าผ่าตาย หนังเท้าของครูอาจารย์ บิดามารดา ส่วนรูปตัวตลกต่าง ๆ ก็มีเคล็ดว่า ให้ใช้ตัดหนังหุ้มอยัยวะเพศชายของคนตายแล้วมาปะติดตรงส่วนปากล่างของรูปเพื่อจะได้ช่วยให้ตลกและชวนขันยิ่งขึ้น
๕. ก่อนออกเดินทางไปแสดง ณ ที่ไดก็ตาม คณะหนังจะต้องประโคมดนตรีขึ้นเป็นเพลงเดินและเชิดเป็นการเอากฤษ์ และในขณะเดินทางไปนั้น ถ้าหากผ่านวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องตีกลอง เพื่อเป็นการคารวะทุกแห่งไป
๖. เมื่อไปถึงบ้านงานแล้ว จะนำรูปหนังและเครื่องดนตรีขึ้นทางหน้าโรงเท่านั้น ส่วนนายหนังและลูกคู่ต้องขึ้นทางหลัง และก่อนขึ้นต้องเดินเวียนโรงหนังหนึ่งรอบ ถ้าโรงนั้นเคยมีคณะอื่นมาแสดงแล้ว จะต้องทำความสะอาดเสื่อหมอน และเปลี่ยนหยวก สำหรับปักรูปเสียใหม่ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการกระทำทางไสยศาสตร์นั้นเอง
๗. ถ้าเป็นการแสดงในงานศพ ผู้แสดงจะต้องมีคาถาอาคม หรือความรู้ทางไสยศาสตร์เป็นอย่างดี ถ้าไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายได้ และเมื่อถึงวันเผาศพหนังจะต้องขนย้ายเครื่องที่แสดงลงมาไว้ข้างล่างให้หมด แล้วค่อยขนย้ายเข้ามาใหม่เมื่อเผาศพเสร็จแล้ว
๘. ถ้าเป็นงานแต่งงาน ต้องแสดงก่อนวันแต่งงาน หลังจากพิธีแต่งงานแล้วไม่นิยมแสดงเพราะถือว่าเป็นอัปมงคล
๙. การผูกจอหนัง นายหนังจะต้องผูกเชือกเส้นกลางของขอบล่างหนึ่งเส้น ที่ลูกคู่เว้นไว้เพื่อเอาเคล็ดว่าเป็นการผูกใจคนดู
๑๐. การวางรูปเพื่อเตรียมแสดงและการเก็บรูป รูปที่นำออกมาจากแผงถ้าเป็นรูปตัวตลกวางไว้ในที่ต่ำ ๆ  ส่วนรูปศักดิ์สิทธิ์ เช่น เทวดา ฤาษี ต้องแขวนไว้เหนือระดับศีรษะ และเมื่อเก็บเข้าแผงจะตองจัดอย่างมีระเบียบ  คือรูปไม่สำคัญวางไว้ข้างล่าง จัดรูปพระ รูปยักษ์ไว้คนละส่วนไม่ปะปนกัน รูปเทวดาและฤาษีจะต้องจัดไว้ข้างบนสุด รูปผู้หญิงจะสัมผัสกับรูปฤาษีไม่ได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นแผงที่ใช้เก็บรูปจะให้ใครข้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน
๑๑. ก่อนลงมือแสดงต้องมีพิธีเบิกโรง ถ้าเป็นงานมงคลเจ้าภาพต้องจัดหาขันหมากหนึ่งชุด ประกอบด้วยหมากพลู ๙ คำ  เทียน ๑ เล่ม ถ้าเป็นงานอวมงคลให้เพิ่มเสื่อ ๑ ผืน หมอน ๑ ใบ หม้อน้ำมนต์ ๑ ใบ ถ้าเป็นงานแก้บนใช้หมากพลู ๙ คำ เทียน ๙ เล่ม บางคณะเพิ่มดอกไม้ ข้าวสาร ด้ายดิบด้วย ส่วนเงินค่าเบิกโรงในแต่ละครั้งจะได้แก่ผู้หามแผงเก็บรูปหนัง 

จุดเด่น/เอกลักษณ์

ประเภทของหนังตะลุง

     หนังตะลุงของภาคใต้ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวบ้านอย่างกว้างขวางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบการแสดงได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ซึ่งการแสดงนั้นจะแตกต่างกันตามพื้นที่จากหนังสือใต้...หรอย มีลุย, ๒๕๔๗ : ๕๕ ได้แบ่งรูปแบบการแสดงไว้ ๓ แบบ ดังนี้คือ 

๑. หนังตะลุงตะวันออก เป็นรูปแบบการแสดงของกลุ่มชนแถบทะเลฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา 
๒. หนังตะลุงตะวันตก เป็นภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยที่สำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มชนแถบฝั่งอันดามัน เช่น พังงา ภูเก็ต (มีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกันทั้งในการขับร้องบท การเจรจา รูปหนังและธรรมเนียมการเล่น ส่วนองค์ประกอบในการแสดงอื่น ๆ มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน)
๓. หนังตะลุงมลายูหรือวายังกูลิต ชาวไทยมุสลิมเรียกว่าวอแยกูเละหรือวายังกูเละ เป็นศิลปะการเล่นเงาที่นิยมแสดงกันมาช้านาน ในพื้นที่บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

ลักษณะของรูปหนังตะลุง
        รูปหนังตะลุงแบบโบราณ มักเป็นสีดําตัวหนังจะยืนบนตัวพญานาค ต่อมาตัวหนังตะลุงในยุคหลังตัวพญานาคจึงหายไป และกลายมาเป็นตัวหนังตะลุงระบายสีธรรมชาติ และมี ลักษณะการแต่งกายเหมือนกับคนจริง ๆ แต่ยังมีตัวหนังตะลุงอีกพวกหนึ่งที่ยังคงทาสีดํา คือรูปกาก (ตัวตลก) เช่น เท่ง ทอง แก้ว หนูนุ้ย เมือง สะหม้อ บองหลา ฯลฯ ส่วนภาษาที่ใช้เป็นภาษาพื้นเมืองภาคใต้ แต่หากเป็นรูปเชิด เช่น รูปพระ นาง ยักษ์ กษัตริย์ เทวดา ฯลฯ บทพากษ์เจรจามักใช้ภาษากลาง ซึ่งเรียกว่าภาษาสิแนหรือแหลงข้าหลวง คือภาษาเจ้านาย ศิลปะในการสร้างรูปหนังตะลุงของภาคใต้ในระยะเริ่มแรกถ่ายทอดและยึดแบบมาจากรูปหนัง ภายหลังได้ดัดแปลงปรับปรุงไปตามท้องถิ่นและกาลเวลา รูปหนังที่เป็นเพศชาย เช่น รูปหน้าบท เทวดา เจ้าเมือง นางเมือง กุมารหรือเจ้าชายทั้งหลาย ยักษ์เมือง ลูกยักษ์ ฯลฯ หันหน้าไปทางข้างทั้งหมด

       ตัวละครสำคัญ
       ๑. ฤาษี

ฤาษีเป็นรูปครูที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องปัดเสนียดจัญไรและภยันตรายทั้งปวงทั้งช่วยดลบันดาลให้หนังแสดงได้ดีเป็นที่ชื่นชมของคนดู

       ๒. พระอิศวร

      รูปพระอิศวร ถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเทพเจ้าแห่งความบันเทิง พระอิศวรจะทรงโคอุสุภราชหรือนนทิ หนังเรียกรูปพระอิศวรว่ารูปพระโค หรือรูปโค หนังคณะใดสามารถเลือกหนังวัวที่มีเท้าทั้ง ๔ เป็นสีขาวโหนกสีขาว หน้าผากรูปใบโพสีขาว ขนหางสีขาว วัวประเภทนี้หายากมากถือเป็นมิ่งมงคล ตำราภาคใต้เรียกว่าตีนด่าง หางดอก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพ

       ๓. เจ้าเมือง

      เจ้าเมืองหรือพระราชา ในการแสดงจะเป็นพระบิดาของพระเอกหรือนางเอก หรือบางเรื่องเจ้าเมืองอาจจะมีบทบาทไม่มากนัก แต่ส่วนมากคณะหนังจะให้เจ้าเมือเป็นตัวสำคัญที่และตัวชูโรง 

       ๔. นางเมือง

 เป็นมเหสีของเจ้าเมืองมีีบทบาทเป็นเพียงผู้ตามแม้บางครั้งจะเห็นว่าการที่เจ้าเมือง สั่งลงโทษพระโอรสหรือ พระธิดา ไม่เป็นการถูกต้องแต่มักมิได้คัดค้าน

       ๕. พระเอก

Image result for รูปหนังตะลุง

      พระเอกในวรรณกรรมหนังตะลุงส่วนใหญ่จะเป็นโอรสกษัตริย์ แต่บางเรื่องพระเอกอาจจะอยู่ในฐานะของลูกตายาย ซึ่งเป็นคนจน พระเอกจะมีคุณสมบัติเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถ มีคุณธรรม มีอำนาจวิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดา มีของวิเศษ เป็นอาวุธประจำกายซึ่งอาจได้รับจากฤาษีหรือเทวดา ตัวเอกฝ่ายชายส่วนใหญ่จะมีรูปร่างงามสง่า กล้าหาญ แต่มักจะเจ้าชู้มี ภรรยามาก

      ๖. นางเอก 

Related image

      นางเอกในวรรณกรรมหนังตะลุงส่วนใหญ่มักจะเป็นธิดาของกษัตริย์หรือธิดาของเจ้าเมืองยักษ์ หากเป็นธิดาของเจ้าเมืองยักษ ์มักจะเป็นผู้ที่ฤาษีนำมาชุบเลี้ยงไว้ หรือถูกบิดาส่งมาให้ศึกษาศิลปะวิชา นางเอกจะมีรูปร่างที่งดงาม จิตใจดีแทบทุกเรื่อง ในวรรณกรรมบางเรื่องนางเอกอยู่ในรูปกำบัง คือมองไม่เห็นตัวหรืออยู่ในคราบที่น่าเกลียดน่ากลัวคล้าย ๆ นางปีศาจ แต่ภายหลังก็ได้รับการแปลงโฉมให้งดงามเหมือนเดิม ลักษณะนิสัยอีกอย่างหนึ่งของนางเอกคือมีความซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียว และมีความจงรักภักดีต่อสามี

