คำขวัญประจำจังหวัด กระบี่ เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก |
กระบี่เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน เป็นเมืองซึ่งยกฐานะขึ้นจากชุมชนที่มาตั้งรกรากถิ่นฐานทํามาหากินเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมานี้ ไม่ปรากฏโบราณสถานหรือโบราณวัตถุมากมายนัก เพราะบทบาทดั้งเดิมของการปกครองบริเวณนี้คือเมืองนครศรีธรรมราชและดินแดนกระบี่ก็ผนวกอยู่ในเมืองดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า “ทะเลหน้านอก พื้นที่ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นจึงเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรหลากหลาย มีเฉพาะแหล่งปากน้ำลําคลองและชายฝั่งทะเล อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนอดีตขึ้นไปก็พบร่องรอยและหลักฐาน ว่าในสมัยนานมาแล้วเคยเป็นที่อาศัยของผู้คนมายาวนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่าบริเวณเมืองกระบี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าดินแดนนี้แต่เดิมคือเมืองบันไทยสมอหนึ่งในสิบสองเมืองนักษัตร ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมืองขึ้นกับอาณาจักรนครศรีธรรมราช เมืองกระบี่สถาปนาขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในอดีตกระบี่เป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า “แขวงเมืองปกาไส” พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดเมืองมาตั้งค่ายทำเพนียดจับช้างในท้องถิ่นที่ตำบลปกาไส และได้มีราษฎรจากเมืองนครศรีธรรมราช ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานและหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดเมืองได้ยกตำบลปกาไสขั้นเป็น “แขวงเมืองปกาไส” ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาไสและพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการเมืองอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองกระบี่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่าศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่ามีความไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงย้ายมาที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึกเรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวก ทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้ สำหรับตำนานของที่มาคำว่า "กระบี่" เล่าสืบต่อกันมาว่าชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่งนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ และต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่เช่นกัน เจ้าเมืองกระบี่เห็นว่าเป็นดาบโบราณสมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จ จึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมือง โดยวางดาบหรือกระบี่ไขว้กัน ซึ่งลักษณะการวางดาบหรือกระบี่ที่ไขว้กันนั้นได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ตราประจำจังหวัดกระบี่ โดยมีภูเขาและทะเลประกอบอยู่ด้านหลัง ซึ่งบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่ใหญ่” ส่วนบ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่น้อย” ที่มาของกระบี่อีกตำนานหนึ่งสันนิษฐานว่า คำว่า “กระบี่” อาจเรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น “หลุมพี” จึงเรียกชื่อท้องถิ่นว่า “บ้านหลุมพี” ต่อมามีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายไดเรียกเพี้ยนเป็น “บ้าน-กะ-ลู-บี” หรือ “คอโลบี” เมื่อเวลานานเข้าก็ได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า “กระบี่” จังหวัดกระบี่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกคือทะเลอันดามัน ทางด้านทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดพังงาและสุราษฎร์ธานี ทางด้านทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดตรัง ทางด้านตะวันออกจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวจังหวัดตั้งอยู่ระหว่างแนวเทือกเขาที่สำคัญของภาคใต้สองแนว คือแนวเทือกเขาภูเก็ตอยู่ทางทิศตะวันตก แนวเทือกเขานครศรีธรรมราช อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ส่วนใหญ่มีภูเขาหินปูนเป็นลูกโดด ๆ เตี้ย ๆ มีถ้ำหินปูน บ่อน้ำร้อน และแอ่งน้ำ ที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน สลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด ที่ราบเชิงเขาที่ลาดเอียงไปทางชายฝั่งด้านใต้ และด้านตะวันตก และที่ราบแคบ ๆ แถบชายฝั่งพื้นที่ตอนกลาง มีแนวภูเขาที่สำคัญ คือภูเขาพนมเบญจาอยู่ในเทือกเขาภูเก็ตวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ เป็นภูเขาที่มียอดเขาสูงสุดในแนวเทือกเขาภูเก็ต คือสูง ๑,๔๐๐ เมตร เป็นแนวสันปันน้ำ ด้านตะวันตก ไหลลงสู่อ่าวพังงา ด้านตะวันออก ไหลลงสู่แม่น้ำกระบุรี ด้านทิศเหนือ ไหลลงสู่แม่น้ำตาปีในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร เป็นชายฝั่งทะเลยุบตัว อันเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใกล้กับแนวแผ่นดิน มีลักษณะเว้าแหว่ง และสูงชันต่างกัน บางบริเวณมีภูเขาติดกับชายฝั่งทะเล เช่น เขากาโรส และมีเกาะอยู่นอกชายฝั่ง อยู่ถึง ๑๓๐ เกาะ ในบรรดาเกาะดังกล่าวมีผู้คนอาศัยอยู่ เพียง ๑๓ เกาะ เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตา เกาะจำ เกาะพีพี เกาะศรีบอยา เกาะไหง ฯลฯ พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนไหล่ทวีปผืนแคบๆ มีหาดทรายอยู่น้อย มีบางบริเวณถูกแรงบีบอัดของเปลือกโลกทำให้ท้องทะเลเดิม ถูกยกตัวขึ้นมาอยู่บนชายฝั่ง เช่น พื้นที่บริเวณสุสานหอย ๗๕ ล้านปี ที่บ้านแหลมโพธิ์ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง ส่วนการสันนิษฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับที่มาของชื่อ “กระบี่” ในความหมายที่แปลว่า “ลิง” ว่าเมืองกระบี่ก่อนแขวงเมืองปกาไส เป็นที่ตั้งของเมือง “บันไทยสมอ” ซึ่งเป็นเมืองในสิบสองนักษัตร ขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบันไทยสมอใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมือง โดยถือเอาความหมายแห่งเมืองหน้าด่านปราการ เพราะลิงในสมัยก่อนถือว่ามีความองอาจกล้าหาญเทียบเท่าทหารกองหน้า เช่น บรรดาลิงแห่งกองทัพพระราม และในสภาพความเป็นจริงคนเฒ่าคนแก่ของเมืองกระบี่เล่าว่าในสมัยก่อนมีลิงอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้เสด็จประพาสเมืองกระบี่ สมัยพระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) เป็นเจ้าเมือง ดังความปรากฏในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๓๕๒) พระองค์เสด็จโดยเรือถลางผ่านภูเก็ต พังงา มาถึงปากน้ำกระบี่ ทางเมืองกระบี่ได้จัดขบวนเรือยาว เรือพายเป็นขบวนต้อนรับ เรือเข้าจอดท่าสะพานเจ้าฟ้า พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการ ทอดพระเนตรถ้ำหนองกก ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าถ้ำเสด็จทอดพระเนตรการชนควาย มวยมลายู หนังตะลุง มโนราห์ และมะยง (มะโย่ง) วันรุ่งขึ้นเรือออกจากเมืองกระบี่ ผ่านเกาะลันตา แหลมกรวด ทอดพระเนตรการงมหอยนางรม วันต่อมาเสด็จเกาะลันตาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา มีกองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองกระบี่ ๒ แห่ง คือที่บริเวณบ้านทุ่งแดง และบริเวณบ้านคลองหิน ใช้อาคารโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล เป็นที่ตั้งกองบัญชาการ หน่วยต่อต้านญี่ปุ่นในจังหวัดกระบี่ได้ประสานงานกับเสรีไทย ผลักดันให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกไปเรือกลไฟชื่อถ่องโห ซึ่งเดิมเป็นเรือสินค้าวิ่งขนส่งสินค้าระหว่าง ภูเก็ต-กระบี่-ตรัง-ปีนัง