วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร (Wat Phramahathat Woramahawihan)
 
Back    31/07/2018, 14:32    78,482  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่กลางใจเมืองนครศรีธรรมราช ในอดีตเป็นสันทรายเรียกว่า “หาดทรายแก้ว” ปัจจุบันอยู่ในเทศบาลนครศรีธรรมราชคือตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า “วัดพระบรมธาตุ” หรือ "วัดพระธาตุ" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระมหาธาตุ" ตามประกาศของแผนกสังฆการี กระทรวงธรรมาการ เรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวง ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ แม้เปลี่ยนชื่อมานานร่วมร้อยปี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเรียก "วัดพระบรมธาตุ" หรือ "วัดพระธาตุ" ตามเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ฐานพระธาตุเจดีย์ ที่ตั้งวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณค่อนมาทางทิศใต้ มีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๒ งาน มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัดเข้าใจว่าเดิมคงเป็นถนนในสมัยโบราณเช่นกัน สำหรับประวัติการสร้างวัดซึ่งปรากฎอยู่ในหลักฐานที่เป็นตำนานที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีเนื้อหาคล้ายกับคัมภีร์ทาฐาวังสะของลังกา ซึ่งผู้แต่งได้ผูกเรื่องราวของพระบรมธาตุไว้กับตำนานของพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ซึ่งสอดคล้องกันว่าวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๘๕๔ โดยพระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้ว และสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เพื่อบรรจุไว้ ต่อมาปี พ.ศ. ๑๗๑๙ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นมาใหม่เป็นทรงศาญจิ และในต่อมาในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ได้นิมนต์พระภิกษุจากลังกา มาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คือเป็นทรงระฆังคว่ำหรือโอคว่ำ โดยมีปล้องไฉน (ฉัตรวลี) ๕๒ ปล้อง รอบพระบรมธาตุเจดีย์มีเจดีย์องค์เล็ก ๑๕๘ องค์ พระบรมธาตุเจดีย์สูงจากฐานถึงยอด ๓๗ วา ๒ ศอก ยอดสุดของปล้องไฉน (ฉัตรวลี) หุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม สูง ๖ วา (๒ เมตร) ๑ ศอก (๐.๕๐ เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนาเท่าใบลานห่อหุ้มไว้น้ำหนัก ๑๔๑.๙๘๗  กิโลกรัม (หรือ ๙,๓๔๑.๓๑ บาททอง หรือ ๑๑๔.๒ ชั่ง) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญ ๆ อื่น ๆ อาทิ พระวิหารหลวงหรือพระอุโบสถ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอมมีพระพุทธรูป “พระจ้าศรีธรรมโศกราช” ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ (พระทรงม้า) ทางขึ้นไปบนลานประทักษิณ วิหารทับเกษตร วิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกา ซึ่งเป็นที่จัดและแสดงโบราณวัตถุ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร แต่เดิมในสมัยโบราณเป็นศาสนสถานกลางของเมือง และถือว่าเป็นเขตพุทธาวาสจะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่ได้กำหนดให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดต่าง ๆ ที่รายล้อม ทำหน้าที่ดูแลพระบรมธาตุเจดีย์ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะสงฆ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นดูแลมีตำแหน่งเป็นพระครูโดยมีพระครูเหมเจติยานุรักษ์เป็นหัวหน้า และมีผู้ช่วยอีก ๔ รูปคือพระครูกาเดิม พระครูการาม พระครูกาแก้ว และพระครูกาชาด มีหน้าที่ดูแลพระธาตุเจดีย์ร่วมกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร อุปราชปักษ์ใต้ ได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาจำพรรษาและพระราชนามชื่อวัดใหม่ว่า "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารหรือวัดพระบรมธาตุได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ตลอดถึงการสร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุ ขึ้นอีกมากมายหลายอย่าง ซึ่งลำดับกาลแห่งการสร้างและบูรณะวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร มีดังนี้   
     - พ.ศ. ๘๕๔ เจ้าชายทนทกุมารและพระนางเหมชาลา (พระโอรสธิดาในพระเจ้าท้าวโกสีหราชกับพระนางมหาเทวี ผู้ครองเมืองทันทบุรี) ได้สร้างวัดพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งองค์เดิมเจดีย์เป็นแบบศิลปะศรีวิชัย คล้ายกับเจดีย์กิริเวเทระ ที่เมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา
    - พ.ศ. ๑๗๑๙ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปฐมกษัตริย์ราชวงษ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างองค์เจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบเจดีย์ศาญจิ  ต่อมาพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๒  พระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นแบบลังกาทรงระฆังคว่ำ หรือโอคว่ำ มีปล้องไฉน (ฉัตรวลี) ๕๒ ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี ๓๗ วา ๒ ศอก ยอดปลีของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง ๖ วา (๒ เมตร) ๑ ศอก (๐.๕๐ เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้น้ำหนัก ๑๔๑.๙๘๗ กิโลกรัม (หรือ ๙,๓๔๑.๓๑ บาททอง หรือ ๑๑๔.๒ ชั่ง) รอบพระมหาธาตุ มีองค์เจดีย์ล้อมรอบ ๑๕๘ องค์
    - สมัยสุโขทัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำทองแดงหล่อปิดทอง ยอดพระบรมธาตุและสร้างพระระเบียงโดยรอบทั้งหมด ๑๖๕ ห้อง พระพุทธรูป ๑๖๕ องค์ สร้าง กำแพง ๔ ด้าน สร้างวิหารสามจอม และพระรูปพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
      - พ.ศ. ๒๑๕๕-๒๑๕๙ สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ซ่อมแผ่นทองที่ปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์
      - พ.ศ. ๒๑๙๐ สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ยอดพระบรมธาตุเจดีย์ได้ชำรุดหักลง และได้มีการซ่อมขึ้นใหม่     - พ.ศ.๒๒๗๕ สมัยพระเจ้าหัวอยู่บรมโกศ มีการ
ดัดแปลงทางเข้าพระสถูปรอบพระบรมธาตุ และบริเวณหน้าวิหารพระทรงม้า

     - พ.ศ. ๒๓๑๒ สมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตร ต่อออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุได้บูรณะวิหารทับเกษตร วิหารหลวง และศาลากุฎิในพระอาราม ถมทรายเทปูนรอบพระบรมธาตุเจดีย์ ยกพื้นสูง ๗๕ ซม. กว้าง ๑ เมตร เรียกกันว่า "ทางเดินพระเจ้าตากสิน"
     - สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) บูรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร และพระบรมธาตุเจดีย์ที่ชำรุด และมีกาบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๔๔๑ ได้บูรณะกำแพงชั้นนอก วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป ผู้นำในการบูรณะคือพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถู ปาฏมาภิบาล (ปาน) ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร อุปราชปักษ์ใต้ ได้ส่งพระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาดูแลรักษาวัด และในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชได้โปรดพระราชทานนามชื่อวัดใหม่ว่า "วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร" ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๓ กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมวิหารคดหรือพระระเบียงและก็มีการซ่อมแซมอีกหลายครั้ง  สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้บูรณะปฏิสังขรณ์กลีบบัวทองคำให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมปลียอดทองคำโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานคณะกรรมการโครงการเหรียญบาทสืบทอดพระธาตุเมืองคอน โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการบูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ ให้มีความมั่นคงและสวยงามมากยิ่งขึ้น
   - พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๗ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง (พระอุโบสถ)
 - พ.ศ. ๒๕๓๐ ซ่อมกลีบบัวทองคำ ที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมัยดำรงพระอิสสยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำขึ้นประดิษฐานบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
  - พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘ ได้บูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๕๐ ล้านบาท ใช้ทองคำ ๑๔๐ บาท
 - พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้เริ่มการบูรณะซ่อมแซมยอดพระบรมธาตุเจดีย์ และกลีบบัวทองคำ(เนื่องจากเกิดสนิม) ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชสนับสนุนให้ดำเนินการบูรณะ โดยขอใช้งบประมาณพัฒนาของกลุ่มจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง จำนวน ๓๐.๙ ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน ๒๕๖๑
       วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารในอดีตเป็นสถานที่ที่สำคัญที่ใช้ประกอบพระราชพิธี และพิธีที่สำคัญ ๆ ในอดีต เช่น การแต่งตั้งเจ้าเมือง การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พิธีแรกนาขวัญ พิธีโล้ชิงช้า เป็นต้น กรมศิลปากรกรมได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถาน เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙  และคณะกรรมการมรดกโลกมีมติในการประชุมคณะกรรมการสมัยที่ ๓๗ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ รับรองวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นก่อนเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป

ภาพสืบค้นจาก : http://www.gotonakhon.com/?p=12625

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ครั้งเสด็จเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ (ภาพจากหนังสือเอกสารเก่าเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราช คุณสันถัต (เฉ่ง) ทองนอก ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

บัลลังก์ขององค์พระบรมธาตุจะสังเกตเห็นช่องเว้ารูปวงกลมตรงกลางและเสาหินที่ไว้ที่ฐานบัลลังก์ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับเจดีย์ในศิลปะลังกา

เจ้าชายทนทกุมารและพระนางเหมชาลา

ยอดพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช หุ้มด้วยทองคํา หนัก ๗๐๐ ชั่ง

พระเจ้าศรีธรรมโศกราช


ความสำคัญ

ภาพมุมสูงขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ และโบราณสถานอื่น ๆ ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ภาพสืบค้นจาก : http://phramahathat-heritage.com/เกี่ยวกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร/ประวัติและพัฒนาการของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร/

         วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีทั้งในเมืองนครศรีธรรมราช และทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพราะเป็นที่ตั้งขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลจะหลั่งไหลมากราบไหว้พระบรมธาตุเจดีย์อยู่มิได้ขาดสาย มีโบราณสถานโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก อยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ตลอดถึงด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น พระวิหารหลวง วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคดหรือพระระเบียง วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม เจดีย์รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธบาทจำลอง พระศรีมหาโพธิ์ พระพวย พระบรมราชา พระบุญมาก พระพุทธรูปปางประทานอภัย พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช โดยเฉพาะพระวิหารหลวงหรือพระอุโบสถนั้นเป็นอาคารที่มีความใหญ่โตและงดงามมาก นับเป็นพระอุโบสถที่กว้างใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นแหล่งเริ่มต้นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องด้วยองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่รวมแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จึงได้มีการนำทรัพย์สินเงินทองมาถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งทางวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ก็ได้ใช้วิหารเขียนเป็นที่เก็บรักษาสิ่งของขนาดเล็กที่ทำด้วยทอง เงิน นาก สำริด เช่น พระพุทธรูป ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ถ้วยชาม และใช้วิหารโพธิ์ลังกาเก็บโบราณวัตถุ เช่น ศิลาจารึก เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป หีบศพเจ้าพระยานคร พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นต้น จึงได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดไป และในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ กรมศิลปากรได้ประกาศรับพิพิธภัณฑสถานของวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้ชื่อว่า “ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑสถาน” ซึ่งต่อมากรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นใหม่ที่หน้าวัดสวนหลวง ตำบลศาลามีชัย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหอสมุดแห่งชาติสาขาจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ กรมศิลปากรได้มาตั้งหอสมุดแห่งชาติสาขาจังหวัดนครศรีธรรมราชในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารโดยใช้สถานที่ที่วิหารสามจอม เมื่อมีหนังสือเพิ่มจึงได้ย้ายไปที่วิหารธรรมศาลา วิหารทับเกษตร และวิหารคดตามลำดับ ต่อมากรมศิลปากรก็ได้ไปจัดสร้างหอสมุดแห่งชาติ สาขาจังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นที่หน้าวัดสวนหลวง ตำบลศาลามีชัย อำเภอเมือง นครศรีธรรมราชทำให้กลายเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมและประเพณีที่สำคัญ ๆ ของนครศรีธรรมราช เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสวดด้าน (ได้สูญหายไปเป็นเวลาหลายปีปัจจุบัน (๒๕๖๑) ได้อนุรักษ์ขึ้นใหม่แล้ว) ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันมาทำบุญ ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นจำนวนมาก     


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

        ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร มีโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่สำคัญประกอบด้วย 
       ๑. พระบรมธาตุเจดีย์ 
       ๒. วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ (วิหารพระทรงม้า) 
       ๓. วิหารพระเขียน (วิหารเขียน) 

       ๔. วิหารโพธิ์ลังกา 
       ๕. วิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (วิหารสามจอม)
 
       ๖. วิหารพระกัจจายนะ (วิหารพระแอด)
       ๗. วิหารทับเกษตร หรือพระระเบียงตีนธาตุ
       ๘. วิหารพระระเบียง (วิหารคด)
       ๙. วิหารธรรมศาลา 
       ๑๐. วิหารหลวง (พระอุโบสถ) 
       ๑๑. วิหารโพธิ์พระเดิม 
       ๑๒. เจดีย์รายรอบพระบรมธาตุเจดีย์ 

ภาพสืบค้นจาก : http://phramahathat-heritage.com/2017/06/29/คำประกาศคุณค่าที่โดเด่นเป็นสากล-ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร/

พระบรมธาตุเจดีย์ 

     องค์พระบรมธาตุเจดีย์สูงเด่นเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน สร้างมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ตามความเชื่อพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เป็นที่บรรจุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสถูปเจดีย์รูปแบบลังกาทรงระฆังคว่ำ เป็นสถูปทรงครึ่งวงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีรูปช้างค้ำอยู่รอบบริเวณวิหารทับเกษตร เชื่อกันว่ารูปแบบสถูปเจดีย์แบบนี้ภายหลังได้แพร่หลายไปยังที่อื่น ๆ เช่น วัดพะโคะ วัดสทิงพระ วัดสีหยัง ตลอดถึงที่อื่น ๆ เช่น เจดีย์ช้างล้อมที่ศรีสัชนาลัย 


พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช (สภาพจากการการบูรณะใหม่ในปี ๒๐๓๖)


พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑


        ตำนานการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าสืบต่อกันมาว่าภายหลังจากที่เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้ากรุงลังกา ได้แบ่งส่วนหนึ่งมาฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว (เมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) เพื่อรอกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการในอนาคตกาลมาสร้างเมืองใหม่ และสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในระหว่างนั้นมหาพราหมณ์ผู้ติดตามและคอยให้ความช่วยเหลือเจ้าหญิงและเจ้าชาย ได้ผูกกาพยนต์ (กา-พะ-ยน) เป็นฝูงกาที่ผู้มีวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้นด้วยไสยเวทย์ทำหน้าที่เฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้มิให้ได้รับอันตราย เหตุที่เจ้าหญิงเหมชาลาและทนทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) แบ่งพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งมาประดิษฐานไว้ ณ ดินแดนหาดทรายแก้วแห่งนี้ มีตำนานบอกเล่าความเป็นมาไว้ว่าย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. ๑ หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ในพระหีบทอง ประดิษฐานไว้ในศาลากลางพระนครกุสินารา จัดให้มีมหรสพสมโภชตลอด ๗ วัน ฝ่ายกษัตริย์จากดินแดนแคว้นต่าง ๆเมื่อทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ต่างก็ส่งราชทูตนำสาส์นมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งยกกองทัพติดตามมาด้วย รวม ๖ นค รและมีพราหมณ์อีก ๑ นคร มัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินารา ได้ตรัสปฏิเสธทูตานุทูตทั้ง ๗ พระนคร ไม่ยินยอมที่จะแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุถวายแก่เจ้าองค์ใดเลย ฝ่ายทูตานุทูตทั้ง ๗ พระนครนั้นก็มิได้ย่อท้อเกิดเหตุโต้เถียงกันขึ้น จวนจะเกิดวิวาทเป็นมหาสงครามใหญ่ขณะนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า "โทณะ" เป็นอาจารย์ของกษัตริย์เหล่านั้น ได้ยินการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงขึ้น จึงออกไประงับข้อพิพาทดังกล่าว และประกาศว่าจะแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ส่วนเท่า ๆ กัน จะได้อัญเชิญไปบรรจุในสถูปทุก ๆ พระนครเพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาของมหาชน กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง ๘ พระนครได้ฟังดังนั้นก็ทรงเห็นชอบพร้อมกับมอบธุระให้โทณพราหมณ์แบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ ในครั้งนั้นมีพระเถระผู้ทรงอภิญญาสมาบัติ ทราบด้วยอนาคตังสญาณ (ญาณที่ล่วงรู้อนาคต) ว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในภาคกลางและภาคใต้ของชมพูทวีป (ตอนกลางและตอนใต้ของอินเดีย) และจะเคลื่อนเข้าสู่สุวรรณทวีป (ประเทศไทย) จึงกำบังกายอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว (พระทันตธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ออกจากจิตกาธาน (เชิงตะกอน) นำไปถวายพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นกาลิงคะ ให้เป็นมิ่งขวัญแก่พุทธศาสนิกชน เพราะดินแดนส่วนนั้นมิได้รับแจกพระบรมสารีริกธาตุจากโทณพราหมณ์ พระเขี้ยวแก้วได้เสด็จเคลื่อนย้ายไปยังพระนครต่าง ๆ ในลุ่มน้ำมหานที จนกาลเวลาล่วงไป ๘๐๐  ปีเศษ เสด็จมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองทันทบุรี เจ้าเมืองชื่อท้าวโกสีหราช มีพระอัครมเหสีชื่อนางมหาเทวี มีพระธิดาผู้พี่ชื่อเจ้าหญิงเหมชาลา และพระราชโอรสผู้น้องชื่อทนทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) การเสด็จมาของพระเขี้ยวแก้ว ทราบถึงท้าวอังกุศราชแห่งเมืองขันธบุรี ได้ยกทัพกองทัพใหญ่มาตีเมืองทันทบุรี หมายจะช่วงชิงเอาพระเขี้ยวแก้ว ท้าวโกสีหราชไม่ประสงค์จะให้พระเขี้ยวแก้ว ตกไปอยู่ในมือของพวกทมิฬเดียรถีย์ จึงรับสั่งให้เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ลอบหนีออกนอกเมืองพร้อมกับอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา  ส่วนตัวพระองค์ได้นำทัพเข้ากระทำยุทธหัตถี แต่เนื่องด้วยพระชันษาย่างเข้าวัยชรา จึงเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่ท้าวอังกุศราช สิ้นพระชนม์บนคอช้างในที่สุด ฝ่ายเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ได้ปลอมพระองค์เป็นพ่อค้าวาณิช ซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในพระเมาลีเหนือเศียรเกล้า โดยสารเรือสำเภากางใบเดินทางไปยังเกาะลังกา ระหว่างทางเรือถูกพายุซัดมาเกยฝั่งเมืองตะโกลา (อำเภอตะกั่วป่า บ้างก็ว่าเป็นเมืองตรัง) เมื่อขึ้นบกที่เมืองตะโกลา ทรงทราบจากชาวเมืองว่าที่หาดทรายแก้ว (นครศรีธรรมราช) มีพ่อค้าวาณิชเดินทางไปมาค้าขายระหว่างสุวรรณภูมิกับลังกาอยู่เป็นประจำ จึงดั้นด้นเดินทางบกต่อมาถึงหาดทรายแก้ว เพื่อรออาศัยเรือสินค้าเดินทางไปลังกาต่อไป ระหว่างนั้น ได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากพระเมาลีลงฝังประทับไว้ที่หาดทรายแก้วเป็นการชั่วคราวก่อน ระหว่างนั้นมีพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ เหาะผ่านมา เห็นพระเขี้ยวแก้วที่ฝังไว้เปล่งรัศมีโชติช่วงสว่างไสว จึงแวะทำประทักษิณ พร้อมกับทำนายว่าต่อไปเบื้องหน้าจะมีกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ มาสร้างเมืองใหญ่ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้ และจะทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฝ่ายเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) หลังจากที่เดินทางถึงลังกา ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงลังกา ถวายพระเขี้ยวแก้วและกราบทูลเรื่องราวความเป็นมาให้ทรงทราบ  พระเจ้ากรุงลังกาทรงดูแลรับรองเจ้าหญิงและเจ้าชายทั้งสองพระองค์เป็นอย่างดี ทรงจัดให้มีพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้วและรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์บนยอดบรรพต เพื่อประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนสืบไป ต่อมาเมืองทันทบุรีสามารถกู้อิสรภาพคืนกลับมาได้และสถานการณ์บ้านเมืองได้เข้าสู่ภาวะปรกติสุข เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) จึงทูลลากลับแผ่นดินเกิดพระเจ้ากรุงลังกาทรงมีพระราชสาส์นถึงเจ้าเมืองทันทบุรีให้ต้อนรับอุปถัมภ์เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร(บางตำราทันทกุมาร) ผู้เป็นพระราชธิดาและพระราชโอรสของท้าวโกสีหราช ซึ่งทิวงคตในการสงครามและมีบัญชาให้มหาพราหมณ์อำมาตย์ ๔ คน ร่วมเดินทางเพื่อคอยดูแลให้ความช่วยเหลือและทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้ ๑ ทะนาน เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่รับพระราชทานมาจากพระเจ้ากรุงลังกา ออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งนำมาบรรจุไว้ที่หาดทรายแก้ว (นครศรีธรรมราช) และก่อเจดีย์สวมครอบไว้ ณ รอยเดิมที่เจ้าหญิงและเจ้าชายเคยฝังพระเขี้ยวแก้วไว้ชั่วคราวก่อนหน้านี้ พระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่งก็อัญเชิญกลับไปยังเมืองทันทบุรี  จากนั้นมหาพราหมณ์ทั้ง ๔ ได้ประกอบพิธีไสยเวทย์ผูกพยนต์เป็นกา ๔ ฝูง เพื่อให้เฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุมิให้เกิดอันตราย ประกอบด้วย กาสีขาว ๑ ฝูง เรียกว่า 'กาแก้ว' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศตะวันออก กาสีเหลือง ๑ ฝูง เรียกว่า 'การาม' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศใต้ กาสีแดง ๑ ฝูง เรียกว่า 'กาชาด' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศตะวันตกและกาสีดำ ๑ ฝูง เรียกว่า 'กาเดิม' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศเหนือ ในเวลาต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ ได้มาพบและโปรดให้สร้างสถูปขนาดใหญ่ครอบทับพระบรมธาตุเจดีย์เดิมในปีมหาศักราช ๑๐๙๓ (ตรงกับปี พ.ศ. ๑๗๑๙) พร้อมกับสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น ณ หาดทรายแก้ว พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช สร้างแต่เดิมเป็นเจดีย์แบบอิทธิพลศิลปะศรีวิชัย คือเป็นเจดีย์ทรงมณฑป มีหลังคาเป็นสถูปห้ายอดคล้ายพระบรมธาตุเจดีย์ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕) ต่อมาสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๒ พระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระสถูปแบบศรีวิชัยทรุดโทรมลง ทรงสั่งให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่แบบลังกาครอบไว้ (เจดีย์องค์ปัจจุบัน) เชื่อกันว่าในขณะนั้นคือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อิทธิพลพุทธศาสนาแบบลังกาในดินแดนนครศรีธรรมราชมีความเข้มแข็งมาก เนื่องเมืองนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลททางด้านศาสนาและศิลปกรรมมาจากลังกา นักโบราณคดีอย่างเช่น ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวินิจฉัยว่าพระบรมธาตุเจดีย์ องค์ปัจจุบันมีลักษณะคล้ายเจดีย์กิริเวเทระในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ราวต้น ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ส่วนสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สร้างขึ้นในสมัยต่อมาคือสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น วิหารทับเกษตร วิหารพระแอด เป็นต้น สำหรับลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เป็นทรงระฆังคว่ำ (โอคว่ำ) มีปากระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว พระบรมธาตุเจดีย์ มีความสูงจากพื้นถึงยอด คือสูง ๓๗ วา ๒ ศอก ฐานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง กว้าง ๓ ศอก ฐานยาว ๑๘ วา ๑ ศอก ๑๕ นิ้ว ส่วนที่หุ้มทองคำ สูง ๖ วา (๒ เมตร) ๑ ศอก (๐.๕๐ เมตร)ลานประทักษิณชั้นบนขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมทั้งสี่มุมรอบองค์พระเจดีย์ใหญ่ ส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์เป็นปล้องไฉน (ฉัตรวลี)  ๕๒  ชั้น หน้ากระดานปล้องไฉนมีพระเวียน ๘ องค์ บัวคว่ำ บัวหงาย หุ้มด้วยทองคำแผ่น สูง ๖ วา ๒ ศอก ๑ คืบ มีบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยม ระหว่างองค์ระฆังกับเป็นปล้องไฉน (ฉัตรวลี)ประดับปูนปั้นภาพพระพุทธรูปปางลีลาเรียงเป็นทักษิณวัตรเรียกว่า“พระเวียน” ส่วนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์สูง ๑๐.๘๙  เมตร  หุ้มด้วยแผ่นทองคำหนักราว ๑๔๑.๙๘๗  กิโลกรัม (หรือ ๙,๓๔๑.๓๑ บาททอง หรือ ๑๑๔.๒ ชั่ง) ประดับด้วยอัญมณีหลากหลายชนิด ทองคำและอัญมณี เหล่านั้นได้มาจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่ระดับกษัตริย์จนถึงประชาชนทั่วไป บนปลียอดทองคำผูกแขวนและประดับไปด้วยทองรูปพรรณหลายชนิด เช่น แหวน กำไล ต่างหู ฉัตร บังสูรย์ และกระดิ่งเป็นระฆังห้อย ส่วนบนยอดสุดมีบาตรน้ำมนต์ ๑ ใบ สำหรับรอบ ๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ จะมีกำแพงแก้วทั้ง ๔ ด้าน รอบกำแพงแก้วจะมีใบเสมาและรั้วเหล็กล้อมรอบ  ฐานของพระบรมธาตุเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหัวช้างยื่นออกจากฐาน ๒๒ หัว (เป็นต้นแบบของเจดีย์ช้างล้อมในศาสนสถานที่สุโขทัย  สวรรคโลก และกำแพงเพชร ซึ่งได้รับการรับรองขึ้นเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔)  องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบทรงระฆังคว่ำ (โอคว่ำ) มีจุดเด่นที่ยอดเจดีย์ที่หุ้มด้วยทองคำแท้และทองรูปพรรณ ตอลดถึงของมีค่ามากมาย ดังกล่าวแล้ว  นอกจากนั้นยังมีเจดีย์องค์เล็กที่รายล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งถือเป็นองค์เจดีย์บริวารมีทั้งหมด ๑๕๘ องค์ เจดีย์บริวารเหล่านี้คือเจดีย์ที่ลูกหลานได้สร้างไว้ให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยสร้างสืบต่อกันมาเรื่อย ๆ เพื่อบรรจุอัฐิของญาติ

