วัดคูหาสวรรค์พระอารามหลวงประจำจังหวัดพัทลุง เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่ความสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติและของจังหวัดพัทลุง ตัววัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเชิงเขาหัวแตก ตำบลคูหาสวรรค์ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ชาวบ้านเรียกว่า “วัดคูหาสูง”หรือ“วัดสูง” ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใดแต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ ตามตำนานนางเลือดขาวระบุไว้ว่าเมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้วพระกุมารกับนางเลือดขาว ได้นำอัฐิของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ วัดคูหาสวรรค์เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของไทยเสด็จอยู่เสมอมา ดังปรากฏพระปรมาภิไธยที่สลักไว้ที่เพิงหน้าถ้ำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (จปร.) จารึกในปี ร.ศ. ๑๐๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๒ พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ปปร.) จารึกเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ (ภปร.) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ (สก.) จารึกเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ นอกจากนี้บนผนังถ้ำยังมีจารึกพระนามาภิไธยของสมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ภายในวัดมีถ้ำที่สำคัญคือถ้ำคูหาสวรรค์ หรือถ้ำน้ำเงินหรือถ้ำพระ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกห่างพระอุโบสถประมาณ ๓๐ เมตร เดิมชาวบ้านเรียกว่าถ้ำน้ำเงิน ภายในถ้ำยังขุดพบกรุพระขนาดใหญ่ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ ทั้งยังมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ ๑ องค์ มีความยาว ๑๒ เมตร หน้าตักกว้าง ๓.๗๐ เมตร สูงประมาณ ๖ เมตร สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดถึงมีพระพุทธรูปปูนปั้นเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันตกรวมได้ ๓๗ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้ตามประวัติว่าพระมุนี (สมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด) ได้ร่วมกันสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา จำนวน ๒๐ องค์ ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการบูรณะและต่อเติมพระพุทธรูปขึ้นอีก ๑๗ องค์ ด้านทิศตะวันออกของเศียรพระไสยาสน์มีกรุพระพิมพ์ที่ชาวบ้านได้ขุดพบพระแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระจำหลักไม้พระพุทธรูปปูนปั้น พระสำริด และพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ชาวบ้านเรียกว่าพระผีทำ ปากถ้ำมีหินเป็นชั้นกั้นติดกับหินปากถ้ำสูงประมาณ ๒ เมตร ชาวบ้านเรียกว่าหัวทรพีตรงกันข้ามกับหัวทรพี มีรูปฤาษีตาไฟปูนปั้น ๑ องค์ มีตำนานว่านางเลือดขาวกับเจ้ากุมารสร้างขึ้นแทนอนุสาวรีย์ตาสามโมกับยายเพชรและได้บรรจุอัฐิของตายายทั้งสองไว้ภายใน ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากมีการบนปิดทองกันเต็มทั้งสององค์จนไม่สามารถเห็นลักษณะแท้จริงได้เคยได้รับการบูรณะมาแล้ว ๑ ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ถ้ำคูหาสวรรค์มีความลึกและยาวภายในมีหินงอกคล้ายรูปช้างเรียกว่าช้างผุดและมีทางลอดใต้ภูเขาออกไปสู่ถ้ำนางคลอดซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของถ้ำได้
