ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์
 
Back    05/04/2023, 10:54    8,436  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา

            ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับเวทมนตร์คาถา เป็นพิธีกรรมเรื่องของความเชื่อเป็นเรื่องราวที่เราทุกคนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ หลายคนอาจจะจำติดตัวมาจนโต ซึ่งแต่ละที่แต่ละจังหวัดแต่ละภาคต่าง อาจจะมีความเชื่อที่แตกต่างกันไป โดยอาจจะเชื่อกันต่อ ๆ มาจากรุ่นสู่รุ่น จากที่ศึกษาค้นจากแหล่งต่าง ๆ ก็พบว่าคนใต้มีความเชื่อมากมายหลายประการ ในที่นี้จะยกมาอธิบายพอเป็นสังเขป ดังนี้

๑. ความเชื่อเกี่ยวกับตะกรุด 
    ตะกรุด เป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งของคนไทยแต่ทางภาคใต้
มักเรียกว่า “พิสมร” มีลักษณะรูปกลมยาวมีรูตรงกลางสําหรับร้อยสาย มีมากมายหลายแบบ เรียกชื่อหลายอย่าง เช่น ตะกรุดโทน หมายถึงตะกรุดดอกเดียว แขวนเอา “สู้” ไว้ หน้า เอา “หนี” ไว้หลัง ถ้าไปหาผู้หญิงไว้ข้างซ้าย ถ้าไป หาผู้ชายไว้ขางขวา, ตะกรุดสามกษัตริย์ ใช้แผ่นเงิน ทอง ทองแดง ตะกรุดไตรมาส ใช้ลงในโบสถ์ครบสามเดือน เริ่มตั้งแต่วันเข้าพรรษา ตะกรุดสามกษัตริย์นั้นบางครั้งเอาเงิน ทอง ทองแดง หลอมรวมเข้าแล้วแผ่ลงเลขยันต์ โดยขนาดของตะกรุดจะเล็กใหญ่แล้วแต่พอเหมาะกับผู้แขวน, ตะกรุดเสาร์ห้า ใช้แขวนลงเสาร์ห้า, ตะกรุดหน้าผากเสือ ใช้หนังหน้าผากเสือลงตะกรุด โดยมากลงแผ่นทอง เงิน ตะกั่ว และทองแดง ตะกรุดนั้นจะใช้ในทางอยู่ยงคงกระพัน คลาดแคล้ว มหาอุด เมตตามหานิยม คลอดลูกง่าย และบางคนก็ใช้ตะกรุด ในการคลุมกําเนิด

 ๒. ความเชื่อเกี่ยวกับมบ
      มบ หมายถึงการกระทำด้วยเวทมนตร์ เลขยันต์คาถา ให้ผู้อื่นมีอันตราย เสื่อมถอยจากความดีมีชื่อเสียง เสื่อมความนิยม เสื่อมความเจริญ และอาจทำให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือถึงแก่ความตายโดยผิดปกติก็ได้ การทำมบมีหลายอย่าง เช่น การมบรอยเท้าก็จะทำที่รอยเท้าหรือเอาดินรอยเท้าไปทำที่อื่น การมบเสื้อผ้าคือนำเสื้อผ้าที่ใช้อยู่ไปทำมบด้วยการฝังรูป โดยปั้นรูปสมมติขึ้นด้วยขี้ผึ้งหรือดินป่าช้าให้มีอาการครบสามสิบสอง เมื่อประกอบพิธีกรรมครบแล้วนำไปฝังที่ตนกำหนด เช่น ใต้บันไดเรือน ทางสามแพร่ง ป่าช้า ฯลฯ การทำมบด้วยกระดาษหรือหนังสุนัข หรือกระเบื้องบาตรแตก โดยนำวัน เดือน ปีเกิด มาเขียนลงในกระดาษหรือหนังสุนัขหรือกระเบื้องบาตรแตก จากนั้นก็ลงชื่อเลขยันต์ตามตำรา แล้วนำไปทิ้งหรือฝังหรือในจุดที่ต้องการ การทํามบมีหลายอย่าง เช่น การมบรอยเท้า โดยจะนำรอยเท้าหรือเอาดินรอยเท้าไปทํา, การพบด้วยเสื้อผ้า ด้วยการนําเสื้อผ้าที่ใช้อยู่ไปทํามบด้วยการฝังรูป แล้วนําไปฝังในที่ตนกําหนด เช่น ใต้บันใดเรือน ทางสามแพร่ง ป่าช้า เป็นต้น การทํามบด้วยกระดาษหรือ หนังสุนัข หรือกระเบื้องบาตรแตก ด้วยการนําวันเดือนปีเกิดมาเขียน ลงในกระดาษ หรือหนังสุนัข หรือกระเบื้องบาตรแตก แล้วลงชื่อเลขยันต์ตามตํารา ต่อจากนั้นนําไปทิ้งหรือฝัง หรือนําไปทําตามพิธีกรรม

