การละหมาด
 
Back    03/05/2023, 15:21    5  

หมวดหมู่

วัฒนธรรม


ประวัติความเป็นมา

             
https://www.openbase.in.th/files/u10/prapayneethai736.jpg

               ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งจิตใจ ศาสนาแห่งความรู้สึกนึกคิดและศาสนาแห่งการปฏิบัติ มุสลิมจะต้องปฏิบัติศาสนกิจด้วยจิตใจอันมั่นคง และศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด ในบรรดาศาสนิกที่ต้องปฏิบัติมีอยู่ประการหนึ่ง ที่นับว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือการทำพิธีละหมาด หรือการละหมาดหรือการทำชำบะห์ยังหรือนมาซ การละหมาดหรือละหมาด หรือนมาซ มาจากคําภาษาอาหรับว่า “อัซซอลาห์” แปลว่าการขอพร การละหมาดคือการแสดงความเคารพต่อพระเจ้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นศาสนกิจประจําวันที่สําคัญที่สุดของศาสนาอิสลามประดุจเสาหลักของศาสนา ดังนั้นการละหมาดที่มุสลิมปฏิบัติตราบจนทุกวันนี้เป็นรูปแบบที่ท่านศาสดาปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างพระเจ้า (อัลเลาะห์) ได้ทรงบัญญัติเกี่ยวกับการละหมาดไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอาน
                   การละหมาดหรือการทำชำบะห์ยัง คือการนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมุสลิมทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงที่บรรลุศาสนภาวะแล้วจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด โดยกำหนดว่าในวันหนึ่ง ๆ นั้น จะต้องปฏิบัติ ๕ เวลา คือ

๑. เวลาย่ํารุ่ง เรียกว่า ละหมาดอัซซุมฮ์ (ซูโบะฮ์)  ๒ รอกาอัต
๒. เวลากลางวัน เรียกว่า ละหมาดอัซซุฮรี่ (ซอโฮร์)  ๔ รอกาอัต
๓. เวลาเย็น เรียกว่า ละหมาดอัชรี (อาซาร์) ๔ รอกาอัต
๔. เวลาพลบค่ำ เรียกว่า ละหมาดมักริบ (มักริบ) ๓ รอกาอัต
๕. เวลากลางคืน เรียกว่า ละหมาดอีซา (อีซอ)  ๔ รอกาอัต

               รอกาอัต หมายถึงการกราบหลังจากการยืนตรง ๑ ครั้ง คือยืนตรง ก้มลง ครึ่งตัว และการกราบด้วยการให้อวัยวะทั้ง ๗ คือหน้าผาก ฝ่ามือทั้งสองข้าง เข่าสองข้าง และปลายเท้าทั้งสองข้างจดลงพื้น เสร็จแล้วยืนตรงอีก เรียกว่า ๑ รอกาอัต หรือภาคเคารพหนึ่ง การปฏิบัติในการละหมาดมี ดังนี้

 ๑. เมื่อถึงเวลาละหมาด ที่มัสยิดจะมีการกล่าวเชิญชวนให้ไปละหมาด โดยเจ้าหน้าที่ของมัสยิด เรียกว่า “บิลาล” จะกล่าวในมัสยิดหรือบนหอคอย บางมัสยิดก็กล่าวเชิญชวนผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อให้ชาวบ้านได้ยินโดยทั่วกัน
๒. ก่อนละหมาด ผู้ละหมาดจะต้องอาบน้ําละหมาด คือการล้างฝ่ามือ ล้างหน้า ล้างแขนทั้งสองข้าง เอาน้ําเช็ดส่วนหนึ่งของศีรษะหรือผมและล้างเท้าทั้งสองข้าง
๓. การแต่งกายสําหรับละหมาด ผู้ชายจะต้องมีเสื้อผ้าที่สะอาดเรียบร้อย ปิดระหว่างสะดือกับหัวเข่าเป็นอย่างน้อย ส่วนผู้หญิงจะต้องปิดมิดชิด จะเปิดได้เฉพาะใบหน้า และฝ่ามือเท่านั้น (ชําเลือง วุฒิจันทร์ และคณะ, ๒๕๓๑ : ๕๗)