ทหารญี่ปุ่นยึดเอาไปใช้ขนส่งทหาร และสัมภาระ ได้ถูกตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร ยิงจมที่บริเวณเกาะหัวขวาน บริเวณทะเลกระบี่ ซากเรือยังจมอยู่ใต้น้ำมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงเวลาสงครามและหลังสงครามชาวกระบี่ขัดสนแร้นแค้นมากกว่าเมืองอื่น ๆ ถึงสองเท่า เพราะกระบี่ในสมัยนั้นมีความทุรกันดารเป็นปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการคมนาคมทางบกติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ คงมีแต่เฉพาะทางเรือ ที่ติดต่อกับจังหวัด ภูเก็ต พังงา ระนอง ย่างกุ้ง ปีนัง สิงคโปร์ กระบี่เป็นเมืองช้างมาแต่โบราณ การตั้งเมืองขึ้นก็เนื่องมาจากการตั้งเพนียดจับช้าง ของปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ชาวบ้านได้คล้องช้างที่บ้านป่าหนองเตา ตำบลลำทับ ปัจจุบันคือบ้านป่างาม ตำบลดินอุดม คล้องช้างได้ ๖ เชือก มีช้างเผือกรวมอยู่ด้วย ๑ เชือก เป็นเพศผู้อายุประมาณ ๔ ปี ให้ชื่อว่าพลายแก้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางจังหวัดได้แจ้งไปทางองค์การสวนสัตว์ขอน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับการสมโภชน์ขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้นพระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้นามว่าพระเศวตอดุลยเดชพาหนภูมิพลนวนาถบารมีฯ เป็นช้างเผือกชั้นโท
กระบี่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างที่บ้านปกาไส ต่อมามีผู้คนมากขึ้นก็ยกฐานะเป็นแขวงเมือง แล้วได้รวบรวมแขวงเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงยกฐานะขึ้นเป็นเมืองกระบี่ แต่เนื่องจากไม่มีรายละเอียดว่าเป็นปลัดท่านใดจึงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาลงไปได้ อย่างไรก็ตามก็มีการสันนิษฐานว่าการตั้งเพนียดจับช้างที่ปกาไสนั้น น่าจะเกิดปลายสมัยเจ้าพระยานคร (พัด) ซึ่งปกครองเมืองนคร ฯ อยู่ ๒๗ ปี ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะแขวงเมืองปกาไสขึ้นเป็นเมืองและทรงพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” โดยให้ตั้งที่ทำการบริหารราชการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองของนครศรีธรรมราช มีเจ้าเมืองคนแรกชื่อหลวงเทพเสนา คําว่ากระบี่ มีต้นเค้ามาจากคําไหนนั้นไม่สามารถยุติได้แน่นอน เพราะมีการสันนิษฐานกันอยู่หลายอย่างด้วยกัน ดังนี้
๑. กระบี่ แปลว่าดาบ มาจากต้นเค้าคําเดิมว่า “ปกาไส” มีผู้รู้ให้ความเห็นไว้ว่าคําว่า “ปกา/ปากา” แปลว่าดาบ เมื่อมีการยกฐานะแขวงปกาไสขึ้นเป็นเมืองให้ชื่อว่ากระบี่ เป็นการคงความหมายเดิมอยู่ |
๒. กระบี่ แปลว่าดาบ ตั้งขึ้นตามคําบอกเล่าว่าเคยมีคนขุดพบดาบได้ที่บ้านนาหลวง ใกล้ค่ายปกาไส แล้วน่ามาเก็บไว้ที่เขาขนาบน้ำแล้วหายไป บ้างก็ว่า นําขึ้นทูลเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยัน |
๓. กระบี่ แปลว่าดาบ ตั้งขึ้นเพราะสืบตํานานมาจากนิทานเรื่องเขาขนาบน้ำและตํานานอ่าวนางที่มนุษย์กับยักษ์รบกันดาบของยักษ์ตกอยู่ที่บ้านกระบี่ใหญ่ ดาบของมนุษย์ตกไปอยู่บ้านกระบี่น้อย เมื่อตั้งเมืองขึ้นที่บ้านกระบี่ใหญ่จึงได้ชื่อเมืองกระบี่ |
๔. กระบี่ มาจากคําว่า “กะรูบี/กะรอบี/โคโลบี” เป็นภาษามลายูแปลว่า ต้นหลุมพี เป็นพืชชนิดหนึ่งในตระกูลสละ ระกํา แต่ผลมีรสเปรี้ยว เดิมเป็นพืชพื้นเมืองมีขึ้นอยู่ทั่วไปแถบนี้ บางท่านก็บอกว่าทางมลายูออกเสียงคํานี้ว่า “กะษี แล้วเพี้ยนมาเป็นกระบี่ |
๕. กระบี่ มาจากคําว่ากระบือ เพราะแต่เดิมเขียนว่า “กระบี" (ไม่มีตัว อ.) แล้วเพี้ยนมาโดยระบบการเขียนในสมัยนั้นและแถบนี้มีการเลี้ยงกระบือมาก ถึงกับมีสะพานควายส่งควายลงเรือไปขายต่างประเทศ |
๖. กระบี่ แปลว่าลิง ตั้งขึ้นตามเค้าความเชื่อที่ว่าเดิมคือเมืองบันไทสมอ/บันทายสมอ หนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของอาณาจักรนครศรีธรรมราชโบราณ ซึ่งใช้ตราลิงเป็นสัญลักษณ์ |
๗. กระบี่ ตั้งขึ้นตามเอกลักษณ์สายธารน้ำที่สําคัญ ๒ สาย ที่ตกจากยอดพนมเบญจาสายหนึ่งไปทางน้ำตกห้วยโต้กลายเป็นคลองกระบี่ใหญ่ อีกสายหนึ่งไหลลอดภูเขาออกมาเป็นต้นน้ำกระบี่น้อย ถ้ามองมาจากที่สูงจะเห็นเป็นธารสีเงินประดุจสายกระบี่ จึงนํามาเป็นสัญลักษณ์แห่งดาบไขวและเป็นชื่อเมือง |
ภาพจาก : https://www.uncledeng.com/portfolio-view/30-ที่เที่ยวกระบี่/
ที่ตั้ง
จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๘๑๔ กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) มีเนื้อที่ทั้งหมด ๔,๗๐๘ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขา ที่ดอน ที่ราบ หมู่เกาะน้อยใหญ่ มากกว่า ๑๓๐ เกาะ อุดมไปด้วยป่าชายเลน ตัวเมืองกระบี่มีแม่น้ำยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ไหลผ่านลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลปากน้ำ นอกจากนี้ยังมีคลองปกาสัย คลองกระบี่ใหญ่ และคลองกระบี่น้อย มีต้นกำเนิดจากยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดกระบี่คือเขาพนมเบญจา
สภาพภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดกระบี่ ทางตอนเหนือประกอบด้วยเทือกเขายาวทอดตัวไปในแนวเหนือใต้ สลับกับสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาดและลอนชัน มีที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกบริเวณทางใต้ มีสภาพภูมิอากาศเป็นภูเขากระจัดกระจาย สลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่น ส่วนบริเวณทางตอนใต้สุดและตะวันตกเฉียงใต้ มีสภาพพื้นที่เป็นแบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึงค่อนข้างเรียบ และมีภูเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันไป บริเวณด้านตะวันตกมีลักษณะเป็นชายฝั่งติดกับทะเลอันดามันยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ประมาณ ๑๓๐ เกาะ แต่เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ ๑๓ เกาะ เกาะที่สำคัญได้แก่เกาะลันตา เป็นที่ตั้งของอำเภอเกาะลันตาและเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับของโลก
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ จดจังหวัดพังงาและจังหวัดสุราษฎร์ธานีทางด้านอำเภอปลายพระยา และอำเภอเขาพนม |
ทิศใต้ จดจังหวัดตรังและทะเลอันดามันทางด้านอำเภอเกาะลันตา อำเภอเมืองกระบี่ และอำเภอเหนือคลอง |
ทิศตะวันออก จดจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดตรังทางด้านอำเภอเขาพนม อำเภอคลองท่อม และอำเภอลำทับ |
ทิศตะวันตก จดจังหวัดพังงาและทะเลอันดามันทางด้านอำเภออ่าวลึก และอำเภอเมืองกระบี |
เขตการการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น ๘ อำเภอ ประกอบด้วย
อำเภอเมืองกระบี่ |
อำเภอเขาพนม |
อำเภอเกาะลันตา |
อำเภอคลองท่อม |
อำเภออ่าวลึก |
อำเภอปลายพระยา |
อำเภอลำทับ |
อำเภอเหนือคลอง |
ภาพจากคุณณัฐ เหลืองนฤมิตรชัย ; https://www.youtube.com/watch?v=SXnq7V4DUO0
ชื่อบ้านนามเมือง
อำเภอเมืองกระบี่
กระบี่ แปลว่าดาบ หมายถึงดาบที่ขุดพบ ณ บ้านนาหลวง แขวง เมืองปกาไส (เอกสารบางเล่มเขียนเป็นปกาไสยก็มี) และนําขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาทางการยกฐานะแขวงเมืองปกาไส ขึ้นเป็นเมืองกระบี่ตามสิ่งที่ขุดพบอันเป็นนิมิตสําคัญ ดังนั้นตราประจําจังหวัดกระบี่จึงใช้รูปกระบี่ไขว้เป็นสัญลักษณ์ เหตุที่เรียกเมืองปกาไส เพราะเล่ากันว่าเดิมบริเวณนั้นเป็นที่อาศัยของฝูงกา กาเหล่านั้นมักบินไปไกลข้ามแดนไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช และบินไปโฉบเฉียวร้องเสียงดังรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจึงรับสั่งให้ทหารออกไปขับไล่และสืบหาถิ่นที่อยู่ของฝูงกา ในที่สุดทหารก็เดินทางไปถึงถิ่นดังกล่าวและฝูงกาไม่ได้บินไปโฉบเฉียวหรือร้องเสียงดังรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์อีกเลย ต่อมาบริเวณที่ฝูงกาอาศัยเป็นที่ร่มรื่นด้วยภูเขาลําเนาไพร จึงเกิดเป็นชุมชนและเรียกถิ่นนี้ว่าปกาไส คําว่ากระบี่ มาจากคํามลายู ๒ ค่าคือกอลูบี (Kelubi) หมายถึง พันธุ์ไม้สกุลเดียวกับสละและระกํา ชาวใต้ทั่วไปมักเรียกว่าลูกหลุมพี ในบริเวณนั้นคงมีพันธุ์ไม้นี้ขึ้นชุกชุม อีกคําหนึ่งคือกัวลาปี หรือกราบี คําว่ากัวลาหรือกรา (Guala) แปลว่าปากน้ำ ส่วนคําว่า บี (Bea) แปลว่าเก็บภาษี จึงหมายถึงปากน้ำซึ่งเคยเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีหรือด่านขนอน
