วัดชนาธิปเฉลิม (Wat Chanathipchaloem)  
 
Back    26/04/2018, 14:01    11,915  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

         

      วัดชนาธิปเฉลิม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับพระราชทานสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เดิมเป็นวัดราษฎร์และได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่  ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ วัดชนาธิปเฉลิมเดิมชื่อวัดมำบัง ความเป็นมาในอดีตเมืองสตูลเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมคลองมำบัง จึงมีชื่อเรียกชุมชนว่า “บ้านมำบัง” ตามชื่อของลำน้ำ ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม รองลงเป็นมาเป็นชาวจีนและชุมชนชาวพุทธ ซึ่งจะตั้งบ้านเรือนปะปนในชุมชนของมุสลิมและชาวจีน แต่จะเป็นชุมชนขนาดเล็ก และสันนิษฐานว่าคงจะมีการสร้างศาสนสถานคือวัดมำบังขึ้นในชุมชนเพื่อประกอบพิธิกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๕ แต่ก็ไม่พบหรือปรากฎหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นต้นมาก็เริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับวัดเด่นชัดขึ้น เช่น นามเจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นองค์แรกคือ พระอธิการชู (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๖๐) สถานที่ตั้งของวัดมำบังในอดีตแวดล้อมไปด้วยป่าละเมาะและป่าชายเลน ด้านหลังวัดจรดคลองมำบัง มีดงจากขึ้นหนาแน่น เวลาน้ำขึ้นจะท่วมถึงบริเวณวัด จนมีเรื่องเล่ากันว่ามีจระเข้จากคลองมำบังขึ้นมาคาบไก่ของวัดไปกิน สัตว์เลื่อยคลานจำพวกงูก็มีชุกชุม มีงูเหลือม งูปล้องทอง ซึ่งมักจะเข้าไปพันตามขื่อตามคาหรือตามแปกุฎิของพระเณรอยู่เป็นประจำ และประการสำคัญพื้นที่ของวัดเดิมนั้นเคยเป็นที่ฝั่งศพของชาวจีน ตลอดถึงศพของชาวมุสลิมด้วย บริเวณวัดส่วนใหญ่ในอดีตหรือบางส่วนในปัจจุบันจะมีน้ำท่วมเป็นประจำ พื้นที่ที่ใช้เพื่อการสร้างเสนาสนะที่จำเป็น เช่น กุฎิ หอฉัน ศาลาบำเพ็ญบุญ จะใช้เฉพาะส่วนหน้าของวัดเท่านั้น ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมืองสตูลไปขึ้นตรงต่อมณฑลนครศรีธรรมราช มีอำมาตย์เอกพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์) เป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ได้เร่งรัดพัฒนาเมืองให้เจริญรุดหน้า ทั้งด้านการปกครอง การศึกษา การส่งเสริมอาชีพ และการเพิ่มรายได้ของประชาชน ในส่วนของวัดมำบังก็เป็นช่วงของการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเช่นกัน ซึ่งขณะนั้นมีพระอธิการชุ่ม เป็นเจ้าอาวาส รูปที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๓) ได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหน้าพระลาน จังหวัดนครศรีธรรมราช พระธรรมวโรดม วัดราชาธิวาส ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่มณฑลเมืองนครศรีธรรมราชและมณฑลภูเก็ต จึงมีคำสั่งให้พระภิกษุแสงและพระภิกษุเปรื่อง ซึ่งจำพรรษาอยู่ ที่จังหวัดสงขลาให้มาอยู่ที่วัดมำบัง เพื่อสานต่อภารกิจของวัดต่อไป ต่อมาพระภิกษุแสง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔) พระภิกษุเปรื่องเป็นรองเจ้าอาวาส ท่านทั้งสองรูปได้เริ่มการฟื้นฟูและพัฒนาวัดตามความตั้งใจที่ได้เดินทางมานั้นคือเพื่อบุกเบิกนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานให้มั่นคงในแผ่นดินเมืองสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ของต่างศาสนาต่างวัฒนธรรม โดยท่านได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ศึกษามาในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และได้นำเอาแนวคิดสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาวัด สำหรับผลงานชิ้นแรกของท่านเจ้าอาวาสคือการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เพื่อให้วัดใช้เป็นที่บวชกุลบุตรได้ ต่อมาวัดก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ก่อนหน้าที่วัดมำบังจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น