ภาพจาก : รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 25
ทอยหลุม (จาเปาะลูแบ) ภาษามลายูเรียกว่าจาเปาะลูแบเป็นเกมการแข่งขันที่มีเหตุผลคล้ายกับการเล่นเกมดีดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เพราะโดยสภาพื้นที่มีต้นมะม่วงหิมพานต์เป็นต้นทุนวัตถุดิบของชุมชน ซึ่งใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นวัตถุดิบใช้ในการเล่นเกม ทอยหลุม (จาเปาะลูแบ) เป็นเกมที่มีทั้งความสนุกสนาน และการสะสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไว้ขาย เพื่อจะได้เงินมาซื้อขนมหรือของเล่นของเด็ก ๆ ในชุมชน
อุปกรณ์และกฎกติกาการเล่น
๑. หลุมเกม คือหลุมดินที่กว้างประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑-๒ เซนติเมตร ให้มีความลึกพอประมาณ |
๒. เส้นเขตแดน คือขีดเส้นบริเวณเขตแดนห่างจากหลุมไปประมาณ ๒๐ เซนติเมตร |
๓. พื้นดิน คือเลือกบริเวณพื้นที่ดินราบเสมอกันไม่ขรุขระ |
๔. เส้นการแข่งขัน คือการกําหนดระยะเส้นการแข่งขันออกประมาณ ๑.๕๐-๒ เมตร |
๕. เม็ดมะม่วงหิมพานต์ คือผู้เล่นทุกคนต้องมีมะม่วงหิมพานต์เป็นของตนเองมากพอสมควร |
๖. เม็ดลูกเกยหรือลูกโกจำนวน ๑ เม็ด ไว้สําหรับใช้ตีเม็ดอื่น ๆ ช่วงระหว่างการเล่นเกม |
๗. ผู้เล่น คือ จำนวนผู้เล่นซึ่งเล่นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จํานวนผู้เล่นไม่จํากัดจํานวน (ถ้าจํานวนคนมากจะทําให้เกมไม่สนุกเพราะต้องรอเวลาการเล่น) |
๘. จัดเรียงลําดับผู้เล่นก่อนหลังโดยใช้วิธี ลาลาตี้ตําบ็องหรือวันตู ซั่ม (วันตูสม) |
วิธีการเล่นเกม
๑. จํานวนผู้เล่นทั้งหมดยืนรวมกันหลังเส้นการแข่งขัน |
๒. กําหนดการลงเม็ดมะม่วงหิมพานต์จํานวนเท่ากันครั้งละเท่าไหร่ก็ได้ แต่อย่าให้มากเพราะจะลําบากในการทอยไป |
๓. วิธีการเล่น จะนําเม็ดมะม่วงหิมพานต์กองกลางรวมกัน ผู้เล่นเกมนําเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งหมดไว้ในมือ แล้วใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้ |
๔. ยืนหลังเส้นการแข่งขัน แล้วทอยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งหมดไปยังหลุมเกม โดยมีกติกาว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ทอยไปต้องเลยพ้นเขตแดนทั้งหมด ถ้ามีเม็ดมะม่วงหิมพานต์อยู่ใต้เขตแดน ผู้นั้นหมดสิทธิ์ที่จะเล่นเกมต่อ ต้องให้คนลําดับต่อไปได้เล่นเกม |
๕. เมื่อทอยไปแล้วเม็ดมะม่วงหิมพานต์พ้นเขตแดนทั้งหมด ส่วนเม็ดใดลงในหลุมเกมผู้เล่นจะได้เล่นเกมต่อไป คือให้ผู้เล่นที่เหลือตกลงร่วมกันที่จะต้องชี้ให้ตีเม็ดมะม่วงที่ตียากที่สุด เช่น เม็ดอยู่ติดกันหรือเม็ดที่รอบข้างมีเม็ดอื่น ๆกีด วางอยู่หรือเลือกชี้เม็ดอยู่ไกลสุด เพื่อป้องกันมิให้ผู้เล่นตีเม็ดนั้นถูก |
๖. ลักษณะการตี คือผู้เล่นใช้เม็ดลูกเกยหรือลูกโกตีเม็ดที่ผู้เล่นคนอื่น ๆ ตกลงชี้ให้ดี ถ้าผู้เล่นที่ไม่ถูกก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าตีแล้วไปโดนลูกอื่น ๆ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายครั้งละ ๑ เม็ด โดยเพิ่มลงไปในกองกลาง ถ้าตีถูกก็จะได้เม็ดที่ลงเล่นไปทั้งหมด จากนั้นก็จะเล่นเกมใหม่ต่อไป ก็จะเริ่มเกมใหม่ด้วยการลงเม็ดเท่า ๆ กันอีก ผู้ที่เล่นจบเกมจะได้เล่นต่อไป |
ประสิทธิ์ รัตนมณี. (2561). รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.