อำเภอเกาะลันตา
ลันตา (Lantar) เป็นคําชวา-มลายูโบราณ หมายถึงที่ย่างปลา ทําด้วยไม้ รูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายโต๊ะ โดยจุดไฟข้างล่างและเรียงปลาข้างบน คํามลายูอีกคําหนึ่งว่า ปีอลันตา (Pelantar) แปลว่าเรือนยกพื้นหรือเรือนมีนอกชาน และอีกคําหนึ่งว่ารันเตา (Rantau) หมายถึงชายทะเลที่ตั้งตัวอําเภอเกาะลันตาเรียกว่า “ตลาดศรีรายา” ชาวเลเรียกว่า “ปาไตรายา” แปลว่าหาดเจ้านายหรือหาดใหญ่ (ปาไต ภาษาชาวเล = ชายหาด, รายา = เจ้านาย, กว้างใหญ่)เกาะลันตา ประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะ ชื่อของเกาะมักเป็น คำลายู เช่น เกาะตะละเบ็ง มาจากคําว่าตะโละกําเบ็ง แปลว่าอ่าวแพะ (ตะโละ = อ่าว, กําเบ็ง = แพะ) เกาะเหลาจินเจิน แปลว่า เกาะแหวน เหลามาจากคําว่าปูเลา หมายถึงเกาะ, จินเจิน หรือจินจินหมายถึงแหวน สําหรับหมู่เกาะที่นักท่องเที่ยวรู้จักดี คือเกาะพีพี เรียกเป็นคํามลายูว่าปูเลาปิอะปิ (ปูเลา = เกาะ, ปิอะปี = ต้นตะบูนขาว) มักขึ้นตามชายเลน ริมน้ำเค็ม ต้นไม้ชนิดนี้โคนต้นเป็นพู เปลือกบางผลโตขนาดผลส้มโอมีสีน้ำตาลหรือต้นกระบูน หาดมาหยาหรือตะโละมายา คําว่าตะโละ แปลว่าอ่าว ส่วน มายาหรือมาหยา เป็นคํามลายูยืมคําสันสกฤตแปลว่างามดังภาพลวงตา
อำเภอเขาพนม
เขาพนมชื่ออําเภอนี้หมายถึงภูเขา ซึ่งเป็นปราการธรรมชาติมองเห็นเด่นตระหง่าน ยอดเขาลูกที่สูงที่สุดชื่อพนมเบญจา ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกับทิวเขาภูเก็ต และมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ระหว่างเขตอําเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่กับอําเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขาพนมเบญจาเป็นต้นน้ำของคลองและแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองกระบี่ใหญ่ คลองกระบี่น้อย คลองปกาไส และคลองท่อม เป็นต้น ชาวบ้านมักเรียกเขาพนมเบญจาว่า “เขานม” คือมองเห็นภูเขานี้มีลักษณะดังผู้หญิงนอนหงายเหยียดยาวยอดสูง ๒ ยอด คือส่วนอกหรือนมนาง ชาวบ้านจึงเรียกเขานม แต่ที่เรียกว่าพนมเบญจา อาจหมายถึงเทือกเขานี้มี ๕ ลูกเรียงรายสลับซับซ้อนกัน จึงเพิ่มคําว่าเบญจา แปลว่า ๕ เข้าไป บางคนบอกว่าเบญจาอาจหมายถึงเตียงที่นางนอน เพราะเบญจาหรือมัญจาแปลว่าเตียง พนมเบญจาในนิทานชาวบ้านหมายถึง นางเบญจาสาวสวยลูกชาวประมง ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือและเป็นที่หมายปองของบรรดา หนุ่ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ซึ่งเล่ากันว่ายักษ์ตนหนึ่งแปลงกายเป็นเศรษฐีเฒ่านําขบวนขันหมากมาสู่ขอนาง แต่นางเบญจาไม่ยินยอม และ ตัดสินใจรับรักหนุ่มน้อย ซึ่งเป็นพญานาคแปลงกายเช่นกัน พวกยักษ์มีความโกรธเป็นกําลังจึงคว้าขวานทะยานเข้าต่อสู้กับหนุ่มน้อย ยักษ์มีพลังเหนือกว่าสามารถทะลวงฟันจนดาบคู่มือสองเล่มของพญานาคแปลงหลุดกระเด็น ในที่สุดหนุ่มน้อยกลายร่างเป็นพญานาคตามเดิม ยักษ์จึงใช้ขวานฟาดและฟันจนหางพญานาคขาดกลายเป็นเกาะหางนาค ส่วนพญานาคเลื้อยหนีเข้าไปซ่อนในถ้ำพร้อมกับนางเบญจา ยักษ์จึงยกภูเขา ๒ ลูกขึ้นมาแล้วปักกั้นน้ำไว้ไม่ให้น้ำไหล เมื่อน้ำลดก็จะเห็นหนทางที่จะติดตามนางต่อไปได้ บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่าเขาขนาบน้ำ เมื่อยักษ์ติดตามมาถึงปากถ้ำ เห็นเต่านอนขวางทางอุดปากถ้ำ จึงใช้ขวานฟาดกระหน่ำลงบนภูเขาข้างถ้ำ จนถ้ำแยกออกเป็นสองท่อนตรงเตียงนอนของนางเบญจาพอดี ยักษ์จึงคว้าร่างของนางและปล่อยให้พญานาคนอน ดิ้นทุรนทุรายอยู่ที่นั่น ภายหลังอ่าวบริเวณนั้นจึงชื่อว่า “อ่าวพรากนาง” และเพี้ยนกลายเป็นอ่าวพระนาง มาจนทุกวันนี้ ส่วนถ้ำที่นางแอบซ่อนตัวอยู่นั้นเรียกว่า “ถ้ำนาง” ส่วนพญานาคภายหลังกลายเป็นภูเขาเรียกว่า “เขาพระ” หรือ “เขาพราก” มาจนทุกวันนี้ ฝ่ายยักษ์มีชัยชนะจึงโอบอุ้มนางเบญจาเอาไว้แล้วพาเหาะทะยานขึ้นไปในนภากาศ ระหว่างทางนางร้องคร่ำครวญ พอยักษ์เผลอนางจึงตัดสินใจกระโดดหนีลงมาสู่พื้นดิน ในที่สุดนางเบญจาก็ถึงแก่ความตาย โดยนอนทอดร่างเหยียดยาวกลายเป็นเขาพนมเบญจามาจนทุกวันนี้ ส่วนยักษ์มีความโศกเศร้าเสียใจมากจึงเหาะทะยานลงมาแบบดิ่งพสุธาใบหน้าของยักษ์ กระแทกกับหน้าผาลูกหนึ่ง และดับชีวิตทันที ต่อมาบริเวณนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า “เขาหน้ายักษ์”ฝ่ายบรรดาขันหมากเศรษฐีเฒ่าหรือของยักษ์แปลงที่เล่ามาข้างต้น ภายหลังกลายเป็นเกาะขันหมาก รวมทั้งขวานของยักษ์กลายเป็น เกาะหัวขวาน
สำหรับอ่าวพระนางนั้นมีประวัติหลายตํานาน นอกจากตํานานที่เล่ามาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกตํานานเล่าว่าพระนางคือเทพธิดาองค์หนึ่ง และเป็นน้องสาวเทพธิดาพีพี (เกาะพีพี) ต่อมามีเทพบุตรหลายองค์หมายปองพระนางเป็นคู่ครอง เทพบุตรเหล่านั้นปัจจุบันคือเกาะบิดะ เกาะปู เกาะขวาน และเกาะหางนาค ในที่สุดพระนางปลงใจรักเทพหางนาค แต่พี่สาวหรือเทพธิดาพี่พี่ไม่เห็นด้วย พร้อมกับขว้างขันหมากทิ้งลงทะเล พระนางจึงตรอมใจตาย และ กลายเป็นอ่าวพระนางมาจนทุกวันนี้
อำเภอคลองท่อม
คลองท่อมเดิมเรียกว่าอําเภอคลองพน (พนเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งในสกุลปาล์ม) เพราะตัวอําเภอตั้งอยู่ที่ตําบลคลองพน ต่อมาย้ายตัวอําเภอมาอยู่ที่ตําบลคลองท่อม จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอําเภอคลองท่อมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ คลองท่อมเคยเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ ชาวบ้านมักขุดพบลูกปัดและ โบราณวัตถุหลายอย่าง จึงมีนิทานเกี่ยวกับผู้คนนําสิ่งของมีค่าลงเรือหนีข้าศึก เมื่อมาถึงบริเวณที่เป็นคลองท่อมปัจจุบันก็เอาสิ่งของมีค่านั้นมาทิ้งไว้ พูดตามภาษาถิ่นใต้ว่ามาทุ่มไว้ ภายหลังคําว่าทุ่ม” เพี้ยนเสียงเป็นท่อมจึงเป็นชื่อ “คลองท่อม มาจนทุกวันนี้ คลองท่อมมีควนลูกปัด อยู่บริเวณใกล้วัดคลองท่อม ชาวบ้านพบลูกปัดสีต่าง ๆ มากมาย เข้าใจว่าสมัยก่อนคงเป็นแหล่งลูกปัด และแหล่งค้าขายลูกปัด ดังมีนิทานที่เล่ากันว่าเจ้าเมืองชื่อขุนสาแหระ (น่าจะเป็นคํามลายู) หนีข้าศึกชาวชวามาอยู่ตรงบริเวณที่เป็นคลองท่อมในปัจจุบัน ต่อมาธิดาของขุนสาแหระมีชู้ ขุนสาแหระ โกรธมากจึงขังธิดาและชู้ไว้ใต้อุโมงค์ ต่อมาขุนสาแหระได้สั่งบริวารให้เผาบ้านเรือนและทิ้งหรือทุ่มผู้ต้องโทษ รวมทั้งทรัพย์สินที่ถูกทําลายก็ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาด จากนั้นจึงเดินทางไปตามลําคลองสายแม่น้ำตาปีในปัจจุบัน จนกระทั่งพวกชวาตามมาทัน ภูเขาบริเวณนั้นจึงมีชื่อว่า “เขาชวาปราบ" ส่วนคลองที่ขุนสาแหระหนีหายไปทางฝั่งตะวันออกนั้น ต่อมาเรียกว่า “คลองกุแหระ" นอกจากนี้ชาวบ้านยังเล่าว่าเนินดินที่เคยเป็นอุโมงค์ยังธิดาของขุน สาแหระและชู้ รวมทั้งฝังทรัพย์สินมีค่าเมื่อขุดดินบริเวณนั้นมักพบเนื้อดิน เหมือนดินถูกไฟไหม้ และพบลูกปัดรวมทั้งวัตถุโบราณอื่น ๆ ด้วย ส่วน “เขาชวาปราบ นั้นมีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าถึงตาวาปราบไว้ว่า…ตาวาปราบมีลูกชายชื่อว่าบุญ วันหนึ่งตาวาปราบไปสู่ขอนางสาวนาง ซึ่งเป็นลูกสาวของตายมดึงให้ แต่ตายมดึงเคยสัญญากับพญานาคว่าเมื่อนางโตเป็นสาวแล้ว จะให้นางแต่งงานกับลูกชายของพญานาค ในที่สุดเมื่อถึงวันแต่งงานของลูกชายตาวาปราบและลูกสาวตายมดึง พญานาคโกรธมากจึงแผลงฤทธิ์เข้าทําลายพิธีแต่งงาน ตาวาปราบเห็นตายมดึงพาลูกสาวหนี จึงไม่พอใจและกระชากดาบคู่ขว้างไปหมายจะฆ่าตายมดึง แต่ดาบปลิวร่อนไปตกลงตรงบริเวณปัจจุบัน ที่มีชื่อหมู่บ้านและชื่อลําน้ำว่า “กระบี่น้อย” และ “กระบี่ใหญ่” ขณะเหตุการณ์กําลังสับสนวุ่นวายอยู่นั้นก็มีพระฤาษีตนหนึ่ง ซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้นปรากฏกายหมายห้ามปรามเพื่อให้ศึกยุติ แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ทําให้พระฤาษีตบะแตกจึงสาปผู้คนและสิ่งของต่าง ๆ ให้กลายเป็นหินมาจนทุกวันนี้ เช่น เรือนหอกลายเป็นถ้ำพระนางข้าวเหนียวที่เลี้ยงแขกเหรื่อกลายเป็นสุสานหอย และพญานาคกลายเป็นภูเขาหางนาค
