ภาพสืบค้นจาก : https://www.sanook.com/horoscope/108541/
แม่ซื้อความเชื่อของคนไทยสมัยโบราณที่เชื่อว่าเด็กทารกทุกคนที่เกิดต้องมีแม่ซื้อหรือเทวดามาคอยดูแล เพื่อปกปักรักษาไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๑๒ ขวบ ส่วนมากแม่ซื้อจะเป็นผู้หญิง ความเชื่อนี้มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย แม่ซื้อมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้ “แม่ซื้อ (น.) เทวดาหรือผีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก,แม่วี ก็เรียก” ความเชื่อในเรื่องของแม่ซื้อในแต่ละภูมิภาคอาจมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ภาคเหนือจะมีแม่ซื้อ ๗ นาง ที่จะปกป้องดูแลทารกตามวันเกิดคล้าย ๆ กับภาคกลาง ส่วนภาคใต้นั้นแม่ซื้อเป็นสิ่งเร้นลับ ไม่มีตัวตน จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่ปรากฏชัดทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ขวบ และมีด้วยกัน ๔ ตน เป็นผู้หญิงชื่อ ผุด ผัด พัด และผล แต่ก็มีบางพื้นที่ที่กล่าวว่าแม่ซื้อมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง แม่ซื้อเป็นวิธีการหรือกุศโลบายที่บรรพบุรุษของเราในอดีตคิดขึ้นเพื่อปกป้องลูกหลานให้มีชีวิตที่ดี หลีกเลี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก ๆของตนด้วย
ตามตำนานกล่าวว่าแม่ซื้อเดิมทีเป็นเทพธิดา ได้ถูกพระอิศวรบัญชาให้แปลงกายเป็นแม่ซื้อลงมาปกปักรักษาทารกตั้งแต่อยู่ท้องผู้หญิงโดยมีความเชื่อว่าเมื่อเด็กทารกเกิดออกมาจากท้องแม่ก็จะมีแม่ซื้ออีกตนหนึ่งติดตามมาเพื่อคุ้มครองปกปักรักษา แต่ในทางกลับกันแม่ซื้อก็อาจให้โทษได้ด้วยอันเนื่องจากมีแม่ซื้อมาหยอกเล่นกับเด็ก หรือหึงหวงเด็กทารกเพราะมีแม่ใหม่คอยดูแล ตามความเชื่อนี้แม้ว่าแม่ซื้อจะถือว่าเป็นพี่เลี้ยงทารกก็จริงอยู่ แต่บางครั้งก็ให้โทษได้เช่นกัน มีการแปลงกายเป็นสิ่งต่าง ๆ เช่น เป็นยักษ์ เป็นมาร ฯลฯ มาหลอกหลอนเด็กจนทำให้เด็กทารกตกใจกลัวป่วยไข้ไป ดังความว่า "เป็นช้างเสือสีห์ เป็นแร้งเป็นกาเป็นครุฑเลียงผา เป็นควายเป็นวัว เป็นนกเงือกร้อง กึกก้องพองหัว ตัวเป็นตัววัว หัวเป็นเลียงผา บ้างเป็นงูเงือก หน้าลาตาเหลือก ยักคิ้วหลิ้วตา บิดเนื้อบิดตัว น่ากลัวนักหนาตัวเป็นมฤคา เศียรากลับผัน เป็นยักษ์ขินี เติบโตพ่วงพี ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ทารกเห็นร้อง ขนพองตัวสั่น ดิ้นด้าวแดยัน กายสั่นรัวรัว ให้ร้อนให้เย็น ร่างกายแข็งเข็ญ เป็นไข้ร้อนตัวท้องขึ้นท้องพอง เจ็บป่วยปวดหัว แม่ซื้อประจำตัว ทำโทษโทษา" การกระทำของแม่ซื้อดังกล่าวนี้ อาจจะทำให้เด็กตกใจ หรือเจ็บป่วยได้ ดังนั้นเพื่อให้เด็กหายเป็นปกติ จึงมีการจัดพิธี “ทำแม่ซื้อ”หรือ “เสียแม่ซื้อ”ขึ้น บางครอบครัวแม้เด็กจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ยังทำพิธีดังกล่าวอยู่ดี ทั้งนี้ด้วยเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลแก่เด็ก สำหรับพิธี ”ทำแม่ซื้อ” หรือ “เสียแม่ซื้อ”นั้นหมายถึงพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กหายจากอาการสะดุ้งผวา หรือการเจ็บไข้ได้ป่วย และได้รับการดูแลรักษาด้วยดีจากแม่ซื้อ การทำพิธีมักจะทำในวันเกิดของเด็กหากเป็นวันข้างขึ้นก็ให้ใช้วันคี่ ข้างแรมให้ใช้วัน ข้างแรม ซึ่งบางท้องถิ่นโดยเฉพาะภาคอีสานเรียกพิธีนี้ว่า “พิธีแบ่งลูกผีลูกคน” โดยการนำเด็กทารกมาวางในกระด้งร่อนแล้วกล่าวว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ” ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่าเป็นลูกตน คนทำพิธีก็จะส่งลูกให้แม่ซื้อก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว ก็จะไม่มารบกวนอีก
