ผ้าเกาะยอเป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวบ้านในตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา ที่มีความประณีตและสีสันที่สวยงามโดยมีการทอยกดอกที่มีลวดลายอ่อนนุ่ม ถือเป็นสัญลักษณ์หัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้และยังเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ผ้าทอเกาะยอทอมาจากเส้นใยฝ้ายที่มีเนื้อแน่น ลวดลายไม่ซับซ้อน เป็นลวดลายที่เกิดจากการขิด (ขิดเป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสานมาจากคำว่าสะกิด หมายถึงการงัดช้อนขึ้น การสะกิดขึ้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่คนไทยได้สืบทอดกันมานาน) โดยการทอด้วยมือและแบบเหยียบตะกอแยกเส้นยืนขึ้น-ลง ทำให้เกิดลายตารางคล้ายกับผ้าขาวม้า นิยมใช้ทำผ้าโสร่งและผ้านุ่ง โดยมีจุดเด่นของผ้าทอเกาะยอ จึงอยู่ที่มีลายในเนื้อผ้าที่นูนขึ้นมามีลายเส้นละเอียดสวยงามและมีความคงทน เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย ลายตารางที่มีขนาดเล็กซ้อน ๆ กัน ทอด้วยด้ายสองสี เช่น สีขาว-แดง สีขาว-แดงแซมดำ สีขาว-แดงแซมเหลือง การทอผ้าของชาวเกาะยอนั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาเป็นผู้สอนการทอให้กับชาวบ้านในบริเวณนั้น ในระยะแรกของการทอนั้นจะทอเพื่อใช้กันในครัวเรือน และแจกจ่ายญาติมิตร ใช้กี่มือที่มีโครงการเป็นไม้ไผ่และใช้ตรนแทนลูกกระสวยในการทอ ผ้าที่ทอจะเป็นพื้นเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ วัฒนธรรมการทอผ้าถูกถ่ายทอดเข้ามาทำให้รูปแบบการทอผ้าเปลี่ยนไปเป็นแบบยกดอกชนิดต่าง ๆ โดยหมู่บ้านเกาะยอนั้นเป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะทั้งโดยทางบนบกและทางน้ำ คนที่อพยพมาในช่วงแรกนั้นซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน ได้นำอาชีพการทอผ้ามาสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น การทอผ้าจะทอด้วย “กี่มือ” ที่โครงสร้างเป็นไม้ไผ่ และใช้“ตรน” แทนลูกกระสวย ผ้าที่ทอในระยะแรกนั้นจะเป็นแบบเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการปลูกฝ้ายเอง ต่อมาระยะหลังเกิดความยุ่งยากและเสียเวลาจึงได้จัดซื้อด้ายจากกรุงเทพฯ หรือที่อื่น ๆ ปัจจุบันสั่งซื้อใยสังเคราะห์จากต่างประเทศ เพื่อนำมาทอผ้าและย้อมด้วยสีธรรมชาติ ผ้าทอเกาะยอมีการทอเป็นลายดอกชนิดต่าง ๆ มากมาย เช่น ลายก้านแย่งหรือชื่อเดิมคือลายคอนกเขา ซึ่งเป็นลายที่สวยที่สุด ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นลายราชวัตร คำว่า "ราชวัตร" นี้เป็นชื่อลายผ้าที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองสงขลาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยชาวเกาะยอซึ่งเป็นชุมชนที่ทอผ้ามานานได้คัดเลือกสุดยอดของลายผ้า ที่ถือว่ามีลวดลายที่สวยที่สุดในขณะนั้นถวายแด่พระองค์ท่าน จากคำบอกเล่าครูกริ้ม สินธุรัตน์ (ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๖๐) เล่าว่าเมื่อถวายเสร็จแล้วพระองค์ท่านได้ตรัสถามว่า...ผ้าลายอะไรสวยงามนัก... ผู้ถวายทูลตอบว่า... เป็นผ้าลายยกดอกก้านแย่งหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าลายคอนกเขา....เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบข้อมูลแล้วได้พระราชทานนามใหม่ว่า "ราชวัตร" ซึ่งแปลว่า “กิจวัตรหรือการกระทำ” ผ้าทอเกาะยอถือเป็นอัตลักษณ์และวิถีของชาวเกาะยอ เพราะได้มีการสืบทอดต่อกันภายในครัวเรือนแบบรุ่นต่อรุ่นเรื่อย ๆ มาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนถึงปัจจุบันนี้
ผ้าทอลายรสสุคนธ์ (ภาพจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/3706)