นอกจากนี้ชื่อของหมู่บ้านและชื่อลําคลอง”กระบี่น้อย” และ “กระบี่ใหญ่” ยังมีเรื่องเล่าอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไปว่า…กาลครั้งหนึ่งมียักษ์และมนุษย์ต่างมาหลงรักธิดาเจ้าเมืององค์เดียวกัน จึงได้มีการต่อสู้ชิงรักหักสวาท เพราะต่างก็มีฤทธิ์เดช จึงใช้อาวุธวิเศษสาดเข้าหากัน ในที่สุดก็ถึงแก่ความตายด้วยกันทั้งคู่ และกลายเป็นภูเขาอยู่คนละฟากฝั่ง ภูเขาลูกโตคือยักษ์และภูเขาลูกเล็กคือ มนุษย์ ส่วนดาบของยักษ์ตกอยู่บริเวณนั้นกลายเป็นหมู่บ้านและชื่อ”คลองกระบี่ใหญ่” ส่วนดาบของมนุษย์กลายเป็นหมู่บ้านและชื่อ "คลองกระบี่น้อย” มาจนทุกวันนี้
อำเภอปลายพระยา
อําเภอนี้เกิดจากการรวมตําบลปลายพระยา ตําบลปากน้ำและ ตําบลเขาเชน ซึ่งเดิมอยู่ในเขตอําเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าด้วยกันแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นอําเภอปลายพระยา เดิมที่ตั้งของตําบลปลายพระยาเรียกว่า “บ้านวังจ่า” บริเวณนั้นตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านปากยาหรือบ้านปากหยา ซึ่งมีแหล่งลําห้วยและย่านใกล้เคียง ที่มีพื้นที่ต่อแดนกับอําเภออ่าวลึกชื่อคลองยา ดังนั้นบริเวณที่อยู่ถัดจากปากยาหรือปลายคลองยา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ปลายยา” ภายหลังเพี้ยนเสียงเป็นปลายพระยา
อำเภอลําทับ
ชื่ออําเภอนี้หมายถึงทับหรือกระท่อมที่พักชั่วคราวของผู้บุกเบิก ครั้งแรก ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำ ลําทับเดิมเป็นชื่อตําบลขึ้นกับอําเภอคลองท่อม ต่อมาได้รับการยกฐานะให้เป็นอําเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในอดีตอําเภอลําทับอุดมด้วยช้างป่า เจ้าพระยานครน้อยแห่งนครศรีธรรมราช เคยส่งคนออกมาตั้งเพนียดคล้องช้างที่เขตลําทับ และส่งช้างไปขายต่างประเทศ โดยลงเรือที่เกาะลิบง เขตเมืองตรัง ส่วนเส้นทางคล้องช้าง เลี้ยงช้างและส่งช้างไปขายเรียกกันว่าเส้นทางพระยานครค้าช้าง
อำเภอเหนือคลอง
อําเภอนี้เกิดจากรวมตําบลเหนือคลอง เกาะศรีบอยา คลองขนานคลองเขม้า โคกยาง ตลิ่งชัน ปกาไส และห้วยยูงเข้าด้วยกัน ตําบลเหนือคลอง หมายถึงบริเวณที่ตั้งชุมชนอยู่เหนือลําน้ำหรือคลองมาตั้งแต่อดีต เช่น คลองปกาไส ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าบ้านเหนือ คลอง และยกฐานะขึ้นเป็นตําบลและกิ่งอําเภอ และได้เป็นอําเภอเหนือคลองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙
อำเภออ่าวลึก
เดิมเรียกว่าแขวงปากลาวหรืออําเภอปากลาว คําว่า “ปากลาว” เป็นคําซ้อนระหว่างคําไทยและคํามลายู คือปากน้ำซ้อนกับกัวลา หรือ ทรา (Guala) ซึ่งแปลว่าปากน้ำเหมือนกัน จากคําว่าปากน้ำกัวลา พูดอย่างเร็ว ๆ เสียงจะเพี้ยนกลายเป็นปากลาวในที่สุด ต่อมาทางการเห็นว่าที่ตั้งของอําเภอปากลาวอยู่ใกล้อําเภอทับปุด จังหวัดพังงา จึงย้ายตัวอําเภอปากลาวไปตั้งที่ตําบลอ่าวลึกใต้ แล้วยกฐานะขึ้นเป็นอําเภออ่าวลึก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ คําว่า “อ่าวลึก” น่าจะตรงกับความหมายของคํามลายูว่าตะโละดาลัม” (Taluk dalam) (ตะโละ = อ่าว, ปากอ่าว ดาลัม = ลึก)
ปกาไสคือชุมชนแรกก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเมืองกระบี่ในปัจจุบัน ปกาไสชื่อเดิมที่ปรากฏในเอกสารเก่าหรือที่คนรุ่นเก่าเขาเรียกกันโดยนัยแปลว่าแหล่งกา ปกาไสเป็นชื่อที่เรียกต่อ ๆ กันมา มีผู้ให้ความเห็นว่าคำว่าปกาแปลว่าดาบเพราะมีคนพบดาบโบราณในแหล่งนี้อยู่เหมือนกัน แต่มีผู้ให้ความเห็นอีกว่าปกาไสมาจากคำว่าปากกาไสซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำปากคลองกาไสนั้นเองต่อมามีการจดบันทึกต่าง ๆ มีการสะกดกันหลายแบบ เช่น ปกาไสย ปกาสัย เป็นต้น ส่วนคำว่ากระบี่นั้นแปลว่า ลิงกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าดินแดนบริเวณนี้น่าจะเป็นที่ตั้งเมืองบันไทสมอ ๑ ใน ๑๒ เมืองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งใช้ตราลิง (ปีวอก) นักธรณีวิทยาพบซากดึกบรรพ์ซากชีวิตโบราณดึกดำบรรพ์ที่มีอายุอยู่ระหว่าง ๒๓๐–๓๔๕ ล้านปี ก่อนเป็นซากหอยกาบสองฝาและปะการังซึ่งที่เชิงเขาพนมเบญจาแสดงสภาพแวดล้อมสมัยเพอร์เมียนไทรแอสสิก นักธรณีวิทยายังพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์สำคัญ ที่บ่งบอกถึงวิวัฒนาการของการมีชีวิตบนแผ่นดินกระบี่ มีอายุอยู่ระหว่าง ๓๕–๔๐ ล้านปีก่อน ดังที่สุสานหอยแหลมโพธิ์ มีอายุในช่วง ๔๐–๒๐ ล้านปี เป็นซากหอยน้ำจืด ส่วนมากเป็นหอยขมตัวป้อมยาวในสกุลวิวิพารัส (Viviparous) ลิงสยาม (สยามโมพิเทคัส อีโอซีนัส) อายุประมาณ ๓๕ ล้านปี ในแอ่งเหมืองลิกไนต์กระบี่ เป็นชิ้นส่วนไพรเมทชั้นสูงซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทลิง ถือว่าเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์มนุษย์ สัตว์โบราณอื่น ๆ ที่พบในแอ่งกระบี่มีอายุระหว่าง ๓๕ ถึง ๔๐ ล้านปี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๒๗ ชนิด เช่น เสือเขี้ยวดาบ จระเข้ สมเสร็จ บ่าง กระจง และสัตว์ในตระกูลหมูยุคมนุษย์โบราณ ดินแดนจังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเวิ้งอ่าวพังงาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หลายหลายนานาชนิดจึงปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแต่โบราณตามแหล่งถ้ำและเพิงผา ประมาณ ๔๓,๐๐๐–๒๗,๐๐๐ ปีก่อน พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณ ยุคไพลสโตซีนที่ถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก ถ้ำหมอเขียว และถ้ำอื่น ๆ ประมาณ ๕,๐๐๐–๓,๐๐๐ ปี มนุษย์ถ้ำเข้าอาศัยพักพิงในถ้ำผีหัวโตนี้ ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีจำนวนมากมีอายุราว ๆ ๕,๐๐๐ ปี เมื่อระดับน้ำทะเลเริ่มลดลงมนุษย์เริ่มเข้าอาศัยที่เขาขนาบน้ำ ซึ่งสามารถพบหลักฐานได้จากแหล่งชุมชนของกลุ่มชนหลายยุคหลายสมัย อาทิ
ชุมชนคลองท่อม เป็นชุมชนแห่งแรกในดินแดนกระบี่ปัจจุบัน คลองท่อมเป็นเมืองท่า เหมาะสำหรับการค้าขาย และทำหน้าที่เป็นประตูเมืองเชื่อมไปยังชุมชนฝั่งอ่าวไทย พบหลักฐานการเดินทางของผู้คนหลายชาติพันธุ์ |
ชุมชนปกาไส ดินแดนแห่งนี้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นเส้นทางเดินทัพสมัยทำสงครามกับพม่า และปรากฏนามบรรดาศักดิ์ข้าราชการชื่อขุนพินิจทำหน้าที่รักษาหน้าด่านปกาไส และในของยุคเจ้าพระยา (น้อย) เรืองอำนาจมีการต่อเรือและส่งช้างไปขายยังต่างแดนทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำกินตามลุ่มน้ำ เมืองนครเห็นว่าอาจจะยุ่งยากในการปกครอง จึงจัดตั้งเป็น “แขวงปกาไส” ขึ้นตรงต่อนครศรีธรรมราช |
เมืองกระบี่ แขวงเมืองปกาไสถูกย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่ที่บ้านหินขวาง ปากคลองกระบี่ใหญ่ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ยกฐานะเมืองปกาไส ที่บ้านหินขว้างเป็น “เมืองกระบี่” มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาลเมืองกระบี่ ถูกรวมเข้าอยู่ในมณฑลภูเก็ตจากนั้นเมืองกระบี่ที่บ้านหินขวางได้ย้ายที่ทำการอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๔๔ สมัยพระยาอุตรกิจพิจารณ์เป็นเจ้าเมือง ไปอยู่ที่ตำบลปากน้ำซึ่งคือที่ตั้งในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกในการติดต่อค้าขาย บ้านหินขวางเดิมจึงถูกเรียกว่า “บ้านตลาดเก่า” มาจนทุกวันนี้ |