๓. ความเชื่อเกี่ยวกับการทำยาสั่ง
     ยาสั่ง หมายถึงยาที่กินให้ตาย แต่ผู้กินจะไม่ตายทันที เหมือนกินยาเบื่ออื่น ๆ เป็นการผ่อนส่งให้ตายช้า ๆ จะเจอกับความตายก็ต่อเมื่อไปกินของที่เขาห้ามไว้ ของห้ามนี้เป็นของแสลงอย่างแรง เมื่อถูกยาสั่งแล้วถ้าไม่กินของแสลงที่สั่งหรือทำกำหนดไว้ก็อยู่ได้ต่อไปตามปกติ เข้าใจว่าของที่ห้ามไว้นั้นเมื่อนำมาประสมกับตัวยาสั่งคงจะเป็นพิษ ผู้ที่ถูกยาสั่งเองก็ไม่รู้ว่าถูกจะรู้ก็ต่อเมื่อผู้อื่นแจ้งหรือกินของแสลงแล้วตาย แถบ
จังหวัดพัทลุง ตรัง กระบี่ เคยมีคนถูกยาสั่งอยู่เสมอแต่ก็สามารถหาวิธีแก่ได้ทันท่วงที ที่แก้ไม่ทันตายไปเลยก็มีมากมาย ผู้ที่รู้เรื่องนี้จึงมักจะมีทั้งยาแก้และยากัน ยากันนั้นกินก็มีเก็บเอาไว้กับตัวก็มี ยาขนานที่กันหากใครได้กินเข้าไปจะป้องกันได้ตลอดไป

๔ . ความเชื่อเกี่ยวกับเมตตามหานิยม
     เมตตามหานิยมที่เกิดจากไสยศาสตร์นั้นมีหลายอย่าง เช่น เกิดจากมนตร์คาถา น้ํามันปลุกเสก ขี้ผึ้งสีปากปลุกเสกน้ํามัน พรายปลุกเสก ขี้ผึ้งสีปากผสมผงปรุงปลุกเสก ฯลฯ เมตตามหานิยมจะมีพิธีกรรม เช่น เสกหมากกินเองหรือให้ผู้อื่นกิน เสกลูกมะนาว เสกเครื่องนุ่งห่มประสบเนตร หรือทำจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ใบรัก ลูกสวาด ผ้ายันต์ ตะกรุด พิสมร และพระเครื่องราง ที่ทําด้วยกังหันเรียกว่า “พราหมณ์โหด” ทําด้วยว่าน แป้งผัดหน้า น้ํามันใส่ผม ดอกไม้ทัดหู เสกหมากให้เป็นแมลงภู่ให้ไปตามผู้หญิงเรียกว่า “เสลาเหิน” เรียกจิตลง “นะ” หน้าทอง สาลิกาลิ้นทอง สาลิกาป้อนเหยื่อ ลงฟันเรียกว่า “กาจับหลัก” หรือ “กาหลงเหว” และ “แร้งถามข่าว”