      ๗. นางเบียน

Image result for รูปนางเบียนหนังตะลุง

       นางเบียน หรือนางสองแขน หรืออีท้ายเด้งหรือนางกาข้า เป็นชื่อรูปหนังตะลุงตัวหนึ่ง เป็นตัวนางฝ่ายอธรรมรูปร่าง ลักษณะ นางเบียนมีหน้าตาขี้เหร่ ร่างใหญ่ หน้าแบน คิ้วหยัก มักมีไฝบนใบหน้า ผมยาวดัดลอนประบ่า ก้นงอนเชิด แขนยาวเคลื่อนไหวได้ทั้งสองข้าง ลักษณะนิสัย นางเบียนจะรับบทเป็นตัวโกงฝ่ายหญิงโดยมากเป็นชายาฝ่ายซ้ายของเจ้าเมือง จะคบหากับอำมาตย์ผู้คิดมิชอบต่อแผ่นดินคบหากับฤาษีผู้ไม่ตั้งมั่นในธรรม เพื่อแต่งกลและทำคุณไสยให้เจ้าเมืองหลงรัก เข้าพระทัยผิดพระชายาฝ่ายขวาลงโทษชายาฝ่ายขวาและบุคคลอื่นที่นางไม่ชอบ ตอนต้นเรื่องนางเบียนจะทำการได้สำเร็จ แต่บั้นปลายเมื่อความจริงทุกอย่างปรากฏชัด นางจะได้รับโทษทัณฑ์อย่างแสนสาหัส จากวรรณคดีเก่า ๆ ที่หนังตะลุงนำมา แสดง ตัวนางเบียน ได้แก่นางจันทาในเรื่องสังข์ทอง และนางกาไวยในเรื่อง วรวงศ์ เป็นต้น เวลาพูดแสดงอาการดัดจริตลากเสียงแหยะ ๆ ก้อร่อก้อติกไร้กิริยาผู้ดี ลักษณะอาการทุกอย่าง ล้วนเป็นโทษสมบัติและค่านิยมต่ำ

       ๘. ยักษ์

Image result for รูปนางเบียนหนังตะลุง

      ยักษ์เป็นตัวละครที่มีปรากฏในวรรณกรรมหนังตะลุงแทบทุกเรื่อง ยักษ์จะมีหลายสถานภาพตั้งแต่กษัตริย์ยักษ์ ธิดายักษ์ เสนายักษ์ ตลอดจนยักษีที่อาศัยอยู่ในป่า หาสัตว์ป่าและผลไม้กินเป็นอาหารยักษ์มีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอกโง้งมา นอกปาก ถือไม้ตะบองเป็นอาวุธ มีกิริยาทะลึ่งตึงตัง ชอบทำลายระรานผู้อื่นและมีความโลภ อยากได้อะไรก็ต้องได้ โดยไม่คำนึง ถึงความถูกผิดหรือบาปกรรม ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ร้ายในเรื่อง แต่ช่วงปลายของเรื่องจะสำนึกตัวกลับตนเป็นคนดี

       ตัวตลก
      ตัวตลกหนังตะลุงหรือที่เรียกว่า "รูปกาก" ส่วนใหญ่จะไม่ใส่เสื้อ บางตัวนุ่งโสร่งสั้นแค่เข่า บางตัวนุ่งกางเกง และส่วนใหญ่จะมีอาวุธประจำตัว ตัวตลกทุกตัวสามารถขยับมือขยับปากได้ หนังแต่ละคณะจะมีรูปตัวตลกไม่น้อยกว่า ๑๐ ตัว แต่โดยปกติจะใช้แสดงในแต่ละเรื่องแค่ไม่เกิน ๖ ตัวเท่านั้น

       ๑. เท่ง

                   เท่ง เอาเค้ามาจากชาวบ้านคนหนึ่งชื่อเท่ง อยู่บ้านคูขุด อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา หนังจวนบ้านคูขุดนำมาตัดรูปตลกเป็นครั้งแรก ต่อมาหนังคณะอื่น ๆ นำไปเลียนแบบ รูปร่างผอมบางสูง ท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมงอหยิก ใบหน้าคล้ายนกกระฮัง นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย นิ้งชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน นุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก คาดพุงด้วยผ้าขะม้า ไม่สวมเสื้อ ที่สะเอวเหน็บมีดอ้ายครก (มีดปลายแหลมด้านงอโค้งมีฝัก) ชอบพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ขู่สำทับผู้อื่น ล้อเลียนเก่ง เป็นคู่หูกับอ้ายหนูนุ้ย

       ๒. หนูนุ้ย

                    หนูนุ้ย นำเค้ามาจากคนซื่อ ๆ แกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงยานโย้คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นออกไป คล้ายกับปากวัว มีเครายาวคล้ายหนวดแพะ ใครพูดเรื่องวัวเป็นไม่พอใจ นุ่งผ้าโสร่งแต่ไม่มีลวดลาย ไม่สวมเสื้อ ถือมีดตะไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ พูดเสียงต่ำสั่นเครือดันขึ้นนาสิก ชอบคล้อยตามคนยุยงส่งเสริม แสดงความซื่อออกมาเสมอ

       ๓. ยอดทอง

                  ยอดทอง เชื่อกันว่าเป็นชื่อคนจริงชาวจังหวัดพัทลุง รูปร่างอ้วน ผิวดำ พุงย้อยก้นงอนขึ้นบนผมหยิกเป็นลอน จมูกยื่น ปากบุ๋ม เหมือนปากคนแก่ไม่มีฟัน หน้าเป็นแผลจนลายคล้ายหน้าจระเข้ โครพูดถึงเรื่องจระเข้ไม่พอใจ นุ่งผ้าลายโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ เหน็บกริชเป็นอาวุธประจำกาย เป็นคนเจ้าชู้ ปากพูดจาโอ้อวด ใจเสาะ ขี้ขลาด ชอบขู่หลอก พูดจาเหลวไหล ยกย่องตนเอง บ้ายอ ชอบอยู่กับนายสาว ที่มีสำนวนชาวบ้านว่า "ยอดทองบ้านาย" นายยอดทองแสดงคู่กับตัวตลกอื่น ๆ ได้หลายตัว เช่น คู่กับนายหลำ คู่กับนายขวัญเมือง คู่กับนายพูนแก้ว คู่กับนายดำบ้า คู่กับนายลูกหมี หรือคู่กับนายเสมียน เป็นต้น

       ๔. สีแก้ว

                 สีแก้ว เชื่อกันว่าเอาเค้ามาจากคนที่ชื่อสีแก้วจริง ๆ เป็นคนมีตะบะ มือหนักโกรธใครตบด้วยมือหรือชนด้วยศรีษะ เป็นคนพูดจริง ทำจริง สู้คน ชอบอาสาเจ้านายด้วยจริงใจ ตักเตือนผู้อื่นให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรม รูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวคล้ำ มีโหนกคอ ศรีษะล้าน นุ่งผ้าโจงกระเบนลายตาหมากรุก ไม่สวมเสื้อ ไม่ถืออาวุธใด ๆ ใครพูดล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องพระ เรื่องร้อน เรื่องจำนวนเงินมากๆ จะโกรธทันที พูดช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ มีเพื่อนคู่หูคือนายยอดทอง

       ๕. สะหม้อ

               สะหม้อ หนังกั้น ทองหล่อ นำมาจากคนจริงโดยได้รับอนุญาตจากชาวอิสลามชื่อสะหม้อ อยู่บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต่อมาหนังตะลุงอื่น ๆ ที่นำไปเลียนแบบ รูปร่างอ้ายสะหม้อ หลังโกง มีโหนกคอ คางย้อย ลงพุง รูปร่างเตี้ย สวมหมวกแขก นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ พูดล้อเลียนผู้อื่นได้เก่ง ค่อนข้างอวดดี นับถือศาสนาอิสลามแต่ชอบกินหมู ชอบดื่มเหล้า พูดสำเนียงเนิบนาบ รัวปลายลิ้น

       ๖. ขวัญเมืิอง

               ขวัญเมือง ไม่มีประวัติความเป็นมาเป็นตัวตลกเอกของหนังจันทร์แก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช คนในถิ่นนั้นเขาเรียกว่า "ลุงขวัญเมือง" แสดงว่าได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่นอย่างสูงเหมือนกับเป็นคนสำคัญผู้หนึ่ง ใบหน้าของขวัญเมืองคล้ายแพะ ผมบางหยิกเล็กน้อย ผิวดำ หัวเถิก จมูกโด่งโตยาว ปากกว้าง พุงยานโย้ ก้นเชิด ปลายนิ้งชี้คล้ายนิ้วมืออ้ายเท่ง นุ่งผ้าพื้นดำ คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ เป็นคนซื่อ บางครั้งแฝงไว้ซึ่งความฉลาด ชอบสงสัยเรื่องของผู้อื่น พูดจาเสียงหวาน หนังจังหวัดสงขลาได้นำแสดงคู่กับสะหม้อ หนังจังหวัดนครศรีธรรมราช แถวอำเภอเชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง ท่าศาลา ให้แสดงคู่กับยอดทอง หนังพัทลุง ตรัง นิยมให้เป็นตัวบอกเรื่องเฝ้าประตูเมือง ออกตีฆ้องร้องป่าว

       ๗. ผู้ใหญ่พูน

                      ผู้ใหญ่พูน น่าจะเลียนแบบมาจากผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ จมูกยาวคล้ายตะขอเกี่ยวมะพร้าว ศรีษะล้าน มีผมเป็นกระจุกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางกลวงอยู่ กลางพุงโย้ย้อยยาน ตะโพกใหญ่ขวิดขึ้นบน เพื่อนมักจะล้อเลียนว่าบนหัวติดงวงถังตักน้ำ สันหลังเหมือนเขาพับผ้า (อยู่ระหว่างพัทลุง-ตรัง) นุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่มีลวดลาย ชอบยุยง โม้โอ้อวด เห่อยศ ขู่ตะคอกผู้อื่นให้เกรงกลัว ธาตุิแท้เป็นคนขี้ขลาดตาขาวชอบแสแสร้งปั้นเรื่องฟ้องเจ้านาย ส่วนมากเป็นคนรับใช้อยู่เมืองยักษ์หรือกับฝ่ายโกง พูดช้า ๆ หนีบจมูก 

       ๘. โถ

                        โถ เอาเค้ามาจากจีนบ๋าบา ชาวพังบัว อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา รูปร่าง มีศรีษะค่อนข้างเล็ก ตาโตถลน ปากกว้าง ริมฝีปากล่างเม้มเข้าใน ส่วนท้องตึง อกใหญ่เป็นรูปโค้ง สวมหมวกมีกระจุกข้างบน นุ่งกางเกงถลกขา ถือมีดบังตอเป็นอาวุธ ชอบร้องรำทำเพลง ขี้ขลาดตาขาว โกรธใครไม่เป็น ถือเอาเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม อ้ายโถจะชักเรื่องที่พูดวกเข้าหาเรื่องกินเสมอ 

      ๙. แก้วกบ

                   แก้วกบหรือลูกหมี เป็นตัวตลกเอกของหนังจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปร่างอ้วน ปากกว้างคล้ายกบ ชอบสนุกสนาน พูดจากไม่ชัด หัวเราะเก่ง ชอบพูดคำศัพท์ที่ผิดๆ เช่น อาเจียนมะขาม (รากมะขาม) ข้าวหนาว (ข้าวเย็น) ชอบร้องบทกลอน แต่ขาดสัมผัส เพื่อคู่หูคือนายยอดทอง
          
