สงขลา (Songkhla)
 
Back    12/11/2020, 14:37    27,948  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

ค่าขวัญจังหวัดสงขลา
นกนํ้าเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานติณ ถิ่นธุรกิจแดนใต้

            สงขลาเป็นจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง มีประชากรมากเป็นอันดับ ๒ รองจากนครศรีธรรมราช มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของภาคใต้ รองจากสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และยังมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐไทรบุรีและรัฐปะลิสของประเทศมาเลเซีย สงขลามีตำนานและเรื่องเล่าหลายเรื่องทั้งที่เป็นบันทึกและจากคำบอกเล่าถึงชื่อของเมืองสงขลาหลายประการด้วยกัน ชื่อเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน ๑๖ หัวเมือง และในเอกสารที่บันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองสงขลาว่ามาจากบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๙๓-๒๐๙๓ ในนามของเมือง "ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา" แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า "เมืองสิงขร" โดยได้สันนิษฐานว่าคำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงหลา" หรือ "สิงขร" แปลว่าเมืองสิงห์ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดีย ได้แล่นเรือผ่านมาค้าขายและแลเห็นเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งเมื่อมองจากทะเลเข้าหาฝั่งในระยะไกล ๆ จะเห็นปรากฏเป็นภาพคล้ายสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองสงขลาในสมัยนั้นว่า "เมืองสิงหลา " ส่วนคนไทยสมัยก่อนเรียกว่า "เมืองสทิง" เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลา ก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซ็งคอรา" เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ "ซิงกอรา" (Singora) จากนั้นคนไทยพื้นถิ่นเองก็ได้เรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า "สงขลา"  นอกเหนือจากนี้แลวก็ยังมีการกล่าวว่า “สงขลา” น่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงขร" ที่แปลว่าภูเขาเนื่องจากเมืองสงขลาในยุคดั้งเดิมตั้งอยู่เชิงเขาและเจ้าเมืองคนแรกยังได้รับพระราชทานนามว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งสอดคล้องกับเมืองที่อยู่แถบภูเขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า “สงขลา” เดิมชื่อสิงหนคร (อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) เสียงสระอะอยู่ท้าย มลายูไม่ชอบ จึงเปลี่ยนเป็นสระอา และมลายพูดลิ้นรัวเร็วตัดหะและนะออกคงเหลือแต่สิง-หะ-รา แต่ออกเสียงเป็นซิงคะราหรือสิงโครา จนมีการเรียกเป็นซิงกอรา ในส่วนเอกสารของชาวตะวันตกที่กล่าวถึงสงขลาในช่วงเวลาต้น ๆ ซึ่งสามารถค้นย้อนหลังไปได้ถึง ๓๐๐ ปี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยปรากฏชื่อเมืองสงขลาในแผนที่ของประเทศสยามที่ทำโดยนายเชอวาลีเย เดอ โชมอง ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๘  โดยนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๕-๖ การปรากฏตัวของเมืองท่าและแหล่งโบราณคดีที่แสดงว่ามีผู้คนจากต่างแดนเข้ามาปะทะสัมพันธ์ น่าจะมีเหตุผลจากการแสวงหาโชคลาภและโภคทรัพย์ของผู้คนทางตะวันตกดั่งเช่น กรีซและโรมัน จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาของการค้นพบเส้นทางการค้าทางทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ คู่ขนาน และเชื่อมโครงข่ายกับเส้นทางการค้าทางบก ต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๘  ได้เกิดอุปสรรคทางภูมิศาสตร์และความปลอดภัย ในการใช้เส้นทางบกระหว่างดินแดนทางตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะพวกโรมันและรัฐในกลุ่มเอเชียกลาง จึงหันมาใช้เส้นทางทะเลแทนเพื่อใช้ค้าขายติดต่อกับอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน โดยการเดินทางเชื่อมระหว่างสองทวีปในระยะแรก ๆ นี้ ไม่ใช่เป็นการเดินทางแบบรวดเดียวถึงกันตลอด แต่ต้องมีจุดหยุดพักเป็นระยะ ๆ โดยอาศัยเมืองท่าและสถานีพักสินค้าเพื่อถ่ายสินค้า เพิ่มเติมน้ำจืดและอาหาร รวมไปถึงการซ่อมแซมเรือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ทั้งนี้หากย้อนกลับมาพิจารณาจากทำเลที่ตั้งของภาคใต้ของประเทศไทย ที่เป็นคาบสมุทรตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่เป็นอู่อารยะธรรมคือประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศแถบอาหรับเปอร์เซีย และประเทศแถบชวา-มลายู จะพบว่าดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่อยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขายทางทะเล รวมถึงเป็นดินแดนที่พ่อค้าชาวแขกมัวร์ ใช้เส้นทางนี้เดินทางค้าขายทางเรือโดยอาศัยลมสินค้าในสมัยโบราณที่จำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีการต่อเรือ รวมถึงการเดินเรือซึ่งในสมัยนั้น ต้องอาศัยทิศทางและกำลังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเดินทางจากอินเดียไปยังจีน และอาศัยลมมรสุมจากตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินทางจากจีนไปยังอินเดีย และบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรไปถึงเส้นห้าองศาเหนือ เป็นพื้นที่อันตรายเพราะเป็นเขตจุดเริ่มต้นของลมสินค้า ลมจะสงบนิ่งไร้กระแสลมที่เรียกว่าโดลดรัม (Doldrums)) เมื่อลมเบาบางจนทำให้เรือสินค้าเคลื่อนที่ไม่ได้ ที่เรียกว่า "ตกโลก" ก็เป็นการบังคับให้พ่อค้าต้องแวะตามเมืองท่าชายฝั่งภาคใต้ของไทย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรเพื่อจอดซ่อมแซมเรือ เติมน้ำจืด และอาหาร รวมถึงขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรกลางทางในรอบปี โดยการขนถ่ายแลกเปลี่ยนสินค้านี่เอง ทำให้เมืองท่าต่าง ๆ ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในสมัยที่มีการเดินเรือทะเล มีความเจริญรุดหน้าจากการค้าขายเป็นอันมาก นอกจากนั้นสินค้าที่สำคัญที่ผลักดันให้ชาวตะวันตกต้องแสวงหาและเดินทางมายังเมืองท่า ในคาบสมุทรมลายูคือเครื่องเทศ เช่น ว่าน กระวาน ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย พริกไทย กานพลู อบเชย ดีปลี จันทน์เทศ ทำให้เส้นทางการเดินเรือดังกล่าวได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางเครื่องเทศ 
     สงขลาในอดีตคือเมืองท่าที่สําคัญเมืองหนึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นพื้นเมือง ตลอดถึงศิลปะพื้นบ้านอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน สงขลาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวสืบกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีการค้นพบหลักฐานได้แก่ ขวานหิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อําเภอสทิงพระ นักโบราณคดี ได้ให้ทัศนะไว้ว่าเมืองสะทิงพระ คือศูนย์กลางของมหาจักรเช็กโท เป็นแหล่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียโดยตรง  เมืองสทิงพระแห่งใหม่นี้เจริญรุ่งเรืองต่อมาระยะหนึ่ง จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็หมดความสำคัญลงและได้เกิดศูนย์อำนาจการปกครองท้องถิ่นแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณดังกล่าวโดยเรียกเมืองใหม่นี้ว่าเมืองพัทลุง ซึ่งเจริญรุ่งเรืองระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ เมืองพัทลุงที่พะโคะมีความเจริญด้านพุทธศาสนามาก ได้รับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาโดยมีวัดพะโคะเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาชาติ 
ต่อมาในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ เมืองพัทลุงที่พะโคะถูกพวกโจรสลัดมลายู เช่น พวกอาเจะห์ อาหรู อุชงคนตะ ฯลฯ รุกรานเข้าปล้นสะดมหลายครั้ง มีการเผาทำลายบ้านเมืองและวัดวาอาราม ประชาชนต่างหนีภัยพวกโจรสลัดจึงไปตั้งชุมชนแห่งใหม่ ขนาดใหญ่ขึ้น ๒ แห่ง คือที่บางแก้ว อำเภอเขาชัยสน กลายเป็นเมืองพัทลุงใหม่และอีกแห่งคือที่หัวเขาแดง ซึ่งมีชัยภูมิดี เพราะมีเทือกเขาเป็นปราการธรรมชาติถึง ๒ ด้าน จึงสามารถต่อสู้กับพวกโจรสลัดได้ ชุมชนแห่งนี้ค่อย ๆ เจริญจนกลายเป็นเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง


ภาพจากคุณณัฐ เหลืองนฤมิตรชัย ; https://www.youtube.com/watch?v=SXnq7V4DUO0

         สงขลาที่หัวเขาแดง
 
        เมืองสงขลาที่หัวเขาแดง (ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านบนเมือง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา) เป็นเมืองที่ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง โดยดะโต๊ะ โมกอล ได้สร้างป้อมและกำแพงเมืองอย่างแข็งแรง สงขลาที่หัวเขาแดงมีชื่อว่าสิงขรนคร ก่อนที่ดะโต๊ะ โมกอล จะนำครอบครัวพวกพ้องบริวารมาขึ้นที่ชายหาดหัวเขาแดง เป็นเวลาที่พวกโจรสลัดเข้าปล้นเมืองพัทลุง โดยที่เจ้าเมืองไม่อาจต่อสู้ได้ พวกโจรสลัดกระทำย่ำยีอย่างโหดเหี้ยม เจ้าเมืองเกรงพระราชอาญาจึงชิงฆ่าตัวตายเสีย ส่วนกรมการเมืองทั้งหมดลงพระราชอาญาจำตรวนคุมตัวเข้ากรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ต่อมาอีก ๔-๕ ปี เมืองพัทลุงก็ถูกพวกโจรสลัดปลายแหลมมะลายูโจรสลัดปล้นอีก เจ้าเมืองพัทลุงอ่อนแอ ไม่อาจจะนำทหารต่อต้านพวกโจรสลัดได้ เป็นเหตุให้พวกราษฎรพากันหวาดกลัวไปทั่ว  เมื่อดะโต๊ะ โมกอล ยกกองเรืออพยพเข้ามาอยู่ที่หัวเขาแดง ซึ่งบริเวณนั้นในอดีตเป็นที่อาศัยของชนชาวไทยผู้นับถือศาสนาพุทธและชาวมลายูผู้นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อทางกรุงศรีอยุธยาเห็นว่าบรรดาพวกชวาที่อพยพมานั้นรักสงบและเข้มแข็ง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ) จึงทรงตั้งให้ดะโต๊ะ โมกอล เป็นเจ้าเมืองพัทลุง

         พัทลุงที่พะโคะ
      เมื่อดะโต๊ะ โมกอล ถึงแก่อสัญกรรมในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม จึงให้สุลัยมานบุตรชายคนโตของดะโต๊ะ โมกอล เป็นเจ้าเมืองพัทลุงสืบต่อไป ซึ่งต่อมาได้สถาปนาตนเองเป็นราชามีนามว่าสุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ท่านได้ให้ฟารีซี น้องชายคนรองเป็นปลัดเมือง ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อปี  พ.ศ. ๑๘๙๓ เมืองสงขลาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ในฐานะเมืองประเทศราชและเป็นเมืองปลอดภาษี  ต่อมาในปี พ.ศ.  ๒๑๗๓ สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ได้ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองสงขลา และเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา โดยใช้นาม "พระเจ้าเมืองสงขลา"  ได้สร้างกำแพงเมืองป้อมคู ประตูหอรบขึ้นอย่างแข็งแรงแน่นหนา และได้ชักชวนพ่อค้าให้เข้าไปทำการค้าอย่างใหญ่โต และประกาศไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป ในปี พ.ศ. ๒๑๙๘ กรุงศรีอยุธยาได้จัดทัพมาตีเมืองสงขลาแต่ต้องพ่ายแพ้กลับไป ในปี พ.ศ. ๒๒๑๑ พระเจ้าเมืองสงขลา (สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์) ถึงแก่กรรม บุตรชายได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสงขลาแทน  ปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองสงขลาได้ถูกกองทัพของกรุงศรีอยุธยาเข้าทำลายโดยการเผาเมืองเสียย่อยยับ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เมืองสงขลาจึงได้ย้ายไปตั้งที่ฟากเขาอีกด้านหนึ่งเรียกว่า "เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน" (อำเภอเมืองสงขลาในปัจจุบัน)

        


ประตูเมืองสงขลา ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘
ภาพจาก  : อนุสรณีย์ สุชาติ รัตนปราการ, ๒๕๒๘

ภาพประตูกำแพงเมืิองสงขลาในอดีต


ปืนใหญ่เมืองสงขลา ในยุคกษัตริย์สุไลมานที่ถูกกองทัพสมเด็จพระนารายณ์ยึดไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาลูกเคลื่อนย้ายไปยังพม่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และถูกอังกฤษเจ้าอาณานิคมพม่ายึดไปอีกทอด ปัจจุบันตั้งอยู่หน้า Royal Hospital Cheisea, London

          สงขลาฝั่งแหลมสน
      ภายหลังเมื่อเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาทำลายจนหมดสิ้น ในปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ประชาชนชาวสงขลาฝั่งหัวเขาแดงที่เหลืออยู่ได้ย้ายชุมชนไปสร้างเมืองใหม่ที่ฝั่งแหลมสน โดยเมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่ได้รับการวางแผนในการสร้างเมืองตั้งแต่ต้น ประกอบกับเป็นเมืองที่ถูกสร้างเนื่องจากการย้ายเมืองภายหลังจากสงคราม ดังนั้นลักษณะของเมืองจึงเป็นเมืองที่ถูกสร้างกันอย่างง่าย ๆ บนพื้นที่เชิงเขาติดทะเลถัดจากตำแหน่งเมืองสงขลาเดิม ที่ถูกทำลายลงไปอีกด้านหนึ่งของฝากเขา และเนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองที่อยู่บนเชิงเขา ทำให้เมืองสงขลาแห่งที่สองนี้ ในภายหลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดอุปโภค และปัญหาการมีพื้นที่ในทางราบไม่เพียงพอกับการขยายและเติบโตของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการย้ายเมืองในเวลาต่อมา ลักษณะการสร้างบ้านเรือนของสงขลาฝั่งแหลมสน ส่วนใหญ่บ้านเรือนจะทำด้วยวัสดุไม่ถาวร เช่น ไม้ และใบจาก ในลักษณะเรือนเครื่องสับ จึงทำให้หลงเหลือร่องรอย และหลักฐานไม่มากนักอันเนื่องจากประชากรในการสร้างเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญชน ประกอบกับขนาดและอาณาเขต รวมไปถึงอำนาจการปกครองของเมืองสงขลาได้ลดฐานะเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ เป็นเมืองบริวารของเมืองพัทลุง เจ้าเมืองสงขลาคนแรกจึงถูกแต่งตั้งโดยพระยาจักรีและพระยาพิชัยราชา เป็นเพียงแค่การคัดเลือกชาวบ้านคนหนึ่งชื่อโยมมาดำรงตำแหน่งเป็นพระสงขลาเพื่อปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน และในคราวเดียวกันนั่นเองยังมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อนายเหยี่ยง แซ่เฮา ซึ่งอพยพมาจากเมืองเจียงจิ้งหู มลฑลฟูเจี้ยน ได้เสนอบัญชีทรัพย์สินและบริวารของตน เพื่อแลกกับสัมปทานผูกขาดธุรกิจรังนกบนบนเกาะสี่เกาะห้า พระยาจักรีและพระยาพิชัยราชา จึงพิจารณาแต่งตั้งให้นายเหยี่ยง แซ่เฮา เป็นหลวงอินทคีรีสมบัติ นายอาการรังนกเกาะสี่เกาะห้า พระสงขลาได้ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน อยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ดำริว่าพระสงขลา (โยม) หย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติราชการ จึงให้หลวงอินทคีรีสมบัติ (เหยียง แซ่เฮา) ซึ่งเป็นนายอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า เลื่อนตำแหน่งเป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ ปกครองเมืองสงขลาเสีย (เป็นการเริ่มต้นสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งต่อมาได้ปกครองเมืองสงขลา มาถึง ๘ รุ่น) ในการปกครองสงขลาในช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาของการทำหน้าที่ปกป้องอาณาเขตและรับใช้ราชการปกครองแทนเมืองหลวงขึ้นตรงกับกรุงรัตนโกสินทร์ ปกครองโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ปัญหาหลักของการปกครองสงขลาคือการส่งกำลังไปร่วมกำกับและควบคุมหัวเมืองแขกต่าง ๆ ให้อยู่ในความสงบ โดยมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรบหลายครั้ง ทำให้เจ้าเมืองสงขลาในรุ่นต่าง ๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถและความภักดีทางการรบ โดยในสมัยนั้นเมืองสงขลาปกครองเมืองปัตตานี ซึ่งภายหลังถูกแยกออกเป็น ๗ หัวเมืองย่อย ให้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสงขลา  ประกอบด้วย เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองเมืองยะลา เมืองรามัญ เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ (ชื่อเมืองต่าง ๆ ได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อถนนในครั้งตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งบ่อยางในปัจจุบัน) และเมืองสุดท้ายที่เข้ามาอยู่ใต้การกำกับดูแลของสงขลา ในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๗๙ คือเมืองสตูล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) และตรงกับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เนื่องจากเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนเป็นเมืองที่ถูกสร้างอย่างง่าย ๆ เพื่อรองรับการหนีภัยในช่วงเมืองแตก ทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดข้องในการพัฒนาเมืองหลายประการตามมาส่งผลต่อการพิจารณาย้ายมายังฝั่งบ่อยางในเวลาต่อมาไม่นานนัก

          สงขลาฝั่งบ่อยาง
  
       เมืองสงขลาฝั่งบ่อยางสู่ความรุ่งเรือง และความมั่งคั่งของเมืองท่าจนถึงเมืองท่องเที่ยว จากการขยายตัวของเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคทวีความรุนแรงมากขึ้นประกอบกับพื้นที่บริเวณสงขลาฝั่งแหลมสน เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงเขาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเมืองรวมถึงอาจเป็นอุปสรรคของการขยายตัวเป็นเมืองท่าในอนาคต จากเหตุผลทางลักษณะทางภูมิศาสตร์น่าจะเป็นข้อได้เปรียบแต่เนื่องจากมีพื้นที่ในแนวราบไม่เพียงพอ จึงทำให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ซึ่งเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองท่าไว้อย่างเดิม โดยในเบื้องต้นของการสร้างเมือง เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้เริ่มสร้างป้อมกำแพงเมืองยาว ๑,๒๐๐ เมตร และประตูเมือง ๑๐ ประตู ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๙ หลังจากนั้นจึงได้วางหลักเมือง (ไม้ชัยพฤษ์พระราชทาน) และสมโภชน์หลักเมืองในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ และเรียกบริเวณพื้นที่นี้ว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” ก่อนที่เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) จะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ถัดจากนั้นเจ้าพระยาคีรี เจ้าเมืองสงขลาลำดับต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาต่อและได้ดำเนินการพัฒนาสงขลาในลักษณะเมืองกันชนระหว่างเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองมุสลิมที่อยู่ทางตอนใต้ของสงขลา และเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนิกชน 
           โดยเมืองสงขลาได้อยู่ภายใต้การปกครองของสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งมีนายเหยียง แซ่เฮา เป็นต้นสกุล รวมเจ้าเมืองสายสกุล ณ สงขลา ที่ปกครองเมืองสงขลาบ่อยาง ดังนี้
             ๑. พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๓๖๐–๒๓๙๐ ผู้เริ่มสร้างเมืองสงขลาบ่อยาง
             ๒. พระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๓๙๐–๒๔๐๘
             ๓. พระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๐๘–๒๔๒๗
             ๔. พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๒๗–๒๔๓๑
             ๕. พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๓๑–๒๔๓๙ 
 
           หลังจากพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาได้ประมาณปีเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้เสด็จราชดำเนินมายังเมืองสงขลา และได้พระราชทานเงินบางส่วนเพื่อสร้างเจดีย์บนยอดเขาตังกวน ะหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๔๓๙ เมืองสงขลาได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยตั้งมลฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองแขกอีก ๗ เมือง โดยมีพระวิจิตร (ปั้น สุขุม) ลงมาเป็นข้าหลวงพิเศษว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่ว่าการอยู่ที่เมืองสงขลาบ่อยาง และลดบทบาทเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคการปกครองแบบเจ้าเมืองไปด้วย ทั้งนี้เจ้าเมืองคนสุดท้ายเป็นสายสกุล ณ สงขลา ที่ปกครองเมืองสงขลามามากกว่า ๘ รุ่น
           จากบันทึกของพระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ได้เรียบเรียงเรื่องราวตระกูล ณ สงขลาไว้ความว่า...ครั้งเมืองสงขลาเป็นเมืองแขก ตั้งอยู่ริมเขาแดง เจ้าเมืองชื่อสุลต่านสุเลมันได้สร้างป้อมชุดคูเมืองและจัดแจงสร้างบ้านเมืองเสร็จแล้ว ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาโบราณ ครั้นสุลต่านสุเลมันถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บุตรและหลานคนหนึ่งคนใดก็ไม่ได้เป็นผู้ครองเมืองสืบตระกูลต่อไป (ไม่มีบันทึกไว้ว่าด้วยเหตุใดฉ เมื่อสุลต่านสุเลมันสร้างบ้านเมืองขึ้นนั้นไม่ปรากฏว่าศักราชเท่าใด ตั้งแต่สุลต่านสุเลมันถึงอนิจกรรมแล้วเมืองก็รกร้างว่างเปล่าอยู่ช้านาน แต่ป้อมที่ฝังสุลต่านนั้นราษฎรเรียกกันว่ามรหุมต่อมาจนทุกวันนี้ เมื่อปีมะเมียโทศกศักราช ๑๑๑๒ จีนคนหนึ่งแซ่เฮา ชื่อเหยี่ยง ชาวเมืองเวียงจิ๋วหู ตําบลบ้านเส้หิ้นเหนือ เมืองแอมุ่ย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเก่าของสุลต่านริมเขาแดง ราษฎรชาวบ้านชวนกันเรียกจีนเหยี่ยงว่าตั้วแปะ ๆ ทําสวนปลูกผักกาด ขายอยู่ปีหนึ่ง ครั้น ณ ปี มะแมตรีศก ตัวแปะรื้อเรือนขึ้นไปอยู่ตําบลบ้านทุ่งอาหวังแขวงเมืองจะนะ สร้างสวนปลูกพูลขายอยู่ ๓ ปี ครั้น ณ ปี ระกาเยญจศก ตั้วแปะกลับลงมาตั้งเรือนอยู่ตําบลบ้านบ่อยาง ที่บ้านหลวงบรรักษ์ภูเบนทร์ในเมืองสงขลา ช่วยทาส ๔ ครัวให้ดักโพงพาง ครั้น ณ ปีขาล สัมฤทธิศก ตั้วแปะรื้อเรือนไปตั้งค้าขายอยู่ฟากแหลมสน ตัวแปะมีภรรยากับชาวเมืองพัทลุงมีบุตร ๕ คน บุตรคนที่ ๑ ชื่อบุญฮุ่ย ที่ ๒ ชื่อบุญเฮี้ยว ที่ ๓ ชื่อบุญชื้น ที่ ๔ ชื่อเถี้ยนเส้ง ที่ ๕ ชื่อยกเส้ง เมื่อ ณ ปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๓๐ หลวงนายสิทธิ์ เป็นที่พระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครถึงแก่อสัญกรรม พระปลัดตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าให้นายวิเถียนกรมการชาวเมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ตั้งบ้านเรือนอยู่ฟากแหลมสน ราษฎรเรียกกันว่าหลวงสงขลาวิเถียร
         
เมื่อศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก เจ้าตากยกกองทัพหลวง มาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตกแล้ว ยกกองทัพเลยมาตั้งอยู่ ณ เมืองสงขลา หลวงสงขลาวิเถียนหนีเจ้าตากไปกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าตากตั้งให้นายโยมชาวเมืองสงขลาเป็นพระสงขลา ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ครั้งนั้นตััวแปะทำบัญชีทรัพย์สิ่งของบุตรภรรยาข้าทาสกับยาแดง ๕๐ หีบของตั้วแปะ ถวายกับเจ้าตากทั้งสิ้น ตั้วแปะขอรับว่าอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า ถวายเงินปีละ ๕๐ ชั่ง เจ้าตากก็คืนทรัพย์สิ่งของทั้งนั้นให้แก่ตัวแปะ ทรงรับไว้แต่ยาแดง ๕๐ หีบ แล้วตั้งตัวแปะเป็นที่หลวงอินทรสมบัติ นายอากรทอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า แล้วเจ้าตากขอเอาบุตรที่สามของหลวงอินทรสมบัติ ชื่อบุญชิ้น พาไปเป็นมหาดเล็กคนหนึ่งอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ ตั้งแต่นั้นมาราษฎรจึงเรียกตั้วแปะซึ่งเป็นที่หลวงอินทคีรีสมบัติว่าจอมแหลมสนบ้าง ขรัวแปะบ้าง หลวงอินทคีรีก็ได้ทําอากรรังนกส่งเข้าไปกรุงเทพฯ ทุกปีต่อมามิได้ขาด ครั้นปีมะเส็งเบญจศก ศักราช ๑๑๓๕ เจ้าตากรับสั่งให้ข้าหลวงเป็นแม่กองออกมาสักเลขเมืองสงขลา ข้าหลวงแม่กองสักเลขออกมาอยู่สองปี ครั้นเสร็จราชการแล้วกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ ครั้นปีมะแมสัปตศก ศักราช ๑๑๓๗ (พ.ศ. ๒๓๑๘ ) หลวงอินทรสมบัติ (เหยี่ยง) คุมเงินอากรรังนกกับสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปถวายเจ้าตาก ณ กรุงเทพ ฯ เข้าตากรับสั่งกับข้าราชการว่าหลวงอินทรสมบัติ (เหยี่ยง) คนนี้เป็นข้าหลวงเดิมสามิภักดิ์มาช้านาน ควรที่จะชุบเลี้ยงให้เป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองผู้ใหญ่ได้มีรับสั่งว่าพระสงขลาโยมเป็นคนไม่ได้ราชการ ไม่ควรจะให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงอินทรสมบัติ (เหยี่ยง) เป็นหลวงสุวรรณศีรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช แล้วมีตราโปรดเกล้าฯ พาตัวพระสงขลาโยมเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ ถอดออกเสียจากราชการ หลวงสุวรรณศิริสมบัติ (เหยี่ยง) กลับออกมาถึงเมืองสงขลา ตั้งให้นายฉิมบุตรพระสงขลาโยมเป็นขุนรองราชมนตรี คุมไพร่ส่วยดีบุก จะนะเก้าหมวดทําราชการอยู่ในหลวงสุวรรณศิริสมบัติ (เหยียง) เมื่อศักราช ๑๑๓๙ ปีระกานพศก เจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีหนังสือให้กรมการออกมาเก็บเอาผู้หญิงช่างทอหูกและบุตรสาวกรมการ บุตรสาวราษฎรชาวเมืองสงขลา พาไปเมืองนครศรีธรรมราชหลายสิบคน ครั้งนั้นหลวงสุวรรณสิริสมบัติ (เหยี่ยง) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา เข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแต่งกรมการให้ไปเก็บเอาผู้หญิงช่างทอหูกและบุตรสาวกรมการ บุตรสาวราษฎร ชาวเมืองสงขลาพาไปเมืองนครศรีธรรมราชเสียหลายสิบคน ราษฎรได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง รับสั่งว่าเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลาวิวาทกันแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับกรุงเทพฯ หลวงสุวรรณศิริสมบัติ (เหยี่ยง) กราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา ครั้น ณ ปีชาลจัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในนั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชถึงแก่อสัญกรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทั้งให้บุตรเขยเจ้าพระยานคร เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราช คนนี้กับหลวงสุวรรณศรีสมบัติผู้ว่าราชกาะเมืองสงขลาเป็นคนรักใคร่สนิทกัน ขอรับพระราชทานให้เมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกมาถึงหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง) ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนอย่างแต่ก่อนสืบต่อไป เมืองสงขลาจึงได้กลับไปขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชอีก 
           
