พัทลุง (Phatthalung)
 
Back    27/01/2021, 09:59    2,340  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

สัญลักษณ์ประจำจังหวัดพัทลุง
เป็นรูปเขาอกทะลุ ซึ่งสูงเด่น อยู่บนที่ราบ มองเห็นจากที่ไกลได้ทุกทิศบนยอดเขามีเจดีย์เก่าสร้างเอาไว้องค์หนึ่ง
ซึ่งปัจจุบันยังเหลือเฉพาะฐาน ชาวเมืองจึงถือเอาภูเขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดพัทลุง

คำขวัญจังหวัดพัทลุง
"เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน"

       พัทลุงเมืองแห่งขุนเขาอกทะลุที่รู้จักกันดีของภาคใต้ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางตรัง-สงขลา ห่างจากกรุงเทพฯ ๘๔๐ กิโลเมตร พัทลุงมีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานจากการค้นพบขวานหินขัดในท้องที่ทั่วไปหลายอำเภอในสมัยศรีวิชัย (ราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔) บริเวณเมืองพัทลุงเป็นแหล่งชุมนุมที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียในด้านพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีหลักฐานที่ค้นพบได้ เช่น พระพิมพ์ดินดิบ รูปพระโพธิสัตว์ รูปเทวดา โดยค้นพบบริเวณถ้ำคูหาสวรรค์และถ้ำเขาอกทะลุ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในสมัยก่อนคำว่าพัทลุงไม่ได้เขียนอย่างปัจจุบันเพราะตามที่ปรากฏจากหลักฐานต่าง ๆ เช่น  บนเหรียญอีแปะซึ่งผลิตขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ เขียนว่า พัททะลุง และพัตะลุง ซึ่งในเอกสารของไทยก็ใช้ต่างกัน ได้แก่พัตะลุง พัดทลุง พัทธลุง พัฒลุง พัทลุง 
          
ก่อเกิดพัทลุง
        
เวียงบางแก้ว นคราแห่งแรกของชาวพัทลุงได้เริ่มการสถาปนาขึ้นเป็นเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๔ โดยรากฐานของชาวเวียงบางแก้วนั้น มาจากกลุ่มชนชาวเมืองสทิงพาราณสี (พื้นที่ตั้งแต่อำเภอระโนด–อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา) หรือที่เรียกกันว่า “ชาวแผ่นดินบก” ซึ่งพัฒนาการแรกเริ่มของชาวสทิงพระนั้น เริ่มพัฒนาเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๓ โดยมีหลักฐานปรากฏเป็นโบราณวัตถุเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ และโบราณสถานเป็นพระเจดีย์ถึง ๓ แห่ง ในจังหวัดสงขลา คือพระเจดีย์วัดเจดีย์งาม อำเภอระโนด พระเจดีย์วัดจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ พระเจดีย์เขาน้อย อำเภอสิงหนคร อีกทั้งมีซากอาคารหินโบราณ ที่วัดสูงเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ที่ยืนยันถึงรากฐานความเก่าแก่ของบ้านเมือง สันนิษฐานว่ากลุ่มชนส่วนใหญ่ในเมือง นับถือศาสนาพราหมณ์ไศวะนิกายและไวษณพนิกายควบคู่กันแต่ก็มีอิทธิพลของพุทธศาสนาอยู่บ้าง เมืองสทิงพาราณสีเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าทางตะวันออกของสหพันธรัฐศรีวิชัย ที่สามารถเชื่อมเอาเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างกลุ่มอาณาจักรทางมหาสมุทรอินเดีย เช่น สิงหล อาหรับ และกลุ่มนครรัฐทางตอนใต้ของอนุทวีปอินเดีย และกลุ่มอาณาจักรทางตะวันออก เช่น อาณาจักรพระนคร มหาอาณาจักรจีน เป็นต้น ซึ่งผลพวงจากความเจริญทางการค้าขายทำให้มีประชาชนมากขึ้น พื้นที่ตัวเมืองเกิดการขยายตัวจนส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมือง เพื่อที่จะควบคุมเส้นทางการค้าขายและขยายอาณาเขตการปกครอง พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองกรุงสทิงพาราณสีในยุคนั้นจึงได้สถาปนาเอาชุมชนโคกบางแก้วสร้างเป็นเมืองขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นโคกเมืองบางแก้วเป็นชุมชนของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ ปรากฏหลักฐานทางโบราณสถานคือซากโบสถ์พราหมณ์ที่อยู่ทางตะวันออกขององค์พระเจดีย์ของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ประเมินอายุไว้ไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๓ การสถาปนาเวียงบางแก้วมีปรากฏในตำนานนางเลือดขาวซึ่งแทรกอยู่ในพงศาวดารเมืองพัทลุง ได้กล่าวถึงการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว โดยพระนางเลือดขาวและพระยากุมาร พร้อมกับกลุ่มควาญช้างที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากอาณาจักรสิงหล (ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน) มายังเมืองเวียงบางแก้ว ซึ่งอายุการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วนั้น มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ส่วนในตำนานโนราได้กล่าวถึงเจ้าพญาสายฟ้าฟาดแลพระนางศรีมาลาผู้เป็นพระมเหสี ทรงปกครองเวียงบางแก้ว จนให้กำเนิดพระนางนวลทองสำลี ต่อมาเมื่อพระนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศออกจากเมือง และได้ให้กำเนิดขุนศรีศรัทธา ต่อมาขุนศรีศรัทธาได้เดินทางกลับมายังเมืองของพระอัยกา คือเจ้าพญาสายฟ้าฟาด และได้เผยแผ่ศิลปะการแสดงโนราให้แพร่หลายไป ซึ่งสันนิษฐานว่าเจ้าพญาสายฟ้าฟาด ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาเวียงบางแก้ว โดยพระองค์ทรงปกครองทั้งเมืองสทิงพาราณสี เวียงบางแก้ว จรดไปยังเมืองท่าในทิศทางตะวันตกอย่างปลันดาและปากแม่น้ำตรัง แม้ว่าเรื่องราวของพญาสายฟ้าฟาดจะเป็นมุขปาฐะที่มีการเล่าสืบกันมากันในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบ แต่สันนิษฐานว่ายุคของเจ้าพญาสายฟ้าฟาด คงจะเกิดขึ้นก่อนการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อย่างน้อยก็ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ 
           
พัฒนาการของเวียงบางแก้ว มีที่มาจากพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เริ่มจากชุมชนพราหมณ์ริมทะเลสาบมาสู่เมืองท่าสำคัญของทะเลสาบ ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๕ เวียงบางแก้วได้เจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่า และเจริญอีกครั้งในพุทธศตวรรษที่ ๑๗–๑๘ เมื่อพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแพร่ในพื้นที่ แม้ว่าในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๗–๑๙ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและอาณาจักรมากมาย แต่เวียงบางแก้วและสทิงพาราณสีก็ได้รับผลกระทบไม่มากสามารถปรับตัวให้เข้ากับศูนย์กลางแห่งใหม่อย่างกรุงศรีอยุธยาได้ เวียงบางแก้วดำรงความเป็นเมืองท่าค้าขายมายาวนานหลายร้อยปี ย่อมต้องมีความรุ่งเรืองสลับกับความโรยราเป็นประปรายแต่ยังคงสภาพความเป็นบ้านเมืองมาจนถึงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ความสำคัญและบทบาททางการปกครองจึงตกไปอยู่กับเมืองสทิงพาราณสี ที่ฟากตะวันออกของทะเลสาบทั้งในด้านการศาสนาหรือในด้านการเมือง โดยเจ้าเมืองพัทลุงมีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองสทิงพาราณสี ในพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าวถึงพระยาธรรมรังคัล เจ้าเมืองพัทลุงสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ร่วมกับพระเถระนามอโนมทัสสีในการก่อสร้างพระเจดีย์บนเขาพระโค ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเขาพิพัทธ-สิงห์ การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในคาบสมุทรภาคใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้ทำให้พุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์แพร่ขยายไปทั่ว และได้ทำให้พระสงฆ์มีบทบาทในการปกครองพื้นที่ตอนกลางของภาคใต้ จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในน่านน้ำเอเชียอาคเนย์ เมื่อนครรัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์และ นครรัฐสุลต่านแห่งยะโฮร์ เรืองอำนาจด้วยการควบคุมช่องแคบมะละกา ทำให้อิทธิพลของนครรัฐปลายแหลมมีอิทธิพลต่อแผ่นดินทางตอนบนมากขึ้น อีกทั้งนครรัฐสุลต่านทั้งสองยังได้เลี้ยงกองกำลัง “ โจรสลัด ” ไว้สำหรับบุกปล้นบ้านเมืองคู่แข่งหรือข่มขู่เรือสินค้า ซึ่งการรุกรานของโจรสลัดที่มาจากช่องแคบมะละกานั้น ถูกบันทึกอยู่ในพงศาวดารเมืองของพัทลุง และมีข้อความอยู่ในบันทึกเรื่องราวบ้านเมืองนครศรีธรรมราช โดยในพงศาวดารเมืองพัทลุงได้กล่าวถึงการรุกรานของโจรสลัดเจ๊ะอารูหรือกองทัพโจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์ไว้ว่า..
       
 "ต่อมาออกหลวงเยาวราชมาเปนเจ้าเมืองพัทลุง ครั้งนั้นอาเจะอารูมารบเสียเมืองแก่อาเจะอารู ๆ กวาดครัวไป ทราบความถึงกรุงโปรดเกล้าฯ ให้แผดงศรีราชปัญญาถือท้องตราออกมาเอาตัวเจ้าเมืองกรมการ ออกหลวงเยาวราชเจ้าเมืองเกรงกลัวพระราชอาญาจึงกินยาตายเสีย ได้แต่ขุนศรีชนาปลัดกับครอบครัวจำตรวนเข้าไปกรุงให้ลงพระราชอาญาจำตรวนขังไว้..” การรุกรานโจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์ที่มีบันทึกในพงศาวดารเมืองพัทลุงภาคดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่าเป็นการโจมตีในระลอกแรกและการสู้รบในครั้งนั้นคงจะร้ายแรงมาก ถึงขนาดหลวงเยาวราชผู้เป็นเจ้าเมืองต้องอัตวินิบาตรกรรม เพื่อหลบหนีความผิดและการรุกรานของโจรสลัด ส่วนในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ก็มีระบุถึงเหตุการณ์ที่โจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์เข้าโจมตีเมืองไว้มีความว่า...
                
“โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระยาสุพรรณเป็นปลัด (เกิด) ศึกอารู้ยกมาตีเมือง แล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า....”สันนิษฐานในคำว่า “อารู้” ในตำนานพระธาตุนครฯกับ “เจ๊ะอารู” ในพงศาวดารเมืองพัทลุงเป็นสิ่งที่ตรงกันหากวิเคราะห์ ตามบันทึกจะพบว่าเมืองนครศรีธรรมราช สามารถป้องกันเมืองไว้ได้ แต่พัทลุงไม่อาจรักษาเมืองไว้ จนทำให้พระทิพราชาปลัดเมืองต้องรวบรวมผู้คนลงไปขับไล่กองทัพโจรสลัด จากการเทียบเวลาที่เกิดเรื่องราวการรุกรานของโจรสลัดเจ๊ะอารู หากอ้างอิงจากตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เพราะในช่วงเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาเกิดข้อพิพาทกับเจ้าชายปรเมศวรในเรื่องการครองเมืองมะละกาอยู่พอดี จึงอาจสันนิษฐานว่าการรุกรานของโจรสลัดเจ๊ะอารู อาจมีสาเหตุหนึ่งมาจากข้อขัดแย้งระหว่างกรุงศรีอยุธยา เมืองมะละกาเลยส่งกองโจรสลัดเข้าปล้นเมืองสำคัญของฝ่ายอยุธยา เพื่อตัดกำลังไม่ให้ยึดครองมะละกาได้สำเร็จ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจประการหนึ่งคำว่า “เมืองพัทลุง” ตามบันทึกตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชและพงศาวดารเมืองพัทลุง ไม่ใช่เมืองพัทลุงที่ตั้งในบริเวณปัจจุบันแต่หมายถึงเมืองสทิงพระและเมืองเวียงบางแก้ว ซึ่งการรุกรานครั้งแรกของโจรสลัดเจ๊ะอารูได้สร้างความเสียหายให้แก่เมืองสทิงพระและเวียงบางแก้วเป็นอย่างมาก ถึงขนาดต้องมีการขอกัลปนาใหม่จากทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เพื่อยืนยันสิทธิในการครอบครองที่ดินและการปกครอง ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานว่ากองทัพโจรสลัดจากนครรัฐอาเจะห์จะสร้างความเสียหายไว้เท่าไหร่ แต่คาดว่ากรมการเมืองในยุคสมัยนั้นคงจะพอฟื้นฟูบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่ง จึงทำให้เมืองสทิงพระและเมืองเวียงบางแก้วยังคงสภาพความเป็นเมืองอยู่ หลังจากเวียงบางแก้วที่ซบเซาลงจากการเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลางการปกครองก็ได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เนื่องจากพระเถระนาม พระสามีอินทร์ ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ให้เป็นเจ้าคณะลังกาป่าแก้ว ในสมณศักดิ์พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนี ศรีราชปัญญาปรมาจาริยานุชิต พิพิธรัตนราชวรวงษ์พงษ์ภักดีศรีสากยบุตร อุประดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ปกครองวัดทั้งในพื้นที่หัวเมืองพัทลุงและพื้นที่บางส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช ตลอดจนเมืองตรัง มีบันทึกในพงศาวดารเมืองพัทลุงภาคดึกดำบรรพ์ว่า พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนีฯ ปกครองวัดทั้งหมด ๒๙๘ วัด โดยมีศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้ว และวัดสะทังใหญ่ โดยมีระบุในพงศาวดารเมืองพัทลุง ความว่า....
          “ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าอินท์ไปอุปสมบทเปนภิกษุ ณ เมืองนครศรีธรรมราช แล้วก็เข้าไปกรุงครั้งนั้นที่กรุงมีศึกมาล้อมเมืองอยู่ พระสามีอินท์เข้ารับอาสาขอม้าตัวหนึ่งกับคน ๕๐๐ บวชเปนปะขาวออกทำเวชมนต์ให้ข้าศึกงวยงงมีความกลัวกลับไป พระสามีอินท์มีความชอบ จึงเอากระบวนวัดแลพระพุทธรูปที่ได้เลิกพระสาสนา วัดเขียนบางแก้วแลวัดสทัง ขึ้นถวายขอพระราชทานเบิกญาติโยมสมัคพรรคพวกให้ขึ้นกับวัดทั้ง ๒ นั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระสามีอินท์ เปนที่พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนี ศรีราชปัญญาปรมาจาริยานุชิต พิพิธรัตนราชวรวงษ์พงษ์ภักดีศรีสากยบุตร อุประดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง โปรดให้มีตราพระบรมราชโองการเบิกญาติโยมแลไร่นาส่วยสาอากรชาวกุฎีศิลบานทานพระกัลปนาให้ขาดออกจากส่วยหลวง พระราชทานแก่พระครูอินทโมฬีฯ แลห้ามเจ้าเมือง ปลัดเมือง กรมการเมือง ลูกขุนมุลนาย โดยตราพระราชกฤษฎีกาอุทิศไว้ให้เปนข้าพระทั้ง ๒ อาราม ให้ตายายบิดามารดาพระครูอินทโมฬีฯ เปนนายประเพณีแลดำรัสเหนือเกล้าฯ แด่พระยาศรีภูริปรีชาธิราชมหาเสนาบดีศรีสาลักษณ์ กรมพระกลาโหมให้เบิกจากพระคลังหลวงเปนสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองมอบให้แก่พระครูอินทโมฬีฯ กับโปรดให้เบิกวัดทั้งแขวงเมืองนครศรีธรรมราชแลเมืองพัทลุง ๒๙๘ วัดมาขึ้นแก่วัดเขียนบางแก้วแลวัดสทัง คือวัดคูหาสรรค์ ๑ อารามพิกุล ๑ วัดสทิงมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ ๑ วัดพระเจดีย์งาม ๑ วัดชะแม ๑ วัดกลาง ๑ วัดพะเจียก ๑ วัดโรงน้อย ๑ วัดโรงใหญ่ ๑ วัดพะตาล ๑ วัดเหียงพง ๑ วัดพระครูไชยพัท ๑ วัดตำเสา ๑ วัดสนามไชย ๑ วัดโตนดหลาย ๑ วัดพังยาง ๑ วัดชะแล้ ๑ วัดแจระ ๑ วัดพระนอนปากบางแก้ว ๑ วัดพยา ๑ วัดแหลม ๑ วัดพระพุทธสิหิงค์ที่ตรัง ๑ วัดพระงามที่ตรัง ๑ เปนต้น ทั้งนี้ขึ้นแก่วัดสทังวัดเขียนบางแก้วแลหมู่หัวสิบหัวงานตามท้องพระตำรานี้ก็ให้ขึ้นกับวัดทั้ง ๒ นี้ทั้งสิ้น” ต่อมาราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้เกิดกองทัพโจรสลัดจากนครรัฐยะโฮร์ ( อุฌงคตนะโจรสลัดจากปลายแหลม ) เข้ารุกรานเมืองสทิงพาราณสี เวียงบางแก้ว และนครศรีธรรมราช ซึ่งเหตุการณ์ได้ถูกบันทึกในพงศาวดารเมืองพัทลุง ความว่า...
             
