ประเพณีแห่นก (The tradition of birds)
 
Back    12/03/2018, 09:37    38,884  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา

บุหรงฆาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ (ฺBurung Gagak Sura) (ภาพจาก : www.chaidantai.com/?p=36735)

       การแห่นกเป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน จัดเป็นประเพณีอันสูงของชาวมุสลิม ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามแต่อย่างใด หากเป็นประเพณีนิยมอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฎิบัติกัน ปัจจุบันระเพณีแห่นกได้ริเริ่มจัดขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ คือ ยะลา และนราธิวาส ซึ่งได้จัดขึ้นตามวาระและโอกาส ทั้งนี้เพื่อความสนุกสนานและรื่นเริง ระเพณีแห่นกเป็นประเพณีที่แสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการแสดงคารวะแสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือหรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจะจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัด หรือที่เรียกว่า “มาโซะยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว จากตำนานบอกเล่ากล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีแห่นกไว้ว่า เริ่มที่ยาวอ (ชวา) โดยมีเจ้าผู้ครองนครแห่งยาวอพระองค์หนึ่ง มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้องทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเป็นอย่างยิ่งจึงได้รับการเอาอกเอาใจทั้งจากพระบิดาและข้าราชบริพารต่างพยายามแสวงหาสิ่งของและการละเล่น มาบำเรอในจำนวนสิ่งเหล่านี้มีการจัดทำนกและจัดตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วจัดให้มีขบวนแห่แหนไปรอบ ๆ ลานพระที่นั่ง ซึ่งเป็นที่พอพระทัยของพระธิดาเป็นอย่างยิ่ง เจ้าผู้ครองนครแห่งยาวอจึงโปรดฯ ให้มีการจัดแห่นกถวายทุก ๆ ๗ วัน แต่ก็มีอีกตำนานหนึ่งที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ....ชาวประมงได้นำเหตุมหัศจรรย์ที่ได้พบเห็นมาจากท้องทะเลขณะที่ตระเวนจับปลามาพวกเขาได้เห็นพญานกตัวหนึ่งสวยงามอย่างมหัศจรรย์ ผุดขึ้นมาจากท้องทะเลแล้วบินทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วหายลับไปสู่ท้องฟ้า พระยาเมืองจึงซักถามถึงรูปร่างลักษณะของนกประหลาดตัวนั้นต่างคนต่างก็รายงานแตกต่างกันออกไป และต่างก็เชื่อว่าเป็นนกสวรรค์เพราะสามารถบันดาลให้แต่ละคนเห็นออกไปแตกต่างกัน พระยาเมืองตื่นเต้นและยินดีมาก ต่อมาลูกชายคนสุดท้องก็รบเร้าจะใคร่จะได้ชมนกที่ว่านี้ พระยาเมืองจึงป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือหลายคนให้ประดิษฐ์รูปนกตามคำบอกเล่าของชาวประมง โดยจะปูนบำเหน็จความดีความชอบให้ ต่อมาก็มีช่างมารับอาสาประดิษฐ์นกตามคำบอกเล่าของชาวประมงจำนวน ๔ คน ก็ได้ประดิษฐ์นกเสร็จโดยใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน แต่นกทั้ง ๔ ตัวนั้นล้วนมีความแตกต่างคือไม่ซ้ำกันเลย ช่างคนที่ ๑ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกกาเฆาะซูรอหรือกากะสุระ คนที่ ๒ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกกรุดาหรือนกครุฑ (มีลักษณะคล้ายกับครุฑ), ช่างคนที่ ๓ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง ส่วนคนสุดท้ายประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ (มีรูปร่างคล้ายราชสีห์) ซึ่งแต่ละตัวมีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็เป็นที่พอใจของพระยาเมืองเช่นกัน ต่อมาข่าวนี้ก็ลือกระฉ่อนออกไปยังเมืองต่างถิ่นต่างเมือง ต่างก็พากันมาชมความงามของนกทั้ง ๔ ด้วยความตื่นเต้นและสนใจอย่างยิ่ง ต่อจากนั้นพระยาเมืองก็จัดให้มีกระบวนแห่นกทั้ง ๔ ตัว อย่างมโหฬาร ซึ่งประกอบด้วยดนตรีพื้นเมืองบรรเลงและมีสตรีสาวสวยถือพานดอกไม้นานาชนิดและหลากหลายสีเข้าริ้วกระบวน ซึ่งเรียกว่า "บุหราซีเระ" (คล้าย ๆ กับขันหมากเครื่องบายศรี) แล้วแห่ไปรอบ ๆ เมืองเป็นที่ชื่นชมของชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง ... จากตำนานที่กล่าวมาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีแห่นกของจังหวัดปัตตานีและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้จนถึงปัจจุบันนี้