ครั้น  ณ ปีมะโรงฉศก ศักราช ๑๑๔๖ หลวงสุวรรณศีรีสมบัติ (เหยี่ยง) ป่วยเป็นไข้หมอพยาบาลอาการหาคลายไม่ ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๒ ค่ำ หลวงสุวรรณคีรี (เหยี่ยง) ถึงแก่กรรมสิริอายุได้ ๖๘ ปี บุตรและหลานได้ฝังศพไว้ริมเขาแหลมสนจารึกอักษรจีนไว้ในป้ายตามอย่างธรรมเนียมจีนแล้ว ในปีมะโรงฉศกนั้น นายบุญหุ่้ยบุตรที่หนึ่งหลวงสุวรรณคีรีสมบัติเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ณ กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายบุญหุ้ยบุตรที่หนึ่งเป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติผู้ว่าราชการเมืองสงขลา หลวงสุวรรณศีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา เมื่อปีมะเส่งสัปตศก ศักราช ๑๓๔๗ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเป็นแม่กองออกไปสักเลขเมืองสงขลา สักแขนขวาได้เลข ๗,๖๗๒ คน เมื่อปีมะเส่้งสัปตศก มีตราโปรดเกล้าฯ ออกมาเมืองสงขลา ให้ต่อเรือหูช้าง ๓๐ ลํา ปากกว้างแปกศอกยาวเก้าวาสําหรับรักษาพระนคร หลวงสุวรรณศิริสมบัติ (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่ตัดไม้ต่อเรือยังไม่เสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎาเสด็รออกมาเร่งให้ต่อเรือ ตั้งพลับพลาประทับอยู่ ณ บ้านบ่อเตย ประทับแรมอยู่เดือนหนึ่ง เรื่อที่ต่อยังไม่สําเร็จเสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพ ครั้น ณ ปี มะเมียอัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ พะม่าข้าศึกยกกองทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงเสด็จออกมาตีเอาเมืองนครคีนได้ ยังประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ครั้งนั้นขุนรองราชมนตรีเป็นบุตรพระสงขลา (โยม) นอกราชการ ขัดเคืองกับหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ขุนรองราชมนตรทราบว่าเมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่พะม่าข้าศึกแล้ว ขุนรองราชมนตรีมีใจกำเริบซ่องสุมผู้คนบ่าวไพร่ในกองขุนรองราชมนตรีอยู่ที่บ้านคีรษะเขา จะเข้าที่เอาค่ายตําบลบ้านบ่อยางฟากน้ำตะวันออก หลวงสุวรรณศิริสมบัติ (บุญหุ้ย) ทราบว่าขุนรองราชมนตรีคิดกบฎ ซึ่งแต่งให้กรมการขึ้นไปกวาดต้อนคนในแขวงเมืองสงขลามาทางบกทางเรือ ขุนรองราชมนตรีให้คนไปสะกัดทางชิงเอาคนทางบกทางเรือเสียทั้งสิ้น ได้คนและเรือมากแล้วตั้งรวมกันอยู่ที่บ้านศีรษะเขา หลวงสุวรรณศิริสมบัติ (บุญหุ้ย ) เห็นว่าคนในค่ายน้อยตัวจึงจัดแจงผ่อนบุตรภรรยาขนเข้าของลงเรือใหญ่ถอยไปทอดอยู่ที่เกาะหนูสองลํา แต่ตัวหลวงสุวรรณรสมบัติ (บุญหุ้ย) อยู่ในค่ายตําบลบ้านบ่อยาง ขุนรองราชมนตรีให้นายทิดเพชรคุมไพร่พันเศษ ขุนรองราชมนตร์คุมไพร่พันเศษ เวลาเช้าเข้าตีค่ายตําบลบ้านบ่อยาง นายทิดเพชรเข้าที่ด้านทักษิณ ขุนรองราชมนตรีเข้าที่ค่ายด้านตะวันตกริมน้ำ หลวงสุวรรณศรสมบัติ (บุญชัย) อยู่ในค่ายให้ยิงปืนคาบศิลา ถูกขุนรองราชมนตรีแต่ไม่บาดเจ็บแต่ถูกไพร่ในลําเรือของขุนรองราชมนตรีบาดเจ็บตกน้ำตายเป็นอันมาก ขุนรองราชมนตรีล่าทัพไปอยู่แหลมฝาด คนรักษาค่ายด้านทักษิณเป็นในข้าด้วยขุนรองราชมนตรี เปิดประตูให้นายทิดเพชรเข้าในค่ายได้ หลวงสุวรรณคีริสมบัติ (บุญหุ้ย) เห็นการจะต่อสู้ขุนรองราชมนตรีนายทิดเพชรไม่ได้ จึงลงเรือเล็กหนีไปขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะหนูเข้าไปกรุงเทพฯ ขณะนั้นขุนรองราชมนตรีรั้งเมืองสงขลาอยู่ ๔ เดือน หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เข้าไปถึงกรุงเทพฯ เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ขุนรองราชมนตรีบุตรพระสงขลา (โยม) นอกราชการ กับนายทิดเพชรเป็นกบฏตีเอาเมืองสงขลาได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพเรือลงไปประทับอยู่ที่เมืองนครแล้ว ให้หลวงสุวรรณคีรสมบัติ (บุญหุ้ย) ตามไปกราบบังคมทูลที่เมืองนครศรีธรรมราชเถิด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงขลา (โยม) นอกราชการบิดาขุนรองราชมนตรี ออกมาด้วยหลวงสุวรรณศรสมบัติ (บุญหุ้ย) ๆ ให้บุตรภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯ พระสงขลา (โยม) นอกราชการกับหลวงสุวรรณคีริสมบัติ (บุญหุ้ย) ออกมาเรือลําเดียวกัน มาถึงเมืองนครศรีธรรมราช พระสงขลา (โยม) นอกราชการกับหลวงสุวรรณศีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กราบบังคมทูลว่าขุนรองราชมนตร์กับนายทิดเพชรเป็นกบฏตีเอาเมืองสงขลาได้ รับสั่งว่าให้พระสงขลา (โยม) นอกราชการกับหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ออกมาทําพลับพลาไว้ที่เมืองสงขลาก่อน เสร็จราชการเมืองนครฯ แล้วจะเสด็จมาเมืองสงขลา พระสงขลา (โยม) นอกราชการกับหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบถวายบังคมลามาเมืองสงขลา ให้นายหมวดนายกองเกณฑ์ไพร่ทำพลับพลาที่ตําบลบ้านบ่อพลับ ขุนรองราชมนตรีก็มาทําพลับพลาอยู่ด้วย ทําพลับพลาอยู่ ๑๘ วัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงเสด็จมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นประทับพลับพลาตําบลบ้านบ่อพลับ หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย ) พระสงขลา (โยม) นอกราชการ ขุนรองราชมนตร์กับนายทิดเพชรเข้าเฝ้าพร้อมกัน ทรงพระกรุณารับสั่งถามตามธรรมเนียมแล้ว ทรงพระกรุณาให้มีตราไปหาตัวพระยาไทร พระยาตรังกานู  พระยากลันตัน พระยาปัตตานี เข้ามาเฝ้าให้พร้อมกันที่เมืองสงขลา จะได้ทรงจัดแจงบ้านเมืองให้เรียบร้อย พระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน แต่งให้บุตรหลานศรีตวัน กรมการนําพาสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย แต่พระยาตานีแข็งตัวอยู่ทรงขัดเคืองพระยาตานี ทรงพระกรุณารับสั่งว่าให้กองทัพหลวงออกไปเหยียบเมืองตานี้เสียให้ยับเยิน ขณะนั้นแขกเมืองตานีพาเรือมาค้าขายอยู่ที่เมืองสงขลาลําหนึ่ง รับสั่งให้หยุดเอาคนและเรือไว้มอบให้ขุนรองราชมนตรีเป็นผู้คุม ครั้งนั้นนายจันทองเพื่อน ๑๐ ครัว เป็นไทยเดิมเมืองนครศรีธรรมราช ตกไปอยู่เมืองตานี้เสียช้านานพาบุตรภรรยาหนีเข้ามาเมืองสงขลา นายจันทองแจ้งความกับหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาว่า พระยาตานีทราบความว่ากองทัพหลวงจะยกไปตีเมืองตานี พระยาตานีให้เกณฑ์ไพร่ทําค่ายที่ปากน้ำเมืองตานีค่ายหนึ่ง ที่บ้านพระยาตานีค่ายหนึ่ง กวาดเอาผู้คนเข้าไว้ในค่ายเป็นอันมาก นายจันทองเห็นเรือกองทัพใหญ่ทอดอยู่ปากน้ำเมืองตานี ๒ ลํา แขกเมืองตานีเห็นเรือกองทัพไทยหน้าเมือง ตกใจกลัวประชุมพูดกันว่าตายายแขกสั่งไว้ว่าศึกมาแต่ทักษิณให้สู้ศึกมาแต่อุดรอย่าให้สู้เลย บัดนี้กองทัพหลวงมาทอดอยู่หน้าเมืองตานีแล้ว ให้คิดอ่านพาอพยพหนีแต่ยาวพวกแขกเมืองตานีพูดกัน ทั้งนี้ นายขันทองกลัวว่าพระยาตานีจะฆ่าบุตรภรรยาของนายจันทองเสีย นายจันทองคิดอ่านสอดแนมเข้าไปฟังการในบ้านพระยาตานี ได้ยินพระยาตานีปรึกษากับศรีตวันกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยว่ากองทัพไทยยกมาทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตานี้แล้วจะคิดอย่างไร นายจันทองรับอาสากับพระยาตานีว่า นายจันทองจะขอเป็นแม่กองคุมพวกนายจันทองและพวกแขกลงไปรักษาค่ายปากน้ำเมืองตานี้ไว้ ไม่ให้กองทัพไทยเข้ามาในเมืองตานีได้ จะขอปีนใหญ่ปีนน้อยกระสุนดินดําสะเบียงอาหารกับเรือปากกว้าง ๕ ศอกสักลํา ๑ ถ้านายจันทองยิงเรือกองทัพไทยจมลง นายขันทองจะได้ลงเรือไปจับเอาพวกกองทัพไทยโดยง่าย เพระยาตานีก็เห็นด้วย จึงจัดสะเบียงอาหารกระสุนดินดํากับเรือลำหนึ่ง ให้นายจันทองไปรักษาค่ายปากน้ำ นายจันทองกับเพื่อนนายจันทองจัดแจงเรือพร้อมแล้ว เวลากลางคืนนายจันทองกับพวกเพื่อนพาเรือเล็ดลอดเข้าไปในเมืองตานี ขึ้นไปเรือนขนเจ้าของและบุตรภรรยาลงเรือมาทอดอยู่ที่ค่ายปากน้ํา เวลาเช้านายจันทองกับเพื่อนนายจันทองแต่งตัวเป็นคนไทยออกเรือยกธงขาวมาใกล้เรือกองทัพไทย นายจันทองร้องบอกพวกเรือกองทัพไทยว่าให้ยิงปืนเถิด พวกแขกในเมืองตานีจัดแจงจะพาบุตรภรรยาหนีอยู่แล้ว พวกญวนกองทัพไทยเรียกให้นายจันทองแอบเรือเข้าไปใกล้จะได้สืบข่าวราชการ นายจันทองบอกความว่าหลวงสุวรรณศีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) แต่งให้มาสืบราชการเมืองตานี ได้ความแล้วช้าอยู่ไม่ได้จะเร่งรีบกลับไป นายจันทองก็แจวเรือมาเมืองสงขลามาสักครู่หนึ่งพวกเรือกองทัพไทยยิงปืนใหญ่พวกแขก ในค่ายปากน้ำยิงปืนใหญ่รับนัดหนึ่ง แล้วพวกแขกออกจากค่ายปาก น้ําเข้าในเมืองตานี แขกในเมืองตานแตกตื่นพาอพยพออกจากเมืองไปเป็นอันมาก พวกญวนกองทัพไทยเห็นแขกทั้งค่ายปากน้ำเสียกองทัพไทยลงเรือสําปั้นขึ้นบนตลิ่งเข้าอยู่ในค่ายปากน้ำ นายจันทองมาพบเรือกองทัพไทยที่หน้าเมืองเทพา ๓ ลำ นายจันกองบอกว่ากองทัพไทยตีค่ายปากน้ำเมืองตานี้ได้แล้วให้เร่งรีบไปเถิด นายจันทองก็เลยมาถึงบ้านแหลมทรายปากน้ำเมืองสงขลา พวกข้าหลวงกองตระเวนซึ่งรักษาปากน้ำเมืองสงขลา เรียกให้นายจันทองหยุดเรือ นายจันทองบอกว่าเรื่องราชการร้อนเร็วจะหยุดช้าอยู่ไม่ได้ นายจันทองแจวเรือเลยเข้ามาในเมืองสงขลา หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ได้ทราบความดังนั้นแล้วพาตัวนายจันทองเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) แต่งเรือเล็กให้นายจันทองกับเพื่อน ๔ คน เล็ดลอดเข้าไปสืบราชการเมืองตานี ทรายความว่าแขกเมืองตานี้ไม่คิดจะสู้คิดจะหนี้ทั้งสิ้น นายจันทองได้บอกเรือกองทัพหน้าซึ่งไปทอดอยู่ปากน้ำเมืองตานีให้ยิงกันใหญ่ พวกแขกได้ยินเสียงปืนหนีออกจากค่ายปากน้ำเข้าในเมือง กองทัพหน้าขึ้นชิงเอาค่ายปากน้ำเมืองตานีได้แล้ว แขกในเมืองตานีพาอพยพหนีไปเป็นอันมาก รับสั่งว่าหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) อุตส่าห์แต่งให้คนไปสืบราชการเมืองตานี้ได้ความชัดแจ้งดังนี้ สิ้นวิตกรับสั่งให้เร่งรัดจัดแจงกองทัพลงไประดมตีเมืองตานีจับเอาตัวพระยาตานีให้จงได้ หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบบังคมทูลว่าแขกเรือเมืองตานี ซึ่งให้ขุนรองราชมนตรีคุมไว้นั้นพาเรือหนีไปได้กับพระยาจะนะน้องพระยาพัทลุง คิดกบฎมีหนังสือลับไปถึงพะม่า ข้าศึกให้ยกมาตีเมืองสงขลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุงพี่ชายพระยาจะนะเป็นตุลาการชําระ พระยาจะนะรับเป็นสัตย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสั่งให้ประหารชีวิตเสียพร้อมด้วยขุนรองราชมนตรี แต่นายทิดเพชรนั้นเข้าหาพระยากลาโหมราชเสนา ๆ กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานโทษนายทิดเพชรไว้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกทัพหลวงลงไปประทับอยู่เมืองตานี พวกกองทัพจับตัวพระยาตานีได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จําตัวพระยาตานีไว้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกกองทัพเข็นปีนทองเหลืองใหญ่ในเมืองตานี ๒ กระบอกลงเรือรบ แต่ปืนกระบอกหนึ่งตกน้ำเสียที่ท่าหน้าเมืองตานี ได้ไปแต่กระบอกเดียว คือปีนนางพระยาตานีเดี๋ยวนี้ ประทับอยู่เมืองตานีเดือนเศษ เสร็จราชการแล้วยกทัพหลวงเสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพฯ ครั้งนั้นหลวงสุวรรณศีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับนายบุญเฮี้ยว นายบุญชิ้นผู้น้อง ตามเสด็จเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ นายทิดเพชรก็เข้าไปกับพระยากลาโหมราชเสนา ครั้นถึงกรุงเทพฯ หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับนายบุญเฮี้ยว นายบุญชิ้นผู้น้อง ขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนให้หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เป็นพระยาสุวรรณศีรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ให้นายบุญเฮี้ยวเป็นพระอนันตสมบัติ ให้นายบุญชิ้นเป็นพระพิเรนทรภักดี ให้นายเถี่ยนเส้งเป็นพระสุนทรนุรักษ์ เป็นผู้ช่วยราชการทั้ง ๓ คน แต่พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) นั้นโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองจะนะด้วย แต่เมืองสงขลาให้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม พระยาสุวรรณศีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับพระอนันตสมบัติ พระพิเรนทร์ พระสุนทรนุรักษ์ กราบถวายบังคมลาพาบุตรภรรยากลับออกมาเมืองสงขลา ในปีวอกสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๕๐ ครั้น ณ ปีจอโทศก พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ถึงแก่กรรมที่เมืองจะนะ ได้ทําการเผาศพและเชิญอัฐมาฝังไว้ที่ริมเขาแหลมสน ทําเป็นฮ่องสุยตามธรรมเนียมเสร็จแล้ว พระยาสุวรรณศีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) มีใบบอกให้นายเถียนจ๋งบุตรพระอนันตสมบัติ ถือเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จอยู่หัวว่า พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ถึงแก่กรรม พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) มีบุตรชาย ๓ คน บุตรที่ ๑ ชื่อเสี้ยนจ๋ง บุตรที่ ๒ ชื่อเถี้ยนเส้ง บุตรที่ ๓ ชื่อเถียนไล่ต่างมารดา พระยาสุวรรณศีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ขอพระราชทานถวายนายเกี้ยนจ๋งเป็นมหาดเล็กทําราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ นายเถี้ยนจ๋งบุตรพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ก็ทําราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ ณ กรุงเทพฯ สืบต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปรึกษากับข้าราชการว่าจะได้ผู้ใดเป็นผู้ว่าการเมืองจะนะ พระยากลาโหมราชเสนากราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขอรับพระราชทานให้นายทิดเพชรเป็นผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายทิดเพชรเป็นพระมหานุภาพปราบสงครามเป็นผู้ว่าราชการเมืองจะนะ คุมเลขส่วยดีบุกเก้าหมวดขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เมืองจะนะให้อยู่ในบังคับเมืองสงขลาตามเดิม พระมหานุภาพปราบสงคราม (ทิดเพชร) กราบถวายบังคมลาออกมารับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ ณ เมืองจะนะ ครั้น ณ ปีกุนตรีศก ศักราช ๑๑๕๓ โต๊ะสาเหยดมาแต่ประเทศอินเดียเป็นคนรู้เวทมนต์วิชาการต่าง ๆ ไปคุยคิดกับพระยาตานีให้ยกทัพมาตีเมืองสงขลา ทัพพระยาตานียกมาตั้งอยู่ที่ริมเขาสะโปรงหลังเขาลูกช้าง พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่ไปตั้งค่ายรับอยู่ริมคลองสะโปรง แล้วมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอกองทัพหลวงมาช่วยฉะบับหนึ่ง มีหนังสือไปขอกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชมาช่วยฉะบับหนึ่ง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านบ่อเตยค่ายหนึ่ง ให้มาตั้งอยู่ตําบลบ้านบ่อยางค่ายหนึ่ง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช กับพระยาสงขลา (บุญหุ้ย ) ปรึกษากําหนดวันจะเข้าตีค่ายโต๊ะสาเหยดให้พร้อมกันในวันนั้น พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดยกอ้อมมาทางบางกะดาน ถึงหน้าค่ายตำบลบ้านบ่อยาง พวกทัพเมืองนครศรีธรรมราชยิงปีนถูกพวกอ้ายโต๊ะสาเหยดตายประมาณสามร้อยคน พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดก็ล่าทัพกลับไป กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชเมืองสงขลา ไล่ตามไปทันได้รบกับพวกแขกถึงตะลุมบอน พวกแขกแตกเข้าค่ายหลังเขาลูกช้าง แขกโต๊ะสาเหยดเสกน้ำมนตร์โปรยอยู่ประตูค่ายกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชเมืองสงขลา หักเข้าค่ายได้ยังอ้ายโต๊ะสาเหยดตายอยู่กับที่พวกแขกก็ตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายก็แตกหนีไปสิ้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราชและพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ให้กองทัพยกตามไปที่เขาเมืองตานีกลับคืนได้ กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชเมืองสงขลา ยกกลับมาถึงเมืองสงขลา ๔ วัน กองทัพหลวงจึงยกออกมาถึงหาทันได้สู้รบกับแขกเมืองตานีไม่ พักกองทัพอยู่ในเรือหน้าค่ายตำบลบ้านบ่อยางอยู่หลายเวลา พวกญวนในกองทัพวิวาททุบตีกันกับพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาไปห้ามปรามก็ไม่ทัน พวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชไปกราบเรียนเจ้าพระยานครว่าพวกญวนกองทัพเรือกระทําข่มเหง ทุบตีพวกกองทัพเมืองนครเจ็บป่วยเป็นหลายคน พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ก็อยู่ด้วยก็ไม่ห้ามปราม เจ้าพระยานครขัดเคืองกับพระยาสงขลาและพระสุนทรนุรักษ์แต่นั้นมา กองทัพกรุงเทพฯ และกองทัพเมืองนคร พักอยู่เมืองสงขลา ๓ เดือน จึงยกกองทัพกลับไป หลวงปลัด ( อ้าย) เมืองสงขลาก็ตามเจ้าพระยานครไปเสียด้วย ในปีนั้นพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) กับเจ้าพระยานครเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ณกรุงเทพฯ เจ้าพระยานครกราบบังคมทูลกล่าวโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ว่าทําข่มเหงกับเมืองไทรบุรียกเอาตําบลบ้านพะตงกับตําบลบ้านการแขวงเมืองไทรบุรีเสียและยุให้พวกญวนกองทัพวิวาททุบตีกับพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งถามพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตามคําเจ้าพระยานครศรีธรรมราชกราบทูลกล่าวโทษ พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) กราบบังคมทูลว่าที่ตําบลบ้านพะตงการำเป็นที่เขตต์แดนเมืองสงขลามาแต่เดิม พระยาสงขลา (บุญชัย ) หาได้ทําข่มเหงกับเมืองไทรบุรีไม่ และพวกญวนกองทัพหลวงทุบตีกับพวกเมืองนครศรีธรรมราชนั้นวิวาทกันขึ้นเอง พระยาสงขลาและพระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ เหลือสติกําลังที่จะห้ามปรามพวกกองทัพหลวง และพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) และพระสุนทรนุรักษ์ จะได้ยุให้พวกกองทัพวิวาทกันนั้นหามิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่าพวกกองทัพทั้งสองทัพไม่อยู่ใต้บังคับพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) วิวาทกันขึ้นเองจะปรับโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการนั้นไม่ชอบ ที่ตําบลบ้านพะตงการำนั้นถึงจะเป็นเขตต์เมืองไทรบุรีก็จริงแต่เมืองสงขลาตีเมืองไทรบุรีและเมืองตานี้ได้ เมืองสงขลามีความชอบมากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยกที่ตําบลบ้านพะตง ตําบลบ้านการำให้เป็นเขตแดนเมืองสงขลา ที่ตําบลบ้านพะตงการำจึงได้เป็นแขวงเมืองสงขลาแต่ครั้งนั้น สืบต่อมาแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลา (บุญชัย) เป็นเจ้าพระยาอินทร์ศีรีศรีสมุทสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สําเร็จราชการเมืองสงขลา ยกเมืองสงขลาเป็นเมืองเอกให้ขึ้นกับกรุงเทพฯ โปรดเกล้าพระราชทานยกเมืองไทรบุรี เมืองตานี เมืองตรังกานู ให้ขึ้นกับเมืองสงขลา เจ้าพระยาสงขลาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เก้าเดือน กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลา
          