สำหรับประวัติการสร้างวัดคูหาสวรรค์นั้นมีการกล่าวถึงอยู่หลาย ๆ ที่ อาทิความในหนังสือทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) กล่าวว่าวัดคูหาสวรรค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๔ ส่วนความในหนังสือพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาระบุว่าพระราชมุนีร่วมกับพระครูธรรมรังษี พระมหาเถรพุทธรักขิต พระครูบุศเทพ พระหมื่นเทพบาล สร้างวัดบริเวณถ้ำคูหาสวรรค์ และก่อพระพุทธรูป ๒๐ องค์ สร้างพระเจดีย์ ๗ องค์ เข้าถวายพระราชกุศลเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้มีพระตำราตราโกษาธิบดี ยกญาติโยม และสัตว์ ไร่นา อันมีในที่นั้น ๑๒ หัวงานขาดออกจากส่วยหลวง เป็นศีลบานทานพระกัลปนาสำหรับวัดคูหาสวรรค์สืบต่อไป อยู่ต่อมาเมื่อออกเมืองคำออกเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ได้มีอุยงคตนะโจรสลัดมลายูยกกำลังเข้าปล้นเมืองพัทลุงได้เผาผลาญบ้านเรือน วัดวาอารามมาจนถึงตำบลคูหาสวรรค์ ดังนั้นวัดคูหาสวรรค์ก็น่าจะถูกทำลายเสียหายไปด้วยและได้รับการบูรณะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรค์ และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ เพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. ๑๐๘ ไว้บริเวณหน้าถ้ำ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ก็ได้เสด็จวัดคูหาสวรรค์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ วัดคูหาสวรรค์ได้ร้างลงอีกชาวบ้านจึงนิมนต์พระครูจรูญกรณีย์ (ตุด เกสโร) มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณะเป็นการใหญ่วัดคูหาสวรรค์จึงค่อย ๆ เจริญพัฒนาขึ้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ ด้วยเหตุที่เมืองพัทลุงย้ายจากตำบลลำปำ มาตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ พระยาคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) ผู้ว่าราชการเมืองสมัยนั้นได้ช่วยบูรณะวัดอีกแรงหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จวัดคูหาสวรรค์และได้จารึกพระนามย่อ บส. ๓๐.๑๐.๗๓ ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙ ) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร. และ สก. ๑๗.๓.๒๕๐๒ ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ
ในพงศาวดารเมืองพัทลุงฉบับหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "...ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เจ้าอินท์อุปสมบทเป็นภิกษุ ณ เมืองนครศรีธรรมราช แล้วก็เข้าไปกรุงครั้งนั้นที่กรุงมีศึกมาล้อมเมืองอยู่ พระสามีอินท์เข้ารับอาสาขอม้าตัวหนึ่งกับคน ๕๐๐ บวชเป็นปะขาวออกทำเวทมนตร์ ให้ข้าศึกงวยงงมีความกลัวกลับไป พระสามีอินท์มีความชอบจึงเอากระบวนวัดและพระพุทธรุปที่ได้เลิกพระศาสนาวัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง ขึ้นถวายขอพระราชทานเบิกญาติโยมสมัครพรรคพวกให้ขึ้นกับวัดทั้งสองนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้พระสามีอินท์เป็นที่พระครูอินทโมฬีศรีนันทราช ฉัททันตจุฬามุนี ศรีราชปัญญาปรมาจาริยานุชิต พิพิธรัตนราชวงศ์ พงษ์ภักดีศรีสากยบุตร์อุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง โปรดให้มีตราพระบรมราชโองการเบิกญาติโยมและไร่นา ส่วยอากรชาวกุฎีศิลบานทานพระกัลปนา ให้ขาดออกจากส่วยหลวง พระราชทานแก่พระครูอินทโมฬีฯ และห้ามเจ้าเมืองปลัดเมืองลูกขุนมุลนาย โดยตราพระราชกฤษฎีกาอุทิศไว้ให้เป็นข้าพระทั้งสองพระอารามให้ตายายบิดามารดาพระครูอินทโมฬีฯ เป็นนายประเพณีและดำรัสเหนือเกล้าฯ แด่พระศรีภูริปรีชาธิราชมหาเสนาบดีศรีสาลักษณ์แลกรมพระกลาโหม ให้เบิกจากพระคลังหลวงเป็นสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองมอบให้แก่พระครูอินทโมฬีฯ กับโปรดให้เบิกวัดแขวงเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง ๒๙๘ วัด มาขึ้นแก่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง คือวัดคูหาสวรรค์ ๑ อารามพิกุล ๑ วัดสทิงมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ ๑ ...” จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าวัดคูหาสวรรค์ น่าจะสร้างขึ้นก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สอดคล้องกับการศึกษาในรายงานการวิจัยพุทธศาสนาแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้ศึกษาเอกสารพระราชทานที่กัลปนารวม ๖ ครั้ง และได้สันนิษฐานถึงช่วงเวลาของการขอพระราชทานกัลปนาและการสร้างวัดคูหาสวรรค์ไว้ดังนี้ "... สาเหตุที่มีการกัลปนาในปี ๒๑๕๘ ก็คงสืบเนื่องมาจากการที่พระครูเทพราชเมาฬีฯตรวจสอบบัญชีข้าพระคนทานอันมีมาแต่ก่อนแล้ว พบว่าข้าพระคนทานประจำห้องทั้งปวงนั้นขาดหายไปดังหลักฐานที่ว่าญาติในพระราชเมาฬีศรีปรมาจารย์ ออกจากเมืองไปหลายเมืองเมื่อศึกอโยตานะปล้นเมืองพัทลุง เผากุฎีวิหารรูปพระพุทธเจ้าพระปฏิมากรทำลาย การสร้างวัดคูหาสวรรค์น่าจะสร้างก่อน พ.ศ. ๒๑๕๘ และก่อนที่พระราชมุนีเข้าไปอยุธยาเพราะปรากฏหลักฐานตามเรื่องกัลปนาวัดในสมัยพระครูเทพราชเมาฬีศรีปรมาจารย์ ว่าในการพระราชทานที่กัลปนาในปี ๒๑๕๘ นั้น วัดคูหาสวรรค์เป็นญาติอารามซึ่งเกิดขึ้นในพระศรีรัตนมหาธาตุ ณ เขาพะโคะ (สำเนาหนังสือครั้งกรุงเก่าว่าด้วยการพระราชทานที่กัลปนาว่า: แลญาติอารามซึ่งขึ้นในพระศรีรัตนมหาธาตุ ณ เขาพะโค๊ะนั้น วัดญวน แลวัดทุเรียน วัดคูหาสวรรค์ วัดนอก วัดคูหาขบ วัดท่าเรือ วัดคูกแคสระตรัส วัดขึ้น วัดชาวเชิงทั้งปวง) ส่วนที่ว่าสมเด็จพระราชมุนีและพระครูธรรมรังสี และพระมหาเถรพุทรักขิต และพระครูบุศเทพ และหมื่นพยาบาล สร้างถ้ำคูหาสวรรค์นั้นน่าจะเป็นการสร้างพระพุทธปฏิมากรมากกว่าการเริ่มสร้างวัด และน่าจะกระทำหลังสมัยพระครูครูเทพราชเมาฬีศรีปรมาจารย์คือราวปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ อันเป็นช่วงที่พระครูธรรมรังสีพุทธบวรจารีย์เป็นเจ้าคณะหัวเมืองพะโคะ...” และพงศาวดารยังกล่าวต่ออีกว่า "...ออกเมืองคำได้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงครั้งนั้นมีศึกอุชงคตนมาตีเมืองเสียแก่ข้าศึก ออกเมืองคำหนีรอดไปได้ ข้าศึกกวาดได้แต่ครอบครัวกรมการและสมณชีพราหมณ์ราษฎร ข้าพระโยมสงฆ์ ไปได้แก่อุชงคตนเป็นอันมาก และเผากุฎีวิหารบ้านเมืองราษฎรเสียสิ้น...” ในครั้งนี้วัดคูหาสวรรค์ก็น่าจะถูกทำลายไปด้วยและคงจะได้รับการบูรณะอีกครั้งก่อนปี ๒๒๑๓ ซึ่งพระครูธรรมเทวากรและพระมหาเถรสุนทรธรรมขอพระราชทานกัลปนา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังปรากฏในพงศาวดารว่า "...แต่ปละท่าฝ่ายตะวันตกในที่ราบของพ่อขุนศรีชนาพยาบ้าน ในตำบลคูหาสวรรค์นั้น พระมหาเถรสุนทรธรรม พระมหาเถรอิน พระมหาเถรพรม เข้าไปกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา ทำฏีกาให้ออกพระศรีภูรีปัญญาธิราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์นำกราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานเบิกญาติโยมและสมัครพรรคพวกออกจากส่วยหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้มีท้องตราพระโกษาธิบดี เบิกญาติโยมสำหรับวัดคูหาสวรรค์ไว้ตามเดิม ชั่วพระจันทร์พระอาทิตย์...” ในปี พ.ศ. ๒๒๔๒ รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พระครูอินทรโมฬีศรีสินทสาครบวรนันทราชจุฬามุนีศรีอุประดิษฐเถระเข้าไปถวายพระพรขอพระราชทานกัลปนาซึ่งวัดคูหาสวรรค์ก็ได้รับพระราชทานด้วย ปรากฏการพระราชทานกัลปนาในตำราพระเพลาวัดเขียนบางแก้วตอนหนึ่งว่า "...วัดคูหาสวรรค์ พระครูอินทโมฬีเป็นหัววัด หมื่นศรีเทพพยาบาลเป็นนายอนาพยาบาล มีข้าพระ ๑๒ หัวงาน สำหรับวัดคูหาสวรรค์นี้ นางศรีบุตรีหัวงาน ๑ นางท้าวหัวงาน ๑ นางชิพหัวงาน ๑ นางจันแก้วหัวงาน ๑ นางอินหัวงาน ๑ นางพรมหัวงาน ๑ นางศรีหัวงาน ๑ นางจุ้ยหัวงาน ๑ นางออนทองหัวงาน ๑ นางพุดศรีหัวงาน ๑ นางหอมหัวงาน ๑ นางหอหัวงาน ๑ แลทรงพระราชศรัทธาเป็นเลณฑุบาตรแก่พระพุทธรูปแลไร่นาห้วยหนองคลองตะพัง บึงท่าละหานยวนยางยูงในที่เลณฑุบาตรแล...” ในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๔๓๒ วัดคูหาสวรรค์ได้รับการบูรณะใหม่อีกครั้ง เพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ครั้งเสด็จประพาสแหลมมาลายู ร.