โบราณสถานเขาคา (Khao Ka Ancient Remains)
 
Back    09/01/2019, 16:41    47,180  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

ภาพจาก : http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/nakaornsrithammarat/itemlist/category/8-

         เขาคาเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอายุกว่า ๑,๕๐๐ ปี ชุมชนโบราณเขาคาสันนิษฐานกันว่าเกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เขาคาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับ
ประกอบพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกายปศุตะ โดยพบร่องรอยหลักฐานสถาปัตยกรรมเทวาลัยตามแนวสันเขา จากหลักฐานเชื่อกันว่าชุมชนแห่งนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามพื้นที่ราบรอบ ๆ เชิงเขา ซึ่งเป็นที่กว้างเหมาะแก่การทำเพาะปลูกและทำเกษตรกรรม จากหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่พบในชุมชนแห่งนี้เชื่อว่าเคารพนับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด โดยสมมติเขาคาประดุจเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลก และมีโบราณสถานเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่โดยรอบ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุที่ใช้พิธีกรรม เช่น ฐานโยนิ ศิวลึงค์ ท่อโสมสูตร (ท่อน้ำมนต์) ตลอดจนซากโบราณสถานที่เป็นเทวสถาน สระน้ำโบราณ เขาคาเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งในเขตอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะการขุดค้นทางโบราณคดีพบซากโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์กระจัดกระจายอยู่ค่อนข้างหนาแน่นกว่าที่อื่น ๆ และเขาคาคงเป็นแหล่งที่ใหญ่และสำคัญที่สุดหรือเป็นศูนย์กลางของเทวสถานพราหมณ์ในละแวกนี้

       แหล่งโบราณคดีเขาคาถือเป็นเทวาลัยที่สำคัญ อันเนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดและเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ แหล่งโบราณคดีเขาคาเป็นอาคารก่ออิฐในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ใช้กรอบประตูและฐานเสาสลักจากหิน เป็นการผสมผสานปะปนระหว่างวัสดุ ๒ ประเภท ซึ่งมักพบมากทางภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นักวิชาการทางโบราณคดีได้ให้ความเห็นว่าเทวาลัยดังกล่าวมีแผนผังคล้ายกับเทวาลัย Lad Khan เมืองไอโหเฬ ประเทศอินเดีย ชุมชนโบราณเขาคาถูกทิ้งร้างไปในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่าเมื่อนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีอิทธิพลครอบคลุมเมือง ๑๒ นักษัตร ผู้คนที่เคยอยู่แถบเขาคา อาจเคลื่อนย้ายอพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ คงเป็นสาเหตุให้ชุมชนโบราณเขาคาถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมา

ภาพจาก : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/compare/itemid/3451

ลักษณะทั่วไป
      เขาคาเป็นภูเขาขนาดเล็กลูกโดดสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๗๒ เมตร มีพื้นที่กว้าง ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร ทอดตัวอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีคลองท่าทนไหลผ่าน เขาคาประกอบด้วยยอดเขา ๒ ยอด ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินบนตระพักเขา บนเนินยอดเขามีโบราณสถานหลายแห่งเรียงรายไปตามสันเขา บริเวณภูเขาปกคลุมด้วยป่าไม้ใหญ่ปกคลุม จากการสำรวจค้นพบเขาคาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยคนในพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หน่วยงานในพื้นที่และส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ให้ความสนใจที่จะสำรวจโบราณสถานเขาคาขึ้น ต่อมากรมศิลปากรได้เข้าศึกษาสำรวจ และรวบรวมโบราณวัตถุที่สำคัญ ๆ นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจศึกษาชุมชนโบราณในบริเวณเขาคา ได้พบหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายของชุมชนเขาคา โดยเรียกชื่อโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาว่า “ไศวภูมิมณฑล” มาใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มโบราณสถานและชุมชนโบราณในพื้นที่บริเวณโดยรอบเขาคา (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, ๒๕๒๙ : ๓๗๙๑) จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยที่โบราณสถานสำคัญ ๆ ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมอยู่ ต่อมาได้จัดสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวกับโบราณวัตถุโบราณสถานที่พบในพื้นที่โดยรอบเขาคา ปัจจุบันได้เปิดบริการให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้