“ต่อมาออกเมืองคำได้เปนเจ้าเมืองพัทลุง ครั้งนั้นมีศึกอุชํงคํตํนํ (บางแห่งเรียก ”อุยงตะนะ” หรือสลัด) มาตีเสียเมืองแก่ข้าศึกออกเมืองคำหนีรอดไปได้ ข้าศึกกวาดได้แต่ครอบครัวกรมการแลสมณะชีพราหมณ์ราษฎรข้าพระโยมสงฆ์ ได้ไปแก่อชํงคํตํนํเปนอันมากแลเผากุฎีวิหารบ้านเรือนราษฎรเสียสิ้น ครั้งนั้นเจ้าเมืองหาเปนโทษไม่ด้วยศึกเหลือกำลังโปรดเกล้าฯ ให้เปนเจ้าเมืองดังก่อนให้เกลี้ยกล่อมส้องสุมราษฎรที่กระจัดพลัดพลายอยู่นั้น เข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนา จัดการรักษาบ้านเมืองต่อไป” การรุกรานของกองทัพโจรสลัดอุชงคะตนะ ได้สร้างความเสียหายชนิดร้ายแรงแก่เมืองสทิงพาราณสีและเมืองเวียงบางแก้ว ถึงขั้นเผาทำลายบ้านเมืองและกวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าความเป็นบ้านเมืองของสทิงพาราณสีและเวียงบางแก้วคงจะสิ้นสุดลงในยุคนี้ ซึ่งในขณะเดียวกันในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุถึงการรุกรานของโจรสลัดจากนครรัฐยะโฮร์เอาไว้ว่า...
           
“เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคะตนะให้ลักปหม่าน่า (ลักษะมาณา) แม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระยา ข้าศึกรุกเข้าถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกรบศึกหนีไป” สงครามระหว่างเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและกองทัพโจรสลัดอุชงคะตนะ ยังไม่สิ้นสุดเด็ดขาด ยังมีสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพทั้งสองเมืองไว้ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า...
               
“เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคะตนะยกมา พระยา (พระยารามราชท้ายน้ำ) ก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร และแต่งเรือหุ้มเรือพายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวันเจ็ดคืน ขุนพันจ่าออกหักทัพกลางคืน (ข้า) ศึกแตกลงเรือ (ข้า) ศึกเผาวัดท่าโพธิ์เสีย พระยา (พระยารามราชท้ายน้ำ) ถึงแก่กรรมพระยาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา” หากยึดศักราชตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างนครศรีธรรมราช (อยุธยา) กองทัพโจรสลัดยะโฮร์ ( อุชงคะตนะ) ได้สิ้นสุดลงในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งในยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมืองพัทลุงได้มีศูนย์กลางปกครองที่เมืองสิงหนคร ที่ปกครองโดยสุลต่านสุไลมานแล้ว จึงสันนิษฐานว่าเมืองเวียงบางแก้ว คงจะล่มสลายตั้งแต่ปีศักราช ๒๑๔๑ แล้วเจ้าเมืองพัทลุงท่านถัดมาคือขุนเสนาปลัดเมืองได้ย้ายผู้คนไปยังตำบลคูหาสวรรค์ แล้วจึงก่อกำเนิดการตั้งบ้านเมืองพัทลุงแห่งใหม่ที่ควนพระรถ ก่อนที่จะย้ายไปตั้งมั่นที่หุบเขาไชยบุรีอีกนานนับร้อยปี เวียงบางแก้วนคราอันเก่าแก่แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากล่าวได้ว่าเป็นเมืองพี่น้องคู่กับเมืองสทิงพาราณสีในฝั่งแผ่นดินบก ถือกำเนิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีความเจริญในฐานะเป็นเมืองท่าภายในทะเลสาบสงขลา ควบคุมเส้นทางการค้าขายระหว่างตะวันตกและตะวันออกเอาไว้ เวียงบางแก้วรับเอาอารยธรรมในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น ก่อนจะมาเป็นพุทธธานีในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยการสนับสนุนของกรุงศรีอยุธยา เวียงบางแก้ว ได้กลายเป็นเมืองที่ปกครองโดยพระสงฆ์ มีวัดบริวารนับร้อยวัดขึ้นตรงต่อวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว แต่ความเจริญรุ่งเรืองของเวียงบางแก้วก็ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากการรุกรานของกองทัพโจรสลัดอุชงคะตนะหรือกองทัพจากนครรัฐยะโฮร์ ได้ยกทัพมาปล้นเมืองเวียงบางแก้วและเมืองสทิงพระพินาศ จนไม่สามารถกลับฟื้นฟูสภาพความเป็นเมืองได้อีก  ถึงแม้ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) จะมีการแต่งตั้งพระครูอินทรเมาฬีศรีญาณสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุประดิษเถร เจ้าคณะป่าแก้วเพื่อฟื้นฟูเวียงบางแก้วในฐานะศูนย์กลางศาสนาอีกครั้ง เนื่องจากศูนย์กลางการปกครองของบ้านเมืองได้ย้ายไปอยู่ชัยบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากวัดเขียนบางแก้วไปมากจึงทำให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างยากลำบาก จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ทางเมืองหลวงศูนย์กลางได้ติดพันรบพุ่งกับอาณาจักรอังวะ จึงทำให้เวียงบางแก้วขาดการส่งเสริมทั้งจากเมืองหลวงและจากเมืองพัทลุงที่มีการตั้งในที่ต่าง ๆ เอง จนทำให้เวียงบางแก้วรกร้างลงนับร้อยปี จนมีการบูรณะอีกครั้งในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ วัดเขียนบางแก้ว จึงกลับมาในสภาพความเป็นวัดอีกครั้งสืบมาจนถึงปัจจุบัน
         พัทลงในความหมายของชื่อเมือง หมายถึงเมืองช้างหรือเมืองเกี่ยวเนื่องด้วยช้าง ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงหลาย ๆ ประการ คําว่า “พัด-ท-พัทธ" ยังไม่อาจทราบได้ว่าคําเดิมเขียนอย่างไร ทราบเพียงว่าเป็นคําขึ้นต้น ส่วนคําพื้นเมืองที่เรียกว่า “ตะลุง" แปลว่าเสาล่ามช้างหรือไม้หลักผูกช้าง ชื่อบ้านนามเมืองของพัทลุงที่ เกี่ยวกับช้างมีมาก หรือจะเรียกว่าเป็น “เมืองช้าง” ก็ได้ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในแถบชะรัด ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัดมีช้างป่าชุกชุมและในตํานานนางเลือดขาว ตํานานเมืองพัทลุงกล่าวว่า ตาสามโมกับยายเพชรเป็นหมอสคํา หมอเฒ่านายกองช้างเลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทองทุกปี ต่อมาพระกุมารกับนางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองเลี้ยงช้างส่งส่วย ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนยังคงนับถือ “ตาหมอช้าง" พัทลุงได้ตั้งขึ้นอย่างมั่นคงภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยามีฐานะเป็นเมืองชั้นตรี ซึ่งนับว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระราชอาณาจักรทางใต้ ในสมัยนั้นเมืองพัทลุงมักจะประสบปัญหาการโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดมาเลย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโจรสลัดอาแจะอารูและยุยงคตนะ ได้โจมตีเผาทำลายสร้างความเสียหายแก่เมืองพัทลุงถึง ๒ ครั้ง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอยู่เสมอ ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอีกหลายครั้ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชั้นโท ในช่วงนี้เมืองพัทลุงมีผู้นำสำคัญในการสร้างความเจริญและความมั่นคงให้กับบ้านเมืองหลายท่าน เช่น พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว) พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทโรจนวงศ์) ได้ร่วมป้องกันเอกราชของชาติมาหลายครั้ง เช่น เมื่อสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. ๒๓๒๘-๒๓๒๙) พระมหาช่วย วัดป่าลิไลย์ ได้นำชาวพัทลุงต่อสู้ป้องกันการรุกราน ของพม่าจนได้รับความดีความชอบ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาช่วยทุกขราษฎร์ ช่วยราชการเมืองพัทลุง นอกจากสงครามกับพม่าแล้ว ชาวพัทลุงยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติในหัวเมืองภาคใต้ เพราะปรากฎอยู่เสมอว่าทางเมืองหลวงได้มีคำสั่งให้เกณฑ์ชาวพัทลุงพร้อมด้วยเสบียงอาหารไปทำสงคราม ปราบปรามกบฏในหัวเมืองมาลายู เช่น กบฏไทรบุรี ปี พ.ศ. ๒๓๗๓ และ พ.ศ. ๒๓๘๑ ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองพัทลุงทางด้านการเมือง การปกครองและแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำในอดีตเป็นอย่างดี
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในปี พ.ศ. ๒๓๓๗ ได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล และได้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ คือนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองทั้ง ๗ (เมืองปัตตานีเดิม) สำหรับเมืองพัทลุงเองได้แบ่งการปกครองเป็น ๓ อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอกลางเมือง อำเภออุดร อำเภอทักษิณ ขณะนั้นตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพัทลุงมาอยู่ที่บ้านวังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์ เพื่อจะได้อยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสะดวกในการติดต่อกับเมืองต่าง ๆ จากอดีตถึงปัจจุบันเมืองพัทลุงได้มีการย้ายเมืองหลายครั้ง สถานที่ที่เคยเป็นเมืองที่ตั้งเมืองพัทลุงได้แก่

๑. โคกเมืองแก้ว ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน
๒. บ้านควนแร่ ปัจจุบัน คือหมู่ที่ ๑ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง
๓. เขาชัยบุรี (เขาเมืองฯ) ปัจจุบันคือตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง
๔. ท่าเสม็ด ปัจจุบันคือตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
๕. เมืองพระรถ ปัจจุบันคือหมู่ที่  ๑ ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง
๖. บ้านควนมะพร้าว ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๒ ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง
๗. บ้านม่วง ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๖ ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง
๘. บ้านโคกลุง ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๔ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง

         จังหวัดพัทลุง เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย เชื่อกันว่าตั้งเป็นเมืองขึ้นมาในช่วงสมัยเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๔๐๐ ซึ่งอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัยเพราะในสมัยนั้นอาณาจักรศรีวิชัยกาลังรุ่งเรืองอานาจมาก ทั้งนี้จากหลักฐานปรากฏร่องรอยเมืองเก่าหลงเหลืออยู่ ต่อมาอาณาจักรสุโขทัยสามารถรวมตัวกาหนดได้เป็นปึกแผ่นแล้ว อาณาจักรศรีวิชัยจึงค่อย ๆ เสื่อมอานาจลง แต่ยังคงมีอานาจปกครองหัวเมืองในแหลมมาลายู ตั้งแต่เมืองไชยาลงไป ครั้นถึงปี พ.ศ. ๑๘๒๓ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์องค์ที่ ๓ ของอาณาจักรสุโขทัย เข้าตีหัวเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองอื่น ๆ ทำให้เมืองพัทลุงรวมอยู่ในอาณาจักรของไทยตั้งแต่นั้นตลอดมา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯให้มีการปฏิรูประบบการปกครองแผ่นดินเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เมืองพัทลุงได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ คืออำเภอกลางเมือง (อำเภอเมืองพัทลุง) อำเภอเหนือหรืออำเภออุดร (อำเภอควนขนุน) อำเภอใต้หรืออำเภอทักษิณ (อำเภอปากพะยูน) ต่อมาได้ยกหัวเมืองขึ้นเป็นจังหวัด เมืองพัทลุงจึงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดพัทลุง ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อำเภอกลางเมืองเปลี่ยนเป็นอำเภอลำปำ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงมีพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ทำงานจากตำบลลำปำ มาตั้งที่หมู่บ้านวังเนียง ตาบลคูหาสวรรค์ กิ่งอำเภอคูหาสวรรค์ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอคูหาสวรรค์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอคูหาสวรรค์เป็นอำเภอเมืองพัทลุง จนถึงปัจจุบันนี้