                สําหรับสถานที่ที่จะทําการละหมาดนั้น จะละหมาดที่ใดก็ได้ ขอให้เป็นที่สะอาดไม่จําเป็นต้องเป็นที่มัสยิดหรือสุเหร่า แต่สําหรับละหมาดวันศุกร์และวันตรุษนั้นโดยพฤตินัย จะละหมาดกันที่มัสยิดหรือสุเหร่า คือที่ตั้งของ “กะบะฮ์” ในนครเมกกะ การละหมาดทั้งหมดนั้นทุกคนจะต้องหันหน้าไปจุดเดียว การละหมาดสําหรับเพศหญิงนั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องทําละหมาด คือในขณะที่หญิงมีประจําเดือน หรือมีเลือดหลังคลอดบุตร แต่ต้องทําชดเชยเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนการละหมาดในวันศุกร์นั้นเป็นวันสําคัญทางศาสนาอิสลามเป็นอย่างยิ่งชายมุสลิมต้องไปร่วมทําละหมาดที่มัสยิด ซึ่งถือว่าเป็นการละหมาดรวมครั้งสําคัญในรอบสัปดาห์ไม่เหมือนกับการละหมาดประจําวัน ละหมาดวันศุกร์ถือเอาช่วงเวลากลางวันหรือช่วงของละหมาดซอโฮร์มาแทน โดยในวันนั้นจะไม่มีการละหมาดซอโฮร์เหมือนกับที่เคยปฏิบัติมา ในวันศุกร์ก่อนจะทําการละหมาดนั้นจะเริ่มด้วยพิธี “คุตบะฮ์” หรือ “คุฏบะฮฺ” หมายถึงการอ่านบทความ บทบัญญัติต่าง ๆ ให้ผู้ที่ทําละหมาดได้รู้สํานึกและปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง ตามที่พระอัลเลาะห์ได้กําหนดไว้และตามที่ศาสนาได้สั่งสอนเอาไว้ตลอดจนละเว้นการปฏิบัติชั่วร้ายทั้งหลาย เมื่ออ่านเสร็จแล้วจึงเริ่มทําการละหมาด ๒ รอกาอัต ในการละหมาดถ้าไม่มีน้ําละหมาดให้ผู้ที่จะละหมาดใช้ “ตะยัมมุม” หมายถึงเอาฝุ่นดินที่สะอาดทาแทนน้ําได้ 
        นอกจากการละหมาด ๕ เวลาดังกล่าวนี้แล้ว ในรอบสัปลาห์หนึ่งชายทุกคนจะต้องไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิดหรือสุเหร่าหนึ่งครั้ง คือในวันศุกร์เวลาบ่าย การละหมาดที่มัสยิดนี้ใช้แทนละหมาดดุโฮร์ได้ ถ้าละหมาดวันศุกร์แล้วก็ไม่ต้องละหมาดดุโฮร์อีกในวันนั้น สำหรับหญิงนั้นไม่บังคับแต่ถ้าผู้ใดจะไปร่วมละหมาดด้วยก็ได้ และถือว่าเป็นการดีได้ผลบุญมาก ก่อนจะทำการละหมาดในแต่ละครั้งจะต้องชำละล้างร่างกายให้สะอาดเสียก่อน เช่น ล้างมือทั้งสองข้างให้สะอาดจากการจับต้องสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีก็ตาม ต้องล้างปากให้สะอาดจากสิ่งที่รับประทานให้สะอาดหรือจากการใช้วาจาหยาบคายต่าง ๆ ล้างหน้าให้สะอาดจากฝุ่นละออง สะอาดจากการมองดูสิ่งผิดศีลธรรม ล้างแขน (ตั้งแต่ข้อศอกลงไป) ให้สะอาดจาการโอบอุ้มแบกหาบสิ่งผิดศีลธรรม ล้างศีรษะให้สะอาดจากการทูนสิ่งของผิดศีลธรรม ล้างหูให้สะอาดจากการได้ยินได้ฟังการนินทาและวาจาหยาบคายจากผู้อื่น ล้างเท้า (ตั้งแต่ตาตุ่มลงไป) ให้สะอาดจากการเดินไปในสถานที่ผิดศีลธรรมหรือจากการเหยียบย่ำสิ่งสกปรกทั้งหมด  ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวนั้นจะต้องให้ล้างอย่างน้อยวันละ ๓ ครั้ง หรือจะล้างน้อยกว่านั้นก็ได้แต่จะได้ผลบุญน้อยกว่า  การทำละหมาดดังกล่าวมานี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติเป็นประจำและถือเป็นภารกิจในแต่ละวัน แต่ก็มีการทำละหมาดประเภทอื่น ๆ อีกมากมายทั้งที่เป็นภารกิจหลักก็มีและที่เป็นอดิเรกก็มี อาทิ 