๕.  ความเชื่อเกี่ยวกับการทําเสน่ห์ยาแฝด
      เสน่ห์ยาแฝด หมายถึงยาหรือของที่ทําให้ผู้อื่นรัก ส่วนมากเป็นยากินที่ผู้หญิงทําให้ผู้ชาย เช่น ภรรยาทําให้สามีกิน หรือหญิงที่ต้องการให้ชายรักตัวจนหลงใหลให้อยู่ใกล้ชิดประดุจแฝดกัน ส่วนมากนําเอาของที่มีในตัวของผู้หญิงมาประสมทําขึ้นเป็นยา แต่ถ้าไม่เอาของในตัวมาประสมกันจะเรียกว่า “ยาเสน่ห์” ยาแฝดมิใช่เฉพาะให้ผู้ชายกินเท่านั้น ผู้ชายอาจจะนําไปให้ผู้หญิงกินก็ได้ ส่วนยาเสน่ห์นั้นเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความรักให้รักเร็วขึ้น ถ้ารักอยู่บ้างแล้วก็ให้รักมากขึ้น ยาเสน่ห์บางอย่างไม่ต้องใช้เครื่องยา หรือแป้งผง หรือน้ํามัน เพียงแต่เสกอะไรให้กิน เช่น เสกน้ําใต้ศอกล้างหน้าด้วยคาถามหาละลวย เทพรัญจวน หรือช้างตามโขลง ฯลฯ

๖. ความเชื่อเกี่ยวกับการสัก
     การสัก หมายถึงการทําให้ผิวหนังมีตัวอักขระ รูปยันต์ รูปเทวดา รูปพระ รูปลิง รูปยักษ์ และรูปสัตว์อื่น ๆ ตามต้องการ การสักทําเพื่อเป็นเมตตามหานิยม เกิดลาภผลหรือคลาดแคล้วปลอดภัย หรืออยู่ยงคงประพันธ์ฟันแทงไม่เข้า หรือบางทีก็เพื่อความสวยงาม หรือเป็นเครื่องหมายระลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ผู้มีพระคุณ เครื่องมือเครื่องใช้ในการสัก ได้แก่ เหล็กแหลม และหมึก เหล็กแหลมมีรูปคล้ายเข็มผ่าปลายเป็นสองง่ามชิดกัน โตพอถนัดมือ ยาว พอประมาณ ส่วนมากมีด้ามและมีโลหะถ่วงไว้ที่โคนด้ามเพื่อให้มีน้ําหนัก พิธีกรรมในการสักจะคล้ายคลึงกับการทําของขลังอื่น ๆ โดยปกติแล้วการสักรูปหนุมานแผลงฤทธิ์ มักจะห้ามไม่ให้สักอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าสักแล้วเชื่อกันว่าจะเป็นบ้าหรือติดคุก และอาจารย์ผู้สักอาจจะเจ็บป่วยได้

๗. ความเชื่อเกี่ยวกับการลงเลขยันต์
     การลงเลขยันต์ หมายถึงรูปต่าง ๆ ที่เขียนลงบนผ้าหรือโลหะ ยันต์นั้นจะมีรูปต่าง ๆ มากมาย รูปยันต์จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปหลาย ๆ เหลี่ยม ก็ได้ หรือเป็นรูปวงกลม รูปสัตว์ รูปพระ รูปเทพ ฯลฯ การลงเลขยันต์ต้องมีพิธีกรรมเป็นเรื่อง ๆ ไป และจะมีเครื่องบูชา เครื่องใช้ สถานที่ ฤกษ์ยาม เวลา ทิศทางที่ละเอียดมาก ผู้ที่ลงจึงต้องรอบรู้และเป็นคนขลังด้วย การลงเลขยันต์จะต้องมีเหล็กจาร ดินสอดํา หรือหมึก ปากกา ปากไก่ ไม้บรรทัด พร้อมกับของที่จะลง เช่น แผ่นโลหะ ผ้า ฯลฯ สถานที่ลงเลขยันต์จะต้องใช้สถานที่ที่เป็นมงคล เช่น หน้าแท่นบูชาในอุโบสถหรือแล้วแต่จะกําหนดเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากนี้ยังต้องใช้ฤกษ์ยามในการลงเลขยันต์ เพราะฤกษ์ยามเวลาที่ไม่ดี ห้ามเด็ดขาด โดยจะกําหนดวัน ฤกษ์ยามเวลาไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมเป็นเรื่องๆ ไป

