ประเพณีแห่นางดาน (Hae Nang Dan Tradition)
 
Back    20/12/2019, 15:35    25,005  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา

     
https://www.thairath.co.th/news/local/south/1256349

        ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช หรือเมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐๐ โดยเป็นงานประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ นางดาน หรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ จำนวน ๓ องค์ องค์ละแผ่น แผ่นแรกคือพระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือพระธรณี แผ่นที่สามคือพระนางคงคา ใช้ในขบวนแห่แหนมารับเสด็จพระอิศวร (หรือพระศิวะ) ที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลกในวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ คือในเดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ และจะประทับอยู่ในมณฑลพิธีบริเวณหอพระอิศวรจนกระทั่ง เดือนอ้ายแรมค่ำ จึงเสด็จกลับ (รวมเวลาที่ประทับ ๑๐ ราตรี)                   คําว่านางดาน หรือนางกระดานหมายถึง แผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จํานวน ๓ องค์ แผ่นแรก คือพระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือ แม่พระธรณี แผ่นที่สามคือ พระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่สมมุติแทนเทพทั้ง ๔ ที่จะมารอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยม มนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า เชื่อกันว่าการเสด็จมาเยี่ยมมนุษย์ โลกเพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุขให้เกิดน้ําท่าอุดมสมบูรณ์และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย ซึ่งตามความเชื่อการเสด็จลงมาของพระอิศวร จะต้องเสด็จลงมาในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดูในพิธีตรียัมปวาย ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะถือกําเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันประเพณีแห่นางดานได้มารวมไว้กับประเพณีสงกรานต์ โดยจัดขึ้นในวันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี 
 
           นางดาน ๓ องค์มารอรับเสด็จพระอิศวร ประกอบด้วย

            นางดานแผ่นที่ ๑ นามว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ ตำนานนพเคราะห์โหราศาสตร์กล่าวว่าเทพบริวารพระอาทิตย์นี้พระอิศวรทรงสร้างขึ้นด้วยการเอาราชสีห์ ๖ ตัว มาป่นเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีแดง ประพรมด้วยน้ำอมฤตไม่ช้าจึงเกิดเป็นเทพบุตรร่างเล็กขึ้นนามว่าพระอาทิตย์หรือพระสุริยา มีผิวกายสีแดงรัศมีกายเรืองโรจน์รอบตัว เสื้อทรงสีเหลืองอ่อนมีสี่กร กรหนึ่งใช้ห้ามอุปัทวันตราย กรสองไว้ประทานพรและอีกสองกรไว้ถือดอกบัว พระอาทิตย์เป็นเทพผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ด้วยการชักรถม้าเคลื่อนไปในจักรวาลไม่มีวันหยุด กำลังแสงของพระอาทิตย์มีพลังดูดน้ำได้ถึง ๑๐๐๐ ส่วน ดูดฝน ๔๐๐ ส่วน ดูดหิมะ ๓๐๐ ส่วน ดูดลมอากาศ ๓๐๐ ส่วน ให้พลังงานแก่สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งดินฟ้าอากาศเป็นฤดูกาล ถือเป็นเทพผู้มีคุณูปการต่อการอยู่รอดของมนุษย์สัตว์และพืชพันธุ์ พระจันทร์ตำนานนพเคราะห์โหราศาสตร์กล่าวว่า เทพบริวารองค์นี้พระอิศวรทรงสร้างขึ้นจากนางฟ้า ๑๕ นาง โดยร่ายพระเวทย์ให้นางฟ้าทั้ง ๑๕ นางนั้นป่นเป็นผงละเอียดลงแล้วห่อด้วยผ้าสีนวล ประพรมด้วยน้ำอมฤตไม่ช้าจึงเกิดเป็นเทพบุตรผิวกายสีนวล ร่างเล็กสะโอดสะอง ประทับในวิมานสีแก้วมุกดา ทรงม้าสีขาวดอกมะลิเป็นพาหนะ พระจันทร์เป็นเทพผู้สร้างกลางคืนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และงดงามอ่อนละมุน เพราะเป็นเทพผู้สร้างกลางคืน จึงมีอีกสมญาหนึ่งว่า 'รัชนีกร' เป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อนและผสมพันธุ์สืบมาจนปัจจุบัน

 