ศ. ๑๐๘ และทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. ไว้บริเวณเพิงหน้าถ้ำ โดยเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชหาลที่๕) เสด็จประพาสวัดและถ้ำแห่งนี้ ปรากฏความในจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูคราว รศ. ๑๐๗ และ ๑๐๘ ตอนหนึ่งว่า "...วันที่ ๒๖ (กรกฎาคม) เวลาย่ำรุ่งเศษจวนใกล้โมงเช้า เสด็จออกประทับพระราชยานไปประพาสถ้ำคูหา ถึงวัดคูหาสวรรค์แล้วเสด็จขึ้นไปประทับบนพลับพลา ซึ่งกรมการปลูกไว้รับเสด็จแลที่วัดนั้น เมื่อจะเข้าเขตวัดมีสระ ๆ หนึ่งทางที่เข้าไปมีลูกเขาบังยังต้องเดิรเฉียงเข้าไปถึงชานชั้นบน อีกชั้นหนึ่งสูง ๗ ศอก ๘ ศอก เป็น พื้นราบ มีต้นไม้ใหญ่ปลูกรายรอบร่มรื่นดีมีโรงอุโบสถ ๓ ห้อง ไม่มีผนังมีพระประธานใหญ่ที่ลานต่ออกไปมีการเปรียญแลกุฎีพระสงฆ์ แล้วเสด็จพระราชดำเนิรประพาสถ้ำคูหา หนทางเปนเนินลาด ๆ ขึ้นไปหน่อยหนึ่ง ที่ปากถ้ำนั้นใหญ่มีแต่เทือกเขาบังมีทางเข้าเล็ก มีพระพุทธรูปนอนใหญ่องค์หนึ่ง พระพุทธรูปนั่งใหญ่องค์หนึ่ง ย่อมลงมาอีก ๒๖ องค์ ข้างหลังลงมามีทางลงไปได้ฦก ถึงที่สุดพื้นล่างมีน้ำขังแลมีพระพิมพ์ดินดิบของชาวอินเดีย แต่ดึกดำบรรพ์ทำซ่อนไว้เปนอันมากเปนที่คนไปหาอยู่จนทุกวันนี้ แต่ที่ไว้พระพิมพ์เปนที่มืดแลเปรอะเปื้อน ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิรลงไป ได้โปรดเกล้าฯ ให้สลักศิลาเปนอักษร จ.ป.ร. แลศก ๑๐๘ ไว้ที่เพิงหน้าถ้ำ แล้วเสด็จพระราชดำเนิรจากถ้ำคูหาไปประพาสถ้ำนางคลอดหนทางเลี้ยวไปตามข้างเขาไม่สู้ไกล ที่ปากถ้ำสูงประมาณ ๔ วา มีบันไดพาดขึ้นไป ตัวถ้ำเปนเวิ้งเข้าไปตื้น ๆ ไม่กว้างขวางใหญ่โตนักเสด็จประพาสถ้ำนางคลอดแล้วเสด็จกลับพลับพลาตามทางเดิม...” และยังปรากฏความในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒ ในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู (ร.ศ. ๑๐๘) ตอนหนึ่งว่า "...วันที่ ๒๖ เกือบโมงเช้าออกจากพลับพลาไปทางบกเหมือนวานนี้เขาคูหาสวรรค์ที่ไปนั้น เมื่อจะเข้าเขตวัดมีสระ ๆ หนึ่ง ทางที่เข้าไปมีลูกเขาบังต้องเดินเฉียงไป พื้นแผ่นดินแดงเหมือนเขาจันทบุรีตลอด ที่ตรงหน้าวัดมีบ่อ ๆ หนึ่งว่าน้ำจืดสนิท แต่เวลานี้น้ำแห้งมีถ้ำอยู่ที่ลูกเขาข้างหน้าเป็นโพรงเล็ก ๆ มีพระพุทธรูปขึ้นไปบนชานชั้นบนอีกชั้นหนึ่งสูงสัก ๗-๘ ศอก เป็นพื้นที่ราบกว้างสักสามสิบวา มีต้นไม้ใหญ่ปลูกรายรอบร่มรื่นดี ที่กลางลานนั้นยกพื้นอีกชั้นหนึ่งสูงสักศอกหนึ่ง มีโบสถ์สามห้องไม่มีผนังอย่างโบสถ์บ้านนอกข้างหัวเมืองตะวันตกทั้งปวง มีพระประธานใหญ่ที่ลานชั้นกลางมีการเปรียญและกุฏิพระสงฆ์ปลูกพลับพลาประทับร้อนบนนั้นว่าข้างภูมิที่ท่วงทีเขาดีอย่างยิ่งเหมือนอย่างเรานึกทำเล่น ถ้าจะทำเป็นวัดหลวงจะงามกว่าวัดมหาสมณารามมาก ขึ้นเนินลาด ๆ ไปอีกหน่อยหนึ่งจึงถึงปากถ้ำ ที่ปากถ้ำนั้นมีเทือกเขาบังหน่อยหนึ่งแสงสว่างเข้าได้เต็มหน้าเพราะปากช่องใหญ่ ถ้ำนี้เรียกว่าถ้ำน้ำเงินเพราะน้ำซึมตะไคร่จับเขียวไปทั้งถ้ำ มีพระพุทธรูปนอนใหญ่องค์หนึ่ง นั่งใหญ่องค์หนึ่งย่อม ๆ ลงมาอีกยี่สิบหกองค์พระพุทธรูปนั้นก็น้ำเงินไปด้วยกันโดยมาก ข้างหลังพระมีปล่องลงไปได้ลึกจนถึงพื้นล่างมีน้ำในนั้นทำนองถ้ำหมีแควป่าสักแต่มืดต้องจุดเทียน ได้จารึก จ.ป.ร. ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำอีกแห่งหนึ่งแล้วเดินกลับลงมาเลี้ยวไปตามทางข้างเขาอีกหน่อยหนึ่งถึงถ้ำนางคลอด ปากถ้ำสูงประมาณสี่วาเป็นเวิ้งเข้าไปตื้น ๆ ไม่อัศจรรย์อันใดกลับมาถึงพลับพลาเวลาบ่ายห้าโมงครึ่ง...” และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จวัดคูหาสวรรค์ เมื่อครั้งมาตรวจราชการแหลมมาลายู ร.ศ. ๑๒๑ ปรากฏความในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ ความว่า "...