บันไดทางขึ้นสู่โบราณสถาน


ความสำคัญ

           โบราณสถานเขาคาจัดเป็นเทวสถานที่มีความสำคัญสูงสุด ในบรรดาเทวสถานพราหมณ์ที่พบในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของชุมชนในแถบนี้อย่างชัดเจน ใต้ เมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้วบริเวณชุมชนเขาคาเป็นศูนย์กลางทางคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ โดยการจำลองจักรวาลโดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง โบราณสถานบนยอดเขาคา ในครั้งอดีตเปรียบเป็นวิมานแห่งพระศิวะ เป็นศูนย์รวมของชุมชนที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในคาบสมุทรทะเลใต้ เขาคาเป็นชื่อของภูเขาขนาดย่อมที่มีลักษณะเป็นภูเขาลูกโดด รอบภูเขาเป็นพื้นที่ราบ ภูเขาวางตัวอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร ยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๗๒ เมตร ประกอบด้วยยอดเขา ๒ ยอด มีลักษณะเป็นเนินบนตะพักเขา บนเนินเขามีโบราณสถานเรียงรายตามสันเขา เนินเขาด้านทิศเหนือมีโบราณสถานสำคัญ   ๑  แห่ง สร้างหรือปรับแต่งด้วยหินธรรมชาติ ส่วนเนินเขาด้านทิศใต้ มีโบราณสถานก่ออิฐทั้งหมด  ๔ แห่ง มีสระน้ำโบราณ ๓ แห่ง แหล่งโบราณคดีเขาคาตั้งอยู่ที่บ้านเขาคา หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
 โบราณสถานเขาคามีประโยชน์ต่อการศึกษาเพราะมีร่องรอยของอารยธรรมและความเจริญของอาณาจักรแห่งทะเลใต้ ที่มีความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ ส่งผลทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ศึกษารากเหง้าของตนเองได้มีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา และชาติพันธ์วิทยาของชาวนครศรีธรรมราช ปัจจุบันเขาคายังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวนวัตวิถีและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไปทางศิลปและวัฒนธรรม ที่สำคัญยิ่งของอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภาพจาก : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/compare/itemid/3451


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

ภาพจาก : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/compare/itemid/3451

       โบราณสถานโบราณวัตถุที่พบอย่างหนาแน่นในเขตลุ่มน้ำคลองท่าเชี่ยวและคลองท่าทน เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่กระจัดกระจายกันอย่างหนาแน่น ในรัศมีที่ไม่ห่างจากเขาคาเท่าใดนัก เนินโบราณสถานที่พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เช่น ธรณีประตู กรอบประตู ฐานเสา เศษอิฐ ฯลฯ ร่วมกับโบราณวัตถุทางศาสนา ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานโยนิ พระคเณศ และพระวิษณุ ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของกลุ่มชุมชนผู้นับถือศาสนาฮินดูกลุ่มใหญ่ที่สุดในนครศรีธรรมราชหรือภาคใต้ โบราณวัตถุจำพวกศิวลึงค์แสดงรูปแบบการวิวัฒน์จากศิวลึงค์กลุ่มเหมือนจริง ไปสู่รูปแบบของศิวลึงค์แบบประเพณีนิยม สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของศิวลึงค์ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นั่นหมายความว่าโบราณสถานที่อยู่บนพื้นราบรอบเขาคา บางแหล่งมีอายุเก่ากว่าโบราณสถานบนยอดเขาคา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือชุมชนพราหมณ์ฮินดูในยุคแรก คงจะตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ราบรอบเขาคาก่อนที่จะขึ้นไปสร้างศาสนสถานบนยอดเขา ต่อมาเมื่อได้สำรวจพบว่าเขาคาเป็นสถานที่ที่เหมาะสมแก่การขึ้นไปสร้างวัด (เทวสถาน) ชุมชนจึงได้ดัดแปลงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ให้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนาที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดนั้นสถิตอยู่บนภูเขา จึงได้จำลองจักวาลโดยสมมติให้เขาคาเปรียบประดุจเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า  เขาคาซึ่งประกอบด้วยยอดเขา ๒ ยอด มีลักษณะเป็นเนินบนตะพักเขา บนเนินเขามีโบราณสถานเรียงรายตามสันเขาซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยโบราณ  ๓ กลุ่มดังนี้คือ
       ๑. โบราณสถานบนยอดเขาทางทิศเหนือ เป็นศาสนสถานที่ใช้หินธรรมชาติมาก่อล้อมเป็นฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้วยกำแพงแก้ว ประดิษฐานศิวลึงค์ขนาดใหญ่ที่ปรับแต่งจากแท่งหินธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะโดยรอบแท่งหินมีร่องรอยการกะเทาะให้มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ ด้านล่างมีร่องโสมสูตรเพื่อรับน้ำจากการบูชาให้ไหลผ่านไปทางทิศเหนือ ลงสู่ลาดเขาต่ำลงไปเบื้องล่าง