              นางดานแผ่นที่ ๒ นามว่าพระธรณี เทพบริวารองค์นี้มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายที่ พระอิศวรทรงสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย เป็นผู้รับและสั่งสมสิ่งดีมีค่าอาหารและความมั่งคั่ง ยอมสละแม้เกียรติและอำนาจ จึงได้ชื่อว่า 'วสุธา' มีผิวกายสีขาวนวล พระเกศายาวเหยียดตรงเป็นโมฬีสามารถซับอุทกธาราหรือสายน้ำไว้มหาศาล เป็นเทพผู้เก็บสะสมคุณความดีและความมีคุณธรรมทั้งปวง เป็นหูเป็นตาแทนผู้อื่นได้ จึงมีสำนวนที่ว่า ใครไม่รู้ แต่ฟ้าดินรู้ เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกและร้องขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรง ถ้าหยั่งลงมาทั้งสองพระบาทก็เกรงว่าโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทลงมาเพียงข้างเดียว ในการนี้มีพระธรณีได้เข้ามาทำหน้าที่รอรับพระบาทพระอิศวรเอาไว้ พุทธประวัติได้กล่าวถึงเกียรติคุณพระธรณีอยู่ตอนหนึ่ง คือวันเพ็ญเดือนหกก่อนพุทธกาลพระยาวัตตีมารยกพลมาขัดขวางมิให้พระสิทธัตถะ ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณแต่การณ์ไม่สำเร็จดังใจหวังเพราะพระสิทธัตถะไม่ยอมละ โพธิบัลลังก์จนกว่าจะตรัสรู้ พญามารโต้เถียงทวงสิทธิโพธิบัลลังก์ แต่พระสิทธัตถะก็ไม่หวั่นพระทัย ยังคงวางพระองค์สงบนิ่งอยู่ พญามารจึงบรรหารให้รี้พลสกลไกรย่ำยีบีฑาพระสิทธัตถะโดยพลัน พฤติการณ์ทั้งปวงนี้พระธรณีได้สดับอยู่เห็นจริงว่าพระสิทธัตถะมีเจตนารมณ์กระทำเพื่อมวลมนุษย์โดยแท้ จึงปรากฏกายขึ้นข้างบัลลังก์ใต้ร่มโพธิ์ที่พระสิทธัตถะประทับแล้วบิดน้ำในโมฬีแห่งตน กระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศาแห่งห้วงมหาสมุทร ในที่สุดเสนามารก็ตายพญามารก็พ่ายหนี พระสิทธัตถะจึงสำเร็จอนุตรสัมโพธิญาณในเพลารุ่งสางแห่งราตรีนั้น

 

         นางดานแผ่นที่ ๓ นามว่าพระคงคา เทพบริวารองค์นี้เป็นพระธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนา พระสวามีของพระคงคาคือพระอิศวร ฉะนั้นพระคงคากับพระอุมานอกจากจะร่วมพระชนกชนนีกันแล้ว ยังมีพระสวามีองค์เดียวกันด้วย มีผิวกายสีม่วงแก้มน้ำตาล พระคงคาแต่เดิมอยู่บนสวรรค์ เพิ่งจะลงมาสู่โลกมนุษย์ในครั้งที่ท้าวภคีรถสำเร็จการพิธีอัญเชิญให้ลงมา ชำระอัฐิโอรสท้าวสัตระที่ถูกพระกบิลบันดาลด้วยฤทธิ์เป็นเพลิงไหม้ตาย จึงจำเป็นจะต้องใช้น้ำจากพระคงคาบนสวรรค์มาชำระอัฐิจึงจะหมดบาปไปบังเกิดใน สวรรค์ได้อีก พระคงคาจึงบันดาลน้ำให้ไหลไปทางสระวินทุ แยกออกเป็นเจ็ดสาย ไหลไปทางตะวันออกสามสายกลายเป็นแม่น้ำ ชื่อว่าแม่น้ำนลินี ทลาทินีและปปาพนี ไหลไปทางตะวันตกกลายเป็นแม่น้ำอีกสามสายคือแม่น้ำจักษุ สีดา และสินธุ ส่วนอีกสายหนึ่งไหลตามรอยรถท้าวภคีรถ เรียกกันว่า 'พระคงคามหานที' แม่น้ำสายนี้นับเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ล้างบาปได้ พิธีการแห่นางดานของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเริ่มจากการที่พระราชครู ประกอบพิธีอัญเชิญเทพนางดานทั้งสามขึ้นประดิษฐานบนเสลี่ยง (สามเสลี่ยง) ไปตั้งขบวนที่จุดนัดหมายซึ่งสะดวกแก่การชุมนุม ส่วนมากนิยมตั้งแต่ขบวนกันที่ฐานพระสยม (บริเวณตลาดท่าชีปัจจุบัน)