เสาร์ ๗ มิย. ๑๒๑ ออกจากที่พักท่ามิรำไปด้วยช้างทางแรกออกมาริมทางรกเปนป่าแดง แต่ในเข้าไปเห็นยอดมะพร้าวสล้างทั้งสองข้างเดินไป ๕ มินิต จึงได้เห็นบ้านซึ่งอยู่ริมทางมีพรรณไม้ซึ่งใช้บริโภคติดอยู่ด้วยเรือนเล็กน้อย ๓๐๐ ถึงหลัก ๒๐๐ เส้น สุดเขตรบ้านตกทุ่งนา มีถนนตายอยู่ขวาห่าง ๒ วา ข้ามสะพานถึงวัดคูหาเบิกข้างขวา ข้ามสะพานอีกแห่ง แล้วเลี้ยวทางแยกข้างซ้ายเข้าคูหาสวรรค์ เดิน ๔ มินิตถึงเชิงเขา ลงช้าง พระ ๑๐ วัดมารับสวดชยันโตขึ้นเขาไปชั้น ๑ เปนกุฏิ ขึ้นอีกชั้น ๑ เปนโบสถ์เสาไม้ หลังคามุงกระเบื้องขึ้นอีกชั้น ๑ ถึงคูหาสวรรค์ มีสัณฐานดังนี้
๑. ทางเข้า |
๒. ถ้ำกลางมีพระสามด้าน ก่อด้วยปูนดูไม่ได้ |
๓. ทางลงลึกว่ามีน้ำมีบ่อ |
๔. ที่ซ้อนพระพิมพ์ |
๕. หินลับแลที่พระพิมพ์ขุดกันอยู่ |
พระอธิการคงเอาหนังสือเก่ามาให้ดูมีกระบอกใบหนึ่งในนั้นมีกระดาษเพลาก็เรียกว่าเพลานาวัดคูหา เปนของเก่าไม่มีใครกล้าอ่านเปนแต่บูชาไว้ ในนั้นมีเพลา ๕ ฉบับ เย็บอย่างโผจีน กระดาษข่อยเขียนด้วยเส้นดินสอดำ ๒ ฉบับ เปนหนังสืออย่างวัดป่าโมกข์ฉบับหนึ่งลงวันพฤหัสบดีเดือนญี่เขิ้นค่ำนึ่ง ปีฉลูนักสัตรเบญจศก พ่อขุนเสนาเทพทำตำราไว้แก่ พระมหาเถรสุธรธรรมเจ้าสวามีอิน(ท)รังศรี เจ้าสวามีพรมเมาลี ด้วยมีพระศาสนหัวเจ้าแลฎีกาออกขุนราชสมบัติ ขุนส่ยฝาก (ฝาด?) กรมพระสุรัศวดีมาเถิง หลวงท่านออกเมืองพัทลุงแลพ่อขุนเทพสงครามปันลัด (ปลัด?) เจ้าหมื่นพรหมภักดียุกรบัตร พ่อขุนเสนาเทพสมุหบาญชีแลกรมการทั้งหลาย ด้วยมีเคารพย์ ออกพระศรีอัคราชอมาตยานุชิตพิพิธรัตนโกษาทิบดีนำพระตำราว่า เมื่อออกขุนศรีภูริปริชาทิราชเสนาบดี ฯ,ฯ คัดไม่ไหว ได้ยืมยายแก่เจ้าของไปดูยายแก่เปนเมียตาแก่ ผัวมาไม่รอด ให้ลูกชายถือมาผู้หญิงถูกไม่ได้ ตาแก่เกี่ยวในพวกโยมวัด แต่แรกมีผลว่าถ้าใครถือเพลาไม่ต้องเสียค่านา เพราะในเพลามีบาญชีบอกบาญชีนาเข้าพระว่ามีอีกห่อหนึ่ง ขุนทิพศุขพาไปสูญเสียบางกอกเพราะตัวตาย ขุดได้พระหลายอย่างแต่ชำรุดทั้งนั้นได้เก็บไปดูจะเอาที่ดีก็ได้แต่ต้องเสียเวลานาน ท่านอธิการคงเอาพิมพ์พระมาให้อีกสามองค์ว่าเอามาแต่ถ้ำเขาอกทลุ เหมือนกับที่นี่สองพิมพ์คือพิมพ์เทศนาธรรมจักรกับพิมพ์งบน้ำอ้อย รูปพระหนึ่งเทวดาสอง อีกพิมพ์หนึ่งก็บางทีจะซ้ำกับถ้ำนี้ มีเทวดาเกะกะหลายตัว แต่ที่นี้แตกเล็กเสียหมดถามได้ความว่าอยู่ริมทางที่จะไปข้างหน้า ๔ เส้น จึงตกลงหาคนที่พระใช้ให้นำทางไป...” ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ได้เสด็จมาวัดคูหาสวรรค์ ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ดังปรากฏในบันทึกดังนี้ "...๑๖.๐๕ น. พากันขึ้นรถยนต์ อันผู้ว่าราชการจัดมารับไปถ้ำคูหาสวรรค์ อันตั้งอยู่ในเมืองพัทลุง ถ้ำนี้เคยมาแล้วแต่เมื่อครั้งมาตรวจการโทรเลขนานแล้ว เปนถ้ำเก่าแก่ซึ่งพระพุทธศาสนาแผ่เข้ามาในยุคซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงตรัสเรียกว่ายุคศรีวิชัย เปนถ้ำที่มีท่าทางงามตั้งอยู่เตี้ย ๆ มีพระพุธฃทธรูปองค์โต ๆ ในนั้น แต่ไม่มีงามเพราะถูกซ่อมแซมมากแล้วเคยมีพระพิมพ์ดินดิบขุดได้ในถ้ำนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังขุดได้บ้างแต่เศษส่วนที่เต็มองค์ไม่มีเพราะขุดเก็บกันไปเห็นจะหมด หน้าถ้ำนี้มีวัดเรียกวัดคูหาสวรรค์ตามชื่อถ้ำ พระท่านแต่งถ้ำรับรองมีโต๊ะตั้งของเก่าไว้ให้ดูเปนของ ๓ ชนิด คือพระพุทธรูปทองสัมฤต พระพิมพ์กับหม้อดินที่ขุดได้ ณ ที่นั้น ท่านบอกให้พระดินกับหม้อแตกได้ยอมรับมาแต่พระพิมพ์ที่สมบูรณ์ ลูกเอาเศษส่วนของพระพิมพ์ที่แตกหักมาบ้าง พระสัมฤตนั้นเลวทั้งนั้น เวลาอยู่ในถ้ำฝนตกลงมาจะรออยู่ในฝนหาย ผู้ว่าราชการว่าไม่ดีเพราะในถ้ำชื้น ขอให้ไปพลับพลาอันได้จัดไว้รับตกลงขึ้นรถฝ่าฝนไปพลับพลา ซึ่งสมเด็จชายทรงปลูกไว้เป็นที่ประทับ มีข้าราชการคอยรับ และราษฎรมาคอยอยู่มาก เพราะเขาจะมีการเล่นให้ดู พอถึงพลับพลาฝนก็หายเขามีซัดเข้าต้มและชนโคให้ดู แล้วเลี้ยงน้ำชา...”