ครั้น ณ ปีฉลูเบญจศก ศักราช ๑๑๕๕ พระจะนะทิดเพชรถึงแก่กรรม เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) มีใบบอกให้จีนเค่งซึ่งมาแต่เมืองชีจิวหู้ เป็นเพื่อนร่วมสุขทุกข์กับหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง) ถือเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพฯ ขอรับพระราชทานให้จีนเค่งเป็นพระจะนะสืบต่อไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจีนเค่งเป็นพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระจะนะ(เค่ง) ถวายจีนขวัญซ้ายบุตรที่หนึ่งให้ทําราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ ณ กรุงเทพฯ นายบ้อนแก้วบุตรพระจะนะ (ทิดเพชร) เข้าไปทําราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ ณ กรุงเทพฯ พร้อมกับจีนขวัญซ้าย พระจะนะ (เค่ง) กลับออกมาว่าราชการเมืองจะนะ ครั้น ณ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗ พะม่าข้าศึกยกกองทัพเรือมาตีเมืองถลางแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ ( บุนนาค) กับพระยาวิเศษโกษาเป็นแม่ทัพ โปรดเกล้าฯ ให้นายเถี้ยนจ๋งมหาดเล็ก บุตรพระอนันตสมบัติเป็นหลวงนายฤทธิ์ ออกมาในกองทัพเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ด้วย เจ้าพระยาพลเทพยกกองทัพเรือออกมาขึ้นเป็นกองทัพ ที่เมืองชุมพรไปเมืองถลาง เจ้าพระยาพลเทพให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เชิญท้องตราออกมาเมืองสงขลา ในท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ยกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้แล้วให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะ ให้หลวงนายฤทธียกไปช่วยที่เมืองถลาง เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลาได้เจ็ดร้อยคน ให้หลวงพลเป็นนายทัพ เกณฑ์ไพร่เมืองจะนะได้สองร้อยคน ให้จีนขวัญซ้ายมหาดเล็กบุตรพระจะนะ (เค่ง) เป็นนายทัพ รวมไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะเก้าร้อยคน มอบให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปทางเมืองพัทลุง ไปสมทบทัพเจ้าพระยาพลเทพที่เมืองตรัง แล้วเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่สองร้อยคน ให้หลวงจ่ามหาดไทยยกไปตั้งถ่วงเมืองไทรบุรีไว้กองทัพเจ้าพระยาพลเทพกับพระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ยกไปถึงเมืองถลางได้ยกเข้าตีพวกพะม่าข้าศึกแตกหนีกลับไป เจ้าพระยาพลเทพจัดราชการเมืองถลางอยู่ปีหนึ่ง เสร็จราชการแล้วยกกองทัพมาเมืองสงขลาทางเมืองตรัง ครั้งนั้นด่าตูปักหลันเจ้าเมืองยิริงคิดกบฎ เจ้าพระยาพลเทพจัดให้กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลา สมทบกับกองทัพหลวง ให้หลวงนายฤทธิ์เป็นแม่ทัพยกออกไปตีเมืองยิริง หลวงนายฤทธิ์ยกกองทัพออกไปตีทัพด่าตูปักหลันเมืองยิริงถึงตะลุมบอนจับตัวด่าตูได้ จึงได้แยกเมืองตานีออกเป็น ๗ เมืองตามพระบรมราชานุญาต เหตุด้วยเมืองตานีเมืองเดียวมีกําลังมากเมืองสงขลามีกําลังน้อย แล้วตั้งให้นายพ่ายทหารเอกเมืองสงขลาเป็นผู้ว่าราชการเมืองยิริงจัดราชการแยกเมืองตานี้อยู่ ๖ เดือนเสร็จราชการแล้วยกกองทัพพาตัวด่าดูกลับเข้ามาเมืองสงขลา เจ้าพระยาพลเทพ พระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ก็ยกกองทัพกลับเข้าไปกรุงเทพฯ เมืองสงขลาเป็นปกติไม่ทัพศึกอยู่ ๒ ปี ในระหว่างเมืองสงขลาเป็นปกติอยู่ ๒ นั้น เจ้าพระยาอินทคีรี ได้สร้างพระอุโบสถวัดยางทองขึ้นอาราม ๑ โรง พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสอาราม ๑ รวม ๒ อาราม และเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฟากแหลมสน          ครั้นศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเร็งเอกศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในจุลศักราช ๑๑๗๑ พะม่ายกกองทัพเรือ รวม ๒๐๐ ลงมาตีเอาเมืองถลางได้อีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชยกกองทัพหลวงออกมาขึ้นเดินบกทางเมืองชุมพร และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายฤทธิ์เชิญท้องตราออกมาถึงเจ้าพระยาสงขลา ให้เจ้าพระยาสงขลายกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้และให้เกณฑ์ไพร่เมืองไทรบุรียกไปสมทบทพเจ้าพระยายมราชด้วย และให้หลวงนายฤทธิ์คุมไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ยกไปสมทบทัพเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่พลเมืองให้หลวงนายฤทธิ์พันคนยกไปเมืองตรังทางเมืองพัทลุง และเกณฑ์ไพร่เมืองพัทลุงไป ๕๐๐ คนด้วย แล้วเจ้าพระยาสงขลาคุมไพร่ ๕๐๐ คน ยกไปตั้งอยู่ที่เมืองไทรบุรี แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองไทรบุรี ๑๐๐๐ คน เรือ ๓๐ ลํา แต่งให้พระยาปลัดเมืองไทรเป็นนายทัพ รีบยกไปสมทบกับเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยายมราชรวมกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองไทรได้พร้อมแล้ว ยกกองทัพไปตีเมืองถลาง พะม่าข้าศึกแตกหนีไป เจ้าพระยายมราชตีเมืองถลางคืน แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองสงขลา เมืองพัทลุงให้อยู่รักษาเมืองถลาง จัดราชการอยู่ ๓ ปี ราชการเรียบร้อยแล้วจึงได้ยกกองทัพกลับกรุงเทพฯ เมืองสงขลาไม่มีทัพศึกเป็นปกติ อยู่ ๓ ปี เจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงครามรามภักดีอภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สําเร็จราชการเมืองสงขลา (บุญหุ้ย) ป่วยโรคชราถึงแก่อสัญกรรม ได้เป็นผู้สําเร็จราชการเมืองมา ๓๕ ปี ท่านไม่มีบุตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) บุตรพระอนันต์ (บุญเชี่ยว) ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระยาอินทคีรีเป็นพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงคราม (พระยาสงขลา) และโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระยาวิเศษภักดี เชิญตราตั้งออกมาพระราชทานให้พระพิเรนทรภักดี (บุญชิ้น ) ซึ่งเป็นน้องต่างมารดาของเจ้าพระยาอินทรคีรี เป็นพระยาศรสมบัติจางวาง พระราชทานให้นายเถี้ยนเส้ง น้องร่วมมารดากับพระยาวิเศษภักดีเป็นพระสุนทรนุรักษ์ ครั้น ณ เดือนหกปีวอกจัตวาศก ศักราช ๑๑๗๕ ปี พระยาวิเศษภักดี พร้อมด้วยญาติพี่น้อง ได้จัดแจงเผาศพเจ้าพระยาอินทรคีรีฯ เสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐไปทําฮ่องสุย ตามธรรมเนียมในที่ริมเขาแหลมสนเคียงกับฮ่องสุย หลวงสงขลา (เหยี๋ยง) ศักราช ๑๑๗๕ ปีระกาเบญจศก โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยพาหจางวางกรมม้า เป็นแม่กองออกมาสักเลขเมืองสงขลา ตั้งโรงสักที่ทุ่งบ่อเตย พระยาศรีสุริยพาหสักเลขอยู่ ๒ ปี เสร็จการสักเลขแล้วกลับเข้าไปณกรุงเทพฯ ครั้งนั้นพระยาไทรเกิดขัดเคืองกับเมืองสงขลา จึงไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยาศรีธรรมราช นําความขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองไทรขึ้นกับเมืองนครตามสมัคร ในปีนั้นพระยาตรังกานู วิวาทขึ้นกับพระยากลันตัน ซึ่งเข้ามาขอขึ้นอยู่กับเมืองสงขลาไม่สมัครจะขึ้นกับเมืองตรังกานุสืบไป พระยาวิเศษภักดีฯ ตอบกับพระยากลันตันว่ารับไว้ไม่ได้ ด้วยแต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรฯ โปรดเกล้าฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นอยู่กับเมืองตรังกานู พระยากลันตันจึงเลยไปขอขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครนําความขึ้นกราบบังคมทูลตามที่พระยาตรังกานูกับพระยากลันตันวิวาทกัน โปรดเกล้าฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นกับเมืองนครตามสมัคร เมืองกลันตันจึงได้ขึ้นกับเมืองนครสืบต่อมา ครั้น ณ ปีฉลุนพศก ศักราช ๑๑๗๙ พระยาวิเศษภักดี (พระยาสงขลา) เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ให้พระยาศรีสมบัติจางวางกับพระสุนทรนุรักษ์อยู่รักษาเมือง ครั้น ณ เดือน ๖ ปีฉลุนพศก พระยาศรีสมบัติทางวางป่วยเป็นไข้พิษถึงแก่กรรม ครั้นพระยาวิเศษภักดีฯ กลับออกมาถึงเมืองสงขลาป่วยเป็นโบราณโรค ครั้น ณ วันเดือน ๓ ปีฉลูนพศก พระยาวิเศษภักดี (พระยาสงขลา) ถึงแก่กรรม เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลาอยู่ ๓ ปี พระสุนทรนุรักษ์ ( เถี้ยนเส้ง) ให้หลวงพิทักษ์ราชาอยู่รักษาเมือง พระสุนทรนุรักษ์รีบเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา และพระราชทานศิลาหน้าเพลิงออกมาเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดิ์ (พระยาสงขลา) ด้วย พระสุนทรนุรักษ์ ( เถี้ยนเส้ง) นายพลพ่าย (บุญสัง) บุตรพระยาศรีสมบัติจางวางกราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลาพร้อมกัน ครั้น ณ เดือน ๓ ปีขาลสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา พร้อมกับหมู่ญาติได้รักการเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศยภักดี (พระยาสงขลา) พร้อมกันเสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดี (พระยาสงขลา) ไปทําฮ่องสุยไว้ ณ ที่อันเดียวกันริมเขาแหลมสน พระยาวิเศษภักดีฯ (พระยาสงขลา) (เถี้ยนจ๋ง) ได้เป็นผู้สําเร็จราชการเมืองอยู่ ๗ ปี ได้สร้างโรงพระอุโบสถวัดสุวรรณคีรีธาราม ๑ ยังไม่ทันสําเร็จ ในปีนั้นพระสุนทรนุรักษ์กับนายพลพ่าย หลวงพิทักษ์ราชา นายแพะบุตร พระสุนทรนุรักษ์ พากันเข้าไปเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทถวายพระราชกุศล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระสุนทรนุรักษ์เป็นพระยาวิเชียรคีรีศรีสมุทรวิสุทธิศักดามหาพิไชยสงครามรามภักดีอภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สําเร็จราชการเมืองสงขลา โปรดเกล้าฯ ให้นายพลพ่าย (บุญสัง) เป็นหลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์ราชาเป็นพระพิเรนทรภักดี ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้าฯ ให้นายแพะเป็นหลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ กลับออกมารับราชการอยู่ที่เมืองสงขลา ภายหลังจึง โปรดเกล้าฯ ให้นายเหมเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้าฯ ให้นายยกเส่งเป็นหลวงอุดมบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้าฯ ให้นายหมีเป็นหลวงพิทักษ์สุนทร ผู้ช่วยราชการ ในปีขาลสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ นั้น พระยาถลางมีใบบอกเข้าไปณกรุงเทพฯ ว่า พะม่าจะมายกกองทัพมาตั้งต่อเรือที่เมืองมฤต เมืองตะนาวศรี แต่ไม่ทราบว่าจะไปที่เมืองใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรสำแดงคุมไพร่ ๒๐๐ คน ยกออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา ให้พระยาพิไชยสงครามคุมไพร ๒๐๐ คน ออกมาตั้งอยู่ที่เมืองพัทลุง ให้พระยาวิชิตณรงค์คุมไพร่ ๒๐๐ คน ออกมาตั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ให้พระยากลาโหมราชเสนาคุมไพร่ ๕๐๐ คน ออกมาตั้งอยู่ที่เมืองถลาง โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ข้าหลวงคุมไปตั้งต่อเรือรบอยู่ที่เมืองสตูลอีกกองหนึ่ง พระยาศรสําแดงข้าหลวงออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลาปีหนึ่ง จึงเลิกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ ในปีเถาะเอกศก ศักราช ๑๑๘๑ ครั้นปีมะโรงโทศก ศักราช ๑๑๘๒ บังเกิดความไข้อหิวาตกโรค ราษฎรพลเมืองล้มตายเป็นอันมาก ความไข้ตลอดมาจนถึงปีมะเส็งตรีศกโรคได้สงบ ในปีมะเส็งนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเข้าไปณกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าพระยาไทร เป็นคนดื้อดึงจะเอาราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ได้และไม่ฟังบังคับบัญชาเมืองนครศรีธรรมราช ขอรับพระราชทานยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครเป็นแม่ทัพและมีท้องตราออกมาเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ยกไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยานครเชิญท้องตราเป็นแม่ทัพ ออกมาเกณฑ์ไพร์ได้พร้อมแล้วยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาไทรบุรีไม่ต่อสู้ ยกอพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก กองทัพเจ้าพระยานครเข้าตั้งอยู่ในกลางเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเอาครอบครัวราษฎรเมืองไทรส่งไปถวาย ณ กรุงเทพฯ หลายร้อยครัว แล้วเจ้าพระยานครมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานให้นายแสงบุตรเจ้าพระยานครเป็นพระยาไทรบุรีด้วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราออกมาตั้งนายแสงบุตรเจ้าพระยานคร ให้เป็นตําแหน่งที่พระยาอภัยธิเบศร์มหาประเทศราชธิบดินทร์อินทรไอศวรรย์ขัณฑเสมามาตยานุชิตสิทธิสงครามรามภักดีพิริยพาห พระยาไทรบุรี ครั้น ณ ปีกุนนพศก ศักราช ๑๑๘๙ อ้ายอนุเวียงจันท์เป็นกบฎ โปรดเกล้าฯ มีท้องตราออกมาเกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้ ๑๐๐๐ เศษ รีบยกกองทัพเข้าไปถึงกรุงเทพฯ แต่ไม่ทันจะได้เข้ารบกับอ้ายอนุกบฎ เพราะการสงบเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลา ทําป้อมที่เมืองสมุทรปราการ พระยาสงขลา คุมไพร่ ๑๐๐๐ เศษ ทําป้อมอยู่ที่เมืองสมุทรปราการปีหนึ่ง ซึ่งเสร็จราชการแล้วกราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา ครั้น ณ ปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ โปรดเกล้าฯ มีท้องตราออกมาให้พระยาสงขลาต่อเรือศีรษะงาว ๓๐ ลํา พระยาสงขลา ให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไป ตั้งต่อเรืออยู่ที่เมืองเทพา และในฉลูเอกศกนั้นฝนตกน้อย ราษฎรทํานาไม่ได้รับผล ราษฎรเกิดระส่ำระสายด้วยข้าวแพง พระยาสงขลาจึงให้เลิกการต่อเรือเสียและในปีขาลโทศกกําลังข้าวแพงอยู่นั้น โปรดเกล้าฯ ให้ หมื่นสมันพันธูรเชิญท้องตราออกมาสักเลขเมืองสงขลา โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลาเป็นแม่กองตั้งโรงสักเลขที่ศาลากลาง ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเสนา ๘ นายแต่ไม่ปรากฎนามเชิญท้องตราออกมาประเมินนามและออกตราแดงให้แก่ราษฎรเป็นครั้งแรก ในปีขาลโทศกนี้พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ ๑๐๐๐ คนไปต่อเรือที่เมืองเทพาอีก การต่อเรือยังไม่ทันเสร็จ ครั้น ณ วันเดือนหกปีเถาะตรีศก ตนกุเดนบุตรเจ้าพระยาไทร ซึ่งยกอพยพครอบครัวรานีไปอยู่เมืองเกาะหมากคิดอ่านซ่องสุมผู้คนบ่าวไพร่ได้มากแล้วยกเข้าตีเมืองไทรบุรีคืนได้ แล้วรวบรวมคบคิดกับพระยาตานี พระยายิริง พระยายะลา ยกกองทัพมาที่เมืองสงขลา ตั้งค่ายอยู่ที่เขาลูกช้างและบางกระดาน กองทัพเมืองสงขลาออกต่อสู้ต้านทานไว้เป็นสามารถ ครั้น ณ วันเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง ศักราช ๑๑๙๔ ปีมะโรงจัตวาศก โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่ทัพยกกองทัพเรือออกมาถึงเมืองสงขลา ตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตําบลบ้านบ่อพลับ พระยาตานี พระยายะลา พระยายิริง เห็นว่ากองทัพหลวงยกออกมาถึงเมืองสงขลาก็พากันอพยพครอบครัวหนีไปเมืองกลันตัน แต่พระยารามันห์ พระยาหนองจิก ยกครอบครัวหนีไปทางบก ไปอยู่ที่ตําบลบ้านนาที่บาโรมแขวงเมืองแประ เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่มีบัญชาสั่งให้พระยาสงขลา ยกกองทัพออกไปตีเอาเมืองตานี เมืองหนองจิก และให้พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ตามออกไปรวบรวมสะเบียงอาหารไว้ที่เมืองตานี้ แล้วเจ้าพระยาพระคลังกับพระยานครศรีธรรมราช ยกกองทัพหลวงออกไปตั้งอยู่ที่เมืองตานี โปรดให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๓๐๐๐ คนตามไปจับตัวพระยารามันห์ หลวงสุนทรนุรักษ์ คุมไพร่ตามไปรับตัวพระยารามันห์ได้ที่บ้านนา ตําบลบาโรมแขวงเมืองแประได้สิ้นทั้งครอบครัว แต่พระยาหนองจิกออกต่อสู้กับพวกทหารไทยตายเสียในที่รบ จับได้แต่บุตรภรรยาสมัครพรรคพวก แล้วตัดเอาศีรษะพระยาหนองจิกมาส่งเจ้าพระยาพระคลัง แม่ทัพใหญ่ที่เมืองตานี เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่เอาตัวพระยารามันห์เข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ แต่บุตรภรรยาสมัครพรรคพวกพระยารามันนั้นให้กลับไปอยู่ในเมืองรามันห์ตามเดิม แต่สมัครพรรคพวกและบุตรภรรยาครอบครัวพระยาหนองจิก พระยาตานีนั้นให้ส่งเข้าไป ณ กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น จัดราชการเมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เป็นปกติเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ ยกกองทัพกลับเข้ามาพักอยู่ที่เมืองสงขลา และได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนยอดเขาเมืองแห่งหนึ่งเสร็จแล้ว จึงยกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ ในปีเถาะนพคกฝนตกน้ําท่วมจนท้องนาของราษฎร ทำนามิได้ผลรับประทานเลย ราษฎรได้ความเดือนร้อนในการที่ไม่มีอาหารรับประทานถึงแก่ล้มตายกลางถนน ที่ยกอพยพครอบครัวไปอยู่บ้านเมืองอื่นเสียโดยมาก เวลานั้นข้าวสารราคาเกวียนละ ๕๐๐ เหรียญ ก็ยังไม่มีที่จะซื้อ พระยาสงขลารีบเข้าไปกรุงเทพฯ นําความที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนไม่มีอาหารรับประทาน ขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๓ ทรงทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ขอรับพระราชทานซื้อข้าวสารออกมาเพื่อแจกราษฎรในเมืองสงขลา ๑๐๐๐ เกวียน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยกภาษีข้าวสารให้แก่พระยาสงขลา ๆ กราบถวายบังคมลา ออกมาถึงเมืองสงขลาในเดือนปีมะโรงจัตวาศก ครั้น ณ ปีมะเส็งเบญจศก ศักราช ๑๑๙๕ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการและเงินส่วนต่าง ๆ เข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย พณหัวเข้าท่านสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ นำหลวงสุนทรนุรักษ์ เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้ทองเงิน แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามีความชอบมาก ด้วยได้ยกทัพติดตามจับตัวพระยารามันและครอบครัวพระยาหนองจิก ให้ในแขวงเมืองเประ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงสุนทรนุรักษ์ เป็นพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลา
     
ครั้น ณ ปีวอกอัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ โปรดเกล้าฯ มีท้องตราออกมาให้พระยาสงขลาก่อป้อมกําแพงเมืองสงขลา โปรดเกล้าฯ พระราชทานยกเงินภาษีอากรเมืองสงขลาให้ ๑๐๐ ชั่ง พระยาสงขลาก็กะเกณฑ์ไพรลงมือก่อป้อมและกําแพงเมืองยังไม่ทันเสร็จ ในปีนั้นพระยาสงขลาพาพระยาตานี พระยายิริง พระยาสายบุรี พระยายะลา พระยาระแงะ พระยารามันห์ เข้าไปเฝ้าในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพันปีหลวง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชก็เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน ในศักราช ๑๒๐๐ ปีนั้น ตนกูหมัดสะวะ หลานเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งหนีไปอยู่เมืองเกาะหมากแต่ครั้งก่อน ซ่องสุมสมัครพรรคพวกได้แล้วยกเข้ามาติซึ่งเอาเมืองไทรบุรีได้อีก พระยาอภัยธิเบศร์ พระยาไทรบุรี บุตรเจ้าพระยานครต้านกําลังตนกูหมัดสะวไม่ได้ ก็ยกครอบครัวล่าถอยเข้ามาตั้งอยู่ที่ตําบลท่าหาดใหญ่แขวงเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาแต่งให้ขุนต่างตาคุมไพร่ ๕๐๐ คน ไปตั้งค่ายมั่นรักษาอยู่ที่พะตงการำริมเขตต์แดนเมืองไทรบุรี แล้วรีบแต่งให้เรือศีรษะฉลอมถือใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าตนกูหมัดสะวะหลานเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งหนีออกไปอยู่เมืองเกาะหมากแต่ก่อน คิดกบฎยกกองทัพมาติซึ่งเอาเมืองไทรบุรีคืนได้ พระยาอภัยธิเบศร์ พระยาไทรบุรีล่าทัพถอยมาตั้งมั่นอยู่ที่ตําบลท่าหาดใหญ่แขวงเมืองสงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบประพฤติเหตุแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยานครกับพระยาสงขลารีบกลับออกมาเมืองสงขลาแล้วเกณฑ์กองทัพออกไปปราบข้าศึกให้จงได้ พระยาสงขลากราบถวายบังคมลากลับออกมาถึงเมืองสงขลาในเดือนสิบสอง ไม่ปรากฏว่าขึ้นแรมกี่ค่ำ พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้เสร็จแล้วรบยกขึ้นไปตั้งอยู่ที่ท่าหาดใหญ่ ให้พระสุนทรนุรักษอยู่รักษาเมือง พระยาสงขลามีหนังสือให้กรมการถือออก ไปเมืองแขก ทั้ง ๒ เมือง ให้ยกกองทัพมาช่วยระดมรบเมืองไทรบุรี พระยาตานี (ทองอยู่) พระยายีริง (พ่าย) พระยาสาย (ระดะ) พระจะนะ (บัวแก้ว) ยกกองทัพไปรวมกันกับทัพพระยาสงขลา ๆ แต่งให้พระยายีริง พระยาตานี พระยาสาย พระจะนะ หลวงนา หลวงพล ขุนต่างตาคุมไพร ๑๐๐๐ คนขึ้นไปรบกับตนกูหมัดสะวะที่ค่ายทุ่งโพในแขวงเมืองไทรบุรี ตนกูหมัดสะวะมีกําลังมากแต่งกองทัพดักหลังเข้ามาทางสะบ้าเพน เผาเรือนราษฎรในแขวงเมืองระนะจนกระทั่งถึงบ้านพระจะนะ พวกแขกในเมืองจะนะก็กลับเข้าสมัครอยู่ด้วยตนกุหมัดสะวะทั้งสิ้น พวกไทยในเมืองจะนะมีน้อยก็พาครอบครัวหนีเข้ามาอยู่ในแขวงเมืองสงขลาทั้งสิ้น พวกแขกในแขวงเทพา เมืองหนองจิก เมืองตานี เมืองยิริง ก็กลับกําเริบขึ้น พระยาสงขลาจึงจัดให้พระยาตานี พระยายีริง พระยาสาย พระจะนะ คุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไปตั้งรักษารทางตําบลบ้านพะตง บ้านการำไว้ ให้หลวงพลสงคราม หลวงไชยสุรินทร์ คุมไพร ๕๐๐ คน รับยกไปตั้งรักษามางเมืองจะนะไว้และให้หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เป็นกองส่งสะเบียงอาหารอยู่ที่ตําบลท่าหาดใหญ่ แล้วพระยาสงขลา ยกกลับลงมาจัดการในกลางเมืองสงขลา แต่งให้หลวงยกระบัตรคุมไพร่ ๓๐๐ คนไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตําบลปลักแรดในระหว่างเขาสําโรงและเขาลูกช้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าทเววิเชียรรัถยานั้นฝ่ายหนึ่งและที่ตําบลวัดเกาะถ้ำค่ายหนึ่ง ที่ตำบลเขาเก้าเส่งริมทะเลค่ายหนึ่งเสร็จแล้ว พอพวกแขกกบฎเมืองไทรยกเข้ามาที่ตําบลที่พะตงที่การำแตก พระยาตานี พระยายีริง พระยาสาย ล่าทัพ เข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตําบลบ้านน้ำกระจาย กองทัพเมืองไทรบุรีรุกตามเข้ามาทันกองพระยาสาย ที่ทุ่งนาหน้าบ้านน้ำกระจายได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน พวกแขกเมืองไทรบุรีเสียที่ล่าถอยไป กองทัพพระยาสายตั้งค่ายมั่นลงได้ที่ริมเขาลูกช้าง พระยาตานีตั้งค่ายมั่นลงที่เขาเก้าเส้ง แต่กองทัพหลวงไชยสุรินทร์ หลวงพลสงครามทานกําลังแขกเมืองไทรบุรีไม่ได้ ก็ถอยทัพลงมาตั้งมั่นอยู่ที่ตําบลปลักแรดพร้อมกันกับกองทัพเมืองสงขลา พวกแขกเมืองไทร เมืองจะะนะยกตามมาตั้งค่ายลงที่หน้าค่ายปลักแรด พวกแขกกบฎยังตั้งค่ายไม่ทันเสร็จ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ยกกองทัพพวกขึ้นกองพร้อมกับกองทัพหลวงพลสงคราม หลวงไชยสุรินทร์ เข้าระดมที่ค่ายพวกแขกเป็นสามารถถึงตะลุมบอน พวกแขกกบฎทานกําลังไม่ได้กล่าถอยหนีไป พวกจีนตัดศรีษะพวกแขกกบฎมาได้หลายสิบศีรษะ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) รางวัลให้พวกจีนที่ตัดศีรษะแขกกบฎมาได้ศรีษะละ ๕๐ เหรียญ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้ที่ตําบลปลักแรด รับมีใบบอกให้หลวงพัฒนสมบัติ (ก้งโป้ย) ถือเข้าไป ณ กรุงเทพฯ ด้วยเรือศีร์ษะฉลอม ในใบบอกมีความว่าแขกเมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองหนองจิก คิดกบฎสมทบกับแขกเมืองไทรบุรียกกองทัพเข้าตีเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้เกณฑ์กองทัพจีนและไทยออกไปต่อสู้กับพวกแขกกบฏที่ตําบลปลักแรดในระหว่างเขาสําโรงและเขาลูกช้าง ใกล้กับเมืองสงขลาระยะทางประมาณ ๙๐ เส้น กองทัพเมืองสงขลารบประทะตั้งมั่นกันอยู่ ราษฎรเมืองสงขลาก็มีน้อยตัวพวกแขกกบฎมีกําลังมาก ขอรับพระราชทานกองทัพหลวงออกไปช่วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบประพฤติเหตุแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์กับพระราชวรินทร์กรมพระตํารวจคุมไพร่ ๕๐๐ คนเป็นกองทัพหน้ารบยกออกมาก่อน ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า เป็นแม่ทัพใหญ่กับเจ้าพระยายมราช พระยาเพชรบุรี คุมไพร่ ๓๐๐๐ คนยกตามออกมา กองทัพพระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ ยกออกมาถึงเกาะหนูหน้าเมืองสงขลา ยังไม่ทันยกกองทัพขึ้นบนบก พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เห็นกองทัพหลวงยกออกมาถึงเกาะหนูแล้ว จึงให้พวกทหารในค่ายปลักแรกยกปีนจำรงขึ้นตั้งบนค่ายเขาเกาะถ้ำแล้วให้บวงสรวงกระทําสักการบูชาโดยพิธีการหลายอย่างและกระทําพิณพาทย์ยาฆ้องชัย ตั้งโห่ ๓ ลเสร็จแล้ว ซึ่งให้ยิงปืนจารงตรงเข้าไปในค่ายแขกกบฎ เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นมหามหัศจรรย์ กระสุนปีนจำรงที่บรรจุสองสัดสองนัดไปตกลงในกลางค่ายพวกแขกกบฎ แขกกฎก็แตกทัพหนีกลับไปในเวลาพลบค่ำนั้น ปีน จำรงกระบอกนั้นก็ร้าวแตกมาจนทุกวันนี้ และปีนจำรงนั้นเป็นปืนเหล็กรางเกวียน ยาว ๕ ศอก กระสุน ๔ นิ้ว ครั้นพวกแขกกบฎแตกไปแล้ว พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็ลงไปรับพระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ขึ้นจากเรือรบมาพักอยู่ที่จวนพระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ จึงปรึกษากับพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ว่าพวกแขกกบฎกแตกไปหมดแล้ว ตัวพระยาตานี พระยายีริง พระยาสาย ก็ยังติดอยู่ที่เมืองสงขลา ในแขวงเมืองตานี เมืองยิริง เมืองสาย จะเป็นประการใดบ้างก็ยังไม่ได้ทราบ ควรให้พระยายิริง พระยาตานี พระยาสาย รีบล่วงหน้าไปรักษาราชการเมืองเสียก่อนจึงจะชอบ ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วจึงให้พระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย รีบพาพวกแขกลงไปรักษาราชการเมืองตานี เมืองยิริง เมืองสาย เสียก่อน อยู่สองวันสามวันพระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์และพระยาสงขลา ยกกองทัพยกทัพเรือตามออกไปเมืองตานี้ ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) อยู่รักษาราชการเมืองสงขลา ส่วนกองทัพบุตรเจ้าพระยานครยกเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองไทรบุรีได้ นอกเมืองไทรบุรีซึ่งกบฎยกหนีลงเรือไปอยู่เมืองเกาะหมาก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง ) พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ จัดราชการอยู่เมืองตานีเดือนเศษ ต่อกองทัพพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา เจ้าพระยายมราช พระยาเพชรบุรี ออกมาถึงเมืองสงขลา ณ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุนเอกศก ศักราช ๑๒๐๑ ยกกองทัพขึ้นตั้งค่ายอยู่ที่ตําบลบ้านบ่อพลับ พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพมีหนังสือออกไปตามตัวพระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานครกับพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งทั้งรักษาราชการอยู่ที่เมืองตานี้ให้รีบเข้าไปเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ทราบความตามหนังสือแม่ทัพแล้ว จึงจัดแจงให้พระยาวิชิตณรงค์กับนายเม่นมหาดเล็ก บุตรพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) อยู่รักษาราชการเมืองตานี พระยาสงขลา ( เถี้ยนเส่ง) กับพระยาราชวรินทร์ก็รีบกลับเข้ามาเมืองสงขลา พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร ก็ยกเข้ามาเมืองสงขลาพร้อมกัน พระยาไทรบุตรเจ้าพระยานครตั้งค่ายพักอยู่ที่ตําบลท่าอ้าน ในขณะนั้นพระยากลันตันกับพระยาจางวางชื่อตนกูปะสาวิวาทกันขึ้น พระยากลันตันมีหนังสือออกเข้ามาให้นํากราบเรียนพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ และขอให้ยกกองทัพไทยลงไประงับเหตุที่วิวาท พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพซึ่งแต่งให้หลวงศรเศนีปลัดกรมอาสารีบลงไปห้ามปรามพระยากลันกันกับพระยาจางววาง หลวงศรเศนีปลัดกรมลงไปถึงเมืองกลันตันได้ห้ามปรามทั้งสองฝ่ายก็หาฟังไม่ หลวงศรเศนีปลัดกรมบอกหนังสือกราบเรียนมายังพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ พระยาศรีพิพัฒน์ ซึ่งจัดให้พระยาราชบุรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) คุมไพร่ ๒๐๐๐ คนเศษ รีบยกไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตําบลยากังแขวงเมืองสายบุรี ริมเขตต์แดนเมืองกลันตัน แล้วมีหนังสือให้หลวงโกชาอิศหากล่ามรีบถือหนังสือลงไปหาตัวพระยากลันตันกับตนกูปะสาให้รีบเข้ามาเมืองสงขลา หลวงโกชาอิศหากล่ามถือหนังสือลงไปเมืองกลันตันและพาตัวพระยากลันตันกับตนกูปะสาเข้ามาเมืองสงขลาได้ พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพว่ากล่าวระงับการวิวาทให้พระยากลันตันกับตนกูปะสา เลิกการวิวารโรยเรียบร้อยแล้ว พระยากลันตันกับตนกูปะสา ก็ลาพระยาศรีพิพัฒน์เแม่ทัพกลันออกไปรักษาราชการเมืองกลันตันตามเดิม ส่วนเมืองไทรบุรี พระยาศรีพิพัฒนแม่ทัพให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร กลับไปรักษาราชการอยู่ตามเดิม ให้ตนกูเตหวาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงไปว่าราชการเมืองพัทลุง และยกที่พะโคะแขวงเมืองพัทลุงให้เป็นแขวงเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒนแม่ทัพจัดราชการสงบเรียบร้อยแล้ว จึงมีหนังสือออกไปหาพระยาเพชรบุรี พระยาสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ซึ่งรักษาราชการอยู่ที่เมืองสายให้กลับเข้ามาเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจัดราชการอยู่ที่เมืองสงขลาสองปี และได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนเขาเมืองสงขลาองค์หนึ่งเสร็จแล้ว จึงได้ยกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ นําข้อราชการขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเมืองไทรบุรีนั้น ครั้นจะให้คนไทยเป็นผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไปคงจะไม่เป็นการเรียบร้อย ควรแบ่งเมืองไทรบุรีออกเป็นสามเมืองเหมือนอย่างเมืองตานี ซึ่งจะเป็นปกติเรียบร้อยได้ ขอรับพระราชทานให้ยมตวันซึ่งเป็นพระยาไทรบุรีมาแต่ก่อน เป็นพระยาไทรบุรีสืบต่อไป ให้ตนกูอานมเป็นพระยาบังปะสู ให้ตนกูเสศอะเส็มเป็นพระยาปลิด ให้ตนเดหวาเป็นพระยาสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงเป็นพระยาพัทลุง ส่วนพระยาพัทลุงบุตรเจ้าพระยานครนั้นควรพาตัวเข้ามาทําราชการเสียในกรุงเทพฯ แต่เมืองพังงานั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรมขอรับพระราชทานให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานครไปเป็นที่พระยาบริรักษ์ภูธร พระยาพังงา ให้พระนุชิตเป็นที่พระยาตะกั่วป่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราตั้งเข้าเมืองและผู้ว่าราชการเมืองออกมาตามความเป็นพระยาศรีพิพัฒนแม่ทัพ ครั้งนั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย เสร็จราชการแล้วก็กลับออกมาเมืองสงขลา เมืองสงขลาเป็นปกติ ไม่มีการทัพศึกอยู่ ๓ ปี
      