ผ้าทอเกาะยอ ทอจากฝ้ายและขึ้นลายตามแบบที่นิยมกันมา นับแต่อดีตลายซึ่งทอกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ การทอผ้าเป็นงานศิลปวัฒนธรรมที่เชาเกาะยอนิยมทอผ้ามาไม่น้อยกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิฐานว่าชาวจีนอพยพมาอยู่เกาะยอได้นำการทอผ้ามาด้วยจนผ้าทอเกาะยอมีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งในการทอระยะแรกใช้กี่มือและใช้ตรนแทนกระสวย ใช้สีที่ย้อมเองโดยนำเปลือกไม้มาย้อมสี เส้นด้ายเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการทอผ้ามีทั้งไหมประดิษฐ์ไหมแท้และฝ้าย ผ้าทอเกาะยอมีทั้งที่เป็นผ้าพื้น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่งหรือผ้าถุงแ ตลอดถึงผ้าทอยกดอกด้วยตะกอ มีตั้งแต่ ๔-๖-๘ ตะกอ ลวดลายผ้าทอเกาะยอมีเอกลักษณ์ประจำที่ไม่เหมือนที่อื่น สำหรับการทอผ้าในยุคแรก ๆ นั้นจะเป็นเน้นลายเรียบ ๆ ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีการค้าขายกับต่างประเทศ จึงได้ประดิษฐ์ลายขึ้นมามากมายประมาณกว่า ๕๐ กว่าลาย อาทิ ลายราชวัตถ์ดอกเล็ก ลายราชวัตถ์ดอกใหญ่ ลายลูกแก้ว ลายดอกพยอม ลายหางกระรอก ลายดอกพิกุล ลายผกากรอง ลายรสสุคนธ์ ลายเกร็ดแก้ว ลายหยดน้ำ สำหรับลายราชวัตถ์นั้นถือว่าเป็นผ้าลายดอกที่มีต้นกำเนิดมาจากเกาะยอ ต่อมากลายเป็นผ้าทอลายนิยมของผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้
การทอผ้าเกาะยอแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑. การทอสลับสี เป็นการทอผ้าแบบพื้นบ้านคือการทอผ้าที่ใช้ตะกอเพียง ๒ ตะกอ โดยทำการยกเส้นด้ายยืนเพื่อสอดด้ายพุ่งเข้าไปทำให้เกิดเป็นผืนผ้า ซึ่งเราจะเห็นว่าการทอผ้าแบบพื้นบ้านนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ - การทอสลับสี เป็นการทอผ้าสลับสีทั้งด้ายยืนและด้ายพุ่ง เช่น การทอผ้าขาวม้า - การทอแบบตีเกลียวสลับสี ซึ่งเราจะได้ยินชื่อผ้าชนิดนี้ว่าผ้าหางกระรอก ผ้าตาสมุท์ (ตาสมุก) หรือลายตะเครียะ |
๒. การทอยกดอก เป็นการทอผ้าเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ จะใช้ตะกอเป็นตัวทำลวดลายในการทอผ้าเกาะยอมีตั้งแต่ ๒ ตะกอ ๔ ตะกอ ๖ ตะกอ ๘ ตะกอ จนถึง ๑๒ ตะกอ เช่น ผ้าลายต่าง ๆ ซึ่งคุณภาพและความละเอียดของลวดลายต่างก็ขึ้นอยู่กับจำนวนของตะกอที่ใช้ |
เนื่องจากผ้าเกาะยอเป็นผ้าที่ทอจากเส้นใยที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการดูแลรักษาผ้าเกาะยอจึงต้องมีวิธีการที่แตกต่างกันตามลักษณะของเส้นใยที่นำมาทอเป็นผ้า ซึ่งการดูแลรักษาผ้าวิธีที่ดีที่สุดคือการทำความสะอาดผ้า การซักรีดที่ถูกวิธี จะช่วยถนอมผ้าให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ข้อแนะนำในการซักรีดผ้าเกาะยอที่ทอมาจากเส้นใยประเภทต่าง ๆ ดังนี้
๑. ฝ้าย สามารถซักในน้ำร้อนได้ และใช้ผงซักฟอกที่มีฟองมาก รีดได้ที่อุณหภูมิสูง |
๒. เรยอง เป็นใยสังเคราะห์ที่มีความคงตัวสูงไม่ค่อยยับ คืนตัวได้ดีเนื้อผ้าแข็งแรง ซักในน้ำร้อนได้และใช้สารซักฟอกชนิดอ่อนได้ หรือให้ซักแห้ง แต่ไม่ควรขยี้ให้ตากในที่ร่ม ไม่จำเป็นต้องลงครามหรือฟอกขาวเพราะผ้าเรยองสีขาวไม่เหลือง ควรซักผ้าเรยองที่บอบบางด้วยวิธีซักที่แนะนำไว้สำหรับผ้าที่บอบบางโดยเฉพาะ ให้รีดด้วยความร้อนปานกลาง |
๓. ไนลอน ผ้าที่ทอมาจากเส้นใยไนลอนจะเรียบจึงไม่ค่อยสกปรกและมีความยืดหยุ่นจึงเกือบจะไม่ต้องรีด แต่เนื่องจากไนลอนสีขาวมักดูดสีจากผ้าสี จึงควรซักรวมกับผ้าขาวเท่านั้น เมื่อซักหลาย ๆ ครั้ง ไนลอนสีขาวมักจะเหลืองจึงต้องฟอกขาวด้วยโซเดียมเพอร์บอเรต ให้ซักด้วยมือดีที่สุดให้บีบเอาน้ำออกบ้างแต่อย่าบิดผ้าเพราะจะทำให้เกิดรอยยับบนผืนได้ |
๔. โพลีเเอสเทอร์ ซักง่ายมากและเกือบไม่ต้องรีด วิธีซักแล้วแต่วิธีผลิตผ้าให้ขยี้ที่คอปกและข้อมือก่อนซักหรือแช่ในผงซักฟอกที่มีเอนไซม์ฟอกขาวผ้าสีขาว |
๕. ไหมเทียม ควรซักผ้าทันที่เปื้อนทันทีเพราะเหงื่อไคลจะทำลายเส้นใยให้เสื่อมเร็วกว่ากำหนด ให้ทำความสะอาดด้วยการซักแห้ง แต่ถ้าซักด้วยน้ำต้องซักมือโดยใช้น้ำสบู่อุ่น ม้วนผ้าในผ้าเช็ดตัวเพื่อบีบเอาน้ำออก การรีดต้องรีดจากด้านในของผ้าในขณะที่ผ้ายังมีความชื้น บริเวณที่ยับมากควรควรรีดรอยยับด้วยการรีดบนผ้าชื้น |