 


ภาพจากคุณณัฐ เหลืองนฤมิตรชัย ; https://www.youtube.com/watch?v=SXnq7V4DUO0

           เมืองพัทลุงมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสืบต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ โดยมีชุมชนเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาก่อนแล้วเกิดเป็นเมืองขึ้นทางฝั่งตะวันออกเรียกชื่อว่าเมืองสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาถูกกองเรือพวกโจรสลัดรุกราน จึงมีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่บริเวณบางแก้ว ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เรียกชื่อเมืองใหม่ว่าเมืองพัทลุง มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาแทนที่เมืองสทิงพระ เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีเมืองสงขลาเป็นเมืองปากน้ำ แต่เมืองพัทลุงก็มีฐานะเป็นเมืองบริวารของแคว้นนครศรีธรรมราชมาตลอด แม้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แต่เมืองพัทลุงก็ยังตกเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยระบบกินเมืองระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ราชธานีได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้วในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ก็ทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รีบจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมาลายูเสียใหม่เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ามณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยระบบเทศาภิบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๗๖ รัฐบาลพยายามลดอำนาจและอิทธิพลของตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันทโรจวงศ์ตลอดมาในสมัยระบบเทศาภิบาล ถ้าลำดับประวัติศาสตร์ของพัทลุงสามารถแบ่งออกได้ ๒ สมัยดังนี้

           ๑.  สมัยก่อนประวัติศาสตร์
     
สันนิษฐานได้จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ คือขวานหินขัดสมัยหินใหม่หรือชาวบ้าน เรียกว่าขวานฟ้าที่พบจำนวน ๕๐-๖๐ ชิ้น ในเขตท้องที่อำเภอเมือง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอปากพะยูน ปรากฏว่าท้องที่เหล่านี้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือประมาณ ๒,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว มีชุมชนเกิดขึ้นแล้วโดยใช้ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือสับตัด
         ๒. 
สมัยประวัติศาสตร์
           
อายุตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่  ๑๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันพอจะแบ่งได้เป็น ๔ สมัย คือสมัยสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยระบบกินเมือง สมัยระบบเทศาภิบาล และสมัยระบบประชาธิปไตย

สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง
    
 ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๒๐  เมื่อบริเวณสันทรายขนาดใหญ่ กว้าง ๕–๑๒ กิโลเมตร ยาว ๘๐ กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา หรือบริเวณพื้นที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "แผ่นดินบก" ซึ่งเป็นที่ดอนเป็นแผ่นดินเกิดใหม่ชายฝั่งทะเลหลวง ทำให้ผู้คนอพยพจากบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศบริเวณนี้มีความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ กล่าวคือเป็นสันดอนน้ำไม่ท่วม สามารถตั้งบ้านเรือนสร้างศาสนสถานได้สะดวกดี มีที่ราบลุ่มกระจายอยู่ทั่วไปกับที่ดอนเป็นบริเวณกว้างขวางพอที่จะเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง ประกอบกับเป็นบริเวณอยู่ห่างไกลจากป่าและภูเขาใหญ่ ภูมิอากาศดี  ไม่ค่อยมีไข้ป่ารบกวน อีกประการหนึ่งสามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับเมืองอื่น ที่อยู่ห่างไกลได้สะดวกเพราะอยู่ติดกับทะเล ชุมชนแถบแผ่นดินบกจึงเจริญเติบโตรวดเร็วกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมาลายูตอนเหนือไปในที่สุด มีศูนย์กลางที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณสทิงพระเรียกชื่อเมืองว่าสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นชุมชนนับถือศาสนาฮินดูมีฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นของบรรดารัฐต่าง ๆ  ที่เข้มแข็งและมีนโยบายจะควบคุมเส้นทางการค้าที่ผ่านทางคาบสมุทรมาลายูมาตลอดเวลา เช่น รัฐฟูนันลังกาสุกะ ศรีวิชัย ต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าตรงกับปี พ.ศ. ใด เมืองสทิงพระถูกกองทัพเรือจากอาณาจักรทะเลใต้ชวาสุมาตรายกมาทำลาย เมืองได้รับความเสียหายมากประชาชนพากันแตกกระจัดกระจายอพยพหนีภัยไปอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลากันมาก เพราะตัวเมืองอยู่ใกล้ทะเลหลวง คือห่างเพียง ๑ กิโลเมตร ทำให้ข้าศึกเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ทันรู้ตัว เมืองสทิงพระจึงอ่อนกำลังลงมากหลังจากนั้นพวกโจรสลัดยกมาปล้นสดมภ์ และในที่สุดก็สามารถยึดเมืองได้ทำให้มีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่ทางฝั่งตะวันตก โดยย้ายไปอยู่บริเวณบางแก้วหรือปัจจุบันเรียกว่าโคกเมืองในอำเภอเขาชัยสนซึ่งเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้ว และชื่อเมืองพัทลุงน่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาแทนเมืองสทิงพระชาวเมืองนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก ในขณะเดียวกันแคว้นตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบันและมีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘ สามารถขยายอำนาจเข้ามาปกครองดินแดนทั้งแหลมมาลายู โดยปกครองดินแดนในรูปของเมืองสิบสองนักษัตร ทำให้เมืองพัทลุงต้องกลายเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเมืองพัทลุง เป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราชใช้ตรางูเล็กเป็นตราของเมืองและในตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุง ก็กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชของนครศรีธรรมราชด้วย ดังข้อความในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๒ รัชสมัยสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า..“นางและเจ้าพระยา (คือนางเลือดขาวและกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทังบางแก้วเล่าแล กุมารก็เสียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธ-รูปเป็นหลายตำบลจะตั้งเมืองมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้าหาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมโศกราช ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น”   เมืองพัทลุงมีความสัมพันธ์กับแคว้นนครศรีธรรมราชอย่างใกล้ชิดเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน เพราะแม้เมืองพัทลุงจะขึ้นกับแคว้นนครศรีธรรมราชแต่มีลักษณะเป็นเมืองอิสระในทางการปกครองอยู่มาก สังเกตจากสมุดเพลาตำรากล่าวว่า แต่เดิมนั้นเมืองพัทลุงเก่าครั้งมีชื่อว่าเมืองสทิงพระ ทางฝ่ายอาณาจักรเจ้าเมืองมีฐานะเป็นเจ้าพญาหรือเจ้าพระยา ทางฝ่ายศาสนจักรเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นเมืองพาราณสี แสดงให้เห็นว่าเมืองพัทลุงเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่มีบริวารมากศูนย์กลางจึงมีฐานะเป็นกรุง คือกรุงสทิงพระคล้ายกับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งทีเดียว และมีความสำคัญทางพุทธศาสนามาก เปรียบได้กับเมืองพาราณสี (ชื่อกรุงที่เป็นราชธานีของแคว้นกาศีของอินเดีย) ส่วนแคว้นนครศรีธรรมราชเปรียบประดุจเป็นเมืองปาฏลีบุตร (เป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ) ฉะนั้นแคว้นนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงคงจะเคยเป็นเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเมืองพัทลุงนั้นติดต่อกับหัวเมืองมอญและลังกามานานไม่ต่ำกว่า พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมาแล้ว พระสงค์คณะลังกาป่าแก้วจึงเจริญมากในบริเวณนี้ วัดสำคัญ ๆ ไม่ว่าวัดสทัง วัดเขียน วัดสทิงพระ วัดพระโค ล้วนขึ้นกับคณะลังกาป่าแก้วทั้งสิ้น
          
ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ขณะที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยเพิ่งเริ่มรุ่งเรืองขึ้น ทางแคว้นนครศรีธรรมราชยังคงมีอำนาจแผ่ไปทั่วแหลมมาลายู ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุจีนว่า จักรพรรดิของจีนเคยส่งทูตมาขอร้องอย่าให้สยาม (นครศรีธรรมราช) รุกรานหรือรังแกมาลายูเลย เมืองพัทลุงจึงคงจะยังขึ้นกับแค้วนนครศรีธรรมราช ต่อมาอีกกว่าศตวรรษเพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมานั้น อาณาเขตของอยุธยายังแคบมาก กล่าวคือทิศเหนือจดชัยนาท ทิศตะวันออกจดจันทบุรี ทิศตะวันตกจดตะนาวศรีและทิศใต้จดแค่นครศรีธรรมราช(๑๔)เพิ่งปรากฏหลักฐานการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดึงอำนาจทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลาง คือเมืองหลวงทรงจัดระบบสังคมเป็นรูประบบศักดินา ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองหัวเมือง ทรงประกาศใช้พระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองในปี พ.ศ. ๑๙๙๘ มีผลกระทบต่อเมืองพัทลุงและแคว้นนครศรีธรรมราช คือแคว้นนครศรีธรรมราชถูกลดฐานะลงเป็นหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่ออยุธยา ส่วนเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่ออยุธยาเช่นกัน เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาถือศักดินา ๕๐๐๐
สมัยระบบกินเมือง  
   ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ. ๑๙๙๘) ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕  (พ.ศ. ๒๔๓๙) ระบบกินเมือง หมายถึงระบบที่เจ้าเมืองมีอำนาจเก็บภาษี ใช้ไพร่ และเก็บเงินค่าราชการจากไพร่ ทั้งมีสิทธิ์ลงโทษราษฎรตามใจชอบ เจ้าเมืองและกรมการมักเป็นญาติกัน ราชธานีมิได้มีสิทธิ์แต่งตั้งเจ้าเมืองตามทฤษฎีที่กำหนดไว้ เพราะเจ้าเมืองเหล่านี้มีอยู่แล้ว, ราชธานีเป็นเพียงยอมรับอำนาจเจ้าเมือง ส่วนกรมการเมือง ราชธานีก็จะต้องแต่งตั้งตามข้อเสนอของเจ้าเมือง เพื่อป้องกันเหตุร้ายการปกครองดังกล่าวทำให้ราชธานีพยายามจะลดอำนาจเจ้าเมืองพัทลุง และเข้าไปมีอำนาจเหนือเมืองพัทลุงตลอดมา โดยในระยะต้นของสมัยระบบกินเมือง อาศัยพุทธศาสนา กล่าวคือ สนับสนุนการก่อตั้งพระพุทธศาสนา ดึงกำลังคนจากอำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับวัด พระ และเพิ่มชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์อยุธยาในฐานะผู้ทรงอุปถัมภ์ศาสนา เช่นกรณีภิกษุอินทร์รวบรวมนักบวชราว ๕๐๐ คนขับไล่พม่าที่มาล้อมกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑–๒๑๑๑) โดยใช้เวทมนตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดปรานมากจึงพระราชทานยศให้เป็นพระครูอินทโมฬีคณะลังกาป่าแก้ว (กาแก้ว) เมืองพัทลุง ควบคุมวัดทั้งในเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชถึง ๒๙๘ วัด ทั้งทรงกัลปนาวัด คือกำหนดเขตที่ดินและแรงงานมาขึ้นวัดเขียนและวัดสทังที่พระครูอินทโมฬีบูรณะด้วย หรือกรณีอุชงคตนะโจรสลัดมาเลย์เข้ามาปล้นโจมตีเมืองพัทลุงเสียหายยับเยิน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๔๑–๒๑๔๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ออกเมืองคำเจ้าเมืองหนีเอาตัวรอด ราษฎรส่วนหนึ่งต้องอพยพหนีไปอยู่ต่างเมือง อีกส่วนหนึ่งถูกพวกโจรกวาดต้อนไปวัดวาอารามก็ถูกเผา ทางราชธานีอ้างว่าศึกเหลือกำลังจึงมิได้เอาผิดที่เจ้าเมืองทิ้งเมืองและกลับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อไปแต่ก็มีการกัลปนาวัดในเมืองพัทลุงอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๑๕๓ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการกัลปนาวัดจะทำให้อำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชลดน้อยลง เพราะเจ้าเมืองมีอำนาจควบคุมไพร่พลโดยตรงเฉพาะในบริเวณที่อยู่นอกเขตกัลปนาเท่านั้น แต่ก็ทำให้มีอำนาจของฝ่ายฆราวาสกับพระสงฆ์สมดุลมากขึ้น มีผลให้เมืองพัทลุงกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยชุมชนใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่าน ติดต่อกับเมืองต่างๆ และรับอารยธรรมจากอินเดีย ลังกา ส่วนทางฝั่งตะวันออกทำหน้าที่เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองไทย เช่น เอกสารของฮอลันดาบันทึกไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๕ ว่าอังกฤษและฮอลันดาพยายามแข่งขันกันเข้าผูกขาดชื้อพริกไทยจากเมืองพัทลุงและเมืองในบริเวณใกล้เคียง ในปี พ.ศ. ๒๑๖๓ เวนแฮสเซลพ่อค้าฮอลันดาแนะนำว่าฮอลันดาควรจะจัดส่งเครื่องราชบรรณาการเจ้าเมืองลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) เจ้าเมืองบูร์เดลอง (พัทลุง) และเจ้าเมืองแซงกอรา (สงขลา) เพื่อเอาใจเมืองเหล่านั้นไว้ เพราะสัมพันธ์ภาพกับเจ้าเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ความรุ่งเรืองทางการค้านี้ประกอบกับสงครามไทยพม่าในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และการแย่งชิงอำนาจในราชธานีในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทำให้อำนาจของอยุธยาที่มีต่อหัวเมืองมาลายูอ่อนแอลง เช่น เจ้าเมืองปัตตานี นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ประกาศไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของอยุธยา ขณะเดียวกันทางมาเลย์กลับมีกำลังแข็งขึ้นพวกมุสลิมจึงเป็นเจ้าเมืองในแถบหัวเมืองมาลายูมากขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เช่น พระยารามเดโชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ตาตุมะระหุ่มที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูล ณ พัทลุง อาจจะเป็นทั้งเจ้าเมืองพัทลุงและสงขลา ทางอยุธยาพยายามดึงหัวเมืองดังกล่าวให้ใกล้ชิดกับอยุธยามากขึ้น โดยใช้นโยบายให้คนไทยไปปกครอง และสนับสนุนอุปถัมภ์ตระกูลของคนไทยที่มีผลประโยชน์ในการปกครองหัวเมืองแหลมมาลายู บางครั้งใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ดูเหมือนนโยบายนี้จะไม่ได้ผลมากนักในเมืองพัทลุงเพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เจ้าเมืองที่เป็นเชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง ยังคงเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่นับถือศาสนาอิสลามสืบมาจนเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อทางราชธานีเกิดการจราจลขาดกษัตริย์ปกครอง พวกขุนนางและเชื้อพระวงศ์ต่างตั้งตัวเป็นอิสระ ทางหัวเมืองมาลายูพระปลัดหนูผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นอิสระเรียกว่าชุมชนเจ้านคร ปกครองหัวเมืองแหลมมาลายูทั้งหมด และดูเหมือนว่าบรรดาหัวเมืองอื่น ๆ ก็ยอมรับอำนาจของเจ้านคร (หนู) แต่โดยดีเพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้านคร (หนู) ต้องใช้กำลังเข้าบังคับปราบปรามเมืองหนึ่งเมืองใดเลย แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามเจ้านคร (หนู) ได้สำเร็จแล้ว ก็โปรดเกล้าให้เจ้านราสุริวงศ์พระญาติปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้รับผิดชอบในการดูแลหัวเมืองแหลมมาลายูแทนราชธานีด้วย ทำให้เมืองพัทลุงกลับมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๓–๒๓๑๙ คือตลอดสมัยเจ้านราสุริวงศ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้นายจันทร์มหาดเล็กมาเป็นเจ้าเมืองแทนเจ้าเมืองเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง การกระทำดังกล่าวคงทำให้ตระกูล ณ พัทลุง ต่อต้านเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่เพราะในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนโดยหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กล่าวว่า นายจันทร์มหาดเล็กเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่นั้นว่าราชการอยู่ได้เพียง ๓ ปีก็ถูกถอดออกจากราชการ และตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงตกเป็นของตระกูล ณ พัทลุง อีกในปี พ.ศ. ๒๓๑๕ และในปีนี้เองพระยาพัทลุง (ขุนหรือคางเหล็ก) ตระกูล ณ พัทลุงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ (คงจะเนื่องมาจากพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลื่อมใส) และขณะนั้นพุทธศาสนามีอิทธิพลมากสามารถที่จะชักชวนให้คนไทยเกิดความเลื่อมใสในศาสนาได้ ปรากฏหลักฐานว่าในที่สุดถึงกับทรงออกประกาศห้ามอย่างเฉียบขาด ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ดังข้ความตอนหนึ่งว่า..."ประกาศของไทย ลงวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ค.ศ ๑๖๖๔  (พ.ศ. ๒๓๑๗) ห้ามมิให้ไทยและมอญเข้ารีตและนับถือศาสนาพระมะหะหมัด ด้วยพวกเข้ารีตและพวกถือศาสนามะหะหมัดเป็นคนที่อยู่นอกพระพุทธศาสนาเป็นคนที่ไม่มีกฎหมาย และไม่ประพฤติตามพระพุทธวจนะ ถ้าพวกไทยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธศาสนาถึงกับลืมชาติกำเนิดตัว ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติตามลัทธิของพวกเข้ารีตและพระมะหะหมัด ก็จะตกอยู่ในฐานความผิดอย่างร้ายกาจ เพราะฉะนั้นเป็นอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่าถ้าคนจำพวกนี้ตายไปก็จะต้องตกนรกอเวจี ถ้าจะปล่อยให้คนพวกนี้ทำตามชอบใจ ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งไว้ถ้าไม่ห้ามไว้ พวกนี้ก็จะทำให้วุ่นขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว จนที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรามไปด้วย เพราะเหตุฉะนี้จึงห้ามขาดมิไห้ไทยและมอญไม่ว่าผู้ชายหรือหญิงเด็กหรือผู้ใหญ่ได้เข้าไปในพิธีของพวกมะหะหมัดหรือพวกเข้ารีต ถ้าผู้ใดมีใจดื้อแข็งเจตนาไม่ได้มืดมัวไปด้วยกิเลสต่าง ๆ จะฝ่าฝืนต่อประกาศนี้ ขืนไปเข้าในพิธีของพวกมะหะหมัดและพวกเข้ารีตแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของสังฆราชหรือบาทหลวงมิชชันนารี หรือบุคคลที่เป็นคริสเตียน หรือมะหะหมัดจะต้องคอยห้ามปรามมิให้คนเหล่านั้นได้เข้าไปในพิธีของพวกคริสเตียน และพวกมะหะหมัดให้เจ้าพนักงานจับกุมคนไทยและมอญที่ไปเข้าพิธีเข้ารีตและมะหะหมัดดังว่ามานี้ ส่งให้ผู้พิพากษาชำระและให้ผู้พิพากษาวางโทษถึงประหารชีวิต"....จริงอยู่แม้ว่าพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก่อนการออกประกาศดังกล่าว แต่พระราชประสงค์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลักษณะนี้คงจะเป็นสิ่งที่เข้าใจกันดีในหมู่ขุนนางก่อนที่จะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จึงต้องเปลี่ยนศาสนามิใช่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนาเพราะเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง ผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมืองในปี พ.ศ. ๒๓๓๔–๒๓๖๐ ยังไม่ยอมให้นำเนื้อหมูเข้ามาในบ้านของท่านแสดงว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) ยังนับถือศาสนาอิสลาม เพิ่งจะมีการนับถือพุทธศาสนากันจริง ๆ ในชั้นหลานของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) การเปลี่ยนศาสนาของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางการเมืองมากนักเพราะตระกูล ณ พัทลุง ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากราชธานี อำนาจและอิทธิพลของเมืองพัทลุงลดลงเรื่อย ๆ กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสนับสนุนจีนเหยียงหรือหลวงสุวรรณคีรีคนกลุ่มใหม่และต้นตระกูล ณ สงขลา เป็นเจ้าเมืองสงขลา ทั้งยกเมืองสงขลาเมืองปากน้ำของเมืองพัทลุงไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้านราสุริวงศ์ถึงแก่นิราลัยในปีรุ่งขึ้น  ทางราชธานีให้ยกเมืองพัทลุงไปขึ้นตรงต่อราชธานีดังเดิม และสืบไปตลอดสมัยระบบกินเมือง และแม้ว่าพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จะส่งบุตรธิดาหลายคนไปถวายตัว ทั้งมีความดีความชอบในการทำสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ และกับปัตตานีในปีถัดมา แต่เมื่อพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไกรลาศคนของราชธานีมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง อีก ๒ ปีต่อมายังทรงเพิ่มบทบาทให้เมืองสงขลาเข้มแข็งมากขึ้น โดยให้ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองประเทศราชมลายู และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะที่ทางราชธานียอมให้ตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงทองขาว) กลับมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอีกแต่ก็ส่งนายจุ้ยตระกูลจันทโรจวงศ์ และบุตรของเจ้าพระยาสรินทราชา (จันทร์) ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูล ณ นคร เข้ามาเป็นกรมการเมืองพัทลุง เพื่อคานอำนาจของตระกูล ณ พัทลุง ในที่สุดในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๕๔–๒๓๘๒ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชหัวเมืองแหลมมาลายูต้องตกอยู่ในอำนาจของตระกูล ณ นคร ทางราชธานีแต่งตั้งให้พระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงเผือก) ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๙–๒๓๘๒ ขณะเดียวกันตระกูล ณ สงขลา ก็พยายามสร้างอิทธิพลในเมืองพัทลุง โดยพระยาสงขลาเถี้ยนเส้งและบุญสังข์ต่างก็แต่งงานกับคนในตระกูล ณ พัทลุงทั้งคู่ ศาสตราจารย์เวลาอดีตผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยฮาวายได้ตั้งข้อสังเกตว่า...การถึงอสัญกรรมของเจ้าพระยานคร0( น้อย) ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ทำให้ราชธานีได้โอกาสจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชลงบางส่วน เช่น เรียกตัวพระยาไทรบุรี (แสง) และพระเสนานุชิต (นุด) ปลัดเมืองไทรบุรีบุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย) กลับสนับสนุนให้ตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเพิ่งรุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุกและค้าฝิ่นทางฝั่งทะเลตะวันตก (ทะเลหน้านอก) ของแหลมมลายู ขยายอำนาจเข้ามาทางฝั่งตะวันออกในเขตเมืองชุมพรและไชยา สำหรับที่เมืองพัทลุงนั้นทางราชธานีเรียกตัวพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) กลับแล้วแต่งตั้งพระปลัด (จุ้ย จันทโรจวงศ์) เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ จักรวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะ เจ้าเมืองพัทลุงแทน และให้ตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง เป็นกรมการเมือง เพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ผู้นี้นอกจากจะมีความดีความชอบในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ และ พ.ศ ๒๓๘๑ อย่างแข็งขันแล้ว ประการสำคัญคือยังเกี่ยวดองกับขุนนางตระกูลบุนนาค ที่มีอำนาจสูงยิ่งในขณะนั้นและบังคับบัญชาหัวเมืองแหลมมาลายูในตำแหน่งพระกลาโหมมาเป็นเวลายาวนานด้วย แต่ในที่สุดตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุงกลายเป็นเหมือนตระกูลเดียวกัน และสามารถปกครองเมืองพัทลุง สืบต่อไปตลอดสมัยระบบกินเมือง ทั้งนี้คงเป็นเพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ไม่มีบุตร จึงรับนายน้อยหลานมาเป็นบุตรบุญธรรมแล้วสร้างความสัมพันธ์กับตระกูล ณ พัทลุงโดยการแต่งงานกัน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุง โดยใช้การแต่งงานนั้น ทำให้อำนาจของกลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงกระชับยิ่งขึ้น มีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างจริงจัง จนราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะในตอนปลายสมัยระบบกินเมือง เช่น ในสมัยพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร จันทโรจวงศ์) เป็นเจ้าเมือง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระสฤษดิ์พจนกรณ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยออกไปตรวจราชการแล้วมีความเห็นว่า.. เมืองพัทลุงเป็นเมืองเล็กแต่กรมการเมืองมีอำนาจมากเกินผลประโยชน์และมีอำนาจชนิดที่ไม่มีกำหนดว่าเพียงใดชัดแต่เป็นอำนาจที่มีเหนือราษฏรอย่างสูงเจียนจะว่าได้ว่าทำอย่างใดกับราษฎรก็แทบจะทำได้…. ส่วนด้านผลประโยชน์เจ้าเมืองและกรมการแบ่งกันเองเป็น ๓ ขั้นตอน คือ
          - 
ตอนที่ ๑ พระยาวรวุฒิไวยวัฒลุงควิไสยอิศรศักดิพิทักษ์ราชกิจนริศศรภักดีพิริยะพาหะ (น้อย) จางวาง ซึ่งทำหน้าที่กำกับเมืองพัทลุง และพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองสองคนพ่อลูกตระกูลจันทโรจวงศ์ได้ผลประโยชน์จากส่วยรายเฉลี่ย
         - 
ตอนที่ ๒ ยกกระบัตรในตระกูล ณ พัทลุง ได้ผลประโยชน์จากภาษีอากร
         -
 ตอนที่ ๓ กรมการผู้น้อย เป็นกรมการของผู้ใดก็จะได้แบ่งปันผลประโยชน์จากทางนั้น
          สำหรับ
ผลประโยชน์หลัก ก็คือการทำนา เพราะเจ้าเมืองและกรมการมีที่นากว้างใหญ่ทุกคนขายข้าวได้ทีละมาก ๆ โดยไม่ต้องเสียค่านา นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากคุกตะรางอีก เพราะผู้ใดเป็นตุลาการชำระคดี ผู้นั้นจะมีคุกตะรางสำหรับขังนักโทษในศาลของตน ทำให้มีคุกตะรางถึง ๖ แห่ง โดยแบ่งเป็น ๒ ขนาด คือขนาดใหญ่ ๓ แห่ง เป็นของเจ้าเมือง หลวงเมือง หลวงจ่ามหาดไทย และขนาดเล็ก อีก ๓ แห่ง เจ้าเมืองจะเป็นผู้อนุญาตให้คนที่ชอบพอและไว้วางใจได้ มีผลประโชยน์ที่จะได้จากการมีคุกตะรางของตัวเอง คือได้ค่าธรรมเนียมแรงงานและมีอำนาจในการพิจารณาคดี คุกตะรางใดมีนักโทษเป็นเหมือนเช่นทาสในเรือนนั้น ทำให้กรมการเมืองอยากจะมีคุกตะรางเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่มีคุกตะรางก็จะถูกมองว่าไม่เป็นผู้ดีเป็นคนชั้นต่ำ สำหรับราษฎรนอกจากต้องเสียค่านาแล้ว แถบยังถูกเกณฑ์แรงงานและสิ่งของทั้งของกินและของใช้อีก โดยเฉลี่ยจะถูกเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้งต่อปี ราษฎรมักต้องยอมเพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองและขุนนางมาก ทำให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมสภาพดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทางราชธานีเมืองหนักใจมาก ทั้งยังมีปัญหากับเมืองข้างเคียง คือกับเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราชด้วย เพราะกลุ่มผู้ปกครองของเมืองเหล่านี้มุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จึงมักพบว่าเมื่อโจรผู้ร้ายทำโจรกรรมในเมืองสงขลาแล้วหลบหนีไปเมืองพัทลุง เจ้าเมืองสงขลาขอให้เจ้าเมืองพัทลุงส่งตัวให้ผู้ร้ายไปให้แต่เจ้าเมืองพัทลุงมักจะเพิกเฉย ส่วนโจรผู้ร้ายที่ทำโจรกรรมในแขวงเมืองพัทลุงแล้วหนีเข้าอยู่ในแขวงเมืองสงขลา เจ้าเมืองพัทลุงขอให้เจ้าเมืองสงขลาส่งตัวผู้ร้ายไปให้เจ้าเมืองสงขลาก็มักจะเพิกเฉยเช่นกัน หรือกับทางเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นทำนองเดียวกันกับทางเมืองสงขลา 
            ต
ลอดสมัยระบบกินเมืองแม้ว่าราชธานีพยายามควบคุมเมืองพัทลุง แต่ก็ควบคุมได้แต่เพียงในนามเท่านั้นเพราะความห่างไกลจากราชธานีทำให้ราชธานีดูแลไม่ทั่วถึง และไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับกิจการภายในของเมืองพัทลุงด้วยผลประโยชน์ของราชธานีจึงรั่วไหลไปมาก ประกอบกับในตอนกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ (รัชกาลที่ ๕) เป็นระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อก็ว่าได้เพราะไม่ว่ามองไปทางทิศไหนเห็นอังกฤษและฝรั่งเศส ที่พร้อมที่จะฉวยโอกาสรุกรานเข้ามา โดยเฉพาะทางหัวเมืองแหลมมาลายู อังกฤษถือโอกาสแทรกแชงเข้ามาในหัวเมืองประเทศราชมลายูของไทยและคุกคามหัวเมืองฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณคอคอดกระตอนเหนือของแหลมมาลายู ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสคุกคามเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและขยายอิทธิพลทางการเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิตกเป็นอย่างยิ่ง หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้ว ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย รีบจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมลายูเสียใหม่ เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรีทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เนื่องจากกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าเมืองพัทลุง เป็นหัวเมืองบังคับยาก เช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และหัวเมืองประเทศราชมลายู จึงทรงรวมหัวเมืองเหล่านี้เข้าเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ตั้งศูนย์การปกครองที่เมืองสงขลา โดยทรงมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล
สมัยระบบเทศาภิบาล 
   