ครั้น ณ ปีฉลุตรีศก โปรดเกล้าฯ มีทองตราออกมาเมืองสงขลาว่าพระยากลันตันกับพระยาจางวาง ตนกูปะสา พี่น้องวิวาทกันขึ้นอีกให้พระเสน่หามนตรีบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช กับพระสนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กับพระยาท้ายน้ำข้าหลวง รีบลงไประงับว่ากล่าวอย่าให้พระยากลันตันกับตนกูปะสาวิวาทแก่กัน ถ้าเห็นว่าจะระงับการวิวาทไม่ได้แล้ว ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) พาตัวตนกูปะสามาไว้เสียที่เมืองแขก ๗ เมือง ซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลา ให้พระเสน่หามนตรีพาตัวพระยาจางวางไปไว้ที่เมืองนครเสีย พระยาท้ายน้ำ พระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ยกกองทัพมาประชุมอยู่พร้อมกันที่เมืองสงขลา แล้วยกกองทัพเลยลงไปเมืองกลันตัน พระยาท้ายน้ำ พระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ได้ว่ากล่าวกับพระยากลันตัน พระยาจางวาง ให้เลิกการวิวาทซึ่งกันและกัน พระยากลันตันกับพระยาจางวางก็หาฟังคําห้ามปรามไม่ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) จึงได้พูดจาเกลี้ยกล่อมพาตัวตนกูปะสากับสมัครพรรคพวกบุตรภรรยาเข้ามาไว้ที่เมืองตานี พระเสน่หามนตรี พาตัวพระยาจางวางกับบุตรภรรยาข้าราชสมัครพรรคพวกไปไว้ที่เมืองนคร พระยาท้ายน้ำก็กลับเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ พระเสน่หามนตรีก็กลับไปเมืองนคร พระสุนทรนุรักษ์ก็กลับเข้ามาเมืองสงขลาเมืองกลันตันก็เป็นปกติเรียบร้อยเรื่อยมา ครั้นปีขาลจัตวาศก ศักราช ๑๒๐๔ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการฝังหลักไชยเมืองสงขลา พระราชทานไม้ไชยพฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่งกับเทียนไชยเล่มหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอุดมปิฎก ประธานสงฆ์ ฐานานุกรมเปรียญ ๘ รูปออกมาเป็นประธาน กับพระราชครูอัษฎาจารย์ พราหมณ์กับพราหมณ์แปดนายออกมาเป็นประธานในการตั้งหลักไชย พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้กะเกณฑ์กรมการและไพร่จ้ดการทําเป็นโรงพิธีใหญ่ขึ้นในกลางเมือง คือที่หน้าศาลเจ้าหลักเมืองเดี่ยวนี้ และตั้งโรงพิธีสี่ทิศ ครั้นเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีขาลจัตวาศก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส่ง) ให้จัดการตั้งกระบวนแห่หลักไม้ไชยพฤกษ์กับเทียนไชยเป็นการใหญ่ คือจัดกระบวนแห่ทั้งพวกจีนและพวกไทยเป็นที่ครึกครื้นเอิกเกริกมาก ตั้งกระบวนแห่หลักไม้ไชยพฤกษ์กับเวียนไชยไปเข้าโรงพิธีแล้วพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเจริญพระปริตต์ พระครูพราหมณ์ก็สวดตามไสยเวท ครั้นวันเดือนสี่ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลาเช้าโมงหนึ่งกับสิบนาทีได้อุดมฤกษ์ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส่ง) กับพระครูอัฎาจารย์พราหมณ์เชิญหลักไม้ไชยพฤกษ์ลงฝั่งไว้ที่กลางเมืองสงขลา มีปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดการสมโภชหลักเมืองเป็นการเอิกเกริกอีก ๕ วัน ๔ คืน มีละครหรือโขนร้องโรง ๑ หุ่นโรง ๑ งิ้วโรง ๑ ละคร ชาตรี ๔ โรง และพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ ๒๒ รูป กับเครื่องบริขารภัณฑ์ต่าง ๆ แก่พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญและพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เป็นอันมากเสร็จแล้ว ครั้นเสร็จการตั้งหลักเมือง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดเรือสําเภาลำหนึ่งส่งพระราชาคณะกับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เข้า ไป ณ กรุงเทพ ฯ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ให้ช่างก่อตึกคร่อมหลักเมืองไว้สามหลังเป็นที่จีนกับศาลเจ้าเสื้อเมืองไว้หนึ่งหลังด้วย ครั้นปีมะโรงฉศก ศักราช ๑๒๐๖ ถึงกําหนดงวดส่งต้นไม้ทองเงิน เมืองสตูลหาส่งต้นไม้ทองเงินมาไม่ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ต้องทําต้นไม้ทองเงินแทนเมืองสตูล แล้วแต่งให้ตนกูเดหวานำต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้าฯ ให้ตนกูเดหวาเป็นพระยาสตูล พระยาจก (เดหวา) กราบถวายยังคมลากลับออกมาเมืองสตูล ในปีนั้นพระยาสตูลกับพระยาปลิดวิวาทกันด้วยเรื่องเขตแดน จึงโปรดเกล้าฯ มีตราออกมาให้เมืองนครกับเมืองสงขลาพร้อมกันออกไปชำระสะสางให้เป็นที่ตกลงเรียบร้อยแก่กัน แล้วให้ปักหลักแดนไว้ให้มั่นคง อย่าให้เกิดเวิวาทกันต่อไป ครั้งนั้น พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอยกเมืองสตูลให้ขึ้นอยู่กับเมืองนคร เหตุด้วยเมืองสงขลาบังคับบัญชาเมืองแขก ๗ เมืองโดยเต็มกําลังแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสตูลขึ้นอยู่กับเมืองนครตั้งแต่นั้นมา ครั้น ณ ปีมะเมียอัฐศก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ป่วยโรคชราจึงได้มีบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ขุนภักดีโอสถหมอยา พันเมืองหมอนวด ออกมาพยาบาล อาการทรงบ้างทรุดลงบ้าง และอาการป่วยให้เคลิบเคลิ้มสติเป็นโบราณชวร ครั้น ณ วันอังคารเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำปีมะแมนพศก ศักราช ๑๒๐๙ เวลา ๓ โมงเช้า พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ถึงอนิจกรรม พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง ) หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ (แสง) และญาติพี่น้องพร้อมกัน ได้จัดแจงศพตั้งไว้ ณหอนั่งเสร็จแล้ว พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ (แสง) แต่งให้หลวงไชยสุรินทร์กรมการถือใบบอกกับเงิน ๑๐๐๐๐ เหรียญ เข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายเงิน ๑๐๐๐๐ เหรียญนั้นคือเป็นพัทยาตา กฎหมายเดิม ภายหลังพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) รีบตามเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เป็นผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา และโปรดเกล้าฯ ให้รีบกลับออกมาจัดการศพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับ พระราชทานศิลาหน้าเพลิงและผ้าไตร ๓๐ ไตร พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ กับโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมื่นตะมังนายช่างทหารในออกมาเป็นช่างทําศพคนหนึ่ง พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) กราบถวายบังคมลากลับออกมาถึงเมืองสงขลา ได้จัดแจงทําการศพ ยังไม่ทันจะเสร็จ ในปีนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์เป็นแม่กองออกมาสักเลขตั้งทําเนียบโรงสักอยู่ที่ตําบลบ้านบ่อพลับ ได้ลงมือสักเลขอยู่หลายเดือน ครั้น ณ วันเดือน ๗ ประกาโอกศก ศักราช ๑๒๑๑ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) พร้อมด้วยญาติพี่น้องได้จัดแจงเผาศพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ที่ทุ่งนอกกําแพงเมืองสงขลา ซึ่งเรียกกันว่าทุ่งเมรุตลอดมาจนทุกวันนี้ แล้วได้เชิญไปฝังไว้ที่ริมเขาแหลมสนทําเป็นฮ่องสุยตามธรรมเนียม จนเสร็จแล้ว อยู่ ๒ วัน พณหัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหมออกมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นพักอยู่ที่ทําเนียบตําบลบ้านบ่อพลับ ตรวจการสักเลขอยู่สามเดือน เสร็จการสักเลขแล้ว พณหัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหมกับพระยาวิชิตณรงค์ก็กลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ 
          
ประวัติจังหวัดสงขลาจากบันทึกของพระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ว่าราชการ ได้กล่าวถึงแค่สมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) หรือพระยาสงขลาที่ ๕ เท่านั้น ซึ่งจากหลักฐานหรือบันทึกอื่น ๆ ที่ได้กล่าวถึงจังหวัดสงขลาไว้เพียงประวัติของเจ้าเมืองสงขลา ตั้งแต่เจ้าพระยาวิเชียรศรี (บุญสัง) ที่ ๕ ถึงพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองในสกุล ณ สงขลา ส่วนเหตุการณ์ในก็ไม่ค่อยจะสําคัญมากนัก เพราะสงครามภายนอกไม่มีและหัวเมืองแขกที่เคยเป็นขบถก็สงบลง

            เจ้าเมืองสงขลาทั้ง ๘ คน ที่ปกครองสงขลา ประกอบด้วย

๑. พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ. ๒๓๑๘-๒๓๒๗
๒. เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) พ.ศ. ๒๓๒๗-๒๓๕๕
๓. พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ. ๒๓๕๕-๒๓๖๐
๔. พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๙๐
๕. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๔๐๘
๖.เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๔๒๗
๗. พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) พ.ศ. ๒๔๒๗-๒๔๓๑
๘. พระยาวิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๔๔

        สำหรับการเขตการปกครองของเมืองสงขลาในสมัยนั้นแบ่งออกเป็น ๑๕ ส่วน เรียกว่าอําเภอ ประกอบด้วย

๑. อําเภอคลัง
๒. อําเภอเมือง
๓. อําเภอนา
๔. อําเภอวัง
๕. อําเภอจะทิ้ง
๖. อําเภอพะโคะ
๗. อําเภอระโหนด
๘. อําเภอชะนะ
๙. อําเภอพวง
๑๐. อําเภอวังชิง
๑๑. อําเภอพตง
๑๒. อําเภอการำ
๑๓. อําเภอกําแพงเพชร
๑๔. อําเภอรัตภูมิ
๑๕. อําเภอพะเกิด

 

          ต่อมาประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนการปกครองอีกหลายครั้ง  จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยกเลิกระบบเดิมทั้งหมดและยกระดับเมืองสงขลาขึ้นเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย
               สงขลาเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่ติดต่อกับรัฐเคดาห์ (โทรบุรี) ของมาเลเซีย เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่ สําคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้มาแต่สมัยโบราณ มีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย อีกทั้งมีขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาและการละเล่นพื้นเมืองที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษตกทอดให้ชนรุ่นหลังให้ติดมามากมาย สงขลามีสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นทรายทะเล น้ําตก ทะเลสาบและมีทรัพยากร ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ในใน ฮาเภอหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการค้า การคมมาคม และเป็นชุมทางขนส่งที่เด็บโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันที่อําเภอเมืองสงขลายังคงมีสภาพบ้านเมืองที่เก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ สงขลาจึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสมกับการท่องเที่ยว เพราะมีลักษณะที่แยกต่างกันในตัวถึง ๒  ลักษณะคือ สภาพเก่าแก่ของบ้านเมืองสงขลาและความเจริญของเมืองหาดใหญ่ ด้วยระยะทางห่างกันประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
             จังหวัดสงขลามีพื้นที่ประมาณ ๗,๓๐๐  ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยอำเภอเมืองสงขลา อําเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อําเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อําเภอควนเนียง อําเภอรัตภูมิ อําเภอบางแก้ว อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาหม่อม  อำเภอจะนะ อาเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อําเภอสะเดา และอําเภอคลองหอยโข่ง


แผนที่อาณาเขตจังหวัดสงขลา
ภาพจาก : คันธรส พวงแก้ว, 2551, 2-4

        ชื่อบ้านนามเมือง 
        - อำเภอเมืองสงขลา             
           คําว่า “สงขลา” มาจากภาษาสันสกฤตหรือบาลีว่า “สิงขระ” หรือ “สิงขรา” ภาษาไทยเขียนและอ่านว่าสิงขร (สิง-ขอน) แปลว่าภูเขา ชาวอินเดียคงแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาสู่ฝั่งตะวันออก เมื่อมองจากทะเลเข้าสู่ฝั่งเมืองสงขลาแลเห็นภูเขาและเกาะแก่งเป็นปราการธรรมชาติ จึงเรียกด้วยถ้อยคําภาษาดังกล่าว ทํานองเดียวกันชาวยุโรปที่เคยบันทึกชื่อเมืองนี้ไว้คือ “ชิงโกรา” หรือ “ซิงกอรา” (Singora) บางท่านกล่าวว่า นักเดินเรือในสมัยนั้นมองเห็นเกาะหน้าเมืองสงขลาเป็นรูปสิงห์หมอบ บางท่านบอกว่าสงขลา มาจากคําบาลีสันสกฤตว่า “สังขะ” หรือ “สังข์” หมายถึงหอยทะเลกาบเดียว มีเปลือกสีขาว ใช้สําหรับหลั่งน้ําพระพุทธมนต์ จึงนํามาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา วางอยู่บนพานแว่นฟ้า และปัจจุบันสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ยังใช้เป็นตราประจําจังหวัดสงขลาด้วย ผู้รู้หลาย ๆ ท่านกล่าวว่าสงขลา น่าจะมาจากคําเขมรคือ “สังฆรา ออกเสียงอย่างเขมรว่า “ซองเคียะเรีย” หมายถึงพายุใหญ่ โดยเข้าใจว่าชาวเขมรมาถึงฝั่งสงขลาขณะเกิดลมพายุ และความเกี่ยวข้องกับคลื่นลมนี้จึง สอดคล้องกับชื่อหาดทรายริมทะเลสาบสงขลาคือ “หาดสมิหรา” เป็นคําบาลีสันสกฤตว่า “สมิระ” หมายถึงลมพัดหรือกระแสลม แต่บางท่านบอกว่าสมิหรา เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ปรากฏว่าเมืองสงขลาเป็นที่ตั้งของมณฑลนครศรีธรรมราช และในขณะนั้นเมืองสงขลามีเขตปกครอง ๕ อําเภอ คืออําเภอกลางเมือง (ปัจจุบันคืออําเภอเมืองสงขลา) อําเภอปละท่า (ปัจจุบันคืออําเภอสทิงพระ) อําเภอเหนือ (ปัจจุบันคืออําเภอหาดใหญ่) อําเภอจะนะ อําเภอเทพา และรับโอนอําเภอสะเดามาจากอําเภอจังโหลน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมืองสงขลาก็เปลี่ยนเป็นจังหวัดสงขลา 
         สถานที่สำคัญ

๑. เขาตังกวนอยู่ทิสตะวันตกของเขาน้อยสูงจากระดับน้ำพะเล ๒,๐๐๐ ฟุต บนยอดเขามีเจดีย์ ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองสงขลาและทะเลสาบได้อย่างชัดเจน
๒. เขาน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาตังกวนใกล้กับแหลมสมิหลา ซึ่งเป็นที่ตั้งสวนเสรีสวนสุขภาพ เขาน้อยเป็นที่ตั้งสโมสรข้าราชการและสนามเทนนิส เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ พลเอกเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิมัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
๓. เขาเก้าเส้ง ตั้งอยู่ริมทะเลอ่าวไทยอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองสงซลา เป็นเขาที่ยื่นออกไปในทะเลฮ่าวไทย มีโขดหินระเกะระกะอยู่ริมทะแล และมีหินก้อนหนึ่งตั้งอยู่บนโขดหินตรงหน้าผาริมทะเล ขาวบ้านเรียกก้อนหินก้อนนั้นว่า "หัวนายแรง" และมีคนเล่าขานกันว่ามีสมบัติใต้หินก้อนนี้

           สภาพทางภูมิศาสตร์
           ที่ตั้ง อำเภอเมืองสงขลา เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา ตั้งเมื่อ พ ศ. ๒๔๕ต โดยที่ว่าการอำเภอหลังปัจจุบัน ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ และตั้งอยู่บริเวณปากทะเลสาบสงขลา ริมทะเลหลวง (อ่าวไทย) ห่งจากกรุงเทพมหานคร ตามเส้นทางรถไฟ ๙๔๗ กิโลเมตร ทางหลวงแผ่นดิน ๑,๒๐๐ ก็โลเมตร ทางทะเล ๗๒๕ กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ ๑๘๙,๒๖๙ ตารงกิโลเมตร 
           อาณาเขต

- ทิศเหนือ ติดกับอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
- ทิศใต้ ติดกับอำเภอจะนะ อำเภอนาหม่อม อำเภอหาดใหญ่
- ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวไทย
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสิงหนคร และทะเลสาบสงขลา

       พื้นที่เป็นที่ราบริมอ่าวไทยและทะเลสาบเหมาะแก่การทำประมง ส่วนกลางเป็นภูเขาเป็นแนวยาวจากทางทิศเหนือ ไปทางทิศใต้ จากเขาก้าเส้ง เขาสำโรง ตำบลเขารูปช้าง ไปถึงตำบลทุ่งหวัง จึงเหมาะแก่การทำสวนยางพาร สวนผลไม้สภาพดินฟ้าอากาศ อำเภอเมืองสงขลา มี ๒ ฤดู คือ

- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เตือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนตุลาคม ระยะนี้เป็นช่วงฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเริ่มร้อนและมีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนนักเนื่องจากอยู่ใกลัทะเล กระแสลมและไอน้ำ พัดผ่านทำให้อากาศร้อนเบาบางลง และในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นมรสุมหน้าร้อนพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย นำความชื้นและไอน้ำมาปกคลุมและฝนตกโดยทั่วไป
- ฤดฝน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม อำเภอเมืองสงลา ตั้งอยู่ชายทะเลบ่าวไทยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกชุกในทะเลคลื่นลมแรงมาก ซึ่งเป็นช่วงที่ซาวนาได้ประกอบอาชีพทำนาข้าว โดยอาศัยน้ำผ่นจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

          อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีลำนำและคลอง ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลทางทิศเหนือไปทางทิศใต้ มีเทือกเขาซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำและต้นน้ำ มีลำธารหลายสายไหลมารวมเป็นคลองสายสั้น ๆ ประกอบด้วย

- คลองขวาง เป็นคลองอยู่ในเทศบาล ขณะนี้เป็นทางระบายน้ำสู่ทะเลสาบสงชลา
- คลองสำโรง เป็นคลองแบ่งแนวเขตเทศบาลเมืองสงขลากับตำบลเขารูปช้างจากอ่าวไทย สายน้ำไหลลงทะเลสาบสงขลามีความยาว ๕ กิโลเมตร
- คลองบางดาน อยู่ในพื้นที่ตำบลพะวง
- คลองลึก อยู่ในพื้นที่ตำบลพะวง  สายน้ำไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา
- คลองวง อยู่ในตำบลพะวง บางส่วนเป็นสันแบ่งแนวเขตอำเภอเมืองสงชลากับอำเภอหาดใหญ่ สายน้ำไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา       
คลองสำโรงตอนบนแยกจากดลองสำโรงที่บริเวณก้าเส้ง ไปทางทิศใต้ผ่านขารูปช้างเกาะแต้วยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งอำเภอได้ทำโครงการพัฒนาจังหวัด ปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘

         อำเภอหาดใหญ่ 
          คำว่า “หาดใหญ่” ความจริงมีความหมายอยู่ในตัวไม่ต้องแปลซ้ำอย่างชื่อของจังหวัด (สงขลา) หรือชื่ออำเภออื่น ๆ เช่น  สทิงพระ ระโนด หรือจะนะ แต่เมื่อมาเป็นชื่ออำเภอของจังหวัดในภาคใต้ จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า “หาดใหญ่” มีความหมายว่าอย่างไร
           ความหมายของคำว่า "หาดใหญ่"
         
หาดทรายขนาดใหญ่ หลักฐานที่นำมาสนับสนุนได้ดีก็คือเมื่อในปี ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จกลับจากการประพาสอินเดีย เสด็จขึ้นบกที่ไทรบุรีไปสงขลา ทรงแวะประทับแรมที่ “หาดทรายใหญ่” ริมคลองอู่ตะเภา ท่าหาดใหญ่ และเมื่อ ๕-๖ สิบปีก่อน มีบทประพันธ์เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับหาดใหญ่ พระเอกในเรื่องได้เดินทางไปพักที่หาดใหญ่ ตื่นขึ้นมาเปิดหน้าต่างมองออกไปเห็น “หาดทราย” กว้างใหญ่ จากข้อเขียนของแพทย์หญิงรัชนี บุญโสภณ ระบุว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อน เพื่อนชวนไปปิคนิคบนหาดทรายที่ผุดขึ้นในคลองอู่ตะเภา ต้องลงจากตลิ่ง ซึ่งค่อนข้างสูงชันข้างบ้าน เหมือนหาดทรายที่ผุดขึ้นในแม่น้ำโขงยามหน้าแล้งเป็นหาดค่อนข้างขาวสะอาด กว้างใหญ่ ซึ่งท่านคิดว่าหาดนี้เองที่พระเอกคนนั้นเห็นเรื่องราวข้างต้น ประกอบกับหลักฐานที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองหาดใหญ่หลายท่านจำกันได้ และเล่าสู่กันฟังว่าหาดทรายในคลองอู่ตะเภา บริเวณหลังที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน ยามหน้าแล้งนั้นกว้างใหญ่มาก เคยเป็นตลาดนัดใหญ่มาแต่โบราณกาล ขนาดมีเรือใหญ่มาจอดไม่ต่ำกว่าครั้งละ ๕๐ ลำ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่  ๒ เมื่อญี่ปุ่นสร้างสะพานข้ามคลองอู่ตะเภา ตรงบริเวณใกล้ที่ว่าการอำเภอ ตลาดนัดที่เคยเป็นชุมชนและชุมทางของคนค้าคนขาย จากต้นน้ำถึงปลายน้ำของคนรอบทะเลสาบ ของคนที่อยู่ชายฝั่งอ่าวไทยเรื่อยลงไปถึงปัตตานี นราธิวาส และชุมทางของคนค้าคนขายในเขตป่าเขาด้านตะวันตกและด้านใต้ของหาดใหญ่ เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนของป่า อย่างน้ำผึ้งชัน สัตว์ป่า สมุนไพร ของพื้นราบ อย่างข้าว น้ำตาลโตนด หม้อไห และของทะเล อย่าง กุ้ง ปลา และเกลือ เป็นต้น ต้องซบเซาจนหมดไป เพราะผู้คนหันมาติดต่อกันทางบกมากขึ้น แม้หาดทรายก็ถูกดูดเอาไปขาย เพราะทรายมีคุณภาพดีเหมาะในการใช้ก่อสร้าง ซึ่งเพิ่มขึ้นตามความเจริญเติบโตของบ้านเมือง           