      ตัวตลกหนังตะลุง เป็นตัวละครที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นตัวละครที่ "ขาดไม่ได้" สำหรับการแสดงหนังตะลุง บทตลกคือเสน่ห์หรือสีสัน ที่นายหนังจะสร้างความประทับใจให้กับคนดู เมื่อการแสดงจบลงสิ่งที่ผู้ชมจำได้และยังเก็บไปเล่าต่อก็คือบทตลก นายหนังตะลุงคนใดที่สามารถสร้างตัวตลกได้มีชีวิตชีวาและน่าประทับใจ สามารถทำให้ผู้ชมนำบทตลกนั้นไปเล่าขานต่อได้ไม่รู้จบ ก็ถือว่าเป็นนายหนังที่ประสบความสำเร็จในอาชีพโดยแท้จริง ในการแสดงประเภทอื่น ๆ ตัวละครที่โดดเด่นและติดตาตรึงใจผู้ชมที่สุด มักจะเป็นพระเอก นางเอก แต่สำหรับหนังตะลุงตัวละครที่จะอยู่ในความทรงจำของคนดูได้นานที่สุดก็คือตัวตลก มีเหตุผลหลายประการ ที่ทำให้บทตลกของหนังตะลุงติดตรึงใจผู้ชมได้มากกว่าบทพระเอกหรือนางเอก ดังต่อไปนี้

๑. ตัวตลกมีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้ชม (ชาวใต้) มากกว่าตัวละครอื่น ๆ เพราะตัวตลกทุกตัวเป็นคนท้องถิ่นภาคใต้ พูดภาษาปักษ์ใต้เชื่อกันว่าตัวตลกเหล่านี้สร้างเลียนแบบมาจากบุคลิกของบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริง
๒. นายหนังสามารถอวดฝีปากการพากย์ของตนได้เต็มที่ ตัวตลกทุกตัวมีบุคลิกเฉพาะ และตัวตลกหลายตัวมีถิ่นกำเนิดที่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นท้องถิ่นที่มีสำเนียงพูดที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากตำบลหรืออำเภอข้างเคียง นายหนังที่พากย์ได้ตรงกับบุคลิก และสำเนียงเหมือนคนท้องถิ่นนั้นที่สุดก็จะสร้างความประทับใจให้แก่คนดูได้มาก
 ๓. บทตลกคือบทที่สามารถยกประเด็นอะไรขึ้นมาพูดก็ไม่ทำให้เสียเรื่อง จึงมักเป็นบทที่นายหนังนำเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ปัญหาสังคม ธรรมะ ข้อคิดเตือนใจ เข้ามาสอดแทรกเอาไว้ หรือแม้แต่พูดล้อเลียนผู้ชมหน้าโรง
  ๔. เสน่ห์ของมุกตลก ซึ่งแสดงไหวพริบปฏิภาณของนายหนังด้วย นายหนังที่เก่ง สามารถคิดมุกตลกได้เอง เพราะหากเก็บมุกตลกเก่ามาเล่น คนดูจะไม่ประทับใจ และไม่มีการ "เล่าต่อ"

             เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้คนดูหนังตะลุง รู้สึกผูกพันกับตัวตลกมากกว่าตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องคือตัวตลกหนังตะลุงเหล่านี้เป็นตัวละคร "ยืน" หมายถึงตัวตลกตัวหนึ่งเล่นได้หลายเรื่องโดยใช้ชื่อเดิม บุคลิกเดิม เพราะนายหนังทุกคณะสามารถหยิบตัวตลกตัวใดไปเล่นก็ได้ เราจึงเห็นนายเท่ง นายหนูนุ้ย มีอยู่ในเกือบทุกเรื่อง โดยปกติตัวตลกหนังตะลุงจะต้องมีคู่หู เพื่อเอาไว้รับส่งมุกตลกโต้ตอบกัน ในแต่ละเรื่องจะมีตัวตลกเอกอย่างน้อย ๒ คู่ คือเป็นพี่เลี้ยงพระเอกคู่หนึ่งและเป็นพี่เลี้ยงนางเอกคู่หนึ่ง นอกจากที่ยกตัวอย่างมา ยังมีตัวตลกประกอบอีกจำนวนมาก โดยปกติตัวตลกหนังตะลุงจะต้องมีคู่หู เพื่อเอาไว้รับส่งมุกตลกโต้ตอบกัน ในแต่ละเรื่องจะมีตัวตลกเอกอย่างน้อย ๒ คู่ คือเป็นพี่เลี้ยงพระเอกคู่หนึ่งและเป็นพี่เลี้ยงนางเอกคู่หนึ่ง นอกจากที่ยกตัวอย่างมายังมีตัวตลกประกอบอีกจำนวนมาก

 องค์ประกอบในการเล่นหนังตะลุง
      
หนังตะลุงเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของวัฒนธรรมภาคใต้ การที่หนังตะลุงจะทําการแสดงได้นั้น จําเป็นต้องมีองค์ประกอบสําคัญหลายอย่างคือ
       
๑. คณะหนังตะลุง
          หนังตะลุงคณะหนึ่งเรียกว่า ๑ โรง คณะหนึ่งมีบุคคลประมาณ ๘-๙ คน สมัยก่อนจะใช้คนพากย์คนทั่วไปเรียกว่า “นายหนัง” จํานวน ๒ คน ซึ่งนายหนังจัดว่าเป็นคนที่สําคัญที่สุดในคณะ ทําหน้าที่ในการร้องกลอน บรรยาย เจรจา และเชิดรูป แต่สําหรับในบางคณะอาจใช้คนเชิดอีก ๑ คน เรียกว่าคนชักรูป ส่วนคนอื่น ๆ อาจเป็นหมอกบโรง อีก ๑ คน ทําหน้าที่เป็นหมอไสยศาสตร์ประจําคณะ ส่วนที่เหลืออีก ๕ คน เป็นลูกคู่ และอาจมีคนแบกแผงอีก ๑ คน ในปัจจุบัน ๑ คณะหรือ ๑ โรง จะมีนายหนังเพียงคนเดียวเท่านั้น ทําหน้าที่พากย์และเชิดเบ็ดเสร็จ ส่วนหมอกบโรงไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เริ่มที่จะคลี่คลายไปแล้ว ส่วนคนแบกแผงก็ไม่จําเป็นต้องมีเนื่องจากปัจจุบันมีพาหนะช่วยให้การเดินทางสะดวก ไม่ต้องแบกหาม ส่วนที่ยังคงเหมือเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้น คือนักดนตรี เพราะอาจจะเครื่องดนตรีสากลเพิ่มเข้ามา 

     ๒. เครื่องดนตรีบรรเลง
       เครื่องดนตรีหนังตะลุงในอดีตมีลักษณะที่เรียบง่าย โดยคณะหนังตะลุงคณะหนึ่ง ๆ จะมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงน้อยชิ้น คือทับ ๑ คู่ ใช้เป็นตัวคุมจังหวะและทํานอง โหม่ง ๑ คู่ สําหรับประกอบเสียงร้องกลอน กลองตุ๊ก ๑ ลูก สําหรับขัดจังหวะ ทับและฉิ่ง ๑ คู่ สําหรับทำจังหวะ โหม่ง และปี่ ๑ เลา สําหรับเดินทํานอง แต่การแสดงหนังตะลุงในยุุคปัจจุบัน ได้มีการนําเครื่องดนตรีสากลบางชนิดเข้ามาเล่นประกอบ เช่น กลองชุด กลอง ทอมบ้า แทนกลองตุ๊ก ไวโอลิน ออร์แกน กีตาร์ ซอ หรือ จะเข้เล่นผสมกับปี่ เครื่องดนตรีที่สำคัญประกอบด้วย

         ๒.๑. กลอง ๑ ลูก เป็นกลองขนาดเล็กมีหนังหุ้มสองข้าง หน้ากลองเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ ๘-๑๐ นิ้ว หัว-ท้ายเล็กกว่าตรงกลางเล็กน้อย กลองมีความยาวประมาณ ๑๐-๒๐ นิ้ว โดยใช้ไม้ตี ๒ อัน

        ๒.๒ ทับ ๒ ลูก (๑ คู่) ในสมัยก่อนดนตรีหลักของหนังตะลุงมีทับ ๑ คู่สำหรับคุมจังหวะและเดินทำนอง (ทับทำด้วยไม้กลึงและเจาะข้างใน ลักษณะคล้ายกลองยาวแต่ส่วนท้ายสั้นกว่าและขนาดย่อมกว่า หุ้มด้วยหนังบาง ๆ เช่น หนังค่าง) ทับทั้ง ๒ ลูกนี้มีขนาดต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงต่างกัน 

      ทับของหนังตะลุงเป็นเครื่องกำกับจังหวะและท่วงทำนองที่สำคัญที่สุด ผู้บรรเลงดนตรีชิ้นอื่น ๆ ต้องคอยฟังและยักย้ายจังหวะตามเพลงทับ เพลงที่นิยมเล่นมีถึง ๑๒ เพลง คือเพลงเดิน เพลงถอยหลังเข้าคลอง เพลิงเดินยักษ์ เพลงสามหมู่ เพลงนาดกรายออกจากวัง เพลงนางเดินป่า เพลงสรงน้ำ เพลงเจ้าเมืองออกสั่งการ เพลงชุมพล เพลงยกพล เพลงยักษ์ และเพลงกลับวัง นักดนตรีที่สามารถตีทับได้ครบทั้ง ๑๒ เพลง เรียกกันว่า "มือทับ" เป็นคำยกย่องว่าเป็นคนเล่นทับมือฉมัง  ทับหนังตะลุงมี ๒ ใบ ใบหนึ่งเสียงเล็กแหลม เรียกว่า "หน่วยฉับ" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า "หน่วยเทิง" ทับหน่วยฉับเป็นตัวยืน ทับหน่วยเทิงเป็นตัวเสริม หนังตะลุงในสมัยโบราณมีมือทับ ๒ คน ต่อมาเมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้ว หนังตะลุงใช้มือทับเพียงคนเดียว โดยใช้ผ้าผูกทับไขว้กันเวลาเล่นบางคนวางทับไว้บนขา บางคนก็พาดขากดทับเอาไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ โดยทั่วไป ตัวทับหรือที่เรียกกันว่า "หุ่น" นิยมทำจากแก่นไม้ขนุนเนื่องจากตกแต่งและกลึงได้ง่าย แต่บางครั้งก็ทำจากไม้กระท้อนโดยตัดไม้ออกเป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ใช้ขวานถากเกลาให้เป็นรูปคล้ายกลองยาว จากนั้นนำมาเจาะภายในและกลึงให้ได้รูปทรงตามต้องการ ลงน้ำมันชักเงาด้านนอก ทับเป็นเครื่องดนตรีที่ขึงหนังหน้าเดียว ขึ้นหน้าด้วยหนังบาง ๆ ส่วนใหญ่จะใช้หนังค่าง ตรงแก้มทับใช้เชือกหรือหวายผูกตรึงกับหุ่นให้แน่น มีสายโยงเร่งเสียงโดยใช้หนังเรียดโยงจากขอบหนังถึงคอทับ ก่อนใช้ทุกครั้ง ต้องชุบน้ำที่หนังหุ้ม ใช้ผ้าขนาดนิ้วก้อยอัดที่แก้มทับด้านใน เพื่อให้หนังตึงมีเสียงไพเราะกังวาน   

       ๒ .๓ ฉิ่ง ๑ คู่ใช้ตีเข้าจังหวะกับโหม่ง คนตีโหม่งทำหน้าที่ตีฉิ่งไปด้วย ปัจจุบันนี้ใช้ฝาฉิ่งกระแทรกกับรางโหม่งแทนเสียงกรับได้ด้วย