๖. ไหม ควรซักผ้าทันทีที่เปื้อนทันทีเพราะเหงื่อไคลจะทำลายเส้นใยให้เสื่อมเร็วกว่ากำหนด ให้ทำความสะอาดด้วยการซักแห้งในน้ำสบู่อุ่น ๆ ม้วนผ้าในผ้าเช็ดตัว เพื่อบีบเอาน้ำออก การรีดให้รีดจากด้านในของผ้าในขณะที่ผ้ายังมีความชื้นบริเวณที่ยับมากควรรีดรอยยับด้วยการรีดบนผ้าชื้น |
ผ้าพันคอลายแสงสุริยา (ภาพจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/3706)
เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าเกาะยอ แต่เดิมใช้กี่มือหรือที่ชาวบ้านในภาคใต้เรียกว่า “เก”หรือ “กี่ ” หรือ “หูก" ซึ่งพัฒนามาจากหลักการเบื้องต้นที่ต้องการให้มีการขัดลายกันระหว่างด้ายเส้นยืนกับด้าย เส้นพุ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดเป็นผืนผ้าขึ้นได้ เครื่องมือที่ใช้ทอผ้าเกาะยอว่า "กี่กระตุก" โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าประกอบด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ๒ ส่วนคือ
ก) อุปกรณ์การเตรียมด้าย ประกอบด้วย
๑. ดอกหวิง ในหลดตัน (หรือลูกคัน) เป็นอุปกรณ์สำหรับหมุนเพื่อกรอเส้นด้ายสีต่าง ๆ เข้าหลอด
๒. ไน เป็นอุปกรณ์กรอเส้นด้ายอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นช่องสำหรับใส่แกนม้วนด้ายซึ่งผูกโยงกับดอกหวิง ปัจจุบันมีการนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นตัวช่วยหมุน เมื่อมอเตอร์ไฟฟ้าทำงาน เส้นด้ายในดอกหวิงจะหมุนด้ายมาเก็บไว้ในแกนม้วนด้าย
๓. หลอดด้ายค้น (ลูกค้น) เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการค้นเส้นด้ายโดยเส้นด้ายทุกเส้นจะถูกม้วนหรือพันเก็บไว้ในหลอดค้น ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ ๘ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๑ นิ้ว จำนวน ๑๕๒ หลอด หลอดค้นทำจากไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันใช้ท่อน้ำพลาสติกแทน
๔. รางค้น เป็นอุปกรณ์สำหรับเรียงหลอดด้ายค้นเพื่อเตรียมไว้สำหรับขั้นตอนการเดินเส้นด้ายต่อไป รางค้นมีลักษณะเป็นแถว ๒ ชั้น มีแกนสำหรับใส่หลอดด้ายค้นจำนวน ๑๕๒ แกนอยู่บนเสาสูงประมาณ ๑.๕ เมตร ยาวประมาณ ๕-๘ เมตร จากนั้นทำการค้นด้ายในหลอด เมือค้นเสร็จ ด้ายที่เป็นเส้นทั้งหมดจะอยู่รวมกันในลูกหัด
๕. หลักค้น เป็นอุปกรณ์สำหรับพันเส้นด้ายที่ค้นตามจำนวนความยาวที่ต้องการมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาว ๕-๘ เมตร ที่หัวหลักค้นมีหลักสูงประมาณ ๖ นิ้ว จำนวนประมาณ ๒๐ หลักอยู่ทั้งสองด้าน
๖. ฟืมหรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะมีลักษณะเป็นซี่เล็กๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืนเข้าไปเป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้าเป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้าฟืมสมัยโบราณทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปนกหรือเป็นลวดลายต่าง ๆ สวยงามมาก
๗. ตะขอเกี่ยวด้าย (เบ็ดเข้าฟืม) เป็นอุปกรณ์สำหรับเกี่ยวเส้นด้ายเข้าฟืม ทำด้วยเหล็กยาวประมาณ ๘ นิ้ว ส่วนปลายทำเป็นตะขอไว้สำหรับเกี่ยวเส้นด้ายเข้าฟืม ซึ่งเส้นด้ายทุกเส้นจะต้องใช้ตะขอเกี่ยวด้ายสอดไว้ในฟืมจนเต็มทุกช่อง
๘. ลูกหัด (ระหัด) เป็นอุปกรณ์สำหรับม้วนเก็บเส้นด้ายที่ค้นเสร็จแล้ว มีลักษณะคล้ายระหัดวิดน้ำ ซึ่งอยู่ที่ด้านปลายของแกนระหัดทั้งสองด้าน โดยหมุนม้วนเส้นด้ายเก็บไว้เพื่อเตรียมใส่่ในเครื่องทอผ้า
๑๐. ไม้นัด เป็นไม้ที่สอดอยู่ในช่องด้ายยืน เพื่อช่วยให้ด้ายไม่พันกัน
๑๑. ไม้ขัดด้าย หรือฟันปลา เป็นอุปกรณ์สำหรับขัดระหัดม้วนผ้าเพื่อไม่ให้ระหัดม้วนผ้า ขยับเขยื้อนได้ ทำให้เส้นด้ายตึงอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงขั้นตอนการทอผ้าก็จะง่ายขึ้น
๑๒. เครื่องม้วนด้าย ใช้สำหรับม้วนด้ายเข้าหลอดด้ายยืน
ข) อุปกรณ์การทอผ้า ประกอบด้วย
