ประเพณีชาเริน
 
Back    22/09/2021, 15:37    1,092  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : https://kyl.psu.th/dfzbLJPIY

       ชาหรือช้าหมายถึงการขับกล่อมเพื่อเป็นการบูชา นมัสการ สดุดีหรือกล่อมขวัญแก่วิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น การขับกล่อมให้เด็กนอนหลับ เรียกว่าชาน้องหรือช้าน้อง หมายถึงการขับกล่อมสดุดีแก่แม่ซื้อ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทวดาหรือผีที่ประจําทารก เรินหรือเรือนในความหมายของชาวใต้หมายถึงบ้านเรือน ดังนั้นคําว่าชาเรินหรือชาเรือนหรือบูชาเรือน จึงเป็นพิธีบูชาหรือบวงสรวงเทพเจ้าเมื่อเกิดอาเพศ เช่น ผู้คนในบ้านเจ็บไข้ไม่สบาย นกฮูกบินมาเกาะหลังคาบ้าน ตะกวดหรือเหี้ยขึ้นบ้าน งูเลื้อยขึ้นบันไดบ้าน ไก่หรือสุนัขผสมพันธุ์กันบนบ้าน จะต้องทําพิธีชาเริน แต่ถ้าเกิดฟ้าผ่าหรือสัตว์ป่าเข้ามาในหมู่บ้านจะต้องทําพิธีชาบ้าน ทั้งนี้เพื่ออัญเชิญเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น เทพยดาในท้องฟ้า เทพยดาปราบกองไฟ ท้าวภูวยศไกร ท้าวขุนยักษ์ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอินทร์ พระพาย พระนารายณ์ พระภูมิ เป็นต้น ให้มารับเครื่องเซ่นสังเวย เพราะเชื่อกันว่าเหตุร้ายต่าง ๆ จะคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ถ้าไม่ทําพิธีจะทําให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา เช่น เกิดฟ้าผ่าแล้ว ไม่ทําพิธีชาเรินก็จะทําให้เกิดฟ้าผ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก
       วิธีทําการบวงสรวงในประเพณีชาเริน มี ๒ รูปแบบ คือ
        
