ประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอ
 
Back    25/01/2021, 15:54    2,141  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : province.m-culture.go.th/songkhla/new/index.php?/article/5/view/62/ประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ%20จังหวัดสงขลา.html

      ประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอ เป็นประเพณีประจําทุกปีตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือในช่วงวันวิสาขบูชา โดยเชื่อว่ากันว่าถ้าได้ห่มผ้าพระธาตุจะทําให้อะไรก็สําเร็จเพราะได้ทําในสิ่งที่สูงส่ง งานประเพณีขึ้นเขากุฏเพืิ่อนําผ้าทอเกาะยอไปห่มองค์พระธาตุจัดขึ้นในวันวิสาขบูชา จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในเกาะยอกล่าวว่าประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอนั้นจัดไม่ต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากขาดความพร้อมเพรียงของชุมชนตลอดถึงสภาพเส้นทางขึ้นเขาที่ลําบาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ก็ได้ริเริ่มจัดประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอขึ้นมาอีกและก็ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องทุกปี  โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรมกับชุมชน สำหรับจุดเริ่มต้นของประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอนั้นเล่ากันว่าในอดีตชาวบ้านจะเห็นเป็นดวงไฟ ที่ปรากฏขึ้นในยามค่ำคืนลอยออกมาจากเขากุฏิ ทําให้ชาวบ้านเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บนนั้น จึงมีการจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นไปเพื่อบูชา แต่ก่อนจะมีการรับหนังตะลุงมาเล่นภายในงานด้วย โดยเฉพาะหนังยอศิลป์ ซึ่งเป็นศิลปินชาวเกาะยอในอดีต แต่พอนายหนังเสียชีวิตก็ไม่มีผู้สืบทอดการเล่นหนังตะลุง ทําให้ปัจจุบันอาจจะไม่มีการแสดงหนังตะลุงโดยความเชื่อของชาวบ้านเกี่ยวกับประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอ เชื่อกันว่าเมื่อทําแล้วก่อให้บังเกิดผลดีแก่ตัวเอง จึงมีจิตศรัทธาทําต่อ ๆ กันตลอดมา เมื่อก่อนประเพณีนี้จะรู้จักแค่ภายในเกาะยอ แต่ปัจจุบันด้วยสังคมที่เปลี่ยยนไปทำสังคมได้รับรู้ไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ สำหรับพิธีกรรมที่ประกอบกันบางอย่างที่สูญหายไปบ้างแล้ว เช่น การละเล่นหนังตะลุงภายในงานจะเริ่มหายไป แต่ก็มีการเพิ่มพิธีกรรมเข้ามา เช่น มีการแห่ผ้ามาจากต่างที่ต่างถิ่น ทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเข้ามา 
       ประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอ จะมีกิจกรรมที่เริ่มจากพิธีสมโภชผ้าโดยสถานที่ในการสมโภชผ้าจะใช้ศาลาประจําหมู่บ้านหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลาพ่อท่าน สาเหตุที่เรียกศาลาแห่งนี้ว่าศาลาพ่อท่าน เนื่องจากในอดีตศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์วัดแหลมพ้อ ตําบลเกาะยอ ผู้สร้างศาลามีจิตศรัทธาต่อพระอธิการเภา ติสสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดแหลมพ้อ ซึ่งปกครองดูแลพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดแหลมพ้อ ชาวบ้านเรียกท่านว่าพ่อท่านเภา ติสสโร ดังนั้นศาลาแห่งนี้ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่าศาลาพ่อท่าน อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีสมโภชผ้า ประกอบด้วยผ้าทอเกาะยอ ซึ่งชาวเกาะยอจะร่วมมือกันทอผ้าเกาะยอ เพื่อใช้สําหรับห่มผ้าองค์พระเจดีย์เขากุฏ โดยชาวบ้านตําบลเกาะยอจะเริ่มลงมือทอผ้าไว้ในต้นเดือนเมษายนของทุกปี ผ้าที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีสมโภชผ้าเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของชาวเกาะยอมาช้านาน ชาวบ้านทอผ้ากันที่กลุ่มราชวัตร ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าเกาะยอ  
ผ้าที่ทอขึ้นสําหรับใช้ในพิธีกรรมมีทั้งหมด ๔ สี คือสีเหลือง สีชมพู สีเขียว และสีขาว โดยผ้าทอเกาะยอที่นำไปห่มรูปเคารพต่าง ๆ ประกอบด้วยสีเหลืองใช้สําหรับห่มองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ สีชมพูสําหรับห่มรูปปั้นเทพพนม สีเขียวสําหรับหมรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ส่วนเส้นด้ายสีขาวที่นํามาถักเป็นเปียเส้นเล็ก ๆ จํานวน ๓ ม้วน ใช้เป็นสายสิญจน์สําหรับพระสงฆ์ใช้ในการประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์  