     .๔ ปี่ หนังตะลุงใช้ปี่นอกบรรเลงเพลงต่าง ๆ ถือเอาเพลงพัดชาเป็นเพลงครู ประกอบด้วยเพลงไทยเดิมอื่น ๆ ได้แก่ เพลงสาวสมเด็จ เขมรปี่แก้ว เขมรปากท่อ ชะนีกันแสง พม่ารำขวาน พม่าแทงกบ สุดสงวน เขมรพวง ลาวดวงเดือน เพลงลูกทุ่งหลายเพลงอาศัยทำนองเพลงไทยเดิม คนเป่าปี่ก็เล่นได้ดี แม้เพลงไทยสากลที่กำลังฮิต ปี่ ซอ ก็เล่นได้ โดยไม่รู้ตัวโน๊ตเลย ซออู้ ซอด้วง ประกอบกับปี่ทำให้เสียงปี่มิเล็กแหลมเกินไป ชวนฟังยิ่งขึ้น ปี่ ซอ สามารถยักย้ายจังหวะให้ช้าลงหรือเร็วขึ้นตามจังหวะทับได้อย่างกลมกลืนและลงตัว

Image result for ปี่ดนตรีหนังตะลุง

   ๒.๕ โหม่ง เป็นเครื่องดนตรีที่มีส่วนสำคัญในการขับบทขับกลอน ทั้งในด้านการให้เสียงและให้จังหวะ เพราะหนังตะลุงต้องร้องบทให้กลมกลืนกับ เสียงโหม่งมีอยู่ ๒ ระดับคือเสียงทุ้มและเสียงแหลม โดยจะยึดเสียงแหลมเป็นสิ่งสำคัญเรียกเสียงเข้าโหม่ง ส่วนไม้ตีโหม่งจะใช้ยางหรือด้ายดิบหุ้มพันเพื่อให้มีเสียงนุ่มเวลาตี

      .๖ กรับหรือแกระ ๑ คู่ (ใช้เคาะรางกับโหม่ง) กรับหรือแกระใช้สำหรับประกอบจังหวะ


ภาพจาก : http://rimunasa.blogspot.com/   

    ๓. โรงหนังและจอหนัง
               ลักษณะของการปลูกโรงหนังตะลุงในสมัยก่อนมักปลูกเป็นโรงชั่วคราว ปลูกแบบยกพื้นสูง ๔ เสา ให้มีความสูงกว่าระดับศีรษะผู้ใหญ่เล็กน้อย หลังคาเพิงหมาแหงน ขนาดของโรง ประมาณ ๒๓๐x๓ เมตร หลังคาส่วนหน้าสูงจากพื้นโรงแล้วค่อย ๆลาดลงจนต่ำสุด ด้านหน้าใช้ผ้าขาวบางขึงเป็นจอ ส่วนด้านข้างใช้ทางมะพร้าวหรือจาก กั้นพอหยาบ ๆ ภายในโรง มีหยวกวางชิดกับจอเพื่อใช้ปักรูปหนัง ๑ อัน ส่วนแสงสว่างที่ใช้คือ แสงจากตะเกียงน้ำมันไขสัตว์ ตะเกียงเจ้าพายุ ปัจจุบันนิยมใช้โครงเหล็กและพัฒนามาเป็นหลอดไฟฟ้า โดยแขวนไว้ใกล้จอสูงจากความยาวระดับพื้นราว ๆ ๑ ศอก

ขั้นตอนการแสดงหนังตะลุง
            หนังตะลุงในปัจจุบันนี้ทุกคณะมีลำดับขั้นตอนในการแสดงเหมือนกันจนถือเป็นธรรมเนียมนิยม ดังนี้คือ
 
          ๑. ตั้งเครื่อง
           ๒. แตกแผงหรือแก้แผง
          ๓. เบิกโรง
          ๔ .ลงโรง

          ๕. ออกฤาษีหรือชักฤาษี ฤาษีเป็นรูปครูมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องปัดเสนียดจัญไรและภยันตรายทั้งปวง ทั้งช่วยดลบันดาลให้หนังแสดงได้ดี เป็นที่ชื่นชมของคนดู รูปฤาษีรูปแรกออกครั้งเดียว นอกจากประกอบพิธีตัดเหมรยเท่านั้น

 

     ๖. ออกรูปพระอิศวรหรือรูปโค รูปพระอิศวรของหนังตะลุงถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเทพเจ้าแห่งความบันเทิง พระอิศวรทรงโคอุสุภราชหรือนนทิ หนังเรียกรูปพระอิศวรว่ารูปพระโคหรือรูปโค หนังคณะใดสามารถเลือกหนังวัวที่มีเท้าทั้งสี่สีขาว โหนกสีขาว หน้าผากรูปใบโพธิ์สีขาว ขนหางสีขาว วัวประเภทนี้หายากมาก ถือเป็นมิ่งมงคล ตำราภาคใต้ เรียกว่า "ตีนด่าง หางดอก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพธิ์" โคอุสุภราชสีเผือกแต่ช่างแกะรูปให้วัวเป็นสีดำนิล เจาะจงให้สีตัดกับสีรูปพระอิศวร ตามลัทธิพราหมณ์พระอิศวรมี ๔ พระกร ถือตรีศูล ธนู คฑา และบาศ พระอิศวรรูปหนังตะลุงมีเพียง ๒ กร ถือจักร และพระขรรค์ 

       ๗. ออกรูปรายหน้าบทหรือรูปกาศ ปรายหมายถึงอภิปราย กาศหมายถึงประกาศ รูปปรายหน้าบทหรือรูปกาศหรือรูปหน้าบท เสมือนเป็นตัวแทนนายหนังตะลุง เป็นรูปชายหนุ่มแต่งกายโอรสเจ้าเมือง มือหน้าเคลื่อนไหวได้ มือทำเป็นพิเศษให้นิ้วมือทั้ง ๔ จะอ้าออกจากนิ้วหัวแม่มือได้ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งงอเกือบตั้งฉากติดกับลำตัว ถือดอกบัว หรือช่อดอกไม้หรือธง

Image result for รูปปรายหน้าบทของหนังตะลุง

   ๘. ออกรูปบอกเรื่อง รูปบอกเรื่องคือรูปที่เป็นตัวแทนนายหนังเพื่อบอกผู้ชมให้ทราบว่าในคืนนี้คณะหนังจะแสดงเรื่องอะไร ถ้าเป็นสมัยก่อนหนังจะแสดงเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียว ก็จะบอกให้ผู้ชมทราบว่าแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ชมสนใจและติดตามดู ส่วนมากจะนิยมใช้รูปนายขวัญเมืองเป็นผู้อกเรื่อง


ภาพจาก : https://kyl.psu.th/uRsCk

       ๙. ขับร้องบทเกี้ยวจอ

Image result for บทตั้งเมือง ของหนังตะลุง

   ๑๐. ตั้งนามเมืองหรือตั้งเมือง ซึ่งจะเริ่มการแสดงเป็นเรื่องราวตั้งแต่นี้เป็นต้นไป การตั้งชื่อนามเมืองเป็นการเปิดเรื่องหรือจับเรื่องที่จะนำแสดงในคืนนั้นโดยจะการออกรูปเจ้าเมือง นางเมืองและโอรส (บางคณะอาจมีอํามาตย์หรือข้าราชบริพาร)

ภาพจาก : https://hilight.kapook.com/view/160547

การแสดงหนังตะลุง
         การแสดงหนังตะลุงของแต่ละคณะในอดีตจะนำเรื่องจะนำเรื่องรามเกียรติ์มาแสดงเป็นหลัก  ต่อมาก็นำบทละครในวรรณคดีไทยบ้าง ดัดแปลงมาจากชาดกบ้าง หรือผูกเรื่องขึ้นเองบ้าง ส่วนมากจะเป็นประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ ตลอดถึงนิทานประโลมโลกต่าง ๆ อาทิ สุวรรณราช แก้วหน้าม้า ลักษณาวงศ์ โคบุด  หอยสังข์ หลวิชัยคาวี นางสิบสอง พระสุธน และเต่าทอง  เป็นต้น  ต่อมาเมื่อหนังสือนวนิยายเริ่มมีการพิมพ์แพร่หลาย  หนังบางคณะก็เอานวนิยายมาดัดแปลงเล่นก็มี  เช่น  เรื่องพานทองรองเลือด  เรื่องเสือใบเสือดำ  ของ ป.อินทรปาลิต  และบางเรื่องของพนมเทียน  เป็นต้น  ปัจจุบันคณะหนังบางส่วนยังเล่นแบบจักร ๆ  วงศ์ ๆ  บางส่วนประสมประสานระหว่างแบบเก่ากับแบบใหม่เข้าด้วยกัน  และบางส่วนจะเดินเรื่องแบบนวนิยายทุกประการ  ไม่มีตัวละครประเภทเทวดา  ยักษ์  ผี  ไม่มีการตายแล้วชุบชีวิตได้  หรือเหาะเหินดำดินคงเป็นแบบสัจนิยมอย่างบริสุทธิ์อย่างเช่นปัจจุบัน การเล่นหนังตะลุงที่ให้ความสนุกสนานที่สุดคือ ตอนประชันที่เรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า  “แข่งหนัง”  เพราะหนังคู่ประชันจะเล่นเอาชนะกันอย่างสุดความสามารถ สมัยก่อนการแข่งหนังตะลุงมักจะชิงขันน้ำพานรอง ชิงโหม่ง ชิงจอ แต่ระยะหลังมีประเภทรางวัล  เช่น  พระพิฆเนศวร์ทองคำ  ฤาษีทองคำ  เทวดาทองคำ  เป็นต้น  การแข่งหนังมีขนบนิยมเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วแต่มีกติกาที่คู่แข่งขันจะต้องปฏิบัติ คือเมื่อตีโพนลาแรกประมาณ ๒ ทุ่มครึ่ง หรือ ๓ ทุ่ม หนังจะเริ่มลงโรง ลาที่ ๒ ออกฤาษี ลาที่ ๓ หยุดพักเที่ยงคืน ลาที่ ๔ เล่นต่อ  และลาสุดท้ายจะตีราว ๆ ตี ๕ เป็นการบอกสัญญาณจะเริ่มการตัดสินของกรรมการ ซึ่งการตัดสินจะใช้จำนวนคนดูเป็นเกณฑ์ โรงไหนผู้ชมมากกว่าก็ชนะ ซึ่งในการจะดึงผู้ชมไว้ได้นายหนังแต่ละคณะต้องเล่นอย่างสุดฝีมือ พยายามเรียกคนดูจากอีกโรงหนึ่งมาให้ได้ ซึ่งเรียกกันว่า“ชะโรง”วิธีการเรียกคนดูในตอนนี้มีเทคนิคต่าง ๆ  กัน  เช่น  ตลกจนสุดขีดบ้าง  สร้างความตื่นเต้นโดยให้ตัวละครสู้รบกันบ้าง  แสดงอารมณ์โศกอย่างที่สุดบ้าง และบ่อยครั้งที่ใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วย โดยทำให้หนังฝ่ายตรงกันข้ามเสียที อย่างไรก็ตามในการแข่งขันกันหนังจะถือเคล็ดหรือใช้ไสยศาสตร์ทั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว เช่น จะเลือกที่ตั้งโรงอันเป็นชัยภูมิที่เหนือกว่าหนังอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อป้องกันตัวไม่ให้ถูกคุณไสยของอีกฝ่ายได้ และถ้าทำคุณไสยฝ่ายตรงข้ามได้ก็ทำ การแข่งขันหนังตะลุงจึงเป็นเรื่องที่สนุกทั้งหนังและคนดู ขนบธรรมเนียมนิยมในการเล่นหนังทั่ว ๆ ไป เพื่อความบันเทิงจะไม่มีพิธีกรรมอะไรมาก แต่หากเล่นเพื่อในพิธีกรรมก็จะมีขนบนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีอยู่ ๒ อย่าง คือ

