การแข่งขันประชันเสียงตั๊กแตน
 
Back    08/02/2022, 16:49    947  

หมวดหมู่

การละเล่น


ประเภท

อื่น ๆ


ประวัติความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจาก : รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี, 2561, 22

       การแข่งขันประชันเสียงตกแตน (งาโต๊ะลาแลจือง) การเลี้ยงตั้กแตนสําหรับการแข่งขันเพื่อความสนุกสนานในอดีตก็เหมือนกับการเลี้ยงนกเขาชวาและนกกรงหัวจุกในปัจจุบัน โดยสภาพทั่วไปทางสังคมของปัตตานีในสมัยนั้น ยังไม่มีไฟฟ้า การคมนาคมไม่สะดวก ชาวบ้านประกอบอาชีพบนฐานวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนคือ อาชีพทํานา ปีนต้นตาลโตนด เลี้ยงปลาในกระชัง และประมงพื้นบ้าน ในช่วงเวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลัก ต้องการความสนุกสนานบันเทิง จึงมีแนวคิดและสรรค์หาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาเลี้ยงคือตั๊กแตน เพราะช่วงเวลาค่ำคืนตั๊กแตนจะส่งเสียงขันทั่วบริเวณในป่า ฟังแล้วไฟเราะเสนาะหู ในยุคนั้นชาวบ้านยังใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด เวลาค่ำคืนล้วนมีแต่ความมืด ดังนั้นช่วงเวลากลางคืนจะมีตั๊กแตนเข้ามาอาศัยอยู่และส่งเสียงขันเป็นจํานวนมาก ประกอบกับช่วงหัวค่ำทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีเวลาว่างไม่รู้จะทําอะไรที่จะสร้างความบันเทิงสนุกสนาน ดังนั้นเสียงขันของตั๊กแตน คือสัตว์เลี้ยงที่จะสร้างความบันเทิงได้ ชาวบ้านได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วงเวลาค่ำคืน จึงเกิดแนวคิตร่วมกันเข้าป่าเพื่อจับตั๊กแตนมาเลี้ยงด้วยเหตุผลคือฟังเสียงขัน  โดยจะแขวนไว้ตามกระต๊อบที่นิยมปลูกสร้างไว้พักผ่อนบริเวณข้างบ้าน เพื่อนอนฟังเสียงยามค่ำคืน จึงเกิดปรากฏการณ์ความนิยมเลี้ยงตั๊กแตนไว้ตามบ้าน และมีการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงตั๊กแตนมาแข่งขันประชันเสียง ซึ่งสร้างความสุข สนุกสนาน และเพลิดเพลิน การเลี้ยงตั๊กแตนได้รับความนิยมอย่างมากและก็มีการถ่ายทอดมาสู่เด็กหรือผู้ใหญ่ในชุมชน โดยจัดให้มีการแข่งขันขึ้น
     
อุปกรณ์และวิธีการเลี้ยงตั๊กแตน
     การแข่งขันประชันเสียงตั๊กแตน ภาษามาลายูเรียกว่างาโต๊ะลาแลจืองิ แยกตามศัพท์ออกมาคืองาโง๊ แปลว่าประชันเสียง ลาแลงืองิแปลว่าตั้กแตน ตั๊กแตนนั้นมี ๒ สายพันธ์ สามารถแยกตามลักษณะลําตัวที่มีสีเขียวและสีน้ำตาล ภาษาไทยเรียกกันว่าแมลงขวัญข้าว โดยลักษณะทั่วไปของตั๊กแตนที่ชาวบ้านจับมาเลี้ยงเพื่อแข่งขันประชันเสียงจะเป็นตั๊กแตนตัวผู้ ที่มีลักษณะลําตัวและปีกแตกต่างจากตั๊กแตนตัวเมีย โดยธรรมชาติแล้วตั๊กแตนจะอาศัยอยู่ตามบริเวณป่าในชุมชน นิยมเกาะตามต้นนมแมวและจะส่งเสียงร้องข่วงเวลาค่ำคืน ตั๊กแตนจะมีต้นเสียงแตกต่างกัน บางตัวเสียงเล็ก บางตัวเสียงใหญ่ บางตัวเสียงหุ้ม บางตัวเสียงดังกังวาน บางตัวขัน ๑ เสียง บางตัวขัน ๒ เสียงหรือบางตัวอาจขันถึง ๓ เสียงติดต่อกัน ผู้ที่ต้องการเลี้ยงตั๊กแตน ต้องพยายามฟังเสียงแล้วเดินไปหาตามเสียงที่ชอบ อุปกรณ์แสงสว่างการนําทางหาตั๊กแตนคือ ใช้ยางจากต้นยางป่าใส่ในกระป๋องนมแล้วจุดไฟถือไป เพราะสมัยนั้นยังไม่มีไฟฉาย ข้อควรระวังการจับตั๊กแตนคืองูกระบะซึ่งมักจะเลื่อยตามเสียงขันของตั๊กแตนเพื่อต้องการจะกินเป็นอาหาร ซึ่งผู้ที่เข้าไปจับตั๊กแตนบอกว่าจะเจองูอยู่บ่อยครั้งใต้ต้นไม้ที่มีตกแตนเกาะอยู่ วิธีการจับตั๊กแตนไม่ใช่เรื่องยากถ้าเป็นเวลาค่ำคืน และต้องเดินตามเสียงขันของตั๊กแตนที่ตนเองชอบ ดังนั้นคนในชุมชนจะรู้วิธีการจับตั๊กแตน คือเดินตามเสียงขันของตั๊กแตน ที่ตนฟังแล้วชอบถ้าตั๊กแตนเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ใกล้พื้นดินอย่ารีบเดินเข้าไป เพราะจะมีงูนอนอยู่เพื่อรอจังหวะจะกินตั๊กแตนเหมือนกัน ถ้าตั๊กแตนเกาะอยู่บนที่สูง แม้จะจับยากแต่จะมีความปลอดภัย โดยการใช้มือจับตั๊กแตนใส่ไว้ในถุงแล้วนํากลับมาบ้านเลี้ยงไว้ในกรง ซึ่งกรงสําหรับการเลี้ยงตั๊กแตนมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับการประดิษฐ์กรงแต่ละคน ถ้าในอดีตการทํากรงสําหรับเลี้ยงตั๊กแตนมีอยู่ ๒ แบบ คือทําจากขวดน้ำมันเครื่องไดเกียว ซึ่งต้องหาตามอู่ซ่อมรถในเขตเมืองปัตตานี และกรงประดิษฐ์จากก้านใบต้นสาคู ในยุคต่อมามีการประดิษฐ์กรงเลี้ยงตั้กแตนหลากหลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับความคิดและความสามารถของแต่ละคน
วิธีการเลี้ยงตั๊กแตน คือเลี้ยงไว้ในกรงที่ประดิษฐ์สําหรับตั๊กแตนอาหารคือผักยอดอ่อน เช่น ผักบุ้ง ผักกาด แตงกวาและเนื้อสัปปะรด อาหารเหล่านี้เป็นส่วนสําคัญต่อเสียงขันของตกแตนที่จะทําให้ชนะการแข่งขัน
        