๘. การอยู่ยงคงกระพันและเครื่องรางของขลัง
    การอยู่ยงคงกระพัน หมายถึงการที่เนื้อหนัง กระดูก คงทนตี ฟัน แทง ยิ่งไม่เข้า ไม่แตกไม่หัก บางคนไม่บวม ไม่ช้ําและไม่เจ็บ ลักษณะคงกระพันนี้ ถ้ายิงไม่ออกเรียกว่า “มหาอุด” ถ้าเงือดเงื้อแล้วทําไม่ลงดุจมีสิ่งใดมาบังคับเรียกว่า “จังงัง” เช่น เวทมนตร์ คาถาพระเครื่อง เครื่องรางที่ทําขึ้น ได้แก่ ตะกรุด พิสมร ผ้าประเจียดหมากเสก ชานหมาก ฯลฯ

๙. ความเชื่อเกี่ยวกับผ้าประเจียด
     ผ้าประเจียด คือผ้าลงเลขยันต์ อักขระ เวทมนตร์คาถา นอกจากยันต์ธรรมดาแล้วยังมีรูปพระรูปเทวดา ยักษ์ ลิง เสือ และราชสีห์ เป็นต้น โดยมากใช้ผ้าขาว ผ้าแดง และผ้าเหลืองก็มี มักเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสใช้โพกศรีษะ พันคอ พันแขน หรือใส่กระเป๋า หากเป็นผืนเล็ก ๆ เอามาทําเป็นเสื้อเรียกว่า "เสื้อยันต์" ซึ่งอาจจะนับว่าอยู่ในประเภทผ้าประเจียดก็ได้ จุดประสงค์ในการทําผ้าประเจียดก็เพื่อคุ้มกันอันตราย โดยจะมีคุณภาพตามแต่ความต้องการ เช่น คงทน คลาด แคล้ว มหาอุด เมตตามหานิยม เป็นโชคลาภหรือมีโชคทางการค้ามักจะเขียนด้วยหมึกดําและดินสอดําเป็นพื้น การลงผ้าประเจียดต้องมีพิธีการเบื้องต้นเช่นเดียวกับการทํา เครื่องรางของขลังอื่น ๆ คือต้องถือเอาฤกษ์ดี ยามดี วันดี ทิศดี ที่ดี และดินน้ําลมไฟในตัวไม่วิปริต

๑๐. ความเชื่อเกี่ยวกับลูกประคํา
       ลูกประคํา หมายถึงไม้หรือแก้วที่ทําเป็นเม็ดกลมมีรูที่ตรงกลางเหมือนลูกคิดร้อยด้วยด้ายหรือไหมหลายสิบลูกสําหรับนักบวช ฤาษี หรือใช้สวมคอเพื่อบริกรรม ลูกประคําอาจทําเป็นเครื่องรางของขลังก็ได้ แต่ส่วนมากใช้สําหรับนับเวลาปลุกเสกหรือสวดเพื่อกําหนดจิตหรือกําหนดจบ นิยมใช้คล้องคอ แต่ถ้าสั้นก็ใช้คล้องแขน ลูกประคําอาจทําจากสิ่งของหลายอย่าง เช่น กาฝากร้อยแปดชนิด แต่ห้ามใช้กาฝากส้ม และถ้าเป็นกาฝากมะขามหรือกาฝากกระท้อน ให้เอากิ่งทิศตะวันออกนํามา ตัดแต่งให้กลมเกลี้ยงแล้วเจาะรูกลางเพื่อร้อยหวาย ลงด้วย “นะ” นอกจากทําด้วยกาฝากร้อยแปดแล้ว ยังอาจจะทําด้วยไม้คอนผึ้งร้อย แปดรัง ปลายเขาวัว โดยเอาตัวละเขาร้อยแปดตัว ผงคุณพระ ผงว่าน เมล็ด และมะกล่ําดํา เป็นต้น