พิธีธรรม       

       ในเวลาโพล้เพล้ขบวนแห่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประโคมอันมีปี่นอก กลองแขก (หรือกลองสองหน้า)และฆ้อง ถัดมาเป็นเครื่องสูงซึ่งประกอบด้วยฉัตร พัดโบก บังแทรก บังสูรย์ มีพระราชครูเดินนำ มีปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยงละคนมีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม ปิดท้ายขบวนด้วยนางละครหรือนางอัปสร และพราหมณ์ถือโคมบัว ขบวนก็จะแวะที่จวนเจ้าเมืองครู่หนึ่ง เพื่อบอกกล่าวและคารวะแล้วจึงมุ่งหน้าไปยังหอพระอิศวร เมื่อถึงหอพระอิศวรขบวนก็เคลื่อนเข้ามาตั้งแต่ที่บริเวณทิศใต้ของหอแล้วจึงเวียนรอบเสาชิงช้า ๓ รอบ จากนั้นพระราชครูจะอ่านโองการเชิญเทพ เริ่มต้นด้วยบทสัคเค.. จบด้วยบทบวงสรวงเทพยดา แล้วจึงอัญเชิญนางดานทั้ง ๓ มาประจำในมณฑลพิธี ที่จัดไว้ทางด้านทิศเหนือของเสาชิงช้า รอเวลาที่พระอิศวรจะเสด็จลงมาทางเสาชิงช้าในช่วงไม่กี่นาทีข้างหน้า ก่อนถึงเวลาที่พระอิศวรเสด็จลงมานางอัปสร ๑๒ นางจะรำบูชาพระอิศวร (เรียกว่า 'รำบูชิตอิศรา') จบแล้วพระยายืนชิงช้าซึ่งรับสมมุติเป็นพระอิศวรก็จะเดินเข้ามาประจำที่ชมรม (ปะรำพิธี) ถือกันว่าพระอิศวรได้เสด็จลงมาเยี่ยมโลกแล้ว พระยายืนชิงช้าที่รับสมมุติเป็นพระอิศวรนี้แต่ก่อนหมายเอาพระยาพลเทพซึ่ง เป็นเกษตราธิการหรือเจ้ากรมนาเป็นหลัก แต่งตัวนุ่งผ้าเยียรบับ (แต่วิธีนุ่งนั้นเรียกว่าบ่าวขุน) มีชายห้อยอยู่เบื้องหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด แล้วสวมเสื้อครุยลอมพอกทับลงบนเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ (ต่อมาภายหลังได้อนุโลมให้เจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดรับสมมุติแทน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงยกเลิกพิธีนี้ไป)  ครั้นเมื่อมาถึงชมรม (ปะรำพิธี) พระยายืนชิงช้าก็จะนั่งยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยืนพื้นทำประหนึ่งพระอิศวรหย่อนพระบาทลงมายังโลกมนุษย์ จากนั้นนาลิวัน ๑๒ คน ซึ่งแต่งกายด้วยสนับเพลาและผ้านุ่งโจมทับ สวมเสื้อขาว คาดผ้าเกี้ยว ศีรษะสวมหัวนาค มือถือเสนง (เขาควาย) ก็จะขึ้นนั่งที่ไม้กระดานชิงช้าคราวละ ๔ ตน (เรียกว่า 'หนึ่งกระดาน') ผลัดกันไกวหรือโล้ชิงช้าให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นเสมือนการทดสอบความ แข็งแรงของแผ่นดินและภูเขาว่ายังมั่นคงอยู่ดีหรือไม่ เมื่อโล้ชิงช้าครบทั้งสามกระดานแล้ว นาลิวันทั้ง ๑๒ คนก็พากันออกมารำเสนงและวักน้ำเทพมนต์จากขันสาคร ซึ่งสมมติเป็นน้ำจากห้วงมหรรณพ ถือเป็นการประสาทพรและเป็นการเล่นกันอย่างสนุกสนาน

ภาพจาก :  อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้, ๒๕๕๖ : ๒๐

ภาพจาก :  อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้, ๒๕๕๖ : ๒๑


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีแห่นางดาน (Hae Nang Dan Tradition
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประเพณีแห่นางดาน. (2555). สืบค้นวันที่ 21 ส.ค. 61, จาก https://www.facebook.com/LSS.thailand/photos/a.404705442890535/537253726302372/?type=1&theater
พรรณวดี พลสิทธิ์
. (2561). แห่นางดาน : ว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองนครศรีธรรมราช, วารสารรูสมิแล ปีที่ 39 (ฉบับที่ 3) กันยายน-ธันวาคม, 66-76.

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024