หับ โห้ หิ้น (Hab Ho Hin)
 
Back    26/03/2018, 14:20    20,266  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

         หับ โห้ หิ้น หรือโรงสีแดง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา หับ โห้ หิ้น ในสมัยก่อนคือโรงสีข้าว เป็นสถานที่เก่าแก่ในย่านเมืองเก่าของจังหวัดสงขลา ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ตัวอาคารทั้งหมดทาด้วยสีแดงสดใส สวยแตะตาต้องใจ หับ โห้ หิ้น ตั้งอยู่บนถนนนครนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา หากย้อนไปในอดีตเมืองสงขลาโดยเฉพาะฝั่งบ่อยาง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญและพัฒนา โดยกลุ่มคนเชื้อสายจีน ประกอบด้วยหลาย ๆ ตระกูล อาทิ ณ สงขลา, รัตรสาร, รัตนปราการ  ซึ่งได้ทำค้าขายกับเมืองอื่น ๆ เช่น ปัตตานี นราธิวาส หรือมาเลยเซีย โดยเฉพาะการค้าขายข้าวสาร  ซึ่งสมัยก่อนการส่งมอบผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญคือข้าวคือโรงสี หับ โห้ หิ้น หรือโรงสีแดง จึงเป็นโรงสีข้าวที่รองรับผลผลิตข้าวเปลือกจากเกษตรกรในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่สำคัญ
          หับ โห้ หิ้น เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า "เอกภาพ" "ความกลมกลืน" และ "ความเจริญรุ่งเรือง" คำว่า "หับ" ในภาษาจีนฮกเกี้ยนตรงกับคำว่า "ฮะ" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่แปลว่า "สามัคคี" ส่วนคำว่า "โห้" น่าจะตรงกับคำว่า "ฮ่อ" หมายถึงความดีและความเจริญรุ่งเรือง คำว่า "หิ้น" หมายถึงสวน หรือสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวชุมนุมกัน โดยรวม "หับ-โห้-หิ้น" แปลว่า "สวนสมานฉันท์อันเจริญรุ่งเรือง" สำหรับการก่อตั้งหับ โห้ หิ้น นั้นเริ่มต้นจากคนเชื้อสายจีนตระกูลเสาวพฤษ์ (ขุนราชกิจจารี) ได้ร่วมหุ้นกับตระกูลโคนันทน์ จัดตั้ง "หับ โห้ หิ้น" ขึ้นราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ อยู่ต่อมาภายหลังหลาน ๆ ของขุนราชกิจจารี ได้ซื้อกิจการไว้ทั้งหมด โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘  ได้มีปรับปรุงพัฒนาโรงสีให้ทันสมัย โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์พลังงานไอน้ำจากประเทศอังกฤษ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนับว่าเป็นแห่งแรกในคาบสมุทรสงขลาก็ว่าได้ เหตุนี้จึงทำให้ดำเนินกิจการของหับ โห้ หิ้น  เจริญรุ่งเรืองและเป็นไปได้ด้วยดี โดยขยายการรับข้าวเปลือกจากระโนด พัทลุง บรรจุลงเรือล่องมาทางทะเลสาบสงขลามาเทียบท่าด้านหลังโรงสี เมื่อสีเสร็จแล้วส่งไปขายยัง ปัตตานี นราธิวาส และมาเลเซีย หลังปี พ.ศ. ๒๔๘๘ กิจการของหับ โห้ หิ้น เริ่มประสบปัญหาเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย เมื่อสงครามยุติกอรปกับความเจริญของบ้านเมิืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้หับ โห้ หิ้น  ต้องยกเลิกกิจการโรงสีไป ต่อมาทายาทและผู้รับมอบพินัยกรรมก็ได้เปลี่ยนหับ โห้ หิ้น จากโรงสีมาเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่ และที่สำคัญเป็น landmark ตึกแดงแห่งถนนนครนอก สงขลา ก่อนที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนทำให้หับ โห้ หิ้นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลา  
        หากเดินเข้าไปภายในโกดังจะพบกับจุดถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ทั้งป้ายหับ โห้ หิน หรือท่าเทียบเรือ ทำให้เหมือนย้อนเวลากลับไปเมื่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่สมัยรองอำมาตย์ตรีขุนราชกิจการ ได้เปิดกิจการโรงสีข้าวขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ปัจจุบันโรงสีข้าวแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานภาคีคนรักเมืองสงขลา และยังเป็นที่ตั้งของอุุทยานการเรียนรู้ TK Park สงขลา สถานที่หาความรู้ของคนในเมืองเก่าสงขลา หับ โห้ หิ้นหรือที่ใครหลาย ๆ คน จะเรียกว่า "โรงสีแดง" ในปัจจุบันจึงกลายเป็นสถานที่ที่บรรดาเหล่านักท่องเที่ยวจะมาถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยมาเยือน

รองอำมาตย์ตรี ขุนราชกิจการี ผู้ก่อตั้งโรงสีหั้บ โห้ หิ้น (โรงสีแดง)

ภาพจาก : เรื่องเก่า ๆ มาเล่าใหม่ ประวัติสงขลา : https://www.facebook.com/songkhlastory/posts/491281780903616

ปล้องไฟสำหรับระบายควันปัจจุบันยังคงสภาพดี

ภายในหับ โห้ หิ้นบอกเล่าถึงเรื่องราวต่่าง ๆ ของสงขลา

ประวัตินายสุชาติ รัตนปราการ ทายาทของหับ โห้ หิ้น

เรือกลไฟที่ใช้กิจการของหับ โห้ หิ้น

ป้ายบอกแหล่งท่องเที่ยวในเมืองสงขลา

ด้านหลังเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่

ประติมากรรมคนแบกกระสอบซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าหับ โห้ หิ้น

อาคารด้านนอกที่ติดกับหับ โห้ หิ้น


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
หับ โห้ หิ้น (Hab Ho Hin)
ที่อยู่
ถนนนครนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.1982805
ลองจิจูด
100.5863556



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

หับ โห้ หิ้น : โรงสีแดงแห่งเมืองสงขลา. (2560). สืบค้นวันที่ 21 ส.ค. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/514- เรื่องราวหาดใหญ่-หับ-โห้-หิ้น/

 


ข้อมูลเพิ่มเติม


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025