ควนลูกปัดแหล่งชุมชนโบราณคลองท่อม (ภาพสืบค้นจาก : https://chickenthree94.wordpress.com/แหล่งประวัติศาสตร์หรือ/)
สุสานหอย ๗๕ ล้านปี
สุสานหอย ๗๕ ล้านปีอยู่บริเวณชายทะเลบ้านแหลมโพธิ์ทางด้านทิศตะวันออกเฉียง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปหาดนพรัตน์ธารา เมื่อถึงบ้านไสไทยจะมีป้ายบอกทางไปสุสานหอย เหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีซากดึกดำบรรพ์ของหอยน้ำจืดชนิดต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นหอยขม มีขนาดยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร ซากหอยเหล่านี้ได้ทับถมกัน โดยมีน้ำประสานธาตุปูนจับตัวให้กลายเป็นหินแข็งทับอยู่ชั้นหินลิกไนท์ และหินดินดานนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก ช่วงแรกประมาณกันว่าสุสานหอยแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๗๕ ล้านปีมาแล้ว มีความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร กว้าง ๕๐ เมตร เป็นแผ่นหอยที่เกาะตัวกันจนแข็งเป็นแผ่นหินสลับกับชั้นของถ่านลิกไนต์ หนาประมาณชั้นละ ๑๐ นิ้ว ต่อมาแผ่นดินถูกยกตัวสูงขึ้น จึงปรากฏเป็นลานหินกว้างใหญ่ริมทะเลจากการคำนวณอายุทางธรณีวิทยาพบว่า ฟอสซิลเหล่านี้มีอายุราว ๗๕ ล้านปี
ภาพสืบค้นจาก : http://phuketairportthai.com/th/popular-destinations/1923/susan-hoi-krabi
ถ้ำผีหัวโต
ถ้ำผีหัวโตหรือถ้ำกะโหลกผี ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ ๒ บ้านบ่อท่อ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ชาวบ้านเรียกถ้ำหัวกะโหลกเพราะในอดีตเคยพบกะโหลกศีรษะมนุษย์โบราณภายในถ้ำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ภายในถ้ำภูเขาหินปูนจึงทำให้มีหินงอกหินย้อยอยู่มากมายทั่วทั้งถ้ำ ที่แห่งนี้มีศิลปที่สำคัญยิ่งเป็นภาพเขียนสี ที่พบตามเพดานถ้ำและผนังถ้ำ ถ้ำผีหัวโตเป็นแหล่งที่พบภาพเขียนลักษณะนี้มากที่สุดในแล้วภาคใต้ รูปเขียนที่พบเป็นพวกรูป คน สัตว์ มือ เท้า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ แต่ที่เห็นชัดเจนคือสัตว์ประหลาด ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นกลายสัญลักษณ์ของกระบี่ไปแล้ว สีของรูปเขียนที่พบภายในถ้ำมีหลายสีด้วยกันได้แก่ สีแดง ดำ เหลือง และน้ำตาล ชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่าถ้ำผีหัวโตเคยเป็นที่ฝังศพหรือประกอบพิธีกรรม ตามความเชื่อชองชนเผ่าที่อพยพและเร่ร่อนอาศัยทรัพยากรตามชายฝั่ง และในทะเลเป็นแหล่งอาหารและพักอยู่ในถ้ำ นักโบราณคดีคาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ภายในถ้ำผีหัวโตนี้นอกจากจะมีหินงอกหินย้อยที่สวยงามตระการตาแล้ว ถ้ำแห่งนี้ยังมีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ เพราะมีการขุดค้นพบกระโหลกศรีษะมนุษย์โบราณที่มีกระโหลกใหญ่กว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันมาก จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำผีหัวโต ส่วนบนของผนังถ้ำและตามเพดานถ้ำจะมองเห็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ทั้งรูปคน รูปสัตว์ และมีรูปเขียนประหลาดเป็นรูปสัตว์มีเขายืนสองขาและมีลายขวางทั้งลำตัว ในปัจจุบันนักโบราณคดี ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นสัตว์อะไรกันแน่ภายในถ้ำจะโปร่งมีอากาศเย็นสบายมีลมพัดผ่านตลอดแสงสว่างเข้าไปในถ้ำได้หลายทิศทาง ทางเข้าถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีความลาดชันประมาณ ๔๕ องศา หน้าถ้ำกว้างพอควร ภายในแบ่งเป็น ๒ คูหาใหญ่ มีทางเข้า ๒ ทาง ทั้งสองคูหาเดินทะลุถึงกันได้
ภาพสืบค้นจาก : https://bigjiew.wordpress.com/2016/07/20/ผจญภัยไปกับถ้ำผีหัวโต/
ภาพเขียนสีโบราณถ้ำกะโหลก
ภาพเขียนสีโบราณถ้ำกะโหลกลักษณะของภาพเขียนสีแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นภาพเขียนสีแดง มีทั้งแบบลายเส้นและระบายทึบปรากฏภาพลักษณะคล้ายบุคคล เรือ และลายเส้นเรขาคณิต จัดอยู่ในกลุ่มภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างแน่นิน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งอื่น ๆ ของกระบี่ เช่น วโต เขาเกาะยอ แหลมไฟไหม้ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ ๒ เป็นภาพลายเส้นสีดำลักษณะคล้ายเรือสำเภาอาจใช้ถ่านในการเขียน ภาพเขียนนี้สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งลักษณะภาพมีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีที่พบในถ้ำไวกิ้ง บนเกาะพีพีเล
ถ้ำเสือ
ถ้ำเสือเป็นบริเวณนี้ยังเป็นป่ารกชาวบ้านได้พบเห็นเสือโคร่งเดินเข้าออกแถบถํ้านี้อยู่เสมอจึงเรียกกันว่า "ถํ้าเสือ" และเป็นชื่อหมู่บ้านนี้ด้วยเมื่อพระอาจารย์ จำเนียร สีลเสฏโฐ มาบุกเบิกใหม่ ๆ ได้เล่าว่า สภาพเดิมเป็นป่ารกมากมีถํ้าที่สงบเงียบเหมาะแก่การทำวิปัสนากรรมฐาน ได้พบคนแปลกหน้าคนหนึ่งในหุบเขา "คีรีวง" ท่านได้ถามว่าในถํ้านี้เป็นอย่างไรบ้าง ชายผู้นั้นตอบว่าขอให้ท่านขึ้นไปขี่บนหลังของเขาเถอะแล้วจะพาเข้าไปดูในถํ้า และบอกว่ามีทรัพย์สมบัติมากมายแต่ท่านก็มิได้ไปเพราะคิดว่าคนผู้นี้จะอาศัยท่านเข้าไปเอาวัตถุมีค่าในถํ้าเสียมากกว่าต่อมาเมื่อท่านนำพระและเณรมาอยู่แล้วก็พบชายผู้นี้อีกครั้งหนึ่งในหุบเขา ชายผู้นั้นได้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเล่าว่า เมื่อประมาณ ๑๒๐๐ ปีมาแล้ว หุบเขาถํ้าเสือเป็นเกาะใกล้ทะเล ครั้งหนึ่งมีชาวเมืองไทรบุรีได้ทราบข่าวการสร้างพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจึงพากันนำเอาทรัพย์สินเงินทองจะมาบรรจุไว้ในพระธาตุเรือถูกพายุมาติดที่บริเวณถํ้าเสือเป็นเวลาช้านาน ผู้คนเหล่านั้นต่างล้มตายไปหลายคน ต่อมาได้ทราบว่าการสร้างพระบรมธาตุนั้นเสร็จสิ้นแล้วพวกที่เหลือจึงเอาทรัพย์สินสมบัติฝังไว้ในถํ้าช่วยสกัดก้อนหินปากถํ้าเอาไว้ โดยอาศัยระบบนํ้าย้อยจนปากถํ้าปิดสนิท ต่อมาอีกหลายร้อยปีทะเลบริเวณนี้ได้ตื้นเขินกลายเป็นป่าเสน ผู้คนได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย กลายเป็นที่พักของพวกพ่อค้าเดินทางไปมา หรือข้ามแหลมจากตะวันตกไปยังตะวันออก พระอาจารย์จำเนียร สีลเสฏโฐ กล่าวว่าชายคนนี้เล่าเหมือนว่าเขารู้ประวัติศาสตร์ดี แต่จะเชื่อได้แค่ไหนขอให้พิจารณาดู หลังจากนั้นท่านก็บอกว่าไม่พบเห็นชายผู้นั้นอีกเลย จึงคิดว่าเขาคงเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติภายในถํ้าแห่งนี้ จึงให้ชื่อว่า "ถํ้าคนธรรพ์" บริเวณนี้เคยมีคนเคยพบพระพุทธรูปทองคำและวัตถุมีค่าอื่น ๆ อีกด้วย ที่ใกล้เคียงกันมีการคนพบถํ้าเล็กถํ้าน้อยอีกมากมาย เช่น ถํ้าปลาไหล ถํ้าลูกธนู ถํ้าช้างแก้ว เป็นต้น
อุโบสถวัดแก้ว