๑๑. ความเชื่อเกี่ยวกับลูกอม
       ลูกอม หมายถึงลูกกลม ๆ ขนาดอมได้สะดวก ทําด้วยผงคุณพระ เลขยันต์ ผงว่านยา กาฝากที่สําคัญบางอย่าง เช่น การฝากบอระเพ็ด ขี้ผึ้งเทียนชัย โลหะประสม บางตําราให้เอาโลหะ ๙ อย่าง หรือ ๗ อย่าง หรือ ๕ อย่าง หรือ ๓ อย่าง เรียกว่า นวโลหะ สัตโลหะ ปัญจโลหะ ไตรโลหะ โดยเอาโลหะแต่ละอย่างมาตีให้เป็นแผ่นแล้วเข้าพิธีลงเลขยันต์ อักขระเ วทมนตร์ คาถา ประจุลงเสร็จแล้วเอาไปเข้าพิธีหล่อหลอมให้ละลายเข้ากัน ชัดว่านยาแล้วเทลงไปในเบ้ากลมตามขนาดที่ต้องการ เมื่อเอาออกจากเบ้าแล้วก็ต้องขัดแต่งให้กลมเกลี้ยงเรียบร้อยแล้วเสกเป็นการเสร็จพิธีที่ทําด้วยยันต์เรียกว่ายันต์ลูกอม

๑๒. ความเชื่อเกี่ยวกับโจ
       โจ หมายถึงเครื่องรางของขลังที่เป็นเครื่องมือป้องกัน หรือทำให้เกิดอันตรายแก่คนที่มาลักขโมยผลไม้หรือสัตว์เลี้ยง โจมีใช้กันอยู่หลายชนิด สามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้มี ๒ แบบ คือ โจฝังและโจหลอก โจฝังจะเป็นโจที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการลงอักขระเลขยันต์เวทมนตร์คาถา ทำโดยครูหมอ หรือคนเฒ่าคนแก่ที่มีเวทมนตร์คาถาเป็นผู้ทำ เชื่อกันว่าผลไม้ที่ลักขโมยไปจากต้นไม้ที่ใส่โจไว้นั้น เมื่อนำไปกินจะทำให้ปวดท้อง อาจจะถึงตายได้ ส่วนโจหลอก คือโจที่ไม่ได้ลงเลขยันต์หรือคาถาอาคมไว้ ใคร ๆ ก็คิดเลียนหลอกขึ้นได้ แต่คนอื่นไม่รู้ว่าเป็นโจของจริงหรือโจหลอกขู่ไว้ รูปร่างของโจหลอก เช่น โจแขวน โจบอก โงพรก เป็นต้น โจเป็นการทําทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักขโมย โจบางอย่างใช้ใบไม้ ๓ ใบ นํามาลงเลขยันต์แล้วเอาเรียงซ้อนกันเข้าแล้วตรึงติดไว้กับไม้ผลต้นนั้น การทําเช่นนี้เรียกว่า “ใส่ใจ” ผู้ใดกินของที่ใส่โจเข้าไปจะเจ็บป่วย ท้องพอง แก้ไม่ถูกจะถึงตาย การแก้โจจะต้องไปหาผู้รู้หรือเจ้าของโจ ซึ่งจะรักษาแพทย์หรือยาธรรมดาไม่หาย วิธีที่ดีที่สุดคืออย่าไปกินของใส่โจ แต่ถ้าผู้นั้นมีพระเครื่องบางองค์และเครื่องรางบางอย่างป้องกันได้ หรือ
อาจจะใช้ขอช้างที่สร้างขึ้นถูกต้องตามพิธีการก็ป้องกันได้ โดยใช้ขอช้างนั้นเกี่ยวเอาอย่าปลิดหรือหยิบจากต้นที่ใส่ใจ แต่ถ้ามีพระเครื่องรางของขลังอยู่กับตัวก็ใช้มือเก็บหรือปลิดมากินได้เลย

