ประเพณีสารทเดือนสิบ (Ten Month Tradition)
 
Back    01/05/2018, 11:01    153,711  

หมวดหมู่

วัฒนธรรม


ประวัติความเป็นมา

       คำว่า “สารท” เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า “ฤดู” ซึ่งฤดูสารทนี้เป็นฤดูที่พืชผักผลไม้ ข้าวจ้าว ข้าวสาลี เริ่มออกผลเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผู้ที่ต้องการให้พืชพันธุ์ธัญญาหารของตนเจริญงอกงามดี ก็ได้นำพืชพันธุ์เหล่านั้นไปถวายสิ่งที่ตนเองเคารพนับถือ คนสมัยโบราณจะมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลแรกให้แก่ผีสาง เทวดา เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อเวลาต่อมาได้รับเอาความเชื่อในศาสนาพราหมณ์อินดูและศาสนาพุทธ จึงเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา ต่อมาประเพณีสารทได้เปลี่ยนความเชื่อถือไปตามกาลเวลาและความเชื่อในท้องถิ่นต่าง ๆ บางแห่งเชื่อว่าการทำบุญวันสารทก็เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษและผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งก็เป็นประเพณีการทำบุญเนื่องจากว่างภารกิจไร่นาจึงถือโอกาสทำบุญครั้งใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

       ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ประชาชนในภาคใต้ของไทย ที่รับมาจากอินเดียโดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับชนชาติอินเดีย โดยวัฒนธรรมและอารยธรรมอินเดียส่วนใหญ่ถ่ายทอดมากับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีประเพณีที่เรียกว่า “เปตพลี” เป็นประเพณีที่จัดขึ้นอุทิศแก่ผู้ตาย คำว่า “เปต” นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี ตรงกับคำว่า “เปรต” ในภาษาสันสกฤต แปลว่าผู้ไปก่อน อันหมายถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ซึ่งในความเชื่อถ้าตอนมีชีวิตอยู่บนโลกเป็นคนดีมีคุณธรรม พระยายมจะพาวิญญาณไปสู่แดนอันเป็นอันเป็นที่สุข แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะพาไปลงนรกแดนอเวจี ดังนั้นลูกหลานเกรงว่า บรรพบุรุษของตนที่ตายไปอาจจะตกนรก วิธีการช่วยไม่ให้บรรพบุรุษเหล่านั้นตกนรก คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้เรียกว่า "พิธีศราทธ์" (ศราทธ์เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่าสารท) ซึ่งได้กำหนดวิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ซึ่งเรียกว่าทำบุญทักษิณานุปทานหรือเปตพลี

         ส่วนในความเชื่อของชนชาติไทยนั้นก็จะมีการเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายายที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล ก็เป็นความเชื่อเดียวกับความเชื่อของอินเดียจะต่างกันอยู่ที่ผีปู่ย่าตายายของไทยมักอยู่ตามบ้านเรือนของลูกหลาน ส่วนผีบรรพบุรุษของชาวอินเดียเมื่อตายแล้วจะเผาภายใน ๑๐ วัน และเชื่อว่าร่างกายถูกไฟเผาจะอ่อนปวกเปียก แต่เมื่อลูกหลานทำพิธีศราทธ์ให้แล้วจะมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น

จุดมุ่ของประเพณีงหมาย

       ประเพณีสารทเดือนสิบ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความยินดีที่ได้รับผลผลิตจากการเพาะปลูกในแต่รอบปี และเป็นการบำรุงศาสนาด้วยการอุทิศถวายอาหาร พืชผลแรกได้ตามฤดูกาล แด่พระสงฆ์และอุทิศส่วนกุศลแก่บิดามารดาปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งยังเป็นการทำบุญเพื่อเสริมสิริมงคลแก่เรือกสวนไร่นา ซึ่งจะทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ตามความเชื่อที่ว่าพญายมจะปล่อยวิญญาณของบิดามารดาปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว มาพบลูกหลานเป็นเวลา  ๑๕ วัน และต้องกลับไปเมืองนรกอีกครั้งในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ความเป็นมาของการจัดงานประเพณีสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช

      งานเทศกาลเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการซึ่งชำรุดมากแล้ว โดยในช่วงนั้นพระภัทรนาวิก จำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) ซึ่งเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมกันจัดงานประจำปีขึ้นพร้อมทั้งมีการออกร้าน และมหรสพต่าง ๆ โดยมีระยะเวลาในการจัดงาน ๓ วัน ๓ คืน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางจังหวัดได้ย้ายสถานที่จัดงานจากสนามหน้าเมืิอง ไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งมีบริเวณกว้าง และได้มีการจัดตกแต่งสถานที่ ไว้อย่างสวยงาม ความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวใต้โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช เชื่อว่าบรรพบุรุษปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้วหากทำความดีไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่วก็จะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้ในแต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ (รับเปรต) คนที่มีบาปกรรมทั้งหลายที่เรียกว่าเปรต จะได้ปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมารับส่วนบุญ จากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกดังเดิมก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ส่งเปรต) ในช่วงเวลานี้ลูกหลานที่มีความกตัญญูก็จะนำอาหารไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นจึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้ และเชื่อว่าหากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้ว ญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข อีกประการหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือนสิบนี้ ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญ เพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก

การจัดหฺมฺรับ

        คำว่า "หฺมฺรับ" หรือ "มฺรับ" หมายถึงสำรับนั่นเอง ประเพณียกหฺมฺรับเป็นประเพณีที่ทำขึ้นในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ ในยกหฺมฺรับหรือการจัดหฺมฺรับนั้นมักจัดกันเฉพาะครอบครัวหรือจัดรวมกันในหมู่ญาติและจัดเป็นกลุ่ม ภาชนะที่ใช้จัดหมรับนิยมใช้กระบุงหรือเข่งสานด้วยตอกไม้ไผ่ ขนาดเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของหมรับ ปัจจุบันใช้ภาชนะหลายชนิด เช่น ถาด กระเชอ กะละมัง ถัง หรือภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ การจัดหมรับเป็นการบรรจุ ประดับด้วยสิ่งของอาหารขนมเดือนสิบและอื่น ๆ  โดยจัดเป็นชั้น ๆ ดังนี้                    

       - ชั้นล่างสุด จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้งลงไว้ที่ก้นภาชนะ ได้แก่ ข้าวสาร แล้วใส่พริก เกลือ หอม กระเทียม กะปิ น้ำเปล่า น้ำตาล มะขามเปียก รวมทั้งบรรดาปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม กุ้งแกง เครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น

        - ชั้นที่ ๒ จัดบรรจุอาหารประเภทพืชผักที่เก็บไว้ได้นานใส่ขึ้นมาจากชั้นแรก ได้แก่ มะพร้าว ขี้พร้า หัวมันทุกชนิด กล้วยแก่ ข้าวโพด อ้อย ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ รวมทั้งพืชผักอื่นที่มีในเวลานั้น

       - ชั้นที่ ๓ จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย หมาก พลู กานพลู การบูร พิมเสน สีเสียด ปูน ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน

      - ชั้นที่ ๔ หรือชั้นบนสุด ใช้บรรจุขนมสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการจัดหมฺรับคือขนม ๕ อย่าง ประกอบด้วยขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมเหล่านี้มีความหมายในการทำบุญเดือนสิบซึ่งจะขาดเสียมิได้เพราะบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในรกภูมิ ซึ่งขนม ๕ อย่างจะเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งของที่ส่งไปให้บรรพบุรุษ ประกอบด้วย

       ขนมพอง ขนมพองเป็นสัญลักษณ์แทนเรือหรือแพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพเพราะขนมพองมีลักษณะแผ่จึงเปรียบเสมือนแพ ที่มีน้ำหนักเบาลอยน้ำ และขี้ข้ามได้

