วัดแหลมจาก (Wat Laemchak)
 
Back    28/12/2017, 11:29    11,487  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดแหลมจาก ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ตามประวัติเล่าว่าเป็นวัดเก่าแก่คู่กับคาบสมุทรสทิงพระมาช้านาน เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา ตามหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่าวัดแหลมจากแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาไม่แน่นอนนัก แต่สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายประมาณปี พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบสงขลาด้านทิศตะวันออกของบ้านปากรอ แต่เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่ใช้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น ต่อมาก็ได้กลายเป็นวัดร้างเป็นเวลานานหลายปี ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับการมาบูรณะขึ้นใหม่โดยพระมหาลอย จนฺทสโร (ระตินัย) ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด (พ.ศ. ๒๔๔๐–๒๔๘๒) พระมหาลอยมีความชำนาญในงานศิลป์และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในสมัยแรกเริ่มการก่อสร้างวัดชาวบ้านจะเรียกกันว่า ”วัดแหลม” วัดแหลมจากมีโบราณสถานที่สำคัญคือพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ซึ่งพระมหาลอยได้รวบรวมผู้คนช่วยกันสร้างแล้วประดิษฐานไว้ริมทะเลสาบสงขลา พระพุทธไสยาสน์มีพุทธลักษณะงดงามแบบเชิงศิลป์พื้นถิ่นภาคใต้ มีความยาวประมาณ ๔๔ เมตร ก่อสร้างโดยใช้หินดินดานก่อเป็นองค์แล้วฉาบปูน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นนำหินมาเผาไฟทำเป็นปูนแทนปูนซีเมนต์ วัดแหลมจากได้รับพระราชทานวิสุงคามสิมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นโบราณสถานลำดับที่ ๑๗ ในโบราณสถาน ๔๖ ลำดับ ที่สำนักศิลปกรที่ ๑๓ สงขลา ได้ขึ้นทำเนียบไว้เป็นโบราณสถานของชาติ


ความสำคัญ

    วัดแหลมจากหรือวัดแหลมหรือวัดบ้านแหลมหรือวัดท่านมหาลอยวัดแหลมจาก ตั้งอยู่บนพื้นที่ปากคลองหรือตรงข้ามฝั่งคลอง ด้านอำเภอสิงหนคร ฝั่งปากน้ำบ้านแหลมจาก ตรงข้ามหัวสะพานปากรอ-บ้านใต้ จังหวัดสงขลา เป็นวัดเก่าแก่คู่คาบสมุทรสทิงพระตามหลักฐานทางโบราณคีดีสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและถูกทิ้งให้เป็นวัดร้าง ก่อนที่จะมีการบูรณะใหม่โดยท่านมหาลอย จนฺทสโร เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแหลมจาก ท่านเป็นพระที่มีความชำนาญงานศิลป์และเป็นผู้สร้างสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในวัดแห่งนี้มากมาย วัดแหลมจากยังเป็นที่ประดิษฐานพระนอนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ กอรปกับที่ตั้งของวัดแหลมจากแห่งนี้ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา ทำให้บรรยากาศของวัดร่มรื่นเหมาะแก่การมาทำบุญพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง 

        วัดแหลมจากมาจากการเรียกขานของชาวบ้านประกอบด้วยคำว่า "แหลม" ซึ่งหมายถึงลักษณะของแผ่นดินที่ยื่นออกไปกลางทะเล ส่วนคำว่า "จาก" ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่าการจากลาแต่จากในที่นี้ความหมายถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบลำคลองที่มีน้ำสองน้ำหรือที่ชาวใต้เรียกว่าสองดอง (น้ำเค็มกับน้ำจืด) มาผสมกันกลายเป็นน้ำสองดอง หรือน้ำกร่อย ตลอดถึงป่าชายเลน โดยเฉพาะในแถบตำบลปากรอซึ่งมีลักษณะเป็นทะเลดั้งเดิมทำให้ "วัดแหลม" กลายเป็น "วัดแหลมจาก" ในที่สุด 