ปลียอดหุ้มด้วยแผ่นทองคำ

เครื่องบูชาพระบรมธาตุประกอบด้วยดอกไม้ทองและหินมีค่าซึ่งร้อยรัดด้วยเส้นลวดทองคำ โดยครอบอยู่ภายในกรวยโลหะส่วนยอดสุดของพระบรมธาตุ

      ปลียอดทองคำนี้เป็นจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ มีทั้งหมด ๔๐ แผ่น น้ำหนักรวม ๔,๒๑๗.๖ กรัม มีลักษณะเป็นทองคำแผ่นบางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละแผ่นมีขนาดและน้ำหนักไม่เท่ากัน บริเวณขอบจารึกทุกแผ่นมีรอยเย็บต่อไว้ด้วยเส้นด้ายทองคำรวมเป็นผืนใหญ่ ปนอยู่กับแผ่นทองพื้นเรียบ ไม่มีอักษรจารึกและแผ่นทองที่เขียนด้วยเหล็กแหลมเป็นลายเส้นพระพุทธรูป และรูปเจดีย์ทรงต่าง ๆ สภาพโดยทั่วไปชำรุด มีรอยปะเสริมส่วนที่ขาดด้วยแผ่นทองขนาดต่าง ๆ บางตอนมีรอยการเจาะรู เพื่อประดับดอกไม้ ทอง และอัญมณีต่าง ๆ นอกจากนี้ในบริเวณแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์เป็นโลหะก็มีจารึกอยู่ช่วงใต้กลีบบัวหงาย ต่ำลงไปประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัด กลุ่มจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีการจารึกด้วยอักษรขอมและอักษรไทย ข้อความส่วนใหญ่จะบอกถึงวันเดือนปีที่ทำการซ่อม สร้างแผ่นทอง หรือระบุน้ำหนักทอง ตลอดถึงที่อยู่ของผู้มีศรัทธา พร้อมทั้งการตั้งความปรารถนาซึ่งนิยมขอให้ตนได้พบพระศรีอารย์และถึงแก่นิพพาน จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอด เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการนำแผ่นทองขึ้นไปหุ้มเป็นพุทธบูชาหลายครั้ง และมีการปฏิบัติต่อเนื่องสืบมา ปีที่เก่าที่สุดที่ปรากฏในจารึกกลุ่มนี้คือ พ.ศ. ๒๑๕๕ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรฐ แห่งกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้ว่าจารึกที่เก่ากว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งใกล้ยอดพระธาตุมากกว่าจารึกในสมัยหลัง

ปล้องไฉน (ฉัตรวลี)  ๕๒  ชั้น และยอดเจดีย์พระบรมธาตุเจดีย์

      พุ่มข้าวบิณฑ์ที่บริเวณปลายยอดพระบรมธาตุเจดีย์ บริเวณปลายของยอดปลีที่ทำเป็นบัวหงายรองรับพุ่มข้าวบิณฑ์นั้นได้ประดิษฐ์เครื่องสักการบูชาด้วยแก้วแหวนเงินทองเป็นดอกไม้ทองคำมีกลีบ และใบซ้อนกันบาง ๆ บนก้านดวงแก้วและลูกปัดพันแผ่นทองไว้ภายในกรวย ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เหนือจากกรวยซึ่งปิดคลุมเครื่องสักการบูชา พุ่มข้าวบิณฑ์บนปลายยอดพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นงานทองคำประดับพลอยและลูกแก้วธรรมชาติที่วิจิตรสวยงามมากทั้งส่วนของแกนกลางและพุ่มกรงแก้ว จนถึงปลายสุดที่ประดับด้วยดอกไม้ทิศเพชรซีก ๔ ทิศ ล้อมหม้อทองคำที่ยกสูงหงายไว้เสมือนบาตรรับน้ำ แล้วให้ระเหยกลับสู่อากาศประหนึ่งน้ำมนต์ประพรมไปทั่ว กรงแก้วทั้ง ๔ สวมลูกแก้วใสซี่ละ ๑๖ ลูก รวม ๔ ซี่ ๖๔ ลูก ที่แกนกลางสวมดวงแก้ว ๙ ลูก มีผู้ให้ความหมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นั่นเอง

