กรือโต๊ะเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ แหล่งที่นิยมเล่นกันมากคือแถบอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กรือโต๊ะเป็นคำภาษามาลายูใช้เรียกการละเล่นชนิดหนึ่ง ซึ่งทำจากลูกมะพร้าวแห้งกับไม้ใช้ตีให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าคำว่า “กรือโต๊ะ” ไม่มีความหมายอะไรแต่น่าจะเป็นชื่อที่แยกเลียนเสียงการตีอุปกรณ์ไล่นกชนิดหนึ่งเมื่อประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว สำหรับความเป็นมาของกรือโต๊ะนั้นมีแหล่งที่มา ๒ แหล่งด้วยคือ
๑. เดิมทีนั้นเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านโต๊ะแบ ตำบลมะรือโบออก ในจังหวัดนราธิวาส ที่คิดค้นวิธีการไล่ ไก่ เป็ด และนก ไม่ให้มากัดกินเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนา โดยการขุดหลุมกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ เซนติเมตร ลึก ๒๕-๓๐ เซนติเมตร แล้วนำไม้ไผ่ที่ผ่าครึ่งแล้วจำนวน ๕ ท่อน นำมาพาดไว้บนหลุม ๑ ท่อน เรียกว่า “ใบกรือโต๊ะ” ที่เหลือ ๔ ท่อน นำมาปักที่ขอบด้านนอกหลุมให้ชิดกับใบกรือโต๊ะ เพื่อกันไม่ให้เคลื่อนที่และใช้ก้านมะพร้าวเป็นไม้ตี เนื่องจากหาง่ายและให้เสียงที่ดังไปไกลทำให้ไล่นกได้ผลดี ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นทำให้ต้องขยายพื้นที่ทำนาไปไกล ๆ การขุดหลุมจึงกลายเป็นเรื่องยุ่งยากที่สำคัญหากมีฝนตกก็ใช้การไม่ได้ ชาวบ้านจึงได้คิดค้นอุปกรณ์ไล่นกแบบใหม่ที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่ โดยเลียนแบบจากของเดิมมีการใช้ลูกมะพร้าวมาแทนการขุดหลุมเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน วิธีการก็คือใช้มะพร้าวที่ถูกกระรอกกัดกินเนื้อข้างในจนหมด โดยธรรมชาติแล้วกระรอกจะกัดบริเวณก้นของลูกมะพร้าวทีละนิดจนถึงเนื้อมะพร้าว แล้วกินเนื้อด้านในจนหมดจากนั้นมะพร้าวก็จะตกจากต้นเอง ชาวบ้านนำลูกมะพร้าวมาตัดก้นตรงที่กระรอกกัดกินออก โดยการตัดให้กว้างประมาณ ๑ ใน ๔ ของขนาดของมะพร้าว แล้วใช้รูปแบบเดียวกันกับการขุดหลุม คือหงายส่วนที่ตัดขึ้นนำไม้ไผ่ผ่าครึ่ง ๑ ท่อน มาวางพาดส่วนที่ตัดไว้เรียกว่า “ใบกรือโต๊ะ” แล้วนำซี่ไม้ไผ่ ๒ ท่อน มาผูกติดกับลูกมะพร้าวด้วยเชือกปักเป็นเสา ๒ ข้าง ยึดใบกรือโต๊ะไว้ด้านใดด้านหนึ่ง ใบกรือโต๊ะอีกด้านให้เจาะรูแล้วยึดด้วยซี่ไม้ไผ่ขนาดเล็กปักไว้กับฐานรอง และผูกยึดติดกับลูกมะพร้าวไว้แล้วใช้ก้านมะพร้าวเป็นไม้ตี |