       ลึงคบรรพตบนเขาคานี้คือสวยัมภูลึงค์ (สฺวยํ แปลว่าตนเอง ภูเป็นว่าเกิด มี เป็น อยู่) แปลว่าลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเปรียบประดุจองค์พระศิวะ ที่ทรงประทับบนโลกมนุษย์ ณ ไศวภูมิมณฑลด้านทิศเหนือเขาคา อันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งที่มีเพียงหนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งเป็นประจักษ์พยานของการมีอย่รวมถึงฤทธานุภาพของพระเป็นเจ้า ที่ยอดเขาทางด้านทิศเหนือของเขาคาปรากฏแท่งหิน ี่มีลักษะคล้ายศิวลึงค์ จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นสวยัมภูลึงค์ไปโดยปริยาย โดยรอบมีการสร้างเขื่อนด้วยหินและปรับพื้นที่เพื่อให้เป็นเทวาลัย อย่างไรก็ตามที่นี่กลับใช้หินเป็นวัสดุหลัก ไม่ได้ใช้อิฐดังโบราณสถานหลังอื่น

ลึงคบรรพตบนเขาคา

       ๒. กลุ่มโบราณสถานบนยอดเขาจากทิศใต้ ประกอบด้วยอาคาร ๔ หลัง เรียงตามลำดับจากทิศเหนือ-ทิศใต้
            ๒.๑ โบราณสถานหมายเลข ๑ เป็นกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๒๖.๖๐ x ๖๐ เมตร ด้านทิศเหนือของกำแพงแก้วเปิดเป็นช่องประตูและบันไดเพื่อเป็นทางเข้าออก ภายในกำแพงแก้วมีหลักฐานว่าเป็นลานปูอิฐพบส่วนฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๘.๔๐x ๑๓.๘๐ เมตร ตั้งอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ธรณีประตู กรอบประตู และฐานเสา
            ๒.๒ โบราณสถานหมายเลข ๒ เป็นประธานของศาสนสถานบนเขาคาตั้งอยู่บนยอดเขาสูงสุดของสันเขา เป็นเทวาลัยสำหรับประดิษฐานศิวลึงค์ การสร้างเทวาลัยบนยอดเขาคามาจากความเชื่อโดยสมมติให้เขาคาเป็นเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลที่สถิตประทับของเทพเจ้าสูงสุดคือองค์พระศิวะ โดยมีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ตัวอาคารก่อล้อมด้วยกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๒๖x๒๖ เมตร มีประตูและบันไดเข้า-ออก ที่กำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ ระหว่างกำแพงแก้วกับตัวอาคารเป็นลานปูอิฐ ตัวอาคารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด ๑๗x๑๗ เมตร ด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านหน้าทำเป็นมุขกึ่งกลางเป็นบันไดทางขึ้นจากพื้นลานสู่โถงภายในใกล้กึ่งกลางของฐานอาคารด้านทิศเหนือ มีบ่อรูปสี่เหลี่ยมใช้เป็นบ่อรับน้ำมนต์ซึ่งไหลตกลงมาจากท่อโสมสูตรที่ตั้งอยูบนอาคารด้านทิศเหนือ
           ๒.๓ โบราณสถานหมายเลข ๓ เป็นอาคารขนาดเล็กอยู่ทางด้านทิศใต้หรือด้านหลังของอาคารประธาน สภาพหลังการขุดแต่งค่อนข้างชำรุด พบฐานเสาอาคารเป็นฐานเสาหินประมาณ ๕ เสา กระจัดกระจายอยู่โดยรอบโบราณสถาน
           ๒.๔ โบราณสถานหมายเลข ๔ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้สุดของสันเขา มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๗.๕๕x๑๓.๘๐ เมตร ประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ โดยรอบอาคารมีฐานเสาวางกระจัดกระจายอันเกิดจากการลักลอบขุดของคนในชั้นหลัง โบราณวัตถุสำคัญที่พบ คือฐานโยนิ ลักษณะเลียนแบบธรรมชาติที่มีลักษณะสวยงามที่สุดชั้นหนึ่งที่เคยพบในภาคใต้ ของไทย