ไม่เคยมีการอุปสมบทในเขตเมืองสตูลมาก่อนเลย เพราะนอกจากไม่มีวัดใดในสตูลมีวิสุงคามสีมาแล้ว ชาวจีนซึ่งส่วนมากนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานซึ่งไม่นิยมการบวชแบบไทยซึ่งเป็นพุทธหินยาน ส่วนชาวไทยเมื่อประสงค์จะอุปสมบทมักจะเดินทางมาที่จังหวัดสงขลา ดังนั้นเมื่อวัดมำบังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว วัดก็ได้สร้างศรัทธาเลื่อมใสชักจูงเหล่ากุลบุตรในชุมชนให้เข้ามาอุปสมบท ในระยะเริ่มได้นิมนต์พระอุปัชฌาย์มาจากสงขลา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ พระอธิการแสงต้องเดินทางกลับไปดูแลวัดที่บ้านเกิดจังหวัดนครศรีธรรมราช พระเปรื่อง รองเจ้าอาวาสจึงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส รูปที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๕๐๓) และในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นนับเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกของจังหวัดสตูล ปี พ.ศ ๒๔๗๔ ประเทศไทยเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย เมืองสตูลได้เป็นจังหวัดสตูลอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องขึ้นตรงต่อมณฑลนครศรีธรรมราชแต่ในส่วนของคณะสงฆ์ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังคงขึ้นตรงต่อคณะมณฑลคือมณฑลนครศรีธรรมราช-ภูเก็ตเช่นเดิม ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมำบังเป็นอำเภอเมืองสตูล เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่ประสงค์ให้อำเภอที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเป็นอำเภอเมืองเหมือนกันทั่วประเทศ ส่วนตำบลมำบังเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองสตูลเปลี่ยนเป็นตำบลพิมาน และจากการเปลี่ยนชื่อจากตำบลมำบังเป็นตำบลพิมาน ทำให้เจ้าคณะมณฑลฯ พิจารณาเปลี่ยนชื่อวัดมำบังเป็นวัดชนาธิปเฉลิม เพื่อให้เป็นไปตามรัฐนิยมในเวลานั้น ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ การก่อสร้างพระอุโบสถก็แล้วเสร็จ ซึ่งได้เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้วด้วยเหตุปัจจัยหลักคือขาดงบประมาณในการก่อสร้าง เพราะกำลังศรัทธาของชาวพุทธในสตูลมีน้อย ถึงขนาดพระสงฆ์สามเณรออกบิณฑบาทแทบไม่พอฉัน อีกประการหนึ่งคือการก่อสร้างที่เป็นอาคารขนาดใหญ่และองค์ประกอบหลักเป็นไม้ ซึ่งในเวลานั้นเป็นงานที่ยากและหนักมาก วัสดุก่อสร้างหายากและขาดแคลน กอรปกับราคาแพง ทางวัดทำได้ก็แค่การออกแบบแปลนและเตรียมการก่อสร้างอยู่เรื่อย ๆ มา โชคดีในห่วงเวลานั้นตรงกับทางราชการได้จัดส่งนักโทษทางการเมืองมากักตัวไว้ที่เกาะตะรุเต่า จึงมีการถางป่าและบุกเบิกพื้นที่เพื่อสร้างสถานที่กักกันนักโทษการเมือง ทำให้ทางวัดได้รับบริจาควัสดุไม้มาส่วนหนึ่งเพื่อทำเสาและโครงสร้างพระอุโบสถ ซึ่งจากการเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่าไม้เหล่านั้นได้ถูกขนมาทางเรือ ซึ่งกว่าจะได้มาลำบากเหนื่อยยากแสนสาหัส ส่วนพื้นไม้กระดานและฝาผนังเป็นไม้สักที่นำมาจากภาคเหนือโดยลำเลียงมาทางรถไฟมาถึงสถานที่ควนเนียง จากนั้นก็ลำเลียงต่อมาตามถนนสายสตูล-ควนเคียง ซึ่งมีสภาพเป็นถนนดินลูกรัง และด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านและเหล่าข้าราชการต่างพร้อมใจกันสนับสนุนแรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์อย่างเต็มความสามารถ ทำให้ในปี พ.ศ ๒๔๘๓ พระอุโบสถก็แล้วเสร็จ และได้รับการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต ซึ่งถือว่าเป็นงานผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตครั้งแรกของจังหวัดสตูล เสมือนหนึ่งแสดงว่าการประดิษฐานของพระพุทธศาสนาลงบนแผ่นดินของเมืองสตูลได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คณะสงฆ์เมืองสตูลได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นคณะสงฆ์จังหวัด โดยพระครูอรรถเมธีขันติภาณี สังฆปาโมกข์ (เปรื่อง ฐิตาโก) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสตูล นับเป็นเจ้าคณะจังหวัดรูปแรกของจังหวัดสตูล