๑๓. ความเชื่อเกี่ยวกับการทําคุณ
       การทําคุณ หมายถึงการกระทําด้วยเวทมนตร์ มีลักษณะคล้ายทํามบแต่รุนแรงและเกิดมีอันตรายแก่ผู้ถูกทําเร็วกว่าและหนักกว่าการทํามบมาก การทําคุณนั้นผู้ทําต้องการให้ผู้ถูกทํานั้นเจ็บป่วยหรือตาย โดยมากทําเพื่อแก้แค้นผู้ที่โกรธเคืองกัน แต่หมอบางคนทําเป็นการฝึกซ้อมวิชาแล้วปล่อยไปตามบุญตามกรรม ไม่เจาะจงให้ไปถูกผู้ใด การทําคุณนั้นมักจะเสกของไปเข้าท้อง เช่น หนังควายแห้ง กระดูกผี ผม ถ่านเผาผี ดินสอดํา ปลาหมอทั้งเป็น เนื้อวัว เนื้อควาย ตะปู ฯลฯ 

๑๔. ความเชื่อเกี่ยวกับการทําโทษ
     การทําโทษ หมายถึงการให้โทษผู้อื่น ด้วยการกระทําทางไสยศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพบหรือทําคุณ เช่น ทําด้วยการบิดไส้ กล่าวคือเสก ด้วยคาถาจนไส้บิดเกิดเจ็บปวดจนถึงตาย หรือยิงฟันด้วยการนั่งบริกรรมจนเห็นตัวแล้วฟัน ผู้ที่ถูกฟันนั้นจะถึงตาย

๑๕. ความเชื่อเกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผี
       การทรงเจ้าเข้าผี หมายถึงการเชิญเจ้าหรือเรียกผีมาเข้าคน ซึ่งเรียกว่าคนทรงเพื่อถามเรื่องราวต่าง ๆ ตามที่ต้องการ โดยคนทรงจะต้องแต่งกาย สะอาดหมดจด เช่น นุ่งขาวห่มขาว มีผ้าขาวปูรองนั่ง เครื่องประกอบมีข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลูเป็นเครื่องบูชาธรรมดา คนทรงบางคนเชิญเจ้าเข้าทรงได้ด้วยตนเองโดยไม่มีผู้ใดช่วยเชิญก็ได้