       พระเวียนตรงก้านฉัตร ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลังกาทำเป็นเทวดาตรงบริเวณนี้ เรียก "เทวดาโกฏุวะ (Devata Kotuva) ทั้งนี้เนื่องจากชาวศรีลังกาเชื่อว่าตรงก้านฉัตรเป็นที่ประทับของเทวดาที่คอยปกปักรักษาพระบรมสารีริกธาตุ และก็มีผู้ให้ความหมายว่าพระบรมธาตุเจดีย์นี้มีธรรมะนิยามอยู่มากมายเช่น ฐาน ๔ ด้าน รัตนเจดีย์ทิศ ๔ มุม นั้นคืออริยสัจจ์ ๔ ที่ลงด้วยเลข ๘ คือมรรคมีองค์ ๘ เช่นเดียวกันกับพระเวียนซึ่งเป็นพระอรหันอริยสาวกก็มี ๘ องค์ ถ้าเรามองจากฐานลานประทักษิณไปทางยอดเราจะเห็นพระอรหันต์อริยสาวกทั้ง ๘ ทำประทักษิณอยู่เรียกว่าพระเวียน ประกอบด้วยพระอรหันต์อริยสาวกดังนี้ พระโกณฑัญญะ พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระอุบาลี พระอานนท์ พระควัมปติ พระโมคัลลาน และพระราหุล ซึ่งแต่ละรูปจะมีคุณลักษณะดังนี้คือ

       - พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู คือเป็นผู้รู้ธรรมก่อนใครในพระพุทธศานาและได้บวชก่อนผู้อื่น
       - พระมหากัสสปะเป็นเอตทัคคะที่ทรงยกย่อง และให้ถือเป็นแบบอย่างในด้านผู้มีธุดงค์มาก และเป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธ
       - พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา
       - พระอุบาลี เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะผู้เลิศในทางผู้ทรงพระวินัย เป็นผู้วิสัชชนาพระวินัยปิฎกในคราวปฐมสังคายนา เพื่อรวบรวมพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
       - พระอานนท์ เป็นสหชาติและพุทธอุปัฏฐากของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระสาวกอื่น ๆ ถึง ๕ ประการ และเป็นพหูสูต
       - พระควัมปติเถระ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล
       - พระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นพระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก
       - พระราหุลเถระ เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าคนอื่นในด้านใคร่การศึกษาคือชอบการศึกษา หรือขยันหมั่นในการเล่าเรียน

    ฐานประทักษิณที่ใช้สำหรับเดินเวียนขวา เพื่อบูชาองค์พระธาตุ ที่ผนังประดับรูปช้างล้อมโผล่ออกมาจากซุ้มเรียงรายรอบทุกด้าน ซึ่งคาดว่าน่าจะนำแนวคิดนี้จากลังกาเชื่อกันว่าต้นกำเนิดของการสร้างเจดีย์ช้างล้อมเกิดหลังจากพระเจ้าทุฏฐคามแห่งกรุงอนุราธปุระทรงทำยุทธหัตถีชนะเหนือพระยาเอฬารทมิฬ พระองค์จึงสร้างสถูป "มหาสถูปรุวันเวลิ" ขึ้นเป็นอนุสรณ์โดยทำ "หัตถีปราการ" หรือกำแพงรูปช้างล้อมไว้ส่วนฐาน

 ท่อระบายน้ำรูปหัวสัตว์ ใช้ระบายน้ำจากลานประทักษิณขององค์พระธาตุผ่านรางบนหลังคาวิหารทับเกษตรลงมา ซึ่งมักพบในศิลปะลังกา

หนึ่งในเครื่องพุทธบูชาในวิหารเขียน (ภาพสืบค้นจาก http://review.tourismthailand.org/watphramahatard/)

     เครื่องพุทธบูชาที่มีการนำมาบูชาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช อันแสดงถึงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างเป็นล้นพ้น ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้ที่วิหารเขียนต่อเนื่องและยาวนานมาก เครื่องพุทธบูชาได้แก่ ต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่บรรดาเมืองสิบสองนักษัตรนำมาถวาย เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ทอง ถม แก้วแหวนเงินทอง ของใช้ชาววังที่ท่านถลาง ณ นคร ทายาทเจ้านครถวายไว้ ปิ่น สร้อย จี้ ต่างหู แหว เข็มกลัด กำไล เข็มขัด ชุดเชี่ยนหมาก เสาธง เสาหงส์ ศาลา เรือ รวงข้าว แรกนา ผ้ายก เงินตรา งาช้าง กริช ถ้าจะกล่าวไปก็คงไม่หมด จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า พุทธศาสนิกชนแต่ก่อนมีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาเพียงใด

ภาพสืบค้นจาก ;  http://site.nstru.ac.th/watphratad/เกี่ยวกับวัดพระมหาธาตุ/ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ/

    ประเพณีผ้าขึ้นธาตุหมายถึงการนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชและใกล้เคียงได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา นำไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา จากนั้นจะจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือพระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติ เริ่มตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งแก่นแท้อยู่ที่การบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีการเล่าสืบ ๆ  กันมาว่าในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่งซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่าพระบฎหรือพระบต) มาที่ขึ้นชายหาดปากพนัง ชาวบ้านจึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาดแต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของผ้าผืนนั้นและได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งประสงค์จะเดินทางไปลังกาเพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) แต่เรือถูกมรสุมซัดจนแตกที่ชายฝั่งเมืองนครศรีธรรมราช มีรอดชีวิตกลับมาได้ ๑๐ คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เจ้าของพระบฎก็ยินดีด้วย จากนั้นจึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้

วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ (วิหารพระทรงม้า)

        วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ หรือวิหารพระทรงม้า อยู่ติดกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้านทิศเหนือ กว้าง ๕ วา ๑๐ นิ้วยาว ๑๕ วา ๓ ศอก สูง ๗ วา เดิมเป็นวิหารทางเข้าสู่องค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้านทิศเหนือ เพื่อเชื่อมเข้ากับบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ภายในวิหารพระทรงม้ามีประติมากรรมปูนปั้นพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์ที่งดงาม ตรงกลางวิหารมีบันไดทางขึ้นไปสู่ลานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ ตามตำนานกล่าวว่าพระเจ้ากรุงลังกาโปรดให้เศรษฐีชาวลังกาให้มาช่วยเหลือในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ เศรษฐีทั้งสองชื่อพลิติกับพลินุ่ย ภายหลังได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ทั้งสองเดินทางมาไม่ทันพระบรมธาตุเจดีย์สร้างเสร็จแล้ว จึงได้สร้างวิหารนี้แทน ในระหว่างการสร้างบุตรชายทั้งสองของเศรษฐีชื่อเจ้ามุดกับเจ้าหมูเกิดวิวาทฆ่ากันตายจากเรื่องของชนไก่ ฝ่ายบิดาเศร้าเสียใจอาลัยลูกจึงสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์โดยนำอัฐิมาตำเคล้ากับปูนปั้นเป็นรูปพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา หรือเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ อันเป็นที่มาของวิหารนี้โดยปั้นเป็นรูปปั้นพระสิทธัตถะ นางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ ตลอดจนรูปม้า เทวดา มาร พรหม นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเศรษฐีทั้งสองได้ปั้นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร ที่ผนังตรงข้างบันไดด้วย ทางผนังด้านขวาของบันไดนอกเป็นอัฐิของเจ้าหมูเป็นรูปพระนางพิมพากำลังกกพระราหุลให้เสวยนมอยู่ในห้องบรรทม ข้างล่างเป็นรูปของพวกสนมชาววัง ถัดมาเป็นรูปพระเจ้าสิทธัตถุกำลังทรงเสด็จหนีไปทางผนวชและรูปตอนทรงม้า มีพระพรหมกางฉัตรให้ มีเทวดาตามขบวนเสด็จ รองรับเท้าม้า และปิดปากม้าไม่ให้ม้าส่งเสียงร้อง ส่วนนายฉันนะยึดเกาะหางม้า ตอนสุดท้ายเป็นรูปพญามารเข้าขัดขวาง ทางด้านซ้ายเป็นอัฐิเจ้ามุดก็ทำแบบเดียวกัน ภายในวิหารตรงบันไดทางขึ้นมีรูปปั้นผู้อารักขาพระมหาธาตุเจดีย์ทั้งสี่ทิศ ทิศเหนือเป็นรูปยักษ์ท้าวกุเวร ทิศตะวันออกเป็นรูปยักษ์ ท้าวธตรฐ เชิงบันไดสู่องค์พระมหาธาตุเจดีย์เป็นรูปพญานาค ๗ หัว ๗ หาง ส่วนบนหัวเสาเหนือบันไดทั้งสองฝั่งทำเป็นรูปพญาครุฑฝั่งทิศตะวันตกเป็นท้าววิรุฬปักษ์ ส่วนทางทิศใต้คือท้าววิรุฬหก ตามทางขึ้นยังประดับด้วยรูปปั้น สัตว์พยนต์อีกหลายชนิด เมื่อขึ้นบันไดไปขั้นสูงสุดทางผนังตะวันออกมีรูปปั้นภาพพระพุทธบาท ทางฝั่งตะวันตกเป็นรูปพระหลักเมือง พระทรงเมือง ถัดมาบริเวณข้างประตูเป็นรูปปั้นกษัตริย์ลังกาในท่านั่งแพนงเชิงทางทิศตะวันออกคือท้าวขัตตุคามและทางทิศตะวันตกคือท้าวทศคามรามเทพ ปลายบันได้ซึ่งทอดขึ้นไปบนลานประทักษิณ มีบานประตูไม้สักขนาดใหญ่แผ่นหนา ฝีมือแกะสลักสวยงามวิจิตรพิสดามาก บนด้านซ้ายแกะสลักเป็นรูปพระพรหมบานประตูด้านขวาเป็นรูปพระนารายณ์ ประตูสู่พระบรมธาตุเจดีย์จะเปิดเฉพาะในวันแห่ผ้าขึ้นองค์พระธาตุ เพื่อให้ผู้คนนำผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์เท่านั้น บริเวณหน้าประตูวิหารพระฟ้ามีระฆังสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่จารึกว่า "สร้างในสมัยพระนารายณ์อยุธยา" โบราณวัตถุภายในวิหารพระม้ามีดังนี้

