ภาพจาก : Suntaree Sungayut เล่าเรื่องเมืองตรัง : ปืนใหญ่เมืองตรัง ตอนที่ ๒ ; https://link.psu.th/XhdbA4
จากโพสต์ของ Suntaree Sungayut เล่าเรื่องเมืองตรัง : ปืนใหญ่เมืองตรัง ตอนที่ ๓ ได้กล่าวว่า.... เมืองตรังในอดีตเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันตกหรือทะเลหน้านอก อยู่ในกำกับของนครศรีธรรมราช มีกองกำลังทัพเรือ รวมทั้งปืนใหญ่ สำหรับควบคุมหัวเมืองมลายูและเฝ้าระวังข้าศึก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ปี พ.ศ. ๒๓๒๗ มีตราสารตั้งเจ้าพระยานครฯ (พัด) และให้มีกองกำลังพร้อมอาวุธดังความว่า "... เมืองตรังและเมืองสงขลาเป็นเมืองปลายด่านแดนต่อด้วยเมืองไทร เมืองปัตตานี และเมืองแขกทั้งปวงยังมิสงบราบคาบ ให้แต่งขุน หลวงหมื่น ข้าทะแกล้วทหารโดยควร กอร์ปไปด้วยปืน กระสุน ดินประสิว .ต่อมาเมื่อตั้งเมืองที่เกาะลิบง พระยาลิบง และหลวงฤทธิสงคราม ก็ได้ซื้อปืนไว้ใช้งานถึง ๑๓ กระบอก แต่ภายหลังถูกแบ่งปันไปยังเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ปี พ.ศ. ๒๓๕๒ เกิดศึกถลาง กำลังทั้งจากส่วนกลางและหัวเมืองภาคใต้มาช่วยรับศึก ชุมนุมทัพกันที่เกาะลิบง พร้อมกับรวบรวมปืนใหญ่จากเมืองต่าง ๆ มาสมทบ แต่ยังไม่พอทางเมืองนครฯ จึงขอซื้อปืนเพิ่มเติมอีก ๒๖ กระบอก เพื่อใช้ในการศึกครั้งนี้ เมื่อเสร็จศึกแล้วคงมีบางส่วนเก็บไว้ที่เมืองตรัง ซึ่งขณะนั้นมีด่านสำคัญอยู่ที่ควนทองสีห์กันตัง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ เจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครฯ ได้ปรับปรุงตำแหน่งกรมการเมืองทั้งหมดรวมทั้งเมืองตรัง ซึ่งตั้งเมืองที่ตำบลควนธานี และมีหน่วยราชการเพิ่มเป็นพิเศษต่างไปจากเมืองอื่นคือกรมปืน ในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ไทรบุรีเกิดแข็งเมือง เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้คุมกำลังหัวเมืองภาคใต้ไปปราบได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขนปืนใหญ่ทั้งหมดมาไว้ที่เมืองตรัง เข้าใจว่าคงจะนำมาไว้ประจำด่านที่ควนทองสีห์ และควนธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งเมือง ยืนยันได้จากคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จฯ ประพาทเมืองตรังที่ควนธานีเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ยังทรงพระราชนิพนธ์ ถึงปืนใหญ่เมืองตรังไว้ว่า “ ..... ลืมกล่าวเสียอย่างหนึ่งถึงเรื่องปืนใหญ่ มีปืนเหล็กอย่างเขื่องทิ้งอยู่ที่ริมศาลเจ้าข้างทางบนควนธานีสี่บอก อยู่ที่ควนยายทองสีกี่บอกเห็นไม่ถนัด มีโรงจากคลุมอยู่ว่าเปนปืนครั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ไปตีเมืองไทรได้มาทิ้งไว้ที่นี่ ยังมีปืนทองเหลืองอย่างเช่นแห่นำตามเสด็จอีกสองบอก ทิ้งอยู่ที่โรงริมที่พักข้าหลวง ว่าเปนปืนครั้งเมื่อจีนวุ่นวายที่เมืองภูเก็จ .....” ปืนทองเหลืองปัจจุบันอยู่ที่บันไดหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรัง ไม่ชัดเจนว่านำมาไว้ที่สถานีตำรวจแต่ครั้งใด นอกจากนี้ยังมีอีก ๒ กระบอกที่วัดกะพังสุรินทร์ ได้มาจากตำบลปะเหลียนหรือเหลียนใน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่า ๆ สอดคล้องกับที่ว่าบริเวณนั้นเคยเป็นที่ตั้งเมืองสมัยอยู่ในกำกับของพัทลุง....