๑๖. ความเชื่อเกี่ยวกับการทำนาปลูกข้าว
       การทำนาปลูกข้าว มีมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล แม้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยกรุงสุโขทัย ก็ยังมีจารึกข้อความว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยสุโขทัยการทำนาได้เป็นอาชีพหลักของคนไทย ส่วนการทำนาของชาวใต้ส่วนใหญ่เป็นการทำนาหยาม หรือนาปีอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก นาหยามหรือนาปี จึงเรียกว่า "นาน้ำฝน"  การทำนาชาวนาจะให้ความสำคัญต่อการทำพิธีกรรมตามเชื่อของตนที่สืบทอดกันจากบรรพบุรุษ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ ปราศจากศัตรูข้าวที่มาทำลาย และเป็นการบูชาพระเม่โพสพ ทำให้มีข้าวไว้เหลือกินเหลือได้ตลอด ซึ่งมีพิธีกรรม ประกอบด้วย
      - การแรกคำ ชาวบ้านเชื่อว่าก่อนที่จะทำการปักดำ ชาวบ้านบางส่วนจะทำการไหว้เจ้าที่ ซึ่งในที่นี้ก็คือไหว้แม่โพสพ โดยใช้หมอพิธีกรรมมาทำพิธีบริเวณที่นา มีการเตรียมสิ่งของเพื่อการเช่นไหว้ ได้แก่ ธูปเทียน หมากพลู ข้าวเหนียว ข้าวข้าว (หุงสุกแล้ว) ปลามีหัวมีทาง กล้วย อ้อย ขนมถั่วงา ไก่หรือเป็ดหรือหัวหมูแล้วแต่ความเหมาะสม เหล้าและหางตอง หลังจากนั้นหมอจะประกอบพิธี ชาวนาบางคนจะดูฤกษ์ยามในวันแรกดำ บางคนมีการกล่าวคาถาแรกดำโดยจะปักดำ ๓ หลุม ๗ หลุม หรือ ๙ หลุม ก็ได้ แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน โดนจะกล่าวคาถาในขณะปักแต่ละหลุม คือ ฤก ฤา ฦก ฎา เมื่อปักครบจำนวนหลุมให้กล่าวคำว่า "ฎา" เงยหน้ามองฟ้า ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวมีความเชื่อว่าต้องการให้แม่โพสพ ได้อยู่ดูแลข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงาม และช่วยป้องกันหนู แมลงและสัตว์ต่าง ๆ ที่จะมาทำอันตรายกับต้นข้าวและเป็นสิริมงคลแก่ตนตลอดไป
     - การเก็บเกี่ยว แรกเก็บข้าวชาวบ้านบางคนจะต้องคดูฤกษ์ดูยามก่อนเพื่อความเป็นเพื่อเป็นสิริมงคล โดยให้หมอพิธีกรรมในหมู่บ้านเป็นผู้ดูให้ หรือบางคนมีคำราสามารถดูเองได้ โดยดูวันข้างขึ้นข้างแรม เพื่อดูว่พระแม่โพสพเป็นอะไร หากเป็นสัตว์ซึ่งเป็นศัตรูข้าวจะเรียกว่า "ถูกกระ" (วันไม่ดีข้าวจะเสียหายจากสัตว์ต่าง ๆ) จะไม่เก็บ จะต้องดูวันที่แม่โพสพเป็นมนุษย์ เช่น เป็นตาสำหรุดจำศีล เมื่อเริ่มเก็บข้าวบางคนจะมีพิธีการแรกเก็บ เช่น การดูมุมเพื่อเก็บเกี่ยว  โดยดูจากตำราว่ามุมในแปลงนาด้านไหนสามารถลงเก็บเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจะเก็บเวียนไปทางขวา บางคนจะต้องมีพิธีการช่อซังข้าวก่อนเก็บ โดยรวบต้นข้าว ๓กอ หรือบางคนรวบ ๙ กอ อาจจะต้องใช้สิ่งของในการทำพิธี เช่น อ้อย ย่านางหรือเชือกด้าย ๒-๓ สี ไว้สำหรับมัดกอข้าวที่รวบไว้ แล้วกล่าวว่า "น คัดฉาหิ กิตติ กิตติ มานิ มามา พุทธรัตนัง ธัมรัตนัง สังฆรัตนัง" เพราะเชื่อกันว่าเป็นการเรียกพระแม่โพสพ ให้มาอยู่ดูแลข้าวให้ข้าวอยู่ด้วยนาน ๆ และมีปริมาณมาก ๆ เมื่อรวบข้าวเสร็จแล้ว จะมีการกล่าวคาถาแรกเก็บข้าวว่า "อูมนะ คะหิโยนา เก็บไปข้างหน้า พูนมาข้างหลัง ติสัพพะแม่กูยัง ติสัพพะแม่กูยัง บางคนจะเก็บข้าวในแปลงนา แต่จะเว้นข้าวที่รวบไว้เก็บหลังสุดหรืออาจจะเก็บข้าวที่รวบไว้ก่อน แล้วค่อยเก็บข้าวที่เหลือในแปลงนา ข้าวที่รวบไว้ซึ่งเรียกว่า "ขวัญข้าว" เมื่อเก็บเสร็จแล้วจะใส่สอบนั่ง (กระสอบที่สานจากกระจูดหรือปาหนัน) นำมาไว้ในเรินข้าว (เรือนข้าว) ระหว่างนั้นห้ามมิให้พูดกับใครในช่วงของการนำขวัญข้าวมาเก็บ หากจำเป็นต้องพูดให้วางขวัญข้าวนั้นไว้ก่อน การทำพิธีกรรมแรกเก็บดังกล่าว ถือว่า
เป็นขั้นตอนที่ศักดิ์สิทธิ์ บางคนจึงให้คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านเป็นผู้ทำพิธีแรกเก็บให้ก็ได้
        - การดับข้าว ข้าวเลียงหรือเลียงข้าว (ข้าวที่รวบที่ละรวงแล้วมัดด้วยต้นข้าว) ที่เก็บเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะนำมาไว้บนเรินข้าว ข้าวเลียงจะได้รับการจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยการจัดวางเลียงข้าวซ้อนเป็นชั้น ๆ เป็นรูปสี่เหลี่ยมตามลักษณะของเรือนข้าว แล้วนำขวัญข้าวมาวางไว้ตรงกลางชั้นบนสุด ซึ่งชาวนาในภาคใต้ในตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เรียกขั้นตอนตังกล่าวว่า "การดับข้าวหรือการผูกข้าว" ซึ่งบางคนจะต้องดูฤกษ์ยามว่าวันใดเหมาะสม ในระหว่างการดับแต่ละชั้นบางคนจะกล่าวคาถาว่า "พุทธังรัตนัง ธัมมังรัตนัง สังฆังรัตนัง" หรือบางคนจะกล่าวเหมือนคาถาแรกเก็บ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน การใช้คาถาและพิธีกรรมในการดับข้าวมีความเชื่อกันว่า ต้องการให้แม่โพสพช่วยดูแลข้าวให้ข้าวอยู่บนเรินข้าวนาน ๆ ไม่ให้ข้าวหมดเร็ว และช่วยดูแลข้าวให้ปลอดภัยจากสัตว์และสิ่งต่าง ๆ
         - การรื้อข้าวจากเรินข้าว การรื้อข้าวเป็นการนำเอาข้าวเลียงมานวด บางคนจะดูฤกษ์ยามในการรื้อข้าวจากเรินข้าว ในขณะรื้อบางคนก็จะกล่าวคาถาไปด้วย เช่น รื้อข้าวไปข้างหน้า พูนมาข้างหลัง ส้มปะติแม่ยัง สัมปะติแม่ยัง  ซึ่งมีความเชื่อว่าต้องการให้แม่โพสพช่วยให้ข้าวที่รื้อมาสามารถนำมาใช้รับประทาน ได้นาน ๆ ไม่หมดเร็วและไม่สิ้นเปลือง
            นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า หากกินข้าวหกหรือข้าวเหลือจะทำให้ขวัญข้าว นั่นคือทำให้แม่โพสพไม่พอใจ อาจจะส่งผลให้การทำนาไม่ได้ผลอีกด้วย