๑. ฟืมหรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะ มีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืน เข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า เป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า ฟืมสมัยโบราณทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปนกหรือเป็นลวดลายต่าง ๆ สวยงามมาก
๒. เขาหูกหรือตะกอ/ตระกอ คือส่วนที่ใช้สอดด้ายเป็นด้ายยืน และแบ่งด้ายยืนออกเป็นหมู่ ๆ ตามต้องการ เพื่อที่จะพุ่งกระสวยเข้าหากันได้สะดวก เขาหูกมีอยู่ ๒ อัน แต่ละอันเวลาสอดด้ายต้องสอดสลับกันไปเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่ง ที่เขาหูกจะมีเชือกผูกแขวนไว้กับด้านบน โดยผูกเชือก เส้นเดียวสามารถจะเลื่อนไปมาได้ส่วนล่างผูกเชือกติดกับคานเหยียบหรือตีนเหยียบไว้เพื่อเวลา ต้องการดึงด้ายให้เป็นช่องก็ใช้เท้าเหยียบคานเหยียบนี้ คานเหยียบจะเป็นตัวดึงเขาหูกให้เลื่อนขึ้นลง ถ้าหากต้องการทอเป็นลาย ๆ ก็ต้องใช้คานเหยียบหลายอัน เช่น ลายสองใช้คานเหยียบ ๔ อัน จะเรียกว่าทอ ๔ ตะกอ ลายสามใช้คานเหยียบ ๖ อัน จะเรียกทอ ๖ ตะกอ จำนวนตะกอที่ช่างทอผ้าเกาะยอใช้ มีตั้งแต่ ๒–๑๒ ตะกอ ผ้าผืนใดที่ทอหลายตะกอถือว่ามีคุณภาพดีมีลวดลายที่ละเอียด สวยงาม และมีราคาแพง
๓. กระสวย คือไม้ที่เป็นรูปเรียวตรงปลายทั้งสองข้าง ตรงกลางใหญ่ และมีร่องสำหรับใส่หลอดด้ายพุ่ง ใช้สำหรับพุ่งสอดไปในช่องด้ายยืนระหว่างการทอผ้า หลังจากที่ช่างทอเหยียบคานเหยียบให้เขาหูกแยกเส้นด้ายยืนแล้ว
๔. ผัง เป็นไม้สำหรับค้ำความกว้างของผ้าให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืม ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการทอผ้า ซึ่งจะทำเส้นด้ายตรงลายไม่คดไปคดมา ส่วนด้านหัวและด้านท้ายของผังจะผูกเข็มไว้เพื่อใช้สอดริมผ้าทั้งสองข้าง
๕. สายกระตุกหรือเชือกดึงเวลาพุ่งกระสวย จึงเกิดศัพท์ว่า “กี่กระตุก” โดยช่างทอผ้าจะใช้มือข้างหนึ่งกระตุกสายเชือกนี้ กระสวยก็จะแล่นไปแล่นมาเอง และใช้มืออีกข้างดึงฟืมให้กระแทก เนื้อผ้าที่ทอแล้วให้แน่น
๖. ไม้แกนม้วนผ้าหรือไม้กำพั่น ชาวบ้านเกาะยอเรียกว่า “พั้นรับผ้า” เป็นไม้ที่ใช้สำหรับม้วนผ้าที่ทอแล้ว ไม้แกนม้วนผ้ามีขนาดความยาวเท่ากับกี่หรือเท่ากับความกว้างของหน้าผ้า
๗. คานเหยียบหรือตีนเหยียบ เป็นไม้ที่ใช้สำหรับเหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้เชือกที่โยงต่อมาจากเขาหูกหรือตะกอดึงด้ายยืนให้แยกออกเป็นหมู่ ขณะที่ช่างทอพุ่งกระสวยด้ายพุ่ง เข้าไปขัดด้ายยืนให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ
๘. ระหัดถักด้าย เป็นไม้ระหัดสำหรับม้วนด้ายยืน
๙. หลอดด้ายพุ่ง เป็นหลอดไม้ไผ่ที่บรรจุด้ายสีต่าง ๆ ซึ่งสอดอยู่ในรางของกระสวย เพื่อใช้พุ่งไปขัดด้ายยืนในขณะที่ช่างทอกำลังทอผ้าและกระตุกสายกระตุกไปหลอดเส้นด้ายพุ่งก็จะพุ่งไปขัดกับเส้นด้ายยืนกิดเป็นลายผ้าตามที่ต้องการ
๑๐. หลอดด้ายยืน เป็นหลอดด้ายหลักที่ขึงอยู่ในกี่ โดยสอดผ่านฟืมเรียบร้อยแล้วจะมีลักษณะอยู่ในแนวตั้ง
๑๑. ไนปั่นด้าย เป็นอุปกรณ์ที่แยกออกมาจากกี่ทอผ้า เพื่อใช้สำหรับปั่นด้ายเข้ากระสวยและปั่นด้ายยืนเข้าระหัดถักด้าย
ครูวิหลุน แช่หลี ครูสอนการทอผ้าให้ชาวเกาะยอ (พ.ศ. ๒๔๘๗)
ภาพจาก : ผ้าทอภาคใต้, ๒๕๓๘, ๕๒
สำหรับขั้นตอนการทอผ้าเกาะยอนั้นเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมาแต่บรรพบุรุษซึ่งมีขั้นตอนหลักอยู่ ๕ ขั้นตอนคือ
๑. การเตรียมเส้นด้ายยืน ประกอบด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ คือก่อนจะทอผ้า ช่างจะต้องนำด้ายริ้วที่เป็นไจ นำไปกรอเข้าหลอดเพื่อสำหรับงานโดยเฉพาะ เมื่อสอดด้ายเข้าพิมพ์เสร็จแล้ว ก็นำไปขึงบนกี่สำหรับเก็บตะกอหรือร้อยตะกอต่อไป |
๒. สับตะกอให้ด้ายแยกออกจากกัน โดยใช้เท้าเหยียบคานเหยียบที่อยู่ข้างล่างเพื่อเปิดช่องว่างสำหรับให้ด้ายพุ่ง ผ่านเข้าไปได้ |
๓. การเตรียมเส้นพุ่ง เริ่มจากการที่ช่างทอกรอด้ายที่จะใช้เป็นด้ายพุ่งเข้ากระสวยแล้วนำกระสวยแต่ละสีไปใส่ในรางกระสวย โดยใช้มือพุ่งกระสวยด้ายพุ่งให้สอดไปตามหว่างด้ายที่มีช่องสอดกระสวยซึ่งทำด้วยไม้ |