         - มะหาดใหญ่ หลักฐานกล่าวหนักแน่นถึงคำว่าหาดใหญ่กร่อนมาจากคำว่า “มะหาดใหญ่” ตามภาษาพูดของชาวใต้ที่ชอบพูดสั้น ๆ “มะหาด” เป็นไม้ใหญ่ประเภทขนุน เรื่องนี้ กี่ จิระนคร บุตรท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์เปิดอนุสาวรีย์ขุนนิพัทธ์จีน เมื่อปี พ.ศ. ว่ามะหาดมี ๓ ชนิด คือมะหาดขนุน เป็นไม้เนื้ออ่อน ผุเปื่อยง่าย มะหาดควน เป็นไม้เนื้อแข็ง และมะหาดน้ำผุเปื่อยง่าย และได้อ้างคำบอกเล่าของคนที่บรรพบุรุษอยู่ที่บ้านหาดใหญ่ หมู่ที่ ๓ อำเภอฝ่ายเหนือ (ชื่อเรียกอำเภอหาดใหญ่ ในระหว่างปี ๒๔๔๒–๒๔๖๐) ว่าที่มาของคำว่า “หาดใหญ่” มาจากการที่มีต้นมะหาดขนุนขนาดใหญ่ให้ผู้คนใช้หลบแดดอยู่ริมฝั่งคลองเตย (ลำห้วยสายหนึ่งที่ไหลคดเคี้ยวผ่านเมืองหาดใหญ่) ช่วงปลายถนนนิพัทธ์อุทิศ ๓ มาต่อกับถนนศรีภูวนารถ ต้นมะหาดที่สำคัญ คือต้นมะหาดไม่ได้มีต้นเดียว ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อครั้งมีการก่อสร้างอุโมงค์ตลอดทางรถไฟ (ถนนศรีภูวนารถ) ปรากฏว่าในบริเวณใกล้เคียงกับต้นมะหาดขนุนขนาดใหญ่ต้นดังกล่าวมีตอต้นมะหาดอยู่หลายตอทีเดียว นอกจากนั้นคนเก่าแก่ที่เคยอยู่ริมคลองอู่ตะเภา ยังเล่าว่าบ้านริมคลองอู่ตะเภาที่มีเสาเรือนทำจากไม้มะหาด ยังมีเหลือให้เห็นสมัยก่อนผู้คนที่มาจากวังพา เวลามาตลาดนัดหาดใหญ่เขาจะหมายตาต้นมะหาดใหญ่ ที่ชายคลองอู่ตะเภาฝั่งตรงข้ามกับหาดเป็นเป้าหมาย ตั้งแต่เดินตัดทุ่งมาควนลังเลยทีเดียว ต้นมะหาดต้นนี้ได้ล้มลงฝังตัวอยู่ในคลอง เมื่อมีการดูดทรายไปขายจนตลิ่งพังลง และคิดว่าถ้าขุดบริเวณนั้นดูก็จะต้องพบต้นมะหาดต้นนี้
           ประวัติอำเภอหาดใหญ่
   บ้านโคกเสม็ดชุนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ปรากฏหลักฐานว่ามีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ที่ทำการ ไปรษณีย์โทรเลขเชิงสะพานลอยเป็นบ้านของนายปลอดปลูกอยู่ในอาณาเขตของบ้านโคกเสม็ดชุน และยังมีบ้านอีกหลายหลังตั้งอยู่ห่าง ๆ กันไปจนถึงบริเวณที่ทำการสถานีตำรวจรถไฟบริเวณบ้านโคกเสม็ดชุนมีต้นไม้ขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ต้นมะม่วง ต้นมะไฟ ต้นตาล ฯลฯ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวบ้าน ที่มักจะปลูกผลไม้พื้นบ้านควบคู่ไปกับการตั้งบ้านเรือนเสมอสภาพพื้นที่โดยรอบบ้านโคกเสม็ดชุนในสมัยนั้นเป็นหนองเป็นบึง มีป่ารกร้างโดยรอบบ้านเรือน ของผู้คน แต่ก็ยังมีชาวบ้านจากบ้านอื่น ๆ เช่น บ้านกลางได้ขยับขยายย้ายถิ่นฐานไปบุกเบิก ป่ารกร้างแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของวัดโคกสมานกุล) ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าบ้านปลักขี้ใส่โพลง ผู้บุกเบิกป่าในช่วงนั้นมีอยู่สองครอบครัว คือนายบัวแก้ว นางหนุนจีน จันทเดช และนายเพ็ชรแก้ว นางเขียว ไชยะวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กระทรวงคมนาคมได้ประกาศเวนคืนที่ดินส่วนหนึ่ง (ที่ตั้งของบ้านพักรถไฟในปัจจุบัน) เพื่อตัดทางรถไฟผ่านไปปาดังเบซาร์ แหลมมาลายู และสิงคโปร์ ชาวบ้านครอบครัวหนึ่งคือนายง่วง นางซีด้วง สะระ ได้รื้อย้ายหามเรือนไห ตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของ โรงแรมวังน้อย (ใกล้สี่แยกถนนดวงจันทร์-ถนนแสงจันทร์) ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกบริเวณแถบนี้ว่าบ้านโคกบก เป็นบ้านรกร้างมานานหลายสิบปี ผู้บุกเบิกป่าบ้านโคกบกมาก่อน คือนายเพ็ชร แก้วไชยวงศ์ และนายสัก บุญมี ในช่วงเวลาอันไล่เลี่ยกันนี้ชาวบ้านจากบ้านต่าง ๆ พากันบุกเบิกป่าอีกหลายแห่ง เช่น แถบบริเวณวัดมงคลเทพารามหรือวัดปากน้ำ ถนนแสงศรี หรือในสมัยก่อนเรียกว่าปลักโต้พุดทอง และปลักจันเหร็ง มีสภาพเป็นหนองเป็นป่าลึกมาก คลองเตยเป็นคลองสายเก่าแก่ที่สุดของนครหาดใหญ่ เมื่อกว่า ๘๐ ปีก่อนคลองเตยยังเป็นคลองน้ำลึกและกว้างมาก มีพันธุ์ไม้นานาชนิดทั้งไม้ล้มลุกและไม้ยืนต้น มีสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น ปลา เต่า ตะพาบน้ำ หอยโข่ง และอื่น ๆ อาศัยอยู่มากมาย ส่วนริมฝั่งคลองเตยทั้ง ๒ ฝั่ง มีต้นไม้ใหญ่เรียงรายโดยเฉพาะต้นไผ่ป่าขึ้นเรียงเป็นแถวเป็นแนวเหมือนกำแพงทั้ง ๒ ฝั่งคลอง คลองสายนี้มีต้นน้ำมาจากทางด้านตะวันออก ไหลเข้าสู่ทางด้านใต้ของสถานีรถไฟหาดใหญ่ ผ่านบริเวณทุ่งเสาไหลเรียบ ถนนสายต่าง ๆ ในตัวเมืองหาดใหญ่เป็นคลองที่มีความยาวและคดเคี้ยวไปมา ในปัจจุบันตื้นเขินและไม่สามารถสัญจรได้ คลองอู่ตะเภาอยู่ทางทิศตะวันตกยาวประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีปริมาณน้ำมากตลอดทั้งปีใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้ ในสมัยก่อนบริเวณแถบริมคลองอู่ตะเภามีลักษณะเป็นหาดทรายใหญ่ แต่ปัจจุบันไม่มีหาดทรายหลงเหลืออยู่เลย เพราะได้นำทรายไปใช้ประโยชน์จนหมดสิ้นแล้ว หาดทรายนี้เกิดจากการพัดพาธารน้ำเล็ก ๆ สามสายไหลมาบรรจบกันธารน้ำทั้งสามสายนี้ยังเป็นแหล่งที่ชาวบ้านพากันมาล้างแร่ด้วยเวลาผ่านไปทรายที่ถูกน้ำพัดพามา ก็รวมกันเป็นหาดทรายกว้างเรียกว่าหาดทราย และใช้เป็นแหล่งตลาดนัดสำหรับขายของในสมัยก่อน
             การพัฒนาความเจริญของนครหาดใหญ่
 
        หาดใหญ่เป็นชื่อรวมของหมู่บ้านโคกเสม็ดชุนและบ้านหาดใหญ่ เดิมดินแดนหาดใหญ่เป็นเนินสูงมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก การคมนาคมไม่สะดวก เป็นป่าต้นเสม็ดชุน โดยทั่วไปชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านโคกเสม็ดชุน เมื่อทางการได้ตัดทางรถไฟมาถึงท้องถิ่นนี้จึงมีประชาชนอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินและเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ สมัยนั้นสถานีชุมทางรถไฟอยู่ที่สถานีอู่ตะเภา (ด้านเหนือของสถานีรถไฟหาดใหญ่ ในปัจจุบันเป็นเพียงที่หยุดรถไฟ) เนื่องจากสถานีอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมเป็นประจำ ทางการรถไฟจึงได้ย้ายสถานีมาอยู่ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ปัจจุบัน ประชาชนได้ทยอยติดตามมาสร้างบ้านเรือนตามบริเวณสถานีนั่นเอง ต่อมาได้มีผู้เห็นการไกลกล่าวว่าบริเวณสถานีรถไฟหาดใหญ่นี้ ต่อไปภายหน้าจะต้องเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน จึงได้มีการจับจองและซื้อที่ดินแปลงใหญ่จากราษฏรพื้นบ้าน บุคคลที่ครอบครองแผ่นดินผืนใหญ่ ๆ อาทิ นายเจียกีซี (ต่อมาได้รับพระราชทานนามเป็นขุนนิพัทธ์จีนนคร) คุณพระเสน่หามนตรี นายซีกิมหยง และพระยาอรรถกระวีสุนทร ทั้ง ๔ ท่านนี้นับว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ ความเจริญก้าวหน้าให้แก่นครหาดใหญ่อย่างแท้จริง ได้ตัดถนนสร้างอาคารบ้านเรือนให้ราษฏรเช่า ตัดที่ดินแบ่งขาย เงินที่ได้ก็นำไปตัดถนนสายใหม่ต่อไป ทำให้ท้องถิ่นรุดหน้าอย่างอัศจรรย์ ชุมชนหาดใหญ่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทางราชการต้องยกฐานะให้บ้านหาดใหญ่เป็นอำเภอที่มีชื่อว่า อำเภอเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเหนือเป็นอำเภอหาดใหญ่ และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอชั้นเอกในที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หาดใหญ่มีฐานะเป็นสุขาภิบาลซึ่งประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฏาคม ๒๔๗๑ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๒๙ กรกฏาคม ๒๔๗๑ ต่อมาสุขาภิบาลแห่งนี้เจริญขึ้นมีพลเมืองหนาแน่นขึ้น และมีกิจการเจริญก้าวหน้า กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศพระราชกฤษฏีกายกฐานะเป็นสุขาภิบาลหาดใหญ่เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๘ ซึ่งในขณะนั้นมีเนื้อที่ ๕ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๕,๐๐๐ คน รวมถึงมีรายได้ประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากประชาชนในเขตเทศบาลอยู่หนาแน่น พร้อมทั้งกิจการได้เจริญขึ้นจึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาลจึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาลตำบลหาดใหญ่ เป็นเทศบาลเมืองหาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๒ ตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๙๒ ในขณะนั้นมีเนื้อที่ ๕ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๑๙,๔๒๕ คน มีรายได้ ๓๗๔,๕๒๓.๓๓ บาท ต่อมาประชาชนอาศัยในเขตเทศบาลเพิ่มปริมาณหนาแน่นมากขึ้น พร้อมทั้งกิจการของเทศบาลได้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นจึงได้เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลจาก เนื้อที่ ๕  ตารางกิโลเมตร เพิ่มอีก ๓ ตารางกิโลเมตร รวมเป็นเนื้อที่ ๘ ตารางกิโลเมตร ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๐๔ ในขณะนั้น โดยมีประชากร ๓๘,๑๖๒ คน และมีรายได้ ๓,๘๕๔,๙๖๔.๑๗ บาท ต่อมาท้องที่ในเขตเทศบาลได้เจริญขึ้น มีประชากรอยู่หนาแน่นเพิ่มปริมาณมากขึ้น และเพื่อประโยชน์ในการบริหารและการทำนุบำรุงท้องถิ่น จึงได้เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล เมืองหาดใหญ่ จากเนื้อที่ ๘ ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นอีก ๑๓ ตารางกิโลเมตร รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๒๑ ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๐ ตามพระราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๐ ในขณะนั้นมีประชากร ๖๘,๑๔๒ คน มีรายได้ ๔๙,๗๗๔,๕๕๘.๗๘ บาท นับได้ว่าเทศบาลเมืองหาดใหญ่เป็นเทศบาลชั้น ๑  มีความเจริญก้าวหน้า มีประชากรหนาแน่น ขยายตัวอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเป็นเมืองท่องเที่ยวและแหล่งศูนย์กลางของหาดใหญ่
      อำเภอหาดใหญ่ในอดีตเป็นที่ทราบกันดีว่านี่คืออำเภอชั้นเอกของประเทศไทย แม้ปัจจุบันหาดใหญ่ถูกแบ่งเป็นกิ่งอำเภอนาหม่อม เมือปี ๒๕๒๔ กิ่งอำเภอบางกล่ำ เมื่อปี ๒๕๒๙ และกิ่งอำเภอคลองหอยโข่ง เมื่อปี ๒๕๓๕ และปัจจุบันยกฐานะเป็นอำเภอหมดแล้ว แต่หาดใหญ่ ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางในทุกด้านเช่นเดิม โดยมีเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นพื้นที่ศูนย์กลางหลักของเมือง และพื้นที่รอบข้างก็เติบโตตามการขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นเป็นเทศบาลเมืองบ้านพรุ ควนลัง คอหงส์ คลองแห ทุ่งตำเสรวมถึงเทศบาล และอบต.ที่พร้อมรับการขยายตัวของนครหาดใหญ่ออกสู่รอบนอก หาดใหญ่วันนี้คงเหลือพื้นที่ปกครองประมาณ ๘๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรเกือบ ๔ แสนคน (ตามทะเบียนราษฎร์) หากนับรวมประชากรแฝงคาดว่าจะมีไม่ตำว่า ๖ แสนคน จากจำนวนประชากรเฉียด  ๒ ล้านคนของจังหวัดสงขลา แบ่งเป็น ๑๓ ตำบล ๑๕ อปท. (อปท.ที่มี ๒ เขตคือตำบลบ้านพรุ ทม. บ้านพรุ และทต. บ้านไร่ ตำบลพะตง ทต.พะตง และอบต.พะตง) ๑๓ ตำบลในหาดใหญ่ ประกอบด้วย หาดใหญ่ ควนลัง ทุ่งตำเสา ฉลุง บ้านพรุ พะตง คอหงส์ ทุ่งใหญ่ ท่าข้าม น้ำน้อย คูเต่า คลองแห คลองอู่ตะเภา ในปี ๒๕๖๐ อำเภอหาดใหญ่มีอายุครบ ๑๐๐ ปี ดร. ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ได้จุดประกายในการจัดงาน ๑๐๐ ปี อำเภอหาดใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่เป็นมงคลนี้ ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าหาดใหญ่นั้นเป็นเมืองที่เจริญเติบโตด้วยตัวเองโดยเฉพาะภาคเอกชนที่เข้มแข็งไม่ว่าจะเป็นขุนนิพัทธิ์จิระนคร คุณพระเสน่หามนตรี นายซีกิมหยง และพระยาอรรถกระวีสุนทร คือผู้บุกเบิกสร้างหาดใหญ่ให้เป็นเมืองที่มีระบบระเบียบ มีเส้นทางคมนาคมที่กว้างใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองเก่าอื่น ๆ ถนนในเมืองหาดใหญ่ถือว่ากว้างมากนั่นคือสิ่งสะท้อนถึงการมองอนาคตของผู้นำพัฒนาหาดใหญ่ในอดีต ในโอกาส ๑๐๐ ปีอำเภอหาดใหญ่ เชื่อว่าการเฉลิมฉลองคงไม่เพียงแต่ภายในเทศบาลนครหาดใหญ่เท่านั้น แต่จะเป็นในนามอำเภอหาดใหญ่ รวมถึงหาดใหญ่แต่แรกตั้งคือบางกล่ำ นาหม่อม คลองหอยโข่ง ในฐานะส่วนหนึ่งของหาดใหญ่ในยุคแรกเริ่ม บุคคลสำคัญของหาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายอำเภอ อดีตนายกเทศมนตรี อดีตกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีส่วนในการสร้างให้หาดใหญ่ เป็นหัวเมืองหลักของประเทศไทย บุคคลเหล่านี้ควรได้รับการยกย่องและมีประวัติให้ลูกหลานได้จารึกนึกถึงกันตลอดไป
         ความเป็นมาชุมทางหาดใหญ่
    
   จากข้อมูลเมืองหาดใหญ่ส่วนที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น มีตึกรามบ้านช่อง ห้างร้าน และโรงแรมขนาดใหญ่ในขณะนี้ ก่อนนี้ไม่ได้เรียกหาดใหญ่เดิมจะเป็นพื้นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ สลับกันไปตามธรรมชาติของดินตะกอน ปลายน้ำที่จะออกสู่ทะเลประกอบด้วย พรุ มาบ ปลัก ท้องนา ป่าเสม็ด และโคก โคกที่ใหญ่และสำคัญ คือโคกเสม็ดชุนอันมีศูนย์กลางคือสถานีชุมทางหาดใหญ่ และอาณาบริเวณโดยรอบออกไปทางฝั่งตะวันตกถึงวัดโคกสมานคุณ (เสม็ดชุน) มีโคกเล็ก ๆ อีกโคกหนึ่งตรงบริเวณสุดถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ ต่อกับถนนศรีภูวนารถ ใกล้อุโมงค์ลอดทางรถไฟอันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนผู้คน ได้ปรากฏหลักฐานว่าเป็นที่ตั้งของบ้านหาดใหญ่ หมู่ที่ ๓ อำเภอฝ่ายเหนือ เลยไปจนถึงสุดบริเวณสุดสายถนนนิพัทธ์อุทิศ ๓ ระหว่างโคกเสม็ดชุน และโคกเล็ก ๆ เรียกกันว่าพรุบัว อยู่บริเวณโรงแรมโฆษิต ถัดจากพรุบัว เข้ามาใจกลางเมืองถึงตลาดกิมหยง พื้นที่มีลักษณะเป็นท้องกะทะเต็มไปด้วยป่าเสม็ดผู้คนไปหาใบพ้อมาห่อต้มและหาหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาใส่ข้าวเหนียวนึ่งในป่าเสม็ดแห่งนี้แถวถนนเชื่อมรัฐเป็นท้องนา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เครื่องบินญี่ปุ่นถูกยิงจากสงขลามาตกหัวปักลงที่ท้องนานี้ ตรงบริเวณโบสถ์คริสต์ปัจจุบันบริเวณน้ำพุ แถวบ้านขุนนิพัทธ์จีนนคร ก็เป็นโคกอีกทีก่อนจะลาดต่ำไปเป็นพรุจนถึงคลองเตย ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้กลับเข้ามาในเมืองแถววัดมงคลเทพาราม (วัดปากน้ำ) ถนนแสงศรีบริเวณนี้เคยเป็นปลัก คือปลักจันเหรงและปลักโต้พุดทองแถวถนนประชารักษ์ เคยเป็นสวนใหญ่มีผู้คนที่อยู่มาก่อนพอสมควรเป็นสวนผลไม้ กล้วย มะพร้าว และไผ่กอใหญ่ ๆ ขนาดใต้กอไผ่ทำหลุมหลบภัยสงครามโลกครั้งที่  ๒ ลงไปหลบได้ทั้งครอบครัว นอกจากเป็นสวนก็มีที่ชุ่มน้ำเป็นมาบที่กว้างใหญ่ น่านั่งเล่นริมมาบยามบ่ายยามเย็น สถานีรถไฟที่โคกเสม็ดชุนนี้เดิมเป็นป้ายหยุดรถ สถานีจริง ๆ คือสถานีชุมทางอู่ตะเภาอยู่เหนือขึ้นไปราว ๓ กิโลเมตร ภายหลังพบว่าไม่เหมาะเพราะเป็นที่ต่ำ น้ำท่วมทุกปีจึงย้ายออกมาตั้งสถานีใหม่ที่โคกเสม็ดชุน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีการประชุมระหว่างข้าราชการ ปลัดเทศบาล นายช่างรถไฟ นายไปรษณีย์ และพ่อค้า เพื่อเปลี่ยนชื่อสถานีเนื่องจากชื่อโคกเสม็ดชุนเรียกยากและเขียนยาก โดยเฉพาะในการติดต่อกับต่างประเทศ ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร ได้เสนอให้ใช้คำว่า “หาดใหญ่” เพราะท่านใช้คำนี้ติดต่อกับชาวมาเลเซีย ฝรั่ง และจีนในธุรกิจการค้าต่าง ๆ ของท่าน และรู้จักกันดีในนามนี้ในภาษาจีนยังเขียนอ่านได้ว่า “ฮับใหญ่” ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีชุมทางหาดใหญ่” ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และเป็นปีเดียวกับที่มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอฝ่ายเหนือเป็นอำเภอหาดใหญ่ด้วยแต่ที่ว่าการอำเภอก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม คือที่บ้านหาดใหญ่ริมคลองอู่ตะเภา บริเวณที่บางคนในยุคนั้นเรียกว่า “บ้านใน” ซึ่งในปัจจุบันคนในยุคนี้เรียกว่า “หาดใหญ่ใน
          ๘ หมู่บ้านเก่าแก่ในหาดใหญ่
   
  อำเภอหาดใหญ่ก่อนที่จะมาเป็นอำเภอหาดใหญ่มีถึง ๑๒ ตำบล ๘๙ หมู่บ้าน และมีประชากรถึง ๓๐๖,๖๖๐ คนนั้นพบว่าในอดีต เมืองนี้มีหมู่บ้านเก่าแก่อยู่เพียง ๘ หมู่บ้านเท่านั้น นั่นคือบ้านหาดใหญ่ บ้านโคกเสม็ดชุน บ้านคลองเรียน บ้านกลาง บ้านบางหัก บ้านฉาง บ้านเกาะเลียบ และบ้านท่าเคียน โดยมีสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางของชุมชน

- บ้านหาดใหญ่ อยู่ทางทิศใต้ของสถานีเลียบริมฝั่งคลองเตยไปทางด้านตะวันออก (ปัจจุบันคือถนนศรีภูวนารถ) ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๖ มีบ้านเรือนอยู่ ๙ หลัง ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๓ บ้านหาดใหญ่ มีบ้านหลังแรกตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาศรีภูวนารถ เลียบริมฝั่งคลองเตย จนถึงหลังที่ ๙ ซึ่งเป็นหลังสุดท้ายตั้งอยู่ปากอุโมงค์รถไฟถนนศรีภูวนารถ ปลายถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑
- บ้านโคกเสม็ดชุน อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีรถไฟหาดใหญ่ มีบ้านเรือนตั้งอยู่บริเวณถนนนิยมรัฐ (หรือบริเวณที่ตั้งโรงแรมโฆษิต) ขึ้นไปทางทิศเหนือถึงที่ทำการตำรวจรถไฟจนถึงบริเวณที่ตั้งวัดโคกเสม็ดชุน (วัดโคกสมานคุณปัจจุบัน) ตลอดจนริมถนนเพชรเกษมถึงวงเวียนน้ำพุ
- บ้านคลองเรียน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่เล็ก ๆ มีมาช้านานแล้ว มีวัดเก่าแก่วัดหนึ่งเรียกว่า “วัดคลองเรียน” มีหลวงพ่อปาน ปุญญมโน เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อปานมีลูกศิษย์วัดประมาณ ๑๐ คน ท่านสามารถอุปถัมภ์วัดของท่านมาเองโดยตลอด โดยการทำโรงเผาอิฐเรียกว่า “โรงเตาเผาอิฐหลวงพ่อปาน” ตั้งอยู่บริเวณโรงแรมโนราในอดีต ซึ่งบริเวณดังกล่าวนี้เรียกว่า “ปลักมดหนอย” เป็นบึงขนาดใหญ่ แต่อยู่บนพื้นที่สูงเวลาหน้าฝนเกิดน้ำท่วมชาวบ้านจะพาสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ มาพักอาศัยอยู่ที่ปลักแห่งนี้
- บ้านกลาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดโคกเสม็ดชุนมีพื้นที่เป็นนาโดยรอบหมู่บ้าน ในสมัยก่อนต้องอาศัยคันนาเป็นทางเดินไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นาส่วนใหญ่ มีถนนดินลูกรังเป็นเส้นทางคมนาคมก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๖ มีบ้านเรือนอยู่ ๖ หลัง
- บ้านบางหัก อยู่ทางทิศเหนือของบ้านพักข้าราชการอำเภอหาดใหญ่ ปัจจุบันคือถนนสาคร-มงคล ผ่านบ้านท่าทราย และ บริเวณที่ตั้งโรงกลั่นสุรา ตรอกตะปู เลียบริมคลองอู่ตะเภา ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๖ มีบ้านเรือนอยู่ ๑๔ หลัง
- บ้านฉาง อยู่ทางด้านตะวันออกของถนนสาครมงคล ทิศเหนือของบ้านฉางติดทุ่งนาจรดสถานีอู่ตะเภา ทิศตะวันออกติดทุ่งนาจรดทางรถไฟ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๖ มีบ้านเรือนอยู่ ๑๐ หลัง

- บ้านเกาะเลียบ อยู่ตอนเหนือของวัดโคกเสม็ดชุน ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๖ มีบ้านอยู่เพียง ๑ หลัง เป็นบ้านนายแก้ว นางสุ่น โยมของท่านพระครูอมรฯ วัดโคกเสม็ดชุน บ้านเกาะเลียบในสมัยนั้นมีพื้นที่เป็นนาทั้งหมด มีต้นไม้ใหญ่และต้นเตยเป็นกำแพงล้อมรอบบ้าน มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่

บ้านท่าเคียน บ้านท่าเคียน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ มีประชาชนอาศัยอยู่ ๑๗ คร้วเรือนปัจจุบันมี ๒ ท่าเตียน คือท่าเคียนตก หมายถึงฝั่งตะวันตกคลองอู่ตะเภา ท่าเตียนออกหมายถึง บริเวณต่อเนื่องในการสู้รบถึงขั้นตะลุมบอน ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ และลูกหลานหลวงบริรักษ์ภูเบศร ผู้ร่วมสู้รบครั้งนั้นยังคงพํานักอาศัยเกาะติดพื้นที่บางส่วนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ หากถือเขายุคหลวงบริรักษ์ภูเบศรเป็นหลัก (ปี พ.ศ. ๒๓๘๑) สืบต่อมา ๓ ช่วงชั้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ 

      อำเภอสทิงพระ
       สทิงพระจากตำนานพระธาตุนครฯ และตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงพญาศรีธรรมาโศกราช ขี่ช้างหนีไข้ห่าลงมาจากนครอินทปัตบุรี คือเมืองนครธม นักประวัติศาสตร์อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าตำนานนี้น่าจะมีเค้าจริงว่ามีเจ้านายเขมรลี้ภัยทางการเมือง (โรคห่าเป็นเพียงสถานการณ์เปรียบเทียบ) ลงมายังหัวหาดที่นครศรีธรรมราช ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานจากตำนาน กล่าวถึงเมืองขึ้น ๑๒ เมืองของพญาศรีธรรมาโศกราช เรียกว่าเมือง ๑๒ นักษัตร ในจำนวนนั้นมีเมืองหนึ่งชื่อบันทายสมอ ซึ่งมาจากภาษาเขมรว่า “บันทายถมอ” แปลว่ากำแพงหินหรือป้อมหิน “บันทาย” แปลว่าป้อม, กำแพง, ค่าย, และ “ถมอ” แปลว่าหิน รวมทั้งยังชื่อบ้านนามเมืองที่เป็นภาษาเขมรในบริเวณใกล้เคียงนครศรีธรรมราช เช่น ชื่อจะทิ้งพระ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้อธิบายไว้ว่าเอกสารโบราณอย่างเช่น ตำราพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุง ปี พ.ศ. ๒๒๔๒ เรียกว่า “ฉทิงพระ” ชื่อ “จะทิ้งพระ”หรือ “สทิงพระ” เป็นคำภาษาเขมรโบราณแปลว่าแม่น้ำพระหรือคลองพระ (พระในภาษาเขมรหมายถึงพระพุทธรูปไม่ใช่พระภิกษุ) คำ “จทิง” หรือ “ฉทิง” เป็นภาษาเขมรโบราณ หมายถึงคลองหรือแม่น้ำ ปัจจุบันใช้เป็น “สทึง” แต่ชาวบ้านลืมชื่อเดิมเสียแล้วจึงแต่งนิทานขึ้นมาว่ามีคนจะเอาพระทิ้งที่คลองนั้นเลยเรียกว่าคลองจะทิ้งพระและตำนานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับจะเอาพระธาตุหรือเอาพระมาทิ้งไว้ นอกจากนี้ยังมีชื่อหมู่บ้านตำบล อีกแห่งหนึ่งในแถบนั้นชื่อ "จะทิ้งหม้อ” หรือ “สทิงหม้อ” ชื่อนี้ในเอกสารเก่า ๆ เรียก “จทิงถมอ” ซึ่งเป็นคำภาษาเขมรโบราณอีกเช่นกัน แปลว่าคลองหิน ซึ่งตรงนั้นก็มีชื่อ “คลองสทิงหม้อ” ภาษาเขมรที่ฝังรากลงในชื่อนามต่าง ๆ นี้เป็นชื่อที่เกิดจากภาษาปากชาวเขมรที่เข้าไปตั้งภูมิลำเนาอยู่เรียกขานกันเองก่อนจะกลืนกลายเป็นภาษาไทยไปในเวลาต่อมา
           จากหลักฐานพบว่าการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดสงขลา เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานส่วนใหญ่พบตามถ้ำและเพิงหินบนภูเขาทางด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ของจังหวัด พบภาชนะดินเผาแบบหม้อสามขา ภาชนะเผาลายเชือกทาบ ขวานหินขัด โครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ในสมัยหินใหม่ฝังอยู่ในถ้ำและเพิงหินทางทิศเหนือของเขารักเกียรติ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ พบภาขนะดินเผาลายเชือกทาบ ในสมัยหินใหม่เป็นจำนวนมากที่เขารูปช้าง ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา พบขวานหินขัดที่บ้านควนตูล อำเภอเมือง ที่ตำบลบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย และที่บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ 
จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่า คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เดิมมีชีวิตแบบสังคมล่าสัตว์ หาของป่า ในพื้นที่ป่าเขาทางด้านทิศาตะวันตกและทิศใต้ของจังหวัด ต่อมาได้อพยพลงสู่ที่ราบริมน้ำเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีวิถีชีวิตแบบชาวน้ำดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก และจับสัตว์น้ำบริเวณทะเลสาบสงขลา และชายทะเลอ่าวไทย บางส่วนได้อพยพลงสู่ที่ราบริมทะเลอ่าวไทย ในเขตอำเภอจะนะ เนื่องจากได้พบกลองมโหระทึกที่หล่อด้วยสำริด แสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอก เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชนชาติจีนและอินเดีย ได้นำวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ เมื่อผสมกับวัฒนธรรมเดิม จึงได้พัฒนาเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของสงขลา ชุมชนค่อย ๆ เจริญขึ้นเป็นชุมชนเมืองท่าในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ สมัยชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของสงขลา น่าจะได้เริ่มพัฒนาขึ้นในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ มาปรากฎหลักฐานชัดเจนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และรุ่งเรืองมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ พบชุมชนโบราณกระจายอยู่หลายชุมชน ที่สำคัญได้แก่