 ๑) เล่นแก้เหมรย การเล่นแก้เหมรยเป็นการเล่นเพื่อบวงสรวงครูหมอหนัง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามพันธะที่บนบานสานกล่าวไว้  หนังตะลุงที่จะเล่นแก้เหมรยได้ต้องรอบรู้ในพิธีกรรมอย่างดีและผ่านพิธีครอบมือถูกต้องแล้ว  การเล่นแก้เหมรยจะต้องดูฤกษ์ยามให้เหมาะ  โดยเจ้าภาพต้องเตรียมเครื่องบวงสรวงไว้ให้ครบถ้วนตามที่บนบานไว้ ซึ่งจะประกอบพิธีแก้บนในช่วงออกรูปปรายหน้าบท โดยกล่าวขับร้องเชิญครูหมอหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มารับเครื่องบวงสรวง และยกเรื่องรามเกียรติ์ตอนใดตอนหนึ่งที่พอจะแก้เคล็ดว่าตัดเหมรยได้ขึ้นแสดง  เช่น  ตอนเจ้าบุตรเจ้าลบ  เป็นต้น จบแล้วชุมนุมรูปต่าง ๆ  มี  ฤาษี  เจ้าเมือง  พระ  นาง  ยักษ์  ตัวตลก  ฯลฯ  โดยปักรวมกันหน้าจอเป็นทำนองว่าได้ร่วมรู้เห็นเป็นพยานว่าเจ้าภาพได้แก้เหมรยแล้ว  แล้วนายหนังใช้มีดตัดห่อเหมรยขว้างออกนอกโรงเรียกว่า  “ตัดเหมรย”  เป็นเสร็จพิธี 
๒) เล่นในพิธีครอบมือ การเล่นครอบมือเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อยอมรับนับถือครูหนังแต่ครั้งบุรพกาลที่เรียกว่า “ครูต้น” มีพระอุณรุทธไชยเถร พระพิราบหน้าทอง ตาหนุ้ย ตาทองหนัก ตาเพชร เป็นต้น โดยเชื่อว่าผู้ผ่านพิธีดังกล่าวคือหนังที่ได้มอบตนแก่ครูอย่างถูกต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายหนังตะลุงโดยสมบูรณ์ อีกทั้งยังเชื่อว่าครูจะให้การคุ้มครองและยังความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพการเล่นหนัง  การเล่นครอบมือจะเริ่มด้วยการเบิกโรง  เช่น บวงสรวงครู ไหว้สัดดีเพื่อขอความสวัสดิมงคล  เชื้อ (เชิญ) ครูให้มาเข้าทรง เบิกบายศรี แล้วให้ผู้เข้าพิธีปิดตาเสี่ยงจับรูปเพื่อทำนายอนาคตของหนังการเสี่ยงทายจะนำเอารูปฤาษี พระ นาง ยักษ์ และเสนา มาห่อรวมกันให้โผล่แต่ไม้ตับรูป  แล้วให้ผู้เข้าพิธีเสี่ยงจับเอาตัวเดียว จับได้แล้วนายหนังผู้ประกอบพิธีจะยื่นรูปนั้นให้ผู้เข้าพิธีเชิดออกจอพิธีนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “พิธียื่นรูป” 

กลอนและลีลากลอน 
      การเล่นหนงตะลุงคล้ายกับละคร คือมีบทร้อง บทเจรจา และออกท่าทางประกอบ จะผิดกันแต่การออกท่าทางใช้ตัวหนังแทนคนจริง ๆ บทกลอนที่หนังตะลุงใช้ร้องส่วนใหญ่นิยมกลอนสดเรียกว่า “มุดโต”  โดยใช้กลอนแปดหรือกลอนตลาดเป็นพื้น เว้นแต่ตอนที่ต้องการเน้นท่องทำนองลีลาให้สอดคล้องกับลักษณะของตัวละครและเหตุการณ์ของเรื่องจึงใช้รูปแบบอื่น ๆ แทรกเข้ามาเป็นช่วง ๆ เช่น ใช้กลอน ๔ หรือกลอน ๓๕ ซึ่งอุดม หนูทอง (๒๕๓๑ : ๑๔๐) กล่าวว่ากลอน ๓๕ กับกลอน ๔ มักใช้ปน ๆ กันไป เพราะมีทำนองการขับกลอนอย่างเดียวกันที่เรียกว่า "คำคอน" ซึ่งปรากฎในตอนชมโฉม ตอนบรรยายหรือพรรณนาที่ให้อารมณ์หรรษา  คึกคะนอง และตอนที่ใช้ตัวละครอาวุโส เช่น บิดามารดา ฤาษี กล่าวสอนศิษย์หรือบุตรธิดา ใช้กลอนลอดโหม่งในการพรรณนาคร่ำครวญแสดงความทุกข์โศก  การเดินทางติดตามด้วยความอาลัยรัก  ใช้กลอน ๖ หรือกลบทคำตายในบทโกรธและบทยักษ์ เพื่อให้เกิดความขึงขังเอาจริงเอาจัง ใช้กลอนบทสะบัดสะบิ้งตอนออกรูปพระอินทร์ ใช้กาพย์ฉบัง ๑๖ ตอนออกพระอิศวร และใช้ร่ายโบราณตอนออกฤาษี  ฯลฯ ในด้านการขับร้องกลอนจะมีทำนองร้องต่าง ๆ  หลายทำนอง  สำหรับกลอน ๘ จะใช้ทำนองสงขลา ซึ่งมีลีลาเนิบช้าทำนองหนึ่ง หนังตะลุงทางสงขลานิยมเล่นทำนองนี้และจะใช้ทำนองสงขลากลาย ๆ  ซึ่งมีลีลาเร่งเร็วอีกทำนองหนึ่ง  ซึ่งนิยมกันในหมู่หนังตะลุงทางนครศรีธรรมราช ส่วนบทกลอนชนิดอื่น ๆ  ก็เรียกทำนองตามกลอนหรือคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ   เช่น  ถ้าใช้กลอนลอดโหม่งก็เรียก  “ทำนองลอดโหม่ง”  เว้นแต่กลอน ๔ และกลอน ๓๕ แต่ที่นิยมกันมากในหมู่หนังจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเรียกชื่อเฉพาะว่า  “ทำนองคอน” หรือ “คำคอน”
        แม้หนังตะลุงจะเล่นกลอนมุดโตเป็นพื้นแต่กลอนที่แต่งไว้ก่อนก็มีจำนวนมาก โดยเฉพาะกลอนที่ใช้ว่าในบทหลัก ๆ เช่น กลอนออกรูปปรายหน้าทบ บทเกี่ยวจอ บทตั้งนามเมือง บทชมธรรมชาติ บทสอนใจ  บทสมห้อง (บทสังวาส) กลอนยักษ์ กลอนเทวดา และบทโกรธ  เป็นต้น ด้วยเหตุที่หนังตะลุงมีกลอนหลายรูปแบบและมีทำนองลีลาการร้องกลอนที่แตกต่างกัน ทำให้กลอนหนังตะลุงมีเสน่ห์ยิ่งดนตรีที่บรรเลงประกอบการขับกลอนแต่ละอย่าง ต่างแปลกกันไปทั้งลีลาและท่วงทำนองแล้วยิ่งเพิ่มความไพเราะและมนต์ขลังยิ่งขึ้น  อนึ่งการร้องกลอนของหนังตะลุงนั้น นายหนังจะขึ้นเสียงให้ได้ระดับเสียงโหม่ง และทอดใยเสียงให้กลมกลืนกับเสียงโหม่งซึ่งเรียกว่า ”เสียงเข้าโหม่ง” ทำให้เสียงไพเราะชวนฟังยิ่งนัก

ภาษาของหนังตะลุง
       
ภาษาหรือคําศัพท์ที่เกี่ยวกับหนังตะลุงที่ใช้เรียกขานกัน มีดังต่อไปนี้

- นายหนัง คือผู้ที่แสดงหนัง ทั้งเชิดรูปและพากย์ เป็นหัวหน้ารับผิดชอบความเป็นอยู่ของคณะ เป็นผู้จัดการดําเนินการต่าง ๆของคณะ ซึ่งนายหนังแต่เดิมนั้นมักมีหลายคน แต่ต้องมีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่เป็นผู้รับผิดชอบคณะ
- เล่นหนัง คือการแสดงหนังและพากย์เรื่องราว
- เครื่อง คือเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงหนังตะลุง เช่น  ทับ โหม่ง นิ่ง ปี ซอ
- ลูกคู่ คือผู้ที่ทําหน้าที่ตีเครื่องหรือประโคมเครื่อง โดยมีจํานวน   ๕-๘ คน 
  • หมอกบโรง คือหมอประจําตัวนายหนัง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคมทางพิธีกรรมต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้นายหนังถูก คุณไสยของฝ่ายตรงข้าม หากเกิดขึ้นก็สามารถแก้ได้และเป็นผู้ที่โต้ตอบฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย หมอกบโรงจะนั่งติดกับหัวหยวกที่ปักรูปหนังถูกทํา หมายถึงถูกคุณไสยของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาการของผู้ที่ถูกกระทําจะมีอาการ เสียงแห้ง ลงท้อง ชัก จอมืด หน้าโรงเย็นผิดปกติ พูดตลกก็ไม่มีคนหัวเราะ หากเกิดอาการดังกล่าวผู้เป็นหมอกบโรงจะต้องเป็นผู้แก้

  • ยกเครื่อง คือการเตรียมพร้อมเครื่องประโคมต่าง ๆ ตลอดถึงลูกคู่ก่อนออกจากบ้านนายหนัง ให้มีการประโคมเพลงและเพื่อให้เดินทางได้อย่างปลอดภัย มีคนนิยมชมชอบ โดยหมอกบโรงจะประกอบพิธีกรรมโดยการร่ายมนตร์ ๓ จบคือ “ นะ เมตตา โมกรุณา พุทปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู”