๑. แบบยาว (พิสดาร)
        การทำชาเรินแบบยาว (พิสดาร) ต้องใช้เวลาในการทําพิธีประมาณ ๑ คืนกับครึ่งวัน สิ่งที่จะต้องใช้ในพิธีประกอบด้วย โรงหมอปลูกขึ้นที่หน้าบ้าน ศาลสําหรับวางเครื่องสังเวย ถ้าชาเรินใช้ ๑ ศาล ถ้าชาบ้าน (บูชาหมู่บ้าน) อย่างละ ๙ ศาล ฉัตร ๕ ชั้น ทําด้วยกระดาษ ๑ ฉัตร สายสิญจน์ใบหญ้าคาโดยเอาหญ้าคามาถักเป็นเชือก จะใช้พาดวงไปรอบบ้านหรือรอบบริเวณที่ประกอบพิธี เทียนอายุ ๑ เล่ม ยาวเท่ากับความสูงของหัวหน้าครอบครัว จากนั้นก็จะเป็นเครื่องสังเวย ซึ่งประกอบด้วย ข้าวปากหม้อ (ข้าวสุกที่ตักจากปากหม้อครั้งแรก) ไก่คั่ว (แกงคั่วไก่) และข้าวเหนียวเหลือง 
ต้ม (ข้าวเหนียวผัดห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยมนําไปต้มหรือนึ่งให้สุก) มะพร้าวขูด น้ำตาลแว่น น้ำส้มคั้น หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสังเวยเหล่านี้ใส่ในกระทงซึ่งทําด้วยกาบกล้วยหรือยอดมะพร้าวอ่อน เรียกว่า “กระทงลูกบัตร” จํานวน ๑๒ ใบ กระทงรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ๑ ใบ และกระทงใบขนุน ๑๒ ใบ โดยปักธงเล็ก ๆ ไว้ที่กระทงลูกบัตรทุกใบใบละ ๑ เล่ม ในวันประกอบพิธีจะเริ่มเวลากลางคืน ประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกา หมอและผู้ช่วยหมอจํานวน ๒-๓ คน เข้าไปในโรงหมอ โดยการตีรัวฆ้องขนาดเล็กเป็นการลั่นฆ้องชัย เพื่อแสดงว่าพิธีการบวงสรวงเทพเจ้าจะเริ่มแล้ว หมอจะทําพิธีบูชาครูด้วยหมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อให้ครูหมอ (ครูของหมอ) มาช่วยปกปักรักษาให้การประกอบพิธีครั้งนี้สําเร็จไปด้วยดี หมอจะทําพิธี “กันตัว” ด้วยเวทมนตร์ เพื่อไม่ให้เสนียดจัญไรและอาถรรพณ์ต่าง ๆ มาทําร้ายตน หมอจะเอาใบมะพร้าวทําเป็นฉัตร ๕ ชั้น เท่าจํานวนของศาล เพื่อใช้ปักบนปลายเสาของศาล แล้วนําเทียนอายุ จุดไฟและปักไว้ด้านหน้าของที่ที่จะตั้งศาลทําพิธีไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นการบอกกล่าวและให้ช่วยเป็นสักขีพยาน ต่อมาทําพิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ ทิศ โดยมีการตีฆ้องให้เข้ากับจังหวะที่หมอกล่าวอัญเชิญพร้อมกันไปด้วย จากนั้นหมอปั้นรูปเทวดาด้วยแป้งที่ใช้ทําขนม เพื่อให้วางบนศาลที่ใช้ประกอบพิธี จํานวน ๑ รูป แล้วจึงประกาศเรื่องที่ได้บนบานเอาไว้ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบ้านหรือสถานที่นั้นมานั่งรวมกัน ผู้ช่วยหมอก็จะนํารูปซึ่งจุดไฟไว้แล้วเดินเวียนวนขวารอบ ๆ บรรดาเจ้าภาพที่นั่งอยู่นั้น ๓ รอบ นศาลที่มีเครื่องสังเวยพร้อมเข้ามาในโรงหมอวางให้หันหน้าไป ทางทิศตะวันตก ถ้าเป็นพิธะชาบ้าน ต้องมีศาล ๘ ศาลวางไว้ทั้ง ๘ ทิศด้วยจากนั้นจะปักฉัตร ๕ ชั้น ซึ่งทําด้วยยอดมะพร้าวที่ปลายเสาของศาลทุกเสา พร้อมทั้งวางรูปเทวดาที่ปั้นด้วยแป้งบนชั้นกลางของศาลและปักรูปเทพเจ้า ซึ่งทําด้วยหนังสัตว์คล้ายรูปหนังตะลุงรวมทั้งสิ้น ๑๒ รูป ชั้นบนสุด (ชั้นอากาศ) ปักรูปพระพรหมถือกระบองทั้งสองมือ และรูปพระอิศวรทรงหงส์ ชั้นกลางทิศบูรพาปักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทิศอาคเนย์รูปพระเพลิงทรงแรด ทิศทักษิณรูปพระยมราชทรงควาย ทิศหรดีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ทิศประจิมรูปพระพิรุณทรงนาคราช ทิศพายัพรูปพระพายทรงม้าขาว ทิศอุดรรูปพระโสมทรงบุษบก