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๙–๒๔๗๖ ช่วงนี้เมืองพัทลุงรวมอยู่ในการปกครองของมณฑลนครศรีธรรมราช สังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลพยายามทำลายอำนาจและอิทธิพลของตระกูลจัน-ทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี การดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองเข้าสู่พระราชวงศ์จักรีในกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีหลักการปกครองอยู่ว่าอำนาจจะต้องเข้ามารวมอยู่ที่จุดเดียวกันหมด รัฐบาลกลางจะไม่ให้การบังคับบัญชาหัวเมืองขึ้นอยู่กันเพียง ๓ กระทรวง คือกรมมหาดไทย กรมกลาโหม และกรมท่า และจะไม่ยอมให้เจ้าเมืองต่าง ๆ  มีอำนาจอย่างที่เคยมีมาในสมัยระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่าระบบเทศาภิบาล หลักการของการปกครองตามระบบเทศาภิบาลที่ระบุไว้ในประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งรวมหัวเมืองทั้งหมดไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) และในข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ตามกฎหมายเหล่านี้ประเทศไทยเริ่มจัดส่วนราชการบริหารตามแบบใหม่ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามลำดับของสายการบังคับบัญชาจากต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุดดังนี้
ชั้นที่ ๑  การปกครองหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง
ชั้นที่ ๒  การปกครองตำบล มีกำนันปกครอง
ชั้นที่ ๓  การปกครองอำเภอ มีนายอำเภอปกครอง
ชั้นที่ ๔  การปกครองเมือง มีผู้ว่าราชการเมืองปกครอง
ชั้นที่ ๕  การปกครองมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครอง

        การวางสายการปกครองเป็นลำดับชั้นกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเก่าในหัวเมืองไปเป็นอีกรูปหนึ่ง ราษฎรซึ่งไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงเคยเป็นเพียงบ่าวไพร่ก็ได้มีโอกาสเลือกผู้ใหญ่บ้าน กำนันขึ้นเป็นหัวหน้า ซึ่งเท่ากับได้มีโอกาสเสนอความต้องการของตนเอง ให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการเมืองทราบ ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมือง หรือพวกพ้องที่เคยทำอะไรตามใจชอบก็กระทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะมีข้าหลวงเทศาภิบาลมาคอยดูแลเป็นหูเป็นตาแทนรัฐบาล การกินเมืองซึ่งเคย “กิน” จากภาษีทุกอย่างต้องกลับกลายเป็นเพียง “กิน” เฉพาะเงินเดือนพระราชทานในฐานะข้าราชการ เพราะรัฐบาลเริ่มเก็บภาษีเองและเมื่อนายอำเภอ ผู้ว่าราชการเมือง และกรมการเมืองมีฐานะเป็นข้าราชการ ก็ต้องถูกย้ายไปตามที่ต่าง ๆ ตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ผักพันเป็นเจ้าเมืองเจ้าของชีวิตของชาวชนบทอยู่เพียงแห่งเดียวตามระบบเดิม กำนันผู้ใหญ่จะได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ส่วนลดจากการเก็บค่านา ค่าน้ำ ค่าราชการ อนึ่งการปกครองในระบบเทศาภิบาลรัฐบาลยังต้องการให้ราษฎรมีความผูกพันกับรัฐบาล และมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ รัฐบาลใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือโดยมอบหมายให้จัดเป็นสถานศึกษา เพราะจัดเป็นองค์กรที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั่วพระราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเปลืองเงินทองของรัฐในการก่อสร้างและเป็นแหล่งจูงใจให้ราษฎรเข้ามาเรียนหนังสือได้ และมอบหมายให้กรมหมื่นวชิรญานวโรรสพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระราชาคณะธรรมยุติกนิกายรับผิดชอบร่วมกับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เพราะรัฐบาลถือว่าธรรมยุติกนิกายเป็นตัวแทนของรัฐฝ่ายสงฆ์ ส่วนตัวแทนฝ่ายฆราวาสคือกระทรวงมหาดไทยหรือกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทั้งสองพระองค์จึงทรงกำหนดแบบแผนเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร คือใช้หนังสือแบบเรียนเร็วเป็นตำราเรียน และมีผู้อำนวยการสงฆ์เป็นผู้ตรวจตราและจัดการภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาลที่เมืองพัทลุง พระยาสุขุมนัยวินิตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดการปกครองตามแบบแผนทุกระดับ ที่สำคัญคือให้สร้างที่ว่าราชการเมืองขึ้นเพื่อให้ผู้ช่วยราชการเมืองและกรมการ ไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการให้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับงานส่วนตัวเหมือนอย่างในสมัยระบบกินเมือง แต่การคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ นั้น รัฐบาลใช้ปะปนกันทั้งคนเก่าและคนใหม่ตลาดสมัยระบบเทศาภิบาล ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น ๒ ระยะดังนี้                                                   
            -  
ระยะแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๒  รัฐบาลใช้วิธีประนีประนอม กล่าวคือในระยะเวลา ๕-๖ ปีแรก ยอมให้เชื้อสายตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ข้าราชการในระบบเก่ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ได้ผลประโยชน์ตามแบบเก่าบ้าง เช่น ให้พระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ช่วยราชการเมือง แต่ก็ให้พระพิศาลสงคราม (สอน) ผู้ช่วยราชการเมืองสิงห์บุรีเป็นผู้ช่วยราชการเมืองรับผิดชอบแผนกสรรพากรหรือดูแลการเก็บเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน เมื่อพระพิศาลถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็จัดให้พระอาณาจักร์บริบาล (อ้น ณ ถลาง) เครือญาติของตระกูลจันทโรจวงศ์มาแทน ทั้งนี้คงเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินเดือนสำหรับข้าราชการประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือพระยาสุขุมนัยวินิต จำต้องถนอมน้ำใจกลุ่มผู้ปกครองเดิมเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและมีเงินมาก แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อพระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย) จางวาง ซึ่งเป็นคนหัวเก่าถึงอนิจกรรมรัฐบาล ก็ปลดพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) ผู้ว่าราชการเมืองลงเป็นจางวาง หลังจากนี้รัฐบาลพยายามแต่งตั้งเชื้อสายและพวกพ้องของตระกูลเจ้าเมืองในแหลมมลายูใ นสมัยระบบกินเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงแทนตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการเมืองบ่อยครั้งในระยะตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๔๔๙ โดยผลัดเปลี่ยนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองถึง ๔ คน คือพระสุรฤทธิ์ภักดี (คอยู่ตี่ ณ ระนอง) บุตรชายพระยารัตนเศรษฐี (คอชิมก๊อง) อดีตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพร และเป็นหลานพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมปี๊) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทมะ) บุตรเขยของพระยาวิเชียรศรี (ชม ณ สงขลา) พระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) และพระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ตามลำดับ จนในที่สุดในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง โจรผู้ร้ายลักโคกระบือทั่วเขตเมืองพัทลุงจนทางราชการระงับไม่อยู่ ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จประพาสเมืองพัทลุง พระกาญจนดิฐบดีถูกปลดออกจากราชการในปีนั้น
     
          - ระยะตอนปลายหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๗๖ ดูเหมือนว่าเป็นระยะที่รัฐบาลใช้มาตรการค่อนข้างเด็ดขาด เพื่อลดอิทธิพลของตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง ที่ยังหลงเหลืออยู่อีก โดยจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง เช่น หม่อมเจ้าประสบประสงค์ พระโอรสองค์ใหญ่ในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระวุฒิภาคภักดี (ช้าง ช้างเผือก) เนติบัณฑิต หลวงวิชิตเสนี (หงวน ศตะรัตน์) เนติบัณฑิต ทำให้โจรผู้ร้ายกำเริบหนักจนดูราวกับว่าเมืองพัทลุงกลายเป็นอาณาจักรโจร โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ )สมัยพระคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีขุนโจรหลายคนที่สำคัญ เช่น นายรุ่ง ดอนทราย เป็นหัวหน้าโจรได้รับฉายาว่าขุนพัฒน์หรือขุนพัทลุง นายดำ หัวแพร เป็นรองหัวหน้า ได้รับฉายาว่าเจ้าฟ้าร่มเขียวหรือขุนอัสดงคต ทางมณฑลต้องส่งนายพันตำรวจโทพระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) และคณะมาตั้งกองปราบปรามอยู่ตลอดปี ทำให้การปล้นฆ่าสงบลงอีกวาระหนึ่ง แต่ปีถัดมารัฐบาลสั่งให้ย้ายศูนย์ปกครอง จากตำบลลำปำมาตั้งที่บ้านวังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์ อาจเป็นเพราะทางราชการเกิดความระแวงว่าตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง มีส่วนร่วมกับพวกโจรจึงต้องการทำลายอิทธิพลของสองตระกูลนั้นในเขตตำบลลำปำ และสร้างศูนย์การปกครองแห่งใหม่ให้เป็นเขตของรัฐบาลอย่างแท้จริง ประกอบกับในขณะนั้นรัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านตำบลคูหาสวรรค์แล้วการคมนาคมระหว่างจังหวัดพัทลุงกับส่วนกลางและจังหวัดใกล้เคียงจึงสะดวกกว่าที่ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ ประชาชนก็อพยพมาตั้งบ้านเรือนทำมาค้าขายมากขึ้น

สมัยระบบประชาธิปไตย (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖-ปัจจุบัน)
   
เมื่อมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลใหม่ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ ๒๔๗๖ ทำให้ระบบเทศาภิบาลถูกยกเลิกไปส่วนภูมิภาคมีอำนาจมากขึ้น จังหวัดพัทลุงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในอาณาจักรไทย ตามระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีผู้บริหารเป็นคณะเรียกว่าคณะกรมการจังหวัด ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัด ปลัดจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดโดยข้าหลวงประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธาน แต่คณะกรมการจังหวัดจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวงทบวงกรมที่ตนสังกัด สำหรับอำเภอก็มีคณะบริหารเรียกว่าคณะกรมการอำเภอ ประกอบด้วยนายอำเภอปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอโดยมีนายอำเภอเป็นประธาน แต่คณะกรมการอำเภอจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวง ทบวง กรม ที่ตนสังกัด และเนื่องจากจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ไม่เป็นนิติบุคคล นอกจากนั้นอำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะกรมการจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงบุคคลเดียว และฐานะของกรมการจังหวัดก็เช่นเดียวกัน เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหาราชการแผ่นดินในจังหวัดก็ได้แก้ไขเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดนั้นได้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอ ขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินใน จังหวัดซึ่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าวนี้ได้บังคับใช้จนถึงปัจจุบันนี้

           ที่ตั้งและอาณาเขต
           
จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของเเหลมมลายู หรือแหลมทอง (Golden Khorsoriese) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยหรือฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (Songkhla Lake Basin) โดยตั้งอยู่บริเวณเส้นรุ้ง (latitude) ที่ ๗ องศา ๕ ลิปดา ถึง ๗ องศา ๕๕ สิปตาเหนือ และเส้นแวง (longtitude) ที่ ๙๙ องศา ๔๔ ลิปดา ถึง ๑๐๐ องศา ๒๕ ลิปดา ตะวันออก มีเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ ๓,๔๒๔,๔๗๓ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒,๑๔๐,๒๙๕.๖๐ ไร่ จังหวัดพัทลุงมีภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสูงทางด้านตะวันตก ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบไปจนถึงทะเลสาบสงขลา เหมาะต่อการทำนาและทำการประมง และเป็นเมืองต้นกำเนิดศิลปะการแสดงที่ขึ้นชื่อ คือมโนห์ราและหนังตะลุง ซึ่งตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้มาเนิ่นนาน จังหวัดพัทลุงนอกจากนั้นยังมีแหล่งธรรมชาติสำคัญระดับประเทศคือทะเลน้อย พื้นที่ชุ่มน้ำและทะเลสาบน้ำจืด อันเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำหลากหลายพันธุ์ ก็ตั้งอยู่ในจังหวัดนี้ความสำคัญของทะเลน้อยคือส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ คือพรุควนขี้เสียนได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลกแห่งแรกของไทย จังหวัดพัทลุงมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอําเภอชะอวด อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอําเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับอ้าเภอควนเนียง อ้าเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาและอําเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอําเภอสิงหนคร อําเภอสทิงพระ อําเภอกระแสสินธุ์ และอําเภอระโนด จังหวัดสงขลา อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอําเภอควนกาหลง และอําเภอมะนัง จังหวัดสตูล อําเภอปะเหลียน อําเภอย่านตาขาว อำเภอนาโยง อําเภอเมืองตรัง อําเภอห้วยยอด และอําเภอรัษฎา จังหวัดตรัง