ภาพจาก : www.chaidantai.com/?p=36735

การประดิษฐ์นก

       ในการประดิษฐ์นกเพิื่อใช้ในพิธีแห่นกนิยมใช้ไม้เนื้อเหนียว เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายีร นำมาแกะเป็นหัวนก เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งไม่เปราะจนเกินไป สะดวกในการแกะของช่าง ทั้งยังทนทานใช้การได้นานปี สำหรับตัวนกจะใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครง ติดคานหาม แล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขน ประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยมได้แก่ สีเขียว สีทอง (เกรียบ) สีนอกนั้นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันแลดูเด่นขึ้น ประเพณีแห่นกไม่ได้จัดขึ้นเนื่องในความเชื่อถือบูชาเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พิธีการใด ๆ หากจัดเป็นงานใหญ่โตมีเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองหรืองานมงคลทั่วไปมักมีการนำขบวนแห่นกเข้าพิธีนั้น ๆ เสมอ อย่างเช่นพิธีสุหนัตในศาสนาอิสลาม ท่านพระยาวิชิตภักดี (ตนกูอับดุลกอเดร์) อดีตเจ้าเมืองปัตตานี เมื่อทำพิธีให้แก่ตนกูจิ (น้องชาย) ก็จัดให้ผู้เข้าสุหนัตขี่นกเข้าขบวนแห่อย่างเอิกเกริก เนื่องจากขบวนแห่นกมีองค์ประกอบที่น่าตื่นเต้นเร้าใจผู้ชมด้วยเครื่องประโคมดนตรี ศิลปะการประดิษฐ์ดอกไม้ การจัดพานบายศรี (บุหงาสี่สี) ศิลปะการแกะสลักสร้างสรรค์รูปนกอันมหึมา อาวุธและเครื่องแต่งกายแบบนักโบราณ สาวสวยผู้มีทรงศอสง่างาม เข้าร่วมทูนพานบายศรี ชาวปัตตานี จึงนิยมยึดถือเป็นประเพณีใช้ขบวนแห่นกเป็นเครื่องต้อนรับอาคันตุกะผู้เป็นแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ และในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคใต้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ชาวปัตตานีต่างก็พร้อมใจกันจัดขบวนแห่นกเป็นการถวายความจงรักภักดีอย่างสมพระเกียรติทุกครั้ง มีเรื่องเล่าว่าในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองปัตตานีโดยทางชลมารคเรือกลไฟติดสันดอนไม่อาจแล่นเข้าสู่แม่น้ำเพื่อไปยังตัวเมืองได้ เจ้าเมืองปัตตานี (พระยาวิชิตภักดีฯ) และเจ้าเมืองยะหริ่ง (พระยาพิพิธเสนามาตย์ฯ) ได้แต่งเรือออกไปรับเสด็จ เรือเจ้าเมืองปัตตานีได้ใช้หัวนกฆาฆะสุรอ (กากสุรหรือกากนาสูร) ติดโขนเรือนำขบวนเรือน้อยใหญ่ออกไปถวายการต้อนรับ อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่เมืองปัตตานี ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดแทนการต้อนรับด้วยขบวนแห่นก

การจัดขบวนแห่นก

          การจัดขบวนแห่นกต้องอาศัยกำลังคนและอุปกรณ์มากมาย ผู้มีฐานะมีบริวารเท่านั้นจึงจะจัดขบวนแห่ได้โดยสมบูรณ์ โดยจะมีองค์ประกอบของขบวนแห่ดังนี้ 

       ๑. เครื่องประโคมสำหรับประโคมดนตรีนำหน้าขบวนนก ประกอบด้วยคนเป่าปี่ชวา ๑ คน กลองแขก ๑ คู่ ใช้คนตีสองคน ฆ้องใหญ่ ๑ ใบ ใช้คนหามและคนตีฆ้องรวมสองคน ดนตรีจะบรรเลงนำหน้าขบวนนกไปจนถึงจุดหมายและบรรเลงในเวลาเเสดงสีละ รำกริช

    ๒. ขบวนบุหงาสี่รี (บายศรี) จัดเป็นขบวนที่สวยงามระรื่นตาผู้ชมขบวนหนึ่ง ผู้ทูนพานบายศรีต้องเป็นสตรีที่ได้รับการคัดเลือก เเต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีสันตามประเพณีท้องถิ่น

      ๓. ผู้ดูแลนก "ทวิรักขบาท" ใช้คน ๒ คน แต่งกายแบบนักรบมือถือกริชเดินนำหน้านกซึ่งคัดเลือกจากผู้ชำนาญการร่ายรำสีละ รำกริช รำหอก อันเป็นศิลปการต่อสู้อย่างหนึ่งของชาวปัตตานีเมื่อขบวนแห่ไปถึงจุดหมาย