กฏกติกาและวิธีการแข่งขัน
     กฎกติกาและการแข่งขันประชันเสียงตั๊กแตนจะคล้ายกับการแข่งขันนกกรงหัวจุก ซึ่งการแข่งขันแต่ละครั้งจะมีผู้คิดริเริ่มขึ้นในการจัดกิจกรรม โดยประชาสัมพันธ์วิธีการแข่งขัน เช่น ค่าลงทะเบียนการเข้าร่วม รางวัลสําหรับผู้ ชนะการแข่งขัน เช่น ผ้าห่ม ผ้าโสร่ง เสื้อ เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น เพราะสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าจึงไม่มีรางวัลประเภท โทรทัศน์ ตู้เย็น และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ สำหรับกฎกติกาสําหรับการแข่งขันขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแต่ละครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกันแตกต่างบ้างเพียงรายละเอียดบางอย่าง กฎกติกาโดยทั่วไปประกอบด้วยกรรมการตัดสินแพ้ชนะ ๓ คน ซึ่งแต่ละคนจะสลับเปลี่ยนกันเดินตามแถว ราวที่แขวนตกแตน ดังนั้นตั้กแตนที่แขวนไว้ในแต่ละแถวจะมีคะแนนจากคณะกรรมการทั้ง ๓ คน และจะนํามารวมกันเพื่อหาตั๊กแตนตัวที่ชนะที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๓ บรรยากาศการแข่งขันในแต่ละครั้งจะประชาสัมพันธ์รับสมัครผู้เข้าร่วม บางครั้งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า ๑๐๐ คนก็มี การเลือกสถานที่จัดการแข่งขันต้องคํานึงถึงบรรยากาศและเป็นเวลาค่ำและต้องปราศจากเสียงรบกวนจากบริเวณใกล้เคียง คือบริเวณโดยรอบต้องอยู่ในความมืด เงียบสงบ ปราศการเสียงรบกวน ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นทุกคนสนุกสนานได้มาพบปะพูดคุย ตลอดถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเลี้ยงตั๊กแตน เพราะการแข่งขันแต่ละครั้งจะมีผู้เดินทางจากชุมชนต่าง ๆ จึงเป็นพื้นที่เปิดที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน นอกจากนั้นบรรยากาศรอบนอกจะมีพ่อค้า แม่ค้า มาขายขนมและสิ่งของอื่น ๆ ในสนามแข่งขันประชันเสียงตั๊กแตน เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างเป็นอย่างดี การตัดสินการแข่งขันประชันเสียงตั้กแตน คณะกรรมการทั้ง ๓ คน จะสลับกันตัดสินทุกแถวที่มีการแขวนตั๊กแตน เพื่อจดบันทึกเสียงขันตามกฎกติกา เรียกว่าการให้คะแนนครบ ๓ ยก การให้คะแนนแต่ละครั้งมีการจับเวลาคือนํากะลามะพร้าวที่เจาะรูตั้งบนน้ำในถังภาชนะ ถ้ากะลาจมลงแสดงว่าหมดเวลาการให้คะแนนช่วงเวลานั้น คณะกรรมการต้องสลับแถวกันแล้วเริ่มต้นจับเวลาใหม่ ส่วนใหญ่เกณฑ์การให้คะแนนมีดังนี้คือถ้าตั๊กแตนตัวใดขัน ๑ เสียง จะได้ ๑ คะแนน ขัน ๒ เสียง ได้ ๒ คะแนน แล้วนําคะแนนจากคณะกรรมการทั้ง ๒ คน มารวมกันเพื่อหาตั๊กแตน ตัวที่ชนะที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ต่อไป


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
การแข่งขันประชันเสียงตั๊กแตน
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


บรรณานุกรม

ประสิทธิ์ รัตนมณี. (2561). รายงานการวิจัยการละเล่นพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024