วัดดีหลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตําบลดีหลวง อําเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานในแผนที่กัลปนาวัดเมืองพัทลุง เรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดกะดีหลวง” ตามประวัติเล่าว่าเมื่อก่อนบริเวณวัดดีหลวงหรือกุฎีหลวง ที่ดินบริเวณนี้จะเป็นดินสีขาวไม่มีหญ้า หรือต้นไม้ขึ้นปกคลุมเลยแม้แต่ต้นเดียว แต่ในบริเวณโดยรอบจะมีหญ้าและต้นไม้ขึ้นคลุมทั่วไป ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นและเลื่องลือไปถึงพระชายาของเจ้าเมืองนคร ได้เดินทางมาชมยังบริเวณนี้และเห็นว่าเป็นบริเวณที่แปลกจึงให้ชาวบ้านสร้างเจดีย์ก่ออิฐเรียกว่า "เจดีย์หลวง" ไว้หน้ากุฎีหลวง แต่ปัจจุบันเจดีย์องค์นี้ได้พังไปแล้ว และต่อมาเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองชาวบ้านจึงเรียกกันสั้น ๆ ว่าบ้านดีหลวง และเรียกเป็นชื่อตำบลจนถึงปัจจุบัน วัดดีหลวงเป็นวัดเก่าแก่และโบราณมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามประวัติกล่าวว่าสมภารเจ้าวัดองค์แรกมีนามว่า "สมภารจวง" ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลวงลุงขององค์สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด จึงถือเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อประวัติองค์สมเด็จหลวงปู่ทวดเป็นอย่างมาก ในครั้งที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรปู วัดดีหลวงตั้งอยู่ที่ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา วัดดีหลวง ในแผนที่กัลปนาวัดวัดหัวเมืองพัทลุง เรียกชื่อวัดนี้ว่า ”วัดกดีหลวง” หรือ “วัดกะดีหลวง” ขึ้นกับวัดพะโคะ (วัดบริวารหรือวัดที่ขึ้นกับคณะสงฆ์คณะลังกาชาติ) หรือวัดราชประดิษฐาน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบสงขลา มีจำนวนมากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ภูมิทานและเลณฑุบาตเป็นที่เก็บผลประโยชน์มาบำรุงวัด เช่น วัดใหม่พระครู สมุห์พะโคะ มีที่ภูมิทานเป็นนา ๑๐ ท่อน วัดขุนจันมีที่ภูมิทานเป็นนา ๑๐ ท่อน วัดกระมีที่ภูมิทานเป็นนา ๖๖ ท่อน วัดดีหลวงมีที่ภูมิทาน ๒๑ ท่อน วัดชะลอน มีที่ภูมิทาน ๒๔ ท่อน (อารยา ดำเรือง และ ชัยวุฒิ พิยะกูล, ๒๕๕๙ : ๑๔๐) จากหลักฐานเอกสารเก่าบางฉบับเรียกว่า "วัดกุฎีหลวง" หรือ "วัดหลวง" แต่คนเฒ่าคนแก่มักจะเรียกว่าวัดเจดีย์หลวง เพราะสมัยก่อนมีเจดีย์ ๕ ยอดขนาดใหญ่อยู่หน้าพระอุโบสถ ภายในวัดดีหลวงมีประติมากรรมที่โดดเด่นที่แสดงถึงฝีมือศิลปะช่างพื้นถิ่นภาคใต้ อาทิ ลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันพระอุโบสถเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณและเทวดาในลายก้านต่อดอก, ลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันศาลาไม้เก่าแก่เป็นรูปเทพพนม, รูปฤาษี, ศาลาไม้ทรงโถงที่สร้างขึ้นอันเนื่องในงานศพของพระอธิการแก้ว พุทธมณี อดีตเจ้าอาวาสวัดดีหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มีลักษณะของหน้าบันด้านหน้ามีมุขลดหลั่นและมีลวดลายปูนปั่นรูปพระภิกษุนมัสการโกศใส่ศพ มุมด้านข้างเป็นลายปูนปั้นรูปฤาษีและพระพิคเณศ ศาลาหลังนี้ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่มีลักษณะสวยงามมากควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง วัดดีหลวง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ หน้า ๕ พื้นที่โบราณสถาน ก. ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๘.๐๑ ตารางวา พื้นที่โบราณสถาน ข. ประมาณ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๕.๙ ตารางวา พื้นที่โบราณสถานรวมประมาณ ๓ ไร่ ๑๖ ตารางวา
วัดดีหลวงหรือกุฎิหลวงที่ดินบริเวณนี้จะเป็นสีขาวไม่มีหญ้าหรือต้นไม้ขึ้นปกคลุมเลยแม้แต่ต้นเดียว แต่ในบริเวณโดดยรอบจะมีหญ้าและต้นไม้ขึ้นคลุมทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นและเลื่องลือไปถึงหูเจ้าเมืองพระชายาเจ้าเมืองนคร ได้เดินทางมาชมยังบริเวณนี้และเห็นว่าเป็นบริเวณที่แปลกเลยให้ชาวบ้านสร้างเจดีย์ก่ออิฐเรียกว่าเจดีย์หลวงไว้หน้ากุฎิหลวง แต่ปัจจุบันเจดีย์องค์นี้ได้พังลงไปแล้ว ตามประวัติเล่าว่าสมภารเจ้าอาวาสองค์แรกที่นามว่าสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลวงลุงของสมเด็จเจ้าพระโคะหรือหลวงปู่ทวด