    ขั้นตอนพิธีสมโภชผ้าในประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏ มีการจัดกิจกรรมอยู่ ๒ ช่วง คือช่วงเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๐๙.๐๐ จะมีการแห่ผ้ารอบเกาะยอ โดยที่ชาวบ้านในตําบลเกาะยอที่มีรถยนต์จะนำรถยนต์ของตนเองเข้าร่วมกับรถขบวนแห่ผ้า ที่มีการประดับตกแต่งเบญจาไว้ก่อนหน้านี้ ภายในแท่นเบญจาประกอบด้วยผ้าทอเกาะยอ ซึ่งตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าเพื่อใช้สําหรับการสมโภชผ้า ขบวนแห่ผ้าจะเริ่มแห่ออกจากบริเวณศาลาพ่อท่านแห่ไปยังเส้นทางต่าง ๆ รอบเกาะยอ และช่วงค่ำเป็นการสมโภชผ้า ชาวบ้านในตําบลเกาะยอทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมารวมกันอีกครั้ง ณ ศาลาพ่อท่าน เพื่อร่วมปฏิบัติพิธีกรรมที่เรียกว่าสวดผ้าหรือสมโภชผ้า ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในการสวดเจริญพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังเสร็จสิ้นพิธีการสมโภชผ้า ชาวบ้านร่วมฉลองการสมโภชผ้า โดยจัดเลี้ยงอาหารที่ชาวบ้านนํามาสมทบ และจัดแสดงมหรสพหนังตะลุงให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับชม จุดประสงค์การแสดงหนังตะลุงเพื่อแสดงให้ สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ชม พอวันรุ่งนี้คือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. ชาวบ้านเริ่มตั้งขบวนแห่ ณ บริเวณศาลาพ่อท่าน ซึ่งขบวนแห่ประกอบด้วยรถที่ตกแต่งด้วยเบญจา รถขบวนกลองยาวและรถชาวบ้านที่เข้าร่วมขบวนแห่ ขบวนแห่จะเคลื่อนไปยังบริเวณเชิงเขากุฏ ขบวนจะแห่ผ้าพระบฏขึ้นไปยังลานประทักษิณบริเวณองค์พระเจดีย์เขากฏ ซึ่งมีชาวบ้านที่มาร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏรออยู่ก่อน ก็จะนําสิ่งของทั้งหมดในขบวนแห่ไปไว้ในบริเวณเต็นท์พิธี เพื่อเตรียมความพร้อมการทําพิธี ห่มผ้าองค์พระเจดีย์ในลําดับถัดไป เมื่อขบวนแห่ผ้าเคลื่อนมาถึงบริเวณลานประทักษิณเจดีย์เขากฏ ก็จะนำผ้ามาแห่เวียนประทักษิณเป็นเวลาสามรอบ ในขณะที่ชาวบ้านเวียนประทักษิณอยู่นั้น พระสงฆ์ที่ร่วมพิธีสวดเจริญพุทธมนต์ ด้วยบทสวดชัยปริตรเพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้ชายที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง ๕ คน ซึ่งต้องสวมใส่ชุดขาวเนื่องจากชาวบ้าน มีความเชื่อว่าผู้ที่สวมชุดขาวถือว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ขึ้นไปนําผ้าห่มองค์พระเจดีย์เขากุฏผืนเก่าที่ห่มองค์พระเจดีย์เมื่อปีที่ผ่านลงจากองค์พระเจดีย์ รวมทั้งผ้าห่มรูปปั้นเทพพนมและผ้าห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ลงมาเก็บไว้ ชาวบ้านช่วยกันต่อสายสิญจน์จากมุมผ้าทั้งสี่ด้านให้มีจํานวนเส้นสายสิญจน์เพิ่มขึ้นหลาย ๆ เส้น โดยผู้ชายทั้ง ๕ คน นําผ้าห่มองค์พระเจดีย์เตรียมโอบรอบฐานองค์พระเจดีย์เขากุฎ เพื่อให้ชาวบ้านผู้เข้าร่วมพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์เขากุฏได้มีโอกาสห่มผ้าองค์พระเจดีย์ด้วย จากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันซักถึงผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์เขากุฏ ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าการถือเส้นด้ายสายสิญจน์ก็เปรียบเสมือนตนเองได้ถือผ้าร่วมห่มผ้าองค์พระเจดีย์เช่นกัน เมื่อพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์เสร็จสิ้น ก็เริ่มพิธีห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ
     พิธีกรรมการห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ มีขั้นตอนรายละเอียดคือผู้
ชายที่แต่งกายด้วยชุดสีขาว นําผ้าที่ห่มสมเด็จเจ้าเกาะยอ ที่ชาวบ้านนํามาห่มเพื่อการแก้บนต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอออกทั้งหมด ประธานในพิธีนำผ้าทอเกาะยอสีเหลืองผืนแรกห่มสมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นอันดับแรก แล้วนําผ้าทอสีเหลืองอีก ๓ ผืน ห่มพระพุทธรูปจนครบทั้ง ๔ ทิศ ถัดมาประธานในพิธีนำผ้าทอสีเขียว ๑ ผืน ห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ผู้ชายที่แต่งกายด้วยชุดสีขาวจะนำผ้าทอสีเขียวทั้ง ๓ ผืน ห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ต่อจากประธานในพิธีจนครบและนําผ้าสีชมพขึ้นห่มรูปปั้นเทพพนม ซึ่งอยู่บนฐานชั้นสองตรงมุมฐานขององค์พระเจดีย์เขากุฏจนครบทั้ง ๔ ทิศ