๑๙. ความเชื่อเกี่ยวกับผ้าผูกหัวเรือ
        ผ้าผูกหัวเรือ คือผ้าที่นำมาผูกหัวเรือที่ใช้ประกอบอาชีพประมง ซึ่งจะต้องเป็นผ้าหลายสีหรือด้ายหลายสี แต่จะต้องมีจำนวนเป็นเลขคี่เสมอ โดยนำผ้าดังกล่าวไปให้ครูหมอเป็นผู้ปลุกเสกคาถา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เรือและเจ้าของเรือ ทำให้คลาดแคล้วจากอันตรายทั้งปวงและได้ปลาจำนวนมาก
๒๐. ความเชื่อเกี่ยวกับการเงิมเรือ
        เรือที่ทำเสร็งใหม่ ๆ ก่อนจะนำเรือลงน้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าจะต้องทำพิธีเจิมรือ โดยการลงอักขระและเวทมนตร์คาถาไว้ที่หัวเรือนั้น คือการเจิมพระเจ้าห้าองค์ เพราะจะเป็นสิริมงคลแก่เรือ ทำให้ออกเรือหาปลาได้มาก และคลาดแคล้วจากอันตรายต่าง ๆ

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประสิทธิ์ บัวงาม. (2545). รายงานการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมของชาวบ้าน ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง.
                สงขลา : คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
วิมล จิโรจพันธุ์ และอุดม เชยกีวงศ์. (2548). ของดี 4 ภาคชุดภาคใต้. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา.

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024