  • เดินโรง คือคณะหนังออกเดินทางโดยไม่มีผู้รับหรือว่าจ้าง เป็นการเดินทางเพื่อหวังน้ำบ่อหน้า อาจารย์หนังจะแนะนําให้ไปหาคนที่เป็นเพื่อนรักกับตน เช่น กํานันหรือคน กว้างขวางของหมู่บ้านนั้น ๆ หนังเดินโรงไปของพึ่งผู้กว้างขวาง จะรับรองเรื่องอาหารการกินและปลูกโรงให้แสดง ถ้าหากคนดูชอบใจ นายหนังจะใช้ความสามารถในการขอเงินจากความเมตตาจากคนดูหน้าโรงหนัง ก็จะได้เงินบ้างพอสมควร หากการเดินทางถึงเวลาค่ำแล้ว ก็ต้องเข้าพักที่วัด เจ้าอาวาสจะเป็นผู้ย่ำตะโพนขอข้าวจากชาวบ้าน ซึ่งโดยปกติแล้วในวัดมักจะมีโรงหนังอยู่แล้ว หนังก็สามารถทําการแสดงให้ดูเพื่อเป็นการตอบแทน โดยจะแสดงกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ ผู้คนที่มาชมติดใจและรับหนังไปแสดง (การเดินทางในสมัยก่อนมักล่าช้าเพราะเดินทางด้วยเท้าหรือเรือ การเดินทางแต่ละครั้งใช้ระยะเวลาเป็นเดือน ๆ แต่หากเดินทางข้ามจังหวัดและมีผู้ติดต่อไปแสดงมาก อาจใช้เวลาถึงครึ่งปี จึงจะกลับบ้านได้)

  • ขันหมาก (ขันหรือพานที่ใส่จำพวกหมากพลู) คือผู้ที่ไปรับหนังมาแสดง ภายในขันหมากประกอบด้วย หมากพลู ๙ คํา ยื่นให้กับนายหนังโดยบอกวัน เวลา สถานที่ที่จะไปแสดง เมื่อนายหนังรับขันหมากแล้ว ถือว่าเป็นการตอบตกลง และเมื่อหนังเดินทางไปถึงประตูบ้าน หรือประตูวัดของผู้รับ ลูกคู่จะตีกลองเป็นสัญญาณและผู้รับหนัง จึงนําหมากพลูมารับที่ประตูบ้านหรือประตูวัด โดยถือเป็นธรรมเนียม และถ้าหากนายหนังไม่สามารถไปแสดงได้ตามวันและเวลาดังกล่าว ต้องมีการบอกล่วงหน้าเรียกว่าคืนขันหมาก แต่หากมีผู้รับไว้ก่อนแล้วแต่มีผู้รับอีกและแสดงในเวลาตรงกัน นายหนังจะบอกว่า ติดขันหมาก ไปแสดงให้รายที่มารับทีหลังไม่ได้

  • ราด คือเงินที่มีผู้รับมาว่าจ้างให้ไปแสดง โดยนายหนังจะเป็นผู้เรียกเอง ซึ่งเรียกว่าเรียกราด เพื่อความแน่นอนต่อทั้งสองฝ่ายจะมีการวางเงินมัดจําส่วนหนึ่ง

  • ขึ้นโรง คือก่อนที่ลูกคู่จะนําอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงหนังตะลุงมาวางไว้บนโรงหนัง นายหนังหรือหมอกบโรง จะทําการเดินเวียนโรงหนังจนครบ ๓ รอบ เสียก่อน แต่ในบางคณะอาจใช้มือจับหัวรอดตัวกลางแล้วทําการบริกรรมคาถาดังนี้ “ออนอ ออพ่อ ออแม่ ออ อา ออแอ” จากนั้นจึงขึ้นโรงหนัง

  • ตั้งเครื่อง เมื่อขึ้นบนโรงหนังพร้อมกันทั้งคณะแล้ว ตีเครื่อง ๑ เพลง เป็นการบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าในคืนนี้หนังจะทําการแสดงอย่างแน่นอน เสียงโหม่งที่ดีขึ้นจะได้ยินไปในระยะไกลพอสมควร

  •  แก้แผงหรือแตกแผง คือการเอารูปหนังในแผงออกมา ซึ่งแผงรูปจะขนาบด้วยไม่ไผ่หัวท้าย ๒ คู่ ผูกมัดไม้ไผ่ ด้วยเชือก เมื่อแก้ออกทั้ง ๔ มุม แล้วยกหนังตามลำดับคือรูปพระ รูปนาง ชั้นถัดไปคือรูปเชิด ส่วนรูปที่ไม่สําคัญนั้นอยู่ใต้สุค และมักใช้กระดาษรองเป็นชั้น ๆ เพื่อการสะดวกในการจัดรูป รูปฤาษี ปรายหน้าบท ปักทางหัวหยวก ส่วนรูปตลกปักทางปลายหยวกที่วางทาบติดกับตีนจอ ส่วนรูปเทวดา พระอิศวร นางเมขลา นิยม เหน็บไว้ที่หลังคา รูปเบ็ดเตล็ดปักกับหัวหยวกที่ผูกแขวนกับฝาทางด้านซ้ายขวาของจอ ส่วนรูปอื่น ๆ แขวนห้อยไว้กับเชือกที่ผูกกับฝาให้ดึงพอหยิบได้สะดวก โดยเอาข้อต่อของมือรูปเกี่ยวกับเชือก คนแก้แผงทําหน้าที่เก็บรูปเข้าแผงเรียกว่าดับแผง

  • เบิกโรง คือการทำพิธีกรรมก่อนที่หนังจะเริ่มลงโรงทางเจ้าภาพจะต้องเตรียมอาหารคาวหวาน โดยการใส่ถ้วยเล็ก ๆ วางบนถาด จำนวน ๑๒ อย่าง เรียกว่าแต่งเท่สิบสอง ซึ่งประกอบด้วย เหล้า หมากพลู เทียน เงินเบิกโรง เป็นต้น โดยการ ใส่ในพานไว้ นายหนังหรือหมอกบโรงจะทําพิธีชุมนุมเทวดาว่าโองการ ธรณีสาร ไหว้สัดดี อัญเชิญดวงวิญญาณของครูหนังให้มาปกป้อง แล้วปักเทียนที่ทับ กลอง พร้อมด้วยหมากพลู ที่ละ ๑ คํา จากนั้นนายหนังจะเคาะทับและกลองเบา ๆ ลูกคู่ขึ้นกลองลงโรง ส่วนเงิน ค่าโรงจะตกเป็นของคนแบกแผง โดยที่เงินค่าเบิกโรงมีจํานวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ บาท (ปัจจุบันนี้ไม่มีค่าเบิกโรง มีเพียงหมากพลูเท่านั้น)

  •  ลงโรง คือเริ่มตีกลอง โดยจะเริ่มเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม โดยการตีเครื่องไปจนครบ ๑๒ เพลง เช่น เพลงเดิน เพลงออกสั่งการ เพลงยกพล เป็นต้น แต่เดิมทับเป็นตัวนําเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ และใช้ปี่เป่าเป็นเพลงไทยเดิม เป่าขยายจังหวะให้ยาวและสั้นเข้า เป็นลีลาการบรรเลง ดนตรีหนังตะลุง ในปัจจุบันนี้นิยมใช้เพลงลูกทุ่ง เข้ามาประกอบการแสดง ความสําคัญของการลงโรงคือ เป็นการขับกล่อมผู้ฟังที่นั่งรออยู่หน้าโรงหนังไปพลาง ๆ ในขณะที่นายหนังประกอบพิธีกรรม เช่น ผูกขี้ผูกเยี่ยว กันเนื้อกันตัว มีการเชิด ๓ ครั้ง เชิดครั้งที่ ๓ และออกฤาษีตามลําดับ ตีเครื่องยักย้ายให้เข้ากับการเชิดรูป

  • แทงหยวก  คือการเอาหยวกกล้วยที่ใช้ปักรูปหนังตะลุง และต้องเป็นหยวกกล้วยที่ตัดมาใหม่ ๆ ไม่ใช้หยวกกล้วยที่หนังคณะอื่นใช้แสดงก่อนแล้ว แต่หากเพิ่มแสดงต่ออีกหลาย ๆ คืน ก็สามารถใช้ต่อได้ การวางหยวกให้หัวหยวกอยู่ทางขวา ส่วนกลางของหยวกใช้มีดครูแทงเป็นรูป สามเหลี่ยม โดยมีฐานอยู่ด้านล่าง เสกหมากพลูฝังใน ๑ คํา ใช้มือขวาวางเหนือหยวกตรงรอยแทง และใช้กาบ หยวกที่แทงออกปิดให้เรียบร้อย และเสกคาถาผูกหัวใจคนดู ๓ ครั้ง คือ “อิตถิโย บุรุสโส โรตันตัง จาระตัง เรเรรัง เอหิ อาคัตฉายะ อาคัตฉาหิ”

  • เบิกปากรูป คือการเอารูปที่จะออกครั้งแรก โดยการลูบขึ้น ๓ ครั้ง จากนั้นจึงร่ายมนตร์เบิกปาก และถ้าเป็นรูปตลกที่สําคัญจะเซ่นด้วยเหล้า โดยเอาหางจากหรือก้านธูปจุ่มลงในเหล้า แล้วนําไปจิ้มที่ปากรูปพร้อมกับชักปากร่ายมนตร์ว่า “ด้อล่อ หิล่อด้อ” จำนวน ๓ ครั้ง

  • ชักฤาษี คือการเชิครูปฤาษี มีวิธีการเชิดเฉพาะ สําหรับการเชิครูปฤาษีต้องอาศัยการฝึกฝน ถือเป็นศิลปะชั้นสูง โดยมีชื่อเรียกต่างกัน คือฤาษีท่องโรง ฤาษีตกบ่อ ฤาษีขุดมัน

  • ลูบจอ คือการเริ่มลูบที่จอหนังก่อนออกปรายหน้าบท โดยใช้มือทั้งสองข้างไปจดกันที่หน้าจอ ๓ ครั้ง โดยการร่ายมนตร์มหาเสน่ห์ ให้คนดูรักหลงใหล คือ “นะคํานึ่ง โมคิดถึง พุทตามมา ธารําไร ระรักสนิท โมปลอบจิต ยะปลอบใจ ยะอะอย่าลืมรัก รักแล้วอย่าลืม”

  • ชักเสียง คือก่อนการแสดงหรือจะออกเสียงครั้งแรก นายหนังใช้หัวแม่มือขวากคที่เพดานปาก แล้วเอาน้ำลายมาปลุกเสก เพื่อทําให้เสียงดังไพเราะ เสียงไม่แห้ง พร้อมกับเสกคาถา ๓ จบ คือ “โอมส่งเสียงกูไป เข้าในหัวใจมนุษย์หญิงชาย โอมระรวยพระพราย พัดหวย ระรวยเป็นบ้า พระพายพัดมา โอมระรวยมหาระรวย”

  • ฉะรูป คือการออกรูปพระรามกับทศกัณฐ์รบกัน หลังจากออกฤาษี ซึ่งการฉะรูปในปัจจุบันไม่มีแล้ว

  • ถูกทํา คือฝ่ายคู่แข่งหรือหมอหนังประจําถิ่น มีเจตนาร้าย โดยใช้พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ อาจจะใช้ชินหรือภูตผีมารังควาน เช่น ทําให้เกิดล้มพับติดกับหยวก ลงท้อง เสียงแห้ง จอมืดหรือหนาวเย็นจัด จนทําให้คนดูนั่งดูต่อไปไม่ได้

  • ชักรูป คือการเชิดรูปให้เข้ากับบทบาทและเนื้อเรื่อง ซึ่งนายหนังชักเองหรือให้คนอื่นชักก็ได้ เช่น หนังปานบอค หนังเจ้งบอด ซึ่งมองรูปไม่เห็นชักรูปเองไม่ได้ จึงต้องมีคนอื่นชักให้ แต่ต้องชักให้เข้ากับการพากย์ของนายหนัง 