วัดคูหาสวรรค์ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาคูหาสวรรค์อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ห่างจากสถานีรถไฟพัทลุงประมาณ ๔๐๐ เมตร สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) เสด็จมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ครั้งเสด็จเสด็จประพาสเลียบมณฑลภูเก็ต เริ่มจากเสด็จโดยกระบวนรถไฟพิเศษจากสถานีจิตรลดา ๒๔ มกราคม ๒๔๗๑ ถึงสถานีรถไฟพัทลุงในวันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดพัทลุงครั้งแรก ที่บริเวณหน้าศาลากลางและเสด็จเสด็จฯ ไปนมัสการพระพุทธรูปที่ถ้ำคูหาสวรรค์ วัดคูหาสวรรค์ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ในการเสด็จครั้งนั้นมีประชาชนมาเฝ้าชมพระบารมีประมาณ ๓๕,๐๐๐ คน
ถ้ำคูหาสวรรค์
ถ้ำคูหาสวรรค์เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำน้ำเงิน” หรือ “ถ้ำพระ” ส่วนชื่อคูหาสวรรค์ เชื่อว่าน่าจะมีการเรียกมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ถ้ำมีความกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๘ เมตร ลักษณะของถ้ำสูงเป็นเวิ้งรูปกรวยตอนบนมีหินงอกคล้ายรูปช้าง ชาวบ้านเรียกว่า “ช้างผุด” หรือ “หินลับแล” ด้านทิศตะวันออกของถ้ำมีหินเป็นสันกั้นอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร หินก้อนนี้ชะลูดสูงขึ้นไปไม่ติดกับตัวถ้ำ ทำให้แสงสว่างลอดถึงพื้นภายในถ้ำได้ พื้นถ้ำปูด้วยอิฐถือปูนมีเจดีย์เล็ก ๆ ๑ องค์ มีพระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก รวม ๓๗ องค์ ซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน พระพุทธรูปปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวที่เรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก มี ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๕๐ เมตร ถึง ๑.๕๐ เมตร ที่เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ๑๔ องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๓๖ เมตร สูงตลอดรัศมี ๖ เมตร ด้านซ้ายมือของผนังถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ๑ องค์ ก่อด้วยอิฐถือปูนและดินเหนียว ขนาดยาว ๑๒ เมตร สูง ๒ เมตร พระพุทธรูปเหล่านี้ตามประวัติว่าพระราชมุนี (สมเด้จเจ้าพระโคะหรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด) ได้ร่วมสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาจำนวน ๒๐ องค์ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการบูรณะและสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีก ๑๗ องค์ ด้านทิศตะวันออกของเศียรพระพุทธไสยาสน์มีกรุพระพิมพ์ที่ชาวบ้านได้ขุดพบพระแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระจำหลักไม้พระพุทธรูปปูนปั้น พระสำริด และพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า“พระผีทำ”ปากถ้ำมีหินเป็นชั้นกั้นติดกับหินปากถ้ำ สูงประมาณ ๒ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า “หัวทรพี” ตรงข้ามเป็นรูปพระฤาษีตาไฟปูนปั้น มีตำนานนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมาร สร้างขึ้นแทนอนุสาวรีย์ตาสามโมกับยายเพชรและได้บรรจุอัฐิของตายายทั้ง ๒ ท่านไว้ภายในชาวบ้านถือว่า ศักดิ์สิทธิ์มากมีการบนบานปิดทองเต็มทั้งองค์จนไม่สามารถเห็นลักษระแท้จริงได้ เคยได้รับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถ้ำคูหาสวรรค์มีตำนานเรื่องเล่าที่มีที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์ โดยเล่าเรื่องควายทรพีฆ่าที่บิดาตนเองตายแล้ว ก็ไปท้ารบกับเทวดาต่าง ๆ พระอิศวรจึงให้ไปรบกับพาลี พาลีออกอุบายให้รบในถ้ำคูหาสวรรค์ พาลีสั่งสุครีพไว้ว่าให้ไปคอยอยู่ปากถ้ำ ถ้าเห็นว่าเลือดข้นไหลออกมาเป็นเลือดทรพีถ้าเลือดใสเป็นเลือดของตน ให้สุครีพนำหินปิดปากถ้ำ พาลีฆ่าทรพีตายขณะนั้นได้เกิดฝนตกหนักทำให้เลือดใส สุครีพเข้าใจว่าพี่ชายตาย จึงนำหินปิดปากถ้ำพาลีโกรธมาก จึงตัดเอาหัวของทรพีขว้างไปที่ปากให้เปิดออก หัวของทรพีกลายเป็นธาตุหินตั้งพิงอยู่ปากถ้ำเรียกว่า “หัวทรพี”จากนั้นพระยาพาลีก็ไล่สุครีพออกจากเมือง สุครีพก็เข้าไปนั่งร้องไห้อยู่ในถ้ำคูหาสวรรค์ จนขี้ตากลายเป็นธาตุหินขนาดใหญ่ เรียกว่า “ขี้ตาสุครีพ”
สิ่งสำคัญภายในถ้ำถ้ำคูหาสวรรค์
๑. พระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกรวม ๓๗ องค์ มีขนาดต่าง ๆ กัน หน้าตักกว้างตั้งแต่ ๐.๕๐ ถึง-๑.๕๐ เมตร
๒. พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ๑ องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๓๖ เมตร สูงตลอดรัศมี ๖ เมตร
๓. พระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ ๑ องค์ ขนาดยาว ๑๒ เมตร สูง ๒ เมตร หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ
๔. พระพิมพ์ดินดิบ