ตรังเป็นชื่อจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๒๘ กม. มีพื้นที่ประมาณ ๔,๙๑๗.๕๑๙ ตร.กม. หรือประมาณ ๓,๐๘๘,๓๙๙.๓๗๕ ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ คือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ |
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย |
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอควนขนุน อำเภอกงหรา และอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง |
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอคลองท่อม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย |
คำว่า "ตรัง" นั้นได้มีผู้อธิบายความหมายเอาไว้หลายทางด้วยกัน เช่น
๑. ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า "ตรัง" เป็นภาษาโบราณ แปลว่า ติดอยู่ ส่วนคำว่า "ตรังค์" และ "ตรังค" (ออกเสียงตะรัง และตะรังคะ) แปลว่า "ลูกคลื่น" |
๒. คำว่า "ตรัง Terang" มาจากคำว่า "ตรังค" ในภาษามลายูแปลว่า รุ่งอรุณหรือสว่างแล้ว หรือแจ่มแจ้ง จึงตีความว่าเมืองตรังเป็นเมืองแห่งรุ่งอรุณ |
๓. มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ตรงฺคหรือตรังคะ แยกศัพท์เป็น ตร+องฺค แปลตรงตามคำ ตร จาก ตร ธาตุ ว่า ข้าม เดิน หรือเคลื่อนที่ไป องฺค แปลว่า อวัยวะ แปลรวมว่า อวัยวะที่เคลื่อนที่ไปได้ในทะเล กล่าวคือ คลื่นหรือระลอก จึงตีความว่า เมืองตรังเป็นเมืองแห่งคลื่น ซึ่งหมายถึงคลื่นลมในทะเลหน้าเมืองตรัง |
คำว่า "ตรังเค" (Tarangue) ได้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของโปรตุเกส ซึ่งเขียนไว้ในราวปี พ.ศ. ๒๐๕๔ ใน จดหมายเหตุดังกล่าวได้ระบุว่า แม่ทัพเรือของปอตุเกส ชื่ออัลฟองโส เดอ อัลบูเคอร์ก ได้ยกทัพมาตีเมืองมะละกา และเมื่อทราบว่าเมืองนี้เป็นเมืองประเทศราชของไทยก็เลยส่งสาส์นขอโทษไทยมา โดยให้อาชเวโค เป็นผู้เดินทางมาขึ้นบกที่ตรังก่อนแล้วจึงไปลงเรือที่นครศรีธรรมราช เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ในเวลานั้นผู้รู้หลายท่านจึงลงความเห็นว่า "ตรัง" น่าจะมาจากคำว่า "ตรังค์" หรือ "ตรังเค" อันหมายถึงคลื่น หรือรุ่งธรุณนั่นเอง
ตรังตั้งขึ้นเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยใดนั้นไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจน แต่จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดเสมาเมือง ตำบลเวียงศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงเมืองตรัง เอาไว้ในฐานะเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่งว่า "...เมื่อพระยาศรีธรรมโศกราช สร้างเมืองนครศรีธรรมราชที่หาดทรายแก้ว ในปี พ.ศ. ๑๐๙๘ นั้นเมืองนครยังมีเมืองขึ้นอีก ๑๒ เมือง เรียกว่าเมือง ๑๒ นักษัตริย์ ซึ่งได้กำหนดตราประจำเมืองไว้ดังนี้
๑. ตราชวด เมืองสายบุรี เมืองสายบุรีใช้ตราหนู เมืองสายบุรีเป็นเมืองเก่าบนฝั่งแม่น้ำสายบุรี ประกอบด้วยชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นราบริมทะเลหลายแห่ง จัดเป็นหัวเมืองที่ ๑ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราหนู (ชวด) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดปัตตานี |
๒. ตราฉลู เมืองปัตตานี เมืองปัตตานีใช้ตราวัว เมืองตานีเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งรู้จักในหมู่พ่อค้าต่างชาติ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๘ ในชื่อ “ลังกาสุกะ” จัดเป็นหัวเมืองที่ ๒ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราวัว (ฉลู) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานี |
๓. ตราขาล เมืองกลันตัน เมืองกลันตันใช้ตราเสือ เมืองกลันตันเป็นชุมชนเก่าแก่ทางตะวันออกของคาบสมุทรมลายู แต่เดิมประชาชนนับถือศาสนาพุทธและฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จัดเป็นหัวเมืองที่ ๓ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราเสือ (ขาล) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย |
๔. ตราเถาะ เมืองปาหัง เมืองปะหังใช้ตรากระต่าย เมืองปะหังเป็นชุมชนทางตอนล่างของแหลมมลายู ติดกับไทรบุรีหรือเกดะห์ จัดเป็นหัวเมืองที่ ๔ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตรากระต่าย (เถาะ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซีย |
๕. ตรามะโรง เมืองไทรบุรี เมืองไทรบุรีใช้ตรางูใหญ่ เมืองไทรบุรีเป็นชุมชนเก่าทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและบึงตม เดิมประชาชนนับถือพุทธศาสนา ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จัดเป็นหัวเมืองที่ ๕ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตรางูใหญ่ (มะโรง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซียชื่อว่า “เกดะห์” |
๖.. ตรามะเส็ง เมืองพัทลุง เมืองพัทลุงใช้ตรางูเล็ก เมืองพัทลุงเป็นชุมชนเก่าแก่แต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ ได้รับอิทธพลทางพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องทุกยุคสมัย จัดเป็นหัวเมืองที่ ๖ ในทำเนียบสิบสองนักษัตร ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง |
๗. ตรามะเมีย เมืองตรัง เมืองตรังใช้ตราม้า เมืองตรังเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันตก ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ควนธานี ต่อมาได้ย้ายไปที่กันตังและทับเที่ยงตามลำดับ จัดเป็นหัวเมืองที่ ๗ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราม้า (มะเมีย) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดตรัง |
๘. ตรามะแม เมืองชุมพร เมืองชุมพรใช้ตราแพะ เมืองชุมพรเป็นชุมชนเกษตรและท่าเรือบนคาบสมุทรขนาดเล็ก มีประชากรไม่มากนักเนื่องจากดินฟ้าอากาศไม่อำนวยให้ทำมาหากิน จัดเป็นหัวเมืองที่ ๘ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราแพะ (มะแม) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดชุมพร |
๙. ตราวอก เมืองบันทายสมอ เมืองบันทายสมอใช้ตราลิง เมืองบันทายสมอสันนิษฐานว่าเป็นเมืองไชยา ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่มาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นอย่างน้อย มีร่องรอยความเจริญทางเศรษฐกิจและศาสนาพุทธนิกายหินยานและมหายาน รวมทั้งศาสนาฮินดูนิกายไวษณพและนิกายไศวะจำนวนมาก จัดเป็นหัวเมืองที่ ๙ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราลิง (วอก) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี |
๑๐. ตราระกา เมืองสะอุเลา เมืองสะอุเลาใช้ตราไก่ เมืองสะอุเลาสันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าทองอุแทหรือกาญจนดิษฐ์ ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าทอง และลุ่มคลองกะแดะ เคยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงชั้นเอกและเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของนครศรี ธรรมราช จัดเป็นหัวเมืองที่ ๑๐ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราไก่ (ระกา) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