และทิศอีสานรูปแม่โพสพทรงวัวเผือก รวม ๘ รูป ชั้นล่างปักรูปพระภูมิทรงมังกรให้อยู่ใต้บาดาล (ชั้นล่าง) และรูปนักษัตรคือสัตว์ต่าง ๆ ประจําแต่ละปี อยู่แผ่นเดียวกัน เสร็จแล้วก็เอาผ้าขาวมาห่อศาลตั้งแต่ชั้นกลางลงมาโดยให้เปิดเป็นประตูเอาไว้ทางทิศตะวันตกตรงกับบันไดของศาล สำหรับศาลใหญ่แขวนไก่ย่างเรียกว่าไก่หน้าศาล จํานวน ๑ ตัว พร้อมทั้งปักฉัตร ๕ ชั้น ทําด้วยกระดาษไว้บนพื้นดินข้างหน้าศาลแล้วมีมะพร้าวปอกเปลือก ๑ ผลวางไว้หน้าศาล ถ้าหากมีพิธีสงฆ์ด้วยหมอก็ขึ้นไปทําพิธีถวายเงิน (ถวายเรือน) แก่พระสงฆ์ซึ่งอยู่บนบ้าน หลังจากนั้นก็เป็นพิธีสงฆ์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ หมอกลับเข้าไปในโรงหมอแล้วเริ่มจุดเทียนภายในศาลประกอบการสังเวยและทําพิธีถวายศาล เพื่ออัญเชิญเทพเจ้าต่าง ๆ ให้มารับเครื่องสังเวยจนครบทุกองค์ โดยกล่าว ๓ เที่ยว (สามจบ) ทั้งนี้ต้องตีฆ้องให้เข้ากับจังหวะ “โอม” ของหมอตลอดเวลา ต่อจากนั้นทําพิธีชุมนุมเทวดาโดยใช้เครื่องเซ่น ซึ่งวางไว้บนศาลแล้วจบลงด้วยการหยอดน้ำ หยอดเหล้า และหยอดน้ำมะพร้าวลงไปในกระทง การเซ่นไหว้จะเริ่มในชั้นกลาง ชั้นบนและชั้นล่าง เมื่อเช่นไหว้เสร็จแล้วให้เจ้าภาพอุทิศทานแก่เทพเจ้า หมอประกอบพิธีไหว้ครู โดยใช้เครื่องบวงสรวงที่เก็บไว้ให้ครูหมอ ๑ สํารับ เพื่ออัญเชิญครูหมอทั้งหลายมาช่วยปกปักรักษาให้การประกอบพิธีนี้บรรลุผลด้วยดี โดยการ วาง “มีดหมอ” ไว้บนเสื่อและหมอนเสมือนเป็นตัวแทนของครูหมอ เมื่อเสร็จพิธีชาเรินแล้วก็ทําพิธีเซ่นพระภูมิเจ้าที่และเซนกรุงพาลี ซึ่งถือว่าเป็นผู้รักษาแผ่นดิน โดยหมอออกจากโรงหมอไปทําการเช่นที่ใต้ถุนเรือนข้าว (เรือนซึ่งใช้เก็บข้าวเปลือก) เริ่มเช่นไหว้พระภูมิเจ้าที่ที่โคนเสาเอกของเรือนข้าวและเช่นกรุงพาลี โดยขุดดินบริเวณนั้นให้กว้างยาวและลึกประมาณ ๑ คืบ แล้วกล่าวคําขอพร หมอทําพิธีส่งเทวดาที่อัญเชิญมาเพื่อให้นําเคราะห์ร้ายและโรคภัยต่าง ๆ ไปด้วย แล้วจึงทําการโอมขับเข็ญ เพื่อเป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ที่อาจแอบแฝงอยู่ให้ไปจากที่นั้น ต่อจากนั้นหมอทําพิธีตั้งอาถรรพณ์โดยการผ่ามะพร้าวซึ่งวางอยู่หน้าศาล โดยหมอแก้เอาผ้าขาวที่หุ้มศาลมาคลุมศีรษะแล้วเอามะพร้าวฟาดลงกับก้อนหินซึ่งเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ เมื่อมะพร้าวแตกแล้วก็ฝังหม้อซึ่งทําด้วยหยวกไว้ใกล้ ๆ ฉัตร ๕ ชั้น จะต้องรักษาฉัตรนี้ไว้เป็นเวลา ๑-๒ สัปดาห์จึงจะถอดทิ้ง ส่วนหม้อที่ฝังไว้นั้นทิ้งไว้ที่นั่นไม่ต้องขุดขึ้นมาอีกแล้ว ต่อไปหมอจะไปนําศาลพร้อมทั้งเครื่องสังเวยในศาลไปทิ้งทางทิศอีสานของสถานที่ประกอบพิธีให้ไกลที่สุด ซึ่งจะเป็นเวลาเช้าตรู่พอดีตอนเช้าวันใหม่ ถ้ามีพิธีสงฆ์จะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์โดยพระสงฆ์จะประพรมน้ำมนต์ให้แก่คนในบ้านและพรมทั่วบริเวณบ้าน แต่ถ้าไม่มีพิธีสงฆ์หมอจะประพรมน้ำมนต์และทําพิธีสะเดาะเคราะห์ให้เจ้าภาพด้วยตนเอง โดยการเอาสายสิญจน์ใบหญ้าคามาล้อมรอบเจ้าภาพ หมอจะโอมประกาศเคราะห์ทั้งหมด หมอจะกระตุกเงื่อนกระตุกที่ใบมะพร้าวของสายสิญจน์ใบหญ้าคา เพื่อให้เคราะห์ทั้งหลายที่มีอยู่ให้ปล่อยไป ทําอย่างนี้ ๕ ครั้ง ต่อมาหมอก็ทําพิธีเรียกขวัญเป็นการทําขวัญเจ้าภาพ จากนั้นเจ้าภาพก็การแสดงความขอบคุณครูหมอที่ได้ให้ความคุ้มครองในการทําพิธีให้สําเร็จลุล่วงเป็นอันเสร็จพิธี
      