สำหรับในภาคใต้แม่ซื้อเป็นสิ่งเร้นลับที่อยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน ไม่มีตัวตนและมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ขวบ ซึ่งมีด้วยกัน ๔ ตนเป็นผู้หญิงชื่อ ผุด ผัด พัดและผล แต่ปราชญ์ชาวบ้านคือนายพุ่ม คงอิศโร หมอทำขวัญจังหวัดสงขลา กล่าวว่าแม่ซื้อตามความเชื่อของคนภาคใต้ มีทั้งชายและหญิง ดังบททำขวัญที่ว่า “แม่ซื้อ ๔ คน ชื่อเสียงชอบกลทั้งหญิงทั้งชายเพ็ดทูล เพ็ดพล่าน เพ็ดทนเพ็ดทาน อาจารย์กดหมายเรียกว่าปู่ตา รักษาร่างกาย แม่ซื้อผู้ชาย เร่งคลายออกมา นางกุมารี นางเอื้อย นางอี นางนาฏสุนทรี ที่เฝ้ารักษา เชิญมาแม่มา บูชาส่าหรี” ความเชื่อในเรื่องของแม่ซื้อแม่ซื้อ หรือในบางท้องถิ่นเรียกแม่เซ้อ เป็นวัฒนธรรมความเชื่อพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิด และพฤติกรรมของชาวบ้านกลุ่มนั้นอย่างลึกซึ้ง เพราะมีการสืบทอดปลูกฝังสืบต่อกันมาหลายชั่วคน และเชื่อกันว่าแม่ซื้อหรือแม่เซ้อ เป็นสิ่งเร้นลับที่อยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน ไม่มีตัวตน จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูติผีก็ไม่ปรากฏชัด แต่เชื่อกันว่าทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ขวบ ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กที่ว่า
(ฮ้าเอ้อ...เหอ) | น้องนอนเหอ นอนให้หลับดี |
แม่ซื้อทั้งสี่ เข้ามาพิทักษ์รักษา | |
อาบน้ำป้อนข้าว มารักษาเจ้าทุกเวลา | |
มาช่วยพิทักษ์รักษา เด็กอ่อนนอนใน...เปล...เหอ |
เพลงร้องเรือหรือเพลงกล่อมเด็กบทนี้ได้กล่าวถึงแม่ซื้อ แม่ซื้อหรือแม่เซ้อ หมายถึง เทวดาหรือผีที่ประจำทารก แม่วีก็เรียกแม่ซื้อทั้งสี่นี้ หมอทำขวัญบางคนว่าเป็นหญิงทั้งหมด ดังบททำแม่ซื้อของนายปาน เพชรสุวรรณ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ระบุชื่อแม่ซื้อไว้ด้วยว่า "แม่ซื้อทั้งสี่พัลลิกาเทวี สนทรีแจ่มจันทร์ พัลลิกาบัวโบต คนธรรพคนธรรมพ์ทั้งสี่แจ่มจันทร์ แม่เลี้ยงรักษา" นามหรือชื่อของแม่ซื้อทั้ง ๔ ตนนี้บางท้องถิ่นก็เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่นชื่อว่า "ผุด ผัด พัด ผล"
ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อบูชาแม่ซื้อ หรือบางทีเรียกว่า "ทำแม่ซื้อ" คือการทำให้แม่ซื้อพอใจและจะได้ดูแลปกปักรักษาเด็กให้ดี หรือให้เด็กหายจากอาการตกใจกลัว หรืออาการหวาดผวา หรือหายเจ็บไข้ได้ป่วย การทำแม่ซื้อเชื่อกันว่าเป็นสิ่งมงคลควรกระทำต่อเด็ก สำหรับแม่ซื้อตามความเชื่อของคนไทยทั่วไป มีอยู่ ๗ ตนและอยู่ประจำวันได้แก่
วันอาทิตย์ ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง |
วันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณนงคราญ” มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล |
วันอังคาร ชื่อว่า “ยักษบริสุทธิ์ มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย)" ผิวกายสีชมพู |
วันพุธ ชื่อว่า "สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว |
วันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน |
วันศุกร์ ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน |
วันศุกร์ ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน |
วันเสาร์ ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง |
ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อเป็นวัฒนธรรมความเชื่อพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิด และพฤติกรรมความการดำเนินชีวิตของชาวบ้านกลุ่มนั้นอย่างลึกซึ้ง เพราะมีการสืบทอดปลูกฝังสืบต่อกันมาหลายชั่วคน "แม่ซื้อ" ในความเชื่อของคนสมัยก่อนเชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาจะต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแล พิทักษ์รักษาไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะสมัยก่อนในยุคที่การแพทย์ไม่เจริญเท่าที่ควร โดยเชื่อว่าเด็กทารกทุกคนถือกำเนิดมาจากผีผู้เสกสรรปั้นแต่ง ตุ๊กตาแห่งดวงวิญญาณแล้วจับส่งเข้าสู่ครรภ์ผู้หญิง