        


ความสำคัญ

         วัดชนาธิปเฉลิม เดิมชื่อวัดมำบัง ถือเป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดสตูล มีอายุ ๑๐๐ กว่าปี สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนาธิปเฉลิม เป็นที่รวมน้ำใจของชาวพุทธศาสนามาร่วม ๑๐๐ กว่าปี พระอุโบสถของวัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไปคือ เป็นอาคารทรง ๒ ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดทั้ง ๒ ข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา วัดชนาธิปเฉลิมแห่งนี้ได้รับการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูล ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูล และในปัจจุบันมีโรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดชนาธิปเฉลิม) อยู่ติดกับวัดซึ่งล้อมรอบด้วยคลองจำนวน ๓ สาย คือคลองมำบัง คลองเส็นเต็น และคลองตายาย วัดชนาธิปเฉลิมแห่งนี้อีกยังมีความสำคัญคือมวลสารวัตถุจากโบราณสถานและโบราณวัตถุในวัดชนาธิปเฉลิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบของวัตถุมงคล "พระสมเด็จจิตรลดา" ปัจจุบันวัดชนาธิปเฉลิม เป็นวัดที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูล


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

พระอุโบสถ

        พระอุโบสถวัดชนาธิปเฉลิม ซึ่งตั้งเด่นอยู่กลางวัดเป็นอุโบสถวัดที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่แปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือชั้นล่างก่ออิฐถือปูนใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดสองข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา พระอุโบสถของวัดสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓  พระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมไทยภาคกลาง และศิลปกรรมท้องถิ่นภาคใต้ซึ่งเข้าได้อย่างกลมกลืน ประกอบด้วยการออกแบบเป็นลักษณะที่คล้ายกับเคหสถานของคหบดี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แบบศิลปะไทยภาคกลาง ซึ่งยังคงลักษณะของพระอาราม ส่วนหน้าบันด้านหน้าเป็นภาพเขียนสีรูปของพระพุทธเจ้าประทับ นั่งสมาธิบนปัทมบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หน้าบันด้านหลังเป็นภาพเขียนสีรูปพระพุทธเจ้าโปรดปัญจวัคคีย์ ตัวอาคารขั้นบนทาสีเหลืองอร่าม (สีไข่ไก่) ทั้งหลังตัดขอบแบ่งชั้นด้วยสีแดงเข้ม (สีเลือดหมู) อาคารมีขนาดความกว้าง ๑๐.๓๐ เมตร ยาม ๑๗.๘๐ เมตร ส่วนชั้นบนของพระอุโบสถด้านหน้าทำระเบียงมีบันไดทางขึ้นทั้งซ้ายและขวา ประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ประตู และขนาบด้วยหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง ที่ผนังด้านข้างทั้ง ๒ ด้านมีหน้าต่างอีกด้านละ ๕ ช่อง บนหน้าต่างด้านนอกทาสีเหลืองเช่นเดียวกับอาคาร และตัดขอบด้วยสีเขียวขี้ม้ากับสีแดงเข้ม ที่ผนังด้านหน้าทางเข้ามีแผ่นป้ายเขียนข้อความว่า “อุโบสถหลังนี้บูรณะใหม่หมดทั้งหลัง เริ่มรื้อถอนและบูรณะใหม่เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ สิ้นเงินในการบูรณะ ๖๔๒,๒๐๒ บาท”

        อาคารพระอุโบสถชั้นบนเป็นอาคารไม้ทั้งหมดใช้ประกอบพิธีกรรมของสงฆ์ เช่น อุปสมบท ทอดกฐิน เป็นต้น ส่วนชั้นล่างเป็นก่ออิฐถือปูน ด้านนอกทาสีผนังและบานประตูหน้าต่างเหมือนกับชั้นบน ต่างกันที่ไม่มีลายฉลุไม้ประดับ และใช้บล็อกแก้วฝังในผนังปูนเหนือหน้าต่าง ทั้งนี้เพื่อให้มีแสงสว่างเข้า ซุ้มทางเข้าเป็นระเบียง บันไดสำหรับขึ้นชั้นบนมีลายปูนปั้นเป็นช่อดอกไม้มงคลแบบศิลปะชิโนโปรตุกีส ภายในอาคารชั้นล่างเป็นห้องโถงผนังสีขาว ตรงกลางด้านในยกพื้นสี่เหลี่ยมกว้างและปูพรมสีแดง จัดแท่นบูชาและประดิษฐานพระพุทธรูป และมีอาสน์สงฆ์ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดถึงพระสงฆ์ใช้สวดมนต์และทำวัตรเช้า-เย็น