      ๑. พระพุทธรูปปางห้ามญาติ พร้อมกับพระอัครสาวกซ้ายขวาคือพระโมคลาน และพระสารีบุตร
      ๒. บันไดตรงกลางวิหาร ทางขึ้นไปยังลานประทักษิณ ๒๒ ขั้น
      ๓. ยักษ์อยู่ตรงหัวบันได ด้านซ้ายคือท้าวเวกุราช ด้านขวา ๒ ตน คือท้าวเวชสุวรรณ
      ๔. พญาครุฑ อยู่ข้างบันได ด้านซ้าย คือท้าววิรุฬหก ๒ ตัว ด้านขวา คือท้าววิรุฬปักษ์
      ๕. สิงห์ อยู่ราวข้างบันได ด้ายซ้ายและขวา ๖ ตัว
      ๖. พระพุทธสิหิงค์จำลอง อยู่ข้างราวบันไดเหนือสิงห์ ๒ องค์ ทั้งข้างซ้ายและขวา
      ๗. เทพอยู่เหนือสุดราวบันได ด้ายซ้ายคือท้าวจัตุคาม ๒ องค์ ด้านขวา คือท้าวรามเทพ
      ๘. ประตูไม้เปิดสู่ลานประทักษิณ ที่บานประตูมีภาพ ๑ ประตู แกะสลักทั้ง ๒  บานด้านซ้ายเป็นรูปพระพรหม ด้านขวาเป็นรูปพระอินทร์
      ๙. ภาพปูนปั้นเป็นภาพเทวดาและสัตว์ในเทพนิยายอยู่ผนัง สองข้างบันได
     ๑๐. พญานาค อยู่ด้านหน้าของบันได ทั้งซ้ายและขวา ๒ ตัว คือท้าวภุชงค์
     ๑๑. พระพุทธรูป อยู่ฐานพระบรมธาตุเจดีย์ รูปประทับยืน ๓ องค์ คือพระร่วงโรจน์ฤทธิ์อีก ๒ องค์ คือพระพุทธรูปปางลีลาและปางขัดสมาธิ

       ภาพพระม้าภายในวิหารพระทรงม้า บริเวณฐานข้างบันไดทั้งสองข้าง ภาพพระม้าเป็นขนาดใหญ่ สร้างทำอย่างประณีตสวยงามในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นเรื่องราวการละโลกออกแสวงหาทางธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ 

    ภายในวิหารพระทรงม้าที่เป็นบันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ด้านซ้าย-ขวา มีรูปปั้นของเทพผู้พิทักษ์อารักขาพระบรมธาตุเจดีย์ทั้งสี่ทิศคือท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ขนาบข้างประตูทางเข้า-ออก องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเทพคือท้าวจตุคาม-รามเทพ 

นอกจากเทพแล้วก็มีผู้พิทักษ์อารักขาอื่น ๆ เช่น ท้าวจตุโลกบาล นาค ครุฑ สิงห์ เป็นต้น 

 

วิหารพระเขียน (วิหารเขียน) 

    วิหารพระเขียนหรือวิหารเขียน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหารพระทรงม้า เหตุที่เรียกว่าวิหารเขียน เพราะเดิมทีเสาและผนังมีภาพลายเส้นสร้างในสมัยหลวงศรีวรวงศ์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๙ ภายในวิหารมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยแบบอู่ทอง ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติจำนวน ๒ องค์ ทำด้วยทองลูกบวบเป็นพระพุทธรูปของสกุล ณ นคร เมื่อครั้งพระยานคร (พัฒน์) ไปตีได้เมืองไทรบุรี จึงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ วิหารเขียนกับวิหารพระทรงม้าอยู่ร่วมหลังคาเดียวกันเดิมมีประตูทะลุถึงกัน แต่ได้โบกปูนปิดเสีย เมื่อใช้วิหารเขียนเป็นพิพิธภัณฑ์ใช้ชื่อว่า “ศรีธรรมราช พิพิธภัณฑ์สถาน” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงสิ่งของมีค่าจำนวนมาก เช่น ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง พระพุทธรูปทองคำ (ชมพูนุท) อันเป็นทองคำบริสุทธิ์ หาดูได้ยาก พระพุทธรูปเงิน ตลอดจนสิ่งของขนาดเล็กที่ทำด้วยทอง เงิน นาก สร้อย แหวน ตุ้มหู กำไล เข็มขัด เงินเหรียญ เครื่องลายคราม ฯลฯ ต่อมาเมื่อมีของมากขึ้นได้ขยายพิพิธภัณฑ์ของวัดไปจัดแสดงที่วิหารโพธิ์ลังกา และวิหารสามจอม

เครื่องพุทธบูชาที่มีการนำมาบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ครั้งที่เก็บในวิหารพระเขียนหรือวิหารเขียน

วิหารโพธิมณเฑียร (วิหารโพธิ์ลังกา)

      วิหารโพธิมณเฑียร หรือวิหารโพธิ์ลังกา เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งตามคตินิยมของลังกา มีการปลูกต้นโพธิ์โดยนำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกา มาปลูกไว้ตรงกลางวิหารเพื่อแสดงสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิหารโพธิ์ลังกาอยู่ต่อจากวิหารเขียนขึ้นไปทางทิศเหนือ เป็นอาคารหลังคาคลุมคล้ายระเบียงที่สร้างล้อมรอบแท่นที่ปลูกต้นโพธิ์ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่สามด้าน ทางทิศใต้คือบันไดทางขึ้นไปยังลานต้นโพธิ์ด้านบน ลักษณะนี้คล้ายกับอาคารที่เรียกว่าโพธิฆระของศิลปะลังกา ปัจจุบันทางวัดใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาโบราณวัตถุภายในจัดแสดงของถวาย เพื่อบูชาพระมหาธาตุเจดีย์ สร้างแบบวิหารคด รอบปูนชนียวัตถุ ปูชนียสถานทั้งหลาย เป็นรูปห้องยาวสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ ๑๒ วา ตรงกลางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่งนำมาจากลังกาจึงเรียกชื่อวิหารว่า “วิหารโพธิ์ลังกา”  ภายในวิหารใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ศิลาจารึก ฯลฯ ก่อนจะเข้าประตูวิหารโพธิ์ลังกาเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับยืนปางประทานอภัยสมัยอยุธยา เรียกว่าพระพวย เล่าลือกันว่าพระพวยมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ที่ฐานบัวมีรูน้ำไหลเหมือนพวยกาเดิมอยู่วัดพระโมคลาน อำเภอท่าศาลา ต่อมาย้ายมาอยู่วัดประตูรักษ์ จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ในรัชกาลที่ ๖ ได้นำมาประดิษฐานที่วัดพระมหาธาตุ พระพวยเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีผู้เคารพเลื่อมใสมาก  มักจะดลบันดาลให้ผู้ขอประสพความสำเร็จ ไม่ว่าใครจะบนบานให้หายเจ็บไข้ ทรัพย์สินเสียหาย อยากได้บุตรธิดา มักจะได้ผล ที่ฐานของพระพวยมีรูปภาพของเด็ก ๆ จำนวนมาก เด็กเหล่านี้คือเด็กที่ขอจากพระพวยมีได้สมปรารถนาแล้ว จึงนำรูปมาถวาย ภายในวิหารโพธิ์ลังกาด้านตะวันตกมีพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๖ วา พระอุระกว้าง ๔ ศอก พระบาทกว้าง ๑ ศอก ๗ นิ้ว ยาว ๓ ศอก ๑๐ นิ้ว นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ลับแลมุก พบที่อำเภอหัวไทร บนชายหาดที่ลูกคลื่นซัดขึ้นมา หีบศพเจ้าพระยานคร ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเป็นของเจ้าพระยาองค์ใด พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ ชื่อพระบรมราชา มีจารึกว่าอยู่วัดหอไตร ต่อมานำมาที่วัดธาราวดี ตำบลนา ครั้นถึงวัน ๓-๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา เอกศก พ.ศ. ๒๔๕๒ (๒๕ พ.ค. ร.ศ. ๑๒๓) ได้แห่พระบรมราชาจากวัดพระธาราวดีมาประดิษฐานที่พระวิหารโพธิ์ลังกา พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมัยดำรงพระอิสสยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทรงปิดทองพระพักตร์สมโภชแล้วยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฝีมือสกุลช่างนครศรีธรรมราช มีจารึกว่า “พระพุทธได้เชิญมาจากวัดหัวรอ (วัดบูรณาราม) ประดิษฐานอยู่ในวัดมหาธาตุ วันที่ ๑๕ ร.ศ. ๑๓๑”

ทางเข้าวิหารโพธิ์ลังกา

วิหารวิหารโพธิ์ลังกามีต้นโพธิ์ ซึ่งเรียกกันว่า “โพธิ์ลังกา” ปลูกมานับร้อยปี ซึ่งต้นโพธิ์ปลูกอยู่ในระนาบเดียวกับพระบรมธาตุเจดีย์และพระพุทธรูปในพระวิหารหลวง

ทางเข้าวิหารโพธิ์ลังกา

วิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (วิหารสามจอม) 

       วิหารสามจอม หรือวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช อยู่ทางด้านตะวันออกของพระบรมธาตุเจดีย์ “วิหารสามจอม” เล่าสืบต่อกันมาว่าผู้สร้างวิหารนี้เป็นผู้ชายชื่อสามจอม โดยสร้างพร้อมกันกับเจดีย์ใหญ่ (เจดีย์บริวารองค์หนึ่งที่รายล้อมองค์พระธาตุ) ซึ่งอยู่ด้านหลังของวิหาร ดังนั้นจึงเรียกชื่อวิหารตามชื่อของผู้สร้างว่า "วิหารสามจอม" ก่อนเข้าสู่วิหารสามจอมจะเห็นรูปปั้นพระธรณีกำลังบีบมวยผมที่ด้านหน้าของวิหาร ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเรียกว่า "พระเจ้าศรีธรรมโศกราช" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีเครื่องทรงอย่างกษัตริย์โบราณประดับชฎายอดสูง เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา จากชื่อของพระพุทธรูปองค์นี้ บางครั้งชาวนครเรียกวิหารสามจอมนี้ว่า “วิหารพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชคือองค์ไหนใน ๓ องค์ ประกอบด้วยศรีธรรมาโศกราช จันทรภานุ พงษาสุระ โดยรอบผนังด้านในวิหารสามจอม ทำเป็นช่องตู่มีรูปเทพประทับนั่งบนหลังสัตว์กำกับแต่ละช่อง ด้านหลังของวิหารเป็นซุ้มประตู ๓ ช่อง บรรจุพระพุทธรูปปางมารวิชัย และเก็บอัฐิของเชื้อพระวงศ์และเจ้านายในเชื้อสายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตลอดจนเจ้าพระยานครเชื้อสายที่เชื่อว่าสืบต่อพระเจ้าตากสิน แต่ภายหลังถูกทำลายสูญหายไปบ้างแล้ว และตรงซุ้มประตูมีภาพปั้นพระพุทธประวัติตอนทรงตัดเมาลีเพื่อออกบรรพชา สะดุดตาที่สี่มุมเจดีย์มีครุฑยืดอกทรนงระวังจังก้าอยู่ แต่ยังไม่สามารถยับยั้งกิเลสมนุษย์ที่ลักลอบขโมยแม้กระทั่งโกศพระอัฐิของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