       ขนมลา  ขนมลาเป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เพราะขนมลามีลักษณะเป็นเส้นใยเสมือนใยที่ถักทอเป็นผืนผ้าแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม

       ขนมบ้า ขนมบ้าเป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เป็นของเล่นต้อนรับสงกรานต์ เพราขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมมากในสมัยก่อน

       ขนมดีซำ ขนมดีซำเป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย เพราะมีรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย

      ขนมกงหรือขนมไข่ปลา ขนมกงหรือขนมไข่ปลาเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เพราะมีทรงกลมคล้ายกำไล แหวน

พิธีกรรม

       การจัดงานประเพณีเดือนสิบ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะจัดขึ้นและยิ่งใหญ่ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ในส่วนของพิธีกรรมจะจัดขึ้นตั้งแต่วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งชาวเมืองนครศรีธรรมราช จะเตรียมซื้อข้าวของ ทั้งอาหาร ผลไม้ ขนม เพื่อเตรียมจัดหมฺรับ (สำรับ) นอกจากนี้จะซื้อของเล่นต่าง ๆ อาทิ ตุ๊กตา เตรียมแจกแก่เด็กเล็ก ลูกหลาน ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเรียกวันยกหมฺรับ ก็จะนำหมรับและอาหารหวานคาวต่าง ๆ ไปที่วัดเพื่อถวายพระสงฆ์ ในการยกหมฺรับ จะมีการจัดขบวนแห่ มีดนตรีนำหน้าขบวน นอกจากนี้มีการนำอาหารและขนมเดือนสิบ ตามประเพณีโบราณ รวมทั้งเงินหรือเหรียญสตางค์ไปวางตามที่ต่าง ๆ เช่น ริมกำแพงวัด โคนต้นไม้ เพื่อแผ่ส่วนกุศลอุทิศแก่ผู้ล่วงลับที่ปราศจากญาติ หรือญาติที่ไม่ได้มาร่วมทำบุญในวันนี้ เรียกว่า “ตั้งเปรต” การตั้งเปรตในระยะหลังนี้นิยมสร้างเป็นร้านขึ้นมาในบริเวณลานวัด เพื่อให้ผู้คนจะได้นำอาหารและขนมมาวางได้อย่างสะดวก ร้านที่สร้างขึ้นมาเรียกว่า “หลาเปรต” (หลาเป็นภาษาปักษ์ใต้แปลว่าศาลา) หลังจากตั้งเปรตแล้วพระสงฆ์จะสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ ก็จะกรวดน้ำเพื่อแผ่ส่วนบุญ แล้วจึงเก็บสายสิญจน์ที่ที่ตั้งเปรต จากนั้นผู้คนทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก ๆ ก็จะเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรต เนื่องจากมีความเชื่อว่าการกินอาหารและขนมในพิธีบุญจะได้กุศลอย่างแรง เป็นสิริมงคลแก่ตอนเองและครอบครัว การเข้าไปแย่งอาหารหรือขนมที่เป็นเครื่องบูชาจะเรียกว่า "ชิงเปรต" กิจกรรมที่กระทำในวันนี้มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องและผู้อื่นที่ล่วงลับแล้ว การทำบุญวันนี้ถือเป็นการทำบุญสำคัญเพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติพี่น้องและผู้ล่วงลับไปแล้วกลับสู่เมืองนรก ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า “วันส่งตายาย” การทำบุญวันนี้เพื่อบรรพบุรุษจะไม่อดอยากหิวโหย เมื่อกลับสู่นรก ถ้าลูกหลานไม่ทำบุญในวันส่งตายายนี้จะถูกถือว่าเป็นคนอกตัญญู