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

พระพุทธไสยาสน์

       พระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน ซึ่งมี ๒ องค์ สร้างขึ้นในสมัยแรกเริ่มการสร้างวัด มีลักษณะเป็นพระนอนขนาดใหญ่ ก่อด้วยหินดินดานฉาบปูน หินที่เป็นวัสดุในการก่อสร้างพระพุทธไสยาสน์ขนมาจากเกาะยอทางเรือ ซึ่งเป็นการคมนาคมที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น พระพุทธไสยาสน์มีลักษณะพุทธศิลป์แบบภาคใต้ โดยการนำหินมาก่อเป็นพระนอนแล้วจึงฉาบทับด้วยปูน จากรูปแบบศิลปกรรมและคติการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์น่าจะเป็นความนิยมในสมัยนั้น โดยที่องค์พระทั้ง ๒ องค์ ประดิษฐานอยู่คนละด้านกัน ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้บูรณะซ่อมแซมแล้วหนึ่งองค์ ซึ่งมีการสร้างวิหารคลุมเพื่อกันแดดกันฝน ส่วนอีกหนึ่งองค์รอการบูรณะ ซึ่งองค์ที่ประดิษฐานกลางแจ้งตามรอบ ๆ องค์จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานประทับนั่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พระพุทธไสยาสน์ในวัดแหลมจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งของชาติ

พระพุทธไสยาสน์ที่ิิอยู่กลางแจ้ง

พระพุทธไสยาสน์ที่มีวิหารคลุม

พระอุโบสถ

       พระอุโบสถของวัดแหลมจากตั้งอยู่ในกำแพงแก้วใกล้ ๆ กับองค์พระพุทธไสยาสน์เป็นอุโบสถที่สวยงามมากสร้างตามแบบอุโบสถทั่วไป มีใบระกา หางหงส์ และหน้าบันมีรูปพญาครุฑตัวแทนแห่งพระเป็นเจ้าบนฟากฟ้า และเป็นตัวแทนแห่งพระราชาในเมืองมนุษย์ ด้านหน้ามีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามมารหรือห้ามสมุทรประดิษฐานอยู่

เจดีย์ทอง


ปูชนียวัตถุ

พระฤษี

ท้าวมหาพรหม

พญานาค

พระแม่อุมาเทวี

ชาละวัน

พระฤษี นางเงือก และสุดสาคร

ศาลาพ่อท่านลอย

เจ้าแม่กวนอิม

พระสีวลี


ปูชนียบุคคล

       วัดแหลมจาก ตั้งแต่เริ่มสร้่างวัดมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีเจ้าอาวาสปกครองมา ๘ รูป ประกอบด้วย

      ๑. พระมหาลอย จนฺทสโร (พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๘๒)

        ๒. พ่อท่านสมุห์ชุม (น้องชายพระมหาลอย พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๕๐๓)

        ๓. พ่อท่านคล้าย (พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๕)

      ๔. พ่อท่านแดง (พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๗)

        ๕. พระครูลาว ธารทฺวิชิโอ (พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๔๑)

       ๖. พ่อท่านล้วน (พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒)

       ๗. พระสนิท เตชะธมฺโม (พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๓)

       ๘. พระมหากมลศักดิ์ อิสฺสวาโร (พ.ศ. ๒๕๔๔)