ภาพจาก : province.m-culture.go.th/songkhla/new/index.php?/article/5/view/62/ประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ%20จังหวัดสงขลา.html


ความสำคัญ


ภาพจาก : province.m-culture.go.th/songkhla/new/index.php?/article/5/view/62/ประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ%20จังหวัดสงขลา.html

      จากข้อมูลประวัติสมเด็จเจ้าเกาะยอ ที่ได้รับการถ่ายทอดบอกเล่าสืบต่อกันว่าสมเด็จเจ้าเกาะยอได้เดินทางจากรุงศรีอยุธยา เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา การเดินทางต้องเดินทางเท้าผ่านป่า ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง และอุปสรรคมากมาย ท่านเดินทางจาริกธุดงควัตรเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนถึงเกาะยอ ชาวบ้านจึงได้สร้างกุฎิให้ท่านใช้เป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาบนภูเขา ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะยอ ชาวเกาะยอเรียกภูเขานี้ว่าเขากุฎและภูเขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งกุฎิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ จากสภาพพื้นที่เกาะยอมีน้ำล้อมรอบการเดินทางมาต้องอาศัยเรือเท่านั้น สภาพบนเกาะยอเป็นภูเขาที่มีป่าปกคลุมการเดินทางค่อนข้างลำบาก เมื่อสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางเข้ามาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาอบรมสั่งสอนให้ชาวเกาะยอ ประพฤติตนเป็นคนดีและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่พึ่งทางจิตใจสำหรับชาวเกาะยอทุกคน จากการที่ชาวบ้านเชื่อว่าสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางจากรุงศรีอยุธยา มาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดเส้นทางจนมาถึงเกาะยอ ที่มีสภาพพื้นที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงได้พำนักอาศัยบนเขากุฎและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวเกาะยอ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตท่านได้มรณภาพลง ชาวเกาะยอและสานุศิษย์จึงได้ก่อสร้างเจดีย์เขากุฎเพื่อบรรจุอัฐิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ โดยสร้างเจดีย์แบบจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง โดยการทำให้มุมมีหยักเป็นสี่เหลี่ยมออกมาแทนที่ตรงมุมจะมีเพียงมุมเดียว กลับทำหักย่อลงทำให้เป็น ๓ มุม เมื่อจัตุรมุขที่สร้างทรงสี่เหลี่ยมมี ๔ มุม จึงกลายเป็น ๑๒ มุม พร้อมกับสร้างรูปเคารพสมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นพระพุทธรูปจำนวน ๔ องค์ ประดิษฐานไว้ที่จัตุรมุขทั้งสี่ด้านของพระเจดีย์เขากุฎ เพื่อระลึกถึงสมเด็จเจ้าเกาะยอ จากความเคารพและความศรัทธาต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอ ก่อให้เกิดพิธีกรรมเพื่อบูชาสมเด็จเจ้าเกาะยอโดยจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏเป็นประจำทุกปี เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี

      ความมุ่งหมายของประเพณี

๑. เพื่อเฉลิมฉลองประเพณีการทำบุญในวันวิสาขบูชา และร่วมระลึกถึงบุญคุณของสมเด็จเจ้าเกาะยอ
๒. เพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาพระพุทธศาสนา และต่อองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ
๓. เพื่อห่มองค์พระเจดีย์และห่มพระพุทธรูปสมเด็จเจ้าเกาะยอบนยอดเขากุฎ

     ขั้นตอนประเพณี
             
พิธีสมโภชผ้า
              
สถานที่ในการสมโภชผ้าจะใช้ศาลาประจำหมู่บ้านหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลาพ่อท่าน สาเหตุที่เรียกศาลาแห่งนี้ว่าศาลาพ่อท่าน เนื่องจากในอดีตศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ ผู้สร้างศาลาต้องการสร้างถวายพระอธิการเภา ติสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดแหลมพ้อ ซึ่งปกครองดูแลพื้นที่ธรณีสงฆ์ ชาวบ้านเรียกท่านว่าพ่อท่านเภา ติสฺสโร ดังนั้นศาลาแห่งนี้ ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่าศาลาพ่อท่าน

      อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีสมโภชผ้า ประกอบด้วย
               
ผ้าทอเกาะยอ
           
ชาวเกาะยอจะร่วมมือกันทอผ้าเกาะยอ เพื่อใช้สำหรับห่มผ้าองค์พระเจดีย์เขากุฎ โดยชาวบ้านตำบลเกาะยอเริ่มลงมือทอผ้าในต้นเดือนเมษายนของทุกปี ผ้าที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีสมโภชผ้าเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของชาวเกาะยอมานาน ชาวบ้านทอผ้ากันที่กลุ่มราชวัตร ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าเกาะยอผ้าที่ทอขึ้นสำหรับใช้ในพิธีกรรมมีทั้งหมด ๔ สี คือ สีเหลือง สีชมพู สีเขียว และสีขาว โดยผ้าทอที่นำไปห่มรูปเคารพ คือ ผ้าทอเกาะยอสีเหลือง สำหรับห่มองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ ผ้าทอเกาะยอ สีชมพู สำหรับห่มรูปปั้นเทพพนม ผ้าทอเกาะยอสีเขียว สำหรับห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล เส้นด้ายผ้าทอเกาะยอสีขาว นำมาถักเป็นเปียเส้นเล็กๆ จำนวน ๓ ม้วน ใช้เป็นสายสิญจน์สำหรับพระสงฆ์ในการประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือพิธีกรรมทางศาสนา
 

     เครื่องสักการะบูชาในการประกอบพิธีสมโภชผ้า ประกอบด้วย

- โต๊ะหมู่บูชา
- ธูป
- เทียน
- ดอกไม้
- หม้อน้ำพระพุทธมนต์
- อาสนะสงฆ์
- ทองคำเปลว
- หมากพลูใส่ขันพร้อมเทียน ๑ เล่ม

     เครื่องปัจจัยไทยธรรม
                  
หลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านจะร่วมถวายปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์

      พุ่มผ้าป่า
         
ก่อนถึงประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านจะร่วมกันทำบุญโดยจัดพุ่มผ้าป่า ที่ศาลาประจำหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้านหรือจุดที่ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านกำหนด เงินหรือปัจจัยที่ชาวบ้านร่วมทำบุญจะนำมาเสียบไม้ปักไว้กับต้นกล้วยหรือพุ่มไม้เล็ก ๆ เพื่อนำเงินที่ได้ไปร่วมทอดผ้าป่าสมทบทุนในการบูรณะองค์พระเจดีย์เขากุฎ

      ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีสมโภชผ้า
                  
ขั้นตอนพิธีสมโภชผ้าในประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ มีการจัดกิจกรรม ๒ ช่วง โดยช่วงเช้าจัดการแห่ผ้ารอบเกาะและช่วงค่ำจัดการสมโภชผ้า ประกอบด้วย

- การแห่ผ้ารอบเกาะ
   
การแห่ผ้ารอบเกาะ จัดในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. ชาวบ้านในตำบล เกาะยอที่มีรถยนต์จะนำรถยนต์เข้าร่วมกับรถขบวนแห่ผ้าที่มีการประดับตกแต่งเบญจาไว้ก่อนหน้านี้ ภายในแท่นเบญจาประกอบด้วย ผ้าทอเกาะยอซึ่งตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า เพื่อใช้สำหรับการสมโภชผ้า ขบวนแห่ผ้าจะเริ่มแห่ออกจากบริเวณศาลาพ่อท่าน แห่ไปยังเส้นทางต่าง ๆ รอบเกาะยอ
- การสมโภชผ้า
   
ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๑๙.๐๐ น ชาวบ้านในตำบลเกาะยอทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน จะมารวมกันอีกครั้ง ณ ศาลาพ่อท่าน เพื่อร่วมปฏิบัติพิธีกรรมที่เรียกว่า สวดผ้า หรือ สมโภชผ้า ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในการสวดเจริญพุทธมนต์ เพื่อความเป็น สิริมงคล หลังเสร็จสิ้นพิธีการสมโภชผ้า ชาวบ้านร่วมฉลองการสมโภชผ้า โดยจัดเลี้ยงอาหารที่ชาวบ้านนำมาสมทบ และจัดแสดงมหรสพหนังตะลุงให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับชม จุดประสงค์การแสดงหนังตะลุง เพื่อแสดงให้สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ชม

     พิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์
            
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ชาวบ้านในตำบลเกาะยอจะร่วมห่มผ้าองค์ พระเจดีย์เขากุฏและห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ เพื่อแสดงออกถึงการคารวะสมเด็จเจ้าเกาะยอ และคารวะสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
                เครื่องสักการะบูชาที่ใช้ในการประกอบพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ ประกอบด้วย

- โต๊ะหมู่บูชา
- พระพุทธรูป ๑ องค์
- แจกัน ๑ คู่ พร้อมดอกไม้ประดับ
- กระถางธูป ๑ ใบ พร้อมธูปหอม ๓ ดอก
- เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมเทียน ๒ เล่ม
- อาสนะสงฆ์
- ด้ายสายสิญจน์
- หม้อน้ำพระพุทธมนต์
-  ทองคำเปลว
- ปิ่นโต ๑ เถา
- เครื่องปัจจัยไทยธรรม
- ผ้าห่มองค์พระเจดีย์
- ผ้าห่มองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ

          ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์
                              
ขั้นตอนพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ ได้แก่ การแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ การห่มผ้าองค์พระเจดีย์ การห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ การทอดผ้าป่า ตามลำดับขั้นตอนดังนี้

การแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ
       เวลา ๐๙.๐๐ น ชาวบ้านเริ่มตั้งขบวนแห่ ณ บริเวณศาลาพ่อท่าน ซึ่งขบวนแห่ ประกอบด้วย รถที่ตกแต่งด้วยเบญจา รถขบวนกลองยาว และรถชาวบ้านที่เข้าร่วมขบวนแห่ ขบวนแห่จะเคลื่อนไปยังบริเวณเชิงเขากุฎ ขบวนจะแห่ผ้าพระบฏขึ้นไปยังลานประทักษิณบริเวณองค์พระเจดีย์เขากุฎ ซึ่งมีชาวบ้านที่มาร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎรออยู่ก่อนแล้วชาวบ้านนำสิ่งของทั้งหมดในขบวนแห่ไปไว้ในบริเวณเต็นท์พิธี เพื่อเตรียมความพร้อมการทำพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ในลำดับถัดไป
การห่มผ้าองค์พระเจดีย์/การห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ
   