๑๑. ตราจอ เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วป่าใช้ตราสุนัข เมืองตะกั่วป่าเคยเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลตะวันตก เป็นแหล่งผลิตดีบุกและเครื่องเทศมาแต่โบราณ จัดเป็นหัวเมืองที่ ๑๑ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราสุนัข (จอ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา |
๑๒. ตรากุล เมืองกระบุรี เมืองกระบุรี ใช้ตราหมู เมืองกระบุรีเป็นชุมชนเล็ก ๆ บนฝั่งแม่น้ำกระบุรี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า และภูเขาสลับซับซ้อน จัดเป็นหัวเมืองที่ ๑๒ ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราสุกร (กุน) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดระนอง |
ด้วยเหตุที่ตรังเป็นเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเล และเป็นเมืองที่สำคัญมาแต่โบราณ ในตำนานเมืองนครศรีธรรรมราชกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า...พญาโคสีหราชผู้ครองนครบุรีได้ทันดธาตุของพระพุทธเจ้าาไว้ ต่อมาท้าวอังกุตราชเข้าเมืองชัยบุรีอยากได้พระทันตธาตุนั้น จึงยกทัพไปช่วงชิง พญาโคสีหราชคุมทัพออกต่อสู้ พร้อมกับทรงสั่งพระธนกุมารกับนางเหมมาลา (โอรสและธิดา) ว่าถ้าพระองค์พ่ายแพ้ศึกถึงแก่ชีวิตในสงคราม ให้นำพระทันตธาตุหลบหนีไปเมืองลังกา แล้วพระองค์ก็เสียทีแก่ข้าศึกสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระธนกุมารและนางเหมมาลาได้ทราบข่าวว่าพระบิดาสิ้นพระชนม์ จึงนำพระทันตธาตุห่อเกล้าชฎาลงสำเภาหนีไป แต่สำเภาเกิดอัปปางระหว่างทาง พระธนกุมารและนางเหมมาลาจึงขึ้นบกที่หาดทรายแก้ว จึงได้ฝึงพระทันตธาตุไว้ พระมหาเถรพรหมเทพทราบเข้าก็มานมัสการพบกับสองกุมาร รู้ความประสงค์ จึงรับว่าจะช่วยเหลือพร้อมกับสั่งว่าหากมีภัยเกิดขึ้นให้ระลึกถึงท่าน สองกุมารเคารพแล้วลาพระมหาเถรพรหมเทพเเล้วเดินทางต่อไป ถึงเมืองตรังขอโดยสารสำเภาออกจากท่าเรือเมืองตรัง..." ส่วนตำนานนางเลือดขาวได้กล่าวถึงเมืองตรังเอาไว้ว่า "..เมื่อนางเลือดขาวและพระกุมาร ทราบว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชส่งฑูตไปลังกา นางและพระกุมารก็ได้เดินทางมาร่วมกับคณะฑูตที่เมืองตรัง และระหว่างทางได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อวัดพระงาม แล้วลงเรือทีท่าเมืองตรังไปลังกา ขากลับจากลังกานางก็ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งชื่อว่าวัดศรีสรรเพ็ชรพุทธสิหิงค์..."
จากเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในตำนานทั้งสองนี้จะเห็นได้ว่า ที่เมืองตรังนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญในการเดินทางติดต่อกับต่างแดนมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งความเป็นท่าเรือของเมืองตรังนั้นยังมีต่อมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏอยู่ในหลักฐานพระราชพงศาวดารต่าง ๆ ที่กล่าวว่าที่ท่าเมืองตรังมีเรือมารับซื้อช้างแล้วบรรทุกไปขายต่อยังต่างประเทศปีละหลาย ๆ ลำ มาถึงแผ่นดินสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองตรังก็ยังคงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองท่าเรือ สำหรับติดต่อค้าขายกับต่างชาติ และยังเป็นเมืองที่สำคัญในทางยุทธศาสตร์ทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ได้ทรงเป็นกังวลถึงกับได้ทรงกำชับให้พระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) จัดการดูแลเมืองตรังไว้ในตราสารสั่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๗ เอาไว้ว่า "..