  • ชักกาก คือการเชิดรูปตัวตลก แต่เดิมมีผู้ที่ทําหน้าที่ชักรูปกากโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันมีเพียงนายหนังเพียงคนเดียวซึ่งทําหน้าที่พากย์ เชิดและชักปากเอง และใช้สําเนียงใน การพากย์ที่ไม่เหมือนกัน

  • กินรูป คือการเชิดรูปและออกสําเนียงในการพูด เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับนิสัยและบุคลิกของตัวหนังนั้น ๆ เช่น เท่ง หนูนุ้ย

  • ขึ้นบท คือการเอื้อนเสียงตั้งฐานเสียง โดยจะขึ้นว่าออ ออ แล้วขึ้นบท เช่น “ออ ออ ออ จะสาธกยกนิทาน (เอ้ย) ถึงมาร้าย” เมื่อจบท่อนลูกคู่ที่ประโคมเฉพาะโหม่งกับนิ่ง นายหนังร้องซ้ำวรรคหน้า แล้วจึงร้องวรรคต่อ ๆ ไป เช่น “จะสาธกยกนิทานถึงมารร้าย เศียรเป็นควายสรรพางค์อย่างยักษา” เป็นต้น

  • ถอนบท คือการที่นายหนังร้องไปประมาณ ๕-๖ คํากลอน จะถอนบทโดยให้ลูกคู่ขึ้นเครื่องเสียงครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการช่วยให้การขับบทมีชีวิตชีวาขึ้น

  • คําคอนหรือทํานองคอน คือคําร้องที่หนังเมืองนครศรีธรรมราช มีคําร้องเฉพาะและมีจังหวะเร้าใจ มักใช้กับบทเกี่ยว บทสมหวัง บทโต้ตอบ อมรมสั่งสอน นอกจากนี้ยังมีหนังเมืองตรัง เมืองพัทลุง ที่นํามาลอกเลียนแบบ ส่วนหนังสงขลานํามาลอกเลียนแบบขับร้องคําคอนไม่ได้ เนื่องจากคําคอนมักใช้กลอนสี่

  •  เสียงเข้าโหม่ง คือการร้องกลอนหรือขับกลอนของหนัง มีความกลมกลืนกับเสียงโหม่ง ฟังไพเราะเสนาะหู

  •  ลําลาบ คือหนังที่แสดงเชื่องช้า มีการขับบทและพูดมากจนเกินไป มักพูดออกนอกเรื่อง และปล่อยให้หน้าจอว่างเป็นเวลานาน ขึ้นเครื่องยาวไม่รับกับเรื่องที่แสดง

  •  เลยบท คือการนายหนังร้องจบตอน จึงเอื้อนเสียงยาวซ้ำ ๓ คําหลัง การเอื้อนเสียงแต่ละครั้งต้องสัมพันธ์กับเนื้อหา ซึ่งตัวอย่างเลยบท เมื่อขับบทจบตอน เช่น วรรคสุดท้ายของบทเกี้ยวจอ

  •  ชะโรง คือการปล่อยทีเด็ดของนายหนัง เพื่อดึงคนหน้าโรงของคู่แข่งขันมายังหน้าโรงของตนเอง เช่น การเล่นบทตลก


กรรมวิธี/ขั้นตอนการผลิต

ภาพจาก : https://www.prachachat.net/spinoff/news-19434

การทำรูปหนังตะลุง
       การทำรูปหนังตะลุงหรือการแกะหนังตะลุงนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการแสดงหนังตะลุงไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม การทำรูปหนังในอดีตการออกแบบหรือการวาดรูปได้บ่งบอกสังคมภาคใต้ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี เช่น การแต่งกาย ทรงผม หรืออาวุธประจำกาย ในสมัยโบราณหนังตะลุงของไทยแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตัวหนังทั้งที่เป็นมนุษย์และยักษ์ทรงเครื่องโบราณสวมมงกุฎเหยียบนาค มีอาวุธประจำกายคือ พระขรรค์และคันศร ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ต่อมาเมื่อหนังตะลุงมีการแสดงเรื่องอื่น ๆ รูปหนังตะลุงก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น เจ้าเมืองนางเมือง (ราชาและราชินี) สวมมงกุฎไม่เหยียดนาค ส่วนพระเอกนางเอก ไว้จุกเพิ่มขึ้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำรูปหนังตะลุงที่เห็นได้ชัดน่าจะมีขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กล่าวคือการผลิตหนังตะลุงสมัยโบราณ ช่างแกะหนังตัดรูปให้นายหนังนำไปแสดงเพียงอย่างเดียว ช่างจะแกะหนังตะลุงของตัวเองเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีการลอกเลียนแบบกันเหมือนในปัจจุบัน  นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมาการมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น และภาพหนังตะลุงก็กลายเป็นสินค้าที่สำคัญของภาคใต้ ที่นักท่องเที่ยวชอบซื้อกลับไป ทำให้มีรายได้เข้าประเทศปีละนับพัน ๆ ล้าน แต่ในขณะเดียวกันการแสดงหนังตะลุงก็ซบเซาลงไปบ้าง ทำให้ช่างแกะหันมาผลิตหนังตะลุงเพื่อการค้ามากขึ้น ซึ่งยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งชาวไทยและต่างชาติ
      
       วิธีการแกะหนัง
             สำหรับวิธีการแกะตัวหนังตะลุงนั้นช่างแกะจะดำเนินการตามขั้นต่อไปนี้คือ
                     ก) ขั้นเตรียมหนัง
                หนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมีอยู๋ ๒ อย่าง คือหนังวัวและหนังควาย เพราะหนังวัวและหนังควายที่ใช้จะต้องมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง เมื่อนำระบายสีและนำออกเชิดบนจอ (สำหรับหนังตะลุง) จะให้สีสันสวยงาม ดูโปร่งไม่มืดทึบ และไม่บิดงอหรือพับง่าย ๆ เมื่อออกเชิดจึงบังคับการเคลื่อนไหวให้ ตัวหนังจะแสดงอิริยาบถได้ดีและสมจริง สำหรับหนังสัตว์อื่น ๆ เช่นหนังค่าง หนังอีเก้ง หนังหมี หนังเสือ ฯลฯ ก็ใช้แกะรูปหนังได้แต่หนังสัตว์พวกนี้ค่อนข้างจะทึบแสง ช่างจึงใช้แกะรูปที่ไม่ต้องการโชว์ลายแกะฉลุและสีสันของตัวหนัง เช่น รูปตลก และรูปกาก  ในอดีตหลังจากได้หนังมาแล้วช่างจะมานำหมักซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ ๓-๔ วัน ทั้งนี้เพื่อให้กรดจากน้ำหมักกัดหนังให้ขาวและนิ่มคืนสภาพเหมือนหนังสด ๆ จากนั้นจึงนำหนังมาล้างเพื่อขูดขนออก  แต่ในปัจจุบันมีความสะดวกและรวดเร็วกว่ามากคือช่างจะแช่หนังที่ตากแห้งแล้วในน้ำส้มสายชู ซึ่งผสมน้ำให้พอมีรสเปรี้ยวแช่ไว้ประมาณชั่วโมงเศษ ๆ หนังก็จะคืนตัวนิ่มอย่างหนังสด ๆ จากนั้นจึงนำไปขูดขนออกการขูดขนต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีดอาจเฉือนหนังให้เกิดรอยตำหนิได้หรือไม่ก็ทำให้หนังหนาบางไม่เท่ากัน เวลาขูดหนังช่างอาจขูดบนแผ่นไม้หรืออาจใช้ไม้กลมรองแล้วขูดและล้างด้วยน้ำสะอาด เสร็จแล้วเอามาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยมอีกครั้งเพื่อผึ่งลมหรือแดดอ่อน ๆ ให้หนังค่อย ๆ แห้งลงอย่างช้า ๆ (ถ้าผึ่งแดดจัดหนังจะแห้งและหดตัวเร็ว) เมื่อหนังแห้งสนิทจึงแก้ออกจากกรอบ ตัดหนังรอบนอกซึ่งมีรอยตำหนิทิ้งก็จะได้หนังที่จะใช้แกะฉลุตามต้องการ แต่ในปัจจุบันนี้ช่างปกะบางคนไม่ได้ฟอก หนังใช้เองแต่จะรับซื้อหนังที่ฟอกแล้วมาจากโรงงาน ทำให้งานแกะรูปหนังลดขั้นตอนไปได้ขั้นหนึ่ง 

ภาพจาก : http://tknanglung.blogspot.com/

                    ข) ขั้นร่างภาพ
 
              การขั้นร่างภาพ เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการแกะรูปหนัง ช่างส่วนหนึ่งไม่สามารถร่างภาพได้ ทำหน้าที่เพียงเตรียมหนังแกะฉลุหรือลงสีเท่านั้น งานร่างภาพเป็นงานที่ประณีตต้องมีความสามารถในการออกแบบ ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ จินตนาการ ฝีมือ และทักษะประกอบกัน แต่การทำรูปหนังเชิดของภาคใต้ก็ไม่ค่อยมีปัญหาากนัก เพระมีแบบให้เห็นอยู่มากมาย รูปที่แกะก็แยกเป็นตัว ๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และมีลายกนกงกงอนไม่มากมายอย่างเช่นหนังใหญ่ก็สามารถได้ทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าเป็นรูปจับและรูปหนังใหญ่แล้วการร่างภาพเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากมาก โดยทั่วไปรูปจับและรูปหนังใหญ่มัก เกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ ช่างต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จักรูปร่างลักษณะ และนิสัยใจคอของตัวละครต่าง ๆ เป็นอย่างดี เพราะเวลาร่างภาพต้องให้ลักษณะภาพถูกต้องตามลักษณะรูปร่างของตัวละครในรามเกียรติ์ ทั้งต้องร่างภาพให้ได้อารมณ์ตรงตามเหตุการณ์ของเรื่องและอุปนิสัยใจคอของตัวละครตัวนั้น ๆ ในการร่างภาพดังกล่าวนี้ช่างต้องศึกษาวรรณคดีและที่สำคัญคือพยายามเก็บภาพ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จากที่มีผู้ทำไว้แล้วมาคิดเสริมเติมแต่งขึ้นอีกทีหนึ่ง ในการร่างภาพที่ไม่ซับซ้อนนักช่างนิยมใช้เหล็กปลายแหลมที่เรียกว่า "เหล็กจาร" ร่างภาพลงไปในแผ่นหนังเลยทีเดียวที่ทำได้เช่นนี้เพราะรอยเหล็กจารที่ปรากฏบนแผ่นหนังสามารถลบได้ง่ายโดยใช้นิ้วมือแตะน้ำ หรือน้ำลายลูบเพียงเบา ๆ แต่สำหรับภาพที่ซับซ้อนช่างจะร่างภาพลงในกระดาษก่อน ครั้นได้ภาพลงตามต้องการแล้วจึงจารทับลงบนแผ่นหนังหรือมิเช่นนั้น ก็แกะฉลุภาพแล้ววางทาบบนแผ่นหนังแล้วพ่นสีทับ ก็จะได้ภาพบนแผ่นหนังตามต้องการ ช่างที่ทำหัตถกรรมแกะหนังเป็นอาชีพได้นำเอาเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการร่างแบบลงแผ่นหนังนั่นคือเมื่อมีภาพตัวแบบที่สมบูรณ์แล้ว ก็จะนำภาพนั้นมาทำพิมพ์เขียว เพื่อใช้เป็นแบบในการแกะรูปหนังต่อไป วิธีดังกล่าวนี้รูปแบบของภาพที่แกะจะออกมาเหมือน ๆ กันสามารถสร้างงานได้รวดเร็วแต่ราคาต่ำกว่ารูปที่ร่างภาพขึ้นเฉพาะรูปนั้น ๆ เพียงรูปเดียว เนื่องจากตัวหนังต้องมีลายกนกงกงอนช่างบางคนจึงอาศัยการศึกษาเรื่องลายไทยจากตำราต่าง ๆ แล้วนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับรูปหนังโดยคงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นบ้านเอาไว้วิธีประสมประสานเช่นนี้ ทำให้รูปหนังได้พัฒนาในส่วนละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้น