พระพุทธรูปพระเจ้าศรีธรรมโศกราชในวิหารสามจอม

 

วิหารพระกัจจายนะ (วิหารพระแอด)

      วิหารพระกัจจายนะหรือวิหารพระแอด (พระสังกัจจายน์หรือพระสุภูมติเถระ) แต่คนโดยทั่วไปเรียกว่าพระแอด อยู่ต่อจากวิหารสามจอมไปทางเหนือเล็กน้อย เป็นที่ประดิษฐานของพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า "พระแอด" เดิมอยู่นอกเขตระเบียงใกล้กับวิหารพระธรรมศาลา ครั้นพระรัตนธัชมุนี (คณฐาภรณเถร) เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุฯ ได้ดำเนินการบูรณะพระแอดโดยการสร้างวิหารพระแอดขึ้นใหม่ โดยผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุคือพระครูพุทธิสารเจติยาภิวัฒน์ หรือพระพุทธิสารเถระ (ผุด สุวฑฒโน) เป็นผู้อำนวยการ เมื่อสร้างก็อัญเชิญพระแอดขึ้นไปประดิษฐานที่วิหารหลังใหม่มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อนำพระแอดเข้ามาในวิหารแล้วก็ปรากฎว่ามีชาวบ้านมาขอพร เพราะเชื่อกันว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์หากใครปวดเมื่อยไปนวดพระแอด หรือปวดเอวปวดหลังนำไม้ไปค้ำยันหลังพระแอด อาการปวดก็จะหายอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านมีอภินิหารบันดาลโชคลาภแก่ผู้ไปขอ อันเนื่องในสมัยพุทธกาลพระกัจจายนะหรือพระสุภูมติเถร นอกจากจะเป็นผู้มีปัญญาได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นผู้มีปัญญาเลิศเหนือกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านย่อความแล้ว ยังเป็นผู้มีรูปงามผิวเหลืองดุจทอง ผู้ใดได้พบเห็นเป็นหลงใหลไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจนเกิดเป็นปัญหาไปทั่ว ท่านจึงอธิษฐานขอให้รูปอ้วนใหญ่และโดยความที่เป็นพระพุทธรูปอ้วนใหญ่ จึงเป็นที่นับถือว่าสามารถอธิษฐานอาการปวดเอว ปวดหลังได้หานำไม้ไปค้ำยันให้หลังพระแอดซึ่งตั้งใจสร้างให้มีช่องร่องวางไม้เรียบร้อย น้อยคนจะเข้าถึงนัยความหมายที่แท้ ดังนั้นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้จึงได้ชื่อว่า "วิหารพระแอด"

ภาพสืบค้นจาก : http://www.gotonakhon.com/?p=12625

       ภาพพระแอด (พระกัจจายนะ) ตอนที่ไม่มีวิหารพระแอด ในบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ ถ่ายเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๗ ภาพจากคุณหงกิม (โก้กิ้ม)/คุณอรุณรัตน์/คุณบริพันธ์(บอย) ริเริ่มสุนทร

วิหารทับเกษตร หรือพระระเบียงตีนธาตุ

      พระวิหารทับเกษตร หรือพระระเบียงตีนธาตุ เป็นระเบียงหรือวิหารที่อยู่โดยรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ มีความยาว ๑๘ วา ๑ ศอก ๑๕ นิ้ว เท่ากันทั้ง ๔ ด้าน กว้างด้านละ ๒ วา ทั้ง ๔ ด้าน คำว่า “ทับเกษตร” เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงผิวพื้นบริเวณที่ใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปเหนือนาบบนฐานพระหรือเรือนซึ่งเป็นขอบเขตซึ่งได้แก่ระเบียงคดวิหารคด ด้วยเหตุนี้ วิหารทับเกษตรจึงได้ชื่อตามหน้าที่ ก็คือวิหารคด ซึ่งเป็นวิหารแสดงขอบเขตของพระบรมธาตุเจดีย์ วิหารทับเกษตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นและสำริดเรียงรายเป็นระเบียบเต็มไปหมดทั้ง ๔ ด้าน ทั้งพระพุทธรูปยืนและนั่งรวมทั้งหมด จำนวน ๑๓๗ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้สร้างในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น รอบ ๆ ฐานพระบรมธาตุเจดีย์ทำเป็นซุ้มมีหัวช้างยื่นออกมาจากฐานพระบรมธาตุเจดีย์ราวกับว่าเป็นขื่อคานรับองค์พระเจดีย์ ซุ้มเหล่านี้มีโดยรอบ ๒๒ ซุ้ม (หัวช้าง ๒๒ หัว) ในระหว่างซุ้มหัวช้างแต่ละซุ้มอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เชื่อว่ารับมาจากลังกา สลับกับซุ้มเรือนแก้วปูนปั้นครอบพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยไม่ซ้ำแบบกันเลยทั้งพระและซุ้มจำนวน ๒๕ ซุ้ม โดยเฉพาะรูปยักษ์และคนที่รองรับยกซุ้มอยู่นั้นสวยงามมาก สันนิษฐานว่าซุ้มเหล่านี้สร้างสมัยอยุธยาแต่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบลพบุรีและสุโขทัย ที่ด้านเหนือซึ่งเดินได้ไม่ตลอดเพราะติดวิหารพระทรงม้านั้นทั้งสองฟากมีพระปูนปั้นชาวบ้านนิยมสักการะบูดขาด้วยเชื่อว่า คือพระศรีอารย์ ฐานทับเกษตรมียกพื้น ๒ ชั้น ซึ่งสามารถเดินได้รอบ ชั้นบนนิยมเรียนกว่า "ทางพระเจ้าตาก" มีเสารอบตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมไทย ระหว่างเสามีพระพุทธรูปปูนปั้นและสำริดปางต่าง ๆ เรียงรายเต็มทั้ง ๔ ด้าน หลายองค์ที่ฐานเป็นที่บรรจุอัฐิของขุนศรีธรรมธาตุรักษา ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ในอดีต ทั้ง ๓ ด้านในวิหารนี้มีธรรมาสน์สำหรับพระสงฆ์ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะถือเป็นที่แสดงธรรมสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ วิหารทับเกษตร มีประตู ๒ ประตู ประตูด้านหน้า คือประตูเหมรังศรี ข้างประตูมีสิงห์โตหินตัวผู้และตัวเมีย หน้าจั่วซุ้มประตู ประดับแก้วสีเป็นรูปครุฑและนาคยึดเกี่ยวกัน 

วิหารพระระเบียง (วิหารคด)

      พระวิหารคด หรือพระระเบียง หรือพระด้าน สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรอยุธยาโดยก่อกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีหลังคาคลุมเข้าด้านในสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นผนังหรือกำแพงล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์และเจดีย์ราย เหตุที่เรียกกันว่าวิหารคดก็เพราะว่าวิหารนี้สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบบริเวณขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ การสร้างหักมุมแบบนี้จึงเรียกว่า "วิหารคด" ส่วนที่เรียกอีกอย่างว่าพระด้านหรือพระระเบียงก็เพราะเป็นระเบียงขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงเรียกว่า"พระระเบียง" ส่วนที่เรียกว่าพระด้าน ก็เพราะว่าในวิหารหรือระเบียงนี้ เต็มไปด้วยพระพุทธรูปปั้นเรียงเป็นระเบียบเป็นพระพุทธรูปนั่งเป็นแถวยาวตลอดทุกด้านของระเบียง จำนวน ๑๗๓ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ การที่มีพระพุทธรูปอยู่รอบด้านของพระบรมธาตุเจดีย์นี้เองจึงเรียกกันว่า "พระด้าน" วิหารคดมีประตูทางเข้า ๒ ประตู คือประตูด้านหน้าและประตูด้านหลัง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน ประตูหน้ามีชื่อว่าประตูเหมรังสี ข้างประตูมีรูปสิงโตที่ทำด้วยหินเป็นสิงโตตัวผู้และตัวเมียอยู่ข้างละ ๑ ตัว หน้าจั่วของซุ้มประตูประดับแก้วสีเป็นรูปครุฑและนาคยึดเกี่ยวเกี่ยวพันกับซึ่งประดับด้วยแก้วสี ทุกด้านของวิหารคดจะมีธรรมาสน์ตั้งอยู่เช่นเดียวกันกับในวิหารทับเกษตร ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นที่แสดงธรรมในวันวันโกนหรือวันธรรมสวนะ ก่อนแสดงธรรมจะมีสวด (อ่าน) หนังสือทำนองเสนาะที่เรียกว่า “สวดด้าน” ประเพณีสวดด้านจึงถือว่าเกิดขึ้นที่ระเบียงคดนี้ (ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว) ทางด้านเหนือมีโครงกระดูกปลาวาฬ ที่ตายลอยมาเกยหาดที่ปากน้ำท่าสูง อำเภอท่าศาลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ปัจจุบันวิหารคดบางส่วน ได้ใช้เป็นสาขาของห้องสมุดแห่งชาติ

โครงกระดูกปลาวาฬ ที่ตายลอยมาเกยหาดที่ปากน้ำท่าสูง อำเภอท่าศาลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒

ภาพสืบค้นจาก : https://mapio.net/o/4111427/

ประตูเหมรังสี ข้างประตูมีรูปสิงโตทำด้วยหินเป็นสิงโตตัวผู้และตัวเมียอยู่ข้างละ ๑ ตัว