วัดนี้จึงถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญของประวัติหลวงปู่ทวดเป็นอย่างมากวัดดีหลวงเป็นวัดที่หลวงปู่ทวดเคยบวชเป็นสามเณรถือได้ว่าเป็นวัด สําคัญวัดหนึ่งในคาบสมุทรสทิงพระ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวด และเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองด้านสถาปัตยกรรม เป็นสํานักเรียนใหญ่มาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานเล่าสืบต่อกันมาว่าวัดดีหลวง เป็นวัดที่เด็กชายปูเคยมาอาศัยกับสมภารจวง ซึ่งเป็นหลวงลุง เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาวิชาต่าง ๆ ในวัดจนหมดสิ้น และได้ไปเรียนต่อที่วัดสีหยังและได้ศึกษาต่อไปจนถึงกรุงศรีอยุธยาตามลําดับ
วัดดีหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยอยุธยา น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ มีประติมากรรมซึ่งเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นที่โดดเด่น โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันพระอุโบสถคือรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณและเทวดาในลายก้านต่อดอก และลายปูนปั้นที่หน้าบันศาลาไม้เก่าแก่ซึ่งปั้นเป็นรูปเทพนม รูปฤษี ดวงดอกไม้ ประดับกรอบซุ้มรูปฤษี มีหางหงส์ประดับ ประติมากรรมที่ปรากฎถือได้ว่ามีคุณค่าทางศิลปะและความงาม
พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดดีหลวงเป็นอุโบสถเก่าซึ่งได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยช่างท้องถิ่นภาคใต้โดยมีพ่อท่านดำและพระภิกษุแก้วเป็นประธาน มีลักษณะก่ออิฐถือปูน บานประตูและหน้าต่างทำด้วยไม้ หลังคาทำด้วยไม้ ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ มีความพิเศษที่หน้าบันหน้าบันด้านหน้ามีลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ขนาบข้างด้วยเทวดา จำหลักลายกระหนกและนางฟ้าร่ายรำอย่างสวยงาม ตกแต่งด้วยลายต่อดอก ส่วนหน้าบันด้านหลังเป็นลายปูนปั้นรูปพระพุทธรูปปางห้ามญาติมีสาวกขนาบข้างทั้งซ้ายขวา เหนือประตูและหน้าต่างเป็นช่องลมรูปโค้งเจาะเป็นช่องรัศมี ที่พื้นด้านหน้าพระอุโบสถมีร่องรอยฐานเสากลมหินปรายปนกรวด ซึ่งคาดว่าอาจจะมีบูรณะโดยการรื้อเสาเดิมทิ้งไป พื้นอุโบสถลงหินขัด ภายในโบสถ์มีพระประธานปูนปั้นนูนสูงปางมารวิชัยลงรักปิดทอง พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมพระศกละเอียด (ชาวบ้านมักจะเรียกว่าหลวงพ่อยิ่ม) มีไรพระศกเป็นแผ่นหนา พระขนงจดกันเป็นปีกกาล่ำสันแข็งกระด้าง นักโบราณคดีกำหนดว่ามีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงสมัยพระเอกาทศรถระบุว่า ท้าวราชกฤษณา ภรรยาออกยาราม (ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช) เป็นผู้สร้างวิหารและพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนั่งเทพชุมนุม ด้านหน้าของซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ปางเปิดโลกภายใต้เศวตฉัตร การสร้างพระพุทธรูปที่มีซุ้มเรือนแก้วครอบลักษณะนี้นั้น สันนิษฐานได้เลยว่าอุโบสถเดิมหลังนี้คงในอุโบสถโล่งไม่มีผนัง แต่ภายหลังได้มีการต่อเติมให้มีผนังเกิดขึ้นราวยุคสมัยของ “อาจารย์แก้ว พุทธมณี” อดีตเจ้าอาวาส ตามคำบอกเล่ากล่าวว่าพระอุโบสถหลังนี้เป็นที่บรรพชาสามเณรปู (หลวงปู่ทวด)
อุโบสถของวัดดีหลวงได้รับการบูรณะใหม่พร้อมทั้งศาลาไม้ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๘๐ ส่วนเจดีย์รอบอุโบสถยังมีเค้าโครงของศิลปกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งลักษณธศิลปกรรมที่ปรากฏนั้นแสดงถึงฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ พระอุโบสถบรรพชาสามเณรปู พระประธานอุโบสถหลังนี้เป็นพระพุทธ รูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ภายใน มีภาพจิตรกรรมฝาผนั่งเทพชุมนุม ด้านหน้าของซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ปางเปิดโลกภายใต้เศวตฉัตร การสร้างพระพุทธรูปที่มีซุ้มเรือนแก้ว ครอบลักษณะนี้นั้น สันนิษฐานได้เลยว่า อุโบสถเดิมหลังนี้คงในอุโบสถ โล่งไม่มีผนัง แต่ภายหลังได้มีการต่อเติมให้มีผนังเกิดขึ้น ราวยุคสมัยของ “อาจารย์แก้ว พุทธมณี” อดีตเจ้าอาวาส และชาวบ้านยังเรียกขานนาม พระพุทธรูปองค์นี้ว่า เป็น พระพุทธรูปนักเลง ประจําอุโบสถวัดดีหลวง คือเป็นพระพุทธรูปหิ้วนก พระอุโบสถได้รับการบูรณะอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ (เจดีย์รอบพระอุโบสถ)
เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ (เจดีย์รอบพระอุโบสถ) เป็นเจดีย์ ๓ ยอดที่หลวงพ่อแก้ว พุทธมุณี ร่วมกับสาธุชน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องจากเจดีย์องค์ใหญ่หน้าพระอุโบสถที่สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงพ่อทวด สร้างไว้ได้ถึงกาลเวลาย่อยเป็นอิฐกองอยู่หน้าอุโบสถ หลวงพ่อแก้ว พุทธมุณี อดีตเจ้าอาวาสวัดดีหลวง จึงได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยใช้ฐานอิฐเดิมสร้างเป็นเจดีย์ขึ้นทั้ง ๘ ทิศ ซึ่งประดิษฐานควบคู่กับในเสมารอบ ๆ พระอุโบสถ เจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปทรงแบบมณฑปย่อมุมไม้สิบสอง มี ๕ ยอดคล้ายกับพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ๓ องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ทางทิศเหนือและทิศใต้อุโบสถมีเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนด้านละ ๓ องค์ เป็นแบบทรงลังกา
ศาลาไม้ (ศาลาอาจารย์แก้ว พุทธมุณี)
ศาลาอาจารย์แก้ว พุทธมุณีเป็นศาลาโถงไม้ทรงไทย สร้างผสมผสานระหว่างไม้กับปูน มีความวิจิตรงดงามอย่างลงตัว โดยศาลาหลังนี้คณะศิษย์ยานุศิษย์ร่วมกันสร้างถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อประดิษฐานสรีระสังขารของอาจารย์แก้ว พุทธมุณี อดีตเจ้าอาวาสวัดดีหลวง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ลักษณะเด่นคือหน้าบันด้านหน้ามีมุขลดหลั่น หน้าบันมีลวดลายปูนปั้นรูปพระภิกษุนมัสการโกศใส่ศพ หน้าบันมุมด้านข้างเป็นลายปูนปั้นรูปฤษีและพระพิฆเนศ หลังคาเป็นจั่วเรียงซ้อนกันหลายจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา จั่วแต่ละด้านมีประดับด้วยหางหงส์และตกแต่งด้วยการเขียนสีและประดับด้วยปูนปั้นเทพพนม รูปฤาษี ดอกไม้ และมีลายปูนปั้นประดับกรอบหน้าจั่วส่วนด้านข้างทั้งสี่ด้านสร้างเป็นเรือนยกพื้น ใช้เป็นเรือ สําหรับพระสวดอภิธรรม ภายหลังด้านทิศตะวันตกได้ปรับเปลี่ยนเป็นอาสงฆ์เพื่อสะดวกในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ศาลาอาจารย์แก้ว พุทธมุณีหรือศาลาไม้ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ
หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
วัดดีหลวง วัดเก่าแก่สมัยอยุธยามีสมภารเจ้าวัดองค์แรกมีนามว่า "สมภารจวง" ซึ่งเป็นหลวงลุงขององค์สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จึงถือว่าวัดดีหลวงแห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติองค์สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคปฐมวัยของสมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้นเป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาคในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่าหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจหลวงปู่ทวดเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ จากเรื่องราวที่ได้รวบรวมจากหนังสืออ้างอิงหลายเล่มทั้งที่เป็นตำนานหลักฐานทางประวัติศาสตร์และจากหนังสือและเอกสารต่าง ๆ พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
ปฐมวัย
เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปี ที่ผ่านมาแล้วในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๑๒๕ ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็ก ๆ ฐานะยากจนแร้นแค้นแต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้นี้มีนามว่าปูเป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัยทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่าพญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้ และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้วบิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์ จึงเก็บรักษาไว้นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
เมื่อกาลล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้ ๗ ขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฏิหลวง เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือเด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ ๑๕ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัวต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสนที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบทที่วัดเสมาเมืองมีฉายาว่า ราโม ธมฺมิโก แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า เจ้าสามีราม หรือเจ้าสามีราโม เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่น ๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้ว จึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมดบรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้นท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืดจึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีกและนับถือเจ้าสามีรามเป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญ จึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๔๙ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ
ปัญญาเป็นเลิศ
จนกระทั่งถึงกาลเวลาที่เจ้าสามีรามจะมีชื่อเสียงระบือลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือสมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้ง ๒ ฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้นพระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงานท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อทองคำเหล่านั้น ให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน ๘๔,๐๐๐ ตัว จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ดท่านคุมเรืองสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์ เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของกษัตริย์ตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่าพระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง อีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุก ๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้จนกาลเวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์ และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้อื้ออึงไปหมด ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบินว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้ง ๔ ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการกราบถวายบังคมทูลว่าเรื่องนี้ หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวงทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จพระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อยเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที
อักษร ๗ ตัว
ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบเจ้าสามีราม ที่วัดราชานุวาสและเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่าเห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ณ โอกาสนี้ ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้ง ๗ คนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่าเอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดากี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนากอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ ๘๔,๐๐๐ ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้ง ๗ พราหมณ์ทั้ง ๗ ก็ยอมจำนวน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้ในมวยผมนั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น
สมณศักด์ที่พระราชมุนี
สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง ๗ วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ในเวลานั้นพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปีด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ต่อจากนั้นกรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มีนิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเจ้าเฝ้า ท่านได้ช่วยไว้อีกครั้งโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจ คุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชมีนามว่าพระสังฆราชคูรูปาจารย์ และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่าหากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใดหรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ
กลับสู่มาตุภูมิ
ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯ ได้เข้าเฝ้าถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมากไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า สมเด็จอย่าละทิ้งโยมแล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามแนวทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ ได้แก่ที่บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง ต่อจากนั้นท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะอันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่าสมเด็จเจ้าพะโคะและเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะว่าวัดพะโคะมาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯเห็นวัดพระโคะเสื่อมโทรมมากเนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม มีสภาพเหมือนวัดร้างสมเด็จเจ้าฯกับท่านอาจารย์จวงคิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องก็ยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งโปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ ๕๐๐ คน และทรงพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ และเงินตราเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ ๓ ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะหรือพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียสมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแผ่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่าท่านมีอายุกาลถึง ๘๐ ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น ๓ คด ชาวบ้านเรียกว่าไม้เท้า ๓ คด ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมาพวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่า ท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นานเหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือเรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล ทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไปจึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอาไม้เท้า ๓ คด พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิกกลับคด ๆ งอ ๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้ง ๒ ต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้ สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงปู่ทวดครองสมณเพศ และจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา หลังจากนั้นหลายพรรษาสมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลาย ๆ แห่ง จากหลักฐานทราบว่าท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่าท่านลังกาและได้ไปพำนักที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านเรียกท่านว่าท่านช้างให้ ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใดขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ ด้วยขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่มาไม่นานเท่าไร ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมา นับได้ดังนี้ วัดกุฎิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้ สมเด็จเจ้าฯ ในฐานะพระโพธิสัตว์หน่อเนื้อพุทธภูมิ ผู้ทรงศีลวิสุทธิทรงธรรมและปัญญาญาณอันล้ำเลิศ กอปรด้วยกฤษดาภินิหารและปาฏิหาริย์ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่สถานที่ใด ที่นั่นจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะจาริกไป ณ ที่ใด ก็จะมีคนกราบไหว้ฟังธรรม หลักการปฏิบัติของท่านเป็นหลักสำคัญของพระโพธิสัตว์ คือช่วยเหลือประชาชนและเผยแพร่ธรรมะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
อุโบสถเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาของวัดดีหลวง สถานที่บรรพชาสามเณรปู หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด)
สถูปอาจารย์จวงเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดดีหลวง
เหรียญหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจีด
กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น. (2554). วัดดีหลวง. สืบค้นวันที่ 12 มิ.ย. 61, จาก http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd= goDetail&id=516115&random=1495881444620
ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ (บรรณาธิการ). (2545). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัด
สงขลาปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์.
เพจหลวงปู่ทวดวัดดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา. (2561). สืบค้นวันที่ 12 มิ.ย. 61, จาก https://www.facebook.com/groups/124006494951968/photos/
วัดดีหลวง สทิงพระ สงขลา. (2559). สืบค้นวันที่ 12 มิ.ย. 61, จาก http://www.thaitravelism.com/back/ภาคใต้/สงขลา/212-วัดดีหลวง-สทิงพระ-สงขลา.html
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น. (2557). ฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรม CECS : วัดดีหลวง. สืบค้นวันที่ 12 มิ.ย. 61, จาก https://songkhlafuntastic.blogspot.com/2017/04/blog-post.html
อารยา ดำเรือง และชัยวุฒิ พิยะกูล. (2559). การกัลปนาวัดบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 21 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 23, วารสารปาริชาติ มหาวิทยาลัย
ทักษิณ, 29(1), 140.