๔. ลำดับขั้นการทอในกี่กระตุกสับตะกอให้ด้ายยืนแยกออกจากกัน โดยมีที่เหยีบอยู่ข้างล่าง (ใช้เท้าเหยียบ) เป็นการเปิดช่อว่างสำหรับด้ายพุ่งผ่านเข้าไปได้ ใช้มือพุ่งกระสวยด้ายให้สอดไปตามระหว่างด้ายโดยมีช่องสอดกระสวยซึ่งทำด้วยไม้ ปล่อยเท้าที่เหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้ด้ายพุ่งรวมเป็นหมู่เดียวกันตามเดิม กระทบฟันหวีโดยแรง ฟันหวีจะพาด้ายพุ่งให้เข้ามาชิดกันเป็นเส้นตรง เหยียบที่บังคับตะกออีกครั้งหนึ่ง |
๕. เหยียบคานเหยียบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับขั้นที่ ๒ กระทบฟันหวีโดยแรงอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงพุ่งด้ายเส้นที่ ๒ จะทำให้ได้ผ้าเนื้อแน่นขึ้น |
โดยช่างทอผ้าจะต้องทำตามขั้นตอนตั้งแต่ ขั้นที่ 1 ถึง ขั้นที่ ๕ สลับกันไปจนกว่าจะได้ผืนผ้าตามความต้องการหรือ จนหมด ความยาวของด้ายยืน แรงกระแทกของฟืม หรือฟันหวีจะมีผลต่อความยาวของผ้าที่ทอคือทำให้เนื้อผ้าแน่น หนาหรือบางได้ คือ ช่างทอผ้าบางคนที่กระแทกฟันหวีแรงจะมีอัตราการทอผ้าได้ประมาณ ๔-๕ หลา/วัน และเนื้อผ้าจะหนาแน่นในขณะที่ ถ้ากระแทก ฟันหวีเบาจะทอได้ถึง ๖-๗ หลา/วัน และได้เนื้อผ้าจะบางเบา ดังนั้นคุณภาพและราคาของผ้า จึงต่างกันเพราะแรงกระแทกในการทอด้วย
การทอผ้าให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการเก็บตะกอ โดยช่างทอผ้าจะเป็นผู้จัดเส้นด้ายยืนให้เป็นกลุ่มตามลักษณะของลายแล้วเริ่มค้นด้าย สอดฟันหวี ขณะทอผ้าก็จะเก็บตะกอ และพุ่งด้ายสีต่าง ๆ ตามกำหนดของลักษณะลายแต่ละลาย ซึ่งผ้าเกาะยอได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าที่มีลายต่าง ๆ สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าเกาะยอบางลายช่างทอจะคิดหาวิธีสอดเส้นด้ายสีต่าง ๆ สลับกันไป บางวิธีก็จับผูกมัดกันเป็นช่อง ๆ หรืออาจยกเส้นด้ายที่ทอเป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดเป็นลายผ้า ที่สวยงามได้เช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้ช่างทอหรือผู้คิดค้นลายจะต้องจดจำลายที่ตนคิดประดิษฐ์ขึ้นมาและถ่ายทอดวิธีการทอให้ช่างทอให้ได้แม้ว่าแต่ละลายจะมีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งแสดงถึงศิลปะแห่งภูมิปัญญาและความสามารถของชาวเกาะยออย่างแท้จริง
ผ้าทอเกาะยอทอจากฝ้ายและขึ้นลายตามแบบที่นิยมกันมานับแต่อดีต ลายซึ่งทอกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือลายราชวัตรและผ้าที่เก็บดอก เช่น ลายดอกพิกุล ลายคชกริช ลายดอกพยอม ปัจจุบันเกิดลวดลายใหม่ ๆ ขึ้นมากมายซึ่งประมาณว่าน่าจะถึง ๕๘ ลาย เช่น
แต่ถ้าแบ่งออกตามช่วงระยะเวลาสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ช่วงคือ
๑. ลายผ้าเกาะยอแบบดั้งเดิม เช่น ลายพญาครุฑ ลายหน้านาง ลายดอก โบตั๋น ลายตับเต่า ลายครุฑล้อม ลายดอกรัก ลายเข็มทอง และลายเทพพนม ซึ่งเป็น ลายโบราณที่ทอแบบสิบสองตะกอ ซึ่งในปัจจุบันหาช่างทอแบบสิบสองตะกอไม่ได้อีกแล้ว ลายคดกริช ลายราชวัตร ลายราชวัตรก้านแย่ง ลายดอกพยอม ลายข้าวหลามตัด ลาย โกเถี้ยมหรือลายสมุก ลายตะเครียะ ลายลูกแก้ว
|
๒. ลายผ้าเกาะยอแบบปัจจุบัน เช่น ลายลูกโซ่ ลายสี่เหลี่ยม ลายดอกมุก ลายดอกจันทน์ ลายลูกหวาย ลายบุหงาลายดอกโคม ลายลูกสน ลายดอกพิกุล ลายสตางค์ ลายดอกชวนชม นอกจากนั้น ยังมีผ้าเกาะยอบางลายที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ เช่น ลายเครือวัลย์และลายทะเลทิพย์ซึ่งคิดค้นขึ้นมาเพื่อเนื่องในโอกาสพิเศษที่ทางจังหวัดสงขลาได้จัดงานแสงสีเสียงขึ้นในงานทะเลทิพย์ ซึ่งใช้สถาบันทักษิณคดีศึกษาเป็นสถานที่ในการจัดงาน ผ้าเกาะยอลวดลายเหล่านี้บางผืนบางลายได้เก็บรวบรวมไว้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา |
ลายราชวัตร