วิหารธรรมศาลา 

       วิหารพระธรรมศาลา อยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุเจดีย์ นอกระเบียงตรงประตูเยาวราช กล่าวกันว่าพระเหมรังสีเถระเป็นผู้สร้างตรงหน้าจั่วสลักหนังสือไว้บนแผ่นกระดานว่าได้บูรณะเสร็จเมื่อวันเสาร์เดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมะเมีย ศก. พ.ศ. ๒๔๓๗ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานเรียงรายโดยรอบ บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปปูนปั้นหลายองค์ แต่องค์ใหญ่สุดในวิหารหลังนี้ชื่อ “พระธรรมศาลา” เป็นพระพุทธปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เป็นศิลปะยุคเดียวกับพระพุทธรูปพระเจ้าศรีธรรมโศกราชซึ่งประดิษฐานในวิหารสามจอม ด้านหน้าวิหารมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางประทานอภัย ก่อด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทองนามว่า "พระทนทกุมาร" ภายในวิหารด้านหน้า มีเจดีย์เรียกว่า "พระเจดีย์สวรรค์" ประดับด้วยกระจก ตำนานกล่าวว่าพระยาแก้วเป็นผู้สร้างเจดีย์นี้ขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำ ผู้ครองเมืองนครที่เสียชีวิตกลางศึกโจรสลัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๑ พระยารามราชท้ายน้ำนี้ เดิมเป็นทหารเอกของพระนเรศวรมหาราช ที่ถูกส่งมาปกครองเมืองนคร ต่อมามีพวกโจรสลัด (อุชงคนะ) จะมาตีนครศรีธรรมราช พระยารามราชท้ายน้ำ เป็นผู้นำทัพออกรบกับพวกสลัดด้วยตนเองและสู้กันนานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ถือว่าเป็นศึกครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองนคร ฝ่ายสลัดได้ยกพลขึ้นบกที่ใกล้วัดท่าโพธ์ทางด้านตะวันออกของวัด เพื่อรุกคืบหน้าเข้าสู่ตัวเมืองทางด้านทิศตะวันตก พอถึงวันที่เจ็ดตอนพลบค่ำพระยารามราชท้ายน้ำซึ่งอยู่ในวัยชรา ได้เป็นลมล้มลงเสียชีวิต ทำให้ทหารของนครเสียขวัญ ข้าศึกเกิดฮึกเหิมรุกไปจนถึงวัดท่าโพธิ์ แล้วทำการเผาวัดท่าโพธิ์ รวมทั้งชุมชนแห่งนั้นจนเสียหายยับเยิน แต่สุดท้ายแล้วนครก็ชนะศึกโจรสลัดครั้งนี้ ต่อมาพระยาแก้วซึ่งเป็นหลานของพระรามราชท้ายน้ำ ได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ในวิหารธรรมศาลา ซึ่งพระยาแก้วคนนี้ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองนครคนต่อไปและมายอมสวามิภักดิ์ ต่อออกญาเสนาภิมุข นางามาซะ ที่ถูกอยุธยาส่งมาปราบ สุดท้ายพระยาแก้วก็ถูกลูกของออกญาเสนาภิมุข นางามาซะ ชื่อออกญาเสนาภิมุข โอนิน ฆ่าตาย จากการแย่งชิงอำนาจกัน 

วิหารพระธรรมศาลาด้านหน้า

พระธรรมศาลา พระพุทธปางมารวิชัยซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารธรรมศาลา

พระพระทนทกุมาร ประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารตรงหน้าซุ้มประตูเยาวราช 

วิหารหลวง

       วิหารหลวง หรือพระอุโบสถ ตั้งอยู่บริเวณนอกเขตพระระเบียง ทางด้านใต้ของพระบรมธาตุเจดีย์ สร้างในสมัยสุโขทัยสร้างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาวิหารทรุดโทรมลงเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) จึงได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๔-๒๓๘๒ วิหารหลังนี้จึงมีคุณค่าในแง่ของการสืบทอดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความกว้างใหญ่และงดงาม วิหารหลวงเป็นอาคารหลังคาคลุมทรงไทยประเพณี ขนาด ๑๓ ห้อง ก่อผนังสูงมีช่องหน้าต่างถี่ ประตูด้านหน้าเป็นซุ้มทรงยอดปราสาทและซุ้มทรงบันแถลง หลังคาซ้อน ๓ ชั้น ๓ ตับ ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ มีมุขประเจิดยื่นหน้าหลัง หน้าบันไม้จำหลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีเสาพาไลเป็นเสากลมเอนสอบเข้ารองรับ ๔๐ ต้น เสาภายใน ๒๔ ต้น ชายคาโดยรอบมีคันทวยค้ำยันเสาพาไล ห้องระหว่างเสา ๑๓ ต้นปลายเสาแบนราบเข้าหากันแบบอยุธยาทำให้ดูอ่อนช้อยงดงามมาก ด้านหน้าของวิหารแกะสลักไม้รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีภาพแกะสลักที่วิจิตรงดงามมาก ด้านหลังของวิหารแกะสลักเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ เพดานเขียนลายไทยปิดทองมีลายดารกาเป็นแฉกงดงามมาก หลังคามีช่อฟ้าและใบระกา พระประธานภายในวิหารหลวงชื่อพระศรีศากยมุนีศรีธรรมราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างสมัยอยุธยาตอนต้นรูปแบบสกุลช่างภาคใต้ สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ด้านข้างมีพระสาวกซ้ายและขวา คือพระโมคคัลานะและพระสารีบุตร และมีพระพุทธรูปยืนอีกหลายองค์  วิหารหลวงนี้ใช้งานเป็นอุโบสถเพราะมีใบเสมาล้อมรอบ

    คำว่า "วิหารหลวง" เรียกกันเช่นนี้ก็เพราะถือว่าวิหารนี้เป็นของกลางที่พุทธศาสนิกชนทุกหนทุกแห่งมีสิทธิ์ใช้ร่วมกัน ในสมัยแรก,ikพระสงฆ์ไม่ได้จำพรรษาที่วัดพระมหาธาตุฯ แต่จำพรรษาที่วัดอื่น ๆ ซึ่งอยู่รายรอบวัดพระมหาธาตุฯ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้วัดพระมหาธาตุเป็นของส่วนกลางจริง ๆ ดังนั้นวิหารซึ่งมีมาแต่เดิมและใช้ประกอบพิธีสักการบูชาพระบรมธาตุร่วมกันนี้จึงเรียกกันว่าพระวิหารหลวง ต่อมาได้มีการดัดแปลงพระวิหารหลวงเป็นอุโบสถ แต่ผู้คนก็ยังเรียกพระวิหารหลวงอยู่เช่นเดิม หาได้เรียกพระอุโบสถไม่ วิหารหลวงนับเป็นพระวิหารที่งดงามมากฝีมือในการสร้างแสดงออกถึงความเจริญทางศิลปะและเชิงช่างเป็นอย่างดี หากจะหาสิ่งก่อสร้างประเภทโบสถ์หรือวิหารสมัยใหม่มาเทียบกับพระวิหารหลวงในแง่ความประณีตสวยงามและมีศิลปะกันแล้ว คงจะหาที่ไหนมาเทียบได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการวางเสาซึ่งอาศัยศิลปะแบบอยุธยาตอนต้นนั้นหาดูได้ยากยิ่ง พระวิหารที่มีความเก่าแก่ควบคู่มากับพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้จึงเป็นโบราณสถานที่ควรแก่การหวงแหนและบำรุงรักษาเป็นอย่างยิ่ง

ภาพจาก : สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาคใต้ ; 2556

พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช

      พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในวิหารหลวง มีลักษณะงดงามด้วยศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีขนาดหน้าตัก ๓ วา ๑ ศอก ๑๒ นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชี ด้านหน้าองค์พระ ประดิษฐานอัครสาวกซ้ายขวาคือพระโมคคัลลาน์นั่และพระสารีบุตร 

วิหารโพธิ์พระเดิม 

ภาพสืบค้นจาก : http://palm1616.blogspot.com/p/1.html

       วิหารโพธิ์พระเดิม ตั้งอยู่สุดเขตวัดพระมหาธาตุฯ ทางด้านทิศเหนือ เป็นวิหารแบบเดียวกับวิหารโพธิ์ลังกา เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นวัดชื่อวัดชื่อว่าวัดพระเดิม วิหารโพธิ์พระเดิมเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นภายหลังพระบรมธาตุเจดีย์ ภายในวิหารวิหารโพธิ์พระเดิมมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับวิหารโพธิ์ลังกา ในบริเวณพระบรมธาตุธาตุเจดีย์ ต้นโพธิ์นี้ได้พันธุ์มาจากลังกา ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะได้มาพร้อมกันก็เป็นได้ เพราะมีขนาดลำต้นที่ใหญ่ใกล้เคียงกัน ต่อมามาภายหลังวัดพระเดิมได้ยุบรวมเข้ากับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