           ปัจจุบันจังหวัดพัทลุงแบ่งเขตการปกครองเป็น ๑๑ อําเภอ ประกอบด้วย

๑. อำเภอเมืองพัทลุง
๒. อำเภอศรีนครินทร์
๓. อำเภอควนขนุน
๔. อำเภอเขาชัยสน
๕. อำเภอศรีบรรพต
๖. อำเภอป่าพะยอม
๗. อำเภอตะโหมด
๘. อำเภอบางแก้ว
๙. อำเภอกงหรา
๑๐. อำเภอป่าบอน
๑๑. อำเภอปากพะยูน



ภาพจาก : http://www.kitmaiwatpho.org/datathailand/Province/73PLG.html

           ชื่อบ้านนามเมือง
           ๑. อําเภอเมืองพัทลุง
               สมัยอยุธยาเมืองพัทลุงเคยเป็นที่ตั้งของเมืองศรีชนา มีขุนศรีชนาปลัดเมืองพัทลุงเป็นผู้ปกครอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อําเภอเมืองพัทลุง เดิมชื่อคืออําเภอกลางเมืองโดยตั้งตัวเมืองอยู่ที่ตําบลลําปำ จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อจากอําเภอกลางเมือเป็นอําเภอลําปำ ก่อนจะย้ายตัวเมืองไปตั้งที่บ้านวังเนียง ตําบลคูหาสวรรค์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอําเภอคูหาสวรรค์ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นอําเภอเมืองมาจนถึงปัจจุบัน อำเภอเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓,๔๒๔,๔๗๓ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒,๑๔๐,๒๙๖ ไร่ (พื้นดิน ๑,๙๑๙,๔๔๖ไร่ พื้นนํ้า ๒๒๐,๘๕๐ ไร่) สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาและที่ราบสูงทางด้านตะวันตกอันประกอบด้วยเทือกเขาบรรทัด มีระดับสูงจากนํ้าทะเลปานกลางประมาณ ๕๐-๑,๐๐๐ เมตร ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ เช่น สวนยางพารา ส่วนไม้ผลและไม้ยืนต้น ถัดลงมาทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบสลับที่ดอน มีความสูงจากระดับนํ้าทะเลปานกลางเฉลี่ย ๐-๑๕ เมตร บริเวณนี้ส่วนใหญ่ปลูกข้าว ยางพารา มะพร้าว พืชผักและพืชไร่ชนิดต่าง ๆ อาชีพหลักของประชากรในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม การประมง การปศุสัตว์ การอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมีแม่นี้าลำคลองที่สำคัญหลายสาย ดังนี้
            ๑. คลองป่าพะยอม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านอำเภอป่าพะยอม ควนขนุน ไปลงทะเลสาบสงขลาที่พรุควนเคร็ง มีความยาวประมาณ ๓๓ กิโลเมตร
            ๒. คลองท่าแนะ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านอำเภอศรีบรรพต ควนขนุน ไปลงทะเลสาบสงขลาที่บ้านปากประเหนือมีความประมาณ ๓๘ กิโลเมตร
            ๓. คลองนาท่อม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านอำเภอเมืองพัทลุง ไปลงทะเลสาบสงขลาที่บ้านลำปำ มีความยาวประมาณ ๔๒ กิโลเมตร
            ๔. คลองหลักสาม หรือคลองสะพานหยี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านอำเภอกงหรา อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอเขาชัยสน ไหลลงทะเลสาบสงขลา ที่บ้านปากพะเนียด มีความยาวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร
           ๕. คลองท่าเชียด มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านอำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน ไหลลงทะเลสาบสงขลาที่บ้านปากพล มีความยาวประมาณ ๔๒ กิโลเมตร
           ๖. คลองป่าบอน มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านอำเภอป่าบอน อำเภอปากพะยูน ไหลลงทะเลสาบสงขลาที่บ้านพระเกิด มีความยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
          ๗. คลองพรุพ้อ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด เป็นคลองที่เป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดสงขลา ไหลผ่านอำเภอป่าบอน อำเภอปากพะยูน ไหลลงทะเลสาบสงขลาที่บ้านท่าหยี มีความยาวประมาณ ๓๖ กิโลเมตร
           แหล่งท่องเที่ยว
         
  - หาดแสนสุขลําป่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติริมทะเลสาบสงขลา อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร มีศาลาพักร้อนสร้างยื่นลงไปในทะเลสาบ ถ้าหากเป็นวัน
อากาศดีจะสามารถมองเห็นเกาะสี่ เกาะห้าในทะเลสาบสงขลาได้ชัดเจนในสายตา หาดแสนสุขลําป่าแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประทับแรม เมื่อครั้งเสด็จจากสงขลามาตามทะเลสาบสู่เมืองพัทลุงในปี พ.ศ.  ๒๔๓๒ 
          - ภูเขาอกทะลุ จากวัดคูหาสวรรค์มุ่งหน้าไปบนทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ มุ่งสู่สถานีรถไฟพัทลุงจะพบภูเขาอกทะลุ ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านตะวันออกของสถานีรถไฟ ภูเขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์ของพัทลุง มีความสูงประมาณ ๒๕๐ เมตร มีทางสำหรับปีนขึ้นยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุงได้ ลักษณะพิเศษของภูเขาลูกนี้คือ มีช่องแลทะลุยอดภูเขา อยู่บริเวณเกือบตอนปลายของยอดเขาชี่งเป็นที่มาของชื่อภูเขาลูกนี้ มีบันไดทางขึ้นหลายร้อยขั้น 
          - ถํ้ามาลัยอยู่ห่างจากสถานีรถไฟประมาณ ๒ กม. บนเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ ระหว่างหลัก กม. ที่ ๗-๘ จะมีถนนลูกรังแยกซ้ายมือเข้าไปอีก ๒ กม. ถํ้านี้อยู่ในเทือกเขาเดียวกันกับภูเขาอกทะลุ ถูกค้นพบโดยพระธุดงค์จากภาคอีสาน ชื่อพระมาลัย จึงได้ตั้งชื่อตามชื่อของผู้ค้นพบ ภายในถํ้ามีลักษณะกว้างขวางสลับซับซ้อน มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก และมีแอ่งนํ้าใสอยู่ตอนในสุดของถํ้า
          
๒. อำเภอควนขนุน
             ควนหมายถึงพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนินและมีต้นขนุนหลายต้นขึ้นเห็นโดดเด่น ชาวบ้านมักเรียกว่า “ควนขนุน” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ควนขนุนเรียกว่าอําเภออุดร เพราะอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองพัทลุง ต่อมาย้ายที่ว่าการอําเภอไปตั้งที่ฝั่งคลองปากประ จึงเรียกว่าอําเภอปากประ (คําว่า “ปาก” ในที่นี้หมายถึงปากคลอง ส่วน “ประ” หมายถึงไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งมีเมล็ดเป็นรูปยาวรี เปลือกแข็ง เมื่อแก่สีจะคล้ำเกือบดำ ภายในเมล็ดมีเนื้อขาว สองกลีบประกบกันมีรสมัน ภาคกลางเรียกว่าลูกกระ) ต่อมาย้ายที่ว่าการอําเภอไปตั้งที่ตําบลทะเลน้อย และตําบลพะนางตุง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เปลี่ยนชื่อเป็นอําเภอทะเลน้อย ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็นอําเภอพะนางตุง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เปลี่ยนกลับเป็นอําเภอทะเลน้อยควนขนุน (ทะเลน้อยเป็นทะเลสาบขนาดเล็กอยู่ในเขตพัทลุง ส่วนทะเลสาบใหญ่เรียกว่าทะเลสาบสงขลา) คําว่า "พะนางตุง” นั้นบางท่านบอกว่ามีนางผู้หนึ่งเดินหกคะมาอยู่บริเวณนั้น ส่วนคําว่า “ตุง” ภาษาถิ่นได้หมายถึงหกคะมำหรือหกคะเมน นักภาษาศาสตร์อย่างอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เล่าไว้ว่า...นางผู้นั้นคงไปหลงทางที่บ้านนางหลง เขตสงขลามาก่อนแล้วมาเป็นพะนางตุงที่พัทลุง เพราะในรูปเชิงภาษาว่า “พะนางตุง” มาจากคํา “พนัง” หมายถึงกําแพง หรือทํานบกั้นน้ำอย่างใหญ่ ส่วน “ตุง” หมายถึงธงรวมความแล้วจึงหมายถึงกําแพงมีธงประดับ นอกจากนี้ควนขนุนยังมีตํานานที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น เรื่องช้างค่อม ชุมโจรรุ่งดอนทราย ดําหัวแพร สํานักวัดเขาอ้อ และวัดสนทรา ควนขนุนเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองพัทลุง สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อนตลอด แนวทิศตะวันตกที่ติดต่อกับเขตจังหวัดตรัง พื้นที่จะลาดต่ำลงไปทางทิศตะวันออก มีควนและภูเขากระจายเป็นลูกโดด ๆ อยู่ทั่วไปเป็นระยะ เช่น ควนปริง ควนกฤษณา ศวนพนางตุง เขาพนมวังก์ เขาอ้อ และเขาทอง เป็นต้น ทิศตะวันออกเป็นที่ลุ่มมีพรุและทะเลสาบขนาดเล็ก คือ ทะเลน้อย อันเป็นเขตติดต่อกับอำเภอ ระโนด จังหวัดสงขลา สภาพพื้นที่แบ่งได้เป็นสามส่วน คือพื้นที่ด้านตะวันตก จากถนนสายเอเชียไปจรดเขตอำเภอศรีบรรพต และอำเภอป่าพะยอม เป็นที่ราบสูงเหมาะแก่การทำสวนผลไม้ สวนยางพารา บางแห่งเป็นที่ตรทำนาได้บ้าง ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ตอนกลางระหว่าง ถนนสายเอเชียและทางรถไฟสายใต้ เป็นที่ราบตำเหมาะแก่การทำนามีชุมชนหนาแน่น พื้นที่ส่วนที่สามเป็นพื้นที่ทางด้านตะวันออกของทาง รถไฟสายใต้ เป็นที่ราบลุ่มมีเนินเป็นแนวยาวจากเหนือมาใต้เหมาะแก่การทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ทางด้านทิศตะวันออกของแนวเนินไปจรดทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลาเป็นพรุ มีพรรณไม้นํ้าขึ้นหนาแน่น เหมาะแก่การปลูกกระจูดและทำประมง
             แหล่งท่องเที่ยว
             - อุทยานนกน้ําทะเลน้อย เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลาตอนใน อยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงไป ๓๒ กิโลเมตร บริเวณทะเลน้อยอันเป็นส่วนในสุดของ ทะเลสาบสงขลานี้มีอาณาเขตราว ๓๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๑๘,๗๕๐ ไร่ มีนกน้ํานานาชนิดจํานวนมากมาย เช่น นกเป็ดน้ําคาบแค นกกาบบัว นกอีโก้ง นกกระสาแดง นกพริก นกยางโทน ฯลฯ จากการสํารวจพบว่ามีนกน้ํามากถึง ๑๑๒ ชนิด ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘8 นับเป็นอุทยานนกน้ําใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย 
             - อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีอาณาเขตติดกัน ๓ จังหวัด คือพัทลุง ตรัง และนครศรี ธรรมราช  ที่ตั้งเป็นบริเวณป่าเทือกเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่ตําบลน้ําตก อําเภอทุ่งสง ตําบลวังอ่าง อําเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ตําบลหนองบัว ตําบลหนองปรือ ตําบลท่างิ้ว ตําบลเขาปูน อําเภอห้วยยอด ตําบลน้ําผุด ตําบลช่อง อําเภอเมืองจังหวัดตรัง ตําบลตะแบน ตําบลเขาปู่ อําเภอศรีบรรพต อําเภอควนขนุน ตําบลบ้านนา อําเภอเมืองพัทลุง ตําบลกงหรา ตําบลชะรัด อําเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ทั้งหมด ๖๙๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔๓๓,๗๕๐ ไร่ ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
            ๓. อำเภอเขาชัยสน
                เขาชัยสนตามเรื่องเล่าของพระธรรมเมธาจารย์ (ทัน) เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดพัทลุงได้เล่าเอาไว้ว่า... เจ้าชายสณฑ์เชื้อพระวงศ์พระเจ้าจันทรภาณุ ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เชิงเขาแห่งหนึ่ง และได้สร้างวัดสณฑาราม (วัดสวนตาราม ตําบลนาปะขอ อําเภอเขาชัยสน) และวัดสณฆาโท (ตําบลท่ามะเดื่อ อําเภอเขาชัยสน) ขึ้นเมื่อเจ้าชายสณท์ทิวงคตแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกภูเขานั้นว่าเขาชายสณฑ์ ต่อมาเพี้ยนเป็นเขาชัยสน... อําเภอเขาชัยสนเคยเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของพัทลุง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบางแก้ว ชาวบ้านเรียกโคกเมือง ที่นี่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่น วัดเขียนบางแก้วหรือวัดตะเขียน พระพุทธรูปสองพี่น้อง ซึ่งหมายถึงนางเลือดขาวและพระยากุมาร รวมทั้งพระแก้วกุลา มีเรื่องเล่ากันว่าชาวอินเดียใต้ซึ่งชาวใต้เรียกพวกกุดาเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่นี่ เขาชัยสนได้รับการยกฐานะเป็นอําเภอเขาชัยสนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ อำเภอเขาชัยสนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดพัทลุงติดกับทะเลสาบสงขลา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียืนยันว่ อำเภอเขาชัยสนเป็นชุมชนโบราณก่อนสุโขทัย หลักฐานที่สำคัญที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คือพระบรมธาตุวัดตะเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นในราวปีพุทธคักราช ๑๗๐๐ มีเนื้อที่ราว ๆ ๒๖๗ ตร.กม. อาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้แก่ ทำนา ทำสวนยางพารา เลี้ยงสัตว์ ประมง เพราะมีแหล่งนํ้าที่สำคัญเป็นปัจจัยหลัก ได้แก่คลองปากพะเนียด ทะเลพระ
             แหล่งท่องเที่ยว
             