 - ชุมชนโบราณปะโอ เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลองปะโอ ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร ซึ่งเป็นบริเวณทางน้ำเก่าไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา มีเนินดินที่พบเศษเครื่องปั้นดินเผาและแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผาแบบกุณฑี กุณโฑ และพบชิ้นส่วนเทวรูปรุ่นเก่า นอกจากนี้ยังมีแนวสันทรายที่มีสระน้ำขนาดใหญ่ ตั้งเรียงรายอยู่หลายแห่ง บริเวณนี้เหมาะที่จะเป็นท่าจอดเรือได้ดีในยุคต้น ๆ ก่อนการขุดคลองเชื่อมทะเลสาบกับทะเลภายนอก 
- ชุมชนโบราณสทิงพระ อยู่ในเขตตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ เป็นบริเวณที่พบโบราณวัตถุหลายยุค หลายสมัยปะปนกัน และมีการสืบเนื่องมาจนเป็นเมืองใหญ่ มีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านสทิงพระ ปัจจุบันเรียกว่าในเมือง ยังปรากฎร่องรอยคูน้ำคันดิน และซากโบราณวัตถุและโบราณสถาน เป็นจำนวนมาก
- ชุมชนโบราณบริเวณเขาคูหา-เขาพะโคะ อยู่ในเขตตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ มีสระน้ำขนาดใหญ่ที่เนื่องในพิธีกรรม และถ้ำที่เป็นเทวสถาน บริเวณนี้น่าจะเป็นศูนย์กลางในทางพิธีกรรมของทางศาสนาพราหมณ์
- ชุมชนสีหยัง อยู่ในเขตตำบลบ่อพรุ อำเภอระโนด พบสถูปโบราณและคูน้ำคันดินรอบบริเวณที่ตั้งวัดสีหยัง

   ในบรรดาชุมชนที่กล่าวแล้วชุมชนโบราณสทิงพระเป็นชุมชนสำคัญที่มีการพัฒนาการต่อเนื่องจนเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ด้านทิศเหนือกว้าง ๒๘๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกกว้าง ๒๗๐ เมตร ด้านทิศใต้กว้าง ๒๗๕ เมตร และทางด้านทิศใต้กว้าง ๓๐๕ เมตรเมืองสทิงพระมีกำเนิดและพัฒนาการมาอย่างไรยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีเอกสารเพลานางเลือดขาวเรียกเมืองสทิงพระว่า “กรุงสทิงพาราณสี” และเจ้าพระยาสทิงพระชื่อว่าเจ้าพระยากรุงสทิงพาราณสี เมืองสทิงพระได้เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ ในสมัยตามพรลิงค์และสมัยศรีวิชัย เมืองสทิงพระได้ปกครองดูแลเมืองเล็กเมืองน้อยที่ตั้งอยู่โดยรอบทะเลสาบสงขลา และริมคลองที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา รวมทั้งเมืองพัทลุง ที่อยู่ในปกครองของเมืองสทิงพระด้วย เมืองสทิงพระมีเจ้าปกครองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมลายูตอนเหนือ เป็นเมืองท่าค้าขายกับนานาชาติโดยเฉพาะจีน อินเดีย และอาหรับ เมืองสทิงพระได้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยเริ่มเสื่อมอำนาจ ทำให้อาณาจักรตามพรลิงค์ หรือแคว้นนครศรีธรรมราชมีอำนาจเหนือเมืองต่าง ๆ บนแหลมมลายู โดยจัดการปกครองเมืองบริวารหรือเมืองขึ้น ๑๒ เมืองนักษัตร ในช่วงนี้เมืองสทิงพระตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรตามพรลิงค์ ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรตามพรลิงค์กับเกาะลังกา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและศิลปวัฒนธรรม ในบริเวณที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาอย่างกว้างขวาง เนื่องจากได้มีการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาเผยแผ่ที่นครศรีธรรมราช มีการสร้างวัดวาอาราม พระมหาธาตุเจดีย์ตามคติลังกาวงศ์ขึ้นหลายแห่ง เช่น พระมหาธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว พระมหาธาตุเจดีย์วัดจะทิ้งพระ พระมหาธาตุเจดีย์วัดเจดีย์งาม และพระมหาธาตุเจดีย์วัดพะโคะ เป็นต้น ทำให้เมืองสทิงพระเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางด้านพระพุทธศาสนา และการเมืองการปกครองในแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา เมืองสทิงพระเริ่มเสื่อมอำนาจลงเมืองประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เกิดการย้ายเมืองไปตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบคือ เมืองพัทลุง เมืองพัทลุงจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองสำคัญ มีอำนาจเหนือชุมชนรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาแทนเมืองสทิงพระ ในขณะเดียวกันก็อยู่ในอำนาจของเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่ออำนาจของกรุงศรีอยุธยาได้แผ่มาถึงเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมืองพัทลุงจึงขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ชื่อเมืองสทิงพระเริ่มเลือนหายไป
     
 จากหลักฐานข้างต้นและหลักฐานจากโบราณสถานโบราณวัตถุ ได้แก่ซากกำแพงเมือง คูเมือง และอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าบริเวณคาบสมุทรสทิงพระในปัจจุบัน ถูกข้าศึกโจมตี ๒ ครั้ง จากกองทัพมลายู สมัยกรุงศรีอยุธยา จนบางแหล่งไม่สามารถบูรณะได้ ทิ้งร้างไว้จนกระทั่งถึง ปัจจุบัน เช่น ฐากโบราณสถานที่วัดสีหยัง เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ อำเภอสทิงพระได้ยกฐานะเป็นอำเภอปละท่า มีอาณาเขตครอบคลุมถึงอำเภอระโนด (ขณะนั้นเป็นกิ่งอำเภอ) แต่เมื่อราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีผู้ลอบวางเพลิงที่ว่าการอำเภอปละท่า กรมหลวงลพบุรีราเมศร อุปราชปักษ์ใต้ เห็นว่าการคมนาคมไม่สะดวก จึงยุบอำเภอปละท่า เป็นกิ่งอำเภอปละท่า ขึ้นกับอำเภอเมืองสงขลา และได้เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอจะทิ้งพระ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ร่นอาณาเขตทิศเหนือมาอยู่ที่ตำบลชุมพล และทิศใต้ ติดต่อเขตอำเภอเมืองสงขลา (อำเภอสิงหนครปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทางราชการได้ยกฐานะกิ่งอำเภอจะทิ้งพระขึ้นเป็นอำเภอจะทิ้งพระ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ สมัยนายพจน์ อินทรวิเชียร เป็นนายอำเภอจะทิ้งพระ ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอจะทิ้งพระ เป็นอำเภอสทิงพระ จนถึงปัจจุบัน

         อำเภอนาหม่อม 
        
อําเภอนาหม่อมเติมเป็นตําบลมีชื่อว่า “ตําบลทุ่งพระเคียน” ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เปลี่ยนชื่อเป็น “ตําบลนาหม่อม” และใน พ.ศ.๒๕๐๐ ได้แบ่งตําบลนาหม่อมเป็น ๔ ตําบล คือตําบลพิจิตร ตําบลคลองหรัง ตําบลทุ่งขมิ้น และตําบลนาหม่อม อยู่ในเขตการปกครองของอําเภอหาดใหญ่ ในเดือนเมษายน ๒๕๒๔ ครั้ง ๔ ตําบลนี้ได้ยกฐานะ ขึ้นเป็นกิ่งอําเภอนาหม่อม และเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอําเภอนาหม่อมขึ้นเป็นอําเภอนาหม่อม
         แหล่งท่องเที่ยว
       
นํ้าตกโตนลาด ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขานํ้าค้าง มีลักษณะเป็นพื้นลาดยาวสวยงาม มีนํ้าไหลตลอดปี บนพื้นหินมีตะไคร่ นํ้าสีเขียวขึ้นอยู่เต็มทั่วพื้นที่ เส้นทางเดินสู่ตัวนํ้าตกต้องเดินเลียบลำห้วย ผ่านไปท่ามกลางป่าดงดิบชุ่มขึ้นซึ่งเต็มไปด้วยด้นไม้สูงใหญ่ ระหว่างทางจะผ่านนํ้าตกวังหลวงพรม ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน แห่งชาติเพียง ๑๕๐ เมตร นํ้าตกโตนลาดมีลักษณะเป็นนํ้าตกขนาดเล็กและเตี้ยมีหินใหญ่อยู่ตรงกลาง ทำให้ลักษณะนํ้าตกแยกเป็น ๒ สายเล็ก ๆ ด้านล่างเป็นแอ่งนํ้าหรือวังนาที่ใหญ่และลึก เต็มไปด้วยสัตว์นํ้าโดยเฉพาะปลาจะมีขนาดโต เดินต่อไปจะถึงบริเวณเหนือนํ้าตกโตนลาด ลักษณะเป็นธารนํ้าไหลผ่านแผ่นหินลาดชันประมาณ ๒๕-๔๐ องศา ก่อนจะตกลงสู่แอ่งลำธารเบื้องล่าง บริเวณเหนือนํ้าตกยังมีลานหินกว้าง จะปกคลุมด้วยพืชพันธุที่ชอบความชุมชื้นสูง เช่น ข้าวตอกฤาษี เฟิร์นและกล้วยไม้หลายชนิด นํ้าตกโตนลาดอยู่ห่างจากหมู่บ้านนาปรัง ประมาณ ๕ กิโลเมตร


นํ้าตกโตนลาด

        อำเภอสะเดา
      อำเภอสะเดาก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เดิมเป็นตําบลชื่อตําบลสะเดา ขึ้นอยู่กับอําเภอจังโหลน จังหวัดไทรบุรี ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ รัฐบาลไทยได้ยกเมืองกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรี ตลอดจนเกาะใกล้เคียงให้กับรัฐบาลอังกฤษ ตามสัญญาลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๔๒) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ได้ยกตําบลสะเดาให้ไปด้วย จึงได้รวมกับตําบลปริก ตําบลทุ่งหมอ และไปขึ้นกับอําเภอเหนือ (อำเภอหาดใหญ่) จังหวัดสงขลา ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอําเภอสะเดา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐  โดยมีพระภักดีราชกิจเป็นนายอำเภอคนแรก นับถึงปัจจุบันมีนายอําเภอครองตําแหน่งทั้งสิ้น ๓๙ คน ( ปัจจุบันอําเภอสะเดาเป็นอําเภอชั้น ๑

          อำเภอระโนด
       ระโนดเป็นอําเภอที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสทิงพระ (เมืองพัทลุงเก่า) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงกลับมาขึ้นกับเมืองสงขลา เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ยุบเมืองระโนดตั้งเป็นกิ่งอำเภอระโนดและได้เริ่มก่อสร้างที่ว่าการอําเภอระโนตหลังแรกคู่กับสถานีตํารวจในปี พ.ศ ๒๔๖๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ กิ่งอําเภอระโนดได้ยกฐานะเป็นอําเภอระโนด โดยมีนายอําเภอคนแรกคือ หลวงประจันต์จุทารักษ์ (อิน ตุงคผลิน) เดิมระโนดเขียนสะกด ด้วย “ด” เพราะสันนิษฐานว่าระโนด มาจาก “ระโนต” ซึ่งเป็นภาษาเขมรแปลว่า “ไถ” หรือ “คราด” เนื่องจากระโนดมีการทํานากันมากจนได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวของสงขลา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ทางราชการได้เปลี่ยนตัวสะกดมาเป็น “ด” จะด้วยเหตุสันนิษฐานว่า “ระโนด” มาจากคําว่า "ราวโหนด เพราะระโนดมีต้นโหนด (ต้นตาล) มาก ชาวบ้านจะปลูกตามหัวนา (คันนา) เป็นแถวยาวเพื่อจะขึ้นเอาน้ำตาลโตนด คนระโนดจึงมีโนราร้องเวลาเมาว่า “บ้านผมอยู่โนตมีแต่โหนดไม้ไผ่ บ้านผมไม่ไหร มีแต่ไผ่กับโหนด หรืออีกนัยหนึ่งหากสะกดด้วย “ต” ทําให้พัฒนาไปได้เหมือนเต่า จึงเปลี่ยนเป็นตัว “ด” 
ในปีงบประมาณ ๒๕๓๘ ได้ก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอหลังใหม่ (หลังปัจจุบัน) เนื่องจากที่เดินมีความคับแคบไม่สะดวก พี่น้องชาวอําเภอระในด จึงได้รวบรวมที่ดินประมาณ ๗๔ ไร่ บริจาคให้ทางราชการเพื่อก่อสร้างที่ว่าการอําานาอระโนดหลังใหม่ ซึ่งห่างจากเดิม ประมาณ ๑.๕ กม. จนแล้วเสร็จและเปิดบริการประชาชนได้เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

        อำเภอสิงหนคร
      เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ครั้งดำรงตําแหน่งนายอําเภอเมืองสงขลา ร่วมกับกํานันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรด้าน ฝั่งเขาแดง รวม ๑๑ ตําบล ได้พิจารณาว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ ลักษณะความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ แนวโน้มด้านความเจริญเจริญในอนาคต และความเห็นชอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตําบล หัวหน้าส่วนราชการประจําอําเภอ จังหวัด สภาจังกัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเขตท้องที่อําเภอเมืองสงขลา เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๑ ขอตั้งเป็นกิ่งอําเภอเรียกว่า “กิ่งอําเภอสิงหนคร” ตั้งที่ว่าการกิ่งอําเภออยู่ที่หมู่ที่  ๕ ตําบลสทิงหม้อ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ สําหรับการกําหนดชื่อกิ่งอําเภอสิงหนครนั้น เนื่องจากในสมัยก่อนมีบรรดาพ่อค้าวาณิชย์ เช่น ชาวเปอร์เซีย อินเดีย อาหรับแล่นเรือเข้ามาค้าขายตามตัวเมืองชายทะเล เมื่อมาถึงปากอ่าวทะเลสาบจะเข้าเมืองสงขลา จะมองเห็นเกาะอยู่ ๒ เกาะ คือเกาะหนู และเกาะแมว เมื่อมองดูจากทะเลด้านนอก จะเห็นเป็นรูปสิงห์ ๒ ตัว นอนหมอบในท่าผยองเฝ้าปากทวารเมืองอยู่ ต่างเรียกขานนามว่า เมืองสิงหลา แต่ออกเสียงตามภาษาของตนว่า “เซ็งกอรา” ซึ่งแปลว่า สิงห์ และจากพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ว่า สงขลานี้เดิมชื่อ “สิงหนคร” อ่านว่า “สิง-หะ-นะ-คะ-ระ เพื่อเสียงสวะอะอยู่ท้าย ชาวมลายูไม่ชอบจึงเปลี่ยนเป็นสระอา และชาวมลายูพูดเสียงเร็ว จึงตัด “หะ” และ “นะ” ออก คงเหลือเพียง “สิงคะรา”  แต่ออกเสียงเป็น “ชิงหะรา” หรือ “สิงโครา” จากประวัติความเป็นมาข้างต้นจึงขอใช้ชื่อ "สิงหนคร” เป็นชื่อกิ่งอําเภอที่ตั้งโหม่ ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ยกฐานะกิ่งอําเภอสิงนคร เป็น “อําเภอสิงหนคร” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาค ๒๕๓๙ เป็นต้นมา

          อำเภอกระแสสินธุ์
        กระแสสินธุ์ เป็นตําบลหนึ่งที่อยู่ในความปกครองของอําเภอระโนด จังหวัดสงขลา เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้มีชุมชนและคณะครู อาจารย์ในพื้นที่ ๓ ตําบล ได้ประชุมเพื่อขอให้แยกการปกครองออกจากอําเภอระโนด เนื่องจากการคมนาคมติดต่อราชการ ระหว่าง ๓ ตําบลมีความยากลําบาก โดยตกลงขอให้ใช้ชื่อตามมติที่ประชุมว่า “กระแสสินธุ์" ซึ่งมีความหมายว่า “กระแสน้ำ” หรือเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ (คําว่า “กระแสสินธุ์” เกิดจากที่ประชุมสงฆ์และชาวบ้านซึ่งประชุมกัน ณ วัดเชิงแสใต้ โดยมีพระครูปิยะสิกขาการ (พร้อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวป้อมใน อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา พร้อมใจกันตั้งชื่อหมายถึงเมืองแห่งกระแสน้ำ โดยการนําเอาตัวอักษรของแต่ละตําบลมารวมกัน คือ ก (เกาะใหญ่) ส (เชิงแส) และ ร (โรง) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมและให้ตั้งเป็นชื่อมงคลนามของอําเภอจนถึงปัจจุบัน) กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งเป็นกิ่งอําเภอกระแสสินธุ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๑ ประกอบด้วย ๓ ตําบล คือตําบลโรง ตําบลเชิงแส และตําบลเกาะใหญ่ โดยในชั้นแรกให้ใช้อาคารของโรงเรียนชุมชนวัดเชิงแส เป็นที่ทําการชั่วคราว โดยมีนายอภิชน คงพันธุ์ เป็นปลัดอ้าเภอผู้เป็นหัวหน้าประจํากิ่งอําเภอคนแรก ต่อมาเมื่อปีงบประมาณ ๒๕๒๓ ได้ก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอําเภอ และย้ายที่ทําการ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ และยกฐานะขึ้นเป็นอําเภอตั้งเป็นอําเภอกระแสสินธุ์ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๗

         อำเภอรัตภูมิ
     
อําเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลานั้นเป็นอําเภอที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกสุดของจังหวัดสงขลา ติดต่อกับอําเภอควนโดน จังหวัดสตูล มี ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ด้านตะวันออกเป็นที่ราบต่ำแต่ด้านตะวันตกมีเทือกเขา คือเขานครศรีธรรมราช มีป่าไม้ เรือกสวนไร่นา ซึ่ง เหมาะในการทําการเกษตร อําเภอรัตภูมิสมัยก่อนอยู่ในเขตการปกครองของอําเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านปากบางภูมี ซึ่งเป็นปากน้ำของคลองรัตภูมิ ริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ในพื้นที่ของตําบลรัตภูมิ อําเภอควนเนียง ก่อนที่เป็นอำเภอรัฐภูมิ กระทรวงมหาดไทยแบ่งเขตการปกครองเป็นกิ่งอำเภอ ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นอําเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เรียกชื่อ “อําเภอรัฐภูมิ” และต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอําเภอมาตั้ง ณ ตําบลกําแพงเพชร โดยเรียกชื่อว่า “อําเภอกําแพงเพชร” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตั้งอํามาอในปัจจุบัน ซึ่งตําบลกําแพงเพชรเป็นตําบลหนึ่งใน ๕ ตําบลของอําเสาอรัตภูมิ มีพื้นที่ทั้งหมด ๘๖.๖ ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบยมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน อันเกิดจากเทือกเขาซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตก แต่เนื่องจากชื่อนี้เกิดไปใช้ชื่อต้องกับจังหวัดกําแพงเพชร ทางราชการเกรงว่าอาจจะสับสน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า “อําเภอรัตตภูติ” แต่คําว่ารัตตภูมิไม่มีคําแปล มีการตรวจสอบแล้วจึงเปลี่ยนใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ว่า “อําเภอรัตภูมิ” ซึ่งแปลว่า “พื้นที่ดินแดง” และตรงกับความเป็นจริงเพราะดินของอําเภอรัตภูมิส่วนมากจะเป็นดินสีแดงละเอียด และมีแร่ธาตุอาหาร สําหรับเป็นอาหารของพืชอยู่มาก ไม่ได้หมายถึงดินลูกรังแต่อย่างใด
           แห่งท่องเที่ยว
         
- ถํ้าศริเกษร ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ของตำบลเขาพระ เป็นมิติใหม่แห่งการท่องเที่ยวที่เหมาะ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชม อนึ่งภายในถํ้ามีประวัติของนางศรีเกษรที่อาศัยอยู่เป็นเวลานับพัน ๆ ปี ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างภายในถํ้านี้บอกเรื่องราวของนางศรีเกษร รวมไปถึงความสวยงามของหินย้อยที่สลับซับซ้อน เป็นประติมากรรมที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์สร้างขึ้นอย่างสวยงามให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมความสวยงามถํ้าศรีเกษร

           อำเภอคลองหอยโข่ง
         
จากคําบอกเล่าที่สืบทอดกันมาว่า ในอดีตประมาณ ๕๐๐ กว่าปี คลองหอยโข่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ห้อมล้อมไปด้วยป่าดงดิบ ชาวบ้าน ดํารงชีพอยู่ด้วยความยากลําบาก ต่อมาคลองหอยโข่งเป็นตําบลหนึ่งของอําเภอหาดใหญ่ ประชากรทั้งเดิมที่อาศัยสืบทอดกันมาแต่สมัยโบราณ จึงสันนิษฐานได้จากสถานที่สําคัญหลายแห่งโดยเฉพาะศาสนสถานที่บางบอกประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออาจจะมีการตั้งถิ่นฐานก่อนหน้านี้ก็ได้สังเกตได้จากสภาพสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ที่บ่มเพาะให้ชาวคลองหอยโข่งเป็นคนที่มีอุดมการณ์ ทางความคิดที่พัฒนาตลอดมา ดังนั้นด้วยความทุรกันดารห่างไกลชุมชนเมืองประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน และเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กระทรวงมหาดไทย จึงได้ประกาศเรื่องแบ่งเขตท้องที่อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งเป็นกิ่งอําเภอคลองหอยโข่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐       
            แหล่งท่องเที่ยว
           
น้ำตกผาดำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสงขลา นํ้าตกแห่งนี้อยู่ในบริเวณผืนป่าเขาแก้วซึ่งเป็นป่าต้นนํ้าที่สำคัญอีกแเห่งหนึ่งของจังหวัด อดีตเคยเป็นพื้นที่สีแดง เป็นที่ยึดครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ประกอบกับสภาพความเป็นป่าใหญ่ดิบชื่น ไม่สะดวกในการเดินทาง ทำให้นํ้าตกผาดำยังไม่เป็นที่รู้จัก ความน่าสนใจของป่าผืนนี้นอกจากนํ้าตกผาดำ แล้ว ท่านสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ พันธุพืชแปลกตา สำรวจร่องรอยของสัตว์ป่า ไปดูอุโมงค์หลบภัยของพรรคคอมมิวนิสต์ และเดินทางไปยังสันปันนํ้า และหากท่านเดินทางขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของเทือกเขาจะมองเห็นไปยังฝั่งของจังหวัดสตูล


น้ำตกผาดำ

          อำเภอควนเนียง
          
ควนเนียง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งมีทําเลตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ หรือเนินดินที่สูง เรียงกันเป็นควนติดต่อกันเป็นแถว ชาวบ้านที่อยู่อาศัยเรียก ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “ควนเรียง” ตามลักษณะของสวนที่เรียงติดต่อกัน บนเนินดินนี้มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง คือต้นเนียงขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก เมื่อมีการสัญจรไปมชาวบ้านก็จะนําเอาลูกเนียงเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ทําให้ประชาชนในท้องถิ่นอื่น ๆ รู้กันว่า “บ้านควนเรียง” มี ลูกเนียงมาก ทําให้ชื่อของหมู่บ้านควนเรียง ถูกเรียกให้เพี้ยนเป็น "ควนเนียง" ไปจนติดปากชาวบ้านมาจนทุกวันนี้ ควนเนียงแต่เดิมเคยอยู่ภายใต้การปกครองจองอำเภอรัตภูมิ  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สภาตําบลรัตภูมิ บางเหรียง ควนโส และห้วยลึก ได้มีมติเห็นพ้องกันว่าควรรวม ๔ ตําบล ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอําเภอ และได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย ต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศแบ่งเขตท้องที่อําเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ตั้งเป็น “กิ่งอําเภอควนเนียง" ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยให้ ๔ ตําบลดังกล่าวมีฐานะเป็นกิ่งอําเภอควนเนียง ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๒๘ เป็นต้นไปและยกฐานะกิ่งอําเภอควนเนียงเป็น “อําเภอควนเนียง” พ.ศ. ๒๕๓๓

           อำเภอบางกล่ำ
         ด้วยท้องที่อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตําบลอยู่ห่างไกลจากอําเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจดูแลทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง ซึ่งสภาพท้องที่โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งเขตท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอําเภอ เรียกว่า “กิ่งอําเภอบางกล่ำ โดยมีเขตการปกครองรวม ๔ ตําบล คือตําบลยางกล่ำ ตําบลท่าช้าง ตําบลแม่ทอม และตําบลบ้านหาร ตั้งที่ว่าการกิ่งอําเภอที่ตําบลบางกล่ำตั้งแต่ วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๔ เป็นต้นไป ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็น อําเภอเรียกว่า “อําเภอบางกล่ำ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๘

          อำเภอนาทวี
      
นาทวี เดิมเป็นที่ตั้งของอําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีประวัติโดยสังเขปว่าอําเภอจะนะ สมัยก่อนเรียกว่าเมืองจะนะ ที่ตั้งเมืองอยู่ที่ตําบลจะโหนง (อำเภอจะนะในปัจจุบันนี้) ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งเมืองจะนะมาตั้งอยู่ที่ตําบลนาทวี ทางด้านทิศตะวันออกของที่ตั้งที่ว่าการอําเภอนาทวีในปัจจุบัน เมืองจะนะสมัยนั้นเป็นเมืองชั้นตรี มีผู้ปกครองคือขุนศรีสรรพกรรม (นายช้อน) และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้ย้ายเมืองจะนะปัจจุบันนี้ เนื่องจากในขณะนั้นที่ตําบลนาทวีการคมนาคมไม่สะดวก ครั้นเมื่อได้มีประกาศใช้ พ.ร.บ. ปกครอง ท้องที่ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว จึงได้เปลี่ยนเมืองจะนะเป็น “อําเภอจะนะ” และยกฐานะท้องที่ตําบลนาทวีซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองจะนะเดิมรวมท้องที่ตําบลใกล้เคียงเป็นกิ่งอําเภอนาทวี ขึ้นอยู่กับอําเภอจะนะและประกาศเป็นอําเภอในเวลาต่อมา

           อำเภอจะนะ
          
จะนะ แต่เดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ เมือง ได้แก่ ปะเหลียน จะนะ เทพา และ สงขลา ต่อมาสงขลาได้แยกออกจากเมืองพัทลุงจะนะจึงไปขึ้นกับเมืองสงขลา มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนใต้โดยมีการสู้รบกับเมืองหัวเมืองของมลายูตลอดมา ขณะอยู่ใต้ปกครองของเมืองพัทลุง เจ้าพระยาพัทลุง (บุน) เจ้าเมืองพัทลุง ได้แต่งตั้งนายอินทร์หรือเณรน้องชายไปเป็นเจ้าเมืองจะนะ มีราชทินนามว่า “พระมหานุภาพปราบสงคราม” ซึ่งบ่งบอกให้รู้ว่าเจ้าเมืองเป็นนักรบ เมืองจะนะในอดีตน่าจะเป็นสนามรบด้วย ที่ตั้งของเมืองจะนะในขณะนั้นคือนาทวี เมื่อจะนะไปขึ้นกับเมืองสงขลา เจ้าเมืองสงขลาได้แต่งตั้งให้นายฉิน บุตรของอดีตเจ้าเมืองสงขลา (โยม) ขึ้นเป็นขุนรองราชมนตรี คุมไพร่ส่วยดีบุก ๙ หมวด ทำให้เมืองจะนะกับสงขลามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ต่อมาก็มีเจ้าเมืองหลายคนพลัดกันปกครองเมืองจะนะ แต่ตลอดระยะเวลามีแต่เรื่องการทำสงครามกับเมืองต่าง ๆ มีทั้งยกทัพไปร่วมรบกับทัพสงขลาเพื่อไปรบกับศึกพม่าก็บ่อย สำหรับที่ตั้งของเมืองจะนะมีการย้ายเมืองอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน เนื่องจากเป็นเมืองที่ต้องการรบอยู่ตลอดเวลา ระยะแรกเชื่อกันว่าเมืองจะนะตั้งอยู่ที่วังดาโต๊ะหรือวังโต้ ที่นาทวีปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นไปได้เพราะเจ้าเมืองจะนะคนแรกคือพระมหานุภาพปราบสงคราม (อินทร์หรือเณร) บุตรพระยาราชวังสันซึ่งเป็นมุสลิม ต่อมาได้ย้ายเมืองไปอยู่ที่ปลักจะนะ และย้ายไปอยู่ที่บ้านในเมือง ตำบลป่าชิงปัจจุบัน จากนั้นก็ย้ายไปตั้งที่จะโหนง เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเทศาภิบาล อำเภอจะนะ ก็ไปตั้งที่ว่าการที่นาทวี แต่ด้วยเหตุที่การคมนาคมไม่สะดวก จึงย้ายไปตั้งที่ใหม่คือที่บ้านนา พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านนา แต่ไปพ้องกับชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดนครนายก จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอจะนะตามเดิม
            ประวัติตำบลในอำเภอจะนะ
           