      ๔. ขบวนนก นกประดิษฐ์แต่ละตัวมีรูปร่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ วิจิตรตระการตา โน้มน้าวให้ระลึกถึงพญาครุฑในวรรณคดี นกหัสดีลึงค์ในนิยายปรัมปรา กำลังเลื่อนลอยลงมายืนอยู่บนคาน จำนวนคนหามมากน้อยแล้วแต่ขนาดน้ำหนักของนก แต่ละคนแต่งเครื่องแบบพลทหารถือหอกเป็นอาวุธ

      ๕. ขบวนพลกริช ขบวนพลหอก ผู้คนในขบวนแต่งกายอย่างนักรบสมัยโบราณถือหอก ถือกริช เดินตามหลังขบวน จำนวนทหารกริช ทหารหอกมีมากน้อยเพียงใดก็จัดให้ขบวนแห่นกดูแลน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น

ภาพจาก : http://www.openbase.in.th/node/7369

นกที่นิยมนำมาร่วมขบวนแห่จะเป็นนกที่มีลักษณะพิเศษ ๆ ๔ ตัว คือ

       ๑. นกกาเฆาะซูรอหรือนกกากะสุระ นกสวรรค์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม บินสูง ศิลปินจะประดิษฐ์นกให้มีเอกลักษณ์พิเศษ เช่น มีหงอนสูงแตกเป็นสีแฉกก ลวดลายกนกสวยงาม ตานกแกะสลักจากไม้ทั้งท่อน ประดับด้วยลูกแก้วสีกลอกไปมาได้ มีงายื่นออกมาจากปากนกเป็นนกกาเฆาะซูรอ นกชนิดนี้ตามการสันนิษฐานน่าจะเป็น “นกการเวก” เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆ การประดิษฐ์มักจะตกแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็นสี่แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “นกทูนพลู” เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลูที่ประดับในถาดเวลาเข้าขบวนแห่ ทำเป็นกนกลวดลายสวยงามมาก มักนำไม้ทั้งท่อนมาแกะสลักตานก แล้วประดับด้วยลูกแก้วสี ทำให้กลอกกลิ่งได้ มีงายื่นออกมาจากปากคล้ายงาช้างเล็ก ๆ พอสมกับขนาดของนก

       ๒. นกกกรุดา หรือครุฑ แต่ความเชื่อของชาวปักษ์ใต้กล่าวเอาไว้ว่านกกรุดา หรือครุฑมีอาถรรพ์ ผู้ที่ประดิษฐ์มักจะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย จึงไม่ค่อยนิยมทำนกชนิดนี้ขึ้นมาร่วมขบวนแห่

      ๓. นกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง ลักษณะสวยงามคล้ายกับนกเฆาะซูรอ ตกแต่งอย่างประณีตสวยงาม และใช้เวลานาน เนื่องจากชาวปักษ์ใต้ยกย่องนกยูงทองและไม่บริโภคเนื้อนกชนิดนี้

       ๔. นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ รูปร่างหน้าตาคล้ายราชสีห์ตามคติความเชื่อที่ว่านกชนิดนี้มีตัวเป็นนก หัวเป็นราชสีห์ มีเขี้ยวน่าเกรงขาม ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนกแต่ตัวเป็นราชสีห์ ตามนิทานเล่ากันว่ามีฤทธิ์มาก ทั้งเหาะเหินเดินอากาศ และดำน้ำได้ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขามฃ

      ประเพณีแห่นกของชาวปัตตานี เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงจิตใจชาวเมืองที่มีต่อแขกบ้านแขกเมืองเป็นอย่างดีประเพณีแห่นกยัังช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปดนตรีท้องถิ่นศิลปการช่างแกะสลัก ศิลปการประดิษฐ์ดอกไม้ ศิลปการจัดพานบายศรี (บุหงาซี่เระ) และศิลปการร่ายรำสีละ รำกริช ไว้ให้ดำรงอยู่คู่เมืองปัตตานีสืบไป

       นกอัลโบรักหรือนกบอเราะฮ์ เป็นนกที่พระอัลเลอาะฮ์ประทานให้แก่รอซูลเพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางมาเฝ้าพระองค์ ณ สวรรค์ชั้นที่ ๗ นกอัลโบรักมีหน้าตาคล้ายเทพธิดา ศรีษะคลุมผ้าแพรแบบชาวอาหรับ มีปีก ขน และหางคล้ายกับนูกยูง ส่วนตัวเป็นม้ามี ๔ เท้า  แต่นกอัลโบรักหรือนกบอเราะฮ์ นี้จะไม่ปรากฏหรือเป็นที่นิยมแห่ในบรรดานกที่ใช้แห่ในประเพณีแห่นกของปัตตานี  ซึ่งอาจจะมาจากอิทธิพลทางวรรณกรรมอินเดียโดยเฉพาะเรื่องราวของมหากาพย์รามายณะ (รามเกียรติ์) ได้มามีอิทธิพลและซึมซาบอยู่ในจิตใจของผู้คนในภูมิภาคนี้มาอย่างช้านาน จึงนิยมใช้นกฆาฆะซูรอ (บุหรงฆาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ) มากกว่า