        พระอุโสบถของวัดชนาธิปเฉลิมนี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่แปลกตากว่าพระอุโบสถของวัดอื่น ๆ จึงได้ชื่อว่าเป็นพระอุโบสถแห่งเดียวที่มีรูปลักษณ์คล้ายเคหสถานและได้รับการตกแต่งที่ผสมผสานด้วยศิลปะที่หลากหลายได้ลงตัวและงดงาม พระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในยุคต่อมาอีก ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื่องจากเกิดอัคคีภัยจากเปลวเทียนที่จุดบูชาบริเวณฐานชุกชีของพระประธาน เป็นผลให้ฐานชุกชีซึ่งทำด้วยไม้และพื้นทำด้วยไม้สัก และหลังคากระเบื้องปูนโบราณได้รับความเสียหายมาก จึงได้ทำการซ่อมแซมพื้นไม้และหลังคากระเบื้องให้สมบูรณ์ดังเดิม ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีการบูรณะโดยทาน้ำมันที่พื้นไม้และซ่อมเฉพาะส่วนเพดานที่มีปลวกมากัดทำลาย

แพงแก้วและซุ้มเสมา

         พระอุโสบถของวัดชนาธิปเฉลิมประดิษฐานอยู่ภายในกำแพงแก้ว ซึ่งกำแพงแก้วนี้เป็นกำแพงคอนกรีตทาสีเหลืองอ่อน ๆ ตัดขอบตัวสีแดวเข้ม หัวเสาทำเป็นรูปซุ้มเสมาทาสีแดง รอบ ๆ พระอุโบสถประดิษฐานใบเสมาซึ่งก่ออิฐถือปูนมีลายนูนรูปพระพุทธรูปประทับบนดอกบัวอยู่ภายในซุ้มเสมาทางโปร่ง มีฐานสูง ซุ้มเสมามีทั้งหมด ๗ ซุ้มทาสีขาวทั้งหมด

หอระฆัง

       หอระฆังก่อด้วยคอนกรีตยกพื้น ๒ ชั้น ทาสีขาวตั้งอยู่ติดกับกำแพงแก้วพระอุโบสถทางด้านทิศเหนือ รูปแบบของหอระฆังเป็นศิลปะนิยมพื้นถิ่นภาคใต้ ที่ชายหลังคามีจั่วรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กปั้นลายเป็นรูปเทพพนมครั้งองค์ประทับนั่งบนดอกบัว

พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองใต้

         พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองใต้ ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณลานโพธิ์นี้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มีความสูงจากพื้น ๔๐ เมตร ฐานพระธาตุกว้าง ๑๒x๑๒ เมตร การก่อสร้างได้แบบมาจากวัดกุสินาราเฉลิมราช ซึ่งเป็นวัดไทยในประเทศอินเดีย จุดประสงค์การสร้างก็เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานมาให้วัดชนาธิปเฉลิมกับพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศพม่า พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองใต้เป็นสถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วยยอดเจดีย์ทรงลังกาหรือโปร่งขาม และตัวอาคาร ซึ่งมี ๒ ชั้น อาคารชั้นที่ ๒ เป็นเรือนกระจกมีบุษบก ส่วนชั้นล่างจัดทำเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ ใช้เพื่อจัดแสดงศิลปวัตถุที่ทางวัดรวบรวมไว้


ปูชนียวัตถุ

พระประธานในพระอุโบสถ

         พระประธานในพระอุโบสถ (องค์เดิม) ก่อนปี ๒๕๕๓ ประดิษฐานอยู่ชั้นบนของพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓๗ นิ้ว รูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัย มีซุ้มเรือนะตุแบบเดียวกันกับพระพุทธชินราชหล่อด้วยสำริด พระเกศาเป็นสีดำ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีทรงสูง ออกแบบลวดลายเป็นดอกบัวสีทอง ประดับกระจกสีฟ้าและสีเขียวปีกแมลง ปัจจุบันทางวัดได้ดำเนินการหล่อพระประธานองค์ใหม่ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกัน ได้นำมาประดิษฐานแทนองค์เดิม เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ส่วนพระประธานองค์เดิมนั้นได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ภายในชั้นล่างของพระธาตุเจดีย์ศรีเมืองใต้