     - ตำบลบ้้านนา เดิมตําบลบ้านนา ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของเมืองจะนะ เป็นทุ่งกว้างและมีลําคลองไหลผ่าน ชาวไทยมุสลิมได้อพยพมาจากเมืองปัตตานี มาทํานาและหาปลา การทํานาได้ผลผลิตดีมากทําให้มีผู้คนอพยพเข้ามาประกอบอาชีพทํานากันมากขึ้น จึงเป็นหมู่บ้านที่มีคนไทยนับถือศาสนาอิสลามประกอบอาชีพทํานา จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “บ้านนา”
             - ตำบลจะโหนง ตามตํานานเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๘ พระมหานุภาพปราบสงคราม (ผู้ว่าเมืองจะนะ) ได้นําเรื่องปรึกษากับเจ้าพระยาอินทคีรีเพื่อขอย้ายเมืองจะนะ เจ้าพระยาอินทคีรีได้นําความกราบบังคมทูลสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระองค์ทรงอนุญาตให้ย้ายเมืองจะนะจากท่าใหญ่ (สถานที่ตั้งวัดในวังปัจจุบัน) ไปตั้งที่ปลักจะนะ หลังจากถูกเผาเมืองในคราวเกิดกบฏเมืองไทรบุรี จึงย้ายไปตั้งที่ป่าชิงและต่อมาย้ายไปตั้งที่จะโหนง แสดงว่าจะโหนงเป็นเมืองเก่าที่มีมานานแล้ว
             - ตำบลนาทับ ในสมัยก่อนมีหัวเมืองตั้งอยู่ที่บ้านจะโหนงชื่อว่าเมืองหนะ เจ้าเมืองในขณะนั้นมีชื่อว่า “พระยาหนะ” ในสมัยหนึ่งได้มีข้าศึกยกทัพมาตีเมืองสงขลา เจ้าเมืองสงขลาได้สั่งให้เจ้าเมืองหนะ นํากําลังทหารยกทัพไปเป็นทัพหน้าสะกัดกั้นข้าศึก โดยเดินทัพมาตามลําคลองจากเมืองหนะ มาตามลําคลองนาทับ และตั้งค่ายอยู่บริเวณริมคลองนาทับ ชาวบ้านเรียกว่าค่ายหรือหน้าค่าย ต่อมาได้เรียกชื่อเพี้ยนเป็น “นาทับ” มาจนถึงปัจจุบัน
                - ตําบลตลิ่งชัน เดิมเป็นส่วนหนึ่ง ที่แยกจากตําบลบ้านนา ประชาชนอพยพมาจากหลายท้องที่ เพื่อท่าอาชีพประมงขนาดเล็กชายฝั่งทะเลอ่าวไทย 
        - ตําบลสะกอม เป็นชุมชนหนึ่งที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากชุมชนอื่นในอําเภอจะนะอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของภาษา จากประวัติความเป็นมาของชาวสะกอมที่ เฉลิม มากนวล (๒๕๒๖ : ๑๗-๑๙ อ้างถึงใน อุบลวรรณ อนุสา... [และคณะ], ๒๕๕๔) ได้รวบรวมไว้มี ๒ กระแสด้วยกัน 

๑) กล่าวว่าชาวสะกอมเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากอําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อหนีอหิวาตกโรคมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บางพังกา ตําบลสะกอม อําเภอเทพา จังหวัดสงขลา ต่อมาเกิดภาวะฝนแล้งจนพรุกระจูดแห้ง ผู้นําจึงได้ออกสํารวจสถานที่มาเรื่อย ๆ จนพบคลองที่ไหลออกมาจากอําเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ออกสู่อ่าวไทยที่บ้านปากบางสะกอม ซึ่งเหมาะสําหรับตั้งถิ่นฐานและทํามาหากินโดยเฉพาะการทําประมง จากนั้นจึงได้ชักชวนชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งเดิมเรียกกันว่าบ้าน “สะมอร์” เป็นภาษามลายูถิ่นหมายถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งใบเล็ก ๆ ผลสีแดง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พบในตําบลสะกอมขณะเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรก ต่อมาคําว่าสะมอร์ ได้เพี้ยนเสียงเป็นสะกอมจนปัจจุบัน
๒) สันนิษฐานว่า บ้านสะกอมมีประวัติความเป็นมาไม่ต่ํากว่า ๒๐๐ ปี โดยในสมัยที่กรุงศรีอยุธยา แตกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนหนึ่ง ได้อพยพจากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสะกอม และอีกส่วนหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานที่อําเภอตากใบจังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านทั้ง ๒ พื้นที่นี้มีภาษาที่คล้ายคลึงกันมาก สําหรับชาวจีนที่เข้ามาทีหลังในลักษณะพ่อค้าสําเภาล่องเรือผ่านบ้านสะกอม เห็นทําเลที่ปากน้ําสะกอมเหมาะสําหรับการติดต่อค้าขาย จึงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานกลางหมู่บ้านซึ่งเรียกกันว่าบ้านจีนมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวว่าคนจีนที่เข้ามาอาศัยที่บ้านสะกอมเป็นจีนชุดเดียวกับคนจีน ที่ตั้งถิ่นฐานที่ถนนครนอกและนครในอําเภอเมือง จังหวัดสงขลา หลักฐานที่พอจะสนับสนุนได้แก่ ศาลเจ้าปุนเถ้ากิ่ง ที่บ้านจีนซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับศาลเจ้าปุนเถ้ากุ้งที่หลักเมืองสงขลา นอกจากนี้ชาวบ้านจีนที่ตําบลสะกอมกับชาวจีนที่ถนนครนอกและนครใน มีความสัมพันธ์และไปมาหาสู่กันเสมออาชีพหลักของชาวสะกอมในสมัยนั้น กลุ่มชาวไทยมุสลิมมักจะทําประมูลชายฝั่ง ส่วนกลุ่มชาวจีนจะค้าขายทางทะเล สําหรับสินค้าชาวบ้านสะกอมในสมัยนั้นสินค้าหลักที่นําไปขาย ได้แก่ ปลาเค็ม น้ําปลากะปิ ปลาร้า ซึ่งรับซื้อจากกลุ่มชาวไทยมุสลิมในตําบลสะกอมนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเกลือ เสื่อกระจูด กระสอบกระจูด ฯลฯ สินค้าเหล่านี้จะบรรทุกเรือสําเภาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเรือใบ ตามเมืองท่าต่าง ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ปีนัง ตรัง กานู เปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์และจีน โดยออกไปเที่ยวหนึ่ง ประมาณ ๗ วันถึง ๑ เดือน ขากลับจะบรรทุกสินค้าคู่ค้ากลับมาขายที่ตําบลสะกอมและบริเวณใกล้เคียง สินค้าที่นํามาส่วนใหญ่เป็นผ้า บุหรี่ น้ําหอม ทองคํา อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน

         - ตำบลน้ำขาว เดิมประชากรตําบลน้ําขาวได้ย้ายถิ่นฐานมาจากอําเภอระโนด จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง ส่วนใหญ่ประชากรที่อพยพมาอยู่จะมีความรู้ความชํานาญเรื่องการทํานาเป็นส่วนใหญ่ จึงได้หักร้างถางพงป่าแล้วเผาและได้ปลูกข้าวไร่หรือเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่าน้ําข้าว จึงได้เรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า “บ้านน้ําข้าว” ซึ่งต่อมได้เพี้ยน จากน้ําข้าวมาเป็นน้ําขาวจนถึงปัจจุบัน
         -  
ตําบลคู  คูหรือคูค่ายในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ได้รับการขนานนามว่า “บ้านศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นหมู่บ้านทางผ่านของทัพเจ้าเมืองจะนะ (วังโต้) เพื่อเดินทางไปยังมณฑลสงขลา ครั้งหนึ่งเมืองจะนะถูกกองโจรมาลายาบุกโจมตีทัพเมืองจะนะสู้ไม่ได้ จึงได้ถอยทัพมายังบ้านศักดิ์สิทธิ์ซึ่งห่างจากเมืองจะนะประมาณ ๑๐ กิโลเมตร โดยเจ้าเมืองจะนะเห็นว่าบ้านศักดิ์สิทธิ์มีทําเลเหมาะสมในการก่อตั้งค่าย จึงได้ก่อตั้งค่ายพร้อมระดมพลเพื่อขุดคูป้องกันการโจมตีจากข้าศึก และเรียกชื่อว่า “บ้านค่าย” (บ้านค่ายในปัจจุบันนั้นคือสวนยางพาราซึ่งอยู่หลังที่ทําการองค์การบริหารส่วนตําบลคู) ครั้งเมื่อทางมณฑลสงขลาทราบว่า เมืองจะนะถูกโจมตีจากกองโจรมาลายาจึงได้ยกทัพมาช่วย ในการสู้รบกันครั้งนั้นทําให้กองโจรมาลายาพ่ายแพ้และล้มตายเป็นจํานวนมาก บ้านค่ายจึงกลายเป็นสุสานขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่เหลือร่องรอยของสุสานแล้วคล้ายลําคลองเอาไว้โดยใกล้ลําคลองจะมีต้นพิกุล ยังมีเรื่องเล่าต่อไปอีกว่าบ้านค่ายหรือคูค่าย เมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้ทิ้งร่องรอยของคูซึ่งมีขนาดใหญ่ (ปัจจุบันยังคงมีอยู่บริเวณหลังที่ทําการองค์การบริหารส่วนตําบลคู ทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒๐๐ เมตร) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจําหมู่บ้านนั่นคือ “โต๊ะหยัง” ผู้ดูแลรักษา “ไหทองคํา” สมบัติของโจรมาลายาที่ตายในสงครามและได้ฝากโต๊ะหยังเอาไว้ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเมื่อถึงฤดูน้ําหลากผู้มีบุญจะได้เห็น “ไหทองคํา” จํานวน ๑ คู่ลอยอยู่ในคลอง (คูค่าย) แต่ไม่มีใครสามารถหยิบจับไหทองคําคู่นั้นมาเป็นเจ้าของได้ “โต๊ะหยัง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ที่ต้นพิกุลจะสําแดงฤทธิ์แปลงกายเป็นงูใหญ่สีขาว เมื่อมีบุคคลภายนอกเดินทางไปยังบริเวณต้นพิกุล ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นการตักเตือนของโต๊ะหยังว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าของห้ามเข้ามากล้ํากราย ในสมัยก่อนเป็นที่เล่าต่อ ๆ กันว่าหากคณะหนังตะลุงหรือมโนราห์จะเดินทางผ่านบ้านศักดิ์สิทธิ์ไปทําการแสดงยังที่อื่น ๆ หากไม่หยุดทําการแสดงเพื่อขอผ่านทาง คนในคณะจะเจ็บป่วยกะทันหัน ดังนั้นจึงเป็นที่ทราบโดยทั่วกันของคณะหนังตะลุงและมโนราห์ หากมีความจําเป็นต้องเดินทางผ่านบ้านศักดิ์สิทธิ์จะต้องหยุดทําการแสดงเพื่อขอผ่านทางก่อน จํานวน ๑ คืน นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านคู่ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตําบลคูในปัจจุบัน ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทําให้คนรุ่นใหม่หลงลืมและไม่ใคร่ให้ความยอมรับนับถือ “โต๊ะหยัง” จะมีก็แต่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ยังให้การยอมรับนับถืออยู่ ในปัจจุบันยังมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอยู่ที่ต้นพิกุล ในคืนแรม ๑๕ ค่ํา นั่นคือจะปรากฏลูกไฟขนาดใหญ่ลอยขึ้นไปทางทิศตะวันออกแล้วค่อย ๆ จางหายไป ทุกวันนี้นักพนันวัวชน ไก่ชน จะนิยมมาบนบานกับโต๊ะหยัง เพื่อให้ได้รับชัยชนะและจะกลับมาแก้บนในภายหลัง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะบนบานเอาไว้ว่าอย่างไร
         - ตําบลขุนตัดหวาย ปรากฏอยู่ในพงศาวดารภาคที่ ๑๕ สมัยอาณาจักรศรีวิชัย พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๘๒๓ สมัยต่อมาได้มีการทําสงครามกับชาติมาลายู ถูกชนชาติมาลายูยกทัพมาชิงเมืองชัยสมรภูมิของเมืองจะนะซึ่งตั้งอยู่บ้านวังโต้ เนื่องจากเมืองวังโต้ไม่เหมาะในการตั้งรับศึก จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ป่าละไม (ขุนตัดหวาย) ปัจจุบันบริเวณที่เนินสูงตรงข้ามวัดขุนตัดหวาย ขณะนั้นท่านขุน (ชื่อเรียกตามศักดินา) มีช้างพังคู่บารมี ๑ ตัว ชื่อพญาได้เสียชีวิตลงบริเวณเนินสูงดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า “โคกนางพญา” ต่อมาท่านขุนได้ไปตัดหวายเพื่อนํามาทําเครื่องใช้สอยบริเวณแอ่งน้ําจึงพลาดตกน้ําเสียชีวิต ตั้งแต่บัดนั้นชาวบ้านจึงเรียก “ขุนตัดหวาย” มาตลอด 
อีกตํานานเล่าว่าเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ได้มอบหมายให้ท่านศรีซึ่งมีศักดินาเป็นขุนในขณะนั้น ยกทัพไปราบขบถเมืองปัตตานีแต่ทําศึกพ่ายแพ้ จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกทหารที่คงเหลือจากการเสียชีวิต พร้อมได้กวาดต้อนเกณฑ์ชาวบ้านชนพื้นเมืองจากโคกโพธิ์ของเมืองปัตตานี มาตั้งทัพพักแรมที่ขุนตัดหวายปัจจุบัน เนื่องจากไม่กล้ากลับเมืองนครฯ กลัวถูกตัดหัวประจาญ ในขณะที่พักแรมนั้นช้างคู่บารมีมีชื่อ “พญา” ได้ตายลงบริเวณเนินสูงจึงเรียก “โคกนางพญา” จนถึงปัจจุบันส่วนท่านขุนศรี และทหารออกไปหาหวายเพื่อนํามาทําของเครื่องใช้บริเวณคลองแม่ตัดหวาย จึงทําให้พลาดตกคลองดังกล่าวจนสิ้นชีวิต ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้สร้างศาลาเพื่อกราบไหว้ไว้บูชา บริเวณคลองแม่ตัดหวายจึงได้เรียก “ขุนตัดหวาย” จนมาถึงปัจจุบัน ส่วนชาวพื้นเมืองขุนตัดหวายซึ่งมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมากนั้น สันนิษฐานว่ามาจากการกวาดต้อนชาวบ้านมาจากเมืองโคกโพธิ์ในครั้งก่อนโน้น
          - ตำบลคลองเปียะ เดิมคําว่าตําบลมีชื่อว่า “คลองเปรียะ” ซึ่งคําว่าเปรียะนั้นเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้าย ๆ กับต้นหนามเตย บริเวณใบจะมีหนามคมสามารถนําไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำเสื่อใช้ปูที่นอน ลักษณะชอบขึ้นตามสายน้ําริมธาร ซึ่งปัจจุบันยังมีชื่อคลองที่เปรียะเป็นธารน้ําเล็ก ๆ อยู่ในหมู่บ้าน ต่อมาภาษาใต้ชอบเรียกสั้น ๆ เพี้ยนมาเป็นตําบลคลองเปียะจนถึงปัจจุบัน
               - ตําบลท่าหมอไทร เป็นตําบลที่ตั้งมาพร้อมอําเภอจะนะ ได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จนมาถึงรุ่นอดีตกํานันชื่อนายบุญ ขวัญจันทร์ เล่าว่า... นานมาแล้วมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเดินทางด้วยเท้าเพื่อจะไปจับช้างที่จังหวัดปัตตานี เดินทางลัดเลาะมาตามป่าเขาระหว่างเดินทางหัวหน้ากลุ่มเรียกว่าหมอช้าง ซึ่งเป็นชาวมุสลิม เกิดล้มป่วย ความตั้งใจที่จะไปปัตตานีก็ต้องยกเลิกจึงพาหมอช้างกลับระหว่างทางหมอช้างป่วยหนัก จึงหยุดพักที่ทุ่งแห่งหนึ่งเพื่อดูอาการปรากฏว่าหมอช้างพอจะเดินทางต่อไปได้ จุดที่พักดูอาการหมอช้างปัจจุบันเรียกว่า “ทุ่งหมออุ่น” หลังจากเดินทางต่อหมอช้างเกิดป่วยหนักคณะจึงได้แวะพักที่ใต้ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ปรากฏว่าหมอช้างได้เสียชีวิตใต้ต้นไทรนั้น และได้ฝังศพของหมอช้างไว้ที่ต้นไทรนั้น ชาวบ้านจึงเรียกตรงนั้นว่าท่าหมอไทรและได้เป็นชื่อตําบลมาจนถึงทุกวันนี้
              - ตำบลนาหว้า เดิมคําว่าตําบลนาหว้านั้นนํามาจากชื่อของบ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่เดิมเป็นหมู่บ้านไทยมุสลิมได้เกิดสงครามยากูเด็น ชาวไทยมุสลิมแพ้สงครามและผู้นําได้ฆ่าตัวตาย มีสุสานฝังศพของชาวไทยมุสลิมเรียกตามภาษามุสลิมว่ากูโบร์โต๊ะนาหว้า ต่อมาคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธได้เข้ามาอยู่แทนที่ประมาณ ๓๐๐ กว่าปีมาแล้ว คําว่ากูโบร์โต๊ะนาหว้า ได้มีการเรียกชื่อสําเนียงเพี้ยนมาเป็นโต๊ะนาหว้า และตามภาษาไทยภาคใต้ชอบเรียกชื่อให้สั้นกว่าเดิมจึงเรียกว่านาหว้า เมื่อได้ยกฐานะเป็นตําบล จึงเอาชื่อนาหว้าเป็นชื่อของตําบลจนถึงปัจจุบัน
          - ตําบลสะพานไม้แก่น เป็นตําบลหนึ่งของอําเภอจะนะมีกลุ่มบ้านอยู่สองกลุ่มใหญ่ คือบ้านคลองยอหรือบ้านออก ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่ซีกตะวันออกคลองต้นเปลียง ซึ่งเป็นคลองที่ลึก ไม่สามารถเดินลงข้ามไปมาระหว่างกลุ่มบ้าน ฝั่งตะวันตกหรือบ้านแซะได้ การเดินทางในสมัยก่อนเดินทางด้วยเท้าไปมาระหว่างหมู่บ้านโดยข้ามสะพานที่คลองต้นเปลี่ยง ซึ่งสะพานทําด้วยไม้ตะเคียนใหญ่มีแก่นแข็งมาก ชาวบ้านที่สัญจรไปมาจะเรียกสะพานนี้ว่าไม้แก่นจนถึงสมัยปัจจุบัน    
        - ตําบลแค ก่อนที่จะตั้งชื่อว่าตําบลแคนั้น ชาวบ้านได้เล่าว่าได้มีต้นแคใหญ่อยู่ต้นหนึ่งภายในหมู่บ้านที่มีอายุหลายปีแล้ว และเมื่อมีการแยกเขตแดนขึ้นคนเฒ่าคนแก่ก็เรียกขานให้ชื่อว่า “ตําบลแค่” จนถึงปัจจุบัน 

            อำเภอเทพา
       เทพาเป็นเมืองเล็ก ๆ มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรื่องราว ที่เล่าต่อกันมามากพอสมควร แต่หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเมืองมีน้อยมาก คาดว่าคงจะสูญหายไปตามยุคตามสมัย แต่เดิมเมืองเทพาและ เมืองจะนะ (อําเภอจะนะในปัจจุบัน) ต่างเป็นเมืองระดับ “จัตวา” ขึ้นตรงต่อเมืองพัทลุง ทุก ๆ ปีเจ้าเมืองจะต้องนําต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปถวายเจ้าเมืองพัทลุงเป็นประจํา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงโปรดให้ยกเมืองเทพาขึ้นกับเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเมืองชั้นตรี จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๔๗ ได้ปรับปรุงกิจการบ้านเมืองและกิจการเกี่ยวกับการปกครองทั่วเมืองต่าง ๆ ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นจึงได้แยกเมืองเทพาและเมืองจะนะออกจากเมืองสงขลา โดยตั้งขึ้นเป็นอําเภอเรียกว่า “อำเภอเทพา” (ไม่รวมกับอําเภอจะนะ) ชิ้นกับเมืองสงขลา โดยตั้งที่ว่าการอําเภอที่บ้านพระพุทธ หมู่ที่ ๒ ตําบลเทพา ซึ่งอยู่บนริมแท่น้ำเทพาและใกล้กับชายฝั่งทะเลหลวงด้านตะวันออก ด้วยการที่ตั้งที่ว่าการอําเภออยู่ริมน้ำก็เพื่อสะดวกในการติดต่อค้าขาย ซึ่งสมัยก่อนมักติดต่อโดยทางเรือเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาการคมนาคมเจริญขึ้นตามลําดัย มีรถไฟสายใต้ผ่านท้องที่อําเภอเทพา ซึ่งห่างจากที่ว่าการอําเภอ ประมาณ ๘ กิโลเมตร จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอําเภอเทพาจากบ้านพระพุทร มาตั้งที่บ้านท่าพรุ หมู่ที่ ๑ ตําบลเทพา (ที่ตั้งปัจจุบัน) ซึ่งใกล้กับสถานีรถไฟเทพา ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า “สถานีท่าม่วง” ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟท่าม่วงเป็นสถานี “เทพา” ให้ตรงกับคําว่า “อําเภอเทพา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภาเทพาประมาณ ๕๐๐ เมตร ที่ว่าการอําเภอเทพา เดิมตัวอาคารก่อสร้างด้วยไม้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ กรมการปกครองได้อนุมัติเงินงบประมาณทำการก่อสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น ตามแบบแปลนของกรมโยธาธิการ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ และ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ กรมการปกครองได้อนุมัติเงินงบประมาณ เป็นเงิน ๘,๐๒๙,๗๑๘ บาท ทำการก่อสร้าง ตามแบบแปลนมาตรฐานกรมโยธาธิการ เลขที่ ม.๑๘๑๕๕

         อำเภอสะบ้าย้อย
     สะบ้าย้อย ปรากฎหลักฐานเอกสารราชการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) ครั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบเทศาภอบาลเป็นเขตการปกครองของอําเภอเทพา จังหวัดสงขลา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า “กิ่งอำเภอบาโหย” ตั้งที่ว่าการอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลบาโหย โดยมีเขตการปกครอง ๕ ตำบล คือตำบลบาโหย ตำบลโมง ตำบลเปียน ตำบลเขาแดง และตำบลจะแหน ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่ตำบลโมง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นตำบลสะบ้าย้อย)  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เปลี่ยนชื่อกิ่งอำเภอเป็นกิ่งอำเภอสะบ้าย้อย โดยมีเขตการปกครจอง ๘ ตำบล ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเรียกว่อำเภอสะบ้าย้อย คำว่า “สะบ้าย้อย” เข้าใจกันว่าเป็นชื่อเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง ที่มีผลเป็นฝักคล้ายสะตอ เมื่อผลสุกเมล็ดข้างในที่หุ้มเปลือกที่หนาและเนื้อจะแข็งมาก ชาวบ้านนำมาใช้ในการละเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่า “การเล่นสะบ้า” เถาวัลย์ประเภทนี้จะมากในบึงแม่สะบ้าย้อย จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อตำบลและอำเภอจนถึงทุกวันนี้