๕. จารึกพระนามย่อพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่เคยเสด็จประพาสเรียงตามลำดับดังนี้
๑) จปร. ๑๐๘ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
๒) ปปร. ๒๕.๑๐.๒๔๗๑ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)
๓) บส. ๓๐.๑๐.๗๓ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ)
๔) ภปร. ๑๗.๓.๒๕๐๒ (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)
๕) สก. ๑๗.๓.๒๕๐๒ (เด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
พระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดคูหาสวรรค์ ตามความในหนังสือทำเนียบวัดจังหวัดของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดคูหาสวรรค์ เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ย. ๒๕๒๐ สำหรับพระประธานในพระอุโบสถนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง (พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕) ได้พระราชทานมาพร้อมพระพุทธรูปยืน ซ้ายขวา อีก ๒ องค์ พระประธานในพระอุโบสถของวัดคูหาสวรรค์นั้นสวยปานองค์พระวิษณุกรรมรังสรรค์ องค์พระสร้างมาจากทองคำประมาณ ๖๐ เปอร์เซนต์
ประตูพระอุโบสถ
พระประธานในพระอุโบสถ
พระพุทธบาทจำลอง
พระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านบนของถ้ำพระ สูงขึ้นไปประมาณ ๖๐ เมตร สร้างโดยนายฮวดและนางขิ้ม แซ่สอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงจุดนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองพัทลุงได้อย่างสวยงาม
เจดีย์หินโบราณ
ถ้ำนางคลอด
ถ้ำนางคลอด ตั้งอยู่ใกล้ประตูวัดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นับจากประตูวัดไปทางทิศเหนือประมาณ ๘๐ เมตร ถ้ำออกแบบโดยพ่อท่านคล้าย ซึ่งสวยงามวิจิตรพิสดารมาก ปากถ้ำสร้างเป็นอาคารไม้ เสาทาสีแดง หลังคาฉาบปูน แบ่งเป็นห้องลดหลั่นต่างระดับกันหลายห้อง ภายในห้องต่าง ๆ มีประติมากรรมปูนปั้นภายในห้อง อาทิกลุ่มประติมากรรมรูปภิกษุ ๔ องค์ ชักผ้าบังสุกุลจากโลงศพ กลุ่มประติมากรรมพุทธประวัติตอนเสด็จประทับ ณ ป่าเลไลยก์ กลุ่มประติมากรรมรูปพระยายมราชพิจารณาความดี ความชั่ว ประติมากรรมรูปพระสังกัจจายน์ ประติมากรรมรูปเหมือนพ่อท่านคล้าย คูหาสุโย เป็นต้น สามารถเดินขึ้นทางบันไดจนถึงเพดานถ้ำ มีีรูปปั้นให้ชม ตั้งแต่ปากถ้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ของการแต่งกาย ลักษณะการลงโทษผู้กระทำความผิดในสมัยก่อน ตลอดถึงการแสดงออกทางพุทธปรัชญาหลาย ๆ อย่าง เช่น ความร่มเย็น สงบ ความสว่างทางจิตใจ ซึ่งเมื่อเดินชมแล้วจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว
วิหารหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
วิหารอดีตเจ้าอาวาส
อดีตเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์
วัดคูหาสวรรค์เป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์โปรดในการเสด็จอยู่เสมอ มีโบราณสถานและรูปแบบศิลปกรรมที่สำคัญ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดคูหาสูง” หรือ “วัดสูง” ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด ตามตำนานนางเลือดขาวระบุไว้ว่าเมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอัฐิของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ๑ องค์ และพระพุทธรูปปูนปั้น ปั้นด้วยดินเหนียวเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก รวม ๓๗ องค์ วัดคูหาสวรรค์เป็นพระอารามหลวงที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์เคยเสด็จประพาสที่นี่ ดังพระปรมาภิไธยย่อที่ทรงจารึกไว้ว่าคือ จปร. ๑๐๘ บริเวณหน้าถ้ำ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ร. ๙) และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์ ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร. และ สก.๑๗.๓.๒๕๐๒ ไว้ที่เพิงหน้าถ้ำ
พระครูจรูญกรณีย์ (ตุด เกสโร)
ประวัติ
พระครูจรูญกรณีย์ หรือหลวงพ่อตุด เกสโร (นามสกุลเดิม ปุรินทราภิบาล) อดีตเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ จากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์จำเพาะ ปุรินทราภิบาล ประวัติของท่านมีหลายส่วนที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับพระเกจิ หรือพระอาจารย์สำคัญ ๆ หลายรูปไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อดำ และหลวงพ่อพุ่ม วัดท่าแค หลวงพ่อเหลื่อม วัดนาท่อม หลวงพ่อเส้ง วัดแหลมทราย พระครูกาแก้ว (มาก) วัดวัง พระมหาเพียร (พระธรรมปัญญาบดี) หลวงพ่อแสง วัดโพธิ์ตำนาน เป็นต้น หลวงพ่อตุด ท่านเคยสร้างพระปิดตาไว้สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นที่นิยมเล่นหาสะสมกันในหมู่ผู้นิยมพระเครื่อง หลวงพ่อตุดได้เริ่มสร้างวัตถุมงคล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นการสร้างเพียงครั้งเดียว วัตถุมงคลที่สำคัญ ได้แก่ พระปิดตามหาอุดเนื้อโลหะผสม ในวงการพระเครื่องเล่นหาเป็นพระปิดตาของหลวงพ่อหมุน วัดเขาแดงตะวันออก เนื่องจากหลวงพ่อหมุนมาช่วยหลวงพ่อตุดสร้างพระปิดตาพิมพ์นี้ด้วย เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว หลวงพ่อหมุนได้นำไปแจกที่วัดเขาแดงตะวันออก พระปิดตาวัดคูหาสวรรค์นี้นอกจากเนื้อโลหะผสมแล้ว เนื้อตะกั่ว เนื้อเงินยวง พระปิดตานี้สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายแจกเพื่อคุ้มครองชีวิตคน เป็นพระปิดตาที่มีคุณค่าของจังหวัดพัทลุง
