ประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์
 
Back    15/06/2023, 13:41    759  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : https://thaiza.com/travel/guide/212949/

           ถ้ำพระขยางค์ เดิมชื่อถ้ำเขาหยั่ง ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขาแหลมเนียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นถ้ำขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ห่างจากที่ว่าการอำเภอกระบุรีไป ๑๘ กิโลเมตร โดยมีทางแยกซ้ายจากถนนเพชรเกษม (ระนอง-ชุมพร) บริเวณกิโลเมตรที่ ๕๖๓-๕๖๔ เข้าไปอีก ๑ กิโลเมตร ถ้ำพระขยางค์เป็นถ้ำขนาดเล็ก มีตำนานเก่าแก่ที่เกี่ยวกับพ่อตาหลวงแก้วผู้สร้างเมืองกระบุรี จากปากถ้ำเข้าไปประมาณ  ๔๐ เมตร มีบันไดขึ้นสู่ด้านบนสามารถทะลุออกภายนอก ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อกันว่ามีการนำเอาสมุนไพรที่หายากมาปลูกไว้ การเที่ยวชมควรเตรียมเทียนไขหรือไฟฉายพกติดตัวไปด้วยบรรยากาศภายในถ้ำค่อนข้างอับชื้น มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก   ทุกปีในวันตรุษจีนทางจังหวัดได้จัดงานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ขึ้นทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นหลังได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของอำเภอเมืองกระบุรี โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา
           ลักษณะของถ้ำพระขยางค์ปากถ้ำมีขนาดใหญ่  จากนั้นจะมีทางขึ้นไต่ขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ บริเวณพื้นบางช่วงชื้นแฉะจากน้ำซึมผ่านไหลมาตามหินงอกหินย้อย  บางช่วงทำบันไดแบบมีเครื่องกั้น ที่ผนังถ้ำบางตอนมองเห็นฝูงค้างคาวเกาะอยู่ มีเสียงและกลิ่นขี้ค้างคาว ช่วงไต่ระดับสูงขึ้นไป จะมีโพรงขนาดใหญ่มีแสงส่องสว่างเข้ามาแลเห็นต้นไม้ที่เป็นป่าของเขาแหลมเนียงที่เห็นไกลๆเวลามองขึ้นไปจากข้างล่าง บางตอนที่มองเห็นป่า สามารถจะเดินออกไปเลือกชมวิวมุมสูงได้ แต่ควรดูป้ายคำเตือนให้ดี เพราะบางช่วงมีความชันเกินไปจึงห้ามเข้า 
ทางเดินธรรมชาติอีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจคือทางเดินรอบเขาถ้ำพระขยางค์ ระยะทางประมาณหนึ่งกิโลเมตร ทางเดินก่อสร้างด้วยคอนกรีตมีที่กั้นตลอดเส้นทางสามารถเดินหรือปั่นจักรยานชมป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ บางช่วงตัดผ่านป่าจากซึ่งเป็นป่าชายเลน บริเวณนี้ถ้าไม่มีคนมากจะมีฝูงลิงออกมาให้เห็นเพราะเป็นแหล่งที่อยู่ของเขาลำคลองที่เรามองเห็นเรียกว่าคลองลำเลียง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำกระบุรี ต้นน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ปลายน้ำออกสู่ทะเลอันดามัน การคมนาคมทางน้ำจึงเป็นวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันยังคงเห็นเรือหลายลำจอดในคลองลำเลียง ในช่วงเวลาจัดงานแม้จะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากมายมีร้านค้าเข้ามาจับจองพื้นที่ขายสองฟากถนนที่ไปยังถ้ำ ถ้ำพระขยางค์มีความสำคัญเพราะมีความเชื่อมโยงกับตำนานเจ้าเมืองคนแรก ผู้ครองเมืองกระ (กระบุรี) นามว่าพระแก้วโกรพ มีตำนานเล่าว่านายแก้ว ธนบัตร เป็นนายบ้านชาวนครศรีธรรมราช  ได้จับเต่ากระสีทองสวยงามมากมาตัวหนึ่ง แล้วได้นำไปมอบให้กับเจ้าเมืองชุมพร เพื่อถวายแด่กษัตริย์ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา  นายแก้วจึงมีความดีความชอบได้เลื่อนยศเป็นเจ้าเมือง การจัดงานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์มีจุดประสงค์หลัก ๆ อยู่ ๓ ประการคือ
      - เพื่อระลึกถึงตำนานเจ้าเมืองกระ (พระแก้วโกรพ)
      - ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยภูมิทัศน์สวยงามของถ้ำพระขยางค์และเส้นทางธรรมชาติแบบป่าชายเลน
      - อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น คือการแสดงมโนราห์