อย่าให้อ้ายสลัดศัตรูและญวนเหล่าร้ายเล็คลอดเข้ามาจับผู้คน ข้าขอบขัณฑสิมาไปแต่คนหนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว และถ้าพระยานครศรีธรรมราชและกรมการพนักงานประมาทละเมินเสีย มิได้แต่งเรือรบ เรือไล่ ออกลาดตระเวณตามพระราชกำหนดนี้ และอ้ายสลัดศัตรูญวนเหล่าร้ายเล็ดลอดเข้ามาจับผู้คนไปได้ประการใด เจ้าพระชานครศรีธรรมราชและกรมการพนักงานจะต้องมีโทษตามพระราชกำหนด ประการหนึ่งเมืองตรังและเมืองสงขลาเป็นเมืองปลายด่านแดนต่อด้วยเมืองไทร เมืองปีตตานี และเมืองแขกทั้งปวงยังมิสงบราบคาบ ให้แต่งหลวง ขุน หมื่น ข้าทะแกล้วทหารโดยควร กอร์ปไปด้วยปืนกระสุน ดินประสิว..." ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะทางเมืองหลวงเห็นว่าเมืองตรังนั้นมีชัยภูมิที่ได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์ กอร์ปกับเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองนครศรีธรรมราช หากเหล่าร้ายข้าศึกเข้ายึดเมืองตรังได้ จะมีผลกระทบกับเมืองมครศรีธรรมราชและเมืองอื่น ๆ ในบรรดาหัวเมืองภาคใต้อีกด้วย ในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้ทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ ทางด้านพม่าก็เห็นว่าเมืองสยามกำลังอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน คงจะไม่มีเวลาในการเตรียมกองทัพให้เข้มแข็งได้ จึงยกทัพลงมาตีหัวเมืองทางปักษ์ใต้ เมืองตรังในช่วงเวลานั้นได้เป็นสถานที่รวมทัพต่อเรือรบของเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ที่จะยกไปช่วยเมืองถลาง ดังที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า "...เมื่อเดือนสิบเอ็ด ปีมะเส็ง เอกศก ศักราช ๑๑๗๑ (ปี พ.ศ. ๒๓๕๒) อะเติงวุ่นให้แขฆอง คุมนายทัพนายกองและไพร่พลสี่พันลงเรือรบไปตีถลางกองหนึ่ง ให้ดูเรียงสาละกะยอคุมพลสามพันขึ้นที่เมืองระนองตีเมืองตระเมืองชุมพร ครั้นหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานครแล้วทรงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) เป็นแม่ทัพ พระยาท้ายน้ำเป็นทัพหน้า ให้มีตราไปถึงพระยานครศรีธรรมราช ให้เกณฑ์กองทัพไปกับพระยายมราช ช่วยราชการเมืองถลางให้ได้ เจ้าพระยายมราช พระยานครศรีธรรมราช ยกไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองตรังจึงจัดต่อเรือรบอยู่ที่นั้น..." ด้วยการจัดการกองทัพของเมืองนครในสมัยพระยานครศรีธรรมราช ที่ผ่านมาไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะกองเรือที่จะใช้ในราชการสงคราม และเมื่อเกิดศึกในครั้งนี้จึงต้องทำให้เสียเวลาในการต่อเรือเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้พม่าตีเมืองถลางได้เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นเก้าค่ำ หลังจากที่พม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้มีตราสารไปถึงเจ้าพระยายมราช ใจความว่า "...พม่าเข้ามาตีเมืองถลางถึงสองกลับ ถ้าทัพเข้าพระยายมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราช รีบยกไปช่วยเมืองถลางให้ทันก็คงไม่เสียแก่พม่าข้าศึก พม่าไปครั้งนี้มันจะกลับมาตีเมืองตรังเมืองนครอีกดอกกระมัง เมืองตรังก็เป็นเมืองที่ไว้เรือรบเป็นอันมากให้เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราชคิดอ่านจัดการรักษาเมืองไว้ให้จงดี..." ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ หลังเสร็จศึกลางเเล้ว ๒ ปี เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ซึ่งมีความชราและทุพพลภาพได้ขอลาออกจากราชการ เพราะไม่สามารถทำงางานต่อไปได้ ดังนั้นทางกรุงเทพมหานครจึงได้พิจารณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ขึ้นดำรงตำแหน่งพระยานครศรศรีธรรมราช แทนเจ้านคร (พัฒน์) พร้อมกับได้ทรงกำชับให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนใหม่ ดำเนินการจัดเมืองตรังให้อยู่ในสภาพพร้อมรบ หากมีข้าศึกมารุกราน ดังข้อความในตราสาร เรื่องตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์เป็นพระยานครศรีธรรมราชว่า "...อนึ่งเมืองตรังเป็นเมืองล่อแหลมอยู่ที่ฝั่งทะเลตะวันตกจะไว้ใจมิได้ให้พระยานครปรึกษาด้วยกรมการกะเกณฑ์หลวง ขุน หมื่น และชาวด่านคุมเรือรบเรือไล่สรรพไปด้วยปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดินประสิวเครื่องสัตราวุธ ออกไปอยู่พิทักษ์รักษา ประจำคอด่านทั้งกลางวันกลางคืน.." และในสารตราเรืองเมืองตรังภูราของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ที่ได้ให้แก่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจัดการดูแลรักษากองเรือที่เมืองตรังให้อยู่ในสภาพพร้อมรบตลอดเวลา ดังข้อความบางตอนว่า "...ฝ่ายเมืองนครหามีที่ตั้งเป็นกำลังราชการฝ่ายฝั่งตะวันตกไม่และไอ้พม่าที่ยกมาทำแก่เมืองถลางถึงเสียทัพกลับไปว่ามิได้แพ้ด้วยฝีมือ ให้ยกเมืองตรังมาขึ้นแก่เมืองนครตามเดิม ให้พระยานครจัดแจงหลวง ขุน หมื่น กรมการ ที่มีสติปัญญา ชื่อสัตย์ มั่นคง ลงไปตั้งเกลื่อกล่อมแขกไทยมีชื่อให้เข้ามาทำไร่ปลูกยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหาร ทำร่มโรงไว้เรือรบเรือไล่รักษาปากน้ำเมืองตรังภูราไว้..." หลังจากที่พระบริรักษ์ภูเบศร์ได้รับพระกรุณาโปรคเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเป็นพระยานครศรีธรรมราชแล้ว ก็ได้ออกดำเนินการปรับปรุงเมืองตรังด้วยตนเองจนเมืองตรังในระยะนั้นมีความเจริญก้าวหน้า มีเรือต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายปีละหลายลำ สำหรับทางด้านการทหารพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้ปรับปรุงจนเป็นฐานทัพเรือที่มีเรือรบเรือไล่ เข้าประจำการอยู่รวมกันถึง ๓๐๐ ลำ ไว้รักษาปากน้ำป้องกันพม่า และสลัดแขกที่อาจจะมารุกรานได้ อีกทั้งยั้งยังได้จัดหน่วยราชการพิเศษขึ้นในเมืองตรัง ซึ่งต่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช คือได้จัดให้มีกรมปืน ซึ่งเป็นกรมที่มีหน้าที่ในการจัดหาสะสมตลอดจนรักษาปืนไว้ใช้ในราชการสงครามดังทำเนียบกรมการเมืองตรัง ที่ได้จัดการกรมต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอาวุธดังนี ....
ขุนศักดิ์วุธ ว่าการปืนใหญ่ ถือศักดินา | ๕๐๐ |
หมื่นจงสรสิทธิ์ รอง ถือศักดินา | ๔๐๐ |
หมื่นจิตรสรศักดิ์ ปลัด ถือศักดินา | ๔๐๐ |
...ขุนสรพินาศ ว่าการดินกระสุน ถือศักดินา | ๕๐๐ |
หมื่นแผลงพินาศ รอง ถือศักดินา | ๔๐๐ |
หมื่นผลาญพินาศ ปลัด ถือศักดินา | ๔๐๐ |
...ขุนอินทร์นาวา ว่าการเรือรบ ถือศักดินา | ๕๐๐ |
หมื่นทิพนาวา รอง ถือศักดินา | ๔๐๐ |
หมื่นทิพนาวา รอง ถือศักดินา | ๔๐๐ |
หมื่นเทพนาวา ปลัด ถือศักดินา | ๔๐๐ |