ผ้าทอเกาะยอลายราชวัตรแต่เดิมไม่ได้เรียกชื่อนี้แต่จะเรียกว่า "ลายก้านแย่ง" หรือ "ลายคอนกเขา" เนื่องจากผ้าทอลายนี้ทอออกมาแล้วจะคล้าย ๆ กับคอนกเขาชวา จึงตั้งชื่อว่าลายคอนกเขา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จประพาสเมืองสงขลาและแหลมมลายู ครั้งที่ ๒ พระองค์ได้ทรงเยี่ยมราษฎรชาวเกาะยอ คุณยายก่ำ ภัทรชนม์ ได้นำผ้าทอมือที่สวยที่สุดในสมัยนั้นขึ้นถวายพ ซึ่งทอเองจากกี่มือ (กี่ ๔ ตะกอ) ทรงพอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “ลายราชวัตร” ซึ่งแปลว่ากิจวัตรหรือการกระทำ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ เวลา ๕ โมงเศษ หลังจากนั้นจึงเรียกต่อ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ ในนามผ้าทอลายราชวัตร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กรมการเมืองสงขลาได้ขอครูทอผ้าชาวจีนมา ๒ คน ชื่อนายยี่สุ่น และนายพุดดิ้น ให้มาช่วยสอนการทอผ้าให้แก่ชาวเกาะยอที่วัดแหลมพ้อ (วัดหัวแหลม) โดยใช้กี่กระตุกเป็นครั้งแรกและนับแต่นั้นมาชาวเกาะยอก็หันมาทอผ้าด้วยกี่ชนิดนี้จนถึงปัจจุบัน
กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ที่ ๑
กลุ่มผ้าทอเกาะยอมีการเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการคือ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสงขลา และได้รับเงินทุนมาจำนวนหนึ่งเพื่อจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้น จากนั้น กลุ่มผ้าทอมีการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็ได้จัดตั้งกลุ่มในนามว่า “กลุ่มราชวัตถ์ พัฒนาผ้าทอเกาะยอ” ประธานกลุ่มราชวัตถ์ แสงส่องหล้า ที่ ๑ คือคุณวิชัย มาระเสนา ได้เล่าถึงการตั้งกลุ่มฯ ว่าเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑ ในนามกลุ่มราชวัตถ์พัฒนาผ้าทอเกาะยอ มีสมาชิกแรกเริ่ม ๑๔ คน โดยวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มฯ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านและเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการรวมกลุ่มครั้งแรกได้กู้เงินมาเป็นทุนในการซื้อเส้นใยจากโรงงาน และมีการตั้งราคาตามความเหมาะสม แต่จากได้มีการดำเนินการมา ๒ ปี ได้มีหน่วยงานที่ชื่อชมรมแสงส่องหล้า มาให้การช่วยเหลือต่อเติมอาคารและได้นำเรื่องกลุ่มอาชีพเสนอในยังสำนักพระราชวัง พร้อมกับขอชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๓ ว่า “ กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ที่ ๑ ” และให้อันเชิญอักษระพระนามาภิไธย “สธ” มาประดิษฐ์สถาน ณ ที่ทำการกลุ่มโดยหม่อมราชวงศ์อดุลยกิจ กิติยากร ต่อมาทางกลุ่มฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอเมืองสงขลา จากโครงการเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ได้รับคัดเลือกเป็นกลุ่มดีเด่นระดับจังหวัด และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมสหกรณ์ คัดเลือกกลุ่มอาชีพเพื่อนำไปขอตราสินค้ามาตรฐานสหกรณ์ หรือ สมส. เพื่อให้ผ้าของกลุ่มฯ มีมาตรฐานรับรองสินค้า รวมทั้งได้รับงบประมาณตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนในการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งกลุ่มฯ ได้มีการได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน คือ สินค้าต้องมีคุณภาพ สินค้าต้องมีเครื่องหมายรองรับ สินค้าต้องมีป้ายบอกราคา ซื่อลายและจำนวนหลา สินค้าต้องสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนาธรรม และสุดท้ายต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในปี ๒๕๔๖ ผ้าทอเกาะยอของกลุ่มฯ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๕ ดาว พร้อมได้รับรองในการแจ้งข้อมูลในเรื่องของภูมิปัญญาไทย และในปี ๒๕๔๗ คัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๕ ดาว ในระดับประเทศ จึงเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งกลุ่มฯ ยังได้เปิดเป็นศูนย์ศึกษาหาความรู้ ถ่ายทอดศิลปะการทอผ้า แก่นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวอีกด้วย หากสนใจสามารถติดต่อซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ ..........
กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ที่ ๑ เลขที่ ๓๘ หมู่ ๓ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ๙๐๑๐๐
โทรศัพท์ : ๐ ๗๔๔๕ ๐๐๒๙, ๐๘๖-๒๙๑๗๘๕๓, ๐๘๙- ๘๗๙๑๗๖๕
วิชัย มาระเสนา ประธานกลุ่มราชวัตถ์ แสงส่องหล้า ที่ ๑
กลุ่มร่มไทร
กลุ่มร่มไทรก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดสงขลา นำโดยนางประณีต ดิษยะศริน นายกสมาคมฯ (ในสมัยนั้น) ได้สนับสนุนให้นายกริ้ม สินธุรัตน์ ทำการรวบรวมสมาชิกผู้สนใจในการทอผ้า เพื่อก่อตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าร่มไทรให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเกาะยอ โดยมีนายกริ้ม สินธุรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และนางสาวจงกลนี สุวรรณพรรค เป็นประธานกลุ่ม ได้มีการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการทอผ้าด้วยกี่กระตุกให้นอกจากทอผ้าลายดั้งเดิมของผ้าทอเกาะยอแล้วกลุ่มร่มไทรยังได้พัฒนาลายผ้าทอเกาะยอโดยร่วมกับนักวิจัยนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ ออกแบบลายใหม่ ๆ เช่น ลายเกล็ดปลาขี้ตัง โดยให้ชื่อตามชื่อปลาในทะเลสาบสงขลา ลายเกล็ดปลาขี้ตัง จึงถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าทอเกาะยอของกลุ่มร่มไทร ปัจจุบันผ้าทอเกาะยอได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังมีผู้ให้ความสนใจมาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าเกาะยออย่างต่อเนื่อง โดยมีนายกริ้ม สินธุรัตน์ เป็นครูผู้ถ่ายทอดนับว่าท่านเป็นผู้อนุรักษ์ผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอเกาะยออีกท่านหนึ่งที่สำคัญยิ่ง
ต่อมามีอาจารย์จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาสอนการทอผ้าชื่อโกเถี้ยม พอมีคนมาซื้อผ้าถามคนที่ทอว่าเป็นทอผ้าลายอะไรก็บอกไม่ได้ว่าเป็นลายอะไร จึงบอกไปว่าลายโกเถี้ยมเพราะคนสอนชื่อนี้ก็เลยกลายชื่อลายผ้ามาจนปัจจุบัน
ครูกริ้ม สินธุรัตน์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๖๐ ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านผ้าทอเกาะยอ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ ๙๒ ปีแล้ว แต่ความจำยังดีสามารถให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเรื่องผ้าทอเกาะยอได้โดยไม่มีตกหล่น ในอดีตครูกริ้มเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยต่อลมหายใจให้กับผ้าทอเกาะยอ ยมนา สินธุรัตน์ ฝ่ายการตลาด กลุ่มทอผ้าร่มไทร ผู้สืบทอดการทอผ้าเกาะยอจากรุ่นพ่อ ได้เล่าว่าทางกลุ่มทอผ้าลวดลายดั้งเดิม เช่น ลายรสสุคนธ์ ลายเกล็ดปลาขี้กัง ลายจันทร์หอม ลายราชวัตร ลายร่มไทร ลายดอกรัก ลายสุพรรณิกา ลายลูกแก้ว ลายผกากรอง ๘ ตะกอ เป็นต้น แต่ลายที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอเกาะยอนั้นก็คือลายราชวัตรและลายรสสุคนธ์การจำหน่ายผ้าทอของกลุ่มมีทั้งนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ชอบผ้าทอมือมาก ถึงจะมีลวดลายมากมายแต่ป้ายมนาบอกว่าทางกลุ่มไม่หยุดที่จะพัฒนาลายใหม่ ๆ เพราะบางทีการขายออกร้าน ลูกค้าที่เคยซื้อมักจะถามว่าไม่มีลายใหม่ ๆ มาหรือ ทำให้ต้องพยายามหาลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังพยายามทำให้เนื้อผ้าบางนุ่มนวลมากขึ้น เนื่องจากผ้าทอเกาะยอจะมีลักษณะเนื้อผ้าที่แข็งหนากว่าผ้าทออีสานหรือภาคเหนือ ซึ่งล่าสุดทางกลุ่มฯ ได้พัฒนาผ้าลายแสงดอกแสงสุริยา ทำเป็นผ้าพันคอมีเนื้อบางเบามองดูคล้ายผ้าทอภาคเหนือหรืออีส
สินค้าผ้าทอเกาะยอของกลุ่มร่มไทรได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้าโอท็อป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ การรวมกลุ่มสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกให้อยู่ได้คนละ ๓,๐๐๐0-๑๒,๐๐๐ บาท/เดือน แล้วแต่ความขยันของแต่ละคน และการที่ไปรษณีย์ไทยมาช่วยเหลือในเรื่องแพ็กเกจผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการจำหน่ายเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะจะทำให้ผ้าเกาะยอเข้าถึงผู้ซื้อมากขึ้น และผลดีตามมาก็คือจะทำให้ชาวบ้านที่นี่มีรายได้เพิ่มขึ้น
ท่านที่สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๕๓/๑ หมู่ ๕ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ๙๐๑๐๐ โทร. ๐๘๙–๖๕๘๙๕๒๙
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มร่มไทร
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าเกาะยอ
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าเกาะยอ ได้จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ สร้างรายได้ให้กับชุมชน, ส่งเสริมให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น, สร้างความสามัคคีในหมู่สมาชิกและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าเกาะยอ ซึ่งความรู้ที่กลุ่มกำหนดขึ้นเป็นความรู้ที่ชุมชนสืบต่อกันมาช้านานนั่นคือการทอผ้าซึ่งมีการทอกันทุกหมู่บ้านในชุมชนนี้จนถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชุมชน โดยสถานที่ทำการกลุ่มแต่เดิมใช้ที่บ้านของประธานกลุ่มในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ต่อมาเมื่อมีการสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้น (ในบริเวณนี้) จึงย้ายมาดำเนินการเป็นศูนย์รับซื้อและจำหน่ายที่บ้านหลังใหม่นี้ ส่วนที่บ้านหลังเดิมซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ใช้เป็นสถานที่ฝึกและผลิตของสมาชิกที่สนใจจะมาฝึกและผลิตที่กลุ่ม