          ชื่อบ้านนามเมืองของจังหวัดสงขลา

  • บ้านคลองแดน
    บ้านคลองแดน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลงใหลในธรรมชาติของชุมชมแห่งนี้ สายน้ำที่หลั่งไหลมาทั้ง ๓ สายคืออำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา หล่อหลอมรวมกันเป็นวิถีชีวิตของผู้คนจนเป็นที่มาของคำว่า” สามคลอง สองเมือง”
  • บ้านเขาใน
    บ้านเขาใน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ ตำนานเล่าขานกันว่ามีนายแรงตนหนึ่งได้หาบภูเขาไปไว้ที่จังหวัดพัทลุงเพื่อให้ภูเขาครบจำนวน ๑๐๐ ลูก ด้วยความมุมานะของนายแรงหาบมาได้แล้วจำนวน ๙๘ ลูก เหลือเพียงภูเขา ๒ ลูกสุดท้าย ด้วยความโชคร้ายพอนายแรงหาบผ่านมาทางหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าไม้คันหาบหัก ภูเขาลูกแรกตกลงบนพื้นที่ของหมู่บ้านซึ่งอยู่ด้านในต่อมาจึงเรียกว่า”ภูเขาใน” ซึ่งภาษาท้องถิ่นทางภาคใต้เรียกภูเขาว่า “เขา” ต่อมาก็มีชาวบ้านอพยพมาอยู่อาศัยรอบ ๆ ภูเขา จึงตั้งชื่อเรียกขานหมู่บ้านว่า “บ้านเขาใน” ในขณะที่ภูเขาตกจากคันหาบนั้นมีบางส่วนของภูเขาได้แตกออกและกระจายไปซึ่งบริเวณนั้นเรียกว่า “หัวเขานุ้ย” และ “หัวเขาเนียน” ตั้งอยู่ทางใต้ของภูเขาในซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๑๐๐ เมตร ส่วนภูเขาอีกลูกหนึ่งตกลงบนพื้นที่ของอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งต่อมาเรียกว่า “บ้านรัดปูน” (ภูเขามีรูปร่างเหมือนหม้อใส่ปูนกินหมากของคนสมัยก่อน)
  • บ้านกระดังงา
    บ้านกระดังงา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ เล่ากันว่าในอดีตเคยเป็นชุมชนของผู้อพยพที่ย้ายถิ่นมาจากหนองมวงพร้อมกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมีวัดทองพันชั่งกับวัดโคกเนียนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ในยุคต่อมาขาดพระสงฆ์ดูแล กอรปกับชุมชนได้ไปตั้งวัดขึ้นใหม่คือวัด “วัดพังตำเสา” เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งน้ำของชุมชนที่เรียกกันว่า “พังเสา” ภายในวัดเจ้าอาวาสได้ปลูกต้นกระดังงาไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมามีเจ้าอาวาสซึ่งได้รับสมณศักดิ์เป็นจางวางได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่และได้สร้างสะพานข้ามพรุนา ซึ่งทำด้วยไม้เคี่ยมยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ในสมัยนั้นชาวบ้านไม่ได้เรียกว่าสะพาะแต่จะเรียกว่า “ดานนา” แต่พอนานเข้าคำว่า “ดานนา” ก็เพื้อนเป็น “ดังงา” และต่อมาเพื่อมให้เหมาะสมกับสภาพภายในวัดและหมู่บ้านเลยเปลี่ยนจากวัดพังตำเสาเป็นวัดกระดังงา และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกระดังงา”
  • บ้านดอนทิง
    บ้านดอนทิง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่าสมัยก่อนชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่สูงน้ำจากระดับมากมาประกอบกับมีป่าไม้ปกคลุมหนาแน่นจึงได้เรียกว่าชุมชนแห่งนี้ว่า “ดอน” ซึ่งหมายถึงที่โคกสูง ภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำอยู่ ๕ แห่ง แต่ละแห่งในฤดูฝนจะมีน้ำเต็มตลอด ซึ่งมักจะมีกระทิงมาลงเล่นน้ำอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านเลยตั้งชื่อหนองน้ำเหล่านี้ว่า “หนองทิง” พอถึงหน้าแล้งกระทิงก็จะอพยพไปและจะย้อนกลับมาอีกในฤดูน้ำหลาก ในสมัยต่อมาเมื่อชุมชนเริ่มหนาแน่นมีผู้คนอพยพมาอาศัยมากขึ้นเหล่ากระทิงก็ค่อย ๆ หายไป และต่อมาก็ไม่มีใครเห็นกระทิงอีกเลย ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “ดอนกระทิง”
  • บ้านสวนทุเรียน
    บ้านสวนทุเรียน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยิ่ง ด้วยพื้นที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้เกาะยอเป็นแหล่งค้าขายทางทะเลที่สำคัญมาตั้งแต่คราครั้งอดีต ประกอบกับด้วยบรรยากาศของชายฝั่งทะเลผสมผสานกับธรรมชาติรอบ ๆ เกาะเป็นที่ดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยวให้มาเยือน ความงามของธรรมชาติที่ผสมผสานกับวิถีทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานของเกาะยอทำให้ชุมชนบ้านสวนทุเรียนมีเรื่องราวเล่าให้ผู้มาเยือนมิรู้จบ โดยเฉพาะในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งล้วนมีอุดมสมบูรณ์เฉพาะอย่างยิ่งไม้ผล อาทิ จำปาดะ ซึ่งปลูกที่นี้ที่แรกผู้ที่นำมาคือท่านพระยาวิเชียรคีรี เจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้น และที่มีการปลูกกันมากก็คือทุเรียน ต่อมาจึงได้เรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านสวนทุเรียน”
  • บ้านท่าไทร
    บ้านท่าไทร ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ด้วยพื้นที่ตั้งเป็นเกาะขนาดเล็กบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ด้วยความงดงามของธรรมชาติและวิถีทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานทำให้ชุมชนบ้านท่าไทรมีเรื่องราวเล่าขานในเรื่องของชื่อชุมชนว่าในอดีตแต่เก่าก่อนนั้นเป็นท่าเรือที่สำคัญของเกาะยอ ชาวเกาะยอในสมัยก่อนจะใช้เรือเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าและติดต่อกับชุมชนใกล้เคียง และบริเวณท่าเรือแห่งนี้มีต้นไทรขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง ชาวบ้านจึงเรียกขานหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านท่าไทร”
  • บ้านบางเหรียงใต้
    บ้านบางเหรียงใต้ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดลำคลองและทะเล ซึ่งบริเวณแถบนี้จะมีหลายหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับลำคลอง ซึ่งชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า”บาง” อาทิ บางกล่ำ บางทึง บางหยี บางเหรียง หรือปากบาง ซึ่งแต่ก่อนบ้านบางเหรียงน่าจะเรียกว่า “บางเรียง” เพราะชื่อหมู่บ้านที่มีคำว่าบางอยู่เรียงต่อกันมา พอเวลานานเข้าก็เพื้ยนไปจากบางเรียงเป็น “บางเหรียง”
  • บ้านบางหยี
    บ้านบางหยี ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ บ้านบางหยีเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่งของอำเภอบางกล่ำ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางกล่ำบ้านเรือนของชาวบ้านมักจะตั้งอยู่ติดลำคลอง และมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมายโดยเฉพาะต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะต้นใหญ่ลูกดกสีดำรสเปรี้ยว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ ต้นหยี” และเมื่อเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านได้ตั้งชื่อว่า “บ้านบางหยี”
  • บ้านจังโหลน
    บ้านจังโหลน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ ประวัติเล่าว่าบ้านจังโหลนเป็นพื้นที่ที่มีป่าอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะพื้นที่รอบ ๆ เขาจังโหลน เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพรรณต่าง ๆ และบนเขาจังโหลนมีช้างป่าจำนวนมาก บ่อยครั้งที่ช้างลงมากินพืชไร่ของชาวบ้านซึ่งบางครั้งช้างลงมาเป็นจำนวนมากกินจนพืชไร่หมดสิ้น ทำให้ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “เขาช้างโลน” (โลนในภาษาใต้หมายถึงสิ้นเปลือง ในที่นี้หมายถึงกินทิ้งกินขว้าง) ต่อมาก็เพื้ยนเป็น “เขาจังโหลน”และก็กลายเป็นชื่อของบ้านจังโหลนในปัจจุบัน
  • บ้านหนองเสาธง
    บ้านหนองเสาธง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ ชุมชนแห่งนี้มีเรื่องเล่าขานว่าในสมัยก่อนชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเล็ก ๆ มีหนองน้ำอยู่เพียงแห่งเดียว ซึ่งปกติชาวบ้านมักจะไปจับปลากันเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านได้ประชุมเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่จับปลาในวันพระ โดยจะนำธงไปปักไว้ ณ กลางหนองน้ำทุก ๆ วันพระ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ทั่วกัน ซึ่งชาวบ้านทุกคนก็ปฏิบัติตามกันมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาก็กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านคือ “บ้านหนองเสาธง”
  • บ้านควนขี้แรด
    บ้านควนขี้แรด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลพะวง อำเภอหาดใหญ่ ควนขี้แรดเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เพราะตั้งอยู่กลางเนินเขากลางป่า ทำให้มีสัตว์นานาชนิดไม่ว่าจะเป็นช้าง สมเสร็จ หมู่ป่า และสัตว์ที่พบบ่อยและมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุดคื “แรด” เพราะในการเพาะปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เวลาออกไปเก็บเกี่ยวผลผลิตก็มักจะพบว่าฝูงแรดได้พากันมากัดกินและทำลายพืชผลให้เสียหายอยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งถ่ายมูลไว้ให้ดูต่างหน้า ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ควนขี้แรด”
  • บ้านหินเกลี้ยง
    บ้านหินเกลี้ยง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ คำว่า “หินเกลี้ยง” นี้มีที่มาจากหิน ๓ ก้อนซึ่งได้กลิ้งลงมาจากยอดภูเขาและจะมีเสียงซึ่งเกิดขึ้นจากก้อนหินนี้ในทุก ๆ วันพระ จึงทำให้ผู้คนเล่าลือกันถึงความอัศจรรย์นี้จนเกิดศรัทธาและมีความเชื่อว่ามีของมีค่าอยู่ภายในก้อนหินนั้น และเมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นได้พบก้อนหินนี้เข้าก็ได้ทำการผ่าก้อนหินเพื่อเอาของค่าเหล่านั้นไป ชาวบ้านที่พบเจอเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ร้องบอกกันต่อ ๆ ไปว่าสมบัติของที่ค่าที่อยู่ในก้อนหินนั้นได้ถูกทหารญี่ปุ่นเอาออกไปจนหมดเกลี้ยงแล้ว ก็เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า “หินเกลี้ยง”
  • บ้านเขารูปช้าง
    บ้านเขารูปช้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา มีตำนานเล่าขานความเป็นมาของเขารูปช้างไว้ว่า เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีมาแล้ว พระมหาอุปราชาแห่งลังกาวี ได้จัดขบวนออกติดตามครอบครัวของพระนางปะไหมสุหรี (พระนางเลือดขาว) หลังจากทราบความจริงว่าพระนางเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้คบชู้หากแต่ถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง จึงได้จัดชุดเครื่องเงินทองของมีค่าเพื่อมาขอขมาต่อครอบครัวที่เหลืออยู่ของพระนาง ในขบวนการติดตามนั้นมีช้างมาด้วย ๓ ช้าง ประกอบด้วยช้างพ่อ แม่ และลูกช้าง ขณะที่ขบวนติดตามมาใกล้จะถึงถ้ำพญาเลือดขาว ขบวนได้เดินผ่านบนหนองน้ำที่แห้ง ปรากฏว่าพ่อช้างและแม่ช้างได้ตกลงไปในหนอง โดยแม่ช้างซึ่งบรรทุกเครื่องขอขมาได้ถูกโคลนดูดได้ร้องออกมาด้วยความตกใจ และด้วยสัญชาตญาณของช้างแสนรู้ก่อนที่จะจมหายไปได้ใช้งวงหยิบเชี่ยนหมากยืนไปทางถ้ำนางพญาเลือด ซึ่งปรากฎหลักฐานในปัจจุบันคือ “เขาเชี่ยน” ส่วนลูกช้างตกใจหันหลังวิ่งเพื่อให้พ้นจากโคลนดูดก็เกิดปรากฎการณ์แผ่นดินแยกทำให้ลูกช้างถูกโคลนดูดติดอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “เขารูปช้าง”
  • บ้านทุ่งส้าน
    บ้านทุ่งส้าน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ เป็นชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติมาก ๆ เพราะพื้นที่ตั้งเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิด เล่ากันมาว่าเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้วชาวบ้านได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่จำนวนมากชาวบ้านเรียกว่า “ต้นส้าน” ต่อมาเมื่อตั้งเป็นชุมชนเข้มแข็งได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านทุ่งส้าน”
  • บ้านทุ่งครก
    บ้านทุ่งครก ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลแค อำเภอจะนะ คำว่าทุ่งครกนั้นมาจากเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว ชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพทำนาได้นำครกซึ่งเป็นอุปกรณ์ตำข้าวติดตัวออกไปทำนาด้วยทุกครั้ง เพื่อจะได้ตำข้าวและนำเมล็ดข้าวกลับมาบ้าน แต่เพราะด้วยความเหนื่อยล้าและน้ำหนักของครกซึ่งหนักมาก ทำให้ชาวนาส่วนมากตัดสินใจทิ้งครกไว้ตามคันนา เพื่อจะได้ขนย้ายข้าวเปลือกกลับบ้านได้มากและรวดเร็ว “การทิ้งครก”หรือ “การทุ่มครก” ในภาษาภาคใต้ ต่อมาเมื่อเวลาล่วงไปได้กลายเป็น “ทุ่งครก” ในที่สุดและได้กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านในปัจจุบัน
  • บ้านหัวควน
    บ้านหัวควน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าหมอไทร อำเภอจะนะ บ้านหัวควนเริ่มแรกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่หมู่ที่ ๔ บ้านช้างคลอด ในการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านในช่วงแรกนั้นจะตั้งอยู่รายรอบวัดและการเรียกชื่อของหมู่บ้านจะเรียกกันโดยใช้วัดช้างคลอดเป็นจุดศูนย์กลาง เช่น ชุมชนที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกจะเรียกว่า “บ้านออก” ถ้าทิศตะวันตกของวัดจะเรียกว่า “บ้านตกหรือบ้านควนเส้ง” ทิศเหนือของวัดเรียกว่า “บ้านตีน” ทิศใต้จะเรียกว่า “บ้านหัวนอน” สำหรับชุมชนบ้านหัวควนเป็นกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลจากวัดช้างคลอดมาทางทิศใต้ เป็นระยะทางประมาณ ๒,๕๐๐  เมตร และเป็นกลุ่มคนเดียวที่มีลักษณะของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบสูงเป็นลักษณะของภูเขาหรือควน (ภาษาใต้) จึงเป็นที่มาของบ้านหัวควน
  • บ้านเขานา
    บ้านเขานา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี บ้านเขานาเป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากบ้านล่องมุด หมู่ที่ ๕ ประวัติของบ้านเขานานั้นเล่าว่าเป็นชื่อเรียกกันตามเรื่องราวของนายขุนดำและนายที่ลานควาย ซึ่งทั้ง ๒ เป็นเพื่อนรักกัน ทั้ง ๒ ได้เดินท่องเที่ยวกันไปตามที่ต่าง ๆ จนมาพบบริเวณพื้นที่แห่งหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อทั้ง ๒ คนเห็นดังนั้นจึงได้ตัดสินในตั้งบ้านเรือนขึ้น ต่อมาได้กลับไปชักชวนพี่น้องมาอยู่กันที่แห่งนี้และได้ช่วยกันกันปลูกข้าวซึ่งปลูกบนภูเขา ทำให้พื้นที่แห่งนี้เขียวขจีไปด้วยต้นข้าว ผู้คนเดินผ่านไปมาก็จะมองเห็นพื้นที่นาได้ในระยะไกล ต่อมาภูเขานี้ได้รับการเรียกขานว่า “เขานา”
  • บ้านใหม่
    บ้านใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีฝายทดน้ำบ้านใหม่ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ การสร้างชุมชนขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตปกครองของหมู่ที่ ๑ บ้านคลองยอ แต่เดิมเรียกขานกันว่า “บ้านทับไข่เน่า” โดยที่คนพื้นเพนั้นได้อพยพมาจากบ้านทุ่งโตนด อำเภอนาหม่อม ต่อมาได้เกิดโรคไข้ทรพิษขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้อพยพหนีโรคร้ายมาตั้งทับอยู่กันหลาย ๆ คน ซึ่งเรียกว่า “ทับขี้หนู” หลังจากหายจากโรคไขแล้วได้อพยพกลับเข้ามาอยู่ใหม่โดยห่างจากที่เดิมพอประมาณ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านใหม่”
  • บ้านนา
    บ้านนา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย บ้านนาเป็น ๑ ใน ๗ หมู่บ้านของตำบลเขาแดง จากที่เล่าต่อกันมาว่าแรกเริ่มเดิมทีหมู่บ้านแห่งนี้มีชาวบ้านจากบ้านสวนชาม หมู่ที่ ๒ ตำบลเขาแดง ได้เข้ามาบุกเบิกเพื่อทำนา ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่า “บ้านนา”

โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

 ศิลาจารึกสามภาษาที่สําโรง


ภาพจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/403-เรื่องราวหาดใหญ่-คนใต้...มาแต่ไหน/

         ศิลาจารึกสามภาษาที่สําโรงในบริเวณโรงพยาบาลประสาทสงขลาปัจจุบัน ริมถนนไทรบุรี ใกล้สามแยกสําโรง อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีศาลาเทพารักษ์ ในศาลานี้มีศิลาจารึก ๓ หลัก จารึกเป็นภาษาไทย ๑ หลัก ภาษาจีน ๑ หลัก และจารึกด้วยอักษรยาวีเป็นภาษามาเลย์ ๑ หลัก ศิลาที่ใช้จารึกเป็นหินแกรนิต ขนาดประมาณ กว้าง ๗๕ เซนติเมตร สูง ๑๕๐ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร สาระสําคัญของจารึกทั้ง ๓ ภาษาตรงกันศิลาจารึกที่เป็นภาษาไทยบอกศักราชไว้ว่า จารึกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๘ อันเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บอกเหตุแห่งการจารึกไว้ว่าพระสุนทรานุรักษ์ (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาคิดจะบําเพ็ญกุศลสร้างสาธารณประโยชน์คือสร้างถนน บ่อน้ำและสะพาน ข้ามคลองสําโรง จึงนําความขึ้นกราบเรียนพระยาวิเชียรคีรี (เกี้ยนเส้ง) เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วได้ชักชวนข้าราชการและชาวเมืองสงขลา ทั้งไทย จีนและไทยมุสลิม ร่วมกันบริจาคทรัพย์ได้รวมกัน ๒,๓๑ ๒เหรียญ ๓ สลึง ให้ช่างจัดการก่อสร้างสิ่งดังกล่าวจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทําการฉลองเป็นการใหญ่และได้ทําจารึกไว้เป็นอนุสรณ์ สำหรับการอธิบายจารึกดังกล่าวขยายความได้ดังนี้
     - 
จารึกภาษาไทย (ถอดความโดยโกวิท คติการ) ได้อ่านไว้เพียง ๑ ใน ๓ ของข้อความทั้งหมดที่อ่านได้ไม่ตลอด เพราะบางแห่งมีรอยลบและบางแห่งเลอะเลือน ข้อความที่ไม่ได้อ่านส่วนใหญ่เป็นรายนามผู้บริจาคทรัพย์ ส่วนจารึกที่เป็นภาษาจีน คุณสุชาติ รัตนปราการ ได้อ่านและสรุปสาระสําคัญไว้ว่า…
      ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยพระสุนทรานุรักษ์ปรารภ ที่จะสร้างสะพานสําโรงให้ถาวรแทนสะพานเก่าที่ชํารุด เพื่อเป็นเกียรติอนุสรณ์แก่พระยาวิเชียรคีรี ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนยศและเห็นว่าสะพานเป็นสาธารณประโยชน์ ควรเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มีส่วนร่วมด้วย จึงได้จัดให้มีการบริจาคและดําเนินการก่อสร้างจนเสร็จเรียบร้อย ส่วนข้อความที่เหลือ (แผ่นที่ ๒, ๓) เป็นรายชื่อผู้บริจาค ส่วนที่ ๔ (แผ่นที่ ๔) แจ้งยอดเงินรับจ่ายและสุดท้าย ได้อธิษฐานให้บ้านเมืองร่มเย็น ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
    - จารึกภาษาจีน (อาจารย์สุชาติได้คัดลอกคัดลอกและทําเครื่องหมายไว้ดังนี้ ..“ศุภมัสดุพระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยแปดสิบแปดพระวสา สุชปักษ์วันเสาร์ เดือนสิบสอง ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก พระสุนทรานุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มีอนุสรณ์เจตนาเป็นมหากุศลพร้อมด้วย โสภณญาณสัมประยุติจิตต์คิดถึงพุทโธวาทว่าบุคคลเป็นนักปราชญ์อาจรู้ซึ่งประโยชน์สองประการ คือประโยชน์ในปัจจุบันอย่างหนึ่ง รู้ประโยชน์อันพึงจะได้ผลในภาพเบื้องหน้าเป็นที่สอง จึงร้องเรียกว่านักปราชญ์ เมื่อนมัสสิการถึงพระพุทธโอวาทฉะนี้แล้ว เพราะเจตนาปรารถนาต่อการทําทานทํากุศล คือถนนและบ่อน้ำ สะพานข้าม แล- ศาลาสํานักนี้ ศาลเทพารักษ์เป็นห้าประการให้มีความสุขเป็นทานแก่สมณชีพราหมณ์ ประชาชน กุลบุตรเป็นที่สุดถึงสัตว์เดียรัจฉาน จะได้ดับร้อนรําคาญอันบังเกิดในกายแลจิตต์แห่งมหาชน อนึ่งจะเป็นที่เจริญกุศลสิ้นกาลช้านาน จึงนําเอาเรื่องความทําสะพานศิลาข้ามคลองขึ้นกราบเรียน พณฯ พระยาวิเชียรคีรีศรีสมุทรวิสุทธิศักดามหาพิไชย สงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าคุณเมืองสงขลา ก็เลื่อมใสยอมอนุโมทนา จึงชักชวนวงศาคณาญาติ ข้าราชการ บ้านชาวไทย จีน แขก ที่มีศรัทธา ได้โมทนาบริจาคธนทรัพย์ ไว้สําหรับจะใช้จ่าย ประมวลได้ประมาณ สองพันสามร้อยสิบสองเหรียญ ๓ สลึง ครั้งถึงวันพุธ เดือนยี่ ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเสง สัปตศก มรรคนายกจัดแจงการก่อสะพานพื้นศิลา มีพนักฝากําแพงข้างโปร่ง อิฐก็ตั้งทั้งสองข้างไว้ช่องว่างกว้างสามวา ไม้แก่นหนาเรียบเรียงรอง ยาวยี่สิบสองวาที่สุด ศาลา หยุดศิลาประดับ บ่อน้ำซับน่าอาบกิน ช้างทักษิณศาลเทพยดาไว้บูชาแขก จีน ไทย ยกถนนใหญ่กว้างห้าวา สิ้นมรรคาแปดสิบเส้น ตรงตลอดเห็นจดประตูเมือง เสาธงเนื่องปักเรียงรัน ยะย้ากันคู่ละวา ประดับประดาการฉลอง ปรับปรุงห้องโรงพระปริต เครื่องวิจิตรประจงจัด วันพฤหัสขึ้นเดือนสาม ฤกษ์ปลอดงามสิบสองค่ำ ปีมะเมีย อัฐศก เชิญบุษบกพระบรมธาตุ ยานนุมาศตั้งเทพยดา ลําดับมาเป็นเหล่าหลัน ได้ฉายาชั้นล้นฆ้องชัย ยิงปืนใหญ่ ให้โอกาส ยกพยุหบาทพร้อมตุริยางค์ แต่งหลายอย่างต่างภาษา แต่ล่องมาถึงศาลเจ้า นําเทวดาเจ้าสู่สถาน นมัสการ ให้พระธาตุกลับมาประทับโรงพระปริต วางสถิตย์แท่นศิลา เหล่ากระบวนถ้วนหาญแห่ ซึ่งอัดแอภักษาหาร ใน โรงทาน แขก จีน ไทย หญิงชายไซร้สิ้นด้วยกัน หมื่นแปดพันสี่ร้อยห้าสิบหกไว้ในศาล ให้มีการมหรสพ สิ้นครับ ครบทุกสิ่งสรรพ์ พระสุริยัณห์เคลื่อนคล้อยน่าย เงินทองปรายแก่ชนา พระสงฆ์มาเป็นประธาน น้อมนมัสการโดย เคารพ รับศีลจบฟังพระปริต สําฤทธิกิจสิ้นสงสัย ดอกไม้ไฟอัดบูชา รุ่งเพลาปฏิบัติสงฆ์ ยี่สิบองค์ถ้วนสามวัน พระสวดนั้นถวายไตรย เพิ่มขึ้นใหม่ต่างอาราม สามร้อยสามสิบเอ็ดองค์ ถวายสะบงองค์ละผืน ไทยทานอื่นสารพัด เจ้าเมืองจัดโมทนาพร้อม น้อมอํานวยพร ต่างยอกรขึ้นแผ่ผล ส่วนกุศลสรรพสัตว์ จงขจัดพ้นจากทุกข์ ให้มีสุขจนอวสานต์ เตชะทานแห่งอาตมา โดยเวทนาพร้อมทั้งสามขอให้ข้ามสังสารวัฏ ตรัสรู้ธรรมพิสมัย ขอให้เกิดในวรศาสนาเมตไตรยาจะมาตรัส วัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์ กุศลบุญอย่าแคล้ว ตราบเท่าถึงเมืองแก้ว แห่งท้องนฤพาน ก่อสร้างกุศลสืบศาสนามุ่งหมายให้คลาดแคล้วมารร้าย เดชะผลได้สร้างทานา
          
โกวิท คติการ ได้อธิบายขยายความศิลาจารึกนี้ว่า สาธารณประโยชน์ทั้ง ๕ ซึ่งสร้างพร้อมกันในครั้งนั้นไว้ดังนี้

๑. ถนนจากสําโรง ยาวตั้งแต่สะพานสําโรงจดประตูเมืองสงขลา คือที่เป็นถนนไทรบุรี ตอนสี่แยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของวัดโพธิ์ปฐมมาวาส สงขลา จนทุกวันนี้ ที่ตรงนี้เดิมมีประตูเมืองที่ชาวบ้านเรียกว่า ประตูไชย ส่วนถนนตั้งแต่ประตูเมืองจนถึงสําโรงนั้นเดิมคงเป็นทางเล็ก ๆ เพิ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ ดังกล่าวแล้ว ปรากฏในศิลาจารึกว่ากว้าง ๕ วา ยาว ๘๐ เส้น
๒. บ่อน้ำ มีอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ของศาลาที่ไว้ศิลาจารึก รวม ๒ แห่งด้วยกัน
๓. สะพาน คือสะพานข้ามคลองสําโรง เดิมใช้ศิลารองแล้วปูเรียงด้วยไม้แก่น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อพระยาชลบุรานุรักษ์มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสําเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ได้รื้อสะพานเดิมเสีย แล้วจึงได้สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นแทน และสมัยต่อมาได้ตกแต่งทันสมัยขึ้นดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
๔. ศาลา เท่าที่เห็นมีอยู่ ๓ แห่ง คือทางทิศเหนือของสะพานข้ามคลองสําโรง ห่างจากสะพานประมาณ ๑๕ เส้น มีอยู่หลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนไทรบุรี อีกหลังหนึ่งอยู่ใกล้กับศาลาที่ไว้ศิลาจารึก (แต่ทั้ง ๒ หลังได้ถูกรื้อถอนไปหมดแล้วเพราะทรุดโทรมมาก) ส่วนอีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานข้ามคลองสําโรง ตรงสามแยก ส่วนศาลารายทางอื่น ๆ นั้นจะสร้างพร้อมกันในคราวนี้หรืออย่างไร ในศิลาจารึกมิได้บอกว่ามีอยู่
๕. ศาลเทพารักษ์ เข้าใจว่าคงจะเป็นศาลาที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลาทวด ซึ่งสร้างแบบศาลเจ้าที่อยู่ใกล้กับป่าช้าจีนมาเก๊า ริมถนนสายสงขลาไปตําบลทุ่งหวัง

        ส่วนแท่นสี่เหลี่ยมซึ่งอยู่ริมถนนไทรบุรีทางทิศตะวันออกใกล้กับศาลาที่ไว้ศิลาจารึกนั้น คงเป็นส่วนหนึ่งของโรงพระปริตเป็นที่วางพระธาตุคราวงานฉลองดังที่กล่าวในศิลาจารึก
 


จารึกภาษาจีน


จารึกภาษายาวี


ร่องรอยของโบราณสถานที่ฝั่งแหลมสนที่สมเด็จพระเจ้าตากมหาราชเสด็จมาประทับเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๒

        จากหลักฐานทางวิชาการค้นพบว่าสมเด็จพระเจ้าตากมหาราช พระองค์ทรงว่าราชการอยู่ที่วัดสุุวรรณคีรี ตำบลหัวเขา เป็นสถานที่ตั้งพลับพลา เนื่องจากมีการพบแนวฐานอิฐเป็นจำนวนมาก ตลอดถึงพบเครื่องกระเบื้องจีนราวปลายกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้บริเวณแห่งนี้เป็นเนินสามารถมองเห็นทัพเรือที่แล่นเข้ามาและสามารถหลบคลื่นลมได้อย่างดี


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
สงขลา (Songkhla)
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

8 หมู่บ้านเก่าแก่ เมืองหาดใหญ่. สืบค้นวันที่ 5 ก.พ. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/ 
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักวิจัยและพัฒนา. (2553). บันทึกของพลับ ไชยวงศ์ : ที่ระลึกในโครงการแลอดีตมองอนาคตเมืองหาดใหญ่.
          พิมพ์ครั้งที่ 2. เครือข่ายวิจัยชุมชน  สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
รวมเรื่องเล่า...เมืองสงขลา ตอนที่ 2 เจ้าเมืองคนแรก. สืบค้นวันที่ 5 ก.พ. 61, จาก https://my.dek-d.com/eakrawee/writer/view.php?id=859534
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (2561). จังหวัดสงขลา. สืบค้นวันที่ 5 ก.พ. 61, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดสงขลา
วิเชียรคิรี, พระยา (ชม ณ สงขลา). (2469). พงศาวดารเมืองสงขลา. [ไม่ปรากฎสถานที่พิมพ์ : โสภณพิพรรฒธนากร.
ศิริวรรณ ทองสกุล ... [และคนอื่น ๆ], บรรณาธิการ. (2554). หนังสือผ้าไทยจังหวัดสงขลา : ผ้าทอสองนที ผ้าเนื้อดี--ผ้าเกาะยอ. สงขลา : เอสพริ้นท์ (2004).
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา. 2560. ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี : แอ่งเล็ก เช็คอินจังหวัดสงขลา. สงขลา :
          สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา.
สุภาวดี เชื้อพราหมณ์. 2546. ตึกแถวผลผลิตทางกายภาพและวัฒนธรรมในชุมชนเมืองเก่า จังหวัดสงขลา.
          วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สุภาวดี เชื้อพราหมณ์. [ม.ป.ป]. จังหวัดสงขลา. สืบค้นวันที่ 5 ก.พ. 61, จาก http://www.wimut.ac.th/62/15/data.html
2560 100 ปี อำเภอหาดใหญ่ ย้อนรำลึกความทรงจำและเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่. สืบค้นวันที่ 5 ก.พ. 61, จาก
          http://news.gimyong.com/article/561
อุบลวรรณ อนุสา ... [และคณะ] (2554). คู่มือการถ่ายทอดองค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาท้องถิ่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา. สงขลา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา.


ข้อมูลเพิ่มเติม


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024