      สำหรับเรื่องราวของ
ถ้ำพระขยางค์ ได้เล่าว่าเกิดขึ้นหลังจากพระแก้วโกรพได้ครองเมืองกระ พระแก้วโกรพมีภรรยาชื่อนางน้อย ทั้งคู่มีบุตรชาย ๒ คน คือนายทองและนายเทพ นายทองถูกส่งไปเรียนที่นครศรีธรรมราช เพื่อว่าเรียนจบมาจะได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมือง แต่ได้เกิดเรื่องขึ้นเมื่อนายทองสำเร็จวิชาแล้วกลับบ้าน ได้มาพบกับนางจั่น ภรรยาน้อยของบิดา แล้วเกิดมารักใคร่ชอบพอเป็นชู้กัน  ต่อมาบิดาจับได้นายทองจึงวางแผนปิตุฆาต พระแก้วโกรพทราบเรื่องก็โกรธมาก สั่งให้จับตัวใส่ขื่อคาเฆี่ยนวันละสามเวลาเมื่อครบเจ็ดวันให้นำไปฆ่าเสีย  แต่เนื่องจากนายทองบุตรชายเรียนวิชาคงกระพันจึงฆ่าไม่ตายดาบฟันไม่เข้า  บิดาจึงให้จับตัวไปไว้ในถ้ำบนเขาแหลมเนียง ด้วยการมัดไว้กับขาหยั่งทำด้วยไม้ ๓ ท่อน ปักโคนทแยงเพื่อให้อดอาหารตาย  จึงเป็นที่มาของ “ถ้ำขาหยั่ง” ต่อมาจึงเพี้ยนเสียงเป็นขยางค์ ข้างฝ่ายบิดาพระแก้วโกรพ ในยามชราได้เรียนวิชาวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นที่เคารพรักของผู้คน จนผู้คนพากันเรียกว่า “พ่อตาหลวงแก้ว”  เมื่อท่านได้สิ้นชีพลงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านเพราะท่านเป็นผู้ปกปักคุ้มครองผู้คนที่สัญจรไปมาบริเวณเขาแหลมเนียงให้ปลอดภัยจากภัยภิบัติต่าง ๆ จึงได้ปรากฏเป็นศาลที่มีคนแวะเวียนมาสักการะบูชาเป็นประจำ จึงทำให้เกิดประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ โดยจัดให้มีการบวงสรวงขึ้นทุกปี งานบวงสรวงทำตามแบบวิธีพราหมณ์โดยพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีอยู่ในสายจังหวัดพัทลุง-นครศรีธรรมราช ซึ่งมีความชำนาญในการประกอบพิธีพราหมณ์หลวง  เครื่องบวงสรวงประกอบด้วยบายศรีปากชาม ๓ คู่  หัวหมู ๓ หัว เป็ดต้ม ไก่ต้ม ปูต้ม กุ้งต้ม ปลาช่อนนึ่งไม่ขอดเกล็ด อ้อย เผือกต้ม มันต้ม กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน และผลไม้อื่นๆ ขนมของหวาน  สุรา พวงมาลัยดาวเรือง แจกันดอกไม้สด ธูป เทียนน้ำมนต์ เทียนชัย สายสิญจน์ ส่วนของกิจกรรมสำคัญในงานที่ อบต.ลำเลียงเป็นผู้ดูแลคือ กิจกรรมขึ้นถ้ำพระขยางค์ ในวันจัดการทางอบต.ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการขึ้นถ้ำพระขยางค์ ด้วยการติดไฟส่องสว่างตามทางเดินถ้ำและจัดเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อคอยอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ยังให้ลงทะเบียนรับน้ำและของที่ระลึก ขากลับลงมาจะได้รับใบประกาศว่าได้ขึ้นถ้ำไปจนถึงยอดเขาแล้ว 
        
ประเพณีงานขึ้นถ้ำพระขยางค์เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวกระบุรี และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งทุกคนจะต้องรอคอยมางานนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของจังหวัดระนอง เมื่อถึงวันงานก็จะมาพร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างหนาแน่น จะมีไฟแสงสีเด่นสง่างามสวยงามอยู่กลางถนนทางเข้างาน ให้เข้ามาเยี่ยมชม เพราะที่นี่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น ที่จะอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของตำนานถ้ำพระขยางค์ ให้ลูกหลานได้สืบทอดประเพณีนี้ต่อไป


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์
ที่อยู่
จังหวัด
ระนอง


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เที่ยวถ้ำพระขยางค์ สัมผัสตำนานเมืองกระบุรี. (2554) สืบค้น 15 มิ.ย.66, จาก https://thaiza.com/travel/guide/212949/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).(2560). ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย ; ขึ้นถ้ำพระขยางค์. สืบค้น 15 มิ.ย. 66, จาก
         https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=127


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024