๒. แบบย่อ (แบบสั้น)
       
การชาเรินแบบย่อนี้จะทําพิธีในตอนเช้าของวันใดวันหนึ่ง โดยใช้เวลาทั้งสิ้น ประมาณ ๔ ชั่วโมง การทําพิธีแบบนี้ไม่ต้องมีศาลและไม่ต้องตีฆ้องในการโอมของหมอ เครื่องสังเวยที่ใช้ประกอบพิธี ประกอบด้วย ข้าวปากหม้อ ไก่คั่ว (แกงคั่วไก่) ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวขาว ต้ม ข้าวเหนียวผัดห่อด้วยใบกะพ้อ ขนมจีน ขนมโค ขนมฝักบัว ขนมลา กล้วย อ้อย เหล้า น้ำบ่อ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน โดยการจัดใส่สํารับเพียง ๒ สํารับ สํารับที่ ๑ ประกอบด้วยเครื่องสังเวยซึ่งใส่ลงในถ้วยจานวน ๗ ใบ ใช้สําหรับเป็นเครื่องบูชาครูหมอไหว้เจ้าที่ และไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนสํารับที่ ๒ ประกอบด้วยเครื่องสังเวยซึ่งใส่ลงในกระทงลูกบัตร จํานวน ๑๑ ใบ และกระทงรูปสี่เหลี่ยมคางหมูจํานวน ๑ ใบ ใช้สําหรับบวงสรวงเทพเจ้าและบริวาร พิธีเริ่มด้วยหมอทําพิธีไหว้ครูโดยอาราธนาครูหมอทั้งหลายให้มาช่วยคุ้มครอง ให้การทําพิธีของหมอสําเร็จลุล่วงไปด้วยดี จากนั้นก็ไหว้เจ้าที่ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บวงสรวงเทพเจ้า โดยหมอเริ่มกล่าวนะโม ๓ จบ ต่อด้วยชุมนุมเทวดาและทําพิธีบวงสรวง โดยหมอจะกล่าว “โอม” ข้อละ ๓ จบ อัญเชิญบริวารของเทพเจ้าให้มารับเครื่องสังเวยเสร็จแล้ว ให้นําเครื่องสังเวยนี้ไปทิ้งนอกบ้านยิ่งไกลยิ่งดี จากนั้นหมอจะพรมน้ำมนต์ให้แก่เจ้าของบ้าน และทําพิธีลาครูเป็นอันเสร็จพิธี


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีชาเริน
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


บรรณานุกรม

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. (2548). ประเพณีท้องถิ่นภาคใต้. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024