- บ่อน้ําร้อนที่เขาชัยสน อยู่ในเขตอําเภอเขาชัยสน ห่างจากที่ว่าการอําเภอประมาณ ๖ กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ ๒๕ กิโลเมตร บ่อน้ําร้อนแห่งนี้ มีอุณหภูมิราว ๖๐ องศาเซลเซียส ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ชาวบ้านนับถือว่าเป็นบ่อน้ําศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคผิวหนังได้
             - แหลมจองถนน ตั้งอยู่ที่ตำบลจองถนน จากตัวเมืองพัทลุงไปตามเส้นทางสายเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอเขาชัยสนไปอีกประมาณ ๑๒ กม. ระยะทางจากตัวเมืองประมาณ ๓๙ กม. อยู่บนเนินดินและลาดชันลงไปยังชายหาดทะเลสาบสงขลา มีสภาพเป็นนํ้ากร่อยและสามารถมองเห็นทิวทัศน์ เกาะแก่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

           ๔. อำเภอปากพะยูน
                พะยูนเป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง พะยูนในคำมลายูเรียกว่าดูยงหรือดุหยง ผู้รู้บางท่านอธิบายว่า “ปากพะยูน” มาจากคําว่าปากพูนหมายถึงปากน้ำ ในครั้งที่จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ คือนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองทั้ง ๗  โดยที่พัทลุงในครั้งนั้นแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ คืออําเภอกลางเมือง อําเภออุดร และอำเภอทักษิณ ต่อมาอําเภอทักษิณเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอำเภอปากพะยูน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ในปัจจุบัันอำเภอปากพะยูนเป็นอำเภอหนึ่งใน ๑๑ อำเภอของจังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่/พื้นที่ ๔๓๓ ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ดิน ๓๒๓ ตร.กม. พื้นที่นํ้า ๑๑๐ ตร.กม. พื้นที่เป็นที่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก มีเนินสลับกันเป็นลูกฟูก มีคลองที่สำคัญ  ๓ สาย ประกอบด้วยคลองฝาละมี คลองพระเกิด และคลองเขต ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอปากพะยูน และบริเวณพื้นที่เกาะในทะเลสาบ ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยราว ๑๓ เกาะ มี ๒ ตำบล คือตำบลเกาะหมากและตำบลเกาะนางคำ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนยางพารา
             แหล่งท่องเที่ยว
             - เกาะสี่ เกาะห้า เป็นหมู่เกาะอยู่ในทะเลสาบสงขลา อําเภอปากพะยูน บนเกาะมีถ้ําใหญ่น้อยเป็นที่ทํารังของลูกนางแอ่น ซึ่งรังนกนางแอ่นที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นรังนกน้ํากรอย ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก การไปชมเกาะรังนกนี้จะลงเรือที่ลําป่าก็ได้ แต่ไปลงเรือที่ท่าเรือปากพะยูนจะสะดวก และใกล้กว่า ผู้ที่จะไปชมต้องขออนุญาตจากบริษัทรับสัมปทานเก็บรังนกเสียก่อน เกาะสี่ เกาะห้านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสเมื่อปี ร.ศ. ๑๐๘ ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ไว้ที่หน้าผาถ้ํา
             - เกาะนาง แยกมาจากตำบลเกาะหมาก เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เดิมชื่ เกาะนางคา เล่ากันว่ามีหญิงสาวหนีจากการถูกลวนลามของเณรที่อยู่ส่งตรงข้าม โดยใช้แพเป็นพาหนะ พอมาถึงเกาะก็เป็นเวลาค่ำมืดพอดีจึงเรียกเกาะนี้ว่าเกาะนางคา และต่อมาเปลี่ยนมาเป็นเกาะนางคำ

          ๕. อำเภอบางแก้ว
               
บางแก้วเดิมอําเภอนี้เป็นส่วนหนึ่งในเขตการปกครองของอําเภอเขาชัยสน และในท้องที่นั้นมีต้นแต้วหลายต้น ชาวบ้านจึงเรียกว่าโคกแต้ว ต่อมามีการสร้างสถานีรถไฟตรงโคกแต้ว และเนื่องจากสถานีอยู่ริมคลองบางแก้ว เลยเอาชื่อคลองมาตั้งชื่อสถานรถไฟ ทําให้ชื่อโคกแต้วหายไป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ทางกระทรวงมหาดไทยการยกฐานะเป็นอําเภอบางแก้ว อำเภอบางแก้วเดิมเป็นตำบลบางแก้วขึ้นกับอำเภอ เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ท้องที่อำเภอบางแก้วปัจจุบันเดิมมีชื่อเรียกว่า “โคกแต้ว” เป็นโคกที่มีต้นไม้แต้วขึ้นอยู่ทั่วไป ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อตามชื่อสายคลองใหญ่ที่ไหลผ่านวัดตะเขียนบางแก้ว ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเขาชัยสนปัจจุบัน บ้านที่อยู่ใกล้วัดตะเขียน เรียกว่าบ้านบางแก้ว ด้วยเหตุที่คำว่า “บางแก้ว” เป็นที่รู้จักกันดีกว่า เช่น มีสถานีรถไฟบางแก้ว บางแก้วเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีชื่อเสียงส่งไปจำหน่ายทั่วภาคใต้ในนาม “ข้าวบางแก้ว” บางแก้วจึงเป็นชุมชนใหญ่มีโรงสีถึง ๓ โรง เพื่อสีข้าวแล้วส่งข้าวสารออก ผู้รู้ประวัติของท้องถิ่นยืนยันว่ามีชาวจีนก๊กมินตั๋งมาอาศัยอยู่ ได้วางผังเมืองในเขตสุขาภิบาล ท้ามะเดื่อ และวางทางสายบ้านบางแก้วหาดไข่เต่า จึงทำให้เมืองสวยงามและเจริญมาตราบเช่นทุกวันนี้ พื้นที่ทั่วไปของอำเภอจากเชิงเทือกเขาบรรทัดลาดต่ำลงไปทางตะวันออก เหมาะแก่การทำนา ทำสวน และทำการประมง มีแหล่งน้ำจืดแถบริมทะเลสาบสายนํ้าสำคัญที่ช่วงทางการเกษตรคือคลองบางแก้ว ซึ่งไหลมาจากอำเภอตะโหมด ผ่านตำบลโคกสัก ตำบลท้ามะเดื่อ ตำบลนาปะขอ ลงสู่ทะเลสาบสงขลา ส่วนคลองอีกสายหนึ่ง คือคลองลำธารไหลจากท้องที่อำเภอตะโหมด ผ่านตำบลโคกสัก ตำบลท้ามะเดื่อ และตำบลนาปะขอลงสู่ทะเลสาบที่บ้านหัวปอ
               แหล่งท่องเที่ยว
               - คลองหูแร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ามะเดื่อห่างจากตัวเมืองพัทลุง ๓๓ กม. ใช้เส้นทางสายเพชรเกษมไปประมาณ ๒๐ กม. เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเขาชัยสน-จงเก (หมายเลข ๔๐๘๑) และเลี้ยวขวาบริเวณหน้าที่ทำการอำเภอเขาชัยสน ไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ ๕ กม. ก็จะถึงแหล่งท่องเที่ยวและบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอจะมีรถจักรยานยนต์รับจ้างไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย คลองหูแร่มีสภาพเป็นคลองขนาดใหญ่นํ้าใสสะอาด พื้นคลองเป็นทรายและโขดหิน บริเวณนํ้าล็กเหมาะแก่การพักผ่อนหรือลงเล่นนํ้า มีเพิงและร้านอาหารไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
 
           ๖. อำเภอกงหรา
                กงหราเคยเป็นแขวงหนึ่งของเมืองชรัต ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพัทลุง (เมืองชรัต มาจากคําว่า คชรัฐ หมายถึงชุมชนเกี่ยวข้องกับช้าง) กงหรามีตํานานเล่าไว้ว่า... ครอบครัวหนึ่งบิดาชื่อพญาโฮ้งมีบุตรชาย ๓ คน คนโตไปทํางานที่เมืองจีน ด้วยความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ทําให้พระเจ้ากรุงจีนโปรดปรานถึงกับยกพระธิดาให้และยกเมืองให้ครอบครอง คนทั่วไปเลยเรียกว่าพระเจ้ากรุงจีน ต่อมาพระเจ้ากรุงจีนหรือบุตรชายพญาโข้ง คิดถึงบิดาจึงแล่นเรือสําเภามาเยี่ยมบ้านเดิม พญาโฮ้งดีใจไปรอรับบุตรชายและลูกสะใภ้ที่ท่าน้ำ แต่พระเจ้ากรุงจีนเห็นบิดามีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ทําให้นึกอายภรรยา จึงไม่ยอมขึ้นฝั่งดังที่ตั้งใจ จากนั้นจึงถอยสําสําเภาออกสู่ท้องทะเล พญาโฮ้งเสียใจและตรอมใจภายหลัง เมื่อพญาโฮ้งถึงแก่ความตายจึงกลายเป็น “เขาพญาโฮ้ง และผลของความอกตัญญทําให้เรือสําเภาอับปางผู้คนในเรือตายสิ้น บุตรชายกลายเป็นเขาพญากรุงจีน ส่วนเรือสําเภาที่จมทะเลเห็นแต่กงเรือโผล่และลอยเหนือผิวน้ำ ชาวบ้านเรียกว่ากงลอย นาน ๆ เข้ากลายเสียงเป็น "กงหรา” ในที่สุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทางกระทรวงมหาดไทยการยกฐานะเป็นอําเภอกงหรา อำเภอกงหราพื้นที่ที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา สวนยางพารา สวนผลไม้ ซึ่งประชาชนในอำเภอส่วนใหญ่ล้วนแต่มีรายได้หลักจากการทำสวน มีความเป็นอยู่ค่อนข่างดี มิความรักความสามัคคีและยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยความที่อำเภอกงหราเป็นอำเภอที่มีความ อุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ  รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เช่น น้ำตกไพรวัลย์ นํ้าตกหนานสูง นํ้าตกมโนราห์ และนํ้าตกนกรำ นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวถึงมาแล้วนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่เขาเจ็ดยอด หรือว่าชื่นชอบการเที่ยวถํ้าที่นี่ก็มีถํ้าลูกยา ถํ้าชี ถํ้าปลา ที่ยังคงความงดงามและเป็นธรรมชาติ
               แหล่งท่องเที่ยว
               - นํ้าตกไพรวัลย์ ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด เขตรักษาพันธุสัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลคลองเฉลิม เป็นนั้าตกขนาดใหญ่ เงียบสงบร่มเย็นด้วยพรรณ ไม้นานาชนิด บริเวณนํ้าตกมีร้านอาหารบริการ การเดินทาง จากตัวเมืองพัทลุง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถึงสามแยกกงหราเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4122 ประมาณ 29 กิโลเมตร และจะมีป้ายบอกทางไปนั้าตกอีก 3 กิโลเมตร หรือถ้านักท่องเที่ยวต้องการไปเที่ยวเองสามารถขึ้นรถสองแถวสายนํ้าตกไพร วัลย์-พัทลุง ซึ่งคิวรถจะจอดอยู่เยื้องสถานีรถไฟพัทลุง
                - นํ้าตกหนานสูง ตั้งอยู่บนเทือกเขาบรรทัด หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เป็นน้ำตกที่ยังมีสภาพอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้นานาชนิด มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีลักษณะลดหลั่น ลงมาตามโขดหินสูงนับได้สิบกว่าชั้นมีชื่อเรียกว่าหนานสูง ซึ่งมีนํ้าไหลลงมาจากโขดหินสูงเป็นทางยาว นอกจากนั้นยังมีหนานสินปลาและหนานหรูด ซึ่งสามารถเล่นสไลด์ตามความลาดของแผ่นหินได้ 
                - ปอนํ้าร้อนโล๊ะจังกระ ตั้งอยู่ บ้านโล๊ะจังกระ ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เป็นบ่อคอนกรีตขนาดประมาณ ๑๐ เมตร นํ้าใสและไม่มีกลิ่นกำมะถัน โดยพบสาหร่ายสีเขียว-ขาว ในปริมาณเล็กน้อย เกิดอยู่ในที่ราบสวนยางพารา ห่างจากเทือกเขาบรรทัดที่อยู่ทางทิศตะวันตก ๑ กม. การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) ถึงสามแยกกงหรา เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑๑๒ (ถนนตำบลลำสินรุ-กงหรา) ประมาณ ๒๐ กม. แยกเข้าถนนป่าบอน-บ้านนา เป็นถนนลาดยางประมาณ ๓ กม. อยู่ห่างจากอำเภอกงหราประมาณ ๑๐ กม. และห่างจากตัวจังหวัดพัทลุงประมาณ ๓๐ กม.