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ถือเป็นประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ ชาวบ้านที่อยู่ในตำบลเกาะยอ มีความเชื่อว่าการห่มผ้าองค์เจดีย์เขากุฎ เป็นการบูชาองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอเมื่อขบวนแห่ผ้าเคลื่อนมาถึงบริเวณลานประทักษิณเจดีย์เขากุฎก็จะเริ่มแห่ผ้าเวียนประทักษิณสามรอบ ในขณะที่ชาวบ้านเวียนประทักษิณอยู่นั้นพระสงฆ์ที่ร่วมพิธีก็สวดเจริญพุทธมนต์ด้วยบทสวดชัยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลผู้ชายที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง ๕ คน ต้องสวมใส่ชุดขาว เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อว่าผู้ที่สวมชุดขาวถือว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ขึ้นไปนำผ้าห่มองค์พระเจดีย์เขากุฎผืนเก่าที่ห่มองค์พระเจดีย์เมื่อปีที่ผ่านรวมทั้งผ้าที่ห่มรูปปั้นเทพพนม และผ้าห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลนำลงมาเก็บไว้ชาวบ้านช่วยกันต่อสายสิญจน์จากมุมผ้าทั้งสี่ด้านให้มีจำนวนเส้นสายสิญจน์เพิ่มขึ้นหลายๆ เส้น โดยผู้ชายทั้ง ๕ คน นำผ้าห่มองค์พระเจดีย์เตรียมโอบรอบฐานองค์พระเจดีย์เขากุฎ เพื่อให้ชาวบ้านผู้เข้าร่วมพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์เขากุฎได้มีโอกาสห่มผ้าองค์พระเจดีย์ด้วย จากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันชักดึงผ้าขึ้นห่มองค์ พระเจดีย์เขากุฎ ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าการถือเส้นด้ายสายสิญจน์ก็เปรียบเสมือนตนเองได้ถือผ้าร่วมห่มผ้าองค์พระเจดีย์เช่นกัน เมื่อพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์เสร็จสิ้น ก็เริ่มพิธีห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ พิธีกรรมการห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ มีขั้นตอนรายละเอียดคือผู้ชายที่แต่งกายด้วยชุดสีขาว นำผ้าที่ห่มสมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งชาวบ้านนำมาห่มเพื่อการแก้บนต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอออกทั้งหมด ประธานในพิธีนำผ้าทอเกาะยอสีเหลืองผืนแรกห่มสมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกในลำดับแรก และนำผ้าทอสีเหลืองอีกจำนวน ๓ ผืน ห่มพระพุทธรูปจนครบทั้ง ๔ ทิศ ถัดมาประธานในพิธีนำผ้าทอสีเขียว ๑ ผืน ห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลหนึ่งตน หลังจากนั้น ผู้ชายที่สวมชุดสีขาวก็จะนำผ้าทอสีเขียวทั้ง ๓ ผืน ขึ้นห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลต่อจากประธานในพิธีจนครบ และนำผ้าสีชมพูขึ้นห่มรูปปั้นเทพพนม ซึ่งอยู่บนฐานชั้นสองตรงมุมฐานขององค์พระเจดีย์เขากุฎจนครบทั้ง ๔ ทิศ

      คุณค่า/ความเชื่อ
            
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎของชาวบ้านตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีคุณค่าทางด้านความเชื่อ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับศาสนพิธี การประกอบพิธีกรรม ความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษ ความเชื่อเกี่ยวกับพระรัตนตรัย โดยการแสดงออกถึงความเคารพ ความศรัทธาต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีความสำคัญเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ในการประกอบพิธีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการกราบไหว้องค์พระเจดีย์เขากุฎหรือการกราบไหว้สมเด็จเจ้าเกาะยอ เปรียบเสมือนการได้กราบไว้บูชาพระพุทธองค์ การนำผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์เขากุฎเปรียบเสมือนการได้ใกล้ชิดองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามเป็นมงคลต่อตนเองและครอบครัว


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีห่มผ้าเจดีย์เขากุฏิและสมเด็จเจ้าเกาะยอ
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ จังหวัดสงขลา. (2556). สืบค้นวันที่ 25 ม.ค. 64, จาก province.m-culture.go.th/songkhla/new/index.php?/
        article/5/view/62/ประเพณีท้องถิ่น-ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฎ%20จังหวัดสงขลา.html
เสริมศักดิ์ ขุนพล. (2557). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์การออกแบบและพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนเกาะยอ. 
        สงขลา : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024