๒. การละเล่นกรือโต๊ะโดยเริ่มจากพวกเด็กเลี้ยงควายคิดทำเครื่องดนตรีสำหรับตี โดยขุดหลุมแล้วเอาไม้ไผ่ผ่าซีกปิดปากหลุม เอาไม้ตีทำให้เกิดเสียงดัง ตอนหลังคิดปรับปรุงมาใช้ลูกมะพร้าว ตัดส่วนหัว เอาเนื้อออก เอาไม้ไผ่ผ่าซีกปิดปาก ตีเกิดเสียงดังเช่นเดียวกัน ต่อมาพวกผู้ใหญ่สนใจและจำแบบอย่างของเด็กมาพัฒนาเปลี่ยนเป็นไหดินเผาและเปลี่ยนเป็นเครื่องไม้เนื้อแข็ง นำมาขุดให้เป็นหลุมอย่างตัวกลองและมีไม้ปีกบางปิดปากกลอง ไม้ตีพันหุ้มด้วยเศษยางพารา |
กรือโต๊ะนิยมใช้ตีประชันแข่งขันกันในฤดูแล้งหลังฤดูเก็บเกี่ยว และในงานฉลองต่าง ๆ และวันสำคัญ เช่น งานพิธีเข้าสุหนัด งานมาแกปูโละ เป็นต้น การเล่นกรือโต๊ะมักนิยมเล่นกันหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม และเล่นกันในคืนเดือนหงาย เพราะอากาศไม่ร้อนและชวนให้สนุกสนาน การแข่งขันกรือโต๊ะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของหมู่บ้าน เพราะในแต่ละหมู่บ้านหรือตำบลหนึ่งจะมีกรือโต๊ะประจำหมู่บ้านหรือตำบลเพียงคณะเดียว และถ้าชนะก็มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติแห่งความเป็นผู้ชนะกันทั้งหมู่บ้าน สำหรับการประชันการละเล่นกรือโต๊ะจะมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น ๒ เกณฑ์ คือความสวยงามในการตกแต่งกรือโต๊ะกับความดังและทำนองในการทำเพลง กรือโต๊ะกลายเป็นอุปกรณ์การละเล่นชนิดหนึ่งที่นิยมเล่น และส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันในงานต่าง ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานมีของเล่นใหม่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กรือโต๊ะค่อย ๆ จากหายไปอย่างน่าเสียดายซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากมาก ในปัจจุบันสำหรับกรือโต๊ะตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีคณะกรือโต๊ะชื่อว่าอินทรีย์แดง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ บ้านสากอ เคยเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแสดงศิลปวัฒนธรรม ณ ประเทศมาเลเชีย นอกจากนั้นเคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข็งขันระดับเขตและระดับจังหวัดมาแล้ว ส่วนทางด้านบ้านโต๊ะแบ หมู่ที่ ๓ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้อนุรักษ์การละเล่นกรือโต๊ะสมัยโบราณโดนทางผู้ใหญ่ได้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยรวบรวมผู้อาวุโสในหมู่บ้านจัดตั้งชมรมฟื้นฟูศิลปะโบราณขึ้น ประเดิมด้วยกรือโต๊ะที่มีการเปลี่ยนจากเดิมนิดหน่อย คือเสา ใบ และไม้ตีจังหวะ ซึ่งทำด้วยไม้สักล้วน สำหรับบ้านตาเซะใต้ ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส กรือโต๊ะเครื่องดนตรีที่อยู่คู่บ้านตาเซะใต้มานานกว่า ๘๐ ปี มีนายสัญชัย เหสามี เป็นครูภูมิปัญญาด้านการละเล่นเครื่องดนตรีกรือโต๊ะ รับช่วงต่อจากพ่อมาประมาณ ๓๐ กว่าปี ปัจจุบันยังมีการละเล่นและสอนให้คนที่สนใจเรียนรู้ เพื่อให้การละเล่นกรือโต๊ะยังคงอยู่กับพวกเราตลอดไป