ความสำคัญ

       ในบรรดารัฐต่าง ๆ ซึ่งรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ไทย เขมร มาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๘ ถึง ๑๑ ต่างก็รับเอาวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น   ต่อมาในศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๘ วัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมอิสลาม แทรกซ้อนเข้ามาตามลำดับนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าปัตตานีเคย เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ ด้วยเหตุนผลทางการเมือง การทหาร และการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ ทำให้อาณาจักรลังกาสุกะต้องสลายตัวลง ต่อมาได้มีการตั้งเมืองตานีหรือปัตตานีขึ้นแทนที่จากความเป็นบ้านเมืองโบราณ ทำให้ปัตตานีได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรสามเส้าเข้ามาผสมกลมกลืน จนกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของปัตตานีหลายรูปแบบ ถึงกระนั้นก็ตามรูปแบบของพิธีกรรมประเพณีต่าง ๆ ยังคงไว้ร่องรอยให้เห็นถึวัฒนธรรมฮินดู พุทธ อิสลามปรากฏอยู่แต่ก็ยากที่จะจำแนกออกเป็นวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งได้แต่ถ้าประเพณีอันใดที่ขัดต่อลัทธิและความเชื่อถือของสังคมปัจจุบัน ก็จะสูญสลายไปในที่สุด เช่น ประเพณีตอเลาะบาลอ พิธีปูจาปาตา เป็นต้น ประเพณีแห่นกเป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้คือปัตตานี นราธิวาส ยะลา เป็นการละเล่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนา หรือความเชื่อใด ๆ หากแต่เป็นงานรื่นเริงที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อความบันเทิงบางครั้งก็จัดขึ้นเพื่อเป็นการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือแสดงความคารวะแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในงานมีการตั้งพิธีสวดมนต์ทางไสยศาสตร์ เพื่อขับไล่หรือขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้หมดสิ้นไป และให้พบแต่ความสุขความเจริญในชีวิต ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นการละเล่น ที่ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนมีโอกาสได้ออกมาร่วมกิจกรรมของชุมชน และยังเสริมสร้่างในเรื่องการยึดเหนี่ยวจิตใจได้อีกด้วย เพราะในพิธีจะมีการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป ประเพณีการแห่นกจะสังเกตได้ว่าหัวนกนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กาปี นำมาแกะเป็นหัวนก เนื้อไม้เหล่านี้ไม่เเข็งเปราะจนเกินไป และสะดวกในการแกะของช่าง อีกทั้งยังมีความทนทานสามารถใช้การได้นานปี ซึ่ีงช่างที่มีฝีมือและชำนาญการแกะสลักหัวนกแต่ละตัวต้องใช้เวลในการแกะสลักเป็นเวลานับเดือนหรือมากกว่า แต่ถ้าตามชนบท อาจจะเห็นหัวนกที่ทำจากกระดาษสีหุ้มห่อโครงสร้างหัวนกที่ทำด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนมาก ตัวนกใช่ไม้ไผ่ผูกเป็นโครงติดคานหามแล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขนประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยมได้แก่ สีเขียว สีทอง (เกรียบ) สีนอกนั้นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันดูเด่นยิ่งขึ้น

ภาพสืบค้นจาก : http://prapenee606mk2558.blogspot.com/2016/03/blog-post_13.html


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีแห่นก (The tradition of birds)
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประพนธ์ เรืองณรงค์ (บรรณาธิการ). (2525). ลุ่มน้ำตานี. ปัตตานี : ศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ประเพณีท้องถิ่นภาคใต้-ประเพณีการแห่นก. (2551). สืบค้นวันที่ 12 มี.ค. 61, จาก http://www.openbase.in.th/node/7369.

ประเพณีแห่นก. (2560). สืบค้นวันที่ 12 มี.ค. 61, จาก http://www.our-longtime.com/วัฒนธรรมและประเพณีไทย/545/

เปิดแฟ้มภาพเก่า 60 ปี ชาวปัตตานีแห่นกถวายในหลวง ร. 9 . (2562). สืบค้นวันที่ 4 มิ.ย. 62, จาก www.chaidantai.com/?p=36735

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. (2524). กีฬาเขตฯ ครั้งที่ ๑๔ จังหวัดปัตตานี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024