          ๗. อำเภอตะโหมด
               ตะโหนดอดีตอําเภอนี้เคยขึ้นกับอําเภอปากพะยูนและอําเภอเขาชัยสน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙  ทางการได้ยกฐานะเป็นอําเภอตะโหมด ซึ่งเดิมที่ชาวบ้านต่างเรียกที่นี่ว่า “บ้านโหมด" มาจากชื่อของชาวมุสลิมที่เข้ามาตั้งหลักปักฐานเป็นคนแรก ต่อมาชาวบ้านต่างเรียกว่า “โต๊ะหมูด” โต๊ะเป็นคํามลายูแปลว่าบุคคลควรแก่ความเคารพนับถือ ส่วนคําว่า “หมูด” เป็นชื่อเฉพาะแต่พอนาน ๆ เข้าเกิดการเขียนเสียงจากคําว่า โต๊ะหมูด จึงกลายเป็น “ตะโหมด” อําเภอตะโหมดมีเส้นทางโบราณผ่านช่องเขาตระไปออกอําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งแต่เดิมปะเหลียนเป็นเมืองท่าขึ้นกับพัทลุง ซึ่งชาวอินเดียใต้คงใช้เส้นทางนี้เดินทางมาที่พัทลุง จึงปรากฏชื่อบ้านนามเมืองหลายแห่งที่มีเค้ามาจากภาษาอินเดียใต้และภาษาทมิฬ เช่น ลําปำมาจากกลาปำ ทํามิหรำ มาจากทมิฬคาม เป็นต้น  มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับเงาะป่า (คนัง) เล่าว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระองค์ทรงมีพระราชดาริจะลองเลี้ยงเงาะป่าดูบ้าง จึงรับสั่งให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ให้จัดหาลูกเงาะป่าไปถวายสักหนึ่งคน เจ้าพระยายมราชมีคําสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ดําเนินการเวลานั้นหลวงทิพกําแหงสงครามเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเป็นผู้เลือกสรร ได้เด็กชายเงาะป่าคนหนึ่งมีชื่อว่า “คนัง” จากหมู่บ้านตะโหมด จึงนับเป็นเงาะป่าคนแรกที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในพระราชวัง โดยมีพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎฯ พระอัครชายา เป็นผู้ดูแลและฝึกหัดอบรมคนัง และมีโอกาสแสดงละครเป็นคนังในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่า ปรากฏว่าได้รับคําชมเชยจากผู้ชมเป็นอย่างมาก ตลอดสมัยรัชสมัยของพระองค์ ชีวิตของคนังมหาดเล็กหลวง เต็มไปด้วยความสุขและถึงแก่กรรมในแผ่นดินถัดมา  มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับหญิงงามชาวบ้านโหมด เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์  ดํารงตําแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ เคยเสด็จไปที่บ้านโหมต และทรงได้หญิงงามบ้านโหมดเป็นหม่อมห้าม จึงเกิดสํานวนว่า “หญิงงามบ้านโหมด” ขณะสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ประทับอยู่ที่บ้านโหมด พระองค์ทรงถามชาวบ้านว่า “โหมด หมายถึงอะไร” ก็มีผู้ทลให้ทราบความหมายหลายอย่างจากนั้น พระองค์จึงเพิ่มเติมคำว่า “ตะ” เข้าไปข้างหน้ากลายเป็นตะโหมดมาจนทุกวันนี้ อำเภอตะโหนดขึ้นกับจังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๖๔,๒๖๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองอันเก่าแก่เมืองหนึ่งของภาคใต้ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองต้นกำเนิดหนังตะลุงและโนรา มีลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยเนินสูงทางทิศตะวันตก ลาดตำลงมาทิศตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การประกอบอาชีพทางการเกษตร และพื้นที่เป็นเนินสูง และราบลุ่มในบางพื้นที่ ประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา ทำนา ทำสวนผลไม้และปศุสัตว์
                 แหล่งท่องเที่ยว
                 
-  อ่างเก็บนํ้าคลองหัวช้าง เทือกเขาบรรทัด ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นป่าด้นนํ้าที่เลี้ยงประชาชนในภาคใต้ทั้งจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราชและสงขลา มีสัตว์ป่าและระบบนิเวศที่หลากหลาย และเป็นสถานที่อาศัยอยู่ของกลุ่มชาไก ต้นกำเนิดชนเผ่ามนุษย์ที่ดั้งเดิมสุด และที่สำคัญสายนํ้าลำคลอง ผืนป่าคือแบบแผนของชีวิตวัฒนธรรม เป็นแหล่งกำเนิดของจารีตประเพณีต่าง ๆ ที่บ่มเพาะภูมิปัญญาให้กับประชาชนคนใต้ไว้มากมายมาตั้งแต่บรรพกาล
                - นํ้าตกลานหม่อมจุ้ยหรือชาวบ้านเรียกว่า “นํ้าตกตะโหมด” เป็นนํ้าตกที่อยู่ท่ามกลางป่าที่ร่มรื่น อยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าบ้านตะโหมด ลักษณะของน้ำตกจะแบ่งเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีชื่อต่างกัน มีแอ่งนํ้าสามารถเล่นนํ้าได้และเหมาะแก่การพักผ่อน
               - โตนหินลาดล่องแก่ง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๙ ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง จุดเด่นของโตนหินลาดมีกิจกรรมหลากหลายที่น่าสนใจ อาทิ กิจกรรมล่องแก่งระยะทาง ๔.๕ กม. ใช้เวลาประมาณ ๑.๓๐ ชม. มีเรือคายัคไว้รองรับนักท่องเที่ยวหลายสิบลำ กิจกรรมนั่งช้างชมธรรมชาติและกิจกรรมฐานผจญภัย ๗ ฐาน เช่น ฐานปิดตาไต่เชือก ปีนหน้าผาพร้อมโรยตัวจากที่สูง กระเช้าลอยฟ้า บันไดต่างระดับ บันไดลิง เชือกสามเส้น ไต่ลวดสองเส้น และฐานคอมมานโด หลังจากได้เหงื่อแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือนักท่องเที่ยวสามารถลงอาบน้ำร้อนจากนํ้าแร่ธรรมชาติที่อุณหภูมิต้มไข่สุก นอกจากเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้วว่ากันว่านํ้าแร่ดังกล่าวยังสามารถรักษาโรคได้อีกด้วย 
             - สวนเกษตรวิถีพุทร เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย หลากหลายด้วยคุณภาพชีวิต ได้รับการแบ่งปันจากธรรมชาติอย่างพอพียงตามปรัชญาสวนเกษตรวิถีพุทธ โดยนายวิฑูร หนูแสน อยู่หมู่ที่ ๙ บ้านป่าพงค์ ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง จากการทำการเกษตรที่ปรับสวนยางเป็นป่ายาง นาข้าว  โดยใช้ความได้เปรียบของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพบริการ จัดการโดยพึ่งพาตนเองอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่ที่สำคัญกว่าความรู้คือได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์และรับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ

            ๘. อำเภอป่าบอน
                 เดิมป่าบอน เป็นตําบลขึ้นกับอําเภอปากพะยูน และเนื่องจากพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีต้นบอนขึ้นหนาแน่น (บอนเป็นพืชจําพวกเผือก) เมื่อชาวบ้านไปตั้งถิ่นฐานจึงเรียกสถานที่ตรงนี้ว่า “ป่าบอน" บ้างก็ว่าพื้นที่ตรงนั้นเคยตั้งบ่อนชนไก่และชนวัวมาก่อน คําว่า “บ่อน” ยังหมายถึงตลาดนัดอีกด้วย แต่ชาวใต้ออกเสียง “บ่อน” เป็น “บอน” จึงเรียกพื้นที่ป่าตรงนี้ว่าป่าบอน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ทางการได้ยกฐานะให้เป็นอำเภอป่าบอน อำเภอป่าบอนเป็นที่ราบค่อนข้างสูงเป็นลูกคลื่นอยู่ทางทิศใต้ และเป็นที่ราบลุ่มทางทิศเหนือ ดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย เหมาะสำหรับทำสวนยางพาราและทำนา มีเนื้อที่ ๔๘,๖๕6๖ไร่ อาชีพหลักคือทำสวน ทำนา ทำไร่ ปลูกสับปะรด และอาชีพเสริมคือเลี้ยงโค เลี้ยงสุกร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เพาะเห็ดฟาง
            ๙. อำเภอป่าพะยอม
                 เดิมป่าพะยอมเป็นตําบลขึ้นกับอําเภอควนขนุน ในเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้ยก ฐานะให้เป็นอําเภอ เดิมในพื้นที่ชุมชนแห่งนี้จะมีต้นพะยอมไม้ใหญ่ดูโดดเด่น จึงเรียกกันว่า “ป่าพะยอม” แต่ชาวบ้านออกเสียงเป็น “ป่ายอม”พะยอมเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ตำบลป่าพะยอมเดิมเป็นชุมชนป่าพะยอมใหญ่และป่าพะยอมนุ้ย มีชนชาวจีนฮ่อมาตั้งรกรากโดยมีภรรยาเป็นคนไทย ตั้งรกรากมาประมาณ ๒๐๐ กว่าปี มีโรงช้างเป็นที่จับช้างและฟิกช้างใช้งาน เป็นต้นตระกูลของคชภักดี และตระกูลสุวรรณภักดีในขณะนี้  ป่าพะยอมเดิมเป็นตำบลที่มีอาณาเขตก้าวเหมาะกับการปกครอง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2526 แยกออกไปเป็นตำบลบ้านพร้าว อีกหนึ่งตำบล คงเหลือ ๗ หมู่บ้าน คือบ้านลังแกระ บ้านป่าพะยอม บ้านหุง บ้านประดู่หอม บ้านนาทราย บ้านโคกกอ และบ้านไสกุน พื้นที่ของอำเภอเป็นที่ราบลุ่มแบ่งเป็น ๒ โชน คือตะวันตกเป็นพื้นที่ทำสวนยางพาราและนาข้าว และโชนตะวันออกเป็นพื้นที่ทำนาข้าว (ปีละ ๒ ครั้ง) คลองซนประทานผ่านกลาง พื้นที่สามารถส่งนํ้าได้ทั่วถึง

         ๑๐. ศรีบรรพต
                  ศรีบรรพต เคยเป็นตําบลหนึ่งของอําเภอควนขนุน ชื่ออําเภอนี้หมายถึงภูเขาที่เป็นสิริมงคล คือเขาปู่และเขาย่า รวมทั้งเป็นชื่อพระพุทธ รูปที่ประดิษฐาน ณ วัดเขาปู่ มีชื่อว่า “พระมุนีศรีบรรพต” หรือ “หลวงพ่อปู่” ซึ่งทางการได้ยกฐานะเป็นอําเภอศรีบรรพต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เรื่องเล่าจากอําเภอศรีบรรพตเกี่ยวก้บเขาปู่เขาย่าว่า ครอบครัวของปู่ย่ามีบุตรธิดา ๕ คน พี่น้อง ๓ คนแรกเป็นมุสลิม พูดได้แต่ภาษามลายู คือโต๊ะบุญ ป้าเจ้ และป้าแห ส่วนคนที่สี่พูดได้แต่ภาษาไทย ชื่อชัยบุรี และคนที่ห้าพูดได้แต่ภาษาจีนชื่อญาโฮ้งหรือพญาโฮ้ง ครอบครัวปู่ย่ามีปัญหาเรื่องภาษา เพราะพูดกันไม่รู้เรื่องปู่และย่าจึงหนักใจ ทั้งคู่จึงหนีไปอยู่ที่ปัตตานี ภายหลังลูก ๆ พากันไปอ้อนวอนให้พ่อแม่กลับมาอยู่ที่เดิม โดยมีชัยบุรี ลูกคนที่สี่คอยดูแลพ่อแม่ เพราะพูดภาษาไทยกันเข้าใจ ส่วนลูกอีก ๔ คนต่างแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น เมื่อเวลาผ่านพ้นไปจนกระทั่งปู่ย่าและบุตรธิดาถึงแก่กรรม ภายหลังจึงกลายเป็นเขาปู่ เขาย่า เขาป้าแหร้ อยู่ในอําเภอศรีบรรพต ส่วนเขาชัยบุรีหรือเขาเมือง เขาป้าเจ้ เขาโต๊ะบุญ อยู่ในอําเภอเมืองพัทลุง และเขาพญาโฮ้งอยู่ในอําเภอกงหรา 
           ๑๑. อําเภอศรีนครินทร์
                  อำเภอนี้แต่เดิมชื่อว่าอําเภอชุมพล ต่อมากิ่งอําเภอชุมพลได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาตั้งเป็นชื่ออําเภอศรีนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พสกนิกร สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด มีภูเขาสูงสลับซับช้อนมากมายที่วางตัวตามแนวเหนีอ-ใต้ ประกอบด้วยภูเขาบรรทัด ภูเขานครศรีธรรมราช เขาปู-เขาย่า เขาป้าแหร้ เขาสามร้อยยอด เขาวัดถํ้า เขาพระยากรุงจีน เขาป่าโฮ้ง มีเขาหินแท่นเป็นยอดเขาสูงสุด มีความสูงประมาณ ๘๗๗ เมตร จากระดับนํ้าทะเล มีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู-เขาย่า เป็นต้นแม่นํ้าตรังและแม่นํ้าปากพนัง โดยในฝั่งจังหวัดพัทลุงเป็นแหล่งกำเนิด คลองลาไม คลองไม้เสียบ คลองนํ้าใส ซึ่งจะไหลรวมเป็นคลองชะอวดและแม่นํ้าปากพนัง ส่วนในฝั่งจังหวัดตรังเป็นด้นกำเนิดของคลองลำภูรา คลองละมอ ซึ่งเป็นต้นนํ้าแม่นาตรัง ประชากรในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพราะเป็นพื้นที่ป่าต้นนํ้า


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

  


ปูชนียวัตถุ

         พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ


ภาพจาก : สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาคใต้, 2556

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงดํารงศิริราชสมบัติเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัย จํานวน ๑๕ พรรษา ประกอบพระราชพิธีสมโภชสิริสมบัติ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โปรดฯ ให้หล่อพระนิรโรคันตราย จำนวน ๑๖ องค์ ถวายไว้ในพระอารามหลวงมหานิกาย ๑๕ องค์ และไว้ในสถานที่ราชการอีก ๑ องค์ ต่อมากรมการรักษาดินแดนได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบิดาแห่งกิจการรักษาดินแดนพระบาทสมเด็พระมงกุฎเกล้าอยู่หัว และเจริญรอยตามราชประเพณี จึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้าง “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” ขึ้นในยุคปัจจุบัน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยพิบัติทั้งปวง ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว ใช้โลหะประกอบด้วยทองเหลือง ๓ ส่วน ทองขาว ๑ ส่วน ทองแดง ๑ ส่วน รวมโลหะที่ใช้หล่อทั้งองค์ หนักประมาณ ๑,๔๐๐ กิโลกรัม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดําเนินเททองหล่อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พระราชทานไปประดิษฐานไว้ ณ สี่มุมเมืองของราชอาณาจักรไทย คือ

- ทิศเหนือ ประดิษฐานไว้ที่จังหวัดลําปาง
ทิศใต้ประดิษฐานไว้ที่จังหวัดพัทลุง
- ทิศตะวันออกประดิษฐาน ไว้ที่จังหวัดสระบุรี
- ทิศตะวันตกประดิษฐานไว้ที่จังหวัดราชบุรี

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พัทลุง (Phatthalung)
ที่อยู่
จังหวัด
พัทลุง


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2552). ชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ : พัทลุง (1), รูสมิแล, 30, 3 (ก.ย. - ธ.ค. 2552), 75-82.
ประวัติศาสตร์จังหวัดพัทลุง. (2552). สืบค้นวันที่ 27 ม.ค. 64, จาก https://salamyang.wordpres.com/ประวัติศาสตร์จังหวัดพั/


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025