ครั้นเมื่อได้ถือกำเนิดแล้วทารกนั้นมีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู ผีผู้ปั้น ก็เกิดความเสียดายขึ้นมาชิงเอากลับคืนไป ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงได้ทำอุบายหลอกผีไปตามความเชื่อ เช่นการตั้งชื้อให้ดูน่าเกลียด พูดให้ตรงข้ามกันว่าเด็กนั้นน่าเกลียดน่าชัง และจัดให้หญิงชราคนหนึ่งนำเบี้ย ๓๒ เบี้ย มาเรียกซื้อเด็กจากผีเราเรียกหญิงผู้นี้ว่า "แม่ซื้อ" เพื่อที่ว่าจะได้เป็น ผู้คุ้มครองทารกนี้ ให้รอดปลอดภัยไปจนเติบใหญ่ ในเรื่องนี้แม่ซื้อนี้ หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือประเพณีพิธีไทยว่า "แม่ซื้อคือคนที่ได้รับซื้อเด็กนั้น มาจากผีแล้วภายหลังเข้าใจปะปนกันไปว่าแม่ซื้อคือผีนี่เอง" ความเชื่อของคนโบราณท่านว่าทารกที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึง ๑ เดือน เกิดมีอาการบิดตัวหลังร้อน นอนสะดุ้งเดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้แสดงว่าโดนพิษ ผีแม่ซื้อหลอกหลอนหรือไม่ก็ผีรกมารังควาน เพราะฉะนั้นเมื่อทารกคลอดได้ประมาณ ๓ วัน ก็จะทำพิธีทำขวัญวัน โดยการจัดเครื่องบัตรพลี จัดสุรา ข้าวปลาอาหารใส่กระทง อ่านโองการสารเดชวิธีน้อย เป็นบทร่ายคาถาอัญเชิญ ผีแม่ซื้อให้มากินเครื่องสังเวยและอย่ามาหลอกหลอนรังควานเด็ก และเมื่อถึงพิธีทำขวัญเดือนโกนผมไฟและทำพิธีนำเด็กลงเปล ก็จะต้องแขวนยันต์ ตรีนิสิงเหหรือยันต์แม่ซื้อประจำวันเกิดของเด็ก ประทับด้านหลังด้วยยันต์ท้าวเวสสุวัณหน้ายักษ์
แม่ซื้อวันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณนงคราญ”มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล
(ภาพสืบค้นจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/paaru/2008/08/08/entry-1)
แม่ซื้อวันอังคาร ชื่อว่า “ยักษบริสุทธิ์ มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย)" ผิวกายสีชมพู
(ภาพสืบค้นจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/paaru/2008/08/08/entry-1)
แม่ซื้อวันพุธ ชื่อว่า ” สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว
(ภาพสืบค้นจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/paaru/2008/08/08/entry-1)
แม่ซื้อวันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน
(ภาพสืบค้นจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/paaru/2008/08/08/entry-1)
แม่ซื้อวันศุกร์ ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน
(ภาพสืบค้นจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/paaru/2008/08/08/entry-1)
แม่ซื้อวันเสาร์ ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง CYsYvz-pgNw
(ภาพสืบค้นจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/paaru/2008/08/08/entry-1)
ความเชื่อภาคใต้ : ความเชื่อแม่ซื้อ. (2551). สืบค้นวันที่ 4 ก.ย.61, จาก http://www.openbase.in.th/node/8785
จารึกวัดโพธิ์ : แม่ซื้อ เทวดาผู้คุ้มครองเด็กทารก. (2555). สืบค้นวันที่ 4 ก.ย.61, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/supawan/2012/06/12/entry-2
ตำนานความเชื่อ "แม่ซื้อ" เทวดาคุ้มครองเด็กทารก. (2559). สืบค้นวันที่ 4 ก.ย.61, จาก https://www.sanook.com/horoscope/108541
พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. (2522). ประเพณีพิธีไทย. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ.
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (2560). แม่ซื้อ. สืบค้นวันที่ 4 ก.ย.61, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/แม่ซื้อ
"สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ". (2551). สืบค้นวันที่ 4 ก.ย.61, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/paaru/2008/08/08/entry-1