เมืองตรังในระยะนี้น่าจะเป็นเมืองหน้าด่านที่มีแสนยานุภาพมากเมืองหนึ่ง กล่าวคือเป็นเมืองที่มีกองเรือรบประจำการอยู่เป็นจำนวนมากประกอบกับได้มีเรือสินค้าจากต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายด้วยหลายครั้ง ดังนั้นเมืองตรังในระยะนี้คงจะได้มีการสะสมอาวุธเอาไว้มากในอัตราที่สมดุลย์กับจำนวนเรือรบ ต่อมาจนถึงสมัยแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) คือในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ เมืองตรังซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่เข้มแข็งมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ถูกหลานพระยาไทรบุรีชื่อตนกูมะหะหมัดสะหัสกับตนกูมะหะหมัดอาเกบได้สมคบกับหวันมาหลี โจรสลัดอยู่ที่เกาะยาวยกพวกเข้าตีเมืองตรัง เมืองสตูล และปะเหลียน พระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองตรังสู้ไม่ได้ จึงพาครอบครัวหนีออกจากเมืองโจรหวันมาหลีขึ้นครองเมืองตรังอยู่นานหลายเดือน จนกระทั่งพระยาสงขลา และพระยานครศรีธรรรมราช (น้อย) ได้ทำการปราบปรามจนเหตุการณ์สงบสงบลงพร้อมกับตีเมืองไทรบุรีได้ แล้วขนเอาปืนใหญ่และอาวุธต่าง ๆ มาไว้ที่สงขลาและที่ตรัง โดยเฉพาะที่เมืองตรังนั้นได้ปืนทองมาด้วย ๒ กระบอก ในปี พ.ศ ๒๔๓๓ (ร.ศ. ๑๐๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเมืองตรัง และได้ทรงบันทึกถึงเรื่องปืนใหญ่ที่พบไว้ว่า "...บ่ายโมง ๑ กลับมาลงเรือเราลืมว่าถึงเรื่องปืนที่เห็นคือปืนเหล็กใหญ่ ทิ้งอยู่ริมศาลเจ้า ๔ กระบอก เป็นปืนใหญ่ที่มีโรงปลูกครอบไว้ ยังที่ด่านควนราชสีห์ ก็เห็นมีอยู่อีก ๑ โรง ว่าเป็นปืนแต่ครั้งไปตีเมืองไทรได้เชลยมา เจ้าพระยานครเอามาไว้ที่นี้มีปืนทอง ๒ กระบอก อยู่ที่บ้านข้าหลวง เป็นปืนสมเด็จเจ้าพระยาซื้อมาเมื่อครั้งจีนวุ่นวายที่ภูเก็ต
ภาพจาก : https://link.psu.th/K5zcQS
อย่างไรก็ตามเมืองตรังซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของกรมปืนและเคยมีแสนยานุภาพทางทะเล เมื่อครั้งต้นรัชกาลที่ ๒ แต่กลับมิได้มีหลักฐานอื่นใดที่หลงเหลือ ให้เห็นในปัจจุบัน นอกจากปืนใหญ่ซึ่งกระจายอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ และจากการติดตามปืนใหญ่ในจังหวัดตรังของอาจารย์สุวัฒน์ ทองหอม ผู้เขียนหนังสือปืนใหญ่โบราณเมืองตรัง (๒๕๓๘) พบว่านี้มีปืนใหญ่เหลืออยู่ในจังหวัดตรังรวมทั้งสิ้น ๓๑ กระบอกประกอบด้วย
๑. บริเวณเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัด ๕ กระบอก |
๒. ประตูทางเข้าศาลากลาง ด้านถนนพัทลุง ๓ กระบอก |
๓. ริมบันไดขึ้นศาลจังหวัด ด้านทิศเหนือ ๒ กระบอก |
๔. บริเวณเสาธงบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด ๔ กระบอก |
๕.บริเวณเสารงหน้าศูนย์บริการสารารณะสุขเทศบาลเมืองตรัง ๑ กระบอก |
๖. บริเวณอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ ๒ กระบอก |
๗. หน้าสนามกีฬาเทศบาลเมืองตรัง ๓ กระบอก |
๘. ริมบันไดขึ้นสถานีตำรวจภูธร จังหวัดตรัง ๒ กระบอก |
๙. บริเวณวัดกระพังสุรินทร์ ๒ กระบอก |
๑๐. บริเวณเสาธงหน้าลานกรมหลางชุมพร บนเกาะเนรมิตร อำเภอกันตัง ๑ กระบอก |
๑๑. บริเวณเสาธงหน้าที่ว่าการอำเภอกันตั้ง ๒ กระบอก |
๑๒. บริเวณสวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์ ๒ กระบอก |
๑๓. ริมบันไดขึ้นสำนักงานหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตง.๗ อำเภอกันตัง ๒ กระบอก |