พระมหาลอย จนฺทสโร

       พระมหาลอย จนฺทสโร เกิดที่บ้านปากรอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ โยมบิดาชื่อฮิ้ว เป็นชาวพัทลุง เชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง ส่วนโยมบิดาเป็นชาวสงขลาไม่ทราบชื่อท่านมีพี่น้องเดียวกัน ๓ คน เป็นชายทั้งหมด ตัวท่านเป็นคนกลาง มีพี่ชายชื่อหนู ส่วนน้องชายชื่อชุม (ภายหลังเป็นพระสมุห์ชุมและเจ้าอาวาสวัดแหลมจาก) ท่านมหาลอย จนฺทสโร เป็นญาติใกล้ชิดผู้พี่ผู้น้องกับท่านพระครูปราการศีลประกฤต (ท่านพระอาจารย์จู้ลิ่ม) วัดบางทึง ส่วนใครเป็นผู้พี่ผู้น้องข้อมูลไม่ได้สืบค้นอย่างชัดเจน ท่านมหาลอยเกิดในตระกูล “ระตินัย” ซึ่งในขณะนั้นประกอบอาชีพทำนาทำสวน มีฐานะปานกลาง ท่านมีอุปนิสัยหัวแข็งไม่ยอมคนหรือไม่ลงให้กับใครง่าย ๆ แต่ก็เป็นคนมีเหตุผล ชอบความถูกต้องและยุติธรรม โยมแม่ของท่านถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็กอยู่ โยมพ่อจึงได้นำท่านไปฝากไว้กับตาและป้า ซึ่งมีบ้านพักอยู่ใกล้วัดไทรงาม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในระหว่างที่ท่านอยู่นั้นท่านมักจะติดตามตาของท่านเข้าไปวัดไทรงามด้วยเป็นประจำ จนกระทั้งสมภารวัดคือพ่อท่านเพชร มีความรักใครในตัวท่านเป็นอย่างมาก คุณตาจึงได้ฝากให้เรียนหนังสือกับพ่อท่านเพชร จนกระทั่งอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ท่านมหาลอยอุปสมบทเมื่ออายุครบเกณฑ์ที่วัดควนโส ตำบลควนโส อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา แต่ไม่ทราบนามพระอุปัชฌาย์ โดยได้นามฉายาว่า “จนทโร” หลังจากบวชแล้วท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดไทรงามระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยลงเรือสำเภาขณะนั้นค่าเรือ ๙ บาท ใช้เวลาเดินทาง ๘-๙ วัน ก็ถึงกรุงเทพฯ แล้วก็สืบหาสำนักเรียนที่มีชื่อเสียง และทราบว่าที่วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นสำนักเรียนเก่าแก่และที่มีชื่อเสียงมาก ท่านจึงตรงไปสู่สำนักวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ต่อสมเด็จวันรัต (แดง) แล้วท่านก็ได้รับอบรมสั่งสอนพระปริยัติธรรมจากสมเด็จสังฆราช (แพ) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นราชาคณะอยู่ ยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช การเรียนปริยัติธรรมของท่านมหาลอยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเมื่อคราวเปิดสอบสนามหลวง ท่านก็สามารถสอบผ่านได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค จึงได้มีคำนำหน้าว่า “มหา” แต่นั้นมา ท่านมหาลอยได้พระราชพัดยศจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่พิเศษสุดคือได้รับพระราชทานย่ามจารึกพระปรมาภิไธย "จปร." จากพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงแก่ตัวท่าน และภิกษุชาวปักษ์ใต้และได้โปรดรับสั่งให้เข้าไปทำการสอนบาลีในพระบรมมหาราชวัง นอกจากสอนบาลีแล้วก็ได้สอนหนังสือให้กับพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองศ์ จนกระทั่งได้รับความสนิทสนมไว้วางพระหทัยจากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมวงศ์เธอพระองศ์เจ้าอาทิตย์ และล้นเกล้ารัชกาลที่ ๗ การเข้าออกเขตพระราชฐาน หรือพระบรมมหาราชวังของท่านมหาลอยได้รับพระบรมราชานุญาติเป็นกรณีพิเศษ คือเพียงคล้องย่ามพระราชทาน จปร. เมื่อทหารรักษาพระบรมหาราชวังเห็นก็จะเปิดประตูให้ และอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่มีต่อท่านมหาลอย ทั้งนี้ก็เพราะทรงเลื่อมใสศรัทธาในความรู้และวัตรปฏิบัติของท่าน ท่านมหาลอยสอนหนังสือและบาลีอยู่ในพระบรมหมาราชวังเป็นเวลา ๒ พรรษา ก็เกิดอาพารเป็นโรคเหน็บชา ทำให้ไม่สามารถไปสอนได้จึงกราบบังคมทูลลาออก เพื่อเดินกลับจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของท่าน พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้แพทย์หลวงรักษาอาการป่วยของท่านจนเป็นปกติ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ลาออกจากครูสอนบาลี จากนั้่นท่านจึงเดินทางกลับมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (พระอุปัชฌาย์ของท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ง) และก็ยังทำหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมให้กับพระเณรที่บวชอยู่ทั้งใหม่และเก่านับว่าท่านมีอัจจริยะภาพมาก ทั้งในการเรียนและการสอน เมื่อชาวบ้านปากรอทราบว่าท่านได้กลับมาอยู่สงขลาแล้วก็ได้ไปมาหาสู่เป็นประจำและได้ขอร้องให้ท่านกลับไปอยู่ที่ปากรอบ้านเกิด โดยจะสร้างวัดให้ท่านจำพรรษา เมื่อมีชาวบ้านจำนวนมากพากันมารบเร้าท่านก็รับปากจะไปอยู่ที่ปากรอ เพื่อต้องการไปอบรมสั่งสอนพระเณรและชาวบ้านที่ปากรอเพราะถือว่าเป็นถิ่นกำเนิดของท่าน เมื่อท่านกลับมาอยู่ที่ปากรอ ชาวบ้านก็ช่วยกันถางป่าและต้นไม้จากบริเวณริมน้ำแล้วจัดการสร้างเป็นเสนาสนะชั่วคราวพออยู่ได้ไปก่อน และด้วยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มีความศรัทธาในตัวท่าน ในเวลาไม่นานป่าจากแห่งนั้นก็กลายสภาพเป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวและต่อมาก็ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น โดยท่านมหาลอยเป็นผู้ลงมือก่อสร้างด้วยตนเอง ท่านเป็นพระที่มีศีลจารวัตรงดงามมากและเคร่งครัด กอปรกับวาจาอ่อนหวานไพเราะน่าฟัง ท่านเป็นพระมหานิกายที่เคร่งต่อวัตรปฏิบัติและมีปฏิปทาที่น่าเลี่ยมใส สำหรับความรู้ทางพระเวทย์หรือวิชาอาคมนั้นพระที่ใกล้ชิดท่านเล่ากันว่า เคยเห็นมหาลอยหยิบต้นคัมภีร์พระเวทย์และอาคมมาให้ดูและบอกว่าเป็นของโยมพ่อที่ตกทอดมาจากปู่ของท่าน ซึ่งได้รับตกทอดมาจากพระยาพัทลุง (ขุน ณ พัทลุง) อดีตเจ้าเมืองพัทลุงที่ชาวพัทลุงรู้จักกันดีนามว่า “ขุนคางเหล็ก” ตามตำนานบอกว่า “ขุนคางเหล็ก” เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้ามากรอบรู้ทางพระเวทย์อาคมขลังเป็นศิษย์ศึกษาพุทธาคมจากสำนักวัดเขาอ้อ ซึ่งมีชื่อเสียงเกรียงไกรทางไสยศาสตร์มากและท่านมหาลอยเองก็ได้ติดต่อไปมาหาสู่สำนักวัดเขาอ้อเป็นประจำ วิชาไสยศาสตร์คาถาอาคม วิชาโหราศาสตร์ และวิชาแพทย์แผนโบราณท่านก็ได้ศึกษาจากสำนักวัดเขาอ้อ และจากตำราที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นตำราของสำนักวัดเขาอ้อเช่นกัน นอกจากนี้ท่านยังมีความเชี่ยวชาญในงานด้านศิลปะการช่าง ท่านพัฒนาวัดแหลมจากให้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ประจักษ์โดยท่านลงมือทำงานด้านการก่อสร้างด้วยตนเอง จนบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งที่ใกล้และไกลต่างก็เลื่อมใสศรัทธา ท่านเคยได้รับนิมนต์ไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่บ่อยครั้งและหลายครั้งที่ท่านได้แสดงอภินิหาร เป็นประสบการณ์ให้ได้พบเห็นในยามคับขัน แต่ท่านไม่เคยโอ้อวดแต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเลื่อมใส่ศรัทธาเล่าขานกันอย่างไม่จบสิ้น ในปีพ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านอาพาธและมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้นเอง สิริอายุ ๗๐ ปี ๕๐ พรรษา 