โบราณสถานหมายเลข ๑

ภาพจาก : http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/nakaornsrithammarat/itemlist/category/8-


โบราณสถานหมายเลข ๔

        ๓. สระน้ำโบราณ สระน้ำบนยอดเขาเกิดจากการปรับแต่งร่องเขาขนาดเล็กระหว่างลาดเขาใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำมีทั้งหมด ๓ สระ ประกอบด้วย
        
     ๓.๑ สระน้ำหมายเลข ๑ อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข ๑ กับโบราณสถานหมายเลข ๒ ขนาดกว้าง ยาวประมาณ ๑๒x๒๔ เมตร
             ๓.๒ สระน้ำหมายเลข ๒ อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข ๒ กับโบราณสถานหมายเลข ๓ ขนาดกว้างยาวประมาณ ๘-๑๐ เมตร
             ๓.๓ สระน้ำหมายเลข ๓ อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข ๑ กับเนินโบราณสถานด้านทิศเหนือ ขนาดกว้าง-ยาวประมาณ ๔x๑๐ เมตร
              
  สระน้ำเหล่าเป็นสระน้ำที่เกิดจากการปรับปรุงร่องเขาขนาดเล็ก ระหว่างลาดเขาให้เป็นแหล่งเก็บน้ำโดยการก่อเป็นคันหินโดยรอบ เพื่อป้องกันการทรุดตัวของดินขอบสระและอัดพื้นด้วยหินจนแน่น เพื่อมิให้น้ำซึมออกไปได้โดยง่าย

ภาพจาก : http://iamtrin.blogspot.com/2018/06/blog-post_12.htm


ปูชนียวัตถุ

       โบราณวัตถุที่ขุดพบบริเวณเขาคา มีหลายชิ้นแต่ที่สำคัญ ได้แก่
       ๑) ศิวลึงค์ เป็นรูปเคารพในลัทธิไศวนิกายมีเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่รูปแบบที่นิยมมีสามส่วนคือส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่าพรหมมภาคหมายถึงพระพรหม ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยม เรียกว่าวิษณุภาคหมายถึงพระวิษณุ ส่วนยอดเป็นทรงกลมโค้งมนเรียกว่ารุทรภาคหมายถึงพระศิวะ

        ๒) ฐานโยนิโทรณหรือฐานศิวลึงค์ พบเป็นจำนวนมากทำมาจากหินปูน มีลักษณะรูปแบบแตกต่างกันหลายรูปแบบและหลายขนาด

        ๓) ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ที่พบมากมีธรณีประตูโสมสูตร ฐานเสาขึ้นส่วนกรอบประตูทำมาจากหินปูน

        ๔) เทวรูปและชิ้นส่วนเทวรูป มีการขุดพบหลายชิ้นทำมาจากหินปูน


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โบราณสถานเขาคา (Khao Ka Ancient Remains)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสำเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัด
นครศรีธรรมราช
ละติจูด
8.878086
ลองจิจูด
99.8677107



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.2562. โบราณสถานเขาคา. สืบค้นวันที่ 8 ม.ค. 62, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/

        attraction/compare/itemid/3451

“เขาคา”เทวสถานศาสนาพราหมณ์ โบราณสถานบนยอดเขาเมืองนครศรีฯ. 2549. สืบค้นวันที่ 8 ม.ค. 62, จาก https://siamrath.co.th/n/23282

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. 2529. "เครื่องปั้นดินเผาพื้นเมือง : สมัยสมัยโบราณในภาคใต้", สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 2. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา

         ศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัย.

โบราณสถานเขาคา.2561. สืบค้นวันที่ 8 ม.ค. 62, จาก http://iamtrin.blogspot.com/2018/06/blog-post_12.html

องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กองการท่องเที่ยวและกีฬา ฝ่ายท่องเที่ยว. 2556. คู่มือการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช : ฝ่ายท่องเที่ยว

        กองการท่องเที่ยวและกีฬา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024