ปืนใหญ่ทั้ง ๓๑ กระบอกนั้น ปรากกฎว่าเป็นที่นที่หล่อด้วยเหล็ก ๒๙ กระบอก ส่วนอีก ๒ กระบอกเป็นปืนทอง กล่าวสำหรับปืนทองตามเอกสารที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นพบว่าได้ถูกนำเข้ามาในเมืองตรังถึง ๒ ครั้ง รวม ๔ กระบอก แต่จากการติดตามพบว่ามีเหลืออยู่เพียง ๒ กระบอก ซึ่งปืนทั้ง ๒ กระบอกนี้ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตวันเดือนปีที่ผลิตประทับอยู่บนปืนด้วย รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ด้วยอาจารย์สงวนศักดิ์ ตันวิมลรัตน์ ได้อ่านและรายงานไว้ดังนี้ (อ้างจากสุวัฒน์ ทองหอม. ๒๕๓๘... กระบอกที่ ๑ มีน้ำหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม สร้างโดย บริษัท Lefoy วิศวกรชื่อ (Dovai) สร้างเมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๓ (ปี พ.ศ. ๒๓๘๖) กระบอกที่ ๒ มีน้ำหนัก ๙๙ กิโลกรัม สร้างโดยบริษัท Toulousi Mather ไม่ปรากฏชื่อวิศวกรและวันที่สร้างบอกไว้แต่เพียงปีที่สร้างคือ ค.ศ. ๑๘๓๒ (ปี พ.ศ. ๒๓๗๕) ส่วนที่เหลืออีก ๒๙ กระบอกนั้นเป็นปืนที่สร้างด้วยเหล็ก และในจำนวนปืนเหล่านี้มีบางกระบอกได้ประทับตราบริษัทผู้สร้างและปีที่สร้างไว้ด้วย เช่น
๑. กลุ่มปืนที่บริเวณเสาธงศาลากลาง จังหวัด ชึ่งมีอยู่ ๓ กระบอก (จากทั้งหมด ๕ กระบอก) ที่มีรูปตรามงกฎและอักษรภาษาอังกฤษตัวพี.อาร์ ซึ่งเป็นตัวย่อของบริษัทปริ้นรอแอล บริษัทผู้ผลิตปืนใหญ่ของประเทศอังกฤษ ส่วนอีก ๒ กระบอกมีตรานูนอยู่บนปืนแต่ไม่ทราบความหมาย |
๒. กลุ่มปืนที่บริเวณประตูทางเข้าศาลากลาง ซึ่งมีอยู่รวม ๓ กระบอก แต่มีตัวเลขนูนอยู่บนด้านหน้าของเพลาด้านซ้าย ๒ กระบอก โดยทั้ง ๒ กระบอก ได้บอกปีที่สร้างคือปี ค.ศ. ๑๗๘๓ (ปี พ.ศ. ๒๓๒๖) |
๓. กลุ่มปืนที่หน้าสนามกีฬา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๓ กระบอก และมีอยู่ ๑ กระบอกที่มีตรานูนรูปคล้ายมงกุฎและอื่น ๆ แต่ถูกสนิมกัดกร่อนดูไม่ออก และที่บั้นท้ายปืนมีตัวเลขบอกปีที่สร้างไว้ คือ ปี ค.ศ. ๑๗๐๕ (ปี พ.ศ. ๒๒๔๘) |
๔. กลุ่มปืนที่วัดกระพังสุรินทร์ ซึ่งมีอยู่ ๒ กระบอก มีอยู่ ๑ กระบอก มีตราสลักเป็นร่องลึกบนตัวปืน |
๕. กลุ่มปืนที่บริเวณเสาธงหน้าที่ว่าการอำเภอกันตัง ซึ่งมีอยู่ ๒ กระบอก มีอยู่ ๑ กระบอกที่มีตัวเลขบอกปีที่สร้างอยู่ที่บั้นท้ายปืนซึ่งดูเลอะเลือนแต่คาดว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ. ๑๘๐๐ (ปี พ.ศ. ๒๓๔๓) |
๖. กลุ่มปืนที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ ซึ่งมีอยู่ ๒ กระบอก มีอยู่ ๑ กระบอกที่มีตรานูนปรากฎอยู่บนปืน ซึ่งตรานี้คล้ายกับตราบนปืนที่บริเวณเสาธงหน้าศาลากลาง |
๗. กลุ่มปืนที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลจังหวัดตรัง ซึ่งมีอยู่ ๒ กระบอก มีอยู่ ๑ กระบอกที่มีตราอยู่บนปืนคล้าย ๆ กับตราบนปืนที่วัดกระพังสุรินทร์ |
รวมปืนใหญ่โบราณในจังหวัดตวังที่มีตราทั้งที่เป็นตราบริษัท และปีที่สร้างรวมทั้งหมด ๑๔ กระบอก นอกจากนั้นไม่ปรากฏรายละเอียดใด ๆ
ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่วัดกะพังสุรินทร์
ภาพจาก : Suntaree Sungayut เล่าเรื่องเมืองตรัง : ปืนใหญ่เมืองตรัง ตอนที่ ๓ ; https://link.psu.th/mQn5GW
นครออนไลน์. (ม.ป.ป.). ตำนานเมืองนคร : ดวงตรา 12 นักษัตร แห่งเมืองนครศรีธรรมราช มีที่มาการประกาศศักดาที่เข้มขลัง.
สืบค้น 6 ธ.ค. 67, จาก https://www.nakhononline.com/1812/
สุวัฒน์ ทองหอม. (2538). ปืนใหญ่โบราณเมืองตรัง. พิมพ์ครั้งที่ 1. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดตรัง.
Suntaree Sungayut. (2560). Suntaree Sungayut เล่าเรื่องเมืองตรัง. https://link.psu.th/mQn5GW