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๐ มีชาวพุทธประมาณ ๑๐ ครัวเรือน เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บ้านปากน้ำ (อำเภอเมืองกระบี่บริเวณถนนคงคาปัจจุบัน) เมื่อถึงวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านจะนิมนต์พระจากวัดบ่อพอ , วัดท่านุ่น ไปประกอบพิธีทางศาสนา ต่อมาประชาชนได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นที่บ้านปากน้ำเพื่อให้พระสงฆ์ที่มาได้พักแรมเมื่อพระมาพักแรมมากขึ้นก็สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดปากน้ำ" ต่อมาหมู่บ้านปากน้ำได้เลื่อนเป็นตำบลและทางราชการได้ย้ายเมืองกระบี่จากตำบลกระบี่ใหญ่ (ตลาดเก่า) มาตั้งที่ตำบลปากน้ำ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ต่างรวมกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปากน้ำ ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบสมเป็นอาศรมประจำจังหวัด เพื่อใช้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาบานของเหล่าข้าราชการด้วยแต่เนื่องจากเมืองกระบี่นั้นยังทุรกันดารมีโรคไข้ป่าระบาดมากจึงไม่ค่อยมีพระภิกษุไปจำวัด ต่อมาปีพ.ศ. ๒๕๔๐ พระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ชักชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปากน้ำอย่างจริงจังและติดต่อไปยังเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตกับคณะจังหวัดภูเก็ตขอนิมนต์พระสมุห์กิ่ม พุทธรักขิโต วัดอนุภาษกฤษฎาราม (เก็ตโฮ่) จังหวัดภูเก็ตไปเป็นเจ้าอาวาสเจ้าคณะมณฑลภูเก็ตได้ขนานนามวัดขึ้นใหม่ว่า "วัดแก้วโกรวาราม" ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการสร้างอุโบสถผูกพัทธสีมา ซึ่งอุโบสถที่สร้างสมัยพระแก้วโกรพเป็นผู้ว่าราชการยังคงใช้ทำสังฆกรรมอยู่จนถึงปัจจุบัน ต่อมายังได้สร้างศาลาโรงธรรม กุฏิเจ้าอาวาส โรงครัว โดยที่พระสมุห์กิ่ม พุทธรักขิโต ยังได้ขออนุญาตพระแก้วโกรพขยายพื้นที่วัดออกไปสามด้าน โดยการแผ้วถางที่ปลูกต้นจาก ปลูกต้นมะพร้าว หรือให้ประชาชนปลูกข้าวและพืชไร่ เพื่อปรับสภาพพื้นที่ที่เป็นหนองน้ำท่วมขัง น้ำทะเลท่วมถึง ทำให้เป็นแหล่งจระเข้ และสัตว์เลื่อยคลานนานาชนิด รวมทั้งยุงซึ่งเป็นพาหนะของไข้มาเลเรีย คร่าชีวิตผู้คนรวมทั้งภิกษุไปทุกปี ที่ดินวัดแก้วโกรวารามจึงกว้างขวางจรดทะเลปากแม่น้ำ ทางทิศเหนือจดคลองท่าแดง ต่อมาสมัยพระราชสุตกวี ได้สละสิทธิ์ที่ดิน ประมาณ ๒๐๐ ไร่ ให้กับป่าชายเลน เพื่อใช้เป็นที่สาธารณะและที่ดินวัดบางส่วนได้โดนบุกรุก บางส่วนได้ถูกเช่าจากนายทุนเพื่อทำตลาดย่านการค้า ปัจจุบันวัดแก้วโกรวารามได้รับแต่งตั้งเป็นอารามหลวง
ถ้ำหมอเขียว
ถํ้าหมอเขียวอยู่ในเทือกเขาหินปูนเทือกเขาเดียวกับถํ้าอ่าวโกบ (หน้าชิง) คืออยู่อีกฟากหนึ่งของกลุ่มภูเขากองและเขาช่องลมถํ้าหมอเขียวอยู่ทางทิศเหนือของถํ้าอ่าวโกบบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบระหว่างเขาเป็นสวนยางพารา และสวนผลไม้ของชาวบ้านมีแนวลำรางชลประทานเก่า ๆ อยู่ทางทิศตะวันตกถํ้ามีลักษณะหลืบลึกเข้าไปในผนังประมาณ ๓ เมตร ความยาวพื้นที่ขนานไปตามแนวตะวันออก-ตะวันตกประมาณ ๓๐ เมตร ปากถํ้าหันไปทางทิศเหนือ พื้นที่ของถํ้าแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนแรกมีลักษณะเป็นเพิงผาส่วนที่สองมีลักษณะเป็นคูหาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของส่วนแรก มีเนื้อที่ ประมาณ ๙ ตารางเมตร ส่วนที่สามมีลักษณะเป็นคูหาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของส่วนแรกมีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ตารางเมตร
ภาพสืบค้นจาก : http://www.prapayneethai.com/แหล่งโบราณคดีถํ้าหมอเขียว
หลวงเทพเสนา
ภาพสืบค้นจาก : https://pornnarai16.wordpress.com/ประวัติความเป็นมาของจั/ประวัติความเป็นมาของจั/
ประวัติ
สมัยที่พระยานครศรีธรรมราชได้ส่ง "พ่อหนูใหญ่" ซึ่งเป็นผู้พี่ไปรั้งเมืองไทรบุรี และส่งพ่อหนูเล็ก (เทพ) ผู้น้องไปช่วยพระปลัดเมืองตั้งเพนียดจับช้างในป่า เพื่อจับช้างไปฝึกใช้งานและส่งช้างไปขายต่างประเทศพ่อหนูเล็ก (เทพ) เป็นคนงานเอาการมีความกล้าหาญ อดทน อาสารับใช้งานราชการโดยมิเห็นแก่เหนื่อยยากลำบากจนในที่สุด เจ้าพระยานครให้เป็นหัวหน้าชุมชนดูแลรับผิดชอบในเขตแขวงกาไสคือบริเวณจับช้างนั่นเอง เพราะมีผู้คนอพยพติดตามเข้าไปหักร้างถางพงเป็นที่ทำกินมากขึ้นเมื่อยกฐานะชุมชนเป็นแขวงเมืองปกาไส ก็ให้ "พ่อหนูเล็ก" (เทพ) เป็นผู้ดูแลพร้อมให้บรรดาศักดิ์เป็นที่ "หลวงเทพเสนา" ต่อมาได้มีการย้ายชุมชนมาตั้งที่บริเวณปากน้ำกระบี่ใหญ่และยกฐานะแขวงปกาไสเป็นเมืองกระบี่ โดยให้หลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองคนแรก ส่วนพ่อหนูใหญ่ซึ่งไปรั้งเมืองไทรบุรีเกิดรบพุ่งกับโจรกบฎไทรบุรี และเสียชีวิตในสนามรบ ฝ่ายโจรกบฎไทรบุรีได้มาสืบความถึงเมืองนครศรีธรรมราชว่าพ่อหนูใหญ่มีญาติพี่น้องอยู่คือหลวงเทพเสนา (เทพ) จึงคิิดหาทางกำจัดเสียเพื่อตัดกำลังจะไม่มีใครแก้แค้นในภายหลังได้จึงส่งสายสืบชื่อโต๊ะหยีเพ็งเข้ามาเพื่อทำการหาโอกาสกำจัดหลวงเทพเสนาเสียซึ่งในที่สุดน้องสมุนของโต๊ะหยีเพ็งได้ลอบเข้ามาทำร้ายหลวงเทพเสนาจนเสียชีวิตในที่สุด เชื้อสายหรือลูกหลานเทพเสนาเล่าว่าเดิมนั้นก็เป็นสายสกุล "ณ นคร" แต่บุตรหลวงเทพเสนาเป็นผู้หญิงทั้งหมด ๓ คน จึงไปใช้นามสกุลตามสามีทั้งสิ้น
(๑) แม่ผึ้ง สามีชื่อ พระอิศรา |
(๒) แม่คลิ้ง สามีชื่อ หมื่นหาญดงดอน |
(๓) แม่หนูเอียด สามีชื่อ ขุนภูมิ |
ผลงานของหลวงเทพเสนา
ท่านได้ทำงานบุกเบิกเริ่มตั้งแต่ติดตามพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งเพนียดจับช้างที่ปกาไส รวบรวมผู้คนที่มาทำกินให้เป็นปึกแผ่นดูแลความสงบเรียบร้อยของกลุ่มคนเหล่านั้น ให้ทำมาหากินกันอย่างสงบสุข จนกระทั่งย้ายที่ทำการแขวงมาตั้งที่ปากน้ำกระบี่ใหญ่แล้วเริ่มการพัฒนา
(๑) ยุบแขวงปากลาวมาตั้งในที่ใหม่บ้านอ่าวลึก |
(๒) ยกชุมชนเกาะลันตาขึ้นเป็นอำเภอ |
(๓) ยุบแขวงคลองพนมาตั้งใหม่ที่บ้านคลองท่อมซึ่งการคมนาคมที่สะดวก |
การพัฒนาบ้านเมืองในระยะการแรก ๆ ยากลำบากมาก เพราะเมืองกระบี่เป็นที่กันดารเต็มไปด้วยป่าดง สัตว์ร้ายชุกชุม การติดต่อกับภายนอกได้โดยทางเรือเท่านั้นไม่มีถนนหนทาง ซ้ำยังขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ ทุกคนจะต้องช่วยตัวเองทั้งสิ้น การพัฒนาบ้านเมืองจึงเป็นไปอย่างล่าช้าแต่ทางการก็ให้อำนาจเด็ดขาดในการบริหารงาน คือ
(๑) ให้อำนาจในการพิจารณาคดีได้ทั้งแพ่งและอาญา | |||||
(๒) ให้อำนาจออกกฎหมายเกณฑ์แรงงานราษฎรได้ ๑๕ วัน | |||||
(๓) ให้อำนาจในการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เป็นทหาร | |||||
(๔) ให้อำนาจในการออกกฎการเก็บภาษีบ่อนเบี้ย | |||||
(๕) ให้อำนาจในการบริหารงานบุคคลในส่วนราชการ เช่น การคัดเลือก บรรจุแต่งตั้ง งานที่ทำในระยะแรกของท่านคือ
|
พระราชสุตกวี (สิงห์ นบนอบ)
ประวัติ
พระราชสุตกวี (สิงห์ นบนอบ) นามเดิมว่าสิงห์ นบนอบ เป็นบุตรนายชู นางพริ้ง นบนอบ เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง ณ บ้านหูหนาน อำเภอเมือง (ปัจจุบันคืออำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘ อายุ ๙๒ ปี พระราชสุตกวี เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกกับโยมบิดามารดา และญาติ ๆ โดยโยมบิดาสอนให้เขียนหนังสือไทยและเลขคณิต เมื่อท่านอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบได้เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนวัดบ่อพอ ปัจจุบันคือวัดธรรมาวุธสรนาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกของจังหวัดกระบี่ เมื่อจบขั้นสูงของโรงเรียนแล้วได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล ขณะนั้นยังใช้ศาลาการเปรียญของวัดแก้วโกรวารามเป็นสถานที่เรียน สอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๓ ทางราชการขอให้ท่านไปเป็นครูที่โรงเรียนกาไสท่านสอนอยู่ที่นั้นได้ ๑ ปี ก็ลาออกมาเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร แต่ก็ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลไปด้วยจนอายุได้ ๒๒ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีพระครูธรรมาวุธวิศิษฐ์ (กิม) เป็นพระอุปชฌาย์ ท่านได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยจนสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของจังหวัดกระบี่ ทาง พุทธบริษัทชาวกระบี่เห็นว่าท่านเป็นผู้เคร่งครัดในธรรมปฏิบัติ มีปฏิภาณไหวพริบดี จึงได้สนับสนุนให้ท่านได้ไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร โดยที่ท่านพระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง) เจ้าเมืองในขณะนั้นได้บอกบุญไปยังพุทธบริษัทได้เงินมาจำนวน ๔๙ บาท เพื่อถวายเป็นปัจจัยในการเดินทางของท่าน ซึ่งขณะนั้นการเดินทางจากระบี่ไปยังกรุงเทพฯ ยากลำบากมากต้องใช้เวลาถึง ๙ วัน ๙ คืน เมื่อถึงกรุงเทพฯ ท่านเข้าศึกษาที่สำนักเรียนวัดวิเศษ ตำบลบ้านช่องช่างหล่อฝั่งธนบุรี ท่านเป็นผู้ที่มีความอุตสาหะวิริยะมาก สอบไล่ได้ตามหลักสูตรคณะสงฆ์ คือนักธรรมชั้นเอกและปริยัติธรรม ๖ เป็นพระมหาเปรียญรูปแรกของจังหวัดกระบี่ ต่อมาทางการได้อาราธนาท่านกลับเพื่อปฏิบัติศาสนากิจที่จังหวัดกระบี่ ต่อมาได้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกระบี่ และเจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวาราม เป็นพระวินัยธรเชต ๘ (พิจารณาและตัดสินคดีหรืออธิกรณ์ในทางคณะสงฆ์) สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือพระราชสุตกวี พระราชสุตกวี (สิงห์) เป็นพระภิกษุสหชาติกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (สหชาติ-คือเกิดวันเดือนปีตรงกัน) ท่านจึงเป็น ๑ ในพระภิกษุ ๓๓ รูปที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับอาราธนาไปเจริญพระพุทธมนต์และรับพระราชทานภัตตาหารในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๗๑ ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลครั้งนั้น ท่านได้รับพระราชทานพัดสหชาติมาจากพระเจ้าอยู่หัวด้วยปัจจุบันยังเก็บไว้ที่วัดแก้วโกรวาราม พระราชสุตกวี (สิงห์) เป็นพระผู้ปฏิบัติชอบจนเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุอื่น ๆ จนหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ได้สร้างคุณูปการให้แก่ชาวจังหวัดกระบี่อันหาที่สุดมิได้ คุณธรรมและวัตรปฏิบัติของท่าน ยังมีคนยกย่องเชิดชูอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ งานสำคัญของท่านที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
(๑) งานด้านการปกครองเป็นเจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวาราม เป็นเจ้าคณะจังหวัดกระบี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ มาจนถึงวาระมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นพระวินัยธร ภาค ๘ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตลอดอายุการใช้พระราชบัญญติคณะสงฆ์ |
(๒) งานด้านการศึกษา ท่านเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้สอบไล่ได้ที่ดี ๆ เสมอ จึงได้รับเชิญให้เป็นครูตั้งแต่เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๓ ในขณะนั้น เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาได้เป็นพระมหาเปรียญรูปแรกของจังหวัดกระบี่ และท่านก็กลับมาพัฒนาด้านการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมขึ้น ในจังหวัดกระบี่เป็นครั้งแรก ที่วัดธรรมาวุธสรณาราม ต้องรับผิดชอบดูแลมาตลอดเพราะขณะนั้นหาครูสอนยากอาศัยที่ท่านเคย ที่มีประสบการณ์เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลีวัดดุสิตาราม ธนบุรีมาก่อน พร้อมทั้งเคยเป็นกรรมการสอบตรวจธรรมสนามหลวง การศึกษาทางคณะสงฆ์ในจังหวัดกระบี่ จึงขยายออกไปกว้างขวางเพราะท่านตั้งใจจริงในการทำงานท่านเป็นพระนักเผยแพร่ที่ดียิ่งโดยประพฤติตนเองให้เป็นแบบอย่างตลอดถึงเดินทางไปเทศนาสั่งสอนในที่ทุรกันดารเป็นประจำ โดยก่อนใช้เวลาก่อนเข้าพรรษา ๔๕ วัน จาริกไปตามถิ่นต่าง ๆ โดยเดินเท้าวันละ ๖-๗ ชั่วโมง จนเป็นที่เลื่อมใสและยอมรับจากผู้พบเห็นทุกคน |
(๓) งานด้านสาธารณูปการ ท่านได้พัฒนาบูรณวัดแก้วโกวาราม จากการที่ไม่มีอะไรเลยโดยการสร้าง และบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ ตามกำลังความสามารถของท่าน โดยไม่พยายามรบกวนญาติโยมให้ได้รับความเดือดร้อนมากนัก จนกระทั่งวัดมีความเจริญพัฒนาตามลำดับ ทางกรมศาสนาได้ยกขึ้นเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างระดับจังหวัดในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ |
(๔) งานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ งานเด่นงานหลักของท่าน คือการอนุรักษ์ธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าต่าง ๆ ในบริเวณวัด เพราะในบริเวณวัดของท่านมีป่าเบญจพรรณอยู่มาก ตลอดถึงมีสัตว์อาศัยอยู่หลายชนิดท่านได้ชื่อว่าเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง บรรดาสัตว์ทั้งหลายเวลาท่านลงกวาดวัด ไก่ป่าฝูงใหญ่ที่อาศัยอยู่ใกล้วัดจะออกมาคุ้ยเขี่ยหากินตามหลังท่านตอนค่ำ ก็จะออกมานอนบนต้นไม้ใกล้กุฏิท่าน ถ้าท่านอยู่เพียงลำพังผู้เดียวพวกกระรอกจะออกมาวิ่งเพ่นพ่านอยู่ใกล้ตัวท่าน เมื่อมีคนอื่นขึ้นไปพวกมันก็จะวิ่งไปหลบซ่อนทันทีเป็นอยู่เช่นนี้มาช้านาน จนกระทั่งผู้คนอพยพมาอยู่รอบวัดมากบรรดาฝูงสัตว์เหล่านี้จึงค่อย ๆ สูญหายไปตามความเจริญของบ้านเมือง ในเรื่องของความเมตตาธรรมนี้แม้วันที่ท่านอาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ท่านยังอุตส่าห์เขียนจดหมายฝากกลับมายังลูกศิษย์และพระภิกษุสามเณรให้กันช่วยดูแลสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในวัดให้อยู่ดีมีสุขอย่าให้อดอยากได้ |
(๕) วิเสสกรณีอื่น ๆ ของท่าน อาทิ |
๑) ท่านสวดพระปาฏิโมกข์ไพเราะชัดถ้อยชัดคำและไม่เคยขาดการสวดพระปาฏิโมกข์เลยจนกระทั่งวันอาพาธ และมรณภาพ |
๒) ท่านเป็นผู้มีความจำดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในพระสูตรต่าง ๆ ตลอดเรื่องราวทั่ว ๆ ไป |
๓) ท่านสามารถเดินเท้าเปล่ามาตลอดชีวิต เดินทางได้ไกล ๆ วันละ ๗-๘ ชั่วโมง หรือระยะทาง ๒๕-๓๐ กิโลเมตร สามารถนั่งพับเพียบอยู่ในท่าเดียวโดยไม่ลุกไปไหนติดต่อกันถึง ๘-๑๐ ชั่วโมง |
๔) ท่านไม่เคยรับเงินด้วยตนเองตลอดชีวิต ปัจจัยที่เขาถวายที่ฝากธนาคารไว้เพื่อใช้จ่ายต่าง ๆ ท่านไม่ยอมรับดอกเบี้ย โดยบอกว่าดอกเบี้ยเป็นอกัปปิยะสำหรับภิกษุ |
๕) ท่านเคารพตัวหนังสือ (อักษร) ไม่ว่าของชาติใด เมื่อท่านร่างหรือเขียนผิดท่านจะไม่ขีดฆ่า ไม่เหยียบย่ำ กระดาษที่มีอักษร สอนคนอื่น ๆ ไม่ให้นำกระดาษที่มีอักษรไปใช้ในกิจอันไม่สมควร |
๖) ท่านสามารถเขียนอักษรขอมได้คล่องแคล่ว พอ ๆ กับภาษาไทย |
๗) ท่านไม่เคยพักในที่อโคจรแม้ท่านเคยไปจาริกแสวงบุญในต่างประเทศ เช่น อินเดีย ท่านขอพักในรถยนต ์ที่คณะจัดไว้แทนการพักในโรงแรม |
๘) ท่านไม่ใช้สิทธิแห่งความเป็นสงฆ์ที่คนนับถือกระทำกิจที่ขัดต่อสิทธิหน้าที่ เช่น ท่านเคยนำพรมจากต่างประเทศที่เขาถวายมาผ่านด่านศุลากร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่ขอเก็บค่าภาษี ท่านบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะยกเว้นภาษี แก่ท่า ต้องเก็บตามกฏหมาย เป็นต้น |
๙) ท่านถือบิณฑบาตตลอดชีพไม่เคยเว้น มาจนวาระสุดท้ายที่ไม่สามารถจะออกบิณฑบาตได้ คือเข้าโรงพยาบาลและมรณภาพ |
พระราชสุตกวี (สิงห์) เป็นสงฆ์ตัวอย่างและผู้ทรงวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในจังหวัดกระบี่และใกล้เคียง ปณิธานการทำงานของท่านยึดหลัก ดังนี้
(๑) งานทุกอย่างต้องไม่ขัดต่อพระธรรทวินัย แม้เพียงเล็กน้อย |
(๒) มุ่งทำงานเพื่องาน ส่วนลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นเรื่องพลอยได้ |
(๓) ต้องสันโดษ อดทน ตระหนักในคารวะธรรมและเมตตากรุณา |
พระยาอิศราธิชัย
ประวัติ
พระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง) เป็นบุตรคนที่ ๑๐ ของพระพิพิธสมบัติ (แหม้ว ณ ถลาง) กับนางแสง ณ ถลาง เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ ณ บ้านเหนือ ตำบลท้ายช้าง จังหวัดพังงา ชีวิตในเบื้องต้นได้รับการศึกษาในสำนักของบิดา แล้วบรรพชาเป็นสามเณรไปศึกษาภาษาไทยต่อที่วัดสระบพิธภิมุข แล้วอุปสมบท ๑ พรรษา ลาสิกขาบทอยู่กับบิดา และ ได้มีโอกาสติดตามบิดาไปทำธุรกิจที่ปีนังที่แหลมมลายูหลายครั้ง จนสามารถเรียนรู้ภาษามลายู และภาษาจีนได้คล่องแคล่วส่วนภาษาอังกฤษนั้นพูดได้เล็กน้อย เพราะไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียน ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนมหาดไทยที่เมืองภูเก็ต เป็นนายอำเภอทุ่งคา (เมืองภูเก็ต) ย้ายไปรับราชการที่เมืองพัทลุง ในตำแหน่งหลวงคลังอากร นายอำเภอเมืองพัทลุงและตำแหน่งหลวงทัพกำแหงสงคราม ปลัดเมืองพัทลุง และตำแหน่งพระแก้วโกรพผู้ว่าราชการเมือง ท่านเป็นผู้นำนายคลัง (เงาะป่า) ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ต่อมาได้ท่านได้เลื่อนยศเป็นอำมาตย์โท ได้รับพระกรุณาพระราชทานนาฬิกาพกเรือนทองสายาองคำจารึกพระนามาภิไธยอีกด้วย ท่านย้ายมารับราชการเมืองกระบี่ในขณะที่บรรดาศักดิ์เป็น "พระแก้วโกรพ" ระยะนั้นกำลังมีผู้ร้ายชุกชุมเป็นงานเร่งด่วน ท่านต้องทำเพื่อให้พวกโจรสงบราบคาบโดยเร็ว โดยการออกตรวจท้องที่พบปะบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินนโยบายปราบปรามอย่างเด็ดขาด เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะสงบแล้วจึงเริ่มพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง
ผลงานของพระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง)
ก. การพัฒนาอาชีพของชาวบ้าน ให้บุกเบิกที่รกร้างว่างเปล่าลงเป็นนาและที่ทำกิน เช่น สวนยางพารา สวนมะพร้าว สวนผลไม้ แม้แต่ท่านเองก็ได้ทำเป็นตัวอย่างโดยปลูกมะพร้าวไว้รอบ ๆ บ้าน และบุกเบิกที่ทำนาเองที่บ้านห้วยยูง |
ข. ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ตัดถนนหนทางเพิ่มขึ้น ทำท่าเรือ เพื่อให้ชาวบ้านไปมาสะดวก และเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้า |
ค. พัฒนางานด้านศึกษาในขณะนั้นกระทรวงธรรมการ ได้ออกพระราชบัญญติการประถมศึกษาขึ้นใช้เพื่อให้การจัดการศึกษาแก่ประชาชน เป็นระบบขึ้นทางราชการสั่งให้กระทรวงมหาดไทยช่วยดำเนินการจัดหาที่เล่าเรียนสำหรับเด็ก ท่านได้ใช้นโยบายให้กำนันทุกตำบลสร้างที่ทำการขึ้น โดยบอกว่าเพื่อความสะดวกในการบริหารงานการปกครอง ปรากฏว่าจังหวัดสามารถสร้างที่ทำการได้ครบทุกตำบลก่อนจังหวัดอื่นในมณฑลภูเก็ต เสร็จแล้วก็ให้ใช้สโมสรกำนันเป็นที่เล่าเรียนของเด็ก จนได้รับคำชมเชยจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอมซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งเป็นเทศาภิบาลมณฑลในขณะนั้น นอกจากนั้นท่านจัดตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้นอีก เป็นอาคารไม้ถาวร หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้อง จำนวน ๓ ห้องเรียน โดยมิได้ใช้งบประมาณของทางการ แต่ขอความร่วมมือจากบรรดาพ่อค้า ข้าราชการ สละคนละเล็กน้อยจนสำเร็จ ภายหลังให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า "โรงเรียนอำมาตย์พานิชกูล" |
ง. งานพัฒนาด้านศาสนาเนื่องกระบี่ไม่มีวัดประจำเมืองทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนในการประกอบศาสนากิจ ท่านได้พัฒนาสำนักสงฆ์ที่ตำบลปากน้ำโดยนิมนต์พระสงฆ์ให้มาจำพรรษาต่อมาได้พัฒนาเสนาเพิ่มเติมขึ้นจนเป็นวัดถาวร ปัจจุบันคือวัดแก้วโกรวาราม พระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง) เป็นนักปกครองที่มีความสามารถมาก ได้ปฏิบัติงานตามนโยบายของราชการเป็นผลดี จนได้รับคำชมเชยและได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขั้นตามลำดับ ครั้งสุดท้ายเป็น "อำมาตย์โทพระยาอิศราธิชัย" รับราชการที่เมืองกระบี่จนเกษียณอายุราชการ |
นายตรึก ปลอดฤทธิ์
ประวัติ
นายตรึก ปลอดฤทธิ์ เป็นบุตรนายส้อง นางเนี่ยว ปลอดฤทธิ์ เกิดที่บ้านโคกยาง อำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ภรรยาชื่อนางจาบ มีบุตร ๘ คน เป็นชาย ๖ คน หญิง ๒ คน ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๔๒ ม. ๗ ต. โคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ นายตรึก ปลอดฤทธิ์ เริ่งสนใจการเล่นลิเกป่ามาตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี โดยได้ทดลองฝึกหัดท่ารำกับครูสวาสดิ์ แก้วโลก และครูเดช แก้วทิพย์ ซึ่งเป็นลิเกมีชื่อในหมู่บ้านขณะนั้น ครูเห็นว่ามีแววที่จะเล่นลิเกป่าได้จึงได้สนับสนุนให้แสดงต่อมา เมื่อครูทั้งสองถึงแก่กรรมลงจึงหยุดการเล่นลิเกไประยะหยึ่ง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงได้รวบสมัครพรรคพวกตั้งเป็นคณะลิเกป่าขึ้นอีกครั้ง เพราะเห็นว่าการเล่นดังกล่าวจะสูญหายไป นายตรึก ปลอดฤทธิ์ได้แสดงเป็นตัวแขกแดงซึ่งเป็นตัวสำคัญมาตลอดด้วยความสามารถ เฉพาะตัวทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยที่จังหวัดกระบี่ได้จัดประกวดการแข่งขันลิเกป่าขึ้น คณะนายตรึกได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลชนะเลิศ จากวันนั้นเป็นต้นมานายตรึก ปลอดฤทธิ์ ได้สร้างผลงานมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ในที่สุดก็ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับการคัดเลือกเป็รผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี
ผลงานของนายตรึก ปลอดฤทธิ์
(๑) ฝึกลูกศิษย์ให้ถ่ายทอดการเล่นลิเกป่ามาหลายรุ่น เช่น นายวัง แก้วโลก นายรวม แก้วทิพย์ นายดำ แก้วทิพย์ ปัจจุบันได้ฝึกลิเกป่าผู้หญิงชุดแม่บ้านไว้ ๑ ชุด ฝึกกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านไว้อีก ๑ ชุด | ||||||||
(๒) นายตรึก มีความสามารถในการรำมโนห์ราด้วย จึงได้ฝึกเยาวชนในหมู่บ้านให้ฝึกรำมโนห์ราพื้นฐานไว้อีก ๑ ชุด | ||||||||
(๓) เผยแพร่การแสดงลิเกป่ากับวัฒนธรรมสัญจรในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลาย ๆ จังหวัด | ||||||||
(๔) แสดงลิเกป่าสาธิตในแหล่งสถานศึกษาที่ขอความร่วมมือ เช่น โรงเรียนต่าง ๆ หน่วยงานทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่สนใจ | ||||||||
(๕) แสดงลิเกป่าในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือผู้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดกระบี่เมื่อจังหวัด หรือหน่วยงานราชการขอร้อง | ||||||||
(๖) แสดงลิเกป่าในสถานประกอบการการท่องเที่ยวของกระบี่เพื่อแสดงออกถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ชาวต่างประเทศรับชมเป็นประจำ | ||||||||
(๗) เข้าร่วมการแสดงลิเกป่าในงานมหกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่จังหวัดสงขลานครศรีธรรมราช และในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ แสดงในงานมหกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้าน ณ สถาบันราชภัฏสงขลา | ||||||||
(๘) เผยแพร่การแสดงลิเกป่าผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำ คือ
|
เกีรยติคุณที่เคยได้รับ
(๑) ได้รับโล่เกีรยติยศจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในการแข่งขันลิเกป่า ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ปี ๒๕๒๔ |
(๒) ได้รับโล่และเข็มเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้อนุรักษ์มรดาไทยดีเด่น ปี ๒๕๓๔ |
(๓) ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๓๗ โดยรับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2551). ชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ จังหวัด อำเภอ และสถานที่ บุคคลบางชื่อ. กรุงเทพมหานคร : สถาพรบุ๊คส์.
ประวัติความเป็นมาของจังหวัดกระบี่. (2555). สืบค้น 14 พ.ย. 60, จาก http://www.krabiall.com/krabi-information.php
ประวัติจังหวัดกระบี่. (ม.ป.ป.). สืบค้น 14 พ.ย. 61, จาก https://sites.google.com/site/prawatickrabi/yxn-rxy-pra-wat-sastr
วิกิพิเดียสารานุกรมเสรี. (2564). จังหวัดกระบี่. สืบค้น 2 มิ.ย. 64, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดกระบี่
สํานักงานจงหวัดกระบี่ ฝ่ายเลขานุการ กบจ. คณะกรรมการบรหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ. (2557). แผนพัฒนาจังหวัดพ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๐). กระบี่ : สำนักงานจังหวัด.
สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. (2544). โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.