พระประธานองค์เดิม


ปูชนียบุคคล

เจ้าอาวาส

         วัดชนาธิปเฉลิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นต้นมาก็เริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับเกี่ยวกับวัดและเจ้าอาวาสเด่นชัดขึ้น ซึ่งลำดับเจ้าอาวาสของวัดจากอดีต-ปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้

พระอธิการชู พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๖๐
พระครูสตูลสมณมุนี (หมุด) พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๗๐
พระอธิการชุ่ม พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๓
พระอธิการแสง พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๕
พระอรรถเมธีขันติภาณี สังฆปาโมกข์ (เปรื่อง ฐิตาโภ) พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๓
พระครูภูริโศภณ (ศิลป์) พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๕๒๕
พระครูสุธรรมโสภณ (สนิท สุวิชาโน) พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๔
พระครูเทพคุณาธาร (อารีย์ เขมจาโร) พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๖
พระปัญญาวุฒิวิมล ((สนิท สุวิชาโน) พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๕๘
พระครูวิมลธรรมรส (ปัญชา ชวโน) พ.ศ. ๒๕๕๘-ปัจจุบัน

 

        พระครูวิมลธรรมรส (ปัญชา ชวโน)

พระครูวิมลธรรมรส (ปัญชา ชวโน)

        พระครูวิมลธรรมรส (บัญชา ชวโน) ปัจจุบัน (๒๕๖๐) อายุ ๖๐ ปี พรรษา ๓๘ วิทยฐานะ น.ธ.เอก วุฒิทางโลกประกาศนียบัตรพิเศษวิชาการศึกษา ปัจจุบันดํารงตําแหง เจ้าคณะอําเภอเมืองสตูล เจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง
        
สถานะเดิม
        
บัญชา นามสกุล อวยชัย เกิดวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอกตรงกับวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ บิดาชื่อนายเขียน อวยชัย มารดาชื่อนางบุญ อวยชัย เกิดที่บ้านเลขที่ ๖๐ หมู่ที่ ๔ ตําบลโคกม่วง อําเภอคลองหอยโข่ง จังหวัด สงขลา
         
อุปสมบท 
         
วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่วัดปรางแก้ว อําเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลาพระอุปัชฌาย์พระครูรัตนธรรมจารี วัดปรางแก้ว ตําบลทุ่งลาน อําเภอคลอง หอยโข่ง จังหวัดสงขลา พระกรรมวาจาจารย์พระอธิการจันทร์ คนฺธสาโร วัดบางศาลา ตําบลทุ่งลาน อําเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา พระอนุสาวนาจารย์ พระสมุห์ประจํา วัดม่วงก็อง ตําบลพังลา อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
          
วิทยฐานะ
          
พ.ศ. ๒๕๑๖ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ จากโรงเรียนกลับเพชรศึกษา อําเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
          
พ.ศ. ๒๕๒๓ สอบไล่ได้ น.ธ.เอก สํานักเรียนคณะจังหวัดสตูล สังกัด วัดควนกาหลง อําเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา
          
สมณศักดิ์
          
พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูวิมลธรรมรส ตําแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท 
          
พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูวิมลธรรมรส ตําแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก 
          
พ.ศ. ๒๕๕๘ ปรับพัดสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ตําแหน่งเจ้าคณะอําเภอชั้นโท 
          
พ.ศ. ๒๕๕๙ ปรับพัดสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ตําแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นตรี
          
งานด้านการปกครองสงฆ์ 
          
พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม ตําบลพิมาน อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 
          พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง ตําบลพิมาน อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
          พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นเจ้าคณะตําบลพิมาน อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
          
พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอําเภอเมืองสตูล 
          พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง เป็นเจ้าคณะอําเภอเมืองสตูล 
          
พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง 
          
พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็นพระอุปัชฌาย์
          งานการศึกษา
           
พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจําสํานักศาสนศึกษาวัดควนกาหลง ตําบลควนกาหลง อําเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
           
พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจําศาสนศึกษาวัดชนาธิปเฉลิม ตําบลพิมาน อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 
           
พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ผ่านการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม จากกรมการศาสนา 
           
พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๕๓ เป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรม-ธรรมศึกษา ณ วัดโคกสมานคุณ พระอารามหลวง อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
           พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๕๓ ได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะจังหวัดสตูลให้เป็นผู้รับข้อสอบประโยคนักธรรม และธรรมศึกษา ชั้นตรี โท เอก นำไปปิด
สอบ ณ สนามสอบธรรม                                                  สนามหลวง จังหวัดสตูล
           
พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๗ เป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวง ประจําสนามสอบธรรมสนามหลวง จังหวัดสตูล 
           
งานเผยแผ่
           
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี ดังนี้ 
           
พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๕๓ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการเผยแผ่จังหวัดสตูล 
           
พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๕ ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง ให้ดําเนินการโครงการลานบุญวัดชนาธิปเฉลิมพระอารามหลวง ตําบลพิมาน                                                อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
          
พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๕๗ เป็นรองผู้อํานวยการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 
          
พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวงให้ดําเนินงานโครงการลานธรรมลานวิถีไทย วัดชนาธิปเฉลิมพระอารามหลวง                                                ตําบลพิมาน อําเภอเมือง จังหวัดสตูล 
           
พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นพระวิปัสสนาจารย์ จังหวัดสตูล ฝ่านการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ หลักสูตร ๔๕ วัน ของคณะสงฆ์ภาค ๑๘ ณ ที่พักสงฆ์วิเวกวนาราม อําเภอ                                             หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 
           
พ.ศ. ๒๕๔๙-ปัจจุบัน (๒๕๖๐) เป็นพระธรรมทูตฝ่ายบริหาร สายที่ ๙ ประจําจังหวัดสตูล 
           
พ.ศ. ๒๕๕๐-ปัจจุบันเป็นผู้อํานวยการสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประจําจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ที่วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง
           
งานเผยแผ่ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี
            พ.ศ. ๒๕๓๑ รับเกียรติบัตรผลงานวรรณกรรม เนื่องในงานรําลึกเหตุการณ์14 ตุลาคม หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่ง                                               ประเทศไทย 
           
พ.ศ. ๒๕๔๙ รับโล่พระราชทานรางวัลหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทหนังสือรวมเรื่องสั้น 
            
พ.ศ. ๒๕๔๙ รับเกียรติบัตรวรรณกรรมพานแว่นฟ้าจากรัฐสภา 
            
พ.ศ. ๒๕๕๓ รับโล่รางวัลหนังสือดีเด่นอันดับ ๓ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทหนังสือรวมเรื่องสั้น 
            
พ.ศ. ๒๕๕๓ รับเกียรติบัตรหนังสือดีเด่นอันดับ ๒ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ 
            
พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๕๗ เป็นผู้ดําเนินกิจกรรมส่งเสริมการเขียนการอ่านเพื่อสังคมคุณธรรม วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง ตําบลพิมานอําเภอเมือง จังหวัดสตูล 
            
พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙ ดําเนินกิจกรรมฟื้นฟูงานประเพณีวันสารท อําเภอเมืองสตูล
           
งานสาธารณณูปการและพัฒนาวัด 
            
พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๐ ดําเนินการบูรณะพระอารามด้านเสนาสนะถาวรวัตถุ และปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นเงิน ๕,๐๓๗,๐๗๘ บาท
           
เกียรติประวัติวัด
           
เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น เกียรติบัตร และพัดพัฒนาจากกระทรวง ศึกษาธิการ ได้รับรางวัลสถานที่ดีเด่นเพื่อสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
            
พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับคัดเลือกเป็นวัดต้นแบบด้านกายภาพ ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
            
งานพิเศษ 
            
พ.ศ. ๒๕๕๓-ปัจจุบัน เป็นคณะกรรมการศึกษาโรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดสตูลสันตยาราม) และโรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดชนาธิปเฉลิม) ตําบล พิมาน อําเภอเมืองสตูล                                        จังหวัดสตูล


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดชนาธิปเฉลิม (Wat Chanathipchaloem)  
ที่อยู่
ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
จังหวัด
สตูล
ละติจูด
6.610444
ลองจิจูด
100.06456



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ธนาคารกรุงเทพ. (2560). พระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2560 ณ พระอารามหลวง 4 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024