ความสำคัญ

        ประเพณ๊วันสารทเดือนสิบเป็นวันที่ถือคติและความเชื่อที่สืบกันมาว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้ และเชื่อว่า หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้ว ญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข อีกประการหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมทำนา ทำไร่ เป็นอาชีพหลักในช่วงเดือนสิบนี้ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงามและรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุกจึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญ เพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยถือเป็นคติว่าปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ ยังชีพด้วยการเกษตรชื่นชมยินดีในพืชของตน ประกอบด้วยเชื่อกันว่าในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลาน ญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์ จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปไห้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้อง ลูกหลาน ที่ล่วงลับไปโดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัดเรียกว่า “ตั้งเปรต”ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น “การชิงเปรต” ในเวลาต่อมา

   ประเพณีวันสารทเดือนสืบจัดเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ความสมัครสมานสมัคคีของผู้คนในชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือการอนุรักษ์สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของชาวปักษ์ใต้ และของชาติด้วย

การปีนเสาเปตรของวัดเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

การประกวดหฺมฺรับที่วัดคลองแห

 


บทบาทต่อสังคม

ความมุ่งหมายของประเพณีสารทเดือนสิบ

       ประเพณีสารทเดือนสิบ มีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ กับ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ได้ล่วงลับไปแล้ แต่ด้วยเหตุที่วิถีชีวิตของชนชาวภาคใต้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช เป็นวิถีชีวิตแห่งพระพุทธศาสนา และเป็นสังคมเกษตรกรรม ประเพณีสารทเดือนสิบ จึงมีความมุ่งหมายอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย อาทิ

       ก)  เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับพ่อ แม่ ปู่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง หรือบุคคลอื่นผู้ล่วงลับไปแล้ว

      ข) เป็นการทำบุญด้วยการเอาผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปเป็นอาหารถวายพระสงฆ์ รวมถึงการจัดหมฺรับ ถวายพระในลักษณะของ “สลากภัต” นอกจากนี้ยังถวายพระในรูปของผลผลิต ที่ยังไม่แปรสภาพเพื่อเป็นเสบียงแก่พระสงฆ์ช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวและเพื่อผลในการประกอบอาชีต่อไป

       ค) เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี 

กิจกรรมในการประกอบพิธี

        การทำบุญวันสารทประเพณีสารทเดือนสิบ หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "วันชิงเปรต." นั้น เดือนสิบหรือราว ๆ เดือนกันยายน จะมีทำบุญเดือน ที่วัด ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑  วันแรม  ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ที่เรียกว่า "วันรับเปรต" ครั้งที่ ๒  วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ที่เรียกว่า "วันส่งเปรต" ในการทำบุญทั้งสองครั้ง เป็นการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ไปตกอยู่ในเปรตภูมิ ซึ่งเป็นคติของศาสนาพราหมณ์ที่ผสมในประเพณีของพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะนิยมกลับไปทำบุญที่วัดที่ซึ่งภูมิลำเนาของตนหรือของฝ่ายสามีภรรยา ซึ่งอาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่ง ฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบอาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิดได้มีโอกาสได้กลับมาพบปะสังสรรค์และรู้จักวงศาคณาญาติของตนเพิ่มขึ้น

 

การปราศรัยในเทศกาลทำบุญสารทเดือนสิบของปราชญ์ผู้รู้ในชุมชน


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีสารทเดือนสิบ (Ten Month Tradition)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

นิตยา กนกมงคล. (2552). "งานบุญสารทเดือนสิบ: เวลาแห่งการอุทิศ" คุณธรรม จริยธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. กรุงเทพ : กรมศิลปากร.

ประเพณีวันสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช. (2555). สืบค้นวันที่ 16 ก.ค. 61, จาก http://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=4796

สารทเดือนสิบ. (2559). สืบค้นวันที่ 16 ก.ค. 61, จาก http://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=88

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. (2541). มรดกของชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.

สารทเดือนสิบ. (2550). สืบค้นวันที่ 16 ก.ค. 61, จาก https://archive.clib.psu.ac.th/online-exhibition/sartsip/sart10.html

สุดใจ สุขคง. (2556). อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้. นครศรีธรรมราช : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024