๑. การทำละหมาดวันศุกร์ ซึ่งถือว่าเป็นการทำละหมาดของชุมชน
๒. การทำละหมาดขอฝน
๓. การทำละหมาดเมื่อมีปรากฏการณ์สุริยคราส
๔. การทำละหมาดเมื่อมีปรากฏการณ์จันทรคราส
๕. การทำละหมาดยามวิกาล

 


ภาพจาก : https://islamthailandd.blogspot.com/2013/09/blog-post_14.html

               โดยหลักการแล้วมุสลิมต้องทำละหมาดวันละ ๕ เวลา แต่การละหมาดก็มิใช้เวลามากมายนักเพียง ๕-๑๐ นาทีก็พอ กล่าวคือการทำละหมาดแต่ละครั้งไม่สิ้นเปลืองเวลาหรือทำให้หัวใจเหนื่อยล้าแต่ประการใด แต่กลับทำให้จิตใจสดชื่นบริสุทธิ์ และเป็นการฝึกจิตฝืกสมาธิซึ่งอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ทำเป็นอย่างยิ่ง อนึ่งในการทำศพมุสลิมนั้นจะมีการละหมาดให้แก่ศพด้วย กล่าวคือเมื่ออาบน้ำและห่อศพเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำพิธีละหมาดให้แก่ศพ ผู้ที่จะทำพิธีละหมาดให้นั้นจะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 3 คน แต่ถ้ายิ่งมากเท่าใดก็ยิ่งดีนั้น การทำละหมาดนั้นทำได้ทุกสถานที่แม้มิใช่มัสยิดขอแต่ให้มีความสะอาดเท่านั้น สถานที่ทำงานก็ทำได้ จะทำคนเดียวหรือเป็นหมู่คณะก็ได้ การทำละหมาดทุกคนต้องผินหน้าไปเมืองมักกะฮฺ สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่าเมืองมักกะะอยู่ทางทิศตะวันตก มุสลิมในประเทศไทยจึงทำละหมาดโดยการผันหน้าไปทางทิศตะวันตก การทำเช่นนั้นมิใช่บูชาสิ่งอื่นใด แต่เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นทางศาสนาของมุสลิมทั่วโลกรวมกันอยู่ที่นั่น การละหมาดที่นอกเหนือจาก ๕ เวลา ประกอบด้วย
                 -
 ละหมาดซุนนะห์ (ซูนะ) คือ ละหมาดที่ไม่บังคับ แต่ถ้าปฏิบัติแล้วจะได้บุญ หากไม่ปฏิบัติก็ไม่บาป ได้แก่
                    
๑. ละหมาดก่อนหรือหลังละหมาดประจําวัน
                    ๒. ละหมาดให้เกียรติแก่มัสยิด
                    ๓
. ละหมาดในวันตรุษ “อีดิลฟิฏรี” วันฮารีรายอ หลังจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
                    ๔
. ละหมาดในวันตรุษ “อีดิลอัฎฮา” วันรายอฮัจยีและละหมาดขอพร


ภาพจาก : https://islamthailandd.blogspot.com/2013/09/blog-post_14.html


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
การละหมาด
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

วสันต์ ชีวะสาธน์. (2544). รานงานการวิจัยสถาปัตยกรรมทางศาสนาของชุมชนชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี. 
          สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024