เหรียญพ่อท่านลอย จนฺทสโร


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดแหลมจาก (Wat Laemchak)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๖ ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.267492
ลองจิจูด
100.413353



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ปิ่นปิลันธน์ พรหมสุวรรณ์. (2544). บทบาทของวัดในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ในจังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

        สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด

          สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์.

วัดแหลมจาก. (2559). สืบค้นวันที่ 5 ก.ย. 59, จาก http://www.kinaddhatyai.com/วัดแหลมจาก-ปากรอ-สิงหนคร/

วัดแหลมจากประติมากรรมอันโดดเด่นบนแหลมปากรอ. (2556). สืบค้นวันที่ 5 ก.ย. 59, จาก http://talung.gimyong.com/index.php?topic=2227680

สงขลาเมืองมนต์เสน่ห์สองฝั่งทะเล ๕๐ จุดหมายแห่งความประทับใจ. (2557). สงขลา : องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา.

องค์การบริหารส่วนตำบลปากกรอ. (2556). วัดแหลมจากหมู่ที่ ๕ ตำบลปากกรอ อำเภอสิงหนนคร จังหวัดสงขลา. สืบค้นวันที่ 5 ก.ย. 59 0,จาก 

        http://www.parkrore.go.th/travel/detail/1027


ข้อมูลเพิ่มเติม

        วัดแหลมจาก ตั้งอยู่ในตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยสามารถเดินทางไปได้ทั้งทางสิงหนคร และทางควนเนียง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๔ เชิงสะพานปากรอ ฝั่งสิงหนคร ตรงไปตามถนนภายในหมู่บ้านฝั่งข้ามป้อมตำรวจประมาณ ๒ กม.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024