เจดีย์รายรอบพระบรมธาตุเจดีย์ 

   ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยเฉพาะในบริเวณวิหารคดหรือวิหารพระด้าน นอกจากจะมีพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งตระหง่านอยู่โดดเด่นแล้วยังมีเจดีย์รายหรือเจดีย์บริวาร หรือเจดีย์องค์เล็กอยู่รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์จำนวน ๑๕๘ องค์ และหนึ่งในจำนวนนี้มีเจดีย์อยู่องค์หนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “เจดีย์พระปัญญา” หรือ “พระปัญญา” รวมอยู่ด้วย “เจดีย์พระปัญญา” เป็นเจดีย์ขนาดย่อม เป็นทรงเรือนยอด ลักษณะคล้ายเจดีย์ศิลปะศรีวิชัย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระบรมธาตุเจดีย์ ฐานด้านทิศตะวันออกเจาะเป็นช่องประตูเล็ก ขนาดพอให้คนเดินเรียงหนึ่งเข้าออกได้ ภายในองค์เจดีย์พระปัญญาทำเป็นคูหาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่งปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก ๕๙ นิ้ว ลงรักปิดทองทั้งองค์ คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “พระปัญญา” หรือ “พระออกเสื้อ” ชาวนครแต่โบราณมีความเชื่อต่อ ๆ กันมาว่า พระปัญญาองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านเสริมปัญญา ผู้ใดใคร่จะมีปัญญาให้มากราบบนบานขอพร โดยเอามือไปแตะที่พระอุระแล้วกลับมาแตะที่อกตนเองเป็นทำนองว่าได้ปัญญาจากพระแล้ว ปัจจุบันผู้ที่มาบนบานส่วนใหญ่มักเป็นนักเรียนนักศึกษา เพราะเชื่อกันว่าบนบานทำให้มีความจำในการเรียนหนังสือมากขึ้น หรือฉลาดทันคนขึ้น ส่วนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มักบนบานกราบไหว้ขอให้บุตรที่จะคลอดมีสุขภาพสมบูรณ์มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สุขุมรอบคอบ อีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้กล่าวถึงอยู่เสมอก็คือ “ปริศนาลายแทงพระปัญญา” มีข้อความว่า “ถอยหลังเข้าไป เหล็กในแทงตา หันหน้าออกมา กาขี้รดหัว” แปลว่าเวลาเข้าไปให้หันหน้าเข้า เวลาออกให้เดินถอยออกมา ผิดจากคำบอกนี้แล้วจะได้รับอันตราย เรื่องนี้พระครูสิริธรรมาภิรัต แห่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชได้เล่าว่า เมื่อ ๘๐ ปีที่ผ่านมา มีนักเลงมือดีคิดแก้ปริศนาได้ โดยกลับปริศนาเสียใหม่ว่า “ถอยหลังเข้าไป เหล็กไม่แทงตา หันหน้าออกมา น้ำตาพระร่วง” หรือ “สากทองคำ ตำแล้วพาไป” ปริศนาลายแทงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านมีความเชื่อว่าภายในซุ้มพระปัญญา บนเพดานมีไหเป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติที่คนโบราณซ่อนไว้เหนือซุ้มประตู ถ้าถอยหลังเข้าไปแล้วเดินหันหน้าออก แหงนดูเพดานก็จะเห็นไหซ่อนทรัพย์อยู่ ซึ่งยังมีร่องรอยปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้ แต่อันที่จริงแล้วอาจเป็นปริศนาที่ชี้ให้เห็นว่า “ผู้ใดที่ไม่เชื่อตามผู้อื่น แต่มีวิธีค้นหาความจริงด้วยตนเอง ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างแท้จริง” นั่นเอง 

เจดีย์ศิลาในดงต้นหว้าทั้ง ๖ ตั้งอยู่ที่ข้างพระวิหารธรรมศาลาด้านหน้า มีรูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เจดีย์หน้าประตูเหมรังสี

     เจดีย์หน้าประตูเหมรังสีมีมาแต่เดิม ไม่ปรากฏที่มาของการก่อสร้างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าอาจเป็นรูปแบบขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ดั้งเดิมสมัยศรีวิชัย


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธบาทจำลอง

      รอยจำลองพระพุทธบาท ยาว ๗๔ นิ้ว กว้าง ๔๔ นิ้ว ตรงบันไดทางขึ้นมีพระบุญมากพระพุทธรูปหินทรายที่ศักดิ์สิทธิ์มากชาวบ้านนิยมไปบนบานขอบุตรและโชคลาภนอกจากนี้บนมณฑปยังเป็นจุดชมองค์พระธาตุในมุมสูงอีกด้วย

ภาพสืบค้นจาก : http://palm1616.blogspot.com/p/1.html

มณฑปพระพุทธบาทเป็นมณฑปตั้งอยู่บนเนิน

ภาพสืบค้นจาก http://ชบา.com/วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร-เมืองนครศรีธรรมราช

 

 


ปูชนียบุคคล

ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

ลำดับที่  รายนาม เริ่มวาระ  สิ้นสุดวาระ
๑  พระครูวินัยธรนุ่ม  ไม่มีข้อมูล    ไม่มีข้อมูล
๒    พระครูปลัดแก้วชิน      ไม่มีข้อมูล    ไม่มีข้อมูล
๓  พระเทพญาณเวที (ฦา ยติโก)  พ.ศ. ๒๔๖๘ พ.ศ. ๒๔๖๙
พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) พ.ศ. ๒๔๗๐ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระธรรมรัตโนภาส (ประดับ โอภาโส)   พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๔๓
พระเทพวินยาภรณ์ (สมปอง ปญฺญาทีโป) พ.ศ. ๒๕๔๔  ปัจจุบัน ( ๒๕๖๒)

                                                            

ภาพสืบค้นจาก : http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=16382.0;language=english

 

       สำหรับเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารจะขอกล่าวเฉพาะรูปที่ ๔ คือพระรัตนธัชมุนี ผู้คุณูปการต่อวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร และชาวภาคใต้

ประวัติ

      พระรัตนธัชมุนี  (แบน คณฺฐาภรโณ) นามเดิม แบน ฤทธิโชติ เกิดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๗ ที่บ้านดอนทะเล ตำบลปากพูน  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช   บิดาชื่อหมื่นทิพย์จักษุ (ขาว   ฤทธิโชติ)มารดาชื่อ นางเป็ด  ฤทธิโชติ   (ธรรมิกกุล)มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  ๓  คน  เมื่ออายุครบ  ๒๐  ปี  ได้บรรพชาอุปสมบทที่นทีสีมา(สีมาน้ำ)ในคลองปากพูน หน้าวัดท่าม่วง   หมู่ที่  ๒  บ้านดอนทะเล  ตำบลปากพูน ได้รับฉายานามว่า "คณฺฐาภรโณ"

การศึกษา

       - ชั้นประถม  ได้เข้าศึกษาอักษรสมัยภาษาไทย เรียนหนังสือวัด  จนจบชั้นประถมเทียบเท่าประถมปีที่ ๔
       - ปี พ.ศ. ๒๔๔๘  เมื่ออุปสมบทแล้วได้เข้าศึกษาพระธรรมวินัย ในสำนักพระรัตนรัชมุนี (ม่วง) ที่วัดท่าโพธิ์
       - ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เข้าศึกษาอบรมในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมชั้นตรีและในปีเดียวกันก็ะสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค ในสำนักเรียนวัดราชาธิวาสวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖
       - ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค สำนักเรียนเดิม และก็ได้หยุดสอบ เพราะถือคติโบราณที่ว่าไม่ให้เหนืออาจารย์เพราะพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) ท่านสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
       - ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้เข้าเรียนหนังสือไทยแผนกวิชาครู ตามหลักสูตรของมหามกุฎราชวิทยาลัย ในสำนักพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) ที่วัดท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัด         นครศรีธรรมราช สำเร็จวิชาหนังสือไทยชั้นฝึกหัดครูมูล จากสำนักวัดท่าโพธิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘

สมณศักดิ์

  • พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นที่พระปลัดฐานานุกรมในพระอริยกระวี (เซ่ง อุตฺตโม)
  • พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นที่พระครูปริตร ฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาวโรรส
  • พ.ศ. ๒๔๖๒ ลาออกจากสมณศักดิ์
  • พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นที่พระครูปลัดศีลวัฒน์ ฐานานุกรมในพระธรรมโกษาจารย์ (ม่วง รตนทฺธโช)
  • พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นที่พระครูปลัดศรีธรรมวัฒน ฐานานุกรมในพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) 
  • พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูเหมเจติยานุรักษ์
  • พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศรีธรรมประสาธน์มหาธาตุเจติยานุรักษ์ สังฆปาโมกข์
  • พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม
  • พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระศรีธรรมประสาธน์ มหาธาตุเจติยานุรักษ์ ธรรมิกคณิสสร บวสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระรัตนธัชมุนี ศรีธรรมราชธรรมสาธก ตรีปิฎกคุณาลังการ ศีลสมาจารวินัยสุนทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

มรณภาพ

       พระรัตนธัชมุนี  (แบน คณฺฐาภรโณ) มรณภาพด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลา ๑๐.๔๙ น. สิริอายุได้ ๙๓ ปี ๒๕๓ วัน ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่กุฏิ ณ นคร ๑ แล้วย้ายไปไว้ที่พระวิหารธรรมศาลา จนกระทั่งออกเมรุวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นโกศจากโกศโถเป็นโกศแปดเหลี่ยม (เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง) และเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพระมหาธาตุวร มหาวิหาร   

ภาพสืบค้นจาก : http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=16382.0;language=english

ภาพสืบค้นจาก : https://www.thairath.co.th/content/955772

ภาพสืบค้นจาก : https://www.thairath.co.th/content/955772

       เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค. พ.ศ. ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชอัญเชิญสังฆทาน ถวายแด่พระเทพวินยาภรณ์ เจอัญเชิญสังฆทาน ถวายแด่พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (Wat Phramahathat Woramahawihan)
ที่อยู่
ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัด
นครศรีธรรมราช
ละติจูด
8.4110038
ลองจิจูด
99.963948



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. (2558). พระบรมธาตุมรดกโลก. นครศรีธรรมราช : ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช.
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (2553). พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช มหาสถูปแห่งคาบสมุทรภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
พระบรมธาตุเจดีย์สู่มรดกโลก “เกิดมาหนึ่งชาติ ขอกราบพระธาตุเมืองคอน”. (2559). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก http://review.tourismthailand.org/watphramahatard/
เพจเครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช. (2561). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก https://www.facebook.com/pg/
        เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร-นครศรีธรรมราช-1697657507119723/
เพจวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช. (2561). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก https://www.facebook.com/
          วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร-นครศรีธรรมราช-1421895998024920/
เพจหลงเสน่ห์อาคารเก่า. (2561). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก https://www.facebook.com/หลงเสน่ห์อาคารเก่า-351361438298141/
ภาพอดีตพระบรมธาตุเจดีย์-ในโอกาสพิเศษที่พระบรมธาตุเจดีย์เมืองคอนเข้าบัญชี สู่ “มรดกโลก”. (2559). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก http://www.gotonakhon.com/?p=12625
วัดพระธาตุ นครศรีธรรมราช. (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก https://www.paiduaykan.com/76_province/south/nakhonsithammarat/watpratad.html
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. (2559). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก http://ชบา.com/วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร-เมืองนครศรีธรรมราช
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. (2557). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก http://palm1616.blogspot.com/p/1.html
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. (2561). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก http://phramahathat-heritage.com/
วิกิพิเดียสารานุกรมเสรี. (2561). วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
วิกิพิเดียสารานุกรมเสรี. (2561). พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ). สืบค้นวันที่ 2 ส.ค.60, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/พระรัตนธัชมุนี_(แบน_คณฺฐาภรโณ)
สวัสดิ์ รัตนเสวี, รวบรวม. (2525). ตำนานพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช] : ส พยุงพงศ์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024