กรือโต๊ะเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทกลองของคนไทยเชื้อสายมลายูชายแดนภาคใต้แถบจังหวัดนราธิวาส เป็นกลองชนิดที่ไม่ได้หุ้มหน้ากลองด้วยหนังสัตว์ ทำด้วยไม้ใช้ตีให้มีเสียงดังกังวาน ในการเล่นกรือโต๊ะ จะเป็นการเล่นที่ส่งเสริมความรักความสามัคคีกันของผู้เล่น เพราะถ้าหากผู้เล่นมีความพร้อมเพรียงกันในการตีกรือโต๊ะ ก็จะมีเสียงดังที่นิ่มนวล เข้าจังหวะกัน และทำให้เกิดความสนุกสนาน อุปกรณ์ในการละเล่นกรือโต๊ะประกอบด้วย ๓ ส่วนด้วยกันคือ
๑. ตัวกรือโต๊ะ ทำจากไม้เนื้อแข็งที่เรียกว่าไม้ตาแป หรือไม้มะหาด โดยจะเอาไม้ตาแปมาตากแดดให้แห้งสนิทแล้วนำมาตัดให้ได้ขนาดแล้วใช้สิ่วขุดให้เป็นหลุม ลักษณะของหลุมที่นิยมคือหลุมปากแคบ และป่องตรงกลาง ภายนอกจะตกแต่งหรือกลึงอย่างสวยงามมีการทาสี สีที่นิยมทากันคือสีฟ้า สีขาว สีเหลือง หรือทาน้ำมันชักเงาให้สวยงาม (ปัจจุบันไม้ตาแปหายาก ทำให้คนบ้านเราเอาไม้ขนุน หรือจำปาดะมาทำแทน) นำมาตัดให้ได้ขนาดแล้วใช้สิ่วขุดให้เป็นหลุมปากแคบ และป่องตรงกลาง ภายนอกทาสีสวยงาม หรือทาน้ำมันซักเงา ตัวกรือโต๊ะเปรียบเหมือนรางระนาดของตนตรีไทย |
๒. เด๊าว์ หรือใบ หรือลิ้นเสียง จะทำจากไม้ตาแปที่แห้งสนิทดีเช่นเดียวกับกรือโต๊ะ กรือโต๊ะใบหนึ่ง ๆ มีเด๊าว์ ๓ อัน คือทำเป็นเสียงต่ำ เสียงกลาง และเสียงสูง อย่างละอัน ขนาดของเด๊าว์ยาวประมาณ ๒-๓ ฟุต กว้างประมาณ ๖-๘ นิ้ว ส่วนความยาวตามความชำนาญของผู้ใช้เล่น |
๓. ไม้ตี ทำจากไม้เนื้อแข็ง ขนาดของไม้พอจับถือได้ถนัด ยาวประมาณ ๑ ฟุต ปลายด้ามที่ใช้ตี จะพันด้วยเส้นยางพาราเป็นหัวกลมขนาดโตกว่ากำปั้นเล็กน้อย |
วิธีการเล่นกรือโต๊ะ จะตีเป็นจังหวะที่มีด้วยกัน ๓ จังหวะ ได้แก่
๑. จังหวะโหมโรง เป็นจังหวะที่เริ่มเล่นกรือโต๊ะทุกครั้ง ทั้งในการแสดงและการประชัน เพื่อเป็นการสำรวจความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ต่างๆ ว่ามีความสมบูรณ์ เสียงคมซัด ดังกังวานเพียงใด |
๒. จังหวะลีลา เป็นจังหวะที่สนุกสนาน ผนวกกับลีลาการตีที่เร้าใจ มีการโยกย้าย ส่ายสะเอวให้มีสีสันน่าสนใจ |
๓. จังหวะประชัน เป็นจังหวะที่ใช้ในการตีประชันกรือโต๊ะ ซึ่งต้องใช้พลังในการตีอย่างมากเพื่อให้เสียงไพเราะดังกังวานไปไกล และกลบเสียงกรือโต๊ะของคู่แข่งขัน วงที่ตีดังและกลบเสียงของคู่แข่งจะเป็นผู้มีชัยในการประชัน |
เพจศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า. (2561). สืบค้น 14 มิ.ย. 67 ; https://www.facebook.com/
100065195212951/posts/1867101006737935/
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2553). “กรือโต๊ะ” การละเล่นภาคใต้ สืบค้น 14 มิ.ย. 67 ; https://link.psu.th/btfvE