พระธรรรมวงศาจารย์ (เพียร อุตตโม)
ประวัติ
พระธรรรมวงศาจารย์ (เพียร อุตตโม) นามเดิม เพียร ฤทธิเดช เป็นบุตรของนายชู นางเอียด ฤทธิเดช เกิดที่บ้านดอนเค็ด หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๔๙ ครองตนในสมณเพศมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖
ผลงาน
พระธรรรมวงศาจารย์ (เพียร อุตตโม) ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับดำรงตำแหน่งผู้บริหารในศาสนจักรมายาวนานถึง ๕๐ ปีเศษ เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ และอดีตเจ้าคณะภาค ๑๘ ซึ่งปกครองดูแลสงฆ์ในเขตภาคใต้ตอนล่าง คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล และพัทลุง รวม ๖ จังหวัด จนภารกิจพระศาสนาเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ได้ปฏิบัติภารกิจหลายอย่างอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะงานทำนุบำรุงพุทธศาสนาและงานส่งเสริมการศึกษาทั้งของพระภิกษุ สามเณร และเยาวชน ให้มีความเจริญก้าวหน้าดังเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งโดยทั่วไป พระธรรมวงศาจารย์ (เพียร อุตฺตโม) ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นบรรพชิตผู้มีศีลาจารวัตรอันงดงาม มีความคิดสร้างสรรค์อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ ก่อกำเนิดและพัฒนางานการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนาให้สถิตมั่นยืนนานกล่าวขานให้เป็น "ปูชนียบุคคล" โดยแท้จริง และสมควรอย่างยิ่งแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติประวัติของจังหวัดพัทลุงสืบไป
เกียรติคุณที่ได้รับ
ปริญญาบัตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๒๘ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยอนุมัติสภามหาวิทยาลัยถวายปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๘ สภาสถาบันราชภัฏถวายปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์สายเทคนิคการศึกษาโปรแกรมวิชาการบริหารการศึกษา
พระเทพวิริยาภรณ์ (อักษร ยติโก ป.ธ.๙)
ประวัติ
พระเทพวิริยาภรณ์ (อักษร ยติโก ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๘๑ อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๒ วิทยฐานะ ป.ธ. ๙ ท่านเกิดที่อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
สมณศักดิ์
๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระเมธีกิตยาภรณ์
๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชปริยัติมุนี
๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิริยาภรณ์
ถ้ำคูหาสวรรค์ (วัดคูหาสวรรค์). (2558). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก http://203.150.224.249/ewtadmin_mculture/
"พัทลุง" ...ฟ้าหลังฝน และมุมมองที่คุณ (อาจ) ไม่เคยเห็น....(2560). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก https://pantip.com/topic/36165906ewt/phatthalung/ewt
_news.php?nid=230&filename=slider
เพจของ sarawut Thongseng. (2561). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก https://www.facebook.com/hannibals.t/media_set?set=
a.10207543965075890.1073741858.1792586267&type=3
วัดคูหาสวรรค์ พัทลุง. (2557). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก https://travel.thaiza.com/guide/271079/
วัดถ้ำคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุงตามรอยเสด็จประพาสกษัตริย์ไทย เที่ยววัดศักดิ์สิทธิ์แดนใต้. (2560). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก
https://thailandtopvote.com/วัดถ้ำคูหาสวรรค์/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. (2557). ถ้ำคูหาสวรรค์ (วัดคูหาสวรรค์). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก http://203.150.224.249/ewtadmin_mculture/ewt/
phatthalung/ewt_news.php?nid=230&filename=slider
วัดคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาคูหาสวรรค์ ในตัวเมืองพัทลุง ห่างจากศาลากลางจังหวัดพัทลุงไปทางทิศตะวันออกของวัดคูหาสวรรค์ ตามถนนลาดยางสายช่วยทุกราษฎร์-คูหาสวรรค์ ประมาณ ๘๐๐ เมตร