ภาพจาก : http://tknanglung.blogspot.com/

                         ค)  ขั้นแกะฉลุ
                    เมื่อร่างภาพเสร็จก็ถึงขั้นแกะฉลุขั้นนี้ช่างต้องใช้ความชำนาญ และต้องพิถีพิถันมาก เพื่อให้ได้ดอกลายอ่อนงาม ช่วงจังหวะของดอกลายหรือกนกแต่ละตัวพอเหมาะพอดี ในการแกะฉลุ มีเครื่องมือที่สำคัญ ๆ ได้แก่เขียงสำหรับรองแกะฉลุหนัง ซึ่งเป็นชนิดไม้เนื้อแข็งเนื้อเหนียว ๒ อัน และไม้เนื้ออ่อนเนื้อเหนียว ๑ อัน มีดขุด ๒ เล่ม เป็นชนิดปลายแหลมเล็ก ๑ เล่ม และปลายแหลมมน ๑ เล่ม ตุ๊ดตู่หรือมุก ๑ ชุด ซึ่งมีชื่อเรียกแต่ละอันตามลักษณะปากต่าง ๆ กัน เช่น มุกกลม มุกเหลี่ยม มุกโค้ง มุกตา มุกดอก มุกวงรี และมุกปากแบน ค้อนตอกมุก ๑ อัน และเทียนไขหรือสบู่สำหรับจิ้มปลายมีดขุดหรือปลายมุก ๑ ก้อน

                      ง) ขั้นแกะ 
                   วิธีการแกะรูปหนังนั้นถ้าแบบตอนใดเป็นกนกหรือตัวลายจะใช้มีดขุด การขุดจะใช้เขียงไม้เนื้ออ่อนรองหนัง แล้วกดปลายมีดให้เลื่อนไปเป็นจังหวะตามตัวลายแต่ละตัวโดยไม่ต้องยกมีด ลายตัวใดใหญ่มีส่วนโค้งกว้างก็ใช้มีดปลายแหลมเล็ก ถ้าแบบตอนใดต้องทำเป็นดอกลายต่าง ๆ หรือเดินเส้นประก็ใช้มุกตอกตามลักษณะของปากมุกแต่ละแบบการตอกมุกจะใช้ค้อนตอกโดยมีเขียงไม้เนื้อแข็งรองหนัง หลังจากแกะฉลุส่วนภายในของตัวรูปสำเร็จแล้ว ช่างก็จะใช้มีดขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอกที่กำหนดก็จะได้รูปหนังแยกออกเป็นตัว ถ้าเป็นรูปหนังเชิดช่างจะใช้หมุดหรือเชือกหนังร้อยส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้เข้าตามส่วนต่าง ๆ ของรูป ซึ่งมีส่วนของมือ แขน และปาก เป็นต้น

ภาพจาก : http://services.totiti.net/ws252/?page_id=4336

                       จ) ขั้นลงสี
                      การลงสีหนังขึ้นอยู่กับลักษณะรูปและประโยชน์การใช้สอย รูปหนังสำหรับเชิดมีความมุ่งหมายจะใช้แสดงนาฏกรรมเล่นแสง สี และเงา ต้องการความเด่นสะดุดตาช่างจึงเลือกใช้สีฉูดฉาดเอาสีที่ตัดกันมาใช้ร่วมกันใช้หลายสีและเป็นสีโปร่งแสง เช่น หมึกสี หรือที่ช่างแกะหนังเรียกว่า "สีซอง" หรือ "สีเยอรมัน" สีประเภทนี้เวลาใช้จะต้องผสมด้วยสุราหรือน้ำร้อนหรือน้ำมะนาว ยกเว้นสีชมพูซึ่งผสมกับน้ำร้อนได้เพียงอย่างเดียว คุณสมบัติของสีชนิดนี้สามารถซึมติดอยู่ในเนื้อหนังและไม่ลอกง่าย ๆ รูปหนังเชิดส่วนใหญ่จะใช้สีชนิดนี้เว้นแต่ตัวตลกหรือรูปอื่น ๆ ที่ต้องการให้ดูทึม ๆ ก็ใช้สีทึบแสง หรือสีน้ำมัน 

ภาพจาก : https://www.sator4u.com/paper/527

               ช) ขั้นลงน้ำมันชักเงา
           เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จก็ถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการลงน้ำมันชักเงาหรือไม่ก็ได้ แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นรูปหนังเชิดมักจะลงน้ำมันชักเงาด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำมันชักเงาช่วยขับให้ตัวหนังเป็นมันงามเมื่อออกจอผ้าขาวจะดูสวยยิ่งขึ้น อนึ่งรูปหนังชนิดนี้จะถูกใช้เชิดบ่อยที่สุด การลงน้ำมันชักเงาจะช่วยรักษาสภาพหนังมิให้ชำรุดเร็วเกินไป การลงน้ำมันชักเงาทำได้ง่ายเพียงแค่เอารูปหนังวางราบบนกระดาษที่สะอาด ใช้พู่กันแบนชุบน้ำมันชักเงาทาบตามตัวหนังด้านละ ๓-๔ ครั้ง แล้ววางไว้ให้แห้งก็เสร็จการแกะรูปหนังเป็นงานที่ละเอียดประณีต

เครื่องมือที่ใช้ในการแกะหนัง 
        
       เครื่องมือที่ใช้ในการแกะหนัง ประกอบด้วย

ภาพจาก : http://nuworldna.blogspot.com/2013/09/2-12-1-2-3-4-5-6-7-8-9-10-11-12-69.html

     ๑. กระดานเขียง ซึ่งต้องใช้ ๒ แผ่น แผ่นหนึ่งเนื้อแข็งอีกแผ่นหนึ่งเนื้ออ่อน เขียงเนื้อแข็งใช้สำหรับตอกลายด้วยตุ๊ดตู่นิยมใช้ไม้หยี ส่วนเขียงเนื้ออ่อนใช้รองมีดตัดหนัง นิยมใช้ไม้ทังเพราะเนื้อนิ่ม ซึ่งจะทำให้ปลายมีดตัดหนังะไม่หัก
      ๒. มีดแกะ ที่ใช้กันมี ๒ เล่ม คือปลายเล็กเล่มหนึ่ง ปลายใหญ่เล่มหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับงาน และหยาบตามลำดับ
      ๓. ตุ๊ดตู่ นิยมใช้เบอร์ ๑๐-๑๗ มีจำนวนหนึ่งชุด เพื่อใช้ตอกตามลวดลายให้เหมาะสมกับขนาดของลาย
      ๔. ค้อน นิยมใช้ฆ้องช่างทอง เพราะน้ำหนักพอดีกับงานแกะ
      ๕. เหล็กเขียนลาย ช้างแกะจะใช้เหล็กเนื้อแข็งปลายแหลม มีด้ามจับขนาดเท่ากับปากกาหรือดินสอ  และสีผึ้งไว้เพื่อชุบปลายมีด 


เทคนิคการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์

              หนังตะลุงคือศิลปะการแสดงประจําท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดําเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสําเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ “ว่าบท” มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะและใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด
              หนังตะลุงเป็นมหรสพที่นิยมแพร่หลายอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในยุคสมัยก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้กันทั่วถึงทุกหมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน หนังตะลุงแสดงได้ทั้งในงานบุญและงานศพ ดังนั้นงานวัด งานศพหรืองานเฉลิมฉลองที่สําคัญ จึงมักมีหนังตะลุงมาแสดงให้ชมด้วยเสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนังตะลุงกลับกลายเป็นความบันเทิงที่ต้องจัดหามาในราคาที่แพงและยุ่งยากกว่าเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ เพราะการจ้างหนังตะลุงมาแสดงเจ้าภาพต้องจัดทําโรงหนังเตรียมไว้ให้ และเพราะหนังตะลุงต้องใช้แรงงานคน (และฝีมือ) มากกว่าการฉายภาพยนตร์ค่าจ้างต่อคืนจึงแพงกว่า ยุคที่การฉายภาพยนตร์เฟื่องฟู หนังตะลุงและการแสดงท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มโนราห์ รองแง็ง ฯลฯ ก็ซบเซาลง ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกบ้านมีโทรทัศน์ให้ดู ละครโทรทัศน์จึงเป็นความบันเทิงราคาถูกและสะดวกสบาย ที่มาแย่งความสนใจไปจากศิลปะพื้นบ้านเสียเกือบหมดลูกคู่หนังตะลุงเป็นบุคคลสําคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการแสดงหนังตะลุงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ที่เคยบรรเลงดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุงให้บทการแสดงหนังตะลุงนั้นมีอารมณ์คล้อยตามไปตามบทต่าง ๆ เช่น บทโกรธบทรัก บทเสียใจ เป็นต้น


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
หนังตะลุง (Shadow play)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ชวน  เพชรแก้ว. (2523). ชีวิตไทยปักษ์ใต้ ชุดที่ 3. กรุงเทพฯ : กรุงสยาม.
บุญชู ยืนยงสกุล, บรรณาธิการ. (2547)ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. สงขลา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
           สำนักงานภาคใต้.

ศิลปะการทำหนังตะลุง. (2558). สืบค้นวันที่ 11 ธ.ค. 61, จาก http://www.thaigoodview.com/node/201774
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2549). หนังตะลุง ผดุงภูมิปัญญาไทย. กรุงเทพฯ : ว็อชด็อก.
หนังตะลุง. (2558). สืบค้นวันที่ 11 ธ.ค. 61, จาก https://sites.google.com/site/angkana47013/phakh-ti/hnang-talung
หนังตะลุง-ขั้นตอนในการแสดงหนังตะลุง. (2552). สืบค้นวันที่ 11 ธ.ค. 61, จาก http://www.openbase.in.th/node/9372
หนังตะลุง : อัจฉริยลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้. (2544). กรุงเทพฯ : อลีน เพลส.
หนังตะลุงเงาแห่งปัญญาใต้. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 11 ธ.ค. 61, จาก https://sites.google.com/site/hnangtalung1313/prawati-hnang-talung
อุดม หนูทอง. (2531). ดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้
. สงขลา : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา.


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024