วิธีการ/กระบวนการจัดการความรู้
กลุ่มได้นำความรู้ในการจัดการความรู้มาจากคนรุ่นก่อน ๆ ในชุมชนเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากชุมชนเป็นแหล่งผลิตผ้าทอเกาะยอมาช้านาน จึงมีผู้มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอที่จะให้ความรู้ในเรื่องนี้ โดยมีลายดั้งเดิม เช่น ลายน้ำหยอด ลายจันทร์หอม ลายราชวัตร ลายลูกแก้ว ลายดอกพิกุล เป็นต้น ซึ่งการทอผ้าลายใหม่ ๆ ได้รับความรู้จากหน่วยงานภาครัฐ เช่น ลายยอประกาย ลายชมนาด ลายช้องนาง ลายกฤษณา ลายโพธิ์พิกุล เป็นต้น โดยทางกลุ่มจะรับสมาชิกผู้สนใจจากทุกหมู่บ้านในตำบลเกาะยอ ผู้ที่มาเป็นสมาชิกไม่กำหนดอายุ วัย เพศ สมาชิกจะทอผ้าที่บ้านของตนเองหรือที่ทำการกลุ่มก็ได้ หากไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการทอผ้าทางกลุ่มจะลงทุนให้ก่อนและเมื่อทอแล้วจะต้องขายที่กลุ่มในราคาที่เป็นธรรมปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการความรู้ โดยมีวิธีการดังนี้
๑. มีการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างสมาชิกของกลุ่มทอผ้าเกาะยอกลุ่มต่าง ๆ ในตำบลเกาะยอ เช่น กลุ่มราชวัตร กลุ่มร่มไทร กลุ่มดอกพิกุล เป็นต้น ทั้งในลักษณะของกลุ่มและส่วนตัว ซึ่งสมาชิกแต่ละกลุ่มอยู่ใกล้ ๆ กันในชุมชนตำบลเกาะยอด้วยกัน และบางคนเป็นสมาชิกคนละกลุ่มกันแต่ก็เป็นเครือญาติกัน ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันสูง |
๒. ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆด้วยดี แต่แรกเริ่มนั้นได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสงขลา ต่อมาภายหลังมีหน่วยงานให้การสนับสนุนมากขึ้น เช่น อบต.เกาะยอ (ด้านเงินทุนหมุนเวียน) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๑๑ พัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา (ด้านวิชาการ) เป็นต้น |
๓. การที่ชุมชนเกาะยอเป็นแหล่งผลิตผ้าทอเกาะยอมาช้านาน จึงทำให้มีผู้รู้ในเรื่องนี้มากพอที่จะให้ความรู้ในเรื่องนี้ได้ดี (เป็นแหล่งความรู้ของชุมชน) ประกอบกับปัจจุบันความต้องการของตลาดมีสูง ทำให้ผ้าทอเกาะยอกลายเป็นสินค้า OTOP ของชุมชนเกาะยอ จึงทำให้มีการผลิตในหลาย ๆ ครัวเรือน |
ผลต่อการจัดการความรู้
๑. กลุ่มมีชื่อเสียงและเกียรติคุณ โดยได้รับประกาศนียบัตร “ผลิตภัณฑ์ระดับห้าดาว ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าทอเกาะยอ” จากโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ (จากกรมพัฒนาชุมชน) และสินค้าของกลุ่มยังได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเลขที่ มผช. ๖๓/๒๕๔๖ และเลขที่ มผช. ๑๙๗/ ๒๕๔๖ |
๒. พัฒนาฝีมือการทอผ้าของสมาชิก ผลจากการจัดการความรู้กลุ่มสมาชิกกลุ่มได้นำเอาความรู้ที่ได้จากกลุ่มไปใช้ในการปฏิบัติงานด้วยดี ผู้ที่เคยทำเป็นมาก่อนได้รับการพัฒนาฝีมือมากขึ้นทั้งในด้านวิธีการทอและลายผ้าใหม่ ๆ ผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ก็สามารถทอผ้าได้และพัฒนาตนเองขึ้นตามลำดับ |
๓. ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เพราะมีการรวมตัวกันของผู้สนใจภายในชุมชนบนพื้นฐานความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาชุมชน พร้อม ๆ กับได้รับการพัฒนาด้านการตลาดและอื่น ๆ ทำให้ผู้ผลิตสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ดีและยั่งยืน ซึ่งบางคนยึดเป็นอาชีพหลัก บางคนยึดเป็นอาชีพเสริม |
จากการปฏิบัติที่กล่าวมาทำให้กลุ่มเกิดความยั่งยืน เนื่องจากการเป็นชุมชนผลิตผ้าทอเกาะยอมาช้านาน จนเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมกันทั่วไปทั้งในและนอกชุมชน ทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและอยากอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมนี้ ทรัพยากรท่องเที่ยวเป็นแหล่งศึกษาดูงานของบุคคลที่สนใจ โดยกลุ่มจะให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องผ้าทอเกาะยอ ที่ชุมชนสืบต่อกันมาช้านาน ซึ่งมีการทอกันทุกหมู่บ้านในชุมชนนี้ จนถือได้ว่าเป็นเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชุมชน ที่กลุ่มนี้การจัดการความรู้มาจากคนรุ่นก่อนๆ ในชุมชนเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากชุมชนเป็นแหล่งผลิตผ้าทอเกาะยอมาช้านาน จึงมีผู้มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอที่จะให้ความรู้ในเรื่องนี้ ทั้งลายผ้าทอต่าง ๆ เช่น ลายน้ำหยอด ลายจันทร์หอม ลายราชวัตร ลายลูกแก้ว ลายดอกพิกุล เป็นต้น
กิจกรรมเด่น
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าเกาะยอ เป็นทั้งศูนย์ฝึก/ส่งเสริม รับซื้อผ้าทอจากสมาชิก และเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอด้วย มีการสาธิตการทอผ้าเกาะยอโดยสมาชิกกลุ่ม
ชื่อเสียงเกียรติคุณ
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าเกาะยอได้รับประกาศนียบัตร “ผลิตภัณฑ์ระดับห้าดาว ประเภทผ้า เครื่องแต่งกายผ้าทอเกาะยอ” จากโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยปี พ.ศ. ๒๕๕๒ (จากกรมพัฒนาชุมชน) ต้องการสินค้าและเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับที่ ๕ หมู่ ๓ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา. จังหวัดสงขลา ๙๐๑๐๐
ติดต่อ: คุณสมหมาย พงศ์พฤกษ์ โทร: ๐๗๔- ๔๕๐๒๕๒, ๐๘๙–๙๗๖๐๘๘๑
ชนี กัลยาณคุณาวุฒิ. (2538). ผ้าทอภาคใต้. สงขลา : คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
หนังสือผ้าไทยจังหวัดสงขลา : ผ้าทอสองนที ผ้าเนื้อดี... ผ้าทอเกาะยอ. (2554). สงขลา : เอสพริ้นท์ (2004).
|